dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงคราม ไทย - พม่า สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓
วันที่ 16/02/2020   21:01:22

สงคราม ไทย - พม่า   สมัยรัชกาลที่ ๒  ที่ ๓

สถานการณ์เดิม  .  .  .

          การที่หัวเมืองลื้อ  เมืองเขิน และ สิบสองปันนาได้เข้าสวามิภักดิ์ครั้งนี้  (พ.ศ.๒๓๔๘)   ทำให้พระราชอาณาเขตแผ่ขยายออกไปจดอาณาจักรจีน

           ถึงแม้ว่า "กรุงรัตนปุระอังวะ"  จะพ้นเงื้อมมือไปได้  ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ซึ่งปรากฏอยู่ในเพลงยาวพระราชนิพนธ์ฯ ในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ตาม    แต่ก็ทรงแผ่ขยายได้ดินแดนเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตอีกมาก     ข้างฝ่ายเหนือขึ้นไปจนติดต่อกับอาณาจักรจีน    ส่วนข้างฝ่ายใต้นั้น ได้ดินแดนเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๘    ครั้งเมื่อเสร็จพระราชสงครามคราวพม่ายกมา  ๕  ทาง   ๙  กองทัพ

          พระราชอาณาเขตกรุงสยามในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงแผ่กว้างไกลไพศาลยิ่งกว่ายุคใดๆ

 

สถานการณ์ต่อไป

พม่า    ปีมะโรง  ๒๓๕๑ 

          เจ้าชายจันกาสุริยะ  รัชทายาท  สิ้นพระชนม์     พระเจ้าปดุงทรงตั้ง   เจ้าชายพะคยีดอ  (Bagyidaw)  หรือ จักกายแมง โอรสเจ้าชายจันกาสุริยะให้เป็นรัชทายาทสืบไป

           พระเจ้าปดุงให้พระยาอินทรจักรเป็นหัวหน้าคณะฑูตเข้ามาขอเจริญทางพระราชไมตรี     ปรากฏหลักฐานแต่เพียงว่าไทยส่งคณะฑูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าปดุง  เมื่อเดือน  ๓  แรม  ๗  ค่ำ  (ตรงกับตรงกับวันจันทร์   วันที่   ๖  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๕๑ - การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)     

          สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเพียงแต่แต่งฑูตไปมา    ไม่ได้มีการตกลงทางไมตรี  อาจจะเป็นเพราะไทยเรียกร้องให้พม่าส่งคนไทยที่พม่ากวาดต้อนไป คราวสงคราม พ.ศ.๒๓๑๐  และ คืนเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี   แต่พม่าไม่ตกลง   จึงไม่ได้ทำทางไมตรีกัน

            ในปลายปีมะโรง  พ.ศ.๒๓๕๑  นั้นเอง  ทั้งๆ ที่พม่ายังคงแก้ปัญหาทางแคว้นยะไข่ และอังกฤษอยู่    ก็จัดกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกของไทย อีก    ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า     พระเจ้าปดุงอาจจะได้ข้อมูลจากคณะฑูตว่า  แม่ทัพใหญ่ที่เข้มแข็งในการศึกของไทยร่อยหรอลงไปแทบจะหมดตัวแล้ว  เช่นสมเด็จพระอนุชาธิราช  หรือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเอง  ก็ทรงเจริญพระชนมายุชราภาพ     แม่ทัพนายกองชั้นรองๆ ก็เช่นกัน  น่าจะเป็นโอกาสที่จะตีเอาเมืองไทยให้เป็นเกียรติยศ  ลบล้างความพ่ายแพ้คราวก่อนๆ บ้าง 

          การเตรียมกองทัพคราวนี้    พระเจ้าปดุงทรงให้อะเติงหวุ่น  เป็นแม่ทัพใหญ่  มาเตรียมพลอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  รวบรวมพลทางหัวเมืองพม่า และเมืองมอญทางใต้แต่อะเติงหวุ่น แม่ทัพใหญ่จัดการไม่ดีผู้คนหลบหนีกันมากไม่สามารถจัดทัพได้ตามกำหนด    จึงต้องวิงวอนเสนาบดีให้เพ็ดทูลพระเจ้าปดุงว่า  เพิ่งจะแต่งฑูตเจริญทางพระราชไมตรีกัน  และ จะกรีธาทัพไปโดยไม่มีเหตุอันควร  จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ    พระเจ้าปดุงทรงเห็นด้วย   

          ปี พ.ศ.๒๓๕๑ จึง  ผ่านไป 

 

ปีมะเส็ง   ๒๓๕๒

            เดือน  ๙  แรม  ๑๑  ค่ำ  ปีมะเส็ง     ตรงกับวันอังคาร  วันที่  ๕  กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จผ่านพิภพสืบต่อ

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ทรงครองราชย์   พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗  (ค.ศ.๑๘๐๙ - ๑๘๒๔)

 

         ทางฝ่ายพม่าครั้นได้ทราบข่าวว่า ทางกรุงเทพฯ ผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่      และแม่ทัพใหญ่ อะเติงหวุ่น เมื่อได้รับตราบอกเลิกทัพ    จึงกลับตัวว่ากองทัพพร้อมแล้ว   (ความจริงน่าจะพร้อมไม่เต็มที่)   หากไม่โปรดให้ตีกรุงศรีอยุธยา   จะขอตีหัวเมืองไทยติดต่อแดนพม่าทางใต้เก็บกวาดผู้คนและทรัพย์สินให้คุ้มทุนบ้าง    พระเจ้าปดุงก็ทรงอนุญาต

 

พม่าตีเมืองถลาง   พ.ศ.๒๓๕๒

 

          อะเติงหวุ่นให้แยค่องนำรี้พลจำนวน  ๔,๐๐๐  ยกมาทางเรือ  ตีหัวเมืองชายทะเลกองหนึ่ง    และดุเรียงสาระกยอ  นำกำลังอีก  ๓,๐๐๐  ยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ทางบก  อีกกองหนึ่ง    เมื่อเดือน  ๑๑  พ.ศ.๒๓๕๒   (ประมาณเดือน กันยายน - ตุลาคม)
         
          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จครองราชย์ได้เพียง  ๒ เดือน  ทรงทราบข่าวศึก  โปรดให้ พระยาทศโยธา  พระยาราชประสิทธิ์  ลงไปเกณฑ์ทัพที่เมืองไชยา  แล้วยกข้ามไปทางปากพนม เพื่อรักษาเมืองถลางไว้ก่อน    ส่วนกองทัพจากกรุงเทพฯ นั้น  ทรงให้

          พระยาท้ายน้ำ  เป็นแม่ทัพหน้า 

          เจ้าพระยายมราช  (น้อย)  เป็นแม่ทัพลงเรือไปเมืองนครศรีธรรมราชจัดกองทัพเมืองนครฯ และเมืองขึ้น  ตามไปเมืองถลางอีก 
 
          พระยาจ่าแสนยากร  (บัว)   เป็นแม่ทัพวังหน้า  คุมพล  ๕,๐๐๐    ลงไปช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้

          เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  เสด็จไปเมืองเพชรบุรีเพื่อจัดตั้งกองทัพ กับเจ้าพระยาพลเทพ    คอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจจะมาทางด่านสิงขร

          สมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์   เป็นจอมพลทรงนำกำลังกองทัพหลวง   ยกไปคอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจจะมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์    แต่เมื่อทราบแน่ชัดว่ากองทัพพม่าไม่ยกมาทางนี้    จึงโปรดให้เสด็จลงไปบัญชาการศึกทางหัวเมืองปักษ์ใต้

 

 

          การที่ฝ่ายไทยจัดกองทัพคอยสกัดกองทัพพม่าที่อาจจะมาทางด่านสิงขร และทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เป็นไปตามหลักการรักษาความปลอดภัย  หรือเป็นผลจากประสิทธิภาพด้านการลาดตระเวนสืบข่าว และระบบการรายงานข่าวศึกของกองทัพ ?     

          น่าจะเป็นเพราะประสิทธิภาพด้านการลาดตระเวนสืบข่าว และรายงานข่าว มากกว่า  เนื่องจากเมื่อทราบ แน่ชัดว่า  ไม่มีกองทัพพม่ายกเข้ามา  (ในสองเส้นทางนี้)    จึงโปรดปรับแผนให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปบัญชาการศึกทางหัวเมืองป้กษ์ใต้

 

ตะกั่วทุ่งก็แตกตาม    ตะกั่วป่า  เล่านา

           กองทัพพม่าตีได้เมืองตะกั่วป่า    เมื่อวัน ขึ้น  ๙  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ตรงกับ วันอังคาร   วันที่  ๑๗  ตุลาคม  พ.ศ.๒๓๕๒     (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com ) ต่อไปตี เมืองตะกั่วทุ่งได้     แล้วยกข้ามไปตีเมืองถลาง    เมืองภูเก็ต      ตั้งค่ายล้อมเมืองถึง  ๒๕  ค่าย    พระยาถลางแต่งเมืองต่อสู้เป็นแข็งแรง    พม่าล้อมได้เดือนกว่า  ก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้    จึงออกอุบายทำเป็นเลิกทัพ  ลงเรือกลับออกไป    (หลบซ่อนอยู่ ตามเกาะใกล้ๆ เกาะถลาง นั้น)

           พระยาถลางเห็นพม่าถอยไปจึงปล่อยพลเมืองออกไปหาเสบียงอาหารตามภูมิลำเนา

          ครั้นผ่านไปประมาณสองเดือน   พอถึงเดือนอ้าย  กองทัพพม่าที่ทำเป็นถอนทัพไปนั้น  ก็กลับยกเข้ากลับเข้ามาอีก    ฝ่ายไทยก็รีบเรียกรี้พลเข้าประจำการอีก  แต่คราวนี้คงเรียกรี้พลได้ไม่บรืบูรณ์เต็มที่     พม่าก็ล้อมไว้ทั้งเมืองถลาง  และเมืองภูเก็ต

 

 

กองทัพพร้อม  เรือไม่พร้อม

          ฝ่ายพระยาทศโยธา  พระยาราชประสิทธิ์  ซึ่งลงไปเกณฑ์ทัพที่เมืองไชยานั้น   เมื่อเกณฑ์คนได้แล้วก็ยกข้ามไปทางปากพนม   เดินต่อไปถึงปากน้ำพังงา    มีปัญหาไม่มีเรือลำเลียงรี้พลไปขึ้นเกาะถลางได้
   
          ส่วน กองทัพเจ้าพระยายมราช  (น้อย)  แม่ทัพ ที่ลงเรือไปที่เมืองนครศรีธรรมราช นั้น   ก็สมทบกับกองทัพเจ้าพระยานคร  (พัฒน์)   ยกไปเมืองตรังเพื่อจะข้ามไปเกาะถลางก็ประสบปัญหาไม่มีเรือลำเลียงกำลังพลเช่นกัน     ต้องรวบรวมเรือของราษฎรพอลำเลียงกองทหารของพระยาท้ายน้ำให้ยกไปช่วยเมืองถลางก่อน

          กองกำลังของพระยาท้ายน้ำยกไปถึงเกาะชนัก  พบกองเรือพม่าที่มาจากเมืองภูเก็ต   ได้ปะทะกัน  เรือพระยาท้ายน้ำเกิดระเบิด  เรือแตก  เรือพระยาท้ายน้ำและกำลังพลตายเกือบทั้งลำ     กองเรือไทยต้องแล่นเข้าอ่าวไปทางตะวันออก   รวมกันที่ปากน้ำลาว   แขวงเมืองกระบี่

 

การรบทางบก
 
           กองทัพพม่าอีกกองทัพหนึ่งซึ่งดุเรียงสาระกยอเป็นแม่ทัพยกมาทางบก   ตีได้เมืองมะลิวัลย์  เมืองระนอง  เมืองกระบี่ ทางฝั่งตะวันตก    แล้วข้ามมาฝั่งตะวันออกตีได้เมืองชุมพร    ก็พอดีกองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ลงไปถึงก็เข้าตีพม่าจนแตกพ่ายไป  และจับเป็นเชลยได้มาก     กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ  กวาดล้างข้าศึกตลอดไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า     เมื่อพม่าแตกหนีไปหมดแล้ว     ทรงพักทัพที่เมืองชุมพร  เพื่อรอฟังข่าวการรบที่เมืองถลาง


ถลาง  ภูเก็ต

          กองทัพพม่าซึ่งล้อมไว้ทั้งเมืองถลาง  และเมืองภูเก็ต ได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกไปช่วยเมืองถลาง   จึงถอนกำลังไประดมตีเมืองภูเก็ตก่อน   เมื่อได้แล้วจึงกลับมารวมกำลังระดมตีได้เมืองถลางอีก  และเผาเมืองถลางเสีย     เมื่อเดือนยี่  ขึ้น  ๙  ค่ำ    (ตรงกับ  วันเสาร์   วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๓๕๒  -  การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com(เมืองถลางน่าจะจัการป้องกันได้แข็งแรงกว่าเมืองภูเก็ต)         

          กองทัพไทย จากกรุงเทพฯ   จากนครศรีธรรมราช    และยังมีกองทัพจาก เมืองไทรบุรีซึ่งเป็นประเทศราชยกไปช่วยเมืองถลาง    รวม  ๓  กองทัพ    ก็ยังไปไม่ถึง  .  .  .

 

พม่ากลัวพายุ

          คืนหนึ่งเกิดพายุพัดจัด   ทหารพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองถลางได้ยินเสียงลม และคลื่นกระทบฝั่ง  เข้าใจว่าเป็นเสียงปืนของกองทัพไทย    แม่ทัพพม่าเกิดความตกใจรีบสั่งรี้พลให้รีบขนทรัพย์สินสิ่งของลงเรือ  กลับไปโดยด่วน   (ในคืนนั้น ?)    ส่วนที่ตกค้างอยู่เพราะไม่ทัน   ก็ถูกสังหารในการรบ  และถูกจับเป็นอันมาก     อีก  ๔ - ๕  วัน  ก็มีกองเรือพม่ามาส่งเสบียงอาหาร  (ไม่ทราบว่ากองทัพพม่าล่ากลับไปแล้ว)   จึงถูกกองทัพไทย  จับไว้ได้ทั้งหมด  .  .  .  เรียบโร้ย

 

 

เมืองพังงา

 

          เมื่อเสร็จศึกแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ทรงพิจารณาว่าเมืองถลางถูกเผาทำลายเสียแล้ว    หากสร้างขึ้นใหม่และพม่ายกมาตีอีก  ก็จะรักษายาก และส่งกองทัพไปช่วยเหลือยาก   จึงโปรดให้รวบรวมผู้คนจากเมืองถลางที่หลบหนีพม่าอยู่   รับข้ามมาตั้งบ้านเรือนที่ ปากน้ำพังงา  แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง  และจัดการปกครองยกขึ้นเป็นเมือง    ซึ่งเป็นชุมชนที่เจริญขึ้นเป็นเมืองพังงา     และเป็นจังหวัดพังงาในปัจจุบัน

              ตราประจำจังหวัดพังงา    >               

 

บทเรียน

          การสงครามคราวนี้ไม่มีบทเรียนจากการรบ  แต่มีบทเรียนในการเตรียมการทำสงครามหลายประการ  เช่น

            -  การสืบข่าวว่าพม่าจะยกมาทางใด    แสดงว่ากองทัพไทยไม่มีระบบการลาดตระเวน หรือระบบการรายงาน  เพียงได้ข่าวว่าพม่าจะยกทัพมา  ก็ประมาณสถานการณ์ว่าพม่าจะยกมาทางเดิม  (ทางด่านพระเจดีย์สามองค์  และด่านสิงขร)    แต่กองทัพพม่าเพียงแต่ตีหัวเมืองชายทะเล  เท่านั้น    หากระบบการสืบข่าวถูกต้อง และ กองทัพของกรมพระราชวังบวรฯ  เสด็จลงไปบัญชาการศึกทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เสียแต่แรก   เหตุการณ์น่าจะเปลี่ยนรูปไปก็ได้

            -  การเตรียมการเคลื่อนย้ายกำลังทางเรือ     ไม่มีการเตรียมการในเรื่องเรือ    เพราะทั้งสองกองทัพที่จะยกไปช่วยเมืองถลาง  ไม่มีเรือลำเลียงกำลัง    หากมีการเตรียมการให้มีเรือใช้ลำเลียงกำลังขึ้นเกาะถลางอย่างพอเพียง  สามารถลำเลียงกองทัพเจ้าพระยายมราช  (น้อย)  และกองทัพเจ้าพระยานคร  (พัฒน์)   จากเมืองตรัง ไปขึ้นเกาะถลางได้ทั้งกองทัพ    ฝ่ายเราอาจจะไม่ต้องเสียพระยาท้ายน้ำ และเมืองถลางอาจจะไม่ถูกเผา

          -  แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ดีอย่างไม่คาดคิดเหมือนกัน  คือการที่กองทัพพม่าได้ยินเสียงคลื่นลม  เข้าใจว่าเป็นเสียงปืนของฝ่ายไทย  และรีบถอนทัพ    นับว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจและอธิบายได้ยาก    แต่ก็เป็นผลดีแก่ฝ่ายเรา    และการที่กองทัพพม่าเร่งรีบถอนกลับจากเกาะถลาง  แต่หน่วยส่งเสบียงไม่ทราบ  จนกลายเป็นนำเสบียงมาส่งให้กองทัพไทย

 

          ครับ  .  .  .  เมื่อกองทัพพม่ากลับไปแล้ว  ทางพม่าก็ยังคงต้องยุ่งอยู่กับปัญหาทางด้านแคว้นยะไข่ต่อไปอีก  .  .  .  เชิญครับ           

 

พม่า    โรคยะไข่กำเริบอีก  

          จากการศึกกับไทยในครั้งนี้ (พ.ศ.๒๓๕๔ / ค.ศ.๑๘๑๑) แล้ว  พม่าก็ยังคงยุ่งอยู่กับปัญหาทางแคว้นยะไข่    คือนายซินเบี๋ยนนำกำลังจากดินแดนอังกฤษ  เข้ายึดเมืองหลวงแคว้นยะไข่   ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองยะไข่    และเสนอ ลอร์ด มินโต   ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ขอให้ยะไข่เป็นแคว้นในอารักขาของอังกฤษ    ข้าหลวงใหญ่ฯ ยังไม่รับ  แต่ส่งร้อยเอก  จอห์น  แคนนิ่งมาเฝ้าพระเจ้าปดุง  ว่าจะป้องกันไม่ให้มีการข้ามแดนอีก      แต่ทางแคว้นยะไข่  กองทัพพม่าก็ยึดเมืองหลวงแคว้นยะไข่ได้  เจ้าเมืองซินเบี๋ยนก็หนีเข้าไปในดินแดนของอังกฤษอีก

          ด้านร้อยเอก  จอห์น  แคนนิ่ง  เมื่อกลับมาที่เมืองหยั่นโก้ง  ไม่นานก็จะถูกพระเจ้าปดุงจับ  จึงต้องลงเรือกลับไปเมืองกัลกัตตา

          พระเจ้าปดุงทรงพระโกรธ  และแน่พระทัยว่าอังกฤษนั้น   เชื่อถือไม่ได้

 

             อีก  ๒  ปีต่อมา คือ  พ.ศ.๒๓๕๖ (ค.ศ.๑๘๑๓)     เกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ในแคว้นมณีปุระซึ่งเป็นดินแดนติดต่อกับอินเดีย     พระเจ้าปดุงทรงให้คู่ชิงบัลลังก์มาเฝ้า  ฝ่ายหนึ่งไม่มา   พระเจ้าปดุงจึงตั้งฝ่ายที่มาให้ได้บัลลังก์

           ๓  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๓๕๘  (ค.ศ.๑๘๑๕)   กองทัพอังกฤษได้รับชัยชนะต่อกองทัพฝรั่งเศสของพระเจ้านโปเลียนอย่างเด็ดขาดในการรบที่วอเตอร์ลู

          พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๐    ก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับราชบัลลังก์แคว้นอัสสัม    เจ้าจันทรกานต์สิงห์  เจ้าเมืองอัสสัม  ต้องหนีไปภูฏาน    พระเจ้าปดุงรีบส่งกองทัพเข้าไปในอัสสัม

           พม่านั้นมีชายแดนติดอินเดียเป็นระยะยาวทั้งยะไข่  มณีปุระ  และอัสสัม    ดังนั้น  เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองในแคว้นเหล่านั้น   พม่าจึงเกิดข้อขัดแย้งกับอังกฤษบ่อยขึ้น

    

พระเจ้าปดุงสวรรคต  -  พะคยีดอ (บาญีดอ - จักกายแมง) สมัย

          พ.ศ.๒๓๖๒  (ค.ศ.๑๘๑๙)  พระเจ้าปดุงสวรรคต    เจ้าชายพะคยีดอ จักกายแมง พระราชนัดดาได้ราชบัลลังก์  ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการของพระเจ้าปดุง  พระอัยกาธิราช เพื่อสร้างศรัทธาแก่ไพร่ฟ้าให้ประชานิยม  ได้แก่  ยกเลิกโตรงการทดน้ำขุดสระใหญ่   การสร้างพระมหาเจดีย์  งดเก็บภาษี  เป็นเวลา  ๓  ปี      และย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมายังกรุงรัตนปุระอังวะ    แต่ปัญหาต่างๆ ก็มิได้ลดลง    พระองค์ทรงมีพระอัธยาศัยดี  แต่ไม่เข้มแข็ง  พระมเหสี และพี่ชาย  คือเจ้ามินตาคยี  และหมู่ญาติจึงมีอิทธิพล และอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์   และใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง

            เมื่อกาลล่วงไปเพียงไม่ถึง  ๒  เดือน    การเมืองภายในพม่าก็เกิดความไม่สงบ     คือเกิดกบฏที่เมืองตองอู  และเมืองแปร  (คือพระเจ้าอา  ทั้งสองเมือง)   แต่ฝ่ายรัฐบาลพระเจ้าพะคยีดอก็ปราบลงได้  จึงประหารชีวิตพระเจ้าอาทั้งสองเสีย

 

ความยุ่งยากในมณีปุระ  พ.ศ.๒๓๖๒ - พ.ศ.๒๓๖๓

          ในพิธีราชาภิเษกพระเจ้าพะคยีดอ พระเจ้ามารชิตสิงค์เจ้าเมืองมณีปุระ (กระแซ)  ไม่ไปร่วมพิธี และไม่ส่งเครื่องบรรณาการ     พระเจ้าพะคยีดอจึงส่งกองทัพเข้าไปในแคว้นมณีปุระ   ในเดือนตุลาคม  พ.ศ.๒๓๖๒     ก็ได้มณีปุระอย่างง่ายดาย  เพราะ เจ้าเมืองฯ จึงหนีเข้าไปในแคว้นกะชาร์  และขับไล่เจ้าเมือง  คือพระเจ้าโควินท์จันทระต้องเสด็จออกลี้ภัยในแคว้นจันทร์เตีย   และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ  ทีแรกอังกฤษไม่ช่วยเหลือ     จึงหันมาขอให้พม่าช่วย     ฝ่ายราชบุตรพระเจ้ามารชิตสิงค์เจ้าเมืองมณีปุระก็นำกองทัพมาจะรบเอามณีปุระคืน     พม่าจึงส่งกองทัพเพิ่มเข้าไปในแคว้นมณีปุระอีก   ในเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.๒๓๖๓     (แคว้นกะชาร์ และแคว้นจันทร์เตีย อยู่ระหว่างแคว้นมณีปุระ กับแคว้นเบงกอล)   

          ฝ่ายอังกฤษเห็นความยุ่งยากที่เกิดขึ้น และเกรงว่าจะลามเข้ามาในแคว้นเบงกอล   จึงป้องกันความยุ่งยากอันอาจจะเกิดขึ้นด้วยการประกาศรวมแคว้นกะชาร์ และแคว้นจันทร์เตียเข้าไว้ในอารักขาของอังกฤษ อย่างรวดเร็ว

 

ไทรบุรี  ประเทศราช

          เวลานั้นพระยาไทรบุรีปะแงรัน  วิวาทกับพระยาอภัยนุราช  (ตนกูปันสนู)  ผู้น้องชาย ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสตูล   และทั้งสองเมืองขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช    เจ้าพระยานคร  (น้อย)  ตัดสินความไม่ถูกใจพระยาไทรบุรีปะแงรัน  จึงขัดเคืองและผูกใจเจ็บอยู่      ฝ่ายพม่าได้ทราบข่าวจึงส่งคนมาหว่านล้อมให้พระยาไทรบุรีช่วยพม่าตีหัวเมืองของไทย
    
          พระยาไทรบุรีให้กัปตัน  ฟรานซิส ไลท์  เช่าเกาะหมาก  ตั้งแต่  พ.ศ.๒๓๒๙    สมัยพระยาไทรบุรีผู้บิดาของปะแงรัน    และเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะ ปรินซ์ออฟเวลส์    ครั้นมาถึงยุคที่กล่าวนี้มีเรือเข้ามาค้าขายอยู่เนืองๆ

          (ไทรบุรีเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๘  -  ครั้งที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระยาเสือ ทรงชนะศึกสงครามเก้าทัพที่ทุ่งลาดหญ้าแล้ว   เสด็จกรีธาทัพลงไปรบพม่าทางปักษ์ใต้   เมื่อกองทัพพม่าล่ากลับไปหมดสิ้นแล้ว  ทรงจัดการหัวเมืองมลายูซึ่งเคยเป็นประเทศราชแต่แข็งเมืองครั้งกรุงธนบุรี   ให้กลับเป็นประเทศราชดังเดิม    เมืองไทรบุรีก็ได้เป็นประเทศราชในคราวนี้ด้วย)

                  .  .  .   เมื่อเสร็จศึกคราวนี้แล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระราชดำริว่า  มีราชกิจเกี่ยวกับหัวเมืองมลายูประเทศราชที่ค้างคามาจากแผ่นดินก่อน  และกองทัพแสนยากรก็พรั่งพร้อมอยู่แล้ว  ชอบที่จะแผ่พระบรมเดชานุภาพให้ประเทศราชกลับเป็นข้าขอบขัณฑสีมาดังเดิม   ทรงให้ข้าหลวงถือสาส์นไปถึงพระยาปัตตานี และ พระยาไทรบุรี      พระยาปัตตานี ขัดขืน ไม่ยอมอ่อนน้อม     จึงทรงให้  กองหน้าของพระยากลาโหมราชเสนา  พระยาจ่าแสนยากรยกลงไปตีเมืองปัตตานี      ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนออกไปด้วย

          บรรดาหัวเมืองทั้งปวงเหล่านั้น    ที่สู้รบจนพ่ายแพ้ปราชัยก็มีบ้าง   ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง   ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง

ฯลฯ

(รายละเอียดใน "อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ ๑๑ - สงครามเก้าทัพ - ป้กษ์ใต้ - ฝ่ายเหนือ")

 

 พ.ศ.๒๓๖๓

          พระเจ้าพะคยีดอได้ข่าวว่าเมืองไทยเกิดโรคระบาด   (แต่ความจริงไม่เกิด)    และได้พระยาไทรบุรีปะแงรันรับว่าจะช่วยรบกับไทยด้วย   จึงเตรียมการมาตีเมืองไทย     ทั้งๆ ที่พม่าเองก็มีปัญหายุ่งยากทางด้านแคว้นมณีปุระ    ทางฝ่ายไทยเมื่อระแคะระคายว่าพม่าจะยกมาเมืองไทยก็เตรียมการรับศึกอย่างแข็งขัน    ถึง   ๔  กองทัพ   ดังนี้

          กองทัพที่ ๑   พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   ทรงเป็นแม่ทัพ    ยกไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี     คอยสกัดข้าศึกทางด่านพระเจดีย์สามองค์

          กองทัพที่ ๒    พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศักดิพลเสพ     ทรงเป็นแม่ทัพ    ยกไปตั้งที่เมืองเพชรบุรี    คอยสกัดข้าศึกทางด่านสิงขร

               กองทัพที่  ๑  และ  ที่  ๒    ยกออกจากกรุงเทพฯ  เมื่อ  เดือนอ้าย  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ   (แรม 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง จ.ศ.1181   ตรงกับวันเสาร์    วันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ.2363)
 
          กองทัพที่ ๓    พระยากลาโหมราชเสนาเป็นแม่ทัพ  ยกไปรักษาเมืองถลาง

          กองทัพที่  ๔    พระยานครศรีธรรมราช  (น้อย)    เป็นแม่ทัพ      คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะตีหัวเมืองปักษ์ใต้

          ข้างฝ่ายพม่าปัญหาในมณีปุระยุ่งยากมากขึ้น    จึงเลิกแผนการตีเมืองไทย   

          พ.ศ.๒๓๖๔    เข้าฤดูฝนแล้ว  เป็นอันว่าพม่าไม่ยกมาแน่  ฝ่ายไทยก็ยกกลับ

         

พ.ศ.๒๓๖๕ - ย้ายเมืองหลวง   

พ.ศ.๒๓๖๖ - สงคราม พม่า - อังกฤษ  

            พระเจ้าพะคยีดอเสด็จยาตรา โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ สู่กรุงรัตนปุระอังวะ  ในเดือน  ๓  (ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์)  พ.ศ.๒๓๖๕   

          พอปีรุ่งขึ้น  มกราคม  พ.ศ.๒๓๖๖  ก็ส่งกองทัพเข้าไปในแคว้นมณีปุระอีก      คราวนี้อังกฤษไม่ยอม  ในที่สุดกำลังทหารของพม่าก็ปะทะกับทหารอังกฤษ     และอังกฤษประกาศสงครามกับพม่าใน  วันที่  ๕  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๖๖      เป็นสงคราม พม่า - อังกฤษ 

 

สงคราม พม่า - อังกฤษ ที่เกี่ยวข้องกับไทย

          เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับพม่าแล้ว   ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียก็ให้ จอห์น  ครอเฟิด  เรสิเดนท์ประจำสิงคโปร์ให้ขักขวนไทยไปช่วยรบพม่า  แต่ให้สงวนท่าทียังไม่ให้สัญญาว่าจะตอบแทนไทยอย่างไร

          ข้างไทยเราระยะนั้นก็ขัดเคืองใจอังกฤษด้วยเรื่องพระยาไทรบุรีปะแงรัน  ซึ่งหนีกองทัพพระยานครฯ ไปอาศัยร่มธงอังกฤษ ที่เกาะหมาก   และอังกฤษก็ปกป้องคุ้มครอง  กับเรื่องเปรัค    แต่เมื่อจอห์น  ครอเฟิด เข้ามาใน พ.ศ.๒๓๖๕  นี้   เน้นการเจริญทางพระราชไมตรีเป็น  ๒  ประการ   คือ ขอให้ไทยแก้ไขวิธีจัดเก็บภาษี  (คือขอลดหย่อนภาษี)  และขอให้พระยานครฯ คืนเมืองไทรบุรี ให้ปะแงรัน      ไทยเราตอบดีมากครับ  ท่านว่า 

          -  เรื่องเมืองไทรบุรี  เป็นคดีระหว่าง "ข้าทูลละอองธุลีพระบาท"  ถ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มาฟ้องร้อง  ก็จะดำเนินการให้อย่างยุติธรรม

          -  ส่วนเรื่องภาษีนั้น    หากอังกฤษสามารถให้ไทยซื้อหาเครื่องศาสตรวุธได้สะดวก  ไทยก็จะลดภาษีให้      อังกฤษก็ตอบตามรูปแบบ ว่า  ไทยก็ต้องสัญญาว่า จะไม่ใช้อาวุธเหล่านั้นไปรบพุ่งกับประเทศที่เป็นมิตรกับอังกฤษ   (ตอนนี้อังกฤษยังเป็นไมตรีกับพม่าอยู่)

          ไทยเราก็ประมาณใจอังกฤษได้ว่า  มิได้เป็นมิตรจริง  ประสงค์จะเอาประโยชน์ตนฝ่ายเดียว   การเยือนของ  จอห์น  ครอเฟิด  ในครั้งนี้ จึงไม่สำเร็จประโยชน์อย่างใด

 

ปะแงรัน + ๔  จะช่วยพม่าตีไทย

          ในต้นปีมะแม  พ.ศ.๒๓๖๖      พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน)  แต่งคนขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าพะคยีดอ  จักกายแมง  ขอกองทัพพม่ามาตีเอาเมืองไทรบุรี   และบอกด้วยว่า  พระยาปลิศ  พระยาเปรัค  พระยาสลังงอ  และพระยาปัตตานี  ก็จะช่วยรบด้วย   แล้วจะพากันขึ้นมาเฝ้าทั้ง  ๕  เมือง    พระเจ้าพะคยีดอ ก็ทรงยินดีพระราชทานเครื่องยศให้  ๕  สำรับ  เป็นเครื่องตอบแทน  โดยส่งผ่านมาทางเกาะหมาก  (ปรินซ์ออฟเวลส์)      เจ้าเมืองเกาะหมากจึงไม่พอใจพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน)      แต่ก็คิดว่าจะยกเป็นเหตุอ้างให้ไทยยอมคืนเมืองไทรบุรีให้แก่พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน)  ซึ่งอยู่ในกำมืออังกฤษอยู่แล้ว     จึงเชิญพระยานครฯ ไปเพื่อหารือ

          พระยานครฯ ส่งขุนอักษรเป็นผู้แทนไปเกาะหมากเมื่อ  เดือน  ๔  ปีมะแม  พ.ศ.๒๓๖๖     เจ้าเมืองเกาะหมาก  พยายามไกล่เกลี่ยให้ไทยยอมคืนเมืองไทรบุรี  พร้อมเชลยให้ปะแงรัน   แต่เมืองไทรบุรีต้องส่งเงินให้กรุงเทพฯ ปีละ  ๒,๐๐๐  เหรียญ  แทนการส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง   โดยเจ้าเมืองเกาะหมากเป็นประกัน    ก็พอดีอังกฤษประกาศสงครามกับพม่าใน  วันที่  ๕  มีนาคม  พ.ศ.๒๓๖๖        เจ้าเมืองเกาะหมากจึงบอกขุนอักษรให้เรียนพระยานครฯ  ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะรีบตกลงกันด้วยเรื่องไทรบุรี

          ในปีต่อมา  เดือน  ๕  ปีวอก  พ.ศ.๒๓๖๗     เจ้าเมืองเกาะหมากก็ได้รับคำสั่งให้ชวนฝ่ายไทยไปรบพม่าด้วยกัน   จึงทำหนังสือถึงพระยานครฯ  ขอให้รวบรวมเรือลำเลียงส่งไปช่วยกองทัพอังกฤษ  และให้รีบตกลงเรื่องเมืองไทรบุรีด้วย

          นายร้อยโท โล  ผู้ถือหนังสือขึ้นที่เมืองตรัง  บอกเข้ามาเมืองนครฯ ว่ามีราชการสำคัญขอมาพบพระยานครฯ   ท่านให้ นายร้อยโท โล อยู่คอยที่เมืองตรัง  จะออกมาพบเอง    ครั้นถึงกำหนด   พระยานครฯ ท่านป่วยจึงให้บุตร ออกไปรับหนังสือ  ไม่มีหน้าที่พูดจาตกลงใดๆ   (ได้แต่ฟัง)    นายร้อยโท โล รอพบพระยานครฯ อยู่ที่เมืองตรังประมาณเดือนหนึ่งไม่ได้พบแน่  จึงเขียนหนังสือถึงเสนาบดี  มอบให้เมืองนครฯ จัดส่งให้ถึงกรุงเทพฯ     แล้วตนเองก็เดินทางกลับ

          พระยานครฯ ก็ส่งหนังสือเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนกัน

          จอห์น  ครอเฟิด  ที่สิงคโปร์ก็ได้รับคำสั่งจาก ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียให้ชวนไทยไปรบพม่า   จึงทำหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส)  เมื่อ   เดือน   ๖  ปีวอก  พ.ศ.๒๓๖๗    ว่าชวนไปรบพม่า  และอนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษนำอาวุธเข้ามาขายให้ไทย    และตนเองก็เข้ามากรุงเทพฯ  ในเดือน  ๗  นั้น

          ฝ่ายไทยพยายามหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสงคราม พม่า - อังกฤษ  วิธีการก็คือ  ส่งกองอาทมาตที่ออกไปตระเวนด่านให้จับพม่ามาถาม    พม่าที่ถูกจับ  ไม่ทราบเรื่องสงคราม   ทางกรุงเทพฯ จึงได้ข่าวสารที่ไม่เป็นจริง  และ สอบถามนายเรือกำปั่นหลวงที่ไปค้าขายที่เกาะหมากก็ยังเห็นเรือพม่าไปมาค้าขายที่เกาะหมากอยู่    ไม่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พม่าและอังกฤษอยู่ในสภาวะสงคราม    จึงมิได้นำความกราบบังคมทูล

          แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบเหตุการณ์เป็นที่แน่ชัดแล้ว   ก็โปรดให้เตรียมกองทัพ  และให้ตรวจตราหน้าด่านตลอดชายแดนด้านพม่า    แต่ยัง มิทันได้ทรงกำหนดพระบรมราโชบายในการสงครามนี้   ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ  เดือน  ๘  แรม  ๑๑  ค่ำ  ปีวอก  พ.ศ.๒๓๖๗   (ตรงกับวันพุธ  วันที่  ๒๑  กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗  -  การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com)

 

 ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐    ๐ 

 

 

 

 

 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 ทรงครองราชย์  พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔  (ค.ศ.๑๘๒๔ - ๑๘๕๑)

 

 

 

 

. . . การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว  

จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง  ให้ระวังให้ดี  อย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ 

การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา 

แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว . . .

 
 

 

ในปีที่เสด็จเสวยราชสมบัติ คือ พ.ศ.๒๓๖๗   นั้น    สงคราม พม่า - อังกฤษ กำลังดำเนินอยู่ และ ดำเนินต่อไป

 

 กองทัพอังกฤษได้หยั่นโก้ง

         อังกฤษนั้นยึดเมืองหยั่นโก้ง (ย่างกุ้ง) ได้แล้ว  แต่เป็นเมืองเปล่าๆ ไม่มีผู้คน  ไม่มีอาหาร  เพราะฝ่ายพม่าเมื่อเห็นว่าจะสู้กำลังอังกฤษไม่ไหว  ก็อพยพผู้คนออกจากเมืองหมดและทำลายอาหารส่วนที่ไม่สามารถนำออกไปได้     กองทัพอังกฤษเมื่อได้เมืองแล้วก็เกิดปัญหา   ขาดแคลนเสบียงอาหาร    จะเคลื่อนทัพไปกรุงอังวะโดยทางบกก็ไม่ได้เพราะเป็นฤดูฝน   จะเคลื่อนย้ายขึ้นไปทางลำน้ำอิรวดีก็ไม่มีเรือ    และพม่าก็ตั้งกองทัพสกัดอยู่    ครั้นจะรักษาเมืองไว้ไม่ทำอะไรเลย  ก็เกรงว่าพม่าจะระดมกองทัพมาจากแคว้นยะไข่และแคว้นมณีปุระมาโจมตี    และกำลังฝ่ายตนที่เพิ่มเติมจากอินเดียอาจจะมาไม่ทันการ

          เซอร์ อาชิบัลต์ แคมป์เบล  ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย  ก็ไม่ทราบว่าจะพูดกับไทยอย่างไร    ในที่สุด  ก็ให้พันโท สะโน  ถือหนังสือถึงเจ้าเมืองเกาะหมากคือนาย  ฟุลเลอตัน ให้เร่งประสานฝ่ายไทย ยกทัพไปช่วยอย่างรวดเร็ว     และทางผู้สำเร็จฯ เองก็เตรียมกำลังให้ลงมาตีหัวเมืองชายทะเลของพม่า จนถึงเมืองทะวาย และมะริดเพื่อรวบรวมเสบียงอาหารส่งให้กองทัพที่หยั่นโก้ง

          ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยเรา   พันโท สะโน  กับนาย  ฟุลเลอตัน ได้หารือกันถึงวิธีการที่จะให้ไทยช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว    นาย  ฟุลเลอตัน เจ้าเมืองเกาะหมากจึงทำหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีในกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง  และถึงเจ้าพระยานครฯ อีกฉบับหนึ่ง

          หนังสือของนาย  ฟุลเลอตัน เจ้าเมืองเกาะหมาก ถึงเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีในกรุงเทพฯ  สรุปความว่า   .  .  .  ขอให้สั่งพนักงานที่รักษาด่านแดน ให้ทราบว่า  ทหารอังกฤษเป็นมิตรกับไทย ขอให้ช่วยกำลังตามแต่นายทหารอังกฤษจะต้องการ  และว่า  ถ้าให้กองทัพไทยไปช่วยตีเมืองพม่าในเวลานี้  ก็จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

          ส่วนฉบับถึงเจ้าพระยานครฯ  สรุปความว่า  .  .  .  ขอให้ถือว่า  ทหารอังกฤษเป็นมิตร    ถ้าช่วยจัดหาเสบียง โค  กระบือ  และช้างม้า พาหนะส่งไป  ให้เป็นกำลังอังกฤษและให้กองทัพไทยที่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยานครฯ ยกไปช่วยรบพม่าด้วย  ก็จะเป็นประโยชน์แก่ไทยเป็นอันมาก    และในท้ายหนังสือบอกว่า  พันโท สะโน ซึ่งถือหนังสือมานี้จะไปตีเมืองมะริด  จะพูดจาอย่างไร   ขอให้เชื่อถือเหมือนกับเจ้าเมืองเกาะหมาก  ทุกประการ

          นอกจากมีหนังสือถึง เสนาบดี ในกรุงเทพฯ  ถึงเจ้าพระยานครฯ ผู้มีกองทัพในมือแล้ว  เจ้าเมืองเกาะหมากยังมีหนังสือถึงเจ้าเมืองกรมการไทยที่ต่อแดนเมืองทะวาย  เมืองมะริด  เมืองตะนาวศรี   สรุปว่า  .  .  .  อังกฤษเป็นมิตรกับไทย และรบพม่า  ถ้านายทหารอังกฤษ มาถึงที่ติดต่อแดนไทย   และต้องการความช่วยเหลือประการใดขอให้ผู้รักษาเมืองอุดหนุนให้ด้วย

          ครับ  .  .  .  ประสานทุกระดับ   โดยเฉพาะกับเจ้าเมืองด่านแดนนั้น  หากหลงอุดหนุนช่วยเหลือกองทัพอังกฤษไปโดยไม่ได้รับคำสั่งจากทางกรุงเทพฯ  ก็เป็นปัญหาของเจ้าเมือง  แต่หน่วยทหารอังกฤษนั้นก็ได้ประโยชน์ไปก่อนแล้ว   หากไม่อุดหนุน  กองทหารอังกฤษก็ไม่เสียประโยชน์   เรียกว่าอังกฤษมีแต่เสมอกับได้

          ฝ่าย  นาย จอห์น  ครอเฟิด  ที่สิงคโปร์  เมื่อได้ทราบข่าวจากเจ้าเมืองเกาะหมาก    ในเดือน  ๑๑   จะมีเรืออังกฤษเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ   จึงฝากปืนคาบศิลา  จำนวน  ๑,๐๐๐  กระบอก   เข้ามาให้เจ้าพระยาพระคลัง  ว่าเป็นเครื่องบรรณาการ ส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม   - ครอเฟิด ยังไม่ทราบว่าเปลี่ยนรัชกาลแล้ว     และยังแจ้งให้เจ้าพระยาพระคลังทราบว่า    สิ้นฤดูฝนนี้กองทัพอังกฤษจะได้กำลังเพิ่มเติมอีกมาก   จะยกเข้าตีกรุงอังวะเป็นสองทางคือ   จากเมืองหยั่นโก้ง  ทางใต้ขึ้นไป    และกองทัพทางอินเดียจะตีจากทางชายแดนเมืองบังกล่า  (ตะวันตก/ตะวันตกเฉียงเหนือ)   .  .  .  การสงครามเห็นจะเสร็จเรียบร้อยในฤดูแล้งนี้   

          และระหว่างที่การเมืองระหว่างประเทศดำเนินการกันอยู่นี้    กิจกรรมทางการทหารก็ดำเนินไปด้วย

 

กองทัพอังกฤษที่หยั่นโก้ง

          ฝ่ายพม่าพยายามตั้งค่ายดักรายทางมากขึ้น    ฝ่ายอังกฤษก็ออกมาต่อสู้  และได้เปรียบที่มีปืนใหญ่ดีกว่ามาก จนพม่าต้องแตกหนีเป็นหลายครั้ง    แต่อังกฤษก็ไม่มีกำลังพอและเป็นฤดูฝน จึงยังไม่สามารถรุกไล่ติดตามเอาชนะให้เด็ดขาดได้   การเพิ่มเติมกำลังจากอินเดียก็กระทำได้ไม่สะดวก    จึงทำได้แต่เผาค่ายพม่าเท่านั้น    แต่รัฐบาลอังกฤษในอินเดียจึงให้เซอร์ อาชิบัลต์ แคมป์เบล   แบ่งกำลังกองทัพเรือมาตีหัวเมืองชายทะเล    ในเดือน ๑๐  และ  เดือน  ๑๑    อังกฤษก็ได้เมืองทวาย   (๙  กันยายน)  และ เมืองมะริด   (๖  ตุลาคม)      ส่วนเมืองเมาะตะมะ   พลเมืองมอญก็เข้าด้วยอังกฤษ  จนเจ้าเมืองซึ่งเป็นพม่าต้องเผาเมือง แล้วหนีไปเมืองสะเทิม ซึ่งอยู่ทางเหนือ    อังกฤษก็ตีต่อไปถึงเมืองเร  (เย) 


พระบรมราโชบายเกี่ยวกับสงคราม พม่า - อังกฤษ

          พระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับสงครามนี้   น่าจะทรงเห็นว่า  การที่จะไปช่วยอังกฤษรบนั้น  ไทยก็คงจะมิใคร่ได้ประโยชน์อะไร   ดีแต่จะก่อเหตุให้ร้าวรานขึ้นแก่อังกฤษพระบรมราโชบาย จึงน่าจะ  "รักษาทางพระราชไมตรีต่ออังกฤษ  และ ป้องกันพระราชอาณาจักร"

          กระแสพระราชดำริที่ปรากฏในท้องตราพระราชสีห์ในหอพระสมุดฯ  มีถ้อยคำว่า "อ้ายพม่าทำศึกกับกรุงเทพฯ มาก็ช้านาน  หาเป็นท่วงทีเหมือนครั้งนี้ไม่"    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า  .  .  .  ไม่ได้มีพระราชประสงค์ในชั้นแรก  ว่าจะให้กองทัพไทยไปรบพุ่งพม่าด้วยกันกับกองทัพอังกฤษอย่างเช่นแม่ทัพอังกฤษต้องการ  .  .  .  เจ้าเมืองเกาะหมาก และครอเฟิด ก็ไม่ได้บอกมาว่าอังกฤษต้องการ  และต่างสงวนท่าทีไม่ยอมเปิดเผยว่าไทยจะได้อะไร  คิดแต่เพียงว่าไทยเป็นอริกับพม่า  เมื่อมีประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ไทยก็คงยินดีร่วมมืออย่างดี   และได้แต่ร้องขอให้ส่งเสบียง พาหนะ  และกองทัพไปช่วยอังกฤษ    ทำให้ไทยระแวงว่าจะ(หลอก)เอาไทยไปใช้มากกว่า

          พระราชประสงค์ในการส่งกองทัพไปรบนี้  หมายถึง  จะรบพม่าแต่โดยลำพังโดยทางหนึ่งต่างหาก   (ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ   แต่อาจจะวางแผนร่วมกันและแยกการปฏิบัติ)

        ความมุ่งหมายหรือภารกิจทางยุทธศาสตร์ของไทยในการรบพม่าครั้งนี้  ปรากฏในท้ายพระราชดำริที่กล่าวแล้วว่า  ".  .  .  จะต้องคิดราชการกวาดต้อนเอาครอบครัวเมืองเมาะตะมะเข้ามาให้ได้จงมาก    อย่าให้อ้ายพม่าตั้งเมืองเมาะตะมะขึ้นได้ดังแต่ก่อน"     จึงได้ข้อยุติตกลงว่าจะให้กองทัพไทยยกไปตีพม่า    ในเดือน  ๑๒  ปีวอก  พ.ศ.๒๓๖๘    และ เพื่อให้บรรลุภารกิจ   จึงโปรดให้จัดกองทัพเป็น  ๒  หมู่กองทัพ  คือ

          หมู่กองทัพทางใต้    เคลื่อนที่รุกเข้าดินแดนข้าศึกตามแนวทางด่านพระเจดีย์สามองค์   

            - พระยารัตนจักร  (สมิงสอดเบา)  คุมกองทหารมอญเป็นหน่วยลาดตระเวนหาข่าวในแดนข้าศึกก่อน

            - เจ้าพระยามหาโยธา  (ทอเรีย)  บุตรพระยามหาโยธา  (เจ่ง)    คุมพลรามัญ  ทัพ  ๑    ยกเข้าไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์

            - พระยาชุมพร (ซุย)    นำกองทัพเมืองชุมพร  เมืองไชยา   เป็นกองทัพเรือยกไปทางเมืองมะริด  เมืองทวาย

          หมู่กองทัพทางเหนือ      เคลื่อนที่รุกเข้าดินแดนข้าศึกตามแนวทางด่านแม่ละเมา

            - พระยามหาอำมาตย์    ขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองตาก

            - พระยาวิชิตณรงค์    ขึ้นไปตั้งที่เมืองอุทัยธานี
 
          ภารกิจกองทัพไทยในคราวนี้เป็นไปตามพระราชประสงค์ คือ  เพื่อป้องกันพระราชอาณาเขตมิให้อังกฤษล่วงเลยเข้ามาเท่านั้น     แต่ก็มีครอบครัวมอญลี้ภัยขอให้กองทัพพาเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจำนวนหนึ่ง    (ครอบครัวมอญที่กองทัพช่วยให้เข้ามาโดยไม่ได้ขอ ก็คงมีบ้าง)

 

การรุกเข้าดินแดนพม่า

          กองกำลังของพระยารัตนจักร เข้าปฏิบัติการในดินแดนแคว้นมอญ  ในเดือน  ๑๒     เจ้าเมือง และกรมการหัวเมืองมอญทั้งหลายยินดีเป็นอันมาก  บางเมืองก็รับจะจัดกำลังสนับสนุนกองทัพพระยามหาโยธา     และให้ข่าวสารว่า  เมื่อกองทัพเรืออังกฤษมาตีเมืองเมาะตะมะนั้น  ว่าจะรักษาเมืองเมาะตะมะไว้ให้ไทย

           พระยารัตนจักรกลับเข้ามาพบกองทัพพระยามหาโยธาที่ด่านหลุมช้าง  แขวงเมืองไทรโยค  ในเดือนอ้าย    พระยามหาโยธาก็เร่งนำกองทัพไปถึงเมืองเตริย  (อัตรัน)  ในเดือนอ้ายนั้น    แล้วทำหนังสือกราบบังคมทูลสถานการณ์        ทรงเห็นว่ากองทัพพระยามหาเสนานั้นกำลังน้อยนัก   จึงโปรดให้

          - พระยามหาอำมาตย์  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองตาก  แบ่งกำลังที่เมืองตากส่งไปเพิ่มเติมกำลังให้พระยามหาโยธา  กองหนึ่ง   

          - พระยาพิพัฒโกษา  นำกองทัพที่เกณฑ์จากหัวเมืองชั้นใน   ยกไปหนุนพระยามหาโยธา  กองหนึ่ง

          - พระยาสุรเสนาเป็นกองหน้า  มีกำลัง  ๓,๐๐๐   ยกออกจากกรุงเทพฯ  ในเดือนยี่  ไปตั้งที่แม่น้ำน้อย  ใกล้พรมแดน

          - เจ้าพระยาอภัยภูธร  สมุหนายก  เป็นแม่ทัพใหญ่   เตรียมกองทัพหลวงไว้ที่กรุงเทพฯ   อีกกองหนึ่ง

          - ให้พระเจ้านครลำปาง   คิดอ่านกับพระเจ้าเชียงใหม่   เกณฑ์กองทัพล้านนายกไปตีพม่าด้วยอีกทางหนึ่ง

 

          การสงคราม พม่า - อังกฤษดำเนินต่อไปจนพม่าต้องยอมแพ้  และลงนามในสนธิสัญญายันดาโบ   เมื่อ  ๓  มกราคม   พ.ศ.๒๓๖๘  (ค.ศ.๑๘๒๕)     


          ผลของสงคราม พม่า - อังกฤษ  ครั้งนี้       พม่าต้องเสียดินแดน แคว้นอัสสัม  แคว้นยะไข่  เมืองเย  เมืองทวาย   เมืองมะริด  และเมืองตะนาวศรี  ให้อังกฤษ  และยอมรับว่า  แคว้นมณีปุระ  กะชาร์ และจันทร์เตีย  เป็นดินแดนของอังกฤษ   กับเงินค่าปรับ เป็นจำนวน  ๑ ล้านปอนด์สเตอร์ลิง     แต่ละฝ่ายมีผู้แทน    และทั้งสองฝ่ายจะลงนามในสัญญาค้าขายกันในเวลาต่อไป 

 

          ส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย  ก็คืออังกฤษหาว่ากองทัพไทยไปกวาดต้อนครอบครัวมอญเข้ามา   (ที่สมัครใจขอเข้ามามีอยู่แล้ว  แต่ที่ไม่สมัครใจก็คงมีบ้างเหมือนกัน นะครับ)  จึงขอให้ครัวมอญคืน    ซึ่งไทยก็ยอมให้

 

ผลของสัญญานี้ทำให้พม่าไม่สามารถใช้เมืองเมาะตะมะเป็นที่มั่นสำหรับยกมารุกรานเมืองไทยได้อีกต่อไป

ไทยก็เลิกความคิดที่จะตีเมืองเมาะตะมะเช่นกัน

 

 

          สงคราม  พม่า - อังกฤษ   มีเรื่องที่น่าสนใจ  และการที่ อังกฤษชวนไทยรบพม่า  นั้นเป็นเรื่องที่น่าศึกษา  เพราะดูเหมือนไทยเรายินดีเป็นพันธมิครกับอังกฤษ  แต่มีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ผลประโยชน์ของชาติแหละครับ  .  .  .  คงได้มีโอกาสคุยเรื่องนี้กัน  

 

 

          พระราชอาณาจักรพม่าเมื่อแพ้สงครามอังกฤษในครั้งนี้แล้ว  พระเจ้ากรุงอังวะ พะคยีดอ จักกายแมง  ก็ทรงพระโทมนัส  ไพร่ฟ้าพม่าก็เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เพราะต้องช่วยกันบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือค่าปรับ   จำนวน  ๑ ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

          ในที่สุด    ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างวุ่นวาย และนองเลือด ในราชสำนักพม่า  จากพระเจ้าพะคยีดอ  เปลี่ยนเป็นพระเจ้าสารวดี  (แสรกแมง)  พระอนุชา ในพ.ศ.๒๓๘๐      และต่อมาใน  พ.ศ.๒๓๘๙  ก็เปลี่ยนเป็นพระเจ้าพุกามแมง  พระโอรส      ระหว่างที่ พระราชอาณาจักรพม่ามีปัญหาอยู่นี้  พระราชอาณาจักรไทยก็นับว่าสงบสุข  ด้วยไม่มีพม่าข้าศึกมารุกราน

          ครับ  .  .  .  หลังจากการที่หัวเมืองลื้อ  เมืองเขิน และ สิบสองปันนาได้เข้าสวามิภักดิ์    ทำให้พระราชอาณาเขตแผ่ขยายออกไปจดอาณาจักรจีน  ตั้งแต่  พ.ศ.๒๓๔๘  ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น    พระราชอาณาจักรไทยก็ดูเหมือนกับไม่ได้สนใจดินแดนปลายพระราชอาณาเขตด้านเหนือสุดนี้    และดินแดนส่วนนี้ก็คงจะห่างเหินเสียจนลืมเลือนไปว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย  .  .  .  จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๙๒       แต่ขอท้าวความเสียก่อนนะครับ  .  .  .

 

 

เชียงรุ่ง  เมืองสามฝ่ายฟ้า  -  สาเหตุ

 

         เมืองเชียงรุ่ง/เจียงฮุ่ง  (Jinghong)   เมืองเอกในมณฑลยูนนานของจีนในปัจจุบัน    ครั้งกระนั้น เป็นเมืองในแคว้นสิบสองปันนา  ตั้งอยู่ในระหว่างจีน  พม่า  และล้านนา  ฝ่ายใดมีแสนยานุภาพมาก ก็ได้ครอบครองเชียงรุ่ง  ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช     เมืองเชียงรุ่งก็ได้อยู่ภายใต้พระบรมเดชานุภาพ   ตั้งแต่   พ.ศ.๒๓๔๘    (รายละเอียดปรากฏใน  "พม่าตีเมืองเชียงใหม่ -  ขับไล่พม่าจากลานนา")    แต่ทางกรุงเทพฯ ต้องเพ่งเล็งเรื่องอื่นก่อน    จึงไม่ได้สนใจทางสิบสองปันนามากนัก แคว้นสิบสองปันนาก็เลยทำเฉยๆ ห่างเหินไปบ้าง    ส่วนทางพม่าก็ต้องพยายามหาเงินค่าปรับจ่ายให้อังกฤษตามสัญญา  และยังยึดครองเมืองเชียงตุงอยู่

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว              

          ครั้น พ.ศ.๒๓๘๖ (ค.ศ.๑๘๔๓)   สมัยพระเจ้าสารวดี  (แสรกแมง)   เจ้าหม่อมมหาวังแห่งเมืองเชียงรุ่งถึงแก่อนิจจกรรม    เจ้ามหาขนานผู้เป็นอาขึ้นนั่งเมืองแทน   บุตรเขยของเจ้าหม่อมมหาวัง คือเจ้าศาลวัน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าราชบุตรไม่พอใจ  จึงร่วมมือกับเจ้ามหาชัย ผู้เป็นน้องเขยของเจ้าหม่อมมหาวัง  (เจ้ามหาชัยก็เป็นอาเขยของเจ้าศาลวัน)  จับเจ้ามหาขนาน ฆ่าเสีย  แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ่ง  ตั้งน้องชายเป็นเจ้าอุปราช  และคงเข้าใจว่า ทางกรุงเทพฯ ทอดทิ้ง ไม่เอาใจใส่ดูแล   และทางพม่าก็ อ่อนแอแพ้อังกฤษ   เจ้าศาลวันจึงหันเข้าหาจีน  เจ้าเมืองฮุนหนำ แต่งตั้งให้เจ้าศาลวันเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่ง    

 

          ครับ . . .  ก็เมื่อญาติ แย่งชิงบัลลังก์กัน จนต้องผลาญญาติ    ผลาญกันเองยังไม่พอ     ผู้แพ้ก็แสวงหาชักนำผู้อื่นให้เข้ามาช่วยผลาญญาติตนเองอีกด้วย  

 

 

          หม่อมหน่อคำบุตรเจ้ามหาขนานก็ไปหาเจ้าเมืองเชียงตุงขอให้ช่วยให้ตนได้เป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งแทนบิดา  เจ้าเมืองเชียงตุงส่งหม่อมหน่อคำไปกรุงอังวะ  (หม่อมหน่อคำน่าจะได้นำเงินไปช่วยเหลือและรับปาก ว่าจะช่วยสนับสนุนเงินค่าปรับที่ต้องจ่ายให้อังกฤษด้วย)  ทางกรุงอังวะ จึงให้เมืองหมอกใหม่ และเมืองเชียงตุงรวบรวมจัดกำลังได้   ๓ พัน คน ยกไปเมืองเชียงรุ่ง  เพื่อจะชิงบัลลังก์จากเจ้าศาลวันมาให้หม่อมหน่อคำ

          ฝ่ายเจ้าศาลวัน รู้ข่าวก็ตกใจ ฝ่ายนางปิ่นแก้วผู้มารดาจึงติดต่อกับจักกายหลวงข้าหลวงพม่าที่มากับกองทัพพร้อมส่งเงิน ๕๐ ชั่ง  และทองคำ  ๒ ชั่ง  ๑๐ ตำลึง ไปช่วยราชการพม่า   ข้าหลวงพม่าตอบหนังสือว่า ต้องปฏิบัติตามที่ทางกรุงอังวะสั่งมาก่อนคือให้หม่อมหน่อคำเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่ได้สั่งให้คุ้มครองป้องปก  ขอให้จัดการกันเอง   เจ้าศาลวันก็พากำลังของตนหลบหนีไปนอกเมือง      กองทหารพม่าก็จัดการให้หม่อมหน่อคำได้เป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งตามสัญญาแล้วก็ยกกลับไป  

          กาลเวลาผ่านไป  ๓ วัน เจ้าศาลวันก็ยกกำลังเข้าชิงบัลลังก์เป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งได้อีก     หม่อมหน่อคำต้องไปหาเจ้าเมืองเชียงตุง กล่าวโทษว่าข้าหลวง (พม่า) ทอดทิ้ง  เมืองเชียงตุงก็รับเรื่องส่งไปกรุงอังวะ     พระเจ้าอังวะจึงส่งกองทัพ จำนวน ๑ หมื่นไปเมืองเชียงรุ่งอีก    คราวนี้  เจ้าศาลวัน เลยหนีไปเมืองจีน   เจ้าอุปราชน้องชายถูกจับส่งไปกรุงอังวะ   หม่อมมหาชัยผู้อาเขย พาผู้คน ราว  ๑ หมื่น หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ที่เมืองหลวงภูคา  เขตเมืองน่าน   

          หม่อมหน่อคำก็ได้ครองเมืองเชียงรุ่งอีกครั้งหนึ่ง  แต่ต่อมาไม่นาน ก็เกิดขัดแย้งกับพรรคพวก จนเกิดเหตุการณ์จลาจลฆ่าฟันกันวุ่นวายในเมืองเชียงรุ่ง    เจ้าศาลวันเห็นเป็นโอกาสจึงไปกรุงอังวะ ซึ่งเป็นรัชสมัยพระเจ้าพุกามแมง  ขอเป็นเจ้าเมืองเชียงรุ่งพร้อมทั้ง รับว่าจะถวายเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง  (ซื้อตำแหน่ง ?)   พระเจ้าพุกามแมงก็โปรดให้ตามที่เจ้าศาลวันขอ    

          จำเนียรกาลผ่านมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๙๒  (ค.ศ.๑๘๔๙)  เจ้าศาลวันหาเงินที่จะส่งไปถวายพระเจ้าพุกามแมงไม่ได้ตามสัญญา จึงต้องประกาศเรียกเอาจากราษฎร ให้ช่วยชาติกันคนละไม้ละมือ  ทำให้เดือดร้อน และเกิดกบฏ      เจ้าศาลวันต้องเดินทางไปกรุงอังวะ เพื่อขอกำลังมาปราบกบฏและผลัดผ่อนเรื่องเงิน แต่ไม่ทันการ  

          เหตุการณ์ทางเชียงรุ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น    พวกกบฏได้เปรียบมาก  จนเจ้าอุปราชต้องพามารดาหนีไปเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย   

          ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าอุปราชเมืองเชียงรุ่งและมารดา พร้อมทั้งหม่อมมหาชัยซึ่งอยู่ที่เมืองหลวงภูคา เมืองน่าน ลงมากรุงเทพฯ  และทรงพระราชดำริว่า การที่พม่ามีอิทธิพลในเชียงรุ่งได้เนื่องจากได้อาศัยเมืองเชียงตุงเป็นที่มั่นสนับสนุนได้  หากไทยได้เมืองเชียงตุงไว้แล้ว  เมืองเชียงรุ่งก็จะปลอดภัย      และเมืองเชียงใหม่กับเมืองเชียงตุง ก็ขัดเคืองกันอยู่         

 

          จึงทรงพระกรุณาให้เมืองเชียงใหม่  เมืองนครลำปาง  เมืองลำพูน  จัดกองทัพ  รวมพลทั้งสิ้น  ๖ พัน  ๕ ร้อย  ไปตีเอาเมืองเชียงตุง

 

สงครามเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๒

          เมืองเชียงใหม่ตั้งพระยาอุปราชเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปทางเมืองเชียงรายกองหนึ่ง   และพระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ยกไปทางเมืองสาดอีกกองหนึ่ง   กำหนดพร้อมกันที่เมืองเชียงตุงในเดือน ๔   พ.ศ.๒๓๙๒    นั้น 

          พระยาราชบุตรเดินทัพตรงไปเมืองเชียงตุง  จึงไปถึงก่อน   แต่กำลังไม่พอจึงต้องตั้งรออยู่ จนเสบียงอาหารหมดต้องถอยทัพ

          ฝ่ายพระยาอุปราชเดินทัพจากเชียงรายตีหัวเมืองรายทางด้วยจึงไปถึงเมืองเชียงตุงล่าช้าไป

 

          การตีเมืองเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๒ จึงไม่สำเร็จ เพราะ กองทัพเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถรวมกำลังอันมากเข้าด้วยกัน ในเวลาที่เหมาะได้    ประจวบกับเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร   การดำเนินการต่อเมืองเชียงตุงจึงได้ชลอไว้    จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๓๙๔

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

           -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

           -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

          -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

           -  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑  ถึง  รัชกาลที่ ๓    ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์  แสงโสม  เกษมศรี  และ  นางวิมล  พงศ์พิพัฒน์    กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเรียบเรียง    สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กุมภาพันธ์  ๒๕๒๓

          -  แผนที่ - ภูมิศาสตร์    ของ  ทองใบ  แตงน้อย     โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช   พ.ศ.๒๕๓๖

             -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 


 




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker