dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



๓๑ มีนาคม วันที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

 * * * 

 

 

 

 

. . . การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว

จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง  ให้ระวังให้ดี  อย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ 

การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา 

แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว . . .

 

*    *    *    *    *    *    *    *    *

 

          กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ที่อัญเชิญมาข้างต้นนั้น  แสดงถึงพระอัฉริยภาพที่ทรงมองการณ์ไกล ทรงคาดการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง ของภูมิภาค  และของโลกได้อย่างแม่นยำ  อีกทั้งยังทรงมีพระราชวิจารณญาณอย่างถูกต้อง และเฉียบคมยิ่ง    

          ในรัชสมัยของพระองค์นับได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ในยุโรปและอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งมีผลต่อเอเซียอาคเนย์  อังกฤษกำลังเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง และการค้าระหว่างประเทศ ในเอเซียโดยเฉพาะเอเซียอาคเนย์   การขยายลัทธิจักรวรรดินิยมในครั้งนี้  อังกฤษได้ยึดครองอินเดีย  แต่พม่าไม่ได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยังคงดำเนินวิเทโศบายอย่างไม่ยืดหยุ่นอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องทำสงครามกับอังกฤษ    ฝรั่งเศสได้บางส่วนของอินเดีย แต่เมื่อฝรั่งเศสแพ้อังกฤษในการรบที่วอร์เตอร์ลู ก็หมดบทบาทในอินเดีย แต่ไปมีอิทธิพลต่อญวน

 

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติ  ณ วันที่  ๓๑  มีนาคม  ๒๓๓๐  

ที่พระราชวังเดิม   ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และเจ้าจอมมารดาเรียม  (ต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระศรีสุลาลัย)   ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าทับ

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเสวยสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น     พระองค์เจ้าทับ พระชนม์  ๒๒ พรรษา   ส่วน เจ้าฟ้ามงกุฎ พระชนม์   ๕  พรรษา      และในปีต่อมา คือ พ.ศ.๒๓๕๓  ทรงได้รับสถาปนาเป็น  พระเจ้าลูกเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

          ในต้นรัชกาลที่ ๒    กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงว่าราชการมหาดไทยและการคลัง   และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงว่าราชการพระคลัง     เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จทิวงคตใน พ.ศ.๒๓๖๐   ราชการบ้านเมืองจึงตกเป็นพระธุระของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นส่วนใหญ่  

           ครั้น พ.ศ.๒๓๖๕  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์   กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงทรงรับราชการแทนสมเด็จพระบรมชนกนาถเพียงพระองค์เดียว  ทรงว่าราชการกรมท่า  กรมพระคลังมหาสมบัติ  กรมพระตำรวจ  ตลอดจนทรงพิจารณาพิพากษาคดีแทนพระองค์อยู่เสมอ  เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยโปรดให้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ  ทรงมีอำนาจสิทธิขาดในแผ่นดิน ตลอดมา   ด้วยเหตุนี้  จึงทรงเชี่ยวชาญในการปกครองทุกแขนง

          ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    จอห์น  ครอเฟิด ทูตของผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียเข้ามาเจริญทางไมตรีได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของเขาว่า . . . ตามประเพณีของราชสำนักเราต้องเข้าเฝ้ากรมเจษฎ์  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินเสียก่อน   เจ้านายพระองค์นี้ทรงว่าราชการสิทธิขาดทั้งในการต่างประเทศ  และการพาณิชย์   ฯลฯ   กรมเจษฎ์ . . . ทรงเป็นเจ้านายที่หลักแหลมที่สุดในบรรดาเจ้านายและขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักสยาม. . .    

          เสด็จเสวยสิริราชสมบัติ    เมื่อวันที่   ๒๑  กรกฎาคม  ๒๓๖๗

 

 

 

พม่า - อังกฤษ - ไทย

          การสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษนี้  อังกฤษได้ขอให้ไทยจัดกองทัพไปร่วมกันรบพม่าด้วย ซึ่งทางไทยก็จัดกำลังทหารไปช่วย แต่ทางอังกฤษต้องการให้กองกำลังของไทยอยู่ในบังคับบัญชาของแม่ทัพอังกฤษ  กองกำลังไทยจึงไม่เห็นด้วย และยกทัพกลับ

          เมื่อการสงครามดำเนินไปนั้น  แม่ทัพอังกฤษยังคงติดต่อขอให้ไทยส่งกำลังไปช่วยอีก   แต่เจตนารมย์ของอังกฤษเปลี่ยนแปลงไป คือ  ในชั้นแรก  อังกฤษเพียงต้องการตัดรอนกำลังของพม่าให้น้อยลง เพื่อที่อังกฤษจะได้แสวงหา(ลประโยชน์ทางการค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น  และคิดจะยกหัวเมืองมอญของพม่า คือ ทวาย  มะริด ตะนาวศรี  รวมทั้งเมืองเมาะตะมะให้แก่ไทย ทั้งนี้ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่อังกฤษต้องการในมะลายู และเรื่องการค้าในประเทศไทย   แต่เมื่อการสงครามดำเนินไปเนิ่นนานเป็นแรมปี  อังกฤษได้มีเวลาศึกษาข้อมูลมากขึ้น    ในชั้นต่อมา  ความมุ่งหมายของสงครามก็เปลี่ยนไปเป็น เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่อังกฤษมากที่สุด คือ

               ๑. หัวเมืองมอญ (ที่คิดว่าจะยกให้ไทยในชั้นแรกนั้น) อยู่ปากน้ำชายทะเล  เป็นเสมือนประตูบ้านของพม่า  และมอญนั้น เป็นอริกับพม่ามาช้านาน  หากอังกฤษจะตั้งให้มอญเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับพม่า โดยอังกฤษเป็นผู้พิทักษ์ให้พ้นภัยจากพม่า  อังกฤษก็จะได้ประโยชน์จากมอญอย่างมหาศาล

               ๒.  ส่วนเมืองทวาย และเมืองมะริดนั้น มีเทือกเขาบรรทัดกั้นจากหัวเมืองมอญ  โดยเฉพาะชายฝั่งบริเวณเมืองมะริดเป็นอ่าว มีเกาะ  เหมาะที่จะเป็นที่จอดพักของเรือกำปั่นได้ดี  หากตั้งสถานีการค้าอีกแห่งหนึ่งก็จะสามารถใช้ต่อระยะจากเกาะหมาก (ปีนัง)  และสิงคโปร์ ได้ดี  จึงเลิกความคิดที่จะยกให้ไทย เป็นใช้ประโยชน์เสียเอง

            ต่อมา  เมื่ออังกฤษชนะพม่าแล้ว  ได้แจ้งมายังรัฐบาลไทยว่า  กองทัพอังกฤษได้ดินแดนพม่าทางเมืองทวายแล้ว  และได้ทราบว่า   เมืองทวายเคยเป็นของไทยมาก่อน   ขอให้ไทยส่งข้าหลวงไปชี้ดินแดนส่วนไหนเป็นของไทย  ก็จะคืนให้ ซึ่งปรากฏหนังสือโต้ตอบกันระหว่าง ไทย กับอังกฤษ ดังนี้  . . .

          . . .  บัดนี้ขอกราบบังคมทูลฯ   และขอชักชวนท่านเสนาบดีกรุงสยามให้แต่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญารีบไปเมืองเมาะตะมะกับนายร้อยเอกเบอร์นี  หรือนายร้อยเอกแมคฟาคา ด้วยกันโดยเร็วเพื่อจะได้ไปปรึกษากับข้าหลวงอังกฤษที่เมืองอังวะ  ฟังดูว่าเมืองเมาะตะมะ หรือเมืองใดควรจะได้มาเป็นของไทยในขณะนี้     ทั้งจะได้สืบสวนถึงการที่จะปักปันเขตแดนกรุงสยามกับเมืองทวายเมืองมะริดที่ตกเป็นของอังกฤษนั้นด้วย . . .

 

        เมื่อเจ้าพระยาพระคลังนำความในหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลฯ ทรงทราบแล้ว มีกระแสรับสั่งว่า กรุงเทพมหานครได้รบพุ่งกับพม่าแต่โบราณมากว่า ๑๐๐ ปี  ไม่เคยได้ยินว่าพระมหากษัตราธิราชแต่ปางก่อนยอมคืนบ้านเมืองที่ตีได้ให้แก่พม่าหรือยอมลดหย่อนผ่อนผันให้แก่พม่าอย่างหนึ่งอย่างใด   ซึ่งนายร้อยเอกเบอร์นีคิดเห็นโดยสติปัญญาสามารถ ว่าจะไปคิดอ่านเอาเมืองเมาะตะมะมาถวายนั้น ก็เป็นเจตนาดี    มีความขอบใจแล้ว   แต่เมืองเมาะตะมะอยู่ห่างไกลกับกรุงเทพฯ  เป็นที่ล่อแหลม ไม่ติดกับแดนไทย  ถึงได้เมืองเมาะตะมะจะรักษาไว้ก็ยาก  ไพร่บ้านพลเมืองก็คงจะไม่พอใจ  ไทยไปรักษาเมืองอยู่ก็จะต้องพาให้รบพุ่งกับพม่าเนืองๆ

ฯลฯ

          ข้อที่จะใคร่ทราบว่าพรมแดนเมืองมะริด  เมืองตะนาวศรี  เมืองทวาย  ต่อกับพระราชอาณาจักรตรงไหนนั้น  เพราะพม่ากับไทยทำสงครามกันเสมอ  จะปักปันเขตแดนกันอย่างไรได้   ถ้าอังกฤษอยากจะทราบว่าเขตแดนเดิมพม่าอยู่ตรงไหน  ก็ให้สืบถามพวกชาวเมืองทวาย  เมืองตะนาวศรี  เมืองมะริด  ที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ที่ริมชายแดนว่ารู้เห็นมาอย่างไร  ก็ให้พาไปชี้เขตแดนที่ต่อกับไทยนั้นเถิด . . .

 

          ไทยรบพม่า   พระนิพนธ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

          เหตุผลอันแท้จริงที่ไทยไม่รับเมืองดังกล่าวไว้  น่าจะเป็นเพราะไทยคิดว่า หากไทยรับเมืองดังกล่าวไว้  อังกฤษคงจะต้องขอเอาเมืองไทร (รัฐเคดาห์ มาเลเซียในปัจจุบัน) ซึ่งไทยได้ลงไปอยู่ปกครองเป็นของไทยแล้ว ทั้งอยู่ติดกับแดนเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาการติดต่อไปมาสะดวก   ส่วนเมืองที่อังกฤษตีได้จากพม่านั้น อยู่กลางระหว่างพม่า และอังกฤษ  ทั้งการติดต่อคมนาคมยากลำบาก   และที่ไทยพยายามตีเอาเมืองเมาะตะมะเพราะต้องการทำลายที่มั่น ที่ชุมนุมพลเตรียมการมารุกรานเมืองไทย  เมื่ออังกฤษได้เมืองเหล่านั้นแล้ว เป็นการปิดกั้นทางที่พม่าจะยกมาตีไทยได้อีก ก็นับว่าบรรลุเจตนารมย์ของไทยแล้ว  ไทยจึงไม่รับเอาเมืองดังกล่าว และไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาต่างๆ ที่อังกฤษได้ตกลงทำกับพม่า

          ส่วนความคิดอังกฤษที่จะรวบรวมหัวเมืองมอญจัดตั้งเป็นอาณาจักรหนึ่งนั้น ปรากฏว่าไม่สามารถสรรหามอญผู้มีบุญญาบารมีมากพอที่จะเป็นพระราชาอาณาจักรมอญได้  ก็ทำเป็นใจดีคืนเมืองเมาะตะมะและเมืองต่างๆ ที่อยู่เหนือ (ฝั่งขวา) แม่น้ำสาละวินให้แก่พม่า   อังกฤษเองครอบครองเฉพาะดินแดนส่วนใต้ หรือฝั่งซ้าย แม่น้ำสาละวิน 

 

 

 

 

แม่น้ำสาละวินหรือแม่น้ำคง  ต้นน้ำอยู่ในธิเบต  ไหลลงสู่อ่าวมะตะบัน ที่เมืองเมาะตะมะ เส้นรุ้งใกล้เคียงกับจังหวัดกำแพงเพชร

 

 

 ญวน - ลาว - เขมร - ไทย

 

เขมร - ญวน

 

 

 เขมร

          เป็นชาติเก่าแก่ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้  มีชื่อว่าอาณาจักรฟูนัน   ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย  และชวา นับถือว่าพระราชาเป็นสมมติเทพ เป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือลัทธิไศเลนทร์

 

          พ.ศ.๑๓๔๕  พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒  มีอำนาจรวบรวมบ้านเมืองสถาปนาอาณาจักรกัมพุช หรือกัมพูชา  ไม่ยอมอยู่ในอำนาจชวา และสร้างความมั่นคงแก่อาณาจักร  ขยายอาณาจักรไปทางตะวันตก  กษัตริย์กัมพุชที่ได้สร้างเทวสถานปรากฏในดินแดนไทย และในกัมพูชา เป็นที่รู้จักกันทั่วไป   ได้แก่  

 

 

 

 

          พระเจ้ายโศวรมัน  พ.ศ.๑๔๓๒ - ๑๔๕๓   สร้างปราสาทเขาพระวิหาร  

 

 

 

ปราสาทเขาพระวิหาร  ตั้งในดินแดนที่เคยเป็นของไทย  อ.กันทรลักษ์ จว.ศรีสะเกษ

 

  พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑  พ.ศ.๑๕๔๖ - ๑๕๙๓   สร้างปราสาทหินพิมาย

 

 

ปราสาทหินพิมาย  อ.พิมาย  จว.นครราชสีมา

 

พระเจ้าสุริยวรมัน ที่ ๒  พ.ศ.๑๖๐๓ - ๑๖๙๓  ได้สร้างเมืองพระนคร (นครวัด)

 

 

นครวัด ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลก

 

 

          พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  พ.ศ.๑๗๓๐ - ๑๗๖๓   ได้สร้างปราสาทเขาพนมรุ้ง  พระปรางค์สามยอด และ นครธม

 

 

 

 

 

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

          พ.ศ.๑๙๗๔   สมัยเจ้าสามพระยาได้อาณาจักรเมืองพระนครเป็นประเทศราช แล้วโปรดให้พระอินทราชาเจ้านายเขมรขึ้นครองเมือง    ต่อมาสมัยพระยาญาติครองเมืองโปรดให้ย้ายเมืองหลวงไปกรุงพนมเปญ

          แต่คราวใดที่ไทยต้องทำศึกรบพุ่งติดพันกับพม่า  เขมรก็มักจะเข้ามาปล้นสดมภ์ และกวาดต้อนผู้คนในพระราชอาณาเขตอยู่เสมอ

          พ.ศ.๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก  เขมรก็หันไปพึ่งพิงญวนเต็มที่ และซ้ำเติมไทยเหมือนที่เป็นมาในอดีต 

 

สมัยกรุงธนบุรี 

          พ.ศ.๒๓๑๒   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นแม่ทัพไปตีกัมพูชา  ตีได้เมืองพระตะบอง  เสียมราฐ  แล้วคอยกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านคร แต่ทรงติดมรสุม และเกิดข่าวลือว่าเสด็จสวรรคต   พระยาอภัยรณฤทธิ์ เกรงว่าจะเกิดจลาจลในกรุงธนบุรีจึงยกทัพกลับ 

          พ.ศ.๒๓๑๓  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งพม่ายึดครองอยู่  พระนารายณ์ราชากษัตริย์เขมรถือเป็นโอกาส จึงจัดทัพมาตีเมืองตราด และจันทบุรี แต่ถูกกองทัพเมืองจันทบุรีตีแตกกลับไป

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากพระราชสงครามเมืองเชียงใหม่จึงโปรดให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามเขมรทั้งทางบกและทางเรือ  ทางบกตีได้เมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัคว์  และเมืองบันทายเพชร  ซึ่งเป็นราชธานี  จนกระทั่งพระนารายณ์ราชา (นักองตน) ต้องเสด็จหนีเข้าไปขอความคุ้มครองจากญวน   ส่วนทางเรือ ตีได้เมืองบันทายมาศ เมื่อได้แล้ว เสด็จต่อไปเมืองพนมเปญ

          ฝ่ายพระนารายณ์ราชาไปขอให้ญวนช่วย แล้วกลับมาอยู่เมืองแพรกปรักปรัต  (ไม่ยอมอยู่ที่บันทายเพชรดังเดิม)  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงอภิเษกนักองโนน พระอนุชา ขึ้นเป็นพระรามราชาครองเขมร ณ เมืองกำปอด   อาณาจักรกัมพูชาจึงแยกเป็นสองฝ่าย   พระรามราชาครองฝ่ายเหนือ  อยู่ที่กำปอด  และพระนารายณ์ราชาครองฝ่ายใต้อยู่ที่แพรกปรักปรัต

          พ.ศ.๒๓๒๓  เกิดจลาจลในเขมร  ฟ้าทะละหะ (มู) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์เป็นกบฏต่อพระรามราชา โดยขอรับการสนับสนุนจากญวน   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปปราบปราม  แต่ต่อมาก็เกิดความไม่สงบในกรุงธนบุรี   เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงต้องกลับมาปราบความไม่สงบในกรุงธนบุรี

 

 

 

 

ญวน

          กล่าวกันว่าญวนเป็นชนชาติผสม ระหว่างพลเมืองท้องถิ่นเดิมของตังเกี๋ย กับชนชาติมองโกลเผ่าหนึ่งซึ่งอพยพจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเข้ามายังคาบสมุทรอินโดจีน     ญวนตกเป็นเมืองขึ้นของจีนตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐  เป็นต้นมา  มีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า นามเวียด  ญวนได้พยายามต่อสู้ดิ้นรนขับไล่ผู้ปกครองชาวจีนเพื่ออิสรภาพเป็นหลายครั้ง

          ประมาณ พ.ศ.๑๔๐๐    บรรพบุรุษไทยครั้งอาณาจักรที่น่านเจ้า ได้ยกกองทัพเข้าตังเกี๋ย และฮานอย

 

          พ.ศ.๑๔๕๐  ราชวงศ์ถังแห่งอาณาจักรจีนหมดอำนาจ  เกิดจลาจลวุ่นวายขึ้นในประเทศจีน     ชาวญวนถือโอกาสเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง   โง เกวี๋ยน Ngo Quyen  ผู้นำชาวญวน ทำการได้สำเร็จ  ได้ตั้งราชวงศ์โง  เมื่อเป็นอิสระจากจีนแล้ว ก็เริ่มแย่งยิงอำนาจกันเองบ้าง  ใครได้อำนาจก็ตั้งวงศ์ใหม่  และเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของพวกเดียวกัน ก็ต้องทำสงครามกับชนชาติอื่น คือรุกรานอาณาจักรจัมปาของพวกจามซึ่งอยู่ทางใต้       จำเนียรกาลผ่านไป   ถึง พ.ศ.๒๑๑๓  ดินแดนญวนได้แบ่งออกเป็น  ๓  ส่วน  คือ

               - ภาคเหนือ  ราชวงศ์มัก  ครองตังเกี๋ย     ฮานอย เป็นเมืองหลวง

               - ภาคกลาง   ราชวงศ์เล  ครองเขตทันหัว แง่อาน และฮาเตียน   แต่พวกตริญ ในฐานะอุปราช มีอิทธิพลในราชสำนัก และในทางการเมืองมากกว่า   มีเมือง เทโด  Tay do  เป็นเมืองหลวง

               - ภาคใต้  อยู่ในอำนาจของพวกเหงียน    มีกวางตรี Quangtri  เป็นเมืองหลวง

สมัยกรุงศรีอยุธยา

          พ.ศ.๒๑๓๕  ปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะสงครามยุทธหัตถี    ตริญตอง อุปราชญวนกลางสามารถแผ่อำนาจครอบคลุมไปทั่วตังเกี๋ย (ญวนเหนือ) และยึดฮานอย ไว้ได้  ในปีต่อมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวง และเชิญเสด็จกษัตริย์แห่งราชวงศ์เล จากเทโดไปประทับที่เมืองฮานอย    ส่วนกษัตริย์ราชวงศ์มัก แห่งตังเกี๋ย หรือญวนเหนือต้องเสด็จหนีไปขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์จีน

          ตระกูลตริญ (เหนือ)  กับ ตระกูลเหงียน (ใต้)  ได้ต่อสู้ขับเคี่ยวแย่งอำนาจกันตลอดมา   ขณะนั้นโปรตุเกสได้มาเก๊าของจีนแล้ว  ได้เข้าไปติดต่อค้าขายกับญวนทั้งสองภาค    ตั้งชื่ออาณาจักรของพวกเหงียน (ญวนใต้) ว่าโคชินจีน Cochin China  และพวกเหงียนก็ได้อาวุธจากพ่อค้าโปรตุเกส และสร้างกำแพงกั้นเหนือเขตแดนเมืองเว้  Hue 

          ต่อมามีบาทหลวงคณะเยซุอิต  เข้าไปเผยแพร่คริสตศาสนาในดินแดนญวน  ญวนใต้ต้อนรับคณะบาทหลวงดีกว่าญวนเหนือ เพราะหวังว่าโปรตุเกสจะช่วยเหลือดนญวนใต้ในการรบ  แต่เมื่อพวกเหงียน ต้องสู้รยกับพวกตริญ เมื่อ พ.ศ.๒๑๙๘  พวกโปรตุเกสไม่ได้ช่วยดังหวัง   พวกเผยแพร่คริสตศาสนาจึงพบอุปสรรคอย่างมากในดินแดนญวนใต้

          พ.ศ.๒๒๑๖ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)   พวกตริญ (ญวนเหนือ) พ่ายแพ้แก่พวกเหงียน (ญวนใต้)   จึงเร่งทำนุบำรุงบ้านเมือง   ฝ่ายญวนใต้เมื่อชนะต่อญวนเหนือแล้วก็หันไปรุกรานอาณาจักรจัมปา และเมื่อรวมได้สำเร็จแล้ว  ก็รุกเข้าสู่เขมร ลงไปจนถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง   

ในช่วงปลายสมัยอยุธยา ญวนพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมร

 

สมัยกรุงธนบุรี

          ญวนเห็นว่าไทยเพิ่งแพ้พม่า จึงรีบแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมรยึดเอาเมืองบันทายมาศของเขมร  จนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดกองทัพไปแก้ป้ญหา   ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว ในส่วนเขมร

           พ.ศ.๒๓๑๖  ญวนใต้เกิดกบฏไกเซิน หรือไตเซิน Tay-Son   ระหว่างที่ญวนใต้กำลังปราบกบฏอยู่  กองทัพญวนเหนือของพวกตริญก็เข้าตี และยึดเอาเมืองเว้  องเชียงชุนน้องชายอุปราชเมืองเว้ ต้องหนีไปเมืองบันทายมาศ ต่อมาพวกกบฏก็ตีเมืองบันทายมาศแตกอีก  องเชียงชุนและพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองจึงพาครอบครัวลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี  ส่วนเหตุการณ์ทางญวนใต้ก็ซ้ำร้ายฝ่ายรัฐบาลเหงียนก็แพ้พวกกบฏ พวกกบฏเข้ายึดเมืองไซง่อนได้    องเชียงสือ/เหงียนอาน  Ngoyen-Anh  หลานอาขององเชียงชุนหนีไปซ่องสุมผู้คนมาตีเอาเมืองไซง่อนคืนจากพวกกบฏได้  และได้เป็นเจ้าเมืองไซง่อน   และได้ส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระราชอาณาจักรไทยครั้งหนึ่ง

 

ญวน - เขมร - ไทย  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          พวกกบฏไกเซินกลับตีและยึดเมืองไซง่อนได้อีก  ฟ้าทะละหะ (มู) จัดกองทัพไปช่วย แต่แพ้พวกไกเซิน   องเชียงสือเองก็ต้องหลบหนี จนต้องเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปลาย พ.ศ.๒๓๒๕ 

องเชียงสือ/เหงียนอาน

          พ.ศ.๒๓๒๖ และ ๒๓๒๗  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดกองทัพให้ยกไปช่วยองเชียงสือปราบกบฏถึง ๒ ครั้ง  แต่เนื่องจากไทยยังคงมีศึกติดพันอยู่กับพม่า  ไม่อาจจัดทัพให้สมบูรณ์ได้เต็มที่  การปราบกบฏไกเซินจึงไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์  

          ทางเมืองญวน พวกไกเซินชนะญวนใต้แล้วก็ขยายผลไปทางเหนือจนได้ครอบครองญวนทั้งหมด ใน พ.ศ.๒๓๒๘  (ปีที่ไทยเผชิญสงครามเก้าทัพ)

         องเชียงสือได้รับการสนับสนุนจากสังฆราชแห่งอาดรัง (ปิญโญ เดอ เบแอน) ซึ่งหนีพวกไกเซินเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ที่จันทบุรี   ในพ.ศ.๒๓๓๐     องเชียงสือกับพวกจึงออกจากกรุงเทพฯ เพื่อต่อสู้กับพวกไกเซินโดยเพียงแต่ทำหนังสือกราบถวายบังคมลาไว้ที่โต๊ะบูชา  

           องเชียงสือได้รับการสนันสนุนจากข้าหลวงฝรั่งเศสในอินเดีย จัดหาทหารอาสาสมัครชาติตะวันตกได้หลายร้อยคน  และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานอาวุธ อาหาร และยานพาหนะ จำนวนหนึ่ง

 

         พ.ศ.๒๓๔๐  พระนารายณ์ราชาถึงแก่พิราลัย มีบุตร ๕ องค์ คือ นักองจัน  นักองพิม  นักองสงวน  นักองอิ่ม  และนักองด้วง   ซึ่งยังเยาว์อยู่มาก  จึงทรงพระกรุณาให้ฟ้าทะละหะ (ปก)  เป็นผู้สำเร็จราชการ

 

           พ.ศ.๒๓๔๕     องเชียงสือก็ได้ชัยชนะตลอดทั้งญวนใต้ ญวนเหนือ  และสถาปนาตนเป็นพระจักรพรรดิยาลองแห่งเวียดนาม (Gia - Long)    ประกอบด้วยดินแดน  ๓ ส่วน คือ   ญวนกลาง  มีศูนย์กลางที่เว้  และเป็นเมืองหลวงด้วย    ญวนเหนือ  ศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอย     และ ญวนใต้  ศูนย์กลางอยู่ที่ ไซง่อน

 

          พ.ศ.๒๓๔๙  นักองจัน อายุได้ ๑๖ ปี  ฟ้าทะละหะนำมาเข้าเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาอภิเษกนักองจันเป็น สมเด็จพระอุทัยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา  แต่พระอุทัยราชานี้ไม่จงรักภักดีต่อไทยเช่นสมเด็จพระนารายณ์ราชาพระบิดา  เนื่องจากเติบโตในเขมรแวดล้อมด้วยขุนนางที่นิยมญวนจึงมีจิตฝักใฝ่ญวนและคิดเอาญวนเป็นที่พึ่ง เพื่อหลุดพ้นจากอำนาจไทย

          พ.ศ.๒๓๕๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต   พระเจ้าเวียดนามยาลองได้จัดคณะทูตมาถวายบังคมพระบรมศพชุดหนึ่ง  และอีกชุดหนึ่งเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ถวายเครื่องราชบรรณาการ  พร้อมทั้งขอพระราชทานเมืองบันทายมาศ หรือ ฮาเตียน  ซึ่งเวียดนามได้ส่งขุนนางญวนเข้ามาจัดการว่าราชการเรียบร้อยแล้ว   

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคงจะทรงพระราชดำริว่า เป็นห้วงในการพระบรมศพ และไทยยังคงมีศึกติดพันอยู่กับพม่า  จึงพระราชทานให้ตามที่ขอ

          พระอุทัยราชาส่งนักองสงวน และนักองอิ่มพระอนุชามาเป็นผู้แทนพระองค์มาถวายบังคมพระบรมศพ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาแต่งตั้งนักองสงวนเป็นพระมหาอุปโยราช  และนักองอิ่ม เป็นมหาอุปราชแห่งกรุงกัมพูชา   และมีพระราชสาส์นแจ้งให้พระอุทัยราชาจัดกองทัพช่วยไทยเตรียมไปรบพม่า   พระอุทัยราชามิได้กระทำตาม แต่พระมหาอุปโยราชคิดกับขุนนางที่จงรักภักดีไทยเกณฑ์คนมาช่วยไทยตามพระราชสาส์น    ครั้นพระอุทัยราชาทรงทราบจึงให้จับขุนนางเหล่านั้นฆ่าเสีย  และแจ้งไปยังผู้สำเร็จราชการญวนที่ไซง่อนว่า ขุนนางเหล่านั้นยุยงพระมหาอุปโยราชให้แข็งข้อต่อพระองค์   และมีหนังสือกราบบังคมทูลมาทางกรุงเทพฯ ว่า เตรียมจะยกกองทัพมาช่วยอยู่แล้ว แต่ขุนนางเป็นกบฎจึงต้องงดทัพไว้ก่อน    ฝ่ายญวนจัดทัพยกเข้ามาในเขตกัมพูชา แสดงว่ารับเป็นที่พึ่งให้เขมร และพระอุทัยราชาก็เตรียมการต่อสู้กองทัพไทย 

          ความสัมพันธ์ระหว่าง เขมร ญวน และไทย ในระยะนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันโดยตลอด  ผู้นำเขมรที่ยังคงจงรักภักดีต่อไทยก็มี    เช่นนักองสงวนพระมหาอุปโยราช    แต่พระอุทัยราชากษัตริย์เขมรฝักใฝ่ฝ่ายญวน  ไทยก็ยังคงมีศึกกับพม่า  ทำให้ญวนถือเป็นโอกาสที่แผ่อิทธิพลต่อเขมร และแสดงให้เห็นว่าเขมรนั้นอยู่ในอำนาจและเชื่อฟังญวนมากกว่าไทย

          จักรพรรดิเวียดนามยาลองสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระโอรสได้ราชสมบัติสืบมาคือ พระเจ้าเวียดนามมินมาง  พม่าส่งทูตไปชวนให้จัดทัพมารบไทย  แต่ไม่ทรงรับทูตพม่า  ซึ่งมีคำอ้างของทางญวนในภายหลังต่อมาว่าเป็นเพราะพระเจ้ายาลองได้รับสั่งไว้ไม่ให้ลูกหลานคิดร้ายต่อไทย เพราะได้เคยอุปการะสมัยตกทุกข์ได้ยากมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจนกลับเป็นใหญ่ได้     แต่การที่ญวนไม่คิดร้ายต่อไทยนั้น น่าจะมีข้อจำกัดหรือขอบเขตอยู่เพียงไม่ทำร้ายต่อหัวเมืองไทยเท่านั้น  ส่วนเขมรและลาวนั้นเป็นประเทศราช ญวนคงถือว่าใครดีใครได้ จึงได้เกิดสงครามกับไทยในรัชกาลต่อมา

 

 

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔

 

 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๓๖๗  ญวนซึ่งกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรและลาว คิดว่าจะเกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติไทย จึงได้ยุยงและสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ให้เป็นกบฏใน พ.ศ.๒๓๖๙    (ลาวอยู่ในอำนาจพม่าในสมัยอลองพญา  และตั้งตัวเป็นอิสระในสมัยกรุงธนบุรี   และเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา)

กบฏเจ้าอนุวงศ์   ๒๓๖๙

          พระเจ้าอนุรุทธราช หรือ เจ้าอนุวงศ์รวบรวมกองทัพลาวจากเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๓๖๙  แต่ได้ถูกคุณหญิงโม รวบรวมผู้คนต่อสู้ จนได้ชัยชนะกองทัพลาว ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองนครราชสีมา  ดังที่ชาวไทยเราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ จัดกองทัพให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่  ติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเวียงจันทน์  เจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวน   และทางญวนก็ได้ส่งกองทัพมาช่วยเจ้าอนุวงศ์รบไทยด้วย  แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพไทยได้เข้าเวียงจันทน์ได้แล้ว  ญวนจึงเลิกทัพกลับไป

          ฝ่ายกองทัพไทยได้ทำลายเวียงจันทน์ และตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธันวาคม  ๒๓๗๐   เจ้าอนุวงศ์ถูกขังอยู่ประมาณ  สัปดาห์หนึ่งก็สิ้นชีวิต

 

สงครามไทย - ญวน   ๒๓๗๖

          พ.ศ.๒๓๗๖  เกิดความไม่สงบขึ้นในไซ่ง่อนโดย องภอเบโดยคิดเป็นกบฏต่อพระเจ้ามินมางแต่งหนังสือมาถึงไทยขอให้ส่งกองทัพไปช่วย  ไทยจัดกองทัพขนาด  ๔๐,๐๐๐  เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ซึ่งเคยโดยเสด็จไปราชการทัพครั้งรบเจ้าอนุวงศ์กับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ   เป็นแม่ทัพ  ยกไปทางเมืองเขมร  และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพเรือ มีกำลัง  ๑๐,๐๐๐  ยกไปตีเอาเมืองบันทายมาศ  แล้วเข้าตลองขุดไปบรรจบกับกองทัพบกที่ไซง่อน

          กองทัพไทยตีได้เมืองบันทายมาศ  และได้รบกับกองทัพญวนระหว่างทางไปไซง่อน  ไม่สามารถเข้าตีและยึดเมืองไซง่อนได้  แต่กองทัพไทยก็ได้กวาดต้อนครอบครัวจาก เมืองบันทายมาศ  กำโพธ (กำปอด)   กำปงโสม  และโจฎก  เข้ามาทางเมืองจันทบุรี   ครอบครัวจากกำปงสวาย  และทางบริเวณตะวันออกของทะเลสาบเข้ามาทางเมืองสุรินทร์  ขุขันธ์  นครราชสีมา   และยังได้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองทางหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และหัวเมืองที่เคยขึ้นกับเวียงจันทน์  และเมืองพวนให้กลับมาเป็นของไทย

          ทางเขมร  เกิดจลาจลต่อต้านกองทัพไทยที่พนมเปญ  เจ้าพระยาบดินทร์เดชา จึงให้รื้อกำแพงกรุงพนมเปญ และกวาดครอบครัวเขมรเข้ามาในพระราชอาณาจักร

          การสงครามกับญวนในครั้งนี้  แม้ไม่ได้นครไซง่อนแต่ก็ได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตลอดไปจนถึงแดนญวน  รวมทั้งหัวพันทั้งห้าทั้งหก และสิบสองจุไท บางส่วน ซึ่งยอมสวามิภักดิ์โดยดี  และไทยให้ดินแดนเหล่านี้เป็นประเทศราชปกครองตนเอง โดยไม่ส่งกองทหารไปยึดครอง

          ได้มีญวนที่สวามิภักดิ์มาเข้ากับกองทัพไทย  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้  ญวนที่นับถือพระพุทธศาสนาตั้งบ้านเรือนที่เมืองกาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ซึ่งทรงตั้งขึ้นที่ปากแพรก

          ส่วนญวนที่ถือคริสตังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามเสนในกรุงเทพ และให้ขึ้นกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่

 

สงครามไทย - ญวน   ๒๓๘๓ - ๒๓๘๔

          ไทยเตรียมกองทัพไปรบญวนในดินแดนเขมรอีกครั้ง คิดจะตีพร้อมกันทั้งสองฟากทะเลสาบ  ทางตะวันออกพระยาราชนิกูล และพระยาอภัยสงคราม คุมพล ๑๕,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขมรไม่คุ้นเคยในการรบ แต่ถึงกระนั้นก็ยังตีญวนทางกำปงธม และชีแครง  แล้วตั้งอยู่ที่ชีแครง   ครั้นถูกกองทัพญวนยกมาอีกก็ไม่สามารถรักษาเมืองชีแครงได้    ส่วนทางตะวันตกนั้น  กำลังจะตีเมืองโพธิสัตย์  เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ทราบว่ากองทัพตะวันออกถอนแล้ว จึงทำหนังสือขู่องเดดก องอันพู่แม่ทัพใหญ่ญวนในเมืองว่าทางกรุงเทพฯ กำลังยกทัพใหญ่มา  หากญวนยอมอ่อนน้อมโดยดีก็จะปล่อยไป  แม่ทัพญวนยอมทำสัญญาสงบศึกถอนทัพกลับไป และแจ้งให้แม่ทัพที่ยึดหัวเมืองต่างๆ เลิกทัพกลับไปด้วย   ไทยจึงได้เมืองโพธิสัตย์ ด้วยสติปัญญาของท่านเจ้าพระยาบดินทร์เดชา  ดังนี้   แล้วจัดแบ่งกำลังยกตามไปกำปงชนังทางเรือส่วนหนึ่ง  ท่านแม่ทัพยกกลับมาตั้งที่พระตะบอง

 

 

 

เจ้าพระยาบดินทร์เดชา   (สิงห์) 

 

           ส่วนองเตียนกุนแม่ทัพญวนที่รุกไล่กองทัพไทยจากชีแครงรู้ข่าวทางโพธิสัตย์ก็โกรธมาก   ทำการรุนแรงต่อชาวเขมรจนเกิดจลาจลไปทั่ว  หนีกลับไปเขมรบ้าง เกิดต่อต้าน  ฆ่าฟันทหารญวนเสียบ้าง หนีมาเข้ากองทัพไทยบ้าง  ซ้ำเกิดอหิวาห์ตกโรคระบาดในกองทัพ      พระเจ้าเวียดนามมินมางจึงทรงตั้งองเกรินตาเตียงกุนมาที่พนมเปญเพื่อว่าราชการและแก้ปัญหาเมืองเขมร    องเกรินตาเตียงกุนเรียกองเตียนกุนจากกำปงธมมารายงานตัว   แต่องเตียงกุนไม่ยอมมาหา    พอดีกับพระเจ้ามินมางสิ้นพระชนม์ใน  พ.ศ.๒๓๘๓     พระราชโอรสได้ราชสมบัติเป็นพระเจ้าเทียวตรี โปรดให้หาองเกรินตาเตียงกุนกลับไปเมืองเว้   องเตียงกุนจึงเป็นแม่ทัพใหญ่ญวนในเขมรต่อไป

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชารับนักองด้วงออกไปอยู่ที่พระตะบอง  เพื่อให้ชาวเขมรได้อุ่นใจ และในที่สุดย้ายไปอยู่เมืองอุดงฤาชัย  ซึ่งห่างจากเมืองบันทายเพชรประมาณ ๘๐๐ เมตร   ตั้งเกลี้ยกล่อมขุนนางเขมร

          ฝ่ายราษฎรเขมรก็ซ่องสุมผู้คนเป็นกองโจรทำร้ายพวกญวน  พวกญวนพยายามปราบแต่ไม่สำเร็จซ้ำถูกพวกเขมรจับส่งให้ฝ่ายไทยราว   ๒ พัน คน     ทางญวนจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่   เอานักองอิ่มมาอยู่ที่พนมเปญเพื่อแข่งกับนักองด้วงที่อุดงฤาชัย    แต่แสวงหาสมัครพรรคพวกได้ยาก  ซ้ำเกิดทุพภิกขภัย และโรคระบาดในพนมเปญ     พระเจ้าเทียวตรีจึงให้ถอยไปตั้งที่โจฎก   ไปได้สัก  ๒ -๓  วัน  องเตียนกุนก็กินยาตายเพราะเสียใจที่ทำการไม่สำเร็จ 

          ไทยเห็นญวนถอนจากพนมเปญจึงเข้ายึดพนมเปญให้นักองด้วง     และเขมรก็แบ่งเป็น  ๒  ภาค  คือ  ภาคเหนือ   มีราชธานีอยู่ที่พนมเปญ อยู่ในปกครองของนักองด้วง  มีกองทัพไทยสนับสนุน   ภาคใต้  มีเมืองโจฎกเป็นราชธานี  อยู่ในปกครองของนักองอิ่ม  ญวนคอยสนับสนุน

            ญวนที่กองทัพได้มาในคราวนี้ เป็นพวกญวนที่นับถือศาสนาพุทธ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งบ้านเรือนที่บางโพ  และขึ้นอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม

 

สงครามไทย - ญวน   ๒๓๘๕

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริที่จะถมคลองขุดวิญเต ซึ่งญวนใช้เป็นเส้นทางยกกองทัพเรือมาเมืองบันทายมาศได้ราดเร็ว   แต่จะต้องทำลายกำลังของญวนที่รักษาปากคลอง เสียก่อน    จึงทรงพระกรุณาให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ที่พนมเปญ   (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ป่วย  รักษาตัวอยู่ที่พระตะบอง)    พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นแม่ทัพ      จมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่ทัพหน้า   ยกทัพเรือออกไปก่อน     กองทัพเรือไทยโจมตีทหารญวนที่รักษาป้อมปากน้ำเมืองบันทายมาศ  ญวนสู้ไม่ได้    ต้องส่งกำลังจากไซง่อนมาช่วย   กองทัพเรือไทยจึงถอยกลับมา  ญวนจึงสามารถรวมกำลังที่มีอยู่เข้าตีกองทัพบกของเจ้าพระยายมราชจนต้องถอยไป

          เจ้าพระยาบดินทร์เดชาเห็นว่าจะรักษาพนมเปญไว้ไม่ได้ต่อไป  เพราะอยู่ใกล้ญวนเกินไป  จึงให้นักองด้วงกลับมาตั้งมั่นที่อุดงฤาชัยอีก  แต่ก็จัดกำลังส่วนหนึ่งไว้รักษาพนมเปญ  ก็พอดีเกิดความไม่สงบขึ้นในตังเกี๋ย  พระเจ้าเทียวตรีจึงต้องถอนกำลังส่วนใหญ่จากเขมรกลับไป     ไทยจึงส่งกำลังเข้าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนถึงบริเวณเทือกเขาต่อแดนญวน  ยึดได้เมืองตะโปน  เมืองวัง  เมืองคำน้อย  เมืองพิน  เมืองคำม่วน (ในลาว)  และรวบรวมผู้คนมาอยู่แถบเมืองกาฬสินธุ์  และสกลนคร  จำนวนหนึ่ง

 

สงคราม ไทย - ญวน  ๒๓๘๘

          ทางไทยได้ทราบข่าวศึกญวนจึงทรงพระกรุณาให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชาออกไปบัญชาการรบอีก    เดือนกันยายน  ๒๓๘๘  น้ำท่วมพนมเปญ    ญวนใช้กองเรือบุกเข้ามาถึงพนมเปญ และกำปงหลวง  และรุกขึ้นมาเมืองอุดงฤาชัยทางบก  แต่ถูกกองทัพไทยตีแตกหนีลงเรือไป      ญวนเปลี่ยนมาให้อุบายทางการเมืองเกลี้ยกล่อมให้นักองด้วงยอมขึ้นแก่ทั้งสองประเทศ (เหมือนสมัยพระอุทัยราชา)     ทางไทยเองก็เห็นว่าได้ทำศึกกับญวนมาช้านานแล้ว  เขตที่นักองด้วงครองอยู่นั้นเป็นที่ดอน ไม่อุดมสมบูรณ์  และต้องติดต่อค้าขายกับชาวญวนที่มาตามแม่น้ำโขง และป่าสัก      ส่วนเขมรทางใต้ติดต่อค้าขายกับญวนได้สะดวก จึงเจริญได้เร็วกว่า    หากไทยไม่ยอมให้เขมรทางเหนือเป็นไมตรีกับญวน   ต่อไปเมื่อเห็นความแตกต่างระหว่างการนิยมไทย และนิยมญวน  ก็จะหันไปนิยมญวนกันหมด    

          เจ้าพระยาบดินทร์เดชาจึงทำหนังสือกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักองด้วงทำหนังสือขอเป็นไมตรีกับญวน   ทางฝ่ายญวนก็กำลังจะมีข้อขัดแย้งกับฝรั่งเศสจึงรับไมตรีจากเขมร   (ชะรอยว่าทางไทยไม่ทราบว่าญวนกำลังมีปัญหากับฝรั่งเศส   มิฉะนั้น คงจะถ่วงเวลาไว้ได้)

          พ.ศ.๒๓๙๐    ญวนสมัยพระเจ้าตือดึก ได้ทำการรุนแรงต่อชาวต่างชาติในญวนมากขึ้นจนเกิดสงครามกับฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓   ญวนเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสทีละน้อยๆ    จนในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้ยึดครองญวนได้ทั้งประเทศ

 

เขมร  สองนาย

          พ.ศ.๒๓๙๑   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา สถาปนานักองด้วงเป็น สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี  พระเจ้ากรุงกัมพูชา    และทางญวนก็ตั้งให้นักองด้วงมียศอย่างญวน  และส่งตราประจำตำแหน่งให้ด้วย

          พระเจ้ากรุงกัมพูชา ถวายเครื่องบรรณาการต่อกรุงเทพฯ ทุกปี  และส่งนักองราชาวดี พระโอรสมาถวายตัวด้วย   ส่วนกับญวนนั้น  เขมรส่งเครื่องบรรณาการ ทุก  ๓ ปี

 

          (นักองราชาวดีได้เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาสืบต่อจากพระราชบิดา  ใน พ.ศ.๒๔๐๓    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนโรดม  และเมื่อฝรั่งเศสได้ญวนทั้งประเทศแล้วก็อ้างว่าเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของญวนมาก่อน เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนแล้วก็ต้องได้เขมรด้วย   ไทยจำต้องเสียเขมรให้ฝรั่งเศสเมื่อ  พ.ศ.๒๔๐๖) 

 

. . . ก็เมื่อพม่าต้องเสียเอกราชแก่อังกฤษ  ญวนต้องเสียเอกราชแก่ฝรั่งเศส แล้ว ทั้งพม่า และญวนก็ไม่เป็นภัยคุกคามไทยต่อไปอีก  แต่ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็มุ่งมองมาที่ไทยที่จะเป็นรายต่อไป นับเป็นภัยคุกคามที่ร้ายกาจและน่าสพึงกลัวยิ่งกว่า  หากไทยพลาดพลั้งก็อาจเป็นเช่น พม่าและญวน หรือประเทศอื่นๆ ที่เสียเอกราชได้ จึงทรงมีพระราชกระแสว่า 

 

. . . การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว

จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง  ให้ระวังให้ดี  อย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ . . .

 

พระราชกรณียกิจ 

 ด้านความมั่นคง

          ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์ปัญหาความมั่นคงของบ้านเมืองมาจากทางพม่าและญวน ตามที่ได้เล่าสู่กันข้างต้นแล้ว  การทหารได้ดำเนินการไปตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  มีการเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อย   และได้ทรงทำนุบำรุงด้านการทหารตลอดรัชสมัยของพระองค์ คือ

            - การสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์

            -  สร้างป้อมปราการไว้รักษาพระนคร  ปากน้ำสำคัญ    และสร้างเมืองหน้าด่าน

            - จัดหน่วยทหารราบและทหารปืนใหญ่ ให้เป็นหน่วยประจำการ

             - ทรงพระกรุณาให้เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงแปลตำราทหารปืนใหญ่เป็นภาษาไทย เรียกว่า "ตำราปืนใหญ่"  เป็นแบบแผนในการฝึก

 

การสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ 

          การตระเตรียมยุทธภัณฑ์ต่างๆ  โดยเฉพาะการจัดหาปืนใหญ่เพื่อไว้ใช้ในราชการทัพมีหลักฐานว่า  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสั่งซื้อปืนกระสุน  ๑๐  นิ้วเป็นจำนวนถึง  ๑๐๐ กระบอก  จากนายหันแตร  โรเบิร์ด  ฮันเตอร์    นอกจากนี้  มีหลักฐานว่า  ทางกราของอังกฤษ  โดยนาย จอห์น  ครอเฟิด  ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์  ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนทองเหลืองบรรจุดินนัดละ  ๑๒  ปอนด์  ๒  กระบอก  เมื่อพุทธศักราช  ๒๓๖๘

          นอกจากการซื้อแล้ว  ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อปืนเหล็กมีชื่อ เจ้าพระยาสัมมาทิฐิ  และเจ้าพระยารักษาพระศาสนา อย่างละกระบอก  และปืนแบบสัมมาทิฐิ  และ รักษาพระศาสนา  ขึ้นเป็นจำนวนมาก     นอกจากนี้  ยังมีการหล่อปืนเจ้าพระยาปราบอังวะ ขึ้นในสมัยนั้นด้วย

 

 

ปืนรักษาพระศาสนา

 เป็นปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ    บรรจุลูกกระสุนทางปากลำกล้อง    หล่อขึ้นจากเหล็ก มีรูปทรงเรียวยาว

 ลำกล้องด้านนอกมีลวดลายงดงามประดับไว้ตามตำแหน่งต่างๆ เช่น ที่ปากลำกล้อง กลางลำตัวปืน และท้ายรังเพลิง

 

 ลำกล้องด้านในเรียบไม่มีเกลียว  รังเพลิงโค้งมน เหนือรังเพลิง พบจารึกคร่ำเงิน ตัวอักษรไทยโบราณ ถอดความได้ว่า

รักษาพระศาสนา  กระสุน สี่นิ้ว  กินดิน  ๑ ชั่ง

 กรอบรูชนวน  มีรูปเหมือนซุ้มของพระพิมพ์    ท้ายปืนมีตุ่ม  หรือที่เรียกว่า  ท้ายเม็ด     ลำกล้องยาว  ๓ ศอก   ๑๐ นิ้ว    

(ตั้งแสดงด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

 

 

 

"ตำราปืนใหญ่"

          พ.ศ.๒๓๘๓  ทรงพระกรุณาให้เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารญวนต่างด้าว

          เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์จึงทรงแปลตำราทหารปืนใหญ่เป็นภาษาไทย เรียกว่า "ตำราปืนใหญ่" เป็นแบบแผนในการฝึก  โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย   กล่าวถึงความเป็นมาของปืนใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีลำกล้อง และ ทรงนำ ชื่อปืนใหญ่ ทั้ง  ๒๗๗  กระบอก  ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานขนานชื่อไว้ เมื่อ  พ.ศ.๒๓๖๘  มารวบรวมไว้    รวมทั้งตำราทำดินปืนของไทยแต่เดิม  ซึ่งนอกจากส่วนผสมดินปืนแล้ว  ยังต้องมียันต์ และคาถากำกับด้วย    ส่วนการฝึกหัดพลประจำปืนนั้น   อยู่ในตอนที่  ๔  และ ตอนที่  ๕    หากมีท่านใดสนใจ  จะนำมาเผยแพร่ให้ศึกษากัน  หมดทั้งเล่ม ต่อไป

 

 

การสร้างป้อมปราการไว้รักษาพระนคร  และปากน้ำสำคัญ

            พ.ศ.๒๓๗๑    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปีกกา  ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่ตำบลบางจะเกร็ง  (ปัจจบัน คือตำบลบางนางเกร็ง) และป้อมตรีเพ็ชร   เหนือเมือง (สมุทรปราการ) ขึ้นไปอีกป้อมหนึ่ง

 

               และสร้างป้อมวิเชียรโชฎก    ที่ปากน้ำท่าจีน   เมืองสมุทรสาคร


 

 

 

 

ป้อมวิเชียรโชฎก    ที่ปากน้ำท่าจีน   เมืองสมุทรสาคร

 

 

          พ.ศ.๒๓๗๗      ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมคงกะพัน  ที่บางปลากด   เหนือเมืองสมุทรปราการ

          ต่อมาได้ขยายป้อมผีเสื้อสมุทรออกไปทั้งสองด้าน    แล้วให้ถมศิลาปิดปากอ่าว  ที่แหลมฟ้าผ่า      คงไว้แต่ทางเดินเรือเป็นช่องๆ  เรียกว่า "โขลนทวาร"

 

          พ.ศ.๒๓๗๔    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สร้างป้อมพิฆาฏข้าศึก    ที่ปากน้ำแม่กลอง    เมืองสมุทรสงคราม

           ป้อมนี้ตั้งอยู่ที่ปากคลองแม่กลองฝั่งตะวันออก ต่อจากวัดบ้านแหลม และสถานีรถไฟแม่กลอง ในปัจจุบัน     เมื่อ  พ.ศ.๒๔๔๙ ทางราชการได้รื้อป้อมดังกล่าวแล้วตั้งเป็นกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ 

           พ.ศ.๒๔๖๕ กระทรวงทหารเรือในเวลานั้น ได้ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑   และยกสถานที่ให้กระทรวงมหาดไทย   สำหรับเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ดังปรากฎในปัจจุบัน

 

 

         พ.ศ.๒๓๗๗    สร้างป้อมที่ปากน้ำบางปะกง    เมืองฉะเชิงเทรา   แต่ไม่ปรากฏชื่อ

          พ.ศ.๒๓๙๒      ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อม  ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่ตำบลบางจะเกร็ง  สำหรับเป็นที่บัญชาการของแม่ทัพ  เรียกชื่อ  "ป้อมเสือซ่อนเล็บ"

          การสร้างเมืองหน้าด่าน              ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการ ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งเตือน  และยับยั้งต้านทานข้าศึกทางบก  ๓  ทิศทาง  คือ 

          พ.ศ.๒๓๗๕     สร้างป้อมปราการเมืองกาญจนบุรี  ที่ตำบลปากแพรก    

          พ.ศ.๒๓๗๗     สร้างป้อมไพรีพินาศ  และป้อมพิฆาฏศัตรู  ที่เมืองจันทบุรี

          พ.ศ.๒๓๗๙      สร้างป้อมปราการที่ตำบลบ่อยาง   เมืองสงขลา
          

การสร้างกองเรือ

          ในการป้องกันภัยทางทะเล  นอกจากจะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างป้อมปราการ รักษาพระนคร และปากแม่น้ำสำคัญ แล้ว   ยังทรงพระดำริถึง  เครื่องมือรบทางทะเลด้วย   จึงทรงพระกรุณาให้ต่อเรือเพื่อให้ใช้ได้ทั้งใน  แม่น้ำ และในทะเล 

          การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลนี้  และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานเป็น  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ด้วยทั้งสองท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้น เป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น

          
เรือที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   (เฉพาะลำที่สำคัญ)
 
                   ๑. เรือเทพโกสินทร   สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔   เป็นเรือกำปั่นหลวง เคยใช้ออกไปค้าขายยังต่างประเทศ     เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ใช้เป็นเรือแม่ทัพหน้า คือ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ทรงยกทัพไปรบกับญวน 
 
                   ๒. เรืออมรแมนสวรรค์    สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕   เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้สร้าง   ถวายสำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง สร้างที่นครศรีธรรมราช   เป็นเรือกำปั่นแปลง ปากกว้าง ๓ วา สร้างอย่างประณีตวิจิตรงดงามใช้เวลาเกือบ ๗ ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒     ใช้เป็นเรือสำหรับ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี   ผู้เป็นแม่ทัพยกทัพเรือ ไปปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อจลาจลทางปักษ์ใต้
 
                   ๓. เรือปักหลั่น และ เรือมัจฉาณุ (ลำที่หนึ่ง)   ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด   เป็นเรือใบขนาดใหญ่ สำหรับบรรทุกทหาร และ เสบียงไปส่งกองทัพ เรือทั้งสองลำนี้ ได้ใช้ในราชการทัพเรือ พ.ศ.๒๓๘๒   คราวปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้ และ  เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ คราวยกทัพไปรบกับญวน 
 
                   ๔. เรือแกล้วกลางสมุทร  (Ariel)   สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ที่จันทบุรี เป็นเรือกำปั่นใบ   ลำแรกที่สร้างโดยคนไทย คือหลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เมื่อคราวไปช่วยบิดาของท่านสร้างเมืองใหม่ ที่จันทบุรี   เป็นเรือชนิดบริกขนาด ๑๑๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๖ กระบอก   เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ไป
ปราชการทัพปราบเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้ 
 
                   ๕. เรือพุทธอำนาจ (Fairy)    สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙   เป็นเรือชนิดบาร์ก ขนาด ๒๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๑๐ กระบอก เรือลำนี้เป็นของ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์   เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔   ทรงเป็นแม่ทัพเสด็จไปราชการทัพรบกับญวณ   ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ   

          กล่าวโดยรวม     เรือรบของไทย  ในสมัยนี้  สามารถจำแนก ได้  ๓  ประเภท  คือ

          เรือใช้ในลำน้ำ        เป็นเรือในกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี  และใช้เป็นยานพาหนะสำหรับเดินทัพทางลำน้ำ

          เรือใช้ในอ่าวทะเล        ขั้นแรก ทรงให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชต่อเป็นต้นแบบขึ้นก่อนจำนวน   ๑๑  ลำ    เรียกว่าเรือกำปั่นแปลง      ต่อมา   เมื่อทางญวนได้มีเรือรบขนาดใหญ่  เรียกกันว่า  "เรือป้อม" ใน พ.ศ.๒๓๗๗     จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง ต่อเรือป้อมขึ้น  ๘๐  ลำ    พระราชทานชื่อ  ว่า  . . . เรือไชยเฉลิมกรุง    บำรุงศาสนา    อาสาสู้สมร    ขจรจบแดน  . . . เป็นต้น  

          เรือกำปั่นแล่นใบในทะเล    ในปลายรัชกาล   ได้โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นรบขึ้นอีกหลายลำ   สำหรับลาดตระเวณทางทะเล   เช่น   เรือแกล้วกลางสมุทร    พุทธอำนาจ    ราชฤทธิ์  วิทยาคม   . . .       

          เมื่อเริ่มใช้กำปั่นใบเป็นเรือหลวง   มีการจ้างฝรั่งมาเป็นนายเรือ   และกำหนดชื่อเรือเป็นภาษาอังกฤษด้วย  เช่น   เรือแกล้วกลางสมุทร   เป็นเรือขนาด  ๑๑๐  ตัน    มีอาวุธปืนใหญ่  ๖  กระบอก    มีชื่อ ภาษาอังกฤษ ว่า   ARIEL    มี   Egian  เป็นนายเรือ         เรือวิทยาคม     Roger เป็นนายเรือ      เรือระบิลบัวแก้ว    Jacob เป็นนายเรือ     เป็นต้น
 

ด้านการทำนุบำรุงพระศาสนา

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา  ทรงเกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองด้วยทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์  และทรงส่งเสริมศีลธรรมสำหรับราษฎร   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และสร้างพระอารามเป็นจำนวนมาก  เช่น

           วัดพระศรีรัตนศาสดาราม    เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาให้สร้างพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง และในรัชกาลต่อมา ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลง   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม คือ  

               - ซ่อมและตกแต่งพระอุโบสถใหม่ทั้งองค์อย่างงดงาม  เช่น ภายนอก  เปลี่ยนกระเบื้องเคลือบมุงหลังคาเป็นกระเบื้องสี  เปลี่ยนช่อฟ้า และหางหงส์    ภายใน    พระสุพรรณบุษบกที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้น  โปรดให้ยกชั้นสูงขึ้น ทำฐานรองรับ  ลดหลั่นกันลงมาอย่างงดงาม  ตั้งเครื่องบูชา อยู่รายรอบ  เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               -  รื้อวิหารพระเทพบิดร  แล้วสร้างวิหารพระธาตุใหม่เป็นวิหารยอดประดับกระเบื้องเคลือบ  เรียกกันต่อมาว่า  พระวิหารยอด

               - โปรดให้เขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่ผนังพระระเบียงใหม่ทั้งหมดพระระเบียง

               - สร้างภูเขาและแท่นศิลาราย ภายในบริเวณพระอาราม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             วัดสุทัศน์เทพวราราม     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างวัดขึ้นในกำแพงพระนครตรงที่เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ  แล้วโปรดให้เชิญพระพุทธรูป  หน้าตัก  ๓ วา คืบ มาแต่พระวิหารหลวง  วัดมหาธาตุ  เมืองสุโขทัย  ในปีที่ ๒๗ ในรัชกาล  ตรงกับ พ.ศ.๒๓๕๒   ต่อมาได้ถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี    แต่สร้างได้เพียงการก่อฐานราก    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒  วัดนี้ยังสร้างไม่เสร็จ     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับปฏิบัติต่อมา  โปรดให้สร้างพระอุโบสถและการเปรียญ   สัตตมหาสถาน  กุฏิ  สำนักสงฆ์  เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า  วัดสุทัศน์เทพวราราม  แล้วนิมนต์พระสงฆ์อยู่ประจำ

 

 

 

 

 

 พระศรีศากยมุนี และพระวิหาร

 

           วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม     เดิมชื่อวัดโพธาราม  เป็นวัดเก่าชำรุด ปรักหักพังมาก  ในรัชกาลที่ ๑  โปรดให้สถาปนาวัดนี้อยู่ถึง  ๗ ปีจึงสำเร็จ   

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงซ่อมปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่รวมสรรพวิทยาการ ความรู้ต่างๆ  และทรงตั้งนักปราชฌ์ราชบัณฑิต คิดค้นรวบรวมตำรับตำรา ทั้งโบราณคดี  วรรณคดี  ตำรายา  ฯลฯ ของไทย  จารึกบนแผ่นศิลาติดไว้ตามศาลาที่รายรอบพระอุโบสถ และปูชนียสถานสำคัญๆ ในวัด  เช่น  รอบพระมหาเจดีย์ รอบพระมณฑป  เป็นต้น  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นหลักในการศึกษาต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            วัดอรุณราชวราราม    เดิมชื่อวัดแจ้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปฏิสังขรณ์ทรงมีพระประสงค์จะสร้างใหม่ทั้งพระอาราม  แต่สำเร็จเพียงพระอุโบสถ   ทรงปั้นหุ่นพระประธานด้วยฝีพระหัตถ์ 

 

 

 

 

            พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม  โดยเฉพาะพระปรางค์องค์ใหญ่  สูง  ๑ เส้น  ๑๓ วา  ๑ ศอก  ๑ คืบ  ๑ นิ้ว   วัดรอบฐานได้  ๕ เส้น  ๑๗ วา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์     เป็นวัดโบราณ  ชื่อวัดสลัก    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้สถาปนาใหม่ให้คู่กับวัดพระเชตุพนฯ  แล้วพระราชทานนามว่า วัดนิพานาราม  เมื่อรัชกาลที่ ๑  จะโปรดให้ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก  โปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์    และเมื่อโปรดให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรม แล้วพระราชทานนามว่า วัดมหาธาตุ    เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ว่า "วัดมหาธาตุ"

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้สถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม  แต่รักษาแบบอย่างของเดิมไว้  เสริมพระอุโบสถให้สูงขึ้นกว่าเดิม    ต่อมุขพระวิหารให้ยาวเท่าพระอุโบสถ   นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง 

 

 

 

 

 

 

 

          วัดราชโอรสาราม   เดิมชื่อวัดจอมทอง  อยู่ริมคลองด่านใกล้บางขุนเทียน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวรัชกาลที่ ๓  ครั้เป็นพระราชโอรส  เมื่อเสด็จยกทัพไปขัดตาทัพพม่าที่กาญจนบุรี พ.ศ.๒๓๖๓  ได้ประทับแรมและทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารที่วัดนี้   ทรงอธิษฐานให้ไปราชการทัพโดยสวัสดิภาพ     เมื่อเสด็จกลับจึงทรงปฏิสังขรณ์ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง  ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดราชโอรสาราม" 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร   เดิมชื่อวัดสะแก  มีมาแต่เดิม   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้รื้อ  แล้วสถาปนาใหม่ทั้งอาราม  

 

 

 

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณะใหม่  สร้างพระวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารสซึ่งเชิญมาแต่วัดวิหารทอง  เมืองพิษณุโลก

 

 

พระอัฏฐารส

เป็นพระพุทธรูป สำริดปิดทอง  พุทธลักษณะ ศิลปะสุโขทัย ปางประทานอภัย ขนาด สูง  ๕ วา  ๑ ศอก  ๑๐ นิ้ว

พระอัฏฐารสองค์นี้เดิมทีอยู่ที่วัดวิหารทอง   จังหวัดพิษณุโลก    เมื่อทรงบูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม ได้ทรงสร้างพระวิหาร พอดีกับวัดวิหารทองกลายเป็นวัดร้าง

จึงโปรดให้พระอัฏฐารส มาประดิษฐานที่วัดสระเกศ 

ในรัชกาลต่อมา ทรงเติมสร้อยท้ายพระนามพระอัฏฐารส เป็น

"พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร"

 

 

           วัดยานนาวา     เป็นวัดเดิมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  เรียกว่าวัดคอกควาย   ในสมัยกรุงธนบุรีนับเป็นพระอารามหลวง เรียกในราชการว่า วัดคอกกระบือ    ในสมัยรัชกาลที่ ๑  โปรดให้สร้างพระอุโบสถ 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอุโบสถทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์   และสร้างเรือสำเภาจำลองขนาดเท่าของจริงเป็นฐานพระเจดีย์   พระราชทานนามว่า วัดญาณนาวาราม   แต่ต่อมาเลือนไปเป็น วัดยานนาวา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           นอกจากวัดที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีวัดที่ทรงปฏิสังขรณ์อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุง และหัวเมือง   เช่น  วัดพระพุทธบาท  วัดราชบูรณะ  วัดชนะสงคราม  วัดบพิตรพิมุข  วัดทองธรรมชาติ  วัดหงส์  วัดสังข์กระจาย  วัดอัปสรสวรรค์  วัดหนัง  วัดอมรินทราราม  วัดเครือวัลย์วรวิหาร  วัดพระยะทำ  วัดบวรมงคล  วัดราชาธิวาส  วัดสุวรรณดาราราม  วัดอัมพวันเจติยาราม  เป็นต้น

 

ส่วนวัดที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่  เช่น

          วัดพระสมุทรเจดีย์     ทรงรับพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าภาลัย ภายหลังจากสร้างป้อม ทีเมืองสมุทรปราการป้องกันข้าศึกทางทะเล   แต่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์

 

 

 วัดพระสมุทรเจดีย์    อำเภอพระสมุทรเจดีย์  สมุทรปราการ

 

            วัดเทพธิดารามวรวิหาร      ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย  เดิมชื่อ  วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส   พระราชธิดาองค์ใหญ่    เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙     เสร็จในปี พ.ศ.๒๓๘๒

 

 

 

 

 

สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ  พระปรางค์ทิศทั้งสี่      บุษบกที่รองรับพระประธาน ภายในโบสถ์ ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามและที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์

 

           วัดราชนัดดารามวรวิหาร    ตั้งอยู่ที่ริมถนนมหาไชย ใกล้วัดเทพธิดาราม   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙   บนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ   ๒๕ ไร่   พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
 
          ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร ทรงพระกรุณาให้สร้างโลหะปราสาทเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานของพระสงฆ์     มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทย    เป็นอาคาร  ๗ ชั้น มียอดปราสาท  ๓๗ ยอด    อันหมายถึง โพธิปักขิยธรรม  ๓๗ ประการ   ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่เป็นปัจจัยให้ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน    ยอดปราสาทชั้น  ๗ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ   กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน  ๖๗  ขั้น   ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ 

 

 

 

 

 พระอุโบสถ  และโลหะปราสาท วัดราชนัดดาวรวิหาร

 

           วัดเฉลิมพระเกียรติ    ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้ตลาดขวัญ    ทรงสร้างอุทิศถวายแด่พระราชชนก และพระราชชนนี คือ  "สมเด็จพระศรีสุลาลัย"

            เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๗   ได้สถาปนาสมเด็จพระราชชนนี  ขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย"  ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่า บริเวณป้อมทับทิมเก่าฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตกนั้น เป็นนิวาสสถานเดิมแห่งอัยกาพระอัยกี    ทั้งเป็นสถานที่ประสูติของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยพระราชชนนี    จึงสมควรสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงขึ้นสักแห่งหนึ่ง   และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกำแพงเมือง และป้อมปราการก่ออิฐถือปูนรอบวัด มีใบเสมาทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า  "วัดเฉลิมพระเกียรติ"  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 วัดเฉลิมพระเกียรติ    ตำบลศรีเมือง   อำเภอเมืองนนทบุรี

 

 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          จีน          จีนกับไทยมีสัมพันธไมตรีกันมาเป็นเวลาช้านาน นับแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา    ในสมัยรัตนโกสินทร์  ไทย - จีน ยังคงติดต่อค้าขายกันเป็นปรกติ  ชาวจีนก็ ทำมาหากินและ ตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก 

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไทยได้ส่งคณะราชทูตไปเมืองจีน  ใน  พ.ศ.๒๓๖๘   และอีก  ๗  เดือนต่อมา   ราชทูตคณะนี้ก็เดินทางกลับถึงประเทศไทย  พร้อมพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการตอบแทนของพระเจ้ากรุงจีนเตากวง

          ประโยชน์ที่ได้จากการติดต่อกับจีน คือ  ประโยชน์จากการค้าขาย  ไทยได้สินค้าที่จำเป็นหลายชนิดจากเมืองจีน  และได้กำไรจากการค้านั้น    ส่วนจีนก็ได้ประโยชน์จากการต่อเรือสำเภาในประเทศไทยเพราะหาไม้ชนิดดีได้ง่าย   และชาวจีนยังได้ใช้เมืองไทยเป็นแหล่งงาน และทำมาหากินอีกด้วย   ชาวจีนที่มั่งคั่งก็ได้บริจาคเงินสร้างวัด  ตามอย่างเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่   แต่ข้อเสีย ที่มีชาวจีนอยู่มากก็มี เช่น  การนำฝิ่นเข้ามาในประเทศ   รวมกลุ่มเป็นอั้งยี่ก่อความไม่สงบ

 

          โปรตุเกส          เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์    รัฐบาลโปรตุเกสที่เมืองกัวพยายามส่งบาทหลวงมาสืบคริสตศาสนานิกายคาทอลิกใน พ.ศ.๒๓๒๕    ต่อมา  ใน พ.ศ.๒๓๒๙  โปรตุเกสได้ส่งคณะทูตเข้ามาถวายพระราชสาส์นและพักอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ  ๒ เดือน  ก็เดินทางกลับพร้อมพระราชสาส์นตอบ

          โปรตุเกสได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสถานกงศุลตั้งแต่รัชกาลพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   แต่การดำเนินงานของกงศุลโปรตุเกสไม่ได้ผลสมปรารถนา  การค้าก็ไม่เจริญเท่าที่ควร     อย่างไรก็ตาม  ไทยก็ได้ประโยชน์จากโปรตุเกสในเรื่อง  อาวุธที่ใช้ในการพระราชสงคราม ที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสนำมาถวาย (พระราชทานเงินตอบแทน)  และที่ไทยซื้อเอง  (จ่ายเงินก่อน แล้วพ่อค้านำอาวุธมามอบให้)   การสอนวิชาทำปืนไฟ   การสร้างป้อมค่าย    รวมถึงการมีกองอาสาโปรตุเกส ในกองทัพด้วย

 

          อังกฤษ          เริ่มส่งทูตเข้ามาติดต่อกับไทยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒  ด้วยวัตถุประสงค์  ๒ ประการ  คือทางการเมือง  และทางการค้า

            ทางการเมือง     อังกฤษเช่าเกาะหมาก  (เกาะปีนัง)  จากพระยาไทรบุรี ซึ่งไทรบุรีขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย  แต่พระยาไทรบุรี ปะแงรัน  ต้องการเป็นอิสระจากไทย   ฝ่ายอังกฤษจึงเข้าสนับสนุนพระยาไทรบุรีอย่างเต็มที่ เพราะหากไทรบุรีหลุดพ้นอำนาจไทย  อังกฤษจะสามารถเรียกร้องประโยชน์จากไทรบุรีได้เต็มตามปรารถนาในฐานะผู้มีบุญคุณ    แต่พระยาไทรบุรีปะแงรัน  หาคิดได้ไม่ ว่า ถ้าอังกฤษช่วยให้พ้นจากอำนาจไทยได้จริง  ก็ต้องเข้าอยู่ใต้อำนาจอังกฤษอยู่ดี

            ทางการค้า     เนื่องจากผลประกอบการของบริษัท อินเดียตะวันออก ตกต่ำเป็นอย่างมากเพราะสงครามนโปเลียนในยุโรป   อังกฤษจึงต้องการขยายการค้าออกมาทางตะวันออก  ได้แก่ พม่า ไทย  

          จึงใน พ.ศ.๒๓๖๔  มาร์ควิส  เอสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย จึงจัดให้ จอห์น  ครอเฟิด  นายยอน การะบัด   เป็นทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี    ครอเฟิด  ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมท่า  ได้นำอักษรสาส์น และเครื่องราชบรรณาการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย    อักษรสาส์นมีข้อความที่น่าสนใจตอนหนึ่ง ว่า  . . . อังกฤษเดี๋ยวนี้มีอำนาจ   มีดินแดนกว้างขวาง  มีประชากร กว่า ๙ ล้านโกฏิ     จึงไม่มีความประสงค์ที่จะแสวงหาอาณาเขตเพิ่มเติมต่อไปอีก . . .    แต่ปรากฏความจริงในกาลต่อมาว่า  อังกฤษหาเหตุกับพม่าจนต้องทำสงครามกับ ถึง  ๓ ครั้ง  แต่ละครั้งก็เรียกร้องเอาดินแดนของพม่าเป็นส่วนๆ  ในที่สุด ก็ได้พม่าทั้งประเทศใน พ.ศ.๒๔๒๘        นอกจากนี้  ยังขอให้ฝ่ายไทยยอมแก้ไขธรรมเนียมต่างๆ ที่ไทยเคยได้ประโยชน์จากการค้ากับต่างประเทศให้  ทรงพระราชดำริแก้ไขยกเว้น  (เพื่อประโยชน์ของฝรั่ง)

          สรุปผลการดำเนินงานของ  นายยอน  การะบัด   คือ   ทางการเมือง  ไทยก็ไม่ยอมคืนไทรบุรีให้ปะแงรัน    ทางการค้า   ก็เจรจาไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน

          ในปลาย พ.ศ.๒๓๖๘   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   เมื่ออังกฤษทำสงครามเกือบชนะพม่าแล้วนั้น  ลอร์ด  แอมเฮิร์สต์  ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย ได้แต่งตั้งร้อยเอก  เฮนรี่  เบอร์นี   กัปปิตัน หันแตร  บารนี  เป็นทูตเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีก  ครั้งนี้ได้ตกลงทำสัญญากันเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๓๖๙  

          ทางการเมือง  อังกฤษสัญญาว่าจะไม่ต้องการเมืองไทรบุรี    ทางการค้า  ได้คกลงกันว่าไทยจะเรียกเก็บภาษีปากเรืออย่างเดียว  แต่เก็บแพงขึ้น  พ่อค้าอังกฤษจะเข้ามาค้าขายได้อย่างเสรี  ยกเว้น  ข้าว  อาวุธปืน  และฝิ่น

          พ.ศ.๒๓๙๓  เซอร์  เจมส์  บรูค  นายสีจัมปุ๊ก  ผู้แทน ลอร์ด พาล์มเมอร์สตัน  รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ  เป็นทูตเข้ามาเจรจา และเสนอสนธิสัญญาเป็นข้อสัญญา  ๙ ข้อ   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓  ทรงพระกรุณาให้เสนาบดีปรึกษาหารือพิจารณาข้อสัญญาทั้งนั้น  ที่ประชุมเห็นสมควรรับข้อสัญญาไว้เพียงข้อเดียว  คือข้อที่ว่า  . . . ตั้งแต่นี้ไป  จะให้ความสุขสำราญและราชไมตรีจำเริญไว้แก่เมืองทั้งสองตราบเท่ากัลปาวสาน . . .   ส่วนอีก  ๘ ข้อนั้น  สรุปว่า . . . จะได้เคยพบเห็นผู้ได้มาเจรจาความบ้านเมืองประดุจดังครูบาอาจารย์มาสั่งสอนบังคับบัญชาเหมือนน้ำท่วมป่าท่วมทุ่งเช่นนี้หามีไม่ . . . 

          แสดงว่าคณะเสนาบดีครั้งกระนั้น  ไม่มีนโยบายที่จะผ่อนปรนให้ฝรั่ง  ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม  (กฎระเบียบ)เดิม ในการติดต่อกับฝรั่งทั้งในทางการเมือง และทางการค้า    อาจจะกล่าวอย่างชัดเจนตรงๆ ว่า  การทูตของ นายสีจัมปุ๊ก  ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

 

          สหรัฐอเมริกา          เริ่มตั้งแต่คณะมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาสืบคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ใน พ.ศ.๒๓๗๑  ส่วนทางการทูตนั้น  ประธานาธิบดี แจคสัน  แห่งสหรัฐอเมริกา  ได้ให้เอ็ดมันด์  โรเบิร์ต    เอมินราบัด  เป็นทูตเข้าทางเจริญทางไมตรี  เดินทางถึงกรุงเทพฯ  เมื่อ เดือนกุมภาพันธ์  ๒๓๗๕  ซึงได้เข้าเฝ้าฯ และทำสัญญากัน  คล้ายๆ กับที่ไทยทำกับอังกฤษ   (เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๓๖๙ )

          ครั้นถึงปีจอ พ.ศ.๒๓๙๓  รัฐบาลอเมริกันแต่งให้มิสเตอร์โยเสฟ บัลเลศเตีย  เป็นฑูตเข้ามาขอแก้สัญญาที่ได้ทำไว้   ฑูตอเมริกันมาด้วยเรือรบ  มาถึงในเดือน ๕  ต้นปีจอ  พ.ศ.๒๓๙๓     แต่โยเสฟ บัลเลศเตียไม่สันทัดวิธีการฑูต   ความประพฤติและพูดจาก้าวร้าว  ผิดกับฑูตที่เคยมาแต่ก่อน   พอพูดจากับไทยเพียงข้อที่จะขอเข้าเฝ้า  ก็เกิดเป็นปากเสียงเกี่ยงแย่งกัน  โยเสฟ บัลเลศเตีย เกิดโทสะก็กลับไปในเดือน ๖   ปีจอ     หาสำเร็จประโยชน์ที่เข้ามาคราวนั้นไม่

          ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ทรงโปรดการที่คณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแพรคริสตศาสนา  แต่ก็ทรงยอมรับกิจการที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง  เช่น

          ด้านการแพทย์      ซึ่งขณะนั้นเกิดไข้ทรพิษ  คณะมิชชันนารีได้คิดเรื่องหนองฝีสำเร็จ  และฉีดหนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ (ปลูกฝี) แก่ข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไป  และการฉีดยาป้องกันอหิวาห์ตกโรค  เป็นต้น   

          การศึกษา     เนื่องจากคณะมิชชันนารีมักจะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาดี จึงเป็นครูสอนวิชาการต่างๆ ให้กับคนไทย   การศึกษาที่นับว่าได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ชาติไทยในกาลต่อๆ มา    คือ  การทรงศึกษาของเจ้าฟ้ามงกุฎ    ครั้งทรงผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  ทรงสนพระทัยในการศึกษาภาษาอังกฤษ  และวิชาการแผนใหม่  ทำให้พระประยูรญาติ  และผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์เจริญรอยตาม  เมื่อได้ศึกษาภาษาอังกฤษพอประมาณแล้ว ก็ศึกษาวิชาการอื่นๆ ต่อไป  เช่น  ประวัติศาสตร์ การเมือง  วิชาการทหาร  วิศวกรรมศาสตร์  วิชาการต่อเรือ  เป็นต้น

          การพิมพ์     เริ่มจาก นางแอน  จัดสัน  ภรรยาศาสนาจารย์ จัดสัน  ต้องการสอนคริสตศาสนาในหมู่บ้านชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่าตั้งแตครั้งเสียกรุง  จึงศึกษาภาษาไทยแล้วทำตัวพิมพ์ภาษาไทยและพิมพ์คำสอนเป็นภาษาไทยขึ้นใช้ในพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๒

          ต่อมา หมอบรัดเลย์ได้ได้ดัดแปลงตัวพิมพ์อักษรไทยให้สวยงามขึ้น  แต่ต้องส่งไปหล่อในต่างประเทศ   จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๒๓๘๔  จึงหล่อตัวพิมพ์ขึ้นในประเทศได้    รัฐบาลได้พิมพ์เอกสารออกเป็นครั้งแรก คือ  ประกาศ เรื่องห้ามสูบฝิ่น และนำฝิ่นเข้ามาในเมืองไทย  พ.ศ.๒๓๘๒   และหมอบรัดเลย์ ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ไทยขึ้นฉบับหนึ่ง เมื่อ ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๓๘๗  ชื่อ บางกอกรีคอเดอร์  นับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย  

          เมื่อการพิมพ์ได้เกิดขึ้นในประเทศ  การเผยแพร่  วิชาการ  ข่าวสาร  ต่างๆ ก็กระทำได้สะดวก  ถูกต้อง และรวดเร็ว ขึ้นกว่าแต่ก่อน  ซึ่งใช้วิธีคัดลอกลงในสมุดไทยทีละเล่มๆ   อันเป็นวิธีที่ล่าช้ามาก และคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ อยู่เสมอ  

          กิจการหลายอย่างที่ เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และเป็นต้องใช้ศิลปวิทยาการใหม่ๆ จากชาวต่างชาติ สมดังพระราชกระแส          

 . . . การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา 

แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว . . .

 

ด้านการบริหารการคลัง

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศทางด้านการบริหารการคลัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดหารายได้ของแผ่นดิน  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอากร  และทรงส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่เรียกว่าการค้าสำเภาให้เจริญก้าวหน้า  ทั้งสำเภาของหลวง และของราษฎร  ทำให้มีรายได้แผ่นดินมากขึ้น

          เมื่อใกล้สิ้นรัชกาล ทรงมีพระราชปรารภว่า  . . . เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่  ๔ หมื่นชั่ง ขอสัก  ๑ หมื่นเถิด  ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว   ให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุด และการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย . . .

          เงินนี้เป็นที่รู้จักกันว่า เงินถุงแดง    เพราะบรรจุในถุงแดง  นอกจากที่ทรงขอไว้ทะนุบำรุงวัดแล้ว ยังทรงมีพระราชกระแส ว่าเอาไว้ให้ลูกหลานใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง   และก็ได้ใช้เงินนี้เป็นค่าชดใช้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสคราวกรณีพิพาท ร.ศ.๑๑๒   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 เงินพดด้วง   ในรัชสมัย

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ   ๒  เมษายน  ๒๓๙๔

พระชนมายุ  ๗๔  พรรษา

 

 ในมหามงคลสมัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ 

เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ  ๕๐ ปี    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาเจษฎาราชเจ้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 พลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

 

๓๑  มีนาคม  ๒๕๓๐  -  ๒๐๐ ปี  พระราชสมภพ     

 

 

ตราไปรษณียากร  ๒๐๐  ปี    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

 

 

 

 

 

 

 วันที่   ๓๑  มีนาคม  ของทุกปี   เป็นวันที่ระลึก 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

 

 

. . . การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว

จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง  ให้ระวังให้ดี  อย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ . . .

 . . . การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา

แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว . . .

 

 

 

 

 

 

 บรรณานุกรม

          - ไทรรบพม่า    พระนิพนธ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          - จดหมายเหตุ   เรื่อง ฑูอเมริกันเข้ามาในรัชกาลที่  ๓    เมื่อปีจอ  พ.ศ.๒๓๙๓    พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ   นายแถม  สุวรรณทัต   ณ  เมรุวัดทองนพคุณ  ธนบุรี    ๓๐  เมษายน  ๒๕๐๓

          - รวมเรื่องเกี่ยวกับญวนและเขมรในสมัยรัตนโกสินทร์  (รัชกาลที่  ๑  ถึง  รัชกาลที่  ๔)   พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  นายโฆษิต  เวชชาชีวะ    ณ  สุสานหลวง  วัดเทพศิรินทราวาส  วันที่  ๒๗  เมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๐๗

          - ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่  ๑  ถึง  รัชกาลที่  ๓  (พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๙๔)      ศาสตราจารย์  หม่อมราชวงศ์  แสงโสม  เกษมศรี  และ  นางวิมล  พงศ์พิพัฒน์    กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย  เรียบเรียง      โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี   พ.ศ.๒๕๒๓

          -  ประวัติกองทัพไทยในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕    โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร    กรุงเทพมหานคร    พ.ศ.๒๕๒๕

          - ปืนใหญ่โบราณ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย    สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม    บริษัท  อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง  จำกัด  (มหาชน)    ๒๕๕๐

          - ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 


c




ประวัติศาสตร์ทั่วไป โดย สัมพันธ์

๓๑ มีนาคม วันที่ระลึก "พระมหาเจษฎาราชเจ้า"
วันทหารผ่านศึก
ดอกป๊อปปี้บาน แตรนอนดังกังวานหวานสะท้านใจ
Little Tiger - Little Angles 2
Little Tiger - Little Angles
“ครบรอบ 60 ปี รำลึกความสัมพันธ์ไทยร่วมกองกำลังสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี”
ออกพรรษา
สัญญา ๖๐ ปี ของ สาธารณรัฐเกาหลี
วันอาสาฬหบูชา
วันวิสาขบูชา
เฉลิมพระชนมพรรษา อาศิรวาท



1

ความคิดเห็นที่ 1 (102044)
avatar
Demetorius

 ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Demetorius (maceus-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-03 02:42:24 IP : 115.87.73.29



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker