dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ฮานนิบาล - การคุมเชิง และแสวงหาพันธมิตร
วันที่ 16/02/2020   20:59:19

*  *  *

การคุมเชิง และแสวงหาพันธมิตร

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จากชัยชนะในคาบสมุทรอิตาลี

 

          ในคาบสมุทรอิตาลี  ฮานนิบาลประเดิมชัยเล็กๆ ที่แม่น้ำติซิโน    และชัยชนะอย่างกึกก้องจากสมรภูมิแม่น้ำเทรเบีย  สมรภูมิทะเลสาปตราซิเมน  และสมรภูมิคานาเอ    ถึงกรุงโรมตื่นตระหนกที่ปราชัยในการรบ    เศร้าโศกที่สูญเสียบุคคลในแทบทุกครอบครัว    แต่  .  .  .  ไม่เสียขวัญ       กรุงโรมไม่ยอมเจรจากับฮานนิบาล  แม้เพื่อไถ่เชลยชาวโรมัน    หลายนครรัฐยังคงเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น

           ในแคว้นไอบีเรีย    ฮาสดรูบาลได้เพิ่มเติมกำลังอีกเล็กน้อยจึงนำทัพจากนครคาร์เธจใหม่ขึ้นไปทางเหนือ   ได้รบกองทัพพี่น้องสกิปิโอ  แต่ก็ต้องแพ้กองทัพโรมัน   การที่กองทัพโรมันมีชัยชนะในแคว้นไอบีเรียครั้งนี้    เป็นการบำรุงขวัญชาวโรมันเป็นอันมากหลังจากตระหนกตกใจจากข่าวการรบที่คานาเอมาแล้วเป็นอย่างดี    และเป็นการทำลายแผนยุทธศาสตร์ของฮานนิบาลที่ต้องการทำลายขวัญ และกำลังใจชาวโรมันด้วย

          ส่วนฮานนิบาลนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคาร์เธจ  ซ้ำฝ่ายโรมันยังให้สินบนสมาชิกเซเนตคาร์เธจไม่ให้สนับสนุนฮานนิบาล  และกังวลผลประโยชน์ในแคว้นไอบีเรียมากเกินไป   

           ฮานนิบาลก็ยังไม่มีกำลังพอที่จะทำการให้สำเร็จได้ และ โรมัน ก็รอเช่นกัน

          ดังนั้น   ทั้งสองฝ่ายจึงได้แต่ .  .  .  คุมเชิงและแสวงหาพันธมิตร    ครับ  .  .  .  เชิญติดตามการแสวงหาพันธมิตรของคู่สงครามกันนะครับ  .  .  .

 

 

 

การแสวงหาพันธมิตร

 

พ.ศ.๓๒๗  (๒๑๖  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๔  ของสงครามฮานนิบาล

 

มาเซโดเนีย

          พระเจ้าฟิลลิปที่  ๕  แห่งมาเซโดเนีย  เป็นอีกหนึ่งที่ฮานนิบาลหวังได้เป็นพันธมิตรในการทำสงครามกับโรมัน    เมื่อทรงได้ข่าวว่าฮานนิบาลข้ามภูเขาแอลป์สมาแล้วก็ไม่แน่พระทัยว่าอยากให้ฝ่ายใดชนะ

          ในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.๓๒๗   (๒๑๖  ปีก่อนคริสตศักราช)   หรือ ปีที่  ๔  ของสงครามฮานนิบาล    พระองค์ทรงทำศึกกับโรมันในแคว้นอิลลิเรีย ทางฝั่งตะวันออกของทะเลอเดรียติก   แต่ก็ไม่ได้ผล            และเมื่อฮานนิบาลได้ชัยชนะในการรบที่คานาเอ   ในเดือนสิงหาคม    จึงทรงดำริที่จะเป็นพันธมิตรและตกลงกับฮานนิบาลเสียก่อน

 

พ.ศ.๓๒๘  (๒๑๕  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๕  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

           ฟาบิอุส  และกราคคุส  (Gracchus)  ได้รับเลือกเป็นกงสุล     กรุงโรมมีกำลังป้องกัน  ๓  กองทัพ     กองทัพละ  ๒  เลจิโอน    กงสุลทั้งสองท่านเป็นแม่ทัพ  และแม่ทัพอีกท่านหนึ่งคือ  มาร์เซลลุส  (Marcellus)   ซึ่งเคยได้ต่อสู้กับฮามิลคาร์  บาร์คามาแล้วในการรบบนเกาะซิซีลี    ปัจจุบันอายุประมาณ  ๕๐  ปี

           กองทัพฮานนิบาลพักฤดูหนาวอยู่ที่เมืองคาปูอา    และประสงค์จะตีเมืองคูมาเอ  และเมืองนีอาโปลิส   (Neapolis  -  Naples  ในปัจจุบัน)    แต่ทางโรมันจัดการป้องกันอย่างดี    ฮานนิบาลจึงยังเข้าตีไม่ได้    และตกลงใจจะตีเอาเมืองโนลา  (Nola)   เพราะชาวเมืองส่วนหนึ่งส่งข่าวมาว่าจะเข้าด้วย    มาร์เซลลุสจึงนำกองทัพไปตั้งรักษาเมือง    เมื่อฮานนิบาลส่งกองย่อยไปตีเมือง    มาร์เซลลุสก็ยกกำลังมารบนอกเมือง    กองย่อยคาร์เธจทำการได้ดี  แต่มีทหารโรมันอีกกองหนึ่งยกออกมาจากเมืองอีกมาตีกระหนาบ    กองย่อยคาร์เธจจึงต้องล่าถอย  และสูญเสียมิใช่น้อย    ฮานนิบาลพยายามตีเมืองโนลาถึง  ๓  ครั้ง  แต่ก็ไม่สำเร็จ

 

เมืองซิย์ราคูส  เกาะซิซีลี

 

                                                                     

 

 

 

 

 

 

 

 

Sicily                                                                                                                                                   Syracuse  Sicily

 

          กษัตริย์ไฮโร ที่ ๒  Hiero II  แห่งซิย์ราคุส  เกาะซิซีลี  เป็นพันธมิครที่ซื่อสัตย์ของโรม    ครั้นถึงฤดูร้อน  พ.ศ.๓๒๘     กษัตริย์ไฮโรสิ้นพระชนม์    พระราชนัดดา คือ ไฮโรนีมุส  (Hieronymus)  พระชนมายุ  ๑๕  พรรษา  ได้สืบราชสมบัติ   จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์    ในคณะนี้  มีลุงเขย และน้าของพระราชาได้ติดต่อกับฮานนิบาลว่า  หากฮานนิบาลได้ชัยชนะครอบครองคาบสมุทรอิตาลี  ซิย์ราคูสขอเกาะซิซีลีทั้งหมดด้วย  .  .  .  ก็เป็นที่ตกลงกัน  .  .  .  กองทัพซิย์ราคูสจึงโจมตีกองทัพโรมันบนเกาะซิซีลี ซึ่งมีอยู่  ๒  เลจิโอนและเป็นทหารที่ผ่านศึกคานาเอมาแล้ว  .  .  .  ซิย์ราคูสก็ตีได้เมืองต่างๆ ของโรมันบ้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Syracuse  Theater                                                                                                        Greek Thaetre and Mount Etna

 

 

มาเซโดเนีย

           เมื่อฝ่ายโรมันยังคงยืนหยัดสู้  หลังจากการปราชัยในการรบที่คานาเอ   พระเจ้าฟิลลิปที่  ๕  ทรงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะให้ฮานนิบาลทราบว่า  พระองค์จะทรงเป็นพันธมิตรกับคาร์เธจ    และฑูตของมาเซโดเนียก็ได้ตกลงและลงนามในสัญญากับฮานนิบาล  ในฤดูร้อน  พ.ศ.๓๒๘  นี้     โดยตกลงกันว่า    คาร์เธจจะรบในคาบสมุทรอิตาลี    มาเซโดเนียจะรบในคาบสมุทรบาลข่าน    เมื่อชนะสงครามเรียบร้อยแล้ว   คาร์เธจก็ได้คาบสมุทรอิตาลี  และ มาเซโดเนียจะได้ดินแดนของโรมันในคาบสมุทรบาลข่าน

          เมื่อการดำเนินมาถึงเพียงนี้แล้ว  ฑูตก็เดินทางกลับมาเซโดเนียพร้อมฑูตของคาร์เธจที่ส่งไปมาเซโดเนียเพื่อรับสัตยาบันจากพระเจ้าฟิลลิปที่  ๕  แห่งมาเซโดเนีย    แต่เผอิญโชคร้าย  เรือคณะฑูตถูกเรือลาดตระเวนของโรมันจับได้      ทางกรุงโรมจึงได้ทราบถึงสัญญาพันธมิตรดังกล่าว      และแม้ว่าฮานนิบาลจะส่งคณะฑูตไปอีก  ก็เสียเวลามาก    ทางโรมันก็เตรียมตัวได้ทัน  และส่งทหารไปในแคว้นอิลลิเรียเพียงเล็กน้อย     แต่ยุยงรัฐกรีกต่างๆ ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าฟิลลิป

ดังนั้น    แม้มาเซโดเนียจะเป็นพันธมิตรกับคาร์เธจ   ก็ไม่เป็นประโยชน์เท่าใดเพราะโรมันไม่ต้องส่งกองทัพจำนวนมากไปรบกับมาเซโดเนีย

 

เกาะซาร์ดิเนีย

            ซึ่งโรมันยึดเอาไปเมื่อหลังสงครามปิวนิคครั้งก่อนได้เป็นกบฏต่อโรมัน    ทางกรุงคาร์เธจก็จะส่งทหารไปช่วยฝ่ายกบฏ   แต่เกิดพายุใหญ่  เรือต้องหลบคลื่นลมเสียนาน    ครั้นกลับไปถึงเกาะซาร์ดิเนีย  ปรากฏว่าฝ่ายกบฏได้  .  .  .  เรียบโร้ย  .  .  .  แล้ว

 

ไอบีเรีย

           ฮาสดรูบาลถูกเรียกตัวจากแคว้นไอบีเรียให้กลับไปปราบปรามกษัตริย์ซีฟากซ์  พระราชาองค์หนึ่งในอาฟริกาซึ่งแข็งเมืองต่อคาร์เธจ   แต่เมื่อปราบปรามได้เรียบร้อยแล้วรัฐบาลคาร์เธจก็ไม่ยอมส่งกองทัพของฮาสดรูบาลนี้ไปช่วยฮานนิบาล      และฮาสดรูบาลได้มาโกน้องชายนำกองทัพมาสมทบด้วยมีรี้พลถึง   ๑๕,๐๐๐

 

พ.ศ.๓๒๙   (๒๑๔  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๖  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

           ฟาบิอุส  และมาร์เซลลุส ได้รับเลือกเป็นกงสุล    และปีนี้โรมันมีกำลังถึง  ๒๐  เลจิโอน     ฮานนิบาล    ตั้งใจจะทำลายอำนาจของโรมในแคว้นคามปาเนียให้จงได้  แต่ไม่สำเร็จ    จึงปรับแผนจะไปตีเมืองตาเรนตุม  (Tarentum)  และเมืองเฮราเคลีย  (Heraclea)    แต่กองเรือโรมันที่เมืองบรุนดิซิอุม  (Brundisium)  ก็นำกองหนุนมาเพิ่มเติมกำลังให้    ฮานนิบาลต้องตั้งอยู่ในแคว้นอาปูเลียในฤดูหนาวนี้     บางเมืองที่ทำท่าว่าจะสนับสนุนฮานนิบาล  ก็เปลี่ยนใจเข้ากับโรมันดังเดิม

 

 ในปีนี้    เริ่มจะเห็นวิถีทางของฮานนิบาลชัดเจนมากขึ้น

 

 

เมืองซิย์ราคูส  เกาะซิซีลี

 

          ฤดูร้อน  พ.ศ.๓๒๙   ยุวกษัตริย์ไฮโรนีมุสทรงครองราชย์ได้  ๑๓  เดือน  ทางกรุงโรมส่งคนลอบปลงพระชนม์  จึงเกิดจลาจลระหว่างพวกนิยมโรมัน และพวกนิยมคาร์เธจเข้าต่อสู้กัน    แต่พวกนิยมโรมันทำการรุนแรงถึงกับสังหารพระราชวงศ์เสียจนหมดทั้งบุรุษ - สตรี    ฝ่ายที่เป็นกลางจึงสนับสนุนพวกนิยมคาร์เธจ    ผู้แทนของฮานนิบาลได้รับเลืองเป็นนายพล  ๒  คน   และทำสงครามกับโรมัน     ทางโรมันจึงส่งมาร์เซลลุสคุมกองเรือจำนวน  ๑๐๐  ลำมาเกาะซิซีลี

 

           มาร์เซลลุสพยายามตีเมืองทั้งทางบก และทางทะเล   แต่เมืองมีกำแพงสูงใหญ่มั่นคงมาก    และยังมีปรมาจารย์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ   คือ อาร์คีมีเดส  (Archimides)  ในสมัยที่ว่านี้  ท่านอายุกว่า  ๗๐  ปีแล้ว   ท่านได้ประดิษฐ์เครื่องมือช่วยในการป้องกันเมืองด้วย    เช่น  ทำแขนมีตะขออันใหญ่  ไว้คอยเกี่ยวเรือรบโรมันที่แล่นเข้ามาในระยะ  ยกเรือขึ้นให้สูง   (น่าจะมีเครื่องกว้านยกขึ้นไป    เสียดายที่หาภาพมาเสนอไม่ได้)    แล้วก็ปล่อยให้เรือตกลงไปกระแทกน้ำ   เรือก็แตก  ทหารในเรือก็  .  .  .  เรียบโร้ย    หรือ  หากเอาบรรไดพาดกำแพง และปีนเข้ามาก็ง่าย  ท่านทำเครื่องทิ้งน้ำหนัก  (น่าจะเป็นก้อนหิน)  ลงทับข้าศึกศัตรูที่ปีนกำแพงอยู่นั้น  .  .  .  เรียบโร้ย   อีก   (ก่อนสมัยท่านคงจะใช้ทหารกล้ายกก้อนหินทุ่มลงมา  ซึ่งก้อนใหญ่มากทหารก็ยกไม่ไหว  ท่านน่าจะทำให้ทิ้งน้ำหนักได้ หนักกว่า และมีประสิทธิภาพขึ้น)   

          ในที่สุด  มาร์เซลลุสก็ตีเมืองซิย์ราคูสไม่ได้ต้องล้อมเอาไว้


 

พ.ศ.๓๓๐   (๒๑๓  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๗  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

           ชาวโรมันเริ่มมองเห็นโอกาสแห่งชัยชนะมากขึ้น    ฟาบิอุส  ได้รับเลือกเป็นกงสุลพร้อมกับบุตรชาย    ซึ่งต้องบัญชาการกองทัพคนละกอง  และ กราคคุส ได้เป็นแม่ทัพอีกกองทัพหนึ่ง

           ฮานนิบาลยังคงอยู่ทางใต้  เมืองตาเรนตุมยอมเป็นพันธมิตร    และยังชักชวนเมืองกรีกทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลีให้เป็นพันธมิตรกับคาร์เธจอีกหลายเมือง

          เป็นปีที่ชาวโรมันฝากความหวังไว้กับกงสุลตระกูลฟาบิอุสทั้งบิดา และบุตรว่าจะชนะสงครามฮานนิบาล  .  .  .  แต่ก็ผิดหวัง      

 

พ.ศ.๓๓๑   (๒๑๒  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๘  ของสงครามฮานนิบาล

           เนื่องจากกงสุลตระกูลฟาบิอุสทำให้ชาวโรมันผิดหวัง    ในปีนี้  ฟุลวิอุส  ฟลาคคุส  (Fulvius  Flaccus)  และ  เคลาดิอุส  ปุลเคอร์  (Claudius  Pulcher)   ได้เป็นกงสุล และ กราคคุส  ก็ได้เป็นแม่ทัพอีกกองทัพหนึ่งเช่นเดิม      กรุงโรมพัฒนากองทัพขึ้นเป็น  ๒๕  เลจิโอน   และการที่ขยายกำลังกองทัพอย่างรวดเร็วนี้ก็มีแต่งตั้งนายทหารเป็นผู้บัญชาการเลจิโอนเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา 

          ในบรรดาผู้บัญชาการใหม่นี้  ที่ท่านหนึ่งที่เราจะได้ยินชื่อเสียงท่านต่อไปคือ  เคลาดิอุส  เนโร   (Claudius Nero)

           ในปีนี้  โรมันพยายามตีเอาเมืองคาปูอาคืน   แต่ฮานนิบาลรีบมาแก้สถานการณ์ได้ทัน    แต่กราคคุสก็ได้ตายในสนามรบ    ฮานนิบาลได้ทำพิธีศพให้กราคคุสอย่างเต็มที่

 

เมืองซิย์ราคูส  เกาะซิซีลี

          ฝ่ายคาร์เธจส่งกำลังขึ้นมาเพิ่มติมทางฝั่งตะวันตกของเกาะ   และในปีนี้ต่างคุมเชิงกันอยู่ แต่ฝ่ายคาร์เธจมีกองเรือน้อยกว่าฝ่ายโรมัน ราวครึ่งต่อครึ่ง  

 

พ.ศ.๓๓๒   (๒๑๑  ปีก่อนคริสตศักราช)    ปีที่  ๙  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

          ฮานนิบาลพยายามช่วยเหลือเมืองคาปูอาซึ่งถูกกองทัพโรมันล้อมอยู่  แต่ไม่สำเร็จ  จึงนำทัพเข้าล้อมกรุงโรม  อย่างจู่โจม    กล่าวคือ  ฮานนิบาลเดินทัพออกจากค่ายในเวลากลางคืน  แต่ให้กองทัพจุดไฟทิ้งเอาไว้เป็นการพรางให้ฝ่ายโรมันหลงว่ากองทัพคาร์เธจยังคงอยู่ในค่าย

          ฮานนิบาลตั้งค่ายล้อมกรุงโรมราว   ๕ - ๘  กิโลเมตร   ผู้คนแตกตื่นตกใจกันมาก  ที่พอจะเข้ามาในกรุงโรมได้ก็อพยพกันเข้ามา      การที่ฮานนิบาลนำทัพมาล้อมกรุงโรมนี้ไม่ได้ต้องการจะตีกรุงโรม  แต่เพราะต้องการให้กองทัพโรมันที่ล้อมเมืองคาปูอานำกองทัพมาช่วยกรุงโรม  และฮานนิบาลจะได้ทำลายกองทัพโรมันที่แยกออกมานี้    แต่กองทัพโรมันที่ล้อมเมืองคาปูอาก็ไม่ได้ตามมา  .  .  .  อุบายของฮานนิบาลไม่ได้ผล  .  .  .  โรมันไม่หลงกล    ฮานนิบาลจึงนำทัพไปเมืองบรุ๊ตติอุม

           ในที่สุด  เมืองคาปูอาต้องยอมแพ้ต่อกองทัพโรมันเพราะขาดแคลนอาหาร   กองทัพโรมันจึงทำลายเสีย  และจัดเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงโรม

 

 เมืองซิย์ราคูส  เกาะซิซีลี

           การล้อมเมืองยังคงดำเนินต่อไป    แต่มีชาวเมืองช่วยฝ่ายโรมันด้วยการเปิดประตูเมืองให้  (ก็น่าจะได้มีการเจรจากันไว้ก่อนแล้ว)   มาร์เซลลุสนำกองทหารโรมันเข้าเมืองซิย์ราคูสได้ 

          ฮานนิบาลจึงผิดหวัง   ไม่ได้เมืองซิย์ราคูสเป็นพันธมิตรคาร์เธจ  ดังนี้

 

          เมื่อเข้าเมืองได้แล้ว  มาร์เซลลุสสั่งให้ทำลายเมืองเสียหมด  ส่งศิลปวัตถุกลับไปกรุงโรม    แต่เป็นที่น่าเสียดายในทางวิชาการ  เพราะแม่ทัพมาร์เซลลุสต้องการพบท่าน อาร์คิเมดีส  จึงให้ทหารไปตามเมื่อทหารไปถึงและร้องเรียก    ท่านอาร์คิเมดีสกำลังคิดเลขอยู่จึงไม่ได้ยิน  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะท่านสูงวัย และกำลังใช้ความคิดมากมีสมาธิสูง    ทหารจึงฆ่าเสีย  (ง่ายๆ)  

          

 


 

 

 

 

 คาบสมุทรไอบีเรีย

        แม่ทัพสองพี่น้องตระกูลสกิปิโอ  ได้แยกกองทัพกัน  เพื่อความสะดวกในการแสวงหาเสบียงอาหาร    แต่ในที่สุด  ก็ถูกฮาสดรูบาลและมาโกนำกองทัพคาร์เธจตีแตกเสียทั้งสองกองทัพ    และท่านพี่น้องแม่ทัพก็ถูกสังหารเสียในการรบด้วย  .  .  .  ครับ  การที่รัฐบาลคาร์เธจไม่ส่งกองทัพฮาสดรูบาลและมาโกไปช่วยฮานนิบาลในคาบสมุทรอิตาลีก็เป็นประโยชน์แก่คาร์เธจบ้างเหมือนกัน นะครับ

 

พ.ศ.๓๓๓   (๒๑๐  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๐  ของสงครามฮานนิบาล

 

กรุงโรม

           กรุงโรมได้กงสุลใหม่คือ  มาร์เซลลุส  และ  เลวินุส  (Laevinus)   และกรุงโรมได้ปรับลดกำลังกองทัพจาก  ๒๕  เลจิโอน  เหลือ  ๒๑  เลจิโอน    วางกำลังในคาบสมุทรอิตาลี    ๑๑  เลจิโอน    อยู่ในบังคับบัญชาของ มาร์เซลลุส  ๔  เลจิโอน    ซึ่งสามารถตีเมืองต่างๆ กลับคืนได้บ้าง

 

คาบสมุทรไอบีเรีย 

           ปุบลิอุส  สกิปิโอ   (หนุ่ม)  บุตรปุบลิอุส  สกิปิโอ  (ซึ่งเคยแพ้ฮานนิบาลที่แม่น้ำติซินุส  และเสียชีวิตในไอบีเรีย)  ได้เป็นแม่ทัพโรมันในไอบีเรีย    ปุบลิอุส  สกิปิโอ  (หนุ่ม)  นี้  เคยเป็นแม่ทัพควบคุมทหารโรมันที่แตกจากการรบที่คานาเอ  และรวมพลกับที่เมืองคานูซิอุม  และเป็นผู้ประกาศว่า  "ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า จะไม่ยอมทิ้งมหาชนรัฐโรมัน  และไม่ยอมให้คนอื่นละทิ้ง"

           ปุบลิอุส  สกิปิโอ  ท่านนี้เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเอง และศาสนาของโรมัน ว่าเทพเจ้าต่างๆ ของชาวโรมันต้องช่วยชาวโรมันอยู่เสมอ  และโรมจะไม่มีวันพ่ายแพ้  (สมัยนั้นผู้คนในแถบนั้นนับถือเทพเจ้าต่างๆ หลายองค์)   

           เมื่อได้เป็นแม่ทัพก็คิดตีเอาหัวใจของคาร์เธจในไอบีเรีย คือเมืองคาร์เธจใหม่  เพราะพิจารณาแล้วว่า  ขณะนั้น  คาร์เธจมีกองทัพในไอบีเรียสามกองทัพ  คือของฮาสดรูบาล  ของมาโก  และ ของฮาสดรูบาล  (อีกคนหนึ่ง)    แต่ละกองทัพอยู่ไกลกันเกินกว่าที่จะช่วยกันได้

 

พ.ศ.๓๓๔   (๒๐๙  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๑  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

           มาร์เซลลุสคอยคุมเชิงฮานนิบาลในแคว้นคาปูเลีย    ส่วนฟาบิอุส เข้าล้อมเมืองตาเรนตุม   โดยเลวิอุสช่วยเข้าตีทางทะเล    ฮานนิบาลมาช่วยไม่ทัน    ในที่สุด  ก็ต้องบอมแพ้  และประสบชะตาเช่นเดียวกับเมืองคาปูอา

 

คาบสมุทรไอบีเรีย

            ในฤดูร้อน  พ.ศ.๓๓๔   สกิปิโอ ก็ตีเมืองคาร์เธจใหม่ได้    และพยายามชักชวนชาวสเปนให้ตีจากคาร์เธจ    ส่วนฮาสดรูบาลก็พยายามรวบรวมกองทัพส่งไปช่วยฮานนิบาล    สกิปิโอติดตามฮาสดรูบาลขึ้นไปทางเหนือจนถึงแม่น้ำตากุส     ได้รบใหญ่กันที่เมืองเบคูลา  (Baecula)  ริมฝั่งแม่น้ำเบติส  (Baetis  -  ปัจจุบันคือแม่น้ำกัลดัลกีเวียร์ Guadalquivir)  ไม่แพ้ชนะกัน   ฮาสดรูบาลผละจากการรบได้  นำกองทัพข้ามภูเขาปีเรนิส  ทางเหนือด้านฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค    ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้แสดงความเห็นว่า  สกิปิโอควรติดตามกองทัพของฮาสดรูบาล  และขัดขวางไม่ให้เดินทัพไปในคาบสมุทรอิตาลีได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พ.ศ.๓๓๕  (๒๐๘  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๒  ของสงครามฮานนิบาล

           มาร์เซลลุสได้เป็นกงสุลอีก  อีกคนหนึ่งคือ  ควิงตุส  คริสปินุส  (Quinctus  Crispinus)    ทั้งสองตั้งกองทัพอยู่ใกล้เมืองเวนูเซีย    ฮานนิบาลนำกองทัพออกชวนรบ    กงสุลมำทหารม้าออกลาดตระเวนและตรวจภูมิประเทศด้วยตนเอง    ฮานนิบาลซุ่มทหารม้าไว้ใกล้ริมเนินซึ่งคาดว่งกงสุลทั้งสองจะใช้เป็นที่ตรวจภูมิประเทศ     ฮานนิบาลคาดการได้ถูกต้อง    ทหารม้าคาร์เธจเข้าโจมตีอย่างได้ผล  .  .  .  คริสปินุส  บาดเจ็บ  แต่หนีไปได้    ส่วนมาร์เซลลุส  .  .  .  ถูกทวนทหารม้าคาร์เธจตายในที่รบ  ซึ่งฮานนิบาลได้จัดการพิธีเผาศพให้อย่างสมเกียรติ   และเก็บอัฐิใส่โกศเงินส่งไปให้ทายาทที่กรุงโรม    ท่านว่ามาร์เซลลุสนั้นอายุได้  ๖๐  ปี

           ฮาสดรูบาลได้มาถึงเทือกเขาแอลป์ส  รอที่จะข้ามในฤดูใบไม้ผลิ

 

          กองทัพโรมันได้วางกำลังรักษาเมืองต่างๆ  รวม   ๒๓  เลจิโอน  ดังนี้

          ในไอบีเรีย  ๔  เลจิโอน

          เกาะซิซีลี  ๒  เลจิโอน    

          เกาะซาร์ดิเนีย  ๒  เลจิโอน    

          เมืองคาปูอา  ๑  เลจิโอน

          เมืองตาเรนตุม  ๒  เลจิโอน

          ในแคว้นเอตรูเรีย  ๒  เลจิโอน

          ประจำเมืองทางภาคเหนือ  ๘  เลจิโอน

          ประจำกรุงโรม  ๒  เลจิโอน

     และยังมีกองทัพสนามในบังคับบัญชาของกงสุลทั้งสองอีก ๔  เลจิโอน

 

พ.ศ.๓๓๖   (๒๐๗  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๓  ของสงครามฮานนิบาล

           ฮาสดรูบาลได้ข้ามเทือกเขาแอลป์สในฤดูใบไม้ผลิ   และได้กำลังชาวกอลมาเพิ่มเติม   ทำให้กองทัพมีกำลังถึง  ๓๐,๐๐๐    แต่ไปเสียเวลา  และรี้พลในการโจมตีเมือง เมืองปลาเซนเตียโดยไม่ได้ประโยชน์    หากรีบนำกองทัพไปสมทบกับกองทัพฮานนิบาลโดยเร็วจะเป็นการดี และเป็นปยะโยชน์อย่างยิ่ง

 

 

 

          กรุงโรมก็ได้กงสุลใหม่คือ  เคลาดิอุส  เนโร  (Claudius Nero)  ซึ่งได้เป็นผู้บัญชาการเลจิโอนเมื่อ  พ.ศ.๓๓๑   และ  ลิวิอุส ซาลติเนเตอร์  (Livius Saltinator)

 

           ฮานนิบาลนำกองทัพจากเมืองบรุ๊ตติอุมจะไปบริเวณภาคกลางของคาบสมุทรอิตาลีเพื่อรวมกับกองทัพของฮาสดรูบาล  แต่กองทัพของเนโรขวางอยู่  จึงต้องพักที่เมืองคานูซิอุม    ฮาสดรูบาลก็วางแผนจะรวมกองทัพกับฮานนิบาลในแคว้นอุมเบรียจึงส่งเขียนแผนให้ม้าเร็วนำไปให้ฮานนิบาล   .  .  .  แต่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของคาร์เธจครับ  .  .  .  ม้าเร็วพลนำสารถูกหน่วยลาดตระเวนโรมันจับได้  .  .  .  เรียบโร้ย  ครับ  

           เนโรจึงให้กองทัพคุมเชิงอยู่ต่อไป  และแบ่งเอาทหารชั้นดีรีบเดินทางไปทางเหนือเพื่อรวมกับลิวิอุส   และเพื่อให้เดินทางได้รวดเร็วทหารไม่เหน็ดเหนื่อยเนโรได้ใช้รถและเกวียนของชาวนาในพื้นที่เป็นเครื่องมือในการเดินทาง

 

น้ำมันเติมตะเกียงหกหมดที่แม่น้ำมีตอรุส

           กองทัพของลิวิอุสคุมเชิงกองทัพฮาสดรูบาลที่แม่น้ำมีตอรุส  (Metaurus)    ส่วนเนโร เดินทางประมาณ  ๔๐๐  กิโลเมตร  ในเวลา  ๗  วัน  ซึ่งนับว่าเร็วมากในสมัยนั้นและ  .  .  .  การรบกลางแปลงก็ได้เกิดขึ้นที่แม่น้ำมีตอรุส    หลักฐานในประวัติศาสตร์ระบุว่าฝ่ายคาร์เธจมีทหารราบถึง  ๔๘,๐๐๐    ทหารม้า  ๘,๐๐๐   และช้าง  ๑๕  เชือก

 

 

The Carthaginian force numbered 48,000 infantry, 8,000 cavalry and 15 elephants   
 

 

 

 

Roman left wing, center and cavalry charging the respective Carthaginian forces

 

 

 

Claudius Nero attacking the Carthaginian right wing at its flank, left unprotected by retreating cavalry  
 

 

 

 

Carthaginian right wing and cavalry routed followed by a three prong attack on Carthaginian center.

 

 

 

Retreat of the entire Carthaginian army.

 

 

 

 

 

           ครับ  .  .  .  ฮาสดรูบาลตายในที่รบ      เนโรรีบกลับไปเมืองคานูซิอุม  พร้อมกับตัดศีรษะฮาสดรูบาลดองไว้  แล้วให้ทหารโยนเข้าไปในค่ายคาร์เธจ      ท่านว่าเป็นครั้งแรกที่ฮานนิบาลได้ทราบข่าว  และเห็นน้องชาย คือในครั้งนี้  .  .  .  และฮานนิบาลได้ดูศีรษะน้องชายโดยความเศร้าโศกลึกซึ้ง  แต่ไม่พูดว่ากระไรเลยสักคำเดียว.

           นักประวัติศาสตร์ว่า  .  .  .  เนโรไม่แสดงความเคารพต่อศพของผู้ที่ตายอย่างนักรบที่มีดาบอยู่ในมือ  .  .  .  และ  .  .  .  วิธีการที่ฮานนิบาลให้เกียรติยศอย่างดีแก่ศพมาร์เซลลุสนั้น  ยิ่งทำให้การกระทำของเนโรน่าเกลียดอย่างยิ่ง 

           การรบที่แม่น้ำมีตอรุส  แม้จะเป็นการรบที่ไม่ยิ่งใหญ่  หรือใช้ศิลปะการสงครามอย่างลึกซึ้งก็ตาม    แต่มีความสำคัญ ส่งผลถึงอนาคตของอาณาจักรคาร์เธจ - โรมัน    เป็นการรบที่ชี้ชะตาโลก    เซอร์  เอ็ดเวอร์ด  เชเฟอร์ด  ครีสซีย์  (Sir  Edward  Shepherd  Creasy)  อดีตศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์โบราณ และสมัยใหม่   แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน   จัดให้เป็น หนึ่งใน    Fifteen  Decisive  Battles  of  The  World     

          ทั้งนี้  เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่ยุติความบากบั่นเพียรพยายามอย่างเต็มที่จะเพิ่มเติมกำลังของฝ่ายคาร์เธจเท่านั้น    หากกระทำได้สำเร็จ  ฮานนิบาลอาจจะนำกองทัพพิชิตกรุงโรมได้     แต่การรบที่แม่น้ำมีตอรุสยังผลให้ฮานนิบาลต้องปราชัยในกาลต่อมา    อาณาจักรโรมันจึงมีอำนาจทางทหารอันยิ่งใหญ่แห่งโลกโบราณที่ไม่มีคู่ศึกใดจะทัดเทียมได้   และกรุงโรมก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตเป็นเวลาถึงสองศตวรรษ

  

 

 ยามหมดผลนกพร้อม    พรากสิ้นบินหนี

           นับแต่ฮานนิบาลได้เห็นศีรษะของน้องชายแล้ว  ก็คงจะคาดการณ์ข้างหน้าได้ แต่ก็คงมีความหวังว่าทางกรุงคาร์เธจจะส่งกำลังมาเพิ่มเติมให้อีก   และตราบที่ตนยังคงกองทัพอยู่ในภาคใต้ของคาบสมุทรอิตาลี  โรมันคงไม่กล้าไปโจมตีกรุงคาร์เธจ    อย่างไรก็ตาม    รัฐต่างๆ ที่เป็นพันธมิตร หรือทำท่าว่าจะไม่ช่วยกรุงโรม  ก็ปรับตัวหันไปเป็นมิตรกับกรุงโรมมากขึ้น   

          หลังการรบที่แม่น้ำมีตอรุส  พระเจ้าฟิลลิป แห่งมาเซโดเนีย ทรงเห็นว่าคาร์เธจต้องแพ้อย่างล่มจมแน่ในวันข้างหน้า   จึงทรงตกลงทำสัญญาสงบศึกกับกรุงโรม    ครับ  .  .  .  ดังคำโคลงโลกนิติ  .  .  .  ยามหมดผลนกพร้อม    พรากสิ้นบินหนี

 

คาบสมุทรไอบีเรีย

           เมื่อกองทัพของฮาสดรูบาลออกจากไอบีเรียไปสู่คาบสมุทรอิตาลี  ในฤดูร้อน  พ.ศ.๓๓๔   แล้ว  แม่ทัพสกิปิโอก็ตั้งความมุ่งหมายว่าจะต้องทำลายอำนาจของคาร์เธจให้หมดสิ้นให้จงได้   จึงหาโอกาสทำการรบกับกองทัพคาร์เธจของฮาสดรูบาล  (บุตรจิสโก)  และมาโก  (น้องชายฮานนิบาล)   ทั้งที่มีกำลังน้อยกว่า  แต่ก็ได้ชัยชนะ    ทั้ง ฮาสดรูบาล   และมาโก  ต้องหนีกลับไปกรุงคาร์เธจโดยทางเรือ

 

พ.ศ.๓๓๗  (๒๐๖  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๔  ของสงครามฮานนิบาล

 

สถานการณ์ของฮานนิบาลดูเลวร้ายลงอย่างชัดเจนขึ้น   

 

         ด้านกำลังรบเปรียบเทียบ 

            กองทัพฮานนิบาล     มีกำลังเพียง  ไม่เกิน  ๔๐,๐๐๐    และไม่สามารถเพิ่มเติมได้ 

            ฝ่ายโรมันมีอย่างน้อย    ๒๐๐,๐๐๐

            กองทัพเรือโรมัน ก็เป็นที่หวาดกลัวแก่แม่ทัพนายกองเรือฝ่ายคาร์เธจเป็นอย่างยิ่ง

          ด้านการเมืองภายใน    รัฐบาลคาร์เธจห่วงทรัพย์ศฤงคารในไอบีเรียเป็นอันมากคิดแต่จะตีเอาเมืองคืนให้ได้  และ/หรือ  อาจจะคิดอาศัยมือโรมันทำลายฮานนิบาลซึ่งถือว่าเป็นศัตรูทางการเมืองของตน และทราบดีว่าตนไม่สามารถเท่าฮานนิบาล    หากสนับสนุนฮานนิบาลให้ชนะสงครามแล้ว   ประชาชาวคาร์เธจจะนิยมชมชอบฮานนิบาลเป็นอย่างยิ่ง   และฝ่ายฮานนิบาลจะได้อำนาจรัฐ    เมื่อทำลายฮานนิบาลด้วยตนเองไมได้ก็ต้องอาศัยมือต่างชาติ    ครับ  .  .  .  รัฐบาลที่อ้างว่าตนเองรักชาติมากแต่ปัญญาน้อย คงคิด และทำได้เพียงเท่านี้     นะครับ

 

คาบสมุทรไอบีเรีย

          เดือนกันยายน  พ.ศ.๓๓๗    สกิปิโอ  มีชัยเหนือแคว้นไอบีเรียทั้งหมดสมดังมุ่งหมาย    รัฐบาลคาร์เธจห่วงทรัพย์ศฤงคารในไอบีเรียเป็นอันมากก็ไม่ต้องห่วงอีกต่อไป    นอกจากนี้    สกิปิโอยังเจรจากับพระราชามาซินิสซา  (Masinissa)  แห่งนูมีเดียจนให้สัญญาว่าจะนำทหารม้าของตนในอาฟริกาเข้ากับฝ่ายโรมัน    นับว่าสกิปิโอแสวงหาพันธมิตรได้สำเร็จเป็นอย่างดี

 

พ.ศ.๓๓๘  (๒๐๕  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๕  ของสงครามฮานนิบาล

           สกิปิโอเดินทางกลับกรุงโรม  เพื่อลงสมัครรับเลือกเป็นกงสุล    แน่นอนครับ   เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นในคาบสมุทรไอบีเรีย  สกิปิโอจึงได้รับเลือกเป็นกงสุลคู่กับ ลิซีนุส คราสซุส  (Licinus Crassus)  ซึ่งเป็นประมุขในทางศาสนาด้วย  อันมีกฎห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกคาบสมุทรอิตาลีเลย   

          ดังนั้น  หากกองทัพโรมันต้องออกทำการรบนอกคาบสมุทรอิตาลีแล้ว    สกิปิโอ  จะต้องเป็นแม่ทัพเพียงท่านเดียว  ซึ่งกฎนี้เป็นที่ถูกใจสกิปิโอมาก

          สกิปิโอแถลงนโยบายต่อสภาว่าจะนำทัพไปตีกรุงคาร์เธจในอาฟริกา    แต่ประธานสภาเซเนตและรัฐบุรุษทหารเฒ่าฟาบิอุสว่าควรจัดการศึกในคาบสมุทรอิตาลีให้เรียบร้อยเสียก่อน  และยังพูดเชิงปรามาสสกิปิโอว่า  ที่อยากนำทัพไปอาฟริกาเพราะไม่อยากรบกับฮานนิบาล    แต่สกิปิโอแถลงว่า  ตนมั่นใจว่าหากกองทัพโรมันข้ามไปอาฟริกาแล้ว  ฮานนิบาลจะต้องตามไปอย่างแน่นอน  

          ครับ  .  .  .  เป็นการประมาณสถานการณ์ของกงสุลหนุ่ม  ซึ่งกล้าคิดกว่าประธานเฒ่า     ก็อย่างโคลงโลกนิติว่าไว้แล้วนั่นแหละครับ  .  .  .  ปวงปราชฌ์ฉลาดว่าผู้    ปราชฌ์รู้เรียนกัน    .  .  . 

           สภาเซเนตเห็นด้วยกับกงสุลหนุ่ม   และอนุญาตให้สกิปิโอปกครองเกาะซิซีลีทั้งหมดตามลำพัง  เพื่อฝึกหัดทหารโรมันที่จัดตั้งขึ้นใหม่อีก  ๒  เลจิโอน  และทหารผ่านศึกคานาออีก  ๒  เลจิโอน  และ  .  .  .  ถ้าเห็นว่าสมควรจะข้ามไปทวีปอาฟริกาเมื่อใด  ก็ไปได้

 

 

 

 

 

เตรียมไปอาฟริกา

          สกิปิโอฝึกหัดวิธีรบแบบใหม่ซึ่งได้ทดลองใช้ได้ผลดีมาแล้วในแคว้นไอบีเรีย    และได้มีการทดลองกำลังทหารนี้ในสนามรบจริง  โดยให้ลงเรือข้ามไปตีเมืองโลครี  (Locri)  ก็ตีได้สำเร็จ    นับเป็นการบำรุงขวัญ และเสริมสร้างจิตใจในการรุกรบแก่ทหารโรมันอย่างดียิ่ง

 

พ.ศ.๓๓๙  (๒๐๔  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๖  ของสงครามฮานนิบาล

           สกิปิโอทำกองทัพโรมันข้ามไปอาฟริกาในฤดูใบไม้ผลิ  พ.ศ.๓๓๙    ขึ้นบกอย่างสบายที่ใกล้เมืองอัตติกา    พระราชามาซินิสซา  (Masinissa)  แห่งนูมีเดีย  ได้นำทหารม้าของตนมารวมตามสัญญา   และพระราชาซีฟากซ์  (Syphax)  ก็นำทหารม้าของพระองค์สมทบกับทหารม้าของฮาสดรูบาล  (บุตรจิสโก)  ที่กรุงคาร์เธจ     ฮานโน  (บุตรของฮาสดรูบาลน้องชายฮานนิบาล)   นำกำลังออกลาดตระเวน  แต่ถูกทหารม้าพระราชามาซินิสซาลวงให้ตามไปจนใกล้ค่ายทหารโรมันกองลาดตระเวนของฮานโนถูกทำลายเกือบหมดสิ้น

           ในฤดูหนาว  พระราชาซีฟากซ์พยายามเป็นคนกลางให้กงสุงสกิปิโอ และรัฐบาลคาร์เธจสงบศึกต่อกัน  โดยมีสารัตถะคือ  ให้ฮานนิบาลออกจากคาบสมุทรอิตาลีและทั้งสองฝ่ายต่างรักษาดินแดนอยู่ตามเดิม    สกิปิโอยอมเจรจา  แต่ในระหว่างการเจรจาก็ดำเนินการหาข่าวไปด้วย

 

พ.ศ.๓๔๐  (๒๐๓  ปีก่อนคริสตศักราช)  ปีที่  ๑๗  ของสงครามฮานนิบาล

 

คาบสมุทรอิตาลี

           มาโก  (น้องชายฮานนิบาล)  สามารถชักชวนพวกกอลมาเป็นพันธมิตรได้อีกจึงนำทัพจากแคว้นลิกูเรียข้ามภูเขาอะเพนไนน์สมาทำการรบอีก  แต่ไม่มีฝ่ายใดชนะอย่างเด็ดขาด    มาโกได้รับบาดเจ็บต้องนำทัพถอยมาเมืองเยนัวได้    แต่บาดแผลเป็นพิษต้องเสียชีวิตในระหว่างเดินทางกลับอาฟริกาทางทะเล

 

อาฟริกา

          สกิปิโอแถลงว่าตนเองเห็นด้วยกับสัญญาสงบศึก  แต่รัฐบาลที่กรุงโรมไม่เห็นด้วย   แต่ใจจริงสกิปิโอก็อาจจะต้องการประฝีมือกับฮานนิบาลก็ได้   แต่แถลงว่าเห็นด้วยเพราะให้ดูว่าเป็นผู้ใฝ่สันติ  และทราบดีว่าอย่างไรเสียทางกรุงโรมคงไม่เห็นด้วย  หรืออาจจะมีบันทึกความเห็นเป็นการลับให้รัฐบาลทราบก็ได้   อย่างไรก็ตาม  สกิปิโอก็สั่งเลลิอุสกับพระราชามาซินิสซาเข้าโจมตีค่ายทหารคาร์เธจกลางดึกจนต้องถอยเข้าไปในกรุงคาร์เธจ

           กองทัพโรมันยังคงล้อมเมืองอัตติกาต่อไป  ทั้งทางบกและทางทะเล  ทั้งยังได้เพิ่มเติมกำลังอีก    ฮาสดรูบาลและพระราชาซีฟากซ์พยายามนำกองทัพออกรบ   จนเกิดการรบที่ทุ่งราบใหญ่  (Battle of the Great Plain)  ซึ่งสกิปิโอชนะอย่างเด็ดขาด    พระราชาซีฟากซ์ถูกจับได้     สกิปิโอตั้งค่ายห่างกรุงคาร์เธจเพียงประมาณ  ๒๗  กิโลเมตร    และกองเรือโรมันก็ปิดอ่าวตูนิส

 

ราชสีห์คืนถิ่น

            ประมาณเดือนธันวาคม  รัฐบาลคาร์เธจก็สั่งฮานนิบาลให้นำทัพกลับ  เพราะไม่มีขุนทหารคาร์เธจท่านใดจะต้านทานสกิปิโอได้    ก่อนเดินทางกลับ  ฮานนิบาลได้กล่าวสุนทรพจน์ส่วนหนึ่งว่าดังนี้ " .  .  .  บัดนี้บังอาจเรียกข้าพเจ้ากลบโดยตรง    ฉะนั้น  ข้าพเจ้าจึงพูดได้ว่า  ฮานนิบาลได้แพ้แล้ว  แต่มิได้แพ้แก่ชาวโรมันซึ่งถูกข้าพเจ้าตีแตกยับเยินหลายครั้ง    ข้าพเจ้าแพ้รัฐบาลคาร์เธจซึ่งเกลียดและอิจฉาข้าพเจ้า   การที่ข้าพเจ้าจะต้องรีบกลับไปโดยปัจจุบันทันด่วนนี้จะไม่เป็นที่พอใจแก่ปุบลิอุส สกิปิโอ  เท่ากับพอใจแก่ฮานโน    ถ้าฮานโนจะทำลายตระกูลเราโดยทางอื่นไม่ได้  ก็ต้องทำลายเราโดยทำลายคาร์เธจเสียเองด้วย"   

          และได้สร้างเสาสูงไว้เป็นอนุสรณ์    จารึกข้อความเป็นภาษากรีก และภาษาฟีนิเชียน   

 

 

 

 

          โปลิบิอุส  (Polybius)  ซึ่งกำเนิดเมื่อ  พ.ศ.๓๓๙  (๒๐๔  ปีก่อนคริสตศักราช  หรือ   ปีที่  ๑๖  ของสงครามฮานนิบาล)  ว่าตนเองได้เคยเห็นเสานี้ที่ริมทะเลเมืองลาซินุม  (Lacinum)    และ บัดนี้  บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งอนุสรณ์เสาสูงนั้น  เป็นที่เรียกกันว่าแหลมเสาสูง  (Capo dells colonna)

 

             ฮานนิบาลนำกองทัพขึ้นฝั่งที่เมืองเลปติส  (Leptis)  กลับถึงดินแดนคาร์เธจอย่างปลอดภัย   เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงบศึกชั่วคราว  แต่ไม่สามารถนำม้ากลับมาได้เลย    เมื่อขึ้นฝั่งอาฟริกาแล้ว  ได้นำกองทัพไปเมืองฮาดรูเมนตุม  (Hadrumentum)    ฮานนิบาลต้องจัดหาม้าใหม่สำหรับกองทหารม้าของตน  และไม่ได้จำนวนตามต้องการ      ส่วนทางกรุงโรมได้เฉลิมฉลองกันถึง  ๕  วัน     และกองทัพของมาโกก็ได้มาถึงอาฟริกาเหมือนกัน  เว้นตัวมาโกเอง   ชาวคาร์เธจก็ดูมีขวัญกำลังใจดีขึ้น  รู้สึกฮึกเหิมกลับอยากรบกับชาวโรมันขึ้นมาอีก

 

 

 

 

 

          Leptis  Magna    เป็นเมืองที่พวกโพลินิเชียนตั้งขึ้นตั้งแต่  ๑,๑๐๐  ปีก่อนคริสตศักราช     ปัจจุบันอยู่ในประเทศลิเบีย  Libya       ลองดูโบราณสถานที่คงเหลืออยู่นะครับ

 

 

 

Archaeological

สร้างในสมัยจักรพรรดิ  Lucius  Septimus  Severus  แห่งโรมัน   ซึ่งถือกำเนิดที่เมืองนี้ 

ปัจจุบัน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ   (UNESCO)  ยกย่องให้เป็นมรดกโลก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Collosseum

Market  >

 

 

 

 

 

 

 

           บังเอิญเรือสินค้าโรมันถูกพายุพัดเข้าไปในอ่าวตูนิส   (Gulf of Tunis)   ชาวคาร์เธจเข้าไปยึดเอาสินค้า    ครั้นฝ่ายโรมันส่งฑูตมาเจรจา  ก็ได้รับคำตอบอย่างดุดัน  และเมื่อเรือคณะฑูตเดินทางกลับเรือคาร์เธจก็ออกตามทำร้ายเสียอีก  .  .  .   สัญญาสงบศึกชั่วคราวจึงเป็นอันยุติ   และคงต้องทำการรบกันอีก

 

 

 

 

 

                    ครับ  .  .  .  ขอเชิญติดตามสถานการณ์ต่อไป  คือ  การรบที่ซามา ซึ่งเป็นความคิดลึกซึ้งทั้งสองฝ่าย  และการบังคับบัญชากองทัพเป็นไปอย่างคล่องแคล่ว    นับว่าเป็นการรบอย่างวิเศษในสมัยพวกคลาสสิก  

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ซามา  การรบอย่างวิเศษในสมัยพวกคลาสสิก

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ซามา  การรบอย่างวิเศษในสมัยพวกคลาสสิก

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ซามา  การรบอย่างวิเศษในสมัยพวกคลาสสิก

 

 

 

บรรณานุกรม

          -  พงษาวดารยุทธศิลปะ    นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ    พิมพ์ครั้งที่ ๑   ในพระพุทธศักราช  ๒๔๕๙

          -  ชีวะประวัติของฮานนิบาล  จอมทัพแห่งกรุงคาร์เธจ    พันตรี  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์    โรงพิมพ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า   พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๙๐

          -  เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

          -  FIFTEEN   DECISIVE  BATTLES OF  THE  RORLD      by    Sir  Edward  S.  Creasy.   Stackpole, July  1965.

          -  ANCIENT AND MEDIEVAL WARFAIRE      UNITED STATES MILITARY ACADEMY    WEST POINT  -  NEW YORK    1973 

          -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป 

 




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker