dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน

* * *

 

สถานการณ์เดิม

          เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ นั้น   พระโอรสมีพระชันษา  ไม่ถึง  ๑๒  เดือน      มังระ พระอนุชาจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อ  ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศิริสุธรรมมหาราชาธิบดี"  ภาษาพม่า"เซงพะยูเชง" (ฉินบูชิน -  Hsinbyushin)

          อย่างไรก็ดี     พระเจ้ามังระ ทรงนิยมการทำศึกสงคราม  เพราะได้เคยรบพุ่งมาแต่ครั้งสมัย พระราชบิดา คือพระเจ้าอลองพญา    จึงมีพระดำริที่จะปราบปรามแว่นแคว้นใกล้เคียง

          เมื่อราชาภิเษกแล้วไม่นาน    ก็จัดกองทัพไปปราบแคว้นมณีปุระให้ราบคาบได้      แล้วโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจาก  รัตนสิงค์  ไปกรุงรัตนปุระอังวะ  ดังเดิม

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป

พม่า - มังระสมัย

ปราบปรามลานนา - หลวงพระบาง

          และเมื่อ  อภัยคามณี   มยิหวุ่น  เจ้าเมืองเชียงใหม่  ไปเฝ้าพระเจ้ามังระ  (ไปร่วมพิธีราชาภิเษก ?)  บรรดาท้าวพระยาในแคว้นลานนา    คบคิดกับหลวงพระบางร่วมกัน เป็นกบฏต่อพม่า    พระเจ้ามังระจึงให้อภัยคามณีรีบนำกองทัพ กลับเชียงใหม่    และให้เนเมียวสีหบดี  นำกำลังอีก   ๒๐,๐๐๐     ม้า  ๑,๐๐๐   ช้าง  ๑๐๐  ยกตามไปเชียงใหม่   ในปลายปีมะแม  พ.ศ.๒๓๐๖   (เดือนมีนาคม  พ.ศ.๒๓๐๗)  มีภารกิจ ปราบปรามหัวเมืองในแคว้นลานนา  เมื่อราบคาบแล้วให้ตีเมืองหลวงพระบาง (ลานช้าง)  ต่อไป


สั่งสอนทวาย - ขยายผลถึงไทย

 

         ปีวอก  พ.ศ.๒๓๐๗    ให้มังมหานรธา  (มังละศิริ  ที่ตีเชียงใหม่กับอภัยคามณี  รัชสมัยพระเจ้ามังลอก)  เป็นแม่ทัพ  ยกไปตีทวาย  (ซึ่งหุยตองจา แต่งฑูตเข้ามากรุงศรีอยุธยา)  กองทัพมังมหานรธาไปถึงทวาย  เมื่อ เดือนอ้าย  ปีนั้น     หุยตองจาต่อสู้เหลือกำลังจึงพาครอบครัวหนีมาเมืองมะริด    มังมหานรธายกตามมาด้วยเรือ ๖๐  ลำ   ก็ตีได้ง่ายดาย       หุยตองจา และกรมหมื่นเทพพิพิธ  หนีมาเมืองกระบุรี   มังมหานรธาให้กองทัพหน้ายกตามมา    ส่วนตนเองขึ้นไปตีเอาเมืองตะนาวศรี  และตั้งรอทัพหน้าอยู่
 

 

        ทหารพม่าที่ตามหุยตองจานั้น  ไปถึงเมืองใดก็ริบทรัพย์จับผู้คนไปเป็นเชลย  เผาบ้านเรือนเสียตลอดทาง    พม่าตีได้เมืองมลิวัน  (คือ เกาะสอง  Kaw Thaung หรือ Victoria Point หรือ   Bayint Naung Cape  ในปัจจุบัน)  ข้ามแม่น้ำกระ (ปากจั่น)  มาเมืองกระ    เมืองระนอง    เมืองชุมพร   ลงไปเมืองไชยา   แล้วย้อนขึ้นมา เมืองปทิว  เมืองกำเนิดนพคุณ  (อำเภอบางสะพาน ในปัจจุบัน)  และเมืองคลองวาฬ  เมืองกุย  เมืองปราณ   แต่กองทัพพระยาพิพัฒน์โกษา  กับพระยาตากสินยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ได้ทัน    กองทหารพม่าจึงกลับไปทางด่านสิงขร


ทางด้านเหนือ 

          การที่กองทัพพม่าตีได้อาณาจักรลานช้าง  ทำให้กองทัพพม่าเข้าถึงเขตแดน ลาว - จีน    ทำให้จีนไม่พอใจ     และในพ.ศ.๒๓๐๘   อุปราชมณฑลยูนนานจึงยกทัพใหญ่เข้าในแคว้นเชียงตุง  (รัฐฉาน ในปัจจุบัน)  ทางสุดภาคตะวันออกของที่ราบสูงไทยใหญ่

 

มังระดำริ  . . .  อาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่ถึงกาลต้องถูกทำลายลง โดยเด็ดขาดมาก่อน

          พระเจ้ามังระทรงพระดำริว่า อาณาจักรอยุธยานั้นยังไม่ถึงกาลต้องถูกทำลายลงโดยเด็ดขาดมาก่อน     ดังนั้น   เมื่อกองทัพทั้งสองด้านปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จเร็ว  และจากการปฏิบัติของกองทัพมังมหานรธาทำให้ประมาณการเตรียมการต่อสู้ของอาณาจักรอยุธยาได้       พระเจ้ามังระ จึงให้เนเมียวสีหบดีซึ่งมีกองทัพอยู่ในแคว้นลานนา และลานช้าง    เลยเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทั้งสองทาง  คือ ทางเหนือจากเชียงใหม่  กับทางใต้จากทวาย     และได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการทำลายกรุงศรีอยุธยา ลงโดยเด็ดขาด   อย่างเป็นขั้น เป็นตอนไว้ด้วย

ลำดับขั้นในการทำสงครามทำลายกรุงศรีอยุธยาแบ่งออกได้เป็น   ๔  ขั้น    คือ

          ๑.การตัดรอนกำลังกรุงศรีอยุธยา ทั้งทรัพยากรต่างๆ  และกำลังคน   และรวบรวมผู้คน  ช้าง  ม้า  เครื่องศาสตราวุธ ไว้เป็นประโยชน์แก่กองทัพพม่า  ทุกวิถีมาง

          ๒.การตีเมืองหน้าด่านและการเข้าประชิดชานพระนคร

          ๓.การปฏิบัติในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก

          ๔.การปฏิบัติหลังฤดูน้ำหลาก

 

          การตัดรอนกำลังกรุงศรีอยุธยา

            กองทัพพม่ามีข้อปฏิบัติในขั้นตอนนี้  คือ  ถ้าที่ใดต่อสู้ขัดขวาง   หากเอาชนะได้แล้ว  ให้ริบทรัพย์ จับเชลยส่งไปพม่า  ส่วนที่เหลือให้เผาทำลายเสีย    ส่วนที่ยอมแพ้ไม่ต่อสู้  ก็ให้ยึดเอาสิ่งที่ต้องการ  แล้วเรียกเอาผู้คนมาใช้งานในกองทัพพม่า     ราษฎรรู้ข่าวจึงหลบหนีเสียส่วนมาก  ส่วนที่ต่อสู้  หรือ ยอมแพ้ ก็มีอยู่บ้าง

 

กองทัพเนเมียวจากเชียงใหม่   

          เมื่อปราบปรามเชียงใหม่ และลานช้าง เรียบร้อยแล้ว    สามารถรวบรวมรี้พลสกลไกรได้อีก  รวมทั้งกองทัพจึงมีกำลังถึง   ๔๐,๐๐๐   และยังมี  ช้าง  ๑๐๐    ม้า  ๑,๐๐๐

          เดือน  ๘  ปีระกา  พ.ศ.๒๓๐๘     กองหน้า  จำนวน  ๕,๐๐๐  เริ่มออกจากเชียงใหม่    เคลื่อนที่ตามแนวลำน้ำปิง    จนถึงนครสวรรค์   วางกำลังตั้งค่ายที่ กำแพงเพชร และนครสวรรค์

          กองทัพเนเมียวสีหบดี ทั้งหมดออกจากนครลำปาง  ในเดือน กันยายน  พ.ศ.๒๓๐๘    เข้าตีได้เมืองตาก - เมืองระแหง  (ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก) - กำแพงเพชร - สวรรคโลก - สุโขทัย - พิษณุโลก    เมื่อได้พิษณุโลกแล้วเนเมียวสีหบดีหยุดพักจัดระเบียบใหม่  รวบรวมผู้คน  ช้าง  ม้า    และให้จัดแบ่งกองทัพเป็นสองส่วน  แยกกันเข้าตีเมืองละลิน ? พิชัยธานี  นครสวรรค์  และอ่างทอง       แต่เนเมียวสีหบดีคงตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก   คอยจัดระเบียบผู้คน  ช้าง  ม้า   ที่กองทัพทั้งสองส่วนดังกล่าวรวบรวมส่งขึ้นไป   

          เมื่อกวาดล้างหัวเมืองสำคัญในภาคเหนือของกรุงศรีอยุธยาได้หมด  เป็นการตัดรอนกำลังกรุงศรีอยุธยาไม่ให้สามารถเรียกกำลังจากหัวเมืองมาช่วยได้ และจัดระเบียบใหม่กองทัพซึ่งได้ผู้คน  ช้าง  ม้า  อาวุธเพิ่มเติมอีกมากแล้ว    ก็เคลื่อนทัพจากนครสวรรค์ ผ่านทางเมืองชัยนาท  ทางหนึ่ง  และ ทาง เมืองอุทัยธานี  เมืองสรรค์  มุ่งสู่  . . . กรุงศรีอยุธยา    อีกทางหนึ่ง

 

กองทัพมังมหานรธาจากทวาย   

          กองทัพมังมหานรธา    ประกอบด้วย  กำลังรวมทั้งสิ้นกว่า   ๓๐,๐๐๐   และยังมี  ช้าง  ๑๐๐    ม้า  ๑,๐๐๐ 

          จัดให้กองทัพหน้า  จำนวน  ๕,๐๐๐  เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์     เมื่อถึงกาญจนบุรีปะทะ และเอาชนะกำลังของไทยได้  แล้วเข้ามาถึงแม่น้ำราชบุรี  ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแก  ตำบลตอกละออม  และดงรังหนองขาว

          มังมหานรธาออกจากทวาย  ใน เดือน  พฤศจิกายน   ๒๓๐๘    เคลื่อนที่ตามแนวทาง  เพชรบุรี - ราชบุรี - สุพรรณบุรี - กาญจนบุรี - ไทรโยค   ซึ่งแต่ละเมืองก็ได้ต่อสู้ป้องกันตามสติ และกำลัง  แต่ก็ไม่อาจสามารถต้านทานกองทัพพม่าได้

          พม่าได้บุกเข้าราชบุรีและกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๓๐๘    เมื่อตีได้เมืองต่างๆ  ดังกล่าวแล้ว  กองทัพพม่า ได้คัดเอา ช้าง  ม้า  กำลังพล   เพิ่มเติมเข้าใช้ประโยชน์ในกองทัพ    

          มังมหานรธาตั้งกองทัพที่ราชบุรี     ได้จัดแบ่งกองทัพเป็นสองกอง      กองหนึ่งให้ตีตัดขึ้นมาถึงเมืองธนบุรี  และ นนทบุรี       

          ที่เมืองธนบุรี   

           ฝ่ายเรา  พระยารัตนาธิเบศร์คุมพลเมืองนครราชสีมา  รักษาเมืองธนบุรี  ตั้งสู้รบอยู่ในป้อมวิชาเยนทร์     และมีเรือกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งได้อาสาช่วยรบพม่าด้วย   เมื่อพม่ามามากเข้าๆ  ก็ถอนตัวกลับขึ้นไปกรุงศรี ฯ  บ้าง    กลับนครราชสีมาบ้านตนเอง บ้าง       และ เมื่อฝ่ายพม่าเข้ายึดป้อมได้แล้วใช้ปืนใหญ่ยิงเรือกำปั่นนั้นจนต้องถอยหนีกลับขึ้นไปด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ป้อมวิไชยเยนทร์  (ปัจจุบัน)

 

ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก    สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างป้อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งทางฝั่งตะวันออก คือ บริเวณ  ระหว่างวัดพระเชตุพนกับปากคลองตลาดในปัจจุบัน   และฝั่งตะวันตก คือ  บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ที่เป็นป้อมอยู่ในปัจจุบัน    แล้วให้ขึงสายโซ่อันใหญ่ขวางลำน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟากลำน้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเล

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วยและได้โปรดเกล้าฯ    ให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑    การขึงโซ่กั้นเรือได้ถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์กบฏมักกะสัน  ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องจากทางไทยต้องการขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศไทย   ในการรบครั้งนี้ป้อมทางฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายมาก จึงโปรดให้รื้อลง

 

 

 

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ 

 

 

          เมืองนนทบุรี

          เมื่อได้เมืองธนบุรีแล้ว  พม่าก็ยกขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา  ตั้งค่ายที่บางกรวย ตรงวัดเขมา  ทั้งสองฟากแม่น้ำ    เรือกำปั่นอังกฤษที่ถอยกลับขึ้นมา  ไปหาปืนใหญ่ที่ขนาดใหญ่กว่าปืนแคมเรือ  และนำทหารไปจากนนทบุรีด้วย      ใฃ้ปืนใหญ่ยิงค่ายพม่า อยู่หลายคืน    จนเห็นฝ่ายพม่าแตกหนีไปจากค่าย  ทหารไทย และอังกฤษ (ที่มากับเรือกำปั่น)  จอดเรือแล้วบุกเข้าไปในค่ายพม่า   แต่เป็นอุบายของพม่า  เลยถูกพม่าออกมาล้อมฆ่าฟัน ล้มตายเสียมาก  แตกหนีกันไป    เรือกำปั่นอังกฤษก็หนีออกทะเลไป   ทหารไทยที่รักษาเมืองนนทบุรีก็ถอนตัวกลับไปกรุงศรีอยุธยา 
     

           กำลังส่วนใหญ่นั้น  มังมหานรธานำยกขึ้นไปทาง  สุพรรณบุรี   เมื่อเดือน กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๐๙      และ  มุ่งสู่  . . .  กรุงศรีอยุธยา  

 

การเตรียมการของไทย

          ครั้งที่กองทัพพม่าเข้ามาจากทวายเมื่อ ปีวอก  พ.ศ.๒๓๐๗  นั้น  ทางกรุงศรีอยุธยาก็เรียกเกณฑ์คนจากปักษ์ใต้ และฝ่ายเหนือเข้ามารักษาพระนคร   พอกองทัพพม่ากลับไป (ทางด่านสิงขร)  ก็ปล่อยผู้คนเหล่านั้นกลับ    เมื่อทราบข่าวศึก   ๒๓๐๘  นี้  ก็เรียกกลับมาอีก     ดังนั้น     เพราะคำสั่งกลับไป กลับมา     การเตรียมรับศึกนี้จึงน่าจะสับสนอลหม่านทั้งระดับบุคคล  ระดับหัวเมืองที่ต้องรับศึก  และระดับชาติ

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม   กรุงศรีอยุธยาก็ยังสามารถรวบรวมแสนยากรได้ถึง  ๖๐,๐๐๐   พร้อมทั้ง  ช้าง  ๕๐๐    รถบรรทุกปืนใหญ่  ๕๐๐       ไปตั้งรอกองทัพพม่าที่  บ้านสีกุก  ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระนคร

 

จากปักษ์ใต้

         เมื่อกองทัพมังมหานรธามาถึง  กรุงศรีอยุธยา ทราบว่ามีทหารไทยตั้งรออยู่ที่บ้านสีกุก   จึงเข้าโจมตีทันที    เมื่อชนะแล้วจึงได้ เข้ามาตั้งที่บ้านกานนี  (ใกล้ๆ บ้านสีกุก)

จากฝ่ายเหนือ

          และเมื่อทางกรุงศรีอยุธยาทราบว่ามีกองทัพพม่ามาทางเหนืออีก  ก็จัดกองทัพออกไปตั้งรับที่ปากน้ำประสบ  ริมน้ำปิงเป็นจำนวนถึง  ๓๐,๐๐๐    ช้าง  ๓๐๐   และรถปืนใหญ่ถึง  ๒,๐๐๐

          หลักฐานทางพม่าว่า   ในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๐๙    เมื่อเนเมียวสีหบดีมาถึงก็เข้าตีกองทัพไทยโดยทันทีอีก   ยึดได้ช้าง  ม้า  และจับเชลยศึกได้เป็นจำนวนมาก    และทหารพม่าก็ได้ตั้งค่ายที่ปากน้ำประสบ   ห่างจากพระนครไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ   ๑.๕ - ๒ กิโลเมตร

          เมื่อมังมหานรธาทราบว่า    เนเมียวสีหบดีได้ตั้งค่ายที่ปากน้ำประสบ  จึงย้ายค่ายจากบ้านกานนี  มาตั้งที่หลังเจดีย์ภูเขาทอง    ห่างจากพระนครไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ    ๒  กิโลเมตร

          ครับ    ในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๐๙    กรุงศรีอยุธยา  มีกองทัพพม่า  ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือในระยะ  ๑.๕ - ๒ กิโลเมตร    จำนวนมากกว่า  ๗๓,๐๐๐  ช้าง  หลายร้อย  ม้า ประมาณ  ๒,๐๐๐    และปืนใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง    นับเป็นประวัติการณ์ของกรุงศรีอยุธยา

          นับว่า  กองทัพพม่าปฏิบัติการขั้นที่  ๒   คือ การตีเมืองหน้าด่านและการเข้าประชิดชานพระนคร ได้สำเร็จแล้ว

 

ชาวบางระจันสำคัญยิ่งใหญ่  เป็นต้นตระกูลของไทย  ที่ควรระลึกตลอดกาล

          ระหว่างที่กองทัพเนเมียวสีหบดี ล้อมกรุงศรีอยุธยา และส่งกำลังออกกวาดล้างราษฎร ตามชุมชนทั่วไปนั้น ก็เกิดวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน   พรมแดนเมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองสุพรรณ และเมืองสิงห์ ต่อกัน  สามารถต่อสู้ต้านทานกองกำลังพม่า  จนพม่าต้องส่งกองกำลังขนาดใหญ่   และใช้ปืนใหญ่ ไปปราบด้วย  จึงตีค่ายบางระจันได้สำเร็จในวันจันทร์  เดือน  ๘  แรม  ๒  ค่ำ  ปีจอ  พ.ศ.๒๓๐๙        นับเป็นเวลาประมาณ   ๕  เดือน  ตั้งแต่กองทัพพม่าตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยา

แรม  ๒ ค่ำ เดือน  ๘   ปีกุน  จ.ศ.๑๑๒๙  ตรงกับวันจันทร์  วันที่  ๒๓  มิถุนายน  พ.ศ.๒๓๐๙  (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

 

 

 

 

         วีรกรรมของชาวบางระจันนี้ ก็เป็นเครื่องปลุกใจให้บรรดาทหารกล้ากรุงศรี ฯ  ซึ่งรบแพ้พม่ามาหลายครั้งหลายครา เกิดมีขวัญกำลังใจฮึกเหิมขึ้นมาบ้าง    พระเจ้าเอกทัศจึงทรงให้จัดกองทัพ  ถึง  ๑๐,๐๐๐   ออกไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำพระประสบ   แต่ถูกพม่าใช้ทหารม้าตีกระหนาบแตกกลับมา    กรุงศรีอยุธยาแต่งกองทัพออกไปรบค่ายพม่าอีกหลายครั้ง  ติดๆ กัน  เช่น  ในครั้งแรกพงศาวดารพม่าระบุว่า  พระยาธิเบศร์ปริยัติยกออกไปตีกองทัพเนเมียวสีหบดีที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของพระนคร   

            และอีก  ๕  วันต่อมา  พระเจ้าเอกทัศ  โปรดให้พระยาตากก็นำกำลังออกไปตีค่ายของมังมหานรธาอีก   พม่าจัดกำลังออกมารบกันที่ใกล้เจดีย์ภูเขาทอง   ฝ่ายไทยสามารถใช้ช้าง และปืนใหญ่โจมตีกองทหารม้าพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ทหารพม่าแตกพ่ายไม่เป็นขบวน    จนมังมหานรธาต้องออกมาแก้ปัญหาบัญชาการรบด้วยตนเอง  จึงแก้ไขสถานการณ์ได้

 

 กรมหมื่นเทพพิพิธคิดกู้ชาติ   แต่ชาติยังไม่ล่มจม   กรมหมื่นเทพพิพิธจึงล่มเสียเอง

          กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งผนวชและถูกคุมอยู่ที่เมืองจันทบุรี  ก็หนีมาลาผนวช  และชักชวนชาวเมืองชายทะเลตะวันออกให้ช่วยกันแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง   ก็มีกรมการเมืองต่างๆ  และผู้คนอาสาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก     กรมหมื่นเทพพิพิธจึงนำพลขึ้นมาทางเมืองระยอง   เมืองบางละมุง  เมืองชลบุรี    สามารถรวบรวมผู้คนได้ดีเพราะพม่ายังไปไม่ถึง  บ้านเมืองจึงอยู่อย่างปรกติบริบูรณ์    สามารถรวบรวมผู้คนได้เป็นหมื่น  ยกมาตั้งที่เมืองปราจีนบุรี  ประมาณ  เดือน  ๗  ปีจอ  ในเวลาไล่เลี่ยกับค่ายบางระจันแตก

          กรมหมื่นเทพพิพิธ ให้หมื่นเก้า  หมื่นศรีนาวา กรมการเมืองปราจีนบุรี  กับนายทองอยู่น้อย ชาวเมืองชลบุรี นำกำลัง   ๒,๐๐๐ มาตั้งที่ปากน้ำโยธกา  แล้วให้คนสนิทเข้ามารับบรรดาหม่อมห้าม   หม่อมเจ้าในกรม  ที่อยู่ในกรุงฯ  ออกไป        เมื่อมีผู้ทราบแพร่หลายมากขึ้นว่า กรมหมื่นเทพพิพิธมาตั้งอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี ก็มีผู้คนหนีออกไปสมทบมากขึ้น   รวมทั้งข้ารารการชั้นผู้ใหญ่ก็มีพระยารัตนาธิเบศร์  เป็นต้น  (ท่านว่าพม่ามัวแต่เที่ยวปล้นราษฎร  ยังไม่เข้มงวดกวดขันการปิดล้อมกรุงศรีฯ เท่าใดนัก)

          มังมหานรธาได้ทราบข่าว ก็จัดกำลัง  จำนวน  ๓,๐๐๐  ไปกวาดล้าง  ก็เอาชนะได้ไม่ยาก  เพราะกำลังฝ่ายไทย เป็นเพียงราษฎรที่มีจิตใจจะช่วยเหลือบ้านเมือง  อาจจะพอมีวิชาการใช้อาวุธประจำกายบ้าง   ไม่ได้เป็นทหารที่ชำนาญการรบ   พม่าจึงเอาชนะได้ง่าย   แต่เมื่อทราบว่าที่ เมืองปราจีนบุรี มีกำลังฝ่ายไทยอยู่อีกเป็นหมื่น    นายกองพม่าจึงกลับมารายงานมังมหานรธา ๆ   ให้จัดทัพใหญ่ยกไปเมืองปราจีนบุรี      กรมหมื่นเทพพิพิธทราบข่าวเข้า   ก็พาครอบครัวไปเมืองนครราชสีมา     ราษฎรอาสาที่ติดตามมา  ครั้นเห็นหัวหน้าพาครอบครัวไปแล้ว  จึงแยกย้ายกันกลับบ้านตน (ไม่ต้องเกรงใจใคร)

การกู้ชาติของกรมหมื่นเทพพิพิธจึงล่มเสียก่อนชาติล่ม    ด้วยประการ  ฉะนี้

 

การปฏิบัติในฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก

อยุธยาธานีศรีสยาม  เป็นเมืองงามธรรมชาติช่วยสนอง  บริบูรณ์ลุ่มน้ำและลำคลอง  ท้าวอู่ทองทรงสร้างให้ชาวไทย . . .

          ครับ . . . ธรรมชาติของกรุงศรีอยุธยา บริบูรณ์ลุ่มน้ำและลำคลอง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมมาก   จนฝ่ายรุกรานไม่สามารถตั้งค่ายอยู่ได้   ขอให้ฝ่ายกรุงศรีฯ รักษาป้องกันพระนครให้รอดถึงฤดูน้ำหลากก็จะปลอดภัย   เพราะน้ำท่วมชานกรุงฯ เร็วมาก   ภายในเวลาเพียง  ๕  วัน   พื้นที่โดยรอบพระนครก็ไม่ต่างไปจากมหาสมุทรใหญ่   ซึ่งกรุงศรีอยุธยาได้ใช้วิธีอย่างได้ผลมาหลายครั้ง    แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปอาวุธมีประสิทธิภาพสูงขึ้น  โดยเฉพาะ ปืนใหญ่ซึ่งใช้ยิงทำลายกำแพงได้ดี   แต่ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้พัฒนาการตั้งรับ และการใช้ปืนใหญ่ขึ้นเหมือนกัน    เช่น  ขุดคู  ก่อมูลดิน  ลงขวากหนามเอาปืนใหญ่ขึ้นประจำเชิงเทิน

(ปรากฏในหลักฐานว่า เมื่อเสร็จศึกแล้วพม่าได้ปืนใหญ่ของไทยไป มากกว่า  ๕๐๐  กระบอก   แสดงว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยามีปืนใหญ่ใช้อย่างมากมาย)

          แต่พระเจ้ามังระ  ทรงเป็นแม่ทัพหน้า ของพระเจ้าอลองพญา ยกมากรุงศรีอยุธยา เมื่อ  พ.ศ.๒๓๐๓    น่าจะทรงทราบธรรมชาตินี้  และน่าจะเตือน  หรือให้แนวทางปฏิบัติแก่แม่ทัพที่ยกมาในครั้งนี้  เพราะมีวิธีการแก้ปัญหาสามารถผ่านฤดูน้ำหลากไปได้

          ทางฝ่ายพม่าก็ได้เตรียมการแก้ปัญหาในฤดูน้ำหลากไว้เช่นกัน    เช่น

            ๑.รวบรวม (ยึด)เสบียงอาหารเก็บสำรองไว้ให้มากที่สุด

            ๒.เอาวัว ควายที่ยึดไว้เป็นจำนวนมาก ไปใช้ในการทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ

            ๓.นำช้าง ม้าไปอยู่บนที่ดอนที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์

            ๔.สร้างป้อมค่ายใหม่ในพื้นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง  และจัดตั้งกองรักษาการณ์ระหว่างป้อม  เพื่อให้ทุกค่ายติดต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง

 

เดือนสิบเอ็ด  น้ำนอง      เดือนสิบสอง  น้ำทรง

          ถึงเดือน  ๑๒  เวลาน้ำท่วมทุ่ง    ข่าวว่าพม่าเตรียมล้อมกรุงข้างด้านตะวันออก    พระเจ้าเอกทัศ  จึงสั่งให้พระยาเพชรบุรี   และพระยาตากคุมกำลังทางเรือ  คนละกองออกไปตั้งที่วัดป่าแก้ว  คอยสกัดตีกองทัพพม่าที่จะยกมาทางท้องทุ่ง    ครั้นเห็นพม่ายกมา    พระยาเพชรบุรี จะยกไปโจมตี  แต่พระยาตากทัดทานไว้เพราะเห็นว่ามากเหลือกำลังนัก   แต่พระยาเพชรบุรีไม่ฟัง    ยกออกรบที่ริมวัดสังฆาวาส      พม่ามีกำลังมากกว่ามากจึงเข้าล้อมเอาไว้ได้   พระยาเพชรบุรี ตายในที่รบ

พระยาตากต้องถอยมาตั้งที่วัดพิชัย    และก็ไม่เข้าไปในพระนครอีก

 

 

 

 

การปฏิบัติหลังฤดูน้ำหลาก

          เมื่อหมดฤดูน้ำ  แต่ละฝ่ายต่างก็พัฒนาค่าย คู ประตูหอรบของตนเตรียมการรบใหญ่กันต่อไป     แต่น่าจะเป็นผลดีแก่ฝ่ายล้อมเพราะผ่านห้วงเวลาวิกฤตไปแล้ว    

          กรุงศรีอยุธยาเร่งสร้างค่ายล้อมรอบพระนคร อึก  ๕๐  ค่าย เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเข้ามาใกล้ขนาดใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงพระนครได้

          ฝ่ายพม่าก็เร่งยกกองทัพเข้าตั้งค่ายรายรอบพระนครเหมือนกัน     แม่ทัพทั้งสองต้องประชุมแม่ทัพนายกองเพื่อวางแผนเร่งเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยาโดยเร็ว    เพราะได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ามังระ   เร่งให้เอาชัยชนะให้ได้ในเร็ววัน   เนื่องจาก   พม่าตอนเหนือถูกกองทัพจีนจากยูนนานบุก   และพม่าอยู่ในสถานการณ์คับขัน

          มังมหานรธาเสนอให้ขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุงศรีอยุธยา   และเสนอให้ตั้งค่ายเป็นแนวล้อมรอบพระนคร    

          ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้พม่าข้าศึกเข้าใกล้พระนครได้    จัดส่งกำลังออกตีค่ายพม่า  แม้จะไม่ได้รับชัยชนะแต่ก็เป็นการขัดขวางไม่ให้ฝ่ายพม่ามีเสรีในการปฏิบัติได้เต็มที่

          พอกองทัพพม่าเตรียมการที่จะตั้งทำศึกค้างฤดูฝนเสร็จแล้ว   มังมหานรธาก็ป่วย และถึงแก่ความตาย  ณ  ค่ายสีกุก    เนเมียวสีหบดี จึงเป็นแม่ทัพเพียงคนเดียว ทำให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา

 

เดือนยี่  น้ำก็รี่ไหลลง ไหลลง

          ฝ่ายข้างพระนคร  ถูกพม่าล้อมมาช้านาน  เสบียงอาหารอัตคัด  เกิดเป็นโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุมขึ้นทุกที     สถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยา  เลวร้ายลงทุกขณะ

          ครั้น  ณ  วันเสาร์  เดือน ยี่  ขึ้น  ๔ ค่ำ  ปีจอ    เวลากลางคืนเกิดไฟไหม้ในพระนคร    ตั้งแต่ท่าทรายริมกำแพงข้างด้านเหนือ  ลุกลามมาทางประตูข้าวเปลือก    ไฟไหม้กุฎีวิหาร และบ้านเรือนในพระนครกว่าหมื่นหลัง    ผู้คนพลเมืองก็ยิ่งอัตค้ดคับแค้นหนักขึ้น    พระเจ้าเอกทัศฝห้ฑูตออกไปว่ากล่าวกับพม่า  จะเลิกรบขอเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ    แม่ทัพพม่าก็ไม่ยอมเลิก    ด้วยประสงค์จะตีเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง

 

ขึ้น   ๔ ค่ำ   เดือน  ๒  ปีจอ จ.ศ.๑๑๒๘    ตรงกับวันเสาร์  วันที่  ๓  มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙(๑๐) (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

 

พระยาตากจึงตัดสินใจพาสมัครพรรคพวกตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก  ในค่ำวันที่  ๓  มกราคม  พ.ศ.๒๓๐๙ (๑๐) นี้

 

อยุธยาวสาน

         
ครั้นถึง  วันอังคาร   เดือน ๕  ขึ้น  ๙ ค่ำ  ปีกุน    พ.ศ.๒๓๑๐  เป็นวันเนาสงกรานต์    (ไทยรบพม่า)

ขึ้น  ๙ ค่ำ เดือน  ๕ ปีกุน  จ.ศ.๑๑๒๙   ตรงกับวันอังคาร   วันที่   ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐    (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)
 
 

 

          พม่าขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเอาฟางกับเศษไม้ใส่ พร้อมทั้งจุดไฟเผา    เมื่อกำแพงส่วนหนึ่งพังลงทหารพม่าก็เข้าเมืองได้   

          เมื่อพม่าเข้าเมืองได้นั้นเป็นเพลากลางคืน    พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเหย้าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจน  ปราสาทราชมณเฑียร    ไฟไหม้แสงสว่างดังกลางวัน    ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว    ก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์สินมีค่าไป จับผู้คนอลหม่านไปทั่วทั้งพระนคร     มิได้มีการฆ่าฟันผู้คน  เพียงแต่จับ   ข้าราชสำนักทั้งหมดไปเป็นเชลย     แต่เพราะเป็นเวลากลางคืน  พวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก   พม่าจับได้สัก  ๑๐,๐๐๐

          ส่วนพระเจ้าเอกทัศนั้นมหาดเล้กพาไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก  ริมวัดสังฆาวาส  แต่พม่ายังหารู้ไม่     จับได้แต่พระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวช    พม่าก็จับเอารวมไปไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น   พม่าเผาเมือง    ทำลายกำแพงลง และ ถมคู

            พม่านำตัวละคร  นักดนตรี  ศิลปิน  ช่างต่างๆ  แพทย์  โหราจารย์  ช่างทอผ้า  ช่างเงิน  ช่างทอง  ผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ  กวี  และอื่นๆ  กลับไปด้วย    ยังผลให้เกิดการฟื้นฟูวรรณคดี  และศิลปะพม่า


          ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะทางพม่า เกิด จลาจล ไม่สงบภายในต้องปราบปรามกันเป็นเวลาหลายสิบปี   ทำให้ศิลปะ วิทยาการต่างๆ เสื่อมโทรมลง  แต่แข็งแกร่งทางด้านการทหาร    ส่วนฝ่ายไทยนั้น   ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรง   ศิลปะ วิทยาการต่างๆ  จึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู  แต่ในด้านการทหาร กลับไม่แข็งแกร่ง เพราะว่างเว้นศึกมาช้านาน    เมื่อเกิดศึก จึงได้จัดการต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองไม่สำเร็จ
 
          กองทัพพม่าได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว  พักอยู่ประมาณ  ๙  วัน สิบวันจนพอรวบรวมเชลย และทรัพย์สิ่งของเสร็จแล้ว    เมื่อพม่าจะเลิกทัพกลับไป    เนเมียวสีหบดีตั้งให้สุกี้ มอญที่มีความชอบครั้งตีค่ายบางระจันเป็นนายทัพ  คุมพลพม่ามอญ   ๓๐,๐๐๐  ตั้งที่ต่ายโพธิ์สามต้น    และนายทองอิน  คนไทยซึ่งเข้าด้วยพม่าเป็นเจ้าเมืองธนบุรี    แล้วจึงแบ่งกองทัพเป็นสามกอง

          กองทัพข้างเหนือ    เนเมียวสีหบดีคุมเจ้านาย และข้าราชการที่เป็นเชลย  กับทรัพย์สินสิ่งของที่ดีมีราคามาก    กลับไปทางด่านแม่ละเมา

          กองทัพทางใต้

               ให้เจ้าเมืองภุกามเป็นนายใหญ่    คุมเรือบรรทุกทรัพย์สิ่งของอันเป็นของใหญ่ ของหนัก  ไปทางเมืองธนบุรี  และท่าจีน  แม่กลอง  กองหนึ่ง

               ยกไปทางบกทางเมืองสุพรรณ  อีกกองหนึ่ง   ไปสมทบกับกองเรือที่เมืองกาญจนบุรี   รวมกันยกกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์

          ครั้งนั้น  พม่าได้เชลยไป  ๓๐,๐๐๐ เศษ    ปืนใหญ่  ๑,๒๐๐  กระบอก    ปืนเล็กหลายหมื่น

 

ฉะนี้แล   กรุงศรีอยุธยาอันบรมกษัตราธิราชได้ทรงครอบครองสืบกันมา   ๓๔  พระองค์

ดำรงศักดิ์เป็นราชธานีของสยามประเทศตลอดเวลา  ๔๑๗  ปี

มาถึงความพินาศด้วยภัยพิบัติ

 

 

 

 

 

จากพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า
 
          ในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มีพระองค์หนึ่งนาม "เจ้าฟ้าดอกเดื่อ" (Kyauk-bwa Tauk-to)  ซึ่งทรงอยู่ในสมณเพศในคราวที่ถูกกวาดค้อนมาพระนครอังวะ    เจ้านายพระองค์นี้ทรงครองผ้ากาสาวพัตรตราบจนเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช  ๒๓๓๙   ภายหลังจากที่พระนครย้ายจากกรุงอังวะมายังอมรปุระ

 

 

 

 

 

 

 

 

โบราณสถานในกรุงอมรปุระ  เชื่อกันว่า  เป็นที่บรรจุพระอัฐิ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  . . .  กู้กรุงไกรเกรียงยศ 

สถานการณ์ต่อไป  . . .   กู้กรุงไกรเกรียงยศ

สถานการณ์ต่อไป  . . .  กู้กรุงไกรเกรียงยศ

 

 

๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐

 

บรรณานุกรม

          - ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          - สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  ๒  (พ.ศ.๒๓๑๐)   สุเนตร  ชุตินธรานนท์    สำนักพิมพ์ศยาม  มีนาคม  ๒๕๓๙

          - สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน  ๒๕๔๓

          - ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          - ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker