dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า

 

*  *  *

สงครามเก้าทัพ ๑  -  ทุ่งลาดหญ้า

 

สถานการณ์เดิม  ใน บังอบายเบิกฟ้า
 
. . .  แขกที่ไม่ได้รับเชิญ   .  .  .  เป็นคนหลายหมื่นหลายทัพ

          การสร้างพระนครดำเนินอยู่  ๓  ปี  จึงสำเร็จ   ในปีมะเส็ง  สัปตศกนั้น    ฝ่ายข้างพุกามประเทศ   น้องพระเจ้าปดุงนั้นคิดการกบฏ  พระเจ้าปดุงให้จับประหารชีวิตเสีย   

          ในปีนั้นเอง    พระเจ้าปดุงก็สามารถปราบปรามความไม่สงบได้ราบคาบ   ทั้งในเขตพม่า รามัญ  ไทยใหญ่   การส่งกองทัพไปตีประเทศมณีปุระทางเหนือ  และประเทศยะไข่ ทางตะวันตก    แผ่พระราชอาณาเขตกว้างไกลไพศาลกว่ารัชกาลก่อนๆ  แล้วได้ทราบถึงกิดาการแห่งกรุงไทยว่าผลัดแผ่นดินใหม่    จึงดำริการสงครามซึ่งจะมาตีพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นพระเกียรติยศบ้าง   เฉกเช่น  พระเจ้าอลองพญา พระบิดา   และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง  ในกาลก่อน    จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่า มอญ เมง ทวาย ยะไข่ กะแซ ลาว  และเงี้ยวเป็นคนหลายหมื่นหลายทัพ   สิริรี้พลทั้งสิ้นทุกทัพเป็นคนถึงแสนหนึ่งกับสามพันด้วยกัน  สรรพพร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศาสตราวุธพร้อมทุกทัพทุกกอง   พยุหแสนยากรใหญ่หลวงยิ่งกว่ากองทัพพม่าแต่ครั้งที่เคยปรากฏมาในพงศาวดาร  .  .  .  หมายจะตีเอาเมืองไทยให้จงได้  .  .  .  แต่ยกมาหาพร้อมกันทุกทางไม่     (สิริรี้พลนี้  ไทยรบพม่า ว่ามีถึง แสนสี่หมื่นสี่พัน)

          กองทัพที่จะยกเข้ามาตีเมืองไทยในปีมะเส็ง  พ.ศ.๒๓๒๘    ได้เกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวง และหัวเมืองขึ้น  ตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติหลายภาษา    รวมจำนวนพล  ๑๔๔,๐๐๐    จัดเป็นกระบวนทัพ   ๙  ทัพ   ยกมา  ๕  ทาง คือ

 

     แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๑    มะริด - ชุมพร - สงขลา  หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก  ตะกั่วป่า - ถลาง 

          กองทัพที่ ๑    เกงหวุ่นแมงยีแมงข่องกยอ  เป็นแม่ทัพ   มีกองทัพบก กองทัพเรือ  รวม  ๑๐,๐๐๐   เรือกำปั่นรบ   ๑๕  ลำ    มาตั้งที่เมืองมะริด   ให้ยกกองทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้   ตั้งแต่เมืองชุมพร  ลงไป จนถึงเมืองสงขลา    และมีหน้าที่เตรียมเสบียงให้กองทัพต่างๆ ด้วย 

                ส่วนกองเรือนั้น    ให้ตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก    ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ลงไปจนเมืองถลาง

 

     แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๒    ทวาย - ด่านบ้องตี้ - ราชบุรี -เพชรบุรี - ชุมพร

           กองทัพที่ ๒    อนอกแฝกคิดหวุ่น  เป็นแม่ทัพ   ถือพล  ๑๐,๐๐๐   ลงมาตั้งที่เมืองทวาย   เข้ามาทางด่านบ้องตี้   มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก   ตั้งแต่เมืองราชบุรี  เมืองเพชรบุรี  ลงไปประจบกับกองทัพที่  ๑    ที่เมืองชุมพร

 

      แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๓   เชียงแสน - ลำปาง - สวรรคโลก - สุโขทัย - กรุงเทพ

          กองทัพที่ ๓    หวุ่นคยีสะโตะศิรีมหาอุจจะนา  เจ้าเมืองตองอู  เป็นแม่ทัพ   ถือพล  ๓๐,๐๐๐   ยกมาทางหัวเมืองเชียงแสน  ให้ลงมา  ตีเมืองนครลำปาง  และหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่ และน้ำยม  ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย    ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

 

     แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๔   เมาะตะมะ - ด่านพระเจดีย์สามองค์ - กรุงเทพ    เป็นทิศทางหลัก  ใช้กำลัง  ๔  กองทัพ

          กองทัพที่ ๔    เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง    เป็นแม่ทัพ    ถือพล   ๑๑,๐๐๐     มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ     เป็นกองทัพหน้าที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพ ฯ  ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

          กองทัพที่ ๕    เมียนเมหวุ่น    เป็นแม่ทัพ  ถือพล   ๕,๐๐๐     มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ  เป็นกองหนุนกองทัพที่ ๔
 
          กองทัพที่ ๖    ตะแคงกามะ  ราชบุตรที่  ๒  (พม่าเรียก ศิริธรรมราชา)  เป็นแม่ทัพ    ถือพล  ๑๒,๐๐๐    มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ  เป็นกองทัพหน้าที่  ๑  ของกองทัพหลวงที่จะยกเข้ามากรุงเทพ ฯ  ทางด่านพระเจดีย์สามองค์

          กองทัพที่ ๗    ตะแคงจักกุ  ราชบุตรที่ ๓  (พม่าเรียก สะโดะมันซอ)    เป็นแม่ทัพ    ถือพล  ๑๑,๐๐๐    มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ  เป็นกองทัพหน้าที่  ๒  ของกองทัพหลวง
 
          กองทัพที่ ๘    เป็นกองทัพหลวง   จำนวนพล  ๕๐,๐๐๐    พระเจ้าปดุงเป็นจอมพล   เสด็จลงมาเมืองเมาะตะมะ   เมื่อเดือน  ๑๒   ปีมะเส็ง

 

    แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๕   เมาะตะมะ - ด่านแม่ละเมา - ตาก - กำแพงเพชร - กรุงเทพ

          กองทัพที่ ๙    จอข่องนรทา  เป็นแม่ทัพ    ถือพล   ๕,๐๐๐   (เข้าใจว่าตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เหมือนกัน)  ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา   แขวงเมืองตาก  ตีหัวเมืองเหนือริมแม่น้ำพิง    ตั้งแต่เมืองตาก  เมืองกำแพงเพชร   ลงประจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

 

           กำหนดให้ทุกกองทัพเข้าตีเมืองไทยพร้อมกันทุกกองทัพในเดือนอ้าย  ปีมะเส็ง   

 

 

 

 

             หมู่กองทัพหลวง   เป็นกำลังหลัก   ประกอบด้วยกำลัง  ๕  กองทัพ  คือกองทัพที่ ๔, ที่ ๕, ที่ ๖, ที่ ๗  และ กองทัพที่ ๘  มี   จำนวนพล รวม  ๘๙,๐๐๐   ตรงเข้าตีกรุงเทพ ฯ ตามแนวทางการเคลื่อนที่  ที่ ๔   

 

             หมู่กองทัพฝ่ายเหนือ  ประกอบด้วยกำลัง   ๒  กองทัพ คือ กองทัพที่ ๓  และกองทัพที่ ๙  จำนวนพล  ๓๕,๐๐๐  ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ    ๒  ทาง  คือ  แนวทางการเคลื่อนที่  ที่ ๓  และ ที่ ๕   เข้าบรรจบหมู่กองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

 

             หมู่กองทัพปักษ์ใต้   ประกอบด้วยกำลัง    ๒  กองทัพ  คือ  กองทัพที่ ๑  และกองทัพที่ ๒  จำนวนพล  ๒๐,๐๐๐   ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และฝ่ายตะวันตก   ๒  ทาง  คือ  แนวทางการเคลื่อนที่  ที่ ๑ และ ที่ ๒   ตีหัวเมือง ทางปักษ์ใต้   ตั้งแต่เมืองชุมพร  ลงไป จนถึงเมืองสงขลา   และ หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก    ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ลงไปจนเมืองถลาง  ไม่ขึ้นไปตีกรุงทพ ฯ

 

 

          แต่ในพงศาวดารพม่า  ระบุจำนวนรี้พลแตกต่างไป   ดังนี้  

            เส้นทางมะริด   กำลังพล   พลเดินเท้า ๑๐,๐๐๐   ม้า  ๑,๐๐๐

            เส้นทางทวาย   กำลังพล   พลเดินเท้า  ๑๐,๐๐๐   ม้า  ๑,๐๐๐   เท่ากับทางมะริด

            เส้นทางเชียงใหม่   กำลังพล   พลเดินเท้า   ๓๐,๐๐๐   ม้า  ๓,๐๐๐

            เส้นทางระแหง  กำลังพล   มีเฉพาะพลเดินเท้า  ๕,๐๐๐   ไม่มีม้า

            เส้นทางไทรโยค  (ด่านเจดีย์สามองค์)   มีกำลังรวม  ๘๗,๙๐๐    แบ่งเป็นทัพช้าง  ๕๐๐   ทัพม้า  ๘,๔๐๐   และพลเดินเท้า  ๘๓,๕๐๐

                 สิริรี้พลทั้งสิ้น     ๑๔๗,๙๐๐    แบ่งเป็น  พลเดินเท้า  ๑๓๔,๐๐๐   ม้า  ๑๓,๔๐๐    ช้าง  ๕๐๐

          อย่างไรก็ดี    หลักฐานทางพม่าได้กล่าวถึงสถานภาพด้านเสบียงอาหารว่า   กองทัพที่ ๑    ซึ่งแมงยีแมงข่องกยอเป็นแม่ทัพนั้น  มีหน้าที่เตรียมเสบียงให้กองทัพต่างๆ ด้วย  เพราะที่เมาะตะมะไม่สามารถเตรียมเสบียงให้พอที่จะสนับสนุนกองทัพทั้งหมดได้    และการขาดแคลนเสบียงอาหารก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกถึงขนาดที่มีผลกระทบต่อสงครามคราวนี้ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป
 
          ตามหลักฐานพม่า   พระเจ้าปดุงทรงนำกองทัพหลวงออกจากเมืองเมาะตะมะ  (Mawlamyine)  ในวันพฤหัสบดี  เดือนธันวาคม  แรม  ๔  ค่ำ  พ.ศ.๒๔๓๘    (การตรวจสอบของhttp://www.payakorn.com/moondate.php  พบว่า แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๔๖  ตรงกับวันพฤหัสบดี   วันที่  ๓๐  ธันวาคม พ.ศ.๒๓๒๘    

          ดังนั้น  วันพฤหัสบดี ในเดือนธันวาคม  พ.ศ.๒๓๒๘  จะเป็นด้งนี้ 

            วันพฤหัสบดี ที่ ๒๓  ตรงกับ แรม  ๗  ค่ำ  

            วันพฤหัสบดี ที่ ๑๖  ตรงกับ ขึ้น  ๑๕  ค่ำ 

            วันพฤหัสบดี ที่  ๙  ตรงกับ ขึ้น ๘  ค่ำ  

            วันพฤหัสบดี ที่  ๒  ตรงกับ ขึ้น   ๑  ค่ำ) 

 

          เป็นอันว่า  กองทัพหลวงของพระเจ้าปดุงออกจากเมืองเมาะตะมะ  ในเดือน  ธันวาคม  พ.ศ.๒๓๒๘

เดินทัพผ่านมาทางอัตรันสมิ    แต่กองทัพหน้า  และกองทัพอื่นๆ นั้น ได้เดินล่วงเข้ามาก่อนแล้ว

 

 

 

 

ไทยได้ข่าวศึก

          ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวศึกจากกองมอญที่ที่ลาดตระเวนสืบทราบความว่าพม่ายกกองทัพมาตั้งอยู่  ณ  เมืองสมิ    เมืองกาญจนบุรีส่งข่าวถึงกรุงเทพฯ เมื่อ  วันอาทิตย์  เดือน  ๑๒  แรม  ๙  ค่ำ   ปีมะเส็ง  จ.ศ.๑๑๔๖ (ไทยรบพม่า)   ตรงกับวันศุกร์    วันที่  ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๒๘  (http://www.payakorn.com/moondate.php)    และต่อมาก็ทยอยได้รับข่าวศึกจากหัวเมืองตามลำดับบอกข้อราชการศึกว่า  ทัพพม่ายกมาเป็นหลายทัพหลายทาง  ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือ  และหนังสือบอกมาถึงเนื่องๆ กัน

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้ประขุมปรึกษาการที่จะต่อสู้ศึกพม่าในครานี้   แต่ไม่ปรากฏข้อปรึกษาและมติที่ตกลงกัน   ถึงแม้ไม่ปรากฏหลักฐานแต่ในทางปฏิบัติที่ปรากฏ   ได้จัดกองทัพรับศึกพม่าตามลำดับความสำคัญ  คือใช้หลักการรวมกำลัง และหลักการออมกำลัง  ตามหลักการสงครามที่ศึกษากันในปัจจุบัน  และให้มีกองหนุนทางยุทธศาสตร์ไว้จำนวนหนึ่ง 

          สภาพภูมิประเทศที่แตกต่าง ก็จำเป็นต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม   กรุงเทพฯ ภูมิประเทศแตกต่างไปจากกรุงศรีอยุธยา

          กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ  นอกเกาะก็เป็นที่ราบลุ่ม  ถึงฤดูน้ำหลาก  น้ำจะท่วมพื้นที่รอบกรุง  ไม่สามารถตั้งค่ายได้  หากจะปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาตลอดฤดูน้ำจำเป็นต้องเตรียมการเป็นพิเศษ  เช่น การทัพใน พ.ศ.๒๓๑๐   

          แต่กรุงเทพฯ  มีแม่น้ำใหญ่เป็นเครื่องกีดขวางด้านตะวันตกเพียงด้านเดียว  ส่วนคูคลองที่ขุดขึ้นทางด้านตะวันออกนั้น  เป็นไม่สามารถป้องกันข้าศึกได้  เพราะข้าศึกสามารถข้ามได้อย่างไม่ยากนัก  จึงเพียงแต่รั้งหน่วงการเคลื่อนที่ของข้าศึกให้ช้าลงเท่านั้น    การตั้งรับอยู่ในพระนครจึงเป็นการเสี่ยงเกินไป

 

          เมื่อไม่สามารถตั้งรับป้องกันพระนครได้แล้ว  ก็จำเป็นต้องออกไปป้องกันให้ไกลพระนคร    

 

          ป้องกันที่ไหน?   

          คำตอบ คือ  ข้าศึกมาทางไหน?   และตามเส้นทางเดินทัพสู่กรุงเทพฯ  จะมีตำบลใด ที่ภูมิประเทศจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเราในการตั้งรับ   และฝ่ายเราสามารถเคลื่อนย้ายกำลังไป ถึงตำบลที่เหมาะนั้นได้ทันเวลา  

 

          ใช้กำลังเท่าใด? 

          คำตอบ  คือ ข้าศึก มีกำลังเท่าใด?    ฝ่ายเรา มีกำลังเท่าใด?

 

            ข้อมูลกำลังรบเปรียบเทียบเฉพาะด้านกำลังพล    ปรากฏว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

อรืราชศัตรูมีรี้พลสกลไกรมากกว่าฝ่ายเรา  ประมาณ  สอง ค่อ หนึ่ง

           นักประวัติศาสตร์ และนักการทหารไทยได้วิเคราะห์ แนวความคิดในการวางแผนครั้งนั้น  จากการจัดกำลัง ว่า  จัดความสำคัญ และความเร่งด่วนในการจัดกำลังเข้าทำการรบเป็น  ๓  ระดับ  คือ

 

          การจัดพื้นที่การรบ

            ๑. พื้นที่ ที่ ๑.   เป็นแนวทางการเคลื่อนที่หลักของข้าศึก    หากข้าศึกผ่านเข้ามาได้จะเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก     ได้แก่แนวทางการเคลื่อนที่ ที่ ๔  (ด่านพระเจดีย์สามองค์ / ไทรโยค)   ซึ่งใช้กำลัง  ๕  กองทัพ  จำนวนพล  ๘๙,๐๐๐   (กองทัพที่  ๔,๕,๖,๗  และ กองทัพที่ ๘)  ตรงเข้ากรุงเทพ ฯ     หมู่กองทัพข้าศึกส่วนนี้ ยังไม่ผ่านการสู้รบต้านทานมาก่อน  จึงเป็นกำลังที่สดชื่น และสมบูรณ์เต็มที่

          พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญมาก ต้องจัดกำลังรบหลักสู้รบอย่างเร่งด่วน     และจะเป็นการกำหนดผลของสงคราม

          เส้นทางเดินทัพจากด่านพระเจดีย์สามองค์  หากจะไปกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องผ่านไปทางเมืองสุพรรณบุรี   แต่บัดนี้ ที่หมายของกองทัพพม่าเปลี่ยนเป็นกรุงเทพฯ    ดังนั้น  เส้นทางจึงเปลี่ยนเป็นผ่านเมืองกาญจนบุรี      และ ได้กำหนดพื้นที่การรบแตกหักที่กาญจนบุรี

 

            ๒. พื้นที่ ที่ ๒.  ไม่เป็นแนวทางการเคลื่อนที่หลักของข้าศึก    หากข้าศึกผ่านเข้ามาได้จะเป็นอันตรายต่อกรุงเทพฯ   ได้แก่  แนวทางการเคลื่อนที่  ที่ ๓ และ

ที่ ๕   ทางฝ่ายเหนือ   พื้นที่นี้จัดกำลังไปตั้งรับพอให้ต้านทานข้าศึกไม่ให้เข้าถึงกรุงเทพฯ ได้เท่านั้น  และรอกำลังจากพื้นที่อื่นมาเพิ่มเติมกำลังต่อไป  และข้าศึกในด้านนี้  ก็ถูกหัวเมืองเหนือต่างๆ ต้านทานไว้ก่อนแล้วย่อมจะบอบช้ำลงไปบ้าง

          พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญรองลงมา   จัดกำลังเข้าสู้รบในลักษณะออมกำลัง   ได้แก่  พื้นที่ฝ่ายเหนือ  และกำหนดพื้นที่ตั้งรับที่นครสวรรค์

 

            ๓. พื้นที่ ที่ ๓.    เป็นแนวทางการเคลื่อนที่ของข้าศึกแต่ไม่เข้าสู่กรุงเทพฯ  ได้แก่  แนวทางการเคลื่อนที่  ที่ ๑ และ ที่ ๒  ทางปักษ์ใต้

          พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญ   แต่จำเป็นต้องให้หัวเมืองต่างๆ ทำการสู้รบไปพลาง    และรอกำลังจากพื้นที่อื่นมาแก้ปัญหาให้ต่อไป          

 

         การจัดกำลังเข้าทำการรบ

              ฝ่ายไทยสำรวจรี้พลสกลไกรได้เพียง  ๗๐,๐๐๐  เศษ        

            ๑.  พื้นที่ ที่  ๑.    เป็นกองทัพใหญ่กว่าทุกกองทัพ  สมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เสด็จเป็นจอมพลยกพยุหโยธาทัพหลวง  จำนวน  ๓๐,๐๐๐  ไปตั้งรับพม่าข้าศึกที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า)    

            ๒.  พื้นที่ ที่  ๒.    สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์   เป็นแม่ทัพ  พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ   ยกกองทัพจำนวน  ๑๕,๐๐๐  ไปตั้งสกัดข้าศึกที่เมืองนครสวรรค์    คอยป้องกันกองทัพพม่าไม่ให้ล่วงเข้ามาถึงกรุงเทพฯ

            ๓.  พื้นที่ ที่  ๓.    โปรดให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดี  กับเจ้าพระยายมราช  เป็นแม่ทัพ  นำกองทัพจำนวน  ๕,๐๐๐  ไปตั้งที่เมืองราชบุรี   เพื่อตั้งรับพม่าท่อาจจะยกมาจากทางใต้แล้ว   ยังมีภารกิจรักษาเส้นทางส่งกำลังบำรุงให้กองทัพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย

            ๔.   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงถือพลจำนวน  ๒๐,๐๐๐   เป็นกองหนุน  เตรียมไว้ในกรุงเทพฯ 

 

 

เดือนอ้าย   ปีมะเส็ง   ปักษ์ใต้  พม่าเตรียมเริ่มศึกแล้ว  

เมืองกระ  -  ระนอง  -  ชุมพร  -  ไชยา  -  นครศรีธรรมราช

          กองทัพที่ ๑    เกงหวุ่นแมงยีแมงข่องกยอ  เป็นแม่ทัพ   มีกองทัพบก กองทัพเรือ  รวม  ๑๐,๐๐๐   เรือกำปั่นรบ   ๑๕  ลำ    มาตั้งที่เมืองมะริด  ตั้งแต่  เดือนอ้าย   ปีมะเส็ง  (ประมาณ  ต้นเดือนธันวาคม  พ.ศ.๒๓๒๘)   มีภารกิจ  ตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้    ตั้งแต่เมืองชุมพร  ลงไป จนถึงเมืองสงขลา   ได้จัดแบ่งกำลัง  ให้ญีหวุ่นคุมพล  ๓,๐๐๐  ยกกองเรือลงไปตีเมืองถลาง   และ เกงหวุ่นแมงยี เองนำกำลังทางบก  จำนวน  ๗,๐๐๐    แบ่งกำลัง   ๒,๕๐๐  ให้เนมโยคุงนรัต  เป็นกองหน้า  เดินทัพจากเมืองมะริดเพื่อจะไปตีเมืองกระ และเมืองระนอง    เมื่อตีได้แล้วก็เดินทัพ ข้ามด้ามขวานจะมาตีเมืองชุมพร    เจ้าเมืองชุมพรมีไพร่พลไม่พอรักษาเมืองได้จึงเทครัวหนีเข้าป่า    พม่าเข้าเมืองชุมพรได้  เผาเมืองแล้ว   กองหน้าก็ล่วงไปตีเมืองไชยา    ส่วนตัวแม่ทัพ เกงหวุ่นแมงยีคงตั้งอยู่ที่เมืองชุมพร

          เมืองไชยาก็เป็นเช่นเมืองชุมพร    กำลังทางบกของกองทัพทึ่ ๑  (พม่า)   รุกต่อไปสู่  .  .  .  เมืองนครศรีธรรมราช    กรมการเมืองจัดกำลังได้  พันเศษ มาตั้งรับพม่า  ณ  ท่าข้ามต่อแดนเมืองไชยา
 
          ส่วนกองเรือนั้น    ให้ตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก    ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ลงไปจนเมืองถลาง

 

          ครับ  .  .  .  เราพักศึกด้านปักษ์ใต้ไว้ก่อน  กองทัพที่ ๑  ของพม่ากำลังมุ่งสู่เมืองนครศรีธรรมราช  และ การปฏิบัติของกำลังทางเรือพม่า  ล้วนแต่น่าสนใจติดตาม    ไปดูทางอื่นบ้างนะครับ  ว่าขณะนี้  เป็นอย่างไร

 

เดือนอ้าย   ปีมะเส็ง   ฝ่ายเหนือ  กองทัพถึงเมืองนครลำปาง

          กองทัพที่ ๓      จากเมืองเชียงแสน  เดินทัพถึงเมืองนครลำปาง อย่างง่ายดาย   ตั้งแต่เดือนอ้าย  ปีมะเส็ง  (เมืองเชียงใหม่ร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๙  รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี -  รายละเอียดใน  ธนบุรีสมัยจบ)    พระยากาวิละเจ้าเมืองตั้งต่อสู้เป็นสามารถ  พม่าไม่อาจตีหักเอาเมืองได้

 

ปีมะเส็ง   เดือนอ้าย  - ไทยก็เคลื่อนทัพ

          สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงนำทัพออกจากกรุงเทพฯ โดยทางชลมารค ในเดือนอ้าย  ปีมะเส็ง  น่าจะประมาณ  ต้นเดือนธันวาคม  พ.ศ.๒๓๒๘    พระยากลาโหมราชเสนา  และพระยาจ่าแสนยากร  เป็นกองหน้า    พระยามณเฑียรบาล  เป็นกองหลัง   

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  เป็นยกกระบัตร   และพลทหารในกองทัพหลวงทั้งสิ้น  เป็นคนสามหมื่น  สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศาสตราวุธปืนใหญ่น้อยเป็นอันมาก  ดำเนินทัพไปทั้งทางบกทางเรือ   ถึงตำบลลาดหญ้าเหนือเมืองกาญจนบุรี

 

การศึกด้านกาญจนบุรี - ราชบุรี

 

ลาดหญ้า  เมืองกาญจนบุรี

 

        สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงให้หยุดทัพที่ทุ่งลาดหญ้าที่เชิงเขาบรรทัด  ให้กองหน้า กองหลังตั้งค่ายรายกัน  ชักปีกกาถึงกันทุก ๆ ค่าย  ค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายหน้าลงมาห้าเสัน  (ประมาณ  ๒๐๐  เมตร)  ให้ขุดสนามเพลาะ ปักขวากหนาม     ให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญ จำนวน  ๓,๐๐๐  ออกไปตั้งขัดตาทัพ  (เทียบได้กับเป็นกองรักษาด่านในปัจจุบัน)  ที่ด่านกรามช้าง  ซึ่งเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่

          หมู่กองทัพหลวงพม่า  ให้กองทัพที่ ๔  เป็นกองทัพหน้ายกเข้ามาก่อน   ทางด่านพระเจดีย์สามองค์  ผ่านแขวงเมืองไทรโยค  ตัดลงทางริมแม่น้ำแควใหญ่  ที่เมืองท่ากระดาน ใช้เดินทางริมน้ำต่อไป  ลงมาถึงด่านกรามช้าง  ซึ่ง พระยามหาโยธาคุมกองมอญ จำนวน  ๓,๐๐๐  ออกไปตั้งขัดตาทัพ อยู่ก่อนแล้ว   

               กองทัพที่ ๔   สามารถตีกองรักษาด่านของพระยามหาโยธา ได้   และตามเข้ามาจนถึงชายทุ่งลาดหญ้า  ซึ่งกองทัพหลวงของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ตั้งค่ายอยู่  จึงตรงเข้าตีถึงขนาดได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ  ฝ่ายพม่าได้รบถลำเข้ามา  จนถูกฝ่ายไทยล้อมจับได้กองหนึ่ง    กองทัพที่ ๔  จึงตั้งค่ายลง  และเตรียมการที่จะรบขับเคี่ยวกันต่อไป    ส่วนกองทัพที่ ๕  ซึ่งเป็นกองหนุนกองทัพที่ ๔   ยกตามกองทัพที่ ๔ เข้ามา   จึงต้องตั้งค่ายต่อ จากกองทัพที่ ๔      ดังนั้น   กองทัพอื่นๆ ในหมู่กองทัพหลวงจึงไม่สามารถออกสู่ทุ่งลาดหญ้าได้   และได้ตั้งค่ายอยู่  ดังนี้

          กองทัพที่ ๖   ตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง   

          กองทัพที่ ๗  ตั้งอยู่ที่สามสบ (อะลันเต)  

          กองทัพที่ ๘  ซึ่งเป็นกองทัพหลวง  ตั้งอยู่ที่พระเจดีย์สามองค์ วันหนึ่ง  ก็เคลื่อนมา ตั้งที่สามสบ   และระหว่างที่ทัพหลวงตั้งที่สามสบ (อะลันเต) นี้เอง   ก็ได้ให้สร้างแพไม้ไผ่เพื่อใช้ลำเลียงเสบียงอาหารตามลำน้ำ

 

         ในระหว่างนี้   ได้มีหลักฐานทั้งฝ่ายพม่า และฝ่ายไทยว่า ฝ่ายไทยได้ส่ง "พม่าข้าเก่าพระเจ้าปดุง" เป็นฑูตถือหนังสือด้วยประสงค์ที่จะไม่ให้เกิดการรบพุ่งกัน   แต่พระเจ้าปดุงไม่ทรงสนพระทัยในการเจรจาสงบศึก   อาจจะเป็นเพราะได้ทรงตั้งพระทัยไว้แล้ว  ว่าจะต้องรบและทำลายเมืองไทยให้ราบคาบให้ได้  มิได้ต้องการรบเพื่อเอาชนะเป็นพระเกียรติยศ เท่านั้น จึงทรงพยายามที่จะซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยในการเตรียมรับศึกนี้  เพื่อเป็นข้อมูลในการทำแผนเข้าบดขยี้เมืองไทยต่อไป   แต่การเจรจานี้ พี่น้องไทยทราบกันไม่แพร่หลาย 

 

          ครับ  .  .  .  เมื่อต้องการรบ ก็ต้องรบกัน  ทางฝ่ายพม่าให้ปลูกหอรบขึ้นหน้าค่ายเป็นหลายหอ  เอาปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งยิงค่ายไทย    ฝ่ายไทยไม่ได้ปลูกหอรบเช่นฝ่ายพม่าเพียงแต่ เอาปืนใหญ่ยิงด้วยลูกไม้ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก* เข็นออกไปตั้งหน้าค่าย  ยิงค่ายและหอรบพม่าหักพังลงเป็นหลายตำบล   รี้พลพม่าก็ถูกปืนใหญ่ไทยบาดเจ็บล้มตาย และลำบากเป็นอันมาก  ไม่ยกออกมารบกลางแปลง   และยังมีปัญหาด้านการขาดแคลนเสบียงอาหาร
 
                     * ปืนใหญ่ยิงด้วยลูกไม้ครั้งแผ่นดินพระเจ้าตาก นี้   สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้นำไม้มาทำเป็นลูกกระสุนปืนใหญ่ใช้ในการรักษาเมืองพิษณุโลก เมื่อคราวสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ  พ.ศ.๒๓๑๘    - รายละเอียดใน อยุธยายศล่มแล้ว   ลอยสวรรค์ ลงฤา  ๗  -  ธนบุรีสมัย  (๔)

 

พระองค์เจ้าขุนเณร  -  ปฏิบัติการกองโจร   

          เนื่องจากกองทัพพม่ามีปัญหาด้านการส่งกำลังเสบียงอาหาร  ไม่สามารถแสวงหาในดินแดนไทยได้  จำเป็นต้องลำเลียงมาจากดินแดนพม่า   ฝ่ายไทยจึงช่วยสร้างปัญหาให้กองทัพพม่ามากขึ้น  ด้วยการจัดกำลังไปซุ่มโจมตีตัดสกัดกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่า    ในเบื้องต้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงให้พระยาสีหราชเดโช  พระยาท้ายน้ำ   และพระยาเพชรบุรี  เป็นนายกองโจร  นำกำลัง  ๕๐๐  นาย   ไปดักซุ่มโจมตีตัดสกัดกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าที่พุไคร้ (พุตะไคร้)  ซึ่งเป็นช่องแคบ   แต่เจ้าพระยาทั้งสามคิดย่อท้อต่อข้าศึก    หลีกหนีไปตั้งซุ่มทัพอยู่ที่อื่น    ความทราบถึงองค์สมเด็จแม่ทัพ  จึงดำรัสสั่งประหารชีวิตเสียทั้งสามพระยา     แล้วให้พระองค์เจ้าขุนเณร**  เป็นนายกองโจร แทน  คุมทหารพันหนึ่ง รวมเข้ากับกองโจรเดิม  เป็น  ๑,๕๐๐  นาย    ไปดักซุ่มโจมตีตัดสกัดกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าที่พุไคร้     พระองค์เจ้าขุนเณรและนายกองชั้นรองๆ ปฏิบัติการอย่างได้ผล  จับได้พม่า และช้างม้าโคต่าง ส่งถวายสมเด็จแม่ทัพ  ณ  ค่ายหลวง เนืองๆ  

                    ** พระองค์เจ้าขุนเณรเป็นน้องของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  แต่ต่างมารดา    (พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี เป็นพระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่)


          ปรากฏในพงศาวดารพม่า ว่า  ปัญหาการขาดแคลนเสบียงอาหารของกองทัพพม่าเป็นไปอย่างกว้างขวาง   กองหลังซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดส่งเสบียงอาหารส่งเลี้ยงกองทัพ   ก็ไม่สามารถจัดหาเสบียงได้เพียงพอ   โดยเฉพาะกองทัพหน้า  คือ กองทัพที่ ๔ และกองทัพที่ ๕ ซึ่งเผชิญหน้าอยู่กับค่ายหลวงของไทย   พระเจ้าปดุงต้องให้แบ่งเสบียงอาหารจากกองทัพหลวงของพม่ามาส่งให้   แต่ก็ถูกฝ่ายไทยดักซุ่มโจมตีตัดสกัดชิงเอาเสบียงไปได้ เสมอๆ     

          ครั้งหนึ่ง  ขบวนลำเลียงพม่าประกอบด้วยช้าง  ๖๐ เชือก   มีกำลังคุ้มกัน   ๕๐๐  นาย    ก็ถูกกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรชิงเอาไปได้หมด   และนับแต่นั้นมา  ฝ่ายพม่าก็ไม่สามารถส่งเสบียงอาหารให้กองทัพหน้าได้    

          พงศาวดารพม่ากล่าวต่อไปอีกว่า  กองทัพส่วนนี้อดหยากยิ่งนัก  ต้องขุดเที่ยงขุดหาเผือกมัน รากไม้กิน ก็ไม่เพียงพอต้องฆ่าม้า และสัตว์พาหนะอื่น  เช่น  วัว  เป็นอาหาร   นอกจากนี้  ยังนำหนัง  ซึ่งทำเป็น เครื่องแต่งกาย  คือ  หมวก รองเท้า  และโล่  มาปรุงอาหารด้วย

          สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการเข้ามากราบบังคมทูล  ณ  กรุงเทพมหานคร

 

 

 

พระชัยหลังช้าง 

องค์พระทำด้วยเงิน ฐานเป็นทอง

หน้าตัก   ๒๑ เซนติเมตร  สูงถึงยอดรัศมี ๓๒ เซนติเมตร   สูงถึงยอดฉัตร ๘๘ เซนติเมตร

จากหลักฐานพบว่า ได้มีการหล่อพระชัยสององค์ใน พ.ศ. ๒๓๒๕   เมื่อจะทำพระราชพิธีปราบดาภิเษก 

 

 

ทรงห่วงใย  -  สำเนียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพท์อุโฆษกาหลนฤนาท

          ครั้นถึง  วันขึ้น  ๙  ค่ำ  เดือนยี่  ปีมะเส็ง  จ.ศ.๑๑๔๗   ตรงกับ วันอาทิตย์   วันที่  ๘  มกราคม  พ.ศ.๒๓๒๘  จึงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล  ทรงพระชัยนำเสด็จพระราชดำเนินพร้อมพลโยธาหาญในกระบวนทัพหลวง  จำนวนสองหมื่น   ออกจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางชลมารคไปถึงเมืองกาญจนบุรี    สมเด็จพระอนุชาธิราชฯ  เสด็จพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสด็จ    จึงทรงช้างพระที่นั่ง แห่โดยขนาด พรั่งพร้อมด้วยพลสารสินธพแหนแห่แลไสว  ประโคมฆ้องชัย เบญจดุริยดนตรีแตรสังข์กลองชนะโครมครึกกึกก้องสำเนียงพลทหารโห่ร้องบันลือศัพท์อุโฆษกาหลนฤนาท  คลี่พยุหยาตราโยธาทัพหลวง  บรรลุถึงพระตำหนักค่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชฯ   มีพระราชโองการดำรัสปรึกษาราชกิจการสงคราม

         สมเด็จพระอนุชาธิราชฯ จึงกราบทูลพระกรุณาว่า  ทัพพม่าข้าศึกจวนจะแตกอยู่แล้ว อย่าทรงพระวิตกเลย  ขอรับพระราชธุระอาสาในราชการงานสงคราม  เอาชัยชำนะพม่าปัจจามิตรสนองพระเดชพระคุณจงได้    ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด  จะได้ทรงพระราชดำริจัดแจงการซึ่งจะต่อสู้อริราชศัตรูดัสกรในทางอื่นๆ สืบไป

          ครั้นเพลาค่ำลงวันนั้น  จึงเสด็จยาตราทัพหลวงกลับมาโดยกระบวนตราบท่าวถึงเมืองกาญจนบุรี  แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งดำเนินพลนาวาพยุหกลับคืนยังพระมหานคร

 

พม่าครั่นคร้าม  .  .  .  ขอพระราชทานล่าทัพ

          ฝ่ายพม่าได้ยินเสียงรี้พลช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั่วป่า  จึงขึ้นดูบนหอรบเห็นกองทัพหลวงยกหนุนมาก็คิดครั่นคร้ามขามพระบรมเดชานุภาพเป็นกำลัง    แม่ทัพทั้งสองจึงเก็บลูกปืนใหญ่ไม้ที่ฝ่ายไทยยิงไปในค่ายพม่า   ส่งไปถวายพระเจ้าปดุง กรุงอังวะ   พร้อมกราบทูลว่า ต่อไม้หมดสิ้นทั้งป่าจึงจะสิ้นกระสุนปืนเขา    ทั้งกองโจรไทยก็ดักซุ่มโจมตีตัดสกัดชิงเอาเสบียงไปได้ เสมอๆ  

          จึงขอพระราชทานล่าทัพ    พระเจ้าปดุง ทรงเห็นด้วย    แต่ว่าให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน

 

กลลวง  -  กลศึก  -  เผด็จศึก  

          สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชดำริเป็นกลศึก    เพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรี    ครั้นเพลาเช้าจึงให้ยกกลับขึ้นไปยังค่ายหลวง   ให้เดินพลและช้างม้า เนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาดตั้งแต่เช้าจนเย็น    กระทำดังนี้ทุกวันๆ

          ฝ่ายพม่าขึ้นดูบนหอรบ  ก็สำคัญว่ากองทัพไทยยกเพิ่มเติมมากขึ้นมาทุกวัน    ก็ยิ่งย่อท้อเกรงกลัวเป็นอันมาก     ซ้ำเกิดไข้ทรพิษขึ้นในค่ายพม่า  กำลังพลเจ็บป่วยล้มตายก็มากและขัดสนเสบียงอาหารเป็นอย่างยิ่ง

          ครั้นทรงเห็นว่า   ประสิทธิภาพในการรบของกองทัพพม่าลดลงอย่างมากแล้ว  

          ถึงแรม  ๔ ค่ำ เดือน  ๓ ปีมะเส็ง  จ.ศ.๑๑๔๗    ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๑๗  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘   จึงทรงออกคำสั่งให้เข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกทัพ ทุกกอง    ให้เอาปืนใหญ่ลำกล้องออกยิงค่ายพม่าทุกๆ ค่าย  พม่าต่อรบยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบอยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำ     

          ครั้นเพลาประมาณทุ่มเศษ   แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อรบมิได้  ก็แตกฉานออกจากค่ายพ่ายหนีไป    ทหารไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น    จับได้ผู้คนทั้งดี และป่วย  กับเครื่องศาสตราวุธปืนใหญ่น้อย มากมาย    กองทัพทั้งปวงไล่ติดตามกองทัพพม่าไปจนปลายแดน    จับได้พม่าซึ่งหนีไปไม่ทันกับทั้งช้างม้า เครื่องศัสตราวุธมาถวายเป็นอันมาก

          กองโจรของเจ้าขุนเณร  ได้ทราบข่าวว่ากองทัพพม่าแตกหนีแล้ว  จึงออกสกัดดักซุ่มโจมตีพม่ากลางทาง  จับได้ผู้คน เครื่องศัสตราวุธ ช้างม้าเป็นอันมาก

          กองทัพที่ ๖  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ที่ท่าดินแดง  ทราบว่ากองทัพหน้าแตก  ก็รีบส่งข่าวไปยัง กองทัพที่ ๗  ที่สามสบ  และกราบทูลพระเจ้าปดุง  ณ  ค่ายหลวง   แล้วก็เลิกทัพกลับไป

 

          พระเจ้าปดุงกรุงอังวะครั้นทรงทราบในรายงานกราบทูล ว่ากองทัพหน้าแตกเสียแล้ว   ทรงพระดำริว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ  จึงสั่งให้เลิกกองทัพทั้งปวงกลับไป  ณ  เมืองเมาะตะมะโดยเร็ว

 

 

 

 

เมื่อกำจัดอริราชศัตรูด้านทุ่งลาดหญ้าเรียบร้อยแล้ว

สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ  ดำรัสให้กองทัพพระยากลาโหมราชเสนา  และพระยาจ่าแสนยากร  นำกองทัพไปด่านเมืองราชบุรีทางบก

พระองค์เสด็จไปยังเมืองราชบุรีทางชลมารค

 

เขางู  เมืองราชบุรี

           ด้านกองทัพที่ ๒    ซึ่งอนอกแฝกคิดหวุ่น  เป็นแม่ทัพ   ถือพล  ๑๐,๐๐๐   ลงมาตั้งที่เมืองทวาย  เข้ามาทางด่านบ้องตี้   มีภารกิจมาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก   ตั้งแต่เมืองราชบุรี  เมืองเพชรบุรี  ลงไปประจบกับกองทัพที่  ๑    ที่เมืองชุมพร  นั้น    เนื่องจาก  ทางด่านบ้องตี้ภูมิประเทศยากลำบากกันดารกว่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์  ช้างม้าพาหนะเดินได้ล่าช้า   กองหน้า ได้เข้ามาถึง  ด้านนอก (หลัง) เขางู  (ราวหนองบ้ว)  

          แต่แม่ทัพไทยด้านนี้  คือเจ้าพระยายมราช  และเจ้าพระยาธรรมา  ไม่ได้จัดการลาดตระเวนจึงไม่ทราบว่ามากองทัพพม่ามาตั้งอยู่ด้านหลังเขางู    ถึงขนาดที่ไพร่พลกองหน้าของพม่าสามารถลอบเข้าเก็บผลไม้ในสวนแขวงเมืองราชบุรีได้

          กองทัพพระยากลาโหมราชเสนา  และพระยาจ่าแสนยากร ซึ่งมาจากทุ่งลาดหญ้าทางบก  ได้พบค่ายพม่าที่หลงเขางู  ก็เข้าโจมตี  ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกัน  ได้สู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอนฝ่ายพม่าต้านทานไม่ได้  แตกพ่ายหนีเป็นอลหม่าน  กองทัพไทยได้ไล่ติดตามไปจนถึงด่าน   ฝ่ายพม่าแตกพ่ายหนีไปปะทะเข้ากับกองหนุนที่ด่าน  ก็พากันแตกหนีพ่ายไปมิได้ต่อรบ   

          กองทัพไทยจับได้ไพร่พลพม่า และเครื่องศาสตราวุธต่างๆ  นำเข้ากราบทูลถวาย   ส่วนที่เหลือต่างพากันรีบหนีไปเมืองทวาย

          สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบข่าวการรบที่ราชบุรี  จึงกราบทูลเข้ามายังกรุงเทพมหานคร  พร้อมขอพระราชทานประหารชีวิต เจ้าพระยายมราช  และเจ้าพระยาธรรมา   แต่ได้รับพระกรุณาเนื่องจากมีความชอบมาแต่ก่อน  เพียงแต่ลงพระราชอาญาประจาน และถอดเสียจากฐานาศักดิ์  แล้วเสด็จเลิกทัพคืนเข้าพระนคร

          และกองทัพที่ ๒  ของอนอกแฝกคิดหวุ่น ก็เลยไม่ได้ลงไปบรรจบกับกองทัพที่ ๑  ของแมงยีแมงข่องกยอ  ที่เมืองชุมพรตามแผนได้

 

          ครับ  .  .  .  การศึกด้านทุ่งลาดหญ้า และ เมืองราชบุรี ก็เรียบร้อย  ดังนี้   

 

          เมื่อด้านแนวทางการเคลื่อนที่หลักของข้าศึก ซึ่งนับว่าเป็นศึกหลัก  ศึกหนัก  ศึกใหญ่  สำเร็จลงด้วยชัยชนะเช่นนี้     การศึกด้านอื่น  ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ประมาท ไว้วางใจไม่ได้อยู่ดี       เชิญติดตามต่อไปครับ  ใน  .  .  .

 

สงครามเก้าทัพ ๒  -  ป้กษ์ใต้  -  ฝ่ายเหนือ

 

   

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . สงครามเก้าทัพ ๒  -  ป้กษ์ใต้  -  ฝ่ายเหนือ

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . สงครามเก้าทัพ ๒  -  ป้กษ์ใต้  -  ฝ่ายเหนือ

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . สงครามเก้าทัพ ๒  -  ป้กษ์ใต้  -  ฝ่ายเหนือ

 

 

บรรณานุกรม

 

          -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

          -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัดเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

           -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          -  สงครามเก้าทัพ    พลโท  รวมศักดิ์  ไชยโกมินทร์  รวบรวม    เอกสารอัดสำเนา  ๖  เมษายน  ๒๕๔๓

          -  แผนที่  จาก  สงครามเก้าทัพ  ของ  พลตรี  บัญชา  แก้วเกตุทอง  ซึ่งขออนุญาตท่านนำมาเผยแพร่  และขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้ด้วย

          -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (429)
avatar
den

เก่งที่สุดเลยคนสยาม

แต่น่าเสียดายพื้นที่เสียไปก่อนหรือหล้งไม่รู้นะ

มากกว่าพื้นที่ตอนนี้อีก รองเข้าไปดูพื้นที่ตอนที่

เรายังไม่เสียไปทั้งหมดสิมันน่าตกไจมาเรย

แต่ขอขอบคุนทหารไทยยุคนั้นไว้ที่นี้ด้วยคราบ

ป.ล ไม่มีไครมาช้วยเรามีแต่ประเทศอื่นรวมตัวกันมาตีเรา

พ้ายพลเรามีไม่พอแต่พม่าก็หนีกะเจีงเรย555++

 

ผู้แสดงความคิดเห็น den (prarinya_den-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-16 22:02:31 IP : 125.24.75.229


ความคิดเห็นที่ 2 (434)
avatar
สัมพันธ์

          นอกจากขอบคุณทหารแล้วผมว่าต้องขอบพระคุณบรรพชนไทยทุกท่านทีเดียว  ลำพังทหารทำอะไรไม่ได้หรอก หากพี่น้องประชาชนและรัฐบาลไม่สนับสนุน    ลองดูชีวิตท่านฮานนิบาลนะครับ    

           เราเสียประเทศราชครับ    ดินแดนไทย  เช่นจันทบุรี ตราด  ท่านไม่ยอมเสีย      คอยอ่าน ตอนปราบฮ่อ และ ร.ศ.๑๑๒  นะครับ          แล้วคงได้คุยกันอีก     

                                                                                                  ขอบคุณ  สวัสดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-22 08:14:10 IP : 125.25.142.68



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker