dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา
วันที่ 16/02/2020   21:07:44

 

อยุธยายศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

        พระพุทธศักราช  ๒๒๗๖   ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ราชวงศ์บ้านพลูหลวง  แห่งกรุงศรีอยุธยา    บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น   ด้วยเหตุที่ว่างเว้นการศึกกับพม่ามาช้านาน   . . . นานาประเทศที่ใกล้เคียงก็กำลังเสื่อมทรามทรุดโทรมอยู่ตามกัน    ดังเช่น   กรุงกัมพูชา  ก็ต้องยอมขึ้นไทย  โดยไม่ต้องรบพุ่งปราบปรามประการใด      เมืองลังกา  ก็หมดสิ้นสมณวงศ์ต้องมาขอพระสงฆ์ไทยไปให้อุปสมบท    แม้พม่า  ก็ต้องหันมาของ้อให้ไทยช่วยสงเคราะห์  เพราะเกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง       ด้วยเหตุดังนี้    เมื่อในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศจึงปรากฏเกียรติยศกรุงศรีอยุธยา ว่ารุ่งเรืองกว่าประเทศอื่นที่ใกล้เคียงโดยรอบ    แต่ที่แท้จริงนั้น  เป็นเวลาเมืองไทยกำลังทรุดโทรม  หาเหมือนแต่ก่อนไม่ . . .

 

 

 

 

 

สิ้นราชวงศ์ตองอู    เริ่มราชวงศ์คองบอง

 

          ด้านแผ่นดินพม่า  ปลายสมัยพระเจ้าตะนิงกันเวมิน   ราชวงศ์ตองอู    ได้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากแคว้นมณีปุระ ทางตะวันตกเฉียงเหนือประกาศตนเป็นอิสระ และยกกองทหารม้าเข้าปล้นดินแดนพม่าจนถึงเมืองสะแคง  ตรงข้ามกรุงอังวะ ราชธานีในยุคนั้น  และได้ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีทั้งหมด

          พระเจ้าตะนิงกันเวมินสวรรคต  ใน พ.ศ.๒๒๗๖      พระโอรสได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาธิบดี  ท่ามกลางความไม่สงบ    และเมื่อราชสำนักอังวะอ่อนแอ    แว่นแคว้นต่างๆ ก็กระด้างกระเดื่อง    ในที่สุด  ก็ได้จับกุม  หม่องอองไจยะ  หนุ่มพม่า  วัย  ๒๒  ปี   บุตรหัวหน้าบ้านมุตโชโบ   ริมฝั่งด้านตะวันตกแม่น้ำอิรวดี ในข้อหากบฏ   แต่เมื่อสอบสวนแล้วก็ปล่อยตัวไป 

  แคว้นมณีปุระ   อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า   ติดกับรัฐอัสสัม ของอินเดีย  ปัจจุบัน เป็นรัฐหนึ่งในอินเดีย    > 

 

 

          ทหารมณีปุระยังคงก่อความไม่สงบต่อไป    นอกจากนี้    หัวหน้าชาวไทยใหญ่พวกหนึ่งที่อยู่ใกล้เมืองหลวง  ก็ประกาศตั้งตนเป็นกษัตริย์พม่า    ร่วมกับพวกมอญในบริเวณใกล้เคียงก่อความไม่สงบขึ้นอีก      พ.ศ.๒๒๘๓    ข้าหลวงพม่าที่เมืองพะโค ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์พม่าตอนล่าง  ถึงแม้จะถูกปราบลงได้   แต่ก็ทำให้  พะโค  เมาะตะมะ  และทวาย กลายเป็นศูนย์กลางกบฏ    

          พ.ศ.๒๒๘๖  พวกกบฏยึดได้เมืองสิเรียม   ช่วยกันเผาวัด และโรงงานต่างๆ ของชาวยุโรป     ยึดเรือที่จอดอยู่ในอ่าวเป็นจำนวนมาก    และชาวยุโรปก็ถอนตัวออกจากสิเรียมหมด   พวกกบฏยึดได้เมืองสิเรียมได้      แต่งตั้ง หม่องอองสะล่า ขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี  ดำรงตำแหน่งยศมอญ "พญาทละ"  ตั้งอนุชาเป็นรัชทายาท    และขุนพลมอญชื่อ "ตะละปั้น"  เป็นแม่ทัพ

 

          ขุนนางผู้ใหญ่พม่าหลายนาย ก็พาครอบครัวหนีเข้ามาเมืองตะนาวศรี  แจ้งแก่กรมการเมืองว่า จะขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงศรีอยุธยา     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ก็โปรดให้รับพวกพม่าเข้ามาในกรุงศรี ฯ  และทรงทำนุบำรุงให้มีความสุขทั่วกัน

 

          พระเจ้าอังวะทรงทราบความ   จึงทรงแต่งฑูตานุฑูตเชิญพระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา  ใน พ.ศ.๒๒๘๗    ทรงขอบพระทัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ทรงทำนุบำรุงขุนนางพม่าซึ่งลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบารมี    พร้อมขอให้ไทยช่วยปราบปรามมอญ     แม้ไม่ทรงช่วยพม่า  ก็เพีบงให้ไทยอยู่เป็นกลาง   อย่าให้ไปช่วยอุดหนุนมอญดังแต่ก่อน    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพิเคราะห์ว่า    ฝ่ายมอญ  ตั้งตนเป็นพระเจ้าหงสาวดี เสมอด้วยพระองค์   และ  มอญก็เข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก หากมอญหงสาวดีกล้าแข็งขึ้น   มอญในเมืองไทยอาจจะกำเริบขึ้นตามกัน   เป็นภัยแก่ไทยได้      แต่ทางฝ่ายพม่าวิงวอนอ่อนโยน  ไม่ทนงตน ทนงศักดิ์ดังก่อน    จึงทรงรับไมตรีพม่า  และ ทรงแต่งฑูตานุฑูตเชิญพระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการไป พร้อมกับคณะฑูตพม่า  เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าอังวะ   ไปถึงกรุงอังวะ    เมื่อ  ปีขาล  พ.ศ.๒๒๘๙      พระเจ้าอังวะทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง

          เมื่อคณะราชฑูตไทยไปถึงกรุงรัตนปุระอังวะนั้น    สมิงทอ  แม่ทัพคนหนึ่งของฝ่ายหงสาวดีคุมทัพอยู่ชานกรุงอังวะ  คาดว่ากรุงศรีอยุธยาจะส่งกองทัพไปช่วยกรุงอังวะ  ก็ถอยทัพกลับลงมา    ต่อมา  สมิงทอเกิดขัดกับ พญาทละ  จึงหนีมากรุงศรีอยุธยาตั้งใจจะทูลขอกองทัพไปตีหงสาวดี   พระเจ้าหงสาวดีพญาทละจึงจัดศุภอักษรเข้ามาทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   เล่าความเป็นมา และขอให้ประหารชีวิตสมิงทอ    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเห็นว่า  พระเจ้าหงสาวดีอ่อนน้อมเข้ามา  และ มิได้ทรงเป็นข้าศึกศัตรูกับสมิงทอ    จึงโปรดให้สมิงทอลงเรือสำเภาแล้วไปปล่อยเสียที่เมืองจีน

          พระเจ้าหงสาวดีเมื่อทราบว่า  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ทรงเข้าด้วยกับพม่า และเนรเทศสมิงทอเสียแล้วก็คลายใจ    เกณฑ์กองทัพบก ทัพเรือยกไปตีกรุงอังวะเมื่อปลายปีมะเมีย  พ.ศ.๒๒๙๓    ฝ่ายพม่าอังวะสู้มอญหงสาวดีไม่ได้ต้องถอยหนีขึ้นไปโดยลำดับ    จนกองทัพมอญหงสาวดีล้อมกรุงอังวะไว้ได้  และต้องเสียกรุงรัตนปุระอังวะให้แก่ฝ่ายหงสาวดีเมื่อ  เดือน  ๕  ปีมะแม  พ.ศ.๒๒๙๔

 เป็นการสิ้นราชวงศ์ตองอู

 

 

 

 

อลองเมงตะยาจี - อลองพญา

          หม่องอองไจยะ  หนุ่มพม่า  วัย  ๒๒  ปี  ผู้บุตรหัวหน้าบ้านมุตโชโบ   ริมฝั่งด้านตะวันตกแม่น้ำอิรวดี   ที่เคยถูกจับกุมสอบสวนในข้อหากบฏ  เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๖   

         บัดนี้    หม่องอองไจยะ       อายุ  ๔๐    อยู่ในวัยฉกรรจ์    เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ค่อนข้างจะมั่งคั่ง  และได้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อจากบิดา    มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีรูปร่างงามสง่า  บุคลิกดีน่าเลื่อมใส  ลักษณะน่าเกรงขาม    สูง  ๑๗๕  เซนติเมตร         เมื่อได้ข่าวว่ากรุงอังวะแตก  เสียทีแก่มอญหงสาวดี    ก็เริ่มจัดเตรียมป้องกันหมู่บ้าน    และตัดสินใจว่า   (พม่า)จะต้องช่วยกู้ประเทศให้พ้นมือมอญ   และสามารถรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองโดยรอบให้เข้ามาในตำบล  และสร้างเป็นป้อมค่ายเตรียมต่อสู้   นับเป็นการเปิดฉากการต่อต้านอำนาจมอญในพื้นที่พม่าตอนบน      และสามารถเอาชนะกองทหารมอญได้ทุกครั้งไป  ทำให้มีผู้คนมาร่วมมือมากยิ่งขึ้น ๆ    . . .  จนในที่สุด  หม่องอองไจยะก็คิดว่า  . . . 

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องประกาศตนเองเป็นกษัตริย์

 

 

         หม่องอองไจยะเปลี่ยนชื่อตำบลเป็น "ชเวโบ" หรือ "รัตนสิงค์  ดินแดนแห่งขุนพลทอง"  แล้วประกาศ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์พม่า  ทรงพระนามว่า อลองพญา -  Alaungpaya  เมื่อ  ปลาย พ.ศ.๒๒๙๕    เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา หรือ ราชวงศ์คองบอง (Alaungpaya Dynasty  or Konbaung Dynasty) เป็นราชวงศ์ที่   ๓ ในประวัติศาสตร์พม่า  และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร และสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพม่า

          พระนามของพระองค์ออกสำเนียงเป็นภาษาพม่าว่า "อลองเมงตะยาจี" หรือ "อลองพะ" โดยมีความหมายถึง "พระโพธิสัตว์"


          พ.ศ.๒๒๙๘    พระเจ้าอลองพญายกทัพลงไปโจมตีมอญในพม่าตอนล่าง    เปลี่ยนชื่อเมืองตะเกิงเป็น  "หยั่นโก้ง"  (เรียกให้ถนัดปากคนไทยว่า  "ย่างกุ้ง")  ซึ่งมีความหมายว่า "จุดจบของศัตรู"

           พระเจ้าอลองพญา  ทรงจัดการปัญหาแคว้นมณีปุระด้วยมาตรการรุนแรง  และกวาดต้อนเชลยศึกไปพม่าหลายพันคน  โดยเฉพาะกองทหารม้าจู่โจม

 

 

          ส่วนมอญนั้น   เมื่อเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ก็ขอเป็นไมตรี  แต่กลับไม่มีความสัตย์

          พระเจ้าอลองพญาจึงให้เร่งตีเมืองหงสาวดีได้เมื่อ  เดือน  ๗   ปีฉลู  พ.ศ.๒๓๐๐    เมื่อตีได้แล้ว    จึงจับชาวมอญไปเป็นเชลยเสียที้งสิ้น   และเผาเมืองเสียด้วย 

 

 นับว่า  พระเจ้าอลองพญาได้ครองพม่าอย่างสมบูรณ์  และตั้งราชธานีที่  "รัตนสิงค์"

 

 

           การกวาดล้างมอญอย่างรุนแรง นี้ทำให้ชาวมอญหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็น หลายคราว และเป็นจำนวนมาก    ก็โปรดให้รับไว้เช่นเคย    แต่เห็นจะคิดกันในกรุงศรีอยุธยาว่ามอญกับพม่ารบกัน ฟั่นเฝือมาช้านาน  มิควรที่จะคำนึง    หาได้นึกว่า  มีบุรุษพิเศษเกิดขึ้นในพวกพม่าอีกไม่        จึงมิได้คาดว่า ศึกพม่าจะมีมาถึงเมืองไทยอีก

 

 

 

 

 

ไทยผลัดแผ่นดิน
 
         สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต  เดือน  ๘  ปีขาล  พ.ศ.๒๓๐๑    พระชันษา  ๗๘  พรรษา   ครองราชย์ได้  ๒๖  ปี     เจ้าฟ้าอุทุมพร พระโอรสองค์รอง เป็นพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นครองราชย์    แต่ก็หาได้เสวยราชย์เป็นปรกติไม่    เนื่องจาก  เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐาที่ลาผนวชออกมา    แล้วตั้งพระองค์เป็นอิสระขึ้นอยู่บนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ โดยพลการ   แล้วทำท่วงทีอย่างพระเจ้าแผ่นดินด้วย อีกพระองค์หนึ่ง

          และในปีนั้น    พระเจ้าอุทุมพรพระชันษาครบอุปสมบท    ครั้นข้างแรม  เดือน  ๙  ก็ถวายราชสมบัติแด่เจ้าฟ้า กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐา   แล้วเสด็จไปทรงผนวช    เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงทำพิธีราชาภิเษก    ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ  บรมราชามหากษัตริย์  บวรสุจริต  ทศพิธธรรมเรศน์  เชษฐโลกนายก อุดมบรมนาถบพิตร"  แต่คนทั่วไปเรียกเป็นหลายอย่าง  เช่น  ขุนหลวงเอกทัศ  ตามพระนามเดิมบ้าง    ขุนหลวงสุริยาสน์อมรินทร์   ตามนามพระที่นั่งที่ประทับบ้าง   ขุนหลวงขี้เรื้อนบ้าง

 


อลองพญามาแล้ว

 

 

 

 พระเกตุธาตุ ที่เมืองตะเกิง หรือ นครหยั่นโก้ง  -  พระมหาเจดีย์ชเวดากอง  นครย่างกุ้ง 

 

 

         ฤดูแล้ง  ปีเถาะ  พ.ศ.๒๓๐๒    พระเจ้าอลองพญาเสด็จฉลองพระเกตุธาตุที่นครหยั่นโก้ง    เสร็จแล้ว   ให้มังระ  ราชบุตรที่  ๒  กับมังฆ้องนรทา  ยกกองทัพ  ๘,๐๐๐ไปตีเมืองทวาย   ครั้นตีได้แล้ว    สืบได้ความว่า  เมืองมะริด  และเมืองตะนาวศรี  มีเรือกำปั่นพ่อค้าหนีมาจากทวายหลายลำ รวบรวมทรัพย์สมบัติเอามาเป็นอันมาก  และมีกองกำลังของไทยรักษาเมืองอยู่ไม่มาก

          พระเจ้าอลองพญาจึงหาเหตุว่า  ไทยไม่ยอมส่งตัวพระยามอญ  กับเรือฝรั่งเศส  และไทยยึดเรือสินค้าที่จะเดินทางมาค้าขายกับพม่าที่เมืองมะริด ทำให้เสียทางไมตร๊    จึงให้กองทัพมังระยกกองทัพต่อไปตีเอาเมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี  เสียอีก  ๒  เมือง    และพม่าก็ตีได้ทั้งสองเมือง อย่างง่ายดาย    จนพม่าเองก็ยังสงสัยว่าทำไมจึงเอาชนะได้รวดเร็ว  และง่ายดาย  . . . ง่ายดายจนน่าขยายผลต่อไป

 

 

          กรุงศรีอยุธยา    เมื่อได้รับทราบข่าวศึก    พระเจ้าเอกทัศรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพได้  ๓,๐๐๐   พระยายมราชเป็นแม่ทัพ ไปตั้งรับ   และ อีก  ๒,๐๐๐   ให้พระยารัตนาธิเบศร์   ยกตามหนุนไปอีก     เมื่อพระยายมราชไปถึงด่านสิงขร  ก็ได้ข่าวว่า    พม่ายึดเมืองมะริด เมืองตะนาวศรีได้แล้ว   จึงตั้งอยู่ที่แก่งตุ่ม ปลายแม่น้ำตะนาวศรี      ส่วนพระยารัตนาธิเบศร์ อยู่ที่เมืองกุย  (กุยบุรีในปัจจุบัน)   มังฆ้องนรทาเข้าโจมตีกองทัพพระยายมราช  จนแตกพ่ายไป    กองทัพพม่าจึงไล่ติดตามไปอีกปะทะกองอาทมาตที่อ่าวหว้าขาว    พระยารัตนาธิเบศร์ จึงถอนมาที่เพชรบุรี      พม่าก็ตามเข้ามาถึงเพชรบุรี

          พระเจ้าอลองพญาเสด็จมาทอดพระเนตรเมืองทวาย  เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี  ทรงทราบข่าว   ทรงคิดเข้าตีให้ถึงกรุงศรีอยุธยา    จึงรับสั่งเตรียมทัพที่เมืองตะนาวศรีนั้น      ให้มังระราชบุตร  เป็นทัพหน้า             พระเจ้าอลองพญา เป็นทัพหลวงยกตามมาทางด่านสิงขร    และให้จัดกองทัพมอญตามมาอีก  ๒  กองทัพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           กรุงศรีอยุธยาทราบจากเมืองกาญจนบุรีว่ากองทัพพม่าจะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์  จึงสั่งจัดกองทัพไปตั้งที่ เมืองกาญจนบุรี  ๑๐,๐๐๐   และที่ เมืองราชบุรีอีก  ๑๐,๐๐๐     ต่อมา เมืองกำแพงเพชรแจ้งว่าได้ข่าวว่าพม่าจะยกมาทางด่านแม่ละเมา  ก็จัดทัพให้ยกขึ้นไปเตรียมต่อสู้ทางเหนืออีก    การเตรียมการรับศึกพม่าของไทยในครั้งนี้       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ    ทรงพระนิพนธ์       ไว้ใน "ไทยรบพม่า"  ว่า

ฯลฯ

          ตามคำผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวกันมาว่า    ในครั้งนั้นไม่ได้คิดอ่านที่จะรวบรวมกำลังต่อสู้ข้าศึกประการใด    สักแต่ได้ข่าวมาว่า พม่าจะยกมทางไหนก็เกณฑ์กองทัพยกไปดักทางนั้น    เพียงแต่จะสืบสวนให้ได้หลักฐานเสียก่อนก็ไม่มี    จึงเอากำลังรี้พลไปป่วยการเสียเปล่าๆ  มากกว่าที่จะได้ต่อสู้ข้าศึก    ด้วยพม่ามิได้ยกมาทั้งทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และด่านแม่ละเมา   ยกมาแต่ทางด่านสิงขร เมืองตะนาวศรีทางเดียว    ดูเหมือนหนึ่งว่าครั้งนั้น  ถึงรู้ว่าพม่าตีได้เมืองตะนาวศรีแล้ว  ที่ในกรุงฯ ก็ยังไม่ได้คาดว่าพม่าจะตีต่อเข้ามาอีก   จะเพิ่งมาเอะอะ  ตระเตรียมรักษาบ้านเมืองต่อเมื่อพม่าเข้ามาถึงเมืองกุย เมืองปราณ  . . .

ฯลฯ

           ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารของนักประวัติศาสตร์ชาวพม่าที่กล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่า  . . .  ต่อมาพระองค์ (หมายถึง พระเจ้าอลองพญา) ก็ข้ามช่องแคบ และเดินทัพขึ้นเหนือไปยังกรุงศรีอยุธยา  ปรากฏว่าไม่มีการต้านทานที่เข้มแข็งแต่ประการใด    เพราะกองทัพไทยไปเตรียมกันอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันตกของ กรุงศรีอยุธยา    พระองค์เข้าล้อมเมืองในเดือนมกราคม  ค.ศ.๑๗๖๐  (พ.ศ.๒๓๐๓)  หวังจะตีเมืองให้ได้ก่อนฤดูลมมรสุม . . .      แต่เอกสารไทยว่า กองทัพพม่าถึงกรุงศรีอยุธยา  เมื่อ  เดือน  ๕  ขึ้น  ๑๑  ค่ำ  ปีมะโรง  พ.ศ.๒๓๐๓     (ขึ้น   ๑๑ ค่ำ  เดือน  ๕  ปีมะโรง  จ.ศ.๑๑๒๒    ตรงกับวันพฤหัสบดี    ที่   ๒๗  มีนาคม พ.ศ.๒๓๐๒(๓) - จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)
 


          เรื่องการเมืองภายใน    พระเจ้าเอกท้ศ ต้องขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชออกมาแก้ปัญหาการสงคราม

          เรื่องการสงคราม     พระเจ้าอลองพญาตั้งค่ายหลวงอยู่ที่  บ้านกุ่ม  ข้างเหนือกรุงฯ     ให้มังระ ราชบุตร  และมังฆ้องนรธา  กองทัพหน้า  ตั้งค่ายที่ท่าโพธิ์สามต้น     ขุนนางจีนก็นำกำลังชาวจีนอาสามาช่วยตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น  แต่ถูกทหารพม่าตีแตกไป    มังระรุกเข้ามาตั้งค่ายที่เพนียด    มังฆ้องนรธาเข้าตั้งที่วัดสามวิหาร    . . . แต่นั้น  ก็มิได้ปรากฏว่าไทยยกกองทัพออกไปรบพุ่งพม่าอีก  เป็นแต่ให้รักษาพระนครมั่นไว้    ภายนอกพระนคร  ปล่อยให้พม่าทำตามชอบใจ

 

ตายในสนามรบ  . . .  เป็นเกียรติของทหาร

 

 

 

 

 

 

 

 

           เมื่อเดือน  ๕  แรม  ๑๔  ค่ำ   พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง  ณ  วัดราชพลี  วัดกษัตรา   ข้างด้านตะวันตกยิงเข้าไปในพระนคร    พระเจ้าอุทุมพรทรงช้างพระที่นั่งเสด็จไปบัญชาการให้เจ้าหน้าที่ยิงปืนป้อมตอบโต้พม่า    ยิงกันอยู่จนเวลาเย็น    พม่าก็เลิกทัพกลับไปค่าย   (แรม  ๑๔ ค่ำ  เดือน  ๕ ปีมะโรง จ.ศ.๑๑๒๒  ตรงกับ  วันจันทร์  วันที่  ๑๔  เมษายน  พ.ศ.๒๓๐๓ - จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com) 

          ถึงเดือน  ๖  ขึ้น  ค่ำ  ๑     พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งจังก้าที่วัดหน้าพระเมรุ  และวัดช้าง  (หัสดาวาส)   ระดมยิงเข้าไปในพระราชวังทั้งกลางวันและกลางคืน   ลูกปืนถูกยอดพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์หักทำลายลง  (ขึ้น  ๑ ค่ำ เดือน  ๖   ปีมะโรง จ.ศ.๑๑๒๒    ตรงกับวันอังคาร  วันที่  ๑๕  เมษายน พ.ศ.๒๓๐๓  - จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

 

           ในวันพม่ามายิงพระราชวังที่กล่าวมานี้     พระเจ้าอลองพญาทรงบัญชาการ และจุดปืนใหญ่เอง   เผอิญปืนแตก ถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัส  ก็ประชวรหนักในวันนั้น    พอวันรุ่งขึ้น  ถึงเดือน  ๖  ขึ้น  ๒  ค่ำ    พม่าก็พากันเลิกทัพขึ้นไปทางเหนือ    หวังจะกลับออกทางด่านแม่ละเมา  แต่ไปยังไม่พ้นแดนเมืองตาก  พระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ในกลางทาง

          ฝ่ายไทย ไม่ตามไปตี เพราะไม่รู้ข่าวสารที่แท้จริง  คาดว่าพม่าทำกลอุบาย      เมื่อรู้ว่าพม่าเลิกทัพกลับไปแน่   จึงจัดทัพ  . . . ตามไปจนเมืองตาก ก็ตามไม่ทันข้าศึก  แต่ถึงจะทันก็เห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด    ด้วยในเวลานั้น  ครั่นคร้ามพม่าเสียมากแล้ว  พม่าจึงกลับไปได้โดยสะดวก

 

 

 

 

 พระราชานุสาวรีย์  พระเจ้าอลองพญา - อลองเมงตะยาจี  -  Alaungpaya

พ.ศ.๒๒๙๕  -  พ.ศ.๒๓๐๓   


 

การสืบราชสมบัติ รัตนสิงค์ 

           การที่พระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์  อย่างไม่คาดคิด ขณะเมื่อพระชนมายุเพียง   ๔๖  พรรษา  พม่าถือเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่  และเกิดปัญหาตามมา  โดยเฉพาะ  ปัญหาการสืบราชสมบัติ    โดยปรกติ  พระโอรสองค์ใหญ่  คือ  เจ้าชายนองดาวกยี (มังลอก) ควรสืบราชสมบัติต่อไป   แต่เจ้าชายฉินบูขิน (มังระ)  พระโอรสองค์รอง   เจ้าเมืองมเยดู   ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระอารมณ์ร้ายเป็นปรกติ    เป็นแม่ทัพหน้ามากรุงศรีอยุธยา  ก็ปรารถนาราชบัลลังก์เช่นกัน  และ คาดหวังว่าแม่ทัพนายกองต่างๆ จะสนับสนุน  โดยเฉพาะ มังฆ้องนรธา ซึ่งเป็นแม่ทัพในสงครามคราวนี้ด้วย    ได้แยกนำกองทัพไปกรุงอังวะ     แต่ไม่สมหวัง   มังฆ้องนรธา ถูกปืนเสียชีวิตระหว่างนำทัพไปกรุงอังวะ

          สะโดะมหาสุริยอุจนา    เจ้าเมืองพุกาม   ผู้ซึ่งเป็นอาของพระเจ้ามังลอก  ก็แข็งเมือง

          แคว้นมณีปุระ  ก็กำเริบขึ้นอีก    

          เมืองมอญต่างๆ  ก็กลับเป็นจลาจล

          เชียงใหม่    สมิงทอ  และตะละปั้น   ซึ่งลี้ภัยมาอยู่กับพระยาเชียงใหม่   ก็นำกำลังไปตีหัวเมืองมอญอีกทางหนึ่ง

           อย่างไรก็ตาม    เจ้าชายนองดาวกยี (มังลอก) ก็ได้ราชสมบัติ  ราชาภิเษกในเดือน  ๗  ปีมะโรง  พ.ศ.๒๓๐๓  ทรงพระนามว่า "พระเจ้าปวรมหารธรรมราชา"  เรียกในภาษาพม่าว่า "นองดอจี"  เสวยราชย์  ณ  เมืองรัตนสิงค์  เป็นรัชกาลที่  ๒  ในราชวงศ์อลองพญา  หรือ ราชวงศ์คองบอง    ต้องใช้เวลาในการปราบเสี้ยนหนาม  ถึง  ๒  ปี   จึงราบคาบเป็นปรกติ

 

กรุงศรีอยุธยา

          เมื่อพ้นภัยสงคราม ๒๓๐๓  แล้ว  ก็เร่งปรับปรุงเสริมสร้างความมั่นคง  ป้อมปราการ ต่างๆ  สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์    และที่สำคัญ ก็คือ  คิดว่า บ้านเมืองปลอดภัยแล้วก็แก่งแย่งช่วงชิงอำนาจรัฐกันต่อไป    จนพระเจ้าอุทุมพรต้องเสด็จไปประทับ  ณ  พระตำหนักบ้านคำหยาด  แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ    (จังหวัดอ่างทองในปัจจุบัน)  แล้วทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทอง  ใกล้ๆ พระตำหนักนั้น    ปล่อยให้พระเจ้าเอกท้ศครองราชสมบัติต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระตำหนักคำหยาด

ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ผู้ทรงสละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ  แล้วทรงออกผนวช   บางโอกาสได้เสด็จฯ มาประทับจำพรรษาที่พระตำหนักนี้

ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต  วัดโพธิ์ทอง   ตำบลคำหยาด   อำเถอโพธิ์ทอง   จังหวัดอ่างทอง

 

 

ด้านการต่างประเทศ

 

 

 

          ทวาย    หุยตองจา  ขุนนางเก่าทวายชิงเอาเมิองทวายจากเจ้าเมืองได้    ครั้นรู้ว่าพระเจ้ามังลอกปราบปรามบ้านเมืองได้ราบคาบ เกิดหวาดกลัว  จึงแต่งฑูตคุมต้นไม้เงินต้นไม้ทองเครื่องบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุธยา

          พระเจ้าเอกทัศ  ก็โปรดให้รับไว้  และพระราชทานบำเหน็จแต่งตั้งหุยตองจาให้มียศศักดิ์ตามประเพณี

 

           ลานนา        พระเจ้ามังลอกขัดเคืองที่เชียงใหม่ไปตีหัวเมืองมอญ    เมื่อปราบปรามบ้านเมืองได้ราบคาบ    ใน พ.ศ.๒๓๐๔  จึงให้อภัยคามณี   เป็นแม่ทัพ    มังละศิริเป็นปลัดทัพ    นำกองทัพ  ๗,๕๐๐  มาสั่งสอนเชียงใหม่    พวกเจ้าเมืองในแคว้นลานนา  เช่น   พระยาลำพูนร้อนตัวมากรีบพาครอบครัวหนีมาเมืองพิชัย  ขอพี่งพระบารมีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา    พระเจ้าเอกทัศ  ก็โปรดให้รับไว้

            พระยาจันทร  เจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ฑูตคุมเตรื่องราชบรรณาการมาถวาย  ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  และขอพระราชทานกองทัพขึ้นไปรักษาเชียงใหม่ด้วย    โปรดให้พระยาพิษณุโลกนำทัพเมืองเหนือยกไป  ๕ พัน   เมื่อไปถึงเมืองตาก  ได้ข่าวว่า  เมืองเชียงใหม่เสียแก่พม่าแล้ว  ก็เลิกทัพกลับ

          เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว   พระเจ้ามังลอก แต่งตั้งให้  อภัยคามณี   มียศเป็น มยิหวุ่น  ครองเมืองเชียงใหม่  และมังละศิริ  เป็น มังมหานรธา
                    
          ครั้นถึง  เดือน  อ้าย  แรม  ๙  ค่ำ  ปีมะแม  พ.ศ.๒๓๐๖      พระเจ้ามังลอกประชวรสิ้นพระชนม์

  (ขึ้น  ๕ ค่ำ เดือน อ้าย ปีมะแม จ.ศ.๑๑๒๔  ตรงกับวันพฤหัสบดี  วันที่  ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๐๖ - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

           ดังนั้น  เดือน  อ้าย  แรม  ๙  ค่ำ  น่าจะเป็น  วันที่  ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ.๒๓๐๖

 

 มังระ  . . .  กลับกรุงรัตนปุระอังวะ

          เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ นั้น   พระโอรสมีพระชันษา  ไม่ถึง  ๑๒  เดือน      มังระ พระอนุชาจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อ  ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศิริสุธรรมมหาราชาธิบดี"  ภาษาพม่า"เซงพะยูเชง" (ฉินบูชิน -  Hsinbyushin)

          อย่างไรก็ดี     พระเจ้ามังระ ทรงนิยมการทำศึกสงคราม  เพราะได้เคยรบพุ่งมาแต่ครั้งสมัย พระราชบิดา คือพระเจ้าอลองพญา    จึงมีพระดำริที่จะปราบปรามแว่นแคว้นใกล้เคียง

          เมื่อราชาภิเษกแล้วไม่นาน    ก็จัดกองทัพไปปราบแคว้นมณีปุระให้ราบคาบได้      แล้วโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจาก  รัตนสิงค์  ไปกรุงรัตนปุระอังวะ  ดังเดิม

 

๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐   

 

สถานการณ์กรุงศรีอยุธยาต่อไป . . . พม่า มังระสมัย - อยุธยาวสาน

สถานการณ์กรุงศรีอยุธยาต่อไป . . . พม่า มังระสมัย - อยุธยาวสาน

สถานการณ์กรุงศรีอยุธยาต่อไป . . . พม่า มังระสมัย - อยุธยาวสาน

 

 

บรรณานุกรม

          - ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          - สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  ๒  (พ.ศ.๒๓๑๐)   สุเนตร  ชุตินธรานนท์    สำนักพิมพ์ศยาม  มีนาคม  ๒๕๓๙

          - ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          - ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 




บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (647)
avatar
โอม
ถ้าได้รบพม่าครานั้นจะรบให้ขาดใจ
ผู้แสดงความคิดเห็น โอม วันที่ตอบ 2010-10-13 21:12:34


ความคิดเห็นที่ 2 (648)
avatar
สัมพันธ์

 คนไทยยุคนั้นท่านก็คงรบจนสุดใจขาดดิ้นเหมือนกัน  นะครับ  ผมว่า    

แต่ท่านก็คงมีปัญหาข้อขัดข้องไม่ได้ดังใจท่านเหมือนกัน  จึงมีแม่ทัพนายกองกลุ่มหนึ่ง  ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก  ในค่ำวันที่  ๓  มกราคม  พ.ศ.๒๓๐๙ (๑๐)    ดังรายละเอียดใน     สถานการณ์กรุงศรีอยุธยาต่อไป       ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-10-13 22:13:34



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker