๓. พระราชอาณาจักรลาว
ชาติลาวและไทยก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์ . . . ร่วมสายโลหิตเดียวกันเพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง
ถึงแม้ว่า ลาว - ไทย ถือว่าเป็นเพื่อนบ้านพี่น้องใกล้ชิดกันอย่างยิ่งก็ตาม แต่ผมเองยอมรับว่ารู้จัก ลาวน้อยมาก เมื่อเด็กๆ นั้นรู้แต่เพียงว่า - เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดทางทิศอิสานของไทย - ไม่มีทางออกทะเล - ไม่มีทางรถไฟ - มีพระมหากษัตริย์ เรียกว่าเจ้ามหาชีวิต - แสตมป์สวย - ผู้คนน้ำใจงามมาก - คนลาวพูดภาษาลาว คนไทยพูดภาษาไทย ก็คุยกันได้รู้เรื่องดี เหมือนพูดจาภาษาเดียวกัน และก็ยังคงมีความรู้เกี่ยวกับลาวอยู่เท่าเดิม
ครั้นเมื่อได้เป็นทหารในกองทัพพระราชอาณาจักรลาวจึงได้ศึกษาบ้าง และค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อมีโอกาส เท่าที่พอจะจำ และ นำมาเล่าได้ ว่ากันย่อๆ จนถึงลาวต้องรวมเข้าเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส และได้เอกราชเป็นพระราชอาณาจักรลาว ก็มีดังนี้
ยุคโบราณนานมา
ยุคโบราณนานมานั้น ว่าชาวลาวมีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ในมณฑลเสฉวน ยูนนาน ของจีน (คล้ายๆกับ ไทย) ต่อมาก็เคลื่อนย้ายลงทางใต้ จนถึงมณฑลยูนนาน ในปัจจุบัน สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้า ตั้งเมืองหลวงชื่อ หนองแส ต่อมา ยุคขุนบรมราชาธิราช ได้สถาปนาเมืองนาน้อยอ้อยหนู ให้เป็นเมืองหลวงตั้งชื่อว่า เมืองแถน ขุนบรมได้ส่งโอรสไปครองเมืองต่างๆ ในแถบอินโดจีนเป็นหลายเมือง
ประวัติศาสตร์ไทยว่า ขุนบรม ตั้งเมืองหลวงที่หนองแส หรือ ตาลีฟู ส่วนเมืองแถน คือ เดียน เบียน ฟู ในปัจจุบัน
ครั้นลุ พ.ศ.๑๓๐๐ ซึ่งเขมรยังมีอิทธิพลในดินแดนแถบอินโดจีน ขุนลอ ซึ่งครองเมืองชวา ได้ตั้งอาณาจักรล้านช้าง และเปลี่ยนชื่อเมืองชวาเป็นเมืองเชียงทอง พร้อมทั้งขจัดอิทธิพลของเขมรออกจากอาณาจักรล้านช้าง

ตราสัญญลักษณ์อาณาจักรล้านช้าง
รวมเลือดเนื้อเชื้อชาติลาว
จำเนียรกาลผ่านมา จวบจนบรรลุสมัยพระยาสุวรรณคำผง ครองอาณาจักรล้านช้าง ปรากฏว่า ท้าวผีฟ้า ผู้เป็นโอรสมีความผิดมหันต์ถึงขั้นเนรเทศ (หรือท้าวผีฟ้าหนีไปเองก็ได้) ไปอยู่ในสำนักเขมร ท้าวผีฟ้า นำท้าวฟ้างุ้ม ผู้โอรสไปด้วย สมัยนั้น ชนชาติไทยก็เริ่มตั้งอาณาจักรสุโขทัย และเขมรเริ่มเสื่อมอำนาจลง เมื่อสิ้นสมัยของพระยาสุวรรณคำผง ฟ้าคำเฮียว อนุชาพระยาสุวรรณคำผงได้ครองอาณาจักรล้านช้าง ต่อไป แต่เขมรก็สนับสนุนให้เข้ายึดอำนาจจากฟ้าคำเฮียว และครองอาณาจักรล้านช้าง เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๖ (พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๖)
ท้าวฟ้างุ้ม พยายามสร้างอาณาจักรล้านช้างให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่คงอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมร ในปี พ.ศ.๑๙๐๒ ได้ขอพระบาง ซึ่งอยู่ที่เขมร อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเชียงทอง
ท้าวฟ้างุ้มครองอาณาจักรอยู่ ๓ ปี ใน พ.ศ.๑๘๙๙ ก็ถูกขุนนางยึดอำนาจ แล้วแต่งตั้งพระยาอุ่นเฮือน โอรสให้ครองอาณาจักรแทน ท้าวฟ้างุ้มจึงหนีมาเมืองน่าน จนสิ้นชีวิต ใน พ.ศ.๑๙๑๖
ในสมัยของ พระยาอุ่นเรือน พ.ศ.๑๘๙๙ - ๑๙๑๖ พระเจ้าสามแสนไทยไตรภูวนารถ พ.ศ.๑๙๑๖ - ๑๙๖๐ และ พระยาล้านคำแดง พ.ศ.๑๙๖๐ - ๑๙๗๑ รวมเวลาประมาณ ๗๐ ปี อาณาจักรล้านช้าง ปลอดจากภัยคุกคามภายนอก เพราะเขมรแทบจะหมดอำนาจ สุโขทัย และล้านนา กำลังเสริมสร้างและบำรุงอาณาจักรของตน ล้านช้างจึงมีโอกาสเสริมสร้างความมั่นคงของตนเช่นกัน
หลังจากที่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นปรกติสุข ก็ต้องมีศึก ต่อมา ใน สมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว พ.ศ.๒๐๒๓ อาณาจักรล้านช้างถูกเวียดนามรุกรานเข้ายึดเมืองเชียงทอง พระเจ้าไชยจักรพรรดิฯ ต้องมอบราชสมบัติให้เจ้าสุวรรณบัลลังก์ ราชโอรส ส่วนพระองค์หนีไปเมืองเชียงคาน และต่อมาเมื่อเจ้าสุวรรณบัลลังก์กู้แผ่นดิน
ได้แล้ว ก็เวนราชสมบัติให้พระบิดา จนกระทั่งพระบิดาสวรรคต เจ้าสุวรรณบัลลังก์จึงรับราชสมบัติต่อ จนสวรรคตใน พ.ศ.๒๐๒๙
พระยาหล้าแสนไทย อนุชาสืบราชสมบัติต่อ จนสวรรคตใน พ.ศ.๒๐๓๙
เจ้าชมพู โอรส ครองอาณาจักรสืบต่อ แต่ใน พ.ศ.๒๐๔๔ ถูกบวกกบฏจับสำเร็จโทษ
พระเจ้าวิชุณราช โอรสพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว ได้ราชสมบัติทรงสร้างวัดวิชุณราช เป็นที่ประดิษฐานพระบาง และเมืองเชียงทองก็เป็นที่เรียกว่าเมืองหลวงพระบาง นับแต่นั้นมา

พระบาง
พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด (ทองคำ ๙๐ เปอร์เซนต์) ปางห้ามสมุทร สูง ๒ ศอก ๗ นิ้ว (๑.๔๔ เมตร) ศิลปะแบบบายนตอนปลาย (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ -ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙) พระเศียรเกลี้ยงสำหรับประดับเครื่องทรง
ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระนาสุรสีห์ฯ กรีฑาทัพไปอาณาจักรล้านช้าง ได้อัญเชิญพระบาง และพระแก้วมรกต มาประดิษฐาน ณ กรุงธนบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานพระบางแก่อาณาจักรล้านช้าง

ปัจจุบันประดิษฐานในหอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง
ฟื้นฟูชูชาติลาว บำรุงพระพุทธศาสนา
พระเจ้าโพธิสารราช พ.ศ.๒๐๖๓ - ๒๐๙๐ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลาวที่ฉลาดหลักแหลม มีพระทัยเลื่อมใสหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และเป็นกุศลยิ่ง ทรงห้ามการบูชาไหว้ผีต่างๆ และยังได้ทรงทำนุบำรุงศิลปะ และวรรณกรรมอีกด้วย
ในด้านความมั่นคง ได้นำอาณาจักรล้านช้างแผ่อิทธิพลเข้าไปในอาณาจักรล้านนา ทั้งนี้เนื่องจากล้านนาได้อ่อนแอลง เนื่องจากได้ทำศึกกับอาณาจักรอยุธยาเป็นเวลายาวนาน และรุกรานเชียงตุงไม่สำเร็จ ทางล้านช้างและหงสาวดีจึงแผ่อิทธิพลเข้าไปในล้านนา
ใน พ.ศ.๒๐๘๘ พระเจ้าเกศเชษฐราช แห่งอาณาจักรล้านนา สวรรคต ไม่สามารถสรรหาผู้สืบราชสมบัติได้ เหล่าขุนนางแคว้นล้านนาจึงต้องอัญเชิญ เจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสารราช และเจ้าหญิงแห่งล้านนา ให้ครองอาณาจักรล้านนา
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๔ ทรงเป็นกษัตริย์ลาวที่ชาวไทยคุ้นพระนามมากกว่ากษัตริย์ลาวพระองค์อื่น ในสมัยของพระองค์ทรงได้อาณาจักรล้านนาไว้ในอำนาจ ทรงเจริญพระราชไมตรี กับ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ทรงสร้างพระธาตุศรีสองรักเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระราชไมตรีและระหว่างสองอาณาจักร และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง กับบูรณะพระธาตุพนมอีกด้วย
ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑), สมเด็จพระมหินทราธิราช (พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๑๒) และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓)
และในสมัยนี้พระเจ้าบุเรงนองได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรหงสาวดี ที่เข้มแข็งมาก จึงใน พ.ศ.๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างลงไปที่เมืองเวียงจันทน์ ทางใต้เมืองหลวงพระบาง ประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขง ตั้งชื่อใหม่ว่า พระนครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุดมราชธานี ซึ่งชาวเราคุ้นเคยกันในชื่อ กรุงศรีสัตนาคนหุต
พ.ศ.๒๑๐๗ กองทัพพม่า เข้ารุกรานและยึดกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระเจ้าไชยเชษฐามิได้ประทับอยู๋ กองทัพพม่าได้กวาดต้อนผู้คนกลับไป รวมทั้งอุปราชวรวังโส พระอนุชา ด้วย
ต่อมา ในพ.ศ.๒๑๑๔ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จออกปราบกบฏที่เมืองรามรักองการ และไม่ปรากฏพระองค์อีก เจ้าหน่อแก้ว พระโอรสซึ่งเพ่งประสูติจึงได้ราชสมบัติสืบต่อไป

พระธาตุหลวง กรุงศรีสัตนาคนหุต / เวียงจันทน์
พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
ลาวต่างคนต่างแข่งกันแย่งดี ก็เป็นช่องไพรีที่มุ่งร้าย
และใน พ.ศ.๒๑๑๔ พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย เห็นว่าพระเจ้าหน่อแก้วนั้นยังเยาว์มากนัก จึงถอดออกเสียและตั้งตนเป็นกษัตริย์ครอบครองกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไป เป็นกษัตริย์อยู่ได้ ๔ ปี
กระทั่ง พ.ศ.๒๑๑๘ กองทัพพม่าก็มาตี และยึดกรุงศรีสัตนาคนหุตได้อีก แล้วแต่งตั้งพระมหาอุปราชวรวังโส ซึ่งพม่านำตัวไปกรุงหงสาวดี เมื่อครั้งการศึก พ.ศ.๒๑๐๗ ให้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรล้านช้าง และนำตัวพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยกลับไปกรุงหงสาวดี
ต่อมาใน พ.ศ.๒๑๒๓ เกิดกบฏขึ้นในเวียงจันทน์พระมหาอุปราชฯสู้ไม่ได้ จึงเสด็จหนีไป แต่เสียชีวิตในระหว่างทาง ฝ่ายพม่าจึงเข้ามาปราบกบฏ และแต่งตั้งพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย ให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอีก จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.๒๑๒๕
พระยานครน้อย โอรสได้เป็นกษัตริย์สืบต่อ แต่ประชาราษฎร์ไม่นิยม จึงถูกขุนนางปลดออก และไม่ทราบว่าจะสรรหาผู้ในมาเป็นกษัตริย์ และเวียงจันทน์ หรือ กรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ไม่มีกษัตริย์อยู่ถึง ๘ ปี บรรดาขุนนางลาวที่มีอำนาจ ปลดกษัตริย์ แต่ไม่มีปัญญา หาผู้มาเป็นกษัตริย์จึงขอร้องคณะสงฆ์ให้เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อ
ขอพระหน่อแก้ว โอรสพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ให้มาเป็นกษัตริย์ลาวสืบต่อไป (พระเจ้าบุเรงนองน่าจะนำพระหน่อแก้วไปพม่าพร้อมกับพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๘)
พระหน่อแก้วได้เป็นกษัตริย์ลาว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๓๔ ถึง พ.ศ.๒๑๓๙ ก็สวรรคต พระวรวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระญาติได้รับราชบัลลังก์ต่อไป
ใน พ.ศ.๒๑๖๔ พระวรวงศาธรรมิกราช เกิดข้อขัดแย้งกับพระอุปยุวราช ผู้เป็นโอรส จนถึงขั้นเข้าต่อสู้กัน พระอุปยุวราชสังหารพระบิดาได้ และได้ราชสมบัติ แต่เพียงปีเศษๆ ก็สวรรคต
ประชาชนจึงเชิญพระยามหานาม ขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้รับเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระยาบัณฑิตโพธิสาร ครองราชย์ได้ ๔ ปี เศษก็สวรรคต
ประชาชนจึงเชิญพระหม่อมแก้ว โอรสพระวรวงศาธรรมิกราช (ที่ถูกโอรสสังหาร) ให้ครองราชย์ จวบจน พ.ศ.๒๑๗๐ จึงสวรรคต
จากนั้น พระอุปยุวราช (คนละคนกับที่สังหารพระบิดา) ได้ครองบัลลังก์ และเมื่อสวรรคต พระองค์มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือ ท้าวต่อนคำ และ ท้าววิชัย ก็ได้ครองราชสมบัติร่วมกัน จนกระทั่งท้าววิชัย สวรรคต เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๙
กลับรุ่งเรือง
หลังจากท้าววิชัยสวรรคตใน พ.ศ.๒๑๗๙ แล้ว ต่อมาอีก ๒ ปี คือ พ.ศ.๒๑๘๑ พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ได้เป็นกษัตริย์ ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้อาณาจักรล้านช้างอีกครั้งหนึ่ง เพราะทรงหลักแหลมในการปกครอง และเป็นธรรมยิ่ง โดยไม่มีข้อยกเว้นแก่ผู้ใด แต่บ้านเมืองก็สงบ ร่มเย็น และรุ่งเรืองในทาง ศิลปะ และวรรณกรรม แต่พระองค์ไม่มีรัชทายาท และสวรรคตใน พ.ศ.๒๒๓๘
ตรงกับยุคกรุงศรีอยุธยา รัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙) , สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) และ สมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๕)
เนื่องจากไม่มีรัชทายาท ขุนนาง และอาณาประชาราษฎร์จึงพร้อมใจกันเชิญพระยาเมืองจัน ขุนนางผู้ใหญ๋ให้รับราชสมบัติเป็นกษัตริย์ แต่ก็ถูกเจ้านันทราช แห่งเมืองน่าน นำกองทัพมายึดเวียงจันทน์และเป็นกษัตริย์ลาวใน พ.ศ.๒๒๓๘
อาณาจักรล้านช้าง (สามเศียร) - อินโดจีนของฝรั่งเศส

หลังจากแผ่นดินพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแล้ว อาณาจักรล้านช้างก็ระส่ำระสาย ต่างแสวงหาพลังอำนาจจากภายนอกมาค้ำจุนตน จนในที่สุดอาณาจักรล้านช้างก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และ
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
อาณาจักรล้านช้างทั้งสาม ได้มีโอกาสต้อนรับกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพ.ศ.๒๓๒๑ - ๒๓๒๒ และรวมเข้าในพระราชอาณาเขต
ลาว - ไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๓๖๗ ญวนซึ่งกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรและลาว คิดว่าจะเกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติไทย จึงได้ยุยงและสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ให้เป็นกบฏใน พ.ศ.๒๓๖๙ (ลาวอยู่ในอำนาจพม่าในสมัยอลองพญา และตั้งตัวเป็นอิสระในสมัยกรุงธนบุรี และเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา)
กบฏเจ้าอนุวงศ์ ๒๓๖๙
พระเจ้าอนุรุทธราช หรือ เจ้าอนุวงศ์รวบรวมกองทัพลาวจากเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ แต่ได้ถูกคุณหญิงโม รวบรวมผู้คนต่อสู้จนได้ชัยชนะกองทัพลาว ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองนครราชสีมา ดังที่ชาวไทยเราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ จัดกองทัพให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ ติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวน และทางญวนก็ได้ส่งกองทัพมาช่วยเจ้าอนุวงศ์รบไทยด้วย แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพไทยได้เข้าเวียงจันทน์ได้แล้ว ญวนจึงเลิกทัพกลับไป
ฝ่ายกองทัพไทยได้ทำลายเวียงจันทน์ และตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธันวาคม ๒๓๗๐ เจ้าอนุวงศ์ถูกขังอยู่ประมาณ สัปดาห์หนึ่งก็สิ้นชีวิต
.jpg)
พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร (เจ้าอุ่นคำ) กษัตริย์อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง พ.ศ.๒๔๑๕ - ๒๔๓๑ ประทับบนพระราชบัลลังก์ ในพระราชวังหลวงเมืองหลวงพระบาง
(ทรงเป็นพระราชอนุชาในพระเจ้าจันทรเทพประภาคุณ พระราชโอรสในเจ้ามันธาตุราช )
รัชกาลที่ ๕ ทรงถอดเสียจากตำแหน่งเจ้านครหลวงพระบาง ฐานหย่อนสมรรถภาพ, ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๓๘
. . . ไทยต้องยอมยกอาณาจักรล้านช้างให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อคราวกรณีพิพาท ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) และ พ.ศ.๒๔๔๖
ฝรั่งเศสก็จัด ลาวเข้ารวมอยู่ใน อินโดจีนของฝรั่งเศส . . .
พระราชอาณาจักรลาว
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดดินแดนของอังกฤษ และฝรั่งเศส รวมทั้งลาว ด้วย และขบวนการลาวอิสระได้เคลื่อนไหวประกาศเอกราชให้ลาว เป็นประเทศพระราชอาณาจักรลาว แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามและฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอิทธิพลในลาวต่อไป แต่ในที่สุดฝรั่งเศสยอมให้เอกราชแก่ลาวบางส่วน ในพ.ศ.๒๔๙๒
ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสนั้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง หรือ เป็นผู้มีบารมีมาก คือ เจ้าเพชรราช เจ้าสุวรรณภูมา และ เจ้าสุภานุวงศ์ ซึ่งได้ดำเนินการจนได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์ เรียกว่า เจ้ามหาชีวิต

พระเจ้ามหาศรีวิธา ล้านช้างร่มขาว พระราชอาณาจักรลาว บรมเชษฐาขัติยสุริวรมัน พระมหาศรีสว่างวรมัน

เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๑๘
ลาว - ลาว - ลาว
ฝ่ายประเทศมหาอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์ต้องใช้วิธีการต่างๆ เพื่อสกัดกั้น และสนับสนุนประเทศเล็กๆให้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย รวมทั้งการใช้วิธีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่น การปฏิวัติ รัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล เลิกรัฐสภาที่ได้มาจากการเลือกตั้ง
พ.ศ.๒๕๐๔ เจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ร้อยเอก กองแล วีระสาน ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา แต่ในที่สุดคณะรัฐประหารของทหารลาวก็ไม่สามารถนำประเทศให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้ และพ่ายแพ้ไปในที่สุด ผู้ที่สนับสนุนให้ทหารกระทำรัฐประหารเลยจัดการให้ผู้นำรัฐประหารลี้ภัยไปต่างประเทศ
จาก อาณาจักรล้านช้าง - แบ่ง แยก ออกเป็น
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง ,อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ , อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
เป็นประเทศราชของราชอาณาจักรไทย
เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และ . . .
พ ร ะ ร า ช อ า ณ า จั ก ร ล า ว
ด้วยประการ ฉะนี้
.jpg)
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งของลาวในการกอลกู้เอกราชจากฝรั่งเศส


เขตการปกครองของพระราชอาณาจักรลาว

๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐











แสตมป์ พระราชอาณาจักรลาว สะสมไว้ตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๔ จึงมีความจำมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า แสตมป์ลาวสวย เพราะแสตมป์ไทยสมัยนั้น ยังไม่เน้นแสตมป์เพื่อการสะสมเช่นปัจจุบัน จะได้เห็นพระสาทิสลักษณ์ พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ พระมหากษัตริย์พระองค์แรก และ พระเจ้าสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์ พระองค์สุดท้ายของพระราชอาณาจักรลาว
นอกนั้นก็แสดงถึงวัฒนธรรมลาว และอิทธิพลของฝรั่งเศสที่มีต่อลาว
จากนั้นพระราชอาณาจักรลาวก็รบกันเองจนทหารภายในประเทศไม่พอจะรบกัน ต้องร้องขอให้มิตรประเทศช่วยบ้าง
และต้องรับสมัครคนมาเป็นทหารในกองทัพพระราชอาณาจักรลาวด้วย
* * * * * * * * * * * * * * *
เหตุการณ์ต่อไป . . . Have Gun Will Travel
เหตุการณ์ต่อไป . . . Have Gun Will Travel
เหตุการณ์ต่อไป . . . Have Gun Will Travel
หมายเหตุ :-
พ.ศ.๒๕๑๘ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเข้ากุมอำนาจรัฐสำเร็จ ล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ไปค่ายสัมมนาที่เมืองเวียงชัย และสวรรคตที่นั่น
เจ้าสุภานุวงศ์ได้ดำรงตำแหน่งประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนแรก ๓ ธันวาคม ๒๕๑๘ - ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๔