dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ครั้งที่สุดไทยรบพม่า
วันที่ 16/02/2020   21:01:01

*  *  *

 ครั้งที่สุดไทยรบพม่า

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงครองราชย์  พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑  (ค.ศ.๑๘๕๑ - ๑๘๖๘)

 

          ในจำนวนสงคราม ไทย - พม่า ตามพระนิพนธ์ไทยรบพม่านั้น เป็นที่รู้จัก และนำมาศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ทั่วไป ก็มีไม่กี่ครั้ง  และที่ศึกษาในด้านประวัติศาสตร์การสงคราม ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก    การสงครามไทย - พม่า ในคราวไทยไปตีเมืองเชียงตุง นี้ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย   จึงใคร่นำมาเผยแพร่เพื่อท่านที่สนใจจะได้ศึกษา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และความไม่รู้กันต่อไป  .  .  .  

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .

            การตีเมืองเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๒  จึงไม่สำเร็จ เพราะกองทัพเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถรวมกำลังอันมากเข้าด้วยกัน ในเวลาที่เหมาะได้    ประจวบกับเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร   การดำเนินการต่อเมืองเชียงตุงจึงได้ชลอไว้ จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๓๙๔

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

          เจ้าศาลวันก็ได้ครองเมืองเชียงรุ้งดังเดิม  ในต้นปี พ.ศ.๒๓๙๔  นั้นเอง  ได้แต่งทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการมาถวาย พร้อมศุภอักษรขอบพระทัยที่ทรงพระกรุณาแก่มารดาและญาติในห้วงเวลาที่เกิดจลาจลที่เชียงรุ้ง และขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไป พร้อมทั้งขอพระราชทานมารดาและญาติกับครอบครัวชาวลื้อที่เมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง กลับไปเมืองเชียงรุ้งด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ตามที่ขอ  แต่การขออยู่ในขอบขัณฑสีมานั้นทรงให้คณะเสนาบดีพิจารณา  แล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

          คณะเสนาบดีได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วทำหนังสือกราบบังคมทูล สรุปความว่า  .  .  .  ประเพณีเมืองน้อยมาขอพึ่งเมืองใหญ่ควรต้องรับไว้    ถ้าไม่รับ  กิตติศัพท์ทราบไปถึงไหนก็จะเสียพระเกียรติยศในนานาประเทศ  .  .  .  และเห็นว่า  .  .  .  กองทัพเมืองเชียงใหม่ที่ไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ นั้น  เกือบจะได้ชัยชนะอยู่แล้ว  เพียงแต่ กองทัพเมืองเชียงใหม่ทำการไม่พร้อมเพรียงกัน  หากจัดกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปด้วย  การย่อมน่าจะสำเร็จได้เป็นแม่นมั่น   และพม่าเองก็กำลังทำสงครามกับอังกฤษเป็นสมัยที่สอง  ยิ่งจะเป็นผลดีแก่ไทยยิ่งขึ้น

 

สงครามเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๕

          จึงทรงพระกรุณาให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นแม่ทัพใหญ่  ยกไปตีเมืองเชียงตุงใน พ.ศ.๒๓๙๕  (ค.ศ.๑๘๕๒)   เจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า

 

 

 

 

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท   แม่ทัพใหญ่ ในสงครามเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๕, ๒๓๙๖

 

แผนการสงครามของไทย

ขั้นที่ ๑  การเตรียมพล และเคลื่อนย้ายเข้าสู่ที่รวมพล

          ๑. กองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิท   มีทั้งกำลังจากคนในกรุงเทพฯ ทั้งวังหลวง วังหน้า  สองพันเศษ  กับที่เรียกเกฌฑ์จากหัวเมืองชั้นในต่างๆ  คือ เมืองพิษณุโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองพิชัย  เมืองพิจิตร  เมืองนครสวรรค์  เมืองเพชรบูรณ์  เมืองวิเชียร  และเมืองหล่มศักดิ์ ได้ประมาณ  ๒ พัน  ๔ ร้อย   รวมรี้พลกองทัพกรมหลวงวงศาฯ  ๔,๕๐๐  นายเศษ     ช้าง  ๒๔๕  เชือก    โคต่าง  ๑๕๗  ตัว

          ๒. กองทัพเจ้าพระยายมราช  (กองทัพหน้า)    มีกำลังพลจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองประมาณ  ๒,๐๐๐    ช้าง  ๑๔๕  เชือก

          นอกจากนี้  ยังเกณฑ์คนจากภาคพายัพทุกหัวเมืองอีก  ๒๐,๐๐๐      พลลำเลียงจากเมืองหลวงพระบางอีก  ๓,๐๐๐  คน

          สรุป  สิริรวมรี้พลสกลไกรไปการพระราชสงครามเมืองเชียงตุงครานี้   ประมาณ  ๓๐,๐๐๐   ช้าง  และโคต่าง  อีกจำนวนหนึ่ง    ด้านเครื่องแสงศาสตราวุธ  มีปืนใหญ่  ขนาด  กระสุน  ๓  นิว  ๑  กระเบียด  จำนวน  ๕  กระบอก    ปืนขนาดกลาง  (ไม่บอกขนาด)  จำนวน  ๑๙๑  กระบอก 

          กำหนดชุมพลพร้อมที่เมืองเชียงแสน    (ไม่กำหนดเวลา)

           เจ้าพระยายมราช ยกกองทัพหน้าออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ  วันพฤหัสบดี   เดือน  ๑๒  แรมค่ำ ๑  ปีชวด พ.ศ.๒๓๙๕  ตรงกับวันที่  ๒๘  เดือนตุลาคม      ตามเส้นทาง เมืองกำแพงเพชร - เมืองตาก - เมืองเชียงใหม่   ใช้เวลา  ๒ เดือน กับ  ๒ วันจึงถึงเชียงใหม่  และต้องพักรอรี้พล และเสบียง ที่เชียงใหม่อีก  ๑ เดือน กับ  ๗ วัน  จึงเดินทัพต่อไปเชียงแสนได้  และได้ไปถึงช้ากว่ากองทัพหลวงถึง  ๓  วัน  

          กรมหลวงวงศาฯ  เสด็จยาตราทัพออกจากกรุงเทพฯ ภายหลังกองทัพหน้า   ๒๐ วัน  โดยกระบวนเรือไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ ก็ต้องพักรอรี้พล และพาหนะเสียอีก เดือนเศษๆ  จึงเดินทางบกต่อไปถึงเมืองน่าน - เมืองเชียงของ   ใช้เวลาทั้งสิ้น  ๓ เดือน จึงถึงเมืองเชียงแสน         

          การที่กองทัพทั้งสองต้องพักรอรี้พลและพาหนะอยู่ถึงเดือนเศษ นั้น แสดงถึงความพร้อม และประสิทธิภาพของระบบการระดมสรรพกำลังในยุคนั้น  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบ้านเมืองอยู๋อย่างสงบสุขมาเป็นเวลานาน  เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงไม่ได้รักษาข้อมูลต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน เมื่อถึงคราต้องปฏิบัติพระราชสงครามจึงให้ขัดข้องขลุกขลักล่าช้าไป

 

 

 

 

 

 

                                                          

 

 

เมืองเชียงตุง 

อยู่บนยอดเขาสูง  ภูมิประเทศล้อมรอบด้วย ป่าเขา   มีป้อมปราการและสนามเพลาะภายนอก    จำกัดเส้นทางเข้า - ออก   เป็นชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งรับ  สามารถใช้คนน้อย ต่อสู้คนมากได้  แต่หากถูกปิดล้อมอยู่นานก็อาจขาดแคลนเสบียงอาหารได้  ซึ่งฝ่ายปิดล้อมก็อาจจะขาดแคลนได้เหมือนกัน

 

 

ขั้นที่  ๒  การเข้าสู่สนามรบ

          เมื่อกองทัพทั้งหมดถึงพร้อมกันแล้ว  ปรากฏว่าเสบียงจากเมืองต่างๆ ยังนำส่งไม่ครบตามแผน  ค้างอยู่อีกประมาณร้อยละ  ๓๐   แต่เพื่อไม่ให้เสียผลทางการรบ แม่ทัพใหญ่จึงรับสั่งให้เจ้าพระยายมราช แม่ทัพหน้า นำกองทัพหน้า กับกองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองลำพูน  เดินทัพไปเชียงตุง ผ่านทางเมืองพยาค

          เมื่อถึงเมืองพยาคแล้ว  แม่ทัพหน้าสั่งให้   กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกไปทางด่านผาช้าง   กองทัพเมืองลำพูน ไปทางเมืองล้ง  และกองทัพเมืองนครลำปาง เมืองแพร่ร่วมกันยกไปทางเมืองยอง (ไม่ใช่เมืองยอ)  ส่วนแม่ทัพหน้านำกองทัพจากกรุงเทพฯ ตามไปทางด่านผาช้าง  

          ส่วนทัพหลวงเคลื่อนทัพตามทัพหน้า เมื่อทัพหน้าเคลื่อนที่ไปแล้ว เป็นเวลา ๑๓ วัน

 

 

 

 

ขั้นที่  ๓  การเข้าตี (ที่ยังไม่ได้เข้าตี)

          กองทัพเมืองเชียงใหม่ถึงเมืองเชียงตุงก่อน ตั้งค่ายบนเนินด้านตะวันออกเฉียงใต้  เมืองเชียงตุงยกกำลังมาตีค่าย  ๓ ครั้งแล้วกลับเข้าเมืองไป  เอาปืนใหญ่ยิงออกมาบ้าง

          กองทัพหน้าของเจ้าพระยายมราช  เมื่อไปถึงตั้งค่ายต่อจากทัพเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่ากันดารน้ำ จึงย้ายไปตั้งค่ายด้านทิศเหนือของเมือง  ระหว่างการย้ายค่ายก็ได้ปะทะกับทหารเชียงตุง  แต่ในที่สุด  กองทัพหน้า ทั้งหมดก็ตั้งล้อมเมืองเชียงตุงไว้  และต่างฝ่ายก็ใช้ปืนใหญ่ยิงกันไป ยิงกันมา   แต่ฝ่ายเราเอาปืนใหญ่ที่ค่ายยิงเข้าไปในเมืองนั้น  กระสุนตกเพียงกำแพงเมืองบ้าง  ใบเสมาบ้าง   

          เจ้าพระยายมราชจึงให้ตีค่ายพม่าที่เขาจอมศรี  (อยู่นอกเมือง)  เมื่อตีได้แล้วก็เอาปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งยิง    ที่ตั้งยิงบนเขาจอมศรีนี้สูงกว่าในเมือง    จึงยิงโต้กับปืนใหญ่ในเมืองได้    พวกเมืองเชียงตุงจึงได้แต่รักษาเมืองมั่นอยู่

 

          ทางกองทัพหลวงประสบปัญหาทางการส่งเสบียงอาหารเพิ่มเติม ทั้งของกำลังพล และของสัตว์ต่าง  แต่แม่ทัพใหญ่ก็ทรงหวังว่าจะตีเมืองเชียงตุงให้ได้ก่อนเสบียงจะขาดแคลน    แต่เมื่อเดินทัพไปเกือบจะถึงเมืองเชียงตุง เหลือระยะทางเดินอีกประมาณ ครึ่งวัน  ทางเชียงตุงจัดกำลัง ประมาณ ๒๐๐  แต่งกายเหมือนทหารเมืองเชียงใหม่ มาซุ่มอยู่ข้างทาง และระดมยิงแม่ทัพใหญ่  แต่ไม่ถูก   ในที่สุด กองทัพหลวงไปตั้งค่ายล้อมเมืองทางด้านทิศเหนือ 

 

การตรวจภูมิประเทศก่อนเข้าตี และข้อตกลงใจ

         เมื่อแม่ทัพใหญ่ได้ทรงตรวจพิจารณาภูมิประเทศ (ก่อนเข้าตี) แล้วทรงประชุมหารือบรรดาแม่ทัพนายกองชั้นรองๆ ลงไป   ทรงพระดำริว่า

               ๑. กองทัพต้องจัดกำลังส่วนหนึ่งลำเลียงสัมภาระ ทำให้กำลังรบน้อยลงไปไม่พอแก่การ

               ๒. กองทัพบางเมืองไม่มีประสิทธิภาพในการรบ

               ๓. ปืนใหญ่ฝ่ายเราสู้ของทางเมืองเชียงตุงไม่ได้ ทั้งจำนวนและกำลังยิง กระสุน/ดินดำไม่พอเพียง

               ๔. เสบียงอาหารไม่พอเพียงทั้งของคนและสัตว์ต่าง

               ๕. หากล่าช้าไม่รีบถอนทัพ เมื่อถึงฤดูฝนจะยิ่งอันตรายและยากลำบากยิ่งขึ้นนัก

          จึงทรงตกลงพระทัยและบัญชาให้ขนย้ายกำลังพลที่เจ็บป่วยออกจากพื้นที่การรบก่อน  แล้วจึงทะยอยล่าทัพ   กรมหลวงวงศาฯ มาประทับอยู่ที่ เมืองน่าน   ส่วนเจ้าพระยายมราช  กลับมาพักที่เมืองตาก  แต่ยังคงเตรียมการที่เมืองเชียงราย และเมืองเชียงแสนไว้เป็นที่ตั้งกองทัพในปีหน้า

 

ศึกเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๕ นี้  ไม่เป็นไปตามแผน  เพียงแต่ได้บทเรียนที่ต้องปรับปรุงต่อไป

          อนึ่ง  พ.ศ.๒๓๙๕  (ค.ศ.๑๘๕๒)  นี้ พม่าทำสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สอง  ผลของสงคราม พม่าต้องเสียมณฑลพะโค (หงสาวดี) ให้อังกฤษ  และในปีต่อมา  พระเจ้ามินดง ได้เป็นกษัตริย์พม่าต่อจากพระเจ้าพุกามแมง

 

สงครามเชียงตุง พ.ศ.๒๓๙๖

          บทเรียนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขซึ่งแม่ทัพใหญ่ได้ขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ

               ๑. ขอกำลังพลจากหัวเมืองชั้นในเพิ่มอีก  ๑ เท่าตัว

               ๒. ขอปืนใหญ่ขนาดใหญ่ขึ้น และจำนวนเพิ่มมากขึ้น   พร้อมทั้งกระสุนดินดำให้มากยิ่งขึ้นด้วย

               ๓. เกณฑ์คนจากเมืองอุบลไปถึงเมืองหลวงพระบางเพิ่มเติมอีกเพื่อใช้เป็นพลลำเลียง

               ๔. เปลี่ยนที่ประชุมทัพมาที่เมืองเชียงรายแห่งเดียว และ

               ๕. จะเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่การรบตั้งแต่เนิ่นๆ  (เดือน  ๓)  เพื่อได้มีเวลารบพุ่งนานๆ

          ทางกรุงเทพฯ ก็คงพยายามจัดให้ แต่คงไม่ได้ครบถ้วนทุกประการโดยเฉพาะการเกณฑ์คนในข้อ ๓. นั้น ไม่โปรดอนุญาต   แต่ทางเมืองเชียงรุ้งรับว่าจะส่งเสบียงให้ถึงเมืองเชียงตุงทีเดียว

          เมื่อสิ้นฤดูฝน  กรมหลวงวงศาฯ ทรงจัดทัพที่เมืองน่าน  ส่วนเจ้าพระยายมราชไปจัดทัพที่เมืองเชียงใหม่  กำหนดไปพร้อมกันที่เมืองเชียงรายในต้นเดือน ๓  (ประมาณ เดือน กุมภาพันธ์)

          แต่การดำเนินการไม่เป็นไปตามที่กะการ  ผู้คนก็หลีกเลี่ยงการเกฌฑ์  สัตว์ต่าง ก็หายากเพราะล้มตายเสียเมื่อปีก่อนก็มาก    และเมื่อเกณฑ์กำลังรบมากขึ้น  ก็ต้องการเสบียงอาหารมากขึ้นเป็นเงาตามตัว   กองทัพหลวงไปถึงเมืองเชียงรายในราวกลางเดือน ๓   ซึ่งนับว่าเป็นไปตามแผน (ช้าไปไม่กี่วัน) แต่พาหนะและผู้คนยังไมได้ครบตามเกณฑ์ ต้องพักรออยู่ที่เชียงรายอีกเดือนเศษ   ส่วนเจ้าพระยายมราช ก็ต้องเร่งรัดผู้คนอยู่ที่เชียงใหม่  กว่าจะยาตราทัพจากเมือเชียงรายได้ก็ เข้าเดือน ๔  (ไม่เป็นไปตามแผน  ช้าไปประมาณ  เดือนหนึ่ง ทั้งทัพหลวง และ ทัพหน้า)

          การยกทัพโยธาคราวนี้ยิ่งยากลำบากกว่าครั้งก่อน  เนื่องจากเกรงว่าจะอัตคัดขัดสนเรื่องเสบียง จึงเตรียมเสบียงไปมาก จนเป็นปัญหาในการขนส่ง  ทั้งเครื่องอาวุธปืนใหญ่ กระสุน ดินดำ ก็เตรียมไปเป็นอันมาก  แต่สัตว์ต่างกลับน้อยกว่าเดิม  ด้วยเหตุที่กล่าวแล้ว   และพม่าก็เสร็จศึกกับอังกฤษเรียบร้อยแล้ว   จึงจัดส่งกำลังจำนวน ๓ พัน คนมาช่วยเมืองเชียงตุง

          กองทัพกรมหลวงวงศาฯ  เมื่อเข้าใกล้เมืองเชียงตุงก็ต้องปะทะกับกองทหารพม่าที่ส่งมาขัดขวางหน่วงเวลาตลอดไป ทำให้เดินทัพล่าช้าไปอีก ถึงเมืองเชียงตุงในเดือน ๖  เข้าฤดูฝน  และเป็นธรรมดา พื้นที่ป่าทึบเขาสูงฝนตกหนัก    ทหารเมืองเชียงตุงก็ออกมารบพุ่งเป็นหลายครั้ง ฝ่ายไทยก็ป้องกันค่ายไว้เป็นสามารถ  แต่ไม่ปรากฏว่าได้ใช้ปืนใหญ่ที่เตรียมมาให้เป็นประโยชน์แต่ประการใด    กองทัพหลวงก็อ่อนกำลังลง ด้วยเหตุฝนตกชุก  รี้พลเป็นไข้ และโรคต่างๆ  ต้องสูญเสีย เจ็บป่วยล้มตายลงวันละหลายๆ คน   ช้างและสัตว์ต่าง ก็เกิดโรคระบาดล้มตายลงอีก  กองทัพหลวงล้อมเมืองเชียงตุงอยู่ได้  ๒๑ วัน  กองทัพเจ้าพระยายมราชก็ยังมาไม่ถึงเพราะเดินทัพเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นเคย    แม่ทัพใหญ่จึงทรงพระดำริว่า  หากล้อมเมือง รอกองทัพหน้า อยู่เห็นทีว่าจะเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่ข้าศึกเป็นแน่แท้   จึงรับสั่งให้ถอยทัพเสียเมื่อ   วันอาทิตย์  เดือน  ๖  แรม  ๑๑  ค่ำ  ปีขาล   ตรงกับวันจันทร์  วันที่  ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๗  
 


". . . กองทัพกรมหลวงวงศาฯ  ถอยลงมาคราวนี้ลำบากมาก  ด้วยกำลังเป็นฤดูฝน ทั้งผู้คนและพาหนะก็เจ็บป่วยทรุดโทรม   ต้องเสียทรัพย์สิ่งของแก่ข้าศึกหลายอย่าง

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยายมราชยกขึ้นไปได้สักครึ่งทาง   ทราบว่ากองทัพกรมหลวงวงศาฯ  ถอยลงมาแล้ว   เจ้าพระยายมราชก็ถอยกลับตามลงมา

เป็นเสร็จเรื่องรบพม่าที่เมืองเชียงตุงเพียงเท่านี้ . . . "

 ไทยรบพม่า  พระนิพนธ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

 

          ครับ  . . . และนี่คงเป็นสาเหตุที่ชาวเราไม่ค่อยรู้จัก สงครามเชียงตุง  เพราะไม่เป็นสงครามที่น่าภาคภูมิใจ   แต่ในมุมมองของประวัติศาสตร์การสงครามนั้น มิได้ศึกษาว่า ปีใดเกิดสงครามอะไร ที่ไหน ใครรบกับใคร เท่านั้น  ประวัติศาสตร์การสงครามจะศึกษา ถึงความเป็นมา  ความเป็นไประหว่างการรบ หรือการสงคราม  เหตุการณ์ต่างๆ จะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไปอย่างไร   

 

          สงครามเชียงตุงนี้  อาจจะพิจารณาได้ว่า   เนื่องจากกองทัพไทยได้ว่างเว้นการศึกเป็นเวลา ประมาณ  ๔๐ ปี   คือได้ทำศึกกับพม่า ครั้งล่าสุดเมื่อคราวป้องกันเมืองถลาง พ.ศ.๒๓๕๒      แม่ทัพนายกอง และรี้พลล้วนแต่เป็นคนยุคใหม่ไม่เคยผ่านการศึกมาก่อน  ว่างเว้นการฝึกปรือฝีมือเพลงอาวุธ และทักษะการรบ ทั้งระดับบุคคล และระดับหน่วย   ห่างเหินการศึกษาตำราพิชัยสงคราม  

          นอกจากนั้น  ระบบการเรียกเกณฑ์ก็ไม่สมบูรณ์ ข้อมูลต่างๆ คงคลาดเคลื่อนไม่เป็นปัจจุบัน  เมื่อถึงคราวที่ต้องปฏิบัติจึง เกิดข้อขัดข้องขลุกขลักเป็นอย่างมาก  ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว  

 

          .  .  .  ตามเรื่องราวที่ปรากฏมาในพงศาวดาร   เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ๒๔  ครั้ง     ต่อมาถึงเมื่อกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี   ได้ทำสงครามกับพม่าอีก  ๒๐  ครั้ง    รวมเป็น  ๔๔  ครั้งด้วยกัน   ในจำนวนสงครามที่ว่ามานี้   ฝ่ายพม่ามาบุกรุกรบไทยบ้าง   ฝ่ายไทยไปบุกรุกรบพม่าบ้าง  .  .  .

ฯลฯ

          . . .  ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมา    ไทยได้ไปตีเมืองพม่าเมื่อในรัชกาลที่  ๓  ครั้งหนึ่ง   ในรัชกาลที่  ๔  อีกครั้งหนึ่ง  ก็หาสำเร็จไม่  

ไทยกับพม่ารบกันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๙๖

ในคราวไทยไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อในรัชกาลที่  ๔ 

ต่อนั้นก็มิได้รบพุ่งกันอีกตราบเท่าทุกวันนี้ . . .

 

ไทยรบพม่า  พระนิพนธ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  

 

 

. . . ครับ . . .  "ครั้งที่สุดไทยรบพม่า" ก็คงถึงที่สุด เพียงเท่านี้  .  .  .  ครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

          -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          -  ไทยรบพม่า    เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

          -  พระราชพงศาวดารพม่า    พระนิพนธ์  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    พิมพ์ครั้งที่  ๒  พ.ศ.๒๕๕๐  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา 

          -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร  แปล    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มิถุนายน  ๒๕๔๘

          -  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๑  ถึง  รัชกาลที่ ๓    ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์  แสงโสม  เกษมศรี  และ  นางวิมล  พงศ์พิพัฒน์    กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยเรียบเรียง    สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กุมภาพันธ์  ๒๕๒๓

          -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker