dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ

*  *  *

สงครามเก้าทัพ ๒  -  ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ

ปราบราชดัสกร อริราชไพรี  ณ  ป้กษ์ใต้  -  ฝ่ายเหนือ

เฉกลักษณ์รามรอนราพณ์

          เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ  เสด็จเลิกทัพคืนเข้าพระนครขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชกราบทูลแถลงข้อราชการสงคราม  แล้วดำรัสปรึกษาข้อราชการแก่กัน   จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ สมเด็จพระอนุชาธิราชยาตราทัพออกไปปราบปรามราชดัสกรหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตก   สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะเสด็จดำเนินพยุหโยธาทัพหลวงไปปราบอริราชไพรี  ณ  หัวเมืองฝ่ายเหนือ

 

ปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตก 

          ถึง  ณ  วันขึ้น  ๕  ค่ำ เดือน  ๔ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๔๗   ตรงกับวันเสาร์   วันที่  ๔  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๒๘    สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  เสด็จทรงเรือพระที่นั่งยาตรามหานาวาพยุหทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานคร ไปโดยทางท้องทะเลใหญ่   พลรบพลแจวสองหมื่นเศษ  ใช้ใบเรือรบทั้งปวง   ไปยังเมืองชุมพร

          ขณะนั้นกำลังทางบกของกองทัพทึ่ ๑  (พม่า)  ได้เมืองกระ  -  ระนอง  -  ชุมพร  -  ไชยา แล้ว  และกำลังรุกต่อไปสู่  .  .  .  เมืองนครศรีธรรมราช

 

ฝ่ายเหนือ 
 
           ครั้นถึง  วันขึ้น  ๑๑  ค่ำ เดือน  ๔  ปีมะเส็ง  ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๑๐  มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘   สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่ง  ทรงพระชัยนำเสด็จ  ตามกระบวนพยุหยาตราหน้าหลัง พรั่งพร้อมพลโยธาหาญ  สามหมื่น  สรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธชิงชัย  ให้ยาตรานาวาทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานคร  โดยทางชลมารคถึงเมืองอินทบุรี  ให้ตั้งค่ายและตำหนักพลับพลาชัย  เสด็จประทับอยู่  ณ  ที่นั้น

 

 

สถานการณ์ฝ่ายเหนือ  เป็นดังนี้ครับ

 

ฝ่ายข้าศึก

          กองทัพที่ ๓     กำลังพล  ๓๐,๐๐๐   ยกมาทางหัวเมืองเชียงแสน  ให้ลงมา  ตีเมืองนครลำปาง   และหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่ และน้ำยม  ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย    ลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

          กองทัพที่ ๙    กำลังพล   ๕,๐๐๐     (เข้าใจว่าตั้งที่เมืองเมาะตะมะ)  ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา  แขวงเมืองตาก  ตีหัวเมืองเหนือริมแม่น้ำพิง    ตั้งแต่เมืองตาก  เมืองกำแพงเพชร   ลงประจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

 

ฝ่ายเรา

          สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์   เป็นแม่ทัพ  พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ   ยกกองทัพจำนวน  ๑๕,๐๐๐  ไปตั้งสกัดข้าศึกที่เมืองนครสวรรค์    คอยป้องกันกองทัพพม่าไม่ให้ล่วงเข้ามาถึงกรุงเทพฯ

 

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงนำทัพหลวง    จำนวน  ๓๐,๐๐๐   ออกจากกรุงเทพมหานคร  เมื่อวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน  ๔ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๔๗  ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๑๐  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๒๘     ตั้งอยู่  ณ  เมืองอินทบุรี

 

ลำดับเหตุการณ์

          กองทัพที่ ๓      จากเมืองเชียงแสน  เดินทัพถึงเมืองนครลำปาง อย่างง่ายดาย   ตั้งแต่เดือนอ้าย  ปีมะเส็ง  (เมืองเชียงใหม่ร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๙  รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี - รายละเอียดใน  ธนบุรีสมัยจบ)    พระยากาวิละเจ้าเมืองตั้งต่อสู้เป็นสามารถ  พม่าไม่อาจตีหักเอาเมืองได้   

          ฝ่ายพม่าให้แยกกองทัพ  จำนวน  ๕,๐๐๐   ยกมาทางเมืองสวรรคโลก   ครั้งนั้น  หัวเมืองฝ่ายเหนือผู้คนเบาบางเพราะยับเยินเสียตั้งแต่สงครามอะแซหวุ่นกี้     พระยาสวรรคโลก  พระยาสุโขทัย  พระยาพิษณุโลก  และราษฏรต่างหลบภัญสงครามพาครอบครัวเข้าป่า    กองทัพพม่า จึงผ่านลงมาตั้งค่ายอยู่  ณ  ปากน้ำพิง ฝั่งตะวันออก  ใต้เมืองพิษณุโลก
         
           กองทัพที่ ๙    กำลังพล   ๕,๐๐๐      ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา   แขวงเมืองตาก   เดินทัพเข้ามาได้อย่างสะดวก  ตีหัวเมืองเหนือริมแม่น้ำพิง    เจ้าเมืองตาก ยอมอ่อนน้อม  พม่าได้จัดส่งกลับไปเมืองพม่า พร้อมครอบครัวพลเมือง  ๕๐๐     และ  กองทัพที่ ๙  ก็เข้าตั้งอยู่  ณ  บ้านระแหง  แขวงเมืองตาก

          เมื่อกองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  ไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์   กองทัพพม่าล่วงแดนเข้ามาแล้วทั้งสองทาง    จึงจัดแบ่งกำลัง  เป็น  ๓  กอง  คือ

               เจ้าพระยามหาเสนา    เป็นกองหน้าไปรักษาเมืองพิจิตร

               กองทัพหลวงตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์

               พระยาพระคลัง  พระยาอุทัยธรรม  เป็นกองหลัง ตั้งรักษาเมืองชัยนาท  ควบคุมเส้นทางจากเมืองอุทัยธานีด้วย

          ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประทับ  ณ  ค่ายหลวง  เมืองอินทบุรี นั้น  มีรับสั่งให้

              เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  ขึ้นไปสมทบกับ เจ้าพระยามหาเสนาที่เมืองพิจิตร  เพื่อเข้าตีค่ายพม่าที่ปากพิง

              เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กับพระยาพระคลัง  พระยาอุทัยธรรม  ซึ่งเป็นกองหลังตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท  ยกขึ้นไปตีกองทัพพม่าที่บ้านระแหง

              กองทัพหลวง  ขั้นต้น จะเคลื่อนไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์  (จากอินทบุรี)   และในขั้นต่อไป  จะรุกขึ้นไปตั้ง  ณ  บางข้าวตอก  แขวงเมืองพิจิตร        

          ครั้นวัน  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๔    ปีมะเส็ง     ตรงกับวันเสาร์   วันที่  ๑๘  มีนาคม  พ.ศ. ๒๓๒๘    กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์  และ  เจ้าพระยามหาเสนา ได้เข้าตีค่ายพม่า ที่ปากพิง สู้รบกันเป็นสามารถ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ   กองทัพพม่าก็แตกพ่าย  ไทยตีค่ายพม่าได้ทุกค่าย  ฝ่ายพม่าแตกหนีต้องข้ามน้ำปิงถูกฆ่าฟัน และจมน้ำตาย  ราวร้อยแปด  ศพลอยเต็มแม่น้ำ  จนใช้น้ำไม่ได้

          กองทัพที่ ๙  ที่ตั้งอยู่  ณ  บ้านระแหง  แขวงเมืองตาก  ทราบว่าค่ายพม่าที่ปากพิงแตกแล้ว  และคงได้ข่าวการรบที่ทุ่งลาดหญ้า ด้วย    ครั้นทราบว่ามีกองทัพยกขึ้นมา  จึงคิดว่าเมื่อกำลังหลักพ่ายแพ้เสียแล้ว  หากขืนทำการรบต่อไป แม้ได้ชัยชนะก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้ชนะสงครามได้   จึงไม่อยู่รอรบ  รีบถอนทัพกลับไปทางด่านแม่ละเมากองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กับพระยาพระคลัง  พระยาอุทัยธรรม จึงไม่ได้ประดาบปะทะกับกองทัพพม่า      

          เมื่อได้ ค่ายพม่า ที่ปากพิงแล้ว   โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎานำกำลังส่วนแยกจากกองทัพหลวงไปสมทบกับ กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา ให้ไล่ติดตามกองทัพพม่าที่แตกหนีนั้น    แล้วให้เลยขึ้นไปตีกองทัพพม่าที่ล้อมนครลำปาง

 

นครลำปาง

          เมื่อกองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา ไปถึงนครลำปางนั้น  กองทัพที่ ๓ (พม่า) ยังคงล้อมเมืองอยู่     จึงได้เข้าโจมตี  

 

          พระยากาวิละเจ้าเมืองก็ให้กองทัพนครลำปางตีกระหนาบออกมา    รบกันตั้งแต่เช้ายันเที่ยง    กองทัพที่ ๓ (พม่า) ของเจ้าเมืองตองอูก็แตกพ่าย   กลับไปเมืองเชียงแสน  ในเดือน  ๕   มะเมีย   (ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๘)

           เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา เดินทัพไปแล้ว  ก็โปรดให้ถอยทัพหลวงมาตั้งที่เมืองนครสวรรค์  และโปรดให้ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ ตามเสด็จกลับลงมาด้วย

พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง    > 

 

                   ครับ  .  .  .  การศึกทางฝ่ายเหนือก็เรียบร้อย   ลงไปดูทางปักษ์ใต้บ้างนะครับ

 

 

 

ปักษ์ใต้  ฝ่ายหัวเมืองทะเลตะวันตก

 

          คงจำกันได้ว่า  กองทัพที่ ๑  นั้น  มี กำลังทางบก  และกำลังทางเรือ  จำนวนรวม  ๑๐,๐๐๐   มาตั้งที่เมืองมะริด   ให้ยกกองทัพบกมาตีหัวทางปักษ์ใต้    ตั้งแต่เมืองชุมพร  ลงไป จนถึงเมืองสงขลา 

          ส่วนกองเรือนั้น    ให้ตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก    ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่า ลงไปจนเมืองถลาง

          กองเรือพม่า  สามารถตีได้ เมืองตะกั่วป่า  เมืองตะกั่วทุ่ง  และยกข้ามไปเกาะถลาง    ให้ทหารขึ้นบกเข้าล้อมเมืองถลางไว้

          ขณะนั้น  พระยาถลางเจ้าเมืองถึงแก่กรรม และยังไม่มีเจ้าเมืองใหม่   

          กรมการเมือง และภรรยาพระยาถลาง และน้องสาวอีกท่านหนึ่ง  ได้ร่วมกันคิดต่อสู้พม่าข้าศึก ตั้งค่ายใหญ่ป้องกันเมืองเป็นสองค่าย  แล้วระดมกรมการ ไพร่พล ชาวเมือง ช่วยกันรบพุ่งต่อสู้อย่างองอาจกล้าหาญ ระดมยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบกับพม่าทุกวัน  พม่าหักเอาเมืองมิได้    และขาดแคลนเสบียงอาหารมากขึ้น   จึงเลิกทัพลงเรือกลับไป
 


 

 

 

 

 

 

 

ปักษ์ใต้  ฝ่ายบก

นครศรีธรรมราช 

          กรมการเมืองนครศรีธรรมราชจัดกำลังได้  พันเศษ มาตั้งรับพม่า  ณ  ท่าข้ามต่อแดนเมืองไชยา    ทหารพม่าออกข่าวลวงให้กองทัพเมืองนครว่าเมืองบางกอกเสียแล้ว    พวกกองทัพเมืองนครก็นำความไปแจ้งแก่เจ้าพระยานคร ๆ พิจารณาเห็นสมคำพม่า  เพราะไม่ได้ข่าวคราวจากทางกรุงฯ เป็นเวลาหลายเดือน    จึงพาบุตรภรรยาญาติวงศ์สมัครพรรคพวกหนีไปอยู่  ณ  ป่านอกเขาข้างตะวันตก    บรรดากรมการไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวง ก็ยกครอบครัวหนีไปอยู่ตำบลต่างๆ    พม่าเข้าเมืองได้  พากันเก็บริบทรัพย์จับผู้คนเป็นเชลยเสียมาก     ทรัพย์สมบัติที่ทหารพม่าเก็บริบไปนี้น่าจะเป็นจำนวนมาก  เพราะปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เรือบรรทุกทรัพย์สมบัติกลับไปพม่า  แตกล่มเสียในทะเลหมด   

 

          คือบริเวณที่เป็นสะพานจุฬาลงกรณ์ข้ามแม่น้ำตาปี  อำเภอพุนพิน  สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน

 

 

 

          กองทัพพม่าเข้าตั้งอยู่ในเมืองคิดจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง  และเมืองสงขลาต่อไป

          กองทัพ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ถึงเมืองชุมพร  ในปลายเดือน  ๔   จึงให้ตั้งค่ายหลวง และตำหนักทัพพลับพลา  แล้วดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากร  เป็นกองหน้ายกไปเมืองไชยา    ฝ่ายกองทัพพม่า  ซึ่งขณะนั้นได้เข้าตั้งในเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว  และเตรียมการจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง  จึงส่งกองทัพหน้ากลับขึ้นมาสกัดกองทัพไทยที่เมืองไชยาก่อน  และแม่ทัพจะนำกำลังส่วนใหญ่ยกตามมา   

 

 

 

เมืองพัทลุง

          ระหว่างที่กองทัพพม่าเข้าตั้งในเมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว  และเตรียมการจะยกออกไปตีเมืองพัทลุง นั้น    พระยาแก้วโกรพ เจ้าเมืองพัทลุง และกรมการเมืองรู้ว่าเมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าแล้ว  ต่างพาครอบครัวหลบภัยสงคราม

          ครั้งนั้น  มีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ชื่อพระมหาช่วยเป็นพระอธิการอยู่ในพระอารามแขวงเมืองพัทลุง  ชาวเมืองนับถือว่ามีวิชาอาคมขลัง  ได้ลงตะกรุดประเจียดมงคลแจกผู้คนทั้งปวง    มีกรมการเมืองบางท่านรวบรวมผู้คนกลับเข้าจัดตั้งเป็นกองรบได้ประมาณ  พันเศษ  เตรียมเครื่องศาสตรวุธพร้อมล้ว ก็เชิญอาจารย์พระมหาช่วยขึ้นคานหามมาในกองรบนี้ด้วย มาตั้งคอยรบกองทหารพม่าที่จะมาจากเมืองนครศรีธรรมราช   

          แต่ปรากฏว่าฝ่ายพม่าทราบว่า ฝ่ายไทยมีกองทัพยกมาจากกรุงเทพฯ  จึงปรับแผนส่งกองทัพไปรับทัพกรุงเทพฯ ที่เมืองไชยา   กองรบเมืองพัทลุงนี้จึงไม่ได้แสดงฝีมือให้ปรากฏ

 

          .  .  .  ก็นับว่าอาจารย์พระมหาช่วยนี้ท่าน ขลังจริงๆ  เพราะให้กองทัพพม่าต้องปรับแผนไม่มาตีเมืองพัทลุงได้

 

 

 

 

 

เมืองไชยา

          เมื่อกองทัพพม่ามาถึงเมืองไชยานั้น  กองหน้าของพระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากร พร้อมอยู่แล้ว   จึงได้เข้าล้อมกองทัพพม่า  ปะทะสู้รบกันจนค่ำ  และฝนตกหนักยิงปืนไม่ได้    ฝ่ายพม่าแหกวงล้อมออกไปได้   แต่ก็แตกกระจัดกระจายคุมกันไม่ติด  ถูกจับ  และ ถูกสังหารในการรบเป็นอันมาก

          ฝ่ายแม่ทัพซึ่งนำกำลังส่วนใหญ่ยกจากเมืองนครศรีธรรมราชตามมา  รู้ว่ากองทัพหน้าแตกพ่ายยับเยินเสียแล้ว  ก็ไม่คิดสู้   รีบเปลี่ยนทางเดินทัพกลับไปเมืองกระบี่  และกลับคืนดินแดนพม่า  ทางเมืองทวาย ต่อไป

 

          กองทัพไทยได้ชัยชนะแล้วก็กราบทูล  และส่งพม่าเชลยมาถวายยังค่ายหลวง  ณ  เมืองชุมพร   จึงมีพระราชบัณฑูรให้รวบรวมราษฎรให้กลับบ้านเรือนตามภูมิลำเนาดุจเดิม    แล้วให้ทัพหน้าไปเมืองนคร ตามทางบก  และเสด็จยกทัพหลวงโดยทางชลมารคถึงเมืองนคร   เสด็จขึ้นประทับอยู่ในเมือง    โปรดให้หาเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเพื่อจะลงพระอาญา  แต่ทรงพิจารณาว่า  ข้าศึกมีกำลังกล้าแข็งนัก   จึงทรงภาคทัณฑ์ไว้   แล้วให้รวบรวมราษฎรกลับถิ่นฐานดังเดิม    แล้วเสด็จดำเนินทัพหลวงโดยทางบกทางน้ำ ไปประทับ  ณ  เมืองสงขลา

 

 

 

           ระหว่างประทับที่สงขลา 

            ทรงทราบเรื่องพระมหาช่วย   ดำรัสยกความชอบว่าเป็นใจด้วยราชการมีความชอบมาก   เมื่อพระมหาช่วยปริวัติออกแล้ว  จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็น  พระยาทุกขราษฎร์ ตำแหน่งในกรมการเมืองพัทลุง

 

 

อนุสาวรีย์ พระยาทุกขราษฎร์

ประดิษฐาน  ณ  สามแยกท่ามิหรำ  อำเภอเมืองพัทลุง

 

 

 

               กรมการเมืองถลางบอกข้อราชการกราบทูล  ณ  เมืองสงขลา ฉบับหนึ่ง  และบอกเข้ามากราบทูล  ณ  กรุงเทพมหานครฉบับหนึ่ง
  

 

           ครับ  .  .  .  การรบพม่าด้านปักษ์ใต้  ก็เรียบร้อย  ไปอีกด้าน    ด้วยประการ  ฉะนี้

 

                    เรื่องพม่าตีเมืองถลางนี้  ผมเคยสงสัยมาตั้งแต่เป็นนักเรียนฯ ว่า  ทำไม แม่ทัพพม่าจึงยอมเสียไพร่พลถึงสามพัน  แยกไปจากกองทัพใหญ่  ทำให้กำลังทางบกมีกำลังน้อยลง    หากนำกำลังส่วนนี้  รวมกับกำลังทางบก  จะเป็นไปตามหลักการรวมกำล้ง   ทำให้กำลังทางบกเข้มแข็งขึ้น  และเมื่อได้ชัยชนะทางบกแล้ว  ค่อยรวมกำลังมาจัดการเกาะถลางต่อไป

             และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้  หากทางพม่ามอบภารกิจให้ หมู่กองทัพปักษ์ใต้  (กองทัพที่ ๑  และ กองทัพที่ ๒)  เข้าตีกรุงเทพฯ ด้วย  โดยใช้ทางด่านสิงขร  (ซึ่งภูมิประเทศไม่ยากลำบากเช่นด่านบ้องตี้)   -  เมืองกุย  -  เมืองปราณ  -  เมืองราชบุรี       น่าจะเป็นปัญหาแก่ฝ่ายไทยเรามากกว่านี้


 

          ครับ  .  .  .  ก็นับได้ว่าการสงครามเก้าทัพ  ก็สิ้นเสร็จ             ดังที่ได้เรียนมานี้


 

          แต่ยังมีเรื่องน่าสนใจต่อไป  คือการดำเนินการต่อประเทศราชที่ไม่เรียบร้อย    เป็นการขยายผลจากการสงครามเก้าทัพ   อีกนะครับ

 

 หัวเมืองมลายู  -  ราชการค้างมาจากแผ่นดินก่อน

          หัวเมืองซึ่งมีแคว้นที่สำคัญได้แก่  ปัตตานี ไทรบุรี  เประ กลันตัน  และตรังกานู เป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย   เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก   แคว้นเหล่านี้ได้ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ   และเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงติดพันศึก  และฟื้นฟูประเทศ   จึงยังมิได้ดำเนินการอย่างใดกับหัวเมืองมลายูประเทศราช

          ครั้นถึง  วันพุธ  เดือน  ๗  แรม  ๑๔  ค่ำ  ปีระกา   ตรงกับวันที่  ๔  มิถุนายน  พ.ศ.๒๓๒๐    มีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราชกราบทูลว่า  เมืองปัตตานีแข็งเมืองอยู่มิได้อ่อนน้อม  ถึงปีหน้า  เจ้านครจะขอยกกองทัพออกไปตี    แต่เนื่องจากช่วงนั้นยังติดพันสงครามกับพม่าอยู่  และ (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ทรงพระดำริจะแต่งคณะทูตไปแจ้งราชกิจแก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งว่า จะยกกองทัพขึ้นไปช่วยตีกรุงอังวะ    จึงให้เจ้านครรอทัพไว้ก่อน ต่อเมื่อใดราชการข้างกรุงเทพมหานครสงบแล้วจึงจะให้มีตรากำหนดการออกไปให้กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ยกออกไปตีเมืองปัตตานีเมื่อนั้น    (รายละเอียดใน  ธนบุรีสมัยจบ)

                   เมื่อเสร็จศึกคราวนี้แล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระราชดำริว่า  มีราชกิจเกี่ยวกับหัวเมืองมลายูประเทศราชที่ค้างคามาจากแผ่นดินก่อน   และกองทัพแสนยากรก็พรั่งพร้อมอยู่แล้ว  ชอบที่จะแผ่พระบรมเดชานุภาพให้ประเทศราชกลับเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังเดิม   ทรงให้ข้าหลวงถือสาส์นไปถึงพระยาปัตตานี และ พระยาไทรบุรี      พระยาปัตตานี ขัดขืน ไม่ยอมอ่อนน้อม     จึงทรงให้  กองหน้าของพระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากรยกลงไปตีเมืองปัตตานี    ทัพหลวงก็เสด็จบกหนุนออกไปด้วย

          บรรดาหัวเมืองทั้งปวงเหล่านั้น    ที่สู้รบจนพ่ายแพ้ปราชัยก็มีบ้าง   ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง   ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง

 

เมืองปัตตานี  

          เมืองปัตตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่  เจ้าเมืองน้อมถวายปืนใหญ่ ในเมืองสองกระบอก    ฝ่ายพระยาไทร  ทราบว่าไทยตีเมืองปัตตานีได้  ก็เกิดความเกรงกลัวรีบแต่งฑูตเชิญต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ    พระยาตรังกานู และพระยากลันตัน ก็แต่งฑูตเชิญต้นไม้เงินต้นไม้ทองขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ  เช่นกัน    แล้วทรงแต่งหนังสือกราบทูลเข้ามายังกรุงเทพมหานคร

 

 

 

 

การลำเลียงปืนใหญ่ทีเจ้าเมืองปัตตานี น้อมถวายลงเรือเพื่อนำเข้าเข้ากรุงเทพฯ

 

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงพระโสมนัส  ตรัสให้อัญเชิญเสด็จสมเด็จพระอนุชาธิราชยาตราทัพหลวงกลับคืนยังพระนคร

 

พระยาตานี

          กองทัพสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ   ถึงพระนครใน เดือน ๑๑  ปีมะเมีย   (ประมาณ  ปลายเดือนกันยายน  - ต้นตุลาคม พ.ศ.๒๓๒๙)  เสด็จขึ้นเฝ้า สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชกราบทูลแถลงราชกิจการสงครามซึ่งมีชัยชนะ  แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาวสามวาศอกคืบสองนิ้วกึ่ง  กระสุนสิบเอ็ดนิ้วบอกหนึ่ง    ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้ว  กระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองปัตตานี    ให้เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่เข้าไว้  ณ  โรงในพระราชวัง  บอกใหญ่นั้นให้จารึกนามลงกับบอกปืนชื่อพระยาตานี      

 

 

 พระยาตานี

 ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้ว  กระสุนสามนิ้วกึ่ง

 ครั้งตั้งที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันตั้งอยู่  ณ  ศาลาว่าการกลาโหม


 

ท้าวเทพกระษัตรี  -  ท้าวศรีสุนทร     สิทธิสตรี  ก่อนคำศัพท์  "สิทธิสตรี"

          เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จกลับคืนเข้ามาถึงพระนครแล้ว  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการโปรดให้มีตราออกไปตั้งกรมการเมืองผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่  แล้วโปรดตั้งภรรยาพระยาถลาง (เก่า)   เป็นท้าวเทพกระษัตรี  โปรดตั้งน้องสาวนั้น เป็นท้าวศรีสุนทร  พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่สตรี

 

 

 

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี  ท้าวศรีสุนทร

อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต


 

ทำสงครามไม่เคยแพ้ใคร  เพิ่งมาแพ้ไทยเป็นทีแรก

         .  .  .  และศึกครั้งนั้นพระเจ้าอังวะเสียรี้พลเป็นอันมาก  ทั้งไทยจับเป็นไปได้  และตายด้วยป่วยไข้  ตายในสงครามทุกทัพทุกทางประมาณกึ่งหนึ่ง  ที่เหลือกลับไปได้สักกึ่งหนึ่ง    พระเจ้าอังวะเสียพระทัยนัก    จึงให้เลิกทัพหลวงกลับไปเมืองอังวะ    แล้วให้มีตราให้หากองทัพทางเหนือทั้งนั้น  กลับไปยังเมืองอังวะสิ้น  และกองทัพทางทวายนั้น ให้ยกมาตั้งอยู่  ณ  เมืองเมาะตะมะ    ทัพทางเมืองมฤตให้ยกมาตั้งอยู่  ณ  เมืองทวาย  .  .  .

          สงครามเก้าทัพ   สงครามครั้งแรก หลังจากได้สร้าง และสมโภชพระนคร  ซึ่งกองทัพไทยต้องทำการรบกับกองทัพพม่า  ซึ่งได้เกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวง และหัวเมืองขึ้น  ตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติ หลายภาษา  ทั้งพม่า มอญ เมง ทวาย ยะไข่ กะแซ ลาว  และเงี้ยว   มีกำลังมากกว่า  ประมาณ  สองต่อหนึ่ง

          การล่าทัพของพระเจ้าปดุง ในครั้งนี้    แม้มิได้เสียหายยับเยิน  แต่ก็เสียทีไทยกลับไปหมดทุกทาง  พระเจ้าปดุงมีความอัปยศอดสูด้วยทำสงครามไม่เคยแพ้ใคร  เพิ่งมาแพ้ไทยเป็นทีแรก  เกรงคนทั้งหลายจะดูหมิ่น

 

บทเรียนจากการรบ

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม    การสงครามคราวนี้ก็มีบทเรียนให้ได้ศึกษากันอย่างกว้างขวาง  เราลองดูกันพอย่อๆ นะครับ

          ฝ่ายพม่า

               ๑. การจัดกองทัพด้วยการเกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวง และหัวเมืองขึ้น  ตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติ หลายภาษา   ถึงแม้ว่าจะได้จัดเป็นหน่วยตามเมือง  หรือตามเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์  ภาษา  แล้วก็ตาม   แต่ก็ยังแตกต่างกันใน "อำนาจกำลังรบมี่ไม่มีตัวตน" ได้แก่ เรื่องมาตรฐานการฝึก  จิตใจรุกรบ  ใฝ่ในชัยชนะ  ความกล้าหาญ  เสียสละ  ฯลฯ

                    อย่างไรก็ตามกองทัพชาวพม่าอาจจะมีจิตใจรุกรบ ห้าวหาญ เพราะได้ปราบปรามแว่นแคว้นต่างๆ   แต่กองทัพที่เกณฑ์มาจากแว่นแคว้นต่างๆ   ซึ่งต่างเชื้อชาติ  เผ่าพันธุ์    น่าจะมีจิตใจแตกต่างออกไป

               ๒. กองทัพพม่ามีปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะ ด้านเสบียงอาหาร  ซึ่งเริ่มจากการเตรียมการที่ไม่เพียงพอ  และไม่สามารถแก้ปัญหาในสนามได้

               ๓. ฝ่ายพม่าวางน้ำหนักในการรุก และใช้แนวทางการเคลื่อนที่ไม่เหมาะสม  กล่าวคือ 

                     ๓.๑  แนวทางการเคลื่อนที่ทางปักษ์ใต้  ไม่ได้มุ่งสู่กรุงเทพฯ     และการจัดกองทัพให้ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยถึง  ๒  กองทัพ    ทำให้ลดน้ำหนักในการรุกกรุงเทพฯ ลงไป

                     ๓.๒  แนวทางการเคลื่อนที่ทางฝ่ายเหนือ   มุ่งสู่กรุงเทพฯ ก็จริง    แต่ในการปฏิบัติจริงหมู่กองทัพทางฝ่ายเหนือ   ไม่ได้มุ่งสู่กรุงเทพฯ  มัวแต่พยายามตีหัวเมืองให้ได้ 
 
                     ๓.๓  หมู่กองทัพหลวงซึ่งเป็นกำลังหลักในการรุก  คงจะหวังเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางที่ใกล้ที่สุด  มิได้คำนึงถึงความสะดวกในการเคลื่อนที่   และไม่สามารถปรับแผนแปรขบวนกองทัพได้เพราะภูมิประเทศจำกัด   

                         หากจะวางน้ำหนักการรุกตามแนวทางด่านแม่ละเมา  น่าจะเดินทัพได้สะดวกและรวดเร็วกว่า  เพราะลักษณะภูมิประเทศไม่จำกัดมากเช่นทางด่านพระเจดีย์สามองค์   ทั้งยังมีเส้นทางเคลื่อนที่ ให้แก้ปัญหาได้     และในสมัยนั้น  กำลังหัวเมืองเหนือของไทยก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               ๔. เกิดไข้ทรพิษขึ้นในค่ายพม่า   ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นอย่างไม่คาดคิด   มีผลกระทบต่อขวัญ กำลังใจของกำลังพลทุกระดับ   และกระทบต่อประสิทธิภาพในการรบเป็นอย่างยิ่ง

                    ๕.  ผู้นำ และแม่ทัพนายกองขาดจิตใจรุกรบ    เพียงแต่เห็นลูกกระสุนไม้ของไทย   และขบวนลำเลียงเสบียงอาหาร ถูกตีสกัดได้ไม่กี่ครั้ง  ก็เสียขวัญ ขอพระราชทานล่าทัพเสียแล้วแทนที่จะผลิตลูกกระสุนไม้แบบของไทยบ้าง   หรือจัดกำลังคุ้มกันขบวนลำเลียงให้เข้มแข็งขึ้น
 
          เท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว นะครับ    เดี๋ยวจะหาว่า  ก็รบแพ้นี่  อะไรๆ  ก็ผิดพลาดไปหมด      ท่านใดมีความคิดเห็นเพิ่มเติมกรุณาแลกเปลี่ยนกันได้  ครับ

                       สรุปว่า  .  .  .  เนื่องจากแม่ทัพนายกองเลินเล่อ  จัดเตรียมกองทัพไม่พร้อม   ประกอบกับพระองค์เองก็ขาดประสบการณ์ในการรบ  กองทัพหน้าถูกตีแตกกลับมา    แม้ว่าจะรวมตัวกันได้อีกและเดินทางต่อไป    พระเจ้าโพธิพญาก็ทรงท้อถอยเสียแล้ว  .  .  .      ตามที่หม่องทินอ่องกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์พม่า

 

          ฝ่ายไทย

               ๑.  จัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของภัยคุกคามได้ถูกต้อง   ทำให้การจัดกำลัง  การเลือกพื้นที่การรบ ได้เหมาะสม    กล่าวคือ  ออมกำลังในด้านเหนือ ซึ่งไม่อันตรายเร่งด่วน    และรวมกำลังในด้าน พระเจดีย์สามองค์ ซึ่งอันตรายเร่งด่วนกว่า   (รายละเอียดในห้วข้อ "ไทยได้ข่าวศึก")

               ๒.  ใช้วิธีการรบอย่างเหมาะสมที่จะบั่นทอนขีดความสามารถในการรบของฝ่ายพม่า  เช่น  การโจมตีขบวนลำเลียงเสบียงอาหารของฝ่ายพม่า

               ๓.   ใช้ปืนใหญ่ได้ดีกว่า    และ องค์สมเด็จแม่ทัพทรงใช้ปืนใหญ่ได้อย่างอ่อนตัวและเกิดประสิทธิผล  เช่น ลูกกระสุนไม้

               ๔.  ใช้มาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น 

                    การลวง  ทรงใช้ กลลวง  -  กลศึก ว่ามีกำลังมาเพิ่มเติม  ซึ่งแม่ทัพนายกองพม่าก็ช่างไม่สงสัยว่ามีกำลังพลมาเพิ่มเติมทุกวัน  แต่ไม่มีการสร้างค่ายเพิ่มเติม   (หรืออาจจะเข้าใจว่า ค่ายทหารไทยที่สร้างไว้แล้วนั้นคงจะรองรับจำนวนทหารที่เพิ่มขึ้นได้  ก็ได้นะครับ)

                    การระวังป้องกัน    เช่น  จัดกำลังออกไปขัดตาทัพ  เป็นกองรักษาด่าน  ที่ด่านกรามช้าง   แต่บางหน่วยก็บกพร่อง  เช่นหน่วยที่ราชบุรี  ไม่ได้จัดการลาดตระเวนเลยจนข้าศึกมาอยู่หลังเขา ก็ยังไม่ทราบ   แต่เผอิญ ไม่เป็นผลเสียแก่กองทัพโดยรวม

 

          ครับ  .  .  .  ผมขอว่าไว้เพียงนี้    และขอเชิญทุกท่านกรุณา แสดงความคิดเห็น เพื่มเติมด้วย  ขอบคุณครับ

 

 

  และเนื่องจากพระเจ้าปดุงมีความอัปยศอดสูด้วยทำสงครามไม่เคยแพ้ใคร  เพิ่งมาแพ้ไทยเป็นทีแรก  เกรงคนทั้งหลายจะดูหมิ่น  จึงพยายาม "ล้างตา"  ด้วยการมาตีเมืองไทยอีกครั้ง  จึงเกิด  .  .  .  สงครามท่าดินแดง  .  .  .  

 

 ครับ  ขอเชิญติดตามสถานการณ์ต่อไปของกรุงรัตนโกสินทร์  ปีหน้า  .  .  . 

รบพม่าท่าดินแดง

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  รบพม่าท่าดินแดง

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  รบพม่าท่าดินแดง

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  รบพม่าท่าดินแดง

 

 

บรรณานุกรม

 

          -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

          -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัดเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

           -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          -  สงครามเก้าทัพ    พลโท  รวมศักดิ์  ไชยโกมินทร์  รวบรวม    เอกสารอัดสำเนา  ๖  เมษายน  ๒๕๔๓

          -  แผนที่  จาก  สงครามเก้าทัพ  ของ  พลตรี  บัญชา  แก้วเกตุทอง  ซึ่งขออนุญาตท่านนำมาเผยแพร่  และขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้ด้วย

          -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker