dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐

*  *  *

พ.ศ.๒๓๓๐   พม่าตีนครลำปาง และป่าซาง - ไทยตีเมืองทวาย

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .

          พ.ศ.๒๓๒๘    สงครามเก้าทัพ

          พ.ศ.๒๓๒๙    สงครามท่าดินแดง

          สงครามเก้าทัพ และสงครามท่าดินแดง  ใน พ.ศ.๒๓๒๘ และ ๒๓๒๙  นี้   มีผลอย่างมากต่อการเมืองภายในพระราชอาณาจักรพม่า  ดังที่นักประวัติศาสตร์พม่าท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า

          .  .  .  การที่พระเจ้าโพธิพญาทรงยกกองทัพไปไทย  ก็ทำให้พระเกียรติยศเสื่อมลง  และยังทำให้ชาวยะไข่ต่อต้านพระองค์มากยิ่งขึ้น  เพราะชาวยะไข่ถูกเกณฑ์ไปในกองทัพดังกล่าวแล้วด้วย 

 ฯลฯ

 

พ.ศ.๒๓๓๐

พม่าตีนครลำปาง และป่าซาง

          สืบเนื่องจากการที่พระเจ้าปดุงต้องล่าทัพจากเมืองไทยไปถึงสองครั้งติดๆ กัน  เป็นที่ลือเลื่องทั่วไปในกลุ่มประเทศราชของพม่า ว่าพระราชอาณาจักรไทยเข้มแข็งและ เดชานุภาพของพระเจ้าปดุงไม่เป็นที่น่ายำเกรงดังแต่ก่อน   ก็พากันแข็งเมือง กระด้างกระเดื่องต่อพม่า  หัวเมืองประเทศราชลื้อเขินดังกล่าว มีเมืองเชียงรุ้ง และเชียงตุง  เป็นต้น

          พระเจ้าปดุงจึงทรงเกรงว่าหัวเมืองลื้อเขิน จะมาขึ้นกับไทยเสียหมด  จึงทรงให้จัดกองทัพใหญ่ไปปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเหล่านั้น

  

          ใน พ.ศ.๒๓๓๐  (ค.ศ.๑๗๘๗)   พม่ารวบรวมกำลังได้  ๔ หมื่น  ๕ พัน  ให้หวุ่นยีมหาชัยสุระเป็นแม่ทัพยกมาตั้งกองบัญชาการที่เมืองนาย  (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน  สหภาพพม่า)  แล้วจัดแบ่งกองทัพแยกกันออกไปปราบหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง     จัดกำลังแบ่งให้จอข่องนรธา จำนวน   ๕ พัน  ยกมาตีเมืองฝาง   สั่งให้โปมะยุง่วนซึ่งรักษาเมืองเชียงแสนให้นำกำลังมาสมทบด้วย เมื่อตีเมืองฝางได้แล้วตั้งยึดเมืองไว้ทำนาเตรียมเสบียงอาหาร  รอฤดูแล้งจะยกไปตีนครลำปาง  แล้วให้โปมะยุง่วนกลับไปรักษาเมืองเชียงแสนดังเดิม

 

 

 

 

 

          ขอฟื้นความจำเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ว่า   ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๙   สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระเจ้าจิงกูจา หรือสินธู  โอรสพระเจ้ามังระ   ส่งกองทัพจากพม่า  สมทบกับกองทัพเมืองเชียงแสนของโปมะยุง่วน   ลงไปตีเมืองเชียงใหม่   พระยาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่เห็นเหลือกำลัง  จึงถอนตัวไปเมืองสวรรคโลก    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้รับไปกรุงธนบุรี   และโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ  (ขณะนั้นท่านเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก)  ขึ้นไปสมทบเจ้ากาวิละ  เจ้าเมืองลำปางยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน   โปมะยุง่วนจึงถอนกำลังกลับไปเมืองเชียงแสน    เมื่อเสร็จศึกนี้แล้ว   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริว่า  เมืองเชียงใหม่นั้นไพร่บ้านพลเมืองระส่ำระสายมาก  จะรวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองเช่นเดิมน่าจะไม่พอรักษาเมืองได้  หากไม่มีกองทัพไทยตั้งรักษาเมืองอยู่ และพม่ายกมา  ก็ต้องเสียให้พม่าอีก   จึงโปรดให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย

          เมืองเชียงใหม่จึงร้าง แต่บัดนั้น   (พ.ศ.๒๓๑๙)

 

 

          เมื่อโปมะยุง่วนจึงถอนกำลังจากเมืองเชียงใหม่กลับไปเมืองเชียงแสน  พ.ศ.๒๓๑๙  นั้น  มีกำลังประมาณ  พันคน    พ.ศ.๒๓๓๐  นี้จัดกำลังสมทบกองทัพจอข่องนรธาไปตีเมืองฝางได้เพียง  ห้าร้อย  คน    เมื่อได้เมืองฝางแล้ว  โปมะยุง่วนจะกลับไปรักษาเมืองเชียงแสนดังเดิม   จึงเหลือกำลังเพียงไม่กี่ร้อยคน 

 

แคว้นล้านนาผนึกกำลังต่อสู้พม่า

          ขณะนั้นเจ้าเมืองต่างๆ ในแคว้นล้านนาเห็นเป็นโอกาสที่จะต่อสู้พม่า  พระยาแพร่ และพระยายอง (ปัจจุบันคือ เมืองยองอยู่ใน รัฐฉาน สหภาพพม่า)  จึงร่วมกันยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนเพื่อจะรบไล่กองทัพโปมะยุง่วน ซึ่งเหลือกำลังเพียงไม่กี่ร้อยคน  จนต้องหนีไปเชียงราย    ก็ถูกเจ้าเมืองเชียงรายจับส่งให้พระยาแพร่ พระยายอง  คุมตัวไปให้พระยากาวิละที่นครลำปางต่อไป  พระยากาวิละถวายรายงานไปกรุงเทพฯ   

          ฝ่ายไทยได้ข่าวสารจากโปมะยุง่วนว่า  พม่ารอจะยกไปตีนครลำปางในฤดูแล้ง    จึงได้โปรดฯ ให้พระยากาวิละแบ่งครอบครัวจากนครลำปางไปรักษาเมืองเชียงใหม่    และให้พระยาคำโสมน้องพระยากาวิละ เป็นเจ้าเมืองนครลำปางแทน

          ฝ่ายพระยากาวิละเห็นว่าครอบครัวที่มาจากนครลำปางมีจำนวนน้อยไม่พอรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ จึงตั้งอยู่ที่เมืองป่าซาง     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้พระยาสวรรคโลก และพระยากำแพงเพชร  จัดกองทัพไปช่วยรักษาเมืองป่าซาง

 

นครลำปาง

           ครั้นถึงฤดูแล้ง  หวุ่นยีมหาชัยสุระแม่ทัพพม่าก็ยกกำลังจากเชียงตุง  ตีเอาเมืองเชียงรายได้แล้ว เรียกกองทัพจอข่องนรธาจากเมืองฝาง   มารวมกำลังเพื่อไปตีนครลำปางตามแผน  แต่พระยาคำโสมเจ้าเมืองรักษาเมืองเป็นสามารถ   พม่าได้แต่ล้อมเมืองไว้

 

เมืองป่าซาง 

          ทางฝ่ายพม่ารวบรวมกำลังได้อีก  ๓ หมื่น  ๕ พัน  ให้เลตะละสีหะสิงครันเป็นแม่ทัพ ยกจากเมาะตะมะ  ตรงเข้าตีเมืองป่าซางโดยผ่านทางเมืองยวม (อ.แม่สะเรียง  จว.แม่ฮ่องสอน  ในปัจจุบัน)   พระยากาวิละกับพระยาสวรรคโลกพระยากำแพงเพชร  ก็ร่วมกันตีพม่าที่ล้อมอยู่  แต่ไม่สำเร็จ

          กองทัพพม่าทั้งสองกองจึงได้แต่ล้อมนครลำปาง และเมืองป่าซางไว้  ทั้งสองเมืองหวังให้ในเมืองขาดแคลนเสบียงอาหาร

 

 

 

 

 

 

 

เตรียมตีทวาย   แก้ปัญหานครลำปาง  ป่าซางก่อน 

          ขณะนั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเตรียมกองทัพ จะไปทำสงครามตีเอาเมืองทวาย พอดี  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท  ทรงเป็นแม่ทัพหลวง นำทัพ  ๖ หมื่น  ยกไปช่วยแก้ปัญหาที่นครลำปาง และป่าซาง

          กองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ  ไปถึงนครลำปางก่อน ในเดือน ๔   ทรงให้ล้อมกองทัพพม่าไว้  และส่งกำลังไปสกัดกั้นเส้นทางไม่ให้พม่าจากทางเหนือยกมาเพิ่มเติมกำลังได้อีก   แล้วนัดวันเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกับกองทัพในนครลำปาง   กองทัพพม่าของหวุ่นยีมหาชัยสุระต้านทานอยู่ได้  ๔ วันก็แตกกลับไปเชียงแสน   ในเดือน ๔  แรม  ๑๐  ค่ำ   (แรม  ๑๐ ค่ำ เดือน  ๔  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๔๙   ตรงกับวันจันทร์  วันที่  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๓๐  -  การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php

           เมื่อกองทัพพม่าที่นครลำปางแตกหนีพ่ายไปแล้ว   กองทัพจากกรุงเทพฯ ก็ยกต่อไปเมืองป่าซาง   พระยากาวิละก็ยกตีกระหนาบออกมาจากในเมือง  กองทัพเลตะละสีหะสิงตรันก็แตกกลับไปเช่นกัน      

          ครั้นเสร็จศึก  สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ก็เสด็จกลับ  โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากเชียงใหม่ มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

พระพุทธสิหิงค์  

 

บน   ประดิษฐาน  ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์  พระบวรราชวัง

ซ้าย  ประดิษฐาน  ณ  วิหารลายคำ  วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร   เชียงใหม่ 

ขวา  ประดิษฐาน  ณ วิหารพระพุทธสิหิงค์   นครศรีธรรมราช

 

 

 

ไทยตีเมืองทวาย

          . . . มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด       จะทดแทนมันให้หมดสิ้น
มันจิตอหังการ์ทมิฬ                                 จะล้างให้สิ้นอย่าสงกา . . .

กลอนเพลงยาว ของกรมพระราชวังบวร มหาสุรสิงหนาท

 

         ตามที่ได้เรียนให้ทราบตั้งแต่สงครามคราวพม่าตีนครลำปางและป่าซางแล้วว่า  กรุงเทพฯ ได้รับข่าวศึกขณะที่กำลังเตรียมทัพไปตีเมืองทวาย   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จยกทัพไปรักษาพระราชอาณาเขตทางเหนือได้ทันท่วงที  

          พระราชดำริที่เสด็จไปตีเมืองทวายครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะ

               - ไทยเราชนะสงครามกับพม่าถึง  ๒  ครั้งติดๆ กันในเวลา  ๒  ปี    รี้พลสกลไกรกำลังฮึกเหิม มีจิตใจรุกรบ  ขวัญและกำลังใจดีเยี่ยม   ส่วนฝ่ายพม่านั้นตรงกันข้าม เป็นฝ่ายที่ครั่นคร้ามกองทัพไทย  จึงน่าจะเป็นโอกาสที่  . . .จะทดแทนมันให้หมดสิ้น  . . . ได้

               - เมืองทวายเป็นดินแดนของพวกมอญซึ่งไม่ชื่นชอบพม่าเท่าใดนัก หากเห็นไทยเข้มแข็งสามารถรุกไปตีเมืองพม่าได้พวกมอญอาจจะสนับสนุนฝ่ายไทยช่วยรบพม่าบ้าง

               - หากตีทวายได้และเป็นท่วงทีก็จะขยายผลต่อไปถึง มะริด และตะนาวศรี    หากไม่สำเร็จก็ถือว่าเป็นการศึกษาภูมิประเทศ เพื่อประโยชน์ในโอกาสต่อไป

          ส่วนการที่ไม่ทรงรอกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ กลับจากการศึกทางเหนือเสียก่อน  อาจจะเป็นเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการพระราชสงครามทางเหนือจะแล้วเสร็จเมื่อใด    หากเนิ่นนานไปอาจยกไปไม่ทันฤดูแล้งนี้     การจะเลื่อนไปตีในปีต่อไป  สถานการณ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงจนไม่เหมาะที่จะทำศึกได้

 

          อนึ่ง   ต้นปีมะแม  นพศก  จ.ศ.๑๑๔๙    เมื่อก่อนยังไม่ได้เสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองทวายนั้น    จึงมีพระราชโองการตรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรฯ  เสด็จออกไปเป็นแม่การยกพระมณฑปพระพุทธบาท  .  .  . 

 

          เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จยกทัพไปทางเหนือแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงยกทัพ  จำนวน  ๒  หมื่นไปตีเมืองทวาย  เสด็จกรีธาทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ในวันขึ้น  ๕ ค่ำ เดือนยี่  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๔๙   ตรงกับวันเสาร์  วันที่  ๑๒  มกราคม  พ.ศ.๒๓๓๐    (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)   

          โปรดให้  เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  สมุหนายก  เป็นแม่ทัพหน้า    เจ้าพระยามหาเสนา  กับพระยายมราช  เป็นกองหนัาของทัพหลวง  อีกสองกอง    รวมกองหน้า  ๓ กอง  สิริรี้พลหมื่นเศษ     ยกล่วงหน้าไป    พระยาพระคลังเป็นเกียกกาย    เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  พระโอรสองค์ใหญ่  ทรงเป็นยกกระบัตร    เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ทรงเป็นกองหลัง  

 

เส้นทางการเดินทัพ

          ท่านว่าเส้นทางการเดินทัพไปเมืองทวายนั้น  มีสองเส้นทางคือ

               ทางเหนือ    เรียกทางช่องเขาสูง  เป็นทางข้ามเขาบรรทัด  ตรงเข้วสู่เมืองทวาย    ระยะทางใกล้ที่สุด  แต่ทุรกันดาร  ยากลำบากมาก

               ทางใต้    คือด่านบ้องตี้  เมื่อข้ามเขาบรรทัดแล้วต้องผ่านเมืองตะนาวศรีก่อน   แล้วจึงถึงเมืองทวาย    ทางนี้น่าจะดีกว่าทางเหนือ  แต่ก็ยังบับว่าเป็นเส้นทางทุรกันดารอยู่ดี

          นับว่าทั้งสองเส้นทางไม่เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายกองทหารขนาดใหญ่    แต่พระราชสงครามคราวนี้ทรงเลือกเส้นทางเหนือ  เพราะเป็นเส้นทางใกล้ที่สุด ได้ผลในทางจู่โจม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กองหน้าลงเขา  เข้าตีทันที

          กองหน้าของกองทัพหน้า จำนวน  ๕,๐๐๐  ข้ามเขาลงไป  ถึงด่านวังปอ เมื่อวัน  ขึ้น  ๙ ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๔๙  ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๑๕  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๓๐     เข้าตีค่ายพม่าที่ด่านนี้ในทันที     กำลังพม่าต้องถอยไปเมืองกลิอ่อง    กองหน้า  พักที่ด่านวังปอ สองวัน  ก็ตามไปตีเมืองกลิอ่องได้อีก  เมื่อวันขึ้น  ๒ ค่ำ เดือน  ๔ ปีมะแม  จ.ศ.๑๑๔๙   ตรงกับวันเสาร์  วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๓๓๐    (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)  

          กองทัพหลวงยกตามไปตั้งที่ด่านวังปอ

          ฝ่ายพม่าตั้งค่ายปีกกาตั้งรับที่ท้องทุ่ง    จึงรับสั่งให้กองหน้าทั้งหมดเข้าตีค่ายพม่าที่ท้องทุ่ง    รบกันคั้งแต่เช้าจนค่ำ   ก็ตีได้ค่ายพม่าทั้งหมด  ในวันแรม  ๘  ค่ำ  เดือน ๔  ปีมะแม จ.ศ.๑๑๔๙  ตรงกับวันเสาร์  วันที่  ๒๙  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๓๐    (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)   

          กองทัพไทยก็ยกตามไปเมืองทวายในคืนนั้น    กองทหารพม่าที่แตกหนีกองทัพไทยไปนี้ไม่ใช่กองกำลังหลัก  เป็นเพียงกองทหารขนาดเล็ก  ลักษณะกองรักษาด่านที่รั้งหน่วงการเคลื่อนที่ของฝ่ายเราให้ได้นานที่สุดเท่านั้น

          กองทัพพม่าที่รักษาเมืองทวาย   (ประมาณ  ๘  พัน)  ก็ถอนออกจากเมืองทวายข้ามแม่น้ำไป    กองทัพหน้าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธไปถึงเมืองทวาย ในวันรุ่งขึ้น  เห็นแต่ประตูเมืองเปิดอยู่ ไม่มีทหารรักษาเชิงเทิน  เกรงว่าจะเป็นกลอุบาย  จึงตั้งค่ายล้อมเมืองไว้สามด้าน  เว้นด้านแม่น้ำ    กองทัพหลวงตั้งห่างกองทัพหน้าออกมา  ๕๐  เส้น  (ประมาณ  ๒๐๐  เมตร)      เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ทรงนำกองยกกระบัตรเข้าตั้งแทรกระหว่างกองทัพหน้า  และกองทัพหลวง

          กองทัพพม่าเห็นกองทัพไทยไม่เข้าเมืองทวายก็ยกกลับเข้าตั้งในเมืองทวาย    และรักษาเมืองมั่นอยู่ไม่ได้จัดกำลังออกมารบ    กองทัพไทยตั้งล้อมอยู่ราวครึ่งเดือน  เสบียงอาหารก็เบาบาง

          การที่กองทัพไทยไม่เข้าเมืองทวาย  คงเพราะยังกริ่งเกรงว่าจะเป็นอุบายของพม่า  และไม่มั่นใจว่าชาวเมืองจะสนับสนุนมากน้อยเพียงใด    เพราะอย่างไรก็ตาม  พม่าก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่  หากกองทัพไทยเข้ายึดเมืองทวาย  ขณะที่กองทัพพม่ายังบริบูรณ์   อาจจะเสียทีแก่พม่า    และย่อมจะเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะทางจิตวิทยา   

          กองทัพไทยตั้งล้อมเมืองทวายอยู่ก็มีปัญหาเรื่องการส่งเสบียงอาหาร    และจำเป็นต้องเลือกหนทางปฏิบัติว่าจะตีหักเอาเมืองทวายให้ได้  หรือ ถอนทัพกลับ    บรรดาแม่ทัพนายกองทูลอาสาจะตีเอาเมืองทวายถวายให้จงได้  แต่ทรงพิจารณาว่า  แม้นว่าจะตีได้เมืองทวายก็ตาม ก็ต้องสูญเสียรี้พลไปส่วนหนึ่ง  หากพม่ายกทัพมาตีคืน ก็คงไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้  เนื่องจากรี้พลสกลไกรน้อยนัก  จะเป็นการสูญเปล่า    การกรีธาทัพมาครั้งนี้ก็นับว่าเป็นการศึกษาภูมิประเทศดังที่ได้ทรงกำหนดไว้    ถือว่าได้สำเร็จตามพระราชดำริแล้ว   

          เมื่อพักกองทัพได้  ๑๕  วัน  พม่ามิได้ออกต่อรบ    ก็โปรดให้เลิกทัพกลับพระนคร

 

สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ  เสร็จศึกเหนือ 

          สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ กลับจากการศึกทางเหนือ  ระหว่างอยู่กลางทางได้ข่าวว่า  กองทัพหลวงถอยกลับจากทวาย  สำคัญว่าเสียทีข้าศึก  จึงยกกองทัพวังหน้าตามออกไป  ได้ทันเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่ลำน้ำเมืองไทรโยค    จึงทรงตั้งทัพเป็นฉากกำบัง  ให้กองทัพหลวงกลับพระนคร    ครั้นเห็นพม่าไม่ยกตามมาก็เลิกทัพกลับคืนมาพระนคร

 

องเชียงสือหนี

        องเชียงสือซึ่งได้โดยเสด็จในกองทัพหลวงคราวสงครามท่าดินแดง  เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชกังวลด้วยศึกพม่ายังรบพุ่งติดพันกันอยู่  เห็นจะช่วยธุระไม่ได้    ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลาออกไปรบข้าศึก (พวกไกเซิน) ตีเอาบ้านเมืองคืน  ก็เกรงว่าจะไม่โปรดให้ไป   จำต้องหนีออกไป      จึงเขียนหนังสือทูลลาเอาไว้  ณ  เรือน    แล้วลอบพาสมัครพรรคพวก  ขุนนาง และไพร่ครอบครัวลงเรือ  รีบแจวออกปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  แต่ในเพลากลางคืน

 

องเชียงสือ  -  เหงียน ฟุค อาห์น   > 

 

 

          สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรเสด็จลงเรือพระที่นั่งตามไปก็มิทัน    เรือองเชียงสือออกพ้นปากน้ำตกถึงท้องทะเล    ก็เสด็จกลับขึ้นยังพระนคร

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบความในหนังสือทูลลา  ว่า  .  .  .  ต้องคิดอ่านหนีด้วยความจำเป็น . . . ขอเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทไปตราบเท่าสิ้นชีวิต . . . จะไปตั้งซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าตีเอาเมืองคืน    แม้นขัดสนกรุสุนดินดำและเหหลือกำลังประการใด  ก็จะขอพระราชทานลูกดินและกองทัพออกไปช่วยกว่าจะสำเร็จ . . . จะขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป .  .  .

          จึงตรัสห้ามสมเด็จพระอนุชาธิราช ว่า  อย่าไปติดตามจับเขาเลย . . . เรามีคุณแก่เขา  เขียนด้วยมือ แล้วจะลบด้วยเท้ามิบังควร . . .

          สมเด็จพระอนุชาธิราช  จึงกราบทูลว่า  องเชียงสือคนนี้ . . . นานไปภายหน้าหาบุญเราไม่แล้ว  มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแน่แท้  อย่าสงสัยเลย . . .   

         

ผลการพระราชสงครามเมืองทวาย 

           ถึงแม้ว่าการพระราชสงครามเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๐  นี้  ไทยจะไม่ได้เมืองทวายก็ตาม  แต่ก็เป็นผลดีแก่ฝ่ายไทย  ด้งนี้

          ๑. ได้ศึกษาเส้นทาง และสภาพภูมิประเทศเมืองทวาย  

          ๒. ได้ผลทางจิตวิทยา  ว่าไทยสามารถรุกไปตีพม่าได้แล้ว   พวกมอญซึ่งเป็นอริกับพม่าก็เลื่อมใสไทยมากขึ้น

 

          พระราชสงครามใน พ.ศ.๒๓๓๐  นี้   ไม่เป็นการใหญ่หรือมียุทธวิธี ที่จะนำมาศึกษาเป็นบทเรียนในเชิงยุทธศิลปะ   การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกรีธาทัพไปตีเมืองทวาย  ด้วยกำลังพลเพียง  สองหมื่น    และทรงเลือกใช้เส้นทางที่ยากลำบากมาก  หากจะพิจารณาตามเหตุผลปรกติแล้ว    น่าจะไม่เหมาะสม  แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการทหาร และการเมืองการปกครองซึ่งไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้  จึงเป็นผลดีดังได้กล่าวแล้ว    และกองทัพไทยก็ได้ใช้ประโยชน์ในการสงครามตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖  ต่อไป

 

 พบกันในสถานการณ์ต่อไปนะครับ    .  .  .  ตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

 

 

 

บรรณานุกรม

           -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับหมอบลัดเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓    สำนักพิมพ์โฆษิต    กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๕๑

          -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

            -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

            -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker