๒. สู่ ล่องแจ้ง เขาสูง
วิกฤต คือ โอกาส
เมื่อผมลาออกจากราชการในเดือนเมษายน ๒๕๑๔ เพื่อสมัครเป็นทหารในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว ก็เดินทางไปสมัครตามที่ตั้งใจ กองทัพพระราชอาณาจักรลาว (เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ต่อไปนี้ขอใช้ คำย่อว่า ทชล.) จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับสมัครในประเทศที่ ๓ เขาให้เลือกว่าจะเป็นทหารในพื้นที่ใดในลาว มีให้เลือก ๓ พื้นที่ คือ
- แขวงบ่อแก้ว (ภาคเหนือ) ปฏิบัติการในพื้นที่ เมืองห้วยทราย (Huay Xai) และเมืองเชียงลม
- แขวงเชียงขวาง (ภาคกลางตอนบน) ปฏิบัติการในพื้นที่เมืองซำทอง ล่องแจ้ง และทุ่งไหหิน (Plain of Jars)
- แขวงจำปาศักดิ์ (ภาคใต้) (Champasak) ปฏิบัติการในพื้นที่เมืองปากเซ (Pakse)
ผมฟังเจ้าหน้าที่เขาสาธยาย สภาพทั่วๆ ไป และ สถานการณ์ทางทหารแล้ว ก็ตกลงใจเลือกปฏิบัติการในพื้นที่แขวงเชียงขวาง เนื่องจาก เป็นพื้นที่สถานการณ์รุนแรงและวิกฤตที่สุด
หลายท่านอาจจะสงสัยเรื่อง แขวงต่างๆในพระราชอาณาจักรลาว แล้วผมจะหาโอกาสเรียนให้ทราบต่อไป เพราะหากเล่าตอนนี้จะไปไม่ถึงทุ่งไหหิน แต่เพื่อให้ท่านที่สนใจได้เห็นภาพกว้างๆ จึงขอเสนอแผนที่แสดงแขวงต่างๆ ในพระราชอาณาจักรลาว พอเป็นสังเขปก่อน นะครับ
.gif)
แผนที่คงจะดูยากสักหน่อย จำง่ายๆ คือ
แขวงบ่อแก้ว เมืองห้วยทราย (Huay Xai) และเชียงลม อยู่ตรงข้ามกับ อ.เชียงของ จว.เชียงราย
แขวงเชียงขวาง เมืองซำทอง ล่องแจ้งอยู่ระดับ อ.ปัว จว.น่าน
ทุ่งไหหิน (Plain of Jars) อยู่เหนือขึ้นไปอีก ระดับ อ.เชียงคำ จว.เชียงราย
แขวงจำปาศักดิ์ (Champasak) เมืองปากเซ (Pakse) อยู่ตรงข้าม จว.อุบลราชธานี
ยามศึกเรารบ ก่อนไปรบเราฝึกหนัก
เมื่อสมัครเรียบร้อยแล้ว ทาง ทชล. ก็ส่งผมไปเข้าค่ายฝึกในประเทศที่ ๓ นั่นอีก พอไปถึงค่ายฝึก เห็นคนไทยมาสมัครกันมากมาย ได้พบคนที่รู้จักคุ้นเคยกันก็มาก เนื่องจากผมเป็นทหารปืนใหญ่ เขาก็จัดให้ผมสังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๖๓๖ และเพื่อความเป็นสากล เขาเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Battalion Artillery 636 - BA 636 และพวกเราก็เลยเรียกกันให้ง่ายๆ และโก้ๆ ว่า บีเอ หกสามหก ส่วนเหล่าทหารราบ เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า บีซี BC ย่อมาจากคำว่า Battalion Commando ครับ ทหารเหล่าอื่นเขาไม่รับสมัคร รับเฉพาะ เหล่าทหารราบ ราชินีแห่งสนามรบ และ ทหารปืนใหญ่ ราชาแห่งสนามรบ เท่านั้น หากทหารเหล่าอื่นมาสมัคร เขาก็ให้เป็นทหารราบ เพราะทหารเหล่าอื่นยิงปืนใหญ่ไม่เป็น ครับ และ ค่ายฝึกที่ผมไปรับการฝึกนี้ก็เป็นค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ เท่านั้น ส่วนทหารราบไปฝีกที่ค่ายฝึกทหารราบ (ผมไม่ทราบหรอกครับ ว่าทหารราบเขาฝึกกันที่ไหน แต่อยู่ในประเทศที่ ๓ นี่แหละ)
เพื่อให้ท่านได้ติดตามสถานการณ์ได้อย่างกระจ่างชัดปราศจากข้อกังขา จึงใคร่อธิบายถึงการจัดหน่วย บีเอ ๖๓๖ และแนะนำบรรดา หัวหน้า ในกองพันดังนี้
บีเอ ๖๓๖ ประกอบด้วย กองบังคับการกองพัน และกองร้อยกองบังคับการ , กองร้อยปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. ๑ กองร้อย, กองร้อยปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ๑ กองร้อย, กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๔.๒ นิ้ว ๑ กองร้อย (กองร้อยนี้เป็นทหารราบ แต่อยู่ในกองพันทหารปืนใหญ่ จึงต้องฝึกกับทหารปืนใหญ่ ครับ) และมีทหารราบทำหน้าที่เป็นหมวดระวังป้องกัน อีก ๓ หมวด เพื่อระวังป้องกันให้กองร้อยปืนใหญ่ และกองร้อยเครื่องยิงฯ กองร้อยละ ๑ หมวด
ใครเป็นใคร ใน บี เอ ๖๓๖
คณะหัวหน้าในกองพัน เท่าที่จำได้ก็มี : ผู้บังคับกองพัน - ภูมั่น , รองผู้บังคับกองพัน - ภูมิ่ง , นายทหารส่งกำลังบำรุง - ภูแสง , นักบิน ๒ ท่าน คือ ภูคำ และ ภูวัง, ผู้บังคับกองร้อยกองบังคับการ - ภูสิง
กองร้อยปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. : ผู้บังคับกองร้อย - ภูเวียง , รองผู้บังคับกองร้อย - ภูแสน , นายทหารอำนวยการยิง - ภูสิน , นายทหารลาดตระเวนและแผนที่ - ภูมน
กองร้อยปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. : ผู้บังคับกองร้อย - ภูใส , รองผู้บังคับกองร้อย - ภูลา , นายทหารอำนวยการยิง - ภูสา , นายทหารลาดตระเวนและแผนที่ - ภูจัน
กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๔.๒ นิ้ว : ผู้บังคับกองร้อย - ภูอิน , รองผู้บังคับกองร้อย - ภูลี , นายทหารอำนวยการยิง - ภูสัน , ผู้ตรวจการณ์หน้า - ภูวัน , นายทหารติดต่อ - ภูแก้ว
ผู้บังคับหมวดระวังป้องกัน ๓ หมวด : ภูน้อย , ภูกอง และ ภูเสน
ไม่ทราบว่ามาจากไหนกัน ชื่อเสียงเรียงนามก็คล้ายกันมาก เวลาเรียก หรือเขียนต้องระวังให้ดี เช่น ภูสิง - ภูสิน หรือ ภูวัง - ภูวัน เป็นต้น แต่พวกเราก็ เรียก และเขียน กันได้ไม่ผิดตัว
ส่วนรี้พลสกลไกร อื่นๆ ที่ไม่ใช่ หัวหน้า ก็เห็นแต่คนไทยเป็นส่วนใหญ่ ชาติอื่นๆ แถวๆ รอบบ้านเราก็มีบ้าง แต่ที่ไม่มีมาสมัครเลยคือ พี่น้องลาว ของเรานี่เอง
พวกเราฝึกกันประมาณ ๑๐ สัปดาห์ เพื่อให้ คน คือ หัวหน้า และ ลูกน้อง ได้คุ้นเคยรู้น้ำจิตน้ำใจกัน เพราะแต่ละคนมาจากที่ต่างๆ กันทั่วสารทิศ จะต้องไปใช้ชีวิตร่วมเป็นร่วมตายกันในสนามรบก็ต้องให้รู้จิตใจกันเป็นพิเศษ และฝึกให้คุ้นเคยกับอาวุธ และใช้อาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ เริ่มฝึกตั้งแต่ต้นเดือน เมษายน จนถึงราวๆ กลางเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๔
ในช่วงท้ายของการฝึก พี่ภูมั่น ผู้บังคับกองพัน ได้เดินทางไปดูการปฏิบัติภารกิจของ บีเอ ๖๓๕ (หน่วยทหารปืนใหญ่ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว) ได้กลับมาเล่าถึงสถานการณ์ และเรื่องที่ควรรู้ ควรปฏิบัติ และในรายละเอียดของการเดินทาง ท่านเล่าว่า . . .
ในวันเดินทาง จะมีเครื่องบิน ซี - ๑๓๐ ของบริษัท แอร์ อเมริกา มารับทั้ง คนและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมด ไปในเที่ยวเดียวกัน อาจจะแออัดสักหน่อย แต่เมื่อเครื่องตั้งลำได้แล้ว ก็พอจะขยับขยายกันได้บ้าง . . . ผมให้นึกสงสัยอยู่ในใจว่ามันอย่างไรกัน เพราะเมื่อไปราชการสงครามเวียดนามนั้น ก็เดินทางด้วยเครื่อง ซี - ๑๓๐ เหมือนกัน ก็นั่งไปสบายๆ ไม่ได้รู้สึกแออัด หรืออึดอัด แต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้ถามออกไป คงอมความสงสัยไว้
เรื่องการฝึกนี่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติ ไม่จำเป็นต้องบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก แต่ก็มีบางคน ได้ถ่ายภาพเอาไว้ และนำมามอบให้ผม มาบัดนี้ เวลาล่วงเลยไป เกือบ ๔๐ ปี เป็นภาพที่มีคุณค่ายิ่ง เห็นภาพถ่ายแล้ว มันให้รู้สึกว่าความจำที่เลือนๆ ไปนั้นกลับเจิดจรัสขึ้นมาทันที จึงขอนำมาลงให้ท่านดูกันเล่นๆ ดีกว่าอ่านอย่างเดียวให้หูตาลายนะครับ


ซ้าย การออกกำลังกายก่อนเล่นกิฬา ขวา การฝึกปฏิบัติตามคำสั่ง และการเคลื่อนที่ด้วยวิธีต่างๆ
พิธีปิดการฝึก ณ ค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ ประเทศที่ ๓ ภูมั่น ยืนหลัง ผบ.ค่ายฝีกฯ
ครับ ... ในที่สุด เราก็ฝึกกันจนครบตามที่ท่านกำหนดให้ แล้วก็ต้องมีการสังสรรค์กันหน่อย ตามธรรมดาของคณะบุคคลที่ได้ตรากตรำเหน็ดเหนื่อยคร่ำเคร่งจากการฝึกอย่างสาหัสสากรรจ์ เคยได้ล่วงเกินกันบ้าง ก็เป็นอันว่าจบสิ้นกันไป เหลืออยู่แต่ครามรู้ ความชำนาญ ความทรหด อดทนที่ได้จากการฝึกนั้น และที่สำคัญคือ พวกเราจะไปรบกับอริราชศัตรูด้วยกัน อาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาพบกันอีก จริงๆ ครับ หลายคน นับแต่วันนี้แล้ว ไม่ได้พบกันอีกเลย
งานเลี้ยงของเราเริ่มตั้งแต่มื้อกลางวัน ไม่มีกำหนดเลิก แต่วันรุ่งขึ้น รถจะมารับพวกเราไปสนามบินตั้งแต่ ตี ๕ ครึ่ง ต้องรีบนอนกันหน่อย แต่คนที่กลัวว่าจะตื่นยาก จัดของเเตรียมเดินทางเสร็จแล้วนั่งคุยกันจนรถเขามารับก็มี ส่วนผมสัก ๒ ทุ่ม ขึ้นมาในห้องนอนคณะหัวหน้าในกองร้อย ป. ๑๕๕ มม. ก็ได้ยินเสียงเอะอะกันอยู่ ได้ความว่า ภูมน ทำท่าไหนไม่ทราบ เป็นเหตุให้พระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราช หล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ ที่จำลองมาจากพระบรมรูปในโรงเรียนนายร้อยฯ ล้ม และพระศอหัก พระบรมรูปจำลองนี้ พี่ภูมั่น ผู้บังคับกองพัน นำมามอบให้แต่ละกองร้อย นำไปบูชา ครับ ภูมน นั้นตกใจมาก ผมเลยบอกพี่ๆ หัวหน้าทั้งหลายว่าไม่เป็นไร แล้วก็ชวนภูมน ขับรถไปตลาดในค่ายฝึกนั้น หาซื้อทองคำเปลวนำมาปิดรอยหักที่พระศอ ดีที่หักเป็นสองท่อน ไม่เป็นเศษเล็กเศษน้อย ปิดทองแล้วสวยไปซะอีก ทุกคนก็สบายใจ และเศษทองที่เกินที่ปิดผมเอาปิดที่หน้าหมวกเหล็กของผม และยังติดอยู่จนทุกวันนี้ พระบรมรูป ฯ นั้น พี่ภูแสน รอง ผบ.ร้อย.ป.๑๕๕ มม. เลยประกาศว่า ทีนี้พี่รับผิดชอบพระรูปฯ นี้เอง
ครั้นแล้ว ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๔ วันเดินทางของพวกเราก็มาถึง มีการปรับแผนเล็กน้อย คือทาง ทชล. ให้บีเอ.๖๓๖ แยกเป็นสองส่วน ให้ ร้อย ป.๑๐๕ มม. ไปปฏิบัติการในพื้นที่แขวงจำปาศักดิ์ ทางใต้ (ปากเซ) ผบ.พัน ท่านเลยต้องแยก บก.พัน.ส่วนหนึ่งไปด้วย กำลังส่วนใหญ่ คือ ร้อย.ป.๑๕๕ มม., ร้อย.ค.๔.๒ นิ้ว, บก.พัน.และร้อย.บก.ส่วนใหญ่ คงไปปฏิบัติการในแขวงเชียงขวาง พื้นที่ ซำทอง ล่องแจ้ง ทุ่งไหหิน ตามแผนเดิม
รถบรรทุกสัมภาระเริ่มเดินทางไปสนามบินก่อน ตั้งแต่ ตี ๕ พอตี ๕ ครึ่ง รี้พลสกลไกรก็เริ่มเดินทาง ก็ค้วยรถบรรทุกสัมภาระนั่นแหละครับ ที่กลับมารับพวกเรา ไปถึงสนามบิน และเห็นเครื่องบิน ซี - ๑๓๐ ของบริษัท แอร์ อเมริกา นั่นแล้วถึงได้เห็นความแตกต่างจากที่ได้เคยเดินทางไปราชการสงครามเวียดนาม ครั้งนั้น กำลังพลเดินขึ้นเครื่องทางบันไดด้านข้างซ้ายตัวเครื่องบิน มีที่นั่งเป็นตาข่ายนั่ง ซีกละ ๒ แถว หันหน้าเข้าหากัน แต่คราวนี้ ไม่เห็นบันไดให้เดินขึ้น แต่เปิดท้ายเครื่อง และเข็นเอาสัมภาระที่บรรจุลงลังใหญ่ๆ (มีรางลูกกลิ้งรองพื้นเครื่องบินเป็นเครื่องทุ่นแรงในการเข็น) เข้าไปทางท้าย ซีกซ้ายของเครื่อง เมื่อยึดตรึงดีแล้วก็เรียกให้คนเดินตามเข้าไปให้ยืนชิดติดกันยิ่งกว่าขึ้นรถประจำทางบ้านเราซะอีก พอทางซ้ายเต็มแล้วก็ย้ายมาเดินขึ้นทางซีกขวาบ้าง พวกคณะหัวหน้าเราต้องดูแลให้เรียบร้อย แล้วจึงเดินตามเขาขึ้นไป เรียกว่า คณะหัวหน้าขึ้นเครื่องเรียบร้อยเมื่อไหร่ กองพันก็พร้อมเดินทางกันละ เขาขนไปเที่ยวเดียว ขนไปหมดเลย และทุกคนยืนเหมือนกันหมด เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เอาสายผ้าใบมาคาดกั้นแถวหลังสุดกันไม่ให้ล้มเมื่อเรื่องบินต้องเร่งเครื่องเพื่อให้ลอยตัวจากทางวิ่ง ไม่งั้นต้องล้มกันระเนระนาดแน่ๆ ส่วนแถวในๆ ไม่ต้องกั้น เพราะยืนเบียดกันแน่นจนล้มไม่ลงอยู่แล้ว สัก ๔ - ๕ นาที พอเครื่องบินตั้งลำได้ ผมจึงได้หายสงสัยที่พี่ภูมั่น ว่า เมื่อเครื่องตั้งลำได้แล้ว ก็พอจะขยับขยายกันได้บ้าง เพราะ พอเครื่องตั้งลำได้เจ้าหน้าที่เขามาเอาสายผ้าใบที่กันล้มออก พวกหัวหน้าที่ยืนอยู่แถวหลังก็ขยับขยายออกมานั่งๆ นอนๆ ที่ส่วนท้ายเครื่องซึ่งเอียงลาดขึ้นไป เท่านั้นเอง

.jpg)
C -130 Hercules - The 20th Century's Greatest Airlifter Will Also Be the 21st Century's
ซ้าย การบรรทุกกำลังพล และสัมภาระขึ้นทางท้ายเครื่อง ขวา ขณะลอยลำในอากาศ
เจ้าเฮอร์คิวลิส ซี - ๑๓๐ บินอยู่ชั่วโมงกว่าๆ เจ้าหน้าที่ก็มาให้เราไปเข้าแถวและเอาสายผ้าใบมาคาดกันล้มให้อีกตามเดิม แล้วก็ร่อนลงสนามบินล่องแจ้ง LS - 20 A แขวงเชียงขวาง พระราชอาณาจักรลาว


สนามบินล่องแจ้ง LS20A


XiangKhong Plan XiangKhong



สนามบินล่องแจ้งในมุมต่างๆ หัวทางวิ่งด้านตะวันออก มีโบสถ์หลังหนึ่ง


ซ้าย เต ซาวแปด (T 28) เครื่องบินรบของ ทชล. ที่สนามบินล่องแจ้ง ขวา T 28 บินขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจโจมตีเป้าหมายในทุ่งไหหิน
เมื่อบ่ายนี้ คุณ นักรบรับจ้าง เพื่อนคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว ส่งภาพถ่ายจากมุมสูงพระอุโบสถ ที่หัวสนามบินล่องแจ้ง มาให้
ขออนุญาตเผยแพร่ให้ได้ชมภาพสีสัน ให้สดชื่น มีชีวิตชีวากันหน่อยครับ . . . เชิญครับ


ศาลพระภูมิที่หน้ากองบัญชาการกองกำลังอาสาสมัครทหารเสือพรานที่ล่องแจ้ง
เทือกเขาสูงที่เห็นอยู่เบื้องหลัง มีชื่อเป็นที่รู้ทั่วกันว่า สกายไลน์ Sky Line

กองบัญชาการกองกำลังอาสาสมัครทหารเสือพราน (บก.กกล.ทสพ.) ที่ล่องแจ้ง ชื่อรหัสว่า "สิงหะ" เล็ก ปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง
.jpg)
สบายดี ปี้น้องลาว
ที่สนามบินล่องแจ้งฝนตกมาหลายวันแล้ว วันนั้นฝนตกพรำๆ แต่อากาศเปิด ทัศนวิสัยดี เห็นเครื่อง เต - ซาวแปด (T - 28) เครื่องบินรบของ ทชล. และ เฮลิคอปเตอร์ ของ แอร์ อเมริกา ขึ้น - ลง กันขวักไขว่ มีรถบรรทุกมารับพวกเราไปเข้าที่รวมพลแห่งหนึ่ง ดูลักษณะคล้ายๆ โรงเรียน สนามหญ้าเฉอะแฉะไปหมด ไม่มีนักเรียนสักคน ไม่ทราบว่าโรงเรียนปิดเทอมหรือเลิกสอน ทราบภายหลังว่า ชื่อโรงเรียนลาวรวมเผ่า เลิกสอนหลายปีแล้ว
พวกเรา อยู่ในที่รวมพลนี้ประมาณ ๑ สัปดาห์ หน่วยเหนือก็สั่งให้ ร้อย.ป.๑๕๕ มม. ไปเข้าที่ตั้งยิงซีบรา แทนหน่วยปืนใหญ่เดิมซึ่งรุกคืบหน้าไปสร้างที่ต้งยิงใหม่ในทุ่งไหหิน และเพื่อ รักษา / จัดส่งกระสุนปืนใหญ่ที่ตกค้างอยู่ไปให้หน่วยในทุ่งไหหิน
มาถึงราชอาณาจักรลาวตั้งอาทิตย์แล้วเพิ่งจะได้เว้า สะ - บาย - ดี ตอนที่ออกไปศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคมเมืองล่องแจ้ง นี่เอง


ย่านธุรกิจการค้าของตลาดล่องแจ้ง กรกฎาคม ๒๕๑๔

ตลาดเช้าล่องแจ้ง นักบินลาว ก็จ่ายตลาด
ครับ . . . ในที่สุด จาก ค่ายฝึก - ล่องแจ้ง พวกเรา บีเอ ๖๓๖ ก็ ไปสู่ เขาสูง ก่อนถึง ทุ่งไหหิน
เหตุการณ์ต่อไป . . . พระราชอาณาจักรลาว
เหตุการณ์ต่อไป . . . พระราชอาณาจักรลาว
เหตุการณ์ต่อไป . . . พระราชอาณาจักรลาว
ภาพและข้อมูลบางส่วน จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี