dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๑)

*  *  *

 

 

 

 

 

       กลัวเป็นทวิราช          บตริป้องอยุธยา

 

เสียเมืองจึ่งนินทา              บ่ละเว้นฤๅว่าวาย

 

  คิดใดจะเที่ยงแท้                 ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย

 

สบหน้ามนุษย์อาย               จึงจะอุดแลเลยสูญ

 

 

           ครับ  .  .  .  ท่านว่าหลังจากวิกฤติการณ์ พ.ศ.๒๓๑๐  มาแล้ว    ประเทศไทยก็ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ถึงขั้นเกือบจะ เสียบ้านเสียเมือง  เหตุการณ์นี้ไม่ได้เผชิญกับอริราชศัตรูข้างบ้าน   แต่เป็นนักล่ามาจากแดนไกล และได้ยึดครองประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ไว้ได้แล้วหลายประเทศ    สำหรับประเทศไทยที่รอดพ้นปากเหยี่ยว ปากกาได้ ก็เพราะพระบารมี และพระราชวิเทโศบายอันสุขุมคัมภีรภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยแท้  

          ครับ  .  .  .  วิกฤติการณ์ที่กล่าวนี้คือ  .  .  .  วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒  ซึ่งสืบเนื่องต่อจากการ  .  .  .  ปราบฮ่อ

          ก่อนที่จะปราบฮ่อ  เราทบทวนความเป็นมาของบ้านเมืองมิตรชิดใกล้ทางด้านตะวันออก  ซึ่งบางสมัยก็อยู่ในพระราชอาณาเขต กันก่อน    นะครับ 

 

 

 

ญวน - สมัยกรุงธนบุรี

 

          ญวนเห็นว่าไทยเพิ่งแพ้พม่า จึงรีบแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมรยึดเอาเมืองบันทายมาศของเขมร  จนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดกองทัพไปแก้ป้ญหา     ซึ่งจะกล่าวต่อไปในส่วนเขมร

           พ.ศ.๒๓๑๖  ญวนใต้เกิดกบฏไกเซิน หรือไตเซิน Tay-Son   ระหว่างที่ญวนใต้กำลังปราบกบฏอยู่  กองทัพญวนเหนือของพวกตริญก็เข้าตี และยึดเอาเมืองเว้  องเชียงชุนน้องชายอุปราชเมืองเว้ ต้องหนีไปเมืองบันทายมาศ

          ต่อมาพวกกบฏก็ตีเมืองบันทายมาศแตกอีก  องเชียงชุนและพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองจึงพาครอบครัวลงเรือหนีเข้ามาพึ่งพระ บรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี 

          ส่วนเหตุการณ์ทางญวนใต้ก็ซ้ำร้ายฝ่ายรัฐบาลเหงียนก็แพ้พวกกบฏ พวกกบฏเข้ายึดเมืองไซง่อนได้  

          องเชียงสือ หรือ เหงียนอาน  Ngoyen-Anh  หลานอาขององเชียงชุนหนีไปซ่องสุมผู้คนมาตีเอาเมืองไซง่อนคืนจากพวกกบฏได้  และได้เป็นเจ้าเมืองไซง่อน  และได้ส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระราชอาณาจักรไทยครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

เขมร - สมัยกรุงธนบุรี 

          พ.ศ.๒๓๑๒   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นแม่ทัพไปตี กัมพูชา  ตีได้เมืองพระตะบอง  เสียมราฐ  แล้วคอยกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเสด็จไปปราบชุมนุมเจ้านคร แต่ทรงติดมรสุม และเกิดข่าวลือว่าเสด็จสวรรคต   พระยาอภัยรณฤทธิ์ เกรงว่าจะเกิดจลาจลในกรุงธนบุรีจึงยกทัพกลับ 

          พ.ศ.๒๓๑๓  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งพม่ายึดครองอยู่  พระนารายณ์ราชากษัตริย์เขมรถือเป็นโอกาส จึงจัดทัพมาตีเมืองตราด และจันทบุรี แต่ถูกกองทัพเมืองจันทบุรีตีแตกกลับไป

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากพระราชสงครามเมืองเชียงใหม่  จึงโปรดให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพออกไปปราบปรามเขมรทั้งทางบกและทางเรือ  ทางบกตีได้เมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัคว์  และเมืองบันทายเพชร  ซึ่งเป็นราชธานี  จนกระทั่งพระนารายณ์ราชา (นักองตน) ต้องเสด็จหนีเข้าไปขอความคุ้มครองจากญวน   ส่วนทางเรือ ตีได้เมืองบันทายมาศ เมื่อได้แล้ว เสด็จต่อไปเมืองพนมเปญ

          ฝ่ายพระนารายณ์ราชาไปขอให้ญวนช่วย แล้วกลับมาอยู่เมืองแพรกปรักปรัต  (ไม่ยอมอยู่ที่บันทายเพชรดังเดิม) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงอภิเษกนักองโนน พระอนุชา ขึ้นเป็นพระรามราชาครองเขมร ณ เมืองกำปอด   อาณาจักรกัมพูชาจึงแยกเป็นสองฝ่าย  

               พระรามราชาครองฝ่ายเหนือ  อยู่ที่กำปอด  และ

               พระนารายณ์ราชาครองฝ่ายใต้อยู่ที่แพรกปรักปรัต

          พ.ศ.๒๓๒๓  เกิดจลาจลในเขมร  ฟ้าทะละหะ (มู) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์เป็นกบฏต่อพระรามราชา โดยขอรับการสนับสนุนจากญวน   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปปราบปราม  แต่ต่อมาก็เกิดความไม่สงบในกรุงธนบุรี   เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงต้องกลับมาปราบความไม่สงบในกรุงธนบุรี

 

 

 

ลาว - อาณาจักรล้านช้าง (สามเศียร) - สมัยกรุงธนบุรี  


           หลังจากแผ่นดินพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช  พ.ศ.๒๑๒๔  แล้ว   อาณาจักรล้านช้างก็ระส่ำระสาย   ต่างแสวงหาพลังอำนาจจากภายนอกมาค้ำจุนตน   จนในที่สุดอาณาจักรล้านช้างก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ  อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง  อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์  และ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์     

          อาณาจักรล้านช้างทั้งสาม ได้มีโอกาสต้อนรับกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ในพ.ศ.๒๓๒๑ - ๒๓๒๒    และรวมเข้าในพระราชอาณาเขต

 

 

 

 

 

ญวน - เขมร - ไทย  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ญวน . . .

 

          พวกกบฏไกเซินกลับตีและยึดเมืองไซง่อนได้อีก  ฟ้าทะละหะ (มู) จัดกองทัพไปช่วย แต่แพ้พวกไกเซิน   องเชียงสือเองก็ต้องหลบหนี  จนต้องเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปลาย พ.ศ.๒๓๒๕ 

          พ.ศ.๒๓๒๖ และ ๒๓๒๗  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดกองทัพให้ยกไปช่วยองเชียงสือปราบกบฏถึง ๒ ครั้ง  แต่เนื่องจากไทยยังคงมีศึกติดพันอยู่กับพม่า  ไม่อาจจัดทัพให้สมบูรณ์ได้เต็มที่  การปราบกบฏไกเซินจึงไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์   

          ทางเมืองญวน พวกไกเซินชนะญวนใต้แล้วก็ขยายผลไปทางเหนือจนได้ครอบครองญวนทั้งหมด ใน พ.ศ.๒๓๒๘  (ปีที่ไทยเผชิญสงครามเก้าทัพ) 

 

          ขณะที่องเชียงสือ พี่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น  สังฆราชปิโญ เดอ เบแฮน   (Pigneau de  Behaine)   สังฆราชแห่งอาดรัง  ประมุขมิสซังโคชินจีน    ซึ่งหนีพวกไกเซินเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ที่จันทบุรีได้ติดต่อและหาหน ทางช่วยเหลือองเชียงสือ ในการต่อสู้พวกไกเซิน

          พ.ศ.๒๓๓๐  องเชียงสือกับพวกออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปต่อสู้กับพวกไกเซิน  โดยเพียงแต่ทำหนังสือกราบถวายบังคมลาไว้ที่โต๊ะบูชา   

 

           องเชียงสือได้รับการสนันสนุนจากข้าหลวงฝรั่งเศสในอินเดีย จัดหาทหารอาสาสมัครชาติตะวันตกได้หลายร้อยคน  และ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานอาวุธ อาหาร และยานพาหนะ จำนวนหนึ่ง    จนกระทั่ง 

          พ.ศ.๒๓๔๕    องเชียงสือก็ได้ชัยชนะตลอดทั้งญวนใต้ ญวนเหนือ  และสถาปนาตนเป็นพระจักรพรรดิยาลองแห่งเวียดนาม (Gia - Long) ประกอบด้วยดินแดน  ๓ ส่วน คือ 

                    ญวนกลาง  มีศูนย์กลางที่เว้  และเป็นเมืองหลวงด้วย   

                    ญวนเหนือ  ศูนย์กลางอยู่ที่ ฮานอย   และ

                    ญวนใต้  ศูนย์กลางอยู่ที่ ไซง่อน

 

           พระจักรพรรดิยาลองแห่งเวียดนาม  (องเชียงสือ)    >

 

 

เขมร . . .

          พ.ศ.๒๓๔๐  พระนารายณ์ราชาถึงแก่พิราลัย มีบุตร ๕ องค์ คือ นักองจัน  นักองพิม  นักองสงวน  นักองอิ่ม  และนักองด้วง   ซึ่งยังเยาว์อยู่มาก  จึงทรงพระกรุณาให้ฟ้าทะละหะ (ปก)  เป็นผู้สำเร็จราชการ

          พ.ศ.๒๓๔๙  นักองจัน อายุได้ ๑๖ ปี  ฟ้าทะละหะ (ปก) นำมาเข้าเฝ้า  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาอภิเษกนักองจันเป็น สมเด็จพระอุทัยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา  แต่พระอุทัยราชานี้ไม่จงรักภักดีต่อไทยเช่นสมเด็จพระนารายณ์ราชาพระบิดา  เนื่องจากเติบโตในเขมรแวดล้อมด้วยขุนนางที่นิยมญวนจึงมีจิตฝักใฝ่ญวนและคิด เอาญวนเป็นที่พึ่ง เพื่อหลุดพ้นจากอำนาจไทย

          พ.ศ.๒๓๕๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต   พระเจ้าเวียดนามยาลองได้จัดคณะทูตมาถวายบังคมพระบรมศพชุดหนึ่ง  และอีกชุดหนึ่งเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ถวายเครื่องราชบรรณาการ  พร้อมทั้งขอพระราชทานเมืองบันทายมาศ หรือ ฮาเตียน  ซึ่งเวียดนามได้ส่งขุนนางญวนเข้ามาจัดการว่าราชการเรียบร้อยแล้ว    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคงจะทรงพระราชดำริว่า เป็นห้วงในการพระบรมศพ และไทยยังคงมีศึกติดพันอยู่กับพม่า  จึงพระราชทานให้ตามที่ขอ

          พระอุทัยราชาส่งนักองสงวน และนักองอิ่มพระอนุชามาเป็นผู้แทนพระองค์มาถวายบังคมพระบรมศพ   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาแต่งตั้งนักองสงวนเป็นพระมหาอุปโยราช  และนักองอิ่ม เป็นมหาอุปราชแห่งกรุงกัมพูชา   และมีพระราชสาส์นแจ้งให้พระอุทัยราชาจัดกองทัพช่วยไทยเตรียมไปรบพม่า   พระอุทัยราชามิได้กระทำตาม   แต่พระมหาอุปโยราชคิดกับขุนนางที่จงรักภักดีไทยเกณฑ์คนมาช่วยไทยตามพระราชสา ส์น   

          ครั้นพระอุทัยราชาทรงทราบจึงให้จับขุนนางเหล่านั้นฆ่าเสีย และแจ้งไปยังผู้สำเร็จราชการญวนที่ไซง่อนว่า ขุนนางเหล่านั้นยุยงพระมหาอุปโยราชให้แข็งข้อต่อพระองค์   และมีหนังสือกราบบังคมทูลมาทางกรุงเทพฯ ว่า เตรียมจะยกกองทัพมาช่วยอยู่แล้ว แต่ขุนนางเป็นกบฎจึงต้องงดทัพไว้ก่อน    ฝ่ายญวนจัดทัพยกเข้ามาในเขตกัมพูชา แสดงว่ารับเป็นที่พึ่งให้เขมร และพระอุทัยราชาก็เตรียมการต่อสู้กองทัพไทย   

 

          ความ สัมพันธ์ระหว่าง เขมร ญวน และไทย ในระยะนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันโดยตลอด  ผู้นำเขมรที่ยังคงจงรักภักดีต่อไทยก็มี เช่นนักองสงวนพระมหาอุปโยราช  แต่พระอุทัยราชากษัตริย์เขมรฝักใฝ่ฝ่ายญวน  ไทยก็ยังคงมีศึกกับพม่า  ทำให้ญวนถือเป็นโอกาสที่แผ่อิทธิพลต่อเขมร และแสดงให้เห็นว่าเขมรนั้นอยู่ในอำนาจและเชื่อฟังญวนมากกว่าไทย

 

          จักรพรรดิเวียดนามยาลองสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    พระเจ้าเวียดนามมินมางพระโอรสได้ราชสมบัติสืบมา พม่าส่งทูตไปชวนให้จัดทัพมา รบไทย  แต่ไม่ทรงรับทูตพม่า  ซึ่งมีคำอ้างของทางญวนในภายหลังต่อมาว่าเป็นเพราะพระเจ้ายาลองได้รับสั่งไว้ ไม่ให้ลูกหลานคิดร้ายต่อไทย   เพราะได้เคยอุปการะสมัยตกทุกข์ได้ยากมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจนกลับเป็นใหญ่ ได้     แต่การที่ญวนไม่คิดร้ายต่อไทยนั้น   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุ ภาพทรงสันนิษฐานว่าน่าจะมีข้อจำกัดหรือขอบเขตอยู่เพียงไม่ทำร้ายต่อหัวเมือง ไทยเท่านั้น  ส่วนเขมรและลาวนั้นเป็นประเทศราช   ญวนคงถือว่าใครดีใครได้ จึงได้เกิดสงครามกับไทยในรัชกาลต่อมา

          พ.ศ.๒๓๙๐  ญวนสมัยพระเจ้าตือดึก ได้ทำการรุนแรงต่อชาวต่างชาติในญวนมากขึ้นจนเกิดสงครามกับฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓   ญวนเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสทีละน้อยๆ จนในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้ยึดครองญวนได้ทั้งประเทศ

 

ลาว - ไทย    สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔

         พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๓๖๗   ญวนซึ่งกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมรและลาว คิดว่าจะเกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติไทย   จึงได้ยุยงและสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ให้เป็นกบฏใน  พ.ศ.๒๓๖๙    (ลาวอยู่ในอำนาจพม่าในสมัยอลองพญา  และตั้งตัวเป็นอิสระเมื่อเสียกรุง    และเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๑ - ๒๓๒๒  เป็นต้นมา)

 

กบฏเจ้าอนุวงศ์   พ.ศ.๒๓๖๙

          ในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๓๖๙   พระเจ้าอนุรุทธราช หรือ เจ้าอนุวงศ์รวบรวมกองทัพลาวจากเวียงจันทน์เข้ามายึดเมืองนครราชสีมา   แต่ได้ถูกคุณหญิงโม รวบรวมผู้คนต่อสู้ จนได้ชัยชนะกองทัพลาว ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองนครราชสีมา  ดังที่ชาวไทยเราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ จัดกองทัพให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่  ติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเวียงจันทน์   เจ้าอนุวงศ์หนีไปพึ่งญวน   และทางญวนก็ได้ส่งกองทัพมาช่วยเจ้าอนุวงศ์รบไทยด้วย  แต่เมื่อเห็นว่ากองทัพไทยได้เข้าเวียงจันทน์ได้แล้ว  ญวนจึงเลิกทัพกลับไป

          ฝ่ายกองทัพไทยได้เข้ากรุงเวียงจันทน์  และตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อเดือน ธันวาคม  ๒๓๗๐   เจ้าอนุวงศ์ถูกขังอยู่ประมาณ  สัปดาห์หนึ่งก็สิ้นชีวิต

 

เขมร  ข้าสองเจ้า  บ่าวสองนาย

          พ.ศ.๒๓๙๑   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา สถาปนานักองด้วงเป็น สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี  พระเจ้ากรุงกัมพูชา    และทางญวนก็ตั้งให้นักองด้วงมียศอย่างญวน  และส่งตราประจำตำแหน่งให้ด้วย

          พระเจ้ากรุงกัมพูชา ถวายเครื่องบรรณาการต่อกรุงเทพฯ ทุกปี  และส่งนักองราชาวดี พระโอรสมาถวายตัวด้วย      ขณะเดียวกัน เขมรก็ส่งเครื่องบรรณาการให้ญวน  ทุก  ๓ ปี 

 


  หมาป่ามาแล้ว

 

           ในพ.ศ.๒๔๐๓  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  นักองราชาวดีได้เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาสืบต่อจากพระราชบิดา   ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนโรดม  และ

 

         เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนทั้งประเทศแล้วก็อ้างว่าเขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของญวนมาก่อน เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนแล้วก็ต้องได้เขมรด้วย  

 

          ไทยจำต้องเสียเขมรส่วนนอก  (คือพื้นที่หมายเลข  1 ในแผนที่ด้านขวา) ให้ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐

 

 ไต้เผ็ง - ฮ่อ

            พวกฮ่อคือพวกจีนที่ร่วมกับการกบฏไต้เผง (Taiping Rebellion) ที่มุ่งหมายจะให้จีนพ้นจากอำนาจของพวกแมนจู จนเกิดการรบพุ่งกันเป็นการใหญ่    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕ พวกไต้เผงแพ้ต้องหลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่าง ๆ ของจีน ในมณฑล ยูนาน ฮกเกี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน และส่วนหนึ่งหนี่งมายังตังเกี๋ย    ทางตั้งเกี๋ยจึงดำเนินการปราบปรามทำให้พวกฮ่อต้องหนีไปอยู่ที่เมืองซันเทียน ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนสิบสองจุไท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และได้ประพฤติตนเป็นโจรเที่ยวปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไท และเมืองพวน
 
             ในปี พ.ศ.๒๔๑๖   พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตีจนถึงเมืองพวน เจ้าเมืองเชียงขวางได้ไปขอกำลังจากญวนมาช่วยแต่แพ้ฮ่อ ฮ่อยึดได้เมืองเชียงขวาง และได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทุ่งเชียงคำ และเตรียมการเข้าตีเมืองหลวงพระบาง และเมืองหนองคาย ต่อไป 

 

  

 

 

 

 

 

 

 ปราบฮ่อ

การปราบฮ่อของไทย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๘ - ๒๔๓๑ 

          ฝ่ายไทยเริ่มทำการปราบฮ่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะถือว่าพวกฮ่อเข้ามาก่อการกำเริบในราชอาณาจักรไทย

           การปราบฮ่อได้ดำเนินการเป็น  ๓  ครั้ง  ดังนี้

 

ครั้งที่  ๑   จ.ศ.๑๒๓๙   พ.ศ.๒๔๒๐

 

ทุ่งเชียงคำ    พ.ศ.๒๔๑๗
 

              กองทัพฮ่อประมาณ  ๒,๐๐๐    ยกมาตีได้ เมืองแถง  เมืองอุไทย  เมืองสบแอด  เมืองเชียงค้อ  เมืองซำใต้  เมืองซำเหนือ  เมืองทุ่งเชียงคำ  เมืองพวน  กับหัวเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบาง  อีก  ๑๒  เมืองแตกแล้ว  กองทัพฮ่อตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ  (คือทุ่งไหหินในปัจจุบัน)   เมื่อ  วัน แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘   ปีชวด จ.ศ.๑๒๓๖  ตรงกับวันจันทร์   วันที่  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๑๗   (การตรวจสอบของ http://www.payakorn.com/moondate.php)

           อุปราชเมืองเชียงขวาง  กับพระพนมสารนรินทร์นำกำลังไปรบฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ    อุปราชฯ ถูกยิงเสียชีวิตในการรบ   พระพนมสารนรินทร์จึงนำกำลังกลับเข้าเมืองเชียงขวาง

          วันรุ่งขึ้น    องเดดก  แม่ทัพญวนคุมกำลังประมาณ  ๒,๐๐๐   รวมกับกองทัพเมืองเชียงขวาง กับพระพนมสารนรินทร์  ออกไปโจมตีกองทัพฮ่อที่ทุ่งเชียงคำอีก    คราวนี้เจ้าเมืองเชียงขวางถูกกระสุนเสียชีวิตในการรบ    พระพนมสารนรินทร์จึงต้องถอยมาที่บ้านลำพัน  แขวงเมืองโพนพิสัย   

          ทางเมืองเชียงขวางยอมแพ้แก่พวกฮ่อ    กรมการเมืองเชียงขวางเอาเงิน  ๕  ชั่ง  (๔๐๐ บาท)   ม้า  ๘  ม้า  ให้พวกฮ่อ  และรับเข้าเมือง  แต่ครอบครัวในเมืองไม่เข้าด้วยพวกฮ่อ   จึงหนีไปเมืองหนองคาย และเมืองโพนพิสัย   

           พวกฮ่อเข้าเมืองได้ก็ไล่ฆ่าฟันชาวเมืองและปล้นทรัพย์สิน  แล้วถอนหนีไปตั้งที่นาแหนนาหลวง     พระยามหาอำมาตยาธิบดี  (ซึ่งไปเร่งส่วยที่เมืองอุบลราชธานี)  จึงให้หาพระพนมสารนรินทร์  และกำชับพระยาประทุมเทวาภิบาลเจ้าเมืองหนองคาย และพระพิสัยสรเดชเจ้ามืองโพนพิสัยว่า  ให้รักษาเขตแดน ถ้าคนครัวเมืองเชียงขวางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางแขวงเมืองใดก็ให้เจ้าเมืองดูแลรักษาจ่ายเสบียงอาหารให้  และทำบัญชีไว้

          เมืองหลวงพระบางก็มีหนังสือถึงเมืองน่านว่า    พวกฮ่อธงแดงได้ยกทัพมาตีเมืองพวน  กับหัวเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบาง  อีก  ๑๒  เมืองแตกแล้ว  กองทัพฮ่อตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ  ( คือแจ้งเหตุการณ์เมื่อ  วัน แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘   ปีชวด จ.ศ.๑๒๓๖ หรือ  วันที่  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๑๗    ดังที่ได้กล่าวแล้ว)     เมืองหลวงพระบางขอให้เมืองน่านส่งกำลังไปช่วย  ๓๓๐  คน    และขอให้เกณฑ์ไว้อีก  ๓,๐๐๐

          พระพล  กรมการเมืองพิชัย  กับเจ้าสุริยะ  นายทัพนายกองน่าน  จัดกองทัพไปรับกองทัพฮ่อ

 

เมืองเชียงแสน    พ.ศ.๒๔๑๘

          ครั้น  ณ  วัน  ๓  ค่ำ ปีกุน  สัปตศก  จุลศักราช  ๑๒๓๗    ตรงกับ  พ.ศ.๒๔๑๘    พระยาศรีเสนาข้าหลวงมีบอกลงมาว่า    พวกฮ่อคุมเงี้ยว, พะม่า, เขิน  มาตั้งอยู่เมืองเชียงแสน

          พระนรินทร์ราชเสนี  กับหลวงเสนีพิทักษ์ได้ปรึกษากับเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้เกณฑ์กองทัพไปขับไล่    ให้เมืองน่าน  เมืองเชียงรายเกณฑ์กองทัพบรรจบพร้อมกัน    เมืองน่านจัดให้พระมโนราชา กับพระเมืองไชยคุมไพร่พล   ๑๐๐  คน    พร้อมสรรพด้วยเครื่องศัตราอาวุธยุทธภัณฑ์สมทบกันกับกองทัพเชียงใหม่  .  .  .

          วันจันทร์ ขึ้น  ๑๔ ค่ำ  เดือน ๕  ปีกุน จ.ศ.๑๒๓๗     ตรงกับ วันที่  ๑๙  เมษายน  พ.ศ.๒๔๑๘  (การตรวจสอบของ http://www.payakorn.com/moondate.php)    พวกเงี้ยว, พม่า, เขินที่ตั้งอยู่เมืองเชียงแสนได้ผ่อนครอบครัวหนีไป  คงเหลืออยู่แต่ชายฉกรรจ์

          และ  เมืองหลวงพระบางก็มีหนังสือถึงเมืองพิชัยว่า    พวกฮ่อยกมาตีเมืองพวน  เมืองเชียงขวาง    เมืองเวียดนามแต่งกองทัพ  จำนวน  ๑,๐๐๐  มาช่วยเมืองเชียงขวาง    พวกฮ่อคีกองทัพญวนแตกไป   แล้วกองทัพฮ่อตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ  กำหนดว่าจะยกมาตีเมืองหนองคาย  และ  เมืองหลวงพระบางในเดือน  ๘  นี้  (ประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม)    ขอให้เมืองพิชัยจัดกองทัพขึ้นไปช่วย

          ขึ้น  ๖ ค่ำ เดือน  ๖   ปีกุน จ.ศ.๑๒๓๗  ตรงกับวันจันทร์   วันที่  ๑๐  พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๘   ท้าวคำเม้านำกำลังตีค่ายฮ่อที่ตำบลบ้านโทก  แขวงเมืองพวนแตกไป  ๔  ค่าย   และสังหารพวกฮ่อได้หลายสิบ  จับเป็นได้  สองคน   และ  ๒๓  ม้า    พวกฮ่อหนีไปตั้งพักที่ตำบลลาดฮ้วง  (ลาดห่วง ?)   ประมาณ  ๕๐   และพวกลาวทรงดำเข้าด้วยอีก ประมาณ  ๑,๐๐๐  

          พระยาพิชัยจัดกองทัพได้  ๑,๕๕๐   กำหนดจะยกขึ้นไปใน  วันพฤหัสบดี  แรม  ๙ ค่ำ  เดือน  ๖ ปีกุน จ.ศ. ๑๒๓๗   ตรงกับวันศุกร์  วันที่  ๒๘  พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๘  (การตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php)

 

ท้องตราพระราชสีห์

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราพระราชสีห์ถึงพระยาพิชัย  ซึ่งยกไปช่วยเมืองหลวงพระบางให้สืบราชการว่า  พวกฮ่อจะตีเมืองปลายเขตแดน  หรือจะยกเข้ามาถึงเมืองหลวงพระบางด้วย      ถ้าได้ความแน่ชัดจะได้จัดกองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปช่วย     นอกจากนี้  ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้นายร้อยเอก  หลวงบรมราชวรานุรักษ์ขึ้นไปเกณฑ์กองทัพ  ณ เมืองพิษณุโลก  เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  และเมืองพิชัยเตรียมไว้ด้วย

          ท้องตราพระราชสีห์อีกฉบับถึงพระยามหาอำมาตยาธิบดี  (ชื่น  กัลยาณมิตร)  ซึ่งไปเร่งส่วยที่เมืองอุบลราชธานี   ให้ยกกองทัพขึ้นไปตั้งที่เมืองหนองคาย   (กองทัพหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก)   และให้เกณฑ์กองทัพเมืองนครราชสีมาให้พร้อมไว้    หากมีราชการศึกมาให้พระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพยกไปบรรจบกับพระยามหาอำมาตยาธิบดีช่วยระวังทางหนองคาย  กับโปรดเกล้าฯ  ให้จ่าเขม้นสรยุทธยิ่งขึ้นไปสืบราชการทางเมืองพิชัย  

          พระยาพิสัยสรเดชส่งคนไปแจ้งแก่เจ้าเมืองหลวงพระบางว่า  จะยกกองทัพไปฟังข้อราชการกองทัพพระยาเมืองขวาซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองยู้     แต่เจ้าเมืองหลวงพระบางว่า จะให้เสนาบดีไปสืบราชการให้แน่ชัดเสียก่อน      กองทัพเมืองพิชัย และเมืองน่านจึงยั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง   

          วันอาทิตย์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๗    ตรงกับวันอาทิตย์  ที่  ๒๐  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๘    พระยาเมืองซ้าย  พระยาเชียงเหนือ   แจ้งเสนาบดีเมืองหลวงพระบางว่า   ท้าวคำเม้ากับสีสองเมือง  ยกพลเข้าตีพวกฮ่อที่บ้านนาตอท้าวคำเม้าถูกปืนตายในที่รบ  และเมืองหลวงพระบางขัดสนเสบียงอาหาร

 

พวกฮ่อมาหนองคาย

          พวกฮ่อถึงหนองคายวันทึ่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๑๘    ตั้งค่ายที่ปากทางใกล้เวียงจันทน์  มีกำลัง  ๒,๐๐๐    แต่ฝ่ายเมืองหนองคาย  มีเพียง  ๖๐๐    แต่ก็ได้พยายามสู้รบตั้งแต่เช้า  จนบ่าย  ๓  โมง    เสียทหารไป  ๓๐    เจ้าเมืองหนองคายจึงพาครอบครัวมาอยู่ที่หนองหาร    พวกฮ่อจึงเข้าเมืองหนองคายได้

          ทางเจ้าเมืองโคราชจัดกำลังไว้  ๕,๐๐๐    เข้าโจมตีพวกฮ่อ    สามารถสังหารพวกฮ่อได้  ๓๐    เป็นหัวหน้า  ๒  คน     จับเป็น  ๑๕   เป็นน้องหัวหน้าที่ถูกสังหารคนหนึ่ง    พวกฮ่อจึงถอนไปเชียงขวาง

 

ด้านเมืองเชียงแสน         

          วันจันทร์  แรม  ๙  ค่ำ  เดือน  ๘      ตรงกับวันจันทร์   วันที่  ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๘    เจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช  เจ้านครน่าน  แจ้งไปยังเมืองพิชัยว่า  เมืองเชียงใหม่  มืองนครลำปาง  เมืองลำพูน  เมืองน่าน  เมืองแพร่  เมืองเชียงราย    ได้เกณฑ์ประมาณ  ๔,๐๐๐  เศษ  รวมเป็นกองทัพใหญ่ยกขึ้นไปขับไล่  พม่า  เงี้ยว  เขิน    พวกเมืองเชียงแสน   และกองทัพได้เผาบ้านเรือนที่ชุมนุมพวกฮ่อเสียสิ้น  แล้วยกกลับลงมาเมือง     แต่งให้เจ้าสุริยะ บุตรเขยคุมคนประมาณ   ๓,๐๐๐    พร้อมเครื่องศัตรวุธยกไปเมืองหลวงพระบาง    แล้วเกณฑ์คนเมืองน่านเตรียมไว้อีก  ๒,๐๐๐    หากได้ข่าวจากเมืองหลวงพระบางว่าพวกฮ่อข้าศึกมีกำลังกล้าแข็งอย่างไรจึงจะส่งไป

          ตามพระราชดำริ    ถ้าพวกฮ่อยังรบติดพันกับเมืองหลวงพระบาง  กำหนดดือน  ๑๑  จะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  กับพระยา และพระหลวงในกรุงเทพฯ ยกขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบาง    จะให้กองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองพิชัย

 

กองทัพหน้า  .  .  .  ยกไปเมืองหนองคาย

          แรม  ๓ ค่ำ  เดือน ๑๐   ปีกุน จ.ศ.๑๒๓๗  ตรงกับวันศุกร์    วันที่  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.๒๔๑๘   เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  แม่ทัพหน้า    กราบถวายบังคมลายกกองทัพไปเมืองหนองคาย

          แม่ทัพใหญ่พวกฮ่อชื่อเจ้าฟ้าหลวงยกมาตีเมืองปากเหือง    ตั้งอยู่เมืองเชียงขวาง      ให้บุตรชายเป็นแม่ทัพหน้าตั้งที่เมืองเวียงจันทน์  มีกำลัง  ๕๕๐

 

กองทัพหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก

            เมื่อพระยามหาอำมาตย์ฯ ออกจากเมืองอุบลราชธานีแล้ว    ฝนตกชุกมาก  จนหนทางเป็นหล่มเป็นโคลน   ต้องข้ามห้วยข้ามคลองเป็นหลายแห่ง  จึงเดินทัพได้ล่าช้า   ครั้นเมื่อถึงเมืองหนองคายแล้วไม่มีเรือแพที่จะใช้ข้ามแม่น้ำ (โขง)    ต้องรวบรวมมาจากเมืองนครพนม  และเมืองมุกดาหาร  และลักตัดเอาเรือที่ค่ายพวกฮ่อมาได้

          แรม  ๑๕  ค่ำ  เดือน ๑๐  ปีกุน  จ.ศ.๑๒๓๗   ตรงกับวันพุธ  วันที่  ๒๙  กันยายน พ.ศ.๒๔๑๘    พระยามหาอำมาตย์ฯ คุมไพร่พลหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกยกไปตีทัพฮ่อที่เมืองเวียงจันทน์

            วันพฤหัสบดี  วันที่  ๓๐  กันยายน พ.ศ.๒๔๑๘   พระยามหาอำมาตย์ฯ ได้ยกไปถึงหน้าค่ายพวกฮ่อ    แล้วให้จอดเรือพากำลังขึ้นบกยิงปืนสู้รบกับพวกฮ่ออยู่นานจน  ๕  โมงเช้า(๑๑  นาฬิกา)    พวกฮ่อหนีเข้าค่าย  ยกปืนขึ้นหลังคาโรงบ้าง  บนหอคอยบ้าง  ยิงกระหน่ำออกมา    พระเจริญราชเดช  เจ้าเมืองมหาสารคาม  กับพระภักดียกกระบัตรเมืองนครราชสีมาคุมพลเข้าตีพวกฮ่อที่บ้านศรีฐานแตก     พวกฮ่อยกถอยข้ามน้ำมาเข้าค่ายวัดจันทร์    พอดีพระยานครราชสีมาคุมทัพไปถึงเอาปืนระมยิงเข้าไป    พวกฮ่อต่อสู้อยู่จนบ่าย  ๓ โมง  (๑๕  นาฬิกา)    จึงได้ค่ายพวกฮ่อ   เอาไฟเผาค่ายพวกฮ่อจับได้ตัวนายชื่อ กวานทราย  แต่ตัวแม่ทัพที่  ๑  และแม่ทัพที่  ๒  ถูกปืนตายทั้งสองคน  พวกฮ่อพากันหนีเข้าไปในโบสถ์วัดจันทร์ขึ้นหลังคาโบสถ์เอาปืนยิงลงมา    พอเวลาย่ำค่ำ   (๑๘ นาฬิกา)  พระยามหาอำมาตย์ฯ ให้ตั้งล้อมไว้    แต่พอถึงเวลา  ๒  ทุ่ม  (๒๐  นาฬิกา)   ฝนตกหนัก  พวกฮ่อตีแหกวงล้อมออกไปได้    พระยามหาอำมาตย์ฯ ให้จัดกำลังไล่ติดตามไป 

 


กองทัพจากกรุงเทพฯ   
 

          ขึ้น   ๗  ค่ำ เดือน ๑๑     ตรงกับวันพุธ    วันที่  ๖  ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๘     เจ้าพระยาภูธราภัย  ที่สมุหนายก   แม่ทัพทางเมืองพิชัยได้กราบถวายบังคมลาไปราชการทัพ

          ขึ้น  ๑๑  ค่ำ เดือน  ๑๑   ปีกุน จ.ศ.๑๒๓๗   ตรงกับวันอาทิตย์  วันที่  ๑๐  ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๘    กองทัพได้ลอดประตูป่ายกออกจากกรุงเทพฯ    กองทัพที่ยกไปคราวนี้เป็นกองทัพอย่างโบราณกาล    คือพลรบนั้นเกณฑ์ราษฎรที่เป็นเลขทางฝ่ายเหนือทุกๆ เมือง    เกณฑ์ทหารหน้าเป็นกองรักษาแม่ทัพไปประมาณ  กองละ  ๒๐๐ - ๓๐๐  คน  มีนายทหารหน้ากำกับไปด้วย

          แรม  ๑๒  ค่ำ  เดือน ๑๑     ตรงกับวันอังคาร  วันที่   ๒๖  ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๘   กองทัพยกจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองพิชัย

          เจ้าพระยาภูธราภัย  ไปตั้งรวบรวมพลอยู่ที่หาดเมืองพิชัย   ริมฝั่งแม่น้ำน่าน

 

การรวมพลที่หาดเมืองพิชัย

          เนื่องจาก  เจ้าพระยาภูธราภัยต้องตั้งรวบรวมพลอยู่ที่หาดเมืองพิชัยเป็นเวลานานหลายเดือน  และพื้นที่เป็นป่าดง   ยังไม่มีการจัดเรื่องสุขาภิบาล  ไม่มีมดหมอ หยูกยา  ไม่ช้าก็เกิดอหิวาตกโรคระบาด      เจ้าพระยาภูธราภัยจึงรีบเดินทัพไปท่าปากราย  ทั้งๆ ที่ยังได้คนไม่ครบ  และกองทัพที่เดินไปนี้ก็เป็นโรคล้มตายไปตลอดทาง   

          เจ้าพระยาภูธราภัยจึงให้พระสุริยภักดี  (เวก  บุญยรัตพันธุ์)    เป็นแม่ทัพหน้า  ยกไปเมืองหลวงพระบางก่อน    แล้วให้เลยขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และตำบลทุ่งเชียงคำ แขวงเมืองพวนด้วย    อหิวาตกโรคก็ระบาดไปถึงเมืองหลวงพระบาง    พลเมืองเมืองหลวงพระบางล้มตายลงเป็นหลายพัน

 

ท้องตราเรียกกองทัพกลับกรุงเทพฯ  

          กองทัพ เจ้าพระยาภูธราภัยซึ่งตั้งพักอยู่ที่บ้านปากราย  (ปาก - ราย)  ท่าเรือที่จะขึ้นไปเมืองหลวงพระบางริมฝั่งแม่น้ำโขง  และ

          กองทัพเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงซึ่งไปตั้งรวมกองทัพอยู่ที่หาดพระยาทด  จังหวัดสระบุรี  และยกขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาแล้วนั้น    ก็ได้มีท้องตราเรียกให้กลับกรุงเทพฯ  ทั้งสองกอง

 

          การเก็บข้อความตามหนังสือบอกและสาส์นตราต่างๆ ซึ่งกองทัพหัวเมือง และกองทัพกรุงเทพฯ ยกไปปราบฮ่อในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองสิบสองจุไทย  กับทุ่งเชียงคำ  แขวงเมืองพวน  ซึ่งลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๑, ๒, ๓  ปีจอ, กุน, ชวด  จุลศักราช  ๑๒๓๖, ๑๒๓๗, ๑๒๓๘  พ.ศ.๒๔๑๗, ๒๔๑๘, ๒๔๑๙   มีใจความตามที่ได้สรุปนี้    ซึ่งค่อนข้างกระท่อนกระแท่น  ไม่ต่อเนื่อง  เพราะเป็นการรายงาน หรือหนังสือบอกจากเมืองต่างๆ

          นอกจากนี้    ยังมีเอกสารจากประวัติศาสตร์ไทยจากใต้ถุนสถานเอกอัครราชฑูตไทย  ณ  กรุงปารีส  ซึ่งหม่อมหลวง  มานิจ  ชุมสาย  ราชบัณฑิตและกรรมการเอกสารประวัติศาสตร์ได้รวบรวมไว้    ได้แก่  หนังสือของพระยาศรีธรรมศุภราช  ชาติบดินทรสุรินทรฤๅไชย  อภัยพิริยพาหุ  ผู้สำเร็จราชการเมืองศุโขไทย  ข้าหลวงประจำเมืองหลวงพระบาง (พระยาศุโขไทย)  บ้าง    หนังสือของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัฒพิพัฒณพิไชย  อภัยพิริยพาหุ  ผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชย  (พระยาพิไชย)  บ้าง    ศุภอักษรเจ้ามหินทรเทพนิภาธรฯ เจ้านครหลวงพระบาง   และหนังสือรายงานเหตุการณ์ของเจ้าเมืองต่างบ้าง    ดังจะสรุปความ  หรือ นำบางส่วนมาเผยแพร่ดังนี้

 

ฮ่อธงดำ - ฮ่อธงเหลือง   

           เดิมเมื่อปีมะเมีย  จัตวาศก  จ.ศ.๑๒๔๔  พ.ศ.๒๔๒๕    พวกฮ่อธงเหลืองทุ่งเชียงคำมีประมาณ  ๓๐๐  เศษมาตีเมืองไลแตก    เจ้าตนพระพรหมวงษาเจ้าเมืองไลไปจ้างพวกฮ่อธงดำเมืองเลากาย  เมืองขึ้นกรุงปักกิ่งมาตีพวกฮ่อธงเหลืองแตก  ต้องมาตั้งอยู่ที่เมืองซอน  (ซ่อน)  ก็ถูกพวกฮ่อธงดำตามตี  จนต้องแตกหนีลงไปอยู่ทุ่งเชียงคำ  (คือทุ่งไหหินในปัจจุบัน)   ทำให้พวกหัวเมืองของเมืองซ่อนปลอดภัยไปด้วย    พวกฮ่อธงดำและพวกเมืองไล  (ประมาณ  ๘๐  คน)  จึงเรียกร้องขอค่าลูก (กระสุน)  และค่าดิน  (ปืน)  กับค่าบุญคุณที่ได้ช่วยตีพวกฮ่อธงเหลืองแตกไป    พวกหัวเมืองของเมืองซ่อนไทย  ลงขันกันได้เงิน  ๕๒  ขัน  คิดเป็น  ๑๒  ตำลึง  ๑๕  บาท    ทางเมืองซ่อนลาว  ลงขันกันได้เงิน  ๔๓  ขัน  คิดเป็น  ๔  ตำลึง  ๑๓  บาท      ต่อมา  พวกฮ่อ และพวกเมืองไล รู้ความว่า  กองทัพจากกรุงเทพฯ  และจากเมืองหลวงพระบางยกขึ้นไป  จึงพากันหนีไปเมืองไลตั้งแต่  เดือนสาม  ปีมะแม  เบญจศก  จ.ศ.๑๒๔๕  (เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๖)

 

๒๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๖    (ค.ศ.๑๘๘๓)       ฝรั่งเศสได้เวียดนามทั้งหมดเป็นรัฐอารักขาโดยเด็ดขาด   ทำให้ฝรั่งเศส มีเขตแดนติดต่อกับพระราชอาณาจักรสยาม    ดังนี้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองสำคัญโดยสังเขป

 

 

รักษาเมืองยู
 
           เดิม  พระยาศุโขไทย  กรมการเจ้าอุปราช  เจ้าราชภาคิไนย  ว่าจะยกออกไปรักษาด่านเมืองยู  เมืองกาสี  ด่านขวาตั้งแต่  วันอังคาร  ขึ้น  ๙  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะแม  เบญจศก    ตรงกับ  วันที่  ๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๖    แต่ไม่ทัน    จึงได้ให้พระยาเมืองซ้ายไปรักษาเมืองยู    เพี้ยราชนำพาไปรักษาด่านขวา    พระยาเชียงเหนือไปรักษาเมืองกาสี   เป็นการล่วงหน้าก่อน

          ครั้นวันพุธ  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะแม  เบญจศก    ตรงกับวันที่  ๑๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๗    พระยาศุโขไทย  กับ  พระประเทศภักดี  หลวงพิพิธภักดี  หลวงคลังผู้ว่าที่พระสำโรง    กับ   เจ้าราชภาคิไนย  คุมขุนหมื่นไพร่รวม  ๒๐๐    ออกจากเมืองหลวงพระบาง    ถึงเมืองยู  ในวันอาทิตย์  แรม ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีมะแม    ตรงกับวันที่  ๒๔  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๗    ให้ตั้งค่ายรักษาหลังเขาฟากน้ำตะวันออกค่ายหนึ่ง   ขนาดยาวสามสิบวาสองศอก  กว้าง  ๒๗  วา  (ยาว  ๖๑ เมตร  กว้าง  ๕๔  เมตร)    มีป้อมสี่มุม    เสาค่ายฝังดินลึก  ๒  ศอก  พ้นดิน  ๗  ศอก    เชิงเทินสูง  ๒  ศอก    กว้าง  ๒  ศอก    สนามเพลาะลึกศอกหนึ่ง    มีประตู  ๔  ด้าน    ฟากน้ำตะวันตกค่ายหนึ่ง  ขนาดกว้าง  ๗  วา  ยาว  ๗  วา  (กว้างยาวด้านละ  ๑๔  เมตร)  สองค่าย     แล้วเกณฑ์พวกพวนที่แตกเข้ามาอยู่เมืองหลวงพระบาง    เจ้าเมืองหลวงพระบางตั้งให้เป็นพระยาพรหมเดชาคนหนึ่ง  เพี้ยจิตปัญญาคนหนึ่ง  คุมพวกพวนไปตั้งที่ค่ายสบปองเหนือเมืองยูวันหนึ่ง    เป็นหนทางข้ามน้ำกานมาเมืองยู        เจ้าอุปราชกับบุตรหลานคุมพล  ๒๐๐  ไปเมืองยู 

          เมื่อตั้งค่ายแล้ว  ได้ให้ พระยาพรหมเดชา  เพี้ยจิตปัญญาพร้อมไพร่พล  ๓๐๐    ชาวเมืองยู  ๖๐    กองพระสำโรง  ๔๐    รวม  ๔๐๐    สำหรับตรวจตระเวนด่านเมืองยูพระยาพรหมเดชา  เพี้ยจิตปัญญา  เพี้ยนามเสนา  ทำทานบลไว้กับเจ้าอุปราชว่า  ไพร่พลมีอยู่  ๓๐๐  ขอรักษาตรวจตระเวนด่านและค่ายเมืองยู  ไม่ให้พวกฮ่อเข้ามาได้    หากเหลือกำลังจะแจ้งให้ทราบ   

          พระยาศุโขไทยกับเจ้าอุปราชจึงเกณฑ์ชาวเมืองยู  ๖๐  คน  ให้พระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้  และพระสำโรง  คุมพล  ๔๔  คน ร่วมกับพระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้ลาดตระเวนปลายเขตแดนรักษาค่าย    รวมไพร่พลไทย  ลาวพวน  ๔๐๔  คน  พอจะต่อสู้ข้าศึกได้ราว  ๔ - ๕  วัน    และให้พระยาพรหมเดชาจัดคนไปสืบดูพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ    

          พระยาศุโขไทยได้พักอยู่ที่เมืองยู  ๑๗  วัน  สืบได้ข่าวสารว่า  พวกฮ่อแต่งคนเป็นกองละ  ๑๐๐  บ้าง  ๕๐  บ้าง  ออกหาครัวพวกพวนเฉพาะในแขวงเมืองพวนไม่ได้เข้ามาในเขตเมืองหลวงพระบาง

          ส่วนพระยาศุโขไทย  กับเจ้าอุปราช  เจ้าราชภาคิไนยลงมาฟังข้อราชการที่ด่านขวา   เนื่องจากเป็นที่รวมระหว่างกลาง  คอยฟังราชการเมืองยู  เมืองกาสี  บ้านบอมภอ 

          วันพฤหัสบดี  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๔  ปีมะแม  เบญจศก    (ตรงกับวันที่  ๑๓  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๖)    พระยาศุโขไทยกับเจ้าราชภาคิไนยเดินทางลงไปทางใต้    สั่งพระยาเชียงใต้กับเพี้ยจ่าหมื่นคั้งค่ายที่บ้านบอมภอ  เนื่องจากเป็นพรมแดนเมืองหลวงพระบางกับเมืองพวนต่อกัน    แล้วลาดตระเวนรักษาด่านให้มั่นคง   อย่าให้พวกฮ่อเข้ามาได้    หากมีราชการสิ่งใดให้แจ้งพระยาศุโขไทยที่ด่านขวา    และให้ตั้งค่ายที่ด่านขวาอีกค่ายหนึ่ง      และสั่งการให้พวกพวนเวียงสุยไปสืบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ

          เจ้าราชภาคิไนยป่วยเป็นฝีที่ต้นแขนทับขอลาไปรักษาที่เมืองหลวงพระบาง

          วันอังคารขึ้น  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๕  ปีวอก  (๘  เมษายน  ๒๔๒๗)     (ยุคนั้นนับปีใหม่  และศักราชใหม่ใน  ๑  เมษายน)    พระยาศุโขไทยป่วย  จับไข้สท้าน อาเจียร  ปัสสาวะส่าง  ร้อนเป็นกำลัง  รับประทานไม่ได้  นอนไม่หลับ  หมอก็ไม่มีรักษา  ยาก็ไม่มีรับประทาน  ไพร่พลก็เจ็บป่วยมากขึ้น    ประกอบกับพวกฮ่อก็สงบเงียบ    พระยาศุโขไทยจึงไปรักษาตัวที่เมืองหลวงพระบาง    ไข้กลับกำเริบหนักขึ้น   ไพร่พลในกองทัพก็หนีไปมาก    จึงให้พระสำโรงถอนมาร่วมกับเจ้าอุปราชที่ด่านขวา

              พออาการทุเลาขึ้น  ก็ได้รับหนังสือจากหลวงคลังว่าที่พระสำโรงซึ่งรักษาด่านเมืองยูว่า    พระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้  พระยาพรหมเดชา  เพี้ยจิตปัญญา  ร้องว่าไม่มีเสบียงอาหาร  ขอให้พระสำโรงลงไปอยู่กับพระยาศุโขไทยที่ค่ายด่านขวา    ส่วนไพร่พลที่มากับพระสำโรงจำนวน  ๔๔  คน  นั้น  ได้เจ็บป่วยและตายเสียหลายคน  เหลือดีเพียง  ๗  คน

          และยังมีข่าวสารเกี่ยวกับพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำว่า  มีพวกเก่าอยู่  ประมาณ  ๑๐๐ เศษ    พวกใหม่พร้อมครัวมีประมาณ  ๕๐๐    รวมพวกฮ่อทั้งเก่าและใหม่  จะมีคนศึกราวๆ ๔๐๐    ตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ
 
          เจ้าคุณราชวรานุกูลแม่ทัพหน้าตั้งทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย  แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ  เจ้าฟ้ามหามาลา  กรมพระบำราบปรปักษ์  ซึ่งสำเร็จราชการกรมมหาดไทยแม่ทัพใหญ่ก็มิได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปเมืองหนองคาย

           วันแรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๕  ปีวอก  (วันศุกร์ที่  ๑๑  เมษายน  ๒๔๒๗)    พระยาศุโขไทยไปรักษาตัวที่เมืองหลวงพระบาง

          วันพฤหัสบดี  แรม  ๗  ค่ำ เดือน  ๕   (วันที่  ๑๗  เมษายน  ๒๔๒๗)    พระยาศรีวรวงษาคุมไพร่พล  ๙๐  เศษ  ไปถึงเมืองยู    การก็สงบอยู่  สืบดูแห่งใดก็ว่าไม่เห็นข้าศึกสักแห่ง  และท้าวขุนร้องทุกข์ด้วยเสบียงอาหารขัดสนไม่มีที่จะเบิกจึงเชิญถอยทัพกลับคืน

          วันขึ้น  ๑  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีวอก  (วันศุกร์ที่  ๒๕  เมษายน  ๒๔๒๗)    พระศรีสำโรงจึงถอยไป      ต่อมา  พระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้ให้คนไปสืบข่าวจึงได้ทราบว่าพวกฮ่อยกมาประมาณ  ๑๐๐  เศษ

          วันขึ้น ๖  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีวอก  (วันพุธที่  ๓๐  เมษายน  ๒๔๒๗)    พระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้บอกลงมาว่าพวกฮ่อลงมาตีเมืองยูแตก    ฮ่อประมาณ  ๑๐๐  เข้ามาในค่ายพระยาเมืองซ้าย  พระยานาใต้ถอยลงมาที่สบวี    ขอให้กองทัพขึ้นไปช่วยโดยเร็ว    พระยาศุโขไทยเองและไพร่พลก็ป่วยจำนวนมาก  เหลือดีอยู่เพียง  ๓๐  คน

          วันพฤหัสบดี  ขึ้น   ๕  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีวอก  (๒๙  พฤษภาคม  ๒๔๒๗)    หลวงไชยเสนา  เจ้าจำนวนบัญชีกรมการขุนหมื่นไพร่พลในกองทัพรายงานพระยาศุโขไทยว่า  ไพร่พลเมื่อถึงเมืองหลวงพระบาง  ๒๕๔     (ยอดเกณฑ์  ๕๐๖)   ขุนชำนาญนำส่ง  ๑๑       รวม  ๒๖๕       ตาย  ๑๓    หนี  ๙๕    ป่วย  ๑๓๐  ยังคงดีเพียง  ๒๗  คน

          วันอาทิตย์ขึ้น  ๘  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีวอก  (๑  มิถุนายน  ๒๔๒๗)    พระยาพิไชยแต่งให้พระพิทักษ์บุรทิศคุมขุนหมื่นไพร่เมืองพิไชย  ๑๐๐    เมืองหลวงพระบาง  ๒๐๐  ยกล่วงหน้าไปเมืองยูก่อน      พระยาพิไชย และเจ้าราชบุตรจะคุมขุนหมื่นไพร่เมืองพิไชย  ๓๐๐    เมืองหลวงพระบาง  ๒๐๐  ยกหนุนกองพระพิทักษ์บุรทิศใน วันพฤหัสบดีแรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีวอก   (ตรงกับ  วันที่  ๑๒  มิถุนายน  ๒๔๒๗)

 

พระวิภาคภูวดลขึ้นไปทำแผนที่

          พระวิภาคภูวดล  (นาย เยมซ์  แมคคาที)  ขึ้นไปทำแผนที่เมืองพวนและทุ่งเชียงคำปลายเขตแดนเมืองหลวงพระบาง    ทำแผนที่แล้ว  (แต่น่าจะยังทำไปไม่ถึงเมืองพวนและทุ่งเชียงคำตามภารกิจ)    กลับลงมาเมืองหลวงพระบางได้พบกับพระยาพิไชยถามถึงการดำเนินการต่อพวกฮ่อที่ตีและยึดเมืองยู    พระยาพิไชยแจ้งว่าจะยกไพร่พลเมืองพิไชย  ๕๐๐  คน  ไปตีพวกฮ่อที่เมืองยูใน  วันพฤหัสบดี  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๗    พระวิภาคภูวดลจึงมอบปืนสนัยเดอร์ให้  ๒๐  กระบอก  พร้อมกระสุน  ๒,๐๐๐  นัด       พระวิภาคภูวดลว่า  บัดนี้  ออกไปทำแผนที่เมืองพวนและทุ่งเชียงคำได้แล้ว

 

           ส่วนกองทัพที่เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก   และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เป็นแม่ทัพ  ยกขึ้นไปจนยกกลับกรุงเทพฯ   ไม่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา     แต่การปราบฮ่อนี้ก็ได้ดำเนินต่อไปจน   ๑๒ - ๑๓  ปี  .  .  .

 

 ลุ  ปีระกา สัปตศก   จุลศักราช  ๑๒๔๗  พ.ศ.๒๔๒๘  

           ครั้น แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับวันจันทร์  วันที่  ๑  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๘    ได้รับใบบอกจาก  พระยาศุโขไทย,  เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบาง  และพระยาราชวรานุกูลกับพวกนายทัพนายกองทางทุ่งเชียงคำว่า     ได้สู้รบกับกองทัพพวกฮ่อติดพันกันอยู่  แต่พวกฮ่อหาได้เลิกถอยไปไม่    กองทัพก็ขัดสนด้วยเสบียงอาหาร    ไพร่พลก็บอบช้ำป่วยไข้ล้มตายลงมาก    พระยาราชวรานุกูล    (เวก  บุญยรัตพันธุ์  เดิมเป็นที่ พระสุริยภักดี  แม่ทัพหน้าของเจ้าพระยาภูธราภัย  ครั้ง พ.ศ.๒๔๑๘)    ต้องเลิกทัพมาจากทุ่งเชียงคำ   

          ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  จึงมีพระราชดำรัส    สรุปความได้ว่า 

          .  .  .  อ้ายฮ่อคุมกำลังขึ้นเป็นกองโจร  ล่วงล้ำเบียดเบียนหัวเมืองลาวในพระราชอาณาเขต  คั้งแต่  พ.ศ.๒๔๑๕    ทางกรุงเทพฯ จัดให้หัวเมืองทางเหนือคุมกำลังเข้ากองทัพเป็นหลายหมื่น  ขึ้นไปช่วยเมืองลาวปราบปรามพวกโจรฮ่อ    รบกันเป็นหลายปี  เสียชีวิตพลเมือง  และสิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก

          ครั้น  พ.ศ.๒๔๑๖  อ้ายฮ่อกลับตีเข้ามาถึงเมืองเวียงจันทน์    ทางกรุงเทพฯ ก็จัดกองทัพเสบาดีขึ้นไปปราบ และจัดกิจการบ้านเมือง  ก็หาเรียบร้อยไปได้ไม่   มาถึง  ๑๒ - ๑๓  ปีแล้ว    พระยาพิชัย  และพระยาราชวรานุกูล  ต่างก็อ้างเหตุขัดข้องลงมาเช่นนี้  ทำอย่างไรจึงจะราบคาบลงได้    ทั้งเวลานี้หัวเมืองญวนซึ่งมีเขตติดต่อกับเมืองลาวฝ่ายเหนือก็กำลังจลาจลปั่นป่วนด้วยฝรั่งเศสมารบกวน    การปักปันเขตแดนทำแผนที่ก็ไม่สำเร็จลงได้  ทรงเห็นว่า  กองทัพพระยาพิชัย  ฝ่ายเหนือ  และ กองทัพพระยาราชวรานุกูล  ฝ่ายใต้ถ้าจะให้ทำการต่อไปก็คง ติดๆ ขัดๆ  เสียเวลาเรื่อยไป    ควรจะเรียกตัวมาลงโทษบ้าง  ให้ตำรวจคุมเครื่องพันธนาการไปหาตัวให้กลับลงมา  .  .  . 

          ก็พอดีมีใบบอกของพระยาราชวรานุกูล  ลงมาว่า    กองทัพพระยาพิชัย  และพระยาราชวรานุกูล  ตั้งล้อมค่ายพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ  ได้เข้าตีค่ายฮ่อเป็นหลายครั้ง  ก็ตีไม่แตกเสบียงอาหารไม่พอเพียง  ทหารได้รับความอดหยาก    ขณะที่พระยาราชวรานุกูลอำนวยการรบเข้าตีนั้น  พวกฮ่อได้ยิงปืนต้านทาน  กระสุนถูกหน้าแข้งพระยาราชวรานุกูลกระดูกแตก    ครั้น  ขึ้น  ๑ ค่ำ  เดือน  ๗  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับวันพฤหัสบดี  วันที่  ๑๔ พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๒๘   พระยาราชวรานุกูล  กับพระยาพิชัย  จึงต้องเลิกทัพจากทุ่งเชียงคำ

          เมื่อทรงทราบความตามใบบอกแล้ว    การที่จะหาตัว พระยาราชวรานุกูลมาลงโทษจึงยุติ   เป็นแต่เรียกกองทัพกลับมายังกรุงเทพฯ

          ถึงกระนี้  กระนั้น  กระไรก็ตาม    การปราบฮ่อ ครั้งนี้  (จ.ศ.๑๒๓๙  พ.ศ.๒๔๒๐)  ถึงแม้ว่าจะไม่สงบราบคาบลงได้ดังพระราชประสงค์ก็ตาม    แต่ก็ได้บทเรียนซึ่งได้นำไปแก้ไข และพัฒนาขึ้นในโอกาสต่อไป 


 

บทเรียนจากการปราบฮ่อ    ๑๒๓๙

          ๑. กองทัพที่ยกไปคราวนี้เป็นกองทัพอย่างโบราณ  เพราะกองทัพไทยอยู่ในระหว่างการปรับปรุงกองทัพ  เริ่มรับการฝึกแบบยุโรป  คือกองทหารหน้า  ซึ่งได้ใช้ในราชการศึกครั้งนี้ด้วย  คือใช้เป็นกองรักษาแม่ทัพไปประมาณ  กองละ  ๒๐๐ - ๓๐๐  คน  มีนายทหารหน้ากำกับไปด้วย    นับว่าเป็นการปฏิบัติราชการสนามครั้งแรกของกองทหารหน้า

          ๒. เนื่องจากไม่มีการจัดการเรื่องสุขาภิบาลสนามที่หาดเมืองพิชัย   จนเกิดโรคระบาด   และกองทัพก็นำโรคไปถึงเมืองหลวงพระบาง   

 

           ครับ  .  .  .  การปราบฮ่อครั้งแรกของไทยครั้งแรกใช้เวลา  ๑๒ - ๑๓  ปี ก็ยังไม่สงบราบคาบ   เพื่อนบ้านด้านตะวันออกคือเวียดนาม   ก็กำลังถูกฝรั่งเศสนักล่าอาณานิคมรุกราน  และ ได้เวียดนามทั้งหมดเป็นรัฐอารักขาโดยเด็ดขาด  เมื่อ  ๒๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๖    (ค.ศ.๑๘๘๓)    ทำให้ฝรั่งเศส มีเขตแดนติดต่อกับพระราชอาณาจักรสยาม    ภัยก็คืบคลานใกล้เข้ามา  .  .  .  เราติดตามกันต่อไปนะครับ  .  .  . 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๒)  

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๒) 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๒) 

 

 

 

บรรณานุกรม

           - ประวัติการ ของ  จอมพล และ มหาอำมาตย์เอก  เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม  แสง-ชูโต)  ฉบับรวบรวมครั้งสุดท้าย  ๒๘  มีนาคม  ๒๕๐๔  โรงพิมพ์ศรีหงส์  พระนคร  พ.ศ.๒๕๐๔

          - ไทยปราบฮ่อ    เอกสารประวัติศาสตร์ไทย  ของ  ม.ล.มานิจ  ชุมสาย    เฉลิมนิจ  ๒๕๒๒    โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงธรรมประทีป     กรุงเทพมหานคร

          - วิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.๑๑๒  ของจิราภรณ์   สถาปนะวรรธนะ  โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์   กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๒๓,      

          - กรณีพิพาท  ไทย - ฝรั่งเศส  ร.ศ.๑๑๒  ตามหลักฐานฝรั่งเศส    โดย  พันตรี  พีรพล  สงนุ้ย    ส่วนการศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับพิเศษ    สำนักพิมพ์มติชน   กรุงเทพฯ    มกราคม  ๒๕๔๕

          -  และจากเว็ปไซต์ต่างๆ บ้าง   ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

          - พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ   ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ โดย สัมพันธ์

๑๐๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๓)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๒)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๓)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๒)
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์



1

ความคิดเห็นที่ 1 (470)
avatar
ศรี

แวะเข้ามาอ่าน..

 

ละเอียดมาก..เป็นบทความที่มีคุณค่ามากค่ะ

เซฟ favorite ไว้แล้ว

เมื่อใดต้องการ รื้อฟื้น เรื่องราวเหล่านี้..จะคลิกเข้ามาในทันใด

 

ขอบคุณมาก ค่ะ สำหรับบทความดี ดี..จะแนะนำให้เพื่อน ๆที่สนใจอ่านประวัติศาสตร์ได้อ่านด้วย ค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ศรี (samranjai-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-01-19 12:08:27 IP : 218.186.11.237


ความคิดเห็นที่ 2 (471)
avatar
สัมพันธ์

          ขอบคุณครับ   

          แต่ยังไม่สมบูรณ์นะครับ   ท่านบันทึกของท่านไว้ละเอียดมาก  จะตัดทอนมากก็จะเสียอรรถรสเกินไป    แต่จะเขียนแผนที่แสดงเมืองต่างๆ นี่ยากจริงๆ  กำลังพยายามรวบรวมจากแผนที่ฉบับต่างๆ  แต่ละฉบับก็มีเมืองที่ต้องการน้อยมาก  บางแบบก็ไม่มีเลย  และเป็นเมืองเล็กๆ  สมัยเก่า  ไม่ทราบว่าจะได้สักเท่าใด    แต่คงไม่เป็นประเด็นสำคัญ  เท่ากับที่ได้ทราบว่า    สมัยนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินวิเทโศบายอย่างไร   และท่านที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทุกส่วนทุกฝ่ายได้พยายามปฏิบัติหน้าที่สนองคุณบ้านเมืองด้วยความยากเข็ญ กล้าหาญ  และเสียสละเพียงใด  ประเทศไทยจึงได้รอดปากหมาป่าได้อย่างหวุดหวิด    

          อย่างไรก็ตาม  ก็คงไม่สามารถว่าได้ครบถ้วนหรอกครับ  ถือว่าเป็นเพียง "ส่วนหนึ่ง" นะครับ

          ขอบคุณอีกครั้งครับ  และเชิญติดตาม ต่อๆ ไป  เมื่อรวบรวมได้มากพอก็จะนำออกเผยแพร่นะครับ               สวัสดีครับ

                                                                                                                  

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-01-19 19:27:23 IP : 125.25.89.98


ความคิดเห็นที่ 3 (540)
avatar
sleepcat
ผมติดตามอ่านมาตั้งแต่เรื่องคนไทยในพระราชอาณาจักรลาวแล้วครับ เพิ่งกลับได้มาอ่านเรื่องสงครามปราบฮ่อ ตื่นเต้นและดีใจมากนะครับเพราะเป็นคนอุตรดิตถ์ได้มีโอกาสต่อเติมประวัติศาสตร์ที่ขาดช่วงไปสำหรับชาวเมืองพิชัยได้มากเลยครับ ผมเชื่อถือเรื่องข้อมูลที่ท่านสัมพันธ์ได้รวมรวมและขัดเกลาไว้อย่างมากครับ โดยเฉพาะเรื่องแผนที่ตำแหน่งบ้านเมืองเก่าๆที่หาคนเข้าใจได้ยากที่สุดแต่สำคัญมากผมคิดว่ายุคนี้คงไม่มีใครให้ความกระจ่างกับแผนที่ในลาวได้มากเท่านี้ครับ ผมขออนุญาติทำลิงค์ไปให้คนอุตรดิตถ์ได้อ่านเรื่องราวด้วยนะครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น sleepcat วันที่ตอบ 2010-04-25 22:23:48 IP : 202.139.223.18


ความคิดเห็นที่ 4 (542)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณมากครับ  ท่านชมเกินไปแล้ว  และยินดีมากที่จะเผยแพร่ให้พี่น้องชาวอุตรดิตถ์ต่อไป

          ในช่วง  มกราคม  ๒๕๑๒ - มีนาคม ๒๕๒๐  ผมได้มีโอกาสมารับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๐  ตอนแรกๆ  ยังไม่มีบ้านพักในหน่วย  ต้องพักที่ศรีพนมมาศ  ที่บ้านมีบ่อน้ำ  เช้าๆ มีวัวลากล้อเสียงออดแอด ออดแอด ผ่านทุกเช้า  สงบ  ร่มรื่นมาก  ตลาดเช้าคึกคัก  และมีชีวิตชีวา    เดี๋ยวนี้คงเปลี่ยนไปมากนะครับ

          ระลึกถึงชาวลับแล  และชาวอุตรดิตถ์เสมอครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-26 12:42:08 IP : 58.136.30.194


ความคิดเห็นที่ 5 (548)
avatar
sleepcat

ผมขอบพระคุณคุณสัมพันธ์มากๆครับ  และยิ่งดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ทราบว่าคุณสัมพันธ์เคยไปประจำการที่ ป.พัน20  ผมกำลังเรียนมัธยมโรงเรียนประจำจังหวัด(ชาย) สมัยนั้นได้เห็นบรรยากาศใกล้สงครามเหมือนกัน  ช่วงเช้าเย็นได้เห็นเครื่องบิน O-1บ้าง' OV-10บ้างบินลาดตระเวณทุกๆวัน บางวันก็มีรถถัง M-41 บ้าง สกอร์เปียนบ้างวิ่งผ่านมาให้ตื่นตา เด็กๆก็ได้แต่สนุกสนานแต่พอโตมาได้ศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และสงครามบ้างก็พอเข้าใจว่าบ้านเกิดเมืองนอนของเราก็มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่น้อยเหมือนกัน ยิ่งได้อ่านเรื่องในเมืองลาวที่คุณสัมพันธ์เขียนไว้ก็ยิ่งกระจ่างมากครับ โดยเฉพาะความเป็นเมืองพิชัยในสมัยรัชกาลที่5 มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว คนอุตรดิตถ์สมัยนี้ไม่ค่อยได้รับรู้กันเลย ผมพยายามรวบรวมเรื่องราวเก่าๆเก็บมาให้คนอุตรดิตถ์รุ่นใหม่ได้อ่านกันบ้างอยู่ในเว็ปบอร์ดอุตรดิตถ์ฮับครับ

ส่วนเมืองอุตรดิตถ์สมัยนี้ก็เจริญขึ้นมากเรื่องถนนหนทางชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังสงบดีครับ ผมมีความคิดว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพที่ถูกที่สุด และค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็รั้งท้ายอยู่  รวมๆแล้วก็ยังน่าอยู่เหมือนเดิมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น sleepcat วันที่ตอบ 2010-05-09 20:57:58 IP : 124.121.194.2


ความคิดเห็นที่ 6 (549)
avatar
สัมพันธ์

ครับ  ก็เป็นธรรมดาของบ้านเมืองและโลกนะครับที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง   ผมทราบว่าแต่เดิม  อุตรดิตถ์เป็นเมืองท่าทางน้ำ  ถึงได้มีท่าเสา  ท่าอิฐ       

          ต่อมาเมื่อมีทางรถไฟ  เดินถึงเชียงใหม่  (รายละเอียดใน  บทความเรื่อง พลเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน)    สถานีอุตรดิตถ์ก็เป็นสถานีใหญ่  มีโรงรถจักร   มีห้องแพทย์  ฯลฯ  นับว่าเป็นเมืองใหญ่ของกิจการรถไฟทีเดียว    เมื่อผมเด็กๆ  พ่อแม่พาไปเที่ยวเชียงใหม่  จำได้ว่า   รถไฟต้องแยกเป็นสองขบวนที่อุตรดิตถ์  จนต้องสร้างสถานีศิลาอาศน์  เป็น "ย่านใหม่"  มีขบวนรถวิ่งผ่านขึ้น - ล่องตลอดคืน   มีอาหารกินได้ตลอดคืนเหมือนกัน    นอกจากนี้  การศึกษาก็กว้างขวาง   มีวิทยาลัยครู  ซึ่งนักเรียนจาก แพร่ น่าน  ต้องมาเรียนที่อุตรดิตถ์  (เท่าที่ผมทราบ)

          ปัจจุบันทางรถยนต์สดวกขึ้นมาก  และมีหลายเส้นทาง  ล้วนแล้วแต่ผ่านอุตรดิตถ์    หากไม่ตั้งใจแวะ  ก็เดินทางผ่านไปเลย 

         อย่างไรก็ตาม  ผมยังประทับใจ  ".  .  .  ลางสาดเมืองเรารสดี  หวานเกินทุกที่แผ่นดินของไทย  .  .  ."  ตามที่ว่าไว้ใน  "อุตรดิตถ์เมืองงาม" เสมอครับ 

          ขอบคุณมาก  แล้วคุยกันอีกนะครับ 

                                                                        สวัสดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-05-09 21:24:06 IP : 124.122.56.140


ความคิดเห็นที่ 7 (550)
avatar
สัมพันธ์

 คุณ  sleepcat  ครับ

         ขออภัยที่แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง พลเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน    ตรวจดูแล้ว  ปรากฏว่าบทความนี้ อยู่ใน  http://widetalks.multiply.com        ยังไม่ได้เอามาลงในนี้   รออีกหน่อยนะครับ    หรือจะอ่านใน  widetalks ก่อนก็ได้นะครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-05-11 16:09:19 IP : 124.121.38.89


ความคิดเห็นที่ 8 (554)
avatar
sleepcat

ผมขอบคุณคุณสัมพันธ์แทนชาวอุตรดิตถ์อีกหลายคนด้วยครับ ที่ยังอุตส่าห์จำเนื้อเพลง ประจำจังหวัดฝีมือ การประพันธ์ คำร้อง ''ธาตรี''/บรรพต ศรีชื่น  ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน      และ นักร้อง บุษยา รังสีท่านบุษยา รังสี เพิ่งเสียไปเมื่อเดือนกุมภา ปีนี้เองครับ  ท่านร้องเพลงนี้ได้จับใจมากครับ

ส่วนเรื่องของรถไฟผมก็อยากศึกษาข้อมูลอยู่มากๆครับ ที่เมืองอุตรดิตถ์นอกจากรถไฟหลาวง มากมายแล้วยังเคยมีทางรถไฟเล็กขนอ้อยอยู่ร่วมๆหนึ่งร้อยกิโลเมตร(ราง75ซ.ม.) รถไฟเล็กพระพุทธบาทก็ถูกขายให้โรงงานน้ำตาลที่นั่น  แถมหัวรถจักรไอน้ำราง1เมตรสายปากน้ำ  สายแรกของประเทศไทย ที่มีชื่อ"สำโรง" ก็ยังอยู่ที่นั่นผมทันเหห็นรถไฟเหล่านี้แล่นไปมาตั้งแต่เด็กๆเลยรู้สึกมีความผูกพันอยู่ครับ  ขอบคุณเรื่องรถไฟด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น sleepcat วันที่ตอบ 2010-05-26 13:08:51 IP : 124.122.225.146


ความคิดเห็นที่ 9 (555)
avatar
สัมพันธ์

          ครับ  .  .  .  จำได้ว่าผมมารายงานตัวที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๐  ในวันครู  ๑๖  มกราคม  ๒๕๑๒  และในเดือนกุมภาพันธ์  ก็มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก  (อากาศหนาวทีเดียว)      อาจจะเปิดตัวเพลงอุตรดิตถ์เมืองงาม  และ เมืองลับแล ไม่แน่ใจ  แต่สถานีวิทยุ  จทบ.อ.ต. ที่ค่ายพิชัยดาบหัก  ท่าเสา  เปิดเสียแผ่นแทบจะทะลุ    พวกเราก็หัดร้องกัน  ในโอกาสที่ได้มาอาศัยอยู่อาศัยกิน

          มีคำกล่าวขานว่า  ผู้ที่มาอยู่เมืองอตรดิตถ์ และได้อาบน้ำน่าน  แล้วจะได้อยู่เป็นคนอุตรดิตถ์    เวลาฝึกภาคสนาม  ผมก็ต้องลงแม่น้ำน่านเพื่อวางสายโทรศัพท์สนามข้ามแม่น้ำเป็นหลายหน และ  เพลงเมืองลับแล  เขาก็ว่า  .  .  .  ฝากสัมพันธ์สาวลับแล ๆ ๆ    แต่ไม่มีใครรับครับ

          เรื่องรถไฟสายโรงน้ำตาลผมเคยทราบเหมือนกัน  จะหาโอกาสค้นมาคุยกันนะครับ

                                                                                      คิดถึงอุตรดิตถ์เสมอครับ

   

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-05-26 16:43:29 IP : 124.121.34.21



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker