dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



วันวีรไทย - สงขลา

 

     ฝั่งน้ำงามริมหาด  .  .  .  ทราย               

          เย็นพระพายชายทะเลหาดสงขลา

               หาดขาวดูพราวพรายสุดสายตา 

                    สายลมพลิ้วมาฉันชื่น  . . . 

 

 

 

 

 

 ลักษณะภูมิประเทศจังหวัดสงขลา

           พื้นที่ทางทิศเหนือส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม    ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบริมทะเล    ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตก โดยทั่วไปเป็นเขตภูเขาและที่ราบสูง    เทือกเขาทางตะวันตก  คือเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสงขลากับสตูล  ลาดเอียงมาทางตะวันออกลงสู่ทะเลสาบ    ส่วนทางใต้  คือ  เทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสงขลากับประเทศมาเลเซีย  ลาดเอียงไปทางเหนือลงสู่ทะเลสาบ    

          ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลและรอบ ๆ  ทะเลสาบเป็นที่ราบเกิดขึ้นใหม่จากดินตะกอนลุ่มน้ำ และดินตะกอนที่ทับถมจากทะเล  เกิดเป็นสันทรายสูงต่ำสลับกันหลายสัน แต่ละสันจะทอดยาวขนาดไปตามความยาวของฝั่งทะเล

ชายฝั่งอ่าวไทย  นครศรีธรรมราช - พัทลุง - สงขลา - ปัตตานี   >

 

           นอกเหนือจากเทือกเขานครศรีธรรมราชและสันกาลาคีรีแล้วยังมีภูเขาโดด ๆ อีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก  คือ เขาตังกวน  เขาน้อย  เขาสำโรง เขารูปช้าง

 

 

แนวทางการเคลื่อนที่

          ในเทือกเขานครศรีธรรมราช  และ เทือกเขาสันกาลาคีรีมีช่องเขาพอที่จะติดต่อกันได้โดยไม่ลำบากนักระหว่าง เมืองสงขลา  สตูล  กับ เมืองไทรบุรี (รัฐเคดาห์) และรัฐปะลิส   (ของมลายู) เช่น  ในเขตอำเภอสะเดา มีช่องทางปาดังเบซาร์ เข้าสู่รัฐปะลิส  มีทั้งถนน และทางรถไฟ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่   และช่องทาง ด่านสะเดา เข้าสู่ จังโหลน  รัฐเคดาห์  ทางถนน  

          นอกจากนี้  จากสงขลายังมีทางรถไฟแยกที่ชุมทางหาดใหญ่ ผ่านจังหวัดปัตตานี  จังหวัดยะลา  และจังหวัดนราธิวาส   เข้าสู่มลายูทาง อำเภอสุไหงโก-ลก  กับ เมืองโกตาบารู  รัฐกลันตัน   ได้อีกด้วย  (ในสมัยที่กล่าวถึงนี้มีแต่ทางรถไฟเท่านั้น)  

เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่เหมาะจะใช้เป็นแนวทางการเคลื่อนที่ของหน่วยทหารขนาดใหญ่ได้

 

         ส่วนเส้นทางอื่นๆ ก็มีอีก  เช่น   เส้นทางถนนจากยะลา ผ่านอำเภอเบตง  (แต่เส้นทางข้ามเขาสูง และคดเคี้ยวมาก) กับ  เมืองโกล๊ะ  รัฐเคดาห์    เส้นทาง ทะเลบัน บ้านวังประจัน   ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน  สตูล - เมืองกางะ รัฐปะลิส      ส่วนทางน้ำมีท่าข้ามที่สำคัญได้แก่  ท่าข้าม บ้านตาบา  อำเภอตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  ข้ามแม่น้ำโก-ลก  ไป บ้านกาลังกูโบ รัฐกลันตัน   ท่าข้าม บ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กับ บ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน    เป็นต้น    (ปัจจุบันมีสะพานข้ามแล้ว)

 

จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน แบ่งพื้นที่ทางการปกครองเป็น   ๑๖  อำเภอ คือ

 

 

  1. อำเภอเมืองสงขลา
  2. อำเภอสทิงพระ
  3. อำเภอจะนะ
  4. อำเภอนาทวี
  5. อำเภอเทพา
  6. อำเภอสะบ้าย้อย
  7. อำเภอระโนด
  8.  อำเภอกระแสสินธุ์ 
  1. อำเภอรัตภูมิ
  2. อำเภอสะเดา
  3. อำเภอหาดใหญ่
  4. อำเภอนาหม่อม
  5. อำเภอควนเนียง
  6. อำเภอบางกล่ำ
  7. อำเภอสิงหนคร
  8. อำเภอคลองหอยโข่ง

 

 

          จากสถานการณ์ชองโลกที่พัฒนาไป    รัฐบาลไทย  โดยกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังทหารไว้รักษาเอกราช และอธิปไตยทางภาคใต้    จึงได้จัดตั้งหน่วยทหารบก และทหารอากาศ ในภาคใต้หลายหน่วย    ที่จังหวัดสงขลา  มีทั้งทหารบก  และทหารอากาศ  ดังนี้

          เดือนกุมภาพันธ์  ๒๔๘๒    เคลื่อนย้าย  กองพันทหารราบที่  ๕   (ร.พัน  ๕) มาจาก  กรุงเทพ ฯ    เข้าที่ตั้งที่บริเวณเชิงเขาคอหงส์    อำเภอหาดใหญ่    (ปัจจุบันคือ  ค่ายเสนาณรงค์   เป็นที่ตั้งของ  มณฑลทหารบกที่  ๔๒  -  มทบ.๔๒,  กรมทหารราบที่  ๕  -  ร.๕,  กองพันทหารราบที่  ๑  กรมทหารราบที่  ๕  -  ร.๕  พัน  ๑)

          ต่อมา  ในเดือน  กันยายน  ๒๔๘๓  ก็ได้จัดตั้ง    จังหวัดทหารบกสงขลา,  กองพันทหารราบที่  ๔๑   (ร.พัน ๔๑),  และกองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓  (ป.พัน ๑๓)  แล้วเคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งที่ สวนวัฒทีวัน หรือ สวนตูล   ตำบลเขารูปช้าง   อำเภอเมืองสงขลา     (ปัจจุบัน  คือ  ค่ายพระปกเกล้า  เป็นที่ตั้งของ  ป.พัน  ๕   และศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร  มณฑลทหารบกที่  ๔๒)
 
           ส่วนทหารอากาศ  ได้แบ่งกำลังจาก กองบินน้อยที่  ๕  ประจวบคีรีขันธ์  มาประจำอยู่ที่สนามบินบ่อยาง    อำเภอเมืองสงขลา   คือ    ฝูง ๕๓   กองบินน้อยที่  ๕   นำเครื่องบินโจมตี  แบบ  ๑  (บ.จ.๑)  ตอร์แซร์    จำนวน ๖ เครื่อง

           กำลังทหารอากาศนี้    ไม่มีข้อมูลว่าได้เคลื่อนย้ายเครื่องบินมาประจำที่สนามบินบ่อยางเมื่อใด     มีข้อมูลเพียงว่าว่ากองบินน้อยที่  ๕   กำหนดเลี้ยงส่งผู้บังคับฝูงบินที่ ๕๓    ในบ่ายวันที่  ๘  ธันวาคม    แต่เกิดอุปสรรค เนื่องจากแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาเยือนใน คืน  ๗ - ๘  ธันวาคม   อย่างมากมาย      ฝุงบินที่  ๕๓  น่าจะได้เดินทางมาก่อนแล้ว   

           นอกจากการจัดตั้งหน่วยทหารแล้ว    มณฑลทหารบกที่  ๖  นครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็นหน่วยบังคับบัญชาสูงสุดในภาคใต้   ได้วางแผนรับสถานการณ์ไว้เช่นกัน

          ขณะนั้นกองทหารในจังหวัดสงขลาประกอบด้วยหน่วยซึ่งตั้งในค่ายที่สวนตูล    ได้แก่

               กองพันทหารราบที่  ๔๑ (ร.พัน  ๔๑)  นายร้อยเอก  โชติ  กมลวัต  รักษาการผู้บังคับกองพัน  และ หน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่  ๑๘  (นขต.ร.๑๘)    กองพันทหารปืนใหญ่ที่   ๑๓   (ป.พัน  ๑๓)  นายพันตรี  ขุนพรพีระพาน เป็นผู้บังคับกองพัน    ส่วน กองพันทหารราบที่  ๕ (ร.พัน  ๕) ตั้งอยู่ที่ค่ายคอหงส์ หาดใหญ่ 

          แผนการตั้งรับและผลักดันกองกำลังต่างชาติ   

            ขั้นที่  ๑    เมื่อข้าศึกยังไม่ได้ขึ้นบก

               ร.พัน ๕    วางกำลังตั้งรับด้านซ้าย   มีภารกิจป้องกันชายทะเลตั้งแต่แหลมทราย  -  แหลมสมิหรา  -  ศาลจังหวัดสงขลา
 
               ร.พัน ๔๑    วางกำลังตั้งรับด้านขวา    มีภารกิจป้องกันชายทะเลตั้งแต่   ศาลจังหวัดสงขลา - เขาเก้าเส้ง
 
               นขต.ร.๑๘  (หน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่  ๑๘  คือหน่วยอื่นๆ ในกรมทหารราบที่  ๑๘  ที่ไม่ใช่กองพันต่างๆ)  เป็นกองหนุน เข้ายึดภูมิประเทศ  บ้านศาลากลาง    มีภารกิจกำบังการถอนตัวของกองพันในแนวหน้าด้านซ้าย และด้านขวา  เมื่อต้องถอนตัวเข้าที่มั่นในขั้นที่  ๒
 
               ป.พัน ๑๓    จัด ปบร.๗๕  (ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบ  แบบ  ๘๐  ขนาด  ๗๕ มิลลิเมตร)  จำนวน  ๒  กระบอก  สนับสนุน ร.พัน  ๕  เข้าที่ตั้งยิงบนเขาน้อย  หากข้าศึกเข้ารบติดพันถอนตัวไม่ได้  ให้ทำลาย

                          จัด ปบร.๗๕  จำนวน  ๒  กระบอก  สนับสนุน ร.พัน  ๔๑   เข้าที่ตั้งยิงที่ไหล่เขาสำโรง

                          จัด  ๑  ร้อย.ป. เข้าที่ตั้งยิงบริเวณ บ้านสำโรง   เพื่อยิงคุ้มตรองการถอนตัวของกองรบทั้งสองด้าน   และสนับสนุน  นขต.ร.๑๘

            ขั้นที่  ๒    เมื่อข้าศึกขึ้นบก  ยึดหัวหาดได้แล้ว

               ร.พัน ๕    ตั้งรับตามแนวกิโลเมตรที่  ๑๗    ถนนสงขลา - หาดใหญ่   (ปัจจุบันคือถนนกาญจนวณิชย์)  และ แนวสถานีน้ำน้อย  (สถานีรถไฟบนเส้นทางรถไฟ ระหว่าง สงขลา - ชุมทางหาดใหญ่  ปัจจุบันไม่มีรถไฟสายนี้แล้ว - ผู้เขึยน)         
 
               ร.พัน ๔๑    ตั้งรับตามแนว  บ้านเขารูปช้าง - เขาสำโรง
                    
               นขต.ร.๑๘   เป็นกองหนุน ตั้งรับในแนว  บ้านสะพานยาว - วัดเขาถ้ำ

               ป.พัน ๑๓    จัด ปบร.๗๕    จำนวน  ๒  กระบอก  สนับสนุน ร.พัน  ๕

                          จัด  ๑  ร้อย.ป. สนับสนุน ร.พัน  ๔๑

                          จัด  ๑  ร้อย.ป. สนับสนุน นขต.ร.๑๘

            ขั้นที่  ๓    เมื่อที่มั่นในขั้นที่  ๒  ไม่สามารถต้านทานได้

               ร.พัน  ๕    เข้ายึดภูมิประเทศบริเวณ  สถานีเขาบันไดนาง

               ร.พัน  ๔๑    เข้ายึดภูมิประเทศในบริเวณ ค่ายทหารสวนตูล

               นขต.ร.๑๘  และกำลังอื่นๆ  เข้ายึดภูมิประเทศบริเวณ บ้านทุ่งหวัง

เห็นไหมครับ    ทหารไทยสมัยนั้นท่านประมาณสถานการณ์ และวาดภาพการรบไว้  แล้วเตรียมการตั้งรับเป็นขั้นเป็นตอน 

 

จังหวัดสงขลา

๖  ธันวาคม  ๒๔๘๔
 

          ข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลาได้จัดงานสันนิบาตขึ้นที่จวนในค่ำวันนี้   กงศุลอังกฤษ  และกงศุลญี่ปุ่นประจำจังหวัดสงขลาได้รับเชิญไปร่วมงานด้วย   

          ตอนหนึ่งในคำปราศรัยของ นายคะสุโนะ กงศุลญี่ปุ่นประจำจังหวัดสงขลา

          . . . วันนี้เรามาเลี้ยงกันให้เต็มที่   เพราะพรุ่งนี้ท่านจะต้องต้อนรับแขกญี่ปุ่นอีกมากมาย  .  .  .

 

         . . .  สถานึวิทยุ บี.บี.ซี.  ของอังกฤษออกข่าวว่า  กองเรือญี่ปุ่นราว  ๒๐๐  ลำ  กำลังเคลื่อนที่ลงมาในทะเลจีนใต้

 

๗  ธันวาคม  ๒๔๘๔ 

ทะเลจีนใต้ 

          ตอนบ่าย      คลื่นลมแรงขึ้นทุกที     ทหารญี่ปุ่นตื่นเต้น และเป็นที่วิตกว่า การยกพลขึ้นบกในคืนนี้  (คืนวันที่ ๗ - ๘ ธันวาคม)   น่าจะเป็นไปอย่างยากลำบาก แน่นอน   

         สถานกงศุลญี่ปุ่นประจำจังหวัดสงขลา ก็จัดงานเลี้ยงสำหรับชาวญี่ปุ่น   (น่าจะเป็นการเลี้ยงเพื่อพราง  ที่จริงคือการประชุมซักซ้อมความเข้าใจก่อนปฏิบัติการมากกว่า)

           เวลา  ๒๐๐๐    สถานีวิทยุ บี.บี.ซี.  ก็ออกข่าวอีกว่า   เครื่องบินลาดตระเวนของอังกฤษตรวจพบเรือรบญี่ปุ่นเคลื่อนเข้ามาในอ่าวไทย

          เวลาประมาณ  ๒๓๓๐ 

          ตำรวจสายตรวจของจังหวัดสงขลาสังเกตเห็นมีเรือจอดับไฟมืดสนิทอยู่ที่นอกฝั่งบริเวณอำเภอเมืองสงขลา  หลายลำ  เป็นที่ผิดสังเกตุ  จึงรายงานผู้บังคับบัญชา    ในขณะที่บนสโมสรข้าราชการพลเรือนของจังหวัดก็มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดจำนวนหนึ่งได้สังเกตุเรือเหล่านั้นเหมือนกัน

          เมื่อได้ตรวจสอบกันจนมั่นใจว่าเป็นเรือต่างชาติ    หลวงอังคณานุรักษ์  ข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา จึงโทรศัพท์ให้กองกำกับการตำรวจภูธรสงขลา  และกองพันทหารราบที่  ๔๑   ที่สวนตูล  ให้ทราบและเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง   เพราะทุกคนทราบสถานการณ์ของบ้านเมืองดีอยู่แล้ว  . . .  และในระหว่างนั้น  .  .  .

          ชาวญี่ปุ่นซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในสงขลาและหาดใหญ่   เป็นแพทย์ เป็นทันตแพทย์  เป็นช่างถ่ายรูปและอื่น ๆ  ประมาณ   ๒๐  คน   ซึ่งได้มาร่วมชุมนุมอยู่ในงานเลี้ยงที่สถานกงสุลญี่ปุ่นในเมืองสงขลา   ก็โกนหัวแล้วแต่งเครื่องแบบนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเตรียมทำหน้าที่นำทางและเป็นล่ามให้กองทัพญี่ปุ่น    และมีบางส่วนที่ทำก่อวินาศกรรมต่อระบบการติดต่อสื่อสาร  ทำลายสายโทรศัพท์ของฝ่ายเราด้วย

 

 

พลโท  โทโมยูกิ  ยามาชิตะ       แม่ทัพกองทัพที่  ๒๕  ญี่ปุ่น

         เนื่องจากจังหวัดสงขลา มีเส้นทางที่จะเคลื่อนย้ายกองทหารขนาดใหญ่ไปยังสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษทางรัฐไทรบุรี  (เคดาห์)  ปะลิส  และปีนัง ได้หลายเส้นทาง   ใกล้ และสะดวกที่สุด   ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว     มีหาดทรายกว้างและยาวกว่า    ๙  กม. เป็นสถานที่ที่ขึ้นบกได้สะดวก    กองทัพญี่ปุ่นจึงให้ส่วนกำลังหลักของ กองทัพที่  ๒๕     ซึ่ง พลโท  โทโมยูกิ  ยามาชิตะ  Tomoyuki  Yamashita  เป็นแม่ทัพ    ขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา  ประมาณสามกองพล มากที่สุดในประเทศไทย     โดยใช้เรือลำเลียงเป็นจำนวน  ๑๑  ลำ  คือ   เรือลำเลียง  Shinshu Maru, Aobasan Maru, Asaka Maru, Atsutasan Maru, Kansai Maru, Kashii Maru, Kyushu Maru, Namioue Maru, Nako Maru, Sado Maru, Sasako Maru    เรือสินค้าลำเลียงเครื่องบิน    (Seaplane tender : AP) คือ  Kamikawa Maru, Sanyo Maru, Sagara Maru    รวม ๑๔ ลำ    ส่วนเรือคุ้มกัน   ได้แก่   เรือพิฆาต(DD) : Amagiri, Asagiri, Yugiri, Murakumo เรือวางทุ่นระเบิด(CM)  Hatsutaka  อีกหนึ่งลำ   รวม ๕ ลำ      เรือประเภทต่าง ๆ จำนวนหนึ่งได้จอดเป็นแถวเรียงขนานชายฝั่งสงขลา ตั้งแต่   แหลมสมิหลาถึง เก้าเส้ง  


 

 

พลโท  โทโมยูกิ  ยามาชิตะ      พยัคฆ์ญี่ปุ่นผู้พิชิตมลายา   >

 

  

 

 

 

 ผังการจัดหมู่กองทัพภาคใต้  (Southern Army Command)

 

 

 

          กองพลที่  ๕  กองทัพที่  ๒๕  ญี่ปุ่น   เป็นส่วนเข้าตีหลัก  ยกพลขึ้นบกที่สงขลา และปัตตานีเพื่อเคลื่อนย้ายต่อไปชายแดนไทย - มลายู  เข้าตีที่มั่นข้าศึกที่อลอสตาร์   เข้ายึดแม่น้ำเปรัค  และรักษาสะพานข้ามแม่น้ำเปรัค    มีกองพลรักษาพระองค์โคโนเอะ   ซึ่งเข้าประเทศไทยทางอำเภออรัญประเทศ   และบางปู  สมุทรปราการ   เคลื่อนที่ติดตาม  และทำการยุทธแบบก้าวกระโดด  (Leapfrog tactics)  เมื่อโอกาสอำนวย

 

         กองทหาร ญี่ปุ่นขึ้นมาได้ง่ายในกลางดึก ด้วยมีนายทหารญี่ปุ่นเข้ามาฝังต้วประกอบอาชีพที่สงขลา เป็นการหาข่าว และเตรียมการไว้ก่อนหน้าแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔

          ประมาณ   ๐๑๐๐   หน่วยจู่โจมญี่ปุ่นลงเรือเล็กลอบขึ้นฝั่งบริเวณป่าสน  แหลมทราย ซึ่งอยู่เหนือสุดของหาดสงขลา  และเคลื่อนที่เข้ายึดสถานที่ราชการในจังหวัดสงขลา   เช่น  ศาลากลางจังหวัด   สถานีตำรวจ  สถานีรถไฟ  ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข  และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข  ด้วย  แต่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์สงขลาสามารถส่งโทรเลขให้นายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชทราบ ได้

          ที่สถานีตำรวจ  ได้มีการสู้รบกัน  ประมาณ  ๑๕  นาที

          นอกจากปฏิบัติการทางทหารแล้ว  ญี่ปุ่นมีปฏิบัติการทางจิตวิทยา ด้วย  โดยจัดทำภาพธงชาติไทยไขว้กับธงชาติญี่ปุ่น  ประกอบภาพจับมือกัน   และข้อความภาษาอังกฤษWelcome Buddies  ปิดตามกำแพงหลายแห่ง  ในเมืองสงขลาด้วย

 สถานีสงขลา    ภาพนี้ถ่ายหลัง พ.ศ.๒๔๙๘  เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำรถจักรดีเซลดาเวนปอร์ต  ๒๕๒  แรงม้า มาใช้แล้ว   >

 

 

 

          เมื่อยึดศูนย์สั่งการ และการคมนาคมของจังหวัดสงขลา แล้ว ก็ส่งกำลังไปสนามบินบ่อยาง    สามารถจับเจ้าหน้าที่ (ทหารอากาศ) และ ยึดเครื่องบินคอร์แซร์  จำนวน  ๓  เครื่อง  ของเรา  (ฝูงบินที่  ๕๓) ซึ่งเพิ่งมาจาก กองบินน้อยที่  ๕  ประจวบคีรีขันธ์  และ อยู่ในโรงจอด  ได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ   (แต่ผู้บังคับฝุงยังไม่ได้มา  กองบินน้อยที่  ๕  กำหนดจะเลี้ยงส่ง  ในบ่ายวันที่  ๘  ธันวาคม นี้ ที่กองบินน้อยที่  ๕  ประจวบคีรีขันธ์)

          เมื่อยึดสนามบินได้แล้ว  ทหารญี่ปุ่น  ๑  กองร้อย   เข้ายึดสะพานที่สามแยกสำโรง     และอีก  ๑ กองร้อย   มุ่งไปทางหาดใหญ่

          แต่กองทหารไทยก็โชคดีที่ได้ทราบข่าวค่อนข้างจะทันที  และพอมีเวลาเตรียมตัว สามารถวางกำลังตามแนวที่เกือบจะเป็นแนวเดียวกับแนวที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า

          คือในเวลาประมาณ   ๐๑๐๐  นั้นเอง     นายพันเอก  หลวงประหารข้าศึก  (สรอย  นีละพันธ์) ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสงขลา  และทำหน้าที่ผู้บังคับการกรมทหารราบที่  ๑๘  ด้วย ได้ทราบข่าวศึก    จึงสั่งการให้กองรักษาการณ์ของกองพันทหารราบที่  ๔๑   (ร.พัน ๔๑) ที่สวนตูล   เป่าแตรเหตุสำคัญ  และให้กองรักษาการณ์  จัดกำลัง  ๑ หมวด   เข้ายึดพื้นที่ที่สะพานแนวสามแยกสำโรง  (ปัจจุบันสามแยกสำโรง)   แล้วท่านก็เดินทางไปพบข้าหลวงประจำจังหวัดสงขลา  เมื่อได้พบกันที่บ้านสำโรง   และแลกเปลี่ยนข่าวสารกันแล้ว  ก็ได้เดินทางไปค่ายทหารที่สวนตูลพร้อมกัน

          การตั้งรับของหน่วยทหารในจังหวัดทหารบกสงขลา   เป็นไปตามแผนของ  มณฑลทหารบกที่  ๖  นครศรีธรรมราช   ดังกล่าวแล้ว  โดยปรับแผนเล็กน้อย

          ขณะนั้น  กองทหารในจังหวัดสงขลาประกอบด้วยหน่วยซึ่งตั้งในค่ายที่สวนตูล  ได้แก่กองพันทหารราบที่  ๔๑ (ร.พัน  ๔๑)  นายร้อยเอก  โชติ  กมลวัต รักษาการผู้บังคับกองพัน    กองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓  (ป.พัน  ๑๓)  นายพันตรี  ขุนพรพีระพาน   เป็นผู้บังคับกองพัน   และ  หน่วยขึ้นตรงกรมทหารราบที่  ๑๘  (นขต.ร.๑๘)      ส่วน กองพันทหารราบที่  ๕   (ร.พัน  ๕)  ตั้งอยู่ที่ค่ายคอหงส์ หาดใหญ่    และไม่สามารถติดต่อได้   เพราะโทรศัพท์ถูกตัดสาย

         พันเอกหลวงประหารข้าศึก ซึ่งทำหน้าที่ผู้บังคับการกรมทหารราบที่  ๑๘  ด้วย มีกองพันทหารราบในสังกัด   ๓  กองพัน  คือ  กองพันทหารราบที่  ๔๑ (สวนตูล)    กองพันทหารราบที่  ๔๒ (ปัตตานี)   และกองพันทหารราบที่  ๕  (คอหงส์) ในขณะนั้นจึงสามารถติดต่อบัญชาการรบได้เพียงกองพันทหารราบที่ ๔๑   หน่วยเดียวเท่านั้น
          
          เวลา  ๐๒๐๐ - ๐๒๓๐    กำลัง  ๑  หมวด  ของกองรักษาการณ์  ร.พัน  ๔๑    เดินทางถึงสามแยกสำโรง  และวางกำลังยึดภูมิประเทศได้ 

 

นครศรีธรรมราชรับทราบข่าว 

          เวลา  ๐๒๓๐    นายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชได้รับโทรเลขจากนายไปรษณีย์สงชลา  ตวามว่า  ญึ่ปุ่นได้ส่งเรือรบ  ประมาณ  ๑๕  ลำมาที่อ่าวสงขลาและลำเลียงพลขึ้นบก             

 

กลับมาที่สงขลา

          เมื่อกองพันทหารราบที่  ๔๑     เคลื่อนกำลังไปถึงที่วางกำลังตั้งรับตามแผน ฯ  ขั้นที่  ๒     ต้องปรับแผนเล็กน้อย  โดยยึดภูมิประเทศหลังแนวที่กำหนดไว้  และวางกำลัง    ดังนี้

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๑    ตั้งรับทางด้านขวา    ตามแนวต้นมะม่วงเชิงเขาสำโรง  (แนวถนนสายสำโรง - ทุ่งหวัง บริเวณกิโลเมตรที่  ๑  ด้านขวา)

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๒    ตั้งรับทางด้านซ้าย    ตามแนวต้นมะม่วงถนน  ที่กิโลเมตรที่ ๐.๖๐๐ - เขารูปช้าง  (ด้านซ้ายของถนน แนวเดียวกับกองร้อยที่  ๑)

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๓    เป็นกองหนุน    วางกำลังในแนวถนนกิโลเมตรที่  ๑.๐๐๐    จัดกำลัง  ๑  หมวดไปรักษาปีกขวา  (ด้านชายทะเล)

          กองร้อยอาวุธหนัก     สนับสนุนปืนกลหนักให้กองร้อยในแนวหน้ากองร้อยละ  ๑  หมวด   ส่วนที่เหลือ แบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้เตรียมการต่อสู้เครื่องบินข้าศึก    อีกส่วนหนึ่ง  ไปเสริมทางปีกซ้ายของกองร้อยที่  ๒   

          หมวดปืนใหญ่ทหารราบ ได้รับคำสั่งให้ตั้งอยู่ในจุดที่เตรียมทำลายยานหุ้มเกราะ และเตรียมทำลายสะพานและทางรถไฟทางซ้ายของแนวป้องกัน

          ที่บังคับการกองพัน   อยู่ที่  ศาลาริมทาง  กิโลเมตรที่  ๐.๘๐๐

          ประมาณ  ๐๓๐๐   กองร้อยอาวุธเบาที่  ๑   จัดกำลังไปสับเปลี่ยนหมวดจากกองรักษาการณ์ที่สามแยกสำโรง    ได้ปะทะกับญี่ปุ่นที่สะพานพอดี   และยึดภูมิประเทศตรึงกันอยู่    และต่างก็ไม่ทราบกำลังของฝ่ายตรงข้าม  ยิงโต้ตอบกันตามเสียงปืนและแสงไฟจากปากกระบอก    จนรุ่งเช้า  ต่างฝ่ายจึงได้ดัดแปลงภูมิประเทศเป็นที่มั่นตั้งรับอันมั่นคง    และฝ่ายเราเลือกใช้ภูมิประเทศในการตั้งรับได้ดี  เพราะเป็นช่องทางบังคับฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินกลยุทธ  และเคลื่อนที่ต่อไปไม่ได้   

          หรืออีกมุมมองหนึ่ง  คือ  ญี่ปุ่นรอการดำเนินการทางการฑูตในระดับรัฐบาล    เพราะเป้าหมายของกองทัพญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศไทย  จึงไม่จำเป็นที่ญี่ปุ่นจะทุ่มเทกำลังเพื่อเอาชนะ หรือทำลายกองทัพไทย   ญี่ปุ่นเพียงแต่ขอเดินทัพผ่านไปรบอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  -  ผู้เขียน

 

             เวลา  ๐๓๓๐ - ๐๔๐๐    เนื่องจากแนวปะทะได้เลื่อนลงมามากกว่าที่ได้วางแผนและบริเวณทุ่งนามีน้ำท่วมนองไปหมด  จึงต้องปรับแผนการเข้าที่ตั้งยิงบ้างดังนี้

               ปบร.ขนาด   ๗๕  มม. ของ กองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓  กองร้อยที่  ๑   และ  ๒   (รวม  ๘  กระบอก) จึงต้องตั้งยิงบนที่ดอนในบริเวณค่ายสวนตูล    และเนื่องจากมีต้นมะพร้าวกีดขวางวิถีกระสุน   จึงต้องโค่นต้นมะพร้าวลงหลายสิบต้น   

          ร้อย.ป.ที่  ๑   รับมอบเขตการยิงตามชายหาด ตั้งแต่แหลมทราย แหลมสน แหลมสมิหลา แนวศาลจังหวัด 

          ร้อย.ป.ที่  ๒   มีเขตการยิง ตั้งแต่ศาลจังหวัด  ถึง สนามบิน - เก้าเส้ง

          สำหรับ ร้อย.ป.ที่  ๓    เนื่องจากเป็นปืนใหญ่ภูเขาแบบ   ๖๓    ได้เข้าตั้งยิงบริเวณเขารูปช้าง เพื่อช่วยทหารราบโดยตรงและทำหน้าที่ต่อสู้รถถังข้าศึกด้วย      สำหรับการตรวจการณ์ปืนใหญ่ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓   (นายพันตรี  ขุนพรพีระพาน) ได้สั่งให้ผู้บังคับกองร้อยที่  ๒  (นายร้อยโท  เดช ตุลวรรธนะ) เป็นผู้ตรวจการณ์และควบคุมการยิงของกองพัน   โดยให้ตั้งที่ตรวจการณ์บนภูเขารูปช้าง (ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสวนสัตว์สงขลา   อยู่หลังมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา)

          สถานที่ตั้งและแนวต่อต้าน ก็อยู่ในจุดที่เหมาะสม มีกองพันทหารราบอยู่ด้านหน้า และกองพันทหารปืนใหญ่อยู่ด้านหลัง และตั้งอยู่ในที่ราบมีภูเขาล้อมเกือบรอบบริเวณที่ตั้ง  ตือ “สวนตูล”  และยังมีสวนมะพร้าวหนาแน่นกำบังทั้งสายตานักบินและลูกระเบิด ปากทางเข้าค่ายก็เป็นช่องเขาระหว่างเขารูปช้างกับเขาสำโรง ทำให้แคบเหมือนคอขวด ญี่ปุ่นมีกำลังมากก็เหมือนน้อย ไม่สามารถหักหาญเข้ามาได้โดยง่าย    ปืนใหญ่ก็มีที่ตรวจการณ์ที่เหมาะสมที่สุด มองเห็นได้ตลอดความยาวของชายหาดและท้องทะเลหน้าเมืองสงขลาสุดสายตา ทำให้แจ้งตำแหน่งยิงให้แก่ปืนใหญ่ได้แม่นยำ

           เวลา  ๐๔๐๐ - ๐๔๓๐    จากที่ตรวจการณ์บนเข้ารูปช้าง  สามารถตรวจการณ์เห็นภูมิประเทศทั่วเมืองสงขลา โดยเฉพาะชายทะเล ตั้งแต่แหลมสมิหลา   สนามบิน  และเก้าเส้ง  ได้ชัดเจน    พระจันทร์ทอแสงสว่างนวลในระยะสูง มีเมฆค่อนข้างมาก แต่เห็นเครื่องบินจำนวนมากบินไปสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระลอกๆ  (เป็นคืน  แรม  ๔  ค่ำ)

           เวลา  ๐๔๓๐    ตรวจการณ์เห็นเครื่องบิน   ๒   ฝูง   จำนวน   ๒๐ เครื่อง     บินเข้าฝั่งและหายไปทางทิศตะวันตก

          เวลา  ๐๕๐๐    ทัศนวิสัยดีขึ้นมาก เห็นเรือสินค้าขนาดใหญ่หลายหมื่นตัน สูงใหญ่ทาสีเทา มีปั้นจั่นยกของหน้า – หลัง ลำละ   ๘ ชุด จำนวน   ๑๒ ลำ   และกำลังลำเลียงเรือท้องแบนลงน้ำไกลออกไปเห็นเรือรบขนาดต่าง ๆ กว่า   ๑๐  ลำ และไกลออกไปอีก ยังมีเรือรบขนาดใหญ่มากว่าอีกหลายลำจอดเรียงรายอยู่

          เวลา  ๐๕๔๒    กองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓  เริ่มยิงกระสุนชุดแรก  ซึ่งตกน้ำเป็นส่วนมาก    ต่อมา  มีนัดหนึ่งตกถูกเรือท้องแบนในทะเล   ขณะนั้นปืนใหญ่ยิงให้ตกอยู่แนวฝั่งทั้ง   ๘  กระบอก เพราะเห็นทหารญี่ปุ่นจำนวนมากอยู่บนชายหาดตั้งแต่บริเวณสนามบินสงขลา – เก้าเส้ง    มียิงถูงเรือท้องแบนขณะถึงฝั่ง  และใกล้ฝั่งหลายลำ

          เรือท้องแบนญี่ปุ่นแล่นเข้า  แล่นออก  สวนกับไป มา รับ ส่งทหารขึ้นฝั่ง    จนแลดูทหารญี่ปุ่นเต็มชายหาด   ตั้งแต่แหลมสมิหลา  ถึงเก้าเส้ง  ซึ่งยาวประมาณ  ๒  กิโลเมตรนั้น เต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น  มองดูเหมือนแถวมดยืดยาว    กระสุนปืนใหญ่บางนัดก็ตกลงกลางกลุ่มทหารญี่ปุ่น    พอควันจาง  เห็นเป็นที่ว่างหย่อมหนึ่ง    แต่ไม่ช้า  ทหารญี่ปุ่นก็เต็มตามเดิม 

          ที่ตรวจการณ์ถูกปืนเรือยิง   ๑๒ นัด หินก้อนใหญ่ที่เป็นกำบังหายไปทั้งก้อน ทำให้เกิดที่ราบเตียนขนาดเท่าสนามเทนนิส   ทุกคนในหมู่ตรวจการณ์ปลอดภัย เพราะย้ายที่ตรวจการณ์ไปก่อนหน้านิดเดียว

           เวลา  ๐๘๐๐    ปืนเรือยิงค่ายทหารสวนตูล แต่เป็นกระสุนวิถีราบ จึงข้ามที่หมายไปหมด   ปืนใหญ่ญี่ปุ่น   ๑  กองร้อย  ตั้งยิงที่ขอบสนามบินสงขลา ยิงมายังแนวหน้าของฝ่ายไทยที่สามแยกสำโรง   เครื่องบินยิงปืนกลที่ตรวจการณ์เขารูปช้างเป็นระยะ ๆ

           เวลา  ๐๘๒๕    ป.พัน  ๑๓  หยุดยิงชั่วคราว เพราะตรวจการณ์ไม่สะดวกต้องย้ายที่ตรวจการณ์อีก

           ร.พัน ๔๑    ยังคงปะทะกับทหารญี่ปุ่นที่สามแยกสำโรงอย่างหนัก และไม่สามารถรุกคืบหน้าไปได้  แต่ทำให้กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนที่ไปหาดใหญ่ไม่ได้เหมือนกัน

          เวลา  ๐๘๔๕    เครื่องบินญี่ปุ่นร่อนลงจอดที่สนามบินสงขลา

          เวลา  ๐๙๐๐    ที่ตรวจการณ์วางสายโทรศัพท์ใหม่เสร็จ ป.พัน  ๑๓  เริ่มภารกิจยิงได้อีก    เครื่องบินญี่ปุ่น   ๖  เครื่อง   ทิ้งระเบิดในค่ายทหารสวนตูล เพื่อทำลายที่ตั้งปืนใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสวนมะพร้าวกำบังอย่างดี

          เวลา  ๐๙๑๐   กองกำลังญี่ปุ่น  ประมาณ  ๑  กองพันลำเลียงขึ้นรถไฟตรงโค้งสนามบิน ก็มีทหารญี่ปุ่นทำงานกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไปเหมือนมด ป.พัน ๑๓ จึงยิงเข้าไปในสนามบิน เมื่อกระสุนตก เห็นฝูงทหารญี่ปุ่นกระจายแตกออกไป เมื่อควันจาง เป็นเป็นที่ว่างอยู่หย่อมหนึ่ง แต่ไม่ช้าทหารญี่ปุ่นก็กลับเข้ามาอีกจนเต็มตามเดิม

          เวลา  ๐๙๓๐    ส่วนหน้าขอกำลังหนุน เพราะข้าศึกมีกำลังมากกว่า กำลังหนุนไม่มี แต่ก็รวบรวมทหารช่วยรบในหน่วยต่าง ๆ ถือปืนเล็กล้วนประมาณ  ๕๐ คน  ขึ้นไปเสริม เตรียมอพยพยุทธสัมภาระต่าง ๆ เช่น น้ำมัน  เสบียง  เวชภัณฑ์ ไปไว้ที่บ้านทุ่งหวัง ซึ่งเตรียมเป็นที่มั่นสุดท้าย   

            ป.พัน ๑๓  ร้อย.๓    เปลี่ยนที่ตั้งยิงไปที่หลักกม.ที่ ๘.๓  เพื่อคุ้มกันการถอย

 

 บ้านน้ำน้อย    (กองพันทหารราบที่  ๕)

          ตรงกับวันมีตลาดนัดน้ำน้อย   

          ในเวลาใกล้เคียงกันนี้  คือประมาณ  ๐๑๐๐    นายพันโท  หลวงแถวเถกิงพล   (แถว ทองเนียม) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่  ๕  (ร.พัน  ๕)  ที่ค่ายคอหงส์   ได้รับข่าวทางโทรศัพท์ว่า ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลา   แต่ไม่สามารถติดต่อกับผู้บังคับการฯ ที่สวนตูลได้    จะปฏิบัติตามแผน ฯ ขั้นที่  ๑  ก็ไม่ได้  เพราะทหารญี่ปุ่น  ขึ้นบกได้แล้ว     จึงตัดสินใจปฏิบัติตามแผน ฯ  ขั้นที่  ๒  โดยจัดกำลัง  ๑  หมวด  และปืนกลหนัก  ๑  หมู่    รีบเคลื่อนย้ายโดยยานพาหนะของหน่วย ไปเข้าที่มั่นตั้งรับตามแนวกิโลเมตรที่  ๑๗   ถนนสงขลา - หาดใหญ่   ตามแผนไว้ก่อน

          กำลังส่วนนี้เข้าที่มั่นได้ก่อนเวลา  ๐๒๓๐    และได้จัดนายทหาร  ๑  นาย  เดินทางไปรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาที่ค่ายสวนตูล ด้วย

             นายพันตรี  ถวัลย์  ศรีเพ็ญ  รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่  ๕  ได้ปลุกชาวบ้านน้ำน้อยขอความร่วมมือชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านช่วยกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น  ส่วนผู้หญิงและเด็ก ให้อพยพออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัย

 

          กำลัง  ร.พัน ๕  ส่วนใหญ่ได้เคลื่อนย้ายจากค่ายคอหงส์ไปเข้าที่มั่นตั้งรับแนวสถานีน้ำน้อย  โดยยานพาหนะของหน่วย และของประชาชนจัดมาสนับสนุน  สามารถเข้าที่มั่นตั้งรับได้  เมื่อเวลาประมาณ  ๐๓๐๐      ได้วางกำลังดังนี้

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๑    อยู่ด้านขวา  ยึดตามแนวทางรถไฟตัดกับถนนเป็นแนวไปทางตะวันออก  ๕๐๐  เมตร    ถนนและทางรถไฟอยู่ในเขต

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๒    อยู่ด้านซ้าย  ยึดตามแนวทางรถไฟตัดกับถนนเป็นแนวไปทางตะวันตกจนถึงเชิงเขา

          กองร้อยอาวุธเบาที่  ๓    เป็นกองหนุน    อยู่หลังกองร้อยในแนวหน้าประมาณ  ๒๐๐  เมตร  ตามแนวสถานีน้ำน้อย

          กองร้อยอาวุธหนัก    จัดปืนกลหนักสนับสนุนกองร้อยในแนวหน้ากองร้อยละ  ๑  หมวด    ส่วน  ปกน.ที่เหลือ  ให้ตั้งยิงที่หน้าสถานีเขาบันไดนาง  เพื่อยิงที่หมายทั้งทางอากาศ และทางพื้นดิน

          ปืนใหญ่ติดตามทหารราบ   ตั้งยิงบนเขาบันไดนาง  และที่หน้าสถานีน้ำน้อย  เพื่อต่อสู้รถถังข้าศึก  และข้าศึกที่จะมาทางถนน  หรือทางรถไฟ

 

          ประมาณ  ๐๓๐๐    ทหารญี่ปุ่นประมาณ   ๑ กองร้อย เคลื่อนที่ด้วยรถจักรยาน  จากสงขลาตามถนนสงขลา - หาดใหญ่     ปะทะกับ กองรักษาด่านที่ควนแม่เตย   ญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายมาก   เพราะไม่มีที่กำบัง    ต้องหยุด และเข้ายึดภูมิประเทศอยู่ในแนวนั้น

          ประมาณ  ๐๔๐๐    กองรักษาด่าน ของ  ร.พัน  ๕   (ที่ควนแม่เตย) ถอนมาสมทบแนวที่มั่นใหญ่ที่เขาบ้านน้ำน้อย  โดยอาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง
 
            ประมาณ  ๐๗๕๕    ปืนเรือญี่ปุ่นยิงที่ตั้ง  ร.พัน  ๕ ที่บ้านน้ำน้อย   เพื่อสนับสนุนทหารราบ

 

            ประมาณ    ๐๘๐๐     ทหารญี่ปุ่นใช้รถไฟไทยเดินทางจากสงขลา  เมื่อมาถึงทางตัดกับถนนก่อนถึงสถานีน้ำน้อย     การรบที่ช่องเขาน้ำน้อย ญี่ปุ่นเสียเปรียบเพราะกำลังส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นถูก ร.พัน  ๔๑   ยันไว้ที่แนวคลองสำโรง

          ร.พัน ๕   อาศัยภูมิประเทศที่ได้เปรียบยันญี่ปุ่นสุดความสามารถ ข้าศึกตายกลาดเกลื่อน    ญี่ปุ่นยกธงขาวขอเจรจา ไทย ไม่เชื่อใจ  จึงไม่ยอมหยุดยิง

 

 

วีรกรรมประชาชนชาวน้ำน้อย

          กิจกรรมชาวบ้านน้ำน้อยได้ช่วยกันเพื่อปกป้องบ้านเมืองคราวนี้  ได้แก่    ระเบิดทางรถไฟ  สองจุดคือที่ หลักกิโลเมตรที่  ๑๙  และ เยื้องๆ ประตูโรงเรียนประชาบาล ตำบลน้ำน้อย  (โรงเรียนชุมชนบ้านน้ำน้อยในปัจจุบัน)    ชาวบ้านน้ำน้อยส่วนนี้มีอาชีพทำเหมืองหินที่เขาบันไดนางในบริเวณใกล้เคียง  จึงชำนาญการวางระเบิด    เมื่อวางระเบิดแล้ว  ชาวบ้านน้ำน้อยก็ช่วยทหารบรรจุกระสอบทราย   เป็นที่มั่นของฝ่ายเรา  และขึงลวดหนาม เป็นเครื่องกีดขวางฝ่ายญี่ปุ่น  

          นอกจากนี้    นายพันตรี  ถวัลย์  ศรีเพ็ญ   เตรียมให้ชาวบ้านวางระเบิด "สะพานปูน" ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองน้ำน้อย  เพื่อขัดขวางการเคลื่อนที่ทางรถยนตร์ของทหารญี่ปุ่นด้วย  แต่ได้รับคำสั่งให้หยุดรบเสียก่อน

 

 สรุปว่า   ร.พัน  ๔๑  ป.พัน  ๑๓  จากค่ายสวนตูล  และ ร.พัน ๕  จากค่ายคอหงส์    สามารถยันญี่ปุ่นไว้ได้   จนกระทั่งได้รับคำสั่งหยุดยิง

 

          เวลา  ๑๑๓๕    ได้รับคำสั่งทางวิทยุโทรเลขจากผู้บังคับบัญชามณฑล  ๖   นครศรีธรรมราช   ให้ทุกหน่วย หยุดรบและหลีกทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล

 

          เวลาประมาณ  ๑๓๐๐    สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของกรมโฆษณาการ  (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน)  ได้ประกาศว่า   รัฐบาลไทยตกลงให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทยได้

           เมื่อเลิกรบกันแล้ว    ญี่ปุ่นก็เร่งเดินทัพไปไทรบุรี (เคดาห์)  ทันที    ขบวนทหารเดินกันทั้งวัน ทั้งคืน  ทั้งทางถนน และทางรถไฟ    ขบวนรถถังญี่ปุ่นใช้เวลาร่วมชั่วโมง  จึงผ่านสามแยกสำโรงได้หมด  (ในผังการจัดหมู่กองทัพภาคใต้  Southern Army Command  ของญี่ปุ่น  ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยรถถัง)  

 

 

อังกฤษ  .  .  .  เอาบ้าง

          ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔    กองทหารอังกฤษได้ข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยดังนี้

          เวลาประมาณ  ๑๗๓๐    ขบวนรถยนตร์    ประกอบด้วย    ทหารราบ  จาก  กองพันที่ ๘  กรมทหารราบที่ ๑  (ปันจาบ)    จำนวน  ๒ กองร้อย    ปืนต่อสู้รถถัง  และหน่วยทหารช่าง    มุ่งสู่จังหวัดสงขลา  

          เวลาค่ำ    ขนวนรถไฟหุ้มเกราะ  จากสถานีปาดังเบซาร์   ประกอบด้วย    ส่วยแยก  ของกองพันที่ ๑๖  กรมทหารราบที่ ๒  (ปันจาบ)    และหน่วยทหารช่าง    มุ่งสู่จังหวัดสงขลา  เช่นกัน

 

รัฐบาลไทยตกลงให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศไทยได้    ตั้งแต่เวลา  ๑๓๐๐  นาฬิกา  แล้ว   

ดังนั้น  การปฏิบัติของกองทหารอังกฤษถือว่าเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย       

  

          ในระหว่างนี้  ญี่ปุ่นก็เร่งเดินทัพไปไทรบุรี (เคดาห์)

          ขบวนรถยนตร์ของทหารอังกฤษ

          เวลาค่ำ    ได้หยุดที่บริเวณบ้านสะเดา  (น่าจะเป็นการหยุดพักตามสภาพถนน  และยานพาหนะ  เมื่อ  ๗๐ ปีก่อน) 

          เวลา  ๒๑๓๐    กองทหารอังกฤษนี้ได้ปะทะกองทหารญี่ปุ่น ซึ่งมีรถถังนำขบวนมา    (ในผังการจัดหมู่กองทัพภาคใต้  Southern Army Command  ของญี่ปุ่น  ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยรถถัง)    

               ฝ่ายอังกฤษ  ต้องรบหน่วงเวลา  และทำลายสะพาน  ๒ -๓  แห่งระหว่างถอนตัว

               ฝ่ายญี่ปุ่น  ใช้เครื่องบินโจมตีในเวลากลางคืน

          ขนวนรถไฟหุ้มเกราะ    สามารถเดินทางไปได้ถึงสถานีคลองแงะ  จึงได้ถอย  และทำลายสะพาน  ๑ แห่ง    (คงได้ทราบสถานการณ์ทางด้านขบวนยานยนตร์)

            

          ครับ  .  .  .  สถานการณ์ในวันวีรไทย  ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔  ที่จังหวัดสงขลา  คงมีเพียงเท่านี้    แต่ญี่ปุ่นยังคงเดินทัพต่อไป    เชิญติดตามกองทัพญี่ปุ่นต่อไป  นะครับ

 

 

ความสูญเสีย

ฝ่ายเรา    ร.พัน  ๔๑           ตาย    ทหาร  ๘   

                                       บาดเจ็บ    ๒๐ - ๒๕  นาย

              ร.พัน  ๕              ตาย    ทหาร  ๕    พลเรือนที่มาช่วยขับรถ  ๒     

                                       บาดเจ็บ    ๑๐ - ๒๐  นาย

ฝ่ายญี่ปุ่น   

                                        ตาย        ประมาณ   ๒๐๐ คน         บาดเจ็บไม่ทราบชัด

 

          เย็นวันนั้น    ทางฝ่ายไทยทำพิธีฝังศพทหารที่เสียชีวิต      ส่วนทางฝ่ายญี่ปุ่น  ก็เอาศพมากองรวมกัน  เอาน้ำมันราดเผาเลย

 

 

           การรบที่สงขลา  เป็นการรบที่ค่อนข้างเป็นไปตามยุทธวิธีและแบบแผนมากที่สุด   รวมทั้งการ ประสานงานระหว่างพลเรือน กับทหาร  การใช้พลังประชาชนสนับสนุนการปฏิบัติทางทหาร    ตั้งแต่การแจ้งข่าวสาร   การขัดขวางการเคลื่อนที่ของฝ่ายตรงข้าม   การขนส่งกำลังทหารฝ่ายเรา  สามารถทำความเสียหายให้แก่กำลังพล ยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นได้จำนวนหนึ่ง    โดยฝ่ายไทยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและสามารถทำให้กองทัพญี่ปุ่นต้องหยุดการเคลื่อนที่ถึง   ๗  ชั่วโมง 

 

          ถึงแม้ว่า    การสู้รบที่สงขลาจะเป็นการรบที่รุนแรงมาก  เนื่องจากใช้ทหารราบถึง  ๒  กองพัน  ทหารปืนใหญ่  ๑  กองพัน   รวมถึงพลังพี่น้องประชาชนดังที่กล่าวแล้ว   และฝ่ายข้าศึกก็มีการใช้ปืนเรือ  และเครื่องบินโจมตีฝ่ายเราด้วย   หากจะนับว่าเป็นการรบที่รุนแรงกว่าทุกแห่ง ก็ว่าได้    แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานการรบใน  ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔   ไว้  ณ  ที่ใด 

          จนกระทั่ง    พี่น้องประชาชนชาวสงขลา - หาดใหญ่  และกองทัพบกได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์  พลเอก  หลวงเสนาณรงค์   ประดิษฐาน  ณ  ค่ายเสนาณรงค์  (ค่ายคอหงส์)   กระทำพิธีเปิดเมื่อ   วันที่   ๙  ธันวาคม  ๒๔๒๔    จึงได้มีพิธีร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์  และบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้เสียชีวิตในการสู้รบครั้งนั้น    เป็นประจำทุกปี

 

 จากปี ๒๔๘๔  ถึง ปีนี้  ๒๕๕๒   เกือบ  ๗๐  ปี  ที่ ท่านทั้งหลายได้สละเลือด เนื้อ และชีวิตเป็นชาติพลี   เป็นแบบฉบับให้อนุชนถือเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป 

. . . ขอท่านเป็นสุข และสงบ ในสัมปรายภพ . . . เทอญ 

 

 

           ผมมีภาพอนุสาวรีย์ คุณหลวงฯ ท่าน         เชิญครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

          - วีระบุรุษทหารไทย    พ.ต. ม.ร.ว. ประพีพันธ์  สุบรรณ      องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก  กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๐๒

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          - ๕๐ ปี  วีรไทย    กองทัพภาคที่ ๔  จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบ  ๕๐ ปี  แห่งสงครามมหารเอเซียบูรพา  ๘  ธันวาคม  ๒๕๓๔ 

          - บันทึกลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นาทีที่โลกไม่ลืม ในวันที่  ๘ ธันวาคม  ๒๔๘๔  ท่าน อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้บันทึกและมอบให้ผู้บัญชาการ ค่ายเสนาณรงค์ เมื่อวันที่  ๑๔  พฤศจิกายน  ๒๕๔๑

          - การทัพในแปซิฟิคตอนใต้  ปี  ๑๙๔๐    การยุทธในไทยและ มะลายู    เอกสารโรเนียวประกอบการสอนวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม    กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม    โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  พ.ศ.๒๕๐๘

            - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

 

 

 




กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา โดย สัมพันธ์

วันวีรไทย - นครศรีธรรมราช
วันวีรไทย - ปัตตานี
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ไทยประกาศสันติภาพ
สงครามมหาเอเซียบูรพา - เชียงตุง ๒๔๘๕
สงครามมหาเอเซียบูรพา - จากวันวีรไทย ถึง วันประกาศสงคราม
วันวีรไทย - บางปู ปราจีนบุรี
วีรไทย - สุราษฎร์ธานี
วันวีรไทย - ชุมพร
วันวีรไทย - ประจวบคีรีขันธ์
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ก่อนจะถึงวันวีรไทย
กรณีพิพาทอินโดจีน - มณฑลบูรพา . . . เคยได้เป็นของเรา
กรณีพิพาทอินโดจีน - ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
กรณีพิพาทอินโดจีน - วีรกรรม น.ต.ศานิต นวลมณี



1

ความคิดเห็นที่ 1 (373)
avatar
kakarits

ผม คน สงขลา แต่ ความรู้ เรื่อง นี้ ไม่ มี เลย ขอบคุณ ครับ สำหรับเนื้อ หา ดี ๆ แบบ นี้

ผู้แสดงความคิดเห็น kakarits วันที่ตอบ 2009-08-22 09:59:04 IP : 222.123.178.141


ความคิดเห็นที่ 2 (374)
avatar
สัมพันธ์

          ยินดีมากครับที่เกิดประโยชน์  หากได้คุยหรือให้ผู้ใหญ่ที่ทันเหตุการณ์เล่าให้ฟังแล้วเขียนลงไว้  จะเป็นประโยชน์แก่อนุชนมาก  และผู้อ่านก็จะได้ข้อมูลหลากหลาย แง่มุม  และมีคุณค่ามาก           

                                                                                        ขอบคุณ  และสวัสดีครับ   

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-22 15:46:37 IP : 125.25.140.140


ความคิดเห็นที่ 3 (175545)
avatar
้homebule

สวัสดีค่ะ บทความของท่านเป็นบทความที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก จึงขออนุญาตติดต่อกับท่านผู้เขียนบทความนี้จะได้มั้ยคะ

 

                                                                                                    ขอบคุณคะ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ้homebule วันที่ตอบ 2018-05-11 11:40:49 IP : 183.88.60.205



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker