เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีผู้มาตั้งกระทู้ "นิทรรศการพิเศษเรื่อง “จากสยามสู่ยุโรป บนเส้นทางซ่อนวาระ” ณ มิวเซียมสยาม" ไว้ในเว็บบอร์ดเพื่อเชิญชวนให้ไปชมนิทรรศการดังกล่าว ก็ไม่ทราบว่าท่านอื่นจะสนใจหรือไม่เพียงใด ตัวผมเองในฐานะเว็บมาสเตอร์ และคนที่ได้เคยดูสารคดี 100 ปีไกลบ้านตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงเกิดความสนใจและได้ไปเที่ยวตามคำเชิญเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2552 ซึ่งนอกจากการชมนิทรรศการตามคำเชิญชวนในกระทู้แล้ว ยังได้ชมส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เขาเอง จึงได้พบว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แนวคิดของเขาคือการจัดแสดงสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นของเก่าจริงๆ รวมกับสื่อนิทรรศการต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาของ "คนไทย" และ "สังคมไทย" ที่มาจากการผสมผสานของเชื้อชาติและวัฒนธรรมอันหลากหลาย
แต่หลังจากการชมครั้งนั้น ภารกิจต่างๆ รวมถึงความรู้สึกว่ายังติดใจอะไรอีกหลายอย่าง ทำให้ยังไม่ได้บอกเล่าอะไรเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากนัก จนกระทั่งราว 1 เดือนผ่านไป จึงคิดว่าอยากจะกลับไปชมอีกสักครั้ง และถ้าเป็นไปได้ก็จะเชิญชวนผู้ชมเว็บไปชมด้วยกันเป็นกิจกรรมของเว็บ IseeHistory สักครั้งหนึ่ง ในวันที่ 29 สิงหาคม 2552 หรือ "เมื่อวาน" ของวันที่กำลังเขียนนี้ แต่ผลปรากฏว่าสามารถชวนได้เพียงคนเดียว คือ คุณชาญชัย ซึ่งบังเอิญได้โทรคุยกันเรื่องอื่นกันอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ได้ทำใจไว้แล้ว ครั้งนี้มีกันแค่สองคนก็ไม่เป็นไร ถือว่ามาเก็บข้อมูลเตรียมไว้สำหรับการเชิญชวนคนอื่นในครั้งต่อๆ ไปก็ยังได้
เรื่องราวของ "มิวเซียมสยาม" หรือ "สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ" นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ โบรชัวร์ รวมถึงการสอบถามเจ้าหน้าที่สาวสวยสองนาง (แต่ไม่บังอาจไปถามอายุหรือสถานะอะไรของเธอหรอกนะครับ) พอจะได้ความว่าเป็นองค์กรของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ที่นี่ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว (หรือจะเป็นพนักงานราชการก็ไม่ทันได้ถามละเอียด) เริ่มกำหนดแนวคิดในการจัดแสดงมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 แล้วพึ่งมาเปิดแสดงจริงได้ราวๆ 2 ปีที่ผ่านมา (คงราวๆ พ.ศ. 2550) ณ อาคารซึ่งเดิมเป็นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต้องผ่านการบูรณะตกแต่งกันมาพอสมควร รายละเอียดอื่นๆ ลองหาดูได้จากเว็บไซต์ของเขาที่ http://www.ndmi.or.th/ นะครับ
ส่วนของการจัดแสดงต่างๆ นั้น เรียกว่าต้องไปเองถึงจะรู้ซึ้ง แต่ไหนๆ ได้ไปมาถึงสองครั้งแล้ว ก็ขอนำรูปภาพมาฝากประกอบการเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดังนี้ครับ

ก่อนเข้าชมห้องจัดแสดงเขาจะให้เรานั่งชมภาพยนตร์สั้นที่เป็นเหมือนบทนำของนิทรรศการก่อน พอดีไม่ได้ถ่ายภาพไว้ ถัดมาห้องจัดแสดงห้องแรกคือที่นี่ครับ รถเข็นส้มตำไก่ย่างนี้ เขาอธิบายความเป็นมาของอาหารไทยครับ

ภาพจำลองโรงหนังเก่าๆ

ความเป็นมาของ "สุวรรณภูมิ" ยุคโบราณ

นี่ก็เรื่องของ "สุวรรณภูมิ" ในประเด็น "ข้าว"

นี่เป็นตู้หนังสั้นที่ช่วยบอกเล่าเรื่องต่างๆ แทนการใช้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ มีตั้งอยู่หลายจุดตามห้องต่างๆ ตลอดทางที่เราชมนิทรรศการ

หุ่นจำลองเรือโบราณต่างๆ

สีขาวทางซ้ายคือกระบะแสดงสิ่งก่อสร้างจำลอง ทางขวาป้ายหรือโต๊ะจัดแสดงที่ทำเลียนแบบสมุดใบลานเล่มโตๆ

เข้ามาในห้อง "สยามยุทธ" หรือประวัติศาสตร์การสงครามของไทย เริ่มต้นที่หุ่นจำลองกำลังแบก "โพล่" ที่เป็นกึ่งเต็นท์กึ่งเป้สนามของไพร่พลยูคโบราณ

เล่าเรื่อง "ศึกอลองพญา" แบบมัลติมีเดีย

ตรงระหว่างหุ่นทหารเสื้อแดงทั้งสองคือตู้เกมตำราพิชัยสงคราม ส่วนทางขวาคือเกมยิงปืนใหญ่ครับ

หุ่นจำลองใส่ชุดขุนพลและไพร่พลที่จะออกศึก

ความเป็นมาของแผนที่และการปักปันเขตแดนตามแบบตะวันตกและ "การเสียดินแดน"

ตู้จำลองหมู่บ้านในชนบทในห้องจัดแสดงการผลิตข้าว

อีกมุมหนึ่งของการจำลองชีวิตชนบท

ชาตินิยมในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม

จำลองการออกอากาศทางโทรทัศน์ในยุคแรก
ภาพเหล่านี้ไม่ทราบจะประเมินได้ว่าเป็นกี่เปอร์เซนต์ของสิ่งที่จัดแสดงจริง ซึ่งท่านต้องหาโอกาสมาชมเองสักครั้ง ขอย้ำว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ "เล่นได้ - ถ่ายรูปได้" เป็นทั้ง Multi-Media (ใช้สื่อหลายชนิดในการจัดแสดงบอกเรื่องราว) และ Edutainment (Education + Entertainment คือได้ความรู้อย่างเพลิดเพลิน) ลองหาโอกาสไปชมให้ได้สักครั้งนะครับ จะไปด้วยตนเองหรือจะรอจังหวะไปชมด้วยกันในโอกาสต่อไปก็ตามแต่สะดวกครับ
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ