๕. ถึงแล้ว . . . ทุ่งไหหิน

ทุ่งไหหิน ๘ กันยายน ๒๕๑๔
เช้าแรกในทุ่งไหหิน ดูเหมือนผมจะตื่นเต้นมาก ตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น พอเห็นลายมือก็เดินสำรวจที่ตั้งส่วนต่างๆ ในบริเวณที่ตั้งยิง หรือ ฐานยิงสนับสนุนไลอ้อนนี้ ก็ใช้เวลาค่อนชั่วโมงกว่าจะเดินรอบเพราะเป็นเนินเตี้ยๆ ของภูเทิง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย แต่ต้องเดินลุยป่าขึ้นเขาไปประมาณ ๓ กม. เดินรอบแล้ว ก็ขึ้นไปที่ส่วนสูงสุดของเนิน เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางขอบฟ้าลำแสงส่องหมอกบางๆ ในทุ่งไหหิน ที่ค่อยๆ จางหายไป เมื่อ สายขึ้น ๆ

ทุ่งไหหิน ยามเช้าตรู่ ตุลาคม ๒๕๑๔ ภาพโดย ภูแก้ว
ในที่ตั้งยิงนี้ มีหลุมที่ตั้งปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. จำนวน ๖ หลุม อยู่ส่วนสูงของเนิน แต่ไม่ใช่ยอดเนินนะครับ อยู่ส่วนที่สูงแต่ด้านหลังเนิน (ถือว่าด้านข้าศึกเป็นด้านหน้า) เพราะจะได้ใช้หน้าเนินช่วยป้องกันอันตรายจากการยิงของข้าศึกได้ และก็ต้องอยู่สูงพอที่จะยิงข้ามเนินไปได้เหมือนกัน คุณสมบัติเยอะจังนะครับ นอกจากที่ตั้งปืนใหญ่ ก็มี
ศูนย์อำนวยการยิง - ศอย. ศอย. เป็นที่คำนวณและอำนวยการยิง คือ เมื่อได้รับคำขอยิง จาก ผู้ตรวจการณ์หน้า หรือจากที่ใดก็แล้วแต่ ศอย.ก็ต้องพิจารณาว่า จะโจมตี หรือ ยิง แต่ละเป้าหมายอย่างไร ใช้ปืนขนาดใด (กรณีที่มีปืนใหญ่มากกว่า ๑ ขนาด) ใช้ปืนกี่กระบอก ใช้กระสุนกี่นัด ใช้ชนวนอะไร ฯลฯ และคำนวณ ออกมาเป็นคำสั่งยิง ก็สั่งกันหลายหัวข้อครับ แต่ส่วนที่ทำให้กระสุนไปถูกเป้าหมายคือ มุมทิศ และ มุมยิง ศอย.ทำงานบนกระดาษ เมื่อสั่งแล้ว
ส่วนยิง คือ ปืนใหญ่แต่ละกระบอก ก็ตั้ง มุมทิศ และ มุมยิง แล้วก็เล็งไปที่หลักเล็ง แล้วก็ ยิง เท่านี้แหละครับ เรียบโร้ย . . . กระสุนก็ลอยไปตกที่ที่เราต้องการ ใครมาอยู่ในรัศมี ๕๐ เมตรก็ เป็นเคราะห้เป็นกรรมไป ทหารปืนใหญ่ไม่ได้ยิงใครสักคน ศอย.ปักหมุดลงไปบนแผ่นเรขาการยิง สั่งมุมทิศ มุมยิง พลประจำปืน ก็เล็งหลักเล็ง และ กระตุกเชือกลั่นไก หากกระสุนตกไม่ถูกใจ ก็มี ผู้ตรวจการณ์หน้า - ผตน. บอก ปรับการยิง คือจะให้ย้ายกระสุนไปตกให้ใกล้ ไกล ซ้าย ขวา จากนัดที่ยิงไปก่อน ก็บอกไปที่ ศอย. อย่างแหละครับ ทหารปืนใหญ่ที่จะเห็นเป้าหมายก็ ผตน. นี่แหละ เหมือนกับเป็น ตา ของปืนใหญ่
ส่วนที่ตั้งอิ่นๆ ก็เป็นไปตามความจำเป็น เช่น แหล่งน้ำ ที่เชิงภูเทิงเราใช้น้ำบ่อครับ ขุดไปไม่ลึกเท่าไรก็พบน้ำแล้ว สูทกรรม หรือ ครัว ห้องน้ำ ก็อยู่แถวๆ บ่อน้ำแหละครับ ห่างประมาณ ๑๐๐ เมตร และหมวดระวังป้องกัน ก็กระจายกันอยู่รอบฐาน แบ่งเขตกับทหารราบที่มาร่วมระวังป้องกันให้ด้วย ที่นอน ก็นอนในที่ทำงาน คือ หัวหน้า และเจ้าหน้าที่ ศอย. ก็นอนใน ศอย. พลประจำปืนก็นอนในบังเกอร์ หรือ หลุมปืนนั่นแหละครับ
ครับ . . . มาถึงทุ่งไหหินก็ขอโอกาสนี้เล่าถึงสถานการณ์ ทั่วๆ ไปในพื้นที่เสียหน่อย เดี๋ยวท่านที่ติดตามมาแต่ต้นจะเข้าใจว่าไปศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ หรือ ไปท่องเที่ยว หรือ ไปถ่ายแบบ อะไรประมาณนั้นไป
เมื่อ ทชล.รับสมัครบุคคลไม่จำกัด เชื้อชาติ ศาสนา เข้าเป็นทหารใน ทชล. จนได้จำนวนมากพอแล้วก็จัดตั้ง กองกำลังอาสาสมัครทหารเสือพราน - กกล.ทสพ. เพื่อให้ปกครองบังคับบัญชาทหารเสือพรานด้วยกันเอง
สถานการณ์ทั่วไป
ในเดือน มกราคม - เมษายน ๒๕๑๔ กกล.ทสพ. และ ทชล.๒ ของนายพลวังเปา ได้เปิดฉากการรุกอย่างหนักทุกแนวรบ ตั้งแต่ ล่องแจ้ง - ซำทอง - ภูล่องมาด - บ้านนา กำลังภาคพื้นดิน ได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่วันละ ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ นัด และการโจมตีทางอากาศ วันละหลายสิบเที่ยวบิน
ฝ่ายข้าศึกถอนตัวอย่างรวดเร็วออกจากแนวรบ ผ่านทุ่งไหหิน และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้จำนวนหนึ่ง ทำให้ฝ่ายเราประมาณการว่า ข้าศึกสูญเสียอย่างหนัก และ ยังไม่สามารถรุกโต้ตอบฝ่ายเราได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ฝ่ายข้าศึกถูกโจมตีอย่างหนัก ถอนตัวอย่างรวดเร็ว และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ ไว้จำนวนหนึ่งนั้น ข้าศึกสูญเสียเพียงเล็กน้อย และถอนตัวอย่างรวดเร็วผ่านทุ่งไหหินกลับเวียดนามเหนือ เพื่อฟื้นฟูกำลังพล และฝึกทบทวน วางกำลังส่วนหนี่งไว้ทางตอนเหนือ และตะวันออกของทุ่งไหหิน เพื่อสกัดกั้นการไล่ติดตามของฝ่ายเรา ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทิ้งไว้นั้น อาจจะทิ้งไว้เพื่อกลับนำมาใช้อีก
ฤดูแล้ง ปีก่อนๆ ข้าศึกมักจะเป็นฝ่ายรุก เข้ายึดซำทอง และพยายามเข้ายึดล่องแจ้งเสมอมา แต่ปีนี้ฝ่ายรัฐบาลลาวรับสมัครทหารอาสาสมัครจำนวนมาก ฝ่ายรัฐบาลลาวโดย ทชล.๒ และ กกล.ทสพ. จึงชิงเป็นฝ่ายรุกก่อน และสามารถ รุกไล่โจมตีให้ไพรีแตกและหนีพ่ายไป (ดังเนื้อเพลงมณฑลบูรพา) ตามที่ได้กล่าวแล้ว
ในเดือน พฤษภาคม ๒๕๑๔ ฝ่าย ทชล. และ กกล.ทสพ.ไล่ติดตามข้าศึกที่ถอนตัวผ่านทุ่งไหหิน แต่ไม่สามารถทำลายกำลังข้าศึกได้ ด้วยการสนันสนุนทางอากาศอย่างมากมาย ทชล.๒ และ กกล.ทสพ. ก็สามารถยึดที่มั่นในทุ่งไหหินได้ และ วางกำลังแล้ว ดังนี้
กกล.ทสพ.
มิถุนายน บีซี ๖๐๔ เข้ายึดที่มั่นบริเวณ ภูห่วง ด้านใต้ของทุ่งไหหิน เมื่อ ๑๒ มิถุนายน เพื่อให้หน่วยของ ทชล.๒ รุกคืบหน้าเข้าสู่ทุ่งไหหินต่อไป
บีเอ ๖๓๕/๑๐๕ เข้าที่ตั้งยิงบริเวณภูห่วง สร้างฐานยิงคอบบรา มีปืนใหญ่ ขนาด ๑๐๕ มม.- ๒ กระบอก เมื่อ ๑๔ มิถุนายน เพื่อสนับสนุนการรุกเข้าทุ่งไหหินของ ทชล.๒
บีซี ๖๐๙ เข้ายึดภูเทิง ทางด้านตะวันออกของทุ่งไหหิน เมื่อ ๒๔ มิถุนายน เพื่อควบคุมเส้นทาง หมายเลข ๔ และสกัดกั้นข้าศึกที่จะรุกเข้าสู่ทุ่งไหหิน จากเมืองเชียงขวาง
กรกฎาคม บีซี ๖๑๐ ยึดภูเซอ ทางตะวันตกของทุ่งไหหิน เมื่อ ๒ กรกฎาคม
บีเอ ๖๐๓ และ ๖๐๗ เข้ายึด บ้านโตน และ สนามบินลาดห่วง เมื่อ ๙ กรกฎาคม เพื่อระวังป้องกันให้ที่คั้งยิงมัสแตง
บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ สร้างที่ตั้งยิง มัสแตง ที่บ้านโตน มีปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม.- ๔ กระบอก ขนาด ๑๐๕ มม.- ๒ กระบอก
บีซี ๖๐๖ เข้ายึดบริเวณภูเก็ง ทางตอนเหนือของทุ่งไหหิน เมื่อ ๑๓ กรกฎาคม
สิงหาคม บีซี ๖๐๕ เข้าที่มั่นบริเวณ เชิงภูเทิง เมื่อ ๓ สิงหาคม ร่วมกับ บีซี ๖๐๙ ซึ่งยึดบริเวณยอดภูเทิงอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน
บีเอ ๖๓๖/๑๕๕ และ ค.๔.๒ สร้างที่ตั้งยิง ไลอ้อน ที่เชิงภูเทิง มีปืนใหญ่ ขนาด ๑๕๕ มม.- ๔ กระบอก ขนาด ๑๐๕ มม.- ๒ กระบอก เพื่อเพิ่มเติมกำลังยิงให้ บีเอ ๖๓๕ ที่มัสแตง และ ต่อมาได้รับ ค.๔.๒ นิ้ว - ๕ กระบอก
บีเอ ๖๓๕/ค.๔.๒ สร้างที่ตั้งยิง คิงคอง ที่ภูเก็ง เมื่อ ๑๒ สิงหาคม มีปืนใหญ่ ขนาด ๑๕๕ มม.- ๒ กระบอก ขนาด ๑๐๕ มม.- ๓ กระบอก และ ค.๔.๒ นิ้ว - ๓ กระบอก
ทชล.๒
ทชล.๒ มีกำลังในทุ่งไหหิน ๓ กรม เคลื่อนที่เร็ว และ ๓ กองพันอิสระ หน่วยของ ทชล.๒ จะเป็นหน่วยเข้าคี เมื่อยึดที่หมายได้แล้ว หน่วย ทสพ.จึงยึดพื้นที่ไว้ แล้ว หน่วย ทชล.๒ ก็รุกต่อไป เมื่อข้าศึกถอนตัวอย่างรวดเร็ว ทชล.๒ จึงรุกไล่อย่างรวดเร็วด้วย และฝ่ายเราจึงต้องรีบเข้ายึด และสร้างฐานที่มั่นในทุ่งไหหิน ตามที่กล่าวแล้ว กำลัง ทชล.๒ ก็รุกต่อไปถึงสนามบินเชียงขวาง เมืองคังไข เหนือทุ่งไหหิน ข้าศึกต้านทานอย่างหนัก ไม่สามารถรุกต่อไปได้ จึงต้องปรับแผนเป็นวางกำลังเผชิญหน้าข้าศึกตลอดแนว ดังนี้

บริเวณสนามบินเชียงขวาง เมืองคังไข - ๒ กรม
บริเวณทิศใต้ของภูเทิง - ๑ กรม
บริเวณสนามบินลาดห่วง (ใกล้ฐานมัสแตง), บริเวณสนามบินเมืองพั้น (ใกล้ ภูเก็ง) และ บริเวณภูแท่น พื้นที่ละ ๑ กองพัน และมียานยนตร์หุ้มเกราะอีก ๖ คัน
ที่ว่า กรมเคลื่อนที่เร็ว ของ ทชล.๒ นี้ ได้ยินกิตติศัพท์ว่า เวลาเข้าตีนั้น เข้าตีอย่างประณีตมาก คือ ระมัดระวังมากที่สุด แต่เวลาถูกเข้าตี หรือ ถอนตัว จึงจะใช้ขีดความสามารถ คือ เคลื่อนที่เร็วมากที่สุดจนคาดไม่ถึงทีเดียว (เข้าตี ละก็ย่องๆ ถอนตัว ละก็โตนโลด)
นี่แหละครับ แผนที่แสดงทุ่งไหหินแสดงที่ตั้งฝ่ายเรา ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๔ พอเป็นสังเขป ด้วยวงสีดำ หากขยายภาพจะเห็นชัดเจนขึ้น เพิ่งจะมาถึงใหม่ๆ ชื่นชมกับภูมิประเทศกันก่อนดีกว่า เรื่องข้าศึกนั้นติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ค่อยว่ากันต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดการวางกำลังในพื้นที่ภูเก็ง (ทางเหนือ) และภูเทิง (ทางตะวันออก) ได้แสดงไว้ในภาพข้างล่างนี้


ซ้าย การวางกำลังบริเวณภูเก็ง - สนามบินเมืองพั้น ( บีซี ๖๑๐ และ ที่ตั้งยิง แพนเธอร์ เข้าที่มั่น ในพฤศจิกายน - ธันวาคม )
ขวา การวางกำลังบริเวณ บ้านโตน - ภูเทิง
ครับ สำหรับวันนี้ . . . วันแรกในทุ่งไหหินก็ชมภาพ ยามเช้าตรู่ ซึ่งภูแก้วได้บันทึกไว้เมื่อประมาณ ตุลาคม ๒๕๑๔ ให้สดชื่นไว้ก่อน
ปัจจุบันก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก . . . และ . . .

ทุ่งไหหินยามบ่าย
. . . ยังไม่ได้พบข้าศึกเลยนะครับ . . . ครับ
ภูแก้ว ถ่ายแต่ภาพทุ่ง ไม่เห็น ไหหิน อย่ากระนั้นเลย ขออนุญาตนำภาพทุ่งที่มีไหหินให้เห็น จาก http://www.asiaexplorers.com และ
http://www.skiouros.net มาให้ได้ชมกัน ก่อนที่จะลากันในตอนนี้ ซึ่งขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ด้วย
.jpg)


. . . ครับ . . .
ถึงแล้ว . . . ทุ่งไหหิน
เหตุการณ์ต่อไป . . . ราชาแห่งสนามรบ
เหตุการณ์ต่อไป . . . ราชาแห่งสนามรบ
เหตุการณ์ต่อไป . . . ราชาแห่งสนามรบ