dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามมหาเอเซียบูรพา - เชียงตุง ๒๔๘๕

ประกาศสงคราม - เชียงตุง ๒๔๘๕

 สถานการณ์เดิม  .  .  .

 ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๕    ประกาศสงคราม  คณะผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามไม่ครบ

        มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษ    กำหนดให้อ่านประกาศสงครามในเวลา  ๑๒๐๐  (เที่ยงตรง)    ครั้นเวลา  ๑๑๐๐  เศษ  เจ้าหน้าที่รายงานว่าคณะผู้สำเร็จราชการ  อยู่ในกรุงเทพ ฯ  เพียง  ๒  ท่าน  คือ  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  กับ  พลเอก  พระยาพิชเยนทร์โยธิน  ส่วนนายปรีดี  พนมยงค์  ไปต่างจังหวัด    จะรอให้ลงนามครบ ทั้ง  ๓  ท่าน  เกรงว่าจะประกาศไม่ทันเที่ยงวันนี้   แต่ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ  คือ  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  รับสั่งว่า  ให้ประกาศชื่อนายปรีดี  พนมยงค์ ลงไปก็แล้วกัน  แม้จะไม่ได้ลงนามก็ตาม   ท่านจะทรงรับผิดชอบเอง

 

จึงเป็นอันว่า    การประกาศสงครามในวันที่  ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๕ นั้น    ความจริงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในประกาศเพียง  ๒  คนเท่านั้น    แต่ได้อ่านประกาศเป็น  ๓  คนให้ครบคณะ    อันไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง 

 

  เชิญติดตามสถานการณ์ต่อไปครับ . . .

 

๒๖   มกราคม   ๒๔๘๕

          ฝูงบิน  ๔๑    จัด  ฮอว์ค ๓   บินไปลาดตระเวนและทิ้งใบปลิวที่เมืองเลน

          ฝูงบิน  ๓๒   จัดเครื่องบินไปลาดตระเวนที่บ้านตะกะวิน
       
 

๒๘  มกราคม   ๒๔๘๕        ฝูงบิน  ๓๒   จัดเครื่องบินไปลาดตระเวนและทิ้งใบปลิวที่เมืองพยาค

 

ปฏิกริยาของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อการประกาศสงครามของไทย
 
 

อังกฤษ 

๒๘ มกราคม  ๒๔๘๕
   
          เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้ปรารภกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า  ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ควรประกาศสงครามกับไทย   เพราะจีนเชื่อว่าไทยถูกญี่ปุ่นบีบบังคับ     การประกาศสงครามกับไทยเท่ากับเป็นการผลักดันให้ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น   แต่เมื่ออังกฤษได้ทราบการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการของไทยจากรัฐบาลสวิส    อังกฤษจึงได้ประกาศสงครามกับไทย  

 สหรัฐอเมริกา

               แสดงท่าทีไม่รับรู้การประกาศสงครามของไทย  โดยมิได้ประกาศสงครามตอบ  และยังคงถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง  เว้นเสียแต่ในกรณีที่กำลังทหารไทยจะเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่นต่อกองกำลังของสหรัฐ ฯ    รัฐบาลสหรัฐ ฯ  จึงจะปฏิบัติต่อกำลังทหารไทยเสมือนหนึ่งศัตรู  

          นโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยของสหรัฐ ฯ กับอังกฤษจึงเริ่มแตกต่าง

 

๓๐   มกราคม   ๒๔๘๕    ฝูงบิน  ๔๑  จัดเครื่องบินไปลาดตระเวนและทิ้งใบปลิวที่เมืองสาด              

๖   กุมภาพันธ์   ๒๔๘๕

          อังกฤษ ประกาศสงครามกับไทย  โดยให้ถือว่ามีสงครามกับไทย ตั้งแต่   ๒๕ มกราคม  ๒๔๘๕  และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศ  แคนาดา  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ และอัฟริกาใต้ แสดงความหวังว่า ประเทศในเครือจักรภพ จะได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน

          แคนาดา  ไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย  แต่ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามทางเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกันกับประเทศบัลกาเรีย

          พลอากาศตรี  ฟื้น  ฤทธาคนี   นำเครื่องบิน ขับไล่แบบนากาจิมา (โอตะ)  ๑๒ เครื่อง   และ เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบนาโกยา    ๙ เครื่อง ไปทิ้งระเบิดที่ตั้งข้าศึกที่ดอยเหมย

๑๐  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

          ข้าศึกส่งเครื่องบินแบบ    จำนวน   ๓ เครื่อง เข้ามาทิ้งระเบิดทำลายสนามบินเชียงราย ฝูงบิน  ๔๑    กองบินน้อยผสมที่ ๘๐   ส่งฮอว์ค  ๓ ขึ้นสกัดกั้น

 

๑๑  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

          รัฐบาลอัฟริกาใต้ประกาศสงครามกับไทย    โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่   ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๕

          แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศ ฯ  เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด  ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน

๑๑ - ๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐    บินรักษาเขตตามแนวพรมแดนบริเวณ เชียงใหม่ - เชียงราย       
 
๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕ 
   สิงคโปร์ยอมจำนน

๑๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

          ข้าศึก ส่งเครื่องบินแบบ   BLENHEIN จำนวน ๗ เครื่อง เข้ามาทิ้งระเบิดทำลายสนามบินเชียงใหม่   ฝูงบิน  ๓๒   ส่งคอร์แซร์ขึ้นสกัดกั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

Blenhein                                                                                                                                     Corsair

 

๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

           พลอากาศตรี   หลวงอธึกเทวเดช แม่ทัพอากาศสนาม ออกคำสั่งให้จัดตั้งและย้ายหน่วยบินดังนี้

          ให้ นาวาอากาศตรี  ปรุง  ปรีชากาศ ผู้บังคับการกองบินน้อย ผสม  ที่  ๘๐   เป็น ผู้บังคับการกองบินใหญ่ผสม ภาคพายัพ   อีกตำแหน่งหนึ่งโดยมีหน่วยขึ้นตรง  คือ

 

                กองบินน้อยผสมที่ ๘๐   (ฝูงบิน  ๒๒ และ  ฝูงบิน  ๔๑   ตั้งอยู่ที่   จังหวัดเชียงราย)

               กองบินน้อยผสมที่ ๙๐   (ฝูงบิน  ๓๒ และ  ฝูงบิน  ๔๒   ตั้งอยู่ที่   จังหวัดเชียงใหม่)
             
 

กองบินน้อยผสมที่ ๘๐     จังหวัดเชียงราย                            

           ฝูง.๒๒ และ ฝูง.๔๑   กองบินน้อยผสมที่   ๘๐  ส่งเตรื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิดและถ่ายรูปที่เมืองเลน เมืองโก เมืองโฮปัง  เมืองปาเฮน 

 

๑๘   กุมภาพันธ์   ๒๔๘๕  

          กองพลทหารม้า เริ่มเข้าที่ชุมพลที่ อำเภอ  แม่แตง    จังหวัดเชียงใหม่ เสร็จสิ้น

๒๐   กุมภาพันธ์  ๒๔๘๕

          กองพลทหารม้า จัดให้  

               กองพันทหารม้าที่  ๓   กรมทหารม้าที่  ๓๕  ( ม.พัน.๓  ม.๓๕ ) ไประวังป้องกันด้าน  อำเภอ ปาย   จังหวัดแม่ฮ่องสอน

               และ  ให้   กองพันทหารม้าที่  ๔   กรมทหารม้าที่   ๔๖  ( ม.พัน.๔   ม.๔๖  ) ไประวังป้องกันด้าน   อำเภอ เมืองแหง   จังหวัดเชียงใหม่    

               เนื่องจากเขตปฏิบัติการของ กองพลทหารม้า  ตั้งแต่ อ.แม่แตง    จังหวัดเชียงใหม่ ถึงชายแดน    จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีทางรถยนต์เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ป่าทึบและเขาสูง   เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่  อีกทั้งขาดแคลนเสบียงอาหาร ทั้งของคนและของม้า      จึงต้องปฏิบัติงานอยู่เฉพาะภายในเขตประเทศไทย   เพียงแต่ส่ง   กองพันทหารม้าที่  ๔  กรมทหารม้าที่   ๔๖  ออกลาดตระเวนและรักษาปีกซ้ายให้แก่ กองพลที่   ๒   ตามช่องทาง กิ่วผาวอก – เมืองหาง – เมืองต่วน – เมืองสาด และปฏิบัติการเลยไปถึง เมืองเป็ง 

 ๒  มีนาคม  ๒๔๘๕     

          รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย    โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่  ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๕

          แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศ ฯ   เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด  ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน

๙   มีนาคม    ๒๔๘๕     ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดนครร่างกุ้งจากอังกฤษได้อย่างเด็ดขาด

 ๑๖ มีนาคม  ๒๔๘๕    

          รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศสถานะสงครามกับไทย     โดยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทยตั้งแต่  ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๕

          แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศ ฯ    เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใด  ที่ก่อให้เกิดสถานะสงครามระหว่างกัน

๑๐   เมษายน   ๒๔๘๕

          เวลา ๐๐๐๕   ทหารจีนกองพล ๙๓  ประมาณ   ๑ กองร้อย เข้าตี  กองร้อยที่  ๓   กองพันทหารม้าที่  ๔  ที่บ้านเปียงหลวง ทำการรบอยู่ประมาณ   ๒ ชั่วโมง    ข้าศึกจึงล่าถอยไป

          เวลา ๒๒๔๕   ข้าศึก    ๑  หมวดเข้าตีบ้านเปียงหลวงอีกครั้ง  ครั้งนี้ นานประมาณ   ๑ ชั่วโมง   ข้าศึกจึงถอยไป   
 
๑๓   เมษายน  ๒๔๘๕

          ฝูงบิน  ๑๑ และ  ฝูงบิน  ๑๒   จัด  นาโกยาหน่วยละ   ๙ เครื่อง   จากสนามบินลำปางไปทิ้งระเบิดที่ดอยเหมย และ เมืองพยาค

          กองบินญี่ปุ่นที่ลำปาง   ส่งเครื่อง  นากาจิมา   จำนวน   ๒๗ เครื่อง   ไปทิ้งระเบิดที่เมืองเชียงตุง โดยมี พลอากาศตรี  ฟื้น   ฤทธาคนี ขึ้นบินกับ ผู้บังคับกองบินญี่ปุ่น     แต่เมื่อทิ้งระเบิดได้เพียงเที่ยวเดียว    พลอากาศตรี ฟื้น ฯ   ขอร้องไว้เนื่องจากในวันนั้นเป็นวันสงกรานต์ ชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อชาติไทยเช่นเราไปทำบุญกันมาก    ไม่ควรโจมตีในย่านชุมชน      จึงยกเลิกภารกิจ

๑๘  เมษายน  ๒๔๘๕

         กองทัพอากาศอเมริกันทิ้งลูกระเบิดกรุงโตเกียวเป็นครั้งแรก

          กองพลทหารม้า  (พล.ม.)  ส่งมอบพื้นที่ให้   กรมทหารราบที่  ๒   กองพลที่  ๒   (ร.๑๒ พล.๒) เข้ารับหน้าที่ดูแลพื้นที่แทน  (ด้านอำเภอ ปาย   จังหวัดแม่ฮ่องสอน   และอำเภอเมืองแหง   จังหวัดเชึยงใหม่)

๒๐  เมษายน   ๒๔๘๕

          กองพลทหารม้า  ถอนกำลังกลับไปขัดตาทัพที่ เชียงใหม่

๒๔  เมษายน   ๒๔๘๕

          ฝูงบิน  ๒๒   จัดเครื่อง คอร์แซร์ ๓ เครื่อง   บินตรวจการณ์ที่เมืองเลน และแนวแม่น้ำสาย

๒๕  เมษายน  ๒๔๘๕

          ฝูงบิน  ๒๒  และ ฝูงบิน  ๔๑ จัดเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองเลน  เมืองโก  เมืองโฮปัง  และเมืองฮ่องลึก

๒  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          กองพลทหารม้า  ส่งมอบ  กองพันทหารม้าที่ ๕ และ  กองพันทหารช่างที่  ๑ ให้ขึ้นสมทบกับ กองพลที่ ๒     ส่วน กองพลทหารม้า เองได้รับมอบภารกิจให้ไปเป็นกองหนุนของ กองพลที่  ๓   จึงย้ายไปเข้าที่ตั้งที่ อำเภอ แม่จัน   จังหวัดเชียงราย

          กองพลที่ ๒   ได้รับ   กองพันทหารม้าที่ ๕ และ  กองพันทหารช่างที่  ๑   จาก  กองพลทหารม้า      มาขึ้นสมทบ

๓  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          กองพลที่ ๒  ได้รับ กรมทหารราบที่  ๑๒   ซึ่งดูแลพื้นที่  เวียงแหง   เปียงหลวง ชายแดนไทย – พม่า กลับมาขึ้นการบังคับบัญชาตามเดิม (แต่น่าจะยังคงดูแลพื้นที่ต่อไป)
 


ขั้นที่ ๑    เคลื่อนทัพผ่านพรมแดนไทย-พม่า เข้ายึด เมืองสาด  เมืองพยาค  เมืองป่าเลียว  เมืองเชียงลับ

๙   พฤษภาคม   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๓๒   จัด  คอร์แซร์ ๓ เครื่อง   ไปทิ้งระเบิดที่เมืองสุยาง เมืองตุน เมืองสาด

          กองบัญชาการทหารสูงสุดออกคำสั่งให้กองทัพพายัพเคลื่อนเข้ายึดเมืองเชียงตุง  ดังนี้

 

          กองพลที่  ๔    เป็นกองระวังหน้าของกองทัพ เคลื่อนที่ตามเส้นทาง  อำเภอแม่สาย  ท่าขี้เหล็ก  เมืองโต  เมืองเลน    เมื่อถึงเมืองพยาก  ให้เลี้ยวขวาไปทางตะวันออก 
และ เข้าตีเมืองยอง

 

          กองพลที่  ๓    เป็นกองหลวง   เคลื่อนที่ตามกองพลที่  ๔  เมื่อถึงเมืองพยาก  ให้ตรงไปทางทิศเหนือ  เข้าตีเชียงตุง ต่อไป

 

          กองพลที่  ๒     เคลื่อนที่ทาง เมืองสาด  เมืองหาง    เมื่อถึงเมืองเป็ง  ให้เคลื่อนขบวนไปทางตะวันออก  เข้าตีเชียงตุง  เข้าบรรจบ กองพลที่  ๓

 

 

 

การปฏิบัติของกองระวังหน้า และกองหลวง


การจัดเฉพาะกิจของกองพลที่  ๓

          กองพลที่  ๓   สั่งจัดกองพันพิเศษเฉพาะกิจ  ให้ พันโท  จำรูญ  จำรูญรณสิทธิ์  เป็นผู้บังคับกองพัน   นำกำลังหน่วยนี้  เข้าตีเมืองเชียงตุงทางด้านหลัง  โดยใช้ เส้นทาง  เมืองหาง - เมืองสาด - เมืองเป็ง

          เนื่องจากเป็นฤดูฝน และฝนตกหนักตลอดเวลา  ทำให้ถนนเป็นโคลน และเป็นหล่มมาก เป็นอุปสรรคแก่การเคลื่อนย้ายอย่างยิ่ง สะพานที่ข้าม ลำห้วย ลำธาร ถูกน้ำพัดพังทุกแห่ง  กองพันทหารช่างของกองพลที่  ๔  ไม่สามารถซ่อมสร้าง หรือ ช่วยให้กองพลเคลื่อนที่ได้ตามกำหนด   กองพลที่  ๓  ซึ่งเคลื่อนที่ตามมา   ต้องส่งกองพันทหารช่าง ขึ้นไปช่วยซ่อมสร้างถนน และสะพานให้   หน่วยทหารปืนใหญ่ และพลาธิการ เคลื่อนที่ไม่ได้ตามกำหนด   ตามทหารเดินเท้าไม่ทัน          

 

๑๐  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒ เคลื่อนที่ออกจากแนวระวังป้องกัน จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่ สหรัฐไทยเดิม  ๒ ช่องทางคือ

               กรมทหารราบที่  ๔  (ร.๔) และ  กรมทหารราบที่  ๕ (ร.๕)  เป็น กองรบด้านซ้าย เคลื่อนที่ผ่านไปทาง ช่องกิ่วผาวอก – เมืองหาง – เมืองต่วน –  เมืองสาด  โดยให้ กรมทหารราบที่  ๔  เข้าตีตรงหน้า  และ กรมทหารราบที่  ๕ เคลื่อนที่ตามหลัง

               กรมทหารราบที่ ๑๒  (ร.๑๒) เป็นกองรบด้านขวา เคลื่อนที่ผ่านทางบ้านท่าตอน   อำเภอแม่สาย – เมืองสาด มีการปะทะกันประปรายตลอดเส้นทาง

          กองพลที่  ๔   ซึ่งรวมพลอยู่ที่ เชียงราย เริ่มเคลื่อนที่รุกผ่านแนวพรมแดนทาง อำเภอแม่สาย   จังหวัดเชียงราย โดยแบ่งเส้นทางการเดินทัพเป็น   ๒ สาย   คือ

               กรมทหารราบที่  ๑๓   เคลื่อนที่ทางซ้าย    รุกเข้าทางแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก – บ้านขาว – เมืองฮายใต้ – เมืองฮายเหนือ – ดอยกองมู – เมืองพยาค    เส้นทางเดินทัพไม่มีถนน  ต้องเดินเท้าบุกป่า   มีการปะทะกับข้าศึกตลอดเส้นทาง

                กรมทหารราบที่   ๓    เคลื่อนที่ทางขวา   รุกเข้าทางแม่สาย – เมืองโก – เมืองเลน – เมืองพยาค   เป็นการเคลื่อนทัพตามเส้นทางถนน

               กองรถรบ, กองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๔  และ กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์   เคลื่อนที่ตาม กรมทหารราบที่  ๓

               กรมทหารม้าที่  ๑๒   ทำหน้าที่กองระวังหน้าให้กับ   กองพลที่  ๔

          กองพลที่  ๓   เคลื่อนที่ตาม  กองพลที่  ๔  เป็นระยะห่าง   ๑  กิโลเมตร  เพื่อเตรียมการเข้าตีนครเชียงตุง   โดยเคลื่อนที่ในเส้นทาง  ท่าขี้เหล็ก – เมืองโก – เมืองเลน – เมืองพยาค    มีฝนตกตลอดวัน   แต่ก็สามารถบุกเข้ายึดบ้านปงป่าแขม   บ้านห้วยฮอง   บ้านเกียนหลวง  และหัวสะพานข้ามลำน้ำรวกไว้ได้โดยเด็ดขาด

 

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒  ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองเชียงตุง


          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               เวลา ๐๖๐๐ - ๐๙๐๐   ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปลาดตระเวนที่เมืองเลนถูก  ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.)ข้าศึกยิงต่อต้าน

               เวลา ๐๙๐๐ - ๑๒๐๐   ฝูงบิน  ๔๑  ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองเชียงลับ และกลับมาครอง

               เวลา ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐   ฝูงบิน  ๔๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองเชียงลับอีกครั้ง และกลับมาครองอากาศเหนือยุทธบริเวณ (เมืองโก – ลำน้ำโขง)

               เวลา ๑๖๐๐ - ๑๘๐๐   ฝูงบิน  ๒๒  ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองเลน และกลับมาครองอากาศเหนือยุทธบริเวณ

          กองบินน้อยผสมที่   ๙๐

                เวลา ๐๙๓๐   ฝูงบิน  ๔๒   จัด  ฮอว์ค ๓  ไปทิ้งระเบิดเมืองสาด  ฮอว์ค ๓   อีก  ๒ เครื่อง  บินไปทิ้งระเบิดเมืองตุน โดยมี  คอร์แซร์   ๒  เครื่องจาก ฝูงบิน   ๓๒  ไปตรวจผลการทิ้งระเบิด

 

๑๑  พฤษภาคม   ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒   ยึดเมืองหาง  ได้เมื่อเวลา ๑๒๐๐

          กองพลที่  ๔   สามารถยึดเมืองโฮปัง และเมืองโกได้

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               เวลา   ๐๖๐๐ - ๐๙๐๐   ฮอว์ค ๓ จาก ฝูงบิน  ๔๑   คุ้มครอง  กองพลที่  ๔ บริเวณถนนสาย  อ.แม่สาย – เมืองเชียงตุง - แนวแม่น้ำโขง

               เวลา   ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐ บ.ฮอว์ค ๓ จาก ฝูง.๔๑ บินไปทิ้งระเบิดเมืองเลนซ้ำเติม และบินไปคุ้มครองบริเวณถนนสาย อ.แม่สาย – เมืองเชียงตุง - แนวแม่น้ำโขง

                ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องคอร์แซร์ไปคุ้มครอง กองพลที่  ๓ ซึ่งเคลื่อนที่ตามเข้ามาในบริเวณดังกล่าว

          กองบินน้อยผสมที่  ๙๐

               ฝูงบิน  ๔๒ และ  ฝูงบิน  ๓๒   ส่งเครื่อง ฮอว์ค  ฝูงละ  ๒  เครื่อง  ไปทิ้งระเบิดเมืองสาด  และไปตรวจการณ์ที่เมืองกก    

 

๑๒  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

 กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒   ยึดเมืองยอนได้

          กองพลที่  ๓   ส่งกำลังเคลื่อนที่ขึ้นไปอยู่ระหว่างเมืองฮ่องลึก และเชียงราย

          กองพลที่  ๔   อยู่ระหว่างเมืองพยาค   เมืองเลน และเมืองป่าเลียว

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินน้อยผสมที่    ๘๐

               เวลา ๐๖๐๐ - ๐๙๐๐   ฝูงบิน  ๔๑  และ ฝูงบิน  ๒๒  ส่งเครื่องบินไปโจมตีเมืองพยาค และบินไปคุ้มครอง พล.๔

               เวลา ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐   ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองปาเลียว และบินกลับมาคุ้มครอง  กองพลที่  ๔   โดย ฝูงบิน  ๔๑  รับช่วงบินคุ้มครองต่อ   จนถึง  ๑๘๐๐

๑๓   พฤษภาคม   ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒   ยึดบ้านแม่กิน  ได้เมื่อเวลา ๑๒๐๐

          กองพลที่  ๔   สามารถยึดเมืองเลนได้เมื่อเวลา ๑๕๔๐     

          เมื่อถึงเมืองเลน   กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์  ได้รับคำสั่งให้แยกเข้ายึดเมืองเชียงลับ และให้กองพันทหารช่างที่   ๒    และ   กองพันทหารช่างที่  ๓    ซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำรวกและแม่น้ำเลนเพื่อเคลื่อนทัพเข้าสู่เมืองพยาค

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑    ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดดอยเหมย

               ฝูงบิน  ๑๒    ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองยอง

          กองบินน้อยผสมที่    ๘๐

               เวลา   ๐๖๐๐ - ๐๙๐๐    ฝูงบิน  ๔๑   ไปทิ้งระเบิดเมืองพยาค และบินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๔   ที่เมืองเลน

               เวลา   ๐๙๐๐ - ๑๒๐๐   ฝูงบิน  ๒๒   ไปทิ้งระเบิดเมืองปาเลียว และบินกลับมาคุ้มครอง กองพลที่  ๔  ที่เมืองเลน

๑๔  พฤษภาคม   ๒๔๘๕           ยึดได้เมืองเชียงลับ

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒    ยึดเมืองต่วน(ตุน)  ได้เมื่อเวลา ๑๒๐๐

          กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์  สามารถยึดเมืองเชียงลับได้

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน   ๑๑   และ ฝูงบิน  ๑๒ ส่งนาโงย่าจำนวน ฝูงบินละ  ๙  เครื่อง  จากลำปาง   บินไปทิ้งระเบิดเมืองพยาค เมืองมะ และดอยเหมย

          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               เวลา ๐๖๐๐ - ๐๙๐๐   ฝูงบิน  ๒๒  ส่งเครื่องบินไปคุ้มครองและตรวจการณ์เมืองพยาค เมืองเลน เมืองปาเลียว และเมืองเชียงลับ

               เวลา ๐๙๐๐ - ๑๒๐๐   ฝูงบิน  ๒๒ และ ฝูงบิน  ๔๑ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองยอง หลังจากนั้นได้แยกส่วนย่อยไปคุ้มครองกำลังทางบก เหนือยุทธบริเวณ

               เวลา ๑๓๐๐ - ๑๘๐๐   ฝูงบิน  ๒๒ และ ฝูงบิน  ๔๑ ส่งเครื่องบินไปคุ้มครองกำลังทางบกเหนือยุทธบริเวณและค้นหา  กองพันทหารราบที่  ๑๓  ที่ขาดการติดต่อกับกองทัพพายัพตั้งแต่ ๑๔  พฤษภาคม   ๒๔๘๕

          กองบินน้อยผสมที่  ๙๐

               ฝูงบิน  ๔๒   ส่ง ฮอว์ค ๓   จำนวน ๕ เครื่องจากบินไปทิ้งระเบิดเมืองสาด เมืองกก 

               ฝูงบิน  ๓๒   ส่ง คอร์แซร์   จำนวน ๓ เครื่องไปตรวจการณ์ที่เมืองสาด เมืองกก 
 

๑๖  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑  และ  ฝูงบิน  ๑๒   ส่งนาโงย่าไปทิ้งระเบิดดอยเหมย  เมืองมะ และเมืองพยาค  ซ้ำต่อจาก ฝูงบิน  ๔๑

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               เวลา ๐๗๐๐ - ๑๐๐๐   ฝูงบิน  ๔๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดดอยเหมย   และ  ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องไปทิ้งระเบิดเมืองยอง

          กองบินน้อยผสมที่   ๙๐

               ฝูงบิน  ๔๒  ส่ง ฮอว์ค ๓   จำนวน ๓ เครื่อง  ไปทิ้งระเบิด เมืองกก

๑๗  พฤษภาคม   ๒๔๘๕

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               เวลา ๐๗๐๐ - ๑๐๐๐  ฝูงบิน  ๔๑ และ ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองยอง ซ้ำ   หลังจบภารกิจได้แยกหมู่ย่อยไปคุ้มครอง กองพลที่  ๔  ได้ตรวจการณ์พบ กองพันทหารราบที่  ๑๓    ที่เมืองพยาค   และทราบข่าวว่าข้าศึกรวมพลอยู่ที่เมืองยอง
                    
 ๑๘  พฤษภาคม  ๒๔๘๕          ยึดเมืองปาเลียว

กองกำลังทางบก

          กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์   ยึดเมืองปาเลียวได้ เมื่อเวลา ๑๗๐๐

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑  และ  ฝูงบิน  ๑๒   ส่งนาโงย่า  จำนวน ๑๒ เครื่องไปทิ้งระเบิดค่ายทหารข้าศึกที่ดอยเหมย  และ

               ฝูงบิน  ๑๑   จัดเครื่องส่วนที่เหลือบินไปทิ้งระเบิดเมืองมะ   เมืองวะ  เมืองเชียงล้อ  และดอยกองมู
 
๑๙  พฤษภาคม   ๒๔๘๕

กองกำลังทางอากาศ
 
          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๖๑   ส่งนากาจิม่า   ๖  เครื่อง ไปทิ้งระเบิดที่ตั้ง  ปืนใหญ่ของข้าศึกที่เมืองยอง 
 
๒๐  พฤษภาคม  ๒๔๘๕       ยึดได้เมืองพยาค

 กองกำลังทางบก
 
          กองพลที่  ๔  โดย   กองพันทหารราบที่  ๔  กรมทหารราบที่  ๑๓  เข้ายึดได้เมืองพยาคได้ โดยมีกำลังทางอากาศ  ช่วยโจมตีอย่างหนัก  (ใช้เวลา   ๑๐ วัน)   ซึ่งเมืองพยาคเป็นชุมทางถนนสามารถแยกซ้ายไปเชียงตุงทางทิศเหนือ     ไปเมืองยอง ทางทิศตะวันออก      และไปเมืองเลนทางทิศใต้     

          เมื่อเสร็จภารกิจขั้นที่  ๑    คือการยึดเมืองพยาค แล้ว     กองพลที่  ๔ ก็เลี้ยวขวาไปทางตะวันออก เพื่อเข้าตีและยึดเมืองยองต่อไป     การเดินทัพไปสู่เมืองยอง เป็นไปอย่างราบรื่น   ใช้ถนนเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทัพได้เป็นอย่างดี     ได้หยุดเพื่อปรับกำลังและกวาดล้างข้าศึกที่ยังหลงเหลืออยู่ที่เมืองพยาค และเมืองเลน

               กรมทหารม้าที่  ๑๒ ได้มอบ  กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์  ให้ขึ้นสมทบกับ กองพลที่  ๔ เพื่อเป็นหน่วยเข้าตีรองทางด้านขวาในทิศทาง ป่าเลียว – เมืองยอง  และ  มอบ  กองพันทหารม้าที่   ๒ ให้ขึ้นสมทบกับ  กองพลที่  ๓ ในการเข้าตีเมืองเชียงตุง  ต่อไป

          เมื่อกองพลที่  ๔  ยึดเมืองพยากและ เลี้ยวไปทางตะวันออก เพื่อเข้าตีเมืองยองแล้วนั้น    กองพลที่  ๓  เคลื่อนที่ ตรงไปทางเหนือเพื่อ เข้าตีเมืองเชียงตุง  จึงปรับรูปขบวนใหม่   ดังนี้

               ให้ กรมทหารราบที่  ๘   กองพันทหารช่าง   และกองพันทหารม้า   เป็นกองระวังหน้าของกองพล เคลื่อนที่ตามเส้นทาง  เมืองพยาก  ท่าเจียว  ดอยเหมย  นครเชียงตุง ต้องปะทะกับกองระวังหลังของข้าศึก   ซึ่งรบหน่วงเวลาไปจนถึงดอยเหมย  ซึ่งเป็นที่มั่นตั้งรับสำคัญ  อังกฤษสร้างป้อมปราการไว้หลายชั้น

               กรมทหารราบที่  ๔   กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗  และ  ๘  เป็นกองหลวง

กองกำลังทางอากาศ

               กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒    ส่งนาโกย่า   จำนวน    ๑๕ เครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองเชียงรุ้ง เพื่อตัดกำลังข้าศึกไม่ให้ส่งกำลังเข้ามาช่วยในสหรัฐไทยใหญ่ได้

 

ขั้นที่ ๒  ยึดเมืองเชียงตุง และ เมืองยอง

๒๑  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งนาโงย่า  ไปทิ้งระเบิดเมืองยอง แต่ฝนตกหนักต้องละภารกิจ
 

          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               เวลา ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐    ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปตรวจการณ์ที่เมืองพยาค เมืองปาเลียวและทิ้งใบแจ้งเหตุให้  กองพันทหารราบที่  ๑๓  และกองพันทหารราบที่  ๘   ซึ่งขาดการติดต่อกันทราบว่าเป็นฝ่ายเดียวกันเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและยิงกันเอง

               เวลา ๑๔๐๐ - ๑๖๐๐    ฝูงบิน  ๔๑  ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่รวมพลของข้าศึกที่บ้านนาทุม

               เวลา ๑๕๐๐ - ๑๗๐๐   ฝูงบิน  ๒๒  ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่บ้านสบยอง และทิ้งใบแจ้งเหตุให้ กองพันทหารราบที่  ๑๓  และ กองพันทหารราบที่  ๘   ทราบที่ตั้งของข้าศึกที่บ้านนาทุม  และ สบยอง

๒๒  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๒    ยึดบ้านสาลา  ได้เมื่อเวลา  ๑๑๑๕

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมพายัพ

                ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองยอง เมืองฮาย และเมืองมานเนน
 

๒๓   พฤษภาคม   ๒๔๘๕

          กองพลที่  ๒   สามารถยึดเมืองสาดได้  แต่ไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าตีนครเชียงตุงบรรจบกับ  กองพลที่  ๓ ได้ตามแผน   เนื่องจากเส้นทางจากเมืองสาดไปนครเชียงตุง ทุรกันดารมาก หน่วยทหารขนาดใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผ่านไปได้

๒๔  พฤษภาคม   ๒๔๘๕

 กองกำลังทางบก

          กองพลที่   ๒    สามารถยึดบ้านเฮียวฮินลาม ได้เมื่อเวลา  ๑๔๑๕       

          กองพลที่  ๔   รุกจากเมืองพยาค เข้ายึดบ้านน้ำคงได้เมื่อเวลา   ๑๔๓๐   และได้เคลื่อนที่ไปทางตะวันออก   เพิ่อเข้าตีเมืองยอง ที่หมายสำคัญของการปฏิบัติขั้นที่ ๒  

               กรมทหารราบที่   ๓   เป็นกำลังเข้าตีหลักเคลื่อนที่ทิศทาง เมืองพยาค – บ้านวังฟ้า -  เมืองฮาน – เมืองเฮาะ – เมืองยอง

               กรมทหารราบที่  ๑๓   เคลื่อนที่ตามเพื่อเป็นกำลังสนับสนุน

               กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์   เป็นปีกขวา  เคลื่อนที่ทิศทาง ป่าเลียว – เชียงลับ – บ้านสบยอง – บ้านเวียงใส – เมืองยอง    มีการปะทะกันตามเส้นทางและบริเวณเมืองยองเล็กน้อย   ข้าศึกถอยไปรวมพลอยู่ที่เมืองยู้  เชียงขาง และยึดช่องทางตามแนวพรมแดนทางใต้ของเมืองลอง และเมืองเชียงรุ้ง

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินใหญ่ผสมภาคพายัพ ส่งฝูงบินเข้าร่วมโจมตีทิ้งระเบิดที่เมืองยอง   และบ้านสบยอง    ข้าศึกได้รับความเสียหายเป็นอันมาก   

          กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               เวลา ๐๙๐๐ - ๑๒๐๐     ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองยอง และกลับมาคุ้มครองกองทัพพายัพบริเวณ เมืองลิน เมืองเลน เมืองเชียงตุง เมืองยอง  จนจรดแม่น้ำโขง

          กองบินน้อยผสมที่  ๙๐

                เวลา ๐๙๐๐  ฝูงบิน  ๓๒   ส่งคอร์แซร์บินไปตรวจการณ์เมืองสาด เมืองต่วน(ตุน) พบว่าข้าศึกถอยหนีจากบริเวณดังกล่าวไปหมดแล้ว 

               เวลา ๑๐๐๐ - ๑๒๐๐  และ   ๑๕๐๐ - ๑๗๐๐     ฝูงบิน  ๔๑    ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดดอยเหมย

               เวลา ๑๔๐๐ - ๑๗๐๐     ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองยองซ้ำ

๒๕  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               เวลา ๐๗๐๐ - ๑๐๐๐   ฝูงบิน  ๔๑  ส่งเครื่องบินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๓ ที่เข้าตีเมืองเชียงตุง แต่ตอนบ่ายต้องละภารกิจเพราะฝนตกหนัก
 
๒๖  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          เครื่องบินไม่สามารถทำงานได้เพราะฝนตกหนัก
               
 
๒๗  พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               ฝูงบิน  ๒๒ และ ฝูงบิน  ๔๑   ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเมืองยอง
 
๒๘   พฤษภาคม  ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก 

         ย้าย กองพลทหารม้า  จาก จังหวัดเชียงใหม่ ไป อำเภอแม่จัน   จังหวัดเชียงราย และมอบหมายให้ไปรักษาเส้นทางจาก  อำเภอแม่สาย ไป เมืองเลน

กองกำลังทางอากาศ

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               เวลา ๑๒๐๐ - ๑๕๐๐   ฝูงบิน  ๒๒   ส่งเครื่องบินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๔ และตรวจการณ์ เมืองยอง

               เวลา ๑๓๐๐ - ๑๕๐๐   ฝูงบิน  ๔๑    ส่งเครื่องบินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๓ บริเวณนครเชียงตุง

๒๙   พฤษภาคม  ๒๔๘๕

          กองบินน้อยผสมที่   ๘๐

               เวลา ๑๒๐๐ - ๑๐๐๐   ฝูงบิน  ๒๒    บินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๔   ที่เข้าตี เมืองยอง
 
๓๐   พฤษภาคม   ๒๔๘๕  

               เวลา ๐๙๐๐ - ๑๒๐๐   ฝูงบิน  ๒๒     บินไปคุ้มครอง กองพลที่  ๔   ที่เข้าตี เมืองยอง

               เวลา ๑๑๐๐    กองพลที่  ๔  ก็สามารถยึดเมืองยองได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  พระธาตุศรีจอมยอง     และ     เมืองยอง  (ปัจจุบัน)

 

           กรมทหารราบที่  ๑๓ เคลื่อนที่ผ่านแนวรบของ  กรมทหารราบที่    ๓    เข้ายึดเมืองยู้ และพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำหลวย

          ในการเข้ายึดเมืองยอง เมืองยู้ และฝั่งขวาของแม่น้ำหลวยครั้งนี้   กองพลที่  ๔ ต้องพบกับความยากลำบากในการเคลื่อนที่อย่างมาก เนื่องจากเป็นฤดูฝน   ถนนเป็น  หล่มโคลน    บางแห่งรถยนต์ไปไม่ได้ การลำเลียงเสบียงอาหารต้องอาศัยล่อ เกวียน   ทหารได้รับความบอบช้ำอิดโรย และเป็นไข้ป่ากันมาก แต่ก็นับว่า การปฏิบัติ ของกองพลที่  ๔   เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหา อุปสรรคข้อขัดข้องมาก  และเมืองยองก็อุดมสมบูรณ์

๓๑    พฤษภาคม   ๒๔๘๕
 
          กองบัญชาการกองทัพพายัพ  เคลื่อนที่จาก จังหวัดลำปาง  มาตั้งที่  จังหวัดเชียงราย

          กองพลที่  ๒   ซึ่งกลับมาขัดตาทัพที่  จังหวัดเชียงใหม่  ไป จังหวัดเชียงราย และให้เคลื่อนที่ไปอยู่ที่เมืองพยาค เพื่อเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ

          ทางด้านกองพลที่  ๓
 
               เมื่อกองระวังหน้าของกองพล  ถึงท่าเจียว  ซึ่งมีลำห้วยใหญ่   แต่สะพานถูกน้ำพัดขาด  คงผ่านไปได้เฉพาะทหารราบเดินเท้า เท่านั้น    ส่วนทหารม้ายานยนตร์ และทหารปืนใหญ่ ต้องรอสร้างสะพานอยู่  ๒  วัน     ครั้นสร้างเสร็จ เป็นเวลา ประมาณ ๑๖๐๐   แต่ยังไม่รีบข้ามไป  รอข้ามในวันรุ่งขึ้น    ครั้นรุ่งเช้า  ก็ปรากฏว่าน้ำได้พัดสะพานไปเสียอีก    ต้องเสีย เวลาสร้างสะพานใหม่อีก  ๒  วัน
 
               จากตำบลท่าเจียว ถึงดอยเหมย  ระยะทาง  ๒๐  กิโลเมตร  เป็นถนนหิน   ผ่านตำบลผาตะแกง   ข้าศึกได้ระเบิดถนนหลายสิบแห่ง   หินที่ถูกระเบิด ไหลลงไปในห้วยหมดต้องเสียเวลาซ่อมอยู่ถึง  ๗  วัน    ต้องใช้ทั้งทหารราบ  ทหารม้ายานยนตร์  และทหารปืนใหญ่   ช่วยทหารช่างในการซ่อมถนนด้วยท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น และฝนตกเกือบตลอดเวลา     ทหารต้องลงไปงมหินในลำห้วย บางคาหนาวจัดจนเกิดอาการชักในน้ำ  ต้องนำส่งที่พยาบาลชั่วคราว  บางคนก็เสียชีวิตระหว่างทาง   จำนวนทหารเป็นไข้มาลาเรีย  เพิ่มเป็น  ๑๐  เปอร์เซนต์     ระหว่างนี้  การพักแรม ก็ต้องนั่งพิงเขาหลับกันทั้งคืน  และยังมีทั้ง ยุง ริ้น  และทาก  รบกวนอยู่ทั้งคืน   

          ยังไม่ทันได้เข้าทำการรบ  กองพล ที่  ๓   ซึ่งเป็นกองหลวงก็บอบช้ำเสียแล้ว
 
๑  มิถุนายน  ๒๔๘๕

               เวลา ๐๖๐๐     กองพลที่  ๔   ให้กรมทหารราบที่  ๑๓    เคลื่อนที่ออกจากเมืองยองเพื่อเข้าตีเมืองยู้

               เวลา ๑๗๐๐    กองพันทหารราบที่  ๓๐   กรมทหารราบที่  ๑๓   สามารถยึดเมืองยู้ได้

               เวลา ๑๙๐๐    กองพันทหารราบที่  ๓๐๑  กรมทหารราบที่  ๑๓   สามารถยึดเมืองหลวย (เลียว) ได้
 
๒  มิถุนายน  ๒๔๘๕

        กองพลที่  ๔  สามารถยึดแนวแม่น้ำหลวยและเมืองสำคัญๆ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหลวยไว้ได้

          เนื่องจาก  กองพลที่  ๔  ปฏิบัติการรบมาเป็นเวลานาน ต้องเคลื่อนที่ผ่านถิ่นทุรกันดาร ทหารได้รับความอิดโรยและป่วยเป็นไข้มาลาเรียเป็นจำนวนมาก     กองทัพพายัพจึงให้กลับมาพักฟื้นฟูกำลังที่ อำเภอพะเยา   จังหวัดเชียงราย   และให้  กองพลที่  ๒ ซึ่งเป็นกองหนุนอยู่ที่เมืองเลนและเมืองพยาค มารักษาเมืองยองแทน

 

ตีไม่ได้ - บอกปืนใหญ่ - ไร้กังวล

๓   มิถุนายน   ๒๔๘๕  

          กองระวังหน้าของกองพลที่  ๓   ได้เคลื่อนที่ไปถึงเชิงดอยเหมย  แต่ถูกระดมยิงด้วยปืนเล็กและปืนกลจาก  ป้อมบนดอยเหมยอย่างหนาแน่นมาก    ไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้   จึงรายงานไปยังกองพลที่  ๓   ขอปืนใหญ่ช่วยยิงสนับสนุน     แต่หน่วยทหารปืนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้เพราะถนนยังซ่อมไม่เสร็จ      ผู้บัญชาการกองพลได้ตรวจภูมิประเทศบริเวณใกล้เคียง ได้เห็นควายของชาวบ้านผูกไว้กลางทุ่งหลายตัว  จึงสั่งการให้ผู้บังคับกองพันปืนใหญ่ภูเขาถอดปืนใหญ่  ๑  กระบอก  ลำเลียงออกไปพ้นบริเวณหล่มบ่อ    จึงประกอบปืนใหญ่แล้วใช้ควายลากไปจนถึงเชิงดอยเหมย    ผู้บังคับกองระวังหน้าของกองพลก็ส่งคำขอยิง ให้ปืนใหญ่ช่วยยิงให้   ยิงไปเพียง   ๓  นัด     กองระวังหน้าฯ    ก็เห็นข้าศึกออกจากป้อมวิ่งไปข้างหลัง   ผู้บังคับกองระวังหน้าของกองพลจึงส่งหน่วยลาดตระเวณไปหาข่าว   ได้รับรายงานว่า ข้าศึกได้ถอยไปหมดแล้ว 
 กองระวังหน้าของกองพลจึงเข้ายึดที่มั่นดอยเหมยได้อย่างปลอดภัย    กล่าวได้ว่า  . . .

การเข้ายึดที่หมายดอยเหมยได้นี้ เพราะปืนใหญ่ ทีเดียว

 

๔  มิถุนา - ล้างตาสำเร็จ

          ๔   มิถุนายน  ๒๔๘๕     ผู้บัญชาการกองพลที่  ๓  ได้รับรายงานจาก กองพันพิเศษ ว่า เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้เมื่อเวลา  ประมาณ  ๑๗๐๐   จึงสั่งการให้  กองระวังหน้าของกองพล  คือ กรมทหารราบที่  ๘   กองพันทหารช่าง   และกองพันทหารม้า  เข้าไปเสริมกำลังที่เมืองเชียงตุง โดยด่วน

          เวลาประมาณ  ๒๐๐๐    เจ้าบุญวาศ  ณ  เข็มรัฐ  ผู้รักษาเมืองเชียงตุง  ได้เข้าพบ ผู้บัญชาการกองพล  แจ้งว่า  ข้าศึกได้ถอยจากเมืองเชียงตุงไปทางเหนือหมดแล้วขอเชิญให้เข้านครเชียงตุง
 
 

การปฏิบัติของกองพันพิเศษที่เข้ายึดนครเชียงตุงได้เป็นดังนี้

               เมื่อได้รับคำสั่งแล้ว กองพันฯ  ได้เคลื่อนที่เลียบไปตามแม่น้ำสาย ซึ่งเป็นทางต่าง และทางช้างเดิน ไปทางตะวันตกในเขตเชียงตุง  เมื่อเขัาเขตเมืองหาง    ก็เลี้ยวขวาไปทางเหนือ  ผ่านที่ว่าการเมืองหาง  - เมืองสาต   ถึงที่ว่าการเมืองเป็ง    ในเรื่องเสบียงอาหารนั้น  เมื่อเดินทางได้  ๓  วัน  เสบียงที่ติดตัวทหารก็หมด   ต้องขอซื้อจากชาวบ้าน  ซึ่งไม่ค่อยจะมีหมู่บ้าน  และชาวบ้านก็ซ้อมข้าวสารกินวันละมื้อ เท่านั้น   กองพันฯ จึงขอซื้อข้าวสารเหนียวมาซ้อมกินเอง 

              ในตอนแรก  ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นทหารญี่ปุ่น  จึงทิ้งบ้านเรือน หลบหนีเข้าป่ากันหมด   ต่อมา เมื่อทราบว่าเป็นทหารไทย ก็ดีอกดีใจ ป่าวร้องบอกกัน และมาต้อนรับอย่างมีอัธยาสัย ไมตรี โอบอ้อมอารี  ชักชวนกัน นำ  สุกร  ไก ไข่ไก่  ส้มมะขามเปียก  และน้ำผึ้งมาให้แก่ทหาร  ตามมีตามเกิด   

               ที่เมืองสาต  ชาวบ้านได้ให้ข่าวสาร แก่ผู้บังคับกองพันพิเศษนี้ ว่า   เมื่อเดือนก่อน (เดือนเมษายน)  มีทหารจีน  ๒  กองพล คือ กองพลที่  ๙๓ และ  ๙๖  มาจากพม่า ตามเส้นทาง ท่าก้อ - เมืองเป็ง  และเข้ายึดเชียงตุง อยู่    ผู้บังคับกองพันฯ  วิตกว่า กองพลที่ ๓  ซึ่งอิดโรยบอบช้ำจากการเดินทางจะเข้าตีไม่สำเร็จ และอาจจะสูญเสียมากยิ่งขึ้นไปอีก    จึงให้ข่าวลวง แก่ชาวบ้านว่า  มีทหารญี่ปุ่นกำลังตามกองพันนี้มาอีก หลายกองพล เพื่อเข้าตีเชียงตุงให้ได้ ให้ชาวบ้านบอกพ่อค้าให้บอกกันต่อไปด้วย    (ทหารจีนครั่นคร้าม เข็ดเขี้ยวทหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว) 

               เมื่อกองพันฯ ถึงเมืองเป็งจึงไม่พบข้าศึกเลย  แต่ก็ได้ข่าวสารจากพ่อค้าที่มาจากเชียงตุงว่า กองทหารจีนที่เชียงตุง ได้เผาเชียงตุงหมดแล้ว     ผู้บังคับกองพันฯ  จึงจัดกำลัง  ๑  หมวด  ไปลาดตระเวณให้ถึงนครเชียงตุง  ก็ได้ทราบข่าวจากผู้บังคับหน่วยลาดตระเวณ ว่า  ส่วนใหญ่ของกองทหารจีนที่เชียงตุงได้ถอยตัวไปทางเหนือเกือบหมด   เหลือแต่ส่วนที่ทิ้งไว้ปะทะ หรือเป็นกองระวังหลัง เพียงเล็กน้อย กับทหารเจ็บป่วยอีกไม่กี่คน    ผู้บังคับกองพันฯ จึงตกลงใจเคลื่อนกำลังเข้าปะทะทันที  เมื่อวันที่  ๔  มิถุนายน

           ส่วนนำของกองพันฯ ได้ปะทะกับทหารข้าศึก ซึ่งมีกำลังเพียงประมาณ  ๑  หมวด  

               ในที่สุด  เมื่อเวลาประมาณ  ๑๗๐๐    กองพันพิเศษ  ก็เข้ายึดนครเชียงตุงได้   สามารถรวบรวมทหารข้าศึก รวมทั้งที่เจ็บป่วย เป็นเชลยศึกได้    ๑๐๐   กว่า คน       และรายงานให้ผู้บัญชาการกองพลที่  ๓  ทราบ    ส่วนทหารข้าศึกที่ถอนตัวมาจากดอยเหมยนั้น  ทราบว่าได้เคลื่อนย้ายไปทางเหนือด้วยรถยนตร์ที่เกณฑ์มาจากราษฎร   โดยที่ไม่ได้อยู่พักที่เชียงตุงเลย
 
๔ - ๗  มิถุนายน  ๒๔๘๕     ยุทธนาวีที่มิดเวย์      a major naval battle    สถานการณ์เริ่มผลิกผัน

          ยุทธนาวีที่ญี่ปุ่นเริ่มปราชัยเป็นครั้งแรก    ญี่ปุ่นเสียหายมาก   ทั้งเสียนักบินดีๆ ก็มาก    การรบครั้งนี้มีผลให้กองทัพเรือญี่ปุ่ยทรุดต่ำกว่ากองทัพเรืออเมริกัน    เป็นเหตุให้การรบในตอยหลังๆ  สหรัฐอเมริกาสามารถเป็นเจ้าอากาศ  และครองทะเลได้          ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือไม่ยอมรับว่าปราชัย    เพียงประกาศสั้นๆ ว่า    มีการรบกัน  แต่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเสียหายมากกว่า

๕   มิถุนายน  ๒๔๘๕

          เวลา    ๐๘๐๐    กองพลที่  ๓  จัดขบวนยาตราทัพ จากดอยเหมย เข้าเมืองเชียงตุง  ระยะทางประมาณ  ๒๐  กิโลเมตร  มีราษฎรถือดอกไม้ ธูปเทียน  คอยต้อนรับระหว่างทาง

 

 

ประตู กำแพง เชียงตุง  ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การยาตราทัพเข้านครเชียงตุง

ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าในการยาตราทัพเข้านครเชียงตุงจัดรูปขบวนอย่างไร    จึงคาดว่า  ต้องให้เกียรติแก่ทหารเดินเท้า  คือ ทหารราบ - ราชินีแห่งสนามรบ  เดินนำหน้าก่อน   ส่วนหน่วยที่  ใช้สัตว์พาหนะ หรือยานยนตร์ เช่น  รถยนตร์  รถเกราะ   คือทหารม้า  ทหารปืนใหญ่  ต้องตามหลัง      มิฉะนั้น   พื้นทางจะชำรุด  ทหารราบเดินลำบาก ไม่งามสง่า และ จะตามไม่ทัน . . . ครับ

 

       เจ้าบุญวาศ  ณ  เข็มรัฐ  ผู้รักษาเมืองเชียงตุง  กล่าวต้อนรับ สรุปความว่า  

          . . . ข้าพเจ้าในนามของราษฎรนครเชียงตุง   ขอต้อนรับทหารไทยด้วยความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง    ครั้งแรกที่   กองทัพไทยย่างเข้ามาในเขตนครเชียงตุง  ราษฎรเล่าลือว่าเป็นกองทัพญี่ปุ่น    จึงพากันอพยพหนีเข้าป่ากลายเป็นเมืองร้าง    ทั้งนี้  เป็นด้วยเมื่อก่อนวันสงกรานต์    ญี่ปุ่นได้นำเครื่องบินมาทิ้งลูกระเบิดลงที่บริเวณตลาดหลวงเป็น  ๒  ระลอก    ทำให้ราษฎรตายประมาณ  ๔๐๐ คน    ต่อมาภายหลัง จึงได้ทราบจาก นายชุ่ม  อยู่ไพโรจน์    ซึ่งท่านได้ส่งล่วงหน้าไปก่อนนั้น  แจ้งให้ทราบว่าเป็นทหารไทย  โดยการนำของ  พลตรี  ผิน   ชุณหะวัณ    เมื่อราษฎรทราบข่าวอันเป็นมงคลเช่นนี้    จึงได้แตกตื่นมาต้อนรับกองทหารไทย  อันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของไทยด้วยกัน    แต่การต้อนรับกองทหารของท่านในคราวนี้      ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างมาก  ที่ทำการต้อนรับอย่างไม่สมเกียรติ    และมิให้ทหารของท่านได้รับความสุขสบายด้วยเสบียงอาหารและที่พัก  เพราะก่อนที่กองทหารของท่านจะถึงนครเชียงตุง   ๓  วัน   กองทัพจีนผู้โหดร้ายได้เผาผลาญร้านตลาดและบ้านเรือนราษฎรในบริเวณใกล้เคียงเสียจนหมดสิ้น คงเหลือแต่ตึก   ๓  หลัง    เพื่อเป็นที่พักของแม่ทัพจีนครั้งสุดท้ายเท่านั้น    ซึ่งท่านและพี่น้องทหารทั้งหลายที่เห็นอยู่แก่ตาโดยทั่วกันแล้ว  และก่อนที่กองทัพจีนจะถอยนั้น  ได้กวาดต้อนเสบียงอาหารที่จำเป็นในการครองชีพไปเสียเกือบหมดสิ้น    ส่วนสิ่งของที่เหลือโดยเขาขนไปไม่ได้  ได้แก่เสื้อผ้า  ภาชนะใช้สอย  ตลอดจนข้าวสารเป็น พันๆ กระสอบ   ทหารจีนก็ทำการเผาอยู่  ๓  วัน    ซึ่งเหลือแต่เถ้าถ่านอยู่  ณ บัดนี้    ด้วยเหตุขัดข้อง และขัดสนดังที่ข้าพเจ้าได้เรียนมาแล้ว     

          ฉะนั้น  ข้าพเจ้า และพี่น้องพื้นเมืองทั้งหลายได้ขออภัยด้วย      ทั้งขอมอบพื้นแผ่นดินในเขตนครเชียงตุงให้แก่ท่านเพื่อดำเนินการต่อไป"

 

           จากนั้น   พลตรี  ผิน   ชุณหะวัณ   ผู้บัญชาการกองพลที่  ๓  ได้กล่าวตอบ  สรุปได้ว่า

"ท่านเจ้าบุญวาศ   ณ  เข็มรัฐ    ที่เตารพ และพี่น้องแห่งนครเชียงตุง ผู้เลือดไทยที่รัก ทั้งหลาย

          ข้าพเจ้าได้รับคำต้อนรับ  และเหตุขัดข้องต่างๆ แล้ว    ข้าพเจ้าและทหารทั้งหลาย    รู้สึกยินดี และเศร้าสลดระคนกัน      ที่ว่ายินดีก็คือ    เลือดไทยทางใต้ได้มารวมกับเลือดไทยทางเหนือ    ซึ่งถ้าจะนับเนื่องมาแต่โบราณกาลแล้ว    พี่น้องไทยในนครเชียงตุงกับพี่น้องไทยในประเทศไทยปัจจุบัน  ก็เท่ากับอยู่ในครอบครัวเดียวกัน   เรื่องที่แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่เดี๋ยวนี้ก็คือ    เราพูดภาษาเดียวกัน  ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธเดียวกัน  ถือขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเดียวกัน   จะมีผิดเพี้ยนอยู่บ้างก็เพียงการแต่งกายชายหญิงเท่านั้น      ส่วนข้อความที่ท่านได้กล่าวไว้ในตอนท้ายว่า    การรับรองข้าพเจ้าและพวกทหารไม่สมเกียรติ  ด้วยการขัดข้องและขัดสนนั้น    ท่านและพี่น้องชาวนครเชียงตุงอย่าได้วิตกกังวลอย่างใดเลย   เพราะแต่เพียงข้าพเจ้า และเพื่อนทหารทั้งหลายย่างเข้ามาในบริเวณนี้    ก็ประสบและเห็นเหตุการณ์อยู่แล้ว    อันเป็นภาพที่สยดสยอง และแสนจะเวทนาเป็นอย่างยิ่ง  และกล่าวโดยทั่วไปตามวิสัยของทหาร  เมื่อทำการรบได้ชัยชนะและเข้ายึดเมืองหนึ่งเมืองใดได้แล้ว    ย่อมมีการดีอกดีใจร้องไชโยโห่ฮิ้ว   มีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ไปหมด  ดังที่ข้าพเจ้าเห็นมาแล้ว ในสงครามอินโดจีน  เมื่อทหารไทยเข้ายึดนครจำปาศักดิ์     แต่การย่างเข้านครเชียงตุงครั้งนี้  พี่น้องทั้งหลายได้สังเกตหรือเปล่าว่า    ทหารได้แสดงกิริยาวาจาคึกคนองไปตามประสาผู้รบชนะบ้างไหม   ข้าพเจ้าเห็นแต่เดินคอตกหน้าซีดไปตามๆ กัน    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า  ทหารแต่ละคนมีจิตใจสงสาร   และบังเกิดความเวทนาแก่พี่น้องในนครเชียงตุง อันเป็นเลือดเนื้อไทยเดิมเป็นอย่างยิ่ง     

          ในที่สุด  ขอให้พี่น้องทั้งหลายจงระงับความเศร้าสลดเสียให้หมดสิ้น  มาร่วมสร้างสามัคคีธรรมด้วยกัน  ช่วยเสริมสร้างสิ่งที่สลักหักพังไปแล้ว  ให้ยืนยงคงเดิม  แต่บัดนี้เป็นต้นไป   สวัสดี"

จากนั้นเป็นพิธีเชิญธงไตรรงค์

 

 

 

 พิธีเชิญธงไตรรงค์    ณ  นครเชียงตุง    ๕   มิถุนายน   ๒๔๘๕

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หอหลวง  เชียงตุง

 

กิจการพลเรือน และรัฐบาลทหาร

          เมื่อเสร็จพิธีการแล้ว  ผู้บัญชาการกองพลที่  ๓    ในฐานะผู้บังคับหน่วยทหารเข้ายึดครอง โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงตุง ได้ดำเนินการ   ดังนี้

          - ประกาศให้ราษฎรที่หลบหลีกภัยไปทั่วเขตนครเชียงตุง   กลับเข้าบ้านเรือนให้หมด

          - แต่งตั้งที่ปรีกษาผู้ครองนครเชียงตุง  และ รองผู้ครองนครเชียงตุงชั่วคราว

           - แต่งตั้งนายตำรวจสนามเป็นนายอำเภอ  และให้นายอำเภอเดิมเป็นที่ปรึกษา

          - แต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใหม่  โดยใช้คนเดิม   (เหล้าเก่า ในขวดใหม่)

          - ให้ผู้บังคับกองเสนารักษ์สนาม ร่วมกับนายแพทย์พื้นเมือง เร่งรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บไข้

          - ให้พลาธิการกองพล ร่วมกับข้าราชการพื้นเมืองเลาะแสวงหาแหล่งเสบียงอาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อเกณฑ์ซื้อ  แต่ไม่ให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชน

          - เกณฑ์ให้ราษฎรเร่งทำเสาไม้ทุบเปลือก  ไม้ไผ่ และ แฝกมุงหลังคามาขายให้กองทัพโดยด่วน  เพื่อเร่งสร้างที่พักทหาร

          - ให้ผู้บังคับหน่วยทหารช่วยจัดสร้างที่พักให้แก่ราษฎรที่ยากจน หรือป่วยไข้

          - รายงานไปยังแม่ทัพพายัพ เพื่อขอรับการสนับสนุน ในเรื่อง

               + ขอให้รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย มาเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการปกครอง

               + ขอแพทย์และพยาบาลพลเรือนมาช่วยรักษาพยาบาลราษฎรที่เจ็บป่วย

               + ขอเจ้าหน้าที่ อัยการ และผู้พิพากษา เพื่อตั้งศาลสนาม

               + ขอเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร มาร่วมเป็นคณะกรรมการจังหวัด  สำหรับผลิตเสบียงเลี้ยงทหาร  และสอนราษฎรให้มีความรู้ เรื่องการปลูกข้าว และข้าวสาลี  การเพาะพันธุ์ ผลไม้  และไม้ยืนต้น
 
         ในตอนบ่ายของวันที่  ๕  มิถุนายน นี้   กองพลที่  ๓  ได้สั่งการให้ กรมทหารราบที่  ๔  ขึ้นไปสับเปลี่ยนกำลังกับ กรมทหารราบที่  ๘  ซึ่งเป็นกองรักษาด่านที่บ้านกาดเต่า    เหนือนครเชียงตุงขึ้นไปประมาณ  ๑๐ กิโลเมตร   ให้ กรมทหารราบที่  ๘  กลับลงมาพักที่นครเชียงตุง
 

 

 

 หนองตุง

 

การปฏิบัติของกองพลที่  ๒  หน่วยยุทธบรรจบ

          กองทัพพายัพกำหนดให้ กองพลที่  ๒ เคลื่อนที่ทาง เมืองสาด  เมืองหาง    เมื่อถึงเมืองเป็ง  ให้เคลื่อนขบวนไปทางตะวันออก  เข้าตีเชียงตุง  เข้าบรรจบ กองพลที่  ๓   (เส้นทางเดียวกับกองพันพิเศษ ของกองพลที่  ๓)  แต่ภูมิประเทศไม่อำนวยให้หน่วยทหารขนาดใหญ่เคลื่อนที่ผ่านไปได้   จึงให้กองพันทหารม้า ปฏิบัติเพียงหน่วยเดียว    กำลังที่เหลือของกองพลที่  ๒   จึงอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  โดยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งกองทัพพายัพ  

๘   มิถุนายน   ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

               กองพันทหารม้าที่  ๔  กรมทหารม้าที่   ๔๖    กองพลทหารม้าได้เคลื่อนที่เข้าเมืองเชียงตุง ภายหลังจากที่ กองพลที่  ๓  ยึดเมืองเชียงตุงได้แล้ว   ๓ วัน    และได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่กลับมาสมทบกับ กองพลทหารม้า   ที่อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย

กองกำลังทางอากาศ

               ฝูงบิน   ๔๒    ย้ายที่ตั้งจากลำพูนกลับไปสนามบินเชียงใหม่

               ส่วนกองพันทหารม้าของกองพลที่  ๒  ไปถึงเชียงตุงในวันที่  ๑๒  มิถุนายน

 

 ปัญหา    ปัญหา  และ  ปัญหา

          เมื่อกองพลที่  ๓   เข้ายึดนครเชียงตุงได้เพียง  ๕ วันก็เกิดปัญหา  หลายประการ  กล่าวคือ

     ๑. ด้านการส่งกำลังบำรุง

          ๑.๑  การส่งกำลังเสบียงอาหาร

          เนื่องจากข้าศึกได้นำข้าวสารไปมากที่สุด และเผาทำลายส่วนที่นำไปไม่ได้   และยังเผาครกตำข้าวของราษฎรเสียด้วย  ประชาชน และ ทหารที่เข้ายึดครองจึงขาดแคลนเสบียงอาหาร    เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว   กองพลที่  ๓  ต้องช่วยราษฎรซ่อมครกตำข้าว  และร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นเมืองไปหาซื้อข้าวเปลือกจากเมืองใกล้เคียง    และที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที คือสามารถขอยืมข้าวสารจากโรงพยาบาลโรคเรื้อน ซึ่งอังกฤษได้กักตุนไว้ถึง  ๑๐๐ เกวียน  (๑๐๐,๐๐๐ กิโลกรัม)    จึงได้ขอยืมมาแก้ปัญหา  เพียง  ๗๕ เปอร์เซนต์       ส่วนกับข้าวนั้น  พอหาได้  มีชาวเขานำ สุกร  ไก่  ไข่  แย้  อึ่ง  น้ำผึ้ง  ส้มมะขามเปียก  มาขายให้    และทหารสามารถ แสวงหากับข้าว ตามภูมิประเทศได้บ้าง   เพราะกองพลที่  ๓  นี้เคลื่อนย้ายมาจาก จังหวัดนครราชสีมา  กำลังพลจึงมีความสามารถในการดำรงชีพสูงอยู่แล้ว

           ส่วนอาหารของผู้บังคับบัญชา นั้นนับว่า โก้หรูมาก  คือ  มื้อกลางวัน หมูต้มหน่อไม้  ส่วนมื้อเย็น ก็หน่อไม้ต้มหมู  สลับกัน   และรับประทาน วันละ  ๒ มื้อ

          ๑.๒  การส่งกำลังเครื่องแต่งกาย

               ทหารได้รับเครื่องแต่งกายเพียงคนละ  ๑ (หนึ่ง) ชุด เมื่อเข้าที่รวมพลขั้นแรกที่ อำเภอพะเยา    เมื่อใช้จนชำรุดไปแล้ว  กองพลที่  ๓  รายงานขอเบิกทดแทนไปยังกองทัพพายัพๆ  ให้กองพลฯ ไปรับเองที่  จังหวัดลำปาง    ( ซึ่งที่ถูกต้องแล้ว หน่วยเหนือต้องจัดการส่งให้หน่วยรอง)  กองพลที่  ๓   จึงต้องหาซื้อผ้าพื้นเมือง  แล้วขอร้องให้แม่ชีชาวอิตาเลียนในนครเชียงตุงตัดเย็บเป็นเครื่องแบบ  แก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง  

          ในที่สุด  ทหารบางคนต้องนุ่งผ้าขาวม้า หรือ มุ้ง ในการปฏิบัติงานตามปรกติ  (เก็บเครื่องแบบไว้ใช้งานสำคัญ)

           ๑.๓  การขนส่ง

               ถนนเข้าสู่นครเชียงตุงเป็นหล่มเป็นโคลนมากขึ้น เนื่องจาก ฝนตกหนัก  และสะพานข้ามลำห้วยถูกน้ำพัดพังหมดทั้ง  ๗ แห่ง  ไม่สามารถขนส่ง  เสบียงอาหาร  และสิ่งอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมให้ทางถนนได้     กองพลที่  ๓    พยายามแก้ปัญหาโดยใช้ขนส่งด้วยเกวียน   และใช้สายโทรเลขชักรอกสิ่งของข้ามลำห้วยก็ไม่ได้ผลเพราะวัวควายบุกโคลนไม่ไหว  ล้มตายเสียมาก      ก็เปลี่ยนวิธีมาใช้กำลังพลหาบหามแทนกลับยิ่งช้ากว่าใช้เกวียน  และต้องค้างแรมระหว่างทาง  กำลังพลที่หาบหามต้องเอาเสบียงที่ลำเลียงมาเป็นอาหารกินเสียเอง  และกำลังพลก็เจ็บป่วย  เพราะอิดโรยอยู่แล้ว     วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือใช้ช้าง  แต่ก็ตกเขาตายไปถึง  ๒ เชือก

               เมื่อมีปัญหาเช่นนี้  โดยปรกติแล้ว หน่วยเหนือคือกองทัพพายัพ จะต้องช่วยแก้ปัญหา หรือพยายามสนับสนุนหน่วยรอง  แต่ปรากฏว่า  หน่วยเหนือมิได้มีส่วนในการแก้ปัญหาให้หน่วยรองเลย   กองพลที่  ๓  จึงรายงานข้ามกองทัพพายัพ ตรงไปถึงกองบัญชาการทหารสูงสุดที่ กรุงเทพ ฯ  ซึ่งได้สั่งการให้ พลตรี  พระอุดมโยธาธิยุทธ  (สด  รัตนาวดี)  ผู้บัญชาการกองพลสร้างทางคมนาคมช่วยเกณฑ์ราษฎรทางใต้ เร่งระดมกันซ่อมสะพาน และถนนให้  ทำให้การขนส่งสามารถดำเนินการได้สะดวกขึ้น

     ๒. ด้านกำลังพล

          ทหารเป็นไข้มาเลเรีย  และโรคบิด จำนวนมาก  ถึง  ๓๐  เปอร์เซนต์   กองพลที่  ๓   รายงานขอยาจากกองทัพพายัพ  ซึ่งพยายามสนับสนุนให้ด้วยการ ส่งทางอากาศ  แต่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย  มีเมฆปกคลุมหานทึบ  เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน  นักบินต้องบินสูง   และมักจะทิ้งลง หนองตุงเสียมากเพราะเห็นรางๆ  เข้าใจว่าเป็นทุ่งโล่ง     ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการบรรจุยาใส่กระบอกไม้ แล้วทิ้งจากเครื่องบิน    กระบอกไม้กลับตกถูกทหารและประชาชนบาดเจ็บกันหลายคนเป็นที่กาหลอลหม่านกัน     เมื่อขาดแคลนยาที่จะใช้รักษา    ทหารเจ็บป่วยก็มากขึ้นถึง  ๕๐ เปอร์เซนต์     กองพลที่  ๓  จึงรายงานขอให้กองทัพพายัพส่งยาให้ทางพื้นดิน      กองทัพพายัพ พิจารณาแล้ว     ตอบอย่างหนักแน่นว่า   ให้กองพลที่  ๓  ส่งเจ้าหน้าที่มารับยาไปเอง   และไม่เชื่อว่าทหารเจ็บป่วยจำนวนมากถึง  ๕๐  เปอร์เซนต์    

          กองพลที่  ๓  จึงรายงานยืนยันไปอีก และขอให้ทางกองทัพพายัพส่งนายทหารไปสังเกตการณ์ข้อเท็จจริง 

          กองทัพพายัพ  ตอบว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่มีงานเต็มมือไปไม่ได้

          คราวนี้ผู้บัญชาการกองพลคงจะขัดเคืองใจมาก  ย้อนกองทัพไปว่า  ข้าพเจ้าเข้าใจว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่คงสุขสำราญกันมาก จึงขึ้นมาไม่ได้   ได้ผลครับคราวนี้   คือทำเอาแม่ทัพพายัพเงียบไปเลย    และเดินทางเขากรุงเทพฯ  เพื่อรายงานต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยวาจา  กล่าวโทษผู้บัญชาการกองพลที่  ๓  เป็นหลายประการ

          ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  (จอมพล แปลก  พิบูลสงคราม) ส่งนายทหารชั้นนายพลไป  ๓  นาย เพื่อหาข้อเท็จจริง   เมื่อกลับไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว  ปรากฏว่า  ได้แต่งตั้ง  พลโท  จิร  วิชิตสงคราม  เสนาธิการมหารบก  มาเป็นแม่ทัพพายัพ  แทน พลตรีจรูญ  รัตนกุล  เสรีเริงฤทธิ์   (ใน  ๒๖  กรกฎาคม  ๒๔๘๕)

     ๓. ด้านการเงิน

          โดยปรกติ  หน่วยทหารจะต้องมีเงินตราเงินเพื่อใช้สอย และแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง   และตัวทหารก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิ เพื่อใช้สอยส่วนตัว  แต่ศึกนี้   กองพลที่  ๓   เกิดขาดแคลนเงินตราที่จะใช้   เมื่อได้หารือกับเจ้าผู้ครองนคร และข้าราชการพื้นเมืองและสรุปได้ว่า  ไม่สามารถจะหยิบยืมเงินตราจากที่ใดได้   จึงจำเป็นต้องตั้งโรงพิมพ์    แล้วใช้กระดาษแข็งพิมพ์เป็นตั๋วแลกเงินขึ้นใช้เอง  ราคาใบละ  ๑ บาท  ๕  บาท   และ ๑๐  บาท  สำหรับกำลังพล   และใบละ  ๑๐๐ บาท  สำหรับหน่วย    ผู้ครองนครเชียงตุงประกาศแก่ราษฎรว่า  เมื่อกองทัพส่งเงินตรามาให้กองพลที่  ๓  แล้ว  จะประกาศให้นำตั๋วแลกเงินนี้มาแลกเป็นเงินสดไปได้     ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้

 

จัดระเบียบการปกครอง 

          หลังจากที่กองทัพไทยยึดเมืองเชียงตุงได้แล้ว ก็ได้ออกคำสั่งจัดการปกครองเสียใหม่เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ดังนี้

          ประการแรกทางรัฐบาลไทยในสมัยนั้น พ.ศ.๒๔๘๕   ได้เลื่อนยศทางราชการทหารให้พลตรี ผิน ชุนหะวัน ผู้บัญชาการกองพลที่  ๓  ขึ้นเป็น พลโท และได้แต่งตั้งให้ พลโท ผิน ชุนหะวัน ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทหาร ผู้ควบคุมและรักษาความสงบในแคว้นนครเชียงตุงอีกด้วย

          ในขณะเดียวกันในเรื่องการดูแลทุกข์สุข และฟื้นฟูจิตใจของราษฎรนั้น ทางพลโท ผิน ขุนหะวัน ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทหารก็ได้มีความเห็นชอบกับบรรดาเจ้านายผู้เป็นโอรส  ธิดา  กับพระประยูรญาติของเจ้าฟ้าผู้ครองนครเชียงตุงผู้ล่วงลับไปแล้ว พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์องค์เจ้า และ เสนาอำมาตย์ในราชสำนัก ตลอดจนพ่อค้า คหบดี หัวหน้าชุมชนต่างๆ ในนครเชียงตุงพร้อมใจกันส่งผู้แทนไปทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรมลือ โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง  พร้อมด้วยเจ้าแม่ปทุมเทวี  ที่ไปช่วยราชการและพำนักอยู่ที่เมือง โหม่วหยั่ว ชายแดนพม่าติดกับประเทศอินเดีย ตามคำสั่งรัฐบาลอังกฤษ พร้อมด้วยเจ้าหญิงทิพวรรณ (ณ ลำปาง) ณ เชียงตุง และราชธิดา ให้กลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงตุง โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยคณะสงฆ์เสนาอามาตย์ นายแคว้น นายแขวง และพ่อเมืองต่างๆ ในเขตเชียงตุงได้พร้อมใจกันจัดพิธีทำขวัญขึ้นที่คุ้มหลวงแล้วสถาปนาพระองค์เป็น

 

 

"เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสพรหมลือ"

ครองเมืองเชียงตุงเป็นองค์ที่ ๔๐ 

         
 
 

          เจ้าเมืองเหล็กพรมลือองค์นี้ไม่ลงรอยกับพวกข้าราชการอังกฤษที่มารับราชการในนครเชียงตุง และในแคว้นฉาน (สหรัฐไทยเดิม) เพราะมีความโน้มเอียงไปทางสนับสนุน แผนรวมไทย และสร้างชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น และเป็นคนนำเพลงปลุกใจของรัฐบาลไทยโดยนำเพลง "ไทยน้อย ไทยใหญ่ ล้วนเป็นไทยด้วยกัน" มาเปิดในคุ้มของพระองค์กลางเมืองเชียงตุง อย่างไม่หวั่นเกรงใดๆตลอดจนเพลงปลุกใจ  "ข้ามโขงมาสู่แคว้นไทย " ตลอดจนเพลงอื่นๆที่เป็นปฏิปักษ์กับทางนักปกครองของรัฐบาลอังกฤษผู้ครอบครองเมืองขึ้น
 
          มีการตั้งศาลากลางสหรัฐไทยเดิมขึ้นที่เมืองเชียงตุง แบ่งท้องที่การปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงตุง  อำเภอเมืองยอง  อำเภอเมืองพยาค  อำเภอเมืองยู้  อำเภอเมืองชิง  อำเภอเมืองมะ  อำเภอเมืองยาง  อำเภอเมืองขาก  อำเภอเมืองเลน  อำเภอเมืองโก  อำเภอเมืองสาด  และอำเภอเมืองหาง          

          พร้อมทั้งได้ตั้งศาล ขึ้น  ๓  แห่ง ที่เมืองเชียงตุง   เมืองสาด   และเมืองหาง

          หลังจาก  กองพลที่  ๓ เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้ใน   มิถุนายน  ๒๔๘๕  แล้ว กองทัพพายัพ มีคำสั่งให้เคลื่อนย้าย  กองพลที่  ๒ กลับมาขัดตาทัพที่ เชียงใหม่ เพื่อเตรียมปฏิบัติการทางเชียงรายต่อไป  

 

ขั้นที่ ๓  รุกประชิดชายแดน พม่า – จีน

               เป็นการรุกเข้าประชิดชายแดนพม่า – จีน และกวาดล้างกำลังข้าศึกให้พ้นไปจากสหรัฐไทยใหญ่

การปฏิบัติการยุทธขั้นที่ ๓  ตอนที่ ๑    การยึดรักษาท่าข้ามและเมืองสำคัญตามแนวแม่น้ำหลวย

 

๑๓   มิถุนายน  ๒๔๘๕

           กองพลที่  ๓  โดย   กรมทหารราบที่  ๗    ส่งกำลังเข้ายึดตามแนวแม่น้ำหลวยโดยมีกองบินใหญ่ผสมภาคพายัพให้การสนับสนุนโดยการทิ้งระเบิดที่มั่นข้าศึกตามแนวแม่น้ำหลวย    

          และกองพลที่  ๓    ก็ยึดเมืองซากได้

๑๔  มิถุนายน   ๒๔๘๕

          เวลา  ๐๙๓๐     กองพันทหารราบที่   ๑๙     ซึ่งเป็นปีกซ้ายของ กรมทหารราบที่   ๗   กองพลที่  ๓ เข้ายึดเมืองยางได้

๑๕  มิถุนายน   ๒๔๘๕

          กรมทหารราบที่   ๗   กองพลที่  ๓      ส่ง  กองพันทหารราบที่   ๒๐ กำลังข้ามน้ำที่ท่าข้ามตาปิงและเข้ายึดบ้านตาปิงได้   เมื่อเวลา ๑๐๐๐

               และส่ง  กองพันทหารราบที่  ๒๑   ข้ามน้ำทางใต้ของท่าข้ามตาปิง   ถูกต้านทานอย่างหนัก แต่สามารถข้ามสำเร็จเมื่อเวลา ๑๙๐๐
 
๑๖   มิถุนายน   ๒๔๘๕

               กองพันทหารราบที่  ๒๐   ถูกข้าศึกเข้าตีอย่างหนักจากทางทิศเหนือของบ้านตาปิง  กองพันทหารราบที่   ๒๑    ส่ง ๒ หมวดปืนเล็ก และ ๑ หมวดปืนกลหนักไปช่วยโดยตีโอบทางเมืองวัก แต่กำลังส่วนนี้เคลื่อนที่เลยไปจนถึงบ้านปางก้อและถูกข้าศึกล้อมไว้  

               กองพันทหารราบที่    ๒๑ ส่วนที่เหลือจึงยกกำลังไปช่วยแต่ถูกตีโต้อย่างหนักจนต้องถอนตัวกลับมา  

          กองพลที่   ๓   ต้องให้ กองพันทหารราบที่  ๑๘ จากนครเชียงตุงเข้าแก้ไขสถานการณ์

๑๙    มิถุนายน   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๑๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองมะ และเมืองเชียงล้อ ข้าศึกเสียหายมาก

๒๐  มิถุนายน  ๒๔๘๕ 

 กองกำลังทางบก

              ย้าย  กองบัญชาการกองพลทหารม้า  และหน่วยขึ้นตรงกลับมาอยู่ที่ จังหวัดเชียงราย

              ย้าย กองบัญชาการกองพลที่   ๔ จากเมืองพยาค ไปอยู่ เมืองยอง

 กองกำลังทางอากาศ

               ฝูงบิน   ๑๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองเชียงรุ้ง แต่ต้องละภารกิจเพราะมีเมฆปกคลุมเหนือเป้าหมายหนาแน่น

๒๑   มิถุนายน   ๒๔๘๕

          มีการผลัดเปลี่ยนหน่วยบิน ดังนี้

               กองบินน้อยผสมที่  ๘๐

               ฝูงบิน  ๒๑ (โคกกะเทียม)  คอร์แซร์  จำนวน   ๙  เครื่อง ไปผลัดเปลี่ยน ฝูงบิน  ๒๒  ที่เชียงราย

               ฝูงบิน  ๔๓ (วัฒนานคร)  ฮอว์ค ๓  จำนวน   ๑๐  เครื่อง ไปผลัดเปลี่ยน ฝูงบิน  ๔๑  ที่เชียงราย

                กองบินน้อยผสมที่  ๙๐

               ฝูงบิน  ๓๓ (ดงพระราม)  คอร์แซร์   จำนวน ๙ เครื่อง ไปผลัดเปลี่ยน ฝูงบิน  ๓๒ ที่เชียงใหม่

               ฝูงบิน  ๕๒ (นครศรี ฯ )  ฮอว์ค ๓   จำนวน ๕ เครื่อง ไปผลัดเปลี่ยน ฝูงบิน  ๔๒ ที่เชียงใหม่

๒๒   มิถุนายน   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นที่ชุมพลของข้าศึก

 

 ๒๔  มิถุนายน   ๒๔๘๕

 

 

 

 

 

 

 พิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เป็นรูปดาบปลายปืน ๕ เล่ม สูง ๕๐เมตร พุ่งเสียบฟ้า พร้อมรูปทองแดงแสดงทหาร ตำรวจ พลเรือนที่ร่วมรบในสงครามอินโดจีน  และสงครามมหาเอเซียบูรพา

 

 

 

           กรมทหารราบที่   ๘   ซึ่งเคลื่อนที่ตาม   กรมทหารราบที่  ๗   สามารถยึดบ้านปางก้อได้เมื่อเวลา ๑๙๐๐       ข้าศึกถอยไปตั้งรับที่เมืองมะ

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่มั่นของข้าศึกตามแนวสันเขาเมืองมะเพื่อเปิดทางให้แก่ กองพลที่  ๓

          กองพลที่  ๓   มอบภารกิจให้ กรมทหารราบที่  ๘   เข้าตีเมืองมะ   แต่ถูกต้านทานอย่างรุนแรงจากข้าศึกจำนวนมากถึง ๑ กรมทหารราบ

 

๒๕  มิถุนายน   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองมะ

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องบินนำเวชภัณฑ์ไปส่งให้ หน่วยทหารบก   ที่เมืองยาง แต่หาเป้าหมายไม่พบจึงนำยาไปส่งไว้ที่สนามบินเชียงตุงเพื่อจัดส่งทางพื้นดินต่อไป

 

๒๖  มิถุนายน    ๒๔๘๕

กองกำลังทางบก

          กองพลที่  ๓   สั่งให้ กรมทหารราบที่  ๘    ระงับการเข้าตีเมืองมะ โดยให้ตรึงกำลังตามแนวแม่น้ำหลวยดังนี้

               กรมทหารราบที่   ๗   ยึดรักษาพื้นที่เมืองยาง  

               กรมทหารราบที่   ๘   ยึดรักษาพื้นที่บ้านตาปิง - เมืองวัก 

               กรมทหารราบที่   ๙   ยึดรักษาพื้นที่เมืองวะ

กองกำลังทางอากาศ  

               ฝูงบิน  ๑๑ และ ฝูงบิน  ๑๒   ส่งเครื่องนาโงย่า ๑๒ เครื่อง  ไปทิ้งระเบิดที่มั่นข้าศึกตามแนวสันเขาเมืองมะ      

 

๒๘  มิถุนายน   ๒๔๘๕

 กองกำลังทางบก

          กองพลทหารม้า ย้ายจาก จังหวัดเชียงใหม่มาเข้าที่ตั้ง อำเภอแม่จัน   จ้งหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมขึ้นทำงานที่เชียงตุง   ได้รับมอบให้รักษาเส้นทาง ท่าขี้เหล็ก – เมืองโก – เมืองเลน – เมืองพยาค

กองกำลังทางอากาศ

               ฝูงบิน  ๑๑  และ  ฝูงบิน  ๑๒   ส่งนาโงย่า   ๓  เครื่องบิน  ไปทิ้งระเบิดที่มั่นข้าศึกตามแนวสันเขาเมืองมะ
 

๑   กรกฎาคม   ๒๔๘๕   

          พันเอก  พิชัย  หาญสงคราม   ผู้บัญชาการกองพลที่   ๔   ได้เลื่อนยศเป็น  พลตรี

          การผลัดเปลี่ยนหน่วยบิน

           คอร์แซร์ ครึ่งแรกจาก ฝูงบิน  ๒๑ (โคกกะเทียม) เข้าที่ตั้งสนามบินเชียงราย

          ฮอว์ค ๓  ครึ่งแรกจาก ฝูงบิน  ๔๓ (ดอนเมือง) เข้าที่ตั้งสนามบินเชียงราย
 
๒   กรกฎาคม   ๒๔๘๕

          การผลัดเปลี่ยนหน่วยบิน  (ต่อ)

          คอร์แซร์ ครึ่งแรกจาก ฝูงบิน  ๒๒ เดินทางกลับสังกัดเดิมที่สนามบินเนินพลอยแหวน   จังหวัดจันทบุรี

          ฮอว์ค ๓  ครึ่งแรกจาก ฝูงบิน  ๔๑ เดินทางกลับสังกัดเดิมที่สนามบินโคกกะเทียม
 
๘   กรกฎาคม   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๔๓ และ ฝูงบิน  ๒๑ นำเวชภัณฑ์ไปส่งให้ หน่วยทหารบก ที่สนามบินเชียงตุง
 
๑๐   กรกฎาคม   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๔๓   จัดเครื่องบินนำเวชภัณฑ์ไปส่งให้ หน่วยทหารบกที่เมืองยอง
 
 ๑๒ - ๑๙    กรกฎาคม   ๒๔๘๕              

          การผลัดเปลี่ยนหน่วยบิน  (ต่อ)

               เครื่องบินครึ่งหลังจาก ฝูงบิน  ๔๓ และ ฝูงบิน  ๒๑ เข้าที่ตั้งสนามบินเชียงราย

               เครื่องบินครึ่งหลังจาก ฝูงบิน  ๔๑ และ ฝูงบิน  ๒๒ เดินทางกลับสังกัดเดิม
 
๒๑    กรกฎาคม   ๒๔๘๕

               ฝูงบิน  ๖๑ ส่งเครื่องนากาจิมา ไปตรวจการณ์ที่เมืองฮาย พบข้าศึกชุมนุมกันอยู่จึงทำการทิ้งระเบิดจนทำให้ข้าศึกถอยหนีไปออกจากเมืองฮาย

               ฝูงบิน  ๔๓   ส่งเครื่องฮอว์ค ๓ จำนวน ๓ เครื่อง และ ฝูงบิน  ๒๑  ส่งเครื่องคอร์แซร์ จำนวน ๗ เครื่อง  ไปประจำที่สนามบินเชียงตุง

 ๒๔    กรกฎาคม   ๒๔๘๕ 

          พลตรี  พิชัย  หาญสงคราม   ผู้บัญชาการกองพลที่  ๔  ย้ายไปเป็น ผู้บัญชาการกองพลที่   ๓   แทน พลโท  ผิน  ชุณหะวัณ  

 ๒๖   กรกฎาคม   ๒๔๘๕ 

          พลโท  จิร    วิชิตสงคราม   เสนาธิการทหารบก   มารับหน้าที่แม่ทัพพายัพ แทน  พลโท  จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

 ๒๔   กรกฎาคม   ๒๔๘๕ 

          พลโท  ผิน   ชุณหะวัณ   ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยใหญ่

 ๑๒  สิงหาคม  ๒๔๘๕    การประชุมมอสโคว์ครั้งที่หนึ่ง

สิงหาคม  - ธันวาคม   ๒๔๘๕

          หลังจากกองทัพพายัพยึดครองสหรัฐไทยใหญ่ได้แล้ว    กองบัญชาการทหารสูงสุดได้มอบหมายให้กองทัพพายัพวางกำลังรักษาและจัดการปกครอง รักษาเขต   

           กองบินน้อยผสมที่  ๘๐ ได้จัดเครื่องบินบางส่วนไปประจำอยู่ที่สนามบินเชียงตุง

๑๖ กันยายน ๒๔๘๕ 

 

            ลงนามข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายพม่า   แยกจากทางรถไฟสายใต้ของไทยที่สถานี หนองปลาดุก  ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ญี่ปุ่นขอยืมเงินไทย ๔ ล้านบาท

 

กันยายน  ๒๔๘๕    กระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา = กระทรวงอาณานิคม ในรูปแบบใหม่

          ญี่ปุ่นเตรียมการจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา  โดยมีความมุ่งประสงค์สำคัญคือ  รวมประเทศต่างๆ ในเอเซียตะวันออกให้กระชับแน่นยิ่งขึ้น    ประโยชน์เฉพาะหน้าคือรวบรวมกำลังไว้สำหรับดำเนินสงครามทั้งในทางวัตถุสัมภาระและทางยุทธศาสตร์    นอกจากนี้  ญี่ปุ่นคิดว่า  ถ้าชนะสงครามจะได้อาศัยประเทศเหล่านี้ เป็นแหล่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นตลาดจำหน่ายสินค้า    ประเทศเหล่านี้จะเป็นยุ้งฉางสำหรับจะใช้เลี้ยงประชาชนพลเมืองญี่ปุ่นต่อไป    การรวมประเทศต่างๆ ดังกล่าวให้อยู่ภายใต้การ "คุ้มครอง" และ "การนำ" ของญี่ปุ่น

          กระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพานี้คงไม่ใช่อื่นไกล  นอกจากเป็นกระทรวงอาณานิคม หรือกระทรวงกิจการโพ้นทะเลในรูปแบบใหม่เท่านั้น

          เอกอัครราชฑูตไทยประจำญี่ปุ่น  ศาสตราจารย์  ดิเรก  ชัยนาม  ได้รายงานรัฐบาลไทยพร้อมทั้งความเห็น  แต่รัฐบาลไม่ได้มีคำสั่งแต่ประการใด     จึงตัดสินใจรับผิดชอบเอง  โดยพยายามให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่า  เราไม่พอใจในการเรื่องการตั้งกระทรวงใหม่นี้

          สมเด็จพระจักรพรรดิ ฯ  ทรงลงพระนามประกาศตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพาในเดือน  ตุลาคม  ๒๔๘๕

พฤศจิกายน   ๒๔๘๕   

          กระทรวงกิจการมหาเอเซียบูรพา  เปิดทำการ

 

ตุลาคม - พฤศจิกายน   ๒๔๘๕   

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ

 

          น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ     สนามบินดอนเมืองมีน้ำท่วมสูงถึง ๑ เมตร     กองทัพอากาศต้องเคลื่อนย้ายหน่วยบินหลายหน่วยไปอยู่ที่สนามบินโคกกะเทียม   (ลพบุรี) และ  สนามบินบ้านแพะ   (สระบุรี)

 
เตรียมการรุกขั้นสุดท้าย    

ขั้นที่ ๓       ตอนที่ ๒  รุกประชิดชายแดน พม่า – จีน


          และในช่วงนี้กองทัพพายัพหยุดพักเพื่อฟื้นฟูและปรับกำลังพลเตรียมการรุกขั้นสุดท้ายในวันที่  ๗ มกราคม   ๒๔๘๖

เส้นทาง  สิ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และดำเนินกลยุทธ

          กันยายน   จนถึง  ธันวาคม   ๒๔๘๕    กองพลที่ ๔ ให้  กองพันทหารช่างที่ ๔   ขึ้นไปปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงทางสาย เมืองเลน - เมืองพะยาค และ เมืองยองต่อไป          กองพันนี้ได้เข้าปฏิบัติงานดังกล่าว  รวมเวลาประมาณ ๓ เดือน ได้เปิดทางสายนี้จนสามารถให้ ยวดยานผ่านไปมาได้ เป็นระยะทางประมาณ ๙๐ กิโลเมตร
 
๑๒  พฤศจิกายน   ๒๔๘๕

          กองพลทหารม้า  ได้รับคำสั่งให้ย้ายจากเชียงราย มาเข้าที่ตั้งเมืองยาง   (ทางเหนือของเชียงตุง ๗๐ กิโลเมตร)

          กองทัพพายัพสามารถยึดเมืองสำคัญตลอดแนวแม่น้ำหลวยไว้ได้  คือ   เมืองแผน  เมืองยาง  เมืองหลวย  เมืองคัก(ขาก) เมืองหาง  ท่าเปิม  ท่าข้ามตาปิง  เมืองวัก   บ้านท่ามัน  เมืองงอบ  เมืองวะ  เมืองเชียงขาง  เมืองยู้   เมืองหลวย(เลียว)

๑๕   พฤศจิกายน   ๒๔๘๕         กองพลทหารม้าเริ่มเคลื่อนย้ายจากเชียงราย

๒๐   ธันวาคม   ๒๔๘๕

          กรมทหารราบที่  ๙   ที่เมืองวะถูกข้าศึกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ ปืนกล และปืนเล็กอย่างหนัก 

               กองพันทหารราบที่  ๒๕    กรมทหารราบที่  ๙ ที่เมืองเชียงขางก็ถูกข้าศึกเข้าโจมตีเช่นกัน  กรมทหารราบที่  ๙  จึงส่ง กองพันทหารราบที่  ๒๖  ข้ามน้ำไปช่วย   กองพันทหารราบที่  ๒๕   และ  กรมทหารราบที่  ๙   รายงานการถูกโจมตีให้ทาง  กองพลที่  ๔ ทราบ

          กองพลที่  ๔ สั่งการให้  กรมทหารราบที่  ๓ และ  กรมทหารราบที่   ๑๓ เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือหากมีความจำเป็น
 

๒๖   ธันวาคม   ๒๔๘๕

               กองพันทหารช่างที่   ๔   สร้างสะพานคนเดินที่เมืองเชียงขาง

๒๙  ธันวาคม  ๒๔๘๕

               กองพันทหารช่างที่   ๔  สร้างสะพานคนเดิน ที่เมืองวะ เพื่อการส่งกำลังบำรุง

๓๐  ธันวาคม   ๒๔๘๕           เปิด  กองบัญชาการกองพลทหารม้าที่ เมืองยาง

ธันวาคม  ๒๔๘๕  ถึง   ๓๑   มกราคม  ๒๔๘๖   

          กองพลที่ ๔ ให้ กองพันทหารช่างที่ ๔    ซ่อมและบำรุงทาง ระหว่าง เมืองยอง,เมืองหลวย และเมืองยู้   เพื่อให้หน่วยทหารทางด้านนี้เคลื่อนไปจนถึงแม่น้ำหลวย ซึ่งเป็นเขตเกือบขวาสุดของ กองทัพพายัพ   และ อำนวยการและจัดการส่งข้ามกำลังส่วนใหญ่ของ กรมทหารราบที่ ๓   และ กรมทหารราบที่ ๑๓   ข้ามลำน้ำหลวย   ซึ่งเป็นการข้ามต่อหน้าข้าศึกด้วยแพเลื่อน  และเรือ สามารถทำการส่งข้ามกำลังดังกล่าวได้เรียบร้อยเป็นผลสำเร็จดี  

          นอกจากนี้ยังได้จัดหมวดงานจากกองร้อยต่าง ๆ  ไปขึ้นอยู่กับกรมทหาราบส่วนที่เข้าตีเพื่อปฏิบัติงานเป็นทหารช่าง ในกองระวังหน้า มีหน้าที่เปิดทางให้ทหารราบเคลื่อนที่ได้สะดวก ปรากฎว่าทหารช่างส่วนที่จัดไป  ได้ปฏิบัติงานสมความมุ่งหมายเป็นอย่างดี  รวมระยะเวลา    ๒ เดือนเต็ม
 

มกราคม  ๒๔๘๖

          เนื่องจากกำลังรบหลักของ กองพลที่  ๓ คือ  กรมทหารราบที่  ๗ ,กรมทหารราบที่  ๘ และ  กรมทหารราบที่  ๙ ปฏิบัติการรบมาเป็นเวลา ๖ เดือน    กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ได้รับความบอบช้ำและสูญเสียเป็นจำนวนมาก   กองทัพพายัพจึงให้

          กรมทหารราบที่  ๑๗   (ประกอบด้วย   กองพันทหารราบที่  ๓๒ , กองพันทหารราบที่   ๓๕ ,กองพันทหารราบที่  ๓๙*) ซึ่งเป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ขึ้นสมทบ  กองพลที่  ๓   และให้ 

          กองพลทหารม้า , กรมทหารราบที่  ๑๒   กองพลที่  ๒    ขึ้นในการควบคุมทางยุทธการกับ  กองพลที่  ๓

          ให้  กรมทหารราบที่  ๙   กองพลที่  ๓ (ที่เมืองวะ) ขึ้นการบังคับบัญชากับ  กองพลที่  ๔  เพราะอยู่ต่อจากปีกซ้ายสุดของ  กองพลที่  ๔

 *กองพันทหารราบที่  ๓๙    จากนครศรีธรรมราช  เคยสร้างวีรกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น  ในวันวีรไทย  เช้าตรู่   ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔

การเข้าตีเมืองมะ ของ  กองพลที่  ๓

          กองพลที่  ๓  ในขณะนั้นมี  พลตรี  หลวงหาญสงคราม เป็น ผู้บัญชาการกองพล ได้วางแผนการเข้าตีเมืองมะ   จาก ๓ ทิศทาง คือ

               กรมทหารราบที่   ๑๗  เข้าตีตรงหน้าในทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทาง ท่าข้ามตาปิง – บ้านกิ่วทราย – บ้านปางแกลบ - บ้านปางหัวเมือง – เมืองมะ

               กรมทหารราบที่   ๑๒   (ยกเว้น   กองพันทหารราบที่  ๓๓)  เข้าตีโอบลึกอีกทางด้านหนึ่งจากบ้านท่ามันขึ้นไปทางเหนือ  เส้นทางบ้านท่ามัน – บ้านปางก้อ –
 เมืองปัน – เมืองลา

               กองพันทหารราบที่   ๓๓  และ  กองพันทหารม้าที่   ๖  เข้าตีโอบจากเมืองยาง ลงมาทางใต้ เส้นทาง เมืองยาง – บ้านหนองเลา – บ้านปางพุง – บ้านปางเจ๊าะน้อย – บ้านเชียงแมน – เมืองมะ

               กองพันทหารม้าที่  ๕   เข้าตีโอบลึกหลังแนวเข้าตีของ   กองพันทหารม้าที่  ๖   เส้นทาง เมืองยาง – บ้านอุมแกง – บ้านงุด – บ้านก้อ – บ้านมูเซอ – เมืองลา   ซึ่งอยู่หลังเมืองมะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ  ๑๕ กิโลเมตร

               กองพันทหารม้าที่   ๓  เป็นหน่วยเข้าตีลวงในทิศทาง เมืองยาง – บ้านสาลือ – บ้านยางเงิน – บ้านท่ากวาง

 

การเข้าตีเมืองลา

๗   มกราคม   ๒๔๘๖

               ฝูงบิน  ๔๓ และ ฝูงบิน  ๒๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่บ้านตาปิง แนวแม่น้ำหลวย บ้านเง็ก บ้านท่ามัน

          เวลา ๐๓๐๐    กรมทหารราบที่   ๑๓   กองพลที่  ๓   ซึ่งมีกำลังรบหลักคือ  กองพันทหารราบที่  ๓๐ , กองพันทหารราบที่  ๓๑  และ กองพันทหารราบที่  ๓๔   ส่งกำลังส่วนแรกข้ามลำน้ำหลวยต่อหน้าข้าศึกโดยใช้เรือทุ่นของทหารช่าง   เนื่องจากมืดมากและกระแสน้ำไหลเชี่ยวจัดประกอบกับเป็นคุ้งน้ำ ทำให้เรือถูกกระแสน้ำพัดกลับเข้าฝั่งเดิมห่างออกไป   ๔๐๐ เมตร   เกิดการเข้าใจผิดยิงกันเองแต่ไม่มีใครได้รับอันตราย

          รุ่งเช้าทหารช่างสร้างแพเลื่อนเดินให้ข้ามแทน ขบวนสุดท้ายของ  กรมทหารราบที่   ๑๓ ข้ามลำน้ำเวลา ๑๕๐๐    และเคลื่อนที่ตามกันไปทางบ้านท่าข้าม – บ้านแฝก – บ้านปาน – บ้านน้ำงั่ง

               กองพันทหารม้าที่  ๕   กรมทหารม้าที่   ๓๕ เริ่มเคลื่อนที่ออกตีจากเมืองยาง เคลื่อนที่อ้อมไปทางบ้านอุมแกง – บ้านงุด – บ้านก้อ – บ้านมูเซอ  เพื่อเข้าตีเมืองลา    ระหว่างการเข้าตีถูกข้าศึกที่บ้านก้อต่อต้านอย่างรุนแรง   แต่ก็ สามารถยึดบ้านตาปิง บ้านท่ามัน บ้านสาช่อ บ้านงุทเหนือ บ้านท่าเล็ทเหนือ บ้านท่าเล็ทใต้ไว้ได้
          
๘  มกราคม   ๒๔๘๖ 

          เวลา ๐๖๐๐    กรมทหารราบที่   ๓  ซึ่งมีกำลังรบหลักคือ กองพันทหารราบที่   ๔ , กองพันทหารราบที่  ๖ และ กองพันทหารราบที่    ๘   เริ่มข้ามลำน้ำหลวยบริเวณท่าข้ามหน้าเมืองหลวยด้วยแพเลื่อนเดิน

          เวลา ๑๓๐๐    หน่วยสุดท้าย ข้ามลำน้ำสำเร็จ       กรมทหารราบที่   ๓ เคลื่อนที่ตาม  กรมทหารราบที่   ๑๓  และเคลื่อนที่ผ่านเลยหน้าขึ้นไป

               กองพันทหารราบที่   ๓๔    ถูกข้าศึกเข้าโจมตีอย่างรุนแรงที่บริเวณเชิงดอยงั่ง
 
๑๑   มกราคม   ๒๔๘๖  

               ฝูงบิน  ๑๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองยาง เมืองมานเน และเมืองฮาย            

๑๒   มกราคม   ๒๔๘๖

               ฝูงบิน  ๑๑   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองลอง เมืองมานเน เมืองยางและเมืองฮาย 

               ฝูงบิน  ๑๖   ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เมืองเชียงรุ้ง ทำให้ทหารจีนที่เมืองมะ ขาดกำลังสนับสนุน

          กำลังทางบกเข้ายึดพื้นที่ตามแนวแม่น้ำลำไว้ได้

               เวลา ๑๒๐๐    ส่วนหน้าของ   กองพันทหารราบที่  ๖   ปะทะกับข้าศึกที่เมืองตอ    สามารถยึดเมืองตอไว้ได้  เมื่อ  เวลา  ๑๘๐๐

               กองพันทหารราบที่   ๘ เคลื่อนที่ต่อไปเพื่อเข้ายึดบ้านสา บ้านมังเลิง และเมืองแฮะ

               กองพันทหารม้าที่   ๖   และ  กองพันทหารราบที่   ๓๓   จากเมืองมะเข้าร่วมโจมตีเมืองลา
 
๑๓    มกราคม   ๒๔๘๖ 

          กองพันทหารราบที่   ๘    ซึ่งเคลื่อนที่ออกมาจากเมืองตอ เลยขึ้นหน้าไปเพื่อพบกับ   กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์ 

๑๔    มกราคม   ๒๔๘๖

               เวลา ๐๘๓๐   กองพันทหารราบที่   ๘ เข้าบรรจบกับ   กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์   ซึ่งเคลื่อนที่ทางปีกขวา ทิศทางบ้านสบหลวย – เมืองแฮะ – เมือง
ถัน

          เวลา ๑๗๐๐     กรมทหารราบที่  ๓   ตั้งกองบังคับการที่เมืองสา      กองพันทหารม้าที่  ๑  รักษาพระองค์ เคลื่อนที่ต่อไปเพื่อเข้ายึดเมืองนัม(นำ)  เมืองฮุน  เมืองถัน และ  ตั้ง  กองบังคับการกองพันที่เมืองนัม   เพื่อทำหน้าที่ปีกขวาสุดของกองทัพพายัพ

         กรมทหารราบที่  ๙   สามารถเข้าประชิดชายแดนพม่า – จีน ได้เป็นผลสำเร็จ  ตามแผนยุทธการขั้นที่ ๓    ตอนที่ ๒

               กองพันทหารราบที่   ๓๔  ยึดบ้านพญาคำลือ  บ้านจ่าแก้ว  บ้านเขาเป้าไว้ได้ ทำให้ข้าศึกถอนกำลังไปตั้งมั่นบนเนินเขาทางทิศเหนือของบ้านเขาเป้า ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขามีหน้าผาสูงล้อมรอบ   ๓ ด้าน มีทางขึ้นทางเดียวซึ่งเป็นพื้นที่โล่งเตียน      เพราะข้าศึกได้เผาป่าเตรียมการให้ตรวจการณ์ฝ่ายเราได้ดี  เป็นการระวังป้องกันการรุกของผ่ายเรา ทำให้เข้าตียาก

แต่กองพันทหารม้าที่   ๕   ก็สามารถเข้ายึดเมืองลาได้

 

 

เมืองลาในปัจจุบันครับ

 

 การตีลวงและการรักษาท่าข้ามแม่น้ำลำ

๗ – ๑๕    มกราคม   ๒๔๘๖    

               กองพันทหารม้าที่   ๓   ได้รับมอบภารกิจให้เข้าตีลวงและยึดท่าข้ามแม่น้ำลำ    สามารถยึดท่ากวาง ท่ากาง และท่าลำได้โดยที่ข้าศึกซึ่งยึดพื้นที่ฝั่งตรงข้ามต่อต้านไม่รุนแรงนัก

๑๖    มกราคม   ๒๔๘๖

          กองพลที่  ๓ และ  กองพลทหารม้า  ร่วมกันกวาดล้างข้าศึกที่หลงเหลืออยู่บริเวณ เมืองมะ เมืองลา เมืองปัน เมืองเชียงล้อ (ด้านฝั่งขวาของแม่น้ำลำ)  เมืองยาง  เมืองคัก  เมืองกา  และเมืองป๊อก เข้าประชิดชายแดนพม่า – จีน ตามแผนยุทธการขั้นที่ ๓ ตอนที่ ๒ ของกองทัพพายัพ

การเข้าตีเมืองปัน

 ๑๐   มกราคม   ๒๔๘๖

          กรมทหารราบที่   ๑๗  สั่งให้  กองพันทหารราบที่   ๓๙   จัดกำลัง ๑ กองร้อยเข้ายึดเมืองปันเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้าตีเมืองมะ  กองพันทหารราบที่   ๓๙   จัดกองร้อยที่  ๓   เคลื่อนที่ถึงเมืองปันในเวลากลางคืนพื้นที่ปกคลุมไปด้วยหมอกไม่สามารถตรวจการณ์หาที่ตั้งของข้าศึกได้ จึงถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนักจนต้องถอนตัวออกมา

๑๑    มกราคม   ๒๔๘๖

               กองพันทหารราบที่  ๓๙    เข้ายึดเมืองปันได้เมื่อเวลา ๑๑๐๐    คาดว่าข้าศึกถอนตัวไปตั้งแต่เช้า

 

จากสหรัฐไทยใหญ่  สู่  นครศรีธรรมราช

๓๑    มกราคม   ๒๔๘๖

               กองพันทหารราบที่   ๓๙   ยึดเมืองปันได้ ประมาณ   ๒๐  วัน   ก็ได้รับคำสั่งให้กลับไปสมทบกับ กองพลที่  ๖  ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

ภายในเดือน    มกราคม   ๒๔๘๖   กองทัพพายัพสามารถยึดพื้นที่ของสหรัฐไทยใหญ่ได้ทั้งหมด

 

 

 
 

 

 


           ครับ . . .  ตั้งแต่กองทัพไทยยกไปตีเมิองเชียงตุง  ตั้งแต่  พ.ศ.๒๓๙๗  แต่ต้องล่าทัพกลับด้วยเหตุผลหลายประการ  ดังที่ผมได้เคยว่าไว้ในตอน "ครั้งที่สุดไทยรบพม่า" แล้ว    จาก พ.ศ.๒๓๙๗    ไทยก็ต้องแก้ปัญหาการล่าอาณานิคมของชาติในยุโรป   และปัญหาภายใน  จนเวลาผ่านไปถึง  ๘๘  ปี  พ.ศ.๒๔๘๕  กองทัพไทยจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนพี่น้องไทยใน "เชียงตุง" และรวมแคว้นไทยใหญ่ให้อยู่ในพระราชอาณาจักร  ดังในอดีตกาล

แต่การรวมแคว้นไทยใหญ่ให้อยู่ในพระราชอาณาจักร ดังกล่าว   ต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่ทราบกันแล้ว    จึงขอเชิญท่านที่สนใจติดตามสถานการณ์ ต่อไป    ครับ

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

สถานการณ์ต่อไป . . . ไทยประกาศสันติภาพ

สถานการณ์ต่อไป . . . ไทยประกาศสันติภาพ

สถานการณ์ต่อไป . . . ไทยประกาศสันติภาพ

 


บรรณานุกรม

           - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - "ชีวิต กับ เหตุการณ์  ของ  จอมพล  ผิน  ชุณหะวัณ"   อัตตชีวประวัติ  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  จอมพล  ผิน  ชุณหะวัณ  ป.จ.,ม.ป.ช.,ม.ว.ม.  วันจันทร์ที่  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๑๖

          - ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเซียบูรพา  โดย  กองบัญชาการทหารสูงสุด

          - ประวัติกองทัพอากาศในสงครามมหาเอเซียบูรพา ฯ  โดย กองทัพอากาศ  

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ 

 

 




กรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา โดย สัมพันธ์

วันวีรไทย - นครศรีธรรมราช
วันวีรไทย - ปัตตานี
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ไทยประกาศสันติภาพ
สงครามมหาเอเซียบูรพา - จากวันวีรไทย ถึง วันประกาศสงคราม
วันวีรไทย - บางปู ปราจีนบุรี
วันวีรไทย - สงขลา
วีรไทย - สุราษฎร์ธานี
วันวีรไทย - ชุมพร
วันวีรไทย - ประจวบคีรีขันธ์
สงครามมหาเอเซียบูรพา - ก่อนจะถึงวันวีรไทย
กรณีพิพาทอินโดจีน - มณฑลบูรพา . . . เคยได้เป็นของเรา
กรณีพิพาทอินโดจีน - ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
กรณีพิพาทอินโดจีน - วีรกรรม น.ต.ศานิต นวลมณี



1

ความคิดเห็นที่ 1 (715)
avatar
pee
เสียดายไม่ม่ใครเอาประวัติศาสตร์ ไปทำหนัง ทำแต่เรื่องซ้ำๆ นเรศวร บางระจัน แล้วอย่างนี้บันเทิงไทยจะ พุ่งได้อย่างไร เรื่องเล่านี้เขารู้เนื้ออยู่แล้ว เหมือนดูหนังที่ดูไปแล้ว แล้วมันน่าไปดูอีกสักเท่าไหร่
ผู้แสดงความคิดเห็น pee (galacy-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-30 21:13:46 IP : 125.27.207.212


ความคิดเห็นที่ 2 (716)
avatar
สัมพันธ์
ผู้สร้างภาพยนตร์เขาก็คงมีวิธีคิด  และข้อพิจารณาของเขานะครับ   เราสร้างภาพในจินตนาการของเราก็ได้ครับ 
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-12-31 05:48:35 IP : 124.121.44.222


ความคิดเห็นที่ 3 (728)
avatar
เชื้อชาติไต,ไทย
น่าจะมีการตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อความเป็นไทยด้วยกัน หรือไม่ก็(รวมชาติอีกครั้ง) ยังไงก็ไทยเหมือนกันจะให้ชนชาติอื่นมากดขี่ข่มเห็งหรือปกครองได้ไง
ผู้แสดงความคิดเห็น เชื้อชาติไต,ไทย วันที่ตอบ 2011-01-18 22:02:29 IP : 182.52.190.121


ความคิดเห็นที่ 4 (731)
avatar
สัมพันธ์

ผมทราบว่า  ชาติพันธุ์เผ่าไท นี่กว้างใหญ่มหาศาลมาก    ผมเห็นด้วยกับการที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องชนเผ่าไท  ในถิ่นที่ต่างๆ  ซึ่งอาจจะมีหลักฐานทางวิชาการอยู่แล้ว  แต่ผมอาจจะศึกษาไปไม่ถึง    ขอเชิญท่านที่ทราบเรื่องนี้จะกรุณาเผยแพร่สู่กัน  ก็จะเป็นพระคุณ   

หากชาติพันธุ์เผ่าไท  ในถิ่นที่ต่างๆ  ได้มีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นชาติพันธุ์เผ่าเดียวกัน  ก็มีความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้แล้วนะครับ    ขอบคุณครับ

      

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-01-19 17:52:53 IP : 124.122.230.154


ความคิดเห็นที่ 5 (761)
avatar
โกวิทย์
ผมเห็นด้วยคัรบที่เอาสงครามมหาเอเชียบูรพามาลงแวพ
ผู้แสดงความคิดเห็น โกวิทย์ (kowit981-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-02-19 22:23:43 IP : 119.31.58.228


ความคิดเห็นที่ 6 (762)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณครับ

เชิญแสดงความคิดเห็น  และแนะนำได้เต็มที่ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-02-20 05:37:08 IP : 110.168.50.239


ความคิดเห็นที่ 7 (763)
avatar
คนไทย ใจไทย

เห็นด้วยกับคุณโกวิทย์ครับ  เพราะเป็นเรื่องของชาติไทยที่คนไทย ใจไทยทุกคนควรรู้

ประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริง  เราเรียนรู้ข้อเท็จจริง  สิ่งใดดีก็ควรเจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  สิ่งใดไม่ดีก็ต้องปรับปรุง แก้ไข    บ้านใกล้เรือนเคียงก็ดีกันบ้าง  ขัดแย้งกันบ้าง    ใครมีศักย์สงครามสูงกว่าก็  ไม่มีใครรุกราน  หรือมาตอแย  หากอ่อนศักย์ก็ถูกเพื่อนบ้านรังแก  เช่นสมัย  พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๒๗   โจรเขมรก็เข้ามารังแกชาวบ้านเรา

ไม่มีใครรักและหวังดีต่อชาติไทยเท่าคนไทย ใจไทย  ใช่ไหมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนไทย ใจไทย วันที่ตอบ 2011-02-20 14:32:35 IP : 124.121.117.188


ความคิดเห็นที่ 8 (764)
avatar
สัมพันธ์
 ผมก็มีความเห็นเช่นที่ว่า เช่นเดียวกันครับ   ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-02-21 04:44:31 IP : 124.121.117.188


ความคิดเห็นที่ 9 (770)
avatar
คนไท

ผมก็อยากให้มีการรวมกันของ คนเผ่าไท เช่นเดียวกันครับ

- 1. เป็นไปได้ไหม ถ้าไทใหญ่ได้อิสรภาพจากพม่าแล้ว จะมารวมกับไทยในทีหลัง อาจเป็นการรวมกันแบบสหพันธรัฐ คล้ายๆกับอเมริกา คือให้เค้าปกครองเอง ออกกฎหมายเอง แต่เรื่องสำคัญเช่นนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ กฏหมายหลักๆที่สำคัญควรมาจากรัฐบาลกลาง 

- 2. ถ้ารวมได้เราอาจใช้แนวทางเดียวกันในการกระตุ้นลาว เพื่อรวมลาวเข้ามาด้วย

-3. คาดว่าถ้ามีลาวเข้ามาร่วมด้วยอาจทำให้กัมพูชาเปลี่ยนท่าทีมามาทางอ่อนน้อมลง    หรืออาจรวมเป็นสหพันธรัฐได้อีกหนึ่ง  

ท่านใดคิดเห็นอย่างไร รบกวนชี้แนะด้วยขอรับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนไท วันที่ตอบ 2011-02-28 02:01:02 IP : 61.19.65.77


ความคิดเห็นที่ 10 (771)
avatar
สัมพันธ์

ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้นครับ ผมว่า  ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนในเผ่า ที่เกิดความสำนึกและต้องการ  อาจจะต้องมีการปลูกฝังแนวความคิด ให้ความรู้กันก่อนในเบื้องต้น  ปลูกฝังกันในทุกระดับ  และเป็นไปอย่างมีขั้นตอน  ว่ากันไปเรื่อย   ไม่ท้อถอย  คงสำเร็จสักวัน   ตามหลักหรือวิธีการที่จะให้สำเร็จบรรลุความมุ่งหมายคือ  ต้องมีความรักที่จะทำงานก่อน  แล้วก็ต้องขยัน เพียรพยายามทำ  เอาใจใส่ดูแลไม่ปล่อยปละละเลย  หากพบข้อบกพร่องหรือควรแก้ไขปรับปรุงตรงไหนก็จัดการ    ไม่สำเร็จในยุคเรา  รุ่นลูก รุ่นหลานก็ดำเนินไปไม่หยุดยั้ง  นะครับ

คิดเรื่องความสามัคคี  เรื่องดีดี  อย่างนี้  สบายใจนะครับ 

                                                                                          ขอบคุณและสวัสดีครับ 

   

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-02-28 05:13:36 IP : 124.122.35.110


ความคิดเห็นที่ 11 (102171)
avatar
คนไทยรักเมืองไต

เรื่องนี้ที่จะขอรวมกับประเทศไทย เจ้ายอดศึก เขาก็คิดเหมือนกันนะครับว่า เป็นไปได้ไหมถ้า ไทยใหญ่ได้เอกราชแล้ว จะขอรวมเข้ากับประเทศไทย  เขามีความคิดอย่างนั้นอยุ่แล้ว เพราะเขาคิดว่า ถ้าแยกเอกราชแล้วอยู่โดดๆ อะไรเราก็ยังไม่มียังไม่พร้อมสักอย่าง อนาคตอาจจะไปไม่รอด อาจจะถูกพม่าเข้ามาอีกเหมือนดังอดีตที่ผ่านมา

ผู้แสดงความคิดเห็น คนไทยรักเมืองไต วันที่ตอบ 2015-02-18 23:43:36 IP : 110.168.230.10


ความคิดเห็นที่ 12 (102172)
avatar
find

 เขาก้อยากใหญ่ รวมไทยแล้วเขาเล้กลงจะเอาหรือ การเมืองทำให้หลุดขั่ว ะเหลือแต่ชื่ในปวะวัตสาด ใครเอา...??

ผู้แสดงความคิดเห็น find (findoo-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2015-04-04 11:02:22 IP : 171.4.64.62


ความคิดเห็นที่ 13 (174970)
avatar
คนย่านมัทรี นครสวรรค์

 พ่อข้าพเจ้าไปร่วมออกศึกครั้งนี้และได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ พ่อได้เล่าให้ฟังถึงความสวยงามของดอยเหมยเมื่อครั้งกระโน้น เสียดายที่พ่อจากไปตั้งแต่ต้นปี 2547 ด้วยความชราในวัย 95 ปี มิเช่นนั้นข้าพเจ้าจะนำข้อมูลนี้ไปเล่าให้พ่อฟังถึงอดีตที่ท่านได้ไปผจญมา.

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนย่านมัทรี นครสวรรค์ วันที่ตอบ 2017-11-11 14:09:51 IP : 125.25.23.214


ความคิดเห็นที่ 14 (175246)
avatar
P_POP

 คุณตาครับ พอ.จำรัส  รุ่งแสง เป็นปู่ของ สส.ชนิทร์ รุ่งแสง เขตบางกอกน้อย นำกำลัง ...ร 8 จ ทบ. สุรินทร์... ร่วมรบโดยเข้าเผด็จศึกเมืองเชียงตุงสำเร็จ (หลังจากลุยเขมรเอา 4 จว.คืน)

ผู้แสดงความคิดเห็น P_POP วันที่ตอบ 2018-01-13 01:06:32 IP : 110.169.83.230



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker