dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ

กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี  

 

 

 

 วัดไชยวัฒนาราม ในฤดูน้ำ  (ปัจจุบัน)

 

ถึงเดือน  ๑๒  เวลาน้ำท่วมทุ่ง 

          ข่าวว่าพม่าเตรียมล้อมกรุงข้างด้านตะวันออก    พระเจ้าเอกทัศ  จึงสั่งให้พระยาเพชรบุรี   และพระยาตากคุมกำลังทางเรือ  คนละกองออกไปตั้งที่วัดป่าแก้ว  คอยสกัดตีกองทัพพม่าที่จะยกมาทางท้องทุ่ง    ครั้นเห็นพม่ายกมา    พระยาเพชรบุรี จะยกไปโจมตี    พระยาตากทัดทานไว้เพราะเห็นว่ามากเหลือกำลังนัก   แต่พระยาเพชรบุรีไม่ฟัง   ยกออกรบที่ริมวัดสังฆาวาส    พม่ามีกำลังมากกว่ามากจึงเข้าล้อมเอาไว้ได้   พระยาเพชรบุรี ตายในที่รบ

 

 

 

 

พระยาตากต้องถอยมาตั้งที่วัดพิชัย     และก็ไม่เข้าไปในพระนครอีก

 

          การที่พระยาตากไม่เข้าไปในพระนครอีก  น่าจะเพราะท่านเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีแก่การสู้รบรักษาพระนคร  เนื่องจากได้ตรวจการณ์เห็นข้าศึกตลอดเวลา  พร้อมที่จะเข้าต่อตีข้าศึกได้ทุกเมื่อ    และยังประมาณสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย         


           เมื่อหมดฤดูน้ำ  แต่ละฝ่ายต่างก็พัฒนาค่าย คู ประตูหอรบของตนเตรียมการรบใหญ่กันต่อไป    แต่น่าจะเป็นผลดีแก่ฝ่ายล้อมเพราะผ่านห้วงเวลาวิกฤตไปแล้ว    ส่วนในกรุงศรี ฯ  นั้น  สถานการณ์น่าจะเลวลง  เพราะคาดหวังว่า  น้ำมา - ข้าศึกไป   แต่น้ำมาแล้ว  ข้าศึกไม่ไป  กลับทำไร่ไถนา เตรียมการเป็นอย่างดี   อาหารอุดมสมบูรณ์กว่าในกรุงศรี ฯ   และน่าจะมีความหวังมากกว่าในกรุงศรีฯ   เพราะเป็นการเริ่มยกใหม่  มีเวลาเต็มที่
 
          กรุงศรีอยุธยา  ก็พยายามป้องกันเป็นอย่างมาก   เร่งสร้างค่ายล้อมรอบพระนคร อึก  ๕๐  ค่าย  เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเข้ามาใกล้ขนาดใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงพระนครได้

          ฝ่ายพม่า  ก็เร่งยกกองทัพเข้าตั้งค่ายรายรอบพระนครเหมือนกัน     แม่ทัพทั้งสองต้องประชุมแม่ทัพนายกองเพื่อวางแผนเร่งเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยาโดยเร็ว   เพราะได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ามังระ เร่งให้เอาชัยชนะให้ได้ในเร็ววัน    เนื่องจาก  พม่าตอนเหนือถูกกองทัพจีนจากยูนนานบุก   และพม่าอยู่ในสถานการณ์คับขัน

          มังมหานรธาเสนอให้ขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุงศรีอยุธยา   และเสนอให้ตั้งค่ายเป็นแนวล้อมรอบพระนคร    

          ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้พม่าข้าศึกเข้าใกล้พระนครได้    จัดส่งกำลังออกตีค่ายพม่า  แม้จะไม่ได้รับชัยชนะเด้ดขาดแต่ก็เป็นการขัดขวางไม่ให้ฝ่ายพม่ามีเสรีในการปฏิบัติได้เต็มที่

          พอกองทัพพม่าเตรียมการที่จะตั้งทำศึกค้างฤดูฝนเสร็จแล้ว   มังมหานรธาก็ป่วย และถึงแก่ความตาย  ณ  ค่ายสีกุก    เนเมียวสีหบดี จึงเป็นแม่ทัพเพียงคนเดียว ทำให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา

 

ครั้นถึงเดือนยี่   น้ำก็รี่ไหลลง ไหลลง . . .

          ฝ่ายข้างพระนคร  ถูกพม่าล้อมมาช้านาน  เสบียงอาหารอัตคัด  เกิดเป็นโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุมขึ้นทุกที     สถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยา  เลวร้ายลงทุกขณะ    กองทัพที่รักษาพระนครระส่ำระสาย   เพราะรู้ว่าหมดหนทางที่จะเอาชนะพม่าได้   

 

 ขึ้น   ๔ ค่ำ   เดือน  ๒  ปีจอ จ.ศ.๑๑๒๘    ตรงกับวันเสาร์  วันที่  ๓  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐ (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

 

           จากการที่พระยาตากได้ประมาณสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาประมาณสองเดือนนั้น  ท่านน่าจะได้ข้อสรุป  เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาราชธานีไทยน่าจะไม่รอดพ้นเงื้อมมืออริราชศัตรูเป็นแน่แท้    จึงตัดสินใจพร้อมด้วยทหารเอก   ๕ นาย ประกอบด้วย   พระเชียงเงิน  หลวงพิชัยอาสา หลวงพรมเสนา ขุนอภัยภักดี  หมื่นราชเสน่หา  พาสมัครพรรคพวกทหารราว  ประมาณ  ๕๐๐   คน  ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก  ในค่ำวันที่   ๓  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐  นี้

          เวลากลางคืนเกิดไฟไหม้ในพระนคร    ตั้งแต่ท่าทรายริมกำแพงข้างด้านเหนือ  ลุกลามมาทางประตูข้าวเปลือก  ไฟไหม้กุฎีวิหาร และบ้านเรือนในพระนครกว่าหมื่นหลัง   ผู้คนพลเมืองก็ยิ่งอัตค้ดคับแค้นหนักขึ้น
 
        พระเจ้าเอกทัศให้ฑูตออกไปว่ากล่าวกับพม่า จะเลิกรบขอเป็นเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ    แม่ทัพพม่าก็ไม่ยอมเลิก    ด้วยประสงค์จะตีเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง

 

          ทางด้านเหนือ

          พม่าตีค่ายที่เพนียดได้   และเนเมียวสีหบดีก็เข้ามาอยู่ในค่ายเพนียดนี้    กองทัพพม่าตีค่ายทหารไทยด้านเหนือพระนครแตกทุกค่าย  แล้วตั้งค่ายชิดพระนครเข้ามา ในแนว  วัดกุฎีแดง  วัดสามพิหาร  วัดกระโจม  วัดศรีโพธิ์  วัดนางชี  วัดแม่นางปลื้ม  วัดมณฑลปลูกหอรบ เอาปืนใหญ่ตั้งจังก้ายิงเข้าในพระนครทุกวัน

          ทางด้านใต้

         พม่าก็ตีค่ายทหารไทยที่วัดพุทไธสวรรค์   และที่วัดไชยวัฒนาราม  ได้รบกัน แปดเก้าวันจึงแตก   ค่ายที่สวนพลู ก็แตกตามกัน

          ในพงศาวดารพม่า  ว่า  เนเมียวสีหบดีให้เข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งแต่ตีไม่ได้    ด้วยไทยจวนตัวเข้าเกิดมานะต่อสู้แข็งแรงรบพุ่งพม่าแตกกลับออกไปทุกครั้ง    จนพม่าต้องล้อมนิ่งอยู่คราวหนึ่ง    แต่ข้างในพระนคร ผู้คนอดหยากหน้กเข้าก็ปีนข้ามกำแพงหนีไปเป็นอันมาก  ที่หนีรอดไปได้ก็มี  ที่หนีไปไม่พ้นตรงไปยอมให้พม่าจับพอได้อาหารกินก็มี   

          เนเมียวสีหบดีเห็นว่าชาวพระนครอ่อนกำลังระส่ำระสายมากแล้ว  ก็ให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำตรงหัวรอ ข้างมุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  เอาไม้ตาลมาตั่งเป็นค่ายกันปืน    ข้างในกรุงฯ  ก็ส่งกำลังออกไปตีพม่าที่มาสร้างสะพาน  ล้มตายเสียมากแตกพ่ายไป  แล้วตามไปตีค่าสยพม่าได้ค่ายหนึ่ง  แต่รักษาไว้ไม่ได้  เพราะไม่มีกำลังหนุนไปช่วย

          ครั้นพม่าทำสะพานเรือกเสร็จ  ก็เข้ามาตั้งค่ายที่ศาลาดินนอกเมือง  แล้วขุดอุโมงค์*เดินเข้ามาจนถึงเชืงกำแพง  ขนเอาฟืนมาใส่ใต้รากกำแพงเมือง  แล้วเตรียมบันไดที่จะพาดกำแพงปีนปล้นเมืองไว้เป็นอันมาก


         * อุโมงค์ ในที่นี้  ผมเข้าใจว่า  น่าจะเป็นเพียง คูลึกลงไปพอให้มิดศีรษะ  เพียงแค่เดินเข้าไปถึงกำแพงอย่างปลอดภัยจากปืนน้อย ปืนใหญ่  เท่านั้น  ไม่น่าจะเป็นอุโมงค์ใต้ดิน


พระยาตาก  ตีฝ่า - มุ่งหน้าตะวันออก

          เมื่อพระยาตากได้ตีฝ่าพม่าออกไปนั้น   น่าจะมีม้าไปด้วยจำนวนหนึ่ง   และพิจารณาจุดที่พม่าวางกำลังเบาบาง  จึงตีฝ่าออกไปได้    ทางพม่าเห็นทหารไทยจำนวนหนึ่งตีฝ่าออกไปได้เช่นนั้น   ก็คงต้องรายงานนาย  เพื่อให้จัดกำลังจำนวนให้เหมาะสมติดตามไปในค่ำวันนั้น   ปรากฏว่าทหารพม่าตามกองทหารพระยาตากไปทันกันที่บ้านโพธิ์สังหาร (โพธิ์สาวหาญ - โพสาวหาญ)

          ปัจจุบัน  ตำบลโพสาวหาญ  อำเภออุทัย   อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้  ของที่ว่าการอำเภอฯ  ประมาณ  ๑๒  กิโลเมตร  ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี

          ในเช้าวันรุ่งขึ้น  ๔  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐   พระยาตากนำทหารที่ตามมาเข้าต่อสู้ทหารพม่า สามารถเอาชนะทหารพม่าได้จนต้องแตกกลับเข้ามา     แล้วจึงพากันไปตั้งพักอยู่ที่บ้านพรานนก    เพราะต้องตีฝ่าทหารพม่า และเดินทางมาทั้งคืน  แต่ก็แบ่งกำลังออกไป หาอาหารด้วย   กำลังส่วนนี้ปะทะกับทหารพม่า ซึ่งมาจากบางคาง  แขวงเมืองปราจีนบุรี  มีจำนวนถึง  ๒๐๐  กับอีก  ๓๐ ม้า  พยายามไล่จับทหารไทยกลุ่มนี้   พวกทหารไทยจึงหนีกลับไปยังที่พักบ้านพรานนก

          ข้อพิจารณา : 

          ๑.ประมาณ  เดือน   พฤษภาคม  พ.ศ.๒๓๐๙   กรมหมื่นเทพพิพิธรวบรวมผู้คนจากทางตะวันออกมาตั้งที่ปราจีนบุรี เพื่อจะกู้ชาติ (กรุงฯ ยังไม่แตก)   แต่ถูกพม่าตีแตกเสียก่อน   คาดว่านับแต่นั้นมา  พม่าจึงน่าจะจัดตั้งค่ายในเขตเมืองปราจีน   ปากน้ำเจ้าโล้   และจัดการลาดตระเวน ให้มากขึ้น

          ๒.กำลังส่วนที่ออกไปหาอาหารนี้  น่าจะใช้ม้าออกไป  เพราะจะเดินทางได้รวดเร็ว   และหากเป็นกำลังเดินเท้า  น่าจะถูกทหารม้าพม่าสังหารเสียสิ้น  เนื่องจากหนีไม่ทัน   และไม่สามารถมาแจ้งข่าวแก่พระยาตากได้ทันท่วงที
 
          ๓.ศูนย์การทหารม้า  กองทัพบก  ว่า  . . . พร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยอีก  ๔  นาย  ได้ทำการรบบนหลังม้า ต่อสู้กับทหารพม่า  ๓๐ นาย จนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด  . . .    และถือเอา วันที่  ๔  มกราคม  เป็นวันทหารม้า

 

บ้านพรานนก    ๔  มกราคม  ๒๓๑๐

         เมื่อ พระยาตากทราบข่าวสาร  จึงให้ทหารเดินเท้าวางกำลังแยกออกเป็นปีกกา  ๒  ข้าง     ตัวท่านเองขี่ม้าอยู่ข้างหน้า    พม่าไม่ทันรู้ตัวก็ถอยหนีไปปะทะพวกเดินเท้าทหารพระยาตากได้ทีจึงรุกไล่ฟันทหารพม่าล้มตาย และแตกกระจายไป 

 

          ทหารพม่าตั้งค่ายอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้

          (ลำน้ำเจ้าโล้ไหลลงแม่น้ำบางปะกง  อำเภอบางคล้า) แขวงเมืองฉะเชิงเทรา

          ทหารพม่าที่แตกไปนี้ไปรายงานนายทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่  ปากน้ำเจ้าโล้   ข้างใต้เมืองปราจีน  ทราบ

          จากบ้านพรานนก  เจ้าตากนำกองกำลังไปบ้านคง (บ้านกง) แขวงเมืองปราจีนบุรี   เมื่อ วันที่  ๖  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐    ได้ช้างพลาย ม้า เงิน ทอง ปืนใหญ่ และ เสบียงอาหาร เป็นอันมาก  และน่าจะได้ราษฎรบ้านคง เข้ามาสมทบอีกจำนวนหนึ่งด้วย

          นายทัพพม่าที่ปากน้ำเจ้าโล้ จึงจัดกำลังยกตามไปสกัดกั้นการเดินทางของกองทหารพระยาตากทั้งทางบก และทางน้ำ

          จากบ้านคง พระยาตากนำกองทหารเดินต่อไปทางบ้านกบแจะ (ภายหลังได้ยกขึ้นเป็นเมืองปจันตคาม  ขึ้นเมืองปราจีนบุรี   และเป็นอำเภอประจันตคามในปัจจุบัน)   กองทัพพม่าจากปากน้ำเจ้าโล้ ยกตามมาตี     พอถึงบ้าน คู้ลำพัน  ชายทุ่งเมืองปราจีนบุรี  (ปัจจุบันเป็น  ตำบลคู้ลำพัน  อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี)   เวลาบ่าย ประมาณ  ๔  นาฬิกา    กองทัพพม่าซึ่งมีกำลังมากกว่าก็ตามมาทัน    พระยาตากเห็นเป็นการจวนตัว จึงให้กองครัวและกองเสบียงเร่งล่วงหน้าไปก่อน    แล้วเลือกชัยภูมิเอาพงกำบังแทนแนวค่าย  วางกำลังส่วนใหญ่ซุ่ม ๒ ข้างแนวป่า   ใช้กำลังส่วนน้อยประมาณ  ๑๐๐ คน   ท่านเองนำทหาร  ออกรบที่ท้องทุ่ง ล่อให้พม่าไล่ติดตามเข้ามาสู่พื้นที่สังหารซึ่งได้วางปืนใหญ่ปืนตับเอาไว้แล้ว   ทหารพม่า บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก    พวกกองหลังหนุนขึ้นไปถึง  ก็ถูกปืนตับล้มตายลงอีก   ถูกยิงได้สามยก  พม่าก็ถอยหนี

          พระยาตากได้ทีก็นำทหารออกติดตามไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายอีกเป็นอันมากที่เหลือ ก็แตกกระจัดกระจายกลับไปอย่างไม่เป็นขบวน

           พระยาตากจึงยกกองกำลัง  ผ่านแดนเมืองฉะเชิงเทรา   ต่อไปยังบ้านพานทอง (อำเภอพานทองในปัจจุบัน)  บ้านบางปลาสร้อย (ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี ในปัจจุบัน) เมืองชลบุรี      ลงไปถึงบ้านนาเกลือ  แขวงเมืองบางละมุง   (คืออำเภอบางละมุงในปัจจุบัน) โดยไม่หยุดพัก  กิตติศัพท์ลือเลื่องแพร่หลายไปทั่วว่า พระยาตากรบพุ่งเข้มแข็งมีชัยชนะต่อทหารพม่าเป็นหลายครั้งหลายครา  ผู้คนที่ได้ข่าวก็นิยม และมาเข้าร่วมด้วยอยู่เสมอ


"วัดลุ่มมหาชัยชุมพล" - ได้เมืองระยอง - เจ้าตาก 

           ในข้างแรมเดือนยี่  ปีจอ  (ช่วงตรึ่งหลัง  ของเดือนมกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐)  พระยาตากได้เดินทางไปถึงเมืองระยองตั้งใจจะใช้เป็นที่รวบรวมผู้คนมาสู้รบพม่าต่อไป   หยุดพักไพร่พลที่บ้านน้ำเก่า   (หมู่บ้าน เก่า  ตำบลบ้านเก่า  อำเภอเมืองระยอง  ในปัจจุบัน)    พระระยองเจ้าเมืองออกมาอ่อนน้อมนอกเมือง  เชิญให้เข้ามาพักไพร่พลที่ท่าประดู่     แต่พระยาตากนำกองกำลังตั้งพักที่วัดลุ่ม    ขณะเดียวกัน ก็มีกรมการเมืองระยอง บางกลุ่มคิดว่า  พระยาตากเป็นกบฎพาไพร่พลหนีออกมา  เพราะขณะนั้น  กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียทีแก่พม่าข้าศึก    ได้คิดจะทำร้ายท่าน    พระระยองห้ามก็ไม่เชื่อฟัง       พระยาตากตั้งค่ายอยู่ได้สองวัน    กรมการเมืองเหล่านี้ก็พาพวกเข้าตีค่ายที่วัดลุ่ม  ในเวลาค่ำ   แต่พระยาตากทราบเสียก่อน จึงจัดการซ้อนแผนกรมการเมืองระยองจนพ่ายหนีไป     พระยาตากจึงได้เมืองระยองในคืน ปลายเดือนมกราคม  พ.ศ.๒๓๑๐  นั้น       และวัดลุ่มนี้  ต่อมาได้ขื่อว่า "วัดลุ่มมหาชัยชุมพล"

 

           เมื่อครั้งที่พระยาตากตีฝ่าค่ายพม่าออกมานั้น    ท่านน่าจะคืดเพียงเพื่อหาภูมิลำเนารักษาตัวและพรรคพวก   ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันไม่น้อยในห้วงเวลานั้น  เพราะอำนาจรัฐไม่สามารถคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ได้   และเมื่อท่านได้รบพุ่งชนะทหารพม่าหลายครั้ง  เป็นที่ลือเลื่อง    สถานะของท่านก็เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ได้ทราบ และเข้ามาร่วมด้วยมากขึ้นๆ

          แต่เมื่อท่านได้ต่อสู้กรมการเมือง และยึดเอาเมืองระยอง นั้นทำให้สถานะของท่านเปลี่ยนไปเหมือนเป็นผู้ไม่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน    . . . ชะรอยพระยาตากก็จะคิดเห็นเช่นว่านี้    จึงตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ตามเลย    แต่ก็ยังระวังมิให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นกบฏคดโท่    ให้เรียกคำสั่งเพียง พระประศาส์นอย่างเป็นเจ้าเมืองเอก  พวกบริวารจึงเรียกว่า เจ้าตาก แต่นั้นมา

 

          เมื่อท่านได้ตั้งตัวได้ที่เมืองระยองนั้น   เมืองบางละมุง  เมืองชลบุรีที่อยู่ข้างเหนือ    เมืองจันทบุรี  และเมืองตราด  ที่อยู่ทางใต้   ยังไม่อยู่ในอำนาจ    ซ้ำร้าย เมืองชลบุรีเกิดเป็นจลาจล  เพราะอยู่ใกล้ข้าศึก    เมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่  มีเจ้าเมืองปกครองเป็นปรกติ    ท่านจึงแต่งหนังสือไปถึงพระยาจันทบุรี  ว่าได้มาตั้งรวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองระยอง  หมายจะยกเข้าไปรบพม่าแก้ไขพระนครให้พ้นจากอำนาจข้าศึก   ขอให้พระยาจันทบุรี เห็นแก่บ้านเมืองมาช่วยกันปราบรามข้าศึกให้กรุงศรีอยุธยาเป็นผาสุกเหมือนดังแต่ก่อน     ทีแรกพระยาจันทบุรี รับว่าจะไปปรึกษาหารือกับพระยาตากที่เมืองระยอง   แต่เกิดคลางแคลงใจเกรงว่าพระยาตากจะชิงเอาเมือง  จึงไม่มาตามนัด      ขณะนั้นผู้รั้งเมืองบางละมุง  ถือหนังสือพม่าจะเอาไปให้พระยาจันทบุรี    แต่ทหารเจ้าตากจับได้   ได้ความว่าเป็นหนังสือจากเนเมียวสีหบดี  เรียกให้พระยาจันทบุรี เข้าไปอ่อนน้อมท่านจึงให้พระยาจันทบุรี เสือกว่าจะหันไปเข้ากับพม่า หรือจะมาเข้ากับไทยด้วยกันเอง

          ขณะเดียวกัน  เจ้าตาก ก็แสวงหาพันธมิตรโดยแต่งหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ  (สมัยนั้นขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา)  ขอให้ช่วยส่งกองทัพมาสมทบช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ กรุงศรีอยุธยา    พระยาราชาเศรษฐี ขอผลัดว่าพอให้สิ้นฤดูมรสุมแล้วจะยกมาช่วย

          พระยาราชาเศรษฐีเคยส่งกำลังและเสบียงอาหารไปช่วยกรุงศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ มีท้องตรามาจากกรุงศรี ฯ  แต่ไปติดกองทัพพม่าที่เมืองธนบุรี จึงไปไม่ถึงกรุงศรีอยุธยา

          ส่วนพระยาจันทบุรียังคงสงวนท่าทีอยู่            


 

 อยุธยาวสาน

         
ครั้นถึง  วันอังคาร   เดือน ๕  ขึ้น  ๙ ค่ำ  ปีกุน    พ.ศ.๒๓๑๐  เป็นวันเนาสงกรานต์    (ไทยรบพม่า)

ขึ้น  ๙ ค่ำ เดือน  ๕ ปีกุน  จ.ศ.๑๑๒๙   ตรงกับวันอังคาร   วันที่   ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐    (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)
 

          พม่าขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเอาฟางกับเศษไม้ใส่ พร้อมทั้งจุดไฟเผา    เมื่อกำแพงส่วนหนึ่งพังลงทหารพม่าก็เข้าเมืองได้   

          เมื่อพม่าเข้าเมืองได้นั้นเป็นเพลากลางคืน   พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเหย้าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจนปราสาทราชมณเฑียร  ไฟไหม้แสงสว่างดังกลางวัน    ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว    ก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์สินมีค่าไป จับผู้คนอลหม่านไปทั่วทั้งพระนคร . . .

 


 

 

 

 

 

 <  วิหารพระมงคลบพิตร (ก่อนบูรณะ)   วัดพระศรีสรรเพชญ์ (บูรณะแล้ว)  >

 

 

 

บ้านแตกสาแหรกขาด - ได้เมืองจันทบุรี

          เมื่อข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกแพร่ออกไป    มีกำลัง และอำนาจตามหัวเมืองก็เปลี่ยนไปตามเหตุการณ์

          พระยาจันทบุรีก็ไม่มาหารือข้อราชการกับเจ้าตากตามที่นัด

          ขุนรามหมื่น กรมการเก่าเมืองระยองที่หนีเจ้าตาก  ก็ไปซ่อมสุมผู้คนอยู่ที่เมืองแกลง  แขวงเมืองจันทบุรี    เมื่อเจ้าตากยกกำลังมาปราบก็หนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี

          นายทองอยู่นกเล็ก  ตั้งตัวเป็นใหญ่ในแขวงเมืองชลบุรี  กำลังรวบรวมผู้คน    เจ้าตากจึงยกทัพกลับมาเมืองชลบุรี  เกลี้ยกล่อมนายทองอยู่นกเล็กยอมเข้าด้วย  แล้วนำเจ้าตากเลียบเมือง     เจ้าตากจึงตั้งให้นายทองอยู่นกเล็กเป็น พระยาอนุราฐบุรี  เป็นผู้ว่าการเมืองชลบุรี    เมื่อจัดการเมืองชลบุรีเรียบร้อยแล้ว  เจ้าตากก็กลับเมืองระยอง

          ฝ่ายพระยาจันทบุรี ปรึกษากับขุนรามหมื่น   คิดกำจัดเจ้าตาก  โดยทำอุบายเชิญเจ้าตากเข้าไปตั้งที่เมืองจันทบุรี  แล้วมีแผนโจมตีกองกำลังของเจ้าตากขณะกำลังข้ามลำน้ำ  แต่มีผู้มาบอกอุบายของพระยาจันทบุรี    เจ้าตากจึงไม่ข้ามลำน้ำ  เลี้ยวกระบวนขึ้นเหนือ  ไปตั้งที่วัดแก้ว  ห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรี  ประมาณ  ๒  กิโลเมตร    พระยาจันทบุรีตกใจรีบจัดกำลังรักษาหน้าที่เชิงเทิน  ส่งข้าราชการผู้ใหญ่ออกมาเชิญเจ้าตาก ให้เข้าเมืองอีก      เจ้าตาก ให้พระยาจันทบุรีออกมาเอง หรือส่งตัวขุนรามหมื่น  มาให้   แต่พระยาจันทบุรีไม่ดำเนินการ  กลับปิดประตูรักษาเมือง  เพราะมีกำลังมากกว่า  รอเจ้าตาก หมดเสบียงอาหาร  และถอยทัพจึงจะออกตีตาม

          เจ้าตากประมาณสถานการณ์แล้วเห็นว่าอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบ  ยิ่งปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น   จำเป็นต้องเผด็จศึกโดยไม่ชักช้า

. . . จึงเรียกนายทัพนายกองมาสั่งว่า    เราจะยีเมืองจันทบุรีในค่ำว้นนี้   เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้ว   ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือ และต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันในเมืองเอาพรุ่งนี้   ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้  ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว . . . ตรั้นตระเตรียมพร้อมเสร็จ  พอได้ฤกษ์เวลาดึก  ๓  นาฬืกา   เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชรยิงปืนสัญญาบอกพวกทหารให้เข้าปล้นพร้อมกันทุกหน้าที่  ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างที่นั่งเข้าพังประตูเมือง . . . แล้วไสช้างกลับเช้ารือบานประตูเมืองพังลง   พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้  . . .  พระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ

 เมื่อเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้นั้น  เป็นวันอาทิตย์  เดือน  ๗  ปีกุน  พ.ศ.๒๓๑๐

 

 หมายเหตุ    จากการตรวจสอบของ   http://www.payakorn.com

      ขึ้น   ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน จ.ศ.๑๑๒๙   ตรงกับวันอาทิตย์  วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๑๐     ดังนั้น

      ขึ้น  ๑๑  ค่ำ   ตรงกับวันอาทิตย์ที่  ๗  มิถุนายน   

     แรม  ๓  ค่ำ     ตรงกับวันอาทิตย์ที่  ๑๔   มิถุนายน  และ

     แรม  ๑๐  ค่ำ    ตรงกับวันอาทิตย์ที่  ๒๑  มิถุนายน 

 

 

          เมื่อได้เมืองจันทบุรีแล้วเจ้าตากก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับภูมิลำเนาตามเดิม  เมื่อเมืองจันทบุรีเป็นปรกติแล้ว  ก็ยกทัพไปเมืองตราดต่อไป    กรมการเมืองและราษฎรยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วเมือง    ขณะนั้น  มีสำเภาจีนมาจอดที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ    เจ้าตากให้เชิญนายเรือมาหา  แต่กลับถูกยิง    เจ้าตากจึงลงเรือรบไปล้อมหมู่สำเภาจีนไว้    บอกให้ออกมาอ่อนน้อมโดยดี   กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง     รบกันอยู่ครึ่งวัน  เจ้าตากก็ตีเรือสำเภาจีนทั้งหมด   ได้ทรัพย์สิ่งของเป็นกำลังการทัพเป็นอันมาก   เมื่อจัดการเมืองตราดเรียบร้อยแล้ว  เจ้าตากก็กลับมาตั้งที่เมืองจันทบุรี

 

กรุงศรีอยุธยา  ราชธานีไทย    ถึงเคยแตก แหลกไป  ก็ไม่สิ้นคนดี

          จากเจตนาเดิมเพียงเพื่อหาภูมิลำเนารักษาตัวและพรรคพวก แต่สถานการณ์พัฒนาจนท่านต้องคิดแก้ไขสถานการณ์กรุงศรีอยุธยา  จนบัดนี้  มีอำนาจตลอดหัวเมืองชายทะเลตะวันออก  จึงตั้งต้นตระเตรียมทำสงครามกู้กรุงศรีอยุธยา ต่อไป

          เมื่อเจ้าตากได้เมืองตราด  ในเดือนมิถุนายน  พ.ศ.๒๓๑๐    เป็นฤดูมรสุม  ลมทะเลตะวันออก   เจ้าตากเร่งให้ต่อเรือรบ  และสะสมรวบรวมเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์เพื่อเตรียมทำสงครามกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า ในฤดูแล้งต่อไป

          ในเวลานั้นก็มีผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่กันอยู่มากมายหลายคณะ   แต่ที่มีกำลังมากเป็นชุมนุม หรือเป็นพรรคใหญ่จริงๆ และมีฐานที่มั่นมั่นคงนอกจาก เจ้าตากแล้ว  ก็ยังมีอีก  ๔  ชุมนุม  คือ 

          ๑.  ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก

          ๒.  ชุมนุมเจ้าพิมาย  หรือกรมหมื่นเทพพิพิธ

          ๓.  ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช  
 
          ๔.  ชุมนุมเจ้าพระฝาง  (เมืองฝาง  อุตรดิตถ์)

          ซึ่งแต่ละชุมนุม ก็มีอำนาจบารมีในเขตพื้นที่ของตน   และทุกชุมนุมต่างประกาศว่าใดจะกอบกู้กรุงศรีอยุธยา กันทั้งนั้น   แต่ท่านอาจจะมีข้อขัดข้อง  เช่น ยังไม่มีกำลังที่แข็งแรงพอ  ระยะทางไกล   หรืออะไรก็แล้วแต่ทำให้ท่านต้องรีรอยังไม่สามารถเริ่มกระทำกิจตามที่ปรารถนาได้    เมื่อถึงโอกาส ผมจะลองคุยนะครับ   ตอนนี้ เชิญติดตาม  เจ้าตากท่านต่อไปก่อน


          ในระหว่างฤดูมรสุมที่เจ้าตาก ต้องพักรอ และสะสมศาสตราวุธยุทธภัณฑ์  และต่อเรือนั้น  ข้าราชการจากกรุงศรีอยุธยาที่รอดพ้นพม่าได้   มาร่วมสมทบด้วยอีกหลายท่านเช่น หลวงศักดิ์นายเวร    นายสุดจินดา หุ้มแพร  มหาดเล็ก   เป็นต้น    ทำให้กองกำลังเจ้าตากมีนายทัพนายกองเพิ่มมากขึ้น    ระหว่างรอนี้  ก็คงจะเป็นการจัดระเบียบการปกครองบังคับบัญชาภายในกองกำลัง   และฝึกซ้อมเพลงอาวุธ  ฯลฯ   

          ครั้นเดือน  ๑๑  ปีกุน  พ.ศ.๒๓๑๐  (ประมาณเดือนพฤศจิกายน)  เจ้าตากรวบรวมผู้คนได้ประมาณ  ๔,๐๐๐   ต่อเรือได้ ๑๐๐  ลำ    ได้ยกออกจากเมืองจันทบุรี  แวะชำระความมีเมืองชลบุรี  เนื่องจากชาวบ้านร้องเรียนว่าพระยาอนุราฐยุรี  (นายทองอยู่นกเล็ก)  ที่แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชลบุรี  ได้ประพฤติตนเป็นโจร   เมื่อจัดการเรียบร้อยแล้ว   กองเรือเจ้าตากก็เดินทางต่อไป . . . เข้าปากน้ำเจ้าพระยา ในข้างขึ้น  เดือน  ๑๒

 

เมืองธนบุรี   ๒๓๑๐

          ฝ่ายนายทองอืนที่พม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรีทราบข่าวว่าเจ้าตากยกกำลังมา  ก็ส่งข่าวไปถึงสุกี้ที่ค่ายโพธิ์สามต้นกรุงศรีอยุธยา  และเร่งจัดผู้คนขึ้นประจำป้อมวิไชยเยนทร์และเชิงเทินเมืองธนบุรีเตรียมต่อสู้    รี้พลที่รักษาป้อมเห็นว่ารบกับคนไทยด้วยกันก็ไม่มีจิตใจจะรบ   ทหารเจ้าตากสู้รบไม่นานก็ได้ชัยชนะ  นายทองอิน  ถูกจับได้   และเจ้าตากจึงได้สั่งประหารชีวิต   แล้วเร่งเดินทางต่อ . . . ไป . . . กรุงศรีอยุธยา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ป้อมวิไชยเยนทร์  (ปัจจุบัน)

 

ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก    สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างป้อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งทางฝั่งตะวันออก คือ บริเวณ  ระหว่างวัดพระเชตุพนกับปากคลองตลาดในปัจจุบัน   และฝั่งตะวันตก คือ  บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ที่เป็นป้อมอยู่ในปัจจุบัน    แล้วให้ขึงสายโซ่อันใหญ่ขวางลำน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟากลำน้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเล

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วยและได้โปรดเกล้าฯ    ให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑    การขึงโซ่กั้นเรือได้ถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์กบฏมักกะสัน  ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องจากทางไทยต้องการขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศไทย   ในการรบครั้งนี้ป้อมทางฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายมาก จึงโปรดให้รื้อลง

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ 

 

 กู้กรุงไกรเกรียงยศ

กรุงศรีอยุธยา    ขึ้น ๑๕ ค่ำ  เดือน  ๑๒   จุลศักราช ๑๑๒๙  ปีกุน นพศก

          สุกี้ได้ข่าวจากนายทองอิน  เมืองธนบุรี    จึงสั่งให้ มองย่าผู้เป็นรอง  นำกองเรือมาสกัดเจ้าตากที่เพนียด    

          เจ้าตากนำกำลังไปถึงกรุงศรีอยุธยาในค่ำวันนั้น    คนไทยในค่ายพม่าที่เพนียดรู้ว่ากองกำลังไทยยกมา  ก็หลบหนีไปบ้าง  หนีมาเข้ากับเจ้าตากบ้าง  เตรียมจะเข้าด้วยเจ้าตากบ้าง    มองย่าเห็นท่าจะไม่ดี จึงหนีกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในคืนนั้นเหมือนกัน       เจ้าตากน่าจะได้ข่าวสารจากคนไทยที่มาเข้าด้วยอย่างมาก  และนำข่าวสารมาเป็นประโยชน์ในการวางแผนต่อไปได้เป็นอย่างดี

          ทหารพม่าถอนไปจากค่ายที่เพนียดหมดแล้ว  ส่วนค่ายโพธิ์สามต้นนั้น   มีตั้งอยู่ทั้งฟากตะวันออก  และตะวันตก   ตัวสุกี้อยู่ค่ายฟากตะวันตก

          รุ่งเช้าวันต่อมา   เจ้าตากให้กำลังเข้าตีค่ายฟากตะวันออกก่อน    เวลาประมาณ  ๙  นาฬิกา  ก็ตีได้  และเตรียมการตีค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันตกต่อไป

          วันรุ่งขึ้น    กองกำลังกู้ชาติของเจ้าตากระดมตีค่ายสุกี้แต่เช้า  จนเที่ยงก็เข้าค่ายพม่าได้  สุกี้ตายในที่รบไพร่พลพม่าหนีไปสิ้น  ส่วนที่เป็นไทยก็ก็ยอมเข้าอ่อนน้อมโดยดีเป็นอันมาก

          เมื่อเจ้าตากนำกองกำลังรบพุ่งมีชัยชนะต่อกองทหารพม่าที่รักษาพระนครได้สำเร็จ  ก็นับได้ว่า    กรุงศรีอยุธยาได้กลัยคืนเป็นอิสระแล้ว

 

 

 

 

 

 เจ้าตากได้กอบกู้เอกราชของชาติไทย ให้กลับคืนดำรงอิสรภาพแล้ว

 เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒   ขึ้น ๑๕ ค่ำ  จุลศักราช ๑๑๒๙  ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ

ตรงกับวันที่  ๗  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๓๑๐

 

           เมื่อได้อิสรภาพกลับคืนดำรงแล้ว  ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า  ก็คือการฟื้นฟูบูรณะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยา    เจ้าตากให้กองกำลังของท่าน  ซึ่งบัดนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกองทัพไทย เข้าตั้งในค่ายโพธิ์สามต้น   และจัดการงานตามความเร่งด่วน  คือ

          - ปล่อยคนไทยที่พม่าควบคุมไว้เตรียมส่งไปพม่า  ในจำนวนนี้มีทั้งพระราชวงศ์ ชุนนางข้าราชการ (ส่วนน้อย  เพราะส่วนใหญ่ถูกนำไปพร้อมกองทัพเนเมียวสีหบดีแล้ว)  ทำให้ได้ทราบที่ฝังพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ

          - แจกจ่ายทรัพย์สิ่งของอุปโภคบริโภค (ที่ได้จากค่ายพม่า) ให้แก่ราษฎรทั่วไป

          - จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ   มีการสร้างพระเมรุ พระโกศ  เครื่องประดับตามกำลังที่จะทำได้  นิมนต์พระสงฆ์ซึ่งยังหลงเหลืออยูมาทำทักษิณานุปทาน และสดัปกรณ์ตามประเพณีอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา

          เมื่อเสร็จการพระเมรุพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ แล้วเจ้าตากก็คิดถึงการบูรณะปฎิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาต่อไป  วึ่งมีปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า 

. . . จึงขึ้นช้างที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตรในบริเวณพระราชวัง  และประพาสตามท้องที่ในพระนคร  เห็นปราสาทราชมณเฑียร  ตำหนักใหญ่น้อย  ทั้งอาวาสวิหาร  และบ้านเรือนชาวพระนครถูกข้าศึกเผาทำลายเสียเป็นอันมาก  ทียังดีอยู่นั้นน้อย    ก็สังเวชสลดพระหฤทัย    ในวันนั้น  เสด็จเข้าไปประทับแรมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืน  อันเป็นท้องพระโรงเสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน     เจ้าตากทรงพระสุบินว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน  มาขับไล่มิให้อยู่    ครั้นรุ่งเช้า  จึงเล่าพระสุบินให้ข้าราฃการทั้งปวงฟัง   แล้วดำรัสว่า เดิมเราคิดจะปฏิสังขรณ์พระนครให้คืนดีดังเก่า    แต่เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้  เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด      แล้วเจ้าตากก็ให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรีแต่นั้นมา

          พระสุบิน หรือ ฝัน ของเจ้าตากที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร     ผมคงไม่มีสติปัญญาที่จะทราบว่า  จะเป็นจริงหรือไม่ เพียงใด    เพราะเวลา  ๔๑๗  ปีของกรุงศรีอยุธยาก็มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ และเปลี่ยนราชวงศ์กันหลายราชวงศ์   ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ก่อนมาขับไล่ราชวงศ์ใหม่แต่ประการใด

        แต่หากจะวิเคราะห์ตามสถานการณ์แล้ว  การฟื้นฟูบูรณะปฏิสังขรณ์กรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น  ยังนับว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะนอกจากถูกทำลายย่อยยับแล้ว   ยังมีเหตุผลด้านอื่นๆ อีก  เช่น

            ด้านความมั่นคง      ฝ่ายพม่ารู้จุดอ่อน  จุดแข็งของกรุงศรีอยุธยา  และสามารถพิชิตจุดแข็งได้แล้ว  และเป็นรูปแบบที่จะพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้อีกอย่างไม่ยากเย็น   ในขณะนั้น  เจ้าตากมีกำลังไม่มากพอที่จะรักษาพระนครได้    หากตั้งราชธานีที่กรุงศรีอยุธยาอีก  พม่าสามารถมาย่ำยีได้โดยง่าย

          ด้านสังคมจิตวิทยา    อาณาประชาราษฎรทั่วไปต่างตื่นตระหนก  เสียขวัญ  และกำลังใจ เป็นอย่างยิ่ง  หากอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม  เห็นภาพแห่งความปราชัยย่อยยับย่อมจะทำให้จิตใจสลดหดหู่     หากได้เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ใหม่จะเป็นผลดีในด้านจิตใจด้วย     และราษฎรก็ได้อพยพหลบภัยสงครามไปก่อนเป็นจำนวนมากแล้ว 

 

ธนบุรีศรีมหาสมุทร

          ส่วนการที่เจ้าตากประกาศชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่นั้น  น่าจะเป็นการที่ได้คิดไว้ก่อนแล้ว    และเมืองธนบุรี ก็เหมาะสมแก่การเป็นราชธานีในยุคนั้น  ดังนี้

 

 

  

  

      ๑.เป็นเมืองเล็ก มีป้อมปราการ   พอเหมาะกับ กำลังทางบก ทางเรือ ที่มีอยู่ขณะนั้น  จะรักษาได้     

          ๒.ไม่ห่างไกลกับ กรุงศรีอยุธยานัก  

          ๓.เมืองธนบุรีอยู่ที่ลำน้ำลึก ใกล้ทะเล    หากรักษาไม่ได้จริงๆ ก็อาจล่าทัพไปสู่ฐานที่มั่นทางชายฝั่งทะเลตะวันออกได้ง่าย    และสามารถติดต่อกับต่างประเทศได้สะดวก


 

 

 

 

ประเดิมศึก

สงครามครั้งที่ ๑     รบพม่าที่บางกุ้ง    

          ในปลายปีกุน  พ.ศ.๒๓๑๐   เมื่อเจ้าตากลงมาตั้งที่เมืองธนบุรีนั้น   ยังมิได้ประกอบพิธีปราบดาภิเษก    เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ส่งข่าวไปยังพระเจ้าอังวะว่า  พระยาตากได้ตั้งตัวเป็นใหญ่  ตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี    ส่วนทางพระเจ้าอังวะขณะนั้นก็กำลังทำศึกอยู่กับกองทัพยูนนานของจีน  และคิดว่าได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาย่อยยับจนไม่น่าฟื้นได้ในเวลาไม่นาน  จึงไม่ทรงสนพระทัยเท่าใดนัก    เพียงแต่รับสั่งให้เจ้าเมืองทวายเข้าสืบข่าวเพื่อที่จะกำจัดเสีย    สมเด็จกรมพระยาตำรงราฃานุภาพทรงสันนิษฐานว่า  กำลังไม่น่าจะเกิน  ๓  พัน คน   เข้ามาทางเมืองไทรโยค  

          ขณะนั้น    เมืองกาญจนบุรี  และเมืองราชบุรียังร้างผู้คนอยู่ทั้งสองเมือง   เจ้าเมืองทวายยกกำลังเข้ามาอย่างสบาย    ครั้นถึง บางกุ้ง  เมืองสมุทรสงคราม  เห็นค่ายทหารที่พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ตั้งไว้  ก็เข้าล้อม    ฝ่ายกรมการเมืองสมุทรสงครามก็รีบส่งข่าวเข้ามากรุงธนบุรี

 

          ตามความในพงศาวดารกรุงธนบุรี กล่าวว่า เจ้าตากทรงทราบข่าวข้าศึก ด้วยความยินดียิ่ง ได้โปรดให้พระมหามนตรี   (บุญมา)  จัดกองทัพเรือ  ๑๐๐ ลำเศษ   แล้วพระองค์ก็ทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิชัยนาวา ขนาดเรือ ยาว  ๑๘ วา ปากเรือกว้าง  ๓ ศอกเศษ พลกรรเชียง  ๒๘ นาย  พร้อมด้วยศาสตราวุธมายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน  ผ่านคลองสุนัขหอน  ออกแม่น้ำแม่กลอง   พระมหามนตรีคาดการณ์ว่าค่ายบางกุ้งล่อแหลมกำลังจะแตกอยู่แล้ว  จึงรีบเดินทัพเข้าโจมตีพม่าที่ล้อม ค่ายบางกุ้งโดยฉับพลัน  

          ในการประชุมนายทัพนายกองเพื่อปลุกใจและบงการเข้าตีนั้นได้เน้นว่า "ถ้าช้าไปอีกวันเดียวค่ายบางกุ้งจะแตกและขวัญทหารไทยจะไม่มีวันฟื้นคืนได้ การรบทุกครั้งการแพ้อยู่ที่ขวัญและกำลังใจ ถ้าไทยแพ้อีกในครั้งนี้ พม่าจะฮึกเหิม พวกไทยจะครั้นคร้ามและกู้ชาติไม่สำเร็จ การรักษาค่ายบางกุ้งไว้ให้ได้ในครั้งนี้ ได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้ช่วยขวัญของไทยในการรบครั้งต่อไป"

          การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น ออกพระมหามนตรีควงดาบสิงห์สุวรรณาวุธ ซึ่งทำด้ามและฝักกนกหัวสิงห์ใหม่ไล่ฆ่าฟันพม่า ข้าศึกแตกกระจาย  แมงกี้มารหญ่า แม่ทัพพม่า ครั่นคร้าม    พระมหามนตรีจึงเลี่ยงเชิงดูศึกได้ยินเสียงในค่ายที่ล้อมไว้จุดประทัด ตีม้าล่อเปิดประตูค่าย ส่งกำลังตีกระทุ้งออกมา ทำให้พม่าอยู่ในศึกกระหนาบ ซ้ำยังเห็นผงคลีมืดครึ้มได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวทัพหนุนเนื่องของไทยอีก แน่ใจว่าทัพหลวงของไทยติดตามมายิ่งเสียขวัญ 

          ฝ่ายไทยกลับฮึกเหิมไล่ฟันแทงข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันแตกหนี พระยาทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ จึงสั่งทัพถอยรวบรวมไพร่พลกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว   (เป็นด่านเมืองราชบุรี  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพาชี)

          กองทัพไทยยึดได้เรือรบศัตรูทั้งหมด และได้เครื่องศาสตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก

          การสงครามครั้งนี้นับว่าสำคัญมาก  เพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีเพิ่งจะขับไล่พม่าออกไปได้    หากเอาชนะสงครามคราวนี้  ก็เป็นการเพิ่มพูนขวัญ กำลังใจแก่กองทัพไทยว่าสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ แม้ว่าจะไม่ใช่กองทัพใหญ่ก็ตาม   แต่ในทางตรงกันข้าม  หากเอาชนะพม่าไม่ได้  ก็จะยิ่งถูกพม่าซ้ำเติมให้สถานะของบ้านเมืองเลวร้ายลงไปอีก

 

ครับ  . . .  นับเป็นเริ่มต้นที่ดีของกิจกรรมทางทหารในยุคกรุงธนบุรี

 

          "ค่ายบางกุ้ง" เป็นค่ายทหารไทยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ บางกุ้ง เรียกว่า "ค่ายบางกุ้ง" โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร   ภายหลังเสียกรุง พ.ศ.๒๓๑๐   ค่ายบางกุ้งก็ร้างไป   
 
          จนกระทั่งเจ้าตากสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีจึงโปรดฯ ให้ชาวจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรีรวบรวมผู้คนมาตั้งกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกอีกหนึ่งว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง"  -   ปัจจุบันอยู่ในตำบลบางกุ้ง  อำเภอบางคนที  จังหวัดสมุทรสงคราม

 

 

 

 

 

ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์

ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช  ๑๑๒๙  ปีชวด  สัมฤทธิศก

ตรงกับวันที่  ๒๘ ธันวาคม  พ.ศ.๒๓๑๑

ทรงพระนาม

 

 

 

 

 

พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔

 

 

 

๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐

 

 

สถานการณ์ต่อไป . . .  ธนบุรีสมัยเริ่ม

สถานการณ์ต่อไป . . .  ธนบุรีสมัยเริ่ม

สถานการณ์ต่อไป . . .  ธนบุรีสมัยเริ่ม 

 

 

บรรณานุกรม

          - ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

          - สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  ๒  (พ.ศ.๒๓๑๐)   สุเนตร  ชุตินธรานนท์    สำนักพิมพ์ศยาม  มีนาคม  ๒๕๓๙

          - สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน  ๒๕๔๓

          - ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          - ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป 

 

 

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



1

ความคิดเห็นที่ 1 (659)
avatar
สุทัศ
เวบดีมาก
ผู้แสดงความคิดเห็น สุทัศ วันที่ตอบ 2010-11-03 17:23:43 IP : 115.87.189.30


ความคิดเห็นที่ 2 (660)
avatar
สัมพันธ์
ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-11-03 18:55:39 IP : 124.121.116.40



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker