dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ฮานนิบาล - ชัยชนะในคาบสมุทรอิตาลี

 

*  *  *

ชัยชนะในคาบสมุทรอิตาลี

สถานการณ์เดิม  .  .  .

                    การสงครามซึ่งจะบังเกิดขึ้นระหว่างกรุงคาร์เธจกับกรุงโรมครั้งนี้   ในประวัติศาสตร์สากลมักจะขนานนามให้ไว้ว่า  สงครามปิวนิคครั้งที่สอง  (The Second Punic War)   แต่เนื่องด้วยฮานนิบาลได้เป็นแม่ทัพตัวสำคัญยิ่งในการสงครามนี้    ชาวโรมันในสมัยนั้น และต่อมามักจะเรียกว่าเป็น การสงครามกับฮานนิบาลเสียมากกว่า  (Bellum  Hanniballicum)

          ฮานนิบาลยกออกจากนครคาร์เธจใหม่    ในเดือนมีนาคม  พ.ศ.๓๒๕  (๒๑๘  ปีก่อนคริสตศักราช)   และเดินทัพต่อไปจนถึงแม่น้ำโรน  (Rhone)    ในราวเดือน สิงหาคม - กันยายน

          ทางด้านโรมัน    สกิปิโอ   นำกองทัพไปยังเมืองมาสซิเลีย  (Massilia)  ตั้งแต่ฮานนิบาลยังไม่ข้ามแม่น้ำโรน    สกิปิโอไม่คิดว่าฮานนิบาลจะนำทัพข้ามเทือกเขาแอลป์ส    ดังนั้น    เมื่อคิดว่าตามฮานนิบาลไม่ทันแล้ว  จึงนำทัพกลับเมืองมาสซิเลีย  และให้น้องชาย คือ  กเนอุส  สกิปิโอ  (Gnaeus  Scipio)  นำกองทัพเข้าไปในไอบีเรียตามแผนเดิม   ส่วนตนเองใช้เรือขนาดเล็กเดินทางกลับไปกรุงโรม

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  

             ฮานนิบาลเดินทัพมาแล้ว  ๕  เดือนครึ่ง  ข้ามภูเขาแอลป์สอยู่  ๑๕  วัน  ก็นำทัพเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำโพ  เข้าไปในเขตชาวตอรินี พันธมิตรของกรุงโรม     ฮานนิบาลเจรจาชักชวนให้ช่วยรบโรมัน  แต่ไม่สำเร็จ  จึงต้องเสียเวลาปราบอยู่  ๓  วัน จึงเรียบร้อย   (เชื่อกันว่าเป็นเมืองตูรินในปัจจุบัน)   และนับว่า ฮานนิบาลมีอำนาจในดินแดนชาวกอลทางภาคเหนือของคาบสมุทรอิตาลี   (ชาวโรมันเรียกซิสอัลไพน์ - Cisalpine  Gaul)    และได้พักกองทัพอยู่ระยะหนึ่ง      กองทัพฮานนิบาลขณะนี้ เหลือทหารราบ  ๒๐,๐๐๐    ทหารม้า  ๖,๐๐๐ 

    

          ส่วนสกิปิโอ  เมื่อกลับถึงกรุงโรม  ก็จัดกองทัพขึ้นใหม่   และจากกองทัพของมานลิอุส  ซึ่งปราบกบฏในลุ่มแม่น้ำโพอยู่แล้ว     รวบรวมรี้พลได้ประมาณ  ๑๐,๐๐๐   และทหารม้า  ๕,๐๐๐    เข้าไปตั้งในเมืองปลาเซนเตีย  (Placentia)   เพื่อต้านทานกองทัพฮานนิบาลในแนวแม่น้ำโพ

          และทางกรุงโรมเรียกกงสุลเซมโปรนิอุส  ลองกุสซึ่งคุมกองทัพอีกจำนวน  ๒๖,๔๐๐   ไปยังเกาะซิซีลี    เตรียมไปตีกรุงคาร์เธจให้นำทัพกลับ     กองทัพนี้เคลื่อนย้ายมาถึงเมืองอาริมินุม  (Ariminum)  ริมฝั่งทะเลอะเดรียติค ในเดือนพฤศจิกายน   เพื่อรวมกำลังกับกองทัพของสกิปิโอรบกับกองทัพฮานนิบาล  ต่อไป

 

           ฮานนิบาลทราบว่าสกิปิโออยู่ที่เมืองปลาเซนเตีย   จึงเดินทัพจากเมืองตุรินไปทางตะวันออกสู่เมืองปลาเซนเตีย   

           สกิปิโอก็ออกจากเมืองปลาเซนเตียไปทางตะวันตกเข้าหากองทัพฮานนิบาลเหมือนกัน   เมื่อข้ามแม่น้ำติซิโน   (Ticino)  สาขาหนึ่งด้านซ้าย (ทิศเหนือ) ของแม่น้ำโพ    เข้าไปห่างจากค่ายทหารคาร์เธจประมาณ  ๘  กิโลเมตร    ตั้งค่ายอยู่ห่างกันคืนหนึ่ง

 

แม่น้ำติซิโน  กลางเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.๓๒๕

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเดิมชัยเล็กๆ    แต่ผลยิ่งใหญ่

           วันรุ่งขึ้น    แม่ทัพทั้งสองฝ่ายนำทหารม้าออกลาดตระเวน  ฝ่ายโรมันมีทหารราบเบาถือหอกสั้นตามไปด้วย    ทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอย่างรวดเร็ว  จนทหารราบโรมันไม่ทันได้ใช้หอกซัด  ต้องรีบถอยหนีไปข้างหลัง    ทหารม้านูมิเดียของฮานนิบาลโอบเข้าไปถึงด้านหลังของโรมัน  โจมตีทหารราบและทหารม้าของสกิปิโอเสียยับเยิน      และตัวแม่ทัพสกิปิโอเองก็บาดเจ็บ  แต่ก็สามารถนำกำลังที่เหลือกลับไปรวมกับกำลังส่วนใหญ่ได้      และนำกองทัพข้ามแม่น้ำติซิโน  กลับไปทางตะวันออกจนถึงเมืองปลาเซนเตียแล้วข้ามแม่น้ำโพไปฝั่งใต้   แล้วเดินทัพไปทางตะวันตกอีก

          ในเวลาที่กองทัพโรมันถอยนี้  ทหารม้านูมิเดียของฮานนิบาลได้ตามไปจนถึงแม่น้ำเทรเบีย

          ฮานนิบาลก็นำทัพข้ามแม่น้ำโพตามไปฝั่งใต้เหมือนกัน   และเดินทัพทัพเข้าไปใกล้ค่ายของสกิปิโอด้วยหวังว่าเป็นการเชิญชวนออกมารบกลางแปลงอีก    แต่สกิปิโอกลับนำกองทัพข้ามแม่น้ำเทรเบีย (Trebia)   ไปทางตะวันออก     และตั้งค่าย    แต่ระหว่างข้ามลำน้ำก็ถูกทหารคาร์เธจโจมตีกองระวังหลังได้สำร็จ    ส่วนฮานนิบาลตั้งค่ายอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเทรเบีย

 

 แม่น้ำติซิโน หรือ ติซินุส    ต้นน้ำอยู่ในเทือกเขาแอลป์ส ในสวิสเซอร์แลนด์ (ปัจจุบัน)   ความยาวประมาณ  ๒๕๐  กิโลเมตร   ไหลลงสู่แม่น้ำโพ ทางฝั่งซ้าย (ด้านทิศเหนือ)

 

          ชัยชนะของกองทหารม้าคาร์เธจที่แม่น้ำติซิโนนี้  ถึงแม้ว่าจะเป็นการ ประเดิมชัยชนะเล็กๆ   ก็ตาม    แต่ก็ทำให้เกิดผลสำคัญมาก  กล่าวคือ

            ๑. เป็นการประเดิมชัยชนะครั้งแรกต่อกองทหารโรมันบนคาบสมุทรอิตาลี    จึงเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้กองทัพคาร์เธจ  และศรัทธาต่อแม่ทัพหนุ่มยิ่งขึ้น

            ๒. มีผลทางจิตวิทยาต่อชาวกอลให้เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมเป็นพันธมิครกับฝ่ายคาร์เธจมากขึ้น   ทหารกอลในกองทัพโรมัน  เปลี่ยนใจมาเข้ากองทัพคาร์เธจถึง   ๒๒,๐๐๐

            ๓. ชาวโรมันตื่นตระหนกต่อความพ่ายแพ้ของกองทัพโรมันกันอย่างมาก

 

แม่น้ำเทรเบีย  -  "ทหารโรมันทำการรบอย่างดียิ่ง  แต่ไม่ได้ชัยชนะ"

          ในเดือนต่อมา  คือเดือนธันวาคม  พ.ศ.๓๒๕    เซมโปรนิอุส  ลองกุส  ก็นำกองทัพของตนมารวมกำลังกับสกิปิโอ  ที่แม่น้ำเทรเบีย    เมื่อกงสุลทั้งสองนำกองทัพมารวมกันแล้ว   มีทหารราบถึง  ๖๐,๐๐๐  ทหารม้า  ๔,๐๐๐    กงสุลทั้งสองจะผลัดกันคุมกองทัพคนละวัน   แต่ในช่วงนี้สกิปิโอกำลังรักษาตัว  เนื่องจากบาดเจ็บจากการรบ      เซมโปรนิอุสจึงต้องควบคุมกองทัพเพียงคนเดีบว  เซมโปรนิอุสนั้น   เป็นคนใจเร็ว และมุทะลุ    และฮานนิบาลก็ทราบคุณสมบัตินี้ของเซมโปรนิอุส
 
 

          เมื่อเซโปรนิอุสมาถึงได้ไม่กี่วัน  ก็นำทหารม้าออกลาดตระเวน  และปะทะกับหน่วยทหารม้าลาดตระเวนของคาร์เธจ    ปะทะกันไม่นาน    ทหารม้าโรมันก็สามารถรุกไล่จนทหารม้าคาร์เธจต้องถอยกลับเข้าค่าย    ซึ่งนักประวัติศาสตร์ว่า เป็นแผนของฮานนิบาลเพื่อให้เซมโปรนิอุสมั่นใจว่าจะเอาชัยชนะได้อย่างง่ายดาย       สกิปิโอแนะนำว่าควรรอให้สิ้ฤดูหนาวเสียก่อน   แต่เซมโปรนิอุสไม่เชื่อ  และต้องการออกรบกลางแปลงเพื่อเผด็จศึกกองทัพคาร์เธจเสียโดยเร็ว

          ภูมิประเทศระหว่างแม่น้ำเทรเบีย และค่ายทหารคาร์เธจเป็นที่ราบ  ป่าละเมาะ พุ่มไม้เตี้ยๆ อยู่เต็มพื้นที่

                                              

แนวความคิดในการปฏิบัติของฮานนิบาล

           ให้ทหารม้าโจมตีทั้งสองปีกพร้อมกัน    ทหารราบตอนกลางยึดมั่นต้านทานไว้ให้ได้     และกองทหารพิเศษโจมตีด้านหลังข้าศึก

 

การเตรียมการ

          คืนหนึ่ง  ฮานนิบาลให้มาโก น้องชายเลือกทหารอาสาพิเศษ  ๒๐๐  คน    และแต่ละคนเลือกพวกพ้องมาอีกคนละ  ๑๐  คน    รวมเป็น  ๒,๐๐๐      มาโกนำกองกำลังพิเศษ ทั้งสองพันนี้ไปซุ่มนอนค้างในป่าละเมาะนั้น    ในจำนวนนี้มีทหารม้า  ๑,๐๐๐

                                       

การวางกำลัง

          วันรุ่งขึ้น     ฮานนิบาลให้ปลุกกองทัพแต่เช้าตรู่   แต่ไม่เร่งรีบ    เอาไขสัตว์ทาร่างกายป้องกันความหนาวเย็น  กินอาหารเช้าอย่างอิ่มหนำ    และส่งกองทหารม้าชาวนูมิเดียไปทางค่ายทหารโรมัน    เมื่อปะทะกับทหารโรมัน    กองทหารม้าของฮานนิบาลก็ทำเป็นสู้ไม่ได้  แตกกระจัดกระจายกลับค่าย    เซมโปรนิอุสเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเผด็จศึก    จึงสั่งให้กองทัพออกจากค่ายจัดขบวนรบและเร่งติดตามกองทัพโรมันร่าเริง  ฮึกเหิมคาดหวังว่าจะเผด็จศึกกองทัพฮานนิบาลให้ได้    แต่  .  .  .   ทั้งคนและม้า ยังไม่ได้กินอาหารเช้า

          ฮานนิบาล  มีทหารราบประมาณ  ๒๐,๐๐๐    ทหารม้า  ประมาณ  ๑๐,๐๐๐    จัดให้ทหารราบเป็นแนวยาว  ทหารม้าอยู่ทั้งสองปีก   พร้อมช้างศึกจำนวนหนึ่ง

          เซมโปรนิอุส  นำกองทัพซึ่งมีทหารราบประมาณ  ๓๖,๐๐๐     และทหารม้าอีก   ๔,๐๐๐    ออกจากค่ายอย่างฮึกเหิม  ขวัญและกำลังใจดีมาก    แต่ต้องลุยข้ามแม่น้ำเทรเบียซึ่งสูงถึงหน้าอก  และเย็นเฉียบ    ทหารโรมันก็หนาวเหน็บ  เหน็ดเหนื่อย  และหิวโหย    เมื่อข้ามแม่น้ำได้แล้วก็ยังสามารถจัดขบวนรบ  และเคลื่อนทัพเข้าหากองทัพคาร์เธจ   โดยผ่านป่าละเมาะซึ่งมาโก และกองกำลังพิเศษ  ทั้ง  ๒,๐๐๐  ซุ่มอยู่   

          เมื่อจัดขบวนรบเสร็จ    เซมโปรนิอุสให้ทหารม้ากองระวังหน้า  กลับมากองทัพใหญ่  และแบ่งไปอยู่สองปีก    และให้ทหารราบเบาออกหน้า     ฮานนิบาลให้ทหารราบเบาซัดหอก  และขว้างน้ำหนัก  เป็นการตอบโต้     เซมโปรนิอุสเห็นว่าทหารราบเบาสู้ไม่ได้   จึงเรียกกลับมารวมกองทัพใหญ่    ส่วนฮานนิบาลส่งทหารราบเบาไปทั้งสองปีกกองทัพใหญ่ทั้งสองฝ่ายตั้งแถวประจันหน้ากันโดยไม่มีกำบัง

 

การรบ

 

 

           ฮานนิบาลสั่งให้ทหารม้าทั้งสองปีกเข้าโจมตีก่อน   ทหารม้าโรมันหนีเตลิดเปิดเปิงออกจากสนามรบ  (มีจำนวนน้อยกว่าทหารม้าคาร์เธจประมาณ  ๑  ต่อ  ๒)     ฮานนิบาลสั่งให้ทหารราบเบา  และช้างสนับสนุนเข้าตีตัดปีกกองทัพโรมันอีก    และโอบปีกไว้ได้ทั้งสองข้าง     

          ทหารโรมันมีจำนวนมากกว่า  แต่อยู่ในที่จำกัด  ไม่สามารถใช้จำนวนที่มากกว่าเป็นประโยชน์ได้เค็มที่    และมาโกก็นำกองกำลังพิเศษ  ๒,๐๐๐  มาถึง  ช่วยเข้าโจมตีทางด้านหลังอีก    ทหารโรมันที่ดีที่สุด  ได้สู้อย่างเต็มที่    แต่ก็แตกพ่ายยับเยิน    เหลือถอยกลับไปถึงเมืองปลาเซนเตีย  ประมาณ  ๑๐,๐๐๐  คนเท่านั้น       ฮานนิบาลสั่งติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำเทรเบีย

           เซมโปรนิอุสนั้นปลอดภัย  ส่งข่าวไปกรุงโรมว่า  ทหารโรมันทำการรบอย่างดียิ่ง  แต่ไม่ได้ชัยชนะ  เพราะหิมะตกมากจนเป็นการขัดขวางการรบ   และเดินทางไปกรุงโรม   แต่เมื่อชาวโรมันได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ก็ยิ่งเป็นที่ตื่นตระหนกยิ่งกว่าข่าวการรบที่แม่น้ำติซิโนสียอีก  

          ส่วนสกิปิโอ  ซึ่งรออยู่ในค่าย  ก็รีบกลับไปเมืองปลาเซนเตีย  เพื่อเตรียมจัดระเบียบกองทัพที่แตกพ่ายมา    และเกรงฮานนิบาลจะไล่ติดตามมา   จึงส่งกองทัพต่อไปเมืองเครโมนา  (Cremona)   ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองปลาเซนเตีย

 

          หลังการรบที่แม่น้ำเทรเบีย   ต่างฝ่ายก็พักหนาว  และฟื้นฟูกำลังรบของตน

          กองทัพโรมันของสกิปิโอได้รับเสบียงอาหารซึ่งส่งมาทางแม่น้ำโพ  ตัวสกิปิโอก็อยู่ที่เมืองปลาเซนเตียบ้าง  เมืองเครโมนาบ้าง   

          ส่วนกองทัพคาร์เธจของฮานนิบาลซึ่งได้พวกกอลเป็นพันธมิตรทั่วทั้งภาคเหนือ   จึงได้รับเสบียงอย่างไม่เดือดร้อน    และพักกองทัพอยู่ที่เมืองโบโลนญา  (Bologna)

 

พ.ศ.๓๒๖   (๒๑๗  ปีก่อนคริสตศักราช)

          กรุงโรมถึงกำหนดเลือกกงสุลใหม่    ผู้ที่ได้รับเลือกคือ  กเนอุส  เซอร์วิลิอุส  เกมินุส  (Gnaeus  Servilius  Geminus)  กับ  ไกอุส  ฟลามินิอุส  เนปอส  (Gaius  Flaminius  Nepos)  และรวบรวมทหารประจำการได้ถึง  ๑๑  เลจิโอน  (ประมาณ  ๑๐๐,๐๐๐  คน)    แต่ส่วนที่เตรียมไว้สำหรับเข้าทำการรบกับกองทัพฮานนิบาลเพียง  ๔  เลจิโอนเท่านั้น

 

นโยบายสงครามของสภาเซเนต

          ให้ป้องกันและต้านทานภาคกลางของคาบสมุทรอิตาลีอย่างแข็งแรง   โดยเฉพาะช่องทางข้ามภูเขาอะเพนไนน์ส (Apennines)   ทั้งทางตะวันออก และตะวันตก

 

            แต่เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมข่าวสารได้มากพอที่จะประมาณสถานการณ์         ได้ว่าฮานนิบาลจะนำทัพข้ามภูเขาอะเพนไนน์สในช่องทางใด    จึงจัดวางกำลังไว้ที่          เมืองอาร์เรติอุม  (Arretium)   กลางคาบสมุทร โดย เซอร์วิลิอุส เป็นแม่ทัพ             และฟลามินิอุสเป็นแม่ทัพตั้งที่เมืองอาริมินุม  (Ariminum) ริมฝั่งทะเลอเดรียติค   อีกกองหนึ่ง      การที่ฝ่ายโรมันต้องแยกกองทัพออกเป็นสองส่วนดังนี้  เป็นการทอน        กำลังตนเองลงไป  เพราะไม่สามารถรวมกำลังอันมากเข้าทำการรบได้พร้อมกัน            มีกำลังมาก ก็เหมือนมีกำลังน้อย

          ในช่วงพักฤดูหนาวนั้นฮานนิบาลสามารถหาพันธมิตรจนมีทหารราบ  ๖๐,๐๐๐          และทหารม้า   ๔,๐๐๐    เมื่ออากาศดีแล้ว  ฮานนิบาลก็นำทัพข้ามภูเขาอะเพนไนน์ส          เพื่อลงสู่แคว้นเอตรูเรีย  (Etrutia)    และก็ได้ทำสิ่งที่ฝ่ายโรมันไม่คาดคิดอีก  คือใช้ช่องเขาคอลลินนา  (Collina Pass)   ใกล้เมืองฟอร์ลิ  (Forli)  ซึ่งเป็นช่องทางที่ยากลำบากยิ่ง    แต่ฮานนิบาลก็โชคไม่ดี  ที่ในช่วงเวลาที่ข้ามนี้อากาศไม่ดี   มีทั้งลมจัด   ฝนตก   หิมะตก    ต้องใช้เวลาถึง  ๔  วัน  ๓  คืน   แต่ที่เลวร้ายมากคือ  ตลอดเวลาทั้ง  ๔  วันนั้น  ไม่มีผู้ใดได้หลับได้นอนกันเลย     ในการข้ามภูเขาอะเพนไนน์สนี้ ฮานนิบาลให้กองทัพนำเสบียงติดตัวไปเพียงเดินทางข้ามภูเขาเท่านั้น    เพราะแคว้นเอตรูเรียอุดมสมบูรณ์ และมั่งคั่งสามารถแสวงหาเสบียงเลี้ยงดูกองทัพได้สะดวก      ฮานนิบาลเองก็ป่วย  นัยน์ตาข้างหนึ่งบวม และอักเสบมาก  จนถึงกับบอด

 

 

เมืองอาร์เรติอุม  (Arretium)  -  เมืองอาริมินุม  (Ariminum)

 

 

 ทะเลสาบตราซิเมนุส  (Lake Trasimenus)  -  "เราได้ปราชัยในการรบใหญ่"

          เมื่อข้ามภูเขาอะเพนไนน์สสำเร็จแล้ว   ฮานนิบาลก็ได้ทราบข่าวการวางกำลังและแม่ทัพของฝ่ายโรมัน    ฮานนิบาลเลือกที่จะรบกับฟลามินิอุสซึ่งอยู่ที่เมืองอาริมินุม     ฮานนิบาลพักอยู่ที่เมืองเฟซูเล  (Faesulae)  ระยะหนึ่งก็เดินทัพต่อไปเมืองคลูซิอุม (Clusium)  ระหว่างเดินทางได้ให้กองทัพทำลายพื้นที่การเพาะปลูกไปด้วย  เพื่อเป็นการยั่วยุให้แม่ทัพฟลามินิอุสโกรธเคือง     จากนั้น  เลี้ยวไปทางตะวันออกตามเส้นทางที่อยู่เหนือทะเลสาบตราซิเมนุส  (Lake Trasimenus)    และหยุดพักกองทัพอยู่ระหว่างเมืองอาริมินุมกับกรุงโรม    หรือระหว่างกองทัพของฟลามินิอุส   กับกรุงโรม    หรือหมายความว่า  กองทัพโรมันทั้งสองกองทัพที่ออกไปสกัดกั้นกองทัพคาร์เธจนั้นประมาณสถานการณ์ผิดพลาด   เพราะฮานนิบาลนำกองทัพผ่านเลยไปแล้ว  .  .  .  นับเป็นการใช้ยุทธศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม

          เมื่อฟลามินิอุสทราบข่าว  รีบตามมาในไม่ช้านั้น    นายทหารชั้นรองๆ ได้ทักท้วงและขอให้รอสมทบกับกองทัพของ เซอร์วิลิอุสเสียก่อน   แต่ฟลามินิอุสไม่เห็นด้วย

          ฮานนิบาลเลือกพื้นที่ตอนเหนือทะเลสาบตราซิเมนุสเป็นสมรภูมิ  น่าจะเพราะเห็นว่า  ฤดูนั้นหมอกลงในตอนเช้าอยู่เสมอ  ทำให้กำบังตัวและซ่อนพรางได้ง่าย

 

 

 

ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ตอนเหนือทะเลสาบตราซิเมนุส

          ถนนพื้นที่ตอนเหนือทะเลสาบตราซิเมนุสตัดผ่านช่องแคบ    ด้านใต้เป็นทะเลสาบตราซิเมนุส   ด้านเหนือเป็นเนินกับภูเขา     ช่องแคบนี้มีระยะประมาณ   ๘  กิโลเมตร      

 

การวางกำลังของทั้งสองฝ่าย

          ฮานนิบาล  วางกำลังตั้งแต่ค่ำ    ทหารราบจากอาฟริกา และไอบีเรียอยู่บนเนินสูงในตอนกลาง    ฮานนิบาลอยู่บัญชาการรบในส่วนนี้    ทหารม้านูมิเดีย แลกอลแอบอยู่ตามเนินเตี้ยๆ  ปากทางเข้าช่องแคบ    ทหารราบเบาอยู่อีกข้างหนึ่ง   (ด้านทางออกจากช่องแคบ)     คืนนี้กองทัพคาร์เธจได้รับคำสั่งให้จำกัดการใช้แสง - เสียง  ต้องอยู่ และนอนพักอย่างเงียบที่สุด

          ฟลามินิอุส  มาถึงริมทะเลสาบในตอนค่ำ    ตั้งค่ายพักนอนอยู่นอกช่องแคบ

 

การรบ

วันรุ่งขึ้น   ๒๒  มิถุนายน  พ.ศ.๓๒๖

          วันรุ่งขึ้น    (นักประวัติศาสตร์ยุคโบราณว่าเป็นวันที่   ๒๒  มิถุนายน  พ.ศ.๓๒๖  หรือ  ๒๑๗  ปี  ก่อนคริสตศักราช    แต่นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน  สันนิษฐานว่า  เป็นเดือนเมษายน)    หมอกลงอย่างหนา     ฝ่ายซุ่มสามารถมองเห็นถนนได้อย่างดี    แต่ฝ่ายที่เดินผ่านจะไม่เห็นฝ่ายที่ซุ่มอยู่

          กองทัพโรมันจัดกระบวนเดินเข้าช่องแคบอย่างสบาย  อย่างไม่ระแวงว่าจะมีข้าศึกในบริเวณนี้เลย  ไม่มีการลาดตระเวน  ไม่มีการสอดแนม     เดินผ่านที่กองทหารม้านูมิเดียตั้งอยู่    ครั้นเดินผ่านมาแล้ว   (โดยไม่รู้ว่ามีกองทัพข้าศึกซุ่มอยู่)    ฟลามินิอุสสั่งให้จัดขบวนเดินเป็นสองขบวน  (แถวกว้างขึ้น) เพื่อให้เดินได้เร็วขึ้น 

 

 

 

 

         ฮานนิบาลปล่อยให้กองระวังหน้าโรมัน  ประมาณ  ๖,๐๐๐   เดินเลยกองใหญ่ไปมากแล้ว  จึงให้สัญญาณกองทัพคาร์เธจเริ่มโจมตี         ทหารราบจากอาฟริกา และไอบีเรียตีทางหัวขบวน  ทหารกอลกับทหารม้านูมิเดียตีทางท้ายขบวน    ทหารราบเบาก็ใช้ธนูยิงลงมาจากบนเขาอย่างร้ายแรง    ทหารต่างๆ ของฮานนิบาลทำการพร้อมกันโดยทันควัน  ทหารโรมันตื่นตกใจแตกกระจายทันที   ไม่ทันได้สวมเกราะ และกำอาวุธให้เรียบร้อยเสียด้วยซ้ำ  หมอกก็มืดมัว

ครับ  .  .  .  เพียงเท่านี้ จะเรียกว่ากองทัพโรมันแทบจะไม่มีทางสู้เลยก็ได้     

          อย่างไรก็ตาม    ถึงแม้จะแตกพ่ายยับเยินทหารโรมันยังยืนหยัดสู้อยู่ได้ถึง  ๓  ชั่วโมง  .  .  .   แม่ทัพ ฟลามินิอุส ตายในการรบ  

          เซอร์วิลิอุสทราบข่าวก็พยายามส่งกองทหารม้ามาช่วย  แต่ฮานนิบาลก็ได้ทราบ และส่งทหารม้าไปสกัดไว้    กองทหารม้าโรมันถูกสังหารและถูกจับเป็นเชลย  .  .  .  เรียบโร้ย

        เมื่อการรบยุติลง    ฮานนิบาลพยายามหาศพฟลามินิอุสเพื่อทำพิธีให้สมเกียรติแม่ทัพและกงศุล  (แสดงความเป็นผู้มีใจงาม และเป็นสุภาพบุรุษ  ยกย่องเชิดชูเกียรติยศนักรบที่ตายในสนามรบ)  แต่หาไม่พบ    และ  ได้ปล่อยเชลยที่เป็นชาวเมืองขึ้นของโรมัน  พร้อมทั้งประกาศว่า  กองทัพคาร์เธจมาช่วยเมืองขึ้นของกรุงโรมให้เป็นอิสระกลับเป็นเมืองเอกราช

          เมื่อข่าวการรบไปถึงกรุงโรม  พลเมืองตื่นตระหนกกันอย่างยิ่ง  ผู้หญิงพากันไปรอฟังข่าวที่ประตูเมือง      เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องประกาศยอมรับตรงๆ ว่า  .  .  .  "เราได้ปราชัยในการรบใหญ่"
                                                                                                                                                                                                                                                      
 

ผลของการรบ

            ฝ่ายโรมัน   -  ตาย    ๑๕,๐๐๐  คน  

                           - ถูกจับเป็นเชลย   ๑๕,๐๐๐  

                           - หนีไปเมืองเปรูเซียได้  ๖,๐๐๐    แต่ถูกทหารม้านูมิเดียตามไปสังหารได้ทั้งหมด

            ฝ่ายคาร์เธจ  -  การสูญเสีย น้อยมาก  ประมาณ  ๑,๕๐๐

                             - ได้ผลดีทางจิตวิทยาเป็นอย่างดียิ่ง

 

 

 

ทัศนียภาพทะเลสาบตราซิเมนุส ในปัจจุบัน

 

 

          เมื่อได้รับชัยชนะครั้งนี้แล้ว    หนทางสู่กรุงโรมอีกประมาณ   ๑๖๐  กิโลเมตรก็เปิดโล่ง   แต่ฮานนิบาลยังไม่รีบมุ่งสู่กรุงโรม   เนื่องจาก
 
          ๑. กรุงโรมมีป้อมปราการ และกำแพงอันแข็งแรง  แต่กองทัพฮานนิบาลไม่มีเครื่องมือทำลาย   แต่หากจะจัดทำขึ้นในสนามคงเป็นเรื่องไม่เกินวิสัย

          ๒. การเข้าตีเมืองต้องใช้รี้พลสกลไกรมาก  ซึ่งกองทัพฮานนิบาลไม่มีรี้พลพอที่จะทำได้    ถึงแม้มีกองทหารม้าอันสามารถ  ก็ไม่สามารถใช้โจมตีเมือง หรือป้อมค่ายได้

          ๓. กรุงโรมสามารถเรียกกองหนุนได้อีกมาก  ในเวลาอันรวดเร็ว    และจะเป็นกองทัพใหญ่กว่ากองทัพฮานนิบาลเสียอีก  

          ๔. ประการสำคัญ     ฮานนิบาลทราบในข้อที่ชาวโรมันยังไม่ทราบว่า  "ราษฎรของกรุงโรมทุกคนสามารถจะเป็นทหารป้องกันกรุงได้"

          ๕. โรมยังมีพันธมิตรที่ยังเหนียวแน่นต่อกรุงโรมอยู่ไม่น้อย

 

          ความมุ่งหมายของฮานนิบาลน่าจะทำการรบกลางแปลง  ด้วยหวังว่าพันธมิตรของกรุงโรมจะแปรพักตร์มาเข้าด้วย  หรือไม่สนับสนุนกรุงโรม  และตัดรอนกำลังฝ่ายโรมัน  จนประชาชนเบื่อหน่ายและเรียกร้องให้รัฐบาลยอมแพ้   หรือขอเจรจา

 

          ฮานนิบาลจึงนำทัพข้ามภูเขาอะเพนไนน์สไปฝั่งทะเลอาเดรียติกทางตะวันออก  สู่แคว้นอาปูเลีย  (Apulia)

 

 การเมืองกรุงโรม

          โรมันมีกงสุลสองท่าน  คือ  เซอร์วิลิอุสและ ฟลามินิอุส    แต่เมื่อ  ฟลามินิอุส  เสียชีวิตในการรบ   และ เซอร์วิลิอุสอยู่ห่างไกล และถูกตัดเส้นทางไม่สามารถช่วยป้องกันกรุงโรมได้    กรุงโรมจึงหันกลับไปใช้วิธีคั้งเดิมคือ  เลือกตั้งผู้เผด็จการ  (Dictator)   ทำหน้าที่แทนกงสุลชั่วคราว  ซึ่งได้เลือกควินตุส  ฟาบิอุส  แมกซิมุส    Quintus  Fabius  Maximus   ผู้เคยเป็นกงสุลมาแล้วถึง  ๕  สมัย     และตามธรรมเนียมนิยมตั้งแต่สมัยเผด็จการ  ผู้เผด็จการจะเลือกผู้ช่วยอีก  ๑  ท่าน   เรียกว่าผู้บัญชาการทหารม้า   (Master of the Horse)    แต่ในสมัยที่กล่าวนี้  ชาวโรมันใช้วิธีการประชาธิปไตยมากขึ้น  สภาจึงเลือกผู้ช่วย หรือ ผู้บัญชาการทหารม้า  ไม่ให้ผู้เผด็จการเป็นผู้เลือก   และได้เลือก  มินูซิอุส  รูฟุส   (Minucius Rufus)  ผู้เคยเป็นกงสุลมามากกว่า  ๑  ครั้ง  เป็นผู้ช่วยกงสุล

 

ด้านแคว้นไอบีเรีย

           ฮาสดรูบาลซึ่งคุมกองทัพคาร์เธจอยู่ที่นครคาร์เธจใหม่    หลังจากการรบที่ทะเลสาบตราซิเมนุส   ฮาสดรูบาลได้นำกองเรือคาร์เธจเข้ารบกับกองเรือโรมันที่ปากแม่น้ำอิเบรุส   แต่ต้องปราชัย    ซึ่งมีผลทางยุทธศาสตร์ต่อไป  คือ  ทหารคาร์เธจท้อใจว่าไม่สามารถเอาชนะกองเรือโรมันได้    ทางกองเรือโรมันก็มีอำนาจครองทะเลเมดิเตอเรเนียนอย่างเต็มที่   

           ปุบลิอุส สกิปิโอ  เมื่อพ้นวาระกงสุลแล้ว   เป็นแม่ทัพนำกำลังพลจำนวน  ๘,๐๐๐   ข้ามทะเล  ไปรวมกับกเนอุสแล้วเดินทัพลงทางใต้แม่น้ำอิเบรุส     คุมเชิงกับกองทัพคาร์เธจในนครคาร์เธจใหม่อยู่นาน   

 

พ.ศ.๓๒๖   (๒๑๗  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๓  ของสงครามฮานนิบาล

          โรมตระหนักดีถึงภัยคุกคามครั้งนี้อย่างถ่องแท้แล้วว่าใหญ่หลวงนัก    จึงเตรียมทำสงครามอย่างเต็มที่    เกณฑ์ทหารเพิ่มเติมได้อีก  ๒  เลจิโอน    ทำให้มีทหารราบ  ๙๐,๐๐๐   ทหารม้า  ๘,๔๐๐     ถึงแม้มีทหารราบจำนวนมาก  แต่ทหารม้าก็ยังมีมาตรฐานการฝึกไม่ดีเท่าทหารม้าของฮานนิบาล   

          งานที่ผู้เผด็จการฟาบิอุสกำหนดเป็นการสำคัญและเร่งด่วนคือการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจชาวโรมันให้กลับดีดังเดิม      จึงได้มีการจัดพิธีบวงสรวงเทพเจ้ามาร์ส  (Mars) อย่างใหญ่หลวง   ในไม่ช้าชาวกรุงโรมก็ดูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น   

 

นโยบายการสงครามฟาบิอุส

          .  .  .  จะปล่อยให้กองทัพอันมีรัศมีรุ่งโรจน์ของฮานนิบาล  ค่อยๆ ลดแสง และหรี่ลงไปทีละเล็กละน้อยจนดับ  ซึ่งเปรียบประดุจดวงประทีปที่ไม่มีผู้ใดเติมน้ำมัน  .  .  .  คือฟาบิอุสมองออกว่า  ฮานนิบาลนำกองทัพออกมาห่างไกลแผ่นดินแม่  การเพิ่มเติมกำลัง และการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมทำได้อย่างยากลำบากอยู่แล้ว    การพึ่งพาอาศัยพวกกอลเป็นแหล่งเสบียงอาหารไม่สามารถทำได้ตลอดไป   และการที่ฮานนิบาลทำลายแหล่งเพาะปลูกในคาบสมุทรอิตาลีก็เป็นการทำลายแหล่งเสบียงของตนเอง    และเห็นว่า    แทนที่จะเอากองทัพเข้ารบกลางแปลงกับฮานนิบาล    ควรเพียงแต่คุมเชิงและเข้ารบเมื่อฮานนิบาลแยกกำลังออกเป็นกองย่อยเท่านั้น

          ฟาบิอุส นำทัพไปรวมกับกองทัพของเซอร์วิลิอุส  เป็น  ๔  เลจิโอน  เดินตามกองทัพฮานนิบาลเข้าไปในแคว้นอาปูเลีย  (Apulia)  ทางฝั่งตะวันออก    ฮานนิบาลพยายามชวนให้ฟาบิอุสนำกองทัพออกรบกลางแปลง    แต่ไม่ได้ผล  ฟาบิอุสเพียงแต่ตามคุมเชิงกองทัพฮานนิบาลเท่านั้น   ไม่ยอมทำการรบใหญ่     เป็นแต่มีการปะทะของกองลาดตระเวนที่ฮานนิบาลส่งออกไปหาเสบียงในพื้นที่ห่างไกล  ซึ่งฟาบิอุสจะส่งกองทหารที่มากกว่าเข้าโจมตี  ซึ่งมักจะเป็นผลสำเร็จ

          ฮานนิบาลเมื่อเห็นฟาบิอุสไม่ยอมออกรบ  ก็เข้าใจได้ทันทีว่า   ฟาบิอุสเป็นแม่ทัพโรมันคนแรกที่เข้าใจยุทธศาสตร์ และมีความสามารถ     และ  .  .  .  เริ่มจะหนักใจ

          ฮานนิบาลเดินทัพกลับเข้ามาในแคว้นคามปาเนีย  (Campania)  ทางฝั่งตะวันตก   จะไปเมืองคาซินุม  (Casinum)    แต่คนนำทางนำไปผิดทาง  ฟาบิอุสจึงตามไปตั้งขัดตาทัพไว้ได้ทัน    ฮานนิบาลจึงปรับเปลี่ยนเส้นทางไปเมืองเบเนเวนตุม  (Beneventum)

          ฟาบิอุสปล่อยให้ฮานนิบาลสะสมเสบียงอาหารได้อย่างสะดวก   และพยายามจะจูงใจให้ฮานนิบาลนำทัพขึ้นไปบนเขา  เพื่อลดขีดความสามารถของทหารม้าคาร์เธจ

          ฤดูใบไม้ร่วง  กองทัพฮานนิบาลจึงไม่ได้รับความสะดวกในแคว้นคามปาเนีย    เพราะแคว้นคามปาเนียยังซื่อสัตย์ต่อกรุงโรม  และฟาบิอุสให้เก็บของมีค่า และสัตว์ซึ่งจะใช้เป็นอาหารเอาไปเสียหมด      ฮานนิบาลจึงต้องการเดินทัพข้ามกลับไปแคว้นอาปูเลียทางฝั่งตะวันออกอีก        แต่กองทัพโรมันก็วางกำลังสกัดช่องทางข้ามเสียหมดโดยเฉพาะช่องทางที่ฮานนิบาลใช้ข้ามมา  และจะข้ามกลับไปคือช่องคาลลิคูลา  (Mount  Callicula)  นั้นแม่ทัพฟาบิอุสคุมกำลังอยู่เอง     หากฮานนิบาลจะนำทัพตีฝ่าออกไปย่อมเป็นการเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่า

          .  .  .  ตกดึกของคืนหนึ่ง    กองรักษาด่านกองทัพฟาบิอุสบนช่องเขาเห็นแสงคบเพลิงสว่างขึ้นจากภูเขาทางหนึ่งและข้ามไป    กองรักษาด่านเข้าใจว่า  กองทัพฮานนิบาลกำลังข้ามเขา    จะเข้ารบ  ก็มีกำลังไม่พอ  จะรีบรายงานไปกองทัพใหญ่ก็ดูจะไม่จำเป็น  รุ่งเช้ากองทัพโรมันคงจะตามไปจัดการได้ทัน   .  .  .  แสงไฟนั้นข้ามเขาอะเพนไนน์สต่อไป

          รุ่งเช้า     ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  กองทัพฮานนิบาลได้เลิกค่ายไปแล้ว  และเล็ดลอดผ่านกองทัพฟาบิอุสซึ่งตั้งสกัดกั้นอยู่    และแสงไฟที่กองรักษาด่านตรวจการณ์เห็นนั้นคือฝูงสัตว์ซึ่งมีคบเพลิงผูกติดกับเขา  ถูกตีไล่ให้ขึ้นภูเขา

          ฮานนิบาลเข้ายึดเมืองเจรูนิอุม  (Gerunium)    และได้ใช้เป็นฐานทัพต่อไปในฤดูหนาวนี้

          ฟาบิอุสถูกสภาเรียกตัวเข้าไปหารือราชการสงครามในกรุงโรม    และได้เตือนมินูซิอุส  ผู้เป็นรองแม่ทัพว่าอย่าปล่อยให้การณ์เป็นไปตามบุญตามกรรม

          ในกรุงโรม  ฟาบิอุสถูกตั้งข้อสังเกตว่า  นโยบายไม่ถูกต้อง    และเนื่องจากฟาบิอุสเคยเป็นกงสุลมาถึง  ๕  สมัย  จึงมีฐานะร่ำรวย  มีที่ดินในนครรัฐต่างๆ เป็นอันมาก  และเมื่อฮานนิบาลเดินทัพผ่านที่ดินของฟาบิอุส  ก็ไม่ทำลายพืชพันธุ์   จึงเป็นที่ระแวง  สงสัย  และกล่าวขวัญในกรุงโรมว่า  มีการตกลงการลับอันใดกันไว้  จึงได้พยายามช่วยเหลือกัน ดังนี้    ฟาบิอุส  ก็ร้อนตัว  จึงขายที่ดินของตน  และมอบเงินให้รัฐนำไปไถ่เชลยชาวโรมันจากกองทัพฮานนิบาล      ทหารโรมันซึ่งชักอยากจะประดาบกับทหารคาร์เธจถึงกับเยาะเย้ยฟาบิอุส  ว่าเป็นบ่าวของฮานนิบาล      แต่ฟาบิอุส  กงสุล  ๕  สมัย  โต้ด้วยลิ้นทหารการเมืองว่า  การระมัดระวังเพราะเป็นห่วงชาติไม่เป็นของน่าอาย

 

ทหาร - กองทัพ  -  กลไกของการเมือง

          ประชาชน  และ  กองทัพโรมันต่างกระหายชัยชนะต่อกองทัพคาร์เธจ       เตเรนติอุส วาร์โร     ได้คัดค้านนโยบายการสงครามของฟาบิอุส  และชักจูงสภาผู้แทนราษฎรโรมันให้แต่งตั้งมินูซิอุสเป็นผู้เผด็จการคู่กับฟาบิอุส    ทั้งนี้  เนื่องจากมินูซิอุสได้ส่งหน่วยทหารขนาดเล็กออกรบกวนกองทหารที่ฮานนิบาลส่งออกมารวบรวมเสบียงอาหาร  และได้ชัยชนะบ้าง    แต่พวกพ้องในกรุงโรมได้ช่วยกันประโคมข่าวให้เป็นการใหญ่

          เมื่อฟาบิอุสกลับไปถึงกองทัพ   ได้แบ่งกองทัพเป็นสองกอง    ฟาบิอุส และมินูซิอุส  เป็นแม่ทัพแยกการบังคับบัญชาออกจากกัน  แทนที่จะผลัดกันนำกองทัพอย่างที่เคย

          ครั้งหนึ่งมินูซิอุสนำทหารเข้าไปในพื้นที่สังหารซึ่งฮานนิบาลได้ซุ่มทหารไว้จนเสียที  และเกือบจะถูกจับได้      แต่ยังโชคดี  ฟาบิอุสนำทหารมาช่วยไว้ได้    และฮานนิบาลต้องถอยเข้าเมืองเจรูนิอุม    ทำให้มินูซิอุสรู้ตัว ยอมรับว่าไม่มีสติปัญญาดีเท่าฟาบิอุส  และได้กล่าวสรรเสริญฟาบิอุสอย่างเต็มที่

          กาลเวลาล่วงไปจนหมดวาระผู้เผด็จการ   สภาเซเนต และสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องการให้มีผู้เผด็จการต่อไป   ให้มีกงสุลดังเดิม     กงสุลสองคนที่ได้ในคราวนี้คือ  เตเรนติอุส วาร์โร  (Terentius  Varro)   และ  เอมิลิอุส  เปาลุส  (Aemilius  Paulus)  

 

ต่างกงสุล    ต่างนโยบาย

          เตเรนติอุส วาร์โร     ".  .  .  วันที่ข้าพเจ้าได้เห็นข้าศึกเป็นครั้งแรกนั่นแหละ    วันนั้น  ข้าพเจ้าจะได้ชัยชนะและการสงครามจะจบลง  .  .  ."

          เอมิลิอุส  เปาลุส    .  .  .  ควรจะทำการโดยระมัดระวังอย่างฟาบิอุส

           โรมันจัดกองทัพให้มีได้ถึง  ๘  เลจิโอน    แต่ที่เตรียมไว้รบกับกองทัพฮานนิบาลในคายสมุทรอิตาลีมีจำนวน  ๔  เลจิโอน  เป็นทหารราบประมาณ  ๕๐,๐๐๐    และ  ทหารม้าประมาณ  ๖,๐๐๐    โดย เซอร์วิลิอุส  และเรกูลุส  เป็นผู้แทนกงสุล  เป็นแม่ทัพคุมเชิงกองทัพคาร์เธจ    

          ฮานนิบาลนั้นคุมกองทัพอยู่ที่เมืองเจรูนิอุม   ได้นำเอาดาบ  หอก  และโล่ที่ยึดได้จากกองทัพโรมันในการรบที่ทะเลสาบตราซิเมนุสมาแจกจ่ายให้ทหารราบ  และฝึกหัดการใช้อาวุธใหม่นี้ตลอดฤดูหนาว

 

ฤดูร้อน  พ.ศ.๓๒๗   (๒๑๖  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๔  ของสงครามฮานนิบาล

           ฮานนิบาลนำทัพออกจากเมืองเจรูนิอุมเดินทางไปเมืองคานาเอ  (Cannae)  ซึ่งเป็นที่สะสมเสบียงอาหาร และอาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพโรมัน   โดยที่ผู้แทนกงสุลโรมันซึ่งตั้งกองทัพคุมเชิงอยู่นอกเมืองนั้นไม่ได้เข้าขัดขวางต้านทานเลย  เพียงแต่ส่งข่าวไปกรุงโรมเท่านั้น     ฮานนิบาลจึงยึดเมืองคานาเอได้อย่างง่ายดาย     

          เมื่อกงสุล วาร์โร และเปาลุสมาถึงก็เริ่มเดินทัพตามกองทัพฮานนิบาลไป

 

 

 

 

 

คานาเอ  -  กงสุลเปาลุส  "ข้าพเจ้าแพ้วาร์โรก่อน   แล้วจึงได้แพ้ฮานนิบาลต่อภายหลัง"   

 

          ฮานนิบาล  ตั้งค่ายอยู่ทางเหนือของเนินเมืองคานาเอ  ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเอาฟิดิอุส  (Aufidius)   เมื่อกองทัพโรมันเดินมาใกล้แม่น้ำ  ฮานนิบาลได้ส่งกองทหารม้าปะทะ    และถอยกลับมา   กองทัพโรมันเดินใกล้เข้ามาอย่างสะดวก

          เปาลุส  ไม่ชอบภูมิประเทศด้านนี้  เพราะเป็นที่ราบเหมาะแก่การใช้ทหารม้า  ซึ่งฝ่ายโรมันด้อยกว่าฝ่ายคาร์เธจ  อยากตั้งค่ายอยู่ทางใต้  ซึ่งภูมิประเทศเป็นเนินติดต่อกันหลายลูก    แต่วาร์โรไม่ยอม    ต้องการให้ตั้งค่ายใกล้ค่ายทหารคาร์เธจให้มากที่สุด  .  .  .  ในที่สุด    กองทัพโรมันก็ตั้งค่ายทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำเอาฟิดิอุส  ห่างจากค่ายของฮานนิบาลประมาณ  ๑๐  กิโลเมตร

          ฮานนิบาล  ชอบพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำเอาฟิดิอุสนี้มาก    เพราะเป็นที่ราบอย่างแท้จริงแสนจะเหมาะทรจะใช้ทหารม้าเข้าประจันบานเป็นยิ่งนัก    จึงได้กล่าวสุนทรพจน์แก่แม่ทัพนายกองคาร์เธจทั้งหลาย      และได้นำกองทัพข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายใหม่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำบ้าง

           วันรุ่งขึ้น  เป็นเวรกงสุลเปาลุสออกนำกองทัพ  .  .  .  จะถอย  ก็ไม่ได้เพราะอยู่ใกล้ข้าศึกเกินไป   จะรบ  ก็ไม่เหมาะเพราะเป็นพื้นราบเหมาะแก่ทหารม้ายิ่งนัก    จึง  .  .  .  ทำอะไรไม่ได้

          วันที่สาม  ที่ทุ่งคานาเอ        เปาลุส  แบ่งทหารจำนวน  ๑  ใน  ๓  ของกองทัพ  ไปตั้งค่ายย่อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ   เพื่อรบกวน และโจมตีทหารคาร์เธจที่ออกมาตักน้ำและหาอาหาร   

          วันที่สี่    ทั้งสองฝ่ายต่างพักดูท่าทีกันในค่าย

          วันที่ห้า    ฮานนิบาลนำทัพออกจัดขบวนรบทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือเป็นการเชิญชวนกองทัพโรมันออกรบ  แต่กงสุลเปาลุสไม่ยอมออกรบ  เพราะเห็นว่าภูมิประเทศเอื้อแก่ฝ่ายคาร์เธจมากกว่า    ฮานนิบาลจึงต้องนำกองทัพใหญ่กลับเข้าค่าย  แต่ได้ส่งกองทหารม้าไปรบกวนค่ายย่อมทหารโรมันทางฝั่งตะวันออก  

          วันที่หก      โปลิบิอุสว่าเป็นวันที่   ๒  สิงหาคม  ๒๑๖  ปีก่อนคริสตศักราช   (พ.ศ.๓๒๗)       กงสุลวาร์โรเป็นผู้นำกองทัพ    แม่ทัพนายกองโรมันให้อยากเข้ารบเป็นที่ยิ่ง  ยิ่งทหารม้าคาร์เธจตามมารบกวนถึงค่ายย่อมทางฝั่งตะวันออกเมื่อวันวานยิ่งทำให้อยากรบยิ่งขึ้น

          กงสุลวาร์โรสั่งกองทัพส่วนใหญ่ให้ข้ามแม่น้ำไปฝั่งตะวันออกตั้งแต่รุ่งเช้า  โดยไม่ฟังคำทัดทานจากกงสุลเปาลุส

          ฮานนิบาลรับทราบข่าวด้วยความยินดีอย่างยิ่ง    และสั่งกองทัพคาร์เธจให้ข้ามไปฝั่งตะวันออกบ้าง

 

การวางกำลัง

          ฝ่ายโรมัน    อยู่ทางเหนือ  หันหน้าไปทางใต้     

                           ปีกขวา  เป็นทหารม้าชาวโรมัน   อยู่ติดกับแม่น้ำเอาฟิดิอุส   กงสุลเปาลุสเป็นผู้ควบคุมบัญชาการ   

                           ตอนกลาง  เป็นทหารราบจัดตามแบบโรมัน  แต่ซ้อนกันหลายแนว   เนื่องจากมีทหารจำนวนมาก   

                           ปีกซ้าย    เป็นทหารม้าของรัฐพันธมิตร   กงสุลวาร์โรควบคุมบัญชาการเอง

                         กองกำลังพิเศษ  ๑๐,๐๐๐    ทำทีเป็นอยู่รักษาค่าย  และออกไปโจมตีค่ายทหารคาร์เธจ

               แนวความคิดทางยุทธวิธีของกงสุลวาร์โรคือ    ใช้ทหารราบจำนวนมากเข้าตีตรงหน้า  โดยหวังว่าทหารจำนวนมากจะทำให้เกิดน้ำหนักในการเข้าตีข้าศึกให้ย่อยยับให้ได้   ส่วนทหารม้านั้นใช้เป็นหน่วยระวังป้องกันทางปีก

          ฝ่ายคาร์เธจ หันหน้าไปทางเหนือเข้าหาแนวรบฝ่าบโรมัน

                            ทหารราบที่อยู่ตอนกลางวางเป็นรูปครึ่งวงกลม  หันส่วนโค้งเข้าหาฝ่ายโรมัน    ทหารชาวกอลอยู่ข้างหน้า  มีทหารสเปนหนุนอยู่ข้างหลัง   

                             ส่วนปีกของทหารราบเป็นทหารจากอาฟริกาทั้งสองข้าง   ต่อออกไปเป็นทหารม้า

                            ปีกซ้าย เป็นทหารม้าชาวกอล  และสเปน    ฮาสดรูบาล  (ไม่ได้เป็นญาติของฮานนิบาล)   เป็นผู้บัญชาการทหารม้าปีกซ้าย

                             ปีกขวา เป็นทหารม้าชาวนูมีเดีย   มาฮาร์บาล  เป็นผู้บัญชาการทหารม้าปีกขวา

          แนวความคิดของฮานนิบาล 

            ให้ทหารม้าของฮาสดรูบาลทางปีกซ้ายทำลายทหารม้าด้านตนเสียแต่แรก   

          ทหารราบทั้งสองข้างบีบกองทัพโรมันทั้งสองข้างทำลายระเบียบแถวไม่ให้รบตามยุทธวิธีได้  ให้มีทหารราบเบายืนหลังแนวทหารราบด้านกลางเป็นแนวที่สอง

          ทหารม้าของฮาสดรูบาลเมื่อทำลาย หรือ ขับไล่ทหารม้าโรมัน แล้ว  ให้กลับมาโจมตีด้านหลังทหารราบโรมัน

         

การรบ

 

 

           ทหารราบโรมันเริ่มโจมตีส่วนโค้งของทหารราบคาร์เธจ   .  .  .  ทหารราบชาวกอลเริ่มถอย  .  .  .  ส่วนโค้งออกค่อยๆ กลายเป็นแนวตรง  .  .  .  และ  .  .  .  เริ่มโค้งกลับไปทางตรงกันข้าม  .  .  .  กลายเป็นเว้า  .  .  .  ทหารโรมันรุกเข้าไปในส่วนเว้านั้น  .  .  .  จนเว้าเป็นรูปครึ่งวงกลม  .  .  .  ทหารโรมันยิ่งรุกเข้าไปในครึ่งวงกลมนั้น    เพื่อจะตัดแนวนี้ให้ได้    และถ้าแนวเว้าครึ่งวงกลมนี้ขาด  กองทัพคาร์เธจต้องแตกพ่าย  ปราชัยอย่างแน่นอน  .  .  .  แต่แนวก็ไม่ขาด  .  .  .  ด้วยความสำคัญของตอนกลางนี้  ฮานนิบาลจึงอยู่บัญชาการด้วยตนเอง  และมาโก  น้องชายเป็นผู้ช่วย    

          ฝ่ายโรมันยิ่งพยายามดันแนวเว้าของกองทัพคาร์เธจต่อไป  ทำให้แนวรบทหารโรมันสั้นเข้า และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  .  .  .  จนในที่สุด  ทหารราบอาฟริกันทั้งสองปีกของฮานนิบาลก็ได้โอบปีกทหารราบโรมันทั้งสองปีก  .  .  .  ทหารราบโรมันซึ่งเบียดกันแน่น  ต้องพยายามจัดแถวใหม่เพื่อต่อสู้กับทหารราบชาวกอลและสเปนทางด้านหน้า  และทหารราบชาวอาฟริกันทางสองปีก

 

 

 

 

          ระหว่างที่ทหารราบต่อสู้กันในตอนกลางนั้น     ทหารม้าทางปีกซ้ายของฮาสดรูบาล  ก็เข้าตีทหารม้าทางปีกขวาของกงสุลเปาลุส    ท่านว่าทหารม้าโรมันพยายามแสดงความสามารถ และกล้าหาญอย่างยิ่งยวด  แต่สู้ทหารม้าชาวกอลและสเปนไม่ได้  ทั้งการฝึกหัด และจำนวน  จึง  .  .  .  แตกพ่ายยับเยิน  .  .  .  ถูกทหารม้าคาร์เธจขับไล่ต้องหนีกระจัดกระจายออกไปจากสนามรบ     กงสุลเปาลุสเองนำทหารม้าจำนวนหนึ่งลงจากม้าไปรวมกันรบกับทหารราบ    จนในที่สุด  .  .  .  กงสุลเปาลุสถูกอาวุธตายในสนามรบ

           ทางปีกขวา  ทหารม้าชาวนูมีเดียของมาฮาร์บาลมีจำนวนไม่มากเท่าทางปีกซ้าย  จึงคุมเชิงทหารม้าโรมันของกงสุลวาร์โรอยู่  ไม่ได้เข้าตี    ต่อเมื่อทหารม้าของฮาสดรูบาลขับไล่ทหารม้าโรมันของกงสุลเปาลุสออกไปพ้นสนามรบ  และกลับเข้ามาโจมตีทหารม้าโรมันของกงสุลวาร์โรทางด้านหลัง    มาฮาร์บาลจึงนำทหารม้าชาวนูมีเดียเข้าโจมตีทางด้านหน้า    ทหารม้าโรมันของกงสุลวาร์โรจึงถูกโจมตีกระหนาบทั้งสองด้านไม่นานก็พ่ายย่อยยับและออกจากสนามรบไปอีก       มาฮาร์บาลจึงนำทหารม้าชาวนูมีเดียไล่ติดตามต่อไป    ส่วนฮาสดรูบาลก็นำทหารม้าของตนกลับไปที่ทหารราบกำลังต่อสู้กัน  และเข้าทีทหารราบโรมันทางด้านหลังที่ยังว่างอยู่  .  .  .  เป็นอันว่า  .  .  .  ทหารราบโรมันถูกปิดล้อมอยู่ทั้งสี่ด้าน  .  .  .  กองทัพโรมันก็เลยเอาไว้ไม่อยู่  ต่างคนต่างต่อสู้  ไม่มีผู้ใดจำพวกจำเหล่าได้   ต่างเบียดเสียดยัดเยียดกัน  เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง  .  .  .   แตกพ่ายพินาศยับเยิน  .  .  .

 

           ส่วนกองกำลังพิเศษ  ๑๐,๐๐๐    ที่ทำทีเป็นอยู่รักษาค่าย  และออกไปโจมตีค่ายทหารคาร์เธจนั้น    เนื่องจากทางค่ายคาร์เธจได้ทำป้อมคูประตูหอรบป้องกันเอาไว้อย่างแข็งแรง    ทหารโรมันจึงไม่สามารถตีแตกได้    และเมื่อกองทัพใหญ่คาร์เธจได้ชัยชนะแล้ว      ฮานนิบาลยกกลับไปช่วยขับไล่ทหารโรมันกลับไปค่ายของตน  แล้วล้อมไว้  .  .  .  ในวันรุ่งขึ้นทหารโรมันส่วนนี้ก็ยอมให้จับเป็นเชลย

 

 

 

 

 

 ผลของการรบ

          ฝ่ายโรมัน    จัดทหารเข้าทำการรบจำนวน  ๕๔,๐๐๐  เหลือรอดเพียง  ๑๐,๐๐๐   รวมทั้งกงสุลวาร์โรซึ่งหนีลงไปทางใต้ถึงเมืองคานูซิอุม  แล้วรีบกลับไปกรุงโรม   นอกจากเสียรี้พลเป็นจำนวนมากมาย  ในจำนวนนี้  เป็นผู้มีตำแหน่งสูงๆ   สมาชิกสภาเซเนต  ฯลฯ  เป็นจำนวนมากด้วย

           ฝ่ายคาร์เธจ     สูญเสียทหาร    ๖,๗๐๐  คน

 

คานูซิอุม

           กองทหารโรมันที่รอดมาจากสนามรบคานาเอได้เลือก  ปุบลิอุส  สกิปิโอ   (บุตรกงสุลสกิปิโอซึ่งรบแพ้ฮานนิบาลที่แม่น้ำติซินุส เมื่อสามปีก่อน)  ให้เป็นแม่ทัพ    และกองทัพนั้นตื่นตระหนกเสียขวัญกันมาก  ถึงกับออกความเห็นว่าควรยอมแพ้แก่ฮานนิบาล    จนแม่ทัพสกิปิโอต้องจับเอาหัวหน้าของพวกนี้กดคอลงเอาดาบทำท่าจะแทง และประกาศว่า  "ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า จะไม่ยอมทิ้งมหาชนรัฐโรมัน  และไม่ยอมให้คนอื่นละทิ้ง"  ทหารทั้งหลายก็โห้ร้องยินดี  และปฏิญาณตามแม่ทัพสกิปิโอ  .  .  .  ครับ  .  .  .  ในยามที่คนส่วนใหญ่ตื่นตระหนกเสียขวัญ  ก็ต้องอาศัยผู้นำที่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างนี้แหละครับ

          และนักประวัติศาสตร์ยุคต่อๆ มาได้วิจารณ์ฮานนิบาลว่า    การที่ไม่ไล่ติดตามบดขยี้กองทหารโรมันส่วนนี้เป็นการปฏิบัติที่ผิดพลาดมาก

 

กรุงโรม  -  ห้ามไว้ทุกข์

           เมื่อได้ทราบข่าวการรบที่คานาเอก็เป็นที่แตกตื่นเสียขวัญยิ่งกว่าที่เคย    ฟาบิอุสเข้าควบคุมรัฐ  ได้ออกคำสั่งห้ามสตรีไว้ทุกข์เมื่อออกนอกบ้าน   แต่เกือบทุกครอบครัวก็ต้องไว้ทุกข์  เรื่องน่าฟังจากพลูตาร์ค

            พลูตาร์คได้เล่าว่า  .  .  .  ก่อนตาย  กงสุลเปาลุสได้ส่งข่าวไปยังฟาบิอุสในกรุงโรมว่า  .  .  .  "ข้าพเจ้าแพ้วาร์โรก่อน  แล้วจึงได้แพ้ฮานนิบาลต่อภายหลัง"

          แต่กงสุลวาร์โรก็รีบกลับกรุงโรม  และได้รับคำยกย่องชมเชยจากสภาเซเนต  ว่ามีความนับถือ และเชื่อมั่นในมหาชนรัฐเป็นอย่างดี

           ทางกองทัพคาร์เธจ    ต่างชื่นชมยินดีกับฮานนิบาล    และเรียกร้องให้นำทัพรุกสู่กรุงโรม    แต่ฮานนิบาลยังคงดำรงความมุ่งหมาย   คือพยายามให้ฝ่ายโรมันจัดกองทัพออกรบกลางแปลง    แต่ฮานนิบาลก็ส่งข่าวไปกรุงโรมว่ายินดีคืนเชลยชาวโรมันหากทางโรมจ่ายเงินค่าไถ่  .  .  .  โรมปฏิเสธ

          กรุงโรมตื่นตระหนกที่ปราชัยในการรบ    เศร้าโศกที่สูญเสียบุคคลในแทบทุกครอบครัว    แต่  .  .  .  ไม่เสียขวัญ       กรุงโรมไม่ยอมเจรจากับฮานนิบาล  แม้เพื่อไถ่เชลยชาวโรมัน    หลายนครรัฐยังคงเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น   แต่รัฐที่ยอมเข้ากับฮานนิบาลก็มี  เช่น  อาร์ปี  ซาลาเปีย  บรุตติอุม  ลูคาเนีย   ซามนิอุม  ที่สำคัญที่สุดคือแคว้นคามปาเนียซึ่งมีเมืองคาปูอา  (Capua)  เป็นเมืองสำคัญที่สุด  มั่งคั่ง  ร่ำรวย  และใหญ่โตรองจากกรุงโรม    มีกองทหารราบถึง  ๓๐,๐๐๐   ทหารม้า  ๓,๐๐๐    แต่ก็ไม่ยอมส่งกองทัพไปช่วยฮานนิบาล  เพียงแต่ว่าจะรักษาเมืองของตนเท่านั้น

 

แคว้นไอบีเรีย  

            ต่อมา  ฮาสดรูบาลได้เพิ่มเติมกำลังอีกเล็กน้อยจึงนำทัพจากนครคาร์เธจใหม่ขึ้นไปทางเหนือ   ได้รบกองทัพพี่น้องสกิปิโอ    แต่ก็ต้องแพ้กองทัพโรมัน การที่กองทัพโรมันมีชัยชนะในแคว้นไอบีเรียครั้งนี้    เป็นการบำรุงขวัญชาวโรมันเป็นอันมากหลังจากตระหนกตกใจจากข่าวการรบที่คานาเอมาแล้วเป็นอย่างดี    และเป็นการทำลายแผนยุทธศาสตร์ของฮานนิบาลที่ต้องการทำลายขวัญ และกำลังใจชาวโรมันด้วย    

 

กรุงคาร์เธจ  -  ไม่จัดลำดับความสำคัญ
 
           อย่างไรก็ตาม    ฮานนิบาลก็ส่งมาโกน้องชายเข้าไปอภิปรายชี้แจงการฏิบัติของกองทัพคาร์เธจในสภาเซเนตของคาร์เธจ    พร้อมทั้งขอให้กรุงคาร์เธจส่งเสบียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์  และกองหนุนไปเพิ่มเติมกำลัง    ซึ่งฮานโนฝ่ายตรงข้ามได้อภิปรายคัดค้านอย่างเต็มที่    แต่สภาเซเนตก็มีมติส่งกำลังพลเพิ่มเติมให้ฮานนิบาลในคาบสมุทรอิตาลีแต่เนื่องจากสถานการณ์ในแคว้นไอบีเรีย   กรุงคาร์เธจจึงปรับแผนนำกำลังซึ่งจะเพิ่มเติมให้ฮานนิบาลในคาบสมุทรอิตาลีส่งไปแคว้นไอบีเรีย  .  .  .

 

สงครามเปลี่ยนรูปแบบ

           เมื่อการสงครามฮานนิบาลได้ดำเนินมาจนบัดนี้    กรุงโรมซึ่งได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ได้วางกำลังทหารไว้ดังนี้

ในคาบสมุทรอิตาลี

          ป้องกันกรุงโรม    ๔  เลจิโอน   เป็นกำลังที่เกณฑ์ขึ้นใหม่  ๒  เลจิโอน  และ  เคลื่อนย้ายมาจากเกาะซิซีลี  อีก  ๒  เลจิโอน

          ทางเหนือแม่น้ำโพ    ๒  เลจิโอน  มีภารกิจสกัดกั้นไม่ให้ชาวกอลส่งกองทัพมาเพิ่มเติมกำลังให้ฮานนิบาล

          ในแคว้นไอบีเรีย    ๒  เลจิโอน  ในบังคับบัญชาของ สองพี่น้อง สกิปิโอ

          เกาะซาร์ดิเนีย    ๑  เลจิโอน

          เกาะซิซีลี  อีก  ๒  เลจิโอน

            นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งว่าเป็นการประนามทหาร  ๒  เลจิโอนบนเกาะซิซีลีนี้ว่า  ไม่เป็นที่ไว้วางใจจากรัฐบาลโรมันให้รักษากรุงโรมเพราะปราชัยย่อยยับมาจากสนามรบคานาเอ    แต่ผมเห็นว่าเป็นบำเหน็จตอบแทนที่ท่านเหล่านี้ได้รอดชีวิตกลับมา  ยังหวาดผวา การรบ  จำเป็นต้องให้ฟื้นฟูสภาพจิตใจ  โดยมอบภารกิจที่ห่างไกลจากการรบ  มากกว่า  .  .  .  ในความจริง  รัฐบาลโรมันยุคนั้นจะมีเหตุผลอย่างไรคงไม่มีใครตอบได้

           ฟาบิอุส  ได้กลับเป็นแม่ทัพสูงสุดโรมันอีกวาระหนึ่ง  จึงใช้นโยบายการสงครามของตนคือ  .  .  .  จะปล่อยให้กองทัพอันมีรัศมีรุ่งโรจน์ของฮานนิบาล  ค่อยๆ ลดแสง และหรี่ลงไปทีละเล็กละน้อยจนดับ  ซึ่งเปรียบประดุจดวงประทีปที่ไม่มีผู้ใดเติมน้ำมัน  .  .  . 

           สถานการณ์ของฮานนิบาล  ไม่ดีขึ้น     การปะทะของหน่วยทหารขนาดเล็ก  แม้จะสูญเสียทั้งสองฝ่าย  แต่ฝ่ายโรมันมีกำลังทดแทน   แต่ก็ต้องเพิ่มอัตราภาษีอากรเพื่อนำเงินมาใช้ในการทำสงคราม      ส่วนฝ่ายคาร์เธจไม่สามารถหากำลังทดแทนได้  และไม่ได้รับเพิ่มเติมกำลังซึ่งเป็นข้อเสียที่รัายแรง

 

           ครับ  .  .  .  ถึงแม้ว่าจะแพ้พ่ายปราชัยในการรบใหญ่ถึงสามครั้ง  แต่ชาวโรมันก็ไม่ได้ย่อท้อ  กลับพยายามต่อสู้อย่างที่สุด แต่ก็ต้องใช้เวลาในการเสริมสร้างความพร้อม    ส่วนฮานนิบาลนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคาร์เธจ  ซ้ำฝ่ายโรมันยังให้สินบนสมาชิกเซเนตคาร์เธจไม่ให้สนับสนุนฮานนิบาล  และกังวลผลประโยชน์ในแคว้นไอบีเรียมากเกินไป   

           ฮานนิบาลก็ยังไม่มีกำลังพอที่จะทำการให้สำเร็จได้ และ โรมัน ก็รอเช่นกัน

          ดังนั้น   ทั้งสองฝ่ายจึงได้แต่ .  .  .  คุมเชิงและแสวงหาพันธมิตร  เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปครับ

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  การคุมเชิงและแสวงหาพันธมิตร

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  การคุมเชิงและแสวงหาพันธมิตร

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  การคุมเชิงและแสวงหาพันธมิตร 

 

 

บรรณานุกรม

           -  ANCIENT AND MEDIEVAL WARFAIRE      UNITED STATES MILITARY ACADEMY    WEST POINT  -  NEW YORK    1973 

          -  พงษาวดารยุทธศิลปะ    นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ    พิมพ์ครั้งที่ ๑   ในพระพุทธศักราช  ๒๔๕๙

          -  ชีวะประวัติของฮานนิบาล  จอมทัพแห่งกรุงคาร์เธจ    พันตรี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์    โรงพิมพ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า   พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๙๐

          -  เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

         -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (585)
avatar
applius
ดีใจมากๆที่มีคนทำภาคไทย เพราะว่าทำรายงาน the battle of Cannae พอดี ทำให้เข้าใจภาพรวมได้มากขึ้น เพราะว่าต้องอ่านเอกสารชั้นต้นที่แปลมาจากภาษากรีก
ผู้แสดงความคิดเห็น applius วันที่ตอบ 2010-07-17 17:52:27 IP : 183.89.179.132


ความคิดเห็นที่ 2 (586)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณ และยินดีครับ

หากมีข้อมูลจากต้นฉบับที่แปลจากภาษากรีกซึ่งแตกต่างไป  กรุณาบอกด้วยนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-07-17 18:53:28 IP : 124.121.203.186



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker