dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามมหาเอเซียบูรพา - ไทยประกาศสันติภาพ
วันที่ 16/02/2020   21:12:28

สงครามมหาเอเซียบูรพา - ไทยประกาศสันติภาพ

 

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .

๕   มิถุนายน  ๒๔๘๕

          เวลา    ๐๘๐๐    กองพลที่  ๓  จัดขบวนยาตราทัพ จากดอยเหมย เข้าเมืองเชียงตุง  ระยะทางประมาณ  ๒๐  กิโลเมตร  มีราษฎรถือดอกไม้ ธูปเทียน  คอยต้อนรับระหว่างทาง

 

 

ภายในเดือน    มกราคม   ๒๔๘๖   กองทัพพายัพสามารถยึดพื้นที่ของสหรัฐไทยใหญ่ได้ทั้งหมด

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

๒  กุมภาพันธ์   ๒๔๘๖

          ในยุโรป    กองทัพเยอรมันยอมแพ้ที่เมืองสตาลินกราด    รัสเซียเริ่มมีชัยเป็นครั้งแรก

คอร์แซร์ - แย่เลย   เหยี่ยว - ปีกหัก

              เครื่องบิน  P - 40 ของสหรัฐอเมริกา โจมตีสนามบินเชียงตุง สามารถทำลาย  คอร์แซร์  ของ ฝูงบิน  ๒๑  จำนวน   ๗  เครื่อง   และ   ฮอว์ค ๓  ของ ฝูงบิน  ๔๓   จำนวน ๓ เครื่อง ได้รับความเสียหายมาก  รวมทั้งคลังวัตถุระเบิดเกิดเพลิงไหม้  ทำให้  . . .

 

               ฝูงบิน  ๒๑   ต้องถอนตัวกลับเชียงรายทางพื้นดิน

 

 ๑๓   กุมภาพันธ์   ๒๔๘๖

          หลังจาก   กองพลทหารม้า หยุดปรับกำลังและพักฟื้นที่เมืองยาง ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับเชียงราย   คงปล่อยให้  กองพันทหารม้าที่  ๖ และ   กองพันทหารราบที่  ๑๒
  อยู่รักษาเมืองยาง

๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ 

            เชียงตุงได้ถูกโจมตีทางอากาสด้วยเครื่องบิน   ๗ เครื่อง ที่พักกองทางสนามถูกยิงรอบ   ต่อจากนั้นมาเชียงตุงก็ได้ถูกโจมตีเรื่อย แต่กองทางสนามปลอดภัย

 

๒   มีนาคม  ๒๔๘๖

          เครื่อง  P-40 ของสหรัฐอเมริกา โจมตีสนามบินเชียงตุง   และทำลาย เครื่องนากาจิมา จำนวน ๑ เครื่อง   (แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันในเอกสารไทย)

๑๑  มีนาคม   ๒๔๘๖      

          กองพลทหารม้า  เดินทางถึงเชียงราย และต่อมา   กองทัพสนามมีคำสั่งให้ยุบเลิก  กองพลทหารม้า

 

ม้าเข้าคอก

๒๖  มีนาคม   ๒๔๘๖       

          กองพลทหารม้าเดินทางกลับที่ตั้งปกติ (กรุงเทพฯ) โดยทางรถไฟเป็นอันสิ้นสุดภารกิจของ กองพลทหารม้าในกองทัพพายัพ
 
มีนาคม – ธัันวาคม  ๒๔๘๖

          กองพลที่  ๒   ขึ้นไปรับหน้าที่รักษานครเชียงตุงแทน  กองพลที่  ๓ ชั่วคราว 

          กองพลสร้างทางคมนาคม  (พล.สคค.) อันมีพันเอกพระอุดมโยธาธิยุต (สด  รัตนาวดี) เป็นผู้บัญชาการกองพล 

               กรม สคค.๑   ประจำที่บ้านปางล้อ ตั้งแต่ เมษายน - พฤษภาคม ๒๔๘๖

               กรม สคค.๒   สร้างทางสายเมืองเลน - เมืองพยาค 

 

๑  มิถุนายน  ๒๔๘๖     วันแรกจำหน่าย  ตราไปราณียากรที่ระลึก "อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ" 

๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๖         ยุบ กองพลสร้างทางคมนาคม 

๙ - ๑๐  กรกฎาคม  ๒๔๘๖      สัมพันธมิตรขึ้นเกาะซิซิลี  ของอิตาลี

๑๙  กรกฎาคม  ๒๔๘๖      กรุงโรมถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเป็นครั้งแรก

 

๒๕  กรกฎาคม  ๒๔๘๖      มุสโสลินี ผู้นำของอิตาลีถูกปลดจากตำแหน่ง  และจอมพลบาโดกลีโอเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

 

๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ 

            ไทยกับญี่ปุ่น ได้ลงนามในสนธิสัญญา มอบดินแดน ที่ญี่ปุ่นตีได้ จากอังกฤษ คือ รัฐเชียงตุง รัฐเมืองพาน และรัฐมาลัย (กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี  และปาลิส)ให้แก่ไทย   ณ  ทำเนียบสามัคคีชัย

 

 

ทำเนียบสามัคคีชัย   > 

 

๘  กันยายน  ๒๔๘๖    อิตาลียอมจำนน

๑๐  กันยายน  ๒๔๘๖     กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองกรุงโรม

๑๓  ตุลาคม  ๒๔๘๖    อิตาลีกลับประกาศสงครามกับเยอรมันนี
 
๑๖ ตุลาคม   ๒๔๘๖        การสร้างทางรถไฟสายพม่าเสร็จสมบูรณ์

           ทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางที่สำคัญมาก กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียจำนวน   ๒๗๕,๐๐๐  คน มาสร้างทางรถไฟสายนี้เพื่อลำเลียงเสบียงไปยังประเทศพม่า     ความยาวทั้งหมด   ๔๑๕  กิโลเมตร    เริ่มต้นจากสถานีรถไฟหนองปลาดุก  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  ไปทางตะวันตก  ผ่านจังหวัดราชบุรี  เข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี

          ที่จังหวัดกาญจนบุรีต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่   ที่บ้านท่ามะขาม  ตำบลท่ามะขาม  อำเภอเมืองกาญจนบุรี

 

 

 

สะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่    บ้านท่ามะขาม   ตำบลท่ามะขาม   อำเภอเมืองกาญจนบุรี  (ปัจจุบัน)

 

 

           ทหารช่างญี่ปุ่นเลือกสร้างสะพานที่บริเวณนี้เนื่องจากมีฐานดินด้านล่างแน่นที่สุด โดยใช้แรงงานเชลยศึกและกรรมกรรับจ้างจำนวนมาก    การก่อสร้างเริ่มจากการสร้างสะพานไม้เพื่อลำเลียงคนและอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟข้ามไปก่อน   โดยสร้างในช่วงที่น้ำลดลงตอนปลายเดือนพฤศจิกายน  ๒๔๘๕    ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นตอกเป็นเสาเข็ม ใช้เวลาก่อสร้าง  ๓ เดือน   และรื้อออกไปหลังจากสร้างสะพานเหล็กแล้ว  (ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแควลงไปทางใต้ประมาณ  ๑๐๐  เมตร ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่  ๒)

          ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ใช้เวลาสร้างประมาณ  ๑ เดือน โดยนำเหล็กจากสหพันธรัฐมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก  ๑๑  ช่วง  หัวและท้ายเป็นโครงไม้ ตัวสะพานยาวประมาณ ๓๐๐  เมตร    จากนั้นต้องลัดเลาะไปตามภูเขา  ขนานไปตามแม่น้ำแควน้อย  ช่วงที่สร้างลำบากที่สุดตอนหนึ่งคือ   บริเวณถ้ำกระแซ  ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน ติดกับลำน้ำแควน้อย  จำเป็นต้องสร้างสะพานเลียบลำน้ำ   ยาวประมาณ    ๔๐๐  เมตร   เป็นช่วงที่เชลยศึกต้องเสียชีวิตประมาณ  พันคน  ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุด

 

 

 

 

 


   

 

 

 

 

 

 

         เนื่องจากการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ต้องผ่านป่าดงดิบ ทำให้เชลยศึกต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ทันเสร็จตามกำหนดของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้เชลยศึกร่วมหมื่นต้องเสียชีวิตลง  ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บและไม่มียารักษาเพียงพอ    และการที่เชลยศึกต้องเสียชีวิตอย่างมากมายในการก่อสร้างทางรถไฟนี้  จึงได้เรียกทางรถไฟสายนี้ว่า  "ทางรถไฟสายมรณะ"

 

 

 

 

  

 

 

 "ทางรถไฟสายมรณะ"

บริเวณถ้ำกระแซในปัจจุบัน

 

ซ้าย  ขาไป จากกาญจนบุรี สู่สถานีน้ำตก  (แม่น้ำแควน้อยอยู่ซ้ายมือ) 

ขวา  ขากลับ  จากสถานีน้ำตก สู่กาญจนยุรี  (แม่น้ำแควน้อยอยู่ขวามือ)

 

 

         เนื่องจากการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ต้องผ่านป่าดงดิบ ทำให้เชลยศึกต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ทันเสร็จตามกำหนดของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้เชลยศึกร่วมหมื่นต้องเสียชีวิตลง  ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บและไม่มียารักษาเพียงพอ    และการที่เชลยศึกต้องเสียชีวิตอย่างมากมายในการก่อสร้างทางรถไฟนี้  จึงได้เรียกทางรถไฟสายนี้ว่า  "ทางรถไฟสายมรณะ"

 

          และการสร้างทางรถไฟสายมรณะ นี้  ก็เป็นจุดหรือเป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวไทยได้แสดงจิตใจอันกรุณาปราณี เอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือ สงเคราะห็แก่เชลยศึกผู้ต้องทนทุกข์ทรมานเหล่านั้น

 

เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสงครามในครั้งนี้

 

 

๑๘   ตุลาคม - ๑  พฤศจิกายน  ๒๔๘๖    การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน อังกฤษ  และรัสเซียที่กรุงมอสโคว์

๒๒ - ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๔๘๖    การประชุมกรุงไคโร  ระหว่าง  โรสเวลต์ เชอร์ชิลล์  และเจียงไคเช็ค

๒๘  พฤศจิกายน - ๑  ธันวาคม  ๒๔๘๖    การประชุมกรุงเตเฮรานระหว่าง  โรสเวลต์ เชอร์ชิลล์  และสตาลิน
 
 

๒๕ ธันวาคม  ๒๔๘๖          เปิดใช้ทางรถไฟสายพม่า    

 

 

         ทางรถไฟข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศพม่า ที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และตัดผ่านไปทางทิศเหนือเชื่อมกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟของพม่าที่สถานีทันบูยาซายัท
 
 

สายน้ำไหลกลับ  . . .  กองทัพญี่ปุ่นเริ่มปราชัย

         ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖     กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ และเริ่มตีโต้กลับกองทัพญี่ปุ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวรบด้านพม่า  และจีนตอนใต้  กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายล่าถอย          เนื่องจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานทัพ เพื่อเข้าไปปฏิบัติการในพม่าและมลายู  จึงนับว่าประเทศไทยมีความสำคัญ และเป้าหมายทางยุทธศาสตร์     ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้ทำการทิ้งระเบิด ทำลายสนามบิน  ชุมทางรถไฟ  ท่าเรือ  สะพาน  อันเป็นปมคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น

 

มกราคม    ๒๔๘๗

          กองพลที่  ๓ กลับมารับหน้าที่รักษานครเชียงตุงเช่นเดิม

๑๒ มกราคม ๒๔๘๗ 

            สถานีกรุงเทพ  (ที่หัวลำโพง)  ถูกโจมตีทางอากาศ

ตั้งแต่ มีนาคม ๒๔๘๗     เครื่องบินข้าศึก โจมตีรบกวนอย่างกว้างขวาง และรุนแรงขึ้น

 

ในพื้นที่กองทัพพายัพ

๓๐ เมษายน ๒๔๘๗ 

            เครื่องบินข้าศึกได้เข้าโจมตีท่าขี้เหล็กเป็นครั้งแรก ได้ทิ้งระเบิดที่สะพานแม่สาย

๑ พฤษภาคม ๒๔๘๗ 

            เครื่องบินข้าสึกได้เข้าโจมตีทิ้งระเบิดสะพานแม่สายและยิงกราดซ้ำอีก แต่สะพานแม่สายรอดอันตราย หน่วยอื่นเสียหายเล็กน้อย ลูกระเบิดตกพลาดที่หมาย  เครื่องบินข้าศึกได้ออกล่าตามทาง  ยิงรถยนต์  เกวียนและวัวต่างของทหาร จากแม่สายถึงเชียงตุง

๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗ 

            เครื่องบินข้าศึกได้เข้าโจมตีทิ้งระเบิดสพานแม่รวก สะพานเหมืองแหยง รวม ๖ ลูก  ลูกระเบิดตกพลาดที่หมาย ต่อจากนั้นเครื่องบินข้าศึกได้ออกล่าตามทาง

๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๗ 

          เครื่องบินข้าศึกเป็นหมู่ ๆ  เลยแม่สายไปตามลำน้ำโขง ประมาณ ๑๖ เครื่อง  กำลังแปรขบวนทำวงเลี้ยวกลับจิกหัวหาแม่สายเป็นหมู่ละ ๓ เครื่อง  

          หลังจากท่าขี้เหล็กถูกโจมตีเมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๗  แล้วคืนนั้นทหารได้ส่ง   ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  (ปตอ.) ได้ตั้งที่บนเขาหลังที่ทำการกองทางสนาม   ๒ กระบอก  และได้เริ่มยิงต่อสู้ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม

๔  มิถุนายน  ๒๔๘๗         กองทัพอังกฤษ และอเมริกันยึดกรุงโรมได้

๖  มิถุนายน  ๒๔๘๗         สัมพันธมิตรขึ้นนอรแมนดีในฝรั่งเศส  หรือที่เรียกกันว่า วัน  D - Day

๑๕  มิถุนายน  ๒๔๘๗        อเมริกันเริ่มใช้ป้อมบินยักษ์ (Superfortresses) โจมตีกรุงโตเกียวเป็นครั้งแรก
 
๒๐   กรกฎาคม   ๒๔๘๗ 

 

ในประเทศไทย    

          มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  จอมพล  แปลก   พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมี นาย ควง  อภัยวงศ์   เป็นนายกรัฐมนตรี     ในช่วงปลายปี ๒๔๘๗ เสรีไทยสามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ได้โดยตรง 

๒๔  สิงหาคม - ๒๙  กันยายน  ๒๔๘๗         สัมพันธมิตรประชุมที่ดัมบาร์ตันโอคส์       

๒๕  สิงหาคม   ๒๔๘๗     สัมพันธมิตรช่วยให้กรุงปารีสกลับมีเสรี

๙  ตุลาคม   ๒๔๘๗    การประชุมกรุงมอสโคว์  ครั้งที่สาม

๒๑ - ๒๒  ตุลาคม   ๒๔๘๗      การรบทางเรือซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติสงครามทางเรือระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นที่อ่าวเกาะเลเต (Leyte) และสหรัฐอเมริกาชนะ
  
 

 


 

พฤศจิกายน  ๒๔๘๗   

          สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศเป็นครั้งแรก  และถูกโจมตี เรื่อยมา    รวมทั้งสิ้นราวสิบครั้ง   ในระหว่างสงคราม จนกระทั่งสะพานช่วงที่   ๔ - ๖   ชำรุด และไม่สามารถใช้การได้
 
 

 

 

 

 

 

สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกโจมตีทางอากาศ

 

 

            พระนครและธนบุรีถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ๒๔๘๘ รวม ๓๔ ครั้งด้วยกันคือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕  จำนวน ๕ ครั้ง ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จำนวน ๔  ครั้ง  ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จำนวน ๑๔ ครั้ง และปี พ.ศ. ๒๔๘๘  จำนวน ๑๑ ครั้ง
 
          สถานที่ที่ถูกโจมตีได้แก่  สถานีรถไฟ(กรุงเทพ หัวลำโพง)  สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย)  สถานีรถไฟช่องนนทรีย์  สถานีรถไฟบางซื่อ  โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน  โรงไฟฟ้าวัดเลียบ  โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ   สะพานพุทธยอดฟ้า  สะพานพระราม ๖   ท่าเรือคลองเตย  สนามบินดอนเมือง  สถานทูตญี่ปุ่น  ที่พักและคลังอาวุธของทหารญี่ปุ่น  ที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานบริเวณถนนกาติ๊บ  สนามเป้า   กองสัญญาณทหารเรือข้างสวนลุมพินี   ประตูทดน้ำบางซื่อ   โรงเก็บสินค้าและโรงงาน    การทิ้งระเบิดในระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕  ถึงกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๗  เป็นการโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน

                           

          ต่อมาในเดือน มิถุนายน ๒๔๘๗  จึงได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน  การทิ้งระเบิดมีการทิ้งผิดเป้าหมายที่ต้องการเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น วัด  โรงเรียน  บ้านเรือนราษฎร  เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้มี แบบ บี - ๒๔ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาทิ้งระเบิดเวลากลางคืน  ปืนต่อสู้อากาศยานได้ยิงต่อสู้โดยใช้ไฟฉายส่อง  ค้นหาเป้าหมายแบบประสานกันจากจุดต่าง ๆ บนพื้นดิน  เมื่อจับเป้าคือเครื่องบินได้แล้ว ก็เกาะเป้าไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปืนต่อสู้อากาศยาน ยิงทางเครื่องบินทิ้งระเบิด จะต่อสู้โดยยิงปืนกลอากาศสวนมาตามลำแสงของไฟฉาย  ซึ่งจะเห็นได้จากการะสุนส่องวิถีจากปืนกลอากาศ ที่ยิงมาเป็นชุดยาว 

           ทางกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นต่อสู้สกัดกั้น แต่ไม่ใคร่ได้ผลเพราะเครื่องบินฝ่ายเรา มีสมรรถนะต่ำกว่า  และต่อมาในระยะหลังที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี - 29  ซึ่งจะบินมาเป็นหมู่ในระยะสูง  ปืนต่อสู้อากาศยานยิงไม่ถึง  จึงได้มีการมาทิ้งระเบิดเวลากลางวันอย่างเสรี


            ตั้งแต่เดือน มกราคม ๒๔๘๗ ถึงเดือน มกราคม ๒๔๘๘  ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ประมาณ ๒๕๐ ครั้ง  มีเครื่องบินเข้าปฏิบัติการประมาณ ๒,๙๕๐ เที่ยวบิน  ทิ้งลูกระเบิดทำลายประมาณ ๑๘,๖๐๐ ลูก  ระเบิดเพลิงประมาณ ๖,๑๐๐ ลูก  ทุ่นระเบิดประมาณ ๒๕๐ ลูก  พลุส่องแสงประมาณ ๑๕๐ ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ   ๑,๙๐๐ คน  บาดเจ็บประมาณ ๓,๐๐๐ คน  อาคารถูกทำลายประมาณ ๙,๖๐๐ หลัง  เสียหายประมาณ ๑,๒๐๐ หลัง  รถจักรเสียหาย ๗๓ คันรถพ่วงเสียหาย ๖๑๗ คัน  เรือจักรกลเสียหาย ๒๔ ลำ   เรืออื่น ๆ ประมาณ   ๑๐๐ ลำ    ทรัพย์สินเสียหายประมาณ   ๗๙ ล้านบาท

 

๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๘๗

 
 
   

 ข้าศึกได้ใช้เครื่องบินแบบ  ( Mustlang ) และ P-38 ( Lockheed Lightning ) จำนวน ๒๑ เครื่อง เข้าโจมตีนครลำปาง

 กองทัพอากาศจึงส่งฝูงบินขับไล่แบบที่ ๑๒ ( เซ็นโตกิ "โอตะ" ) จำนวน ๕ เครื่อง ขึ้นบินสกัดกั้นและทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญ

 

          แต่ในที่สุดต้องสูญเสียเครื่องบินทั้ง ๕ เครื่อง นักบินเสียชีวิต ๑ คน และบาดเจ็บ ๔ คน ในขณะที่ยิงเครื่องบิน พี-๕๑ ตก  ๑ เครื่อง โดยเรืออากาศตรี คำรบ  เปล่งขำ และ พี-๓๘ เครื่องหนึ่งเสียหายมาก 

 

 ภาพวาดสีน้ำมัน  การรบในอากาศ  เมื่อ  ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๘๗   จากพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ 
 

๒๗  พฤศจิกายน ๒๔๘๗

    

                                                                 บี  

<   บี - ๒๙                          ฮายาบูซา   >

 

 
                    ฝ่ายสัมพันธ์มิตรได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักแบบ  บี - ๒๙   จำนวน ๕๕ เครื่องมาโจมตีทิ้งระเบิดพระนครที่ชุมทางบางซื่อ       กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๓ (ฮายาบูซา) จำนวน ๗ เครื่อง ขึ้นบินสกัดกั้น และเรืออากาศเอก เทอดศักดิ์ วรทรัพย์   สามารถยิงเครื่องบิน บี - ๒๙   ตก ๑ เครื่อง

 

 

ภาพวาดสีน้ำมัน  การรบในอากาศ  เมื่อ   ๒๗  พฤศจิกายน  ๒๔๘๗   จากพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ


๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๘    กองทัพอเมริกันเข้ากรุงมะนิลา

๔ - ๑๒  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๘    การประชุมที่ยาลต้า

๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๘       สะพานพระราม  ๖  ได้ถูกกองทัพสหรัฐและอังกฤษทิ้งระเบิดอย่างหนัก ในที่สุด ช่วงกลางสะพานขาด
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สะพานพระราม  ๖      ๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๘

 

๑๒  เมษายน  ๒๔๘๘    ประธานาธิบดีโรสเวลต์ถึงอสัญกรรม

๒๑  เมษายน  ๒๔๘๘    เปิดประชุมสหประชาชาติครั้งแรกที่เมืองซาน ฟรานซิสโก

๒๘  เมษายน  ๒๔๘๘     มุสโสลินีถูกฆ่าตาย

๓๐  เมษายน  ๒๔๘๘     อิตเลอร์ทำอัตวินิบาตกรรมในหลุมหลบภัยกรุงเบอร์ลิน

๒  พฤษภาคม   ๒๔๘๘    โซเวียตรัสเซียเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน

๗  พฤษภาคม   ๒๔๘๘     เยอรมันนียอมแพ้แก่สัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข

๑๗  กรกฎาคม - ๒  สิงหาคม  ๒๔๘๘    การประชุมปอทสดัม
   

วงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา . . . วงวิบัติ  ไทยไม่ร่วมวงด้วย

 ๖  สิงหาคม  ๒๔๘๘    เวลา  ๐๘๑๕  สหรัฐอเมริกาทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกลงเมืองฮิโรชิมา   ประเทศญี่ปุ่นฮิโรชิมา

 

      

 

ฮิโรชิมา    ๖  สิงหาคม  ๒๔๘๘ ,  ๐๘๑๕ 

 

 

๘  สิงหาคม  ๒๔๘๘    โซเวียตรัสเซียประกาศสงครามกับญี่ปุ่น

๙  สิงหาคม  ๒๔๘๘       สหรัฐอเมริกาทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ที่เมืองนางาซากิ

 

 

 

นางาซากิ    ๙  สิงหาคม  ๒๔๘๘ 

 

๑๔   สิงหาคม  ๒๔๘๘    ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

๑๕  สิงหาคม  ๒๔๘๘     กองทัพญี่ปุ่นทุกสมรภูมิวางอาวุธ

 

 

 

 

 

 

 ประกาศสันติภาพ

 ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)

ปรีดี  พนมยงค์

 

                 โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่   ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก

                 เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชายไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติ ผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงครามและการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว

                  บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่  จีน  และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย

            ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ    เมื่อก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้

            บรรดาดินแดงซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป

            ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใดอันมีผลเป็นปริปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้นก็จะได้รับชดใช้โดยชอบธรรม

            ในที่สุดนี้ ขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ตลอดจนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จงตั้งอยู่ในความสงบ และไม่ว่ากระทำการใดๆ อันจะเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อย พึงยึดมั่นในอุดมคติซึ่งได้วางไว้ในข้อตกลงของสหประชาชาติ ณ นครซานฟรานซิสโก

            ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 ทวี   บุณยเกตุ

 นายกรัฐมนตรี


 

          และมีคำสั่งให้กองทัพบกถอนทหารออกจากสหรัฐไทยเดิมโดยเร่งด่วนเพื่อกลบเกลื่อนการมีกองทัพพายัพในสหรัฐไทยเดิม   และป้องกันกองทัพจีนเข้ามาปลดอาวุธ     . . .  ทหารส่วนใหญ่ต้องเดินเท้ากลับมายังกองอำนวยการเคลื่อนย้ายที่  จังหวัดลำปาง   แต่ เนื่องจากรถไฟไทยถูกอังกฤษนำไปใช้ในการขนส่งเชลยญี่ปุ่น    จึงขาดแคลนยานพาหนะ (คือรถไฟ) ที่จะรับทหารไทยกลับที่ตั้งปรกติ    ทหารไทยจึงต้องเดินต่อไปจนถึงที่ตั้งปรกติ

 

๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๘ 

            รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลอังกฤษประกาศรับรองการประกาศสันติภาพของไทย หลังจากสงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง โดยการยอมจำนนของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ และรัฐบาลไทยได้ประกาศ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

 

๒  กันยายน  ๒๔๘๘ 

            ประธานาธิบดี ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งทั่วไปที่ ๑ กำหนดให้กองกำลังญี่ปุ่นตลอดทั่วประเทศไทย ให้ยอมจำนนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผู้เดียว

          ญี่ปุ่นเซ็นสัญญายอมแพ้บนเรือรบอเมริกัน "มิสสุรี"  ในอ่าวโตเกียว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บนดาดฟ้า  เรือมิสซูรี  แม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังลงนาม  (ซ้าย)        และฝ่ายญี่ปุ่น  (ขวา)

 

๓  กันยายน  ๒๔๘๘ 

            อังกฤษส่งกองพลที่ ๗ (อินเดีย) เข้ามาปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย และพลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ได้ยื่นร่างข้อตกลงทางทหาร ( Preliminary Military Agrement ) รวม ๒๑ ข้อ ต่อคณะผู้แทนทางทหารของไทย ที่เดินทางไปทำความตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เมืองแคนดี ในเกาะลังกา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการยอมแพ้โดยรวม ยิ่งกว่าเรื่องการทหารโดยตรง

๗ กันยายน ๒๔๘๘ 

            ประกาศยกเลิกคำว่า "ประเทศไทย" (ไทยแลนด์)   ให้ใช้คำว่า "สยาม"       "ไทย" กับ "สยาม" ต่างกัน

           "ไทย"  เป็นชื่อเชื้อชาติ      คำว่า   "สยาม" เป็นชื่อดินแดน

๘  กันยายน  ๒๔๘๘ 

            ได้มีการลงนามในข้อตกลงทางทหารชั่วคราว ระหว่างแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และหัวหน้าคณะผู้แทนทางทหารของไทย ณ เมืองแคนดี เกาะลังกา มีสาระเกี่ยวกับ การปลดอาวุธกำลังทหารญี่ปุ่นในไทย การกักกันบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นและเยอรมันในไทยการช่วยเหลือเชลยศึก และผู้ถูกกักกัน

๑๔ กันยายน ๒๔๘๘ 

            รัฐบาลไทยได้ประกาศยกเลิกกติกาพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น และต่อมาได้ประกาศยับยั้งความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

๒๒ กันยายน ๒๔๘๘ 

            ไทยได้ส่งมอบรัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน ให้กับกองพลอินเดียที่ ๗

๒๓ กันยายน๒๔๘๘ 

            ข้าหลวงใหญ่ประจำสี่รัฐมาลัยของไทย ได้ทำพิธีมอบสี่รัฐมาลัยให้กับฝ่ายทหารอังกฤษ
 

 

เสร็จนาฆ่าโคถึก      เสร็จศึกฆ่าทหาร

          และเมื่อมีคำสั่งให้กองทัพบกถอนทหารออกจากสหรัฐไทยเดิมโดยเร่งด่วนเพื่อกลบเกลื่อนการมีกองทัพพายัพในสหรัฐไทยเดิม   และป้องกันกองทัพจีนเข้ามาปลดอาวุธ     . . .  ทหารส่วนใหญ่ต้องเดินเท้ากลับมายังกองอำนวยการเคลื่อนย้ายที่  จังหวัดลำปาง   แต่ เนื่องจากรถไฟไทยถูกอังกฤษนำไปใช้ในการขนส่งเชลยญี่ปุ่น    จึงขาดแคลนยานพาหนะ (คือรถไฟ) ที่จะรับทหารไทยกลับที่ตั้งปรกติ    ทหารไทยจึงต้องเดินต่อไปจนถึงที่ตั้งปรกติ

          แต่ . . . เมื่อเดินกลับถึงที่ตั้งปรกติแล้ว . . .
  
๑๓   พฤศจิกายน  ๒๔๘๘    

          ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำชี้แจงทหารเรื่อง  เลิกการระดมพล (เฉพาะข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร)   กล่าวถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดกำลังทหารโดยด่วน ลงนามโดย พลเอก  จิร  วิชิตสงคราม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 
                  กองทัพบกยังมีนโยบายลดจำนวนทหารจากอัตรากำลังรบเป็นอัตราปกติโดยเร่งด่วน เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์และฐานะทางเศรษฐกิจ     ซึ่งนับว่าจำเป็นต้องกระทำ 

          แต่การส่งคำสั่งปลดไปให้ขณะที่ทหารยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสนามโดยไม่รอให้หน่วยทหารกลับมาถึงหน่วยต้นสังกัดหรือภูมิลำเนาก่อนนั้น    ทำให้นายทหารและนายสิบบางคนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบทหารเป็นจำนวนมาก  ต้องออกจากราชการโดยไม่ทันตั้งตัว   จึงจำต้องปล่อยให้ทหารในบังคับบัญชาเป็นไปตามยถากรรม     บางคนไม่มีแม้แต่บ้านจะอยู่    เมื่อถูกปลดก็ต้องย้ายออกจากบ้านของทางราชการ 
 
              ในช่วงปลาย พฤศจิกายน  ๒๔๘๘ – มีนาคม   ๒๔๘๙   ทหารต้องเดินกลับลงมาภูมิลำเนาส่วนมากได้รับความเมตตา เห็นอกเห็นใจจาก ราษฎรตามรายทางเป็นอย่างดี     ที่ได้คู่ครองในระหว่างเดินทางกลับภูมิลำเนาก็มีเป็นจำนวนมาก     ไม่มียุคใดสมัยใดที่ขวัญของทหารจะเสื่อมโทรมขนาดนี้จนมีคำกล่าวที่สะเทือนใจมากที่สุด  คือ  . . .

 

เสร็จนาฆ่าโคถึก  เสร็จศึกฆ่าทหาร

 ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ 

 

 

 

            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นกองทัพพันธมิตรภายใต้การบังคับบัญชาของ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย


ผมป่าว  . . .  แม่โพสพ ช่วยไทยเลี้ยงชาวโลก

               วันที่   ๘   ธันวาคม  ๒๔๘๘   คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปสิงคโปร์    ได้มีการประชุมเจรจากับฝ่ายอังกฤษหลายครั้ง และในวันที่  ๑  มกราคม  ๒๔๘๙  ไทยได้ยินยอมลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ   (Formal Agreement for The Temination  of  The  State  of  War  Between  Siam  and  Great  Britain  and  India)   มีสาระสำคัญ    (เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม)  ดังนี้

                    ๑. รัฐบาลไทยตกลงบอกปฏิเสธการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม  ค.ศ.๑๙๔๒

                   ๒. รัฐบาลไทยแถลงว่าเป็นโมฆะบรรดาการที่ได้มาซึ่งอาณาเขตของบริติช ที่ประเทศไทยได้กระทำหลัง จากวันที่  ๗  ธันวาคม  ค.ศ. ๑๙๔๑ จะถอนบรรดาเจ้าหน้าที่และทหารไทยออกจากอาณาเขตบริติช คืนทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตเหล่านี้  จะใช้ค่าทดแทนอันเกิดจากที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตเหล่านี้ จะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่ 

                                                                                                  ฯลฯ

                   ๑๔. รัฐบาลไทยรับว่า เมื่อเอาข้าวไว้ให้พอเพียงแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร  ณ กรุงเทพ ฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้น ใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือ ซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย  ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตัน เป็นอย่างมาก หรือจะได้ตกลงกันให้เป็นข้าวเปลือก หรือข้าวกล้องอันมีค่าเท่ากันก็ได้ 

                                                                                                   ฯลฯ

                   ๒๔. ความตกลงนี้ใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป            

          ทำควบกันเป็นสามฉบับ  เป็นภาษาอังกฤษ ณ สิงคโปร์  เมื่อวันที่  หนึ่ง  มกราคม  คริสตศักราช  พันเก้าร้อยสี่สิบหก   ตรงกับ  พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า

 

๑๙ มกราคม ๒๔๘๙ 

 

 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเป็นประธานในการตรวจพลสวนสนามของกองทัพพันธมิตร พร้อมกับลอร์ด หลุยส์ เมาท์ แบดแทน

 

ข้าหลวงพรหม ฯ     ความกรุณาปราณีที่พิษณุโลก

          ท่ามกลางวิกฤติทางการเมืองระหว่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศ  ซึ่งส่งผลถึงประชาชนชาวไทยทุกหย่อมหญ้า  โดยเฉพาะทหารในสมรภูมิเชียงตุง     ในสนามรบก็ต้องตรากตรำต่อความยากลำบาก ขาดแคลน นานัปการ  เสี่ยง ต่อโรคภัยไข้เจ็บ  และอันตรายจากการสู้รบ   ครั้นผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายรอดชีวิตมาได้ หวังว่าจะได้กลับไปหาพ่อ แม่ ลูก เมีย  กลับ  ถูกปลด     หากไม่เกิดขึ้นกับตนเอง  ก็คงไม่ตระหนักแก่ใจ      แต่ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ก็ย่อมจะเห็นใจพี่น้องทหารเหล่านั้นด้วยเช่นกัน  เป็นแต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือสนับสนุนเท่านั้นเอง    หากมีโอกาส  มีผู้ชี้ชวน  หรือ แนะนำแล้ว  ความกรุณาปราณี ย่อมเกิดขึ้นเสมอ

          ผมได้พบบันทึกของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในสมัยนั้น  - ข้าหลวงพรหม  สูตรสุคนธ์  ณ  นครพนม - จึงขอนำมาเผยแพร่ ต่อไป   ดังนี้ครับ . . .

 

 

ต้อนรับทหารไทยที่ถูกปลดในสนาม

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่  ๒  สงบลง    รัฐบาลได้สั่งปลดทหารออกจากประจำการในสนาม    บรรดาทหารที่ไปราชการสงครามที่เชียงตุงเกิดความระส่ำระสาย    นายทหารที่ควบคุมไปก็ไม่มีกำลังใจทีจะควบคุมทหารในกรมกองของตนให้อยู่ในระเบียบวินัยได้    เมื่อกองทหารเดินทางผ่านบ้านใด  อำเภอใด  จังหวัดใด    ก็มักจะก่อความเดือดร้อน   มีการจี้  ปล้น  หมู  เป็ด  ไก่  ของชาวบ้านมากิน  เพื่อความอยู่รอดมาตลอดทาง 

          จังหวัดพิษณุโลกก็อยู่ในจุดที่ทหารเหล่านี้จะต้องมาพัก   เพื่อรอขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ  จึงได้เชิญนายกสมาคมพ่อค้าจีน และพ่อค้าไทยมาประชุมชี้แจง  เพื่อทำการต้อนรับกองทหารที่จะเดินทางมาพักที่พิษณุโลก    เราจะต้องต้อนรับด้วยไมตรีจิตอันดี  โดยช่วยเงินและข้าวสารตามสมควร  เพราะทหารเหล่านี้ถูกปลดในสนาม  ไม่มีเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน  จีงปรากฏข่าวจี้ ปล้น มาตลอดทาง  เพื่อความอยู่รอดของชีวิต   เพื่อป้องกันเหตุร้าย มิให้เกิดกับจังหวัดเรา  เราจะต้องแสดงความเอื้ออารี ต้อนรับด้วยไมครีจิตอันดีต่อเขา    โดยมีเงินและข้าวสารไปต้อนรับตามสมควร    ตกลงเห็นชอบด้วยทุกคน    บริจาคข้าวสาร  ๖  กระสอบ  กับเงินอีก  ๕๐๐  บาท   ไว้ต้อนรับ

          วันที่  ๒๕  มกราคม  ๒๔๘๙         เมื่อกองทหารเดินทางนับไม้หมอนรถไฟมาถึงพิษณุโลก    ผู้เขียน *  นายอำเภอเมือง   นายกเทศมนตรี  นายกสมาคมพ่อค้าจีน    ไปต้อนรับอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พระพุทธชินราช)  เมื่อทหารเข้าที่พักเรียบร้อยแล้วผู้เขียนได้กล่าวต้อนรับด้วยสุนทรวาที    จบแล้วได้มอบข้าวสาร  ให้ผู้บังคับกองพัน  กองละ  ๓  กระสอบ  กับเงินกองพันละ  ๒๕๐  บาท   ผู้บังคับกองพันกล่าวตอบขอบคุณอย่างมากๆ  เพราะผ่านมาหลายจังหวัดไม่ได้รับความเหลียวแล  และกรุณาปราณีอย่างพิษณุโลกนี้เลย    แล้วผู้เขียนก็ไปเยี่ยมทักทายสารทุกข์กับนายสิบ  พลทหารแล้วก็กลับที่พัก

          ทหาร  ๒  กองพัน  พักรอรถไฟอยู่ถึง  ๓  อาทิตย์   ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวพิษณุโลกเลย  นับว่าการใช้หลักธรรมได้ผล

 

 

 * นายพรหม  สูตรสุคนธ์     ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก   ๗  กรกฎาคม  ๒๔๘๘  –  ๗  ตุลาคม  ๒๔๘๙

 

 

 

ปกิณกะจากนครเชียงตุง

          พลโท  ผิน  ชุณหะวัณ  ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำจังหวัดสหรัฐไทยเดิม เพื่อควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองเชียงตุง   ได้ทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรมลือ โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง  พร้อมด้วยเจ้าแม่ปทุมเทวี  ที่ไปช่วยราชการและพำนักอยู่ที่เมือง โหม่วหยั่ว ชายแดนพม่าติดกับประเทศอินเดีย ตามคำสั่งรัฐบาลอังกฤษ พร้อมด้วยเจ้าหญิงทิพวรรณ (ณ ลำปาง) ณ เชียงตุง และราชธิดา ให้กลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงตุง โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยคณะสงฆ์  เสนาอามาตย์ นายแคว้น นายแขวง และพ่อเมืองต่างๆ ในเขตเชียงตุงได้พร้อมใจกันจัดพิธีทำขวัญขึ้นที่คุ้มหลวงแล้วสถาปนาพระองค์เป็น

 

 

"เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสพรหมลือ"

ครองเมืองเชียงตุงเป็นองค์ที่ ๔๐


 

 

          เจ้าเมืองเหล็กพรมลือองค์นี้ไม่ลงรอยกับพวกข้าราชการอังกฤษที่มารับราชการในนครเชียงตุง และในแคว้นฉาน (สหรัฐไทยเดิม) เพราะมีความโน้มเอียงไปทางสนับสนุน แผนรวมไทย และสร้างชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น และเป็นคนนำเพลงปลุกใจของรัฐบาลไทยโดยนำเพลง "ไทยน้อย ไทยใหญ่ ล้วนเป็นไทยด้วยกัน" มาเปิดในคุ้มของพระองค์กลางเมืองเชียงตุง อย่างไม่หวั่นเกรงใดๆตลอดจนเพลงปลุกใจ  "ข้ามโขงมาสู่แคว้นไทย"  ตลอดจนเพลงอื่นๆที่เป็นปฏิปักษ์กับทางนักปกครองของรัฐบาลอังกฤษผู้ครอบครองเมืองขึ้น
 

 

 

 สมเด็จพระเป็นเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินทร์แถลง เจ้าฟ้านครเชียงตุง พระบิดาของ เจ้าฟ้าพรมลือ

เจ้าอินแถลง อยู่ร่วมสมัยกับ สมเด็จพระปิยมหาราช พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ 

 

          พลเอกประพันธุ์ กุลพิจิตร อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ได้บันทึกเหตุการณ์ในนครเชียงตุงว่า....ชื่อเสียงของเจ้าฟ้าพรมลือและเจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุงนั้น บรรดานายทหารม้าได้เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเจ้านายทั้งสองมาก่อนแล้ว เพราะว่าท่านทั้งสองได้เคยช่วยเหลือซื้อม้าแสนหวี - สีป้อ ม้าย่องห้วย ม้าเชียงตุง ตลอดจนลา และ ฬ่อ ต่างๆ ให้กองพลกองพันทหารม้ามาแล้วเกือบพันตัว เพื่อใช้ในการบรรทุกและขับขี่ในคราวสงครามอินโดจีน การกลับมาสังคมกับกองทัพไทย และได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยครั้งนี้เอง ทำให้เกียรติประวัติของเจ้าฟ้าพรมลือ ณ เชียงตุง และ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง  ผู้เป็นชายาโด่งดังประทับใจอยู่ในความรู้สึกของบรรดาทหารหาญของไทยโดยทั่วกัน ที่ได้ทราบธาตุแท้ในชีวิตจิตใจของเจ้านายทั้งสองท่าน ว่าเจ้าฟ้าพรมลือ ณ เชียงตุง เป็นผู้ที่พวกเราทหารในกองทัพพายัพครั้งสงครามมหาเอเซียบูรพารู้จักกันดี เพราะไม่ใช่แต่ในวงการราชการเท่านั้น ที่ท่านให้ความร่วมมือแม้ในด้านส่วนตัวท่านก็ได้บำเพ็ญตนเป็นมิตรที่ดีต่อพวกเราอย่างเป็นกันเองโดยตลอด ผมจำได้ว่าบ้านพักของท่านในนครเชียงตุงระหว่างที่กองทัพไทยขึ้นไปอยู่นั้นพวกเราสนุกสนานกันในยามว่างงานเกือบเป็นสโมสรไปแล้ว......

          ข้อความตอนนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าสืบเนื่องจาก " แม่บ้านผู้เป็นชายาของเจ้าฟ้าพรมลือ " ผู้รู้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย และโดยเฉพาะเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการฝ่ายทหารไทยเป็นอย่างดี ในด้านการมีน้ำใจของเจ้าฟ้าพรมลือ และ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุงก็มีความเมตตากรุณาต่อคนทั่วๆ ไป ซึ่งปรากฏเป็นอักษรและพิมพ์เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นมาจากบุคคลสำคัญในวงการทหารผู้เคยเอาชีวิตไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพาได้บรรยายได้ว่า

........พลเอกประพันธุ์ กุลพิจิตร ท่านได้บันทึกถึงความหลังเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา เหตุการณ์ที่ได้บังเกิดขึ้นในนครเชียงตุงเกี่ยวกับทางกองพันทหารม้าที่ 4 กำลังขาดเสบียงเกี่ยวกับเรื่องเกลือขาดในกองพันทหารไม่มีเกลือใช้ในเวลาประกอบอาหาร เนื่องจากเส้นทางลำเลียงจากเส้นทาง อำเภอแม่สาย เมืองเลน เมืองพะยาก  นครเชียงตุง ใช้การไม่ได้เนื่องจากฝนตกหนักเมื่อผมได้ไปแจ้งเจ้าฟ้าพรมลือให้ทราบถึงความต้องการท่านก็บันดาลเอามาให้เราจนได้ ภายในเวลาไม่ถึงวัน และอีกครั้งหนึ่งท่านทราบว่าผมจะนำทหารในกองพันทหารม้าไปรักษาชายแดนตอนเหนือของสหรัฐไทยเดิมต่อเขตมณฑลยูนนานของจีน ท่านก็ได้กรุณาเขียนจดหมายถึงเจ้าเมืองต่างๆในเส้นทางที่ผ่านเช่น เมืองขาก เมืองหลวย และเมืองยาง มอบให้ผมไปโดยสั่งให้เจ้าเมืองเหล่านั้นอำนวยความสะดวกตามสมควร ซึ่งพวกเราก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากเจ้าเมือง       

 

            

 

 หอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงของเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินทร์แถลง   สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอังกฤษ   รัฐบาลพม่าทุบทิ้งเมื่อ พุทธศักราช  ๒๕๓๔  เพื่อทำลายสัญญลักษณ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุงให้สูญสิ้น

         
 

          ครับ   . . . กองทัพไทยก็ล้างตา "เชียงตุง" และรวมไทยน้อย - ไทยใหญ่ ได้สำเร็จ ในระดับหนึ่ง แต่ก็รักษาไว้ได้ชั่วเวลาหนึ่ง  ซึ่งก็เป็นไปตามกลไก ของการเมืองระหว่างประเทศ

           และ . . . พระสยามเทวาธิราช ก็ทรงปัดเป่าอสูรร้าย และทรงปกป้อง พระราชอาณาจักรให้เป็นเอกราชมาตราบทุกวันนี้

          ผมขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้โปรดรำลึกถึง วีรกรรม ของบรรพชนทั้งทหาร และ พลเรือนที่ได้สละ เลือด  เนื้อ แม้ชีวิต เป็นชาติพลี  นับแต่เรื่มสงครามมหาเอเซียบูรพา   ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔   จนเสร็จสิ้นสงคราม    

          ผมรู้สึกตื้นตันใจแทนบรรพชนที่ต้อง "เดินนับไม้หมอน" กลับบ้าน เพราะ "ถูกปลด" ในสนาม  และได้พบพี่น้องตามรายทางที่เห็นอกเห็นใจ  เอื้อเฟื้อ  มีเมตตา  ช่วยเหลือเกื้อกูล ตามอัตภาพ  เพราะ พี่น้องเหล่านั้น ก็ขัดสน เนื่องจากภัยสงครามเช่นกัน   จึงทำให้เกิด เหตุการณ์ดีๆ ในสถานการณ์เลวร้าย  ขึ้นหลายเหตุการณ์    หลายท่านที่ได้พบคู่ชิวิต และได้ใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข ตลอดถึง ลูก หลาน ฯลฯ  ตราบปัจจุบัน

 

                    ภายหลังสงคราม    บ้านเมืองอยู่ในสภาพ ที่เรียกได้ว่า "ทรุดโทรมที่สุด"    ทั้งใน  ทางทหาร  ทางเศรษฐกิจ  ทางสังคมจิตวิทยา  และในทางการเมือง  ซึ่งจำต้องบูรณะฟื้นฟูอย่างมากในทุกๆ ด้าน     ทางการเมืองระหว่างประเทศ  ต้องดำเนินวิเทโศบาย เพื่อให้ประเทศเสียหายน้อยที่สุด     แต่ในวงการเมืองภายในประเทศ ก็ยังคงหวาดระแวง  แก่งแย่ง  ช่วงชิงอำนาจรัฐ  ประหัตประหารกันอย่างเข้มข้น  โหดเหี้ยม   เอาเป็นเอาตาย   ทุกรูปลักษณะ

 

          ผมเชื่อมั่นว่า คนไทยรัก และหวังดีต่อชาติ บ้านเมืองด้วยกันทุกคน  ไม่มีกลุ่มใด  คณะใด  หน้าที่ใด จะรักชาติ มาก หรือ น้อยกว่า กลุ่มอื่น  คณะอื่น  หน้าที่อื่นก็หาไม่   แต่วิธีการนั้น อาจจะแตกต่าง และไม่ถูกใจ บางกลุ่ม บางคณะ บางหน้าที่  ก็ต้องเคารพ และถือปฏิบัติตามกฎ กติกา ที่กำหนดขึ้น    และแล้ว  ชาติ  และ ประชาชน  ก็จะรุ่งเรือง และเป็นสุข  สมดัง บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องพระร่วง ซึ่งขออัญเชิญมา   ด้งนี้
 

 

 

 ฯลฯ
                                                
ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ          ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่

ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย          จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง

ให้นานาภาษาเขานิยม          ชมเกียรติยศฟูเฟื่อง

ช่วยกันบำรุงความรุ่งเรือง          ให้ชื่อไทยกระเดื่องทั่วโลกา

ช่วยกันเต็มใจใฝ่ผดุง          บำรุงทั้งชาติศาสนา

ให้อยู่จนสิ้นดินฟ้า          วัฒนาเถิดไทยไชโย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - "ชีวิต กับ เหตุการณ์  ของ  จอมพล  ผิน  ชุณหะวัณ"   อัตตชีวประวัติ  อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  จอมพล  ผิน  ชุณหะวัณ  ป.จ.,ม.ป.ช.,ม.ว.ม.  วันจันทร์ที่  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๑๖

          - ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเซียบูรพา  โดย  กองบัญชาการทหารสูงสุด

          - ประวัติกองทัพอากาศในสงครามมหาเอเซียบูรพา ฯ  โดย กองทัพอากาศ  

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          -           - อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  นายพรหม  สูตรสุคนธ์    ท.ช.,ท.ม.    วันอาทิตย์ที่  ๑๒  ธันวาคม  ๒๕๓๖    บริษัท  ศรีอนันต์การพิมพ์  จำกัด    กรุงเทพ ฯ

          - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้
 




บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (605)
avatar
กล้า

คนไทยทุกวันนี้มีแต่แก่งแย่งกันไม่นึกถึงทหารหาญที่สละเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติเลยเรามีที่ทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ก็เพราะทหารหาญกระผมขอให้ทหารหาญจงที่เคารพและทหารหรือคนไทยทุกคนจงสำนึกในความเป็นไทย

ผู้แสดงความคิดเห็น กล้า (mungloka-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-12 21:43:37


ความคิดเห็นที่ 2 (606)
avatar
สัมพันธ์

 

 

ทยฺยชาติยา  สามคฺคิย  สติสญฺชานเนน  โภชิสิย  รกฺขนฺติ   

คนชาติไทย จะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี

                                                                                             คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป  ภ.ป.ร.

 

          ครับ    หากคนไทยเรามีสติ สำนึกตามคำจารึกที่อัญเชิญมาข้างต้น   ก็คงดีนะครับ    แต่ก็อยู่ที่การปฏิบัติ ในเรื่อง  "ความสามัคคี"  ของเราความสามัคคีคือ ต้องเป็นพวกฉัน  ต้องคิดแบบฉัน    หากคิดต่างไปจากฉันคือเป็นคนไม่ดี  ไม่สามัคคี (กับฉัน)    ขอบคุณครับ    สวัสดีครับ            

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-13 06:11:40


ความคิดเห็นที่ 3 (102050)
avatar
Demetorius

 สลดใจครับ
ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Demetorius (maceus-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-12 00:08:10


ความคิดเห็นที่ 4 (102130)
avatar
สัมพันธ์

ครับ

ยินดีที่เป็นประโยชน์    สนใจเรื่องใดที่ยังไม่ได้ทำไว้  บอกนะครับ  .  .  .  จัดให้

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (schaengchenwet-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2012-08-03 17:06:26



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker