dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 

 

 

 

 

. . . วันนี้เคราะห์ดี  รุ่งขึ้นพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร 

 ดีเคยพบ  ชั่วเคยเห็น  จนเคยเป็น  มีเคยได้ 

อนาคตเราไม่รู้ ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป 

จะกลัวไปไย  มันก็ล่วงไปตามเวลา 

ไม่ตายวันนี้ ก็ต้องไปซี้เอาวันข้างหน้า 

วันนี้ยอ  พรุ่งนี้ด่า  ไม่ใช่ขี้ข้าขี้ปากของใคร . . .

 

๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐ 

 

          ครับ  หลายท่านคงคุ้นเคยเนื้อเพลงข้างต้น  โดยเฉพาะพี่น้องทหารเรือไทย      เพลงนี้  ชื่อเพลง "เดินหน้า"  พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์   กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงนิพนธ์ เนื้อร้อง   ทำนองนั้น มาจากเพลงคุณลุงคุณป้า ๒ ชั้น  ซึ่งเป็น   เพลงไทยเดิม        
 
 

          เนื่องจาก กองทัพเรือได้กำหนดให้ วันที่  ๑๙  พฤษภาคม  ของทุกปี เป็นวัน "อาภากร" เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  "องค์บิดาของทหารเรือไทย"   จึงขออัญเชิญพระประวัติมาเล่าสู่กันพอเป็นสังเขป

 

พระประสูติกาล - ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ

          พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ  ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  นับลำดับเป็นองค์ที่ ๒๘    และเป็นองค์ที่ ๑  ในเจ้าจอมมารดาโหมด  ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)  ทรงพระนามว่า "พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์" ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ  ๑๙  ธันวาคม   ๒๔๒๓ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           ทรงมีพระกนิษฐาและพระอนุชา ร่วมพระมารดาอีก  ๒ พระองค์คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา  (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์  (ต่อมาได้ทรงเป็น กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส   ต้นราชสกุล สุริยง)
 

 

 

 

นั่ง   เจ้าจอมมารดาโหมด  และ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์  ยืน  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์

 

          เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาชั้นแรก ในพระบรมมหาราชวัง มีพระยาอิศรพันธ์โสภร  (พูน อิศรางกูร)  เป็นพระอาจารย์ และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับ  Mr.Morant ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ และได้ทรงเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ อยู่จนถึงทรงโสกันต์    

 

 

 

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์
วันที่  ๕  มกราคม  ๒๔๓๕

 

          ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา หลังจากวิกฤตการณ์  ร.ศ.๑๑๒  ที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมแล้ว    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษพร้อมกับ   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  โดยมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระมนตรีพจนกิจ เป็นพระอภิบาล   ได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑ )   เมื่อ ๒๐  สิงหาคม  ๒๔๓๖ ไปยังสิงคโปร์   ต่อจากนั้น ได้ทรงโดยสารเรือเมล์ ชื่อ "ออเดรเบิด" ไปถึงเมืองตูรินในอิตาลี เมื่อวันที่  ๔  ตุลาคม    แล้วเสด็จโดยทางรถไฟ ไปยัง กรุงปารีส และลอนดอนตามลำดับ

          ในขั้นแรก  ได้เสด็จประทับร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ   ที่ "ไบรตัน" และ "แอสคอต" เพื่อทรงศึกษาภาษา และวิชาเบื้องต้น   ได้เคยตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย  ที่พระราชวังวินด์เซอร์   ตลอดจนตามเสด็จฯ ไปทัศนศึกษาทั้งในอังกฤษ และประเทศในยุโรป จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๘  จึงเสด็จไปเข้าโรงเรียนส่วนบุคคล สำหรับกวดวิชาเพื่อเตรียมเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษต่อไป  โรงเรียนที่ทรงไปกวดวิชานี้มีชื่อว่า The Seines ตั้งอยู่แขวงกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของกรุงลอนดอน มีนาย Littlejohns เป็นครูใหญ่ ผลการศึกษานี้ พระอภิบาลได้กราบบังคมทูลรายงานว่า

"... ความรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นตามธรรมดา แต่วิชากระบวนทหารเรือชั้นต้น ก็วิ่งขึ้นเร็วตามสมควร แต่การเล่นแข็งแรง เช่น ฟุตบอล เป็นต้น นับว่าเป็นชั้นยอดของโรงเรียน เกือบว่าไม่มีใครอาจเข้าเทียบเทียม..."

 

 

 

ทรงฉายในประเทศอังกฤษก่อนทรงเข้ารับกาศึกษาในโรงเรียนนายเรือ

 

          กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ตอบรับยินดีให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เข้ารับการศึกษาในเรือรบอังกฤษได้เมื่อทรงมีพระชนมายุเท่ากับนักเรียนนายเรืออังกฤษที่สำเร็จการฝีกและศีกษาในเรือฝึก  (ประมาณ ๑๖ ปี)  และทรงเป็นนักเรียนนายเรือไทยแล้ว

          ใน พ.ศ.๒๔๔๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรป เป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ ๑) ทรงพระกรุณาให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์มาเฝ้ารับเสด็จที่เมืองกอล์ล   Galle เกาะลังกา   เมื่อวันที่  ๑๙  เมษายน  ๒๔๔๐    และโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในตำแหน่ง  "ออฟฟิเซอร์" ในเรือเพื่อฝีกหัดการเดินเรือ   อยู่ในบังคับบัญชาของกัปตันคัมมิ่ง  Captain R.S.D. Cumming R.N.  ผู้บังคับการเรือพระที่นั่งมหาจักรีในการเสด็จครั้งนี้    ทรงฝึกในเรือพระที่นั่งมหาจักรี ตั้งแต่  ๒๐  เมษายน   ๒๔๔๐    ซึ่งเดินทางจากเมืองกอล์ล ต่อไปยัง โคลัมโบ  เอเดน   เข้าทะเลแดง  ผ่านคลองสุเอซ   ปอร์ตเสด  เข้าทะเลอเดรียติก ถึงเมืองเวนิส  เมื่อ  ๑๔  พฤษภาคม   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์   พร้อมด้วยกัปตันคัมมิ่ง  และนายทหารเรืออังกฤษ ที่รัฐบาลอังกฤษให้ยืมตัวมาในการเดินเรือพระที่นั่งมหาจักรี  ขณะประทับในเรือพระที่นั่งฯ ที่เมืองเวนิส  อิตาลี  เมื่อวันที่  ๑๖  พฤษภาคม  ร.ศ.๑๑๖     บนและซ้าย    

 พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเครื่องแบบนักเรียนทำการนายเรือของราชนาวีไทย  ทรงฉายในเดือน กันยายน   ๒๔๔๐      ขวา

 

 

 

 

 

เรือพระที่นั่งมหาจักรี   (ลำที่ ๑)

 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จจากเรือ ใน  วันที่  ๑๗  พฤษภาคม  เพื่อเสด็จเยือนประเทศต่างๆ โดยทางบก    ส่วนพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงฝึกในเรือพระที่นั่งมหาจักรีต่อไป และ เดินทางต่อจนถึงประเทศอังกฤษ เพื่อทรงศึกษาต่อ

 

 

          ในเดือนสิงหาคม   พ.ศ.๒๔๔๐     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จอ้งกฤษ

 

 

 

 

จากซ้าย    (ตัวเลขในวงเล็บคือพระชนมายุ)

    เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร  (๑๔)  พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ  (๑๓)  เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย  (๑๕)  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ  (๑๕)  พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ  (๑๔) 

เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  (๑๖)  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมาร  (๑๗)  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  (๑๗)  พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์  (๑๕)   

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร  (๑๖)  พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช  (๒๑)  และ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      

 

 

 

 

จากซ้าย   ประทับนั่ง      เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ     เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร

                  ประทับยืน       พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์    เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย    พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช     พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ   

                                            เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  สยามมกุฎราชกุมาร    พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร     พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์     เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ

 

 

 

๒๑  กันยายน  ร.ศ. ๑๑๙   

          ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมจุลจอมเกล้าวิเศษ 

 

          พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงสอบความรู้ชั้นสุดท้ายของนักเรียนนายเรืออังกฤษได้ในเกณฑ์ คี   และพร้อมที่จะทรงรับการฝึกในเรือรบอังกฤษต่อไป   ในสมัยนั้น  นักเรียนนายเรือที่สอบความรู้ได้แล้ว จะต้องแยกย้ายกันลงประจำเรือรบในฐานะนักเรียนทำการนายเรือ  (Mid Shipman) เพื่อฝึกหัดงานต่อไป   กระทรวงทหารเรืออังกฤษได้จัดให้ทรงฝึกงานในเรือหลวง Revenge  ซึ่งประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   ทรงฝึกงานตั้งแต่ วันที่  ๙  พฤศจิกายน  ๒๔๔๐   เรือนี้เป็นเรือประจันบานชั้นหนึ่งในสมัยนั้น สร้างเสร็จใน พ.ศ.๒๔๓๗   และเป็นเรือธงของพลเรือตรี แฮริส

          ในช่วงที่ทรงฝึกงานอยู่ในเรือประจันบานเรเวนจ์นั้น เกิดความไม่สงบบนเกาะครีต (Crete) ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในปกครองของตุรกี   พลเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ก่อการจลาจลโดยอ้างเหตุว่าเจ้าหน้าที่ตุรกีซึ่งเป็นมุสลิมกดขี่ข่มเหงไม่เป็นธรรม  ชาติคริสเตียนในยุโรปจึงส่งกองเรือรบไปเกาะครีต เพื่อแก้ไขสถานการณ์   พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์    ซึ่งทรงเป็นนักเรียนทำการอยู่นั้นพระชนมายุ  ๑๘ พรรษา  ทรงได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับบัญชานำทหารยกพลขึ้นบกไปปราบจลาจล เป็นเวลาประมาณ  ๓ เดือน   จนกระทั่ง ตุรกีต้องยอมถอนตัวจากเกาะครีต ยอมให้กรีซเข้าปกครองดังเดิม

          ทรงฝึกหัดในเรือประจันบานเรเวนจ์  จนถึงวันที่   ๙  กันยายน  ๒๔๔๑   รวมเวลา  ๓๓๕ วัน   จึงทรงย้ายไปเรือประจันบาน Remilies    จากนั้น ทรงรับการฝึกในเรือหลวง Cruiser ซึ่งเป็นเรือสลุป   ต่อมาก็ได้ทรงประจำการในเรือลาดตระเวนฮอว์ค Hawk     เมื่อทรงจบการฝีกในช่วงนี้  นับเวลาที่ได้ทรงลงฝึกในเรือรบอังกฤษประมาณ ๑ ปี กับ ๗ เดือน  ก็ทรงได้รับประกาศนียบัตรในวิชาเดินเรือ  ปืนใหญ่  และการจักรไอน้ำ ตลอดจนประกาศนียบัตรรับรองคุณลักษณะ และความสามารถจากผู้บังคับการเรือหลวงเรเวนจ์ และผู้บังคับการเรือท่านอื่นๆ ที่ทรงได้รับการฝึก  รับรองตุณลักษณะและตวามสามารถของพระองค์ว่าอยู่ในระดับ "ดีมาก" 

          พ.ศ.๒๔๔๓  ทรงศึกษาในวิทยาลัยทหารเรือกรีนิช ในวิชาเดินเรือ และนำร่อง  และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้ว  ทรงเป็นนายเรือเอกทำนองเดียวกับนายทหารเรืออังกฤษรุ่นเดียวกัน

 

 

 

 

 

 

 

  ซ้าย  ทรงเครื่องแบบนายเรือเอกราชนาวีไทย 

ขวา   ทรงเครื่องแบบนายเรือเอกราชนาวีอังกฤษ  เมื่อทรงสอบได้ตามหลักสูตรแล้ว

 

 

           เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในราชนาวีอังกฤษแล้ว ได้เสด็จไปทอดพระเนตรกิจการของบริษัท อาร์มสตรอง   โรงงานตอร์ปิโด ของบริษัท ไวท์เฮด  (Whitehead)  ที่เมืองเวย์มัธ  (Weymouth)  และที่ ฟิยูเม  (Fiume)  ในออสเตรีย    ได้ทอดพระเนตรโรงงานสร้างปืนใหญ่ Creusot ในฝรั่งเศส  ทำให้ทรงมีความรู้ทั้งในด้านการปืนใหญ่และตอร์ปิโด 
  
          เมื่อทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษแล้ว ก็เสด็จกลับประเทศไทยโดยทางเรือ  ตามพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ". . . ขอบใจที่เขาจัดการการเล่าเรียนเสร็จแล้ว  อยากให้กลับมาทำการทหารเรือต่อไป . . ."   และ เสด็จกลับประเทศไทย โดยทางเรือ ดังปรากฏรายละเอียด ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๗ ร.ศ.๑๑๙ ดังนี้

 

"...ได้เสด็จลงเรือเมล์เยอรมัน ชื่อ "เบเยน" ที่เมืองเยนัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙   วันที่ ๗ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ถึงเมืองสิงคโปร์   หลวงภักดีบรมนารถ และหลวงสุนทรโกษา ได้ออกรับเสด็จ ได้เสด็จพักอยู่ที่สิงคโปร์ คืนหนึ่ง   รุ่งขึ้นวันที่ ๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ได้เสด็จลงเรือเมล์ชื่อ "สิงคโปร์" ออกจากสิงคโปร์     ต่อมาวันที่ ๑๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙   เวลาทุ่มเศษถึงปากน้ำ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา  และพระยาสีหราชเดโชไชย  หลวงปฏิยัตินาวายุกต์ นำเรือสุริยะมณฑล ออกไปคอยรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นแล้วทรงเรือไฟ มาขึ้นที่เมืองสมุทรปราการ ทรงรถไฟจากที่นั่น มาถึงสเตชั่นหัวลำพองเวลายามเศษ  แล้วเสด็จทรงรถต่อไป   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จไปรับ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ที่สเตชั่นรถไฟ เสด็จถึงแล้ว ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในรถพระที่นั่ง ที่ถนนเจริญกรุง แล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

          ครั้นรุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๙ เวลาสองทุ่มเศษ โปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์พระราชทานเป็นเกียรติแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า  อาภากรเกียรติวงศ์ ที่พลับพลาสวนดุสิตด้วย..."

 

ทรงรับราชการทหารเรือ

          กิจการทหารเรือในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้นยังไม่ได้มีการจัดหน่วยแน่ชัด   ยังคงปะปนอยู่กับทหารบก   เริ่มแบ่งอย่างชัดเจนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   

 

           ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริว่า  ราชการทหารบก  ทหารเรือ ยังแยกย้ายกันอยู่หลายพวก หลายกรม   ควรจัดการให้แบบแผนของทหารให้เรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   จึงทรงประกาศจัดการทหาร  เมื่อวันที่  ๘  เมษายน  ๒๔๓๐   รวบรวมกองทหารบก  กองทหารเรือทั้งหมด  มาขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร   แต่ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  นายพลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ  ภาณุพันธุวงศ์วรเดช  เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทั่วไป    เรียกกรมที่บังคับบัญชาทหารของประเทศตามแบบใหม่นี้ว่า  กรมยุทธนาธิการ   ซึ่งกระทรวงกลาโหมถือเอาวันที่  ๘  เมษายน  เป็นวันที่ระลึกวันสถาปนากระทรวงกลาโหม      นายพลตรี กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยบังคับบัญชาทหารบก         นายพลเรือโท  พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์   เป็นเจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยบังคับบัญชาทหารเรือ  มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาทหารเรือทั้งหมด  ซึ่งรวมทั้ง เรือรบ  และเรือพระที่นั่งทั้งปวง  และเรียกชื่อกรมที่บังคับบัญชาทหารเรือทั้งหมดนี้ว่า    กรมทหารเรือ

          พ.ศ.๒๔๓๓  ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการ  เรียกกรมยุทธนาธิการ เสียใหม่ว่า  กระทรวงยุทธนาธิการ  Ministry of War and Marine  มีหน้าที่บังคับบัญชาทหารและพลเรือน  ที่เกี่ยวข้องแก่การทหารบก ทหารเรือ    สำหรับจัดหา และดำริราชการยุทธซึ่งจะต้องใช้กำลังทหารบกทหารเรือ  ให้มีตำแหน่งเสนาบดีเป็นประธาน  เรียกว่า "เสนาบดีว่าการยุทธนาธิการ"   ยกเลิกตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหารทั่วไปในกรมทหารเสีย   และตั้งตำแหน่งใหม่ เรียกว่า  จอมพล  สำหรับบังคับบัญชาราชการในกรมทหารบกทหารเรือ   และโดยพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งจอมพลนี้    

          กรมที่บังคับบัญชาทหารแบ่งออกเป็น  ๒ กรม  คือ  กรมทหารบก  และกรมทหารเรือ    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

          นายพลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเป็นเสนาบดีว่าการยุทธนาธิการ    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     <   นายพันเอก  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  เป็นผู้บัญชาการกรมทหารบก  

 นายพลเรือโท  พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์  ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ   >

 

 

 

 

          ในระยะแรกๆ ที่ก่อตั้งกรมทหารเรือนั้น   วิชาการทหารเรือสมัยใหม่ของไทยยังไม่ก้าวหน้า  จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศมาใช้ในราชการเป็นจำนวนมากด้วยกัน  ขณะเมื่อ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทยนั้น  ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ คือ  นายพลตรี  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่  กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  ทรงรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ         และผู้บัญชาการกรมทหารเรือท่านต่อมาคือ  นายพลเรือโท  พระยาชลยุทธโยธินทร์  Vice Admiral Andre du Plesis de Richelieu  ชาวเดนมาร์ก  

 

 

 

 

 นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์

 

ทรงรับราชการทหารเรือ

          ในวันที่  ๒๓  มิถุนายน   ๒๔๔๓   ได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็น  นายเรือโทผู้บังคับการ  Lieutenant Commander  คือ นาวาตรี   ทรงรับราชการในตำแหน่งนายธงผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  เพื่อทรงเป็นที่ปรึกษาในกิจการทหารเรือ  และทรงปฎิบัติราชการต่างๆ ที่ทรงได้รับมอบหมาย  เช่น  ทรงให้ทรงสำรวจการระวังป้องกันลำน้ำเจ้าพระยา     นอกจากนี้  ยังทรงริเริ่มกำหนดสัญญาณธงสองมือ และโคมไฟ  ตลอดจนเริ่มฝึกพล  "พลอาณัติสัญญาณ" ขึ้นเป็นครั้งแรก  และเหล่าทหารทัศนสัญญาณ ก็ได้กำเนิดขึ้นในปีนี้ เช่นกัน

 

กองดับเพลิง

         
           และยังได้ทรงจัดตั้งกองดับเพลิง ขึ้น  เพราะมีเรือสูบน้ำ และเรือกลไฟเล็กขึ้นอยู่กับกรมเรือกล  และมีหน้าที่ดับเพลิงอยู่แล้ว  จึงทรงตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้ปฎิบัติงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   เช่น  กองถัง  กองขวาน  กองผ้าใบกันแสงเพลิง  กองรื้อและตัดเชื้อเพลิง  กองช่วย  กองพยาบาล   และต่อมาได้เพิ่ม  กองสายสูบ  ขึ้นอีกกองหนึ่ง  ทั้งนี้ ทรงฝึกการดับเพลิงให้กับนักเรียน และทหารที่มีหน้าที่ และเมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็มักทรงนำกองดับเพลิงออกไปช่วยเหลือด้วยพระองค์เอง เช่น ใน พ.ศ.๒๔๔๓  เกิดเพลิงไหม้ที่บ่อนหัวเม็ด ทางด้านวัดบพิตรพิมุข  ทรงปีนหลังคาเพื่อรื้อเป็นการตัดต้นไฟด้วยพระองค์เอง  จนกระทั่งประชวรพระวาโยถึง  ๒  ครั้ง    

          การที่ทรงตั้งกองดับเพลิง และออกไปช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดไฟไหม้นั้น   พวกเราที่อยู่ในยุคนี้อาจจะเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญเพราะการดับเพลิงนั้นมีหน่วยงานปฎิบัติอยู่หลายหน่วย  แต่ในครั้งกระนั้น ยังไม่มีหน่วยงานดำเนินการ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยทหารดับเพลิงขึ้นเป็นหน่วยแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗  มีที่ตั้งอยู่ใน"สวนสราญรมย์"

          ดังนั้น  การที่มีกองดับเพลิงขึ้นในกรมทหารเรือจึงเป็นการเพิ่มกำลังที่ใช้ในการดับเพลิง และกองดับเพลิงของกรมทหารเรือก็สามารถเดินทางไปที่หมายโดยทางน้ำได้สะดวก และรวดเร็ว  เพราะย่านชุมนุมชนในยุคนั้นก็มักอยู่ใกล้แม่น้ำ และคลองต่างๆ  
 
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงงานของ "นายธง" ว่า  . . . มีความรู้จริง  และกระตือรือล้นที่จะทำงาน  . . .

 

          ในวันที่  ๓  พฤษภาคม   ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือเอก  Captain  คือ นาวาเอก   ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรือพระที่นั่งมหาจักรี   คราวเสด็จประพาสชวา   ตั้งแต่  วันที่  ๕  พฤษภาคม  ถึง   ๔  กรกฏาคม   ๒๔๔๔   ในตำแหน่งราชองครักษ์ฝ่ายทหารเรือ  Naval Aide-de-Camp

          วันที่  ๑๖  กันยายน    ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ    ส่วนผู้บัญชาการกรมทหารเรือคือ  นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์    

 

การพัฒนากรมทหารเรือตามพระดำริ  นายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

การตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ

          เสด็จในกรมฯ ทรงสังเกตเห็นว่านายทหารและพลทหารเรือ ในเวลานั้นขาดทั้งความรู้ ความสามารถ และความสามัคคี เพราะระเบียบการเรียกเข้ารับราชการ และระบบการฝึกไม่อำนวย  ทั้งยังขาดแคลนผู้ฝึกที่สนใจและตั้งใจจริง   ในเดือน กรกฏาคม  ๒๔๔๕   จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต จัดตั้งหน่วยฝึกขึ้นที่บางพระ  เพื่อเรียกพลทหารจากจังหวัดชายทะเลในภาคตะวันออกเข้ารับการฝึก    เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว   ได้ทรงดำเนินการตั้งแต่  วันที่  ๓  กรกฏาคม  ๒๔๔๕  ได้ทรงอำนวยการและควบคุมการฝึกทหารที่บางพระ  อยู่ประมาณ  ๖ เดือน   จึงทรงกลับมาปฎิบัติราชการปรกติที่กรมทหารเรือ ตามเดิม   (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  ตั้งแต่  ๒๙  มกราคม  ๒๔๔๔ - ๑๖  กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕   และทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ   ตั้งแต่  ๑๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๔๕ - ๒๔  กุมภาพันธ์  ๒๔๔๖)

 

 

ทรงขอพระราชทานที่ดินและอาคารเป็นโรงเก็บถ่านหิน

          ในวันที่  ๒๑  มกราคม  ๒๔๔๕  เสด็จในกรมฯ  ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานที่ดินและอาคารที่ตำบลบางนา เพื่อใช้เป็นฉางถ่านหินของกรมทหารให้กระทรวงทหารเรือ      กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทรงตรวจสอบแล้วว่า เป็นของหลวง กำลังมีผู้ขอใช้เป็นโรงพยาบาลคนเสียจริต  จึงทรงกราบบังคมทูลว่า  สมควรพระราชทานให้กรมทหารเรือจะได้ประโยชน์มากกว่า  จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติโอนที่ดินและอาคาร ดังกล่าวให้กรมทหารเรือ  ตั้งแต่วันที่  ๑  กุมภาพันธ์  ปีนั้นเอง     ปัจจุบัน  เป็นที่ตั้งของกรมสรรพาวุธทหารเรือ

 

การจัดระเบียบบริหารราชการกรมทหารเรือใหม่

          วันที่  ๗  เมษายน  ๒๔๔๖     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ระเบียบบริหารราชการกรมทหารเรือใหม่ ซี่งได้แบ่งส่วนราชการกรมทหารเรือออกเป็น  ๖ ส่วน คือ

             ๑. กรมปลัดทัพ  สำหรับบังคับบัญชากองเรือ และกองทหาร  ซึ่งเกี่ยวแก่การรบ  และสำหรับประจำส่วนราชการทั่วไป  ฯลฯ

            ๒. กรมยกกระบัตรทัพ  สำหรับบังคับบัญชาการเงิน และสรรพาวุธยุทธภัณฑ์

            ๓. กรมเสนาธิการ   สำหรับรวบรวมเรียบเรียงข้อบังคับและแบบแผน

            ๔. กรมทะเบียน  สำหรับถือทะเบียนกะเกณฑ์และจำหน่ายคน  กับทั้งพิจารณาพิพากษาคดีในกรมทหารเรือ

            ๕. กรมยุทธโยธา  สำหรับบังคับบัญชาการช่างทั้งหลาย

            ๖. กรมบัญชาการทหารชายทะเล  สำหรับบังคับบัญชาทหารซึ่งจะต้องประจำรับราชการอยู่ในหัวเมือง


          ต่อมา ในวันที่  ๒๒  มกราคม  ๒๔๔๖    (ในสมัยนั้น เริ่มปีใหม่ วันที่  ๑ เมษายน) เสด็จในกรมฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างการจัดระเบียบกรมทหารเรืออีกครั้ง  เรียกว่า "ข้อบังคับการปกครอง" แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต  และในเดือนต่อมา  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต  ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  ตั้งแต่  วันที่  ๒๔  กุมภาพันธ์  ๒๔๔๖ 
 

 

 

 

 

 นายพลเรือโท  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต

ทรงเครื่องเต็มยศทหารเรือ  ฉายเมื่อ  พระชันษา  ๒๓  ปี  ใน พ.ศ.๒๔๔๗

 

 

          วันที่   ๕  พฤษภาคม    ๒๔๔๗   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศเสด็จในกรมฯ เป็น  นายพลเรือตรี    Rear Admiral  รับราชการในตำแหน่งเดิม

          วันที่  ๑๐  พฤศจิกายน   ๒๔๔๗    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ  ทรงกรม  เป็น  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

 

๑๗  มกราคม  ๒๔๔๗

          ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้น ๑  มหาสุราภรณ์

 

การจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางด้านทะเล

          ใน  เดือนตุลาคม  ๒๔๔๘     ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางด้านทะเลขึ้น ตามพระดำริ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต  ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  ชื่อ "ระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเล"  ความประสงค์ของระเบียบนี้คือ   . . . ใช่จะจัดกองทัพเรือออกไปต่อตีถึงประเทศอื่นหามิได้  เป็นแต่เพียงจะรักษาอ่าว มิให้ข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาตั้งมั่น  (base) ตามชายทะเลหรือเกาะ . . .   โครงการป้องกันฯ นี้ ได้ทรงกำหนดแนวความคิดในการปฎิบัติ  ชนิด และจำนวนเรือ  และป้อมบนเกาะ และชายฝั่ง

          ผลของโครงการฯ นี้   คือ  ในปีงบประมาณ ๒๔๔๙  ทำให้กรมทหารเรือได้รับงบประมาณให้สั่งสร้างเรือ ที่อู่คาวาซากิ  ประเทศญี่ปุ่น  รวม  ๔ ลำ  คือ  เรือ Torpedoreboat Destroyer ลำหนึ่ง  ซี่งต่อมา ได้รับพระบรมราชโองการให้เรียกว่า "เรือพิฆาฏตอร์ปิโด" กับพระราชทานชื่อว่า "เสือทยานชล" และ เรือตอร์ปิโด อีก  ๓  ลำ   กรมทหารเรือได้รับมอบเรือทั้ง  ๔  ลำ  และ ขึ้นระวางประจำการใน พ.ศ.๒๔๕๑

 

 

 

 

 

 

 

 

เรือพิฆาฏตอร์ปิโด  "เสือทยานชล"                                             เรือตอร์ปิโด ท.๓    

 

เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ  -  ทรงปรับปรุงการศึกษาของทหารเรือ

          เนื่องจากกรมทหารเรือได้รับเรือ และอาวุธชนิดใหม่  แต่การศึกษาของนักเรียนนายเรือยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร   สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ  ทรงเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งจัดการศึกษาของนักเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้าตามไปด้วย  จึงทรงตั้ง  เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ

 

          ในวันที่ ๑ มีนาคม  ๒๔๔๘   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นาวาเอก หม่อมไพชยนต์เทพ  (ม.ร.ว.พิณ  สนิทวงศ์)  เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือออกจากราชการตามที่ได้กราบบังคมทูลลา   และได้ทรงเป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในปีต่อมา  คือ พ.ศ.๒๔๔๙  เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือแล้ว ได้ทรงแก้ไข ปรับปรุงการศึกษา ระเบียบการ ในโรงเรียนนายเรือทุกอย่าง ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายวิชาการ ให้รัดกุม ทัดเทียมอารยประเทศ เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้เป็นนายทหารเรือที่มีความรู้ ความสามารถเสมอด้วยกับ นายทหารเรือต่างประเทศ และสามารถทำการแทน ในตำแหน่งชาวต่างประเทศที่รับราชการอยู่ในกองทัพเรือในขณะนั้นอีกด้วย

          ผลจากการปรับปรุงหลักสูตรนี้ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงฝึกสอนนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง  ทรงเป็นครู ดาราศาสตร์  ครูไฮโดรกราฟฟี  ครูการเรือ  และครูตรีโกโนเมตรี   ต้องเสด็จไปโรงเรียนตั้งแต่เช้า  และเสด็จกลับในตอนค่ำทุกวัน

 

กองดับเพลิง  -  ช่วยเหลือประชาชนได้ผลดี

          นอกจากการพัฒนาหลักสูตร นายเรือ และนายช่างกล ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ "กองโรงเรียนนายเรือ" แล้ว  ยังได้ทรงพัฒนางาน กองดับเพลิง ให้มีประสิทธิภาพขึ้น     

          เมื่อวันที่  ๔ - ๕  เมษายน  ๒๔๔๙   ได้เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่ ตำบลราชวงศ์  กองดับเพลิงก็ได้ออกปฎิบัติงานด้วยความอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง   ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสรรเสริญความอุตสาหะของกรมทหารเรือ ครั้งนี้ด้วย

"...วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๔๙   กรมทหารเรือได้ลงคำสั่งที่ ๘/๑๓๘    ให้ทราบทั่วกันว่า   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรรเสริญ ความอุตสาหะ ของกรมทหารเรือ ในการดับเพลิง ที่ตำบลถนนราชวงศ์  เมื่อวันที่  ๔  และ  ๕  เมษายน  ๑๒๕..."     จึงให้กรมกองประกาศให้ นายทหาร พลทหาร และพลนักเรียนทราบทั่วกัน

 

โรงเรียนช่างกล

          นอกจากปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ แล้ว เสด็จในกรมฯ จึงทรงเปิด "โรงเรียนช่างกล" ขึ้นในปี  ๒๔๔๙  สำหรับสอนนักเรียนนายเรือที่สมัครจะเรียนวิชาช่างกล 

          ผลจากการที่ เสด็จในกรมฯ ทรงสั่งสอน และกำกับดูแลควบคุมการศึกษาของโรงเรียนนายเรือและโรงเรียนช่างกล อย่างใกล้ชิด  ทำให้สามารถผลิตนายทหารหลักที่มีความรู้ความสามารถ 

 

๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๔๙  -  "ทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว"  

           ในวันที่  ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๔๙  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ ที่พระราชวังเดิม  เมื่อได้ทอดพระเนตรอาคารสถานที่ และการฝีกของนักเรียนนายเรือแล้ว ทรงลงพระปรมาภิไธย ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือ

 

 

 วันที่  ๒๐  พฤษจิกายน   รศ ๑๒๕  

 เรา    จุฬาลงกรณ์    ปร     ได้มาเปิดโรง

 เรียนนี้         มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เหนการ

 ทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว      จะเปนที่มั่น

 สืบไปในภายน่า

 

 

 

 นายพลเรือตรี  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  

สันนิษฐานว่าทรงฉายเมื่อวันที่ ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๔๙   วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                                     

 

.  .  .  พวกเราทุกลำจำเช่นดอกประดู่    วันไหนวันดีบานคลี่พร้อมอยู่  .  .  .

 

 

ทรงจัดโครงสร้างการศึกษาสำหรับนายทหารสัญญาบัตร  -  กองโรงเรียนนายเรือ

          เสด็จในกรมฯ ได้ทรงกำหนดขั้นตอนสำหรับการศึกษาของนายทหารสัญญาบัตรขึ้น โดยทรงกำหนดหลักสูตรของโรงเรียนต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับนายทหารเรือ ตามแนวทางรับราชการด้วย

          เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน  การบริหาร และการปกครองบังคับบัญชาโรงเรียนนายเรือและโรงเรียนช่างกลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ ทางราชการจึงได้รวมการโรงเรียนทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน และตั้งเป็น กองบังคับการขึ้นใหม่ เรียกว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" คำว่า "กองโรงเรียนนายเรือ" จึงปรากฏใน ทำเนียบทหารเรือ ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และเพื่อขยายกิจการ ของโรงเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก  ได้ทรงดำเนินการจัดซื้อที่ดิน  ด้านหลังของโรงเรียนนายเรือ  ในขณะนั้น จนจรดคลอง วัดอรุณราชวราราม (เว้นทางหลวง)  ทรงสร้างโรงงานช่างกล สำหรับฝึกหัด นักเรียนช่างกล และได้สร้างโรงอาหาร สำหรับนักเรียนนายเรือ ต่อกันไปจากโรงงาน บริเวณนอกจากนั้น ให้ทำเป็นสนาม ซึ่งต่อมาพื้นที่บริเวณ สนามด้านหน้าวัด โมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด)  ก็ได้จัดสร้าง เป็นโรงเรียนจ่าขึ้น จึงทำให้บริเวณกว้างขวางขึ้นอีกมาก

 

เรือฝึก  -  เรือครู 
 

 

 

เรือยงยศอโยชฌิยา  
 

          เป็นเรือกลไฟ ขนาดกลาง มีเสาใบพร้อม แต่ทรงให้ติดพรวนชั้นต่ำขึ้นอีกเป็นพิเศษ และได้ให้นักเรียนขึ้นเสา  ลงเสา  กางใบ  ถือท้าย  ใช้เข็มทิศ  ทิ้งดิ่งและการเรือทุกชนิด เวลาใดที่มีคลื่นจัด เรือลำนี้ก็จะโคลง จึงทำให้นักเรียนทั้งหลาย เมาคลื่นไปตามๆ กัน แต่ทรงฝึกให้ บรรดานักเรียนทั้งหลาย หายเมาคลื่น โดยให้ขึ้นลงเสาจนชิน เพราะทรงถือว่า "ทหารเรือต้องเมาคลื่นไม่เป็น" การไปฝึกครั้งนี้ ได้ไปทางภาคตะวันออก ของอ่าวไทย จนถึงจังหวัดจันทบุรี ราวหนึ่งเดือนจึงกลับ ภายใต้การบังคับบัญชา ของพระองค์ท่าน และพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) ปรากฎผลว่านักเรียน มีความคล่องแคล่ว และเข้มแข็งในการเดินเรือเป็นอย่างดียิ่ง

 

  ทรงปลูกฝังจิตสำนึกแก่นักเรียนนายเรือ

          เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒  (พ.ศ.๒๔๓๖) นับเป็นเหตุการณ์ที่ชาติไทยถูกประเทศฝรั่งเศสใช้อำนาจบาทใหญ่ข่มขู่คุกคาม จนจำต้องสละดินแดนประเทศราช และเงินค่าปรับจำนวนมากให้ฝรั่งเศส  ขณะนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงเจริญพระชนม์เพียง  ๑๓  พรรษา  จึงทรงทราบและเป็นที่ฝังพระทัยในวิกฤติการณ์ครั้งนั้นอย่างยิ่ง   จึงทรงปลูกฝังจิตสำนึกนักเรียนนายเรือให้มีความรักชาติ และความสามัคคี   ด้วยการทรงนิพนธ์  เพลงปลุกใจ ซึ่งเพลงเหล่านั้น  ยังเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้ยิน  และยังทรงคุณค่า อยู่มิรู้คลาย

 

โรงเรียนพลทหาร

          นอกจาก ทรงพัฒนาการศึกษาของนายทหาร แล้ว  เสด็จในกรมฯ ยังทรงสนพระทัยการศึกษาของพลทหารที่ได้เรียกเกณฑ์เข้ามาด้วยเพื่อที่จะได้ฝึกหัดอบรม พลทหารเรือเหล่านั้น ให้ได้รับการศึกษาและ ยังทรงหวัง ที่จะให้เป็นหน่วยกำลังทหาร สำหรับ รักษาชายฝั่งทะเลอีกด้วย สิ่งก่อสร้างก็ดี กิจการต่างๆ ของแต่ละกองก็ดี ได้จัดทำขึ้นคล้ายคลึงกันและแล้วแต่ความเหมาะสม กับสถานที่ของหน่วยนั้นๆ และพระองค์ได้เสด็จ ไปทรงดูแลสั่งสอนทหาร ตามกองโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดเสมอ  

          โรงเรียนพลทหารที่ทรงตั้งขึ้นได้แก่

          วันที่ ๑๑  เมษายน  พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑   ที่จังหวัดสมุทรสงคราม

          วันที่ ๑๐  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๒   ที่จังหวัดสมุทรสาคร

          วันที่ ๑๕  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๔๙   ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๕  ที่ ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี และ

                                            ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๖ ณ ตำบลบ้านแพ จังหวัดระยอง และ

                                            ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๗ ที่ จังหวัดจันทบุรี

 

 อวดธง      Joint  Navy  To  See The  World

          และใน พ.ศ.๒๔๕๐  นั้นเอง   นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ที่เป็นนักรียนหลักสูตรใหม่ของเสด็จในกรมฯ ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ความรู้ ความสามารถ ในการเดินเรือ เป็นครั้งแรก   เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำ คณะนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ประมาณ ๑๐๐ คนไป "อวดธง" ที่สิงคโปร์ - ปัตตาเวีย - ชวา - และเกาะบิลลิทัน  โดย ร.ล.มกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑)

 

 

 

 

 

 

 

 

        ในการเดินทาง ไปต่างประเทศ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับเรือเอง พร้อมด้วยนักเรียน และทหารประจำเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น  ทรงให้นักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลฝึกหัดปฎิบัติการในเรือทุกอย่างเพื่อให้ชำนาญในการปฎิบัติหน้าที่ของตน   และรู้จักการใช้ชีวิตทหารเรืออย่างแท้จริง     การฝึกเดินเรือไปต่างประเทศครั้งนี้นับได้ว่าเป็นประวัติการณ์ของการทหารเรือไทย  ได้ทรงวางรากฐานการฝึก  ประเพณี และนิติธรรมชาวเรือ ซึ่งทหารเรือไทยได้ยึดถิอเป็นแนวทางปฎิบัติสืบมา  ดังนี้

 

            - ทรงวางระบบการฝึกทางทะเลเป็นมาตรฐาน ทั้งในวิชาการเรือ  การเดินเรือ  และดาราศาสตร์เดินเรือ   ฝึกให้ทรหดอดทนอย่างชาวเรือที่แท้จริง   การยกพลขึ้นบก  และเดินทางไกล

            - ทรงเปลี่ยนสีเรือหลวงจากสีขาว เป็นสีหมอก และใช้มาตราบทุกวันนี้

            - ทำให้นักเรียนนายเรือได้เห็นโลกกว้าง

            - ทำพิธีข้ามเส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวเรือทั่วโลกถือปฎิบัติเป็นประเพณี

            - ฝึกการใช้เสบียงในเรือเช่นเดียวกับที่ใช้ในราชนาวีอังกฤษสมัยนั้น 

 


๑๗  มิถุนายน  ๒๔๕๐

          ทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ตราเซนต์มอรีสและเซนต์ลาซาร์ ชั้นที่ ๑

 

๑๘  พฤศจิกายน  ๒๔๕๐

          ทรงได้รับพระราชทานเข็มเงิน เสด็จประพาสยุโรป  

 

โรงเรียนพลทหาร  (ต่อ)

          วันที่  ๑๘  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๕๑   ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔  ที่จังหวัดสมุทรปราการ 

          วันที่  ๒๐  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๕๑   ตั้ง กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๓  ที่จังหวัดพระประแดง

 

 ๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๔๕๒

          ทรงได้รับพระราชทานเข็มพระชนมายุสมมงคลชั้น ๑ ทองคำลงยา

 

 ๑๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๕๒

          ทรงได้รับพระราชทานเหรียญบุษปมาลากาไหล่ทอง

 

ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

          วันที่  ๒๓  ธันวาคม  ๒๔๕๓   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู๋หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ  ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

 

. . . วันนี้เคราะห์ดี  รุ่งขึ้นพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร . . .

                                                                                                                                                

                                                                                                       พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
                                                                 

                                                                                               วันที่   ๑๓  เมษายน    รัตนโกสินทร์ศก   ๑๓๐
 

ถึง  สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต

             ด้วยบัดนี้มามีเหตุปรากฎขึ้นว่า    มีนายทหารเรือผู้หนึ่งได้มีความกำเริบ  พูดจาใช้ถ้อยคำอวดอ้างท้าวเนื่องถึงอำนาจรัฐบาล   ทำให้เป็นที่เข้าใจประหนึ่งว่า   การที่พวกนายทหารเรือได้รับพระราชทานเงินเพิ่มค่าเดินทเลซึ่งคั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น   เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงเกรงกลัวพวกเขาจะก่อเหตุยุ่งเหยิงต่างๆ     ครั้นผู้บังคับบัญชาเรียกตัวมาไต่สวน  ยังให้การต่อไปอีกว่า    การที่ตนพูดเช่นนั้นหาใช่เปนความที่คิดขึ้นเองไม่  เปนแต่เก็บถ้อยคำที่ได้ยินนายทหารอื่นๆ พูดกันอยู่เมื่อครั้งออกไปซ้อมรบ ดังนี้

            ข้อนี้เปนพยานปรากฏอยู่ชัดว่า    พวกนายทหารเรือที่ได้ศึกษาจากโรงเรียนนายเรือมีความอิ่มเอิบกำเริบใจจนไม่รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน  มีความมัวเมา ไปด้วยกำลังโมหะจริตแห่งตน  เข้าใจเสียว่า  ตนเป็นผู้มีวิชา แลมีความสามารถต่างๆ จนพระเจ้าแผ่นดินและรัฐบาลก็ต้องยำเกรงอำนาจพวกเขาประสงต์สิ่งใดก็ต้องยกให้ทุกสิ่ง  การที่คนหนุ่มหมู่ใหญ่จะอิ่มเอิบกำเริบใจได้ถึงเพียงนี้   ถ้าแม้ผู้มีน่าที่ฝึกสอน แลผู้ที่คนหนุ่มเหล่านี้นิยมนับถืออยู่นั้นมิได้ละเลยเพิกเฉยเสียคงจะไม่เปนไปได้ถึงเพียงนี้   นี่เพราะผู้ที่ฝึกสอนแลเปนใหญ่ปกครองละเลยไม่กำหราบศิษย์อันมีจิตร์ฟุ้งสร้าน   ศิษย์จึ่งมีความละเลิงใจ   โดยเข้าใจเสียว่า  ตนประพฤติเช่นนั้นเปนที่ถูกอัธยาไศยของผู้ใหญ่    ก็เหมือนหนึ่งผู้ใหญ่ให้ท้ายส่งเสริมให้ผู้น้อยฮึกเหิมต่างๆ    ธรรมดาทหารต้องถือว่า  ตนเปนข้าพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงทุกๆ คน  ไม่ใช่เปนบ่าวมีนายอีกชั้น ๑   จะแสดงให้ปรากฏด้วยกาย ฤาด้วยวาจา ว่าตนนิยมนับถือผู้อื่นยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดิน   ฤาจะเห็นแก่กิจของผู้อื่นก่อนราชการ  ไม่ได้เลย    การที่ทหารจะตั้งตนขึ้นเปนก๊กเปนเหล่า  อันนับถือสหายยิ่งกว่าเจ้านั้น   ถ้าแม้ปล่อยให้เปนไปได้ก็จะต้องนำความฉิบหายมาสู่ชาติเปนแน่แท้
 

            นายพลเรือตรี  พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  เปนผู้มีน่าที่ฝึกสอนและบังคับบัญชานักเรียนนายเรือ   เมื่อนายทหารที่ได้ศึกษามาแล้วในสำนักนั้น   ได้มาพากันอิ่มเอิบกำเริบใจไป ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้    ปรากฏชัดว่า ได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี  ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัย และนามของทหาร   ไม่รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน   นับว่าประพฤติไม่ชอบด้วยราชการอย่างยิ่ง    สมควรที่จะลงโทษให้เปนตัวอย่างแก่นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อย     แต่กรมหมื่นชุมพร  ได้กระทำราชการเปนประโยชน์มาแล้วหลายประการ    นับว่ามีความชอบอยู่บ้าง   เพราะฉนั้น   ในครั้งนี้ยกโทษอื่นๆ ให้ทั้งสิ้น   เปนแต่ให้ออกเสียจากตำแหน่งน่าที่ราชการประจำ ให้เปนกองหนุนรับเบี้ยหวัดอย่างนายทหารกองหนุนตามระเบียบราชการสืบไป  แต่บัดนี้

          ให้เสนาบดีกระทรวงทหารเรือเชิญกระแสพระบรมราชโองการอันนี้แจ้งแก่นายทหารชั้นสัญญาบัตรให้ทราบทั่วกัน   อย่าให้ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงไสย ฤาเข้าใจผิดในเรื่องราวทั้งปวงได้ต่อไปอีกเลย  เปนอันขาด

                                 (พระปรมาภิไธย)    วชิราวุธ  ป.ร.

 

 ๓๐  มกราคม  ๒๔๕๓

          ทรงได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๒

 

๑๔  สิงหาคม  ๒๔๕๔

          ทรงได้รับพระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม

 

นายทหารกองหนุนรับเบี้ยหวัด - ขาดจากเบี้ยหวัด

          วันที่    กันยายน  ๒๔๕๔   กระทรวงทหารเรือได้ออกคำสั่งให้  เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนายทหารเรือกองหนุนรับราชการในกระทรวงอื่น  กรมอื่น ฯลฯ  จึงให้ขาดเบี้ยหวัดทางกระทรวงทหารเรือ 

 

ทหารเรือ - เสือป่า

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา กองเสือป่า ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๕๔

          เสด็จในกรมฯ ทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองเสือป่า และทรงได้รับพระราชทานพระยศเสือป่า ดังนี้  

                      ๕   กรกฎาคม  ร.ศ.๑๓๐               นายหมู่เอก             

                    ๑๔   สิงหาคม   ร.ศ.๑๓๐                นายหมู่ใหญ่                                    

                    ๓๐   กันยายน   ร.ศ.๑๓๐                นายกองตรี

                    ๑๗   กุมภาพันธ์   ร.ศ.๑๓๐             นายกองโทป่า 

           ในช่วงที่ทรงเป็นเสือป่า นี้ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงกิจกรรมของเสือป่าทุกประการ  เช่น ทรงเข้าร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม   ทรงร่วมในการประลองยุทธเสือป่า  เป็นต้น

          ในวันที่  ๑๗  มิถุนายน  ร.ศ.๑๓๐  ได้มีการตราข้อบังคับเสือป่า  ว่าด้วยกองหนุนและกองนอก    ทรงพ้นจากสมาชิกสามัญในกองเสือป่า  เป็นสมาชิกเสือป่ากองหนุน  เนื่องจาก ทรงเป็นผู้ที่ได้รับความฝึกหัดในทางเสือป่ามีความรู้พออยู่แล้ว    

               ๒๒   กรกฎาคม  ร.ศ.๑๓๐             ได้รับพระราชทานธงประจำพระองค์นายเสือป่าชั้นสัญญาบัตร   ซึ่งพื้นธงเป็นสีแดงชาด  ลายในธงเป็นรูป  พระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์  มีเทพบุตรเป็นสารถี  ด้านบนมีภาษิตว่า  กยิราเจ  กริยาเถนํ  

            ๒๕   พฤศจิกายน  ร.ศ.๑๓๐          ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์พิเศษในกองเสือป่า

 

หมอพร

          ในช่วงที่ทรงเป็นนายทหารเรือกองหนุน ทรงสนพระทัยในวิชาแพทย์ จึงทรงฝากพระองค์เป็นศิษย์พระยาพิษณุประสาทเวช  หัวหน้าหมอหลวงฝ่ายยาไทย   ทรงศึกษา และทดลองอย่างจริงจัง  จนทรงสามารถชำระตำรายาไทยแต่โบราณและทรงเขียนลงในสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๕๘  ทรงตั้งชื่อตำรายาไทยสมุดข่อยนี้ ว่า  คัมภีร์อติสาระวรรคโบราณกรรมและปัจจุบันกรรม และยังทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  จนเป็นที่นับถือ ชื่นชม และเทิดทูนรักใคร่ของคนทั่วไป  และโปรดให้เรียกพระองค์ว่า "หมอพร"

 

 

 

ห้องทดลองของ "หมอพร"

 

 

 

 คัมภีร์อติสาระวรรคโบราณกรรมและปัจจุบันกรรม

 

มหายุทธสงคราม - ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม - เรือพระร่วง

          เดือนสิงหาคม  ๒๔๕๗  เกิดมหายุทธสงครามขึ้นในทวีปยุโรป

          การเกิดมหายุทธสงครามดังกล่าว  แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย  แต่ก็เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะไม่ลุกลามมาถึงประเทศไทยทางบก  แต่ในทางทะเลนั้นคู่สงครามทั้งสองฝ่ายต่างมีขีดความสามารถ และอำนาจทางทะเลที่จะทำให้เหตุการณ์ลุกลามไปได้อย่างกว้างขวาง    จึงได้เกิดความคิดขึ้นในกลุ่มข้าราชการและประชาชนว่า ไทยเราถึงจะเป็นประเทศเล็กๆ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือไว้ ปกป้องรักษาผลประโยชน์ และป้องกันราชอาณาจักรทางทะเลไว้บ้าง   และเครื่องมือดังกล่าวก็คือ "เรือรบ"  และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เกิดความภาคภูมิใจว่าได้มีส่วนร่วมในการป้องกันราชอาณาจักรโดยตรง  จึงเห็นสมควรจัดตั้งเป็นสมาคมรับบริจาคทรัพย์จากประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปซื้อเรือรบ ดังกล่าว    จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม  - The Royal Navy League of Siam  ขึ้น  เมื่อ วันที่  ๕  พฤศจิกายน  ๒๔๕๗   โดยมีมหาอำมาตย์เอก  เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร  เป็นสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีและรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์  พระราชทานนามเรือนี้ว่า "พระร่วง" และทรงเป็นกำลังสำคัญในการประชาสัมพันธ์ และดำเนินการหาทุนในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง  เช่น ทรงแก้ไขบทละครเรื่อง มหาตมะ  และโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเพื่อหารายได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจ้งหวัด  รวมทั้งการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ อีกด้วย  ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวน  ๘ หมื่น บาท  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕  พระราชทาน  ๔ หมื่นบาท 

 

 

  มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร   สภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม

 

          สมาคมฯ เริ่มการประชาสัมพันธ์ และรับบริจาค ตั้งแต่  วันที่  ๑  ธันวาคม  ๒๔๕๗   จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติฯ เมื่อ  ๒๘  ธันวาคม  ปีเดียวกันนั้น   รวมเงินที่ได้รับบริจาคจากพระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชนทุกสาขาอาชีพ  รวมทั้งสิ้น   ๓,๕๑๔,๖๐๔  บาท  ๑ สตางค์

 

 

 เข็มราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม

 

ไทยกับมหายุทธสงคราม  

 

 

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสงครามกับ  เยอรมนี  ออสเตรีย - ฮังการี

๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐

 

ดาบของชาติ

                                                           ๐  ดาบของชาติเล่มนี้                    คือชี-    วิตเรา

                         ถึงจะคมอยู่ดี                                                        ลับไว้

                         สำหรับสู้ไพรี                                                       ให้ชาติ    เรานา

                         ให้มิตรให้เมียให้                                                  ลูกแล้ชาติไทย

 เพลง ดาบของชาติ   เนื้อร้อง - ทำนอง  พระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 

ทหารเรือกับมหาสงคราม

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี และเอ๊าสเตรีย - ฮุงการีแล้ว ก็ได้ทรงจัดแบ่ง มอบหมายงานต่างๆ ที่จะต้องกระทำ โดยฉับพลัน ให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ รับผิดชอบกระทำในฉับพลันทันที   ในส่วนกระทรวงทหารเรือนั้น มีหน้าที่ ในการจับกุม และ ยึดทรัพย์ เชลยทางน้ำ รวมทั้ง การตรวจตรา รักษาชายฝั่งทะเลของไทย    เมื่อจับยึด มาได้แล้ว ให้มอบตัวเชลย และ ทรัพย์สิน ที่ยึดได้ มาจากเรือสินค้า เหล่านั้น ให้อยู่ในความควบคุม ดูแล รักษา ของทหารบก

          ในระหว่างสงครามนั้น มีเรือสินค้าของฝ่ายเยอรมนีหลบหลีกเรือรบสัมพันธมิตรเข้ามาจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาหลายลำ     ในขณะที่ ประเทศไทยประกาศสงคราม กับ เยอรมนีนั้น  มีเรือของเยอรมนี และ พันธมิตรของเยอรมนีเข้ามาหลบภัยอยู่หลายสิบลำ    และในบริเวณใกล้ๆ อ่าวไทย ก็มีอยู่มาก

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมอบภารกิจในการจับยึดเรือในน่านน้ำไทย  แก่นายพลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ การจับยึดเรือ และ ทรัพย์สินเชลยทางน้ำ ได้จัดกำลัง จากนายทหารเรือไทยที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายช่างกล โดยมี นายนาวาตรี หลวงหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) เป็นผู้บังคับบัญชา เข้าปฏิบัติการในแม่น้ำเจ้าพระยา  สามารถจับยึดเรือชาติศัตรูได้จำนวน ๒๕ ลำ  จับเชลยได้ ๑๔๐ คน   ซึ่งการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          หลังจากยึดเรือเชลยแล้วทหารเรือยังได้จัดให้มีการลาดตระเวนอ่าวไทย ด้วยเรือรบซึ่งมีนายทหาร และพลประจำเรือ ล้วนแต่ เป็นคนไทย ทั้งสิ้น เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจนี้

          นับได้ว่า ที่นายทหารเรือไทยที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ และ โรงเรียนนายช่างกล ได้ร่วมในงานพระราชสงครามสงครามเป็นครั้งแรก

 

เจ้ากรมจเรทหารเรือ

          ๑  สิงหาคม  ๒๔๖๐   มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้   นายพลเรือตรี  พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ  กระทรวงทหารเรือ

 

๒๑  กันยายน  ๒๔๖๐

          กระทรวงกลาโหม  ประกาศเรียกพลอาสา  เพื่อจัดตั้งกองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป

 

นายพลเรือโท

          ๓๐  ธันวาคม  ๒๔๖๐   ทรงได้รับพระราชทานยศ เป็นนายพลเรือโท

 

 

 

นายพลเรือโท  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์  

สันนิษฐานว่าทรงฉายระหว่าง  พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๖๒

 

เสนาธิการกระทรวงทหารเรือ

          ๑๕  มกราคม  ๒๔๖๐   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ

 

 ทหารเรือ  -  ส่งกองทหารซึ่งไปงานพระราชสงคราม

 

          ๑๙  มิถุนายน  ๒๔๖๑     กองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามเดินทางจากประเทศสยาม

 

          เสนาบดีกระทรวงทหารเรือมีรับสั่งให้ทหารเรือ จัดเรือแจว เรือพาย  อีกทั้งเรือกลไฟลำเลียงทหารมาจอดคอยอยู่พร้อมมูลแล้ว   และได้ทรงสอดส่องสั่งการในเรื่องลำเลียงทหารให้เป็นที่เรียบร้อยด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         ทางกองใหญ่ที่  ๑  ที่  ๓   กองบินทหารบกได้ลงเรือกล้าทเล  ฯลฯ  ส่วนทหารในกองทหารบกรถยนคร์กับกองใหญ่ที่  ๒  กองบินทหารบกนั้น ได้ลงเรือศรีสมุท  มีนายร้อยเอกหลวงรามฤทธิรงค์  เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา    ในเรือลำนี้นายพลเรือโท  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์  

          การลำเลียงทหาร ลงเรือ เสร็จเรียบร้อย ภายในเวลา ๐๖.๐๐ น. ของวันนั้น   ขบวนเรือราชนาวีสยามนำกองทหารอาสาไปส่งขึ้นเรือเอ็มไพร์ที่เกาะสีชัง

 

  เรือเอ็มไพร์ เป็นเรือของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเช่ามาสำหรับลำเลียงทหารไทยไปงานพระราชสงคราม  (ขวา)

 

๒๓ กรกฎาคม ๒๔๖๑  

          ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาโยธินรามาธิบดี

 

๒๖  กันยายน  ๒๔๖๑ 

          นายพลเรือโท  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์  เสนาธิการทหารเรือทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรืออีกตำแหน่งหนึ่ง

 

๓๐  ธันวาคม  ๒๔๖๑

          ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑

 

นายพลเรือเอก

          ๒๓  เมษายน  ๒๔๖๓  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ นายพลเรือเอก

 

 

 

 

          ต่อมา   เสด็จในกรมฯ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป   พร้อมด้วยนายทหารอีก  ๖ นาย  เพื่อช่วยเหลือพระองค์ในการตรวจตัวเรือ  และเครื่องจักรของเรือที่จะซื้อ

 

H.M.S. RADIANT  -  ร.ร.ล.พระร่วง

          คณะข้าหลวงพิเศษชุดนี้พิจารณาคัดเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด ของบริษัท ธอร์นิครอฟท์  ประเทศอังกฤษ เริ่มสร้างตั้งแต่เดือน ธันวาคม  ๒๔๕๘   ลงน้ำเมื่อ  เมื่อวันที่  ๕  พฤศจิกายน  ๒๔๕๙   แล้วบริบูรณ์เมื่อ   เดือนกุมภาพันธ์  ๒๔๖๐  ชื่อ "เรเดียนท์"  RADIANT  เห็นว่าเหมาะแก่ความต้องการของกองทัพเรือ   จึงตกลงซื้อเรือนี้เป็นเงิน  ๒ แสน ปอนด์   ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อเรือนั้น  ได้พระราชทานให้กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย 

 

 

เรือพระร่วง

 

           สมรรถนะเรือพระร่วง  ระวางขับน้ำ   ๑,๐๔๖  ตัน    ความยาวตลอด  ๘๓.๕๗  เมตร    ความกว้างสุด  ๘.๓๔  เมตร   กินน้ำลึก  ๔  เมตร   

          ส่วนเขี้ยวเล็บนั้น มีปืนขนาด  ๑๐๒  มม.  จำนวน  ๓  กระบอก   ขนาด  ๗๖  มิลลิเมตร  อีก  ๑ กระบอก     ต่อมาได้ติดปืนขนาด   ๔๐  และ  ๒๐  มิลลิเมตร  เพิ่มเติมอีกขนาดละ  ๒  กระบอก  มีตอร์ปิโดขนาด  ๒๑  นิ้ว จำนวน  ๔  ท่อ   มีรางปล่อยระเบิดลึก  และมีแท่นยิงระเบิดลึก อีก  ๒  แท่น  

          เครื่องจักรไอน้ำแบบ บี.ซี.เกียร์ เทอร์ไบน์  จำนวน  ๒ เครื่อง  ใบจักรคู่  กำลัง  ๒๙,๐๐๐  แรงม้า   ความเร็วสูงสุด   ๓๕  นอต  ความเร็วมัธยัสถ์  ๑๔  นอต   รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์  ๑,๘๙๖  ไมล์  พลประจำเรือ   ๑๓๕ นาย

           เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ  นำเรือพระร่วงเดินทางกลับประเทศไทย  ออกจากอังกฤษเมื่อ  วันที่  ๒๓  กรกฎาคม  ๒๔๖๓    ใช้เส้นทาง    ผ่านช่องยิบรอลตา - เข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน - เข้าคลองสุเอซ - ทะเลแดง - ตัดทะเลอาหรับ มุ่งสู่อินเดีย  ถึงบอมเบย์  ๖  กันยายน - ถึงโคลัมโบ เกาะลังกา  ๙  กันยายน - เข้าช่องมะละกา - อ้อมแหลมมลายู - ถึงสิงคโปร์  ๑๖  กันยายน - เข้าอ่าวไทย 

          เรือพระร่วงข้ามสันดอนเข้าทอดสมอที่หน้าจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่  ๗  ตุลาคม  ๒๔๖๓   กรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามฯ ทั้งคณะ  นครบาลจังหวัด ประชาชนราษฎร ได้มีการรื่นเริงรับรอง  จุดประทีป โคมไฟและผูกผ้าสีตามสถานบ้านเรือนเรือแพ แสดงความชื่นชมยินดี  มีการเจริญพระพุทธมนต์  และมหรสพฉลองเรือพระร่วงตั้งแต่เวลาเข้ามาถึงจนรุ่งเช้า

          เนื่องจากเรือพระร่วงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพีธีฉลองเป็นการหลวง   ให้มีละครหลวง  และพระราชทานเลี้ยงอาหารที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังเป็นการทรงยินดีด้วย

          ๘  ตุลาคม  ๒๔๖๓     เรือพระร่วงเดินจักรเข้าสู่พระมหานคร  

                    เวลา  ๑๖๓๐  เข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ์ เจ้าพนักงานวงสายสิญจน์จากมณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยไปยังเรือพระร่วง

                    เวลา  ๑๗๓๐  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถยนต์พระที่นั่งจากวังพญาไท  มาประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย  ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีลแล้ว  พระสงฆ์  ๒๐  รูป มีพระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นต้น  เจริญพระพุทธมนต์  สมเด็จพระมหาสมณะเสด็จมาเฝ้าประทับเป็นประธานสงฆ์ และได้ทรงผูกมนต์สำหรับเรือ "พระร่วง"ขึ้นถวาย  พระสงฆ์ได้สวดมนต์ด้วย 

          ๙  ตุลาคม  ๒๔๖๓

                    เวลา   ๑๖๔๕  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถยนต์พระที่นั่งจากวังพญาไทมาประทับพระที่นั่งชุมสายที่ศาลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยท่ามกลางสมาคมพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย พร้อมด้วยกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม และประชาราษฎร์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท    เจ้าพระยาอภัยราชาฯ  สภานายกกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามกราบบังคมทูลพระกรุณา บรรบายประวัติสมาคมตั้งแต่ต้น จนได้เรือ "พระร่วง" มาถวายเป็นเรือรบหลวง  และอัญเชิญเสด็จสู่เรือ "พระร่วง" ให้เป็นศิริสวัสดิมงคล

 

 

 

เจ้าพระยาอภัยราชาฯ  สภานายกกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามกราบบังคมทูลฯ ถวายเรือ "พระร่วง"

 

 

                    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ สิ้นพระกระแสเสร็จ   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมหาวชิรมงกุฎแก่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ   แล้วเสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย   ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ  ทรงศีล แล้วเสด็จสู่เรือ "พระร่วง"  ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมที่หัวเรือ "พระร่วง" เป็นฤกษ์   เจ้าพนักงานลั่นฆ้องไชย  และประโคมแตรสังข์พิณพาทย์   พระสงฆ์   ๒๐  รูป  เจริญไชยมงคลคาถา   ทหารบรรเลงแตรสรรเสริญพระบารมี  ประชาชนโห่ร้องถวายไชย   โหรผูกผ้าสีชมพู และชักธงฉานขึ้นที่หัวเรือ     โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานทหารเรือใช้เตรื่องจักรเคลื่อนเรือ "พระร่วง" ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา  กลับลำที่เหนือท่าเรือยนตร์หลวงแล่นล่องลงไปถึงบางคอแหลม   กลับขึ้นมาเทียบท่าราชวรดิษฐ์ดังเดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

  เรือหลวงพระร่วง

ขณะเทียบท่าราชวรดิษฐ์ในการพระราชพิธีฉลองเป็นการหลวง   (ซ้าย)

กลับลำที่เหนือท่าเรือยนตร์หลวง   (ขวา)

 

 

 

 

 

 

 

 

 แล่นล่องลงไปถึงบางคอแหลม    กลับขึ้นมาเทียบท่าราชวรดิษฐ์ดังเดิม 

 

 

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นจากเรือ "พระร่วง" ประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยทรงประเคนวัตถุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์  ๒๐ รูป   พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา และสวดมนต์สำหรับเรือ "พระร่วง"  สมเด็จพระมหาสมณะถวายอดิเรก  พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ถวายพระพรลา   

                    เวลา  ๑๙๔๕  ประทับรถยนตร์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

                    เวลา  ๒๑๐๐   เสด็จพระราชดำเนินประทับ  ณ ศาลาสหทัยสมาคม เสวยพระกระยาหาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และทูลละอองธุลีพระบาทที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมารับพระราชทานเลี้ยง    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรไชยมงคล   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ  ทรงยกย่องจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  และจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต  ซึ่งได้ทรงเอื้อเฟื้อในราชการทหารเรือ   จนกิจการของกระทรวงทหารเรือดำเนินขึ้นสู่ตวามเจริญทันสมัย    และทรงยกย่องนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ได้ทรงนำเรือ "พระร่วง"  มาสู่กรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ    เมื่อสิ้นกระแสร์พระราชดำรัสแล้วทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการให้อวยพรให้ราชนาวี    เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งทอดพระเนตรการมหรสพที่ท่าราชวรดิษฐ์ . . .  ฯลฯ  . . .  พอได้เวลาอันสมควรเสด็จพระราชดำเนินกลับวังพญาไท

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ๑๐  ตุลาคม     เวลาค่ำกระทรวงทหารเรือได้มีการเลี้ยงในการฉลองเรือ "พระร่วง" ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย

               เวลา  ๒๑๐๐  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยประทับโต๊ะเสวยพระกระยาหารพร้อมด้วยผู้ที่ได้รับเชิญ . . . ฯลฯ . . .  พอได้เวลาอันสมควรเสด็จพระราชดำเนินกลับวังพญาไท

 

 

  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

          ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๓  มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ขึ้นเปน กรมหลวง    มีพระนามตามจารึกในสุพรรณบัฎว่า

พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์   สิงหนาม  ทรงศักดินา  ๑๕๐๐๐ 

 

 

 

 

 

 

 

 

๑๐  พฤศจิกายน  ๒๔๖๔

          ทรงได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖  ชั้นที่ ๑

 

๓๐  ธันวาคม  ๒๔๖๔

          ทรงได้รับพระราชทานตรารัตนาวราภรณ์

 

อากาศนาวี  -  กองบินทหารเรือ 

          ในการประชุมสภาบัญชาการทหารเรือ ครั้งที่  ๓   เมื่อ   ๒๓  พฤศจิกายน  ๒๔๖๔   เสด็จในกรมฯ ขณะเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ  ได้ทรงเสนอที่ประชุมสรุปได้ว่า สมควรเริ่มตั้งกองบินทะเลขึ้น ใน พ.ศ.๒๔๖๕   โดยใช้สัตหีบเป็นถาน(ฐาน)  และควรเริ่มตั้งต้นซื้อเครื่องบินทะเลเพียง  ๒  ลำก่อน   กับควรให้นายนาวาเอก พระประดิยัตินาวายุทธ  ซึ่งกำลังดูงานอยู่ในยุโรปขณะนั้น  ดูระเบียบการจัดเครื่องบินทะเลไว้ด้วย   สำหรับนักบินนั้น ควรเลือกนายทหารที่เหมาะสมไปฝากฝึกหัดบินที่ "กรมอากาศยานทหารบก"  

          และในการประชุมฯ ครั้งที่  ๔   เมื่อ  ๗  ธันวาคม  ๒๔๖๔  สภาฯ ก็ได้มอบให้เสด็จในกรมฯ ทรงจัดทำโครงการในเรื่องนี้ต่อไป

          กองบินทะเล ตามที่เสด็จในกรมฯ ทรงเสนอนี้  ได้พัฒนาเป็น กองบินทหารเรือ  ในปัจจุบัน  และได้ถือเอาวันที่  ๗  ธันวาคม  ๒๔๖๔  เป็นวันสถาปนาหน่วย  และถือว่า  พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  เป็นองค์บิดาแห่งการบินนาวีด้วย

 

๑๐   กรกฎาคม   ๒๔๖๕

          ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดันเนบรอค  ชั้นที่ ๑  จากพระเจ้ากรุงเดนมาร์ค         

 

๑๓   มีนาคม   ๒๔๖๕

          ทรงได้รับพระราชทานเหรียญจักรมาลา

          เหรียญราชินี   นพรัตน์ราชวราภรณ์   มหาจักรีบรมราชวงศ์

 

เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

          ๑  เมษายน  ๒๔๖๖    มีพระบรมราชโองการฯ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า    พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ผู้ทำการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้รับราชการในน่าที่ผู้แทนเสนาบดีเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา สมควรจะเปนเสนาบดีได้     จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  เปนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ  รับราชการสนองพระเดชพระคุณ

 

สัตหีบ  -  เหมาะแก่การสร้างเป็นฐานทัพเรือ

          เสด็จในกรมฯ ทรงพระดำริว่าพื้นที่บริเวณตำบลสัตหีบ   มีลักษณะภูมิประเทศเหมาะที่จะสร้างเป็นที่มั่นสำหรับกิจการทหารเรือ   เนื่องจาก  พื้นที่กว้างขวางสามารถก่อสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก ได้  และยังมีอ่าว  และเกาะต่างๆ  หลายเกาะ   เหมาะแก่การฝึกทางเรือ  และซ้อมยิงอาวุธได้ดี  จึงได้ขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพเรือ   ดังนี้

 

                                                                                                                            กรมเสนาธิการณ์ทหารเรือ

                                                                                             วันที่    ๖   กันยายน   พระพุทธศักราช   ๒๔๖๕

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

          ตามหลักของยุทธศาสตร์ทางทหารเรือ ซึ่งกล่าวถึงฝึกหัดบำรุงความชำนิชำนาญในทางทะเล ก็ย่อมยึดถือการอยู่ทะเลเป็นการใหญ่ ตลอดถึง การรวมทัพ ก็ดี ย่อมจะยึดถือ ไชยภูมิที่เหมาะ ในเขตร์นั้น ที่จะทำการเปนถานทัพได้ เปนหลักอีกส่วนหนึ่ง  จึงทำให้ นายทหาร พรรคนาวิน ทั้งสิ้นแม้แต่ เป็นชาวต่างประเทศ ก็ย่อมเห็นด้วยพร้อมกันว่า สำหรับประเทศสยามมีอยู่แห่งเดียวที่ควรเป็นหลัก เช่นนี้ได้ ก็คือ ที่อ่าวสัตหีบ ซึ่งมีคุณแลโทษดังต่อไปนี้

          ๑. อยู่เป็นสถานกลางของอ่าวสยาม

          ๒. เป็นต้นทางของ   VITAL POINT   คือแม่น้ำเจ้าพระยาดังแผนที่  A

          ๓. น้ำลึกพอที่จะเป็นอ่าวเรือใหญ่ หรือที่ฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้

          ๔. มีเกาะต่างๆ เป็นที่กำบังสำหรับเล็ดลอดออกกระทำการยุทธวิธีด้วยเรือเล็กได้สะดวก

         ๕. ที่บนบกไม่ได้ตกเป็นสิทธิ์ขาดของผู้หนึ่งผู้ใด โดยทรงพระมหากรุณาให้เทศาภิบาลหวงห้ามไว้ เป็นพระคุณแก่ทหารเรืออย่างยิ่ง

          ๖. ทางบก มีทางติดต่อกับรถไฟสายปราจีณได้สะดวกไม่ต้องกลัว  Isolation

          ๗. โดยข้อ ๖ นั้นเองอาจติดต่อกับกำลังทางทหาร และเป็นปีกหนึ่งของกองทัพบก ฝ่ายตะวันออกได้สะดวก

          ๘. เป็นที่ฝึกหัดทางทะเลได้ ตลอดทั้งสองมรสุมโดยเป็นที่กำบังมิดชิด

โทษ  

          ๑. ในเวลานี้ยังไม่มีที่ขังน้ำจืด

          ๒. ในเวลานี้ยังกันดารด้วยเสบียงอาหาร

          ๓. ในเวลานี้ยังห่างจากคมนาคม กับกรุงเทพฯ คือยังไม่มีรถไฟ

          ๔. ถ้าจะให้เป็นที่มั่น จะเปลืองค่าป้อมและเครื่องกัน ในข้อนี้ไม่ว่าที่ใดที่เป็นฐานทัพแล้ว ต้องป้องกันทั้งสิ้น

          ๕. ในชั้นต้นนี้จะจัดเป็นฐานทัพยั่งยืนไม่ได้ โดยไม่มีทุนพอที่จะสร้างในเร็ววัน

          ๖. เวลานี้ความไข้ชุกชุมมาก เพราะเป็นที่รกร้างโดยไม่มีใครจะถากถาง เพราะยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนไม่ได้

ฯลฯ

 

          ตามที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา มาแล้วนี้ ก็หวังอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อพระราชทานสิทธิ์ แก่กระทรวงทหารเรือ ให้มีอำนาจอนุญาต ผู้ที่จะจับจองทำไร่ ทำนาและถากถางตามควร ซึ่งไม่เกินขีดขั้นพระราชบัญญัติ การตัดไม้ ส่วนที่หวงห้ามแท้นั้น ก็จะได้เปิดใช้เช่าทำโดยคิดราคาย่อมเยา   ในปีแรกๆ เห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า คงจะมีผู้เช่าน้อย แต่ต่อไปสัก ๓ ปี เมื่อราษฎร ได้รับความสะดวก และเห็นผลจริงจังขึ้น กับทั้งนี้กองทหารไปตั้งก็จะชักชวนกันมาทำทวีมากขึ้น ความไข้ก็จะเสื่อมทราม โดยการถากถางเรียบราบลง   เมื่อได้ถึงขั้นนี้แล้ว ทหารเรือคงจะก่อสร้างฐานทัพได้ ทั้งจะเป็นประโยชน์ ในการประหยัดพระราชทรัพย์ด้วย    ในระหว่างนี้ คงทำแต่เพียงโรงเรือน พออาศัยชั่วคราวขึ้นก่อน เพื่อตั้งที่ทำการสรรพาวุธ พัสดุ เชื้อเพลิง และหาวิธีขังน้ำรับประทาน และขุดบ่อน้ำใช้การ ที่หลังทุ่งไก่เตี้ยก่อน   ดังได้สำรวจแล้ว ในแผนที่ว่าเป็นบึงตื้นๆ การทั้งนี้จะสำเร็จลงได้ ก็ต้องอาศัยการประหยัดทรัพย์สินของทหารเรืออย่างอุกฤษฐ์   โดยที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา มาในหนังสือของข้าพระพุทธเจ้า ฉบับก่อนนี้แล้ว   ซึ่งแม้จะได้กล่าวถึง โรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ยังหาได้กราบบังคมทูล กำหนดที่จะเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔ และที่ ๖ ไม่ ที่รอไว้ ก็เพื่อจะประสมรอย กับการที่สัตหีบนี้

          ถึงแม้ยังไม่เป็นที่แจ่มแจ้งอย่างไรโดยความเขลาของข้าพระพุทธเจ้า   ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศอธิบายด้วยปาก พร้อมกับแผนที่ อีกชั้นหนึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดกระหม่อม

                                                       ข้าพระพุทธเจ้า

                                                                                                                อาภากร  ขอเดชะ

                                                                                                    นายพลเรือเอก เสนาธิการทหารเรือ
 

 

สัตหีบเปนฐานทัพเรือ - ตรงตามความปรารถนา ของเราอยู่แล้ว

          ในวันที่  ๑๖  กันยายน  ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชกระแส  ดังนี้

                    การที่จะเอาสัตหีบเปนฐานทัพเรือนั้น ตรงตามความปรารถนา ของเราอยู่แล้ว, เพราะที่เราให้สั่งหวงห้ามที่ดินไว้ ก็ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้น, แต่เมื่อเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้เป็นฐานทัพเรือ และไม่อยากให้โจทย์กันวุ่น, จึงได้กล่าวไว้ว่าจะต้องการที่ไว้ทำวัง, สำหรับเผื่อจะมีผู้ขอจับจอง ฝ่ายเทศาภิบาล จะได้ตอบไม่อนุญาต ได้โดยอ้างเหตุว่า "พระเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์" เมื่อบัดนี้ทหารเรือจะต้องการที่นั้น ก็ยินดีอนุญาตให้

                                                                                                           (สั่งไปทาง มหาดไทยด้วย)

                                                                                                                    (พระนาม)  ราม ร.
 

 

 

          เนื่องจากเสด็จในกรมฯ ทรงมีพระสุขภาพไม่สมบูรณ์ และประชวรด้วยพระโรคภายในอยู่ด้วยแล้วจึงทรงกราบถวายบังคมลาราชการเพื่อรักษาพระองค์  ตั้งแต่วันที่  ๑๗  เมษายน  ๒๔๖๐    ทั้งนี้  กระทรวงทหารเรือได้จัดเรือหลวงเจนทะเลถวายเป็นพาหนะ  พร้อมทั้งจัดนายแพทย์ พร้อมพยาบาล ตามเสด็จด้วย 

 

 

 

  เรือหลวงเจนทะเล

 

ไข้หวัดใหญ่ . . .  ที่หาดทรายรี

          เสด็จในกรมฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯ  เมื่อ  ๒๑  เมษายน  ๒๔๖๖   เสด็จไปประทับ ณ   หาดทรายรี  ด้านใต้ปากน้ำชุมพร    ระหว่างประทับพักรักษาพระองค์ที่เมืองชุมพรนี้  ได้ประชวรไข้หวัดใหญ่   

 

๑๙   พฤษภาคม   ๒๔๖๖,๑๑๔๐

 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๐  วันที่  ๒๗  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๖๖   หน้า ๕๖๑ - ๕๖๒

       ความว่าด้วย นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องคมนตรี เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ประชวรกระเสาะกระแสะมานานได้กราบถวายบังคมลาเสด็จออกไปรักษาพระองค์ยังมณฑลสุราษฎร์ และได้มีพระโรคไข้พิษเกิดขึ้น แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวายโดยเต็มกำลัง พระอาการหาคลายไม่   

          ครั้นถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พระโรคกำเริบหนัก เวลา ๑๑ นาฬิกา ๔๐ นาที ก่อนเที่ยง  สิ้นพระชนม์ ณ ที่ประทับพัก  ตำบลหาดทรายรี  จังหวัดชุมพร พระชนมพรรษานับเรียงปีได้ ๔๔    วันอาทิตย์ที่ ๒๐   พฤษภาคม เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพเสด็จกลับโดยเรือเจนทะเลสู่กรุงเทพมหานคร แล้วเปลี่ยนเรือเชิญพระศพลงสู่เรือพระร่วงที่บางนาแล่นขึ้นมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาทอดอยู่ท่าหน้าวัดราชาธิวาส   เวลา ๑ นาฬิกา ก่อนเที่ยง เชิญพระศพขึ้นรถพยาบาลของสภากาชาดสยามไปสู่วังของท่าน เจ้าพนักงานได้จัดเตรียมการสรงน้ำพระศพไว้พร้อมเสร็จ     เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์ พระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานประโคมกลองชนะ แตรสังข์ ตามพระเกียรติยศ   พระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดี ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ สรงน้ำพระศพต่อไป แล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาทรงเครื่องบรรจุกรรมพระศพเสร็จ เชิญลงพระลองใน    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสรวมพระชฎาแล้ว   เจ้าพนักงานเชิญขึ้นตั้งบน แท่นฟ้า ๒ ชั้น ประกอบพระโกษฐ์กุดั่นน้อย  ตั้งเครื่องสูงแวดล้อม  ๗ องค์  แลตั้งเครื่องประดับชั้นตั้งเครื่อง ราชอิสริยยศ พร้อมเสร็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงทอดผ้าไตรของหลวงพระราชทานสดับปกรณ์ ๔๐ ไตร   พระสงฆ์สดับปกรณ์  ถวายอนุโมทนา   พระราชาคณะถวายอดิเรก  

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทั้งกลางคืนกลางวัน รับพระราชทานฉันของหลวงเช้า ๘ รูป  เพล ๘ รูป  กับมีเครื่องประโคมประจำพระศพ  กลองชนะ  ๒๐   จ่าปี่  ๑   จ่ากลอง  ๑   แตรงอน  ๒   แตรฝรั่ง  ๒   สังข์  ๑   มีกำหนดเดือนหนึ่ง  

          วันที่  ๒๔  ธันวาคม  ๒๔๖๖   จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพ  ณ  พระเมรุสนามหลวง  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขบวนเชิญพระศพ  สู่ พระเมรุสนามหลวง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           นับตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์ตราบจนวันนี้  นับได้  ๘๖ ปี แล้ว  แต่ความเตารพ  นับถือ  เทิดทูน  ศรัทธาในเสด็จในกรมฯ มิได้เสื่อมคลายไปตามกาล  แต่กลับเพิ่มพูน ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ  แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางทุกวงการ  ในรูปลักษณ์ต่างๆ  เช่น  พระอนุสาวรีย์   ศาล  และอื่นๆ   ตามแต่จะขนานนาม  นับได้หลายร้อยแห่ง   เหรียญ และพระรูป อีกมากมายสุดจะคณานับได้

 

          ในวันอาภากร  ๒๕๔๔    กองทัพเรือได้จัดงานเทิดพระเกียรติ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นงานยิ่งใหญ่   มีการจัดพิมพ์หนังสือ  "เทิดพระเกียรติ  พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์"  อย่างสมบูรณ์    และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ศาล เสด็จในกรมฯ"  ไว้ในหนังสือ "ภาพชุด ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์"   ปรากฏที่ตั้งพระอนุสาวรีย์ และ ศาลเสด็จในกรมฯ  ทั่วประเทศ  จำแนกตามภูมิภาค  ดังนี้    กรุงเทพมหานครฯ ปริมณฑล และภาคกลาง  ๑๖๑   ภาคใต้  ๓๑   ภาคเหนือ  ๕   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ๙   ภาคตะวันออก  ๓๖    รวม  ๒๖๔   แห่ง   และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามความเตารพ  นับถือ  เทิดทูน  ศรัทธาในเสด็จในกรมฯ

 

 

 

 

 

 

ตอนต่อไป  .  .  .      กิจทรงก่อ  . . .   สานต่อไป

ตอนต่อไป  .  .  .      กิจทรงก่อ  . . .   สานต่อไป

ตอนต่อไป  .  .  .      กิจทรงก่อ  . . .   สานต่อไป

 

   ให้โลกทั้งหลายเขาลือ     ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย

 

 

 

 

            ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จาก  หนังสือ จอมทัพไทยกับราชนาวี ของกองทัพเรือ  โรงพิมพ์อรุณการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๙    และหนังสือ เทิดพระเกียรติ  พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ของกองทัพเรือ  พ.ศ.๒๕๔๔   ซึ่งพลเรือเอก สามภพ  อัมระปาล อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ  ได้กรุณามอบให้  เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่ง  ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่  ๒   จึงขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้

          ส่วนข้อมูล พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์ และภาพต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ต่างๆ  ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้เช่นกัน   และหากท่านได้ตรวจพบข้อบกพร่อง หรือมีคำแนะนำ หรือต้องการข้อมูลใดเพิ่มเติม   โปรดแจ้งให้ทราบ  เพื่อดำเนินการ และขอขอบคุณล่วงหน้ามา  ณ  โอกาสนี้เป็นที่ยิ่ง

 

 

 

 

 




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ โดย สัมพันธ์

๑๐๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๓)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๒)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๓)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๑)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๒)



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker