dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๕ - พม่าตีเมืองเชียงใหม่-ขับไล่พม่าจากลานนา

*  *  *

พม่าตีเมืองเชียงใหม่ - ขับไล่พม่าจากลานนา
 
 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก การตีเมืองทวาย  พ.ศ.๒๓๓๖  .  .  .

          .  .  .  ก็พอดีกองทัพไทยทางด้านเมืองทวายทำการไม่สำเร็จ    สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงส่งหนังสือรับสั่งให้กองทัพเรือถอนกลับ    และขณะที่กองทัพเรือเตรียมการถอนตัวนั้น     กองทัพเรือพม่าก็มาถึง จึงได้รบพุ่งกัน    กองทัพไทยรบพลางถอยพลางจนถึงท่าขึ้นบกที่ปากจั่น     เมื่อขึ้นบกได้แล้ว  ทหารพม่าก็ยังตามมารบพุ่งอีกกองทัพไทยต้องตั้งรบสู้จนพม่าถอยทัพกลับไป     จึงถอนตัวเข้าสู่เมืองชุมพร

          จึงโปรดให้หากองทัพกลับคืนมาทุกๆ กอง
 
          เอียนเซมินทร์ยุวราชาพม่า  เห็นราชการทางทวาย และรามัญประเทศเรียบร้อยแล้ว  ก็กรีธาทัพหลวงกลับคืนพระนครอมรปุระ

          ครับ  .  .  .  การพระราชสงครามคราวนี้  ไม่สำเร็จได้พระราชประสงค์   ดังเพลงยาวนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า    พระนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

 ฯลฯ

                                                                                                                                                จะทำให้เสียการเหมือนทะวาย
                                                                      เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป                            จึงเสียชัยเสียเชิงไม่สมหมาย
                                                                      พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย                                    ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เป็นไร

ฯลฯ

 

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

พุกามประเทศ    ด้านแคว้นยะไข่    อังกฤษในพม่า

          ครับ  .  .  .  เมื่อเสร็จศึกทางทวายและรามัญประเทศแล้ว    ทางพม่าก็ต้องมีราชการ และสงครามทางอื่น   .  .  .  เชิญครับ  .  .  .

                   ตั้งแต่เกิดเกิดปัญหาในแคว้นยะไข่  (Rakhine)   เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗      และพระเจ้าปดุง (โพธิพญา)  ส่งกองทัพบุกเข้าไปทั้งทางบก และทางเรือ   ซึ่งชาวยะไข่ต้อนรับกองทัพพม่าเป็นอย่างดีในฐานะผู้มาแก้ปัญหา     แต่กองทัพพม่ากลับยึดเอาพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวยะไข่ไปประดิษฐานไว้ที่กรุงอมรปุระ (Amarapura)  ทำให้ชาวยะไข่โกรธแค้นมาก  และไม่มีความสุขสงบ  เนื่องจากพม่าได้จัดกองทัพไว้ประจำ

          ลุ พ.ศ.๒๓๓๗  (ค.ศ.๑๗๙๔)    ชาวยะไข่ยากจนค่นแค้นมากเพราะถูกกดขี่ จนหมดความเกรงกลัวกองทัพพม่า  จึงก่อการกบฏ  ซึ่งกองทัพพม่าสามารถปราบกบฏได้  แต่หัวหน้ากบฏหนีเข้าไปในดินแดนมณฑลเบงกอล ซึ่งเป็นของอังกฤษ    กองทัพพม่าติดตามเข้าไป และตั้งค่ายในดินแดนนั้น    แต่เมื่อพม่ายอมถอนทัพกลับ และทางอังกฤษมอบหัวหน้ากบฏให้กองทัพพม่า  เหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี

          ขณะนั้น อังกฤษ  ร่วมกับพันธมิตรอีก  ๔  ชาติ  คือ  ออสเตรีย, ปรัสเซีย,สเปน และปิเอ็ดมองท์  (รัฐอิสระรัฐหนึ่งทางตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลี, เมืองหลวงคือ ตูริน  -  ในยุคนั้นรัฐต่างๆ บนคาบสมุทรอิตาลียังไม่รวมกันเป็นประเทศอิตาลีดังในปัจจุบัน)     สงครามนี้ เกิดขึ้นระหว่างปี  พ.ศ.๒๓๓๕ - ๒๓๔๐   (ค.ศ.๑๗๙๒ - ๑๗๙๗)   และนโปเลียนเป็นเพียงแม่ทัพฝรั่งเศสทำการรบด้านอิตาลี  เท่านั้น

         ดังนั้น  อังกฤษ และฝรั่งเศสจึงขับเคี่ยวแข่งกันแผ่อิทธิพลด้วยยุทธศาสตร์ทางทะเล  ไปทั่ว

          ในพ.ศ.๒๓๓๘   ค.ศ.๑๗๙๕   เซอร์ จอห์น ชอร์  ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียได้ส่ง กัปตัน  ไมเคิล ซิมส์  นำคณะฑูตไปเฝ้าพระเจ้าปดุง   ด้วยความมุ่งหมาย   ๓  ประการ  คือ

            ๑. ขอไม่ให้เปิดเมืองท่าให้ฝรั่งเศสทำการค้าขาย    (อังกฤษไม่ทราบว่าฝรั่งเศสเคยส่งฑูตขอทำสนธิสัญญาค้าขายเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖  แล้ว  แต่ไม่สำเร็จ)

            ๒. ขอทำสัญญาค้าขาย

            ๓. สร้างสัมพันธภาพที่ดี  และอธิบายเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชายแดน

            ถึงแม้ว่าพระเจ้าปดุงไม่ทรงทำสัญญาค้าขาย   แต่ก็ทรงยอมรับให้บริษัท  อินเดียตะวันออกของอังกฤษมีผู้แทนอยู่ที่เมืองหยั่นโก้ง  (ย่างกุ้ง) ได้    และทำความเข้าใจกันเรื่องเขตแดนว่า  กองทัพพม่าจะไม่ข้ามพรมแดนเข้าไปในดินแดนของอังกฤษ  เพียงแต่ทำหนังสือแจ้งให้ข้าหลวงอังกฤษทราบขอให้ส่งผู้ลี้ภัยชาวยะไข่ที่เข้าไปอาศัยดินแดนของอังกฤษ และออกมาก่ออาชญากรรมในดินแดนพม่า   ทางอังกฤษก็จะส่งบุคคลเหล่านั้นให้

 

เสร็จราชการ และสงครามทางอื่น    พม่าใคร่ได้แคว้นล้านนาคืน

          ถึงกระนี้กระนั้น กระไรก็ตาม  พระเจ้าปดุงทรงพระประสงค์ใคร่ได้แคว้นล้านนาคืน     ดังนั้น  เมื่อเสร็จราชการ และสงครามทางอื่นแล้วจึงทรงคิดจะตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้
 
          พ.ศ.๒๓๔๐    ทรงให้เนเมียวกะยอดินสีหะสุระเป็นแม่ทัพใหญ่  

          เนเมียวกะยอดินสีหะสุระยกออกจากกรุงอมรปุระ  ในเดือน  ๑๒  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ   (ตรงกับวันอาทิตย์    วันที่  ๒๙  ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๐  -  จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com  ) มาตั้งประชุมพลที่เมืองนาย    รวบรวมรี้พลไทยใหญ่ประเทศราช  ได้จำนวน  ๕๕,๐๐๐    จัดเป็น  ๗  กองทัพ    ยกมาตีเมืองเชียงใหม่    ดังนี้      

          เนเมียวกะยอข่อง           เป็นแม่ทัพที่  ๑

          เนเมียวกะยอข่องนรทา    เป็นแม่ทัพที่  ๒

          อุบากอง*                      เป็นแม่ทัพที่ ๓

          เนเมียวกะยอดินสีหะ        เป็นแม่ทัพที่ ๔

          แมงยีสิงกายา                 เป็นแม่ทัพที่ ๕

          แมงยีนนทะกะยอดิน        เป็นแม่ทัพที่ ๖

          เนเมียวกะยอดินสีหะสุระ    เป็นแม่ทัพที่ ๗   และ  เป็นแม่ทัพใหญ่   ด้วย

 

แนวความคิดของกองทัพพม่า

          กองทัพที่ ๑  ที่ ๒  ที่ ๓   และ ที่ ๔   ยกตรงไปเชียงใหม่       

          กองทัพที่ ๕  ลงมาเมืองปั่น    

          กองทัพที่ ๖  ลงมาเมืองริน  รวบรวมเสบียงอาหารแล้วยกตามไปเมืองเชียงใหม่

          เนเมียวกะยอดินสีหะสุระแม่ทัพใหญ่  นำกองทัพที่ ๗   ยกตามไปบรรจบกันที่เมืองเชียงใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การปฏิบัติ

          กองทัพพม่ามาถึงเมืองเชียงใหม่  เห็นการเตรียมการป้องกันเข้มแข็งจึงตั้งค่ายล้อมไว้ถึง ๓  ชั้น

          ให้เนเมียวกะยอข่อง     แม่ทัพที่  ๑    นำกำลัง  จำนวน  ๑๐,๐๐๐   ตั้งที่เมืองป่าซาง    และอีกกองหนึ่ง  กำลัง  ๑๐,๐๐๐  เท่ากัน   ตั้งที่เมืองลำพูน
         


ฝ่ายไทย

          ขณะนั้น  เมืองเชียงใหม่เริ่มการฟื้นฟู  เพราะเจ้ากาวิละเพิ่งจะยกไพร่พลออกจากเวียงป่าซางเดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๙

          ทางกรุงเทพมหานครฯ     เมื่อทรงทราบว่า   จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพกรุงเทพฯ และหัวเมือง  จำนวน  ๒๐,๐๐๐     

          ครั้งนั้นเจ้าอนุวงศ์ อุปราชเมืองเวียงจันทน์รับอาสาจัดกองทัพศรีสัตนาคนหุต   จำนวนอีก   ๒๐,๐๐๐  สมทบด้วย     

          จีงโปรดให้ สมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จเป็นจอมพลทรงบัญชาการศึก  และโปรดให้กรมพระราชวังหลัง    เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา   เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราชโดยเสด็จด้วย    เจ้านายฝ่ายวังหน้าที่โดยเสด็จด้วย  ได้แก่  กรมขุนสุนทรภูเบศร   พระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัต  พระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรฯ  

          กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตั้งชุมพลที่เมืองเถิน    ให้พระยานครสวรรค์  นำกำลัง  ๓,๐๐๐  ขึ้นไปสืบข่าวที่นครลำปาง    เมื่อทรงทราบข่าวสารฝ่ายพม่าแล้ว  ทรงให้

           เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราช  นำกองทัพหัวเมืองจำนวน  ๘,๐๐๐   ขึ้นไปยึดรักษานครลำปางเป็นที่มั่น        

          กรมขุนสุนทรภูเบศร กับพระยากลาโหมราชเสนา  คุมกองทัพวังหน้าจำนวน  ๘,๐๐๐  กับกองทัพหัวเมืองอีก  ๒,๐๐๐   รวมเป็น  ๑๐,๐๐๐  ยกตามไป

          กรมพระราชวังหลัง (เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์)   เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา   เป็นกองหนุน  และมีภารกิจ สนับสนุนเสบียง และเครื่องศัสตราวุธ  ยกตามไป

         

 

 

 

เข้าตีเมืองลำพูน

          ฝ่ายพม่า    ตั้งค่ายรายรักษาเมืองพวกหนึ่ง   ตั้งอยู่ในเมืองเป็นกองหนุนอีกพวกหนึ่ง

          ฝ่ายเรา         กรมพระราชวังบวรฯ รับสั่งให้กองทัพต่างๆ เข้าตีค่ายพม่า และเมืองลำพูนดังนี้   

               เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ให้กองทัพเมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  และเมืองพิจิตร  เมืองพิชัย  จำนวน   ๕,๐๐๐  เป็นกองหน้า  ไปตั้งค่ายอยู่ที่ห้วยแม่ทา

               กรมขุนสุนทรภูเบศร กับพระยากลาโหมราชเสนาและกองทัพพระยานครสวรรค์   รวม จำนวน   ๕,๐๐๐    ตามไปตั้งค่ายอยู่ที่ห้วยแม่สาย

                ทั้งสองกองทัพเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกัน   สู้รบกันเป็นสามารถ    พม่าต้านทานไม่ได้  ก็ถอยเข้ารักษาแต่ในเมือง

          กองทัพไทยก็เข้าล้อมเมืองไว้    กองทัพวังหลวงตั้งทางใต้    กองทัพวังหน้า  มีกำลังมากกว่า ตั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือ  เพื่อกันกองทัพพม่าจากเมืองป่าซาง

          ฝ่ายพม่า  เห็นว่าไม่มีกองทัพไทยไปทางเมืองลี้  จึงถอยกำลังจากเมืองป่าซาง ให้มาช่วยเมืองลำพูน    แต่ถูกกองทัพไทย (วังหน้า)  ตีแตกกลับไป

          กองทัพไทยจึงระดมเข้าตีเมืองลำพูน    รบกันอยู่  ๗  วัน   ครั้นเดือน  ๕  ขึ้น  ๓  ค่ำ  ปีมะเมีย  เวลา  ประมาณ  ๑๖  นาฬิกา  (ตรงกับวันจันทร์   วันที่  ๑๙  มีนาคม พ.ศ. ๒๓๔๑  -  http://www.payakorn.com)   กองทัพไทยก็เข้าเมืองลำพูนได้   

          กองทัพพม่าที่รอดตายต่างพ่ายหนีกลับไปค่ายพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่  

         

 เมืองเชียงใหม่

          ฝ่ายไทยเมื่อได้เมืองลำพูนแล้ว  ก็พักรอเสบียงอาหารอยู่ระยะหนึ่ง    เมื่อกองทัพของกรมพระราชวังหลัง นำเสบียงเพิ่มเติมมาส่งให้จึงเดินทัพต่อไปเชียงใหม่

          สมเด็จพระอนุชาธิราชกรุงสยามจึงโปรดให้

          กรมพระราชวังหลัง และ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  รวมทั้งกองทัพของเจ้าอนุจากกรุงศรีสัตนาคนหุต  ได้ขึ้นไปถึงเชีบงใหม่พร้อมกัน    กองทัพไทยมีกำลังรวม  ๔๐,๐๐๐  พร้อมกันเข้าตีเมืองเชียงใหม่  ในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๕    (ตรงกับวันเสาร์  วันที่  ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๔๑  -  http://www.payakorn.com)    ดังนี้

          กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เข้าตีทางด้านตะวันตก

          กองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศร  เข้าตีทางด้านแม่น้ำปิง  (ตะวันออก)

          กองทัพเจ้าอนุจากกรุงศรีสัตนาคนหุต  เข้าตีทางด้านห้วยแม่ข่า  (ด้านเหนือ)

          กองทัพกรมพระราชวังหลัง  และ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา  เข้าตีทางด้านวังตาล  (ด้านใต้)

          เจ้ากาวิละก็ตีกระหนาบออกมาจากในเมืองเชียงใหม่ด้วย      กองทัพพม่าก็แตกพ่ายไปในวันนั้น

               เนเมียวกะยอดินสีหะสุระแม่ทัพใหญ่  ตายในที่รบ    อุบากอง แม่ทัพที่ ๓  ถูกจับได้    กองทัพพม่านับว่าสูญเสียมาก  ทั้งรี้พล   และช้างม้า พาหนะ  เครื่องศาสตราวุธ ก็ถูกฝ่ายไทยยึดเก็บไว้ได้เกือบหมด     กองทัพพม่าก็พ่ายแพ้กระจัดกระจายพ่ายหนีไป ทางเมืองปั่น  เมืองสอน  เมืองเชียงแสน แม่ทัพรวบรวมประชุมพลอยู่  ณ  เมืองปั่น  

           พระเจ้าอมรปุระตรัสให้หากองทัพกลับ

          สมเด็จพระอนุชาธิราชกรุงสยามก็เสด็จยกกองทัพกลับคืนยังพระนคร

          * อุบากอง  หรือ  คนไทยชอบเรียกว่าสมิงอุบากอง  แม่ทัพพม่าที่ถูกจับได้นี้    ว่าท่านมีวิชาดูฤกษ์ยามอย่างหนึ่ง  คือว่าในวันใด  เวลาใด  ฤกษ์ดี  ฤกษ์ร้าย  อย่างไร    และว่าขณะเมื่อถูกจองจำก็ได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้คนไทย    ไทยเรียกว่า "ยามอุบากอง" หรือ "ตำราพม่าแหกคุก"   แต่ไม่ทราบว่าท่านได้ใช้ตำราของท่านดูฤกษ์ผานาที แล้วแหกคุกได้สำเร็จ หรือไม่ เพียงใด    ครับ  .  .  .  และก็ไม่ทราบว่า  วันที่รบกับกองทัพไทย และถูกจับได้นั้น  ท่านได้ดูฤกษ์มาแล้วหรือเปล่า  แต่ก็ต้องถือว่าท่านโชคดีที่ถูกจับได้  ไม่ตายในที่รบเช่นท่านเนเมียวกะยอดินสีหะสุระ  แม่ทัพใหญ่     

          ท่านใดจะลองทดสอบ "ยามอุบากอง" ดู  ก็ได้นะครับ     ยามของท่านเป็นดังนี้

 

 


 

 

 

ครับ  .  .  .  เมื่อเสร็จศึก  บ้านเมืองก็ได้สงบสุข .  .  .  สุข  .  .  .  สงบ   ได้ชั่วระยะหนึ่ง    ก็เกิดศึกอีก

 

พ.ศ.๒๓๔๕    ไทยรุกไล่พม่าจากเขตลานนาไทย 


 พุกามประเทศ   ไม่เรียบร้อย     โรคยะไข่ กำเริบ

          พ.ศ.๒๓๔๑    เกิดกบฏในแคว้นยะไข่อีก  ชาวยะไข่ หลายพันครอบครัวอพยพเข้าไปในเขตจิตตะกองซึ่งเป็นของอังกฤษ  และกองทหารพม่าก็ไล่ติดตามพวกกบฏก็เกิดปะทะกับทหารอังกฤษ   แต่อังกฤษเองก็กำลังทำศึกอยู่กับนโปเลียนในยุโรป   กองกำลังของบริษัท อินเดียตะวันออก ก็กำลังติดพันกับการสู้รบขั้นสุดท้ายในอินเดียในอินเดีย    ลอร์ด  เวลสลีย์   เป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย สืบต่อจาก เซอร์ จอห์น ชอร์  จึงอดทนรอเวลาที่จะดำเนินการกับพม่า   แต่ก็แทรกแซงโดยส่งกองทหารม้า และทหารปืนใหญ่  ไปช่วยเจ้าชายรัชทายาทให้ปราบกบฏที่เมืองตองอู    และหวังว่า  เมื่อปราบกบฏเรียบร้อยแล้วจะได้คงกองทหารไว้เพื่อยึดครองราชอาณาจักรพม่า  ต่อไป

 

"รัตนติงสาอภินวปุรี"         

           เมืองเชียงใหม่ ในยุคของพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว นับเป็นยุคฟื้นฟูหรือที่เรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า  เก็บข้าใส่เมือง" โดยพระองค์ได้ปลูกสร้าง บูรณะบ้านเมือง และรวบรวมผู้คนมาไว้ในเมืองเชียงใหม่และลำพูน   

          พ.ศ.๒๓๔๒   พระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว  เจ้าอุปราช  และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้ร่วมกันกำหนดชื่อเมืองเชียงใหม่ว่า "เมืองรัตนติงสาอภินวปุรี"   และในปีเดียวกันนี้ ก็ได้โปรดให้ก่อรูปช้างเผือกสองเชือกไว้ทางทิศเหนือของเมือง   เชือกที่หันหน้าไปทางเหนือ มีชื่อว่า พระยาปราบจักกวาล   เชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกชื่อ พระยาปราบเมืองมารเมืองยักษ์    แล้วก่อรูปกุมภัณฑ์  ๒  ตนไว้หน้าวัดเจดีย์หลวง   ก่อรูปสุเทวฤาษีไว้ทางด้านตะวันตกของหออินทขิล

           พ.ศ.๒๓๔๔    ในเดือนสี่เหนือ  ขึ้น ๑๓ ค่ำ ได้ก่อรูปมิคคินทสีหราชสีห์ ๒ ตัว  ไว้ที่ข่วง (ลานกว้าง)  ทางทิศเหนือของเมือง   เพื่อเป็นชัยมงคลแก่บ้านเมืองและประชาชนทั้งมวล     บริเวณนั้นจึงได้ขื่อว่า "ข่วงสิงห์" มาตราบทุกวันนี้

 

 

 

 

 

 

 

 พยายักษ์ขราช 

สร้างขึ้นเมื่อ วันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗   พ.ศ. ๒๓๔๓

พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ ๒ ตนไว้หน้าวัดโชติการาม(วัดเจดีย์หลวง) 

เพื่อพิทักษ์เสาอินทขิลหลักเมืองเชียงใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปช้างเผือกสองเชือกไว้ทางทิศเหนือของเมือง  

เชือกที่หันหน้าไปทางเหนือ มีชื่อว่า พระยาปราบจักกวาล  

เชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกชื่อ พระยาปราบเมืองมารเมืองยักษ์ 

 

 

 

 

อังกฤษในพม่า

          พ.ศ.๒๓๔๕    ลอร์ด  เวลสลีย์ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียได้ส่ง กัปตัน  ไมเคิล ซิมส์  นำคณะฑูตไปเฝ้าพระเจ้าปดุง อีก    แต่คราวนี้ต้องคอยอยู่นานกว่าจะได้เฝ้า   และอังกฤษก็ได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนทางการค้าที่นครย่างกุ้งได้อีกต่อไป

 

เชียงใหม่   

รบไม่ชนะ  ต้องหาวิธีใหม่

          อย่างไรก็ตาม    พม่ายังคงพยายามเอาแคว้นลานนาคืนให้ได้  เมื่อไม่สามารถยึดครองด้วยกำลังทหาร ก็พยายามใช้วิธีทางการเมืองและการฑูต     ขณะนั้น พม่ายังคงมีกำลังยึดเมืองเชียงแสนอยู่   และชาวยูนนานผู้หนึ่งชื่อว่า ราชาจอมหงส์  รับอาสาพม่าว่าสามารถจะเกลี้ยกล่อมเชียงใหม่ให้ร่วมเป็นพวกได้    ทางพม่าจึงตั้งเป็นเจ้าประเทศราชอยู่ที่เมืองสาด   และประกาศว่าตนเป็นใหญ่ในล้านนา ๕๗ หัวเมืองนามว่า "เจ้ามหาสุวัณณหงส์ จักกวัตติราชะ"

          ราชาจอมหงส์ ส่งหนังสือถึงพระเจ้ากาวิละ    ทำให้พระเจ้ากาวิละทรงพระโกรธเป็นอย่างมาก   จึงยกทัพไปตีเมืองสาด   ขณะนั้นทูตพม่าชื่อสุริงมณี เชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าปดุงไปเจริญทางพระราชไมตรีกับญวน กำลังพำนักอยู่ที่เมืองสาด

          กองทัพพระเจ้ากาวิละจึงจับราชาจอมหงส์และบุตรชาย  ชื่อไหมขัตติยะ  และทูตพม่า   ส่งไปถวายที่กรุงเทพฯ
 
          การที่พระเจ้ากาวิละตีเอาเมืองสาด ในขณะที่คณะฑูตไปญวนกำลังพำนักอยู่  และได้คณะฑูตส่งไปกรุงเทพฯ  น่าจะทราบมาก่อน ไม่น่าเป็นการบังเอิญ

          และทำให้พระเจ้าปดุงทรงแค้นเคืองเป็นอย่างยิ่ง  จึงทรงสั่งให้จัดทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง

 

 

เชียงใหม่  .  .  .  พม่าจะเอาให้ได้

          การศึกที่จะตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้ได้คราวนี้  พม่าจัดกำลังถึง  ๗  กองทัพ    ให้อินแซะหวุ่น  เป็นแม่ทัพใหญ่    เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างหนาแน่นทั้ง สี่ด้าน  ในหลักฐานว่า  พม่าใช้เสาขนาด  ๓  กำ  ( ๑ กำ  คือความยาวเส้นรอบวง  ประมาณ ๒๐  เซนติเมตร   เสาขนาด  ๓ กำวัดเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ  ๒๐ เซนติเมตร)    ยาว  ๑๒  วา  (๒๔  เมตร)   ฝังลงดินถึง   ๘  เมตรหวังให้ในเมืองขาดแคลนเสบียงอาหาร อดหยาก

          ทางกรุงเทพฯ ได้จัดกองทัพเช่นเดียวกับคราว พ.ศ.๒๓๔๐  

          สมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการศึก   เสด็จออกจากกรุงเทพฯ  ประมาณ  เดือนยี่

           เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราช  พระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัต  โดยเสด็จด้วย     นอกจากนี้ก็มี  พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่พระยากลาโหม 

          ฝ่ายพม่าแบ่งกองทัพมาสกัดกองทัพไทยที่เมืองลำพูน    และกวดขันการปิดล้อมเมืองยิ่งขึ้น   แต่ในเมืองก็สามารถส่งคนเล็ดลอดออกมาได้
   
          แต่สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงพระประชวรพระโรคนิ่ว พระอาการกำเริบหนักที่เมืองเถิน  ไม่ทรงสามารถเสด็จบัญชาการรบได้  และทรงจัดกำลังทำการรบ  ดังนี้

          เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราช    คุมกองทัพวังหลวงและกองทัพหัวเมืองยกไปทางเมืองลี้

          กรมขุนสุนทรภูเบศร  พระองค์เจ้าลำดวน  พระองค์เจ้าอินทปัต  และพระยากลาโหม   คุมกองทัพวังหน้ายกไปทางเมืองลำปางอีกทางหนึ่ง

           เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราช    ยกไปถึงเมืองลี้  ได้ข่าวว่า  พม่าส่งกำลังมาจากป่าซางเป็นกองทัพใหญ่ จึงคิดจะถอยลงมาก่อน  

          ส่วนกองทัพวังหน้าที่ไปทางนครลำปาง  ได้ตีกองทัพพม่าที่ลำพูนแตกไป      เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และเจ้าพระยายมราช จึงนำกองทัพวังหลวงขึ้นไปพร้อมกันที่เมืองลำพูน  และเข้าโอบล้อมค่ายพม่าที่เมืองเชียงใหม่ไว้  อีกชั้นหนึ่ง    แต่กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตของเจ้าอนุยังมาไม่ถึงสนามรบ

          เมื่อทางกรุงเทพฯ ได้ข่าวพระอาการประชวรของสมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรฯ   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้กรมพระราชวังหลัง  (เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์)  เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการ และช่วยงานพระราชสงคราม    สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงพระราชทานพระแสงดาบให้กรมพระราชวังหลังทรงถืออาญาสิทธิ์แทนพระองค์    ให้เร่งระดมเข้าตีช่วยเหลือเเมืองเชียงใหม่ให้ได้

          เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จถึงกองทัพไทยที่ล้อมกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่อยู่  ทรงทราบสถานการณ์ว่า กองทัพพม่าอยู่ในสภาพอ่อนล้ามาก  จึงทรงสั่งการ    ให้เข้าตีในวันรุ่งขึ้น และไปกินข้าวเช้าในเมืองเชียงใหม่ให้ทันจงทุกกอง     (แต่ไม่ได้รับสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้ง เช่นพระยาตากตีเมืองจันทบุรี)

 

 

 

 

 

 

         ครั้นวันรุ่งขึ้น    กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าตั้งแต่  ๓  นาฬิกา  พร้อมกัน    พอรุ่งสว่าง  กองทัพวังหน้า  ก็เข้าค่ายพม่าได้    แต่กองทัพวังหลวงยังแอบคันนายิงปืนโต้ตอบกับฝ่ายพม่าข้าศึกตรึงกันอยู่     จนนายทหารท่านหนึ่งร้องชวนทหารไทยให้ไล่ฟันไล่แทง  แล้ววิ่งนำแแกเข้าหาข้าศึก  นายทัพนายกองอื่น จึงได้นำทหารตามเข้าไป  พม่าก็แตกพ่ายหนีกองทัพวังหลวงก็ได้ค่ายพม่า     ด้านพระเจ้ากาวิละก็ให้กองทัพเมืองเชียงใหม่ไล่ติดจามทำลายกองทัพพม่าเสียหายยับเยิน

          กองทัพไทยได้เมืองเชียงใหม่แล้ว  ๗  วัน  กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตของเจ้าอนุจึงมาถึงเมืองเชียงใหม่

          เมื่อจัดการกับกองทัพพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   กรมพระราชวังหลัง  พระเจ้ากาวิละ และเจ้านาย  และแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ได้เข้าเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน  กราบทูลการพระราชสงคราม   สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงขัดเคืองกองทัพวังหลวงที่ย่อหย่อนในการรบ    จึงมีพระบัณฑูรให้  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และพระยายมราชนำกองทัพวังหลวงไปตีพม่าที่เชียงแสน  ร่วมกับ กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตของเจ้าอนุ

 

พระยาเสือ  .  .  .  สวรรคต

          กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ  พระอาการกำเริบหนัก  เสด็จสวรรคตในเดือน  ๑๒  แรม  ๔  ค่ำ ปีกุน  พ.ศ.๒๓๔๖  ณ  พระที่นั่งบูรพาภิมุข   ในวังหน้าพระชนมายุ  ๖๐  พรรษา  ทรงดำรงที่พระมหาอุปราช  ๒๑  ปี  ๔  เดือน  ๕  วัน

 

 

 

 

 

 

กองทัพวังหลวงติดฝนอยู่เชียงใหม่  .  .  . 
 
          กองทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์  เดินทัพกลับไปถึงเชียงใหม่  พอดีเป็นฤดูฝน  จึงต้องพักกองทัพอยู่  ครั้นถึงฤดูแล้ง  ก็ต้องรอกองทัพเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองน่าน   และจากเวียงจันทน์  กว่าจะพรักพร้อมออกจากเชียงใหม่ได้  ก็ตกเดือน  ๔  (ประมาณ  เดือนมีนาคม)  พ.ศ.๒๓๔๗   และถึงเมืองเชียงแสนในเดือน  ๕    ได้แต่ตั้งล้อมเมืองไว้      เมื่อล้อมได้สองเดือน  ตกถึงเดือน  ๖  ก็เริ่มเข้าฤดูฝนอีก    รี้พลสกลไกรในกองทัพวังหลวงก็เจ็บไข้ได้ป่วย      เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และพระยายมราชหารือกันเห็นว่าการน่าจะไม่สำเร็จ    จึงให้เลิกทัพ    (เลิกทัพเฉพาะกองทัพวังหลวงของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เท่านั้น  กองทัพอื่นๆ  ยังคงปฏิบัติภารกิจตามพระบัณฑูรต่อไป)

          ฝ่ายในเมืองเชียงแสน ก็ขาดแคลนอาหารเช่นกัน   และเมื่อ กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ถอนกลับแล้ว  ชาวเมืองก็เปิดประตูเมืองรับกองทัพไทยอื่นๆ ให้เข้าเมือง  และไล่ฆ่าฟันทหารพม่า    แม้แม่ทัพที่รักษาเมืองก็ตายในที่รบ    ส่วนอื่นๆ ต้องแตกหนีไปอยู่ตามห้วเมืองประเทศราชของพม่า    พระยากาวิละได้จัดระเบียบเมืองเชียงแสน  รวบรวมครอบครัวชาวต่างชาติต่างภาษาที่อยู่กับพม่าได้   ๒๓,๐๐๐  คน    จึงจัดเป็น  ๕  ส่วน   ส่งลงมากรุงเทพฯ  ส่วนหนึ่ง  และจัดให้เมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองน่าน  และกรุงศรีสัตนาคนหุต    เมืองละ  ๑ ส่วน

           ครั้นเสร็จการพระราชสงครามครั้งนี้แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเกียรติยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ เกียรคิยศเสมอด้วยพระเจ้านครเวียงจันทน์  เป็นใหญ่ในล้านนา  ๕๗  หัวเมือง   ราชทินนามว่า 

 

พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์  องค์อินทรศักดิ์สมยา มหาขัตติยราช

ชาติราไชศวรรย์  เจ้าขัณฑสีมา  พระนครเชียงใหม่  ราชธานี   

 

 

 

 พระเจ้าเชียงใหม่

 

 

 

กวาดล้างกองทัพพม่า  -  พระราชอาณาเขตแผ่กว้างไกลไพศาลยิ่งกว่ายุคใดๆ

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบว่ากองทัพพม่าแตกไปจากเมืองเชียงแสนแล้ว  จึงโปรดให้เจ้าประเทศราชฝ่ายเหนือยกกองทัพขึ้นไปกวาดล้างกองทัพพม่าในดินแดนเมืองลื้อ เมืองเขิน  ตลอดจนสิบสองปันนา

          ฤดูแล้ง  ปีฉลู  พ.ศ.๒๓๔๘      ประเทศราชฝ่ายเหนือได้จัดกองทัพ  ดังนี้

 

            พระเจ้ากาวิละทรงนำกองทัพเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองแพร่  เมืองเถิน   ยกไปทางเมืองเขิน    เมืองยอง  เมืองเชียงตุง  และเมืองเขินทั้งปวง  ต่างยอมสวามิภักดิ์ขอขึ้นกรุงเทพฯโดยมิต้องทำการรบ

            กองทัพเมืองน่าน  เมืองหลวงพระบาง  และเมืองเวียงจันทน์  ยกไปตีได้  เมืองหลวงภูคา ในแคว้นสิบสองปันนา   เหล่าบรรดาเจ้าเมืองลื้อทั้งหลายตลอดขึ้นไปถึงเมืองเชียงรุ่ง  ต่างพากันอ่อนน้อมโดยดี    แต่เมืองเชียงแขงมีกองกำลังพม่าตั้งอยู่   เมื่อเจ้าเมืองทราบว่าเมืองเชียงรุ่งยอมขึ้นกรุงเทพฯ แล้ว  จึงขับไล่ฆ่าฟันทหารพม่าที่ตั้งอยู่ในเมือง  แล้วขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน

 

          หัวเมืองใหญ่น้อยที่ได้เข้ามาในพระราชอาณาเขตกรุงสยามคราวนี้  นับได้  ๔๐  หัวเมือง  รวมครอบครัวพลเมืองได้ถึง  ๗๐,๐๐๐     ท้าวพระยานายทัพนายกอง ก็นำเจ้าเมือง  และครอบครัวพลเมืองลงมากรุงเทพฯ  ในเดือน  ๖   ปีฉลู   พ.ศ.๒๓๔๘

 

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชดำริว่า    ก็ได้ขับไล่กองทัพพม่าพ้นพระราชอาณาเขตสมพระราชประสงค์แล้ว  และบรรดาเมืองลื้อ เมืองเขิน  และ สิบสองปันนานั้น อยู่ห่างไกลกรุงเทพพระมหานครนัก  การนำครอบครัวลงมาถึงกรุงเทพฯ จะเป็นการเดือดร้อนแก่พลเมืองเหล่านั้น    จึงพระราชทานรางวัลแก่  เจ้าเมืองลื้อ  เมืองเขินที่มาสวามิภักดิ์ทั่วกัน  และโปรดให้คืนครอบครัวเหล่านั้น  กลับไป

 

 

          การที่หัวเมืองลื้อ  เมืองเขิน และ สิบสองปันนาได้เข้าสวามิภักดิ์ครั้งนี้  ทำให้พระราชอาณาเขตแผ่ขยายออกไปจดอาณาจักรจีน

 

 

บทเรียนจากการรบ

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม   พระราชสงครามคราวนี้ก็มีบทเรียน      ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงนิพนธ์ไว้ใน  ไทยรบพม่า  ดังนี้

          ๑. กองทัพที่ยกไปครั้งนั้น  เพราะคนเป็นหลายพวกหลายเมือง  มุลนายไม่พรักพร้อมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

          ๒. เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  และ พระยายมราช  ไปด้วยต้องถูกปรับโทษบังคับบัญชาการก็ไม่ใคร่เด็ดขาด  

 

         เนื่องจากมีพระบัณฑูรสั่งให้ปรับโทษกองทัพวังหลวงและกองทัพเมืองเวียงขันทน์ให้ยกกลับขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน  ๒  กองทัพ    แต่ไม่ปรากฏว่าทรงให้ผู้ใดเป็นผู้บัญชาการศึก  และเมื่อเมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  และเมืองน่าน  ได้ยกไปร่วมศึกด้วย  จึงเป็นหลายพวกหลายเมือง     แต่การที่ มุลนายไม่พรักพร้อมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้     ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่ พ.ศ.๒๓๑๐  เป็นต้นมา    เพิ่งจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในพระราชสงครามคราวนี้

 

          และจากการที่ไม่ปรากฏว่าทรงให้ผู้ใดเป็นผู้บัญชาการศึกนี้   ทำให้กองทัพทั้งหลายที่ไปตีเมืองเชียงแสน   ไม่มีเอกภาพในการบังคับบัญชา    และอาจจะเป็นปัญหาก็ได้     เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ จึงบังคับบัญชาการก็ไม่ใคร่เด็ดขาด    ทำให้ผู้คน (ในกองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์)  พากันป่วยเจ็บ  และอัตคัดขัดสนเสบียงอาหารจนกระทั่ง    " .  .  .   เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์  ปรึกษากับพระยายมราชเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ    ด้วยกำลังกองทัพบอบช้ำอิดโรยเสียมากแล้ว จึงให้เลิกทัพกลับมา  .  .  ."       ซึ่งพิจารณาได้ว่า    เป็นการเลิกทัพกลับโดยพลการ   และ   ที่สำคัญที่สุดคือ  .  .  . 

          ไม่คำนึงถึงพระบัณฑูรที่ให้ไปตีพม่าที่เชียงแสน   หรือ อาจจะทรงเห็นว่า "พระยาเสือ"  สิ้นเสียแล้ว  ก็เป็นได้  .  .  .  กำลังกองทัพบอบช้ำอิดโรยเสียมากแล้วนี้ จึงไม่สามารถทำการรบต่อไปได้    แต่สามารถเดินทัพกลับพระมหานครได้    และก็เป็นเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในพระราชสงครามคราวนี้ อีกเช่นกัน 

 

 

 

         ครับ  .  .  .   นับแต่ กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองแล้วก็เสื่อมลงจน   "อยุธยายศล่มแล้ว"  หรือ  "อยุธยาวสาน"   พระยาตาก และสมัครพรรคพวก ใช้เวลาเพียง  ๘  เดือน   ก็สามารถ "กู้กรุงไกรเกรียงยศ" ได้  และ  .  .  .  ชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด  .  .  .   สถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นพระนครใหม่   สามารถยืนหยัดต้านทานการเหยียบย่ำซ้ำเติมจากเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ตลอดระยะเวลา  ๑๕  ปี     จึง " .  .  .  ลอยสวรรค์  ลงฤๅ"  ได้    ก็เป็นจังหวะพอดีที่เพื่อนบ้านดังกล่าวต้องจัดระเบียบภายในบ้านเมืองตนเอง   ทำให้ไทยเรามีเวลาพอที่จะรังสรรค์   "สิงหาศน์ปรางค์รัตน์บรร  เจิดหล้า"   และ ก็เพราะด้วยได้   "บุญเพรงพระหากสรรค์   ศาสน์รุ่ง  เรืองแฮ"   ทำให้    "บังอบายเบิกฟ้า    ฝึกฟื้นใจเมือง"  

          เมื่อได้ฝึกฟื้นใจเมืองแล้ว   และด้วยเหตุที่ว่า    

                     ".  .  .  มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด           จะทดแทนมันให้หมดสิ้น

                     มันจิตอหังการ์ทมิฬ                               จะล้างให้สิ้นอย่าสงกา  .  .  .

 ฯลฯ

                     .  .  .  อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้ฤา             จะพ้นเงื้อมมืออย่าสงสัย

                    พม่าจะมาเป็นข้าไทย                             จะได้ใช้สร้างกรุงอยุธยา  .  .  ."

               เพลงยาวนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า    พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
 
 

          ถึงแม้ว่า "กรุงรัตนอังวะ"  จะพ้นเงื้อมมือไปได้  ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ซึ่งปรากฏอยู่ในเพลงยาวพระราชนิพนธ์ฯ ที่อัญเชิญมาข้างต้นก็ตาม    แต่ก็ทรงแผ่ขยายได้ดินแดนเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขต     ข้างฝ่ายเหนือขึ้นไปจนติดต่อกับอาณาจักรจีน   ส่วนข้างฝ่ายใต้นั้น  ได้ดินแดนเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๘   เมื่อเสร็จพระราชสงครามคราวพม่ายกมา  ๕  ทาง   ๙  กองทัพ

 

 

 

 

 

 

พระราชอาณาเขตกรุงสยามในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

จึงแผ่กว้างไกลไพศาลยิ่งกว่ายุคใดๆ

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

           -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

            -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

            -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับหมอบลัดเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓    สำนักพิมพ์โฆษิต    กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๕๑

          -  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑  ถึง  รัชกาลที่ ๓    ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์  แสงโสม  เกษมศรี  และ  นางวิมล  พงศ์พิพัฒน์    กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเรียบเรียง    สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กุมภาพันธ์  ๒๕๒๓

          -  แผนที่ - ภูมิศาสตร์    ของ  ทองใบ  แตงน้อย     โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช   พ.ศ.๒๕๓๖

             -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 




อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา โดย สัมพันธ์

ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๔ - ไทยตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๓ - นครลำปาง ป่าซาง ทวาย ๒๓๓๐
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๒ - สงครามท่าดินแดง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๐ - สงครามเก้าทัพ - ทุ่งลาดหญ้า
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๙ - บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๘ - ธนบุรีสมัยจบ (๕)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๗ - ธนบุรีสมัย (๔)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๖ - ธนบุรีสมัย (๓)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๕ - ธนบุรีสมัย (๒)
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๓ - กู้กรุงไกรเกรียงยศ
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๒ - มังระสมัย-อยุธยาวสาน
อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา - สงครามอลองพญา



1

ความคิดเห็นที่ 1 (404)
avatar
xx
ขอบคุณครับ หนังดีๆ อย่างนี้ต้องสนับสนุนไปหาซื้อแผ่นแท้มาดูหนังครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น xx วันที่ตอบ 2009-09-29 20:32:24 IP : 61.91.200.39


ความคิดเห็นที่ 2 (405)
avatar
สัมพันธ์
 ครับ  ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-10-01 05:03:39 IP : 125.25.141.195



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker