๘. ลาแล้ว . . . ทุ่งไหหิน
ครับ . . . พวกเราก็ดำเนินชีวิตไปตามปรกติของพวกเราในสนามรบ ถ้าผมจะไม่ผิดว่า สหรัฐฯ ส่งทีม "ปิงปอง" ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีนแดง ก็ในช่วงที่ผมอยู่ในทุ่งไหหินนี่แหละ ครับ เ พราะพวกเรายังได้คุยกันว่า ถ้าเขาดีกันได้พวกเราคงรบกันน้อยลง ผมว่า แต่ก่อนที่จะดีหรือตกลงอะไรกันได้ คงต้องรบกันหนัก เพราะแต่ละฝ่ายก็ต้องการเป็นผู้ชนะหรือฝ่ายได้เปรียบในการเจรจา และ . . .
เมื่อ ผมเคยเล่าถึงที่ปรึกษาทางทหาร ว่าตอนมาถึงทุ่งไหหินใหม่ๆ เราร้องขอให้กระสุนปืนใหญ่เพิ่มเติมอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้รับเพิ่ม แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา กระสุนปืนใหญ่เราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน "ไลอ้อน" มีกระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. ราวๆ กระบอกละ ๒๐๐ นัด และขนาด ๑๐๕ มม. ราวๆ กระบอกละ ๒๕๐ นัด จนไม่มีที่เก็บ บอกที่ปรึกษาฯ เขาตั้งแต่ยังไม่มากขนาดนี้ว่า พอแล้ว ก็ยังส่งมาให้อีก แถมยังบอกพวกเราเป็นภาษาลาวอีกว่า เจ้า - จา - ตอง - ชาย - นัก เป็นไทยก็ว่า คุณจะต้องใช้มาก นั่นแหละครับ
ผมรู้สึกว่า ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนมานี้ ปืนใหญ่เขายิงมาที่ "ไลอ้อน" บ่อยขึ้น . . . บ่อยขึ้น และเวลาต่างๆ กัน เกือบทุกวัน บางครั้ง ก็ยิงไปที่สนามบิน บ้าง แต่ยังไม่ยิงมาตกในที่ตั้งยิงของเรา ประมาณตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม พวกเรารู้สึกกันได้ว่า กระสุนปืนใหญ่ข้าศึกตกใกล้ และบางครั้งตกเข้ามาในที่ตั้งยิงไลอ้อน แต่ไม่มีใครบาดเจ็บ
สภาพอากาศฤดูหนาวในทุ่งไหหิน หมอกหนาทึบในตอนเช้า กว่าจะจางหายประมาณ ๙ - ๑๐ นาฬิกา บางวันมีฝนตกพรำๆ ทัศนวิสัยไม่ดี การสนับสนุนทางอากาศ ทั้งทางยุทธวิธี และการส่งกำลังบำรุงก็ถูกจำกัดเพราะสภาพอากาศ จวบจนกระทั่ง . . .
๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๔
วันนี้ หมอกหนาทึบ และฝนตกพรำๆ ตั้งแต่ยังไม่สว่าง
หน่วยทหารปืนใหญ่ที่ "คิงคอง" "มัสแตง" และ "ไลอ้อน" ได้รับข่าวสารจากหน่วย บีซี ที่ระวังป้องกันให้ แต่ละที่ตั้งยิง คือ บีซี ๖๑๐ บีซี ๖๐๗ และ บีซ๊ ๖๐๙ ว่า ทหาร ทชล.๒ (กรมเคลื่อนที่เร็ว) ซึ่งจัดเป็นกองรักษาด่านทั่วไป เผชิญหน้าข้าศึกบริเวณ ภูเก็ง และ ภูเทิง ซึ่งตามตำราท่านว่าจะต้อง รั้งหน่วง การเข้าตีของข้าศึกให้ได้นานที่สุด ลวง ให้ข้าศึกเข้าใจว่าเป็นที่มั่นใหญ่ และ ทำลาย กำลังข้าศึกให้ได้มากที่สุดก่อนที่ข้าศึกจะไปรบกับที่มันใหญ่ของฝ่ายเรา ได้ใช้ขีดความสามารถในด้านการเคลื่อนที่เร็ว โ ต น โ ล ด ไปหมดแล้ว โดยไม่ได้ รั้งหน่วง ลวง ทำลาย ข้าศึกแม้แต่น้อย
ดังนั้น บีซี ๖๑๐ ๖๐๗ และ ๖๐๙ จึงเผชิญหน้ากับข้าศึกอย่างจัง ตลอดแนว ดังนี้

ครับ . . . วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๔ ในทุ่งไหหิน ผ่านไป เหมือนกับหน่วยทหาร ทชล.๒ ที่โตนผ่านฝ่ายเราไปอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายเรายังไม่มีรายงานการสูญเสีย
๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔
ผมตื่นขึ้นทำกิจวัตรส่วนตัวตั้งแต่มืด ก่อน ๕ นาฬิกา เช่นปรกติ เมื่อเดินกลับจะเข้ามาใน ศอย. ได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่แหวกอากาศหวีดหวิวผ่านศีรษะไปตกเลยที่ตั้งยิงไป รู้สึกว่าตกใกล้กว่าทุกๆ ครั้ง เพราะได้ยินเสียงดังใกล้มาก ผมนึกในใจว่า เล่นกันแต่มืดเชียวนะ วันนี้ แล้วก็ มาสั่งยิงต่อต้านไปตามตำบลที่เคยยิงไว้แล้ว แต่ วันนี้แปลก . . . เขาไม่หยุด ยังคงยิงเข้ามาเป็นระยะๆ เว้นช่วงสัก ๕ - ๑๐ นาที ก็ส่งมาให้ซะ นัด สองนัด เราก็รายงานไป"สิงหะ" ได้รับคำตอบอย่างกล้าหาญว่า "ฟ้าเปิดแล้วจะส่งเครื่องบินไปโจมตีทางอากาศให้"
จนรุ่งสว่าง เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ภูมิ่ง สั่งการให้ทุกส่วนทราบสถานการณ์ว่าข้าศึกกำลังใช้กำลังเข้าตีฝ่ายเราในทุ่งไหหิน ให้ทุกส่วนเตรียมรับสถานการณ์ จนเกือบ ๙ นาฬิกาฟ้าจึงเปิด และมีเครื่อง T - 28 บินมาโจมตีทางตะวันออกเฉียงเหนือของ "ไลอ้อน" อยู่พักหนึ่ง แล้วก็บินกลับไป
ส่วนปืนใหญ่ของ "ไลอ้อน" มีภารกิจยิงตามคำขอของหน่วย บีซี ที่อยู่ข้างหน้าเราไม่ได้หยุด ต้องยิงสนับสนุนหน่วย ถึง ๓ ภารกิจ หรือ ๓ เป้าหมายในเวลาเดียวกัน โดยใช้ปืนใหญ่ เป้าหมายละ ๒ กระบอก (ขณะนี้"ไลอ้อน" มีปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มม. ๔ กระบอก และขนาด ๑๐๕ มม. ๒ กระบอก จึงยิงได้สูงสุดในเวลาเดียวกันได้เพียง ๓ เป้าหมาย แต่ละเป้าหมายใช้ปืนใหญ่ ๒ กระบอก เพื่อผลในการทำลาย)
ประมาณ ๑๐ นาฬิกา ผมพอมีเวลาว่างจากภารกิจยิง ก็ออกไปชมภาพทุ่งไหหินในการรบบ้าง ผมลงไปในหลุมปืนว่างที่ไม่มีปืนใหญ่หลุมหนึ่ง เข้าไปในที่นอนของพลประจำปืน ไม่สว่างนัก เพราะทำเป็นบังเกอร์มิดชิด มีประตูเข้า - ออก กว้างประมาณ ๒ เมตร เสาและคานใช้ไม้ซุงไม้สนทั้งนั้น เอาผ้าร่มสีน้ำเงินทำเป็นม่านเพื่อพรางแสงไฟ เข้าประตูไป ทางขวาทำยกพื้นเป็นที่นอน กว้างขวางพอนอนได้ราวๆ ๑๐ คน ด้านเหนือ ทำเป็นช่องยาวประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ครึ่ง เมตร
ผมเข้าไปเห็น ภูแสน รอง ผบ.ร้อย.ป.๑๕๕ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการระวังป้องกัน ไปตรวจการระวังป้องกันรอบที่ตั้งยิงร่วมกับภูน้อย ผู้บังคับหมวดระวังป้องกัน ตรวจเสร็จแล้วก็เข้ามาพักในหลุมปืนใหญ่นี้ กับพลปืนเล็กอีก สอง สามคน ผมเข้าไปดูที่ช่องมองที่ว่า เห็นแต่ตำบลระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ และกลุ่มควันจากปืนไร้แรงสะท้อนของข้าศึกที่ยิงฝ่ายเรา ที่นั่นที่นี่ทั่วไป ภูแสน ร้องบอกผมว่า ภูสินไปดูอะไร มาเอนหลังกันที่นี่ดีกว่า
ผมดูภาพทุ่งไหหินในการรบอยู่สักอึดใจ ก็เดินมานั่งริมทางเข้า ข้างๆ ภูแสนที่แคร่นอนนั้น ตั้งใจจะถามว่า ผมอยากรู้ว่ามันใช้หลักยิงฝรั่งเศส หรือรัสเซีย แต่ถามไม่ทันจบประโยค ก็ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นตรงข้างหน้าช่องที่ผมยืนดูเมื่อสักครู่ที่แล้ว ผมเสียหลักล้มลงไปบนแคร่ ฝุ่นตลบเต็มห้องจนมืดสนิท ใจนึกว่า บังเกอร์พังลงมาทับหรือเปล่า ก็เหวี่ยงมือออกไปแหวกผ้าม่าน เห็นแสงภายนอกส่องเข้ามาได้ ก็สบายใจว่า บังเกอร์ไม่ได้พังปิดทางออก ข้างในพลปืนเล็กคนหนึ่งตกใจคุมสติไม่ได้ร้องโวยวาย ผมตะโกนสั่งให้ทุกคนทะยอยวิ่งออกไปข้างนอก ส่วนตัวผม เข้าไปใน ศอย. พบภูมิ่ง ถามว่า คุณไปทำอะไรมา ผมไม่ทราบจะตอบอย่างไร เลยว่า มันยิงผม แล้ว ก็เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ผมหยิบกระจกเงามาส่องดูยังนึกขำตัวเอง เพราะฝุ่นจับเต็มตั้งแต่ผม หัว หู หน้า เสื้อผ้า เห็นอยู่แต่ดวงตา คงหลับตาได้ทัน สำรวจดูตัวเอง พบว่า สายสร้อยพระเครื่องที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาขาดลงไปกองอยู่ที่เข็มขัด อย่างไม่รู้ตัว ถ้าผมยังยืนดูอยู่ที่เดิมก็นึกไม่ออกเหมือนกัน ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง นับว่าแคล้วคลาดภยันตราย หรือ นิรันตราย จริงๆ
ครับ . . . ไม่เป็นไร ก็รีบไปทำความสะอาดร่างกาย และ แต่งตัวมารบกันต่อ . . . นี่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ลองมาดูภาพรวมทั้งทุ่งไหหิน ด้านที่ถูกเข้าตีหลักนะครับ
ภาพรวมการเข้าตีของข้าศึกต่อ กกล.ทสพ. ที่ทุ่งไหหิน เมื่อ ธันวาคม ๒๕๑๔

พล.ร.๓๑๖ : ร.๑๗๔ ร.๑๔๘ และ ร.๓๓๕ พัน ถ.๑๙๕ สนับสนุนด้วย กรม ป.สนาม และ กรม ปตอ.เข้าตีฝ่ายเรา ที่ภูเก็ง - สนามบินเมืองพั้น "คิงคอง" บีซ๊ ๖๐๖ และ ๖๐๘
พล.ร.๓๑๒ : ร.๑๔๑ ร.๑๖๕ และ ร.๒๐๙ พัน ถ. สนับสนุนด้วย กรม ป.สนาม เข้าตีฝ่ายเราที่ บ้านโตน - ภูเทิง "มัสแตง" บีซ๊๖๐๓ และ ๖๐๗ "ไลอ้อน" บีซ๊ ๖๐๙ และ ๖๐๕
แยกภาพดูแต่ละพื้นที่เป็นดังนี้
การเข้าตีของข้าศึกบริเวณ ภูเก็ง - สนามบินเมืองพั้น
๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔
ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วยปืนใหญ่ และ อาวุธหนักทุกชนิด ต่อที่ตั้งยิง คิงคอง บีซี ๖๐๖ และ ๖๐๘ อย่างหนัก ตั้งแต่เวลา ๕ นาฬิกา ซึ่งฝ่ายเราก็ใช้ปืนใหญ่ต่อต้าน แต่ข้าศึกยังคงใช้ปืนใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง ฝ่าย ทชล.๒ พยายามใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศ แต่ก็ถูก ปตอ. ข้าศึกยิงต่อสู้ จนตกเสียบ้าง ก็มี
กำลังทหารราบข้าศึกก็รุกเข้าประชิดที่ตั้ง บีซี ๖๐๖ และ ๖๐๘ ฝ่ายเราพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่

๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔
ข้าศึกโจมตีอย่างหนักตั้งแต่เช้า และมีรถถังเข้าปฏิบัติการด้วยตลอดทั้งวัน ฝ่ายเราพยายามใช้การโจมตีทางอากาศทำลายการเข้าตีของข้าศึก แต่ ปตอ.ข้าศึกต่อต้านอย่างรุนแรงและได้ผล
เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา ข้าศึกใช้ปืนใหญ่ระดมยิงที่มั่นของ บีซี ๖๐๖ ทุกแห่ง และใช้รถถังร่วมเข้าตีด้วย จำนวน ๒ คัน จากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เวลาประมาณ ๑๘๓๐ ข้าศึกเข้าตีในเวลากลางคืนต่อ บีซี ๖๐๖ ทางด้านเหนือของ"คิงคอง" และ บีซี ๖๐๘ ทางตะวันออกของ"คิงคอง" ทุกแห่ง พร้อมกัน
บีซี ๖๐๖ พยายามรักษาที่มั่นด้วยอาวุธประจำหน่วยตลอดทั้งคืน ฝ่ายเราสูญเสียจากการรบ (บาดเจ็บ - ตาย) เป็นจำนวนมาก ในที่สุด เห็นว่าไม่สามารถต้านทานการเข้าตีของข้าศึกได้ จึงถอนตัวไปยังที่ตั้งยิงคิงคอง" เมื่อ ๒๐ ธันวาคม เวลา ประมาณ ๐๕๓๐
ทางด้าน บีซี ๖๐๘ ข้าศึกใช้รถถัง จำนวน ๖ คัน เข้าตีเมื่อเวลาประมาณ ๒๒๓๐ ต่อที่ตั้งกองร้อย ที่ ๑ ป็นหน่วยแรก เนื่องจากตั้งอยู่ด้านตะวันออกของ"คิงคอง"
และฝ่ายข้าศึกได้ระดมกำลังทั้งหมดเข้าโจมตี บีซี ๖๐๘ อีกครั้ง ในเวลา ๐๑๐๐ ของคืนนั้น (นับเป็น ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔) ขณะเดียวกัน ข้าศึกได้ใช้รถถัง อีก ๔- ๖ คัน เข้าตี บีซี ๖๐๘ ร้อย. ๒ ทางทิศตะวันออก และ โอบหลัง บีซี ๖๐๘ ร้อย ๓ทางสนามบินเมืองพั้น บีซี ๖๐๘ และ"คิงคอง" จึงอยู่ในวงล้อมของข้าศึก
๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔
การรบรุนแรงดุเดือดตั้งแต่เริ่มรุ่งอรุณ
บีซี ๖๐๖ ถอนตัวไปรวมกับ"คิงคอง"แล้ว ตั้งแต่ยังไม่สว่างดี ประมาณ ๐๕๓๐
บีซี ๖๐๘ พยายามรักษาที่มั่น จนข้าศึกเข้ารบประชิดถึงขั้นตะลุมบอน แต่ในที่สุด ฝ่ายเราจำเป็นต้องสูญเสียที่มั่น และถอนตัวฝ่าวงล้อมของข้าศึกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อเวลาประมาณ ๑๘๐๐ ปรากฏว่า ถอนตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่สังหารของข้าศึก ถูกระดมยิงด้วยอาวุธนานาชนิด ต้องสูญเสียเป็นจำนวนมาก กำลังส่วนที่เหลือจึงต้องใช้วิธีการแทรกซึมออกมาเป็นกลุ่มเล็กๆ มุ่งหน้าไป ภูแท่น (ที่ตั้งยิง แพนเธอร์) แต่ก็ปะทะกับข้าศึกอีก ฝ่ายเราถูกจับเป็นเชลยหลายนาย ส่วนที่เหลือ ก็หนีต่อไปยังภูเซอ (ที่ตั้งยิง สตริงเรย์) และบ้านนา
บีซี ๖๐๘ เสียที่มั่นในทุ่งไหหินให้แก่ข้าศึก เมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ เวลาประมาณ ๑๘๐๐
หน่วยปืนใหญ่ที่ "คิงคอง" คือ บีเอ ๖๓๕/ร้อย.ค.๔.๒ พยายามยิงต่อสู้ข้าศึกอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอให้ ปืนใหญ่จากที่ตั้งยิง"แพนเธอร์" ที่ภูแท่น ยิงสนับสนุน ทั้งวัน อย่างทรหด ต้องใช้ปืนใหญ่ยิงเล็งตรงต่อสู้รถถังของข้าศึกด้วย แต่ปืนใหญ่ของ"คิงคอง"ถูกยิงจนชำรุดใช้การไม่ได้ ในที่สุด "คิงคอง"ก็ต้องถอนตัวในเวลา ๑๗๐๐
ครับ . . . หน่วย ทสพ. บริเวณภูเก็ง -เมืองพั้น ต้องเสียที่มั่นทั้งหมด และถอนตัว ใน ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ เวลา ๑๘๐๐
! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! !
การเข้าตีของข้าศึกบริเวณ บ้านโตน - ภูเทิง
บ้ า น โ ต น
๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔
ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วย ปืนใหญ่ ต่อที่มั่นของ บีซี ๖๐๓ ๖๐๗ และ"มัสแตง" พร้อมทั้งส่งกำลังเข้าโอบล้อมที่มั่นของ บีซี ๖๐๓ ร้อย.๑ ที่บ้านกล้วย
"มัสแตง" ถูกยิงข่มอยู่ลอดเวลา จนแทบไม่สามารถยิงสนับสนุนหน่วยอื่นได้
ในตอนบ่าย ฝ่ายเราได้ตรวจการณ์พบธงสีแดง และสีขาว เป็นแนวไปสู่สนามบินลาดห่วง และสู่ บีซี ๖๐๗ และ"มัสแตง"
๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔
ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วยปืนใหญ่ตั้งแต่ ๐๕๓๐ และ ทหารราบเริ่มเข้าประชิดที่มั่นฝ่ายเราทุกแห่ง ทุกหน่วยถูกข้าศึโจมตีทั้งด้วยอาวุธยิงระยะไกล และหน่วยทหารราบ
ฝ่ายเราไม่มีโอกาสดำเนินกลยุทธช่วยเหลือกันได้ อย่างไร เลย ทสพ.ทำได้เพียงจัดกำลังไม่เกินระดับหมวดออกไป "กวาดล้าง"ใกล้ๆ ที่ตั้งเท่านั้น ซี่งถูกกวาดสูญเสียกลับมาอยู่เสมอ ที่ตั้งยิงปืนใหญ่ทุกแห่งถูกปืนใหญ่ข้าศึกยิงข่มตลอดเวลา ทำให้ฝ่ายเราใช้ปืนใหญ่ได้ไม่เต็มที่
ในตอนเย็น บีซี ๖๐๓ ร้อย ๒ ได้ตรวจการณ์พบรถถังประมาณ ๑๐ คันเคลื่อนที่เป็นรูปขบวนแถวตอน ไปสู่สนามบินลาดห่วง และแปรขบวนเป็นหน้ากระดาน ยิงที่มั่นของ บีซี ๖๐๓ ร้อย ๒ และ"มัสแตง"
อีกส่วนหนึ่งเข้าตี ที่บังคับการ บีซี ๖๐๓ และ บีซี ๖๐๓ ร้อย ๓ จนไม่สามารต้านทานได้ ต้องถอนตัวไปสู่สนามบินบ้านทาง - Ban Thang
ทาง บีซี ๖๐๗ ถูกโจมตีด้วยปืใหญ่ตั้งแต่เช้า และเข้าตีด้วยทหารราบ พร้อมรถถัง เช่นเดียวกัน จนไม่สามารถรักษาที่มั่นได้ ต้องถอนตัว พร้อมกับ บีซี ๖๐๓ บางส่วน ไปสู่ ที่ตั้งยิง"สตริงเรย์"ที่ภูเซอ เพื่อสถาปนาที่มั่นตั้งรับใหม่ แต่ระหว่างถอนตัวต้องปะทะข้าศึกที่ดักซุ่มโจมตีเป็นหลายครั้ง และข้าศึกส่งรถถังไล่ติดตาม บีซี ๖๐๗ ต้องสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก
ในที่สุด ทหารเสือพรานในพื้นที่บ้านโตน ต้องเสียที่มั่นทุกแห่ง และที่ตั้งยิง ถอนตัวเมื่อเวลาประมาณ ๒๒๓๐
! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! ! !
ภู เ ทิ ง
.jpg)
๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔
ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วยปืนใหญ่ตั้งแต่ ๕ นาฬิกา ต่อ บีซี ๖๐๙ และ ๖๐๕ และยิงข่มปืนใหญ่ฝ่ายเราที่"ไลอ้อน"อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง"ไลอ้อน"พยายามยิงตอบโต้เช่นกัน พร้อมทั้งให้ทหารราบเคลื่อนที่เข้าล้อม บีซี ๖๐๓ ทางตะวันออกของ"มัสแตง" และ บีซี ๖๐๙ บนยอดภูเทิงซึ่งเป็นภูมิประเทศสำคัญ ข้าศึกได้กำหนดให้เป็นที่หมายของการเข้าตีหลัก "ไลอ้อน"ต้องยิงสนับสนุนอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องตลอดเวลา
ในตอนบ่าย ข้าศึกได้ทวีความรุนแรงในการปฏิบัติยิ่งขึ้น กระสุนปืนใหญ่ข้าศึกตกในที่ตั้งยิงมากขึ้น และเห็นข้าศึกเคลื่อนที่เป็นกลุ่มก้อน จนต้องใช้ปืนใหญ่ยิงกลุ่มกำลังข้าศึกเหล่านั้นในทุ่งไหหิน หน่วยรับการสนับสนุนต่างรบติดพันกับข้าศึกจนไม่สามารถขอใช้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนได้ และ"ไลอ้อน"เองก็ต้องใช้ปืนใหญ่ยิงเล็งตรงต่อข้าศึก
บีซี ๖๐๕ พยายามตีโต้ตอบข้าศึก ในตอนบ่าย แต่เป็นเพียงการจัดหน่วยไม่เกินระดับหมวด (ประมาณ ๔๐ นาย) ออกไปกวาดล้าง จึงไม่ประสบความสำเร็จกลับเป็นฝ่ายสูญเสีย หลายนาย เฮลิคอปเตอร์ที่ฝ่ายเราขอมารับผู้บาดเจ็บส่งไปล่องแจ้งก็ถูกฝ่ายตรงข้ามยิง และ ฮ.ไม่มาสนับสนุนหน่วยในพื้นที่ บ้านโตน - ภูเก็งอีกต่อไป
ในตอนค่ำจึงต้องนำศพผู้เสียชีวิตจากการออกไปกวาดล้างเมื่อตอนบ่าย มารวมไว้ที่ "ไลอ้อน" เพื่อรอ ฮ.มารับในวันต่อไป
คืนนี้ บรรดาหัวหน้าต้องผลัดกันนอนเพื่อให้มีผู้สั่งการได้ตลอดเวลา นอกจากมีเหตุการณ์รุนแรงก็ต้องตื่นช่วยกันทุกคน แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครหลับลง ทุกคนมารวมกันใน ศอย. เพียงแต่นั่งหลับตามโอกาสอำนวยเท่านั้นเอง
คืน ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔ ผ่านไปด้วยความหวัง ที่ว่า . . . พรุ่งนี้ สถานการณ์ฝ่ายเราคงจะดีขึ้น
๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔
สถานการณ์ฝ่ายเราไม่ดีขึ้นดังหวัง
ร.๒๐๙ และ ร.๑๔๑ ของข้าศึกเข้าตี บีซี ๖๐๙ อย่างรุนแรง ฝ่ายเราใช้ปืนใหญ่จากทุกที่ตั้งยิงสนับสนุน และกระสุนปืนใหญ่ นั้นก็ร่อยหรอลงไปทุกขณะ
ในตอนบ่าย ได้รับข่าวจาก บีซี ๖๐๙ บนยอดภูเทิงว่าได้ส่งกำลังออกไปลาดตระเวน ได้ปะทะกับข้าศึกที่เชิงภูเทิง ห่างจากที่ตั้ง บก.บีซี ๖๐๙ ประมาณ ๒ กม. ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไป ฝ่ายเรากลับที่ตั้ง และขอให้"ไลอ้อน"ยิงตามเส้นทางที่คาดว่าข้าศึกจะเคลื่อนที่ไป ไม่ทราบผลหรอกครับ เพราะเป็นการยิงที่ไม่มีการตรวจการณ์ แต่คาดว่าข้าศึกก็คงไปรายงานหน่วยเหนือของเขา (ถ้าไม่ถูกกระสุนปืนใหญ่ของ"ไลอ้อน"บาดเจ็บล้มตายเสียก่อน) เพราะฝ่ายข้าศึกเพิ่มเติมกำลังกดดัน บีซี ๖๐๙ มากขึ้นทุกทีๆ และ บีซึ ๖๐๙ ก็ส่งเป้าหมาย และคำขอยิง ให้"ไลอ้อน" ทำการยิงให้ อยู่ตลอดเวลา
และก็ในตอนบ่ายแก่ๆ ประมาณ ๑๖ นาฬิกา กว่าๆ นี้แหละ แต่หลังจากจบภารกิจยิงของ บีซี ๖๐๙ แล้ว ขณะที่ผมกำลังอำนวยการยิงต่อเป้าหมายซึ่งเป็น ปตอ.ข้าศึก ตามคำขอยิงของ ผู้นำอากาศยานหน้า อยู่ ได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่ระเบิด และผู้บังคับหมู่ปืนใหญ่หมู่หนึ่งรายงานว่า ถูกรถถังข้าศึกยิง (รู้ได้เพราะ ได้ยินเสียงยังดึง "ตึง" จากรถถังในทุ่งไหหิน สักครู่ก็ระเบิด "กรั้ม" ที่เรา แต่ถูกที่บังเกอร์ ปืนใหญ่และพลประจำปืนไม่เป็นอันตราย) พลประจำปืนกลัวจนไม่กล้าออกมาปฏิบัติหน้าที่ ขณะนั้นใน ศอย. ไม่มีหัวหน้าอื่นอยู่เลย ผมจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอย.ดูแล "คำสั่งยิง" ต่อไป
ส่วนผมเองวิ่งขึ้นไปที่ปืนใหญ่กระบอกที่มีปัญหา ใจก็นึกปอดๆ อยู่เหมือนกันแหละครับ แต่ความอายมากกว่าความกลัว นึกอธิษฐานในใจว่า อย่างไร อย่างไร ขอให้ปลอดภัย เอาชีวิตกลับไปป้องกันบ้านเมืองเราบ้างเถิด เพราะตั้งแต่รับราชการมายังไม่เคยได้รบเพื่อปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้าตัวเองเลย มัวแต่ทำศึกลำเข็ญเหนื่อยแสนยากเย็นไม่เว้นว่างเปล่าอยู่นอกพระราชอาณาเขตตลอดมา และนึกถึงโคลงสี่สุภาพ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระปิยมหาราช บทหนึ่ง . . .
๐ หากเป็นแสนยะผู้ นายทหาร
นำพวกประจันบาน เศิกกล้า
สำแดงพิระชาญ ชิตชงัด
นายทะนงนำหน้า ไพร่ล้วนพลอยหาญ
เมื่อไปถึงหมู่ปืนใหญ่ที่ว่า ผมบอกว่า ถ้าเราไม่ยิงมัน มันก็ยิงเราข้างเดียว ปืนของเราถึงยิงได้ช้ากว่าของมัน แต่ก็ใหญ่ และมีอำนาจทำลายมากกว่า แค่ยิงเฉียดๆ มันก็แย่แล้ว ดีกว่ารอให้มันยิงเอา ยิงเอาข้างเดียว อาศัยพระบารมีปกเกล้า ได้ผลครับทุกคนมีใจฮึกเหิมออกมายิงต่อสู้อย่างดุเดือด ไม่คิดชีวิต ถือว่าหากพวกเราจะต้องตาย ก็ขอให้ทำลายข้าศึกให้ได้มากที่สุดเสียก่อน ไม่ใช่อยู่ในบังเกอร์รอให้เขามาฆ่า ให้อายบรรพชนนักรบไทย และผมวิทยุเรียนหัวหน้าทุกคนให้ช่วยกันเป็นกำลังใจให้แก่พลประจำปืนด้วย ซึ่ง ทราบภายหลังว่า ภูมิ่ง และ ภูเวียง ได้อยู่ประจำหมู่ปืนใหญ่กระบอกอื่นคนละกระบอก
ในห้วงเวลานี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สับสน วุ่นวาย และอันตรายที่สุด
- ไหนจะคอยระวังรถถังข้าศึกจะยิงเข้ามา
- ไหนจะคอยระวังปืนใหญ่ของข้าศึก
- ไหนจะต้องช่วย"มัสแตง" ซึ่งถูกรถถังเข้าตี
- ไหนจะต้องยิงช่วย บีซี ๖๐๙ บนภูเทิง
ผมจัดลำดับความเร่งด่วนอย่างนี้ครับ ปืนใหญ่ข้าศึก พอจะใช้ "นะโม นะมัด กำจัดออกไป อย่าเข้ามาใกล้ ศาลามงคล ออกไปให้พ้น วินาศ สันติ วินาศ สันติ" ได้
ต้องจัดการรถถังข้าศึกก่อน เพราะเขาเห็นเรา และยิงเล็งตรง เป็นอันตรายเร่งด่วนที่สุด ผมใช้ปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม. ๒ กระบอก ให้ยิงเล็งตรงต่อสู้กับรถถังข้าศึก สลับกัน ดูเหมือนเราทำลายเขาไม่ได้ แต่เราก็ปลอดภัย แต่พลประจำปืนก็มันมือ ยิงซะจนลืมจังหวะการยิงซึ่งเป็นข้อจำกัดทางเทคนิค สำหรับปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มม.นี้ เขากำหนดให้ว่าถ้ายิงเร็ว มีจังหวะยิงนัดละ ๑๕ วินาที และหากยิงในจังหวะนี้ ยิงได้ไม่เกิน ๑๕ นาที ต้องพัก หากจะยิงให้ได้ทั้งวันทั้งคืน ก็ต้องใช้จังหวะ ยิงต่อเนื่อง คือ นาทีละ ๑ นัด ครับ ที่จริงผมคิด และสั่งให้ยิงสลับกระบอกกันอยู่แล้ว เพื่อให้ปืนใหญ่ยิงได้ตามจังหวะ แต่ก็อย่างว่า นะครับ รถถังมันยิงเอา ยิงเอา อยู่ต่อหน้าต่อตา ใครจะอดใจได้ ผลคือ ปืนใหญ่ชำรุดไป ๑ กระบอก
เสียงจากยอดภูเทิง " . . . ช่วยยิงแตกอากาศกลางฐานให้ผมด้วย เพราะเป็นทางเดียวที่ผมจะรอดอยู่ได้"
ประมาณ ๑๗ นาฬิกา ทุกฐานได้ยินเสียงรายงานสถานการณ์จาก บีซี ๖๐๙ บนยอดภูเทิงว่า ". . . มีข้าศึกจำนวนมากเข้ามาในฐาน ถึงขั้นรบประชิดเข้าตะลุมบอนกันในฐาน . . ." และ แล้ว ผมก็ได้ยินเสียงรุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า อินทนิล พูดออกวิทยุซ้ำอยู่ประมาณ ๒ - ๓ ครั้งว่า "มัสแตง ไลอ้อน สตริงเรย์ ใครได้ยินเสียงผมแล้วช่วยยิงแตกอากาศกลางฐานให้ผมด้วย เพราะเป็นทางเดียวที่ผมจะรอดอยู่ได้"
คำว่า "ยิงแตกอากาศกลางฐาน" จะใช้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่อข้าศึกเข้ามาในที่มั่นของฝ่ายเราได้และ ที่มั่นของเรามีบังเกอร์หรือที่กำบังมิดชิดปลอดภัย ฝ่ายเราจะหลบเข้าในที่กำบัง ปล่อยให้ศึกอยู่ข้างนอกซึ่งไม่มีที่กำบัง เมื่อขอให้ปืนใหญ่ฝายเรายิงแตกอากาศกลางฐาน กระสุนจะระเบิดสูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่จะสาดสะเก็ดระเบิดเป็นอันตรายต่อคนนอกที่กำบังอย่างที่สุด แต่ไม่ทำลายที่กำบัง ฝ่ายเราซึ่งอยู่ในที่กำบังจึงปลอดภัย และคอยเก็บข้าศึกที่ล็ดลอดเข้ามาในที่กำบัง แต่วิธีนี้ จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อข้าศึกมีจำนวนจำกัด ไม่มีกำลังมาเพิ่มเติม แต่สถานการณ์ที่ภูเทิง ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ นี้ ข้าศึกมีจำนวนมาก ครับ มาก เสียจนเรา . . . ทำลายไม่ทัน แต่ผมคิดว่า "ไลอ้อน" น่าจะทำลายข้าศึก และช่วย บีซี ๖๐๙ ได้ระดับหนึ่ง แต่ข้าศึกมีจำนวนมากเหลือเกิน มากจนกระทั่ง . . . เราทำลายไม่หมด ผมพยายามเรียก อินทนิล และบอกให้พยายามถอนตัวมารวมกันที่"ไลอ้อน" แต่ไม่ได้รับเสียงตอบ และไม่ได้ยินเสียง และไม่ได้พบ พี่อินทนิล อีกเลย จนทุกวันนี้ ผม ยิงปืนใหญ่ไปที่ภูเทิง แบบปูพรม ต่อไปอีกประมาณ ๑๐ นาที ก็สั่งจบภารกิจ
ในสมุดบันทึกของผมบันทึกตอนนี้ว่า . . . พี่อินทนิลขอยิงแตกอากาศกลางฐานประมาณ ๕ โมงเย็นกว่าๆ ยิงให้ประมาณ ๑๐ นาที ก็เงียบเสียงวิทยุ . . . ติดต่อไม่ได้ . . . สมุดบันทึกนี้ผมมาบันทึกเอาเมื่อสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว ตอนอยู่ที่ล่องแจ้งในเดือน มกราคม ๒๕๑๕
เมื่อข้าศึกยึดที่มั่นบนภูเทิงได้แล้ว "ไลอ้อน" ก็อยู่ยากเพราะภูเทิงเป็นที่สูงข่มอยู่ ข้าศึก ใช้ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.) และเครื่องยิงลูกะเบิด ยิงลงมาจากยอดภูเทิง ทำลายปืนใหญ่ของ "ไลอ้อน" จะใช้การไม่ได้ บีซี ๖๐๕ ซึ่งมีภารกิจระวังป้องกันให้"ไลอ้อน"พยายามผลักดันข้าศึกที่ยอดภูเทิงซึ่งได้ปะทะกัน แต่ไม่เกิดประโยชน์ครับ ฝ่ายเราเสียชีวิตไปหลายนาย ฝ่ายข้าศึกก็ต้องสูญเสียบ้าง แต่เขามีมากกว่าเรามากถึงจะสูญเสียบ้างก็ไม่มีผลกระทบ ไม่เหมือนฝ่ายเรา
พร้อมกันนั้น ข้าศึกส่วนหนึ่งก็เข้าล้อมภูเทิงทางทิศใต้อีก เพื่อสกัดกั้นเส้นทางถอยของฝ่ายเรา และใช้ปืนใหญ่ยิง"ไลอ้อน" ตลอดเวลา
ครับ . . . ผมมาทราบภายหลังว่า ที่ภูเทิงนั้นได้รบประชิดถึงขั้นตะลุมบอน (คือใช้ดาบปลาบปืนสู้รบกัน) ฝ่ายเราไม่สามารถรักษาที่มั่นได้ จึงรวบรวมกำลังกันแหกวงล้อมของข้าศึกออกมาได้บ้าง และปะทะกับข้าศึกอย่างรุนแรง และตามเส้นทางถอนตัวมุ่งหน้าสู่สนามบินลาดแสน แต่ไม่มีรายงานว่าพี่ อินทนิล ออกมาได้
ในตอนเย็น "สิงหะ" สั่งการ ให้หน่วยทหารปืนใหญ่ทุกหน่วยแปรสภาพเป็ทหารราบ ยึดและรักษาที่มั่นไว้ให้นานที่สุด หน่วยเหนือกำลังแก้ไขสถานการณ์อยู่ ครับ เป็นคำสั่งที่แสนอัจฉริยะที่สุดในวงการทหารทีเดียว ผมว่า
ถึงไม่สั่งพวกเราก็ต้องปฏิบัติเช่นนั้นอยู่แล้ว ทุกคนมี ปืนเล็กยาว เอ็ม ๑๖ เป็นอาวุธประจำกาย และกระสุนจำนวนหนึ่ง อยู่แล้ว ก็เพียงแต่แจกจ่ายกระสุนเพิ่มเติมให้มากที่สุด เฉลี่ยไปให้ทุกคนได้นำติดตัว ครับ พวกเราเป็น ราชินีแห่งสนามรบ ก็ได้นะ ครับท่าน กระจายกันอยู่ในคูติดต่อ (สนามเพลาะ) และบังเกอร์ หากว่าข้าศึกเข้ามาได้ละก้อ สนุกกันละครับ
เตรียมการให้เกื้อกูลการปฏิบัติในอนาคต
ในระหว่างนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องก็รวบรวมผู้บาดเจ็บจากการรบ (ผู้บาดเจ็บจากการรบเมื่อเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ปฐมพยาบาลไปตามความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาและสถานภาพยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ค่อยจะมี แล้วก็ให้ไปอยู่ที่พักของตน เพื่อรอ ฮ.มารับกลับไปล่องแจ้ง . . . แต่ ฮ.ถูกยิงไปตั้งแต่เมื่อวาน และไม่กล้ามารับอีก) หรือไม่เกี่ยวข้องแต่พอปลีกตัวได้ก็มาช่วยกันทำเครื่องอำนวยความสดวกในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเหล่านั้น ผู้ที่พอเดินได้ก็ทำไม้ค้ำยันให้ ผู้ที่เดินไม่ได้ก็ทำเปลหามไป ครับ ถึงแม้เราจะทราบดีว่า บางรายคงไม่สามารถทนต่อการเดินทางอันลำบากครั้งนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ไม่มีใครรังเกียจ หรือคิดทอดทิ้งกัน พูดให้กำลังใจกันว่า อย่างไร อย่างไร ก็ต้องหอบหิ้วกันไปให้ปลอดภัยกันให้หมด
ในตอนค่ำ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ คณะหัวหน้าของ"ไลอ้อน" ก็หารือกันพิจารณาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป และเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเลวร้ายที่สุด
ในที่สุด การสู้รบที่ภูเทิงก็ยุติ ฝ่ายเราเสียที่มันแก่ข้าศึกแล้ว เป็นที่มั่นที่คุกคามและเป็นอันตรายต่อ"ไลอ้อน"และ บีซี ๖๐๕ เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตกลงใจถอนตัวพร้อมกันในเวลา ๒๒๐๐ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มุ่งสู่ สนามบินที่ ถ้ำตำลึง - Tham Tam Bleung ใกล้"ซีบรา"ที่เคยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรอเคลื่อนย้ายกลับล่องแจ้งต่อไป
การสู้รบในบริเวณ บ้านโตน - ภูเทิง ดำเนินไปอย่างดุเดือด รุนแรง
ข้าศึกได้ใช้อำนาจการยิงอย่างมากมายของปืนใหญ่ รถถัง และ หน่วยทหารราบจำนวนมาก
ฝ่ายเราต้านทานเป็นสามารถมีการรบประชิดถึงขั้นตะลุมบอนทั้งขณะตั้งรับในที่มั่น และระหว่างถอนตัว
แต่ละฝ่ายต้องสูญเสียกำลังพลเป็นจำนานมาก แต่ . . .
ฝ่ายเราต้องเสียที่มั่นในพื้นที่ ภูเทิง เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ เวลา ๒๒๓๐
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
หนทางปฏิบัติที่เหมาะสมจากการพิจารณาในค่ำวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔
ภูมิ่ง ได้เรียกบรรดาหัวหน้า บีเอ ๖๓๖ หารือเพื่อหาหนทางปฏิบัติที่เหมาะสม และเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเลวร้ายที่สุด คือ จำเป็นต้องถอนตัวภายใต้การกดดันของข้าศึก เท่าที่พอจะจำได้มีดังนี้ครับ
ภูเวียง ผบ.ร้อย.ป. ดูแลท้ายขบวน ภูแสน รอง ผบ.ร้อย.ป. รักษาเส้นทางเดินไปสู่ที่หมายให้ถูกต้อง (นำทางนั่นแหละครับ) ภูมน นายทหารลาดตระเวนและแผนที่ ช่วยเหลือ ภูน้อย ในเรื่องการระวังป้องกัน ก็เหลือผมว่างงานเพราะไม่มีปืนใหญ่ให้อำนวยการยิง ภูแสน ซึ่งสนิทสนมและรักผมมาก บอก ภูมิ่ง ว่า ผมขอ ภูสิน ไปกับผมด้วย ภูมิ่ง ก็อนุญาต
เมื่อภูมิ่ง สั่งการเสร็จ แต่ละคนก็แยกย้ายไปเตรียมการในงานของตน ภูแสน สั่งผมเป็นพิเศษให้เตรียม แผนที่ และเข็มทิศอีก และยังแซวผมอีกว่า ภูสิน ดูเส้นทางในแผนที่มาหลายเดือน คราวนี้ได้ใช้ละ และตัวภูแสน เอง หยิบบุหรี่ก้นกรองรสเมนทอลชั้นยอดของลาว คือบุหรี่ Sleigh มีรูปม้าลากเลื่อน แต่พวกเราเรียกกันว่าบุหรี่ หมาลากเลือด ใส่กระเป๋าเสื้อแจคเกตฟิลด์ ไป ๒ ห่อ เสร็จแล้วก็ เอาผ้าขนหนูห่อพระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราช ที่ผมปิดทองที่พระศอไว้แล้ว ตั้งแต่วันเลี้ยงปิดการฝึก คงจำกันได้นะครับ แล้วเอาผ้าผูกเตรียมคล้องคอเมื่อต้องเดินทาง ครับ . . . อีก ๓ ชั่วโมงต่อมา ก็ได้ใช้จริงๆ
๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๔, ๒๒๐๐ บีซี ๖๐๕ เริ่มถอนตัว บีเอ ๖๓๖ เริ่มถอนตัวประมาณ ๒๒๓๐
นอกจากนี้ ภูแก้ว (ที่ถ่ายภาพทุ่งไหหินนั่นแหละครับ) ซึ่งเป็นนายทหารติดต่อประจำ บีซี ๖๐๗ ที่บ้านโตน มาประชุมที่ "ไลอ้อน" ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม ภูแก้ว นี้สนิทกับผมตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนฯ ตั้งใจว่าจะนอนคุยกับผมสักคืนหนึ่ง เมื่อข้าศึกเข้าตีเลยกลับไป บีซี ๖๐๗ ไม่ได้ ก็เลยมาช่วยกัยในคณะนำทางด้วยอีกคน
ลา า า า า า ขอ ลา จาก ไกล ไป ก่อน น น น น น น
ครับ . . . รี้พลสกลไกรจากที่ตั้งยิงไลอ้อน เริ่มเคลื่อนขบวนกันตั้งแต่ เวลาประมาณ ๔ ทุ่มครึ่ง อากาศยานฝ่ายเราที่ปฏิบัติการในเวลากลางคืนได้ก็ปฏิบัติการกันไป ผมเห็นข้าศึกใช้ ปตอ.ยิงต่อสู้ เห็นกระสุนส่องวิถีวิ่งทั่วไปจนรู้สึกว่าฟ้าลายไปเลย
ในช่วงแรกของการถอนตัวจากการรบ เป็นช่วงวิกฤตที่สุดก็ได้ ต้องรักษาความลับเป็นอย่างดียิ่ง เพราะเราใช้วิธีผละจากการรบพร้อมกันทั้งหน่วย และต้องทำให้ข้าศึกเข้าใจว่าเรายังอยู่ในที่ตั้งเหมือนเดิม ด้วย
ปืนใหญ่นั้นชำรุดยิงไม่ได้มาตั้งแต่เย็นแล้ว ข้าศึกคงไม่เห็นเป็นเรื่องผิดปรกติ แต่ก็ต้องทำลาย โดยถอดเข็มแทงชนวน เครื่องกลการยิง และปล่อยน้ำมันรับแรงสะท้อนออกให้หมด เพื่อไม่ให้ปืนใหญ่ใช้การได้อีกต่อไป
ที่เป็นการลวง คือ แต่ละส่วน จุดเทียนไว้ให้เป็นปรกติ ระงับการใช้วิทยุทุกชนิด จำกัดการใช้ แสง - เสียง ทุกคนเตรียมเครื่องมือเครืองใช้ที่จำเป็น และสามารถนำไปได้ด้วยตนเอง
ไหนๆ ก็ต้องข้ามทุ่งไหหินด้วยกันแล้ว จะขอเล่าถึงการเตรียมการ และการใช้ชีวิตขณะถอนตัวภายใต้การกดดันอย่างหนักของข้าศึกเสียหน่อยนะครับ
อาหารหลัก คือข้าวตาก บรรจุในถุงกระดาษสีน้ำตาล เคลือบพลาสติก ผนึกสนิทกันน้ำได้ เวลาจะกิน ก็เติมน้ำลงไป ทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ นาที ข้าวจะดูดน้ำเป็นข้าวสุกรับประทานได้ กับข้าว หรือครับ แต่ละถุงจะมี ๒ อย่าง และน้ำพริก เท่าที่จำได้ก็มี หมูหยอง ปลาไส้ตันทอดกรอบ น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง เกลือป่น ปลาแห้งทอด และอีกหลายอย่าง ผมจำไม่ได้หมด ผมหยิบติดตัวมา ๕ -๖ ถุง คิดว่า พอ เพราะผมกระเพาะเล็ก กะเดินไม่เกิน ๔ วัน ก็ถึงที่หมาย
น้ำ เอาไปได้เพียงคนละกระติกน้ำสนามที่มีติดตัวเพียงคนละ ๑ ใบ แต่ตามเส้นทางต้องผ่านลำน้ำหลายสาย พอหมายน้ำบ่อหน้าได้
อาวุธ กระสุน ทุกคนมีปืนเล็กยาว เอ็ม ๑๖ และกระสุนคนละประมาณ ๓๐๐ นัด แต่ผมเอาไปเพียง ๖๐ นัด เพราะไม่ค่อยสันทัดยิงปืนเล็กๆ ระดับหัวหน้าจะมีปืนพก อีกคนละ ๑ กระบอก พร้อมกระสุน คนละ ๑๔ นัด
สิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน คงมีเท่านี้ แต่คนที่มีหน้าที่พิเศษก็ต้องเตรียมเครื่องมือพิเศษของตน เช่น เจ้าหน้าที่เสนารักษ์ พนักงานวิทยุ ฯลฯ
สำหรับผม นำวิทยุซึ่งสามารถติดต่อกับหน่วยเหนือและอากาศยานไปด้วย หนักหน่อย แต่มีคนช่วยหิ้วอีกข้างหนึ่ง ค่อยยังชั่วหน่อย โอเวอร์โคทตัวเก่งที่ใช้ถ่ายแบบที่ซีบรา ไม่ได้เอาไป ใช้ แจคเกตสนาม ก็พอสู้อากาศที่หนาวเหน็บในทุ่งไหหินได้ และมีกระเป๋าหลายใบบรรจุสัมภาระได้มากหน่อย แผนที่ เข็มทิศ ต้องใช้ในการเดินทาง และ ของพิเศษของผม คือ ลูกระเบิดขนาดเล็กประมาณลูกมะนาว จำไม่ได้ว่าเขาเรียกแบบอะไร ตั้งใจว่า หากถึงคราวคับขันจวนตัวเป็นที่สุดแล้วก็จะปลดสลัก อมไว้ในปาก นึกอะไรสัก ๓ - ๔ วินาที ก็คงหมดปัญหา แต่ผมยังโชคดีที่ไม่ต้องกระทำอย่างที่คิด นับว่า พระสยามเทวาธิราชยังทรงต้องการให้ผมถวายงานอีกต่อไป และต่อมาจนเกษียณอายุราชการ และ . . . หมวกเหล็กปิดทอง ที่เอาทองเหลือจากปิดพระศอพระบรมรูปสมเด็จพระปิยมหาราช มาปิดเป็นหน้าหมวก ที่เล่าไว้ในตอนงานเลี้ยงปิดการฝึก นั่นแหละครับ
คื น แ ร ก นี้ เ ร า เ ดิ น กั น จ น ส ว่ า ง ค า ต า
๒๐ - ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๔
เดิน . . . เดิน . . . เดิน . . . อย่าท้อทางไกลขอให้ไทยจงเดิน ครับ เดิน เดิน และ เดิน รุ่งเช้า ๒๐ ธันวาคม เรารู้สึกว่าได้ถอนตัวมาพ้นระยะยิงปืนใหญ่ และปลอดภัยในระดับหนึ่ง ผู้บาดเจ็บ บางคนอาการดีขึ้น
คืน ๒๐ ธันวาคม ค่อยเข้าที่เข้าทางหน่อย พวกเราสามารถนอนหลับ โดยจัดเวรยาม ให้ทุกคนได้เข้ายามกันช่วงเวลาสั้นๆ ผลัดละ ๒ คน เพื่อจะได้เป็นเพื่อนคุยกันไม่เผลอม่อยหลับไป แต่ทุกคนตื่นตัวกันดีมาก
เราต้องผ่านลำห้วยทุกวัน และภูแก้ว อีกนั่แหละครับ ที่มีกล้องถ่ายภาพติดตัวมา ได้บันทึกภาพเอาไว้ ผมไม่ทราบว่าจะมีภาพสถานการณ์นี้ที่ไหนอีก . . . เชิญครับ . . .


บนเส้นทาง ทุ่งไหหิน - ถ้ำตำลึง
ซ้าย ภูมิ่ง (มือขวาถือปืน สวมหมวกปีก) กำลังก้าวลงตักน้ำ ขวา ภูแสน ยืนสวมหมวกเหล็กหันข้าง ภูสิน นั่งถอดหมวกหันทางซ้ายหยิบของในเป้ ภูแก้ว สวมหมวกเหล็กทับหมวกถัก นั่งชันเข่ายิ้มอยู่ ภูน้อย ถูกภูแก้วนั่งบังหน้า ปรีชา สายหัสดี เจ้าหน้าที่สื่อสาร อีกคนเห็นหน้าไม่ชัดจำไม่ได้ และมองเห็นแถว ทสพ.เดินเรียงกันขึ้นเนิน (มุมขวาบนในภาพ)
๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๔
ครับ ๔ คืน กับ ๓ วันผ่านไป ผมกินข้าวตากไม่ใส่น้ำไป ๓ ถุง วิธีของผมคือ เอาน้ำพริกเผา ปลาไส้ตันทอดกรอบ และ หมูหยอง เขย่ารวมกันไว้ในถุงข้าวที่เขาใส่มา แล้วเทใส่ปากเคี้ยวไปเดินไป พอกลืนแล้วก็ดื่มน้ำกลั้วคอตามให้ไปผสมกันในท้อง ไม่ยุ่งยากมากเรื่อง และขออภัยนะครับ ไม่มีกากต้องถ่ายทิ้งให้เป็นหลักฐานด้วย
ประมาณ ๗ นาฬิกา ขณะกำลังเดินทาง พวกเราคนหนึ่งเห็นเครื่องบิน Porter ลำหนึ่งบินอยู่ ผมพยายามใช้กระจกเงาสะท้อนแสง และวิทยุเรียก ได้ผลครับ ติดต่อกันได้ หลังจากที่นักบินเขาสอบถามเราจนมั่นใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน เขาก็บอกทางให้เราเดินไปสนามบินถ้ำตำลึง ซึ่งเราก็เดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ทำให้เรามั่นใจ และสบายใจยิ่งขึ้น พวกเราดูสดชื่นขึ้นมาทันที เราเดินขึ้นเนินอีกลูกหนึ่งประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็ถึงสันเนินที่เป็นสนามบิน ผมมีความรู้สึกเหมือนฝึกเดินทางไกลครั้งเป็นนักเรียนฯ ภูมิ่ง เรียก ภูเวียง ให้เร่งเดินแซงไปสนามบินก่อน เพื่อจัดระเบียบการขึ้นเครื่อง และทางเครื่อง พอร์ตเตอร์ ก็คงรายงานไปที่ "สิงหะ" เพราะมี ฮ. และเครื่องบินขนาดเล็กที่ลงสนามนี้ได้ มารับพวกเราหลายลำ
พอมาถึงขั้นนี้แล้ว ผมถือว่า จบภารกิจ เพราะภูมิ่ง ให้ภูแสน และผม นำทางมาถึงสนามบินถ้ำตำลึง และบัดนี้ . . . ถึงแล้ว ภูแสน ภูแก้ว และผมก็เลยเดินทอดน่องคุย อย่างสบายใจ กะกันว่าจะขึ้นเครื่องเป็นชุดสุดท้าย วันนี้ไปไม่หมดก็ไม่เป็นไร นอนกลางดินดูดาวซะอีกคืน จะเป็นไรไป เมื่อเรา ๓ คนเดินมาถึงสนามบิน ได้สักพักใหญ่ๆ ภูมิ่ง และ ภูเวียง ก็มาถึง ได้ยินภูเวียง เรียนภูมิ่ง ว่า ขอให้ภูสิน ไปเครื่องเที่ยวแรกเพื่อไปประสานกับฝ่ายส่งกำลังบำรุง (ของ บีเอ ๖๓๖) เพื่อเตรียมการสิ่งอำนวยความสะดวก ข้าวปลาอาหาร รองรับกำลังพลที่เพิ่งเดินทางมาถึงหน่วยเป็นการบำรุงขวัญ
โธ่ . . . นึกว่าจะนอนดินดูดาว ซะหน่อย ต้องไปทำงานซะอีกแล้ว ดูภาพ Porter กันหน่อยนะครับ

พอร์ตเตอร์แบบนี้แหละครับ ที่นำผมไปส่งที่ LS - 20A (ล่องแจ้ง) แต่เป็นของ AIR AMERICA
ผมลงเครื่องที่ LS - 20A หรือสนามบินล่องแจ้ง ประมาณ ๑๔ นาฬิกา สะพาย เอ็ม ๑๖ และเป้หลัง รีบเดินจะไปที่ ที่บังคับการ บีเอ ๖๓๖ เพื่อจัดการเรื่องที่ได้รับภารกิจมา ก็ได้ยินเสียงที่คุ้นหู เรียกอย่างสนิทสนม พร้อมเสียงหัวร่อ "ไอ้ปาน! มึงจะรีบไปไหน?" ฟื้น เพื่อนรักตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนฯ เป็นผู้บังคับหมวดระวังป้องกัน"มัสแตง" ที่นัดกันไปประชุมที่"คิงคอง"ในปลายเดือนนี้กับภูแก้ว นั่นแหละครับ เดินเข้ามากอดคอช่วยถอดเป้ไปถือให้ และเดินกอดคอไป บก.บีเอ ๖๓๖ ด้วยกันเงียบๆ
สอบถามได้ความว่า ฟื้น ออกมากับ"มัสแตง" เมื่อเวลาประมาณ ๕ ทุ่ม (หลัง"ไลอ้อน"ประมาณ ครึ่งชั่วโมง) มาถึงตั้งแต่เมื่อวาน เพราะเดินน้อยกว่า เครื่องไปรับมาได้ก่อน
เมื่อถึง บก.บีเอ ๖๓๖ ก็ปรากฏว่าภูแสง ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ได้เตรียมการเรื่องที่ผมจะประสานไว้เรียบร้อยแล้ว และยังว่า "ภูสิน มาเหนื่อยๆ ไปพักผ่อนเถอะ พี่จัดการให้เรียบร้อยเอง"
คืน ๒๓ ธันวาคม ๒๕๑๔ ฟื้น ภูแก้ว และผม จึงได้นอนคุยกัน และนอนหลับใต้ฟ้าล่องแจ้งแทนที่จะนอนดูดาวใต้ฟ้าภูเก็งตามที่ได้นัดกันไว้
ครับ . . . ห ลั บ อ ย่ า ง . . .
.
เหตุการณ์ต่อไป . . . ลาที ปีเก่า ๒๕๑๔
เหตุการณ์ต่อไป . . . ลาที ปีเก่า ๒๕๑๔
เหตุการณ์ต่อไป . . . ลาที ปีเก่า ๒๕๑๔