dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)

อยุธยายศล่มแล้ว   ลอยสวรรค์ ลงฤา  ๗

ธนบุรีสมัย  (๔)

อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ  พ.ศ.๒๓๑๘ 


สถานการณ์เดิมครั้ง ธนบุรีสมัย (๓)

          รบพม่าที่บางแก้ว  พ.ศ.๒๓๑๗  ถึงแม้ไม่เป็นศึกที่ใหญ่หลวงนัก แต่ก็เป็นการศึกที่มีผลต่อขวัญ  กำลังใจของกองทัพ  และพี่น้องราษฎรไทยทั่วกันเป็นอันมาก   เพราะกองทัพไทยล้อมกองทัพพม่าเสียจนอดโซ    แต่ใน  พ.ศ.๒๓๑๘  นี้  ไทยก็ต้องเผชิญกับศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่ง    นับเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกคราวในสมัยกรุงธนบุรี   ทีเดียว  ครับ  . . .  "อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ"

 

มหาสีหสุระ - อะแซหวุ่นกี้

          พ.ศ. ๒๓๑๘    พระเจ้ามังระ "เซงพะยูเชง"  (ฉินบูชิน -  Hsinbyushin)  ทรงพระประชวร   ภายในราชสำนักพม่าเต็มไปด้วยข่าวลือ และกลอุบายทั่วไป   แต่ก็ยังทรงบัญชาให้จัดกองทัพพม่าบุกไทยอีก เพื่อจับสมเด็จพระเจ้าตากสินให้ได้  ทรงแต่งตั้งให้ "มหาสีหสุระ"  หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ  "อะแซหวุ่นกี้" เป็นแม่ทัพ

          ข้อมูลเกี่ยวกับอะแซหวุ่นกี้ซึ่งไม่ปรากฏในเอกสารของไทยเราคือ   ลูกสาวอะแซหวุ่นกี้เป็นพระชายาเจ้าชายสินคู  (จิงกูจา)  รัชทายาทพระเจ้ามังระ 

 

พม่าหนี   

           เมื่อวันอังคาร ขึ้น  ๔ ค่ำ เดือน  ๕    (ตรงกับวันที่  ๔  เมษายน  พ.ศ.๒๓๑๘)   เวลากลางคืน  พม่าในค่ายเขาชะงุ้มก็ทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ    กองทัพไทยไล่ติดตามไปฆ่าฟันพม่าล้มตาย และจับเป็นเชลยได้เป็นอันมาก    เมื่อหนีไปถึงปากแพรก  ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีกองทัพไทยหมดแล้ว  ก็รีบยกกำลังกลับไปเมืองเมาะตะมะ    (รายละเอียดใน  ธนบุรีสมัย ๓) 

 

แผนการสงคราม มหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ 

          มหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้  เมื่อได้รับสั่งพระเจ้ามังระแล้ว  เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะ  ในเดือน  ๕  ปีมะแม  พ.ศ.๒๓๑๘   ก็ได้รับทราบผลการรบที่บางแก้วจากตะแคงมรหน่อง   คิดว่า  การที่จะเดินทัพเข้าตีกรุงธนบุรีเป็นสองเส้นทาง  คือจากทางเหนือ  และทางตะวันตก  จากด่านพระเจดีย์สามองค์  ซึ่งเป็นการดำเนินกลยุทธเส้นนอก  เห็นจะไม่สำเร็จ  เพราะหากกองทัพทั้งสองเดินทางเข้ามาไม่พร้อมกัน  องค์จอมทัพไทยอาจจะทรงใช้ "กลยุทธเส้นใน"  ทำลายเสียทีละด้านก็ได้    จึงกำหนดแผนการสงครามใหม่  เป็นว่าจะยึดเอาหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยให้ได้เป็นที่มั่นเสียก่อน   เมื่อได้เมืองเหนือแล้วจึงกรีธาทัพลงมาตีกรุงธนบุรีต่อไป   ตามแบบพระเจ้าบุเรงนอง    

          พระเจ้ามังระได้รับหนังสือกราบทูลของอะแซหวุ่นกี้จากเมืองเมาะตะมะว่า  กองทัพแตกจากเมืองไทย  และว่าเมืองไทยบัดนี้กล้าแข็งเพราะมีเมืองเหนือ  จึงขอกองทัพไปตีเอาหัวเมืองฝ่ายเหนือให้ได้เป็นที่มั่นเสียก่อน ตามแนวคิดข้างต้น      พระเจ้ามังระทรงเห็นชอบด้วย

 

เริ่มศึกที่เชียงใหม่

          มหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ จึงสั่งให้โปสุพลากับโปมะยุง่วน  (ซึ่งทิ้งเมืองเชียงใหม่อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ เมื่อ  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๗/๑๘   ไปตั้งหลักที่เมืองเชียงแสน)  ให้มาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ตั้งแต่ฤดูฝนนั้น  (พ.ศ.๒๓๑๘)    และให้สะสมเสบียงอาหาร  และเตรียมเรือลำเลียงอาหารส่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้  ในฤดูแล้ง ถัดไป

          โปสุพลากับโปมะยุง่วน   รวบรวมกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่   ในเดือน  ๑๐  ปีมะแม  พ.ศ. ๒๓๑๘     

          ทางกรุงธนบุรีทราบข่าวจากใบบอกเมืองเชียงใหม่ว่ามีศึกพม่า   จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก ยกทัพเมืองเหนือไปช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่   และเจ้าพระยาจักรี ยกทัพจากกรุงธนบุรีหนุนขึ้นไปอีก      และมีรับสั่งว่า  หากมีชัยต่อกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ แล้ว ให้ขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสนเสียเลย

 

มิทันประดาบก็ถอยทัพ

          โปสุพลากับโปมะยุง่วน เมื่อถึงเมืองเชียงใหม่ก็ตั้งค่ายประชิดเมืองเตรียมเข้าตี  พอดีได้ข่าวว่ามีกองทัพจากเมืองพิษณุโลก  และจากกรุงธนบุรีขึ้นไปช่วย  ก็ถอนทัพกลับไปทางเมืองนาย  หวังจะสมทบกับกองทัพใหญ่ของ อะแซหวุ่นกี้   (โดยยังมิได้รบกับเมืองเชียงใหม่ หรือกองทัพกรุงธนบุรี)     เจ้าพระยาทั้งสองจึงเตรียมกองทัพสำหรับการไล่ติดตาม ต่อไป   แต่โปสุพลา กับโปมะยุง่วนก็ไม่สามารถนำกำลังของตนสมทบกับกองทัพอะแซหวุ่นกี้ได้ทัน

 

มหาสีหสุระมาแล้ว

 

           อะแซหวุ่นกี้    แบ่งกำลัง  ๒๐,๐๐๐  เป็นกองทัพหน้า   ออกจากเมืองเมาะตะมะใช้เส้นทางด่านแม่ละเมา  ตรงเข้าเมืองตาก    

 

           เจ้าพระยาทั้งสองเมื่อได้ทราบข่าวกองทัพพม่า  จึงระงับการไล่ติดตามกองทัพโปสุพลากับโปมะยุง่วน  นำทัพกลับเมืองพิษณุโลก

 

           อะแซหวุ่นกี้เองนำทัพหลวงจำนวน  ๑๕,๐๐๐    ตามเข้ามา   พร้อมด้วย ตะแคงมรหน่อง  และเจ้าเมืองตองอู    หัวเมืองตามรายทางไม่มีกำลังพอต่อสู้ราษฎรต้องอพยพหลบหนี

 

          จากเมืองตาก  กองทัพพม่าผ่านบ้านด่านลานหอยเข้าเมืองสุโขทัย    อะแซหวุ่นกี้ได้ข่าวว่า  "พระยาเสือ"  เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก นำกองทัพไปช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่  จึงให้กองทัพหน้าตั้งที่บ้านกงธานี     ส่วนทัพหลวงตั้งพักที่เมืองสุโขทัย   

 

           เจัาพระยาจักรีนำกำลังตรงมารักษาเมืองพิษณุโลก      แต่เจ้าพระยาสุรสีห์ขอนำทัพแยกไปหยั่งกำลังข้าศึก         พระยาสุโขทัย   พระยาอักขรวงศ์  พระยาพิชัยสงคราม  ไปตั้งรับพม่า   ณ  บ้านกงธานี     
 
 

 

 

 

         กองทัพอะแซหวุ่นกี้  เข้าตีเมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  และกองทัพพระยาสุโขทัยที่ไปตั้งรับพม่า  ณ  บ้านกงธานี แตกแล้ว   ติดตามมาจนถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ที่บ้านไกรป่าแฝก   เจ้าพระยาสุรสีห์สู้รบ อยู่สามวัน    เห็นข้าศึกมากเหลือกำลัง และจะล้อมกองทัพ  จึงเลิกทัพกลับมาเมืองพิษณุโลก     ทางเมืองสวรรคโลก  และเมืองพิชัย

 

           อะแซหวุ่นกี้แบ่งกำลังไว้รักษาเมืองสุโขทัย  ๕,๐๐๐    และนำกำลัง  ๑๐,๐๐๐  ยกไปถึงเมืองพิษณุโลกในเดือน อ้าย  ข้างขึ้น    ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากแม่น้ำ
 

 

 

 

 การรักษาเมืองพิษณุโลก

          ด้านเมืองพิษณุโลก  ได้จัดทหารประจำเชิงเทินปราการนอกเมือง  และทำสะพานเรือก*  ข้ามแม่น้ำกลางเมืองขึ้นสามแห่ง   เพื่อให้การเคลื่อนย้ายกำลังสะดวก  ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถอยู่   รอกองทัพจากกรุงธนบุรีจะยกขึ้นไปเพิ่มเติมกำลัง  
         
      *  สะพานเรือก   คือ สะพานชั่วคราวที่ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกถักด้วยหวายหรือเชือก.

 

 

 

"ขอดูตัว"

          และในระหว่างการสู้รบรักษาเมืองพิษณุโลกนี้เอง  ที่ทำให้แม่ทัพเฒ่าอะแซหวุ่นกี้รู้สึกนิยมชมชอบท่านแม่ทัพหนุ่ม เจัาพระยาจักรี    จึงเกิดการ "ขอดูตัว"  ดังเป็นที่ทราบกันดีทั่วไปแล้ว   จึงขอข้ามไป

 

อะแซหวุ่นกี้ทำศึกข้างหน้า   แต่พะวังหลัง

          หากจะพิจารณาว่า    เหตุใด อะแซหวุ่นกี้จึงไม่เร่งเข้ายึดเมืองพิษณุโลก   หรือเร่งเดินทัพไปกรุงธนบุรีเลย  กลับหยุดทัพอยู่ที่เมืองสุโขทัย    ในหลักฐานที่ปรากฎ  แสดงความคิดของอะแซหวุ่นกี้ว่าเป็นสุภาพบุรุษไม่เข้ายึดเมืองเมื่อไม่มีกองทัพรักษาอยู่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง 

          การไม่เร่งเดินทัพไปกรุงธนบุรี  อาจจะมองได้ว่าท่านต้องการดำรงความมุ่งหมายที่จะยึดเมืองเหนือให้ได้มั่นคงเสียก่อน  ก็ได้  แต่การที่ตั้งทัพที่เมืองสุโขทัยนั้น  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงแสดงเหตุผลว่า  เมืองสุโขทัยอุดมสมบูรณ์กว่าเมืองใกล้เคียงอื่น ๆ  จึงอยู่เพื่อรวบรวมเสบียงอาหารสำหรับกองทัพด้วย

          นายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า  เพราะเมืองพิษณุโลกไม่มีคุณค่าทางการทหาร และ อะแซหวุ่นกี้ต้องการทำลายกองทัพ หรือขวัญกำลังใจของกองทัพ มิได้ต้องการยึดรักษาเมือง   หากรีบยกไปกรุงธนบุรี ก็ยังมีกองทัพไทยอยู่ด้านหลังอีก  เกรงว่าจะต้องรบสองด้าน  จึงต้องการทำลายกองทัพของเจ้าพระยาทั้งสองนี้เสียก่อน

           แต่เมื่อคราวที่    อะแซหวุ่นกี้ได้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีก่อนจากกันได้บอกแก่เจ้าพระยาจักรีว่าขอให้รักษาเมืองให้ดี  เราจะตีเอาเมืองให้จงได้   และแนวความคิดที่ว่า "จะยึดเอาหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยให้ได้เป็นที่มั่นเสียก่อน"  ก็แสดงว่า ฝ่ายพม่า มีความมุ่งหมายจะหัวเมืองฝ่ายเหนือ   จึงไม่รีบเข้าไปตีกรุงธนบุรี

          ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง  ก็คือ   สถานการณ์ทางการเมืองของพม่าในระยะนั้น   ซึ่งน่าจะทำให้ขุนพลเฒ่ากังวลใจมาก   เพราะพระเจ้ามังระทรงพระประชวร  ภายในราชสำนักพม่าก็เต็มไปด้วยข่าวลือ และกลอุบายทั่วไป  อะแซหวุ่นกี้จึงต้องห่วงใยอนาคตของรัชทายาทพม่า อยู่เองเป็นธรรมดา

          ดังนั้น    การที่อะแซหวุ่นกี้ไม่เข้ายึดเมืองพิษณุโลก  และไม่รีบนำทัพสู่กรุงธนบุรี  น่าจะเป็นเพราะเกรงว่าอาจจะนำกองทัพเข้าติดพันกับสถานการณ์อันยุ่งยากที่จะถอนทัพแต่ต้องการให้มีเสรีในการปฏิบัติที่สามารถจะเดินทางกลับกรุงรัตนปุรอังวะได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางในในราชสำนักพม่า

 

กรุงธนบุรี 

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้รับใบบอก  จากหัวเมืองทางใต้ว่า  กองทัพพม่ายกมาจากเมืองตะนาวศรี    จึงทรงจัดกองทัพให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม  (เจ้ารามลักษณ์)  นำไปตั้งที่เมืองเพชรบุรี    แล้วทรงนำกองทัพจำนวน  ๑๒,๐๐๐    จากกรุงธนบุรี ขึ้นไปเมืองพิษณุโลก    เมื่อ  เดือนยี่  แรม  ๑๑  ค่ำ  ปีมะแม   

              (แรม  ๑๑ ค่ำ เดือน ยี่  ปีมะแม  จ.ศ.๑๑๓๗    ตรงกับวันอังคาร   วันที่  ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙  - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)http://www.payakorn.com)

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงใช้หลักการระวังป้องกัน เป็นอย่างยิ่ง  เพราะขณะนี้เท่าที่ทรงทราบ  ฝ่ายพม่า ได้ล้อมเมืองพิษณุโลก  และมีกำลังส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองสุโทัย    และกองทัพพม่าก็กำลังมาจากเมืองตะนาวศรีอีกทางหนึ่ง   

          ดังนั้น  จึงน่าจะทรงพระดำริว่า  จะต้องควบคุมรักษาเส้นทางการเดินทัพจากเมืองพิษณุโลกถึงกรุงธนบุรีไว้ให้ได้    เมื่อทรงนำทัพหลวงถึงเมืองนครสวรรค์แล้ว    จึงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีคุมกำลังจำนวน  ๓,๐๐๐   ตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์เพื่อรักษาเส้นทาง  และป้องกันกองทัพพม่าซึ่งอาจจะยกลงมาทางลำน้ำปิง    ส่วนพระองค์ทรงนำทัพหลวงไปตามลำน้ำแควใหญ่ แม่น้ำน่าน  ไปถึงปากพิง   แขวงเมืองพิษณุโลก  และทรงตั้งค่ายหลวง   ที่ปากพิง    เมื่อวันเสาร์  ขึ้น  ๗ ค่ำ เดือน  ๓ ปีมะแม จ.ศ.๑๑๓๗   ตรงกับ  วันที่  ๒๗  มกราคม  พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙  (การตรวจสอบของ   http://www.payakorn.com)

 

 

         เหตุที่ทรงตั้งค่ายหลวงที่ปากพิง นั้น   น่าจะทรงพิจารณาว่า  ปากพิงอยู่ใต้เมืองพิษณุโลก ห่างเป็นระยะเดินวันหนึ่ง  (ประมาณ  ๒๕ - ๓๐  กิโลเมตร)  เป็นปมคมนาคมทางน้ำ   เนื่องจากเป็นปากคลองลัดระหว่างแม่น้ำยม กับแม่น้ำน่าน  (ประมาณ  ๕  กิโลเมตร)  เป็นการป้องกันไม่ให้พม่าเพิ่มเติมกำลังทางน้ำได้    และจากค่ายหลวงที่ปากพิงนี้  ทรงวางกำลังคุ้มครองเส้นทางตลอดถึงเมืองพิษณุโลก   เป็น  ๕  ค่าย  คือ

                กองที่  ๑    พระยาสุภาวดีเป็นนายทัพ    ตั้งที่บางทราย
 
               กองที่  ๒    เจ้าพระยาอินทรอภัยเป็นนายทัพ    ตั้งที่ท่าโรง

               กองที่  ๓    พระยาราชภักดีเป็นนายทัพ    ตั้งที่บ้านกระดาษ

               กองที่  ๔    จมื่นเสมอใจราชเป็นนายทัพ    ตั้งที่วัดจุฬามณี    

               กองที่  ๕    พระยานครสวรรค์เป็นนายทัพ    ตั้งที่วัดจันทร์  ท้ายเมืองพิษณุโลก
 
          ภารกิจ    ให้จัดกองลาดตระเวนออกตรวจตรา รักษาเส้นทางคมนาคมทุกระยะ

          นอกจากนี้    ทรงจัดให้มีกองปืนใหญ่ทหารเกณฑ์หัดเตรียมไว้เป็นกองหน้า สำหรับจะให้ไปช่วยกองทหารที่ตั้งไว้รายทางไหนๆ ได้ในเวลาต้องการได้ทันท่วงที       กองปืนใหญ่นี้  หากจะเทียบกับ "การจัดปืนใหญ่เข้าทำการรบ" ในปัจจุบัน  ก็คือจัดปืนใหญ่ทั้งหมดเข้าไว้เป็นปืนใหญ่ช่วยส่วนรวม  อยู่ในมือแม่ทัพใหญ่ที่จะใช้บังคับวิถีการรบได้  (ไม่ใช่จัดปืนใหญ่เป็นกองหนุน  นะครับ)

 

          ในด้านการเตรียมพื้นที่การรบ  ทรงให้พระศรีไกรลาศ  คุมกำลังพล  ๕๐๐     ทำทางริมลำน้ำเพื่อใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายกำลังตั้งแต่ปากพิง ผ่านค่ายต่างตลอดถึงเมืองพิษณุโลกได้สะดวก และรวดเร็ว

 

          ในด้านกำลังรบเปรียบเทียบ  ฝ่ายพม่ามีกำลังพลมากกว่าฝ่ายไทย  ประมาณ  ๓  ต่อ  ๒    แต่ไทยมีปืนใหญ่มากกว่า   ไทยจึงมีอำนาจการยิง และมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อมที่สูงกว่า  เนื่องจากมีเรือรบ  สามารถเคลื่อนย้ายกำลังรบ  และส่งกำลังบำรุงทางลำน้ำได้ดีกว่า

 

 

 

          ปัญหาของทั้งสองฝ่าย คือ  การจัดหาเสบียงอาหาร  เพราะพ้นฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว   ฝ่ายพม่าซึ่งคาดหวังว่าจะได้เสบียงอาหารจากเมืองเชียงใหม่  และจากเมืองเหนืออื่นๆ  ก็ไม่ได้ดังคาดแม้ว่าจะตั้งรวบรวมเสบียงอยู่ที่เมืองสุโขทัย  ก็คงไม่ได้เต็มที่    ส่วนฝ่ายไทย   น่าจะได้เปรียบกว่า  เพราะสามารถรวบรวมได้กว้างขวางกว่า   เพราะเมื่อปีก่อน  ช่วงปลายสงครามที่บางแก้ว ก็โปรดให้มีตราเกณฑ์ข้าวสาร เมืองนครศรีธรรมราช   ๖๐๐ เกวียน เมืองไชยา  เมืองพัทลุง และเมืองจันทบุรี  เป็นข้าวสารเมืองละ  ๔๐๐ เกวียน  ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม และในสงครามนี้  ก็ทรงวางกำลังไว้ที่เมืองนครสวรรค์ ด้วย  ซึ่งสามารถรวบรวมเสบียงอาหารได้อีกส่วนหนึ่ง
         
          สงครามคราวนี้ฝ่ายไทยต้องการรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ให้ได้  เพราะเหมือนกับเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางเหนือ   หากพม่ายึดได้แล้วแทบจะไม่มีเมืองใดที่จะเป็นที่มั่นต้านทานกองทัพพม่าได้    ดังนั้น  ฝ่ายไทยจึงทุ่มเทความพยายาม และทรัพยากรเท่าที่รวบรวมได้ให้เมืองพิษณุโลก  ดังที่ได้ว่ามาแล้ว

          ฝ่ายพม่า  ก็พยายามที่จะปิดล้อมให้เมืองพิษณุโลกขาดแคลนอาหาร  (ฤๅจะแก้ตัวที่ค่ายบางแก้ว และค่ายเขาชะงุ้มเคยถูกฝ่ายไทยล้อมให้อดอาหารเมื่อปีก่อน)     จึงพยายามทำลายทหารไทยที่รักษาเส้นหลักการส่งกำลังบำรุง  ปากพิง - พิษณุโลก ให้ได้

 

พม่าพยายามทำลายเส้นทางส่งกำลังของไทย 

           ในวันอังคาร   ขึ้น   ๑๐ ค่ำ เดือน  ๓  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๓๗   ตรงกับ     วันที่  ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙   (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)     อะแซหวุ่นกี้จัดกำลังมาตั้งค่ายหน้าค่ายจมื่นเสมอใจราช  ที่วัดจุฬามณี  ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน    และจัดกำลังอีกกองหนึ่งลาดตระเวน  (ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านเช่นกัน)  ตั้งแต่บางกระดาษ  ถึงบางทราย    หน่วยลาดตระเวนพม่านี้ได้ปะทะกับกำลังฝ่ายไทย    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดปืนใหญ่รางเกวียน   จำนวน  ๓๐  กระบอก  ขึ้นไปสนับสนุนพระยาสุภาวดี ที่ค่ายบางทราย    ได้รบกันจนค่ำฝ่ายพม่าจึงถอยกลับไป

          อีก  ๒  วันต่อมา  คือวันพฤหัสบดี ที่  ๑  กุมภาพันธ์  ๒๓๑๘/๑๙     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพหลวงไปตั้งที่บางทรายฝั่งตะวันออก  ทำให้กำลังที่บางทรายเข้มแข็งขึ้นและในคืนนี้  พม่าได้ยกมาทางฝั่งตะวันตกเข้าตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัย ที่ท่าโรง    ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ    ฝ่ายไทยจัดปืนใหญ่เข้าสนับสนุน   ฝ่ายพม่าเข้าตีไม่สำเร็จ  แตกพ่ายกลับไป

 

           กำลังพม่าที่ใช้ในสองวันที่กล่าวมาแล้วนี้       อะแซหวุ่นกี้จัดกำลังจามกองทัพใหญ่ซึ่งล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่   ครั้นจะจัดมามากนักก็ไม่ได้  เพราะเกรงว่าจะถูกตีจากในเมือง   จึงสั่งใช้กองหนุนที่เมืองสุโขทัย   ให้จัดกำลัง  ๓,๐๐๐  แยกลงมาทำลายค่ายทหารไทยที่รักษาเส้นทาง ปากพิง - พิษณุโลก   ส่วนอีก  ๒,๐๐๐  ให้ส่งไปเพิ่มเติมกองทัพใหญ่

 

 

 

กระบวนศึกตอนที่ ๒

ไทยพยายามเข้าตีค่ายพม่า

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่าพม่าถอนกลับไปทางเมืองพิษณุโลกแล้ว    ก็ทรงเตรียมการเข้าตีค่ายพม่าบ้าง

             ทรงให้  - พระยารามัญวงศ์คุมกองทหารมอญ  ผ่านเมืองพิษณุโลกเข้าไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่าทางทิศเหนือ

                    - เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์  ออกไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่าทางตะวันออก

                    - พระยานครสวรรค์  ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายวัดจันทร์   ตั้งค่ายชักปีกกาประชิดค่ายพม่าเป็นหลายค่าย

           ผลการปฏิบัติ

               ด้านเหนือ     กองทหารมอญของพระยารามัญวงศ์ถูกพม่าเข้าตี    แต่ทหารมอญก็ได้ต่อสู้จนทหารพม่าต้องถอนตัวกลับเข้าค่าย   กองทหารมอญสามารถตั้งค่ายได้

               ด้านตะวันออก     กองทัพของเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์ที่ยกออกไปจากเมืองพิษณุโลกไปตั้งค่ายประชิดค่ายพม่า    ทีแรกถูกพม่ารบชิงเอาค่ายได้   เจ้าพระยาสุรสีห์จึงต้องออกบัญชาการรบเองจนชิงเอาค่ายคืนมา  และตั้งค่ายประชิดค่ายพม่าได้ตลอดแนวด้านตะวันออก    พม่าพยามยามเข้าตีค่ายนี้อีกหลายครั้ง   แต่ไม่สำเร็จ  จึงใช้วิธีขุดคูเข้ามา   ฝ่ายไทยก็ขุดคูออกไปบ้าง    เมื่อคูทะลุถึงกัน จึงได้รบกันในคู   รบกันอยู่หลายวันไม่ได้เพลี่ยงพล้ำแก่กัน


 

 

ข้างแรมอ่อนๆ   เข้าตีใต้แสงจันทร์

          จนกระทั่ง  วันอังคาร  เดือน ๓  แรม  ๒ ค่ำ ตรงกับ วันที่  ๖  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙   เวลากลางคืน  ๒๒  นาฬิกา   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปยังค่ายวัดจันทร์ ของพระยานครสวรรค์  รับสั่ง ให้กองทัพไทยที่ตั้งค่ายประขิดค่ายพม่าให้เข้าระดมตีค่ายพม่าที่ล้อมเมืองข้างด้านตะวันออกพร้อมกันทุกๆ  ค่าย   ในเวลา  ๕  นาฬิกา     และทรงให้กองทัพพระยายมราช  พระยานครราชสีมา  พระยาพิชัยสงคราม  ยกหนุนไปช่วยพระยานครสวรรค์ทางด้านใต้

          ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ เห็นฝ่ายไทยเตรียมการทางด้านตะวันออกเป็นการคึกคักมาหลายวัน  ก็คาดว่าฝ่ายไทยน่าจะมีการปฏิบัติในด้านนี้    จึงดึงเอากำลังจากด้านอื่นมาคอยต้อนรับการเข้าตีของฝ่ายไทย

          ผลการปฏิบัติ

                     ฝ่ายไทยให้สัญญาณเข้าตีในเวลา  ๕  นาฬิกา   เข้าระดมตีค่ายพม่าที่ล้อมอยู่ด้านตะวันออกพร้อมกันทุกค่าย   รบกันจนสว่างก็ยังตีค่ายพม่าไม่ได้  เพราะพม่าได้เสริมกำลังไว้ดังได้กล่าวแล้ว   จึงจำต้องถอยออกมา

 

ปรับแผนการเข้าตี

          ในวันรุ่งขึ้น    ฝ่ายไทยได้หารือกันที่ค่ายวัดจันทร์และได้ปรับแผนการเข้าตีดังนี้

               เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์    ยกกำลังจากในเมืองเข้าตีค่ายด้านตะวันตกเฉียงใต้

               กองทัพหลวงจัด  ๑  กองตีกระหนาบทางด้านหลัง 

          เมื่อทรงหารือและปรับแผนเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปประทับแรมที่ค่ายท่าโรง 

           กองทหารที่กองทัพหลวงจัดขึ้น  ๑  กองนั้น   ประกอบด้วย    กองทัพพระยานครสวรรค์  (จากค่ายวัดจันทร์)   กองทัพพระโหราธิบดี   และ กองมอญ ของพระยากลางเมืองจากค่ายบางทราย     รวมรี้พลได้  ๕,๐๐๐    ให้พระยามหามณเฑียร  เป็นแม่ทัพ      พระยานครสวรรค์  เป็นกองหน้า   หลวงดำเกิงรณภพ  หลวงรักษ์โยธา  เป็นกองหนุน  ยกขึ้นไปซุ่มอยู่ด้านหลังค่ายพม่าฝั่งตะวันตก

          ทางด้านกองหนุนของพม่าที่เมืองสุโขทัย เมื่อได้รับคำสั่งจากอะแซหวุ่นกี้ ให้จัดกำลัง  ๓,๐๐๐  แยกลงมาทำลายค่ายทหารไทยที่รักษาเส้นทาง ปากพิง - พิษณุโลก    ส่วนอีก  ๒,๐๐๐  ให้ส่งไปเพิ่มเติมกองทัพใหญ่   ตั้งแต่วันพฤหัสบดี ที่  ๑  กุมภาพันธ์  ๒๓๑๘/๑๙  นั้น    กองสอดแนมของพระยาสุโขทัยได้ทราบความ  จึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในวันเสาร์ที่  ๑๐  กุมภาพันธ์   พ.ศ. ๒๓๑๘/๑๙     แต่กองทัพพระยามหามณเฑียรได้ออกเดินไปแล้ว    จึงโปรดให้พระยาราชภักดี  กับพระยาพิพัฒน์โกษา  ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบางกระดาษให้ลงมาช่วยพระยาราช่าเศรษฐีรักษาเมืองนครสวรรค์    และให้กองมอญของพระยาเจ่ง  กับกองหลวงภักดีสงคราม  รวม  ๕๐๐  เป็นหน่วยลาดตระเวน  ไปตั้ง  ณ  บ้านลานดอกไม้  ข้างเหนือเมืองกำแพงเพชร  คอยค้นหาข้าศึก   หากพบ และได้ทีก็ให้โจมตี  ถ้าไม่ได้ทีก็ให้ล่าถอยมา   และให้พระยาธรรมายกไปหนุนพระยามหามณเฑียร  อีกกองหนึ่ง   (กองทัพพระยามหามณเฑียร คงปฏิบัติภารกิจเดิมต่อไป)

 

          ผลการปฏิบัติ

          เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์    ยกกำลังจากในเมืองเข้าตีค่ายด้านตะวันตกเฉียงใต้   ในวันเสาร์ ที่  ๑๐  กุมภาพันธ์   พ.ศ. ๒๓๑๘/๑๙      ตามรับสั่ง    เจ้าพระยาสุรสีห์ให้เอาผ้าชุบน้ำมันยางผูกปลายไม้ทำคบ  และเอาต้นคบยัดในกระบอกปืนใหญ่   เอาไฟจุดปลายคบแล้วยิงเข้าไปในค่ายพม่า   สามารถเผาค่าย และหอรบพม่าได้ หลายหอ   หทารพม่าออกมาดับไฟก็ถูกปืนใหญ่ไทยยิงบาดเจ็บล้มตาย เป็นอันมาก

 

          เจ้าพระยาสุรสีห์ท่านสามารถใช้ประโยชน์จากปืนใหญ่ได้อย่างดี    การปฏิบัตินี้ก็คือการเลือกใช้กระสุนให้เหมาะกับเป้าหมาย  หากใช้กระสุนลูกเหล็กกลมธรรมดา  หากถูกเป้าหมายก็ได้แต่พังทลาย  แต่ท่านใช้กระสุนเพลิง  มีผลในการเผาผลาญเป้าหมายที่ลุกไหม้ได้ง่าย

 

พระยามหามณเฑียรไปไม่ถึงพื้ที่การรบ

          ส่วนกองทัพกระหนาบของพระยามหามณเฑียรนั้น    เมื่อกองหน้าของพระยานครสวรรค์ไปถึงบ้านส้มป่อย  ได้ปะทะกับกองทหารพม่า  ซึ่งคาดว่าเป็น  กองทียกมาจากเมืองสุโขทัยเพื่อไปเมืองพิษณุโลก (จำนวน ๒,๐๐๐)จึงไม่สามารถเดินทางไปถึงพื้นที่การรบได้

          เจ้าพระยาจักรี  และเจ้าพระยาสุรสีห์ก็เพียงแต่รักษาค่ายมั่นอยู่

 

 

 

กระบวนศึกตอนที่ ๓

          อะแซหวุ่นกี้สังเกตเห็นว่ากำลังฝ่ายไทยที่ตั้งค่ายรายทางรักษาเส้นทางคมนาคม  ปากพิง - พิษณุโลก  เบาบางลง    จึงจัดกำลังให้กะละโบ่เป็นนายทัพ ตั้งสกัดตัดขบวนลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งไปให้เมืองพิษณุโลก   และตีตัดเอาไปได้เป็นหลายครา  (ชะรอยฝ่ายไทยจะจัดกำลังคุ้มกันไม่เข้มแข็งพอ) 

          ฝ่ายไทยจึงปรับวิธีการ  ให้พระยานครราชสีมา คุมกำลังคุ้มกันขึ้นไป  และเจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกำลังจากเมืองพิษณุโลกลงมารับ  แต่ก็ถูกกองกำลังกะละโบ่ตีสกัดไว้    ฝ่ายไทยไม่สามารถส่งเสบียงอาหารไปให้เมืองพิษณุโลกได้อีก

 

 

 

          กะละโบ่นี้  เป็นนายทหารที่มีฝีมือเข้มแข็งท่านหนึ่ง   ถึงกับเป็นที่สรรเสริญอยู่ในพระราชพงศาวดาร และพงศาวดาร พม่าทีเดียว

 

ศึกเสือ  -  เหนือใต้

          ครั้นแรม  ๑๒ ค่ำ เดือน  ๓  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๓๗  ตรงกับวันศุกร์   วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙   กรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นมาว่า  กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านสิงขร  ตีได้เมืองกุย  เมืองปราณ    กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบุรี แต่งกองทหารไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบในแขวงเมืองเพชรบุรี     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตรแบ่งกองทัพลงมารักษากรุงธนบุรีอีกกองหนึ่ง    ทำให้กำลังกองทัพหลวงลดลงไปอีก

 

 

กำแพงเพชร

          ทางด้านกองมอญของพระยาเจ่ง  กับกองหลวงภักดีสงคราม  รวม  ๕๐๐  ซึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวน  ไปตั้ง  ณ  บ้านลานดอกไม้  ข้างเหนือเมืองกำแพงเพชร  คอยค้นหาข้าศึกนั้นได้เข้าที่ซุ่มอยู่  เมื่อเห็นทหารพม่า (ที่มาจากเมืองสุโขทัย) ก็เข้าโจมตีทันที  พม่าแตกหนีไป  แต่เมื่อทหารพม่าส่วนใหญ่มาถึงมีกำลังมากกว่า   พระยาเจ่งจึงต้องถอนตัว  แต่ถึงกระนั้น  ก็ยังได้เครื่องศาสตราวุธของพม่าส่งมาถวายจำนวนหนึ่ง
 
          ทหารพม่าส่วนนี้ได้รับคำสั่งให้ไปตีเมืองนครสวรรค์เพื่อทำลายแหล่งเสบียงอาหารที่ส่งไปเมืองพิษณุโลก    แต่เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้พระยาราชภักดี  กับพระยาพิพัฒน์โกษา   ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบางกระดาษให้ลงมาช่วยพระยาราชาเศรษฐีรักษาเมืองนครสวรรค์ ก่อนแล้ว    กองกำลังของพม่ามาถึงเมืองกำแพงเพชรได้ข่าวว่า   ฝ่ายไทยป้องกันเมืองนครสวรรค์เข้มแข็ง   เห็นว่ากำลังฝ่ายตนเพียง  ๓,๐๐๐  ไม่พอที่จะเอาชนะได้    จึงตั้งค่ายอยู่ที่ บ้านโนนศาลา  บ้านถลกบาตร  และบ้านหลวง  แขวงเมืองกำแพงเพชร   แล้วแต่งกองโจรเดินเข้าป่าอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ไปเมืองอุทัยธานี กองหนึ่ง   และกองนี้ได้เผาบ้านอุทัยธานี

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบสถานการณ์นี้  จึงทรงปรับการวางกำลัง  ดังนี้

          ๑,  จัดกำลังจากกองทัพหลวง  ๑,๐๐๐  ให้เจ้าอนุรุธเทวา  เป็นนายกอง  มีภารกิจป้องกันขบวนลำเลียงเสบียงอาหาร และเครื่องศาตราวุธที่ส่งมาจากทางใต้   แบ่งออกเป็น  ๓  กองย่อย คือ   กองที่  ๑  ให้ขุนอินทรเดช  เป็นนายกอง    กองที่  ๒  ให้หลวงปลัด  เป็นนายกอง  กับให้หลวงสรวิชิตซึ่งเป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี เป็นกองหน้า    กองที่  ๓  ให้เจ้าเชษฐกุมาร  เป็นนายกอง

          ๒.  แบ่งคนจากกองอาจารย์  ลงมาช่วยที่เมืองนครสวรรค์  และให้ลงไปตั้งที่บ้านคุ้งสำเภา    แขวงเมืองชัยนาทอีกกองหนึ่ง

          ๓.  ให้ถอนกองทัพพระโหราธิบดี   จากใต้ใต้เมืองพิษณุโลก    หลวงรักษ์มณเฑียร  จากค่ายท่าโรง ข้างเหนือปากพิง    มาตั้งค่ายที่โคกสลุด  แขวงเมืองพิจิตร

          ๔,  ให้พระยานครชัยศรี    มาตั้งที่โพธิ์ประทับช้าง  ใต้โคกสลุดลงไปอีกกองหนึ่ง

 

ประชุมปรับแผนการทัพ

           ครั้นวันแรม  ๑๓ ค่ำ เดือน  ๓  ปีมะแม    ตรงกับวันเสาร์   วันที่  ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙  (ใน "ไทยรบพม่า" ว่าเป็นวันอาทิตย์)   รับสั่งให้หาเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์มาเฝ้าที่ค่ายท่าโรง   แต่เจ้าพระยาจักรีป่วย  มาเฝ้าแต่เจ้าพระยาสุรสีห์     ทรงปรึกษาโดยพระราชดำริจะผ่อนกองทัพหลวงลงไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์เพื่อป้องกันเสบียง    ให้เจ้าพระยาทั้งสองป้องกันรักษาเมืองพิษณุโลก

          ทั้งนี้  เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า  กำลังฝ่ายไทยเราน้อยกว่าพม่า   และต่างฝ่ายต่างขาดแคลนเสบียงอาหาร   หากฝ่ายเรารักษาชัยภูมิ เมืองสำคัญอู่ข้าวอู่น้ำไว้ให้ได้  และตัดเสบียงอาหารจนพม่าอดหยากระส่ำระสายแล้ว  จึงใช้กำลังเข้าระดมโจมตี   แต่ในระหว่างนี้ เจ้าพระยาทั้งสองจะต้องรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ให้ได้

          ฝ่ายแม่ทัพเฒ่าอะแซหวุ่นกี้  ก็ตระหนักในปัญหานี้เช่นกัน  และพยายามรวบรวมกำลังเพื่อเข้าตีกองทัพกรุงธนบุรีไม่ให้คุ้มครองป้องกันเมืองพิษณุโลกให้ได้

          ในวันขึ้น  ๒ ค่ำ เดือน  ๔ ปีมะแม    ตรงกับวันอังคาร    วันที่  ๒๐  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๘/๑๙  กองสอดแนมจากค่ายหลวงที่ปากพิงตรวจพบว่าพม่าเตรียมตั้งค่ายในคลองพิง  (ห่างเข้าไปสัก  ๓  คุ้ง)    จึงรับสั่งให้หลวงวิสูตรโยธามาตย์  หลวงราชโยธาเทพ  นำปืนใหญ่รางเกวียนจำนวน  ๘  กระบอก  ขึ้นไปสนับสนุนค่ายปากพิงฝั่งตะวันตก

           และในค่ำวันนี้  พม่าก็ได้เข้ามาประชิดค่ายพระยาธรรมา  และพระยานครสวรรค์ที่บ้านแขก  ๔  ค่าย  แล้วมีทีท่าว่าจะตั้งค่ายโอบต่อลงมา  (สันนิษฐานกันว่า บ้านแขกน่าจะอยู่แถวบ้านบางกระดาษ) 

          วันรุ่งขึ้น  วันพุธที่  ๒๑  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนืนด้วยพระบาทจากค่ายบ้านท่าโรง ขึ้นไปถึงบ้านแขก (ที่พม่าจะตั้งค่ายโอบ)   รับสั่งพระยาสีหราชเดโชชัย กับจมื่นทิพเสนา  ยกกองไปช่วยพระยานครสวรรค์รักษาค่าย    แล้วรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีมาเฝ้าหารือการทัพที่ค่ายบ้านท่าโรง

 

ความมุ่งหมายเดียวกัน  หนทางปฏิบัติที่แตกต่าง

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริว่ากองทัพกรุงธนบุรี เห็นจะตั้งรบพุ่งกองทัพพม่าไม่ไหวจะถอนลงมาตั้งที่แขวงเมืองพิจิตร   แต่สองเจ้าพระยาต้องรักษาเมืองพิษณุโลกให้ได้  ซึ่งจะมีข้อดีคือ

          - ฝ่ายเรามีเสรีในการปฏิบัติที่จะคอยตีตัดเสบียงอาหารฝ่ายพม่า

          - เป็นการล่อกองทัพพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกให้ติดตามลงมา  จะทำให้การล้อมเมืองต้องอ่อนกำลังลง  และอาจจะทำลายกองทหารพม่าในการรบกลางแปลงได้บ้าง

          แต่ข้อเสียก็มี  เช่น

          - เมืองพิษณุโลกต้องต่อสู้ตามลำพัง  ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนอาหาร  อย่างไม่มีกำหนด  

          เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าในสถานการณ์ขาดแคลนอาหารทั้งเมืองเช่นนี้  หากกองทัพกรุงธนบุรีถอน  ก็ควรทิ้งเมืองพิษณุโลกเสียให้หมดห่วง  แล้วไปรวบรวมผู้คนกลับมารบเอาใหม่  (ท่านเจ้าพระยาจักรีอาจจะประมาณสถานการณ์แล้วว่าไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้แน่ เพราะไม่สามารถหาเสบียงอาหารมาเลี้ยงดูพลเมือง และทหารได้   กว่ากองทัพพม่าจะระส่ำระสาย  กองทัพไทยจะหมดกำลังเสียก่อน)

           การปรึกษาการทัพครั้งนี้ดำเนินไปจนค่ำก็ยังไม่ทันได้ข้อสรุป    ก็พอดี

          ฝ่ายพม่าได้เข้าตีค่ายที่ปากพิง  เสียงปืนดังไปถึงค่ายหลวงที่บ้านท่าโรง   จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีอยู่รักษาค่ายหลวง   ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพเรือลงมาช่วยรักษาค่ายปากพิง  ตั้งแต่เวลา ๓  นาฬิกา    พอ  ๕  นาฬิกา  พม่าก็เข้าตีค่ายพระยาธรรมไตรโลก และพระยารัตนพิมลข้างด้านคลองกระพวง   รบกันจนรุ่งสว่าง 

 

การรบที่ปากพิง 

          วันรุ่งขึ้น  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จข้ามสะพานเรือกไปฝั่งตะวันตก    ทรงนำกำลังไปช่วยรบพม่ารักษาค่ายคลองกระพวง   และทรงจัดกำลังเข้าไปเพิ่มเติม  และตีกระหนาบด้วย

 

เจ้าพระยาจักรีกลับเมืองพิษณุโลก . . . เตรียมการ . . .

          ส่วนเจ้าพระยาจักรีอยู่ที่ค่ายหลวงท่าโรงจนเช้า  ฝ่ายพม่ามิได้มาเข้าตีจึงได้มอบให้พระยาเทพอรชุน  และพระวิชิตณรงค์  รักษาการ แล้วจึงเดินทางกลับเมืองพิษณุโลก    ได้หารือกับเจ้าพระยาสุรสีห์เห็นพ้องต้องกันว่า  ในเมืองขัดสนเสบียงอาหารเป็นยิ่งนัก    พลเมืองและทหารอดหยาก  อ่อนแรงอิดโรยลงทุกที   จึงเตรียมวางแผนการถอนตัว   

          ในชั้นต้น    ได้สั่งให้ค่ายที่ตั้งประชิดค่ายพม่าถอนเข้ามาในเมือง    พม่าก็ตามมาตั้งค่ายชิดกำแพงเมือง และพยายามเข้าปล้นเมือง    ฝ่ายไทยก็ใช้ปืนใหญ่น้อยระดมยิงจนพม่าต้องถอยกลับไป    และยิงปืนใหญ่โต้ตอบกัน        

 

 

ทางด้านคลองกระพวง

          วันเสาร์ ขึ้น  ๖ ค่ำ เดือน  ๔ ปีมะแม    ตรงกับ วันที่  ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙     ฝ่ายไทยเข้าตีค่ายพม่าที่คลองกระพวง  ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถถึงใช้อาวุธสั้นแต่ฝ่ายพม่ามีกำลังมากกว่านัก  ฝ่ายไทยไม่สามารถตีค่ายพม่าได้

          รุ่งขึ้นวันอาทิตย์  ที่  ๒๕   กุมภาพันธ์  ฝ่ายไทยให้กองทัพเจ้าพระยาอินทรอภัย  จากค่ายท่าโรง และกองมอญของพระยากลางเมือง  มาเสริมกำลังที่ปากพิงอีก      ในตอนค่ำ  พม่าเข้าตีค่ายไทยรบพุ่งกันเป็นสามารถก็ตีไม่ได้    ต่างตั้งรากันอยู่    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระยายมราชนำกำลังมาจากค่ายวัดจันทร์  และให้ถืออาญาสิทธิ์บังคับบัญชาทหารไทยในการรบที่คลองกระพวง

          วันอังคาร  ที่  ๒๗  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙     อะแซหวุ่นกี้ให้กะละโบ่ยกมาตีค่ายที่เหนือปากพิง   กะละโบ่ยกมาประชิดค่ายพระยานครสวรรค์ที่บ้านแขก  ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ   ครั้นอีกสองวัน  ก็ข้ามน้ำมาเข้าตีค่ายทหารไทยทางฝั่งตะวันออกได้    แต่ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายไทยก็รบชิงเอาค่ายคืนมาได้  พม่าก็ถอยกลับไปค่ายเดิม  และต่างก็ตั้งมั่นกันอยู่

 

 

พม่าพยายามโอบหลังกองทัพหลวง

          อะแซหวุ่นกี้ให้มังแยยางูนำกองทัพข้ามฟากมาโอบหลังกองทัพหลวงที่ปากพิงด้านตะวันออก   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่ากำลังข้าศึกมากนัก   จึงทรงให้ถอนลงมาตั้งที่บางข้าวตอก  แขวงเมืองพิจิตร    กำลังที่ตั้งตามเส้นทางก็ทะยอยถอนตามลงมา

          กระบวนศึกตอนที่ ๓  ก็ผ่านไปโดยที่ฝ่ายเราดูจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ      ดูกระบวนศึกตอนต่อไปนะครับ

 

 

กระบวนศึกตอนที่  ๔

         เจ้าพระยาจักรีเมื่อกลับถึงเมืองพิษณุโลก  เมื่อวันที่  ๒๒  กุมภาพันธ์   นั้น    ครั้นแรม  ๑๑ ค่ำ เดือน  ๔   ปีมะแม    ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๑๕  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๑๘/๑๙      ทางเมืองพิษณุโลกทราบว่ากองทัพหลวงย้ายที่ตั้งไปเมื่อวันก่อนแล้ว  จึงเตรียมการถอนตัว

การเตรียม

          -  ระดมยิงปืนใหญ่น้อยอย่างหนัก  หนาแน่นกว่าแต่ก่อน  ทั้งวัน ตั้งแต่เช้า

          -  เอาวงปี่พาทย์ขึ้นไปตีบรรเลงตามป้อมต่างๆ  เพื่อลวงให้ข้าศึกเข้าใจว่าเตรียมการต่อสู้เป็นนานวัน

 

 

การจัด

          -  จัดกำลังรบได้จัดเป็น  ๓  กอง  คือ

               -  กองระวังหน้า   เลือกพลรบที่กำลังแข็งแรง   สำหรับตีฝ่าข้าศึก  เปิดช่องให้ฝ่ายเราตามออกไป

               -  กองกลาง    มีหน้าที่ดูแล  อำนวยความสะดวก  ครอบครัวราษฎร    ส่วนราษฎรวัยฉกรรจ์ทั้งชาย หญิงก็ได้รับเครื่องศาสตราวุธให้สามารถป้องกันตนได้

               -  กองระวังหลัง    เป็นทหาร  มีภารกิจป้องกันท้ายขบวน 

การปฏิบัติ

          เวลาค่ำ  ประมาณ  ๒๑  นาฬิกา    เปิดประตูเมืองด้านตะวันออก  กองหน้าก็ตีออกมา    พม่าออกต้านทานจนรบกันถึงขั้นตะลุมบอน    แต่กองหน้าก็สามารถตีฝ่าเปิดทางออกมาได้  และมุ่งหน้าไปบ้านมุง ดอนชมพู   มุ่งสู่เมืองเพชรบูรณ์    ส่วนครอบครัวนั้นมีเป็นจำนวนมาก   ตามกองหน้าไปก็มี  ที่แยกไปหากองทัพหลวงที่บางข้าวตอก  ก็มี  ที่กระปลกกระเปลี้ยตามไม่ทันถูกพม่าจับ ก็มี   

 

          ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ก็เข้าตั้งในเมือง  และจัดกองทหารออกติดตามกองทหารไทย และหาเสบียงอาหาร  สองกองคือ   มังแยยางู  ยกไปทางเมืองเพชรบูรณ์  และกะละโบ่ยกไปทางเมืองกำแพงเพชร

 

พระเจ้ามังระสวรรคต  -  มหาสีหสุระถอนทัพ

          พ.ศ.๒๓๑๙    พระเจ้ามังระสวรรคต      บรรดาขุนนางและเสนาอำมาตย์ซึ่งแตกออกเป็นพวก ๆ อยู่แล้ว   ต่างก็สนับสนุนเชื้อพระวงศ์ที่ฝ่ายตนสนับสนุน ให้ได้ราชบัลลังก์    ส่วนอะแซหวุ่นกี้ปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสินคู  ( จิงกูจา - Singu Min ) รัชทายาท ผู้เป็นบุตรเขยได้ราชสมบัติต่อโดยไม่มีผู้ขัดขวาง    จึงต้องถอนทัพกลับกรุงอังวะอย่างเร่งด่วน

 

อะแซหวุ่นกี้ไปแล้ว     ข้าศึกตกค้าง

           เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า อะแซหวุ่นกี้ถอนทัพไปแล้วทรงให้กองทัพต่างๆ คืดตามกองทัพพม่าดังนี้

          -  พระยาพิชัย  กับพระยาพิชัยสงคราม

          -  พระยาเทพอรชุน  พระยารัตนพิมล  พระยานครชัยศรี

          -  พระยาทุกขราษฎร  เมืองพิษณุโลก  หลวงรักษ์โยธา  หลวงอัคเนศร  เป็นกองหน้า  พระยาสุรบดินทร์  เป็นกองหลวง

          -  พระยาธิเบศร์บดี  คุมกองอาสาจาม

            ทั้งสี่กองนี้ให้ตามตีกองทัพอะแซหวุ่นกี้  ที่กลับไปทางเมืองตาก   

          -  พระยาพลเทพ  จมื่นเสมอใจราช  หลวงเนาวโชติ  กองหนึ่ง     และพระยาราชภักดี  อีกกองหนึ่ง   ตามกองทัพมังแยยางู  ไปทางเมืองเพชรบูรณ์

          -  พระยานครสวรรค์ กับพระยาสวรรคโลกตามกองทัพกะละโบ่  ซึ่งยกไปทางเมืองกำแพงเพชร 
 
          -  กองทัพหลวงรอรับครอบครัวราษฎรที่มาจามเมืองพิษณุโลก  และต่อมาทรงให้พระยายมราชมารักษาค่ายที่บางข้าวตอกเพื่อรอรับครอบครัวราษฎรต่อไป

          ในวันพฤหัสบดี  แรม  ๑๔ ค่ำ  เดือน  ๖  ปีวอก จ.ศ.๑๑๓๘   ตรงกับ  วันที่  ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๑๙    ก็เสด็จยกทัพหลวงลงมาที่บางแขม  แขวงเมืองนครสวรรค์

  
ผลการการขับไล่ข้าศึก

ด้านเมืองตาก 

          กองทัพที่ตามตีกองทัพอะแซหวุ่นกี้   ทางเมืองตากนั้น  ทีแรกคงคาดว่ากองทัพพม่ายังมีกำลังสมบูรณ์จึงไม่เข้าไล่ติดตาม  ต่อมาภายหลัง  ปรากฏว่ารี้พลสกลไกรของกอง       ทัพขุนพลเฒ่าล้มตายมากขึ้น  จึงทราบว่ากองทัพอะแซหวุ่นกี้ ก็ระส่ำระสายไม่น้อย  แต่ก็ถอยไปเสียไกลเกินกว่าจะไล่ติดตามและบดขยี้เสียแล้ว      

 

ด้านเมืองเพชรบูรณ์

          กองทัพพระยาพลเทพและพระยาราชภักดี   พบกับกองทัพมังแยยางู  ที่บ้านนายม  ใต้เมืองเพชรบูรณ์    ซึ่งคาดว่ามังแยยางูได้รับคำสั่งให้ถอนทัพกลับพม่า  จึงจะกละบทางเมืองพิษณุโลก - เมืองตาก   จึงได้กลับมาพบกองทัพไทยสองกองนี้    กองทัพมังแยยางูถูกกองทัพไทยเข้าโจมตีจึงต้องถอนตัวไปทางเหนือเข้าไปในแคว้นล้านช้าง แล้วผ่านเมืองเชียงแสน

 

 

ด้านเมืองกำแพงเพชร       
 
          เมื่อเสด็จยกทัพหลวงลงมาที่บางแขม  แขวงเมืองนครสวรรค์  เมื่อวันพฤหัสบดี  แรม  ๑๔ ค่ำ  เดือน  ๖  ปีวอก จ.ศ.๑๑๓๘   ตรงกับ  วันที่  ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๑๙  นั้น    ต่อมาได้ทรงทราบว่ามีกองทหารพม่าอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร  ประมาณ  ๒,๐๐๐  จึงตรัสสั่งให้กองทัพพระยายมราช เดินไปทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง     กองทัพพระยาราชสุภาวดีเดินขึ้นไปทางฝั่งตะวันออก    และให้พระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่  ณ  บ้านโคน  ใต้เมืองกำแพงเพชรยกขึ้นไปโจมตีกองทัพพม่าดังกล่าว    ส่วนกองทัพหลวงยกขึ้นไปตั้งที่ปากคลองขลุง

 

          ฝ่ายกองทัพกะละโบ่ ของพม่านั้นน่าจะได้รับคำสั่งให้มาแสวงหาเสบียงอาหารส่งไปสนับสนุนการล้อมเมืองพิษณุโลก    ไม่ทราบว่าสถานการณ์ได้พัฒนาไปอย่างไร   เมื่อได้รับคำสั่งจากแม่ทัพอะแซหวุ่นกี้ จึงรีบเดินทางกลับ   ก็นับว่ากะละโบ่โชคดีที่รอดพ้นกองทัพไทยไปได้    แต่ก็ยังมีส่วนย่อยอีก  ประมาณ  ๑,๐๐๐   ซึ่งในที่สุดก็ถูกกองทหารไทยเข้าโจทตี   จนกระทั่งต้องทิ้งค่ายที่นครสวรรค์  ถอยหนีไปทางเมืองอุทัยธานี  บ้านเดิมบางนางบวช  และ ออกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์
          

 

อริราชศัตรูไปพ้นพระราชอาณาเขต

           เมื่อวันแรม  ๒  ค่ำ เดือน  ๙ ปีวอก จ.ศ.๑๑๓๘    ตรงกับวันพฤหัสบดี    วันที่  ๑  สิงหาคม  พ.ศ.๒๓๑๙    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพหลวงจากเมืองชัยนาท  ขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์รับสั่งให้กรมขุนรามภูเบศร์  กับเจ้าพระยาอินทรอภัยอยู่รักษาค่าย   แล้วทรงยกทัพหลวงขึ้นไปเมืองตาก

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม  กองทัพไทยก็ยังสามารถจับเชลยได้  ๓๐๐  กว่า    

ก็แลเมื่ออริราชศัตรูไปพ้นพระราชอาณาเขตแล้ว  จึงเสด็จคืนกรุงธนบุรี

 

          ครับ . . .  อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ        ซึ่งนับเริ่มตั้งแต่โปสุพลากับโปมะยุง่วน   รวบรวมกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่   ในเดือน  ๑๐  (ประมาณ  เดือนตุลาคม) ปีมะแม  พ.ศ. ๒๓๑๘    จนถึง  เดือน  ๙   (เดือนสิงหาคม)   ปีวอก    พ.ศ.๒๓๑๙   นับเวลาได้  ๑๐  เดือน    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "ไทยรบพม่า"  ตอนหนึ่งว่า   . . .  ดูเหมือนที่รบกันคราวนี้พม่าได้เปรียบแต่ต้นมา  จนตีเมืองพิษณุโลกได้    ฝ่ายไทยเป็นแต่รักษาตัวได้ไม่พ่ายแพ้พม่า    เพราะฉะนั้น  เนื้อความดูประหนึ่งว่าที่อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาครั้งนี้    มาทำได้ตามความมุ่งหมายหมด  เป็นแต่พระเจ้าอังวะให้หากองทัพ  พม่าจึงได้เลิกทัพกลับไป    แต่ในพงศาวดารพม่าหาว่าเช่นนั้นไม่   พงศาวดารพม่ากล่าวเหมือนกันหมดทุกฉบับ  ว่าอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาตีเมืองไทยคราวนี้  เอาไพร่พลมาล้มตายเสียเป็นอันมาก  ไม่สำเร็จประโยชน์อย่างใดแต่สักอย่างหนึ่ง  รอดแต่ตัวกลับไปได้  ไม่แตกหนีไทยไปเท่านั้น  .  .  .

 

ผลของการสงครามครั้งนี้  ควรลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่าไม่ได้ชัยชนะกันทั้ง  ๒  ฝ่าย 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม      -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

                             -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

                             -  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน ๒๕๔๓

                             -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร    แปล    พิมพ์ครั้งที่  ๒   มิถุนายน  ๒๕๔๘    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                             -  แผนที่ในเรื่อง นำมาจาก  หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ของ  พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน   ซึ่งขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้

 

 

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



1

ความคิดเห็นที่ 1 (346)
avatar
อุ้ม
ชอบมากได้สาระ ดีค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น อุ้ม วันที่ตอบ 2009-07-08 23:41:41 IP : 124.120.114.227


ความคิดเห็นที่ 2 (347)
avatar
สัมพันธ์
ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-09 06:10:17 IP : 125.25.141.239



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker