dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)

 

ธนบุรีสมัยจบ  (๕)

สถานการณ์เดิมครั้ง ธนบุรีสมัย (๔)

          .  .  .  อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ  .  .  .   ตั้งแต่  เดือน  ๑๐  (ประมาณ  เดือนตุลาคม) ปีมะแม  พ.ศ. ๒๓๑๘    จนถึง  เดือน  ๙   (เดือนสิงหาคม)   ปีวอก   พ.ศ.๒๓๑๙   นับเวลาได้  ๑๐  เดือน 

          .  .  .  พ.ศ.๒๓๑๙    พระเจ้ามังระสวรรคต      อะแซหวุ่นกี้ปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสินคู  ( จิงกูจา - Singu Min ) รัชทายาท  ผู้เป็นบุตรเขยได้ราชสมบัติต่อโดยไม่มีผู้ขัดขวาง    จึงต้องถอนทัพกลับกรุงอังวะอย่างเร่งด่วน

         .  .  .  ดูประหนึ่งว่าที่อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาครั้งนี้    มาทำได้ตามความมุ่งหมายหมด  เป็นแต่พระเจ้าอังวะให้หากองทัพ  พม่าจึงได้เลิกทัพกลับไป   แต่ในพงศาวดารพม่ากล่าวเหมือนกันหมดทุกฉบับว่า  อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาตีเมืองไทยคราวนี้  เอาไพร่พลมาล้มตายเสียเป็นอันมาก  ไม่สำเร็จประโยชน์อย่างใดแต่สักอย่างหนึ่ง  รอดแต่ตัวกลับไปได้  ไม่แตกหนีไทยไปเท่านั้น  .  .  .

 .  .  .  ผลของการสงครามครั้งนี้  ควรลงเนื้อเห็นเป็นยุติว่าไม่ได้ชัยชนะกันทั้ง  ๒  ฝ่าย


          ครับ    .  .  .   ในธนบุรีสมัย  ๕  นี้    ศึกภายนอกไม่ใหญ่หลวง   และเป็นการ "จัดระเบียบ" ภายใน และในประเทศราชเดิม  .  .  .  เชิญครับ

 

กรุงรัตนปุรอังวะ - พระเจ้าจิงกูจา

 สงครามสืบราชสมบัติพม่า

          สถานการณ์ทางการเมืองเรื่องราชสมบัติพม่านั้น    คงจำกันได้ว่า  เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์  มังหม่อง พระโอรสเจริญพระชนม์เพียง  ๑ (หนึ่ง) พรรษา     พระอนุชาของพระเจ้ามังลอก คือมังระ  จึงครองราชสมบัติ    เมื่อมังหม่องเจริญพระชันษาขึ้น พระเจ้ามังระก็จะประหารเสียเพราะระแวงว่าจะมาชิงราชสมบัติ แต่พระมารดา (มเหสีพระเจ้าอลอลพญา  สมเด็จย่าของมังหม่อง)  ขอร้องไว้และให้มังหม่องบรรพชาเป็นสามเณร     และพระเจ้ามังระนี้ ที่ส่งกองทัพมาพิชิตกรุงศรีอยุธยา ในพ.ศ.๒๓๑๐

          เมื่อ พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์  พ.ศ.๒๓๑๙  อะแซหวุ่นกี้ซึ่งกำลังทำศึกอยู่ทางภาคเหนือของไทยต้องรีบถอนทัพกลับกรุงรัตนปุรอังวะอย่างเร่งด่วน กำลังส่วนทีแยกออกไปต้องพยายามเดินทัพกลับกันเอง

          เจ้าชายสินคู (จิงกูจา)  พระราชโอรสซึ่งเป็นรัชทายาทสืบราชสมบัติต่อ  ก็น่าจะเรียบร้อย  แต่พระเจ้าจิงกูจจาก็ระแวง  เจ้าชายแชลงจา พระอนุชาต่างมารดา จึงสังหารเสีย (ง่ายๆ)    นอกจากระแวงพระอนุชาต่างมารดา แล้ว  ก็ระแวงพระเจ้าอาจึงสำเร็จโทษเสียอีกองค์หนึ่ง  คือตะแคงอะเมียง (มังโป)  และขับไปอยู่หัวเมืองเสียอีก  สามองค์  คือ  ตะแคงปดุง  (มังเวง)  ตะแคงพุกาม (มังจู)  และ  ตะแคงแมงตะแล (มังโพเขียง) 

 

          เมื่อมหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ยกกลับไปถึง  จึงเข้าเฝ้าทูลแถลงการณ์ซึ่งไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือได้ทั้งสิ้น    พระเจ้าจิงกูจาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่อะแซหวุ่นกี้ และนายทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบ   .  .  . (แต่ มหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ ถูกถอดเสียในเวลาต่อมา) .  .  .     

          แล้วพระเจ้าจิงกูจาทรงพระดำริว่า  อันการที่พระเจ้ามังระราชบิดาให้กองทัพตีเมืองไทยเอาไพร่พลมาล้มตายเสียเปล่าๆ  หาเป็นประโยชน์อันใดไม่     จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพมอญ  จำนวน    ๖,๐๐๐  ให้อำมลอกหวุ่น เป็นแม่ทัพ    คอหวุ่น  กับ พระยาอู่มอญ  เป็นปลัดทัพ    โดยให้สมทบกับกำลังของโปมะยุง่วน  เมืองเชียงแสน  ให้ยกมาตีเมืองเชียงใหม่  ในปีวอก  พ.ศ.๒๓๑๙  นั้นเอง

 

พระยาราชกปิตัน

          พ.ศ.๒๓๑๙   กัปตัน ฟรานซิสไลท์   เจ้าเมืองปีนังได้สนองพระราชบัญชา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทรงให้จัดซื้อปืนเพิ่ม    อีก ๖,๐๐๐   กระบอก ราคากระบอกละ ๑๒ บาท   และทรงแต่งตั้งให้กัปตันฟรานซิสไลท์เป็นพระยาราชกปิตัน


นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่    ๒๓๑๙

          ทางเมืองเชียงใหม่    พระยาวิเชียรปราการ (พระยาจ่าบ้าน)  เจ้าเมืองเชียงใหม่เห็นกองทัพพม่ามามากเกินกำลังที่จะต่อสู้ได้  จึงรีงส่งใบบอกไปยังกรุงธนบุรี  และทิ้งเมืองเชียงใหม่ลงมาเมืองสวรรคโลก   

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบดังนั้น   จึงโปรดให้

               -  รับพระยาวิเชียรปราการ ลงมากรุงธนบุรี   และ

               -  เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ  (ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก)  ขึ้นไปสมทบเจ้ากาวิละ  เจ้าเมืองลำปางยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน

 

 

 

          ฝ่ายพม่าที่ได้ครองศรีเวียงเชียงใหม่  ได้ข่าวพระยาเสือนำทัพมาพร้อมเจ้ากาวิละ  ก็ให้ครั่นคร้าม  เพราะโปมะยุง่วนนั้นเข็ดขยาดพระยาเสืออยู่แล้ว  จึงไม่อยู่รอประดาบ  รีบทิ้งเวียงเชียงใหม่หนีกลับไป      สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริว่า  เมืองเชียงใหม่นั้นไพร่บ้านพลเมืองระส่ำระสายมาก  จะรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองเช่นเดิมน่าจะไม่พอรักษาเมืองได้  หากไม่มีกองทัพไทยตั้งรักษาเมืองอยู่ และพม่ายกมา  ก็ต้องเสียให้พม่าอีก   จึงโปรดให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย

 

 เมืองเชียงใหม่จึงร้าง แต่บัดนั้น

 

 

 

ประตูสวนดอก  เมืองเชียงใหม่

 

 

สงครามสืบราชสมบัติพม่า (ต่อ)

          พระเจ้าจิงกูจานั้น มีมเหสี (ธิดามหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ ?)  แต่ไม่มีพระโอรส  และได้ธิดาอะตวนหวุ่นมาเป็นพระสนม  ก็เป็นที่โปรดปรานทั้งธิดา และบิดา  แต่ต่อมา ทรงพระโกรธพระสนม  จับไปถ่วงน้ำ  และปลดอะตวนหวุ่นลงเป็นไพร่

          อะตวนหวุ่นจึงสมคบกับตะแคงปดุงคิดกำจัดพระเจ้าจิงกูจา  และจะยกมังหม่อง (โอรสพระเจ้ามังลอกซึ่งบรรพชาเป็นสามเณรอยู่)  ให้ครองราชบัลลังก์

          ระหว่างที่อะตวนหวุ่นกับตะแคงปดุงคิดการใหญ่กันนี้  สถานการณ์ในบ้านเราก็พัฒนาไปดังนี้ . . .  เชิญครับ 

 

ปราบกบฏพระยานางรอง

          อริราชศัตรูไปพ้นพระราชอาณาเขตแล้ว  เมื่อเดือน  ๙   ปีวอก จ.ศ.๑๑๓๘   (เดือน สิงหาคม  พ.ศ.๒๓๑๙)       ครั้น  เดือน  ๔ ขึ้น  ค่ำหนึ่ง  ปีวอก  พ.ศ.๒๓๑๙   (สมัยโน้น ปีใหม่เริ่มตั้งแต่เดือน  ๕)     ตรงกับวันศุกร์  ที่   ๗  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๙/๒๐    ทางกรุงธนบุรีได้รับใบบอกจากเมืองนครราชสีมาว่า  พระยานางรอง  คบคิดกันกับเจ้าโอ  เจ้าอิน  และอุปราชเมืองจำปาศักดิ์  เป็นกบฏ

           ความเป็นมาก็คือ  เจ้าเมืองนางรอง  (อำเภอนางรอง  ในปัจจุบัน)   ซึ่งขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา เกิดวิวาทกับพระยานครราชสีมา   จึงไปขอขึ้นต่อเจ้าโอ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์   ฝ่ายเจ้าโอเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยา  (หมายถึงเมืองไทย)  กำลังอ่อนกำลังก็รับเมืองนางรองไว้เป็นเมืองขึ้น

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกขึ้นไปปราบปราม    กองทัพเจ้าพระยาจักรียกไปถึงเมืองนครราชสีมา   ส่งกองทัพหน้าไปเมืองนางรองจับตัวพระยานางรอง    พิจารณาได้ความเป็นกบฏจริง    จึงประหารชีวิต

           เจ้าโอ  เจ้าอิน  และอุปราชเมืองจำปาศักดิ์ตระเตรียมกองทัพได้ถึง  หมื่นเศษ  นัยว่าจะยกมาตีเมืองนครราชสีมา   เจ้าพระยาจักรีจึงกราบทูลเข้ามายังกรุงธนบุรี     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์นำกองทัพฝ่ายเหนือยกหนุนขึ้นไปบรรจบกองทัพเจ้าพระยาจักรี    และให้ปราบเมืองจำปาศักดิ์เสียด้วย

          กองทัพเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์  ตีได้เมืองจำปาศักดิ์  เมืองโขง  เมืองอัตปือ   และจับได้ เจ้าโอ  เจ้าอิน  และอุปราช จึงได้ประหารชีวิตเสีย    เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงให้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดง  คือ เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  และเมืองขุขันธ์ให้เข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขันฑสีมา    เมื่อเสร็จราชการทัพกลับถึงกรุงธนบุรีแล้ว

 

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก 

.  .  .  ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง   

          ในเดือน  ๖  ปีระกา  จ.ศ.๑๑๓๙  (ประมาณเดือน  เมษายน  พ.ศ.๒๓๒๐)    ทรงพระกรุณาเลื่อนยศเจ้าพระยาจักรี  ขึ้นเป็น

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

พิฦกมหิมา  ทุกนคราระอาเดช  นเรศวรราชสุริยวงศ์  องค์อรรคบาทมุลิกากร  บวรรัตนบรินายก

ณ  กรุงเทพพระมหานคร  บวรทวาราวดี  ศรีอยุธยา   

 

          แล้วพระราชทานพานรองเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม    ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง    และคงตำแหน่งสมุหนายกอย่างเดิม

 

เมืองปัตตานีอยู่มิได้อ่อนน้อม  .  .  .  ราชการสงครามยังติดพันกันมากอยู่

          ถึงวันพุธ  เดือน  ๗  แรม  ๑๔  ค่ำ  ปีระกา   ตรงกับวันที่  ๔  มิถุนายน  พ.ศ.๒๓๒๐    มีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราชกราบทูลว่า  เมืองปัตตานีแข็งเมืองอยู่มิได้อ่อนน้อม  ถึงปีหน้า  เจ้านครจะขอยกกองทัพออกไปตี    แต่เนื่องจากช่วงนั้นยังติดพันสงครามกับพม่าอยู่  และทรงพระดำริจะแต่งคณะทูตไปแจ้งราชกิจแก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งว่า จะยกกองทัพขึ้นไปช่วยตีกรุงอังวะ    จึงให้เจ้านครรอทัพไว้ก่อน ต่อเมื่อใดราชการข้างกรุงเทพมหานครสงบแล้วจึงจะให้มีตรากำหนดการออกไปให้กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปตีเมืองปัตตานีเมื่อนั้น

 

ปีจอ  พ.ศ.๒๓๓๑    สงครามกรุงธนบุรี  -  กรุงศรีสัตนาคนหุต

          ในกาลนั้น  อาณาจักรล้านช้างแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ 

          อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง 

          อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์  และ

          อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์      

               (ประวัติศาสตร์พระราชอาณาจักรลาว  โดยย่อ  แสดงไว้ใน  เรื่อง  "คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว"    ตอน  "พระราชอาณาจักรลาว") 


          ในพ.ศ.๒๓๒๑    สมัยพระเจ้าศิริบุญสาร แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต  (เวียงจันทน์)    พระวอ (พระยาวรราชภักดี) กับพระยาตาดวงสา อพยพครอบครัวไพร่พลจากกรุงศรีสัตนาคนหุตข้ามแม่น้ำโขงมาทางฟากตะวันตก   ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองหนองบัวลำภู    สร้างค่ายคูประตูหอรบให้แข็งแรง เปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” บางแห่งเรียก  “เมืองจำปานคร  แขวงกาบแก้วบัวบาน"     พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพยายามปราบปรามเป็นหลายครั้ง  แต่ไม่สำเร็จ   แล้วพระยาวรราชภักดีก็แต่งขุนนางให้นำเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าอังวะ   ขอกองทัพพม่ามาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต    พระเจ้าอังวะทรงจัดกองทัพ  จำนวน  ๔,๐๐๐  ให้ไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต

          ครั้นกองทัพพม่ามาถึงกลางทาง    พระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์ ทรงทราบข่าวศึกก็แต่งท้าวเพลี้ยนำเครื่องบรรณาการไปมอบแก่แม่ทัพพม่าขอขึ้นกรุงอังวะ  และขอให้กองทัพพม่าไปตีพระยาวรราชภักดีที่เมืองหนองบัวลำภูซึ่งเป็นกบฏต่อกรุงศรีสัตนาคนหุต   นำกองทัพพม่าเข้าพักพล  ณ  กรุงศรีสัตนาคนหุต   แล้วแต่งกองทัพเข้าบรรจบกองทัพพม่า  ยกไปตีเมือง เมืองจำปานคร   (หนองบัวลำภู)

           กองทัพพม่าและลาวอันเกรียงไกรจากกรุงศรีสัตนาคนหุตข้ามแม่น้ำโขงมามุ่งหน้าสู่เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานจนแตกพ่ายแพ้ย่อยยับ    ในที่สุด  บ้านเมืองถูกเผาวอดวายกำแพงเมืองถูกพังทลายเหลือแต่ซาก  พระยาตาดวงสาและทหารจำนวนมากถูกประหารชีวิตที่ค่ายรบเชิงเขาปากช่อง    ส่วนพระยาวรราชภักดีและแม่ทัพนายกองที่เหลือรอด  ได้เดินทางมาตั้งฐานทัพที่บ้านดู่  บ้านแก     แล้วสั่งให้หลวงคำผงปราบปรปักษ์กับหลวงก่ำพิชิตทรราชย์     นำเอาทรัพย์สมบัติช้างม้าวัวควายไปตั้งหลักฐานบ้านช่องที่ดอนมดแดง    กราบทูลไปยังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอพึ่งพระบารมีสืบต่อไป

 

 

          พระเจ้าศิริบุญสารรับสั่งใพ้พระยาสุโภยกทัพไปปราบพระยาวรราชภักดีอีก  สามารถบุกเข้าโจมตีกองทัพของพระยาวรราชภักดี   จนล้อมจับตัวได้ และประหารชีวิตทิ้งเสียที่ในสนามรบแห่งนั้น 

        

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระพิโรธ    เพราะพระวอ (พระยาวรราชภักดี)  เป็นข้าขอบขัณฑสีมา  

          ครั้นเดือนอ้าย  ปีจอนั้น  (เดือนธันวาคม  พ.ศ.๒๓๒๑)    จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  กับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ  ยกกองทัพบกจำนวน  ๒๐,๐๐๐  ออกจากรุงธนบุรี  ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองนครราชสีมา

 

          สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ แยกทัพลงไปกรุงกัมพูชา  เกณฑ์กองทัพ  ๑๐,๐๐๐    และต่อเรือรบ เรือไล่  แล้วให้ขุดคลองอ้อมเขาหลี่ผี   ยกทัพเรือขึ้นไปตามลำน้ำโขง  ไปบรรจบกองทัพบก  ณ นครล้านช้างเวียงจันทน์

 

          เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ  ครั้นต่อเรือรบ และขุดคลองเสร็จก็ยกกองทัพเรือขึ้นมาตามคลองขุดนั้นมา  ณ  เมืองจำปาศักดิ์  ยกขึ้นตีเมืองนครพนม  เมืองหนองคาย  ซึ่งขึ้นแก่เมืองล้านช้างพระเจ้าศิริบุญสาร  กรุงศรีสัตนาคนหุตได้แต่งแสนท้าวพระยาลาวยกกองทัพมาต่อรบต้านทานเป็นหลายทัพหลายตำบล  ต้านทานมิได้ให้แตกฉานพ่ายหนีไปเป็นหลายครั้งหลายแห่ง

         

         

 

 

  

 

 

ทางพระเจ้าร่มขาวแห่งอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางทรงทราบข่าวศึก  จึงแต่งฑูตลงมาหาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  อาสาจัดกองทัพตีกระหนาบนครเวียงจันทน์  และขอเอากรุงธนบุรีเป็นที่พึ่งสืบไป  


  

  

 

  

 


          เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เข้าตั้งอยู่  ณ  เมืองหนองคาย  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯให้กองทัพใหญ่ยกมาตีเอาเมืองเวียงคุก  เมืองพะโค (ปะโค)  และเมืองพานพร้าว  ซึ่งตั้งอยู่ฟากตะวันตก ตรงข้ามนครเวียงจันทน์   และล้อมนครเวียงจันทน์ไว้    พระเจ้าศิริบุญสาร กรุงศรีสัตนาคนหุตก็เกณฑ์ทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองเป็นสามารถ  เจ้านันทเสนราชบุตรขี่ช้างพลายคำเพียงอก สูงหกศอกสามนิ้วคุมทหารยกออกตีกองทัพไทย   แต่ถูกตีแตกกลับเข้าเมือง     รบพุ่งกันมาได้  ๔  เดือน   พระเจ้าศิริบุญสารเห็นเหลือกำลังรบ  จึงพาเจ้าอินทร์  เจ้าพรหม  ราชบุตร  และคนสนิทหนี ไปเมืองคำเกิด ต่อแดนญวน 

 

  

 อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และพระบาง    

          

    

 

 

  พระพุทธลักษณะพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต   

 

เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ  ปางสมาธิ

ขนาดหน้าตักกว้าง  ๔๘.๓  เซนติเมตร  สูงแต่ฐานเฉพาะทับเกษตรถึงพระเมาลี  ๒๖  เซนติเมตร 

มีเสันจีวรคาดเข่าทั้งสองข้าง  พระองค์อวบอ้วน  พระพักตร์กลมอูม  พระขนงโก่ง  หลังพระเนตรอูม

พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางสลักขอบเป็นสองเส้น  พระหนุเป็นปม  พระรัศมีอยู่เหนือเกตุมาลาเป็นต่อม

ปลายสังฆาฏิยาว  ฐานรองรับเป็นฐานเขียง  มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก 

 

 

กองทัพกรุงธนบุรีได้นครเวียงจันทน์

           สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ   อัญเชิญเอาพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งเคยประดิษฐานในเมืองไทยมาช้านาน และหลายเมือง หลายนครและพระบางจากนครเวียงจันทน์ อาราธนาลงเรือข้ามฟากมาประดิษฐาน  ณ  เมืองพานพร้าว   แล้วให้สร้างพระอารามใหม่ขึ้นใหม่  ณ  เมืองพานพร้าว     ให้แต่งขุนนางไทยลาวเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (ของแม่น้ำโขง) ได้ทั้งสิ้น     แล้วแต่งหนังสือกราบทูลข้อราชการ

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ  ก็ทรงพระโสมนัสให้มีตราหากองทัพกลับยังพระมหานคร     สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงตั้งพระยาสุโภ  ขุนนางเมืองล้านช้างให้อยู่รั้งเมือง  แล้วนำครอบครัวลาวชาวเมือง ขุนนางท้าวเพลี้ยทั้งปวง  และราชบุตรพระเจ้าศิริบุญสารทั้งสามองค์คือเจ้านันทเสน  เจ้าอินทวงศ์  เจ้าอนุวงศ์   กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ  ช้าง  ม้า  เป็นอันมาก   และเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต   พระบาง   เลิกทัพกลับยังกรุงธนบุรีโดยพระราชกำหนด    กองทัพมาถึงเมืองสระบุรี  ในเดือนยี่  ปีกุน      

 


  

 

 พระบาง  

พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด (ทองคำ ๙๐ เปอร์เซนต์)  ปางห้ามสมุทร  สูง ๒ ศอก ๗ นิ้ว (๑.๔๔ เมตร)  ศิลปะแบบบายนตอนปลาย (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ -ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)          พระเศียรเกลี้ยงสำหรับประดับเครื่องทรง  

 

 ปัจจุบันประดิษฐานในหอพระบาง  พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง 


 

 

หอพระบาง

 

          โอรสของพระเจ้าศิริบุญสารทั้งสามองค์นั้น    สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ เป็นผู้ทำนุบำรุง   ส่วนครอบครัวชาวเมืองนั้น ทรงให้ตั้งหลักฐานบ้านเรือนภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมืองชั้นใน เช่น  เมืองสุพรรณบุรี   เมืองนครปฐม   เมืองราชบุรี   เมืองสระบุรี   และเมืองลพบุรี   เป็นต้น

 

 

ครับ  ,  ,  ,  อาณาจักรล้านช้างทั้งสาม ได้มีโอกาสต้อนรับกองทัพกรุงธนบุรี    ในพ.ศ.๒๓๒๑ - ๒๓๒๒    และรวมเข้าในพระราชอาณาเขต  ด้วยประการ  ฉะนี้


 

หมายเหตุ

          ปัจจุบันเมืองเวียงคุก  และเมืองพะโค  มีเป็นตำบลเวียงคุก  และตำบลปะโค  ในเขตอำเภอเมืองหนองคาย   และ เมืองพรานพร้าว เป็นตำบลที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

 

เมืองอุบลราชธานี 

          พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ยกบ้านดอนมดแดงขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี    และให้หลวงคำผงปราบปรปักษ์เป็นท้าวประทุมวาคำ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสืบไป

 

ปีชวด  พ.ศ.๒๓๒๓  -  กัมพุชประเทศเกิดจลาจล

ความเดิม  .  .  .

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชาให้พระรามราชา  (นักองโนน)  แล้ว  ก็ยกทัพกลับคืนพระนครในเดือนอ้าย  ปีเถาะ  พ.ศ.๒๓๑๔

           เมื่อกองทัพไทยกลับกรุงธนบุรีแล้ว  พระนารายณ์ราชา  (นักองตน)  ก็ขอกำลังญวนมาคุ้มครอง  และเขมรก็แบ่งเป็นสองฝ่าย    ฝ่ายเหนือ  ขึ้นกับพระรามราชา  ทางไทยสนับสนุน และฝ่ายใต้  ขึ้นกับพระนารายณ์ราชา ทางญวนสนับสนุน      ต่อมาเมื่อราชวงศ์ญวนเสียบ้านเมืองแก่พวกไกเซิน  พระนารายณ์ราชาไม่ทีที่พึ่ง  จึงประนีประนอม ยอมให้พระรามราชาครองกรุงกัมพูชา  ตนเองลดลงเป็นที่สอง       พระรามราชาถวายรายงานเข้ามากรุงธนบุรี  

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึง

            ทรงอภิเษกนักองโนน (พระรามราชา) เป็นสมเด็จพระรามราชา ครองกรุงกัมพูชา   ณ เมืองกำปอด

            ทรงตั้งนักองตน (พระนารายณ์ราชา - พระอุทัยราชา)   เป็นสมเด็จพระนารายณ์    พระมหาอุปโยราช    และนักองธรรม  เจ้านายอีกองค์หนึ่ง เป็นที่มหาอุปราช    ทำให้ไทยได้เขมรไว้ในพระราชสาณาเขตตามเดิม   .  .  .

          ครั้นถึง  ปีชวด  พ.ศ.๒๓๒๓    พระมหาอุปราช  (นักองธรรม)  ถูกคนร้ายลอบสังหาร   ต่อมาอีกไม่นาน   พระมหาอุปโยราช คือ  สมเด็จพระนารายณ์  หรือ นักองตน  (นิยมญวน) ก็เป็นโรคปัจจุบัน  สิ้นลงอีก   บรรดาขุนนางเขมรเชื่อกันว่าสมเด็จพระรามราชาทรงอยู่เบื้องหล้งเหตุการณ์ทั้งสองนี้  ฟ้าทะละหะ (มู)   พระยากลาโหม (ชู)  พระยาเดโช (แทน)   และพระยาแสนทองฟ้า (พาง)  จึงเป็นกบฏ   จับสมเด็จพระรามราชาถ่วงน้ำ     และรับบุตร ธิดา สมเด็จพระนารายณ์ (นักองตน)  คือ  นักองเอง   นักองมิน  นักองอี (หญิง)  และนักองเภา (หญิง)  จากเมืองบาพนม  มายังเมืองพุทไธเพชร    และ  ฟ้าทะละหะ (มู)  จึงว่าราชการแทน  และยังคงอ่อนน้อมต่อไทยดังเดิม     แต่ . . .

          ต่อมา ฟ้าทะละหะ (มู) ตั้งตนเป็นเจ้าฟ้ามหาอุปราช  และกลับฝักใฝ่ญวน  เพื่อหวังให้ญวนสนับสนุนให้เป็นพระราชาเสียเอง

          ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี   ทรงพระดำริว่าคงจะปล่อยกรุงกัมพูชาไว้ไม่ได้  เพราะฟ้าทะละหะ (มู)  ฝักใฝ่ญวน  และถึงแม้ว่านักองเอง จะได้เป็นพระราชา  ก็คงจะฝักใฝ่ญวนดังพระบิดา   จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  เป็นแม่ทัพใหญ่   ยกพล  ๒๐,๐๐๐    ถืออาญาสิทธิ์    เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เป็นทัพหน้า    เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์  พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่  เป็นกองหนุน   พระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศร์  เป็นกองหลัง   ยกไปตีกรุงกัมพูชา   และมีรับสั่งว่า  เมื่อตีกรุงกัมพูชาได้แล้ว ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  ตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ให้ครองกรุงกัมพูชา ต่อไป

          สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  ยกขึ้นไปทางเมืองนครราชสีมา   ตั้งทัพใหญ่อยู่ที่เมืองเสียมราฐ    เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกกำลังไปทางเมืองพระตะบอง ฟากตะวันตกทะเลสาบ  เอากองทัพเขมร พระยายมราช และพระยาเขมรทั้งปวงยกออกไปตีเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร)  อันเป็นราชธานีกรุงกัมพูชา  กองทัพเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และ กองทัพพระยากำแหงสงครามยกหนุนไปด้วย  ให้กองทัพกรมขุนรามภูเบศร์     กองทัพพระยาธรรมายกไปทางริมทะเลสาบฟากตะวันออก  ตั้งที่เมืองกำปงสวาย 

            ฝ่ายฟ้าทะละหะ (มู)  รู้ว่ากองทัพไทยยกลงไป เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้  จึงทิ้งเมืองบันทายเพชร  อพยพครอบครัวไปอยู่เมืองพนมเปญ  แล้วไปขอกองทัพญวนที่เมืองไซ่ง่อนมาช่วย  ญวนยกทัพเรือมาที่เมืองพนมเปญ  กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกตามลงไป    ทราบว่ากองทัพญวนมาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ  จึงบอกมายังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  แล้วตั้งค่ายคอยคำสั่งแม่ทัพใหญ่อยู่  ยังไม่ได้รบกับญวน  ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์  ก็ยกกำลังไปตั้งอยู่ที่เมืองบันทายเพชร

 

ปีฉลู  ตรีศก  ๑๑๔๓

          ทรงแต่งฑูตานุฑูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการลงสำเภาออกไปเมืองจีน  เหมือนตามเคยมาแต่ก่อน

 

สงครามสืบราชสมบัติพม่า (ต่อ)

พม่า   พ.ศ.๒๓๒๔  -  พระเจ้าปดุง   

          ระหว่างที่พระเจ้าจิงกูจาเสด็จหัวเมือง    มังหม่องก็ลาสิกขาบทจากสามเณร  นำไพร่พลมาชิงเอากรุงรัตนปุรอังวะได้  (น่าจะได้เตรียมการ ส้องสุมผู้คนไว้นานแล้ว)   และถวายราชสมบัติให้เจ้าอาทั้งหลาย  เจ้าอาก็ไม่มีใครรับ  มังหม่องจึงต้องครองราชบัลลังก์ (เลือด) เสียเอง  แต่บ้านเมืองกลับเกิดจลาจลวุ่นวาย เกิดโจรผู้ร้าย  ฯลฯ  เป็นอันมาก  ไพร่ฟ้าประชาชนเดือดร้อนทั่วไป

          พระเจ้ามังหม่องครองราชบัลลังก์อยู่ได้  ๑๑  วัน   ตะแคงปดุงเจ้าอาองค์ใหญ่ทนเห็นบ้านเมืองเสียหายไม่ได้จึงจับพระเจ้ามังหม่องสำเร็จโทษเสีย  และ   ครองราชบัลลังก์ (เลือด) เป็นพระเจ้าปดุง  ต่อไปเสียเอง 

          ครั้นพระเจ้าจิงกูจา  กลับกรุงรัตนปุรอังวะถูกอะตวนหวุ่น (อดีตพระพ่อตา) จับสำเร็จโทษ   ความทราบถึงพระเจ้าปดุง  ทรงพระโกรธอะตวนหวุ่นว่าทำไปโดยพลการ  จึงให้ประหารอะตวนหวุ่นเสียด้วย

          ส่วนมหาสีหสุระอะแซหวุ่นกี้ นั้น    พระเจ้าปดุงโปรดตั้งให้เป็นอุปราชครองเมืองเมาะตะมะ

 

สงครามสืบราชสมบัติพม่าครั้งกระนั้นก็สงบจบลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพียงนี้

 

ขอเชิญติดตามการสงครามของกองทัพไทยในกัมพุชประเทศ ต่อไป 

 

การสงครามด้านกัมพุชประเทศได้หยุดอยู่เพียงนี้

ด้วยทางกรุงธนบุรีเกิดเป็นจลาจล

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ต้องเลิกทัพกลับมาปราบยุคเข็ญ

 

 

 กรุงเก่า . . . นายบุนนาก "ข้าใต้ละอองธุลีฯ  มาแต่เดิม" เป็นกบฏ

          ฝ่ายราชการกรุงธนบุรีนั้น  ผันแปรต่างๆ    ใน  เดือน  ๔  ข้างแรม  ปีฉลู นี้  นายบุนนาก  นายบ้านแม่ลา  แขวงกรุงเก่า   ซึ่งเป็น  "ข้าใต้ละอองธุลีฯ  มาแต่เดิม"  กับขุนสุร  คิดอ่านกันว่า  จะชักชบนซ่องสุมประชาชนทั้งปวงยกลงไปตีกรุงธนบุรี    จับพระเจ้าแผ่นดินสำเร็จโทษเสีย    แล้วจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ให้ครอบครองแผ่นดินสืบไป     นายบุญมาก    กับขุนสุร  ก็ยกพวกพลลงมาในเพลวกลางคืน  เข้าปล้นจวนพระพิชิตณรงค์ ผู้รักษากรุงเก่า  จับได้ตัวผู้รักษากรุง กับกรมการฆ่าเสีย  และกรมการซึ่งหนีรอดนั้น  ก็รีบลงมากรุงธนบุรี  กราบทูลว่ากรุงเก่าเกิดพวกเหล่าร้ายเข้าฆ่าผู้รักษากรุง และกรมการเสีย

 

พระยาสรรค์ไปปราบกบฏแต่กลับไปเข้ากับพวกกบฏ

          ขณะนั้น  พระยาสรรคบุรี  ลงมาอยู่  ณ  กรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้ขึ้นไปจับพวกกบฏ  ณ  กรุงเก่า    พระยาสรรค์ก็ขึ้นไป  ณ  กรุงเก่ากลับไปเข้าพวกกบฏ   นายบุญมาก  ขุนสุร  จึงมอบให้พระยาสรรค์เป็นนายทัพยกลงมาตีกรุงธนบุรี

          ครั้น  วันเสาร์ เดือน  ๔  แรม  ๙  ค่ำ   ปีฉลู จ.ศ.๑๑๔๓  (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับหมอบรัดเล)    ตรงกับวันพฤหัสบดี  วันที่  ๗  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๒๔/๒๕   (http://www.payakorn.com/moondate.php) กองทัพพระยาสรรค์ยกลงมาถึงพระนคร   เพลาสิบทุ่มให้พวกพลทหารโห่ร้องยกเข้าล้อมกำแพงพระราชวังไว้รอบ    ตัวพระยาสรรค์เข้าตั้งกองอยู่  ณ ริมคุกฟากเหนือคลองนครบาล  ที่บ้านพวกกรมเมือง    ฝ่ายข้าราชการซึ่งนอนเวรประจำซองอยู่นั้นให้เกณฑ์กันขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินรอบพระราชวัง    ได้ยิงปืนโต้ตอบต่อรบกันจนรุ่ง

          วันรุ่งขึ้น  เพลาค่ำยามเศษ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงออกทรงผนวช  ณ  พระอุโบสถวัดแจ้ง   ภายในพระราชวัง

          ครั้นวันแรม  ๑๓  ค่ำ   เป็นวันจ่ายตรุษ (จีน)    พระยาสรรค์จึงเข้าพระราชวัง  เข้าอยู่  ณ  ท้องพระโรงว่าราชการแผ่นดิน

 

 

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  ให้พระยาสุริยอภัยยกทัพมาที่กรุงธนบุรีก่อน
 
           พระยาสุริยอภัย  ผู้ครองเมืองนครราชสีมาทราบข่าวว่าแผ่นดินเกิดจลาจลจึงออกไป  ณ  เมืองนครเสียมราฐแถลงการณ์แผ่นดินแก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ  ๆ  จึงให้พระยาสุริยอภัยยกทัพมาที่กรุงธนบุรีก่อน  แล้วจะยกกองทัพใหญ่ตามลงไปภายหลัง   

 พระยาสุริยอภัยมาถึงกรุงธนบุรี  ณ  วันศุกร์ เดือน  ๕  ขึ้น  ๙  ค่ำ    ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔    ตรงกับวันศุกร์  วันที่ ๒๒  มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๔/๒๕

พระยาสรรค์ตีกรุงได้เข้านั่งเมืองอยู่แล้ว  

 

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้กองทัพเขมรล้อมทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์

                    ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  เมื่อให้พระยาสุริยอภัยยกมาแล้ว    จึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินอันเป็นจลาจลให้คนสนิทถือลงไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งลงไปตั้งทัพอยู่  ณ  เมืองพนมเพ็ญ    ให้กองทัพเขมรพระยายมราชเข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้  อย่าให้รู้ความ  แล้วให้เลิกทัพกลับเข้าไป  ณ  กรุงโดยเร็ว    แล้วให้บอกไปถึงเจ้าพระยาธรรมา ซึ่งตั้งทัพอยู่  ณ  เมืองกำพงสวาย  ให้จับกรมขุนรามภูเบศร์จำครบไว้  แล้วให้เลิกทัพตามเข้ามา  ณ  กรุงธนบุรี    แล้วสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ให้ตรวจเตรียมพลโยธาพร้อมแล้วให้เอาช้างเข้าเทียบเกย  แล้วขึ้นบนเกยจะขี่ช้าง

พระราชงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบลัดเล

 

 

 

ครับ  . . .   จากกรุงศรีอยุธยา - นครนายก - ปราจีนบุรี - ศรีมหาโพธิ์ - ชลบุรี - ระยอง - จันทบุรี  ด้วยกำลังเพีบงหยิบมือ กลับมาขับไล่พม่าข้าศึก  กอบกู้กรุงไกรเกรียงยศ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

จากทรากปรักหักพัง และเถ้าถ่านของอยุธยายศที่ล่มแล้ว ทรงนำไทยให้สมัครสมาน  เป็นอาณาจักรปึกแผ่น ทั้งทรงขยายขอบขัณฑสีมาออกไปทั่วทุกทิศ

ให้อนุชนได้เกษมสุขสืบไป 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์
 
เฉลิมพระบรมราชกฤดาภินิหาร
 
แห่ง
 
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
 
พระองค์ผู้เป็นมหาวีรบุรุษของชาติไทย
 
ประสูติ พ.ศ. ๒๒๗๗   สวรรคต พ.ศ. ๒๓๒๕
 
รัฐบาลไทยพร้อมด้วยประชาชนชาวไทย
 
ได้ร่วมกันสร้างขึ้นประดิษฐานไว้
 
เมื่อวันที่   ๑๗  เมษายน  พุทธศักราช ๒๔๙๗
 
เพื่อเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
 
ที่ได้ทรงเพียรพยายามปราบอริราชศัตรู
 
กอบกู้เอกราชของชาติไทยให้กลับคืนดำรงอิสรภาพสืบมา
 

 

 

 

 

 

 

 

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  บังอบายเบิกฟ้า    ฝึกฟื้นใจเมือง 

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  บังอบายเบิกฟ้า    ฝึกฟื้นใจเมือง

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  บังอบายเบิกฟ้า    ฝึกฟื้นใจเมือง

 

 

 

 

บรรณานุกรม      

          -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง  ในการฉลองพระนครครบ  ๒๐๐  ปี  พุทธศักราช  ๒๕๒๕  ภาคที่  ๑    โรงพิมพ์  ยูไนเต็ดโปรดักชั่น  จำกัด    กรุงเทพฯ 

           -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

          -  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน ๒๕๔๓

          -  การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี    นิธิ  เอียวศรีวงศ์สำนักพิมพ์ มติชน  พฤศจิกายน  ๒๕๔๓

          -  แผนที่ในเรื่อง นำมาจาก  หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ของ  พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน   ซึ่งขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้

  

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker