dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖

*  *  *

อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔  - ไทยตีเมืองพม่า  พ.ศ.๒๓๓๖

ตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

สถานการณ์เดิม

          สงครามเก้าทัพ และสงครามท่าดินแดง  ใน พ.ศ.๒๓๒๘ และ ๒๓๒๙   มีผลอย่างมากต่อการเมืองภายในพระราชอาณาจักรพม่า  ดังที่หม่องทินอ่องนักประวัติศาสตร์พม่ากล่าวไว้ว่า  .  .  .  การที่พระเจ้าโพธิพญาทรงยกกองทัพไปไทย  ก็ทำให้พระเกียรติยศเสื่อมลง  และยังทำให้ชาวยะไข่ต่อต้านพระองค์มากยิ่งขึ้น  เพราะชาวยะไข่ถูกเกณฑ์ไปในกองทัพดังกล่าวแล้วด้วย

ฯลฯ

          พระราชสงครามใน พ.ศ.๒๓๓๐    ไม่เป็นการใหญ่หรือมียุทธวิธี ที่จะนำมาศึกษาเป็นบทเรียนในเชิงยุทธศิลปะ   การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกรีธาทัพไปตีเมืองทวาย  ด้วยกำลังพลเพียง  สองหมื่น    และทรงเลือกใช้เส้นทางที่ยากลำบากมาก  หากจะพิจารณาตามเหตุผลปรกติแล้ว    น่าจะไม่เหมาะสม  แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการทหาร และการเมืองการปกครองซึ่งไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้  จึงเป็นผลดีดังได้กล่าวแล้ว    และกองทัพไทยก็ได้ใช้ประโยชน์ในการสงครามตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖  ต่อไป

 

สถานการณ์ต่อไป

พักศึก    บำรุงพระศาสนา

พุกามประเทศ

          ดังนั้น    พระเจ้าโพธิพญาจึงทรงดำริโครงการต่างๆ  ซึ่ง หม่องทินอ่อง เรียกว่า เป็นการ "แสวงหาความนิยมกลับคืนมา"    โครงการของพระเจ้าโพธิพญา มีทั้งการพัฒนาบ้านเมือง  และการบำรุงพระศาสนาได้แก่  การทดน้ำรอบเมืองเมกขระ  และสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่     โปรดให้สร้างวัดเป็นจำนวนมาก

 

กรุงสยาม  -  นวมะสังคายนา

          ปีวอก  สัมฤทธิศก  จ.ศ.๑๑๕๐   พ.ศ.๒๓๓๑   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  พระชนมายุครบ  ๒๑  พระพรรษา    แต่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนรืนทร์รณเรศ   เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์    สองพระองค์นั้นพระชนมายุเกินอุปสมบทแล้ว    จึงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้ออกทรงผนวชทั้งสามพระองค์   ใน วันอาทิตย์เดือนแปด   ขึ้นค่ำหนึ่ง    (ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จ.ศ.๑๑๕๐   ตรงกับวันพฤหัสบดี   วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๓๑     (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)ณ  พระอุโบสถ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          ก็และในปีนี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม    จึงมีพระราชดำรัสให้จัดแจงที่จะกระทำการสังคายนา  ณ  วัดนิพพาราม  เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้งสอง  และครั้งนั้น  จึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพชญดาราม    การทำนุบำรุงพระศาสนาครั้งนี้    ก็นับว่าได้ชื่อว่า นวมะสังคายนา  คำรบเก้าครั้ง

          กำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน  ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญดาราม  ในวันกติกบูรณมีเพ็ญเดือนสิบสอง   ในปีวอก  สัมฤทธิศก   พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๓๑  พระวัสสา   เป็นพุธวาร  ศุกรปักษ์ดฤถี    เพลาบ่ายสามโมง    สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู้หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยบริวารยศ  .  .  .  เข้าสู่พระอุโบสถ

 

 

 

พระศรีสรรเพชญ

พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญดาราม

(วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปัจจุบัน)

 

 

          อนึ่ง  เมื่อสำเร็จการนวมะสังคายนานั้น    ให้มีงานมหรสพฉลองพระไตรปิฎก  และหอพระมณเฑียรธรรม

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

          ปีระกา  เอกศก  จ.ศ.๑๑๕๑   พ.ศ.๒๓๓๒    วันอาทิตย์  เดือนเจ็ด  ขึ้นค่ำหนึ่ง  ขึ้ น ๑ ค่ำ เดือน  ๗ ปีระกา จ.ศ.๑๑๕๑    ตรงกับวันอาทิตย์   วันที่  ๒๔  พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๓๒   (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)   เพลาบ่ายสามโมงหกบาท  ฝนตก  อสนีบาตลงต้องหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท  ติดเป็นเพลิงโพลงขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาท  กับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น     ดำรัสสั่งให้รื้อปราสาทเก่าเสีย    ฐาปนาปราสาทขึ้นใหม่ย่อมกว่าองค์ก่อน    ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสร็จแล้ว   พระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่ชื่อ

"พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"

 

 

 

 

 

 

ทวีปยุโรป

          เดือนกรกฎาคม  พ.ศ.๒๓๓๒ /ค.ศ.๑๗๘๙   ประเทศฝรั่งเศสยังคงเป็นรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ที่  ๑๖   เกิดการจลาจล แล้วพัฒนาเป็นปฏิวัติใหญ่  และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นสาธารณรัฐ

 

พ.ศ.๒๓๓๓    พระมหาสถูป และมหาระฆัง  วัดมินกัน

          ในด้านการบำรุงพระศาสนานั้น      ทรงริเริ่มให้สร้างวัดใหญ่  และพระมหาสถูปซึ่งจะให้ใหญ่โตยิ่งกว่ามหาเจดีย์ที่เคยสร้างมาแล้วในพระพุทธศาสนา   ที่เมืองมินกัน  (Mingun)  บนฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ  เหนือกรุงอังวะ  (ฝั่งตะวันตก)    ทรงตั้งมหาพิธีก่อรากพระมหาเจดีย์ด้วยพระองค์เอง  ในเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.๒๓๓๓   และประทับแรม  ณ  พลับพลาในเมืองนั้นเพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างอย่างใกลชิด   ทรงมอบให้พระโอรสองค์ใหญ่ให้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์    ตามพระดำรินั้นจะสร้างพระมหาเจดีย์นี้ให้สูงถึง  ๓  เส้น  ๑๕  วา  (ประมาณ  ๑๕๐  เมตร)

 

 

 

 

 

 

พระมหาสถูป  วัดมินกัน

 

          ในวัดมินกันนี้   นอกจาก พระมหาเจดีย์แล้ว    ยังระดมช่างทั้งพม่า  ไทย  และยะไข่ให้ช่วยกันหล่อระฆังถวายวัด   ซึ่งหนักถึง  ๑.๕๐๐  หาบ  ( ๙๐.๐๐๐  กิโลกรัม  -  ๑  หาบ   เท่ากับ  ๖๐  กิโลกรัม)   เป็นระฆังที่สวยงามมาก  แต่ก็ร้าว  และตีไม่ดังเสียแต่แรก

 

 

 

มหาระฆัง  วัดมินกัน

 

          อย่างไรก็ตาม    การก่อสร้างนี้  ต้องเกณฑ์ผู้คนเป็นอันมากมาลงแรงสร้าง    จึงไม่เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนทั่วไป      และในปีต่อมาได้เกิดแผ่นดินไหว  เป็นเหตุให้พระมหาเจดีย์พังลงมา   

          และใน พ.ศ.๒๓๓๔  นี้   การเมืองภายในพุกามประเทศก็ไม่เรียบร้อย

 

 

พ.ศ.๒๓๓๔  ทวาย  มะริด  ตะนาวศรี  ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา

          เดิมพระเจ้าปดุงทรงตั้งอะแซหวุ่นกี้ (แม่ทัพเฒ่าคราวตีเมืองพิษณุโลก)  เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้  มีถิ่นพำนัก  ณ  เมืองเมาะตะมะ  ดูแลหัวเมืองมอญ  (ทวาย  มะริด  ตะนาวศรี)    และโปรดให้  มังจันจา -  แมงแกงชา  บุตรของสดุแมงกอง - เมฆราโบ่  ขุนนางในเมืองอมรปุระ  ให้เป็นที่เนมะโยกะยอดิน  ลงมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองทวาย   ขึ้นกับอะแซหวุ่นกี้    

          มังจันจาอยู่เมืองทวาย เป็นที่นับถือของผู้คนมาก  และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจขุนพลเฒ่า   มอบหมายให้ว่ากล่าวตลอดถึงเมืองมะริดและตะนาวศรี    และหวังว่าจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้สืบต่อจากขุนพลเฒ่า

          เดือน  ๑๑  ปีกุน  พ.ศ.๒๓๓๔    พระเจ้าปดุงทรงตั้งมังจะเลสู - มางละจีสู  หรือ มินหะลาสีสุ  ให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ แทนอะแซหวุ่นกี้   ทำให้มังจันจารู้สึกผิดหวังมากจนเกิดการโทมนัสน้อยใจ  กระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ในอำนาจมังจะเลสู  จะเรียกเก็บส่วยสาอากรก็ไม่ยอมส่งอ้างว่าราษฎรขัดสนนัก    ผู้สำเร็จราชการฯ จึงกล่าวโทษมังจันจาไปเมืองหลวง   และส่งมะรุวอนโบ   นำพล  ๓๐๐  มาเป็นเจ้าเมืองทวายแทนมังจันจา   เมื่อมังจันจาทราบข่าวจึงจัดกำลังจำนวน  ๕๐๐  ออกมา คอยอยู่ห่างเมืองราว  ๒๐๐  เส้น  (ประมาณ  ๘.๐๐๐  เมตร)   แล้วสังหารมะรุวอนโบและคณะเสียทั้งสิ้น  แล้วกลับเข้าเมือง    คิดการขบถตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแข็งเมืองอยู่

          ความทราบถึงพระเจ้าปดุง  จะประหารสดุแมงกองบิดา และมารดามังจันจาเสีย  แต่สดุแมงกองขอมีหนังสือไปไปว่ากล่าวมังจันจาให้มาเฝ้าก่อน   พระเจ้าปดุงจึงให้ข้าหลวงคุมสดุแมงกองบิดา และมารดามังจันจามาถึงเมืองเมาะตะมะ  มีหนังสือไปถึงมังจันจา เจ้าเมืองทวายผู้บุตร   

          ฝ่ายมังจันจาเจ้าเมืองทวายกลัวพระเจ้ากรุงอังวะจะยกทัพมาปราบ จึงไปชวนเจ้าเมืองมะริด  เมืองตะนาวศรี  ขอเอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พึ่ง ขึ้นต่อกรุงสยามทั้งสามเมือง   และสืบรู้ว่า  พระราชนัดดาหญิงองค์หนึ่ง  ตกอยู่  ณ  เมืองทวาย  แต่ครั้งทัพพม่าตีกรุงเก่าได้    จึงให้ไปเชิญพระราชนัดดานั้นมา  ไต่ถามได้ความว่าเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว  ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่   จึงให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือเข้ามากราบทูลพระกรุณา  และหาพระสงฆ์ไทยได้รูปหนึ่ง ชื่อมหาแทนให้ถือหนังสือพระเจ้าหลานเธอเข้ามาพร้อมคณะฑูต

            คณะฑูตเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ วันแรม  ๓ ค่ำ เดือน ๔  ปีกุน จ.ศ.๑๑๕๓    ตรงกับวันเสาร์   วันที่  ๑๐  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๓๔     (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)  และขอพระราชทานกองทัพไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้  และต่อไปภายหน้าจะอาสาไปตีเอาเมืองเมาะตะมะ และ เมืองย่างกุ้ง เมืองสะโตง  และเมืองพสิมมาถวายให้จงได้

 

พ.ศ.๒๓๓๕    เมืองล้านช้างตีเมืองหลวงพระบาง
         
          ลุปีชวด  จัตวาศก  จ.ศ.๑๑๕๔  พ.ศ.๒๓๓๕     พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมีศุภอักษรกราบทูลพระกรุณาว่า  พระเจ้าร่มขาวเมืองหลวงพระบางคิดการเป็นขบถไปเข้ากับพม่า  ใช้คนไปถึงเมืองอังวะ  พม่าก็มาถึงเมืองหลวงพระบาง  ต่างไปมาถึงกัน    จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบางให้แตกฉานจงได้

          พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงเกณฑ์กองทัพพลห้าพันเศษทั้งทัพเรือทัพบก   ยกขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบาง  ให้ตั้งค่ายรายล้อมเมืองไว้

          พระเจ้าร่มขาวก็แต่งกองทัพยกออกมาต่อรบ  ได้รบกันเป็นสามารถ    พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขับพลทหารเข้าป่ายปีนปล้นเมือง    ชาวเมืองขึ้นประจำหน้าที่รักษาเชิงเทินป้องกันเมือง    ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันประมาณสี่สิบห้าวัน    พลทหารล้านช้างเอาบันไดเข้าพาดกำแพงเมืองปีนปล้นเอาเมือง    จับได้พระเจ้าร่มขาว    แล้วเลิกกองทัพกลับมายังเมืองล้านช้าง  พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงบอกข้อราชการ และให้ขุนนางคุมพระเจ้าร่มขาวส่งมาถวาย  ณ  กรุงเทพฯ


สงครามเมืองทวาย 

           การสงครามครั้งนี้ทรงพระราชดำริเป็น  ๒  ขั้น  คือ

            ขั้นที่  ๑    ยึดเอาหัวเมืองมอญให้ได้เป็นฐานที่มั่นก่อน  

            ขั้นที่  ๒    เมื่อได้หัวเมืองมอญเป็นฐานที่มั่นแล้ว  จึงรุกขึ้นไปตีเมืองพม่าต่อไป

             คือ  ใช้ดินแดนมอญ  ได้แก่ เมืองทวาย  เมืองมะริด  เมืองตะนาวศรี   เป็นที่มั่นไปตีเพียงเมืองเมาะตะมะ และ เมืองย่างกุ้ง   ตามที่พระยาทวายรับปาก    หากการสงครามได้ผลดี  และสถานการณ์เอื้ออำนวย ก็จะขยายผลดำเนินการในขั้นที่  ๒   ขึ้นไปให้ถึงเมืองอมรปุระ    (สมัยนั้น อมรปุระเป็นเมืองหลวงของพม่า)

 

ขั้นเตรียมการศึก

          โปรดให้หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก  ต่อเรือรบให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิบสอง    และในเดือนอ้าย หมดฤดูฝนแล้วจึงยาตรากองเรือไปประชุมทัพที่เมืองทวาย

 

 

กองทัพบก

          ในปีรุ่งขึ้น  พ.ศ.๒๓๓๕   จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช เป็นแม่ทัพ นำกองทัพจำนวน  ๕ พัน ไปรักษาเมืองทวาย   และพระราชทานเครื่องยศแก่พระยาทวายด้วย   แต่พระยาทวาย ไม่ได้ออกมารับด้วยตนเอง  ต้องชี้แจงแบบธรรมเนียมให้ทราบ  จึงได้ออกมาคารวะพระยายมราช ๆ  จึงแบ่งกองทัพส่วนหนึ่งเข้าไปตั้งในเมือง  แต่ท่านแม่ทัพคงตั้งค่ายอยู่นอกเมือง

          และปลายปี  พ.ศ.๒๓๓๕ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็เสด็จยกทัพหลวงพร้อมสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ไปประทับ ณ  ค่ายหลวงที่แม่น้ำน้อย   แขวงเมืองไทรโยค 

          พระยายมราชจัดส่ง  พระราชนัดดาหญิง   พระเจ้าหลานเธอ  กับคนไทยที่ตกค้างอยู่ในเมืองทวาย พร้อมทั้งใบบอกกราบทูลทุกประการเข้ามาถวาย ณ  ค่ายหลวงที่แม่น้ำน้อย    ทรงคลางแคลงพระราชหฤทัยในพฤติกรรมพระยาทวาย    จึงรับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จไปเมืองทวาย เพื่อทรงตรวจตราพิจารณาเหตุการณ์ และภูมิประเทศ

    พระราชนัดดาหญิงองค์นี้  ปรากฏพระนามต่อมาว่า  เจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดา  พระธิดาของพระเจ้ารามณรงค์  ผู้พระเชษฐาธิบดี

          สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงตรวจตราพิจารณาเหตุการณ์ และภูมิประเทศ แล้ว จึงกราบบังคมทูลว่า  . . .  พิเคราะห์ดูชัยภูมิเห็นว่าไทยเสียเปรียบพม่ามากนัก เพราะพม่าอาจมาถึงได้ง่ายกว่าที่ไทยจะไปถึง  ถ้าพม่ายกมาตี  ถึงไทยจะรักษาเองทวายไว้ได้ในคราวนี้  ต่อไปภายหน้าก็คงรักษาไว้ไม่ได้ . . .  และขอพระราชทานทำลายเมืองทวาย กับกวาดต้อนพลเมืองเข้ามาเสียให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นกำลังแก่ข้าศึกสืบไป

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์จะใช้เมืองทวายเป็นฐานที่มั่น  พักผู้คนและเสบียงอาหารสำหรับตีเมืองพม่าต่อไป    จึงมีรับสั่งห้ามขึ้นไป  และให้รักษาเมืองให้มั่นคงจงดี  แต่บรรดาขุนนางในสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เข้าใจล่วงหน้าว่าจะมีท้องตราอนุญาตจึงหาครอบครัวทวายหมายเอามาใช้สอย  ถึงกับพาครัวมอญล่วงหน้าเข้ามาถึงลำน้ำน้อยก็มี    ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระพิโรธ  ทรงให้ตามบรรดาขุนนางเหล่านั้นมาลงพระราชอาญา  แล้วปล่อยครัวทวายกลับคืนไป

          ทางด้านเมืองทวายพลเมืองก็หวาดสะดุ้งกันไปทั่ว

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบข่าวจากคนไทยที่อยู่ในเมืองทวายว่า  เจ้าเมืองทวายได้ข่าวว่าพระเจ้าปดุงจะประหารชีวิตบิดาจึงมีจิตใจเรรวนไม่สามิภักดิ์หนักแน่นเหมือนแต่ก่อน  เตรียมการล้มไม้ทับทางไม่ให้กองทัพไทยยกไปช่วยกองทัพไทยในเมืองทวายได้     จึงรับสั่งไปยัง สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ  ว่าจะไว้ใจพระยาทวาย - มังจันจาต่อไปไม่ได้   ให้ส่งตัวพระยาทวายกับกรมการเมืองที่เป็นพรรคพวกเข้ามา  เพื่อทรงชุบเลี้ยงให้ทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ  ให้ผู้เป็นบิดานางทวายที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นพระยาทวายว่าราชการเมืองทวายต่อไป

          ส่วนครอบครัวพระยาทวายที่ส่งเข้ามาครั้งนั้น    พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ใกล้วัดยานนาวาในปัจจุบัน  เป็นที่เรียกกันว่า บ้านทวาย

 

ฝ่ายพม่า
  
          พระเจ้าปดุงเมื่อทรงทราบว่า มังจันจาเจ้าเมืองทวายเป็นกบฏเอาเมืองทวาย  มะริด  ตะนาวศรีขึ้นแก่ไทยจึงสั่งให้หวุ่นยีเสฐวาเส เป็นแม่ทัพยกพล  ๑๐,๐๐๐  มาปราบ  หวุ่นยีเสฐวาเสยกมาถึงเมืองเมาะตะมะในปีนั้น    ทราบว่ากองทัพไทยเข้าอยู่ในเมืองทวาย ก็ไม่กล้าเข้าโจมตี  ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  และมีใบบอกไปกรุงอมรปุระว่า  กองทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ในเมืองทวายเป็นกองทัพใหญ่  ขอกำลังเพิ่มเติม

          พระเจ้าปดุงทรงเกรงว่ากองทัพไทยอาจจะเลยไปตีถึงเมืองเมาะตะมะ  จึงรับสั่งให้เนมะโยสิงคยา นำกำลังมารักษาเมืองเมาะตะมะก่อน    แล้วให้  เตรียมจัดตั้ง กองทัพใหญ่อีกกองหนึ่ง ที่เมืองจักกายใต้เมืองอมรปุระ  ตั้งแต่ฤดูฝน    รวบรวมผู้คนได้  ๒๐,๐๐๐     เมื่อหมดฤดูฝนก็ให้  กองทัพเดินทัพมาเมืองหยั่นโก้ง  (ย่างกุ้ง)

กำลังทางบก

          เนเมียวกะยอดินสีหะสุระ  กำลังพล  ๑๐,๐๐๐

          หวุ่นยีมหาชัยสุระ     คุมพล  ๕,๐๐๐  รักษาเมืองเมาะตะมะ

            ส่วนเอียนเซมินทร์ หรือ อินแซะ มหาอุปราช ราชโอรสนั้น   เมื่อประหารชีวิตสดุแมงกองบิดา และมารดามังจันจา  (เจ้าเมืองที่ขอเป็นเมืองขึ้นกรุงสยาม)  แล้ว  ก็ยกออกจากกรุงอมรปุระ ใน วันเสาร์  ขึ้น  ๕  ค่ำ  เดือน  ๗  (ตรงกับวันศุกร์   วันที่  25  พฤษภาคม  พ.ศ.2335  - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)   ไปตั้งที่หยั่นโก้ง  แล้วต่อไปเมืองเมาะตะมะ

 

กำลังทางเรือ

          ระหว่างที่ มหาอุปราชตั้งที่หยั่นโก้งนั้น  จัดกำลังทางเรือยกไปเมืองทวาย  เป็น  ๔  กอง  ดังนี้

               กองเรือที่  ๑    ศิริธรรมรัตน์  นำพลทหารเรือปืนเล็ก  ๓,๐๐๐    ลงเรือกำปั่น  ๖  ลำ

               กองเรือที่  ๒    เนเมียวคุณะกะยอสู

               กองเรือที่  ๓    หวุ่นยีสิงคะยา

               กองเรือที่   ๔    พละรันตะกยอดิน

          กองเรือที่  ๒,  ที่  ๓  และที่  ๔  ถือพลกองละ  ๑๐,๐๐๐   ลงเรือบรรทุก กองละ  ๑๐๐  ลำ
            
 

ฝ่ายไทย

          สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ  เสด็จลงไปประทับที่เมืองชุมพร  ในราวเดือน  ๗  เดือน  ๘  พ.ศ.๒๓๓๖

          ประมาณ  เดือน  ๑๒    เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  สมุหนายก  และเจ้าพระยามหาเสนา  สมุหพระกลาโหม  นำทัพล่วงหน้าไปเมืองทวายก่อน  และได้ไปถึงก่อนกองทัพพม่า  จึงตั้งอยู่นอกเมือง ดังนี้

          เจ้าพระยารัตนาพิพิธ   ตั้งค่ายทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

          เจ้าพระยายมราช   คงตั้งอยู่นอกเมือง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

          พระยาสีหราชเดโชชัย    กำลังพล  ๕,๐๐๐    ตั้งค่ายที่ริมหนองด้านเหนือ

          พระยาเพชรบุรี  และพระยากาญจนบุรี   กำลังพล  ๑๐,๐๐๐  ตั้งค่ายทางด้านใต้

          พระยามหาโยธา (เจ่ง)  และพระยาทวาย (คนใหม่)  กำลังพล  ๑๕,๐๐๐  ตั้งอยู่ในเมือง

          กำลังทางเรือรักษาปากน้ำเมืองทวายจำนวนหนึ่ง

 

 

 

 

 

พม่ามาแล้ว

          กองเรือที่  ๒   ของพม่า ซึ่งเนเมียวคุณะกะยอสูเป็นแม่ทัพมาถึงเมืองทวาย  ก็เข้าปากน้ำเมืองทวายก็เข้าตีกองเรือไทย  และรุกไล่เข้ามาถึงเกาะหงส์  ทางตะวันตกฉียงใต้ของเมืองทวาย

          กองเรือที่  ๓  และ  ที่  ๔  เมื่อมาถึงก็ส่งกำลังขึ้นบกทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทวาย

          เมื่อกองทัพของเนเมียวกะยอดินสีหะสุระมาถึงเมืองทวาย  ตั้งค่ายอยู่ทางเหนือของเมือง

 

          ในเดือนอ้าย  ปีฉลู  พ.ศ.๒๓๓๖    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตั้งค่ายหลวงที่ริมแม่น้ำน้อย  แขวงเมืองไทรโยค   แล้วยกไปเมืองทวาย

 

เมืองทวาย

          กรมการเมืองทวาย  ๗  คนคิดเป็นไส้ศึก ลอบติดต่อกับกองทัพพม่า    นัดกันว่า  ในวันแรม  ๑๓  ค่ำ เดือนอ้าย  ปีฉลู จ.ศ.๑๑๕๔   (ตรงกับวันอาทิตย์  วันที่  ๓๐  ธันวาคม  พ.ศ.๒๓๓๖ - http://www.payakorn.com)  เวลากลางคืนให้กองทัพพม่าชักธงขึ้นเป็นสัญญาณว่าพร้อมที่จะโจมตีเมืองทวาย    กรมการไส้ศึกจะลอบเปิดประตูเมือง  และชักโคมขึ้นเป็นสัญญาณให้กองทัพพม่าทราบ และโจมตีได้

          เมื่อถึงกำหนดนัด    ฝ่ายกองทัพพม่าชักธงแล้วเตรียมกองทัพพร้อมโจมตีเมืองทวาย   และคอยดูในเมืองทวายจะชักโคมขึ้น    แต่คอยจนใกล้รุ่ง ก็ไม่เห็นโคมชัก   จึงยกกลับเข้าค่าย   หลังจากกลับเข้าค่ายแล้ว   ในตอนสายจึงได้เห็นแพหยวกใส่ศีรษะกรมการเมืองทั้ง  ๗  คน   ลอยออกไปจากเมืองทวาย      ครับ   กรมการเมืองที่ว่า .  .  .   เรียบโร้ย

          ฝ่ายกองทัพพม่าจึงเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งยิงเข้าไปในเมืองทวาย

           กองทัพพม่าเข้าประชิดเมืองทวายเข้าไป   ทั้งกำลังทางบก และทางเรือพม่าเข้าล้อมเมืองทวาย   ฝ่ายไทยก็ต่อสู้เป็นสามารถใช้ปืนใหญ่อย่างได้ผลดี    โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกฝ่ายพม่าต้องถอนลงไปทางใต้   ไปตีค่ายพระยาเพชรบุรี  แต่ในที่สุดก็ต้องลงเรือถอยไป เอกองเรือที่

          ฝ่ายพม่าเข้าตีเมืองทวายอีกเป็นหลายครั้ง  แต่ฝ่ายไทยก็ต้านทานไว้ได้    และต่างฝ่ายก็ได้แต่ยิงปืนโต้ตอบกัน

 

กองเรือไทยติดเมืองมะริดไปไม่ถึงเมืองทวาย

 

 

          เมื่อกองเรือที่สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดให้ต่อเสร็จพร้อมแล้ว  จึงโปรดให้  พระยาจ่าแสนยากร  พระยาไกรโกษา  พระยาพิชัยบุรินทรา   และพระยาแก้วโกรพ  เจ้าเมืองชุมพรคุมกองเรือไปเมืองชุมพร    แต่เมื่อถึงเมืองมะริด   ปรากฏว่ากรมการเมือง  และพลเมืองพม่าชักนำพลเมืองมอญก่อการกบฎ    เมื่อกองทัพไทยไปถึงก็ระดมยิงออกมา  กองเรือจึงต้องเข้ารบพุ่งติดพันจนไม่สามารถเดินทางไปถึงเมืองทวายได้

 

          ย้อนมาทางด้านเมืองทวาย 

           . . . กองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองทวายไว้  ทั้งด้านเหนือ  ด้านใต้  และด้านตะวันตก  ไม่สามารถส่งเสบียงทางทะเลได้  ต้องส่งไปจากเมืองกาญจนบุรี  ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการขนส่ง  และเมื่อการรบรุนแรงขึ้นก็ขาดแคลนรี้พลในการส่งเสบียง    ต้องขอแรงสตรีเข้าช่วย    พวกไส้ศึกยุยงว่ากองทัพไทยจะกวาดต้อนครอบครัวมอญ และทิ้งเมืองทวาย    ทำให้พวกชาวเมืองหวาดกลัว และกลับไปเข้ากับฝ่ายพม่า   และนัดกับกองทัพพม่าในการเข้าโจมตีเมืองทวายอีก  กำหนดนัดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ยี่ ปีฉลู

          เมื่อถึงวันนัด  แรม ๑ ค่ำ เดือน ยี่ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๕๕  ตรงกับวันพฤหัสบดี   วันที่  ๑๖  มกราคม  พ.ศ.๒๓๓๗ - (http://www.payakorn.com)    เวลาค่ำ   กองทัพพม่าเข้าโจมตีค่ายพระยามหาโยธาและพระยาทวาย  ซึ่งตั้งค่ายอยู่นอกเมือง    ชาวเมืองที่เป็นกบฏก็ฆ่าฟันทหารไทย   แล้วเอาปืนใหญ่บนเชิงเทินหันไปยิงทหารไทย
            
             ทหารไทยในเมืองต้านทานไว้ไม่ได้ ต้องถอนออกมาทางด้านตะวันออกในคืนนั้น    พอรุ่งเช้ากองทัพพม่าก็ยกตามออกมา

          ขณะนั้น    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงตั้งค่ายหลวงที่บ้านหินดาด  ห่างจากเมืองทวาย  ๒  คืน     พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นผู้บัญชาการกองระวังหน้าของกองทัพหลวงเมื่อทรงทราบสถานการณ์    ทรงเห็นว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการรบเสียแล้ว  จึงให้กองทัพที่ถอยมาได้ผ่านเข้าไปในพระราชอาณาจักร  โดยกองทัพหลวงตั้งสกัดกำบังไว้

          กองทัพของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ    เจ้าพระยามหาเสนา   พระยายมราช  ถอนตัวมาทีหลัง ต้องรบพลางถอยพลางมาตลอดจนถึงกองระวังหน้าของพระยาอภัยรณฤทธิ์ซึ่งตั้งค่ายสกัดอยู่  จึงจะขอเข้าไปต่อสู้พม่าในค่าย  แต่พระยาอภัยรณฤทธิ์ไม่ยอม  อ้างว่าข้าศึกตามกระชั้นชิดมาเกรงว่าจะรับไม่อยู่ และจะพากันแตกกันไปถึงทัพหลวง    กองทัพที่ถอยมาจึงต้องสู้รบอยู่นอกค่ายนั้น    และต้องสูญเสียมาก     เจ้าพระยามหาเสนา  สมุหพระกลาโหม  ตายในสนามรบ   และค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ก็แตกด้วย    แต่ทหารไทยก็ต่อสู้อย่างดุเดือด  จนฝ่ายพม่าเกือบหมดกำลัง และไม่สามารถรบต่อไปได้    กองทัพไทยจึงถอยต่อไปได้     และ  .  .  .  พระยาอภัยรณฤทธิ์ต้องพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต

 

เมืองมะริด  (ต่อ) 
 
          การปราบการก่อความไม่สงบที่เมืองมะริดนั้น    พระยาจ่าแสนยากร  แม่ทัพให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนภูเขาบนเกาะหน้าเมือง  ระดมยิงป้อมเมืองมะริด   จนทหารพม่าต้องหลบลงอยู่ในคู    กองทัพไทยเกือบจะยึดได้เมืองมะริด  ก็พอดีกองทัพไทยทางด้านเมืองทวายทำการไม่สำเร็จ    สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงส่งหนังสือรับสั่งให้กองทัพเรือถอนกลับ    และขณะที่กองทัพเรือเตรียมการถอนตัวนั้น  กองทัพเรือพม่าก็มาถึง  จึงได้รบพุ่งกัน    กองทัพไทยรบพลางถอยพลางจนถึงท่าขึ้นบกที่ปากจั่น     เมื่อขึ้นบกได้แล้ว  ทหารพม่าก็ยังตามมารบพุ่งอีกกองทัพไทยต้องตั้งสู้จนพม่าถอยทัพกลับไป   จึงถอนตัวเข้าสู่เมืองชุมพร

          จึงโปรดให้หากองทัพกลับคืนมาทุกๆ กอง

           เอียนเซมินทร์ยุวราชาพม่าเห็นราชการทางทวายและรามัญประเทศเรียบร้อยแล้ว  .  .  .  ก็กรีธาทัพหลวงกลับคืนพระนครอมรปุระ         

 การพระราชสงครามในปี พ.ศ.๒๓๓๖ (ค.ศ.๑๗๙๓)  นี้ นับได้ว่า  ไม่สำเร็จคามพระราชประสงค์

 

ครับ  .  .  .  การพระราชสงครามตีเมืองทวายคราวนี้ดูไม่เป็นที่ประทับใจและชื่นชมกันเท่าใดนัก     ถึงแม้ว่าหัวเมืองมอญขอเอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พึ่ง ก็ดี   ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยรักษาเมืองทวายก็ดี  หรือแม้แต่จะอาสาไปตีเอาเมืองเมาะตะมะ และ เมืองย่างกุ้ง เมืองสะโตง  และเมืองพสิมมาถวายให้จงได้ ก็ตาม    แต่ก็นับว่ายังไม่ได้เป็นเมืองในพระราชอาณาเขต หรือเป็นประเทศราชแท้    และเนื่องจากพระเจ้าปดุงโพธิพญายังทรงพระราชอำนาจเต็มที่  บ้านเมืองและกำลังรี้พลสกลไกรก็บริบูรณ์  ประเทศราชอื่นๆ  (ของพม่า)  ก็ยังคงอ่อนน้อมต่อพม่าเป็นปรกติ  ไม่ได้กระด้างกระเดื่องแต่ประการใด    มีแต่หัวเมืองมอญเท่านั้นที่เอาใจออกหาก      พม่าจึงแก้ปัญหาเพียงด้านเดียว    อย่างไรก็ตาม  การพระราชสงคราม คราวนี้  ก็พอที่จะมีบทเรียนให้พิจารณา  ดังนี้ 

 

บทเรียนจากการตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖

          ๑.  หลงเชื่อคนทรยศต่อบ้านเมือง

               มังจันจา เป็นพม่า ได้เป็นเจ้าเมืองทวาย  มักใหญ่ใฝ่สูงหวังว่าจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้สืบต่อจากขุนพลเฒ่า (อะแซหวุ่นกี้)   เมื่อไม่ได้เป็น ก็แปรพักตร์ มาขอเป็นเมืองขึ้นแก่ไทย    เมื่อทางไทยให้เป็นเพียงพระยาเจ้าเมืองทวาย  ไม่ได้สถาปนาให้เป็นเจ้าประเทศราชก็ไม่พอใจไทยอีก

               คนพม่า  เจ้าเมืองพม่า  ทรยศกษัตริย์พม่าได้  ก็ย่อมทรยศกษัตริย์ไทยได้

          ๒. ขุนนางดำเนินการโดยไม่รอคำสั่ง

               เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จไปเมืองทวาย เพื่อทรงตรวจตราพิจารณาเหตุการณ์ และภูมิประเทศ และถวายความเห็นว่า   " . . .  พิเคราะห์ดูชัยภูมิเห็นว่าไทยเสียเปรียบพม่ามากนัก เพราะพม่าอาจมาถึงได้ง่ายกว่าที่ไทยจะไปถึง  ถ้าพม่ายกมาตี  ถึงไทยจะรักษาเองทวายไว้ได้ในคราวนี้  ต่อไปภายหน้าก็คงรักษาไว้ไม่ได้ . . .  และขอพระราชทานทำลายเมืองทวาย กับกวาดต้อนพลเมืองเข้ามาเสียให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นกำลังแก่ข้าศึกสืบไป" นั้น   ขุนนางจำนวนหนึ่ง เข้าใจล่วงหน้าว่าจะมีท้องตราอนุญาต  จึงหาครอบครัวทวายหมายเอามาใช้สอย  ถึงกับพาครัวมอญล่วงหน้าเข้ามาถึงลำน้ำน้อยก็มี  .  .  ."   แสดงให้เห็นถึง การหวังประโยชน์ส่วนตนสถานเดียวของขุนนางเหล่านั้น

               การดำเนินการของขุนนางเหล่านั้นเป็นผลทางจิตวิทยาต่อชาวเมืองทวายอย่างกว้างขวางเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายพม่ายกขึ้นยุยงชาวเมือง ให้ต่อต้านกองทัพไทยและสนับสนุนพม่า

          ๓.  กองทัพไทยไม่ได้รวมกำลังอันมากเข้าทำการรบ  ณ  ตำบล และ เวลา ที่เหมาะ

               ๓.๑  กองกำลังทางเรือไม่พรั่งพร้อมที่จะยกไปได้ตามแผนที่กำหนด   ต้องแบ่งเดินทัพเป็นส่วนๆ  

               ๓.๒  กองกำลังทางเรือส่วนใหญ่ที่เดินทางไปภายหลังต้องปราบการก่อความไม่สงบที่เมืองมะริด  ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเติมกำลังที่เมืองทวายได้  และถึงแม้ว่าเกือบจะได้เมืองมะริดก็ตาม  แต่เมื่อกำลังรบหลักทางบกที่เมืองทวายทำการไม่สำเร็จเสียแล้ว   ถึงจะได้เมืองมะริดก็ไม่มีความหมาย  พม่าย่อมส่งกำลังมาทำลายกองทัพไทยแน่นอน

               ๓.๓  กองทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่ได้เข้าถึงสนามรบ  จึงขาดกำลังรบไปจำนวนหนึ่ง 


          ๔.   แม่ทัพชั้นรองไม่เข้าใจความมุ่งหมายของการสงคราม

               ๔.๑  กองทัพพระยายมราช  จำนวน  ๕ พัน ที่ไปรักษาเมืองทวายก่อนหน่วยอื่น  น่าจะเข้าใจพระราชประสงค์ที่จะใช้เมืองทวายเป็นฐานที่มั่น  พักผู้คนและเสบียงอาหารสำหรับตีเมืองพม่าต่อไป  เป็นอย่างดี    แต่การปฏิบัติกลับไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  ไม่สามารถทำให้เมืองทวายเป็นฐานที่มั่นได้  กลับสร้างเงื่อนไขจนเป็นผลร้ายต่อกองทัพไทย  ดังกล่าวแล้ว

               ๔.๒  พระยาอภัยรณฤทธิ์  ผู้บัญชาการกองระวังหน้าของกองทัพหลวงไม่เข้าใจความมุ่งหมายของพระราชสงคราม    จึงไม่ช่วยเหลือกองทัพที่กำลังถอยพลางรบพลางเข้ามา  มัวแต่กลัวว่าจะแตกไปถึงทัพหลวง    หากคิดดำเนินกลยุทธตีกระหนาบ  หรือรีบส่งข่าวไปถึงกองทัพหลวง  องค์จอมทัพจะต้องมีพระราชดำริดำเนินกลยุทธ  ซึ่งอาจจะทำลายกองทัพพม่าที่รุกไล่มาอย่างไม่เป็นขบวนได้    แต่เพราะคิดว่าจะแพ้  จึงต้องแพ้

 

 

ครับ    การพระราชสงครามตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖  ก็เป็นไปโดยประการ  ฉะนี้

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  พม่าตีเมืองเชียงใหม่ - ขับไล่พม่าจากลานนา

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  พม่าตีเมืองเชียงใหม่ - ขับไล่พม่าจากลานนา

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  พม่าตีเมืองเชียงใหม่ - ขับไล่พม่าจากลานนา

 

 

 

บรรณานุกรม

           -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

            -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

            -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับหมอบลัดเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓    สำนักพิมพ์โฆษิต    กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๕๑

             -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker