dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)

 

อยุธยายศล่มแล้ว   ลอยสวรรค์ ลงฤา  ๕

 ธนบุรีสมัย (๒)

 สถานการณ์เดิมครั้งธนบุรีสมัย (๑)

          -  ก่อร่างสร้างกรุง   

          -  สร้างความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร

          -  ตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก   

          -  ฐาปนาพระนครขึ้นใหม่

          -  ไทยได้เขมรไว้ตามเดิม
     
     
สถานการณ์ต่อไป

พม่า  เสร็จศึกจีน หันหาไทย

          ในปีเถาะ  พ.ศ.๒๓๑๔ นี้เช่นกัน    พระเจ้ามังระก็เสร็จศึกกับจีน  และเมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่  เกรงว่า หากละไว้ไทยจะแข็งแกร่งขึ้น   จึงคิดมาตีเมืองไทยให้ราบคาบอีกครั้งหนึ่ง ไม่ให้ตั้งตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นได้อีก  จึงรับสั่งให้เตรียมกองทัพใหญ่เข้ามาเป็นสองทาง  คือ  ยกกำลังลงมาจากเชียงใหม่ทางหนึ่ง  อีกทางหนึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์    กำลังทั้งสองส่วนนี้จะให้มาบรรจบกันที่กรุงธนบุรี   

          ดังนั้น  จึงส่งกำลังเพิ่มเติมเข้าให้โปสุพลาที่เชียงใหม่     ส่วนกำลังที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์นั้น   พระเจ้าอังวะให้ปะกันหวุ่น  ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เป็นแม่ทัพ 

 

กปิตันเหล็ก - พระยาราชกปิตัน  

         กัปตัน  ฟรานซิส  ไลท์   Captain  Francis  Light    กัปตันเรือพานิชสังกัด บริษัท อีสอินเดีย ของอังกฤษ  ซึ่งเดินเรือค้าขายระหว่างอินเดีย กับชายฝั่งตลอดแหลม มลายู เช่น เมืองตะนาวศรี มะริด เมืองถลาง เมืองไทรบุรี ปีนัง และ มะละกา เป็นต้น

          พ.ศ.๒๓๑๔  กัปตัน  ฟรานซิส  ไลท์ ได้ตั้งสำนักงานที่เกาะหมาก (เกาะปีนัง - ในปัจจุบัน)   ได้เสนอให้  บริษัท อีสอินเดีย ของอังกฤษ เอาเกาะภูเก็ต  แต่ทางบริษัทฯ  ไม่เห็นด้วย  จึงตั้งหลักอยู่ที่เกาะหมาก  จนได้เป็นเจ้าเมือง

 

พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๑     พ.ศ.๒๓๑๕ 

พม่าจบภารกิจในลาว  แวะมารุกรานไทย 
        
           สงครามครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากพระเจ้ากรุงอังวะให้โปสุพลา  นำกองทัพจำนวน  ๕,๐๐๐  ไปช่วยเจ้าบุญสารพระเจ้ากรุงศรีสัตนคนหุต  รบกับ เจ้าสุริยวงศ์เมืองหลวงพระบาง    เมื่อจัดการหลวงพระบาง  กับ  ศรีสัตนคนหุตเรียบร้อยแล้ว  (คือ เจ้าสุริยวงศ์ เมืองหลวงพระบางยอมขึ้นกรุงอังวะ)     พระเจ้ามังระจึงให้โปสุพลานำกำลัง  ๓,๐๐๐  ไปรักษาเมืองเชียงใหม่  นั้น   (รายละเอียดกล่าวไว้แล้วใน  ตอน ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก  พ.ศ. ๒๓๑๓ - ๒๓๑๔   ใน ธนบุรีสมัย (๑))

          ระหว่างที่โปสุพลา เดินทัพจาก กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ไปเชียงใหม่นั้น  ก็แวะตีบ้านเมืองเก็บทรัพย์จับผู้คน เมืองลับแล ไม่มีใครต่อสู้  จึงได้เมืองลับแลง่ายๆ  และไปถึงเมืองพิชัยใน  ฤดูแล้ง ปลายปีมะโรง  พ.ศ.๒๕๑๕     พระยาพิชัยให้ตั้งมั่นไว้ในเมือง  และส่งข่าวไปเมืองพิษณุโลก   เจ้าพระยาสุรสีห์จัดกำลังจากเมืองพิษณุโลกไปช่วย  พระยาพิชัยก็ออกตีค่ายพม่ากระหนาบกับกำลังจากเมืองพิษณุโลก   พม่าก็แตกไป

                                                       - เมืองพิชัยก็อยู่รอดปลอดภัยต่อไป
          
 
 

พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ ๒   พ.ศ.๒๓๑๖

. . . เจ้าคุณพิชัยดาบหัก  ผู้กล้าหาญยิ่งนัก    ล้วนเป็นต้นตระกูลไทย . . .

พม่าจบภารกิจในลาว  แวะมารุกรานไทย (อีก)

          เมื่อต้นปีมะเส็ง  พ.ศ.๒๓๑๖    ทางกรุงศรีสัตนาคนหุตเกิดกรณีพิพาทกันเอง  ฝ่ายหนึ่งไปขอกำลังโปสุพลาจากเชียงใหม่มาช่วย    เมื่อระงับข้อพิพาทเสร็จแล้ว   โปสุพลาก็จัดส่งบุตร ธิดาเจ้าบุญสาร ไปกรุงอังวะ   พอดีเป็นฤดูฝน  โปสุพลาจึงพักฝนอยู่ที่เวียงจันทน์    เมื่อหมดฤดูฝนแล้วจึงนำทัพมาแก้สงสัยกับเมืองพิชัยอีก     แต่ปีนี้ทาง เจ้าพระยาสุรสีห์ กับพระยาพิชัยได้ประมาณสถานการณ์ และคอยระวังเหตุอยู่แล้ว    เมื่อทราบข่าวว่า โปสุพลายกกำลังมาจากเวียงจันทน์  จึงจัดกำลังออกไปซุ่มอยู่กลางทาง     ซุ่มโจมตีกองทัพโปสุพลาแตกไปเมื่อ   เดือนยี่  แรม  ๗  ค่ำ  ปีมะเส็ง  พ.ศ.๒๓๑๖

(แรม  ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๓๕    ตรงกับวันอังคาร   วันที่   ๔ มกราคม พ.ศ.๒๓๑๖(๗) - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com

 

          การสู้รบครั้งนี้เป็นไปอย่าง ดุเดือด    พระยาพิชัยใช้ดาบสองมือต่อสู้พม่าข้าศึกอย่างกล้าหาญ  จนดาบหักไปข้างหนึ่ง  (สันนิษฐานว่า  อาจจะเป็นเพราะท่านเสียหลักจะล้ม  จึงเอาดาบค้ำพื้นดินไว้  ดาบเลยหัก)   ท่านจึงได้ฉายาว่า   "พระยาพิชัยดาบหัก"  นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 


  

 

หุ่นจำลองขนาดย่อแสดงวีรกรรมพระยาพิชัยดาบหัก   ณ  อาคารอาคารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร   อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

 

          -  การรบครั้งนี้  แสดงถึงการประมาณสถานการณ์ที่ถูกต้อง  มีการวางระบบการระวังป้องกัน  การแจ้งเตือน  และการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพ  จึงสามารถกำหนดพื้นที่การรบได้ถูกต้อง  และในการสู้รบทุกท่านได้สู้รบอย่างกล้าหาญอย่างยิ่งยวด  แม้แต่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดก็ได้ร่วม "ลงสนาม" เช่นเดียวกับรี้พลทั้งหลาย

 

 

 

 

 

เจ้าคุณพิชัยดาบหัก  ผู้กล้าหาญยิ่งนัก

 

ด้านเมาะตะมะ

พม่าเกณฑ์มอญมารบไทย    มอญไม่พอใจหันกลับไปรบพม่า

          ปะกันหวุ่นได้เตรียมการตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๑๖  โดยให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองที่ต่อแดนไทย  ๓,๐๐๐ คน  มอบภารกิจให้แพกิจาคุมกำลัง  ๕๐๐ คน  มาทำทางที่จะยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  วางแผนตั้งยุ้งฉางไว้ตามเส้นทาง ตั้งแต่เชิงเขาบันทัดด้านแดนพม่า  มาจนถึงตำบลสามสบ ท่าดินแดงในแดนไทย

            ครั้งนั้นมีพระยามอญเป็นหัวหน้า   ๔ คน  คือพระยาเจ่ง  เจ้าเมืองเตริน  เป็นหัวหน้ามาทำทางอยู่ในป่าเมืองเมาะตะมะ  พม่าได้ทำทารุณกรรมพวกมอญด้วยประการต่าง ๆ  พวกมอญโกรธแค้นจึงคบคิดกัน จับหัวหน้าทหารพม่าฆ่าเสีย  แล้วรวมกำลังกันยกกลับไป มีพวกมอญตามหัวเมืองรายทางมาเข้าด้วยเป็นอันมาก    พวกมอญเห็นเป็นโอกาสว่ามีกำลังมาก จึงยกไปปล้นเมืองเมาะตะมะในเวลากลางคืน   ปะกันหวุ่นและขุนนางพม่าตกใจคิดว่ากองทัพไทยยกไปพากันทิ้งเมืองเมาะตะมะหนีไปย่างกุ้ง    พวกมอญได้เมืองเมาะตะมะแล้ว  ก็ขยายผลยกขึ้นไปตีเมืองสะโตง และเมืองหงสาวดี ได้ทั้งสองเมือง  แล้วขยายผลต่อไปโดยเข้าตีเมืองย่างกุ้ง   รบพุ่งติดพันกับพม่าอยู่
 


ความเป็นมา และเป็นไปในเมืองญวน

 

 

          ญวน  เป็นอาณาจักรเก่าแก่  ได้คั้งเป็นอาณาจักรเวียดนาม ได้ในราว  พ.ศ.๓๐๐    แต่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของจีน ใน พ.ศ.๔๓๓   เป็นเวลากว่าพันปี    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๒ ได้ประกาศอิสรภาพจากจีน   ต่อมาอาณาจักรเวียดนามได้แผ่อำนาจมาทางใต้สามารถเข้ายึดครองนครจัมปา  และใน พ.ศ.๒๐๑๔   เวียดนามก็สามารถรวบรวมอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามได้

          เมื่ออาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลขึ้น   ราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรไม่สามารถรักษาความสมัครสมานในราชวงศ์ไว้ได้      เวียดนามก็ได้แตกแยกเป็น ๒ อาณาจักร  เมื่อ  พ.ศ.๒๐๗๖       ได้แก่อาณาจักรฝ่ายเหนืออยู่ในอำนาจพวกตระกูล ตรินห์ (Trinh)  คือแคว้นตังเกี๋ย   กับอาณาจักรฝ่ายใต้ในอำนาจราชวงศ์เหงียน (Nguyen) คือแคว้นอานัม

          ญวนทั้ง ๒ อาณาจักร ต่างทำสงครามกันมาตลอดระยะเวลา   ๒๗๐ ปี     
 
  

ไกเซิน หรือไตเซิน
                 
            พ.ศ.๒๓๑๖    ที่ เมืองเว้ อันเป็นเมืองหลวง ของประเทศญวนใต้เกิดกบฏไกเซิน หรือไตเซิน  (Tay-Son)  พวกราชวงศ์เหงียน ได้พากันหนีพวกกบฏ ลงมาทางเมืองไซ่ง่อน    องเชียงชุนราชบุตรองค์ที่   ๔  ขององเหียวหูเบือง เจ้าเมืองเว้ ได้หนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียน ต่อแดนมณฑลบันทายมาศของเขมร

 

 

 

 

           ประมาณ ปี  พ.ศ.๒๓๑๙    ระหว่างที่ญวนใต้กำลังปราบกบฏอยู่  กองทัพญวนเหนือของพวกตรินห์ก็เข้าตี และยึดเอาเมืองเว้   และต่อมาพวกกบฏเข้ายึดเมืองไซง่อนได้     องเชียงชุน ต้องหนีไปเมืองบันทายมาศ     พวกกบฏก็ตีเมืองบันทายมาศแตกอีก  พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมือง และ องเชียงชุน จึงพาครอบครัวลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ฯ ให้รับไว้ และพระราชทานที่ให้พวกญวน ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกฝั่งพระนคร ทางฝั่งตะวันออก
 
 

           องเชียงสือ/เหงียนอาน  Ngoyen-Anh  หลานอาขององเชียงชุนหนีไปซ่องสุมผู้คนมาตีเอาเมืองไซง่อนคืนจากพวกกบฏได้   ได้เป็นเจ้าเมืองไซง่อน  รวบรวมผู้คนเตรียมทำสงครามกับพวกไกเซินต่อไป    และได้ส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระราชอาณาจักรไทย ครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

     <  องเชียงสือ/เหงียนอาน 

 

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒     พ.ศ.๒๓๑๗

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบเหตุการณ์ที่ พม่าเกณฑ์มอญมารบไทย  มอญไม่พอใจหันกลับไปรบพม่า แล้ว    ทรงคาดการณ์ว่าพม่าจะต้องปราบปรามมอญอยู่นาน    จึงทรงเห็นเป็นโอกาสที่ไทยจะชิงตีเมืองเชียงใหม่   ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน  จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือมีจำนวน  ๒๐,๐๐๐  คน  ไปรวมพลรออยู่ที่บ้านระแหง  แขวงเมืองตาก      เกณฑ์คนในกรุงธนบุรี  และหัวเมืองชั้นในเป็นกองทัพหลวงมีจำนวน   ๑๕,๐๐๐  คน    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนเรือ  ออกจากพระนคร เมื่อวันอังคาร แรม  ๑๑ ค่ำ  เดือน  ๑๒  ปีมะเมีย  พ.ศ.๒๓๑๗   ขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพชร  แล้วให้ประชุมทัพที่บ้านระแหง ตรงที่ตั้งเมืองตากปัจจุบัน

  (แรม  ๑๑  ค่ำ  เดือน  ๑๒  ปีมะเมีย จ.ศ.๑๑๓๖    ตรงกับวันอังคาร    วันที่  ๒๙  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๗  - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com )

          ในขณะที่ฝ่ายไทยประชุมทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น  ก็ได้ข่าวมาว่า พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ ยกกำลังไปปราบพวกมอญ ที่ขึ้นไปตีเมืองย่างกุ้งเป็นผลสำเร็จ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า โอกาสที่จะตีเมืองเชียงใหม่เหลือน้อยแล้ว    พม่าคงติดตามมอญมาเมืองเมาะตะมะ  และเมื่อพวกมอญหนีเข้ามาเมืองไทย  พม่าก็จะยกกำลังติดตามมา     ถ้าตีเชียงใหม่ได้ช้าหรือไม่สำเร็จ  ก็อาจถูกพม่ายกเข้ามาตีตัดด้านหลัง  ทั้งทางด้านเมืองกาญจนบุรี และด้านเมืองตาก   เมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับแม่ทัพนายกอง  เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า มีเวลาพอจะตีเมืองเชียงใหม่ได้   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพใหญ่ กับเจ้าพระยาสุรสีห์   คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ  ยกไปตีเมืองเชียงใหม่      ส่วนกองทัพหลวงคงตั้งอยู่ที่เมืองตาก  เพื่อรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตะมะ   และคอยแก้สถานการณ์   

          กองทัพเจ้าพระจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์  ยกกำลังขึ้นไปทางเมืองนครลำปาง

          ฝ่ายโปสุพลาให้โปมะยุง่วนอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่  แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังชาวเมือง   ๑,๐๐๐  คน  เป็นกองหน้า โปสุพลายกกำลัง   ๙,๐๐๐  คน  ยกตามมาหมายจะไปตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง     พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นชาวลานนา ไม่พอใจอยู่ในบังคับพม่าอยู่แล้ว  เห็นว่าไทยข้างเมืองใต้มีกำลังแสนยานุภาพพอเป็นที่พึ่งได้  ก็พาพวกกองหน้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี ๆ  จึงให้ทั้งสองพระยาถือน้ำกระทำสัตย์   แล้วจึงให้นำกองทัพยกขึ้นไปเชียงใหม่     โปสุพลาทราบเรื่อง จึงรีบถอนกำลังกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่  ให้วางกำลังตั้งค่ายสกัดทาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงเก่าข้างเหนือเมืองลำพูนกองหนึ่ง     

          ส่วนโปสุพลากับโปมะยุง่วนไปเตรียมต่อสู้ที่เมืองเชียงใหม่

 

รับครัวมอญ  ลี้ภัยพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์    และบ้านระแหง  แขวงเมืองตาก

            ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองลำปางนั้น  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามอญเสียที แตกหนีพม่าลงมาเมืองย่างกุ้ง  อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา    พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นอันมาก  พระองค์ทรงเห็นว่า  การศีกด้านเชียงใหม่กำลังได้ที  จึงดำรัสสั่งลงมาทางกรุงธนบุรี ให้พระยายมราช (แขก) คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง  แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค  คอยรับครัวมอญ   ที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์    ให้พระยากำแหงวิชิต  คุมกำลัง  ๒,๐๐๐ คน  ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเมืองตาก  แล้วพระองค์เสด็จยกทัพหลวง ออกจากบ้านระแหง เมื่อวันศุกร์ แรม   ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๑๗   ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่

 

 

 

 

ล้อมเมืองเชียงใหม่

 

         กองทัพเจ้าพระยาจักรี ยกขึ้นไปจากเมืองนครลำปางถึงเมืองลำพูน  พบกองทัพพม่าตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ริมน้ำปิงเก่า  ก็ให้เข้าโจมตีค่ายพม่า  ได้รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน 

 

          กองทัพหลวง ยกไปถึงเมืองลำพูน  เมื่อวันอังคาร ขึ้น   ๒  ค่ำ  เดือนยี่   แล้วตั้งทัพอยู่ที่เมืองลำพูน 

 

          เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์  และเจ้าพระยาสวรรคโลก  ระดมตีค่ายพม่าแตกกลับไปเมืองเชียงใหม่  แล้วไล่ติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้  โดยให้ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่  ชักปีกกาตลอดถึงกัน   ๓ ด้าน  คือด้านทิศตะวันออก  ด้านทิศใต้  และด้านทิศตะวันตก  คงเหลือแต่ด้านทิศเหนือ  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประตูท่าแพ  (ด้านทิศตะวันออก)   และกำแพงเมืองเชียงใหม๋  (ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐)

 

         พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้ขุดคู วางขวากและวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย  แล้วให้ขุดคูทางเดินเข้าไปประชิดตัวเมือง  สำหรับให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป  ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตี ก็ให้ไล่คลุกคลีติดพันตามเข้าเมืองไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ประตูสวนดอก  และประตูสวนปรุง  (ด้านทืศตะวันตก)

 

 

 

 ประตูเชียงใหม่   (ด้านทิศใต้)

 

 

            โปสุพลา โปมะยุง่วน  เห็นฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมเมืองดังกล่าว  จึงคุมกำลังออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วยกกำลังเข้าปล้นค่ายไทยหลายครั้ง  แต่ถูกฝ่ายไทยตีโต้ถอยกลับเข้าเมืองไปทุกครั้ง  สุดท้ายจึงได้แต่รักษาเมืองมั่นไว้  ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ ที่หลบหนีพม่าไปซุ่มอยู่ในป่าเขา  เห็นฝ่ายไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก   พวกที่อยู่ในเมืองก็พากันหลบหนีเล็ดลอดออกมาเข้ากับฝ่ายไทยอยู่ไม่ขาด  จนได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่ ที่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า  ๕,๐๐๐

 

พม่าหนี 

             สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกกองทัพหลวง จากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่  เมื่อวันเสาร์ ขึ้น   ๓  ค่ำ เดือนยี่ ตั้งค่ายหลวงประทับที่ริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่  ในวันนั้น เจ้าพระยาจักรียกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ด้านทิศใต้กับด้านทิศตะวันตก ได้หมดทุกค่าย  เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ที่ออกมาตั้งรับตรงปากประตูท่าแพด้านทิศตะวันออก ได้   และ . . .

          ในค่ำวันนั้นเอง  โปสุพลากับโปมะยุง่วนก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่  อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ   ฝ่ายไทยยกกำลังออกไล่ติดตาม  สามารถชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นจำนวนมาก   ยึดได้พาหนะและเครื่องศัตราวุธของข้าศึกอีกมาก   มีปืนใหญ่น้อยรวม    ๒,๑๑๐ กระบอก กับ ม้า  ๒๐๐   เป็นต้น 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประตูช้างเผือก  (ด้านทิศเหนือ)   ในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๖๙  และกำแพงเมือง

 

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เข้าเมืองเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น  ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น   ๑๔ ค่ำ  เดือนยี่   และเมื่อวันพุธ  แรม  ๒  ค่ำเสด็จทรงนมัสการพระพุทธสิหิงค์    จากนั้น  ทรงตั้งพระยาจ่าบ้าน  เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่    พระยากาวิละเป็นพระยานครลำปาง   พระยาลำพูนเป็นพระยาไวยวงศา  ครองเมืองลำพูน ตามเดิม

          (ขึ้น  ๑๔ ค่ำ  เดือน  ๒  ปีมะเมีย  จ.ศ.๑๑๓๖   ตรงกับ  วันอาทิตย์   วันที่  ๑๕  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘  - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com

 

 

 

 พระพุทธสิหิงค์   ในวิหารลายคำ  วัดพระสิงห์   เมืองเชียงใหม่

 

 

         การตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้    นับว่าเป็นการเสี่ยงอยู่  เพราะทรงเห็นว่าพม่ากำลังแก้ปํญหาภายในเกี่ยวกับกบฏมอญ     หากกองทัพไทยยังทำศึกติดพันกับเมืองเชียงใหม่   แต่พม่าแก้ปัญหามอญเสร็จได้เร็ว  ก็อาจจะยกติดตามพวกมอญเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีถึงกรุงธนบุรี  หรือ  เมืองตากได้    ดังนั้น  จึงได้ทรงหารือแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่ ว่าต้องเร่งเผด็จศึกเมืองเชียงใหม่โดยเร็ว  

           ปัจจัยที่ทำให้กองทัพกรุงธนบุรีสามารถพิชิตเมืองชียงใหม่ได้รวดเร็ว  คือ  ความกล้าหาญ และมุ่งมั่นที่จะเอาชัยชนะของกำลังพลในกองทัพกรุงธนบุรีทุกท่าน  ทุกระดับ


         ครั้งนั้น เจ้าฟ้าเมืองน่านได้เข้ามาสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง  สงครามคราวนี้จึงได้เมืองเชียงใหม่  เมืองลำพูน  เมืองนครลำปาง  เมืองน่าน  และเมืองแพร่  กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขต    นับตั้งแต่นั้น  เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน

 

พม่าตามมอญ  ถูกไทยไล่ ย้อนกลับไป

          เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพอยู่จัดระเบียบเมืองเชียงใหม่    ส่วนพระองค์เสด็จนำทัพหลวงออกจากเมืองเชียงใหม่  ในแรม  ๔  ค่ำ  เดือนยี่ นั้น (วันศุกร์ที่  ๒๐  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘)  ลงมาประทับแรมอยู่  ณ  เมืองลำปาง  ทรงนมัสการลาพระมหาธาตุ  แล้วเสด็จต่อไปเมืองตาก   ทางเมืองตากมีใบบอกว่า  กองทัพพม่ายกตามครัวมอญเข้ามาทางด่านแม่ละเมา        จึงเร่งเสด็จถึงท่าเมืองตาก  เมื่อ   วัน พฤหัสบดี   ขึ้น  ๒  ค่ำ   เดือน ๓     จึงรับสั่งให้หลวงมหาเทพกับจมื่นไวยวรนาถ นำกำลัง   จำนวน  ๒,๐๐๐  ไปขับไล่กองทหารพม่า   และให้พระยากำแหงวิชิต ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ บ้านระแหงช่วยเข้าตีพม่าส่วนนี้  จนถอยหนีกลับไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

พระบรมธาตุลำปางหลวง 

ตำบลลำปางหลวง  อำเภอเกาะคา   จังหวัดลำปาง  ในปัจจุบัน

ภาพจาก -  หอจดหมวยเหตุแห่งชาติ

 

ปากเกร็ด - สามโคก    ชุมชนมอญใหม่
 
         สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับที่ค่ายบ้านระแหง   ๗  วัน   ก็ได้ข่าวจากกรุงธนบุรีว่ามีครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นจำนวนมากจึงทรงออกจากบ้านระแหงโดยทางชลมารค     เมื่อถึงกรุงธนบุรี  รับสั่งให้ครัวมอญไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด  แขวงเมืองนนทบุรี   และที่  สามโคก  แขวงเมืองปทุมธานี

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยทางชลมารคถึงกรุงธนบุรีใน  วันจันทร์ ขึ้น  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะเมีย จ.ศ.๑๑๓๖   ตรงกับ วันที่  ๑๓ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘  (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)
 

 

 

 

 

 

 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา   หน้าพระราชวังกรุงธนบุรี    (ปัจจุบันเรียก  พระราชวังเดิม  เป็นกองบัญชาการกองทัพเรือ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           ครับ  .  .  .  ธนบุรีสมัย      ก็ผ่านพ้นไปด้วยความสำเร็จของฝ่ายไทยที่รักษาเมืองพิชัย   ได้เมืองเชียงใหม่  และเมืองเหนือกลับเข้ามาในพระราชอาณาจักร    แต่ข้างหน้าก็ยังมีศึกที่ติดพันอยู่ชนิดที่เรียกว่า  รอไม่ได้  กองทัพเสร็จศึกจากเชียงใหม่ต้องผ่านกรุงธนบุรีไป   โดยไม่มีเวลา แวะกินน้ำกินท่า กันก่อน    ถึงแม้ไม่เป็นศึกที่ใหญ่หลวงนัก แต่ก็เป็นการศึกที่มีผลต่อขวัญ  กำลังใจของกองทัพ  และพี่น้องราษฎรไทยทั่วกันเป็นอันมาก     ครับ   .  .  .   รบพม่าที่บางแก้ว  เมืองราชบุรี  ใน  ธนบุรีสมัย       ครับ

 

 

 

 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . รบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี  

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . รบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . รบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี 

 

 

 

 

บรรณานุกรม      -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

                        -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

                       -  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน ๒๕๔๓

                       -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร    แปล    พิมพ์ครั้งที่  ๒   มิถุนายน  ๒๕๔๘    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                       -  แผนที่ในเรื่อง นำมาจาก  หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ของ  พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน   ซึ่งขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้

 

 

 

 

 

 

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker