dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



วันวีรไทย - ชุมพร

 

 

         ครับ . . . ทีนี้มาดูวีรกรรมของทหาร  คำรวจ  และ ยุวชนทหาร  ที่ . . . ชุมพร  กัน  . . . นะ . . . ครับ

 

                   จังหวัดชุมพร  ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย บนแหลมมลายู    บริเวณคอคอดกระอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ  ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  ๔  (ถนนเพชรเกษม)     ระยะทางประมาณ    ๔๖๐  กิโลเมตร   และทางรถไฟสายใต้    ๔๘๕  กิโลเมตร     มีความยาวประมาณ   ๒๐๐ กิโลเมตร   กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ    ๓๖ กิโลเมตร

 

 

 

จังหวัดชุมพร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น   ๘  อำเภอ  คือ

          1 อำเภอเมืองชุมพร    2 อำเภอท่าแซะ   

          3 อำเภอปะทิว    4 อำเภอหลังสวน   

          5 อำเภอละแม    6 อำเภอพะโต๊ะ   

          7 อำเภอสวี    และ  8 อำเภอทุ่งตะโก

 

             ภูมิประเทศ โดยทั่วไป มีลักษณะเป็นแนวยาว และแคบไปตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยมีชายฝั่งทะเลยาวถึง   ๒๒๒  กิโลเมตร    พื้นที่ประกอบด้วยภูเขาสูงสลับพื้นที่ราบ   พื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดเป็นเทือกเขาตะนาวศรีและเทืองเขาภูเก็ต ซึ่งเป็นเขตชายแดนไทย - พม่า 

            จากชุมพร  มีเส้นทางเข้าสู่ประเทศพม่า    โดยใช้ถนนจาก  จังหวัดชุมพร ผ่านอำเภอกระบุรี  ถึงจังหวัดระนอง     มีท่าเรือที่ ตำบลปากน้ำ  อำเภอเมืองระนอง  และ ที่เกาะสอง*  บนฝั่งพม่า

           *เกาะสอง    ไม่ใช่เกาะที่มีน้ำล้อมรอบ   แต่เป็นชื่อเมือง  Kawthaung บนฝั่งพม่า    อังกฤษตั้งชื่อ วิคตอเรียพอยท์   แต่ในปัจจุบัน ทางการพม่าเปลี่ยนเป็น  บุเรงนองพอยท์   Bayintnaung  Point

          การที่จังหวัดชุมพรถูกขนาบด้วยภูเขาและทะเลอีกทั้งยังได้รับมรสุมทั้งทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ทำให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี

 

โลกหมุนเวียน  . . .  เราค้องเวียนหมุนไป

          จากสถานการณ์ของโลกที่พัฒนาไป    รัฐบาลไทย  โดยกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังทหารไว้รักษาเอกราช และอธิปไตยทางภาคใต้    จึงได้จัดตั้งหน่วยทหารบก และทหารอากาศ  ในภาคใต้หลายหน่วย 

          ที่จังหวัดชุมพร  ได้จัดตั้ง กองพันทหารราบที่  ๓๘  (ร.พัน ๓๘)  ขึ้นที่บ้านนาเนียน  ตำบลวังใหม่  อำเภอเมืองชุมพร    บนเส้นทางสาย ชุมพร - กระบุรี   ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  ๙  กิโลเมตร      (ปัจจุบันคือ  ค่ายเขตอุดมศักดิ์  เป็นที่ตั้งของ  กองพันทหารราบที่  ๑   กรมทหารราบที่  ๒๕  - ร.๒๕  พัน  ๑ ,   กองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๒๕  - ป.พัน  ๒๕   และจังหวัดทหารบกชุมพร - จทบ.ช.พ.)

          นอกจากกำลังทหารแล้ว   ยังมียุวชนทหารหน่วยฝึกที่  ๕๒   ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนศรียาภัย อันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด  กำลังพลหลักเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๔, ๕  และ ๖ (เท่ากับชั้น มัธยมปีที่  ๑, ๒  และ  ๓  ในปัจจุบัน)   และยังได้มีการฝึกราษฏรอาสาสมัครไว้จำนวนหนึ่งด้วย 

 

          ความเป็นมา หรือสถานการณ์ก่อนหน้านี้  ปรากฏอยู่ใน "ก่อนจะถึงวันวีรไทย" และ "วันวีรไทย - ประจวบ"  จึงขอกล่าวเพียงพอให้ต่อเนื่อง   ไม่กล่าวซ้ำทั้งหมด

 

ฝ่ายญี่ปุ่น
 
          กองทัพญี่ปุ่นที่ขอผ่านประเทศไทยเพื่อไปทำศึกกับอังกฤษในมลายู และพม่านั้น คือกองทัพที่ ๑๕   และกองทัพที่ ๒๕

          การปฏิบัติการที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นหน่วยใน กองทัพที่ ๑๕   ซึ่งพลโท โซจิโร อิอีดะ  (Shojiro Iida)  เป็นแม่ทัพ  ประกอบด้วย กองพลที่ ๓๓  และกองพลที่ ๕๕    มีภารกิจปฏิบัติการในประเทศไทย  และประเทศพม่า     ใช้เรือในการลำเลียงทหารเพื่อยกพลขึ้นบก ที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี   จำนวน  ๓  ลำ

 

แผนที่สังเขป  แสดงการรุกของกองทัพที่  ๑๕  ญี่ปุ่น

 

ฝ่ายไทย    กำลังฝ่ายไทยที่ได้เข้าสู้รบในครั้งนั้น  นอกจากกำลังทหาร  แล้ว  ยังมีกำลังตำรวจ  และยุวชนทหารเข้าร่วมรบด้วย  ดังนี้ครับ

          กองพันทหารราบที่  ๓๘

          ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร

          ยุวชนทหารหน่วยฝึกที่  ๕๒   โรงเรียนศรียาภัย

          นอกจากปัจจัยในการรบที่มีตัวตน  ได้แก่จำนวนกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์  ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเหนือกว่าฝ่ายเรามากแล้ว  ก็ลองพิจารณาปัจจัยในการรบที่ไม่มีตัวตนกันดูบ้าง   เฉพาะฝ่ายเรานะครับ

           กองพันทหารราบที่  ๓๘      เป็นหน่วยจัดตั้งใหม่  ซึ่งกองทัพบกรวบรวมรี้พลสกลไกรจากหน่วยต่างๆ  ดังนั้น  สถานภาพกำลังพลก็ดี  อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ดี  สถานภาพการฝึกก็ดี  นับได้ว่า ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่    สมบูรณ์เต็มที่ก็แต่เพียงจิตใจรุกรบเท่านั้น     และในต้นเดือนธันวาคม  ๒๔๘๔    หน่วยกำลังออกฝึก  ที่สนามบินทับไก่

          ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร      สามารถทำการรบเช่นทหารได้ระดับหนึ่ง    แต่เป็นช่วงที่ได้รับตำรวจใหม่เข้ารับราชการ  และอยู่ในระหว่างการฝึกที่กองกำกับการ   ก่อนที่จะส่งไปประจำตามอำเภอต่างๆ  จึงทำให้มีกำลังพลมากกว่าปรกติ    เมื่อรวมตำรวจเก่าและตำรวจใหม่แล้ว  ประมาณ  ๑๐๐  นาย

          ยุวชนทหารหน่วยฝึกที่  ๕๒    เป็นหน่วยกึ่งทหาร  อายุระหว่าง  ๑๔ - ๑๗ ปี    ได้รับการฝึกให้รบได้อย่างทหาร  และ มีผู้นำ และครูฝึกที่ดี

 

๘  ธันวาตม  ๒๔๘๔

          เวลาประมาณ  ๐๒๐๐    ญี่ปุ่นมาถึงเกาะมัตโพน   จอดหลบพายุอยู่จนตีสี่ จึงเริ่มระบายพลขึ้นยึดหัวหาดที่อ่าวปากหาด(หรือมะหาด)บริเวณบ้านคอสน เป็นแนวยาวประมาณสามกิโลเมตร     เวลานั้น  เป็นเวลาน้ำทะเลลงต่ำสุด  ต่อจากหาดเป็นเลนลึกออกจากฝั่งไปประมาณ  ๑  กิโลเมตร    เลนนี้คนธรรมดามือเปล่าเดินลงไปจะจมถึงขาอ่อน  แต่ทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นบกมีอาวุธประจำกาย เครื่องสนามตรบ  และรถจักรยานอีกคนละคัน  การเตลื่อนที่ผ่านเลนลึกจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล    ต้องให้ส่วนหนึ่งทิ้งสัมภาระที่ติดตัวมา ตะเกียกตะกายฝ่าเลนนำเชือกขึ้นไปผูกกับต้นมะพร้าว  ให้คนหลังๆ ได้สาวเชือกตามขึ้นมา    

          ดังนั้น  กว่าทหารญี่ปุ่นจะขึนบกและรวมพลได้ก็เสียเวลาไปมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 กรอบสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน คือตัว จ.ว. ชุมพร
 กรอบสี่เหลี่ยมสีแดงไกล้ๆกัน คือบ้านนาทุ่ง
 กรอบสีแดง ถัดลงมาคือ วัดท่ายางเหนือ
 กรอบสีแดง ถัดลงมาล่างสุดคือ วัดท่ายางใต้  (วัดคงคาราม?)

ลูกศรสีแดง คือแนวที่ญี่ปุ่นบุกขึ้นทางปากหาด  (มะหาด?)
แนวสีน้ำเงิน แนวที่ 1 คือแนวตั้งรับของ ร.พัน ๓๘  ร้อย ๑,ตำรวจ,ยุวชนทหาร
แนวสีน้ำเงิน แนวที่ ๒ คือแนวตั้งรับของ ร.พัน ๓๘  ร้อย ๔

เส้นสีเขียวคือสะพานท่านางสังข์

 

           ประมาณ  ๐๓๐๐    ชาวบ้านแหลมดิน และบ้านคอสน ที่ตื่นมา  ได้เห็นทหารญี่ปุ่นเต็มหาดแล้ว   ทหารญี่ปุ่นได้แต่กันชาวบ้านไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน  ส่วนชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไปทราบข่าวได้เข้ามารวมตัวกันที่บ้านท่ายาง    เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านทราบ จึงรวบรวมชาวบ้านท่ายาง และที่มาจากหมู่บ้านอื่นข้ามสะพานท่านางสังข์ไปตำบลบางหมาก  และให้ชาวบ้านนำหนังสือรายงานหลวงจรูญประศาสตร์ ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรทราบ   (ถึงทหารญี่ปุ่นจะกันชาวบ้านไม่ให้ออกจากหมู่บ้านก็จริง  แต่ก็คงไม่สามารถกันได้สมบูรณ์เต็มที่  และชาวบ้านอื่น ก็คงต้องทราบเข้าจนได้  - ผู้เขียน)
 
          วันนี้  ฝนตกตั้งแต่เช้ามืด      

          ข้าหลวงฯ  ได้ทราบข่าวเมื่อเวลาประมาณ  ๖  นาฬิกา   จึงรีบแจ้งข่าวให้ นายพันตรี  ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์   (เชิด  เอกสิงห์)  ผู้บังคับกองพันทหารราบที่  ๓๘    นายพันตำรวจตรี  หลวงจิตการุณราษฏร์   ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร  และ  นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน   ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่  ๕๒   ทราบ   แต่ นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านท่ายางโดยตรงแล้ว และกำลังเดินทางไปพบข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพร    (ชาวบ้านที่แจ้งข่าวแก่นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  น่าจะเป็นผู้ปกครองยุวชนทหารที่รู้จักและคุ้นเคยกันมาก่อนแล้ว - ผู้เขียน)

 

         เวลาประมาณ  ๐๖๓๐    นายพันตรี  ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์  เมื่อทราบข่าวจากข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรแล้ว   จึงสั่งการให้นายพันตรี  ขุนเชื้อชาญรบ  รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่  ๓๘    ซึ่งนำหน่วยออกฝึกให้นำกำลังกลับที่ตั้งทันที    และให้ นายร้อยเอก  ประชา  มัณยานนท์  ผู้บังคับกองร้อย  นำกำลัง   ๑  หมวด  รีบรุดไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่นไว้ก่อน   กำลังส่วนนี้ได้เพิ่มเติมปืนกลหนัก ให้เป็นหมู่ละ  ๓  กระบอก  (ปรกติหมู่ทหารราบจะมีปืนกลหนัก  หมู่ละ  ๑  กระบอก    ดังนั้น  หมวดนี้ จึงมีปืนกลหนักถึง  ๙  กระบอก)    

          ฝ่ายเราส่วนอื่นๆ ได้ดำเนินการ ตามคำสั่งของข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพร  ดังนี้

          ตำรวจ    มีกำลังและอยู่ใกล้เหตุการณ์  (ประมาณ  ๗  กิโลเมตร)  เดินทางโดยรถบรรทุกของแขวงการทางชุมพรไปยึดสะพานท่านางสังข์ (ฝั่งใกล้) ไว้ก่อน
 
         ยุวชนทหารหน่วยฝึกที่  ๕๒

               นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  "ครูหวิน"  ตามตัวครูฝึกยุวชนทหาร  ให้ตามยุวชนทหารซึ่งพักอยู่กับผู้ปกครองที่บ้านให้แต่งเครื่องแบบมารวมพล  ได้ประมาณ  ๓๐  นาย   เมื่อรับอาวุธแล้ว     นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน และ  นายสิบเอก  สำราญ  ควรพันธุ์  "ครูราญ"  ครูฝึก  นำยุวชนทหารขึ้นรถยนตร์ประจำทางขนาดเล็ก  ๒  คัน  ไปสะพานท่านางสังข์ และให้จ่าสิบเอก  จง  แจ้งชาติ  "ครูจง"  นำยุวชนทหาร ซึ่งจัดเป็นหมู่ปืนกลแยกไปสกัดข้าศึกที่อ่าวพนังตัก

 

สะพานท่านางสังข์    บนเส้นทางสายชุมพร - ปากน้ำชุมพร

          ประมาณ  ๐๖๔๐    กำลังตำรวจน่าจะไปถึง และยึดสะพานท่านางสังข์ (ฝั่งใกล้ - ฝั่งตะวันตก) ไว้ได้ก่อน    ขณะนั้น  ชาวบ้านท่ายางแตกตื่นพากันเดินข้ามสะพานท่านางสังข์เพื่อจะให้ห่างจากทหารญี่ปุ่น     ผู้บังคับกองตำรวจที่ตั้งรับอยู่จึงได้ข่าวสารว่า   มีทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งชุมนุมกันอยู่ที่วัดท่ายางใต้  และอีกจำนวนหนึ่งกำลังเคลื่อนที่มายังสะพานท่านางสังข์       ผู้บังคับกองตำรวจจึงสั่งการให้กำลังตำรวจข้ามไปฝั่งตรงข้าม  (ฝั่งไกล  - ฝั่งตะวันออก)  และ เริ่มปะทะกันประปราย    เป็นการปะทะกับหน่วยลาดตระเวนหน้าของญี่ปุ่น ที่มีกำลังประมาณ ๑ กองร้อย

          นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน และ  นายสิบเอก  สำราญ  ควรพันธุ์  ครูฝึก  นำยุวชนทหารถึงดอนยายทัด  (ก่อนถึงสะพานท่านางสังข์ ประมาณ  ๓๐๐  เมตร) ให้ยุวชนทหารลงรถแล้ว   วิ่งไปยึดคูถนนที่คอสะพานท่านางสังข์รอรับคำสั่งอยู่

 

ทหารราบมาแล้ว

          ประมาณ  ๐๘๐๐      นายร้อยเอก  ประชา  มัณยานนท์  ผู้บังคับกองร้อย  นำกำลัง  ร.พัน ๓๘   จำนวน  ๑  หมวด  มาถึงสะพานท่านางสังข์  ทราบว่า มีทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งอยู่ที่วัดท่ายางใต้   จึงสั่งให้รถบรรทุกทหารวิ่งฝ่ากระสุนข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม  โดยไม่เป็นอันตราย

           เมื่อถึงวัดท่ายางกลาง  ติดกับวัดท่ายางใต้  เห็นทหารญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าวอย่างหนาแน่น  จึงลงรถแล้วจัดรูปขบวนรบ  และโจมตีก่อน    ทหารญี่ปุ่นไม่รู้ตัว  และฝ่ายเราใช้ปืนกลเป็นจำนวนมาก (๙  กระบอก)  จึงสูญเสียมาก   แต่หมวดนี้ก็นำกระสุนปืนไปน้อยมาก    จึงต้องให้รถกลับไปรับกระสุนเพิ่มเติมอีก   แต่ได้ยินเสียงการสู้รบอย่างหนาแน่นที่สะพานท่านางสังข์   จึงจอดรถไว้ที่บ้านท่ายาง  แล้วพลขับรถต้องว่ายน้ำกลับมาฝั่งตัวเมืองเพื่อติดต่อกลับไปที่กองบังคับการกองพันต่อไป

          (ร.พัน  ๓๘   น่าจะเคลื่อนย้ายจากสนามฝึกที่สนามบินทับไก่ ไปสะพานท่านางสังข์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันสถานการณ์ โดยไม่ได้แวะเข้าไปรับกระสุนเพิ่มเติม   จึงมีกระสุนเพียงเล็กน้อย   และเนื่องจากสภาพถนนจากสนามบินทับไก่ มาถึงจังหวัดชุมพร - สะพานท่านางสังข์ ไม่สะดวกเช่นปัจจุบัน  จึงทำให้รู้สึกว่า  ทหารไปถึงที่ตั้งรับล่าช้า  และไม่ค่อยพร้อมรบ  - ผู้เขียน)  

        

          ขณะเมื่อรถบรรทุกทหาร ร.พัน  ๓๘  วิ่งฝ่ากระสุนข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้ามแล้วนั้น   นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน ได้ขึ้นไปบนคอสะพานเพื่อตรวจการณ์ฝั่งตรงข้ามเห็นว่าฝั่งตรงข้ามไม่มีข้าศึกยึดอยู่   และพิจารณาเห็นว่าหากข้ามไปยึดฝั่งตรงข้ามได้จะยิงต่อสู้ได้ดีกว่า   จึงสั่ง  นายสิบเอก  สำราญ  ควรพันธุ์  กับยุวชนทหารอีก  ๓  นาย ให้ยึดคอสะพานไว้เพื่อติดต่อกับหน่วยข้างหลัง  ส่วนตนเองวิ่งนำหน้ายุวชนทหารทั้งหมดข้ามสะพานท่านางสังข์ไปยึดคอสะพานฝั่งตะวันออก (ฝั่งไกล)  ได้อย่างปลอดภัย

          ฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ในสวนมะพร้าว   คนละฟากถนน ห่างกันประมาณ  ๒๐ - ๓๐  เมตร        ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนที่ตามกันเข้ามาในสวนมะพร้าวไม่ขาดสาย      นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน    คงจะต้องการทำลายข้าศึกให้ได้มากที่สุด  จึงสั่งยุวชนทหาร "ติดดาบ" และยิงตรงหน้าไปยังข้าศึกให้มากที่สุด  ตนเองวิ่งนำหน้ายุวชนทหารข้ามถนนเข้าประจันบานกับฝ่ายญี่ปุ่น    ยุวชนทหารสามารถข้ามถนนไปถึงที่รกในสวนมะพร้าว  ไปไม่ถึงตัวข้าศึก

 

การรบที่สะพานท่านางสังข์    ภาพเขียนสีน้ำมันจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

        

 

        นายร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  เมื่อวิ่งข้ามถนนมาถึงสวนมะพร้าว  ถูกยิงเสียชีวิต

 

            ยุวชนทหารส่วนนี้ ได้นำปืนกลเบาข้ามสะพานไปด้วย  แต่ขาทราย*ชำรุดใช้ตั้งยิงไม่ได้   ยุวชนทหารนายหนึ่งจึงใช้หลังหนุนปากกระบอกปืนแทน และใช้ยิงต่อสู้ศัตรูอยู่จนกระทั่งมีคำสั่งให้หยุดยิง

 

*ขาทราย (Bipod) ไม้ ๒ อัน  ผูกหรือร้อยปลายให้อ้าออกเป็นง่ามสำหรับรับ หรือค้ำของ   ที่ใช้กับปืนกลทำด้วยโลหะ รับปากกระบอกปืน  (ดูภาพประกอบนะครับ)

 

          เมื่อ "ครูหวิน"  เสียชีวิต  "ครูราญ" จึงต้องอำนวยการรบต่อไป   และสามารถสังหารทหารญี่ปุ่นได้หลายนาย  จนตนเองถูกยิงที่เหนือข้อศอกแขนขวาไม่สามารถใช้การได้  และต้องถูตัดแขนขวาเหนือข้อศอกในโอกาสต่อมา  

          ตำรวจก็ข้ามสะพานมาทางฝั่งตะวันออก เพื่อเสริมกำลังยุวชนทหาร

          ขณะที่ ตำรวจ และยุวชนทหาร ปะทะอยู่ที่สะพานท่านางสังข์   และ กำลัง  ร.พัน ๓๘     ๑  หมวดเพิ่มเติมกำลัง ปะทะอยู่ที่วัดท่ายางกลางนั้น    กำลังส่วนใหญ่ของ  ร.พัน ๓๘  ก็มาถึงดอนยายทัด    และไม่ได้มีส่วนในการสู้รบ   ส่วนปืนใหญ่ติดตามทหารราบ เข้าที่ตั้งยิงที่ใกล้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำท่าตะเภา และภายในโรงเรียนสตรี  แต่ไม่ปรากฏว่าได้ยิง

         ร.พัน ๓๘   ต้องจัดกำลังส่วนหนึ่งไปรักษาเส้นทาง ชุมพร - กระบุรี  ด้วย

 เวลา    ๑๑๕๐    ฝ่ายเราได้รับคำสั่งให้หยุดยิง  แต่ญี่ปุ่นยังไม่ยอมหยุด        

 เวลา    ๑๓๔๐    เริ่มการเจรจาหยุดยิง

 

 

การสูญเสีย

ฝ่ายเรา 

          เสียชีวิต                                                          บาดเจ็บ

             ๑. ร.อ. ถวิล  นิยมเสน                                 ๑. ส.อ.สำราญ  ควรพันธุ์

             ๒. ส.ต.ท. บุญเสริม  เศวตจันทร์                  ๒. พลทหาร  เชิด  สายัณห์

             ๓. พลตำรวจ  เปียก  ชูธวัช                          ๓. พลตำรวจ  จันทร์  พิบูลพล

             ๔. พลตำรวจ  เพชร  ธานา                           ๔. นายเช้า  สีไสสง

             ๕. นายน้อย  มณีสุวรรณ                              ๕. นายนุ้ย  ใยนิรัตน์

ร.อ. ถวิล  นิยมเสน            

 

ฝ่ายข้าศึก

          ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน       แต่ผู้บังคับหมู่ปืนกลเบาที่ได้สู้รบที่วัดท่ายางกลาง  ให้การตรงกันว่า  ฝ่ายเรา"ด้เริ่มยิงก่อนด้วยปืนกลเบาทั้ง  ๙  กระบอก    เห็นทหารญี่ปุ่นล้มตายเป็นจำนวนมาก  แต่ได้ขนศพกลับไปลงเรือทั้งหมด    การสู้รบที่สะพานท่านางสังข์ก็เช่นกัน

 

ฮะเฮ้ยอย่าเยาะเย้ย      หยามเด็ก   . . .

          ครับ . . . ผมได้ข้อมูลจากหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง  กองทัพบกดังนี้ครับ

          . . .  ที่จังหวัดชุมพร มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่ วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร นอกจากตำรวจ - ทหารแล้ว เรายังมียุวชนทหารซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนศรียาภัย เข้าสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่ทั้งหลายอีกด้วย การสร้างอนุสาวรีย์ จึงสร้างเป็นรูปยุวชนทหาร เพื่อเน้น เป็นพิเศษ ให้เห็นวีรกรรมของเด็ก

 อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ท่านางสังข์ ชุมพร น่าจะเป็นอนุสาวรีย์แรก ที่ประกาศคุณงามความดี ของเด็กนักเรียน 
     

           วีรกรรมของลูกหลานไทยที่สะพานท่านางสังข์และวัดยางใต้ ค่อยๆ เลือนออกจากความทรงจำของผู้คนรุ่นใหม่ หรือคนเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ไม่ทราบ หรือไม่สนใจที่ทราบ

          . . .  เรื่องนี้ เวลาล่วงมาอีก   ๓๐ ปี  . . . 

          เช้าวันหนึ่งชาย สูงอายุผู้หนึ่ง มายืนดูเจดีย์เล็ก ๆ ที่ริมสะพานท่านางสังข์ ด้วยกริยาอันเศร้าซึม ชายผู้นั้นแขนขวาขาดเหนือข้อศอก ท่านคือ ร้อยโท สำราญ ควรพันธ์ ซึ่งเมื่อ  วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มียศเพียง สิบเอก ร่วมกับร้อยเอก ถวิล นิยมเสน (ยศในครั้งนั้น) คุมกำลังยุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัย เข้าห้ำหั่นกับทหารญี่ปุ่น ที่เชิงสะพานท่านางสังข์   พอร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ถูกกระสุนปืนข้าศึกถึงแก่ความตาย สิบเอก สำราญ ควรพันธ์ ผู้นี้ได้อำนวยการรบแทนผู้บังคับหน่วยจนตนเองถูกกระสุนข้าศึกกระดูกแขนขวาแตกละเอียด แต่ยังกัดฟันสู้อยู่ไม่ยอมถอย   จนการรบยุติลง

          ท่าท่านมีกิริยาเศร้าซึม เพราะทราบว่า นาย ประชุม สุยสิน อดีตยุวชนทหาร รุ่น ๒๔๘๔ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ได้บริจาคเงินซื้อเจดีย์เล็ก ๆ มาวางไว้ พอเป็นนิมิตหมาย   ครบรอบปี ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครูทหารและเพื่อนยุวชนทหาร ที่ล่วงลับไปแล้ว
 

             ร้อยโท  สำราญฯ  เที่ยวตามหาอดีตยุวชนทหาร ที่เคยเป็นศิษย์ได้อีกหลายคน มีนายเทพไท ใจสมคม เป็นหัวหน้า ได้ติดต่อขอความสนับสนุน จากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร    ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร    หัวหน้าสำนักงานทหารผ่านศึกจังหวัดชุมพร    รวบรวมเงินได้  ๒๑๔,๒๕๙ บาท    แขวงการทางชุมพร อนุญาตให้ใช้สถานที่ในรัศมีถนนริมสะพานท่านางสังข์    กรมศิลปากร อนุญาตให้สร้างรูปยุวชนทหาร กับอาวุธประจำกาย ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่  ๓  ธันวาคม  ๒๕๒๔   แล้วทำหนังสือมอบให้เป็นสมบัติของจังหวัดชุมพร

จังหวัดได้จัดให้มีพิธี วางพวงมาลา ในวันที่  ๘ ธันวาคม ของทุกปี

 

 

        ในปี พ.ศ.๒๕๒๗  ร้อยโท  สำราญ  ควรพันธ์ และทายาทของพันโท ถวิล นิยมแสน  (พลโท  ทวีวิทย์  นิยมเสน  และ พลเอก  ทวีวรรณ  นินมเสน - ผู้เขียน)  มอบให้ผู้อำนวยการ โรงเรียนศรียาภัย  ขอให้จังหวัด ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทักท้วงว่า รูปปั้นและแท่นเล็กไม่สง่างาม พอที่จะเชิญผู้ใหญ่ในบ้าน เมืองมาทำพิธีเปิดได้ ขอให้อดีตยุวชนทหารและศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัย ช่วยปรับปรุงรูปปั้นและฐานให้ใหญ่ขึ้นและสง่างามกว่าเดิมเสียก่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนศรียาภัย (สนั่น ชุมวรฐายี) ชักชวนอดีตยุวชนทหารและศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัย หลายรุ่นให้ช่วยกันหาเงินปรับปรุงอนุสาวรีย์

          กรรมการชุดนี้หาเงินกันได้  ๒๗๕,๐๐๐ บาท  จ้างช่างปฏิมากรรม  ร.อ.นพดล สุวรรณสมบัติ ปั้นรูปยุวชนทหารขนาดเท่าครึ่งคนจริง ยืนแท่นถืออาวุธประจำกายในท่าแทงปืน (คือรูปปัจจุบัน) ขยายแท่นให้กว้างกว่าเดิม ติดโคมไฟฟ้า ๔ ดวง  ๔ มุม

          ต่อมาในต้นปี ๒๕๓๒   พลตรี ทวีวิทย์ นิยมแสน  บุตรชายของ พันโทถวิล นิยมแสน ได้บริจาคเงินให้ทางจังหวัดชุมพร เป็นจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท  เพื่อจัดซื้อที่ดินด้านตะวันออกของอนุสาวรีย์ ขยายบริเวณออกไปให้ถึงริมท่าน้ำ  แต่เจ้าของที่ดินไม่ยอมขาย   จึงเปลี่ยนเป็นใช้เงินจำนวนนี้ ขยายฐานปรับปรุงพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น    ขอให้กรมยุทธศึกษาทหารบกออกแบบ ฐานอนุสาวรีย์   เริ่มสร้างฐานใหม่ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒    ในปีนั้น เกิดขัดข้องด้วยภัยธรรมชาติ คือ พายุใต้ฝุ่นและน้ำท่วม  การก่อสร้างล่าช้า เพิ่งแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกันยายน  ๒๕๓๓    นอกจากนี้ ร.ท.สำราญ ควรพันธ์ กับ พ.อ.สุเทพ ควรพันธ์  (บุตรชาย)   ได้สร้างศาลาที่พักริมทางไว้อีกหลังหนึ่งด้วย

          ครั้นอนุสาวรีย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามรูปแบบ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ( นายกนก ยะสารวรรณ) ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ถมและปรับพื้นที่ รอบๆ อนุสาวรีย์ ตัดถนน ปลูกดอกไม้ และปลูกต้นไม้ในบริเวณ  

 

 

 

 

          ๘  ธันวาคม  ๒๕๓๓   พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ที่ เชิงสะพานท่านางสังข์ด้านตะวันตก  ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นอนสุรณ์แด่ ยุวชนทหารแห่งโรงเรียนศรียาภัย  ทหาร และตำรวจที่ได้แสดงวีรกรรมอันกล้าหาญ   เมื่อวันที่  ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔    ณ บริเวณสะพานท่านางสังข์   ริมทางหลวงหมายเลข  ๔๐๐๑   สายชุมพร - ปากน้ำ 

 

 ๘  ธันวาคม     วันวีรไทย  -  วันนักศึกษาวิชาทหาร

           กองทัพบกเล็ง เห็นว่า “นักศึกษาวิชาทหาร” ได้พัฒนามาจาก"ยุวชนทหาร"ในอดีต  ได้รับการฝึกและภารกิจเดียวกัน คือ เป็นกำลังพลสำรอง ของประเทศ สนับสนุนกำลังประจำการในยามบ้านเมืองคับขัน    

          จึงอนุมัติให้ วันที่ ๘ ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันนักศึกษาวิชาทหาร” และให้กระทำพิธี ชุมนุมสวนสนามนักศึกษาวิชาทหารเป็นประจำทุกปี   พร้อมกันทั่วประเทศ

 

 จากปี ๒๔๘๔  ถึง ปีนี้  ๒๕๕๒   เกือบ  ๗๐  ปี  ที่ ท่านทั้งหลายได้สละเลือด เนื้อ และชีวิตเป็นชาติพลี   เป็นแบบฉบับให้อนุชนถือเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป 

. . . ขอท่านเป็นสุข และสงบ ในสัมปรายภพ . . . เทอญ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

บรรณานุกรม

          - วีระบุรุษทหารไทย    พ.ต. ม.ร.ว. ประพีพันธ์  สุบรรณ      องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก  กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๐๒

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          - ๕๐ ปี  วีรไทย    กองทัพภาคที่ ๔  จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบ  ๕๐ ปี  แห่งสงครามมหารเอเซียบูรพา  ๘  ธันวาคม  ๒๕๓๔   

          - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   

 

 




กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา โดย สัมพันธ์

วันวีรไทย - นครศรีธรรมราช
วันวีรไทย - ปัตตานี
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ไทยประกาศสันติภาพ
สงครามมหาเอเซียบูรพา - เชียงตุง ๒๔๘๕
สงครามมหาเอเซียบูรพา - จากวันวีรไทย ถึง วันประกาศสงคราม
วันวีรไทย - บางปู ปราจีนบุรี
วันวีรไทย - สงขลา
วีรไทย - สุราษฎร์ธานี
วันวีรไทย - ประจวบคีรีขันธ์
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ก่อนจะถึงวันวีรไทย
กรณีพิพาทอินโดจีน - มณฑลบูรพา . . . เคยได้เป็นของเรา
กรณีพิพาทอินโดจีน - ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
กรณีพิพาทอินโดจีน - วีรกรรม น.ต.ศานิต นวลมณี



1

ความคิดเห็นที่ 1 (334)
avatar
อัญสุรภร ชูธวัช

วันวีรไทย - ชุมพร
เป็นวันที่ลำลึกถึงบุคคลสำคัญหลายท่านอยากเห็นรูป. พลตำรวจ  เปียก  ชูธวัช   ซึ่งลูกหลานของตระกูลชูธวัชแต่ไม่เคยเห็นรูปท่านเลยซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของตระกูลของชูวัชขอครอบคุณล่วงหน้าเป็นลูกสาวนายครัน ชูธวัช

ผู้แสดงความคิดเห็น อัญสุรภร ชูธวัช (jostwin-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-06-20 21:20:09 IP : 58.8.170.132


ความคิดเห็นที่ 2 (354)
avatar
น.ส.อัญสุรภร ชูธวัช

ปัจุบันวันสำคัญที่เกี่ยวกับวันวีรไทย-ชุมพรยังมีการจัดขึ้นทุกปีหรือเปล่าพอดีข้าพเจ้าเป็นลูกหลานคนหนึ่ง

ซึ่งพอจะช่วยอันใดใดได้บ้างเพราะข้าพเจ้าก็อยู่ในหน่วยงานราชการเหมือนกัน(แต่เป็นแค่ลูกจ้าง)ในหน่วยงานราชการในกรุงเทพมีสิ่งใดพอจะให้ช่วยอัใดได้บ้างก็บอกกล่าวมาซึ่งสิ่งนั้นทำให้วันสำคัญและบุคคลสำคัญเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะให้ลูกหลานทั้งหลายได้ละลึกถึงบุคคลสำคัญในตระกูลของเราซึ่งลูกหลานบ้างคนไม่รู้จักและไม่เคยส่งความคิดเห็นมาเพราะส่วนมากจะไม่ทราบว่ามีการเขียนประวัติบุคตลสำคัญทั้งหลายเหล่านี้

ผู้แสดงความคิดเห็น น.ส.อัญสุรภร ชูธวัช (jostwin-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-25 18:14:07 IP : 58.8.169.219


ความคิดเห็นที่ 3 (362)
avatar
สัมพันธ์

ผมไม่ได้เข้ามาดูเสียหลายวัน  ขอโทษด้วยครับที่ทำให้คอย

เมื่อผมรับราชการอยู่ที่จังหวัดทหารบกชุมพร  ปี ๒๕๓๗ - ๔๒ (พายุลินดา)  ทางจังหวัดจัดงานวันวีรไทยทุกปีครับ  ผมยัได้คุยกับท่าน  ร้อยโท  สำราญ  ควรพันธ์  ปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าคงจัดอยู่นะครับ    น่าเสียดาย  ว่าจัดเป็นกิจกรรมของท้องถิ่น  รัฐบาลน่าจะกำหนดให้เป็นวันที่ระลึกในระดับชาติ

เรื่องรูปท่าน พลตำรวจ  เปียก  ชูธวัช  ไม่ทราบว่าที่สถานีตำรวจที่ท่านสังกัดอยู่จะมีหรือเปล่า  ลองติดต่อดูนะครับ

หรือลองประสานสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตชุมพร เผื่อได้นะครับ

                                            สวัสดี และขอให้โชคดีครับ

                                                                                        สัมพันธ์

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-10 23:43:15 IP : 125.25.141.201


ความคิดเห็นที่ 4 (391)
avatar
อัญสุรภร ชูธวัช

ขอขอบคุณท่านสัมพันธ์ ที่บอกให้ทราบถึงการติดต่อประสานงานกับสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

มิทราบว่าจะติดต่อทางอีเมล์ได้หรือเปล่า

ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมของ จังหวัดได้จัดให้มีพิธี วางพวงมาลา   จะเป็นแค่กิจกรรมที่เกิดขึ้นแค่ในท้องถิ่น

ก็ยังดีกว่าไม่มีการจัดกิจกรรมอะไรให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ทราบเลยว่า พวกเรายังมีวีระบุรุษทหารไทยอยู่

                      ถ้าไม่ได้นามปากกาจากท่านเล่าเรื่องต่าง ๆ  ลูกหลานทั้งหลานในปัจจุบันนี้ก็จะไม่ทราบข้อมูลข่าวสารของวีระบุรุษทหารไทย       ว่ามีกิจกรรม   ลำลึกถึงจากปี ๒๔๘๔  ถึง ปีนี้  ๒๕๕๒   เกือบ  ๗๐  ปี  ที่ ท่านทั้งหลายได้สละเลือด เนื้อ และชีวิตเป็นชาติพลี   เป็นแบบฉบับให้อนุชนถือเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป 

. . . ขอท่านเป็นสุข และสงบ ในสัมปรายภพ . . . เทอญ 

ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูง

น.ส. อัญสุรภร ชูธวัช 

ผู้แสดงความคิดเห็น อัญสุรภร ชูธวัช (twins1jos2jaw-at-sanook-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-15 11:05:23 IP : 58.8.172.154


ความคิดเห็นที่ 5 (400)
avatar
สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์

สวัสดีครับ  คุณอัญสุรภร

          องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์  สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ อยู่ครงข้ามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  ครับ    และมีสำนักงาน ฯ  อยู่ทุกมณฑลทหารบก และจังหวัดทหารบก   แต่จะอยู่ในค่ายบ้าง นอกค่ายบ้าง ก็แล้วแต่  เช่นที่ชุมพร  ก็ถิอว่าอยู่ในค่าย      แต่เขาจะมีเว็บให้ติดต่อหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบ  แต่เรื่องแบบนี้  ผมว่าหากติดต่อด้วยตนเองน่าจะดีกว่า  เพราะได้พูดคุยกัน   หากมีเวลาก็ลองดูนะครับ  หารือกับหัวหน้าสำนักงานเลย    และอย่าลืมทางหน่วยตำรวจที่ท่านเคยรับราชการด้วยนะครับ 

                                                                                                                      สวัสดีครับ

                                                                                                                                สัมพันธ์

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-25 06:50:57 IP : 125.25.129.115


ความคิดเห็นที่ 6 (419)
avatar
ทายาทครูฝึก

ขอบคุณทุกท่านจะสนใจอนุสาวรีย์ หากท่านรท.สำราญ ควรพันธ์ สามารถเดินทางไปชุมพรได้ ท่านคงเดินทางไปร่วมงานทุกปี แต่แม้ว่าท่านจะเดินทางไปไม่ได้ ท่านก็มีตัวแทนท่านไปทุกปี เพียงแต่ไม่มีใครทราบเท่านั้นเอง

ผู้แสดงความคิดเห็น ทายาทครูฝึก วันที่ตอบ 2009-10-23 13:01:05 IP : 125.24.22.193


ความคิดเห็นที่ 7 (426)
avatar
สัมพันธ์

          ครับ    เมื่อผมรับราชการที่จังหวัดทหารบกชุมพร  พ.ศ.๒๕๓๘ - ๔๒  ก็ได้พบ และพูดคุยกับท่านทุกปี    และยังได้แสดงความคิดเห็นกับทางจังหวดชุมพร  ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานว่า  น่าจะประกาศให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ทราบ  และ/หรือ ให้ท่านกล่าวความรู้สึก หรือเล่าเรื่องให้พวกเราได้ทราบกันบ้าง  (ก่อนที่ท่านจะเล่าไม่ได้  หรือไม่ได้มา)    เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าท่านยังไปอยู่หรือเปล่า     หรือหากทางจังหวัด  จะจัดที่นั่งให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์ทุกท่าน  ครูฝึก  หรือ  ยุวชนทหาร   เป็นพิเศษ    ซึ่งยุวชนทหารในปัจจุบัน  คงยังอยู่กันหลายท่าน   หรือให้ท่านใดท่านหนึ่งมาพูดคุย เล่าเหตุการณ์ในวันนั้น  ก็คงจะดีนะครับ

          ขอบคุณมากครับ    ผมไม่มีโอกาสทำอย่างที่คิด   หากท่านเห็นดีเห็นงามด้วย  จะดำเนินการต่อ  ก็ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า  

                                                 ยังประทับใจ  และคิดถึง เมืองชุมพร และชาวชุมพร   อยู่ไม่รู้ลืมครับ

                                                                                                                             สัมพันธ์

         

         

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-10-30 14:47:19 IP : 125.25.126.174


ความคิดเห็นที่ 8 (431)
avatar
พ.อ.อภิชาติ ควรพันธ์

              พ่อของกระผม ท่านได้เสียชีวิตแล้ว   ตั้งแต่ ๕ ม.ค.๒๕๔๓     และตลอดเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่    ท่านใช้เวลาตลอดจนทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่

ติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และอดีตยุวชนทหาร  ท่านเคยบอกกับผมว่า  พ่อจะทำอนุสาวรีย์ให้สำเร็จก่อนจะตาย

และท่านทำได้จริง   และตั้งใจว่าจะไปร่วมพิธีในปีนั้น  .....

ผู้แสดงความคิดเห็น พ.อ.อภิชาติ ควรพันธ์ (bpichart653-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-20 14:22:59 IP : 114.128.29.220


ความคิดเห็นที่ 9 (435)
avatar
สัมพันธ์
พี่สุเทพหรือเปล่าครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-23 21:45:14 IP : 125.25.110.71


ความคิดเห็นที่ 10 (481)
avatar
อัญสุรภร

สวัสดีค่ะ

ขอโทษที่ไม่มีเวลาได้เข้ามาติดต่อ

แต่ถ้าหนูจำไม่ผิด

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

     เป็นวันทหารผ่านศึก เป็นวันรำลึกถึงทหารหารผู้กล้าของประเทศ    ต้องนี้ก็มีโอกาสที่ช่วยซื้อดอกป๊อบ***เท่านั้นเองค่ะ

                                                                                      อัญสุรภร

ผู้แสดงความคิดเห็น อัญสุรภร (jostwin-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-01-31 10:28:18 IP : 58.8.172.157


ความคิดเห็นที่ 11 (482)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณมากครับ    เพียงความรู้สึกดีๆ อย่างนี้ก็เป็นที่ปลาบปลื้มใจแล้วครับ

เรื่องท่านเปียก  ชูธวัช  ผมถามเจ้าหน้าที่หลายคนแล้วเขาแนะนำว่า  ต้องติดต่อสถานีตำรวจต้นสังกัดเท่านั้นครับ 

สำหรับ  พ.อ.อภิชาติ ควรพันธ์  ขอแสดงความเสียใจเรื่องพี่สุเทพ ด้วย    เมื่อท่านเป็น  ผบ.จทบ.ท.ส.  ผมอยู่ บชร.๔  ได้คุย และช่วยเหลือกันเสมอครับ

ปีนี้มีเหตุนัดกับพวก  คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว  พบกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครับ    ตั้งใจว่าปีหน้าจะมาให้ได้  หากมาได้จะได้คุยกันนะครับ

                                               ขอบคุณ  และสวัสดีครับ

                                                                                                    สัมพันธ์

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-01-31 11:16:59 IP : 125.25.132.9


ความคิดเห็นที่ 12 (524)
avatar
เเชมป์

ผมดูหนังเรื่อง ยุวชนทหารเปิดเทอมไปรบ มาครับ ดูในMThai ผมชื่นชม หนังเรื่องนี้มาก ๆ ครับ สนุกดี ผมชอบตอนที่ ทหาร เอาเปลหามศพร้อยเอก ถวิล นิยมเสน  มา แล้ว มีนายทหารใส่เเว่นคนนึงกราบ แล้วมือของ ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน  ก็ ลูบหัว อ่ะครับ เกือบ จะจบนะ ลองดู สิ ดูแล้วจะร้องให้

ผู้แสดงความคิดเห็น เเชมป์ (ibarza-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-12 10:52:53 IP : 118.174.82.85


ความคิดเห็นที่ 13 (531)
avatar
สัมพันธ์
          อนาคตของชาติอยู่ที่ยุวชน เยาวชนนี่แหละครับ    หากยุวชน เยาวชนดูและเดินตามบรรพชนที่ดี    อนาคตของชาติก็ไปดีนะครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-18 13:22:19 IP : 124.121.42.155


ความคิดเห็นที่ 14 (558)
avatar
กาญจน์
สุดยอด
ผู้แสดงความคิดเห็น กาญจน์ วันที่ตอบ 2010-05-28 09:31:17 IP : 118.173.120.193


ความคิดเห็นที่ 15 (569)
avatar
สัมพันธ์

เรียน  คุณวาทินฯ

          เป็นความคิดและความพยายามที่ดีมากเชียวครับ

          ผมรู้จักกับ พ.อ.สุเทพ  ควรพันธ์  แต่ทราบข่าวว่าท่านเสียชีวิตแล้ว   สำหรับ พ.อ.อภิชาติ ฯ  น้อง พ.อ.สุเทพ ฯ  ได้แต่คุยกันทางนี้ครั้งเดียว  ไม่ทราบว่า เว็บมาสเตอร์จะช่วยได้ไหมครับ

          อีกวิธีหนึ่ง  ขออนุญาตออกความเห็นว่า  หากติดต่อสถานีวิทยุกระจายเสียงแต่ละจังหวัด  ให้ช่วยประกาศ  ขอให้ท่านที่อยู่ในเหตุการณ์    (อายุประมาณ  ๘๐ - ๙๐ ปี ขึ้นไปทั้งนั้น)    หรือทายาทที่มีข้อมูล  ฯลฯ  ติดต่อมาที่คุณวาทิน   เพื่อดำเนินการต่อไป   น่าจะแพร่กระจายข่าวสารได้เร็วขึ้น

          ทภ.๔  ก็คงมีข้อมูล  เมื่อครั้งจัดงาน  ๕๐ ปี วีรไทย  พ.ศ.๒๕๓๔  อยู่ไม่น้อย    คุณวาทิน  อยู่นครฯ อยู่แล้วคงติดต่อได้สะดวกs

          สำหรับผม  ยินดีช่วยเหลือสนับสนุนทุกประการ    แต่เอกสารก็มีเพียงหนังสือที่ได้อ้างไว้ในบรรณานุกรมแล้วเท่านั้น   

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-10 23:22:24 IP : 124.122.54.200


ความคิดเห็นที่ 16 (570)
avatar
โรจน์ จินตมาศ

ในเบื้องต้นเข้าใจว่าท่าน พ.อ.อภิชาติ ไม่ได้สมัครสมาชิก ผมจึงไม่มีที่อยู่ท่านในทำเนียบสมาชิกเว็บ   ส่วนจะช่วยเหลือด้วยวิธีการอื่นใดคงต้องขอนึกดูก่อนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ จินตมาศ (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-06-11 11:31:27 IP : 203.114.104.116


ความคิดเห็นที่ 17 (571)
avatar
สัมพันธ์

เรียน  พ.อ.อภิชาติ  ควรพันธ์

          คุณวาทิน  ชาติกุล  กำลังรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์วันวีรไทย  จากผู่อยู่ในเหตุการณ์  ผู้ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์  หรือทายาท  "เพื่อจะได้เป็นเกียรติแด่ท่านผู้นั้นที่เคยปกป้องบ้านเมือง"  และอยากติดต่อท่าน

          หากท่านได้ทราบ  กรุณาติดต่อกลับ  ด้วย 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-11 12:29:48 IP : 110.168.19.144


ความคิดเห็นที่ 18 (575)
avatar
วาทิน

เรียนคุณสัมพันธ์

เมื่อ 8 ธ.ค. 2552 ได้จัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์วีรไทย นครศรีธรรมราช

บุคคลที่ทาง ผ่านศึก ทภ.4  สามารถประสาน และมาร่วมงานได้ มี 9 ท่าน

เป็น ยวท. 4 ท่าน

เป็นทหาร 5 ท่าน

หากต้องการภาพ สามารถ อีเมล์ถึงผมได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วาทิน (chatgul28-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-12 15:12:56 IP : 118.173.29.96


ความคิดเห็นที่ 19 (576)
avatar
สัมพันธ์

          ขอบคุณครับ

          หากคุณวาทินจะเขียนบทความ  และนำภาพท่านเหล่านั้นลงในบทความด้วย  จะมีคุณค่ายิ่ง  นะครับ    ดังที่ เว็บมาสเตอร์ท่านเขียนเรื่อง  บรรยากาศวันทหารผ่านศึกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เมื่อ  ๓  ก.พ.๕๓   

          หวังว่าคุณวาทินคงได้ข้อมูลที่ดีจากท่านเหล่านั้นมากนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-12 15:30:25 IP : 124.121.9.163


ความคิดเห็นที่ 20 (698)
avatar
ศรัณ ควรพันธุ์

ผมภูมิใจในตัวคุณปู่สำราญ ควรพันธ์ มาก และทุกๆท่านที่ได้ร่วมรบ ปกป้องผืนแผ่นดินไทยด้วยในเวลานั้น ผมก็เป็นเลือดเนื้อของตระกูลควรพันธ์ คนหนึ่ง เมื่องานพระราชทานเพลิงศพคุณปู่สำราญ ควรพันธ์ ผมก็ได้ไปร่วมงานด้วย ไปกับพ่อสุเทพ ควรพันธุ์ ซึ่งมีชื่อและนามสกุลเดียวกันกับ พ.อ.สุเทพ ควรพันธ์ในขณะนั้น ผมและพ่อเราภูมิใจกับนามสกุลควรพันธ์ นี้มาก และจะขอเป็นคนดีเจริญรอยตามคุณปู่สำราญ และ คุณลุง พ.อ.สุเทพ ควรพันธุ์( เวลาผ่านไปเนิ่นนานจากเดิม ควรพันธ์ มากลายเป็น ควรพันธุ์ มีสระอุเพิ่มมาด้วย บังเอิญที่อำเภอเขาเพิ่มมาให้ที่บ้านผม)

ผู้แสดงความคิดเห็น ศรัณ ควรพันธุ์ (srun_phun-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-13 01:17:10 IP : 110.49.205.114


ความคิดเห็นที่ 21 (699)
avatar
สัมพันธ์

คุณ  ศรัญ ครับ

          พันธ์  หรือ  พันธุ์  ก็มาจากที่เดียวกัน  ด้วยความ  .  .  .  ของเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์  เลยแตกต่างกันไป  ไม่เป็นไรนะครับ 

          ผมคุ้นกับพี่เทพฯ (พ.อ.สุเทพ ควรพันธ์)   มาก  ตามที่เคยได้กล่าวแล้ว  (ในความคิดเห็นที่ ๑๑)

          วีรกรรมของทุกท่านเป็นสิ่งที่ลูกๆ หลานๆ  ภาคภูมิใจ  ลองถามคุณพ่อซีครับ  ว่าคุณปู่ได้เคยเล่าอะไรให้ฟังบ้าง  แล้วมาเล่าสู่กัน    ไม่งั้นก็นับวันแต่จะสูญไปตามกาล  นะครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-13 15:57:37 IP : 124.121.107.22


ความคิดเห็นที่ 22 (776)
avatar
วาทิน ชาติกุล

เรียนคุณสัมพันธ์

ตอนนี้ ทางผมได้พบปะพูดคุยกับ บุคคลร่วมสมัย ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ยุวชนทหาร ที่ร่วมเหตุการณ์ 8 ธัววาคม 2484 ครบแล้วทุกจังหวัด

ตั้งแต่ ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีฯ สงขลา ปัตตานี มาเลเซีย (บางส่วน) และในปีนี้ ครบรอบ 70 ปีวีรไทย

ทาง ผศ.ทภ 4, และ ทภ 4 จะจัดงานใหญ่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญในครั้งนั้น

ผมเป็นผู้หนึ่งที่อยากให้ทุกคนช่วยระดมสมองว่า สมควรมีอะไรในงานบ้าง ที่นอกเหนือจากการทำหนังสือ

ในส่วนนี้ ผมเขียน 2 แบบ

- แบบวิชาการในส่วนกองประวัติศาสตร์ของ ทภ.4

- แบบหนังสือพิมพ์ออกขายตามท้องตลาด ซึ่งเนื้อหาจะไม่วิชาการจ๋า มากนัก

ใครอยากให้มีอะไรในงานบ้างครับ สามารถเสนอได้ ผมจะได้นำเรียน ผบ.ผศ ต่อไป

และเรียนเชิญทุกท่านที่เป็นทายาท มีส่วนเกี่ยวข้อง และสนใจ สามารถมาร่วมงานได้ในช่วงเดือน ธันวาคมปีนี้

และสามารถเขียนบทความเพื่อเสนอในการพิจารณาตีพิมพ์ ใน 70 ปีวีรไทยรำลึกได้ครับ

ด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง

วาทิน ชาติกุล

ผู้แสดงความคิดเห็น วาทิน ชาติกุล (chatgul28-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-12 14:48:24 IP : 182.52.211.35


ความคิดเห็นที่ 23 (777)
avatar
สัมพันธ์

เรียน  คุณวาทินฯ

          ยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ

          ผมว่าที่ผมเขียน บทความใน ตับ หรือ ชุด  วันวีรไทย นี้  ไม่ค่อยเป็นวิชาการสักเท่าไหร่    หากเป็นไปตามที่คุณวาทินฯ ว่า  -  แบบหนังสือพิมพ์ออกขายตามท้องตลาด ซึ่งเนื้อหาจะไม่วิชาการจ๋า มากนัก    หากเป็นไปได้  ก็น่าจะดีมากครับ    กรุณาพิจารณาด้วย

          หรือถ้าไม่เหมาะที่จะพิมพ์ออกขาย  ก็ ฝากเรียน แม่ทัพภาคที่ ๔  ว่า    ผมยินดีให้นำ "พิจารณาตีพิมพ์ ใน 70 ปีวีรไทยรำลึก"  ได้เลยครับ

          ขอบคุณมากครับ  ที่กรุณาส่งข่าว    ส่วนมีอะไรในงานบ้าง  คงขอเวลาหน่อยครับ    นึกออกจะรีบบอกทันที

                                                                                                                            ขอบคุณ และ  สวัสดีครับ

                                                                                                                                           สัมพันธ์  แจ้งเจนเวทย์ 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-12 15:54:49 IP : 110.168.44.49


ความคิดเห็นที่ 24 (778)
avatar
วาทิน ชาติกุล

เรียนคุณพี่สัมพันธ์  แจ้งเจนเวทย์   มากๆ ครับ

ทางผมจะนำบทความใน ตับ หรือ ชุด  วันวีรไทย  ที่คุณพี่เขียน เข้าพิจารณา

แต่จะได้ลงตีพิมพ์หรือไม่ ต้องขึ้นกับคณะกรรมการ กองบรรณาธิการ

 

ตอนนี้ 70 ปี มีข้อมูลใหม่ๆ เปิดเผยได้มากขึ้น ข้อมูลบางอย่างน่าตกใจมาก ส่วนข้อมูลบางอย่าง ทำความจริงให้ปรากฎมากขึ้น

เช่น "ยุวชนลูกฐานปืนกล" ที่ชุมพร ที่ อ.สรศัลย์ แพ่งสภาเขียน ปืนกลเบาถูกยิงขาทรายเสียหาย มียุวชนท่านนึงยอมคุกเข่า

ให้เอาปืนกลเบาพาดหลังยิงต่อสู้ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ

ปรากฎว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านผู้นำ สร้างขึ้น ในการโฆษณาชวนเชื่อในยุคนั้น

ความจริงแล้ว ปืนกลเบาแบบ 66 ที่ชุมพร ไม่ได้ใช้งานเลยสักนิด อันนี้ ยวท. ที่ชุมพรยืนยันตรงกัน 6 ท่าน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

วาทิน ชาติกุล

ผู้แสดงความคิดเห็น วาทิน ชาติกุล (chatgul28-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-14 13:24:47 IP : 182.52.213.27


ความคิดเห็นที่ 25 (779)
avatar
สัมพันธ์

สวัสดีครับ

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม  ก็ต้องขอบคุณ คุณวาทินฯ เป็นอย่างยิ่ง  ที่ได้กรุณาสนับสนุน ครับ

                                                                                                                   ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

                                                                                                                                          พี่สัมพันธ์

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-14 13:42:56 IP : 124.121.36.127


ความคิดเห็นที่ 26 (5688)
avatar
วาทิน ชาติกุล

เรียนคุณ สัมพันธ์ xusohk 2554 ครบรอบวันญี่ปุ่นบุกไทย

ผมเองอยู่นครศรีธรรมราช กำลังตามเรื่องนี้อยู่ ได้พูดคุยสัมภาทษ์ บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์

ผมตามตั้งแต่ ชุมพร เคยได้คุยกับ

- ยวท เทพไท ใจสมคม (เสียชีวิตแล้ว)

- พลทหาร อาคม เลื่อนเชย

ผมอยากติดต่อกับ พ.อ.อภิชาติ ควรพันธ์ ไม่ทราบว่า พอจะให้เบอร์โทร. หรือ อีเมล์ได้มั้ยครับ

ที่สุราษฎร์ (ไม่มีหน่วยทหาร) เคยคุย คือ สมุทธเสนา เทียม ภัคดีกุล ลูกศิษย์ครูลำยอง

ที่นครศรีธรรมราช ยังมีชีวิตอยู่หลายคน

ที่สงขลา ยังติดต่อใครไม่ได้

ที่ปัตตานี ติดต่อลูกชาย พตท.พิสิทธิ์ ปทุมทองได้แล้ว รอประสานเพื่อลงพื้นที่

ปีหน้า ทภ.4 จะจัดงานใหญ่ เลยประสานมายังทุกคน ทุกหน่วย ที่พอมีช่องทางติดต่อกับบุคคลร่วมสมัยได้

หรือทายาทก็ได้ ในกรณีท่านเหล่านั้นเสียชีวิต เพื่อจะได้เป็นเกียรติแด่ท่านผู้นั้นที่เคยปกป้องบ้านเมือง

ผู้แสดงความคิดเห็น วาทิน ชาติกุล (chatgul28-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-10 17:23:45 IP : 118.173.28.20


ความคิดเห็นที่ 27 (101475)
avatar
สัมพันธ์

เรียน  คุณวาทินฯ

          เพิ่งได้เห็นช่องทางติดต่อกับ  พ.อ.อภิฃาติ  ควรพันธุ์  ในความเห็นที่ ๘ นี้

                      bpichart653@hotmail.com

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-31 10:03:22 IP : 203.144.225.133



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker