dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง

 

*  *  *

 อยุธยายศล่มแล้ว    ลอยสวรรค์  ลงฤๅ  (๙)  -  บังอบายเบิกฟ้า    ฝึกฟื้นใจเมือง 

 

 

 

          อยุธยายศล่มแล้ว    ลอยสวรรค์    ลงฤๅ

สิงหาศน์ปรางค์รัตน์บรร    เจิดหล้า        

บุญเพรงพระหากสรรค์        ศาสน์รุ่ง    เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า               ฝึกฟื้นใจเมือง

    - นิราศนรินทร์ -

 

 

 

 พระพุทธศักราช  ๒๓๒๕    อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชย์

ทรงสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์ และราชธานีใหม่ในราชอาณาจักรสยามนั้น

ตรงกับคริสตศักราช  ๑๗๘๒  

 

ภูมิภาคต่างๆ  ก็มีอุบัติการณ์สำคัญๆ  และประเทศต่างๆ  ก็มีความเป็นไปดังนี้

 

 

 

 

ยุโรป

                   เป็นยุคจักรวรรดินิยม   ประเทศต่างๆ ในยุโรป  ต่างพัฒนากองเรือเดินทางออกแสวงหาอาณานิคม   เช่น  

 

          สเปน 

               ได้แมกซิโก และ หมู่เกาะที่เป็นประเทศฟิลิปปินส์ ในปัจจุบัน      ในขณะที่ไทยกำลังสร้างบ้านแปงเมืองใหม่นี้ ฟิลิปปินส์กำลังต่อสู้กับสเปน ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๘   (ค.ศ.๑๖๖๕)   ในสมัยพระเจ้าฟิลิป ที่ ๒  (พ.ศ.๒๐๙๙ - ๒๑๔๑  ค.ศ.๑๕๕๖ - ๑๕๙๘)   (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑)

 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

           โปรตุเกส  

                   กองเรือโปรตุเกสมาถึงหมู่เกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  และเมืองมะละกา  (ซึ่งเป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย)  เมื่อ พ.ศ.๒๐๕๒ / ค.ศ.๑๕๐๙   ซึ่งเป็นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเชษฐาธิราช  (พ.ศ.๒๐๓๔- ๒๐๗๒/ค.ศ.๑๔๑๙ - ๑๕๒๙)  ได้เกิดพิพาทกับชาวพื้นเมืองและชาวอาหรับที่อยู่ในเมืองมะละกา   ในที่สุด  พ.ศ.๒๐๕๔  ก็เข้ายึดเมืองมะละกาไว้ได้ โดยไม่ทราบว่าเป็นเมืองขึ้นของไทย  ครั้นได้ทราบความจริง จึงแต่งราชทูตมาเจริญทางไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา  ในพ.ศ.๒๐๖๒   พร้อมทั้งขอเมืองมะละกา   ฝ่ายไทยเห็นว่า ได้ทอดธุระ และห่างเหินมานาน  จึงรับทางไมตรี และ ยกเมืองมะละกาให้แก่โปรตุเกส   แต่ใน  พ.ศ.๒๓๘๔/ค.ศ.๑๖๔๑  โปรตุเกส ก็ต้องเสียเมืองมะละกาให้แก่เนเธอร์แลนด์ ต่อไป

               ในหมู่เกาะเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  โปรตุเกสได้ดินแดนที่เป็นประเทศ  ติมอร์ เลสเต  ในปัจจุบัน   

               พ่อค้าชาวโปรตุเกสมาถึงมาเก๊าของจีน และได้รับอนุญาตให้ทอดสมอในอ่าวมาเก๊าเพื่อค้าขายตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๗๘  (ค.ศ.๑๕๓๕)  และ ความสัมพันธ์ได้พัฒนาจนโปรตุเกสได้มาเก๊าเป็นอาณานิคมใน พ.ศ. ๒๔๓๐ (ค.ศ.๑๘๘๗)

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          เนเธอร์แลนด์

               ได้มาถึงหมู่เกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมๆ กับพ่อค้าอังกฤษ  ภายหลังพ่อค้าโปรตุเกส  ใน พ.ศ.๒๑๔๕ (ค.ศ.๑๖๐๒)  ได้ตั้ง Dutch East India Company ขึ้น และได้สถาปนา Dutch East Indies  เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ในพ.ศ.๒๓๔๓ /ค.ศ.๑๘๐๐

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          รัสเซีย

               อยู่ในรัชสมัยพระจักรพรรดินีคัทรีน ที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๐๕ - ๒๓๓๙, ค.ศ.๑๗๖๒ - ๑๗๙๖)

 

 

          ทรงขยายอาณาจักรรัสเซียออกไปทางตะวันตก และทางใต้  มีชัยต่ออาณาจักรออตโตมาน (ตุรกี ในปัจจุบัน) ในสงคราม รัสเซีย - เตอร์กิช  (ครั้งที่ ๑  พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๑๗  ค.ศ.๑๗๖๘ - ๑๗๗๔)    ใน พ.ศ.๒๓๒๖  (ค.ศ.๑๗๘๓) ได้ครอบครองแหลมไครเมีย    และได้ชนะสงครามต่อชาวเตอร์อีกในสงครามครั้งที่ ๒  (พ.ศ.๒๓๓๐ - ๒๓๓๕  ค.ศ.๑๗๘๗ - ๑๗๙๒)      สามารถตั้งฐานทัพเรือที่เซวาสโตโปล  (Sevastopol)   บนฝั่งแหลมไครเมีย ในทะเลดำ  สร้างความแข็งแกร่งทางทะเลให้รัสเซีย จนยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจได้ในสมัยต่อๆ ไป

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          ฝรั่งเศส

              ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖  (พ.ศ.๒๓๑๗ - ๒๓๓๖  ค.ศ.๑๗๗๔ - ๑๗๙๓)

 

 

               ทรงส่งกองทหารบก  และกองเรือไปช่วยฝ่ายอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกา จนได้เอกราช  (ดังจะได้กล่าวต่อไป)  ทำให้หมดเปลืองพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังมหาสมบัติเป็นอันมาก  และประกอบกับสาเหตุทางการเมืองอีกหลายประการ  ทำให้เกิดปฏิวัติใหญ่ ในพ.ศ.๒๓๓๒ (ค.ศ.๑๗๘๙)

         นโปเลียน  โบนาปาร์ต  อายุได้  ๑๓  ปี  (เกิด  พ.ศ.๒๓๑๒ / ค.ศ.๑๗๖๙)   กำลังศึกษาในโรงเรียนนายร้อยที่เมืองเบรียนน์  และจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยปารีสใน พ.ศ.๒๓๓๘ / ค.ศ.๑๗๘๕)

           อย่างไรก็ดี  ฝรั่งเศสก็มีบทบาทอยู่ในอินเดีย และพม่าแล้ว    โดยมีอิทธิพลทางด้าตะวันออกของอ่าวเบงกอล   และมีกองเรืออยู่ที่เมืองมะริด (ตี้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          อังกฤษ

                รัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ ๓   พ.ศ.๒๒๐๓ - ๒๓๖๓  (ค.ศ.๑๗๖๐ - ๑๘๒๐)  

 

 

          ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๕  (ค.ศ.๑๗๗๒)   พลเรือจัตวา เซอร์ เอดเวอร์ด ฮิวส์  เป็นผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษ เดินทางไปทางตะวันออกจนถึงอินเดีย  และมีอิทธิพลในอินเดีย  (ด้านตะวันตกของอ่าวเบงกอล)  ต่อไป

          และในห้วงเวลานี้  อังกฤษก็ยุ่งยากกับปัญหาอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          เยอรมันนี             

               ยังแยกกันเป็นอาณาจักรต่างๆ  ยังไม่รวมเป็นประเทศเยอรมันนี

 

         ปรัสเซีย

              ในสมัยพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ ๒  มหาราช   พ.ศ.๒๒๘๓ - ๒๓๒๙  (ค.ศ.๑๗๔๐ - ๑๗๘๖)   ทรงพัฒนาอาณาจักร และกองทัพจนเข้มแข็งที่สุดในยุโรป  ทรงนำปรัสเซียเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ และแฮนโนเวอร์  เข้าทำสงครามกับ ออสเตรีย  ฝรั่งเศส  รัสเซีย  แซกโซนี  สวีเดน  และสเปน ในสงคราม ๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๙๙  จนถึง พ.ศ.๒๓๐๖  (ค.ศ.๑๗๕๖ - ๑๗๖๓)

 

 

ระหว่างสงครามเจ็ดปี  ภาพโดย   Richard Kotel

 

               ผลของสงครามเจ็ดปี   ทำให้อังกฤษเป็นเจ้าแห่งอาณานิคมในโลก  และปรัสเซียเป็นมหาอำนาจในยุโรป

 

 

 

พระเจ้าเฟรเดอริค ที่ ๒  มหาราช แห่งปรัสเซีย  สวรรคตใน พ.ศ.๒๓๒๙  (ค.ศ.๑๗๘๖) 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

อเมริกา

          เกิดสงครามปฏิวัติระหว่างอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาเหนือ กับอังกฤษ    โดยชาวอาณานิคมดังกล่าว ประกาศอิสรภาพไม่เป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อ  วันที่  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๓๑๙ - ค.ศ.๑๗๗๖  และรวบรวมผู้คนจัดตั้งเป็นกองทหาร เข้าทำการรบกับกองทัพอังกฤษ

 

 

Declaration  independence

   ภาพโดย  John  Trumbull  1817 - 18

 

          พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๖  แห่งฝรั่งเศสทรงช่วยเหลือฝ่ายอาณานิคมด้วยการจัดส่งกองทหารบก และกองเรือไปช่วยรบ  ได้เดินทางไปถึงอเริกาใน พ.ศ.๒๓๒๑

          จนที่สุด  พ.ศ.๒๓๒๔  (ค.ศ.๑๗๘๑) กองทหารอังกฤษก็พ่ายแพ้  อังกฤษต้องสูญเสียอาณานิคมในทวีปอเมริกา  และต้องยอมรับเอกราชของอเมริกาตามสนธิสัญญาปารีส  ในเดือน เมษายน  พ.ศ.๒๓๒๖  (ค.ศ.๑๗๘๓)

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

เอเซีย

          จีน  

               ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong)   พ.ศ.๒๒๗๘ - ๒๓๓๙  (ค.ศ.๑๗๓๕ - ๑๗๙๗)   แห่งราชวงศ์ชิง 

 

 

           ในรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ มีเหตุการณ์ และทรงสร้างความเจริญอย่างมากมายแก่อาณาจักรของพระองค์  แต่ในช่วงเวลาสร้างกรุง คือการจัดทำ สารานุกรมซื่อคู๋เฉวียนซู  ในพ.ศ.๒๓๑๖ - ๒๓๒๕

          ต้องเปิดเมืองกวางโจวให้ชาวตะวันตกที่ต้องการเข้ามาค้าขายตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๐๐ (ค.ศ.๑๗๕๗)   ชาวอังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายมากที่สุด   โดยซื้อไหม และชา จากจีนเป็นจำนวนมาก  แต่นำฝ้ายและสิ่งทอมาขาย แต่ขายได้น้อย  จึงแก้ปัญหาด้วยการนำฝิ่นมาขายให้จีน   ทำให้ชาวจีนติดฝิ่นเป็นจำนวนมาก   ทางการจีนเล็งเห็นมหันตภัยของฝิ่นที่มีต่อสุขภาพ อนามัยของประชาชน ต่อกองทัพ และการคลัง   จีน จึงพยายามต่อต้าน  จนเกิดสงครามฝิ่นใน พ.ศ.๒๓๘๒ (ค.ศ.๑๘๓๙)  และ พ.ศ.๒๓๘๕  (สมัยพระเจ้าเต้ากวง)

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          อินเดีย

               กำลังแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการพยายามล่าอาณานิคมของอังกฤษ   ในพ.ศ.๒๓๐๐ (ค.ศ.๑๗๕๗) ต้องเสียเบงกอลเป็น Protectorate  แก่  East India Company

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          ญี่ปุ่น

               ยังคงใช้นโยบายปิดประเทศอยู่   ถูกบังคับให้เปิดประเทศเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ - ค.ศ.๑๘๕๔  (สมัยรัชกาลที่ ๔)

 

         *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          เกาหลี

               อยู่ในสมัย ราชวงศ์โชซอน   (ค.ศ.๑๓๙๒ - ๑๙๑๐)  

 

          *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

          พม่า

               พระเจ้าปดุง หรือ โพธิพญา  (Bodawpaya)   โอรสองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญา(Alaungpaya)   หลังจากที่ต้องต่อสู้ช่วงชิงราชบัลลังก์ในกรุงอังวะอยู่นาน  ในที่สุด  ก็ได้ราชสมบัติเมื่อ  พ.ศ.๒๓๒๔   แลเมื่อได้ราชสมบัติแล้วก็ต้องปราบปรามเสี้ยนหนามภายในอยู่หลายปี

          สรุปรายละเอียด  อยู่ในหัวข้อ สงครามสืบราชสมบัติพม่า   ในตอน ธนบุรีสมัยจบ

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

บังอบายเบิกฟ้า     ฝึกฟื้นใจเมือง

  

ฯลฯ

          ครั้น  ณ  วันเสาร์  เดือนห้า  แรมเก้าค่ำ  เพลาเช้าสองโมงเศษ     ทัพหลวงมาถึงกรุงธนบุรีฟากตะวันออก    พระยาสุริยอภัยจึงให้ปลูกพลับพลารับเสด็จริมสะพานท่าวัดโพธาราม    แล้วให้แต่งเรือพระที่นั่งกราบข้ามมาคอยรับเสด็จ  และท้าวทรงกันดาลทองมอญซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในพระราชวังก็ลงเรือพระที่นั่งมาคอยรับเสด็จด้วย    จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งกรีธาพลทัพหลวงเข้ามาในกำแพงเมือง  . . .

 

 

 

          ในทันใดนั้น    จึงท้าวพระยามุขมนตรีกวีชาติ และราษฎรทั้งหลายก็พร้อมกันกราบทูลวิงวอนอันเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป   สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีภาพ  แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต    แล้วเสด็จมาประทับแรมอยู่  ณ  พลับพลาหน้าโรงพระแก้วนั้น

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับหมอบรัดเล

 

 

 

 

 

 

 

 

พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต

         พระพุทธลักษณะพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต    เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ  ปางสมาธิ

ขนาดหน้าตักกว้าง  ๔๘.๓  เซนติเมตร  สูงแต่ฐานเฉพาะทับเกษตรถึงพระเมาลี  ๒๖  เซนติเมตร 

มีเสันจีวรคาดเข่าทั้งสองข้าง  พระองค์อวบอ้วน  พระพักตร์กลมอูม  พระขนงโก่ง  หลังพระเนตรอูม

พระนาสิกโด่ง  พระโอษฐ์บางสลักขอบเป็นสองเส้น  พระหนุเป็นปม  พระรัศมีอยู่เหนือเกตุมาลาเป็นต่อม 

ปลายสังฆาฏิยาว  ฐานรองรับเป็นฐานเขียง  มีหน้ากระดานโค้งออกข้างนอก

 

 

ณ  วันเสาร์   แรม   ๙  ค่ำ เดือน   ๕   ปีขาล   จุลศักราช  ๑๑๔๔

ตรงกับวันที่

๖   เมษายน  พระพุทธศักราช  ๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัติถวัลยราชย์

ทรงสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์ และราชธานีใหม่ในพระราชอาณาจักรสยาม

 

ราชธานีใหม่

          ครั้น  ณ  วันจันทร์   เดือนห้าแรมสิบห้าค่ำ    จึงทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ  พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่ข้าราชการผู้มีความชอบกับทั้งพรรคพวกข้าหลวงเดิม . . .  แล้วดำรัสว่า    พระราชคฤหฐานใกล้อุปขารพระอารามทั้งสองข้าง  คือวัดแจ้งและวัดท้ายตลาด  มิบังควรยิ่งนัก   จึงดำรัสแก่พระยาธรรมาธิบดี พระยาวิจิตรนาวี ให้เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปฐาปนาพระราชนิเวศน์วังใหม่ฟากพระนครข้างตะวันออก   ณ   ที่บ้านพระยาราชาเศรษฐีและบ้านจีนทั้งปวง    ให้พระยาราชาเศรษฐียกพวกจีนลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่  ณ  ที่สวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มลงไปจนถึงดลองเหนือวัดสามเพ็ง

          (จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php   ปรากฎว่า  วันแรม  ๑๕ ค่ำ เดือน  ๕ ปี พ.ศ.๒๓๒๕  ไม่มีในระบบปฏิทินจันทรคติ  แต่ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔  ตรงกับวันพฤหัสบดี   วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕   และ  ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔  ตรงกับวันศุกร์  วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕)

 

          ถึง  ณ  วันจันทร์  เดือนหกขึ้นสี่ค่ำเพลาห้าโมงเช้า    สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จเดินทัพมาถึงพระนคร    ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  ณ  ท้องพระโรง  ดำรัสปรึกษาราชการแผ่นดินด้วยกันแล้ว  .  .  .

                (ขึ้น  ๔ ค่ำ เดือน  ๖ ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔    ตรงกับวันจันทร์    วันที่  ๑๙  เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕) 

 

 ยกหลักเมือง  -  ตั้งพระราชวังใหม่

           ครั้นถึง  ณ  วันอาทิตย์    เดือนหกแรมเก้าค่ำ  ปีขาล  จัตวาศก  ศักราช  ๑๑๔๔  ปี    ให้ตั้งการพระราชพิธียกหลักเมือง
 
               (แรม ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔   ตรงกับวันอาทิตย์    วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๒๕)

         
          ถึง  ณ  วันจันทร์    เดือนหกแรมสิบค่ำ    จับการตั้งพระราชวังใหม่    และล้อมด้วยระเนึยดก่อน  ยังมิทันได้ก่อกำแพงวัง

 ฯลฯ

                กรุงธนบุรีขณะนั้น มีกำแพงอยู่สองฟากแม่น้ำ  เป็นชัยภูมิที่ไม่มั่นคงในการต่อสู้ข้าศึก  ฝั่งตะวันตกนั้นแม้จะเป็นที่ดอน  แต่ก็เป็นที่ท้องคุ้ง น้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร ส่วนฝั่งตะวันออกนั้น แม้จะเป็นที่ลุ่ม  แต่ก็มีลักษณะเป็นแหลม  มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง    แม้นข้าศึกยกมาประชิดติดชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า    นอกจากนั้น  ที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่นอกกำแพงพระนครฝั่งตะวันออกที่เรียกว่าทะเลตม   ซึ่งใช้เป็นที่ทำนาปลูกข้าวเลียงพลเมืองนั้น    ยังทำให้กองทัพข้าศึกที่จะยกมาตีพระนคร เคลื่อนที่เข้ามาได้ยากลำบาก    และหากพระนครเจริญวัฒนาถาวรขึ้นก็อาจขยายเขตออกไปทางฟากตะวันออกนี้ได้อีกมาก     ทั้งพระราชคฤหฐาน   ก็ตั้งอยู่ในอุปจาร พระอารามทั้ง ๒ ข้าง  ดังพระดำรัสข้างต้น

  

      

 

  

      

          จึงโปรดเกล้าฯ ให้ฐาปนาพระราชนิเวศน์วังใหม่ ขึ้นที่ฝั่งตะวันออก  ในบริเวณกำแพงพระนครเดิมครั้งกรุงธนบุรี

          เมื่อทรงจัดการความสงบในกรุงธนบุรีแล้ว เพียง  ๕  วัน   ก็โปรดให้ย้ายพระนครข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากกรุงธนบุรี  มาฝั่งตะวันออก สร้างกรุงเทพมหานคร ฯ  

          การย้ายพระนครนี้    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงวิเคราะห์ว่า    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริว่า  พม่าคงมาตีเมืองไทยอีก   กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง  ๒  ฝั่ง   เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก  มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบเข้าไว้ในเมืองเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด    แต่การสู้รบรักษาเมืองคนข้างในจะช่วยกันถ่ายเทรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงที  ด้วยต้องข้ามน้ำ    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เคยทรงรักษาเมืองพิษณุโลกสู้ศึกอะแซหวุ่นกี้    เมืองพิษณุโลกลำน้ำแคบ และตื้นพอทำสะพานข้ามได้  ยังลำบาก    ทรงพระราชดำริเห็นว่า  ที่กรุงธนฯ แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งกว้าง และลึก  จะทำสะพานข้ามไม่ได้    ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนครจะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้    ข้างฝั่งตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิเพราะเป็นหัวแหลม    ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียว  จะได้แม่น้ำใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตก และด้านใต้  ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น    ถึงข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้   ด้วยเหตุนี้  จึงโปรดให้ย้ายพระนคร  มาสร้างฟากตะวันออกแต่ฝั่งเดียว      น่าจะถึงได้เคยเป็นปัญหาปรึกษาหารือกันในรัฐบาลแต่ครั้งกรุงธนบุรี  . . .ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยพอเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว  ก็ให้ลงมือสร้างพระนครใหม่ทันที    และธรรมดาการสร้างเมือง  ซึ่งคิดทำโดยปัจจุบันทันที ไม่ตรวจตราภูมิลำเนาให้รู้แน่ชัด  และไม่คิดประมาณการ    ทั้งกำลังซึ่งจะสร้างให้ตลอดก่อนนั้น  ใช่วิสัยที่จะเป็นได้    จึงเห็นว่าการย้ายพระนคร   มาสร้างฝั่งตะวันออกเป็นการที่ได้มีความคิดมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว

         การสร้างกรุงรัตนโกสินทร  เป็นอันยุติว่าจะตั้งราชธานีอยู่ที่บางกอกนี้ต่อไป   ไม่คิดกลับคืนไปตั้งที่กรุงศรีอยุธยาอย่างโบราณ  จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปรื้อกำแพงกรุงเก่าเอาอิฐลงมาสร้างป้อมปราการกรุงเทพฯ   และจะมิให้กรุงเก่าเป็นที่อาศัยของข้าศึกด้วยอีกประการ  ๑   . . .

ฯลฯ

 

สิงหาศน์ปรางค์รัตน์บรร    เจิดหล้า
 
          การสร้างพระราชนิเวศน์วังใหม่ในครั้งนั้น ได้ถ่ายแบบพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยามาเกือบทุกอย่าง ได้แก่ กำหนดการสร้างกำแพงใกล้ชิดกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอาแม่น้ำไว้ด้านซ้ายอย่างพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา แล้วใช้กำแพงด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงปราการชั้นนอก

          ทรงโปรดให้สร้างพระราชมณเทียรสถานขึ้นภายในพระราชวัง    ในครั้งแรกนั้น  ทรงโปรดให้สร้างด้วยเครื่องไม้     ส่วนป้อมและกำแพง พระอุโบสถ พระอารามหลวง ให้ก่ออิฐถือปูน     สำหรับซุ้มประตู สร้างเครื่องไม้ยอดทรงมณฑป  ประกอบลายปูนปั้น   บานประตูทาสีแดงอย่างเดียวกับกรุงศรีอยุธยา

 

พระราชพิธีปราบดาภิเษก

          ถึง  ณ  วันจันทร์  เดือนแปดปฐมาสาธ  ขึ้นค่ำหนึ่ง     ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป    นิมนต์พระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ครบสามวันแล้ว    รุ่งขึ้น  ณ วันพฤหัสบดี  เดือน  ๘ ขึ้น  ๔ ค่ำ  เพลารุ่งแล้วสี่บาท   ได้มหามงคลอุดมวิชัยนักขัตฤกษ์  พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัสดวงปราศจากเมฆผ่องพื้นนภากาศ    พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักหลาดประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงแห่โดยกระบวนพยุหยาตราหน้าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ ก็เสด็จข้ามมหาคงคามา  ณ  ฝั่งฟากตะวันออก    เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระราชวังใหม่ ทรงพระเสลี่ยง    ตำรวจแห่หน้าหลัง  เสด็จขึ้นยังพระราชมนเทียรสถาน    ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์    แล้วเถลิงสถิตเบื้องบนมงคลราชมัญจะอาศน์พระกระยาสนาน    พระสงฆ์ถวายพระปริโตทกธารเบญจสุทธคงคามุทธาภิสิตวารี    ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์หลั่งมงคลธารา  อวยอาเศียรพาทพิษณุอิศวรเวทถวายชัยวัฒนาการ    พระโหราลั่นฆ้องชัยให้ประโคมขานเบญจางคดุริยดนตรีแตรสังข์ประนังศัพท์สำเนียงนฤนาท  พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสถิตเหนือภัทรบิฐอันกั้งบวรเศวตราชาฉัตร    พระราชครูปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ  และเครื่องเบญจพิธราชกกุธภัณฑ์  พระแสงอัษฎาวุธ   อัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเสวยสวรรยาธิปัติ  ถว้ลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืปไป

          ขณะเมื่อได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้สี่สิบหกพรรษา  จึงพระสังฆราชราชาคณะคามวาสีอรัญวาสี และชีพเอพราหมณ์พฤฒาจารย์ทั้งหลายพร้อมกันถวายพระนามว่า

 

 

 

 

 พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี

ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิเบดินทร์  ธรณินทราธิราช

รัตนากาศภาสกรวงศ์  องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก  ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศัย

สมุทัยดโรมนต์  สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์  หรินทราธาดาธิบดี

ศรีวิบุลยคุณอัคนิษฐ์  ฤทธิราเมศวรหันต์

บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์  ภูมินทรบรมาธิเบศร

โลกเชฎฐวิสุทธิรัตนมกุฏประเทศคตา  มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

พระพุทธเจ้าอยู่หัว  ณ  กรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา

มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์  อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน

จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ


วันจันทร์  เดือนแปดปฐมาสาธ  ขึ้นค่ำหนึ่ง  ตรงกับ วันที่  ๑๓  มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕
 

 

เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

. . . แล้วตั้งผู้มีความชอบออกไปเป็นพระยาพระหลวงครองหัวเมือง

          จึงมีพระราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จเถลิงราชมไหสวรรย์  ณ  ที่พระมหาอุปราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง  โดยดังโบราณจารีตราชประเพณีมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนมา   และสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรก็ไปฐาปนาราชธานีขึ้นใหม่ใกล้ตามคฤหฐานที่เดิมตั้งเป็นพระราชวังหน้า . . .
   
          ทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่  เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมพระเทพสุดาวดี   และตั้งพระเชษฐภคินีพระองค์น้อย  เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมพระศรีสุดารักษ์    โปรดให้พระยาสุริยอภัยพระราชนัดดาผู้ใหญ่  เป็น  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์  ครั้นภายหลังเห็นว่ายศศักดิ์ยังไม่สมควรแก่ความชอบที่มีมากจึงโปรดให้เลื่อนขึ้น  เป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายหลัง  รับพระราชบัญชา    ตั้งวังอยู่ที่สวนลิ้นจี่ในเมืองฟากตะวันตกริมคลองบางกอกน้อย   ดำรัสให้หาพระอภัยสุริยาราชนัดดาลงมาแต่เมืองนครราสสีมาโปรดตั้งให้เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์   ให้เสด็จไปอยู่  ณ  วังเก่าเจ้าตาก

          อนึ่ง  พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ พระชนม์ได้สิบหกพระพรรษา  ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ให้เสด็จอยู่  ณ  บ้านหลวง ที่วังเดิม  พระราชทานเครื่องราชูปโภค  มีพานพระศรีทองเป็นต้น  โดยควรแก่ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกๆ พระองค์  . . .

ฯลฯ

. . . แล้วตั้งผู้มีความชอบออกไปเป็นพระยาพระหลวงครองหัวเมืองเอก  โท  ตรี  จัตวา  ปากใต้  ฝ่ายเหนือ ทั้งปวงทุกๆ เมือง

 

บุญเพรงพระหากสรรค์      ศาสน์รุ่ง    เรืองแฮ

          ในปีขาล  จัตวาศก  (จ.ศ.๑๑๔๔ - พ.ศ.๒๓๒๕)  นั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงดำรัสปรึกษากันว่า . . . ควรจะจัดแจงฝ่ายพุทธจักรบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งทรุดโทรมเศร้าหมองนั้นให้วัฒนาการรุ่งเรืองสืบไป

 ฯลฯ

          .  .  .  จึงทรงถวายเงินตราเป็นค่าบิณฑบาตปัจจัยแก่พระราชาคณะเปรียญทุกๆ พระอาราม  เป็นนิตยภัตทุกๆ เดือนมิได้ขาด

 

          ครั้นทรงจัดแจงฝ่ายพระพุทธจักรเสร็จแล้ว  จึงโปรดให้พระยาราชาเศรษฐีกลับออกไปครองเมืองพุทไธมาศดังเก่า  แล้วทรงเห็นว่าเมืองพุทไธมาศเป็นเมืองหน้าศึกใกล้กันกับแดนเมืองญวน    จึงโปรดให้พระยาทัศดาออกไปช่วยราชการป้องกันเมืองด้วย

 

กัมพุชประเทศ

เจ้าพระยายมราช  เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครองกรุงกัมพูชา

          ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศนั้นทรงตั้งเจ้าพระยายมราชเขมรผู้มีความชอบ  (ที่ได้นำกองทัพเขมรล้อมกองทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้  ไม่ให้ทราบข่าวจลาจลที่กรุงธนบุรี)  เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรครองกรุงกัมพูชา    แล้วให้ส่งราชบุตร  นักพระอุทัยราชาทั้งสี่องค์เข้ามา  ณ  กรุงฯ   พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองค์เองเป็นพระราชบุตรบุญธรรม   นักพระองค์มินนั้นถึงแก่พิราลัย    พระองค์อี พระองค์เภาหญิงทั้งสองนั้น  สมเด็จพระอนุชาธิราช  ขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เป็นพระสนม  อยู่  ณ  พระราชวังหน้า

 

ลาวประเทศ

เจ้านันทเสน ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต

          ฝ่ายข้างลาวประเทศนั้น  เจ้าบุญสารพระเจ้าล้านช้างเก่า  กลับมาแต่เมืองคำเกิดมา  ณ  เมืองล้านช้าง  จับพระยาสุโภซึ่งรั้งเมืองอยู่นั้น  ฆ่าเสีย

          พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์  จึงโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรนั้น  กลับขึ้นไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป  เจ้านันทเสนจึงกราบทูลขอพระบางกลับคืนไปด้วย     ครั้นขึ้นไปถึงเมืองบ่มิได้ช้า    เจ้าบุญสารผู้บิดาก็ถึงแก่พิราลัย    และพระเจ้าล้านช้างใหม่กระทำฌาปนกิจเสร็จแล้ว   ก็บอกส่งเจ้าอินทร  เจ้าพรหม  และเจ้าน้องทั้งปวงนั้นลงมาถวาย  ณ  กรุงฯ   ทรงพระกรุณาให้เลี้ยงไว้

 

 

 พระบาง

 

            (เจ้าศิริบุญสารฯ  พาเจ้าอินทร  เจ้าพรหม  ราชบุตร  และคนสนิทหนี ไปเมืองคำเกิด ต่อแดนญวน  ตั้งแต่  ปีจอ  พ.ศ.๒๓๓๑    คราว สงครามกรุงธนบุรี  -  กรุงศรีสัตนาคนหุต ในธนบุรีสมัยจบ (๕))

 

           ในปีขาล  จัตวาศกนั้น    สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบุตร  พระราชบุตรี  พระราชนัดดา  ซึ่งยังทรงพระเยาว์นั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ   พระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้า  ทั้งสิ้น

 

เมืองญวน

องเชียงสือแพ้ หนีองไกเซิน

          ในปลาย พ.ศ.๒๓๒๕    พวกองไกเซินกลับตีและยึดเมืองไซง่อนได้อีก     องเชียงสือเองสู้รบไม่ได้ต้องแตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมือง  พาบุตรภรรยา และขุนนางสมัครพรรคพวกลงเรือหนีมาทางทะเล ขึ้นอาศัยอยู่  ณ  เกาะโดดหน้าเมืองพุทไธมาศ    พระยาราชาเศรษฐี และพระยาทัศดา  เจรจาเกลี้ยกล่อมได้ตัวองเชียงสือกับทั้งสมัครพรรคพวก  ส่งเข้ามาถวาย ณ  กรุงฯ  ทรงพระกรุณาให้เลี้ยงไว้  โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลคอกกระบือ

 

พระขรรค์ชัยศรี

          ในปีเถาะ  เบญจศก   จ.ศ.๑๑๔๕    นั้น    วันศุกร์ เดือนห้าแรมเก้าค่ำ   ตรงกับวันศุกร์   วันที่  ๒๕  เมษายน พ.ศ.๒๓๒๖     เจ้าพระยาอภัยภูเบศรผู้ครองกรุงกัมพูชา    ให้พระยาพระเขมรเชืญเอาพระขรรค์ชัยศรีแต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย    ในวันนั้นบังเกิดพายุใหญ่  ฝนตก  อสุนีบาตลงศาลาลูกขุนใน 

 

เมืองพม่า

 ปีเถาะ  เบญจศก จ.ศ.๑๑๔๕  พ.ศ.๒๓๒๖

          เมื่อปราบปรามความไม่สงบได้ราบคาบ  ทั้งในเขตพม่า รามัญ  และไทยใหญ่ แล้ว  ทรงสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่กรุงอมรปุระ    แล้วทรงส่งกองทัพไปตีประเทศมณีปุระทางเหนือ  และประเทศยะไข่ ทางตะวันตก    แผ่พระราชอาณาเขตกว้างไกลไพศาลกว่ารัชกาลก่อนๆ

          พระเจ้าปดุงให้สร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันตก ไกลกรุงอังวะสามร้อยเส้น  (ประมาณ  ๑๒  กิโลเมตร)    ให้นามเมืองอมรปุระ ตั้งเป็นเมืองหลวง 

 

 

 

 Royal palace established by king Bodawpaya at Amarapura.

 

 

     พ.ศ.๒๓๒๖ (ค.ศ.๑๗๘๓)  ฝรั่งเศสได้ส่งทูตมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับราชสำนักพม่า  แต่ไม่สำเร็จ

 

ทรงพระกรุณาช่วยองเชียงสือ ปราบกบฏ

          และปีเถาะ  เบญจศก   จ.ศ.๑๑๔๕  (พ.ศ.๒๓๒๖)  นั้น   ทรงพระกรุณาให้พระยานครสวรรค์ยกกองทัพออกไปกรุงกัมพูชา   ให้เกณฑ์กองทัพเขมรเข้าบรรจบด้วยยกไปรบญวนตีเมืองไซ่ง่อนคืนให้องเชียงสือ

          ฝ่ายกองทัพพระยานครสวรรค์  เกณฑ์กองทัพเขมรเข้ามาบรรจบยกทัพเรือลงไป  ณ  เมืองญวน   เมืองไซ่ง่อนยกทัพเรือขึ้นมาต่อรบป้องกันเมืองสักแดกซึ่งเป็นเมืองขึ้น  ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ  พระยานครสวรรค์มีฝีมือเข้มแข็งยกทัพเรือเข้าตีทัพญวนแตกพ่ายเป็นหลายครั้ง   ได้เรือและไพร่พลญวนเครื่องศัสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก  แล้วส่งคืนลงไปให้แก่กองทัพญวน

          พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ดำรัสให้หากองทัพพระยานครสวรรค์กลับคืนเข้ามา  ณ  กรุงฯ  ทรงพระกรุณาให้เสนาบดีพิจารณาได้ความจริงจึงดำรัสให้เอาตัวพระยานครสวรรค์ไปประหารชีวิต

 

 

 

ทรงพระกรุณาช่วยองเชียงสือ ปราบกบฏ ครั้งที่  ๒

          ลุศักราช  ๑๑๔๖  ปีมะโรง  (พ.ศ.๒๓๒๗)   ถึงเดือนหก   มีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ถือพลทหาร  ๕,๐๐๐   ยกกองทัพเรือออกไปตีเมืองไซ่ง่อนคืนองเชียงสือ ให้จงได้   ให้เอาตัวองเชียงสือ ไปในกองทัพด้วย

          กองทัพเรือออกไปทางทะเลถึงเมืองพุทไธมาศเกณฑ์เอากองทัพพระยาราชาเศรษฐี พระยาทัศดาเมืองพุทไธมาศเข้าบรรจบ  ไปตั้งค่ายอยู่อ่าวมะนาวริมแม่น้ำเมืองสักแดก  แล้วให้องเชียงสือแต่งขุนนางญวนไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนในแว่นแคว้นเมืองสัดแดก เมืองล่งโห้  เมืองสม่าถ่อ  มาเข้าด้วยเป็นอันมาก    ฝ่ายเมืองไซ่ง่อนก็แต่งทัพเรือยกมาต่อรบ  ได้รบกันเป็นหลายครั้งยังไม่แพ้ชนะกัน     ครั้งนั้น  เป็นเทศกาลเดือนสิบสอง  หน้าน้ำ  น้ำนองไปทั้งทุ่ง

          วันหนึ่งทัพเรือไทยยกไปรบทัพเรือญวน  แล้วถอยขึ้นมา  เอาหัวเรือเข้าจอดอยู่หน้าค่าย  รี้พลขึ้นบกเข้าค่าย  ทิ้งเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือ  ด้วยมีความประมาท  มิได้ระวังข้าศึก    ครั้นน้ำขึ้นทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงหน้าค่าย  ยิงปืนระดมขึ้นมาทำลายค่าย  ต้องไทยในค่ายตายเป็นหลายคน  ทหารไทยเสียทีจะลงเรือต่อรบมิทัน   ทิ้งค่ายเสียแตกหนีมาทั้งสิ้น    พลทัพไทยลุยน้ำเพียงอกบ้าง  เพียงเอวบ้าง   หนีข้าศึกเข้าแดนกรุงกัมพูชา    กองทัพญวนมิได้ติดตาม  เก็บได้เรือรบ เครื่องศัตราวุธปืนใหญ่น้อยไปทั้งสิ้น  เลิกทัพกลับไป

          กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์กับองเชียงสือหยุดพักพลอยู่  ณ  กรุงกัมพูชา  บอกข้อราชการเข้ามา  ณ  กรุงฯ

 

กรุงเทพมหานคร

          ข้างฝ่ายกรุงเทพมหานคร  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้   ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้  ให้มีการมหรสพ  และพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล  เสด็จไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค์

 

 

 

เมืองพม่า

         พ.ศ.๒๓๒๗    เกิดปัญหาในแคว้นยะไข่  (Rakhine)   พระเจ้าปดุง (โพธิพญา)  จึงทรงส่งกองทัพบุกเข้าไปทั้งทางบก และทางเรือ   ซึ่งชาวยะไข่ต้อนรับกองทัพพม่าเป็นอย่างดีในฐานะผู้มาแก้ปัญหา  แต่กองทัพพม่ากลับยึดเอาพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ไปประดิษฐานไว้ที่กรุงอมรปุระ  (Amarapura)   ทำให้ชาวยะไข่โกรธแค้นมาก

 

 

  

 

  พระมหามัยมุนี 

พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ 

เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗   กองทัพพระเจ้าปดุงนำไปไว้ที่กรุงอมรปุระ  เมืองหลวงของพม่าในสมัยนั้น    

ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดมหามัยมุนี  นครมัณฑะเลย์

 

 

พระราชวังใหม่  -  สร้างพระมหาปราสาท

             ปีมะโรง   ศักราช  ๑๑๔๖  (พ.ศ.๒๓๒๗)  นั้นทรงพระกรุณาให้ฐาปนามหาปราสาทในพระราชวังหลวง    ครั้งนั้นน้ำทะเลขึ้นแรงเต็มขึ้นมาถึงพระนคร    ครั้นถึง  ณ  วันศุกร์ เดือนสามขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง จ.ศ.๑๑๔๖   ตรงกับวันศุกร์   วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๓๒๗   สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ กับกรมพระราชวังหลัง  และเจ้าต่างกรมทั้งปวงพร้อมกันเสด็จโดยทางชลมารคไปปิดคลองปากลัด  ดำรัสให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินและอิฐหักถมทำนบกั้นน้ำ  แล้วให้เกณฑ์กันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่า  บรรทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง

 

ลงพระราชอาญาพระเจ้าหลานเธอ

          ครั้น  วันศุกร์  เดือนสามขึ้นสิบเอ็ดค่ำ  หนังสือบอกราชการทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ มาถึงพระนคร  จึงดำรัสให้หากองทัพกลับเข้ามา     แล้วลงพระราชอาญาจำพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และท้าวพระยาผู้ใหญ่ ซึ่งเสียทัพกับทั้งเรือรบเรือลำเลียงและเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่น้อยแก่ข้าศึกนั้น 

 

พระมหาปราสาทองค์แรก

          การพระมหาปราสาทนั้น  ยกเครื่องบนสำเร็จบริบูรณ์ลงรักปิดทองแล้ว  ในวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖  ตรงกับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๒๗  เพลาเช้าสองโมงสี่บาท ได้อุดมฤกษ์ยกยอดเอกพระมหาปราสาท   ข้างต้นมีพรหมพักตร์  แล้วปักพุ่มข้าวบิณฑ์บนปลายยอดด้วย  พระราชทานนามว่า  พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท

 

อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  
 
          
ครั้น  ณ  วันจันทร์  เดือน  ๔  แรม  ๑๐  ค่ำ     ( ตรงกับวันเสาร์  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2327(28) - http://www.payakorn.com/moondate.php )   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจากโรงในวังเก่าฟากตะวันตก ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง  มีเรือแห่เป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง  อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ในพระราชวังใหม่   แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัธสีมาในวันนั้น    และการพระอารามนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว  จึงตั้งนามว่า  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          นอกพระระเบียงด้านตะวันออกมี "พระมหาเจดีย์ฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ" ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของพระอาราม  คือพระอัษฎามหาเจดีย์  ๘  องค์   ทรงพระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี  รายอยู่เป็นระยะ   มีชื่อ เรียงตามองค์ด้านทิศเหนือ มาใต้  ดังนี้ 

พระสัมมาสัมพุทธมหาเจดีย์(สีขาว)   พระสัทธรรมปริยัติวรามหาเจดีย์ (สีน้ำเงินเข้ม)   พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ (สีชมภู)   พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ (สีเขียว)  พระปัจเจกโพธิสัมพุทธามหาเจดีย์ (สีม่วง)   พระจักรวัติราชมหาเจดีย์ (สีน้ำเงิน)   พระโพธิสัตวกฤษฎามหาเจดีย์ (สีแดง)   พระศรีอริยเมตยมหาเจดีย์ (สีเหลือง)

 

 

 

 

ปีมะเส็ง  สัปตศก  จ.ศ.๑๑๔๗   (พ.ศ. ๒๓๒๘)

          ทรงพระกรุณาให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งเดิมทั้งขึ้นสักเลกพลังมือทั้งสิ้น   แล้วให้เกณฑ์เลกหัวเมืองขึ้น  ทั้งไทย ลาว เขมรทั้งปวง  กับทั้งเลกไพร่หลวงสมกำลังเกณฑ์ทำอิฐจะก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่  ให้รื้อป้อมวิไชเยนทร์ และกำแพงเมืองเก่าฟากตะวันออกเสีย  ขยายพระนครออกไปให้กว้างกว่าเก่า    แล้วเกณฑ์เลกลาวเขมรหัวเมือง ให้ขุดคูคลองพระนครด้านตะวันออก  ตั้งแต่วัดเชิงเลน (ปัจจุบันคือวัดบพิตรพิมุข) ขึ้นมาถึงวัดสะแก ไปถึงวัดบางลำพู  (ปัจจุบันคือวัดสามพระยา)  ออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง    และ วัดสะแกนั้นพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ  .   .   .  ขุดรากก่อกำแพงพระนครทั้งด้านแม่น้ำและด้านในคลองบรรจบกันโดยรอบ   ให้ก่อเชิงเทินและป้อม  ทำบรรจบคลองคูใหม่นอกเมือง   ให้ทำสะพานช้าง และสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครเป็นหลายตำบล    แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศ   พระราชทานนามว่าคลองมหานาค    ไว้เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครลงเรือเล่นเพลงเล่นสักวาเทศกาลน้ำเหมือนครั้งกรุงเก่า

          คูคลองพระนครด้านตะวันออก นี้พระราชทานชื่อว่า  "คลองรอบกรุง" 

          (คูคลองพระนครด้านตะวันออก   หรือ "คลองรอบกรุง"  นี้   ปากคลองด้านเหนือบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดบางลำพู  เรียก คลองบางลำพู   ส่วนปากคลองด้านใต้บรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดเชิงเลนนั้น เรียก คลองโอ่งอ่าง)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กำแพงพระนคร    ประตู และป้อม

 

 

            กำแพงพระนครที่สร้างขึ้นนี้      ยาวประมาณ  ๗,๒๐๐  เมตร   กำแพงสูงประมาณ  ๓.๕  เมตร    มีประตูเมือง  ๑๖  ประตู  เป็นประตูทรงมณฑปเครื่องไม้   ทาดินแดงแบบกรุงศรีอยุธยา     ประตูพฤฒิมาศ หรือ พฤฒิบาศ หรือพฤฒาบาศ อยู่ด้านตะวันออก  ใกล้ป้อมมหากาฬ     ประตูสำราญราษฎร์  เป็นประตูที่นำศพของราษฎรออก  เรียกกันทั่วไปว่า ประตูผี

          สมัยแรกสร้างทำเป็นประตูเครื่องไม้     

 

                  ประตูเมือง  (ในสมัยรัชกาลที่ ๕) เข้าใจว่าจะเป็นประตูประตูพฤฒิมาศ หรือ พฤฒิบาศ หรือพฤฒาบาศ   และป้อมที่เห็นถัดไปก็น่าจะเป็นป้อมมหากาฬ   เห็นภูเขาทอง  วัดสระเกศฯ เป็นฉากหลัง   > 

 

 

 

           ตามแนวกำแพงพระนครด้านแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองรอบกรุง มีการสร้างป้อม   จำนวน  ๑๔ ป้อม  มีชื่อป้อม จากด้านเหนือเวียนไปทางขวา (ตามเข็มนาฬิกา)  ดังนี้

ตามแนวกำแพงด้านคลองรอบกรุง  (ด้านตะวันออก)

          ป้อมพระสุเมรุ อยู่ที่ปากคลองบางลำพูบน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระนคร     ป้อมยุคนธร    ป้อมมหาปราบ   ป้อมมหากาฬ อยู่ใกล้ปากคลองมหานาคบรรจบคลองรอบกรุง   ป้อมหมูทลวง    ป้อมเสือทยาน    ป้อมมหาไชย    ป้อมจักรเพชร อยู่บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง  

ตามแนวกำแพงด้านแม่น้ำเจ้าพระยา  (ด้านตะวันตก)

           ป้อมผีเสื้อ อยู่ปากคลองคูเมืองเดิมด้านใต้  ติดแม่น้ำเจ้าพระยา   ป้อมมหาฤกษ์   อยู่ตรงข้ามป้อมวิไชเยนทร์  ฝั่งตะวันตก (น่าจะสร้างทับบนพื้นที่ของป้อมวิไชเยนทร์  ฝั่งตะวันออก)    ป้อมมหายักษ์ อยู่ริมแม่น้ำ เยื้องวัดโพธาราม   ป้อมพระจันทร์  อยู่ระหว่างพระราชวังใหม่ และ พระราชวังหน้า    ป้อมพระอาทิตย์ อยู่ปากคลองคูเมืองเดิมด้านเหนือ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา   ป้อมอิสินทร อยู่ระหว่างป้อมพระอาทิตย์กับป้อมพระสุเมรุ

 

 

 

 

 

 

 

 

            ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่   ป้อมพระสุเมรุ ที่หัวมุมถนนพระอาทิตย์ - ถนนพระสุเมรุ  บางลำพู   และ ป้อมมหากาฬ  ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ   เท่านั้น

 

 

  

 

 

 

 

 

  <   ป้อมพระสุเมรุ 

 ป้อมมหากาฬ   >

 

 

 

 

 

 

 

ป้อมมหากาฬ 

และกำแพงพระนคร ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน 

 

 

 

กำแพงพระราชวังใหม่

           ประตูพระราชวังใหม่ชั้นนอก   เมื่อแรกสร้างพระนคร  เป็นประตูไม้ยอดทรงมณฑป  มี  ๑๗  ประตู  แต่ในรัชกาลต่อๆ มา ได้ขยายกำแพงพระราชวังออกไป  จึงมีการสร้างประตูขึ้นให้พอแก่การ  ในปัจจุบัน  ประตูพระบรมมหาราชวัง มี ดังนี้   คือ ประตูวิมานเทเวศร์   วิเศษไชยศรี   มณีนพรัตน์    สวัสดิโสภา   เทวาพิทักษ์  ศักดิ์ไชยสิทธ์  วิจิตรบรรจง  อนงคารักษ์  พิทักษ์บวร    อุดมสุดารักษ์    เทวาภิรมย์    สุนทรทิศา    อ่านดูแล้วรู้สึกสะดุดๆ นะครับ    แต่ประตูด้านตะวันตก  คือด้านแม่น้ำเจ้าพระยา  หรือด้านถนนท้ายวัง  ก็คล้องจองกัน  คือ    สุนทรทิศา  เทวาภิรมย์  อุดมสุดารักษ์  


 

 

    

 

 

 

<   ประตูสวัสดิโสภา  ด้านทิศตะวันออก  (ถนนสมามไชย)  เป็นประตูซุ้มยอดปรางค์

ประตูวิจิตรบรรจง  ด้านทิศตะวันตก  (ถนนท้ายวัง - แม่น้ำเจ้าพระยา)  เป็นประตูแบบหอรบ   >

 

 

 

 

      รอบกำแพงพระราชวังใหม่ได้มีการสร้างป้อมหอรบ   บางป้อมมีหลังคาคลุมด้วย  ป้อมที่สร้างในยุคแรกได้แก่  เวียนขวานะครับ  อินทรรังสรรค์    ขันธ์เขื่อนเพชร   เผด็จดัสกร    สิงขรขัณฑ์    อนันตคิรี    มณีปราการ    พิศาลสีมา    มหาโลหะ

          ป้อมรอบกำแพงพระราชวังใหม่นี้    หากจะเรียกชื่อกลับหลังเป็นหน้า และ  เวียนซ้าย ก็คล้องจองกันนะครับ   โลหะมหา - สีมาพิศาล - ปราการมณี - คีรีอนันต - ขัณฑ์สิงขร - ดัสกรเผด็จ - เพชรเขื่อนขันธ์ - รังสรรค์อินทร

 

สร้าง - เสร็จ - สมโภช

          ครั้นการฐาปนาพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้มีงานฉลองสมโภชพระนคร  ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุก๐ พระอารามทั้งในกรุงนอกกรุง  ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกใบเสมาๆ ละองค์ๆ รอบพระนคร   ให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร   พระราชทานเลี้ยงยาจกวณิพกทั้งปวง   แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์รายรอบกำแพงเมือง  ทิ้งทานต้นละชั่งทั้งสามวัน  ให้มีงานมหรสพต่างๆ  กับทั้งละครผู้หญิงโรงใหญ่    สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมกับทั้งพระนครด้วยครบสามวันเป็นกำหนด

          ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว  จึงพระราชทานนามพระนครใหม่   เปลี่ยนแปลงจากกรุงเก่าว่า

 

กรุงเทพมหานคร  บวรรัตนโกสินทร  มหินทรอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน  ราชธานีบุรีรมย์

อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  อมรพิมารอวตารสถิต  สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์   
 
 

 

. . .  แขกที่ไม่ได้รับเชิญ   .  .  .เป็นคนหลายหมื่นหลายทัพ

          ในปีมะเส็ง  สัปตศกนั้น    ฝ่ายข้างพุกามประเทศ    น้องพระเจ้าปดุงนั้นคิดการกบฏ  พระเจ้าปดุงให้จับประหารชีวิตเสีย    ในปีนั้นเอง    พระเจ้าปดุงก็สามารถปราบปรามความไม่สงบได้ราบคาบ   ทั้งในเขตพม่า รามัญ  ไทยใหญ่   การส่งกองทัพไปตีประเทศมณีปุระทางเหนือ  และประเทศยะไข่ ทางตะวันตก    แผ่พระราชอาณาเขตกว้างไกลไพศาลกว่ารัชกาลก่อนๆ   แล้วได้ทราบถึงกิดาการแห่งกรุงไทยว่าผลัดแผ่นดินใหม่    จึงดำริการสงครามซึ่งจะมาตีพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นพระเกียรติยศ บ้าง   เฉกเช่น  พระเจ้าอลองพญา พระบิดา   และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง  ในกาลก่อน    จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่ามอญเมงทวายยะไข่กะแซลาวและเงี้ยวเป็นคนหลายหมื่นหลายทัพ    พยุหแสนยากรใหญ่หลวงยิ่งกว่ากองทัพพม่าแต่ครั้งที่เคยปรากฏมาในพงศาวดาร  .  .  .  หมายจะตีเอาเมืองไทยให้จงได้

 


 

           ครับ  .  .  .    นับแต่อยุธยายศล่มแล้ว    ก็ได้เพราะบรรพชนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเปี่ยมไปด้วย ความกล้าหาญ  และเสียสละ  ยอมเสี่ยง  ยอมสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อกู้กรุงไกรเกรียงยศ ให้พี่น้องไทยได้อิสรภาพกลับคืนคงในแผ่นดิน   จนลอยสวรรค์ ลง(ฤๅ)  ได้    ก็เป็นช่วงที่เพื่อนบ้านใกล้ชิดทางทิศตะวันตก ต้องจัดระเบียบภายใน  ไทยเราจึงได้มีเวลาราชธานีใหม่ในพระราชอาณาจักรสยาม   ก็เมื่อต่างฝ่ายจัดการภายในเรียบร้อยแล้ว การสงครามคราวใหม่ก็เริ่มอีก    ครับ  คราวนี้ยกมา  ๕  ทาง  แต่พวกเราคุ้นกันในชื่อ  สงครามเก้าทัพ  .  .  .

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป . . .  สงครามเก้าทัพ 

สถานการณ์ต่อไป . . .  สงครามเก้าทัพ

สถานการณ์ต่อไป . . .  สงครามเก้าทัพ

 

 

๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐   ๐

 

 

บรรณานุกรม

          - ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง  ในการฉลองพระนครครบ  ๒๐๐  ปี  พุทธศักราช  ๒๕๒๕  ภาคที่  ๑    โรงพิมพ์
ยูไนเต็ดโปรดักชั่น  จำกัด    กรุงเทพฯ

          -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

           - ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          - ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป
 

  

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker