สุราษฎร์ฯ ขาดทหารเกรียงไกร ประชาเปลี่ยวใจใครคุ้มกัน
ครับ . . . ถึงแม้ว่า ในช่วง พ.ศ.๒๔๘๑ - ๒๔๘๓ กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งหน่วยทหารขึ้นหลายหน่วยในภาคใต้ ก็ตาม แต่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ได้ตั้ง เราลองดูสภาพทั่วๆ ไป ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี กันนะครับ
จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ได้แก่ ภูมิประเทศแบบที่ราบชายฝั่งทะเล ที่ราบสูง รวมทั้งภูมิประเทศแบบภูเขาซึ่งกินพื้นที่ของจังหวัดถึงร้อยละสี่สิบ ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีทิวเขาภูเก็ตทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ของจังหวัด และมีลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำตาปี ไชยา ท่าทอง เป็นต้น
อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้คือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดชุมพรและอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและกระบี่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพังงาและระนอง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยและจังหวัดนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีแบ่งการปกครองออกเป็น 19 อำเภอ ดังนี้
ถึงแม้ทางการทหารไทยไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีกำลังทหารไว้ที่สุราษฎร์ธานี แต่ก็มีชาวญี่ปุ่นมาตั้งร้านค้าขายเครื่องถ้วยชามในตลาดบ้านดอน ก่อนหน้านี้ประมาณ ๑๐ ปี และได้แต่งงานกับหญิงไทยจนมีบุตร และเมื่อไม่มีหน่วยทหาร จึงมีแต่ตำรวจเท่านั้นที่มีอาวุธ
หมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี
๖ ธันวาคม ๒๔๘๔
. . . สถานึวิทยุ บี.บี.ซี. ของอังกฤษออกข่าวว่า กองเรือญี่ปุ่นราว ๒๐๐ ลำ กำลังเคลื่อนที่ลงมาในทะเลจีนใต้
๗ ธันวาคม ๒๔๘๔
ทะเลจีนใต้
ในตอนบ่าย คลื่นลมแรงขึ้นทุกที ทหารญี่ปุ่นตื่นเต้น และเป็นที่วิตกว่า การยกพลขึ้นบกในคืนนี้ (คืนวันที่ ๗ - ๘ ธันวาคม) น่าจะเป็นไปอย่างยากลำบาก แน่นอน
๒๐๐๐ สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. ก็ออกข่าวอีกว่า เครื่องบินลาดตระเวนของอังกฤษตรวจพบเรือรบญี่ปุ่นเคลื่อนเข้ามาในอ่าวไทย
ในเช้ามืด วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ประชาชนบางส่วนได้ทราบข่าวแขกบ้านแขกเมืองที่ไม่ได้รับเชิญตั้งแต่ เช้ามืด น่าจะเป็นชาวบ้านปากน้ำตาปีเห็นเรือรบญี่ปุ่นและเมื่อได้เข้ามาในตลาดบ้านดอนก็กระจายข่าวกันต่อๆ ไป
กำลังทหารญี่ปุ่นซึ่งขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยในกองทัพที่ ๑๕ ซึ่งพลโท โซจิโร อิอีดะ (Shojiro Iida) เป็นแม่ทัพ มีกำลัง ๑ กรมทหารราบ และ ๒ กองพันทหารช่าง เดินทางมาโดย เรือลำเลียง Yamaura Maru และ เรือตรวจการณ์ Shimushu เป็นเรือคุ้มกัน (Shimushu Type Coast Deffense Ship)
ส่วนในทางราชการ นายพันตำรวจตรี หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับโทรเลขจากจังหวัดปัตตานี ว่า ญี่ปุ่นจะขึ้นบุกแน่แล้ว จึงสั่งการให้จ่ายอาวุธ กระสุนตำรวจทุกนาย และให้ตำรวจวางกำลังป้องกันตามแนวคูเมืองตั้งแต่หน้าสถานีตำรวจไปถึงจวนข้าหลวงฯ
ครั้นเวลาประมาณ ๐๗๓๐ ก็ปรากฏเรือท้องแบนสองลำติดธงชาติไทยลำหนึ่ง และธงชาติญี่ปุ่นลำหนึ่ง บรรทุกทหารญี่ปุ่น เต็มลำ แล่นเข้ามาในแม่น้ำตาปี และขึ้นที่ท่าตลาดกอบกาญจน์ และท่าโรงเลื่อยตลาดล่าง แล้วเดินแถวไปยังศาลากลางจังหวัด โดยชายชาวญี่ปุ่นขายถ้วยชามที่กล่าวข้างต้นแต่งกายเป็นพันตรีนายทหารญี่ปุ่นเดินนำหน้าเข้ามาจนถึงสะพานคูเมือง
ที่สะพานคูเมือง หลวงสฤษฎิ์สาราลักษณ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายพันตำรวจตรี หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ผู้กำกับการตำรวจภูธรฯ และตำรวจอีกหลายนายถืออาวุธคุมเชิงอยู่ ฝ่ายญี่ปุ่นเจรจาขอเดินทัพผ่าน แต่ฝ่ายเรา อ้างว่าไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาล จึงให้ผ่านไม่ได้
ฝ่ายญี่ปุ่นจึงให้สัญญาณทหารที่ตามมาขยายแถวเข้าที่กำบัง ยิงฝ่ายเราทันที นายพันตำรวจตรี หลวงประภัศร์เมฆะวิภาค ถูกยิงบาดเจ็บ ต้องวิ่งเข้าที่กำบัง ฝ่ายเราที่คุมเขิงอยู่จึงเข้าหาที่กำบังและยิงโต้ตอบบ้าง
การต่อสู้ดำเนินไปตามสภาพที่มีและที่เป็น คือฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่ได้เพิ่มเติมกำลังเข้ามาอีก ฝ่ายเรา ก็มีแต่กำลังตำรวจ ซึ่งใช้อาวุธเพียงปืนสั้น (ปืนพก) ปืนพระรามหก ปืน ๘๓ อาวุธที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือปืนกลมือ ซึ่งมีอยู่กระบอกเดียว
เรื่อง ที่น่าประทับใจคือ คุณครู ลำยอง วิศุภกาญจน์ ซึ่งนำลูกเสือสมุทรเสนามาเชิญพานรัฐธรรมนูญที่ศาลากลางจังหวัดฯ ในเช้าวันนั้น ครั้นเห็นเหตุการณ์ ให้เกิดจิตใจหวงแหนแผ่นดิน และเสียสละอย่างยิ่งยวด จึงชวน ลูกเสือ คอย อั้นอุย ไปขอรับอาวุธที่สถานีตำรวจแล้วพากันไปต่อสู้ทหารญี่ปุ่น
ทางด้านคลังแสงได้แจกจ่ายอาวุธแก่บรรดาผู้รักชาติในครั้งนี้ ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ ได้รับแจกปืนพระรามหกพร้อมกระสุนออกสู้รบต้านทานทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ
ครูลำยองซึ่งประจำแนวรบทางด้านปีกขวา ได้ใช้รั้วสังกะสีเป็นที่กำบังใช้ปืนยิงทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหลายคน
เมื่อทหารญี่ปุ่นบุกหนักทางปีกซ้าย ครูลำยองหาทางออกไม่ได้ เพราะมีรั้วสังกะสีกั้นอยู่จึงโผล่ศรีษะขึ้นขณะประทับปืนบนไหล่ ทำให้ทหารญี่ปุ่นยิงท่านถูกที่หน้าผาก
และ . . . ท่านได้ เสียชีวิต เมื่อเวลาประมาณ ๑๑๑๕ พร้อมกับ ลูกเสือ คอย อั้นอุย
ก็เป็นธรรมดาครับ ในที่สุด กองทหารญี่ปุ่นก็ยึดได้สถานที่สำคัญ หลายแห่ง เช่น ท่าเรือ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ศาลากลางจังหวัดบางส่วน
เวลาประมาณ ๑๓๐๐ รัฐบาลโทรเลขแจ้งให้ทางจังหวัดยุติการรบใน และให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านได้ ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งกองกำลังในท่าข้ามหลายจุด เช่น เชิงสะพานรถไฟ สวนยางพาราของขุนเศรษฐภักดี ท่าน้ำสวนสราญรมย์ เชิงควนท่าข้าม
เวลาประมาณ ๑๓๐๐ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยตกลงให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทยได้
ที่สุราษฎร์ธานี นี้มีสิ่งซึ่งต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นครั้งแรกที่เรามีพลเรือนผู้หญิง ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ เธอคือ คุณกอบกุล ปิ่นพิทักษ์ ซึ่งในขณะนั้นเธออายุเพียง ๑๖ ปี เป็นหลานสาวเจ้าของร้านขายข้าวแกง เธอได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยลำเลียงกระสุนส่งให้แนวยิงอย่างกล้าหาญ
ความสูญเสีย
ฝ่ายเรา
เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจ และราษฎรอาสาสมัคร รวมราวๆ ๑๗ - ๑๘ คน (ไม่ทราบจำนวนแน่นอน)
บาดเจ็บ ไม่ทราบจำนวนแน่นอน
ฝ่ายญี่ปุ่น ไม่ทราบจำนวนแน่นอน
“อาบน้ำแบบญี่ปุ่น”
ชาวบ้านกลัวภัยสงครามต่างอพยพไปอยู่ตามชนบท อาศัยบ้านญาติหรือคนรู้จักกันเช่น บ้านพุนพิน บ้านท่าตลิ่งชัน นับว่าห่างไกลตลาดท่าข้ามพอสมควร ในตอนเช้าไปเปิดร้านค้าขาย ตอนบ่ายปิดประตูอพยพไปอยู่นอกเมือง
ช่วงนั้นทหารญี่ปุ่นอาศัยอยู่ทั่วไป ยามอาบน้ำจะมาเปลือยกายอาบน้ำ บางคนก็มีผ้าเตี่ยวปกปิดเล็กน้อยตามริมแม่น้ำบ้าง ก๊อกจ่ายน้ำหัวรถจักรรถไฟบ้าง ในยุคนั้นตามบ้านเรือนไม่มีห้องน้ำเหมือนเช่นปัจจุบัน ยามอาบน้ำจึงต้องอาศัยอาบที่ท่าน้ำ ผู้ชายจะนุ่งผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิงนุ่งกระโจมอกไม่ว่าหญิงสาวหรือวัยชรา ถ้าใครแก้ผ้าอาบน้ำเรียกว่า “อาบน้ำแบบญี่ปุ่น”
๐ สุราษฎร์ธานี ว่าเมืองคนดี ไม่มีทหาร
ไม่มีใครนึก ข้าศึกรุกราน ตำรวจชาวบ้าน ร่วมใจป้องกัน
๐ คุณครูลูกเสือ จิตกล้าหาญเหลือ รับปืนไปพลัน
ร่วมกับน้องพี่ สู้ญึ่ปุ่นมัน ให้รู้ไทยนั้น หวงแหนแผ่นดิน
จากปี ๒๔๘๔ ถึง ปีนี้ ๒๕๕๒ เกือบ ๗๐ ปี ที่ ท่านทั้งหลายได้สละเลือด เนื้อ และชีวิตเป็นชาติพลี เป็นแบบฉบับให้อนุชนถือเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
. . . ขอท่านเป็นสุข และสงบ ในสัมปรายภพ . . . เทอญ
บรรณานุกรม
- วีระบุรุษทหารไทย พ.ต. ม.ร.ว. ประพีพันธ์ สุบรรณ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๐๒
- ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม แพร่พิทยา กรุงเทพฯ ๒๕๐๙
- ประวัติกองทัพไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕ กรมแผนที่ทหาร กรุงเทพฯ ๒๕๒๕
- ๕๐ ปี วีรไทย กองทัพภาคที่ ๔ จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบ ๕๐ ปี แห่งสงครามมหารเอเซียบูรพา ๘ ธันวาคม ๒๕๓๔
- เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้