dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
วันที่ 16/02/2020   21:05:32

อยุธยายศล่มแล้ว   ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖

 ธนบุรีสมัย  (๓)
 
รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี   พ.ศ.๒๓๑๗
 
          การศึกครั้งนี้เกิดขึ้นติดต่อกับศึกรบเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒   ระหว่างที่กองทัพกรุงธนบุรีไปศึกเชียงใหม่  พม่าก็แก้ปัญหาเรื่องมอญ และเมื่อมอญอพยพเข้ามาในประเทศไทย พม่าก็ส่งกองทัพตามเข้ามา ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กองทัพไปตั้งรับครัวมอญที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก และที่ท่าดินแดงในลำน้ำไทรโยค   
 
 
สถานการณ์เดิมครั้ง ธนบุรีสมัย (๒)
 
-          พม่าตีเมืองพิชัย

-          ไทยตีเมืองเชียงใหม่ได้

                   -          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยทางชลมารคถึงกรุงธนบุรีใน วันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน   ๓ ปีมะเมีย จ.ศ.๑๑๓๖   ตรงกับ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘     เมื่อเสด็จถึงกรุงธนบุรีแล้ว    ได้รับสั่งให้ครัวมอญไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี   และที่ สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี 

 
สถานการณ์ต่อไป . . .
 
ทางกรุงรัตนบุระอังวะ   
 
          พระเจ้ามังระ "เซงพะยูเชง" (ฉินบูชิน - Hsinbyushin) เสด็จยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกศธาตุ ที่เมืองย่างกุ้ง  
 
          ฝ่ายเสนาบดีซึ่งอยู่รักษากรุงอังวะ มีหนังสือกราบทูลว่า พระยาหงสาวดี และรามัญทั้งปวงที่พระเจ้ามังลองกวาดต้อนไปจากเมืองหงสาวดี นั้น ได้ก่อความไม่สงบ ยกเข้าปล้นจะเอาเมือง แต่ฝ่ายเสนาบดีสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และจับฝ่ายรามัญนำไปจำไว้ได้หมด    พระเจ้ามังระจึงให้ประหารพระยาหงสาวดี และรามัญตัวนายที่ก่อกบฏนั้น    แล้วส่งข้าหลวงไปเร่งกองทัพอแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะ ให้ยกตามครัวมอญเข้าไปตีเอาเมืองไทยให้ได้
 
          อแซหวุ่นกี้จัดให้งุยอคงหวุ่นถือพล ๕,๐๐๐  เป็นกองหน้ายกเข้ามาก่อน  
 
          ขณะนั้นพระยายมราช (แขก) คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อยู่แล้ว ตามรับสั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  

 

          เมื่อกองหน้าของงุยอคงหวุ่นมาถึงท่าดินแดง เห็นกองทัพไทยตั้งอยู่ ก็เข้าตีทันที    กองทัพพระยายมราช (แขก) มีรี้พลน้อยกว่า   ต้านทานไม่ไหวก็ถอยมาตั้งที่ปากแพรก (ที่เป็นเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน)

 

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวการรบที่ท่าดินแดง ขณะนั้นกองทัพหลวงยังเดินทางกลับไม่ถึงกรุงธนบุรี    จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพจากในกรุงธนบุรี   ให้พระองค์เจ้าจุ้ย (ลูกเธอ) คุมพล ๓,๐๐๐ ยกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี   และ ให้เจ้ารามลักษณ์ (หลานเธอ) นำกำลัง ๑,๐๐๐ ยกตามไป    และให้มีตราเร่งกองทัพกรุงฯ เร่งเดินทาง    และให้เมืองเหนือจัดกองทัพยกลงมาด้วย

 
 
 
 
เสร็จศึกเชียงใหม่ มุ่งไปสมรภูมิราชบุรี
 
          กองทัพกรุงฯ มาถึง ในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๓      จึงเสด็จลงประทับตำหนักแพให้ตำรวจลงเรือเร็วขึ้นไปสั่งกองทัพให้ยกมุ่งตรงไปยังราชบุรีทีเดียวกองทัพทั้งปวงก็เร่งยกไปเมืองราชบุรีตามรับสั่ง
 
 
บางแก้ว
 
          ฝ่ายงุยอคงหวุ่นยกตาม พระยายมราชมาถึงปากแพรก     พระยายมราชถอยต่อไปตั้งที่ดงรังหนองขาว    งุยอคงหวุ่นจึงแบ่งกำลังตั้งที่ปากแพรก คอยปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองนครชัยศรี    ส่วนตนเองนำกำลังอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ   ๓,๐๐๐ ยกเข้ามาจะปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี    เมื่อยกมาถึงบางแก้วทราบว่ามีกองทัพไทยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี    งุยอคงหวุ่นจึงตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้ว   ซึ่งเป็นที่ดอนอยู่ชายป่าทางตะวันตกของลำน้ำ
 
          พระองค์เจ้าจุ้ยที่เมืองราชบุรีทราบว่างุยอคงหวุ่น มีกำลังประมาณ   ๓,๐๐๐ มาตั้งที่บางแก้ว ประมาณสถานการณ์ว่าพอจะสู้ได้ และกองทัพกรุงธนบุรีกำลังยกมาเพิ่มเติมกำลัง จึงยกกำลังไปตั้งที่โคกกระต่ายในทุ่งธรรมเสน ห่างจากค่ายพม่า ประมาณ ๘๐ เส้น (๓๒๐ เมตร) ตั้งค่ายโอบค่ายพม่าทางตะวันตก และตะวันออก แล้วส่งข่าวเข้ามายังกรุงธนบุรี
 
          ในวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ เมืองนครชัยศรีแจ้งว่าพม่าเข้ามาปล้นทรัพย์จับผู้คน จึงรับสั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ นำกำลัง ๑,๐๐๐ ไปรักษาเมืองนครชัยศรี    และให้เตรียมกองทัพหลวง   จำนวน    ๙,๐๐๐    เมื่อพร้อมแล้ว ก็เสด็จออกจากกรุงธนบุรีเมื่อ   วันอาทิตย์   เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเมีย (จ.ศ.๑๑๓๖) พ.ศ.๒๓๑๘    (ตรงกับ   วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ) 
 
          เมื่อเสด็จถึงเมืองราชบุรี พระองค์เจ้าจุ้ยมาเฝ้า   กราบทูลว่า ระหว่างที่หลวงมหาเทพกำลังตั้งค่ายโอบค่ายพม่านั้น    ทหารพม่าพากันดูเล่น และร้องถามว่า    ตั้งค่ายเสร็จแล้วหรือยัง ให้ตั้งค่ายเสียให้เสร็จ พม่าจะรอให้ไทยไปพร้อมกันจึงจะยกออกมาตี จะได้จับเชลยให้ได้มากๆ ในคราวเดียว
 
          ขณะเดียวกันนั้น    ทรงกังวลถึงพระยายมราชที่ดงรักหนองขาวว่าจะต้านทานพม่าไม่ไหว   จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชชัย กับพระยาวิเศษชัยชาญ นำกำลัง ๒,๐๐๐ ไปช่วย
 
          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพหลวงจากเมืองราชบุรีตามทางฟากตะวันตกของลำน้ำ   ตั้งค่ายหลวงที่ตำบลเขาพระเหนือค่ายโคกกระต่าย  ๔๐ เส้น    เสด็จตรวจภูมิประเทศที่บางแก้ว   รับสั่งให้เพิ่มกำลังตั้งค่ายโอบล้อมให้รอบ    และให้แล้วเจ้าพระยาอินทรอภัยจัดกำลังไปรักษาหนองน้ำเขาชั่วพราน (ช่องพราน) ซึ่งข้าศึกใช้เป็นแหล่งน้ำ และ อยู่ในเส้นทางส่งเสบียงอาหาร และ ให้พระยารามัญวงศ์คุมกองมอญที่เข้ามาใหม่ ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้ม  ซึ่งเป็นเส้นทางส่งเสบียงอาหาร อีกเส้นหนึ่ง   อยู่เหนือเขาช่องพรานไปทางเหนือประมาณ ๑๒๐ เส้น (ประมาณ ๕ กิโลเมตร)
 
           งุยอคงหวุ่นเห็นกองทัพไทยตั้งค่ายแข็งแรงขึ้น เห็นจะเอาชนะไทยไม่ง่ายๆ ดังที่คิดมา   จึงตัดสินใจเข้าตีฝ่ายไทยที่เขาช่องพราน ถึงสามครั้งในคืนเดียวกัน   แต่ถูกฝ่ายไทยตีโต้กลับไปได้ทุกครั้ง ต้องสูญเสียกำลังพล ทั้งบาดเจ็บ ล้มตาย และถูกจับเป็นเชลยหลายนาย    จึงสั่งการให้ค่ายที่ปากแพรกส่งกำลังมาช่วย
 
           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้ข่าวสารจากเชลยว่า กองทัพพม่ากำลังเดือดร้อนเพราะกองทัพไทยตั้งขวางเส้นทางส่งเสบียงอาหาร จึงรับสั่งห้ามกองทัพไทยที่ตั้งล้อมค่ายพม่าไม่ให้เข้าตีค่ายพม่า    แต่ให้ตั้งล้อมไว้ให้มั่น    ถ้าพม่ายกออกมา ก็ให้รบพุ่งเอาแต่ให้ถอยกลับไปอย่างเดียว    และฝ่ายไทยก็จัดกองโจรคอยตัดการส่งเสบียงของฝ่ายพม่าด้วย   โดยพระยาเทพอรชุน และพระดำเกิงรณภคุมกองอาจารย์และทนายเลือก จำนวน ๗๔๕ คน (กองกำลัง ๗๔๕)   เป็นกองรบพิเศษ (กองโจร) คอยตีตัดขบวนลำเลียงข้าศึกที่เขาช่องพราน
 
          ด้านอแซหวุ่นกี้ซึ่งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ   เห็นงุยอตงหวุ่นหายไปนานผิดปรกติ จึงจัดกำลังให้ตะแคงมรหน่อง อีก ๓,๐๐๐   ยกตามเข้ามา    และ อีกกองหนึ่ง จำนวน   ๒,๐๐๐   ให้มองจายิดคุมไปช่วยงุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว      ตะแคงมรหน่องเมื่อถึงดงรักหนองขาว ก็เข้าตีค่ายเจ้าพระยายมราช แต่ไม่สำเร็จ ฝ่ายไทยต้านทานไว้ได้    ตะแคงมรหน่องจึงต้องถอยไปตั้งที่ปากแพรก
 
          ส่วนมองจายิดซึ่งจะไปสมทบงุยอคงหวุ่นที่ค่ายบางแก้ว ผ่านเขาชะงุ้ม เห็นกองทหารรามัญตั้งอยู่ มีกำลังไม่มากนัก ก็วางกำลังล้อมไว้     ฝ่ายงุยอคงหวุ่นรู้ว่ามีกองทัพมาช่วย ก็พยายามแหกค่ายทหารไทยของหลวงมหาเทพที่ล้อมอยู่ แต่หักออกไปไม่ได้ต้องถอยกลับเข้าค่าย      พระยาธิเบศร์บดีซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ   ก็ยกไปช่วยแก้กองมอญ ออกมาจากที่ล้อมได้ แต่กำลังไม่พอจะต่อสู้พม่าได้ ก็พากันล่าถอยลงมา     มองจายิดจึงเข้าไปรวมกำลังกับฝ่ายตน ที่ค่ายเขาชะงุ้มได้    ในวันนั้น พระยานครสวรรค์ยกกำลังไปถึงเมืองราชบุรี จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในค่ำวันนั้น แล้วให้กำลังทั้ง ๓ กอง ไปตั้งค่ายล้อมพม่าทางด้านเหนือ ป้องกันพม่าทั้งสองส่วน คือที่ปาแพรก และที่เขาชะงุ้ม มิให้เข้าถึงกันได้
 
กองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ มาเพิ่มเติมกำลัง
 
            ในเดือน   ๔ เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ และได้ตามออกไป พร้อมทั้งพาทูตเมืองน่าน มาถวายต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งมาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ออกไปเฝ้าด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสรรเสริญความชอบเจ้าพระยาจักรี พระราชทานบำเหน็จ แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ถืออาญาสิทธิ์ไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว    เจ้าพระยาจักรีจึงยกกำลังไปตั้งค่ายที่พระมหาธาตุเขาพระ   เหนือค่ายหลวงขึ้นไป 
 
 
 
          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จถอยมาประทับอยู่ที่ค่ายโคกกระต่าย ด้วยเหมาะที่จะให้การสนับสนุนได้ทุกด้าน แล้วมีรับสั่งให้หลวงบำเรอภักดิ์ คุมกองกำลังทหารกองนอก   ๔๐๐ คน เป็นกองโจรไปคอยตีสะกัด ไม่ให้พม่าที่เขาชะงุ้ม ออกลาดตระเวนหาอาหารแลน้ำใช้ได้สะดวก
 
 
อดแล้ว ยอมซะดีดี
 
          ในคืนวันข้างขึ้น เดือน ๔ พม่าในค่ายบางแก้ว ยกกำลังออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วปล้นค่ายหลวงราชนิกุลอีก แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นเคย พม่าขัดสนเสบียงอาหาร ต้องกินเนื้อสัตว์พาหนะ แต่น้ำในบ่อยังมีอยู่   พม่าต้องอาวุธปืนใหญ่น้อยของไทย เจ็บป่วยล้มตาย จนต้องขุดหลุมลงอาศัยกันโดยมาก ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงม้าไปที่ค่ายหลวงมหาเทพ ซึ่งตั้งล้อมพม่าอยู่ทางด้านตะวันตก มีรับสั่งให้จักกายเทวะมอญเข้าไปร้องบอกแก่พม่าในค่าย ให้ออกมายอมอ่อนน้อมแต่โดยดี
 
 
อดแล้ว ยังขอเจรจา
 
          งุยอคงหวุ่นจึงขอเจรจากับ ตละเกล็บหัวหน้ามอญที่มาอยู่กับไทย และได้เป็นที่พระยาราม แต่ก็ยังไม่เป็นผล    เพราะฝ่ายไทยต้องการให้พม่าออกมายอมแพ้ และทูลขอชีวิต    แต่พม่าขอให้ปล่อยไปเฉยๆ
 
            เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์กับพวกผู้ว่าราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ คุมกองทัพหัวเมืองลงไปถึง   จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวง ไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มกันไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้วได้ ทั้งนี้เพื่อจะจับพวกพม่าที่ค่ายบางแก้ว ให้ได้เสียก่อน      แม้จะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของข้าศึก ณ ที่แห่งอื่น ๆ เช่น เมืองคลองวาฬหรือเมืองกุย บอกเข้ามาว่า พวกพม่าที่ยกเข้ามาจากเมืองมะริด ตีบ้านทับสะแกได้แล้ว ลงไปตีเมืองกำเนิดนพคุณ ผู้รั้งกรมการเมืองนำกำลังราษฎรเข้าต่อสู้ ข้าศึกได้เผาเมืองกำเนิดนพคุณ แล้วยกเลยไปทางเมืองปะทิว ซึ่งขึ้นแก่เมืองชุมพร ในกรณีนี้ ได้มีรับสั่งให้มีตราตอบไปว่า ให้ทำลายหนองน้ำและบ่อน้ำ ตามเส้นทางที่จะขึ้นมาเมืองเพชรบุรีให้หมด    อย่าให้ข้าศึกอาศัยใช้ได้
 
            ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวสารจากเชลยที่จับมาได้ว่า พม่าที่เขาชะงุ้มพยายามเล็ดลอด ขนเสบียงมาให้พม่าในค่ายบางแก้ว และได้บอกไปยังตะแคงมรหน่อง   ขอกำลังมาเพิ่มเติมให้ทางค่ายเขาชะงุ้ม เพื่อจะได้ตีหักมาช่วยที่ค่ายบางแก้ว    จึงมีรับสั่งให้เพิ่มเติมกองโจรให้มากยิ่งขึ้น แล้วให้หลวงภักดีสงคราม  นายกองนอกซึ่งอยู่ในกองเจ้าพระยาอินทรอภัย คุมกำลังขึ้นไปทำลายแหล่งน้ำ ในเส้นทางที่จะมาจากปากแพรก
 
            ต่อมาพม่าในค่ายเขาชะงุ้มทำ ค่ายวิหลั่น* บังตัวออกมาปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ในเวลากลางคืน แต่ถูกฝ่ายไทยตีแตกกลับไป    จากนั้นก็ไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ไม่เป็นผล ต้องถอยกลับเข้าค่ายไปอีก     ในวันอังคาร แรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ก็ยกกำลังออกมาปล้นค่ายพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ ตั้งแต่เวลา ๓ นาฬิกาจนรุ่งสว่าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรีบเสด็จขึ้นไป รับสั่งให้กองอาจารย์และทนายเลือก (กองกำลัง ๗๔๕) เข้าช่วยรบ จนถึงเวลา ๘ นาฬิกา พม่าจึงถอยกลับไป
 
         *ค่ายวิหลั่น คือ ค่ายที่ทําให้ขยับลุกเข้าไปหาข้าศึกทีละน้อย ๆ
 
การเจรจา (ครั้งที่ ๒) - ยอมแพ้ แต่ขอให้ปล่อย
 
          งุยอคงหวุ่น เห็นสภาพการณ์เช่นนั้น จึงขอเจรจากับฝ่ายไทยอีก โดยให้นายทัพคนหนึ่งออกมาหาพระยาราม ๆ จึงพาไปที่เจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี   นายทัพพม่าวิงวอนขอให้ปล่อยทัพพม่ากลับไป แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม   ฝ่ายพม่า จึงขอกลับไปปรึกษากันก่อน
 
 
การเจรจา (ครั้งที่ ๓) -  ขออีก 
 
          ต่อมาเมื่อวันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน   ๔   งุยอคงหวุ่นให้พม่าตัวนาย ๗ คน ออกมาเจรจาอีกว่า พวกพม่าจะยอมอ่อนน้อม ถวายช้างม้าพาหนะ และเครื่องศัตราวุธทั้งหมด ขอเพียงให้ปล่อยตัวกลับไป   ทางฝ่ายไทยตอบว่า ถ้าออกมาอ่อนน้อมจะยอมไว้ชีวิต แต่จะปล่อยกลับไปไม่ได้   และให้คณะเจรจาของพม่ากลับไปเพียง ๕ คน
 
การเจรจา (ครั้งที่ ๔) - มอบอาวุธของตน ขอทำราชการไทย 
 
         ในวันนั้นอุตมสิงหจอจัว ปลัดทัพของยุงอคงหวุ่น ได้พานายหมวดนายกองพม่ารวม   ๑๔ คน นำเครื่องศัตราวุธของตนออกมาส่งให้ไทย จึงได้นำไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อุตมสิงหจอจัวกราบทูลว่า จะขอถือน้ำทำราชการกับไทยต่อไปจนชีวิตจะหาไม่ จึงมีรับสั่งให้อุตมสิงหจอจัว ออกไปพูดเกลี้ยกล่อม ให้พวกพม่าออกมาอ่อนน้อม พวกพม่าในค่ายก็ขอปรึกษากันก่อน
 
การเจรจา (ครั้งที่ ๕)
 
          ครั้นถึงวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำ เดือน   ๔ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา ซึ่งยกกำลังเดินทางมาถึง ให้ไปตั้งค่ายประชิดพม่าที่เขาชะงุ้ม และมีการเจรจาอีกครั้งระหว่างยุงอคงหวุ่น กับอุตมสิงหจอจัว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ   เพราะงุยอคงหวุ่น คิดว่าจะทรงพระดรุณาเฉพาะผู้น้อย ส่วนตนคงจะถูกประหารชีวิต
 
          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่าอแซหวุ่นกี้ยังคุมกองทัพใหญ่อยู่ที่เมืองเมาะตะมะอีก ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะยกตามเข้ามาหรือไม่   และทรงพระดำริจะเกณฑ์กองทัพจากหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นมาช่วย  เจ้าพระยาจักรีประมาณสถานการณ์ และกราบทูลว่า พม่าน่าจะยังไม่ยกเข้ามาในปีนี้ ด้วยจวนจะเข้าฤดูฝน   หากจะเพิ่มเติมกำลังให้ตะแคงมรหน่องช่วยแก้ไขสถานการณ์ของงุยอคงหวุ่น   ก็คงส่งกำลังเข้ามามามากนัก   กองทัพที่มีอยู่สามารถต้านทานได้   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นด้วย    จึงไม่ต้องเกณฑ์กองทัพหัวเมือง   เป็นแต่มีตราเกณฑ์ข้าวสาร  เมืองนครศรีธรรมราช   ๖๐๐ เกวียน  เมืองไชยา เมืองพัทลุง  และเมืองจันทบุรี   เมืองละ ๔๐๐ เกวียน ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม
 
พม่าค่ายบางแก้ว ยอมอ่อนน้อม
 
            ในที่สุดเมื่อวันแรม   ๑๕ ค่ำ เดือน ๔   งุยอคงหวุ่น และพวกนายทัพนายกองพม่าในค่ายบางแก้ว ก็ออกมายอมอ่อนน้อมทั้งหมด หลังจากที่ฝ่ายไทยล้อมค่ายพม่าได้   ๔๗ วัน ก็ได้ค่ายพม่าทั้ง   ๓ ค่าย ได้เชลยรวม ๑,๓๒๘ คน ที่ตายไปเสียเมื่อถูกล้อมอีกกว่า   ๑,๖๐๐ คน
(แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย จ.ศ.๑๑๓๖ ตรงกับวันศุกร์ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘)
 
กวาดล้าง
 
            เมื่อได้ค่ายพม่าที่บางแก้วแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีมะแม พ.ศ.๒๓๑๘    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีรับสั่งให้กวาดล้างค่ายพม่าที่เหลิอดังนี้
 
          เจ้าพระยาสุรสีห์ นำกำลังพล   ๑,๐๐๐ คน ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันตก    และให้หลวงมหาเทพยกกำลังพลอีก   ๑,๐๐๐ ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันออก ให้ไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรก    พร้อมกับกองทัพของพระยายมราช (แขก)
 
           เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม 
 
          ในค่ำวันนั้นเวลาเที่ยงคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้มยกค่ายวิหลั่นออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม หมายจะเข้ามาช่วยพวกของตนที่ค่ายบางแก้ว พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงคราม เจ้าพระยาจักรีไปช่วยทันชิงเอาค่ายกลับคืนมาได้    พม่าย้ายไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ถูกฝ่ายไทยต่อสู้ จนต้องล่าถอยกลับเข้าค่าย
 
หนีดีกว่า
 
            ต่อมาเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๕    (ตรงกับวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๘)  เวลากลางคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้มก็ทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ    กองทัพไทยไล่ติดตามไปฆ่าฟันพม่าล้มตาย และจับเป็นเชลยได้เป็นอันมาก    เมื่อหนีไปถึงปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีกองทัพไทยหมดแล้ว ก็รีบยกกำลังกลับไปเมืองเมาะตะมะ    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้กองทัพยกติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต แล้วให้กองทัพกลับคืนมาพระนคร   พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อย ตามสมควรแก่ความชอบ ที่มีชัยชนะพม่าครั้งนี้โดยทั่วกัน   และโปรดตั้งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจุ้ย เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์   พระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์ เป็น กรมขุนอนุรักษ์สงคราม     พระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจันเป็น กรมขุนรามภูเบศร์
         
 
            การรบครั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งพระทัยที่จะจับพม่าที่ค่ายบางแก้วให้ได้ทั้งหมด    ด้วยเหตุที่พม่าประกาศหมิ่นไทยประการหนึ่ง และทรงประสงค์จะปลุกใจคนไทย ให้กลับกล้าหาญดังแต่ก่อน หายครั่นคร้ามพม่า จึงทรงทนความลำบาก ใช้เวลาล้อมพม่าอยู่ถึง ๔๗ วัน โดยไม่รบแตกหัก ซึ่งถ้าจะทำลายกำลังพม่าก็ทำได้โดยใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่ผลที่ได้จะต่างกัน การจับพม่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ให้ผลทางด้านจิตวิทยามาก    
 
           การรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี   พ.ศ.๒๓๑๗   ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ กลับเข้ามา เป็นจำนวนมาก   เนื่องจากหมดความกลัวเกรงครั่นคร้ามพม่า และเชื่อมั่นกองทัพไทยมากขึ้น
 
 
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรมพระเทพามาตย์
 
          เมื่อเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ และเสด็จไปการพระราชสงครามเมืองราชบุรีนั้น    กรมพระเทพามาตย์พระราชมารดาทรงประชวรอยู่มาก และได้เสด็จสวรรคต เมื่อเสร็จการพระราชสงครามจึงโปรดให้จัดการถวายพระเพลิง ณ พระเมรุ วัดบางยี่เรือใต้
 
 
 
 
 

 

 
ครับ . . .   รบพม่าที่บางแก้ว   ซึ่งเป็นการศึกที่ติดพันกับการตีเมืองเชียงใหม่   . . . ชนิดที่เรียกว่า รอไม่ได้ กองทัพเสร็จศึกจากเชียงใหม่ต้องผ่านกรุงธนบุรีไป   โดยไม่มีเวลา แวะกินน้ำกินท่า กันก่อน . . .   นับเป็น การเสี่ยงที่ได้ทรงใคร่ครวญแล้ว และเป็น การบริหารเวลา    ได้ลงตัวพอดี
 
          รบพม่าที่บางแก้ว ถึงแม้ไม่เป็นศึกที่ใหญ่หลวงนัก แต่ก็เป็นการศึกที่มีผลต่อขวัญ กำลังใจของกองทัพ และพี่น้องราษฎรไทยทั่วกันเป็นอันมาก     ครับ   . . .       แต่กรุงธนบุรียังไม่มีเวลาได้ว่างศึกเพราะต่อไปนับเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกคราวในสมัยกรุงธนบุรี     ครับ . . . 
 
อแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ.๒๓๑๘ . . .     ใน 
 
ธนบุรีสมัย ๔      ครับ
   

 

 

 

บรรณานุกรม      -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

                         -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ 

                       -  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน ๒๕๔๓

                       -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร    แปล    พิมพ์ครั้งที่  ๒   มิถุนายน  ๒๕๔๘    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                       -  แผนที่ในเรื่อง นำมาจาก  หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ของ  พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน   ซึ่งขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker