dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)

 

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  การปราบฮ่อครั้งแรกของไทยครั้งแรกใช้เวลา  ๑๒ - ๑๓  ปี ก็ยังไม่สงบราบคาบ   เพื่อนบ้านด้านตะวันออกคือเวียดนาม   ก็กำลังถูกฝรั่งเศสนักล่าอาณานิคมรุกราน  และ ได้เวียดนามทั้งหมดเป็นรัฐอารักขาโดยเด็ดขาด  เมื่อ  ๒๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๖    (ค.ศ.๑๘๘๓)    ทำให้ฝรั่งเศส มีเขตแดนติดต่อกับพระราชอาณาจักรสยาม    ภัยก็คืบคลานใกล้เข้ามา  .  .  .  

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . 

 

 

 

 

 

 Indochina  1885

 

 

ครั้งที่  ๒   จ.ศ.๑๒๔๗  พ.ศ.๒๔๒๘

 

         ลุปีระกาสัปตศก   จุลศักราช  ๑๒๔๗  พ.ศ.๒๔๒๘      เมืองหลวงพระบางมีใบบอกลงมาว่า   ได้เกิดมีพวกฮ่อธงเหลืองก่อการกำเริบ    คุมสมัตรพรรคพวกเข้ามาตั้งอยู่ปลายเขตต์แดนพระราชอาณาจักร  และยกกองทัพเข้ามาตีหัวเมืองต่างๆ  ปลายเขตต์แดน    เจ้าเมืองหลวงพระบางได้เกณฑ์เพี้ยพระยาลาวให้คุมพลขึ้นไปปราบปราม  ๑,๔๐๐  คน    ให้แบ่งเป็น  ๒  กอง  ยกแยกไปทางแม่น้ำอู  และทางแม่น้ำเซือง  .  .  .  ฯลฯ 


          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กองทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือ กองทัพฝ่ายใต้ และกองทัพฝ่ายเหนือ

 

พระราชดำริ และพระบรมราโชบาย

          .  .  .  จะขอจัดกองทัพเป็นอย่างใหม่  ให้ยกขึ้นไปทันในแล้งนี้  เพื่อปราบปรามพวกฮ่อให้สำเร็จจนได้    จัดกองทัพเป็น  ๒  กอง    คือกองทัพฝ่ายเหนือ  และกองทัพฝ่ายใต้    กองทัพฝ่ายเหนือ  จะให้พระนายไวยฯ เป็นแม่ทัพ  เพราะเป็นผู้ที่ชำนาญการทหารและการอาวุธ  เห็นแก่ราชการไม่ละทิ้งหน้าที่  และมีความซื่อตรงจงรักภักดี   เสียแต่เป็นคนดุ และใจเร็ว     ส่วนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นั้น    จะให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  เป็นแม่ทัพ   และนายพันตรี  พระอมรวิไสยสรเดช  ผู้บังคับกองปืนใหญ่  กับนายทหารปืนใหญ่อีกหลายคนเป็นทัพหน้า

          .  .  .  กะให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถทำการแต่ในเขตเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  จนถึงเมืองสิบสองจุไทย   แต่พวกฮ่อซึ่งตั้งอยู่ที่สบแอดเชียงค้อมีกำลังมากกว่าแห่งอื่น   ได้ตั้งค่ายเป็นรกเป็นรากใหญ่โต     ส่วนกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมนั้นให้ทำการแต่ในเขตเมืองพวนตลอดไปทางตะวันออก    พวกฮ่อตั้งมั่นอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ  .  .  .

 


 

 

กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

แม่ทัพฝ่ายใต้  (ซ้าย)

 

เจ้าหมื่นไวยวรนารถ

แม่ทัพฝ่ายเหนือ  (ขวา)

ฉายก่อนหน้าที่จะยกกองทัพไปปราบฮ่อวันหนึ่ง

 

 

 

 

 

กองทัพฝ่ายใต้

          นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ   

          นายพันตรี พระอมรวิไสยสรเดช (โต  บุนนาค)  ผู้บังคับกองปืนใหญ่  กับนายทหารปืนใหญ่อีกหลายคนเป็นทัพหน้า   ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน

               ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม  ๒๔๒๘   ใช้เวลาเดินทางสามเดือนถึงเมืองหนองคาย และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้นายพันตรี  พระอมรวิไสยสรเดช   ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ

          พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน

                    กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย

 

 

กองทัพฝ่ายเหนือ

          นายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนสรถ  ผู้บังคับการทหารหน้า    เป็นแม่ทัพ

ตารางทัพ

          จำนวนทหารที่ได้เข้ากะเข้าในตารางทัพมีดังนี้  คือ    (สรุปย่อ  เฉพาะที่จำเป็น)
 

กองกลาง   (เทียบได้กับ  กองบัญชาการ ในปัจจุบัน)

          นายพันเอก  ๑    นายพันตรี  ๒    นายทหารฝรั่งมียศเท่านายร้อยเอก  ๓    นายแพทย์ใหญ่  ๑    ปลัดกอง  ๑    นายเวร  ๑    ยกกระบัตร  ๑    เกียกกาย  ๑    นายแพทย์รอง  ๒    นักเรียนนายร้อย *  ๒๐      ฯลฯ   

                    รวม    ๙๑  คน

 

          * นักเรียนนายร้อย สมัยที่กล่าวนี้ยังเรียกว่า  "คะเด็ต"  ส่วนที่อยู่ในกองทหารมหาดเล็กเรียก   "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก"    ส่วนที่อยู่ในกองทหารหน้าเรียก "คะเด็ตทหารหน้า"     นักเรียนนายร้อยที่ไปปราบฮ่อในกองทัพฝ่ายเหนือนี้  คือ  "คะเด็ตทหารหน้า"

 

กองพลรบ   

          กองทหารราบ  ๔ กองร้อย     แต่ละกองร้อย  มีนายร้อยเอก  ๑  คน    นายร้อยโท  ๒  คน    จ่านายสิบ  และนายสิบเอก  ๑๔    พลทหาร  ๑๐๐           

                    รวม  ๔  กองร้อย   ทั้งนายและพล   ๔๖๘  คน

กองทหารช่าง    ๑  กอง               รวมทหารช่าง ทั้งนายและพล    ๒๖  คน

กองทหารรักษากระสุนดินดำ    (เทียบได้กับ  หน่วยสรรพาวุธ ในปัจจุบัน)                          

                    รวม ทั้งนายและพล  ๒๙  คน

          รวมกองทหารหน้าทั้งนายและพลที่จะขึ้นไปราชการทัพด้วยแม่ทัพฝ่ายเหนือคราวนี้    ๖๑๔  คน    กับปืนใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯ   มีปลัดกรมทหารปืนใหญ่  ๑  คน  พลทหาร  ๑๐๐

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายสิบ  และพลทหาร  กองทหารหน้าเมื่อต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    (ซ้าย)

ทหารหน้า  ประมาณ  พ.ศ.๒๔๒๘   แต่งกายเครื่องสนาม  แสดงเครื่องหมายยศ (บั้ง) ที่ข้อมือเสื้อ

ถือปืนสนัยเดอร์ หรือปืนเอ็นฟิล  มีไถ้บรรจุเสบียงแห้งคล้องไหล่    (ขวา)


 

 

          คนหัวเมืองกระทรวงมหาดไทยเกณฑ์สมทบ    ๒๐๐  คน    คนคุมโคต่าง  ๕๐  คน    ควานช้าง  ๓๐๐  คน         รวม  ๕๕๐  คน

          ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย    พระอินทรแสนแสง  (ปลัดเมืองกำแพง)  กับขุนหมื่น    ๒๕  คน

                    รวมทหารและคนหัวเมืองที่ไปในกองทัพฝ่ายเหนือ    เป็นจำนวน  ๑,๓๑๖  คน

 

อาวุธประจำกาย

          นายทหาร  จ่านายสิบ  นายสิบเอกเกียกกาย    มีกระบี่  ๑    ปืนสั้น  ๑    นักเรียนนายร้อย  จ่ายปืนต่างๆ  คนละ  ๑  กระบอก    กระสุนคนละ  ๖๐  นัด    นายสิบ  และพลทหาร  จ่ายปืนชไนเดอร์  (สนัยเดอร์)  พร้อมดาบปลายปืน  คนละ  ๑  กระบอก    กระสุน  คนละ  ๖๐  นัด

 

 

 

อาวุธประจำหน่วย

          ปืนครกทองเหลือง  กระสุนแตก    ๒  กระบอก  (ปืนมอรตาร์)    พร้อมกระสุนลูกแตก    กระบอกละ  ๑๐๐  นัด   (ปัจจุบันเรียกเครื่องยิงลูกระเบิด  ถือเป็นอาวุธทหารราบ)
   
          ปืนใหญ่ทองเหลืองรางล้อ  (เฮาวิสเซอร์)    ๒  กระบอก    พร้อมกระสุนลูกแตก    กระบอกละ  ๑๐๐  นัด

          ปืนใหญ่อาร์มสตรอง      (ปืนภูเขา  ขนาด  ๓  นิ้ว   บรรจุทางปากลำกล้อง)      ๒  กระบอก

 

 

 ปืนใหญ่อาร์มสตรอง      ปืนภูเขา  ขนาด  ๓  นิ้ว   บรรจุทางปากลำกล้อง  ได้สั่งเข้ามาใช้ราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕

ภาพนี้ถ่ายในกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒

(ข้อมูลจาก  พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธทหารบก)


          ปืนแกตริงกันมีราง    ๒  กระบอก    (กรมทหารเรือจัดสนับสนุน  พร้อม  นายเรือตรี  ๑    พลทหารเรือ  ๒๔)

           

พระราชทานธงชัยเฉลิมพล  

          ณ  วันอาทิตย์  แรม  ๙  ค่ำ เดือน  ๑๑  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗   ตรงกับ   วันที่  ๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๒๘     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพ  .  .  .  และธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้ได้บรรจุพระเหล็กไหลนภากาศองค์ ๑   และพระลำพูลดำองค์ ๑   และเครื่องปลุกเศกแล้ว    ได้ประสิทธิ์ประกอบกันบรรจุลงไว้ที่ในยอด    สำหับคุ้มครองป้องกันผู้ถือธงชัยนี้ให้มีสง่า และอำนาจ  ให้แคล้วคลาดศัตราวุธปัจจามิตรอันจะมาทั่วทิศานุทิศ  .  .  .

 

 

 

 

 พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญ   ณ  สนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม  ในพระบรมมหาราชวัง

 


พระบรมราโชวาท
                                         (อักขรวิธีตามต้นฉบับเดิม)

 

           พระราชทานแก่    พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นประจักรศิลปาคม  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  แม่ทัพนายกอง  ซึ่งขึ้นไปปราบปรามพวกฮ่อข้าศึก  ทั้งทางฝ่ายที่ขึ้นทางเมืองหนองคายเรียกว่าฝ่ายใต้    ที่ขึ้นทางเมืองหลวงพระบางเรียกว่าฝ่ายเหนือ    เพื่อจะให้ทราบพระราชประสงค์เป็นเลาการ  ที่จะได้จัดการทั้งปวงตลอดไป

          ข้อ ๑.  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ยกกองทัพขึ้นไปเพื่อปราบปรามพวกฮ่อในเมืองพวนเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกครั้งนี้  ด้วยทรงพระมหากรุณาแก่มหาอาณาประชาราษฎรอันอยู่ในพระราชอาณาเขตร์ซึ่งพวกฮ่อมาย่ำยีตีปล้นเกบทรัพยสมบัตรเสบียงอาหารจุดเผาบ้านเรือน  คุมตังไปใช้สอยเปนทาษเปนเชลยได้ความลำบากต่างๆ  ไม่เปนอันที่จะทำมาหากิน    จึงได้คิดจะปราบปรามพวกฮ่อเสียให้ราบคาบ  เพื่อจะให้ราษฎรทั้งปวงได้อยู่เยนเปนศุข    เพราะเหตุฉนั้น  ให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงกำชับห้ามปรามไพร่พลในกองทัพอย่าให้เที่ยวข่มขี่ราษฎรทั้งปวง  แย่งชิงเสบียงอาหารต่าง  เหมือนอย่างเช่นคำเล่าฤๅที่คนปรกติมักจะเข้าใจว่า  เปนธรรมเนียมกองทัพแล้ว  จะแย่งชิงฤๅคุมเหงคเนงร้ายผู้ใดแล้วไม่มีโทษ    ในการซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่ราษฎรจะให้อยู่เยนเปนศุขนั้น  กลับเปนความ้ดือษร้อนไปได้เปนอันขาด

          ข้อ ๒.  มีพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบถิ่นถานทั้งอันเปนพระราชอาณาเขตร์  จะควรเปนทางค้าท่าขายอย่างใดซึ่งจะให้เจริญผลประโยชน์แก่บ้านเมืองเหล่านั้น  แลเปนประโยชน์แก่คนทั้งปวงทั่วไป    จึ่งโปรดให้มีกองแผนที่ขึ้นมาตรวจสอบถิ่นถานทั้งปวงให้ได้ความชัดแจ้ง  ให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงช่วยอุดหนุนเจ้าพนักงานทำแผนที่ให้ได้ทำการตลอดไป  แลไตร่สวนตรวจตราทางเข้าทางออกที่ต่อเขตรแดนจะควรจัดการรักษาป้องกันบ้านเมืองเหล่านั้นให้อยู่เยนเปนศุข ปราศจากโจรผู้ร้ายได้อย่างใด    แลมีโจรผู้ร้ายฤๅอันตรายอันใดที่น่ากลัวจะเปนเหตุการให้บ้านเมืองเหล่านั้นไปเปนศุข  ควรจะปราบปรามจัดการแก้งอาหารนั้น  ได้จัดส่งขึ้นไปแต่กรุงเทพฯไขเสีย  ก็ให้ปราบปรามแก้ไขเสียให้สิ้นเสี้ยนหนาม  อย่าให้เปนที่ขัดขวางแก่ประโยชน์บ้านเมืองอันจะเจริญขึ้นได้

          ข้อ ๓.  กองทัพซึ่งโปรดเกล้าฯ  ให้ยกแยกขึ้นไปเปนสองกอง  ปันเขตร์ไว้ว่า    กองทัพฝ่ายใต้ให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูแลโจรผู้ร้ายในเขตรแขวงเมืองพวนตลอดลงมาจนหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออก    กองทัพฝ่ายเหนือให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูแลโจรผู้ร้ายในหัวเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางชั้นใน  แลเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดจนถึงเมืองสิบสองจุไทย    ถึงว่าปันไว้แล้วดังนั้นก็ดีจะถือว่าต่างคนต่างทำเปนคนละทัพคนละกองไม่เกี่ยวข้องกันนั้นไม่ได้  ต้องตั้งใจเปนอันหนึ่งอันเดียวว่า  .  .  .  เพราะเหตุที่พระราชอาณาเขตรกว้างขวาง    ครั้นจะให้ขึ้นไปแต่กองเดียวจะทำการไม่สำเรจไปได้โดยเรวจึงให้ทำการฝ่ายใต้กองหนึ่งฝ่ายเหนือกองหนึ่งบรรจบเข้าหากันให้เรียบร้อยพร้อมกัน    เพราะฉนั้น  ห้ามเปนอันขาดว่าอย่าให้แม่ทัพทั้งสองฝ่ายถีอใจว่า  เปนการทำราชการประกวดกันใครจะดีกว่ากัน  ใครจะเรวกว่ากัน  .  .  .  การที่ไปทำควรจะช้าก็ต้องช้า  ควรจะทำได้เรวจี่งทำเรว  .  .  .  แลให้กองทัพทั้งสองฝ่ายมีหนังสือส่งข่าวคราวไปมาถึงกัน  ให้ทราบการที่กองตัวได้ทำการอย่างไร  ตั้งอยู่ตำบลใด    อย่าให้กองทัพพลัดกันจนไม่รู้ว่ากองหนึ่งอยู่แห่งใดได้เปนอันขาด  .  .  .  ให้ทำกิตติสัปท์ให้ปรากฏทั้งสองกองว่ากองทัพที่ยกไปทางเหนือกองหนึ่งใต้กองหนึ่งนี้  เพื่อช่วยกันปราบปรามพวกฮ่อ  ตีกระทบบีคั้นให้พวกฮ่อพ่ายแพ้จนได้  .  .  .

          ข้อ ๔.  เมื่อกองทัพยกขึ้นไปถึงเมืองพิไชย  เมืองพิศนุโลกย์    การที่จะส่งกองทัพให้ไปถึงเมืองหนองคายแลเมืองพิไชยนั้น  ได้มอบให้พระยาศรีสิงห์เทพ ๆ เปนผู้จัดส่ง    แต่เวลาที่จะยกจากที่ใดตำบลใดเวลาใดนั้น    ต้องแล้วแต่แม่ทัพจะเหนสมควร  .  .  .

          ข้อ ๕.  การสเบียงอาหารนั้นได้จัดส่งขึ้นไปแต่กรุงเทพฯ เท่าใด    การที่จะขนลำเลียงขึ้นไปส่งอย่างใด  แม่ทัพต้องตรวจตราคิดกะการให้ตลอดไป    เขาควรเกนท์เอาหัวเมืองใดเพิ่มเติมขึ้นอีกมากน้อยเท่าใด  ก็เกนท์ได้ทุกเมืองตามอำนาจแม่ทัพ  .  .  .  ฤๅกองทัพต้องตั้งแรมปี  สเบียงอาหารข้างฝ่ายเมืองเหนือขัดสนจะไม่พอเลี้ยงไพรเพล    จะต้องอาไศรยสเบียงอาหารที่จะส่งขึ้นไปจากกรุงเทพฯ  แลหัวเมืองชั้นใน  ก็ให้มีใบบอกขัดข้องแลขอร้องลงมาโดยเรวจะได้จัดการขึ้นไปให้ตลอด

          ข้อ ๖.  ไพร่พลที่จะเข้าในกองทัพไปต่อรบด้วยข้าศึกนั้น    ถ้าเบาบางจะต้องเรียกเพิ่มเติมก็เรียกตามหัวเมืองได้ตามอำนาจแม่ทัพ    สุดแต่จะปฤกษาหาฤๅกับข้าหลวงเหนควรเกนท์เมืองใดเพิ่มเติมก็ให้เกนท์ได้

          ข้อ ๗.  การที่ต่อรบด้วยพวกฮ่อนั้น    ถ้าได้ท่วงทีจะมีไชยชนะแล้ว  ไม่เปนการจำเปนที่จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นภายน่าแล้ว  ก็อย่าให้ประหารชีวิตรคนซึ่งมิได้ต่อสู้ให้เปนความเสียหายแก่น้านเมืองแลเปนบาป  .  .  .  พวกฮ่อเองก็ดี  ฤๅไพร่บ้านพลเมืองที่มีชื่อเปนชาวต่างๆ  คือ  ข่าแจะ  ข่าเจียง  ไทยทู้เปนต้น    ที่เปนคนใจโลเลเข้าเปนกำลังพวกฮ่อซึ่งจะทิ้งไว้ในเขตรแขวงเหล่านั้นจะก่อเกิดความชั่วขึ้นไปอีก   ควรจะผ่อนเข้ามาไว้ในพระราชอาณาเขตรชั้นในเข้ามา  ก็ให้คิดการผ่อนผันเอาเข้ามาไว้ในที่ซึ่งเปนที่ไว้ใจได้  .  .  .

          ข้อ ๘.  ถ้าฮ่อต่อสู้กำลังกองทัพไม่ได้แตกหนีออกไปนอกพระราชอาณาเขตรแล้ว  อย่าให้ยกติดตามออกไป    ให้ปฤกษาด้วยพระยาราชวรานุกูล  พระยาพิไชยข้าหลวงคิดจัดตั้งด่านทางรักษาบ้านเมือง    จัดการให้ราษฎรตั้งทำมาหากินเปนภูมิลำเนาขึ้น    ควรจะช่วยข้าหลวงจัดการฝึกหัดทหารแลโปลิศรักษาบ้านเมืองประการใด  ก็ให้คิดช่วยกันจัดการขึ้น  กองทัพนั้นควรจะตั้งพักอยู่แห่งใดก็แล้วแต่จะปฤกษาเหนพร้อมกัน

          ข้อ ๙.  ถ้าพวกฮ่อจะยอมเข้าโดยดีเปนที่เชื่อได้ว่ามิใช่จะเปนอุบายหลอกลวง  .  .  .  ก็ควรจะรับไว้  .  .  .  จะต้องผ่อนเข้ามาไว้ในหัวเมืองชั้นใน  อย่าให้คุมกันเปนกำลังใหญ่โต  จึงจะเปนที่วางใจได้  .  .  .

          ข้อ ๑๐.  ข้อซึ่งประมาณการไปว่าจีนฤๅฝรั่งเศสจะมาช่วยฮ่อ  ซึ่งไม่แลเหนว่าจะเปนไปได้จริงนั้น  จะเปนขึ้น  ก็ต้องไต่สวนดูให้แน่นอนก่อนจึ่งให้เชื่อ    หาไม่จะถูกการฬ่อลวงให้เปนที่เสียกำลังลงเองป้องกัน    ถึงโดยว่าจีนฤๅฝรั่งเศสจะช่วยฮ่อจริง  ถ้ากำลังฝ่ายเราที่ยกขึ้นไปพอจะปราบปรามได้ก็ให้ทำการให้เตมมือ  อย่าท้อใจว่าเปนการรบว่าจีนฤๅรบฝรั่งเศส  เพราะเราทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายศัตรูในแผ่นดินสยาม    ไม่เปนเหตุที่ชาติใดจัมาว่าได้โดยทางธรรม  แต่ถ้าเหนว่าเปนการเหลือกำลังที่จะทำได้  เพราะมีชาติอื่นเข้าช่วยดังนั้น    ฤๅกำลังฮ่อเองแขงแรงเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้  ก็ให้คิดการนัดหมายกันให้รู้ทั้งสองกองคิดตั้งมั่นรักษาการไว้เพียงที่จะรักษาได้    แล้วเรียกกำลังหัวเมืองทั้งปวงตามอำนาจแม่ทัพที่จะทำได้มาช่วยป้องกันรักษา    ฤๅถ้าได้กำลังมากควรจะทำการต่อไปได้  ก็ให้ทำการต่อไป    ถ้าขัดข้อง  ก็ให้มีใบบอกหาฤๅลงมากรุงเมพฯ  อย่าเพ่อให้ถอยกองทัพลงมาเสียทีเดียว

          ข้อ ๑๑.  เมื่อเวลาไล่ฮ่อไปถึงปลายเขตร์แดน    ถ้าฝ่ายฝรั่งเศสจะมาว่าด้วยเขตรแดนประการใด    ควรให้โต้ตอบได้ว่า  การเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ  ได้ปฤกษากับทูต  (ซาเยดาแฟ)  ฝรั่งเศสแล้ว  .  .  .  ของใครว่าเพียงใดก็ให้รักษาไว้เพียงนั้นก่อน    ที่ตำบลใดซึ่งขนาบคาบเกี่ยวกันคือฝ่ายเราว่าที่ของเรา  แต่ฝ่ายฝรั่งเศสมารักษาอยู่    ฤๅฝ่ายฝรั่งเศสว่ามี่ของฝรั่งเศส  ฝ่ายเรารักษาอยู่   ก็ให้ต่างตนต่างรักษาไว้โดยทางไมตรี  เหมือนหนึ่งช่วยกันรักษาไปก่อน  กว่าจะตกลงแน่ว่าเพียงใด  .  .  . 

          ข้อ ๑๒.  กองทัพที่ยกไปนี้เปนสองกอง  ตามที่หมายว่าฮ่อจะแยกกันอยู่เปนสองตำบล  ก็ถ้ากองทัพฝ่ายหนึ่งปราบปรามฮ่อแล้วสำเรจได้โดยเรว    แต่ฝ่ายหนึ่งยังทำการไม่สำเรจ    เมื่อควรจะช่วยกันทำการซึ่งไม่สำเรจนั้น  ก็ให้ช่วยกันทำให้สำเรจ    ถ้าหากว่าไม่ต้องช่วยเหลือกัน    กองซึ่งว่างเปล่าอยู่นั้นให้ตรวจตราภูมิถานบ้านเมืองจัดการให้ราษฎรได้ตั้งทำมาหากินอยู่เยนเปนศุข    ช่วยพนกงานแผนที่ให้ได้ทำแผนที่ตลอดไปในเขตรแดนซึ่งได้ปราบปรามเรียบร้อยแล้วตามเวลาที่จะทำได้     ถ้าปราบปรามศัตรูราบคาบแล้วพร้อมกันทั้งสองกอง  ก็ให้ช่วยข้หลวงทั้งสองฝ่าย  จัดการรักษาเขตรแดนบ้านเมืองให้เปนการรู้ถึงกันเหนชอบพร้อมกันตลอด    อย่าให้เปนฝ่ายหนึ่งจัดการอย่างหนึ่ง  ฝ่ายหนึ่งจัดการอย่างหนึ่งได้

          ข้อ ๑๓.  ถ้ากองทัพฝ่ายหนึ่งไปปราบปรามฮ่อในเขตรแดนของตัวเสรจแล้ว  ฝ่ายหนึ่งยังปราบปรามไม่สำเรจไปได้    ห้าม  อย่าให้กองทัพถอยกลับลงมาก่อนเปนอันขาด    ควรจะตั้งมั่นจัดการบ้านเมืองอยู่ตำบลใค  ก็ให้ตั้งมั่นอยู่ฟังข่าวคราว    เมื่อกองหนึ่งขอให้ไปช่วย  ฤๅเหนเปนการจำเปนสมควรที่จะไปช่วย  ก็ยกไปช่วยโดยทันที    ต่อเมื่อใด  ปราบปรามศัตรูสงบเรียบร้อยแล้วทั้งสองฝ่าย  ปฤกษาพร้อมกันเหนควรว่าจะถอยทัพลงมา    จึ่งให้ถอยมาพร้อมกัน  ไม่ต้องมีใบบอกลงมากรุงเทพฯ ก่อนก็ได้

          ข้อ ๑๔.  นายทัพนายกองที่ขึ้นไปครั้งนี้ให้คิดกำหนดเปนที่หนึ่ง  ที่สองที่จะบังคับการให้ตลอด    เมื่อมีอันตรายแก่ผู้ใดให้บังคับการแทนกันได้ให้ตลอด    อย่าให้เปนการยุ่งขึ้นในเวลาที่มีเหตุดังนั้นได้

          ข้อ ๑๕.  รายการสำหรับพื้นบ้านพื้นเมือง  คือถ้อยความและจะมีผู้มายื่นเรื่องรางประการใด  ไม่ต้องเปนธุระเกี่ยวข้องแก่นายทัพนายกองทั้งปวงให้มอบให้ข้าหลวงบีงคับบัญชา  เว้นไว้แต่การที่จะเกี่ยวเนื่องด้วยเปนกำลังกองทัพอย่างหนึ่งอย่างใด  จึ่งให้แม่ทัพนายกองเปนธุระด้วย

          ข้อ ๑๖.  กองทัพทั้งสองกองที่ไปนี้    ให้คิดจัดการเดินหนังสือบอกที่จะถึงกรุงเทพฯ  ได้โดยเรวโดยทางใดนั้นให้ตลอดทางขึ้นไป    ให้วางการไว้ให้เปนที่มั่นคงอย่าให้หนังสือบอกมาติดค้างอยู่แห่งหนึ่งแห่งใดได้    แล้วอย่าให้ละเลยการที่จะมีใบบอกลงมาถึงกรุงเทพฯ  ให้บอกลงมาทุกคราวเหตุการที่มีขึ้น  ฤๅถ้าไม่มีเหตุการอันใด    ก็ให้มีใบบอกลงมาอย่างช้าที่สุดเพีบง  ๑๕  วันครั้งหนึ่ง  อย่าให้ขาดได้

          ให้แม่ทัพนายกองซึ่งจะบังคับบัญชากองทัพใหญ่หฤๅนายทัพนายกองที่แยกเปนกองไปทิศหนึ่งทิศใด    พิจารณาตริตรองพระบรมราโชวาทนี้ให้เข้าใจชัดเจน  ตามความหมายแห่งกระแสพระราชดำริห์โดยเลอียด    แล้วให้ประพฤติการผ่อนผันหันหาให้ถูกต้องตามพระบรมราโชวาท    อย่าให้คลาดเคลื่อนไปได้ทุกประการ
                                                  
 

พระราชทานแต่วัน จันทร์  ขึ้น  ๓  ค่ำ  เดือน  ๑๒  ปีรกา  สัปตศก  ๑๒๔๗  ฯ

 

 

 

ยาตราทัพ  

          วันอังคาร  แรม  ๑๑  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับ  วันที่  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๒๘     ยาตรากองทัพออกจากกรงเทพฯ   ถึงเมืองพิชัยเมื่อ  วันจันทร์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๑๒  ปีระกา   จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับ  วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘     รวมเวลาเดินทาง  ๒๑  วัน

 

 

 

 

 

 

 ที่หน้าเมืองพิชัย และลำน้ำ (น่าน)  เรือกองทัพได้พักจอดจัดการซึ่งจะได้ยกกองทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง

 

สมโภชธงชัย               

 

          ต่อมา  ณ  วันอังคาร  แรม  ค่ำหนึ่ง   เดือนอ้าย   ตรงกับ  วันที่   ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๒๘   เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดพิธีสมโภชธงชัยยังทำเนียบ    นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์    รุ่งขึ้น  พระฉันแล้ว    ได้ประชุมพร้อมกันที่สนามฝึก    เชิญธงชัยปักไว้กลางปะรำ    แล้ว  แม่ทัพอ่านประกาศ  สรุปความว่า  .  .  .  

          .  .  .   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพ  และเป็นที่หมาย  ความไว้พระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์  สุจริต   และความกล้าหาญของนายทหารและพลทหารทั้งปวงที่ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในบัดนี้  และต่อไปภายหน้า    ให้นายทหารและทหารทั้งปวงจงรู้จักเกียรติยศและอำนาจของธงชัยอันวิเศษสำคัญเป็นที่เฉลิมกองทัพนี้ให้ถูกต้องตามพระบรมราชประสงค์    ซึ่งทรงพระราชดำริมุ่งหมายจะให้นายทหารและพลทหารทั้งหลายมีความเคารพนับถือธง  และตั้งใจรักษาธงชัยเป็นอันดี  โดยกวดขันอย่างยิ่งที่สุด  .  .  .  ฯลฯ  .  .  .  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุเส้นพระเกษาลงไว้ในยอดธงชัยนี้ต่างพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    ประหนึ่งได้ทรงสถิตย์อยู่  ณ  ยอดธงชัยนี้เป็นนิตย์    ให้นายทหารและพลทหารทั้งปวงเข้าใจทั่วกันว่า  ธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้  เป็นที่เฉลิมกองทัพต้องเป็นที่นับถือ  เป็นประธานของผู้เป็นทหาร    ทหารทั้งหลายต้องบูชาเคารพธงเป็นที่ยิ่ง    เหมือนอย่างบูชาและเคารพนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  .  .  .  ฯลฯ  .  .  .  ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้  .  .  .  ก็ได้ทรงตั้งพระสัตยาทิษฐานเสี่ยงเอาพระกฤษฎาธิการพระบารมีเป็นที่ตั้ง  และทรงประสิทธิประสาทพระพรชัยมงคลอันประเสริฐแก่ธงชัยนี้   ให้ธงชัยมีอำนาจและเกียรติยศ  .  .  .  ให้หมู่ปรปักษ์ศัตรูครั่นคร้ามเกรงขามพ่ายแพ้แก่อำนาจพระบารมีซึ่งได้ทรงประสิทธิประสาทพระพรชัยมงคลอันมาในธงชัยนี้  ให้มีความสวัสดิ์แคล้วคลาดศัตราวุธทั่วทั้งกองทัพ  .  .  .

  ธงชัยเฉลิมพล   ธงชัยอันวิเศษสำคัญ   (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธงจุฑาธุชธิปไตย) 

 

 

 


 ตั้งพักอยู่ที่เมืองพิชัย  แม่ทัพและนายทหาร  ๔๔  นายได้นำธงชัยเฉลิมพลมาตั้งที่หน้าทำเนียบ


          ระหว่างที่กองทัพตั้งอยู่  ณ  เมืองพิชัย    ท่านแม่ทัพได้พัฒนาแหย่งขึ้นใหม่มีเบาะรองหลังช้างให้ใช้บรรทุกของได้มากขึ้น  โดยช้างไม่บาดเจ็บ  และประดิษฐ์เบาะหลังช้างเพื่อใช้บรรทุกปืนใหญ่ ได้  ๑  กระบอก  ต่อ  ช้าง  ๑  เชือก  ซึ่งเดิมต้องใช้ช้างมากกว่า  ๑  เชือก     และเลื่อนบรรทุกของให้ช้างลากด้วย     เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ช้างให้สูงขึ้น

 

ออกจากเมืองพิชัย                              

          ครั้น  วันศุกร์  แรม  ๑๑  ค่ำ  เดือนอ้าย  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับ  วันที่    ๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๘     เวลา  ๓ โมงเช้า    เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ยกกองทหารกรุงเทพฯ และหัวเมืองก็ยกออกจากเมืองพิชัย    กรมการได้ทำประตูป่า   พระสงฆ์สวดชยันโต  และประพรมน้ำพระพุทธมนต์  ราษฎรตั้งเครื่องบูชา    แม่ทัพได้จัดกระบวนทัพ  เป็นกองหน้ากองหนุน  ปีกซ้าย - ขวา    และกองหลัง

 

 


 

 


 ช้างธงชัย  ช้างปืนใหญ่  และช้างเลื่อนบรรทุกของ  กำลังจัดการจะเดินกองทัพยกจากเมืองพิชัย

จัดเป็นกองหน้า  และกองหลังตามแบบคำสั่งแม่ทัพ    ที่เมืองพิชัย


 

 

 


 

ช้างบรรทุกปืนใหญ่  ซึ่งแม่ทัพคิดขึ้นใหม่จะได้เดินกระบวนเข้ากองทัพ   ไปทางเมืองน่าน  ถึงเมืองหลวงพระบาง

 

 

เส้นทางเดินทัพ

          เมืองพิชัย - บ้านนาคะนึง (พักแรม  ๑ คืน) - หนองต้นแขม - บ้านน้ำอ่าง  (ขึ้นกับเมืองตรอนตรีสินธุ์  -  ปัจจุบันคือ  อำเภอตรอน  จังหวัดอุตรดิตถ์)  (พักแรม  ๑ คืน) - บ้านหินกอง - บ้านลับแล  (ปัจจุบันคือ  อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์) - บ้านน้ำพี้ - เมืองฝาง  (เมืองที่เป็นที่ตั้งชุมนุมเจ้าพระฝาง หลังเสียกรุงศรีอยุธยา  ไม่ใช่อำเภอฝาง)  (พักแรม   ๒ คืน)  - บ้านผาเต่า - บ้านผาเลือก   (พักแรม  ๑ คืน) - บ้านทุ่งนาเริน - บ้านนาปา - บ้านคลองแม่จริม - บ้านท่าแฝก  (พักแรม  ๑ คืน) - บ้านศาลารี  (พักแรม  ๑ คืน) - ศาลาป่าสัก - ห้วยบ่าวนาย - นาเมืองหิน - เมืองศีรษะเกษ  (พักแรม  ๑ คืน) - เมืองเวียงสา  (ปัจจุบัน  อำเภอเวียงสา  จังหวัดน่าน) - ทุ่งนาแขม - ทุ่งแม่สาคร - ห้วยแก้ว - บ้านนาไผ่ - สบสมุน  พักแรม  เตรียมจัดขบวนทัพเข้านครน่าน

          วันพฤหัสบดี  แรม  ๒  ค่ำ  เดือนยี่  ปีระกา  จ.ศ.๑๒๔๗  ตรงกับวันที่  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๘    เจ้าอนันตวรฤทธิเดช  เจ้านครน่าน  แต่งแสนท้าวพระยาลาวคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทองออกมารับ  ๓  เชือก   เชิญกองทัพเข้านครน่าน

          ระหว่างที่กองทัพพักอยู่ที่นครน่าน    เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้แสดงให้เจ้านครน่าน และ เจ้านายบุตรหลานเห็นแสนยานุภาพของกองทัพฝ่ายเหนือ  ว่ากองทัพเป็นอย่างใหม่ให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของกองทัพ  จนเจ้านครน่านพูดกับท่านแม่ทัพว่า  "จะจัดเจ้านายที่เป็นบุตรหลานคุมกำลังมอบให้ไปช่วยแม่ทัพด้วย"

          และได้จัดการปลูกฝีดาษให้ราษฎรในเมืองน่าน  ซึ่ง เจ้านครน่านยินดีเป็นอันมาก และเลือกคนมาฝึกหัดปลูกฝีไว้ด้วย

          วันจันทร์ แรม  ๑๓  ค่ำ  เดือนยี่  ปีระกา  สัปตศก  จ.ศ.๑๒๔๗   ตรงกับวันที่  ๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๘    กองทัพออกจากเมืองน่าน   ถึงบ้านน้ำแด่น  (พักแรม  ๑ คืน) - ข้ามห้วยนาเหลือง - โป่งช้าง  (ขึ้นกับเมืองบ่อหว้า) - ฯลฯ

 

 

 

 

 

กองทัพยกจากเมืองน่านไปเมืองหลวงพระบาง


 

          วันเสาร์  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  เดือนสาม   ตรงกับ  วันที่  ๑๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๘  ถึงเมืองไชยบุรีศรีน้ำฮุง  เขตเมืองหลวงพระบาง    เจ้าราชภาคินัย  (บุญคง)  เมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ  พักแรม  ๑ คืน  วันรุ่งขึ้นจึงเข้าเมืองหลวงพระบาง

 

          ระหว่างกองทัพตั้งที่เมืองหลวงพระบางนี้แม่ทัพได้รับพระราชหัตถเลขา  ร,ที่,๙๙/๔๗  วันอาทิตย์  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือนอ้าย  ปีระกา  ตรงกับ  วันที่  ๑๓  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๒๘

ฯลฯ

          ราชการในกรุงเทพฯ นี้ก็สงบเรียบร้อยดีอยู่    มีแต่ฑูตฝรั่งเศสมีหนังสือมาเร่งรัดจะตั้งกงซุลฝรั่งเศสที่เมืองหลวงพระบางให้จงได้    ฝ่ายเราตอบว่า  ยังไม่เห็นว่าคนฝรั่งเศสมีประโยชน์อันใดในเมืองหลวงพระบางที่กงซุลจะต้องไปรักษา  เรายังไม่ยอมให้เอกสกวาเตอ    ก็มีหนังสือตอบมาอีกว่า  ท่านเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศให้ขอตั้งให้ได้    ฝ่ายเราก็ยังไม่ยอม  ว่า  ถ้าฝรั่งเศสจะชี้ให้เห็นได้ว่า  ผลประโยชน์อันใดของฝรั่งเศสมีในเมืองหลวงพระบางจึงจะยอม    แต่เพื่อจะให้เป็นพยานในทางไมตรี  จึงได้มีคำสั่งให้ข้าหลวงสำหรับเมืองหลวงพระบางสืบสวนแล้วมีรีโปตลงมา  ว่าการค้าขายที่เมืองหลวงพระบางของคนในบังคับฝรั่งเศสมีอันใดบ้าง  .  .  .  เจ้าหมื่นไวยอยู่ในเมืองหลวงพระบางให้ช่วยเป็นที่ปฤกษาพระยาพิชัยในการที่จะมีใบบอกลงมาให้เป็นประโยชน์แก่ราชการด้วย

ฯลฯ

 

           เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้กำหนดการว่า  จะยกกองทัพขึ้นไปจัดราชการอยู่ยังเมืองซ่อน ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก  ในเดือนสี่  ปีระกา    เพื่อให้ทันราชการก่อนฤดูฝน    และ เมื่อแม่ทัพได้พิจารณาข่าวสารที่ได้รับจากเมืองหลวงพระบางแล้วเห็นว่า  .  .  .  คลาดเคลื่อนหาตรงกับความจริงไม่   เพราะเป็นแต่ไปเที่ยวฟังข่าวคราวดู  เมื่อได้ตรวจสอบเทียบเคียงแล้วน่าจะไม่เป็นการมั่นคงแน่นอน   จึงมีความเห็นว่า  เมื่อกองทัพได้ตั้งมั่นในเมืองซ่อนแล้วจะได้แต่งให้นายทัพนายกองแบ่งไพร่พลและทหารกรุงเทพฯแยกกันไปสืบราชการเป็นกองๆ  ให้ทุกแห่งทุกตำบล  เพื่อให้ได้ข้อความและหลักฐานแน่นอนมั่นคงได้   (คือต้องจัดการหาข่าวสารเอง)   และได้หารือร่วมกับพระยาศรีสหเทพข้าหลวงผู้จัดส่งเสบียงกองทัพ และพระยาสุโขทัยผู้แทนข้าหลวงกำกับเมืองหลวงพระบาง  เพื่อกำหนดหน้าที่ของส่วนต่างๆ    แผนปฏิบัติการของกองทัพ  และแผนการส่งเสบียงจากกรุงเทพฯ และเมืองหลวงพระบางไปยังเมืองงอย  เมืองซ่อน  

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองสำคัญ  โดยสังเขป

 

แผนปฏิบัติการของกองทัพ  โดยย่อ ดังนี้

          ๑. ในปีนี้  พ.ศ.๒๔๒๘   กองทัพจะตั้งอยู่ที่  เมืองงอย และ เมืองซ่อน  เป็นฐานทัพ  จัดการลาดตระเวนด้วยกำลังเพื่อหาข่าว

               ๑.๑  หากตรวจพบพวกฮ่อมีกำลังน้อย    ให้เข้าต่อสู้ปราบปรามให้สำเร็จ

               ๑.๒ หากตรวจพบพวกฮ่อมีกำลังแข็งแรงกว่า    ให้กลับมาที่ตั้งกองทัพที่เมืองซ่อน  เพื่อพิจารณาวางตำบลส่งกำลังเสบียงอาหาร  หรือเพิ่มเติมกำลังรบเพื่อดำเนินการต่อไป

          ๒. ฤดูแล้งปีหน้า  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพรุกเข้าหาพวกฮ่อเพื่อปราบปราม     ส่วนการหาข่าวยังคงดำเนินการต่อไป  ด้วยเจ้านายและเสนาบดีเมืองหลวงพระบาง  กับจัดกำลังทหารไปด้วยแต่พอสมควร

         ๓. เกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองที่แตกสานซ่านเซ็นให้กลับเข้ามารวบรวมเป็นปรกติตามภูมิลำเนาเดิม

          ในระหว่างฤดูฝนนี้   ซึ่งกองทัพตั้งที่เมืองซ่อน  จัดการให้เมืองงอย  และเมืองซ่อนทำนาเพื่อเป็นเสบียงในปีต่อไปด้วย   และกำหนดยกไปเมืองซ่อนในวันอังคาร  ขึ้น  ๕  ค่ำ  เดือน  ๔  ตรงกับ วันที่  ๙  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๘

          ๔. ในเดือน  ๑๐  ปีจอ  (พ.ศ.๒๔๒๙)  จะยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองแถงตลอดขึ้นไปถึงเมืองสิบสองจุไทย  โดยทางเรือพร้อมทั้งกองทัพ  ซึ่งเจ้านายเมืองหลวงพระบางจะเตรียมการเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว

          ๕. เมื่อได้จัดการในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกเรียบร้อยแล้วจะหารือร่วมกับพระยาสุโขทัย  ข้าหลวง และเจ้าราชวงศ์เจ้าราชภาคิไนยเมืองหลวงพระบาง เรื่องการตั้งด่านทางและจัดการไพร่พลรักษาการต่อไป

 

กองทัพออกจากเมืองหลวงพระบาง

          วันอังคาร  เดือน  ๔  ขึ้น  ๕  ค่ำ  ปีระกา    ตรงกับวันที่  ๙  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๘    กองทัพออกจากเมืองหลวงพระบาง    ข้ามแม่น้ำคาน - บ้านนาหลวงปากบาก  ใกล้ฝั่งแม่น้ำอู - แท่นแบ๊ - เมืองงอย

          ระหว่างทางไปเมืองงอยกองทัพได้พบท้าวพลพ่อตาของกวานกอยี่ นายฮ่อใหญ่    ทำให้ได้ข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศ และการวางกำลังของพวกฮ่อชัดเจนขึ้น  ดังนี้

          ค่ายฮ่อตั้งอยู่ที่สบแอดเชียงค้อ  ๗  ค่าย  มีน้ำล้อมรอบ  (มีน้ำแยกเป็นสองทาง  คือน้ำสบ และน้ำแอด)    มีข้าวสารประมาณ  ๕๐  เกวียน  และมีที่ทำกระสุนดินดำและกระสุนปืนด้วย    ขณะนี้หวกฮ่อแบ่งกำลังไปตีเมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูนในเขตเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกหลายร้อยคน   เหลืออยู่รักษาต่าย  ประมาณ  ๒๐๐  คน  พร้อมครอบครัวอีกเป็นจำนวนมาก    และพวกฮ่อยังไม่ทราบข่าวว่า  มีกองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมา

          เมื่อได้ข่าวสารในสนามชัดเจน    แม่ทัพจึงวางแผนดังนี้

          ๑. ให้หลวงดัษกรปลาศนำกำลัง  ๑  กองร้อย  ปลดเครื่องหลัง   รับกระสุนคนละ  ๒๐๐  นัด  พร้อมเสบียง พอถึงเมืองซ่อน  และรับเสบียงเพิ่มเติมที่เมืองซ่อนให้พอถึงสบแอดเชียงค้อ  

          ๒. เจ้าราชภาคิไนยนำกำลังเมืองหลวงพระบาง  สมทบหลวงดัษกรปลาศ  ตามไปในวันรุ่งขึ้น

          ๓. นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจนำกำลัง  ๑  กองร้อย  ยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้  ไป ตีพวกฮ่อที่ เมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูน

          ๔. เจ้าราชวงศ์ เมืองหลวงพระบางนำกำลังเมืองหลวงพระบาง  สมทบหลวงจำนงยุทธกิจ  แต่ให้พักพลที่บ้านสบซางเพื่อรับช่วงส่งเสบียงไปเมืองซ่อนก่อน   แล้วจึงยกตามกองร้อยหลวงจำนงยุทธกิจ ต่อไป

          ๕. พระยาสุโขทัยกับพระพหลฯ  (กิ่ม)  ตั้งรักษาเสบียงที่เมืองงอยกองหนึ่ง  และจัดส่งเสบียงไปที่ท่าสบซาง  (ให้ เจ้าราชวงศ์ ตามข้อ ๔.)    เมื่อส่งเสบียงเสร็จแล้วให้คุมกองทหารหัวเมืองตามไปอีกกองหนึ่ง

          ๖. แม่ทัพ และนายจ่ายวด  นำกองทหารกรุงเทพฯ ที่เหลือยกไปจัดราชการ  และเป็นกองหนุนที่เมืองซ่อน    นำ ปืนใหญ่อาร์มสตรอง      (ปืนภูเขา  ขนาด  ๓  นิ้ว)    ๒  กระบอก  ไปด้วย   ส่วนปืนใหญ่ที่เหลือไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย  เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่คับขันมีแต่เขาสูงชันและห้วย  ช้างบรรทุกปืนใหญ่  และโคต่างบรรทุกของก็ไปไม่ได้  ต้องใช้พวกข่าแจะเป้เสบียงจึงจะไปได้     จึงให้เก็บปืนใหญ่ส่วนที่เหลือไว้ที่เมืองงอย

          ระหว่างกองทัพตั้งที่เมืองงอยได้ทดลองยิงปืนใหญ่  ให้ทราบกำลังของดินปืน  และฝึกซ้อมทหารปืนใหญ่ว้งหน้าที่มาด้วยให้ฝึกหัดยิงจนชำนาญ  และได้ประดิษฐ์ "ลูกแตก"  (คือ ลูกระเบิด)  ขึ้นใช้  มีวิธีวาง  และวิธีจุดระเบิดหลายรูปแบบ  (ปัจจุบันเรียก  ทุ่นระเบิด  กับระเบิด)

 

          วันอังคาร  แรม  ๑๑  ค่ำ  เดือน  ๔  ปีระกา  ตรงกับวันที่  ๓๐  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๘    กองทัพใหญ่ยกออกจากเมืองงอย   ถึงบ้านนาต้องหยุดพักแรม  เพราะฝนตกหนัก  วันรุ่งขึ้น    ออกจากบ้านนา - ภูกุด - เขากิ่วเหี้ย - ป่าเมี่ยง  (พักแรม  ๑  คืน) - เขาภูฟ้า - ห้วยน้ำมี  (พักแรม  ๑  คืน) - กาสุม (พักแรม  ๑  คืน) - ข้ามลำน้ำทราง - บ้านสบทราง  เป็นที่พักเสบียงด้วย  (พักแรม  ๑  คืน) - เดินเลียบห้วยแซง - กิ่วมะม่วง - ห้วยหวาย  (พักแรม  ๑  คืน)

           วันอังคาร  ขึ้น  ๓  ค่ำ  เดือน  ๕  ปีจอ  ตรงกับวันที่  ๖  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙  (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่  เปลี่ยนศักราช  และปีนักษัตรในวันที่  ๑ เมษายน)    กองทัพได้รับพระราชหัตถเลขา  ร,ที่  ๑๑๒๕/๔๗  ว,ว, ที่ ๖  ลงวันพฤหัสบดี  แรม  ๒  ค่ำ  เดือนยี่  (ตรงกับวันที่  ๓๐  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๘)  สรุปความว่า

ฯลฯ

          .  .  .  เรามีความเศร้าสลดใจในการที่พระยาพิไชยตายครั้งนี้ยิ่งนัก   .  .  .  ในขณะนี้เห็นอยู่แต่พระยาศุโขทัย  .  .  .  เห็นว่าจะต้องตั้งให้เป็นข้าหลวงกำกับเมืองหลวงพระบางไปพลางก่อน

          .  .  .  เรื่องที่ฝ่ายฝรั่งเศสจะขอตั้งกงซุลเมืองหลวงพระบาง  .  .  .  การซึ่งโต้ตอบกันระหว่างราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ  นี้  ก็ยังเป็นที่ยุติกันอยู่    เพียงว่าถ้าฝ่ายฝรั่งเศสจะยอมทำหนังสือสัญญาให้เหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่  ฝ่ายเราก็จะยอมให้ตั้งกงซุล    ด้วยเห็นว่า  ข้อซึ่งจะขัดขวางไม่ให้เขาตั้งนั้น  ไม่ได้แล้ว    ถ้าได้ทำหนังสือสัญญาเหมือนเมืองเชียงใหม่ได้  ก็เหมือนให้ฝรั่งเศสออกปากรับในหนังสือสัญญาว่าเมืองหลวงพระบางเป็นของเราฝ่ายเดียว  ไม่เกี่ยวข้องกับญวน  เหมือนอย่างเมืองพระตะบอง  เมืองเสียมราฐและกงซุลก็ไม่มีอำนาจอะไรมาก  เพราะไม่มีศาลชำระความได้เลย  .  .  .  บัดนี้  ฑูตฝรั่งเศสได้มีโทรเลขขออำนาจออกไปยังคอเวอนเมนต์  .  .  .

ฯลฯ

 

          ออกจากที่พักแรมห้วยหวาย  ไปพักแรมสบสอ  คืนหนี่ง    ออกจากสบสอ  เดินขึ้นเขาสูง  เดินข้ามไปถึงหาดท้าว  (พักแรม  ๑  คืน) - ออกจากที่พักแรมหาดท้าว  ขึ้นเขาสูงฝนตกหนักทางเดินยากเป็นที่สุด    คน และม้าช้างโคต่างล้มลุกไปตามกัน   

           วันเสาร์  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือน  ๕  ปีจอ  ตรงกับวันที่  ๑๐  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพได้ยกมาถึงเมืองซ่อน

          การเดินทางตั้งแต่เมืองงอยถึงเมืองซ่อน    ทหารป่วยเป็นไข้มาตามทางกว่าค่อน  ครั้นถึงแล้ว  ก็ต้องรักษาโดยกวดขัน  .  .  .  ครับ  โรคที่เกิดขึนในกองทัพครั้งนั้น  ก็ได้แก่ไข้มาเลเรีย  และโรคระบบทางเดินอาหาร    ท่านว่าทหารที่เมืองงอยก็ป่วยมาก  ถึง  ๓  ใน  ๔  ส่วน  ทั้งกองทัพหมอก็ป่วยหมด  ไม่เว้นตัว    มีนายทหารเสียชีวิต  ๒  นาย  พลทหารหลายนาย    กองร้อยหลวงดัสกรที่ยกไปเมืองสบแอดก็รายงานว่าทหารป่วยมาก    ยาที่จัดมาจากเมืองพิชัยก็หมดลง

 

ค่ายฮ่อบ้านใด  .  .  .  ประเดิมชัย

           กองร้อยของนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ   และกำลังเมืองหลวงพระบางของเจ้าราชภาคิไนย  ซึ่งยกขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ    ตรงไปยังค่ายฮ่อบ้านใด  บ้านนาปา  แขวงเมืองสบแอด

          วันจันทร์  ขึ้น  ๙  ค่ำ  เดือน  ๕  ปีจอ    ตรงกับวันที่  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพได้เข้าโจมตีค่ายฮ่อที่ตำบลบ้านใด  แขวงเมืองสบแอดพร้อมกัน    พวกฮ่อมีปืนใหญ่  กระสุนโตเท่าผลส้มเกลี้ยง  นำออกมาตั้งยิงหน้าค่าย  แต่ใส่ดินระเบิดมากเกินไป  จนลำกล้องปืนระเบิดแตกทำลายลง    พวกฮ่อก็เสียขวัญกลับเข้าค่าย  กองทัพไทยจึงตามตีไล่รุกบุกบันกระชั้นชิดชักปีกกาโอบค่ายพวกฮ่อ  ดังนี้

          ๑. นายร้อยโท  ดวง  ชูโต    คุมทหารตอนหนึ่งเข้าตี พังประตูด้านใต้
 
          ๒. นายร้อยโท  เอื้อน  ชูโต    คุมทหารตอนหนึ่งเข้าตี พังประตูด้านตะวันตก

          ๓. นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  และ นายร้อยโท  เจ๊ก  คุมกองหนุน

          ๔. พระพิพิธณรงค์กรมการเมืองลับแล  กับพระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย  คุมไพร่พลหัวเมืองเข้าตีด้านใต้  ตีหักพังประตูเข้าไปในค่ายฮ่อได้    พวกฮ่อแตกกระจัดกระจายออกทางหลังค่าย  (ด้านทิศตะวันออก)   

          กองทัพก็เข้าค่ายได้    พวกฮ่อต้องรีบทิ้งค่ายหนีไป    กองทัพจึงไล่ติดตามรบ  และยิงปืนไป  การยึดค่ายฮ่อคราวนี้  จับได้ภรรยาหัวหน้าฮ่อ  และครอบครัว  ๓๓  คน    ทั้งยังยึดได้อาวุธต่างๆ  เช่น  ปืนคามศิลา  ดาบและมีดต่างๆ  ดินดำ   ตะกั่ว  (ใช้ในการทำลูกกระสุนปืน)   เสบียงอาหาร  จำนวนหนึ่ง   กองทัพจึงได้ควบคุมครอบครัวพวกฮ่อ    ยกเข้าตั้งในค่ายบ้านใด

          วันรุ่งขึ้น    นายบ้านและพลเมืองในเมืองสบแอดที่ยอมพวกฮ่อ  ประมาณ  ๔๐๐  คน  ได้นำครอบครัวออกมาหากองทัพ    และให้ข่าวสารว่า   คืนนี้ผู้ไทยทู้ที่อยู่ในค่ายบ้านนาปา  หนีจากพวกฮ่อไปหมดแล้ว    เหลือพวกฮ่อประมาณ  ๕๐  คนก็เห็นว่าจะต่อสู้รักษาค่ายไม่ไหวแน่    ก็ทิ้งค่ายหนีเข้าป่าไปแล้ว  แต่เสบียงยังคงอยู่เต็มฉาง      นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  จึงมำทหารไปค่ายบ้านนาปา  ระยะทางจากค่าบ้านใด  ประมาณ  ๒๐๐  เส้น  (ประมาณ  ๘  กิโลเมตร)   ขนข้าวจากฉางของพวกฮ่อที่บ้านนาปาทั้งในค่าย  และที่ซ่อนไว้ในป่านำไปที่ค่ายบ้านใด    ได้ข้าวสารข้าวเปลือกรวม  ประมาณ  ๖  พันถัง

          แม่ทัพจึงออกประกาศให้พลเมืองร่วมมือในการปราบฮ่อ  แล้วกำหนดยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปจัดราชการ  ณ  เมืองสบแอดในเดือน  ๖  นี้

          ระหว่างนี้    นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ  นำกำลัง  ๑  กองร้อย  ยกไป ตีพวกฮ่อทาง เมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูน  และเจ้าราชวงศ์  ซึ่งปฏิบัติภารกิจส่งเสบียงไปเมืองซ่อนเสร็จแล้ว  ได้ยกตามกองร้อยของนายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจขึ้นไป   

          แม่ทัพจึงวางแผนว่า   หากนายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจทำการไม่สำเร็จ    จะใช้กองทัพจากเมืองสบแอดไปเมืองพูนช่วยตีกระหนาบพวกฮ่อที่เมืองพูน  ให้เสร็จในปีจอนี้  ให้จงได้    

          แต่ถ้านายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจทำการได้สำเร็จบรรลุภารกิจ    กองทัพก็จะได้ใช้ช่วงฤดูฝนนี้  จัดราชการตั้งด่านทาง แชะรวบรวมไพร่บ้านพลเมืองตั้งเป็นภูมิลำเนาดังเดิม    และยกไปเมืองพูนในฤดูแล้ง  เพื่อจัดราชการบ้านเมืองในทุกๆ  ตำบลต่อไป

          ทางด้าน    กองร้อยนายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ  ซึ่งยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้  ไปตีพวกฮ่อที่ เมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูน  นั้น  ไปถึงเมืองจาด ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองโสยในวันเสาร์  ขึ้น  ๖  ค่ำ  เดือน  ๖  ตรงกับ  วันที่  ๘  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    มีพวกฮ่อ และม้อย  (แม้ว -?)  ประมาณ  ๔๐   อยู่ในค่าย    นายร้อยตรี  เพ็ชร์  กับท้าวอ่อน  หัวหน้าลื้อ  กรมการเมืองไซร์ซึ่งเป็นกองหน้า  เข้าตีได้ค่ายฮ่อ    พวกฮ่อหนีไปช่องผาแคบ    กองหน้าตั้งพักที่เมืองจาดคืนหนึ่ง    พอวันรุ่งขึ้น    นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ และกองทัพเจ้าราชวงศ์  มาถึง    จึงได้ยกติดตามพวกฮ่อไปพร้อมกัน    พวกฮ่อและม้อยแตกหนีไปบ้านหอ  แขวงเมืองโสย   และเตรียมการตั้งรับ   เมื่อกองทัพมาถึงบ้านหอ  จึงได้สู้รบกัน    พวกฮ่อต้องหนีเข้าไปในเมืองโสย    กองทหารไทยก็กลับไปตั้งที่เมืองจาด   

          แม่ทัพจึงปรึกษากับคณะนายทหารและพระยาสุโขทัยว่า  เป็นเวลาถึงฤดูฝนแล้ว  ฝ่ายเราได้ตั้งสกัดทางไว้ถึง  ๓  ตำบลแล้ว   จึงควรพักไพร่พลไว้ก่อน  เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจึงจัดราชการ  และตั้งด่านทางต่อไป    และถ้าพวกฮ่อเที่ยวแยกย้ายกันอยู่ตามตำบลต่างๆ   ก็จะได้แต่งกองทหารให้ปราบปรามได้ถนัด    และให้นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจและเจ้าราชวงศ์  กลับมาตั้งมั่นบำรุงรี้พลอยู่  ณ  เมืองแวน   โดยไม่ทำลายค่ายพวกฮ่อที่เมืองจาด

 

"ลูกแตก"  -  "หมากโม้"

          เมื่อนายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ   และเจ้าราชวงศ์  กลับมาตั้งอยู่  ณ  เมืองแวน ได้  ๗  วัน  ก็ได้รับรายงานว่า    พวกฮ่อกลับเข้าไปในค่ายเมืองจาด   มีเหตุให้ตาย  ๗  คน  บาดเจ็บหลายคน    และให้ครั่นคร้ามกองทัพและ "ลูกแตก" เป็นอันมาก  ถึงกับอพยพกันเป็นกลุ่มๆ  กลุ่มละ  ๓๐ - ๔๐  คนออกจากเมืองจาด ว่าจะไปอยู่ท่าขวา  แขวงเมืองสิบสองจุไทย   ริมฝั่งแม่ร้ำแท้  หรือแม่น้ำดำ    ยังคงเหลือพวกฮ่อที่เมืองพูน  และเมืองโสย  อีกแห่งละประมาณ  ๓๐  คน    แต่ก็ได้ออกปล้นสดมภ์ชาวบ้านอยู่เนืองๆ

           เหตุที่ทำให้พวกฮ่อตาย และบาดเจ็บหลายคนนั้น  เนื่องจาก   กองทัพกลับมาตั้งอยู่  ณ  เมืองแวน   โดยไม่ทำลายค่ายพวกฮ่อที่เมืองจาด   นั่นเอง  แต่นำกระสุนปืนใหญ่มาฝังไว้เป็นกับระเบิด    เมื่อพวกฮ่อเข้ามาสะดุดสายชนวนเข้า  ก็  .  .  .  เรียบโร้ย     และมีพวกฮ่อเก็บกระสุน  (ปืนใหญ่) ไปจากเมืองจาด  (ฮ่อเรียก  กระสุนว่า  "หมากโม้")  พยายามใช้ขวานมาทุบก็ไม่แตก    จึงเอาเชือกร้อยห่วงแก๊ปแล้วลองดึง  (คงคิดว่าจะเป็นวิธีที่เปิดดูภายในลูกกระสุนได้)    ก็เลย  .  .  .  เรียบโร้ย

 

           ทางด้าน  นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  นายร้อยโท  ดวง  ชูโต  และ  นายร้อยโท  เจ๊ก  ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านใด

          เมื่อวันอังคาร  ขึ้น  ๙  ค่ำ  เดือน  ๖  ตรงกับวันที่  ๑๑  พฤษภาคม  นายร้อยโท  ดวง  ชูโต  ได้ข่าวว่าพวกฮ่อ ประมาณ  ๗๐  คน  ไปรวมกันที่บ้านห้วยสาร  แขวงเมืองสบแอด  และวันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปเมืองฮุง  แขวงสิบสองจุไทย   ทางเดินต้องผ่านห้วยแหลก    จึงพร้อมด้วย  นายร้อยตรี  หลอย  พระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย   และทหาร  ๒๔  นาย  จะไปคอยสกัดตี  (ซุ่มโจมตี)  พวกฮ่อที่ห้วยแหลก   พอถึงกลางห้วย  พบพวกฮ่อซึ่งเดินสวนทางมาจึงได้ปะทะกัน 

          ผลการปะทะ  พวกฮ่อ  ตาย  ๘  คนที่เหลือบาดเจ็บ  และแตกหนีไป    ฝ่ายเรา  พลทหารอ่อน  บาดเจ็บ  ๑  นาย    

          พอดีเป็นเวลาใกล้ค่ำ     กองทหารจึงกลับมาตั้งที่เมืองสบแอด  พลเมืองก็สงบเรียบร้อยเป็นปรกติ

          เมื่อแม่ทัพ  ณ  เมืองซ่อนได้รับรายงานต่างๆ แล้ว  จึงสั่งการให้เจ้าราชวงศ์ส่งกำลังไปปราบปรามขับไล่พวกฮ่อ  และ ทำลายค่ายของพวกฮ่อที่เมืองพูน  และเมืองโสย  อย่าให้พวกฮ่อตั้งอยู่ได้  ซึ่งเจ้าราชวงศ์ให้นายร้อยโท  แขก  และท้าวอ่อนกรมการเมืองไซร์  นำทหารกรุงเทพฯ และทหารหัวเมือง  ๑๓๐  นาย  ไปกวาดล้างพวกฮ่อตามคำสั่ง

 

ไข้ป่า  -  ภัยที่คาดไม่ถึง

          ขณะนี้  กองทัพไทยได้แยกย้ายตั้งอยู่  ณ  เมืองต่างๆ  คือ  เมืองซ่อน  กองหนึ่ง    เมืองแวน  กองหนึ่ง     เมืองสบแอด  กองหนึ่ง    เมืองงอย  กองหนึ่ง     กับทหารเจ็บป่วยที่เมืองหลวงพระบางส่วนหนึ่ง    ครั้นถึง  ฤดูฝน  ฝนตกชุกมาก  ทำให้ทหารเจ็บป่วยเป็นไข้ป่ากันมาก     ทำให้ท่านแม่ทัพวิตกเป็นอันมาก    แต่ยาควินิน  และยาต่างๆ ยังค้างอยู่ที่เมืองพิชัย  ยังไม่ได้ส่งขึ้นมา  เป็นจำนวนมาก      กองทัพได้นำยาควินินไปเพียง  ๓๕๐  ขวด  (ไม่ทราบขนาด)   แต่อัตราการใช้สูงเกินคาดจึงสิ้นเปลืองเร็ว

          กองทัพเดินทางถึงเมืองพิชัยใน  วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘  และเคลื่อนออกเมื่อ  วันที่    ๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๘   (ขึ้นปีใหม่ ศักราชใหม่  ๑  เมษายน)  นับถึงบัดนี้  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๒๙   เป็นเวลา  ๔ - ๕  เดือน  และได้มีหนังสือเร่งไปถึง  ๔  ฉบับ   ก็ไม่เกิดผล    แม่ทัพจึงแจ้งไปยังกรุงเทพฯ

          การที่ทหารในกองทัพเป็นไข้ป่ากันมากนี้    ทำให้แม่ทัพเป็นกังวล และทุกข์ใจมาก    ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว  ดังนี้

ฯลฯ

          .  .  .  ขึ้นไปถึงที่ใดอ้ายฮ่อก็แตกไปทั้งสิ้น    ครั้นฝนตกชุกลงมาไพร่พลทหารเจ็บป่วยลงมากแทบจะไม่มีคนดี  ที่ตายไปก็มาก    ราชการที่จะปราบอ้ายฮ่อก็ต้องพักไว้ทั้งสิ้น    ต้องสงบรักษาไพร่พลอยู่จนแล้ง    กองทัพที่ต้องมาหยุดคอยให้แล้งครั้งนี้  เป็นความลำบากยิ่งใหญ่เกือบจะรักษาตัวให้รอดจากความตายไม่ได้

ฯลฯ

          ทั้งในวันนี้    นายเผื่อน  เลบเตอร์แนนต์ถึงแก่กรรมลง    ตัวเรามีความเสียดายและเวทนามาก   ด้วยเป็นคนดี  มีจิตต์หนักแน่น  ซื่อสัตย์  กตัญญูด้วย    ยังแต่ตัวเราละ  จะตายเมื่อไรก็ยังไม่ทราบ    ทั้งตัวเราก็ไม่ใคร่มีความสบายเลย  ให้มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวอยู่เสมอ   เว้นแต่ยังไม่นอนเท่านั้น

                               เขียนเมื่อ  วันเสาร์เดือน  ๗  ขึ้น  ๔  ค่ำ   จุลศักราช  ๑๒๔๘

 

          ในเวลานั้นฝนก็ยิ่งตกชุกมากขึ้น    ไข้ป่าก็เกิดขึ้นในกองทัพอย่างร้ายแรงทุกที่ตั้ง    กำลังพลล้มตายจากไข้ป่าเป็นอันมากทุกๆ ค่าย    ยาควินินก็เหลือเพียงขวดเดียว    คนในเมืองซ่อนต้องเสียชีวิตวันละ  ๙ - ๑๐  คนทุกวัน

          ค่ายที่เมืองสบแอดก็รายงานว่ามีคนเป็นไข้ป่าจำนวนมาก  ที่เป็นจนลุกไม่ขึ้นก็มี  นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ ผู้บังคับกองก็ป่วยหนักด้วย

 

ฮ่อธงดำ - ทำมาหากินเป็นปรกติเช่นพลเมืองทั้งหลาย

          ฮ่อพวกหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าขวา  แขวงเมืองสิบสองจุไทย  ประมาณ  ๑,๐๐๐  คนเศษ  ทำมาหากินเป็นปรกติเช่นพลเมืองทั้งหลาย    และเมื่อรี้พลสกลไกรในกองทัพป่วยบอบช้ำเสียมากมายดังนี้    แม่ทัพวิตกว่า  หากพวกฮ่อได้ทราบข่าวจะรวบรวมกำลังกันเข้าตีค่ายที่สบแอดเชียงค้อ  หรือที่เมืองโสย  เมืองพูน  ก็ไม่สามารถช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที      และท่านได้มีหนังสือของหัวหน้าอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ให้มา    จึงได้ให้พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์  (กายตง)  เจ้าเมืองแถง  ให้นำหนังสือของหัวหน้าอั้งยี่ในกรุงเทพฯไปให้แก่องบา นายฮ่อธงดำใหญ่  และแจ้งว่ากองทัพจะปราบปรามแต่โจรผู้ร้ายที่เข้ามารบกวนพระราชอาณาเขตเท่านั้น  ขออย่าให้องบาเกรงกลัวเลย  และให้เข้ามาหากองทัพจะได้ชุบเลี้ยงต่อไป   

          พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์เดินทางไปพบองบาเมื่อ  วันอาทิตย์  เดือน  ๗  แรม  ๓  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๑๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๙

 

เมืองโสย  เมืองพูน

          นายร้อยโท  แขก  และท้าวอ่อนกรมการเมืองไซร์  ซึ่งนำทหารกรุงเทพฯ และทหารหัวเมือง  ๑๓๐  นาย  ไปกวาดล้างพวกฮ่อที่เมืองโสย  เมืองพูนตามคำสั่ง  นั้นในวันอาทิตย์  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๗   ตรงกับ  วันที่   ๒๐  มิถุนายน    ได้เข้าตีค่ายพวกฮ่อที่เมืองโสย  ซึ่งมีกำลังประมาณ  ๑๕๐    ได้รบกันอยู่  ๓  วัน    ผลปรากฏว่า    พวกฮ่อ          ตาย  ๑๕    บาดเจ็บ  ไม่ทราบจำนวน  ที่เหลือแตกหนีไปเมืองพูน  (ห่างจากเมืองโสยเป็นทางเดิน  ๒  วัน)     ฝ่ายเรา  ปลอดภัยทั้งหมด   

          นายร้อยโท  แขก  และท้าวอ่อนจึงนำกองทหารเข้าพักในเมืองโสยสองวัน

          ครั้น  วันที่  ๒๒  มิถุนายน    จึงออกเดินทางไปเมืองพูน    พวกฮ่อได้ทราบข่าว  จึงเผาเสบียงแล้วหนีออกทางหลังค่าย  และเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขตไป   

          นายร้อยโท  แขก  และท้าวอ่อนจึงนำกองทหารเข้าพักรักษาค่ายคอยฟังราชการในเมืองพูน

          เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดท้าวขุนเมืองซำใต้รวมนายไพร่  จำนวน  ๑๕๐  คน  ไปรักษาเมืองโสย   เพราะไพร่พลเมืองโสยแตกฉานเข้าไปอยู่เมืองซ่อนบ้าง  เมืองแวนบ้างพวกหัวหน้าที่เข้าด้วยพวกฮ่อ  ที่เป็นหัวหน้า  มี  ๔  คน  คือ  ท้าวบา  ท้าวเมือง  ท้าวโดย  และเพี้ยบัวเงิน  และพรรคพวก  ราว  ๔๐๐  คนก็ได้เข้าหากองทัพโดยดี    นายร้อยโท  แขก  ได้นำตัวหัวหน้าทั้งสี่ลงมาเมืองแวน    แม่ทัพพิจารณาว่า  หากให้อยู่ภูมิลำเนาเดิมอาจจะก่อความไม่สงบขึ้นอีก  สมควรให้ไปอยู่ในหัวเมืองชั้นใน  แต่เนื่องด้วยยังเป็นฤดูฝน  จึงให้เจ้าราชวงศ์รับไว้  ณ  เมืองแวนก่อน  แต่ครอบครัวคงให้อยู่ในถิ่นฐานเดิมของตนต่อไป

          แม่ทัพแต่งให้พระยาเชียงเหนือกับขุนท้าวในหัวเมืองนั้นๆ  ตั้งรักษาราชการในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  คือ  เมืองหัวพัน   เมืองแวน   เมืองโสย   เมืองซำใต้   เมืองซำเหนือ  และเมืองพูน  ซึ่งพวกฮ่อได้แตกพ่ายไปหมดแล้ว    แต่ไพร่พลเมืองที่แตกฉานกันไปยังไม่สามารถรวบรวมให้เรียบร้อยได้    ส่วนทางเมืองสบแอดเชียงค้อ  ซึ่งเป็นเมืองใกล้ชิดติดกับเมืองสิบสองจุไทยยังไม่สงบราบคาบเรีบยร้อย  แต่เนื่องจากเป็นฤดูฝนจึงได้แต่  "จัดการไปให้พอสมควรที่จะทำไปได้  เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจะได้ยกกองทัพออกเดินต่อไป เมื่อจัดการให้ลงระเบียบได้แล้ว  ราชการก็จะเรียบร้อยได้"    จึงให้พระยาสุโขทัยข้าหลวงยกขึ้นไปเมืองแวนก่อน  เพื่อจัดรวบรวมเสบียงอาหารไว้  และเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองให้กลับคืนภูมิลำเนาตามเดิม    ส่วนกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนก่อน

 

ค่ายเมืองสบแอด

           เมื่อพระสวามิภักดิ์สยามเขตต์เดินทางไปพบองบานายฮ่อธงดำใหญ่นั้น    ทางกองร้อยของนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  นายร้อยโท  ดวง    และ  นายร้อยโท  เจ๊ก  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสบแอด   มีทหารป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นจำนวนมาก  รวมทั้งนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  ด้วย  

           แม่ทัพจึงสั่งการให้  ส่งทหารป่วย  (รวมทั้งนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ)  ไปที่ค่ายเมืองซ่อน   และมอบให้นายร้อยโท  ดวง   ทำการแทน  ต่อไป    และจัดนายร้อยเอก  หลวงหัตถสารศุภกิจ  (ภู่)  และนายร้อยโท  แจ  นำปืนใหญ่อาร์มสตรอง   ๑  กระบอก   กับรี้พลอีก  ๒๐๐  ไปเพิ่มเติมกำลังที่ค่ายบ้านใด  และให้รีบตามตีพวกฮ่อต่อไป  และให้กองของนายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ   และเจ้าราชวงศ์  ซึ่งตั้งที่เมืองแวนโอบไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกทางหนึ่ง    แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติ    พวกฮ่อก็ชิงปฏิบัติเสียก่อน    ดังนี้

          ฝ่ายพวกฮ่อซึ่งแตกจากบ้านใด  บ้านนาปา  แขวงเมืองสบแอด  ได้ทราบข่าวว่ากองทัพเจ็บไข้ได้ป่วยมาก    จึงรวบรวมผู้คน  และติดต่อจ้างพวกฮ่อธงดำ (ขององบา)  รวมได้ไพร่พล  ราว  ๒๕๐  ยกมาตั้งที่เมืองฮุง  ต่อกับแขวงเมืองสบแอด  ตั้งแต่  วันอังคาร  แรม  ๖  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีจอ    ตรงกับวันที่  ๒๒  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๙    และต่อมาอีก  ๓  วัน    คือ   ใน  ๒๕  มิถุนายน   พวกฮ่อกลุ่มนี้  ก็เข้าตีบ้านเล็กเมืองน้อยในเขตเมืองสบแอด    พลเมืองต้องหนีเข้าในค่ายที่บ้านใด  ซึ่งนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  นายร้อยโท  ดวง     และ  นายร้อยโท  เจ๊ก  ซึ่งตั้งอยู่   

          ขณะนั้น  ทหารกำลังเป็นไข้ป่าอาการหนักแทบทั้งค่าย  มีที่ป่วยน้อยคือ  เจ้าราชภาคิไนย  และ    นายร้อยโท  ดวง  จึงได้เอา "ลูกแตก" ผูกแขวนไว้รอบค่าย    ให้ทหารป่วยที่ลุกไม่ขึ้นคอยระวังสายชนวน  เพื่อกระตุกให้ลูกแตกนั้นระเบิดขึ้น    เมื่อพวกฮ่อที่ล้อมค่ายพยายามจะเข้าปล้นค่าย  และได้กระทบลูกแตก    ครั้นทหารเห็นได้จังหวะก็กระตุกสายชนวนให้ลูกแตกระเบิด  พวกฮ่อเป็นอันตรายหลายคนจนเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าปล้นค่าย  ได้แต่ล้อมอยู่

 

ห้วยก๊วง
 
          พระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย  ซึ่งคุมไพร่พลหัวเมืองอยู่ที่ บ้านใดด้วย    แต่นำกำลังส่วนหนึ่งแยกออกไปตั้งรักษาการ  เห็นพวกฮ่อมีกำลังมากไม่สามารถต้านทานได้ก็ถอนตัว  พวกฮ่อตามมาทันกันที่ห้วยก๊วง   ได้รบปะทะกัน    ผลปรากฏว่า   พวกฮ่อ  เสียชีวิต  ๒๖  คน  รวมทั้ง  ซันตาเล่าแย้   นายใหญ่พวกฮ่อด้วย

          พอดีนายร้อยโท  เอื้อน  กับทหาร  ๖  นาย   จะไปเมืองสบแอด  พอดีเดินทางมาถึง จึงเข้าร่วมสู้รบด้วย    หลังจากสู้รบกันแล้ว  ๔  ชั่วโมง   พระเจริญจตุรงค์ถูกกระสุนเสียชีวิต    นายร้อยโท  เอื้อนพยายามเล็ดลอดกลับมาค่ายบ้านใด  แต่ถูกยิงที่โคนขา  จึงให้นายสิบโท  ท้วม  พาทหารหนีไป   ตนเองหลบลงไปซุ่มกอไม้ที่ชายน้ำ    พวกฮ่อตามนายสิบโท  ท้วม  ไม่ทัน  จึงกลับมาที่นายร้อยโท  เอื้อน    เห็นไม่มีอาวุธ  จึงคิดจะจับเป็น     นายร้อยโท  เอื้อน  ใช้ปืนพกยิงตายถึง  ๓  คน  แต่ยิงคนที่  ๔  พลาดไป  จึงถูกฮ่อใช้ดาบฟันเสียชีวิต  และตัดศีรษะไป   

          เป็นที่เปิดเผยภายหลังว่า    ผู้ที่ถูก นายร้อยโท  เอื้อน  สังหารทั้ง  ๓ นายนั้น  เป็นฮ่อชั้นหัวหน้า   และไม่พบศพ นายร้อยโท  เอื้อน  พบแต่ข้อมือซึ่งมีเสื้อยันต์ครึ่งยศอยู่จึงเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้   

          แต่นั้นมา  พวกฮ่อก็ตั้งอยู่แต่ในป่า    ห่างจากค่ายบ้านใด  ประมาณ  ๑๐๐  เมตร  ไม่ออกมาต่อรบในที่แจ้ง

          คงยังจำกันได้ว่า  พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์เจ้าเมืองแถง เดินทางไปพบองบา นายฮ่อธงดำใหญ่  ตั้งแต่ วันอาทิตย์  ที่  ๑๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๙    พร้อมกำลัง  ๓๐  คน   ได้เดินทางมาถึงค่ายบ้านใด   จึงได้เข้าช่วยป้องกันรักษาค่าย  และสู้รบกับพวกฮ่อ    ต่อมาพวกฮ่อก็ถอนเข้าไปอยู่ในวัดแขวงเมืองสบแอด  ซึ่งระยะห่างจากค่ายเป็นเวลาเดิน  ๒  ชั่วโมง

          เมื่อพวกฮ่อถอนไปแล้ว    พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์จึงให้คนถือหนังสือของท่านแม่ทัพเดินทางไปพบองบา นายฮ่อธงดำใหญ่ซึ่งทำมาหากินสุจริตอยู่ที่ตำบลท่าขวา  แขวงเมืองสิบสองจุไทย    ส่วนพระสวามิภักดิ์สยามเขตต์อยู่ช่วยราชการ  ณ  ค่ายบ้านใด    และนายร้อยโท  ดวง  กับเจ้าราชวงศ์  ก็รวบรวมครัวเมืองสบแอดที่หนีฮ่อลงมาส่งไปเมืองซ่อน

 

ข่าแจะ 

          ครั้นวันอังคาร  เดือน  ๗  แรม  ๑๓  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๙    พระยาว่านหัวหน้าข่าแจะ  ซึ่งเป็นเจือง   รวมกับพวกฮ่อได้ประมาณ  ๑๕๐  คน    ยกมาที่ห้วยห้อม  แขวงเมืองซ่อน  เที่ยวตีปล้นกวาดครัวราษฎรเอาไปเป็นเชลยไว้เป็นกำลัง    เพี้ยตงนายบ้านรีบลงมาแจ้งแก่หัวพันพระยาศรีสุมัง  ผู้รักษาเมืองซ่อน จึงรีบไปพบและรายงานแม่ทัพต่อไป      หนทางจากห้วยห้อมถึงค่ายใหญ่เมืองซ่อน  เป็นเวลา  ๒  ชั่วโมง   แม่ทัพได้ซักถามข่าวสาร  ได้ความว่า  พลเมืองซ่อนไทย ,ลาว  ได้พากันหนีเข้าป่า  เหลือแต่ตัวพระยาศรีสุมัง และกรมการอีก  ๒ - ๓  คน    พวกฮ่อ และข่าแจะ ประกาศว่า    กองทัพใหญ่ที่เมืองซ่อนหมดกำลังแล้ว  เพราะไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายกันมาก    พวกฮ่อ และข่าแจะจึงสมทบกันจะตีค่ายแม่ทัพให้แตกไปจงได้

 

เตรียมรับสถานการณ์

          แม่ทัพได้ข่าวสารดังนี้แล้วจึงสำรวจกำลังพล  ได้ความว่า  "คนที่ยังดีอยู่นั้น  ตั้งแต่แม่ทัพถึงพลทหาร  เหลืออยู่เพียง  ๑๑  คน"    แม้แต่พลแตร ซึ่งมีอยู่ในค่ายประมาณ  ๘  นายก็ป่วยล้มตาย  จนไม่ได้มีการเป่าแตรเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว    ต้องใช้ฆ้องโหม่ง  แขวนที่ป้อมยาม   และเมื่อทหารป่วยมากขึ้นไม่พออยู่ยาม  ก็ต้องให้พลยามเดินตีฆ้องแทน

          บัดนี้  พวกฮ่อ และข่าแจะจะเข้าตีค่าย    แม่ทัพจึง  ให้หมอควานช้าง  และคนในกองโคต่าง  แต่งกายเป็นทหารรักษาค่าย  และให้นำปืนจากทหารเจ็บป่วยมาให้ใช้  แต่เหล่าทหารเจ็บป่วย  ร้องขออาวุธไว้กับตัว  เมื่อพวกฮ่อมาเข้าตีค่ายใหญ่  จะยิงพวกฮ่อเสียจนหมดกระสุนก็จะยอมตาย    แม่ทัพจึงยอมให้เพียงแต่นำปืนจากผู้ที่เสียชีวิตมาให้พวกหมอควานและกองโคต่าง    และชี้แจงทหารที่ป่วยให้ทราบทั่วกันว่า  "แม่ทัพจะไม่ถอยหนีจนก้าวเดียว  จะต่อสู้จนโลหิตหยาดที่สุด   และจะยอมตายไปกับทหารพร้อมกันด้วย"    ทำให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นมาก    แม่ทัพจึงสั่งให้

          คนในกองช้าง  และกองโคต่าง    รักษารอบค่าย  (ใช้อาวุธปืนจากทหารที่เสียชีวิตแล้ว)

          คะเด็ต    ไปจัดการลูกระเบิดไว้ตามทางที่พวกฮ่อจะเข้ามา   

          ให้เจ้าก่ำ  บุตรเจ้าอุปราช    นำกำลังท้าวขุนกรมการเมืองหลวงพระบาง  ประมาณ  ๑๐๐  เศษ    ใช้ปืนหามแล่น  ยกขึ้นไปยังห้วยห้อม  ตั้งสกัดทาง

           เจ้าก่ำ  ยกไปตั้งบนเนินลูกหนึ่งตรงกันข้ามค่ายพวกฮ่อ  ห้วยห้อมขวางกลางอยู่    ทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันจนกระสุนดินดำหมด    จึงรายงานแม่ทัพขอกระสุนเพิ่ม

 

ปืนใหญ่  .  .  .  อย่างนี้ต้องปืนใหญ่ 

          แม่ทัพจึงเรียกหัวหน้าควานช้าง  กับพวกกองโคต่างมาแบ่งคนให้รีบยกไปช่วยเจ้าก่ำ    พวกควานช้าง กับพวกกองโคต่างมีความยินดีรับอาสาออกไปปราบศัตรูด้วย    แม่ทัพจึงให้เอาเครื่องแบบทหารที่ป่วยตายมาให้แต่ง    และให้นายร้อยโท  แจ  นำปืนใหญ่อาร์มสตรองบรรทุกหลังช้างไปพร้อมกำลังพลอีก  ๒๐๐  เศษ   สั่งมอบภารกิจให้  ทำลายค่ายฮ่อ และจับตัวพวกข่าเจือง และพวกฮ่อ   มาให้จงได้

          วันอาทิตย์    เดือน  ๘  ขึ้น  ๔  ค่ำ  ปีจอ     ตรงกับวันที่  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    นายร้อยโท  แจ  นำกองทหารไปถึง  ใช้ปืนใหญ่ยิงค่ายฮ่อเพียง  ๓  นัด  พวกฮ่อล้มตายกันมาก   นัดต่อๆ ไปได้ยิงเลยค่ายไปถูกภูเขาหลังค่าย  เมื่อระเบิดเกิดเสียงสะท้อนสนั่นหวั่นไหว  พวกข่าเจือง และพวกฮ่อเข้าใจว่ามีกองทัพตีกระหนาบ  เร่งลงซ่อนตัวในหลุมและคูสนามเพลาะ    พวกทหารก็พร้อมกันหักพังเข้าค่ายพวกฮ่อได้

           ผลการรบ          กองทหารเข้ายึด  และเผาทำลายค่ายพวกฮ่อได้   

                                   จับเป็น   พระยาว่าน  หัวหน้าข่าแจะ    อ้ายคำเพ็ชร    เพี้ยชัย    เพี้ยเมือง    ชายหญิงอีก  ๓๖  คน       

                                   ยึดเครื่องศัสตราวุธ  ปช่น  ปืนคาบศิลา  ได้จำนวนหนึ่ง

                                   พวกฮ่อ    เสียชีวิต  ประมาณ  ๖๐  คน

          แม่ทัพสั่งประหารชีวิต  พระยาว่าน  และพวกหัวหน้าข่าแจะ  แล้วตัดศีรษะเสียบประจานไว้  ณ  ทุ่งนาเมืองซ่อน    ส่วนชายหญิง   ๓๖  คน   นั้น  แม่ทัพให้กลับคืนไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมทั้งสิ้น   ตั้งแต่นั้นมา   ก็สงบเป็นปรกติราบคาบตลอดมา

 

ผลไข้ป่า

          วันจันทร์  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๘  ปีจอ     ตรงกับวันที่  ๑๙  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙  แม่ทัพได้สำรวจรี้พลสกลไกร  ปรากฏว่า  กำลังพล  รวม  ๓๐๐  นาย  เหลือคนไม่ป่วยเพียง  ๒  นาย  คือ    ท่านแม่ทัพ  และนายจ่ายวด  เท่านั้น    จนไม่มีคนพยาบาลคนไข้    ทหารจากกรุงเทพฯ  เสียชีวิตแล้ว  ๘๐  นาย      นายทหารที่เสียชีวิต  แล้ว  ได้แก่

          นายร้อยโท  เอื้อน

          หลวงอาจหาญณรงค์  กัปตัน

          หลวงวิชิต  กัปตัน

          หลวงโยธาณัติการ  กัปตันกองช่าง

          หลวงจางวางหัวหน้า

          ลุตเตอร์แนนต์เผื่อน

          นายแพทย์ท้วม

          นายแพทย์สุข

          ซายันเมเยอร์แต

          เปซายันโพ

               กับที่ป่วยหนักยังไม่รู้ว่าตายก็อีกหลายคน   ทั้งกรมการชาวเมืองพิชัยที่ตายไปแล้ว  คือ

          พระพิพิธณรงค์    และ  พระเจริญจตุรงค์

 

เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ

           ครั้นวันศุกร์   ที่  ๒๓  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    พวกฮ่อ และพรรคพวกรวมราว  ๒๕๐  คนได้ยกมาประชิดค่ายบ้านใด  สร้างหอรบ  และยิงโต้ตอบกัน  กองทหารก็ตั้งมั่นรักษาค่ายไว้ได้  พวกฮ่อกลัว "ลูกแตก"  ก็ไม่กล้าเข้าปล้นต่ายได้แต่ล้อมไว้

          พอวันพฤหัสบดี  แรม  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๘    ตรงกับวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    องบา นายฮ่อธงดำใหญ่ซึ่งอยู่ที่ตำบลท่าขวา  แขวงเมืองสิบสองจุไทย   ให้กวานเล่าแย้นายที่  ๒  ถือหนังสือมาแจ้งแก่พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์  ที่ค่ายบ้านใดว่า  มีความยินดีที่จะเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงเทพมหานครฯ  ต่อไป    และจะเรียกกองทัพขององบาซึ่งไปช่วยกวานกอยี่รบ ให้กลับมา  และยังจะเกลี้ยกล่อมกวานกอยี่ให้อีก

          เจ้าราชภาคิไนย  และพระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ จึงให้กวานเล่าแย้  และพรรคพวกให้ทำสัตย์สาบานตามธรรมเนียมจีนฮ่อ  ว่าจะขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  ไม่คิดเป็นเสี้ยนหนามศัตรูแผ่นดิน อีกต่อไป

          และวันรุ่งขึ้น    วันศุกร์ ที่  ๓๐  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙  เวลา  เช้า  ๕  โมงเศษ  (๑๑  นาฬิกา)    กวานกอยี่นายฮ่อถือธงขาวเดินออกมาจากที่ซุ่มในป่านั้นขอยอมเข้าสวามิภักดิ์อย่าให้กองทหารทำอันตรายแต่อย่างใดเลย    ครั้นเวลาบ่ายโมงเศษ   กวานกอยี่ กับหัวหน้าฮ่ออีก  ๔  คนก็วางอาวุธ  พากันออกมาหากองทัพค่ายบ้านใด    แล้วนายทัพนายกองพร้อมกันให้กวานกอยี่นายฮ่อทำสัตย์สาบานตัวและรับน้ำสัตยาว่า   "จะขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาโดยสุจริตมิได้คิดเป็นอุบาย    จะไม่คิดทรยศและกระทำการต่อสู้ต่อไปอีก"    แล้วให้ทำพิธีสาบานตัวอย่างธรรมเนียมจีน  คือ  ตัดคอไก่เอาโลหิตปนกับน้ำแจกให้ดื่มทุกคน    หมายความว่าถ้าไม่มีความสัตย์ก็ให้ตายเยี่ยงไก่ที่คอขาดนั้น
         
          เวลากระทำสัตย์  ก็นำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งโต๊ะมีเครื่องบูชาพร้อมวางไว้เฉพาะหน้าผู้กระทำสัตย์

          การที่พวกฮ่ออ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงเทพพระมหานครครั้งนี้นั้น  ก็ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ    เหตุด้วยกองทัพและทหารหรือก็ป่วยไข้หมดกำลังที่จะต่อสู้ได้อยู่แล้ว   อีกประการหนึ่ง  ก็ได้พยายามต่อสู้ปราบปรามจนสิ้นกำลังของพวกฮ่อลง    กองทัพจึงได้ชัยชำนะโดยไม่ต้องเสียชีวิตทหารในที่รบกี่มากน้อย

          แม่ทัพเห็นว่าการที่พวกฮ่อเข้ามารบกวนพระราชอาณาเขตก็ช้านาน  ประมาณ  ๒๐  ปีแล้ว    ต้องจัดกองทัพขึ้นไปปราบปรามเสียพระราชทรัพย์  ค่าพาหนะ และชีวิตพลเมืองไปเป็นอันมาก  ก็หาสงบลงได้ไม่    กระทำให้คนพลเมืองฝ่ายเหนือลดน้อยลงไปทุกที    จึงเห็นสมควรว่า  จะรับพวกฮ่อ  จัดการให้เป็นปรกติ  ตั้งภูมิลำเนาเสีย  จึงจะเป็นการยุติเรียบร้อยไปได้ด้วย

 

จัดระเบียบแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

          เมื่อได้ปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกระงับราบคาบแล้ว   แม่ทัพได้จัดระเบียบราษฎร  ดังนี้

          ให้กวานกอยี่และพรรคพวกลงมาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ  เพื่อราษฎรในแขวงจะได้สิ้นความหวาดกลัว  กลับเข้าคืนภูมิลำเนาเดิมเป็นปรกติต่อไป   แต่ผู้ทีมีบุตรภรรยาเป็นคนลาวให้อยู่กับบุตรภรรยาที่เมืองแถงเช่นประชาชนทั่วไป  ไม่ให้เข้าอยู่ในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก      ส่วนพวกฮ่อธงดำขององบานั้น ไม่ได้ย่ำยีตีปล้นราษฎร  และมีส่วนช่วยเหลือกองทัพด้วย  สมควรให้รวบรวมกันอยู่ในแขวงเมืองสิบสองจุไทยตามเดิมก่อน    หากมีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นต้องปราบปรามอีก  จะได้สนับสนุนกำลังขององบานี้ให้ช่วยระงับปราบปรามต่อไป      และได้หาตัวท้าวขุนและพวกหัวพันตามเมืองต่างๆ มาประชุม  ณ  เมืองซ่อน  เพื่อปันส่วนอาณาเขตและแขวงบ้านเมืองต่างๆ ให้ถูกต้องตามโบราณกาล
 
          เมื่อจัดท้าวขุนและพวกหัวพันรักษาพระราชอาณาเขตเรียบร้อยทุกประการแล้ว    แม่ทัพก็ดำริที่จะยกกองทัพใหญ่จากเมืองซ่อนตัดตรงไปเมืองแถง    กำหนดระยะทางเดินกองทัพ  ๑๒  เวลา  (วัน)

 

พระเอกควินิน

          ระหว่างที่กองทัพอยู่ที่เมืองซ่อนนี้  แม่ทัพได้แก้ปัญหาทหารป่วยไข้ป่าด้วยการขอยาที่เมืองหลวงพระบางใช้อยู่       เจ้านครเมืองหลวงพระบางส่งยากระดูก  เขี้ยวงา และรากไม้กิ่งไม้ให้หลายกระสอบ  เวลาใช้ต้องนำมาฝนกับหินละลายน้ำกิน    แต่เมื่อถึงวันจันทร์  เดือน  ๙  ขึ้น  ๓  ค่ำ     ตรงกับ  วันที่  ๒  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๙   ก็ได้รับของที่เมืองพิชัยส่งขึ้นไป  ได้แก่   ยาควินิน  และเครื่องเสบียงอาหารที่ตกค้างอยู่  พร้อมทั้งผ้าห่ม และเสื้อชั้นในสักหลาดซึ่งพระราชทานให้กองทัพเนื่องจากเป็นฤดูหนาวจัดแล้ว   

          เมื่อกองทัพได้ยาแล้ว    หมอเทียนฮี้นายแพทย์ทหารได้เร่งแจกจ่ายยาทั่วกองทัพในบ่ายวันนั้นทันที    วันรุ่งขึ้นกำลังพลหายจับไข้ได้กว่าครึ่ง    ประมาณ  ๓  วัน  คนที่ป่วยไข้ก็หายจับไข้หมด    ชั่วเดือนหนึ่ง  คนที่ป่วยไข้ก็กลับมีกำลังแข็งแรงดังเดิม    กองแยกต่างๆ  ก็รายงานว่า  "ได้รับยาควินินไปให้ทหารรับประทานตามกำหนดเวลาซึ่งนายแพทย์ได้แนะนำแล้ว    บัดนี้  ทหารทั้งปวงซึ่งป่วยไข้นั้น  ก็หายป่วยอ้วนท้วนเป็นปรกติดีแล้วเหมือนอย่างเดิม  .  .  ."

          เมื่อกองทัพกลับมีกำลังวังชาเป็นปรกติแล้ว  แม่ทัพจึง   สั่งการให้พระพหลพลพยุหเสนา  (กิ่ม)  นำกำลัง  ๑๐๐  ไปสมทบเจ้าราชภาคิไนย ณ  เมืองสบแอด    ให้องบาพาพรรคพวกมากระทำสัตย์สาบานตนที่ค่ายบ้านใด    แล้วให้องบาขึ้นไปฟังแม่ทัพจัดราชการที่เมืองแถงด้วย    และให้พระพหลพลพยุหเสนา  (กิ่ม)   ตั้งคอยพนักงานเซอร์เว  ซึ่งจะไปสำรวจทำแผนที่ในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกก่อน    เมื่อได้บรรจบกันแล้วจึงยกไปเมืองแถงพร้อมกัน    ทั้งนี้  ให้รออยู่จนถึงเดือนอ้าย สิ้นเดือน    ถ้าพ้นกำหนดที่กะไว้นี้ก็ให้พระพหลพลพยุหเสนายกออกจากเมืองสบแอดขึ้นไปเมืองแถงตามกำหนด

          และระหว่างที่ตั้ง  ณ  เมืองซ่อนนี้  ก็ได้รับพระราชหัตถเลขา

ร,ที่๔๖/๔๘  ว,ว,            วัน  เสาร์  เดือน  ๕  แรม  ๖  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙     ความว่า    

          เรื่องกงซุล   ฝรั่งเศสตั้งมองสิเออปาวีเข้ามาถึงกรุงเทพฯ นานแล้ว    และหนังสือสัญญาก็เกือบตกลงกันแล้ว  ข้อความก็เหมือนกับสัญญาเชียงใหม่ทุกข้อ  มีแปลกที่จะขอให้คนฝรั่งเศสซื้อที่ดินในหลวงพระบางได้  .  .  .  และทรงเตือนเจ้าหมื่นไวยวรนารถ  ว่า  .  .  .  เดิมเราก็หมายว่าจะเป็นโอกาสพอที่จะจัดการหัวเมืองเหล่านี้ให้เรียบร้อยก่อนกงซุลไปถึง    แต่บัดนี้  กอทัพต้องตั้งรอรดูฝน  ก็เห็นจะต้องเป๋นอันจำเป็นต้องจัดการต่อหน้ากงซุลในรดูแล้ง  จะเหนี่ยวรั้งหลีกเลี่บงต่อไปอีกไม่ไหว  .  .  .

ฯลฯ

          ได้รับใบบอกกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมว่าข่าวคราวที่ส่งไปมากันในระหว่างกองทัพทั้งสองนั้น  ไกลเกินกว่าที่บอกข่าวลงมากรุงเทพฯ    จึงได้บอกข่าวขึ้นมาให้ทราบบ้าง  กรมหมื่นประจักษ์ ได้ให้ พระอมรวิไสยสรเดช  พระราชวรินทร์  พระยาปลัดเมืองนครราชสีมาออกไปตีฮ่อทุ่งเชียงคำ  พอกองทัพยกออกไปถึงทุ่งเชียงคำ   ฮ่อแหกค่ยออกไปเสียด้วยกำลังฮ่อน้อย  ขัดสนสเบียงอาหาร      การซึ่งฮ่อหนีไปดังนี้  เป็นเหตุที่จะให้การยืดยาวไม่รู้จบ    กองทัพกรมประจักษ์ก็คงต้องตั้งค้างปีอยู่ที่เมืองหนองคาย   พอจะได้ทำการตลอดไปต่อหน้าแล้งเหมือนกัน

ฯลฯ

 

 

ร,ที่  ๒๓๙/๔๘  ว,ว,  ๓            วัน  พฤหัสบดี  เดือน   ๘  ขึ้น  ๑  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๑  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙     ความว่า

ฯลฯ

          การซึ่งพระนายไวยมีความวิตกว่าพวกฮ่อจะเทสาดลงไปในเมืองพวน    จึงให้พระยาสุรินทร์ถือหนังสือไปแจ้งความแก่กองทัพฝ่ายใต้นั้น  เป็นการคิดรอบคอบชอบด้วยราชการแล้ว    แต่การสเบียงอาหารนั้นซึ่งพระนายไวยคิดอ่านให้ผ่อนลำเลียงขึ้นไ  และไปได้เข้าในค่ายฮ่อบ้าง  พอที่จะเลี้งไพร่พลไปได้ตลอดรดูฝนนั้นก็เป็นการดีอยู่แล้ว  .  .  .

ฯลฯ

          ราชการในกรุงเทพฯ เวลานี้  ทั้งการภายในแลการต่างประเทศก็ยังสงบเรียบร้อยอยู่  .  .  .

ฯลฯ

 

ร, ที่ ๓๓๙/๔๘  ว.ว. ๔            วัน  จันทร์  เดือน   ๘  แรม  ๑๑  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙     ความว่า

ฯลฯ

          ซึ่งจะคิดจัดการตั้งเจ้าเมือง และทำคำประกาศสำหรับเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  เป็นการชอบด้วยราชการยิ่งนัก  ซึ่งจะคิดอ่านบำรุงสินค้าให้ตกลงมาแต่ในหัวเมืองเราฝ่ายเดียว  .  .  .                                                               

          ซึ่งกองเจ้าราชภาคิไนย์  หลวงดัสกรปลาศ  ยกไปสกัดตีฮ่อที่ห้วยแหลกนั้น    ควรจะสรรเสริญความกล้าหาญอยู่

          และซึ่งคิดจะปราบปรามพวกข่าแจะซึ่งไม่อ่อนน้อมต่อเมืองหลวงพระบางให้ราบคาบทั่วไปนั้น  ถูกต้องแล้ว

ฯลฯ

          ในราชการครั้งนี้  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  ได้รับคำสรรเสริญของเรา  และท่านเสนาบดี มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เป็นต้น  ว่าจัดการวางการ  และมีใบบอกแจ้งข้อราชการลงมาเป็นหลักหลายมั่นคงถูกต้องด้วยทางราชการเก่าใหม่    สมควรที่จะเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปปราบปรามศัตรูในปลายพระราชอาณาเขตร์ได้โดยแท้    ให้ตั้งใจจัดการทั้งปวงให้เรียบร้อยตลอดต้นตลอดปลาย    คงจะได้เป็นคุณที่จะทำราชการสืบไปภายหน้า

ฯลฯ

 

 

 

 

ท่านแม่ทัพและเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบาง  ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าสักรินทรฤทธิ์  เจ้านครหลวงพระบาง

เมื่อไปปราบฮ่อ  กลับลงมาถึงเมืองซ่อน  จึงได้นำเอาธงชัยเฉลิมพล    (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธงจุฑาธุชธิปไตย)  มาปักไว้กลางเพื่อเป็นที่ระลึก

 

 

สำรวจตรวจดูภูมิประเทศ

          เนื่องจากทางตั้งแต่แมืองสบแอดลงมาถึงเมืองแวนทิศตะวันออกนั้น  เป็นสุดพระราชอาณาเขต และ  อีกเส้นหนึ่งซึ่งตัดลงทางใต้สุดหัวเมืองเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  คือเมืองซำใต้ซึ่งติดกับเขตแดนญวน    แม่ทัพได้สั่งการให้สำรวจตรวจดูภูมิประเทศ  ทางเข้า - ออกพระราชอาณาเขต  และทำรายงาน  ดังนี้

          - นายร้อยเอก  หลวงหัตถสารศุภกิจ  กับนายร้อยโท  แจง  นำทหาร  ๒๔  นาย    สำรวจตั้งแต่เมืองสบแอดลงไปบรรจบกับกองทัพเจ้าราชวงศ์ที่เมืองแวน

          - นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ  (อิ่ม)  กับนายร้อยโท  เพชร์  นำทหาร  ๒๔  นาย    สำรวจลงไปถึงเมืองซำใต้   เสร็จแล้วให้กลับมารวมกับกองเจ้าราชวงศ์ที่เมืองแวนให้พร้อมกัน

          - กัปตันเจริญ  ออกสำรวจทำสำมะโนครัวในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้สิ้นเชิงด้วย

          ผลการสำรวจในเขตแขวงเมืองซ่อนนั้น  เป็นส่วนเป็นอำเภอ    ดังนี้    (สรุปย่อ  พอสังเขปเป็นตัวอย่าง)

            เมืองซ่อน  (ชัยบุรี)    แบ่งออกเป็นสองพวก  คือ  ซ่อนไทย  และซ่อนลาว

               ตำบลแขวงซ่อนลาว    พระยาศรีสุมัง  เป็นผู้รักษาเมือง    ตั้งอยู่ระหว่างเขาฮอด  (ด้านเหนือ)  และ  เขาฮม  (ด้านใต้)     บ้านเรือนตั้งใกล้ห้วยแอด    บ้านในตำบลซ่อนลาว  ได้แก่  บ้านห้วยทราย  บ้านจักร์  บ้านวัด  บ้านนอม  บ้านโงน  บ้านกั้ว  บ้านแล้ง      รวมเรือน  ๑๐๓  หลังคา  ชาย  ๑๖๖    หญิง  ๒๗๙     มีปืนคาบศิลา  ๔๓  กระบอก

               ตำบลแขวงซ่อนไทย    ตั้งอยู่เป็นเขตแขวงเดียวกับเมืองซ่อน  (ชัยบุรี)     แบ่งคนเป็น  สองพวก  คือ    ลาว  และ  ผู้ไทย    เดิมพระยายอดจอมคำ เป็นผู้บังคับว่ากล่าวพวก ผู้ไทย    แต่ไปสมคบกับพวกฮ่อเข้ามาปล้นเมืองซ่อน  เมื่อเมืองหลวงพระบางแต่งกองทัพมาตีพวกฮ่อแตก  พระยายอดจอมคำจึงหนีไปเมืองฮุงในแคว้นสิบสองจุไทย  กองทัพตามไปจับตัวได้  จึงประหารชีวิต  แล้วไม่ได้ตั้งคนแทน  ให้รวมกับพวกซ่อนลาว  ในพระยาศรีสุมังทั้งสิ้น    แต่บัดนี้   ผู้รักษาตำบลซ่อนไทยตั้งให้เป็นที่เพี้ยหัวพัน

          ตำบลแขวงซ่อนไทย    ห่างจากเมืองซ่อนลาว  ๒  ชั่วโมง   ตั้งใกล้ห้วยแอด    ตำบลบ้านที่อยู่ในแขวงซ่อนไทยขึ้นอยู่กับเพี้ยหัวพัน    เป็นบ้านพวกผู้ไทย  ดังนี้   บ้านบ่อ  บ้านสบทราย  บ้านนาหนอง  บ้านหมัน       รวมเรือน  ๖๓  หลังคา  ชาย  ๑๔๘    หญิง  ๑๗๘     มีปืนคาบศิลา  ๑๑  กระบอก 

           อนึ่ง  ในแขวง เมืองซ่อน  (ชัยบุรี) นั้นมีข่าแจะ และพวกแม้ว  ตั้งอยู่ส่วนหนึ่ง  กระจัดกระจาย    ฯลฯ

          แม่ทัพสั่งให้กองทัพถอยลงมาเมืองซ่อนก่อน    และให้คณะนายทหารที่แยกย้ายกันไปสำรวจให้สำเร็จแล้วมายรรจบกับกองเจ้าราชวงศ์  แล้วให้ลงมาเมืองซ่อน    กำหนดให้ถึงเมืองซ่อนในข้างขึ้น  เดือนสิบสองนี้

            การเดินทัพไปเมืองแถงนั้น    แม่ทัพสั่งการให้พระอินทรแสนแสง  ปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร  กับพระยาเมืองขวา  และพระยาเมืองซ้าย    คุมคน  ๑๐๐  ยกไปก่อน  เพื่อถางทางและทอดเสบียงไว้รับกองทัพตลอดทางถึงเมืองแถง   และตั้งฉางคอยรับเสบียงึ่งจะส่มาจากเมืองหลวงพระบางทางลำน้ำอู  น้ำนัว ด้วย

 

เฉลิมพระชนม์พรรษา

 

          วันอาทิตย์  เดือน  ๑๐  แรม  ๗  ค่ำ  ปีจอ    ตรงกับ  วันที่  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.๒๔๒๙    เริ่มการเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    แม่ทัพ  และนายทัพนายกอง ท้าวพระยาในเมืองหลวงพระบางซึ่งได้ไปด้วยกับกองทัพ  พร้อมด้วยท้าวเพี้ยหมื่นขุนกรมการ  และพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก    ได้ตกแต่งสถานที่ด้วยธงทิว  และประดับประดาด้วยมาลามาลีเป็นการประณีต    ครั้นถึงเวลาค่ำ  ก็จุดโคมข่อยสีต่างๆ   และตามประทีปเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ

 

 

 

เจ้านายในเมืองนครหลวงพระบางพร้อมด้วย  แม่ทัพ  และนายทีพ  นายกอง  ประชุมพร้อมกัน  ณ  ค่ายที่เมืองซ่อนเวลาเฉลิมพระชนมพรรษา

ท่านแม่ทัพกำลังคลี่แผนที่พระราชกาณาจักรออกตรวจตราดูอยู่

 

 

          วันจันทร์  เดือน  ๑๐  แรม  ๘  ค่ำ  ปีจอ    ตรงกับ  วันที่  ๒๐  กันยายน  พ.ศ.๒๔๒๙   

               เวลา  ๑  โมง  กับ  ๔๖  วินาที    แม่ทัพสั่งให้ยิงสลุตถวายชัยมงคลที่ค่ายเมืองซ่อนตำบลหนึ่ง    เมืองแวนตำบลหนึ่ง    เมืองสบแอดตำบลหนึ่ง    รวม  ๓  ตำบล    ตำบลละ  ๑๐๑  นัด    แล้วประชุมนายทัพนายกองเจ้านายท้าวพระยาในเมืองหลวงพระบางซึ่งไปด้วยกองทัพ  กับท้าวเพี้ยหมื่นขุนกรมการ  และพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย  กับพวกจีนฮ่อ  และพวกตำบลต่างๆ  ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  พร้อมกันบ่ายหน้าต่อกรุงเทพพระมหานคร    กราบถวายบังคมถวายชัยมงคลโดยความยินดีปิติถ้วนทั่วหน้ากัน

 

 

 

 

 

ถ่ายเมื่อเฉลิมพระชนม์พรรษา  และยิงสลุตถวายชัยมงคลที่เมืองซ่อน  

 

 

          ครั้นเวลาค่ำลงแล้ว    แม่ทัพก็ให้จัดอาหารเลี้ยงกันเป็นการสุขสำราญถ้วนทั่วหน้ากัน    กับให้มีการมหรสพเล่นฉลองตามภาษาเพศบ้านเพศเมืองของเขา    เพื่อให้เป็นการคึกครื้นโดยสมควร  ทุกประการ

 

          วันจันทร์  เดือน  ๑๐  แรม  ๙  ค่ำ  ปีจอ    ตรงกับ  วันที่  ๒๑  กันยายน  พ.ศ.๒๔๒๙    เป็นวันกำหนดที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

          แม่ทัพและนายทัพนายกอง  พร้อมด้วยเจ้านายเมืองนครหลวงพระบางซึ่งไปกับกองทัพ  และท้าวขุนกับพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  กับพวกจีนฮ่อที่เข้ามาสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมา  และพวกหัวหน้าต่างๆ  ทหารกรุงเทพฯ  และทหารหัวเมืองประชุมพร้อมกัน    แม่ทัพจึงให้อ่านคำแช่งน้ำตามธรรมเนียม    เสร็จแล้ว  ก็พร้อมกันบ่ายหน้าต่อกรุงเทพพระมหานครกราบถวายบังคมต่อพระบรมฉายาลักษณ์   ๓  ครั้ง    แล้วก็รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั่วกันตามแบบราชการ

  

ไปเมืองแถง  

          ครั้นวันพฤหัสบดี  เดือน  ๑๒  แรม  ๘  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพเจ้าราชวงศ์จากเมืองแวน  และคณะนายทหารที่ออกสำรวจได้ถึงเมืองซ่อนพร้อมกัน    แม่ทัพพร้อมด้วย  นายทัพนายกองก็ได้ยกกองทัพใหญ่ออกจากเมืองซ่อน  ไปเมืองแถง  ตามเส้นทาง   บ้านโงน  -  บ้านบ่อ  (พักแรม  ๑  คืน)  -  ผาตั้ง  (พักแรม  ๑  คืน)  -  ทางแยก เมืองแถง/เมืองงอย  -  ห้วยน้ำแซง  (พักแรม  ๑  คืน)  ชัยภูมิไม่ใหญ่ถ้ามีการศึกติดพันรักษาตัวยาก  -  ผานาง  -  ห้วยเหล็ก  (เป็นดินแดนเมืองซำใต้)  -  บ้านแม้วห้วยดาว  ได้รับหนังสือจากกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  แม่ทัพฝ่ายใต้  ส่งมาจากเมืองหนองคาย    ๒  ฉบับ  (พักแรม  ๑  คืน)  -  ข้ามเขาภูเมือง    ระหว่างพักรับประทานอาหารกลางวันได้รับข่าวจากพระอินทรแสนแสง  ปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร ซึ่งเป็นส่วนล่วงหน้าได้เข้าเมืองแถงแล้ว  ว่า  ท้าวไลไม่ยอมให้พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ (กายตง  เจ้าเมืองแถง)  เข้าเมืองและให้บุตรนำกำลังสกัดไว้ทั้ง  ๔  ทาง  -  ห้วยแมน  (พักแรม  ๑  คืน)  ได้รับข่าวสารว่าบุตรเจ้าไลเตรียมต่อสู้  -  ห้วยอุ้ม  -  ห้วยปุงเงิน  (มีบ่อน้ำร้อน)  - 

          แม่ทัพพิจารณาว่าการจะจัดการลูกท้าวไลทั้ง ๓  คน  หากรอกองทัพไปถึงอาจจะเกิดกลัว  และหนีไปก่อน  ราชการจะลำบาก  จึงให้นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศไปจับลูกเจ้าไลทั้ง ๓  คนให้ได้ก่อน    ส่วนกองทัพก็เดินทางต่อไป    จาก  ห้วยน้ำอุ่น  -  ห้วยลาน  (พักแรม  ๑  คืน)  - ห้วยเมือง  -  บ้านลุ้งวัว  -  ห้วยพึ่ง   (พักแรม  ๑  คืน)   -  บ้านแสมี  -  ห้วยแส้  -  ห้วยน้ำอิด   (พักแรม  ๑  คืน)  -  ข้ามน้ำนัว  -  สบน้ำแหะ   (พักแรม  ๑  คืน)

 

ข่าวสารล่าสุดจากเมืองแถง

          คำสาม  คำล่า  บางเบียน  บุตรท้าวไล คุมกำลังพวกเมืองไล  และจีนฮ่อ  รวมประมาณ  ๑๕๐   ตั้งค่ายที่บ้านเชียงจันทร์  แขวงเมืองแถง    ทำหอรบ  ๓  แห่ง  และขุดคูสนามเพลาะแแต่ตัวคำสาม  คำล่า  บางเบียน  ไปมาหาสู่กองทัพดีอยู่    แม่ทัพจีงให้กองหน้าเร่งยกไปสมทบกับกองพระอินทรแสนแสงในเมืองแถง  และเรียกบุตรท้าวไลทั้ง ๓  คน  มาพูดจาเกลี้ยกล่อมเล้าโลม  และ  ระวังอย่าให้สะดุ้งสะเทือนหลบหนีไปได้   รอให้กองทัพใหญ่ไปถึงเสียก่อน

 

เมืองแถงเป็นเมืองงามมาก

          วันพุธ  เดือน  ๑  ขึ้น  ๖  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพใหญ่ได้ยกไปถึงทำเนียบเมืองแถง    เมืองแถงเป็นเมืองงามมาก  ด้วยมีเขาอยู่รอบ  กลางเป็นท้องทุ่ง    เมื่อกองทัพมาถึง   พระยาเมืองซ้ายนำตัว  คำสาม  คำล่า  บางเบียนมาหา    แม่ทัพจึงสั่งจับทั้งสามคนและท้าวขุนอีกหลายคนที่เข้าด้วยไปขังไว้    และสั่งให้กองทัพทำลายค่าย  และหอรบ  เก็บอาวุธและกระสุนดินดำที่มีอยู่ในค่าย    ยึดได้  ปืนชไนเดอร์  ๑๓     ปืนริมิงตัน  ๑๒    ปืนวินเชสเตอร์  ๒    ปืนอินฟิน  ๘๐    ปืนเฮนริ  มาตินิ  ๑    ปืนคาบศิลา  ๑    ปืนสั้น  ๒      กระสุนปืนต่างๆ  ๒  หีบ  ๑,๓๒๔  นัด    ธงต่างๆ  ๑๑  ธง    ง้าว  ๒  เล่ม    ดาบ  ๒  เล่ม      พวกเมืองไล  และจีนฮ่อต่างก็แตกแยกย้ายหนีไปสิ้น    ท้าวขุนและราษฎรเข้าร้องทุกข์ต่อแม่ทัพว่า    ท้าวไลและบุตรยกเข้ามากดขี่ไพร่บ้ายพลเมืองเป็นอย่างยิ่ง

          แม่ทัพและนายทัพนายกองพร้อมด้วยเจ้านายเมืองหลวงพระบางได้ปรึกษากัน  และพร้อมกันเห็นว่า  สมควรเอาตัวบุตรท้าวไลทั้งสามคนไปกักไว้เป็นตัวจำนำ   ส่วนตัวท้าวไลซึ่งตั้งอยู่ที่ลำน้ำแท้  หรือลำน้ำดำฝั่งตะวันออกของพระราชอาณาเขต  หากต่อสู้  ก็ต้องระงับปราบปราม  หากจะอ่อนน้อมโดยสุจริต  ก็ให้อยู่ตามเดิม

 

          อันเมืองไลนี้  เรียกกันว่า  ไทยขาว  หรือไทยไล  แต่ใช้ขนบธรรมเนียมอย่างแบบจีน    ขึ้นกับเมืองหนองแส  และเมืองนครหลวงพระบาง    จึงเรียกเมืองสองฝ่ายฟ้า

          แม่ทัพจัดราชการเมืองแถง    จัดให้รักษาด่านทางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น    แล้วตั้งให้พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์  (กายตง)  กลับเป็นผู้รักษาเมืองแถงสืบไปอีก

 

 

ปัจจุบัน   เมืองไล  คือ  เมืองไลเจา หรือ ไลเจียว  Lai Chau   และ เมืองแถง  คือ  เดียน เบียน ฟู  Dien Bien Phu 

อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม

 

 

 

เมืองไล - เมืองแถง  หรือ  ไลเจา /ไลเจียว  Lai Chau - เดียน เบียน ฟู  Dien Bien Phu   ในปัจจุบัน

 

 

พระวิภาคภูวดล

           ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์  เจมส์  ฟิตซรอย  แมคคาร์ธี   (James Fitzroy McCarthy)   ชาวอังกฤษ   ซึ่งได้รับราชการและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล  ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท 

          วันเสาร์  เดือน ๑  แรม  ๗  ค่ำ  ปีจอ     ตรงกับ  วันที่  ๑๗  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๒๙    พระวิภาคภูวดล  และคณะทำแผนที่ได้ไปถึงเมืองแถงโดยทางเรือ    แม่ทัพจึงได้ชี้แจงข้อราชการแก่คณะ   ซึ่งพระวิภาคภูวดลได้ชี้แจงแผนการปฏิบัติแก่แม่ทัพสรุปว่า    คณะจะเซอรเวตั้งแต่เมืองแถง  เดินตรวจตัดลัดทางไปถึงเมืองสบแอดซึ่งเป็นเขตแขวงของเมืองหัวพันทั้งห้า ทั้งหกตลอดไปต่อกับแขวงเมืองพวน  และจะได้เดินตรวจต่อไปถึงเมืองเชียงขวาง    กำหนดระยะทางที่จะเดินตั้งแต่เมืองแถงไปถึงเมืองเชียงขวางประมาณ  ๒  เดือนเศษ    ถ้ายังมีเวลาพอจะเซอรเวจนถึงเมืองจำปาศักดิ์    และแบ่งคณะเดินทางเรือตั้งแต่เมืองแถงจนถึงเมืองหนองคาย    เมื่อบรรจบกันที่หนองคายแล้ว    จะไปตรวจในฝ่ายหัวเมืองสิบสองจุไทยอีก  เพราะเวลานี้กองทัพยังกำลังปราบปรามโจรผู้ร้ายอยู่    แม่ทัพจึงจัดพระยาเมืองซายเมืองหลวงพระบางเป็นผู้นำทาง  พร้อมคนลูกมือหาบหาม  ๑๐๓  คน    และม้า  ๖  ม้า    กำหนดออกจากเมืองแถงในเดือน  ๑  แรม  ๑๒  ค่ำ   (๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๒๙)

 

สิบสองจุไทย

          แม่ทัพทราบข่าวว่ามีจีนฮ่อพวกหนึ่งอยู่ที่เมืองม่วย  เมืองลา    (ระยะทาง  ๑๒  วัน  จากเมืองแถง)    นายจีนฮ่อชื่อเล่าเต๊งเชง    มีกำลังราว  ๖๐๐  เป็นพวกฮ่อธงดำบ้างพวกอื่นๆ  บ้าง     ท้าวไลเคยจ้างให้ไปสู้กับเมืองจัน  เมืองขึ้นของญวน    แต่แตกกลับมาจึงมาตั่งที่เมืองม่วย  เมืองลา  แขวงเมืองสิบสองจุไทย

          ครั้นวันจันทร์  เดือน  ๓  ขึ้น  ๑  ค่ำ    ตรงกับ  วันที่  ๒๔  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๙   (ขึ้นปีใหม่  ๑  เมษายน)    นายจีนฮ่อเล่าเต๊งเชง  และพรรคพวกก็มาขอเข้าสวามิภักดิ์ต่อแม่ทัพที่เมืองแถง    แม่ทัพจึงให้กระทำสัตย์สาบานตัวตามธรรมเนียมจีนฮ่อ    แล้วจัดประชุมจัดการให้เรียบร้อยเป็นปรกติ    โดยจัดให้ท้าวพระยาลาวในเมืองนครหลวงพระบางเกณฑ์กำลังไพร่พล  ๒๐๐  พร้อมอาวุธ  และกระสุนดินดำ  ตั้งประจำกำกับรักษาการ  ณ  เมืองแถง

         เมืองแถงนั้นตั้งอยู่ที่ ตำบลเชียงจันทร์  ซึ่งเป็นที่ดอนไกลลำน้ำยม  ไม่เป็นทำเลที่จะรักษาเมืองได้มั่นคง    แม่ทัพเห็นเมืองเดิมซึ่งเรียกว่าเชียงแล  ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำยม    มีค่ายคูทำด้วยมูลดินสูงหกศอกเศษ    มีต้นไผ่ปลูกทึบรอบเมืองยาวประมาณหกเส้นเศษ  สี่เหลี่ยม    แม่ทัพเห็นเป็นชัยภูมิที่ดี    จึงให้แผ้วถาง  แล้วยกกองทัพใหญ่เข้าตั้งในค่ายตำบลเชียงแล

          นับว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดการปราบปรามโจรผู้ร้าย  และจัดการวางด่านทางในเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย เรียบร้อย   ตลอดจนไพร่บ้านพลเมืองได้เข้าตั้งทำมาหากินเป็นปรกติสุข ตามภูมิลำเนาเดิมเสร็จแล้ว    จึงสั่งให้พระพหลพลพยุหเสนาทำลายค่ายฮ่อและค่ายหลวงที่ตำบลบ้านใด    กับให้พระพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยเจ้าราชภาคิไนย  คุมกองทหารนำตัวจีนลิวเทงไกวกวานกอยี่  นายจีนฮ่อ  กับพรรคพวกที่เข้ามาสวามิภักดิ์ยกไปยังเมืองแถงพร้อมกัน    แล้วแม่ทัพก็ได้บอกข้อราชการกับขอข้อปฏิบัติลงมายัง  พ.ณ.  ลูกขุน  ณ  ศาลาได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยละเอียดทุกประการ

 

          ขณะพัก  ณ  เมืองแถงได้รับพระราชหัตถเลขา

 

ร,ที่๖๖๖/๔๘  ว,ว, ๕                    วัน  จันทร์  แรม  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ปีจอ    ความว่า

          .  .  .  พระวิภาคภูวดลแจ้งความต่อกรมหลวงเทวะวงษว่า  กายตงพระสวามิภักดิ์สยามเขตร์เจ้าเมืองแถงนั้นเป็นคนรู้การงานกว้างขวาง มาก    ถ้าเราจะจัดการเอาเมืองพวนแลเมืองเหล่านี้เป็นของเรา    การตื้นฦกหนาบางเก่าใหม่อันใดกายตงรู้ทั้งสิ้น    ถ้าได้พบกับมองสิเออปาวีซึ่งจะเป็นไวศกงซุลฝรั่งเศสที่เมืองหลวงพระบาง    ถ้ากายตงเข้าเป็นผู้แนะนำแล้ว  น่ากลัวจะเสียการ

          .  .  .  ถ้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ขึ้นไปจัดการถึงเมืองแถง    จะปูนบำเหน็จให้กายตงได้กินเมืองแถงตามเดิม  ใจคอกายตงจะเป็นประการใดก็ประมาณไม่ได้    เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นคนได้พบปะกัน  ขอให้พิเคราะหืใคร่ครวญการน่าหลังให้ตลอด    ฝ่ายพระวิภาคภูวดลนั้น  ขอให้เอาตัวลงมาเสียกรุงเทพจึงจะรักษาหัวเมืองเหล่านั้นต่อไปได้  .  .  .  ถ้าเห็นว่าจะไว้ใจไม่ได้จริงดังคำพระวิภาคภูวดลว่า    ก็ให้อุบายว่าจะพาตัวลงมารับบำเหน็จความชอบ  ณ  กรุงเทพ  อย่าให้เป็นที่สดุ้งสะเทือน    ให้เอาลงมาด้วยในกองทัพเวลาที่จะกลับ   ถ้าเห็นว่าจะเป็นที่ไว้วางใจได้ก็แล้วแต่จะคิดวางการ    ตามแต่ที่จะเป็นประโยชน์ในราชการเถิด

          อนึ่ง  มองสิเออปาวี  ซึ่งเป็นผู้มาเป็นกงซุลขึ้นไป  ณ  เมืองหลวงพระบางครั้งนี้   ก็มีความประสงค์ที่จะทำแผนที่แลตรวจการค้าขาย     โดยจริงเห็นจะยังไม่เป็นเหตุ  ที่จะคิดขึ้นไปหาความเอาเมืองหลวงพระบาง เป็นของฝรั่งเศสในครั้งนี้  .  .  .  การซึ่งฝรั่งเศสไม่รุนแรงไปดังนี้  ก็เพราะการในเมืองเขมร  เมืองญวนเต็มมือจริงๆ    ในบัดนี้ก็ได้ข่าวว่าไปเสียทีฮ่อเข้าอีก    ฮ่อมากถึง  ๔,๐๐๐  คน  ฝ่ายการในประเทศยุโรปก็หนาวๆ ร้อนๆ กันอยู่    กลัวจะเกิดสงครามขึ้น    คำสั่งของคอเวอนแมนต์ในเวลานี้    คงจะสั่งให้รักษาไมตรีตามแบบที่ระแวงการสงคราม

ฯลฯ


 

          แม่ทัพได้รับตราพระราชสีห์ ที่  ๒๑๘  ลง  วันเสาร์  เดือน  ๑๒  แรม  ๓  ค่ำ  ปีจอ  (วันที่  ๑๓  พฤศจิกายน  ๒๔๒๙)   ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการว่า    ถ้าแม่ทัพได้ปราบปรามพวกฮ่อ  กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตต์แขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถงเมืองสิบสองจุไทย  เสร็จราชการแล้ว    ก็ให้แม่ทัพเลิกกองทัพมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  ก่อนหน้าฤดูฝนในปีกุนนพศก  จุลศักราช  ๑๒๔๙  พ.ศ.๒๔๓๐

          เมื่อได้รับพระบรมราชโองการตามตราพระราชสีห์แล้ว    แม่ทัพจึงสั่งการกำหนดเวลาให้ท้าวขุน  และฝ่ายพวกหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองสิบสองจุไทยให้ลงมาพร้อมกัน  ณ  เมืองหลวงพระบางก่อน   เพื่อจะได้ชี้แจงข้อราชการ    ทั้งจะได้ให้เจ้าเมืองนครหลวงพระบางจัดราชการทางเมืองฝ่ายหัวพันทั้งห้าทั้งหก  เลือกสรรท้าวขุนและเพี้ยกรมการที่มีสติปัญญาสามารถตั้งแต่งขึ้นให้ เป็นหัวพันผู้รักษาเมืองทั้งปวงให้เรียบร้อย      กำหนดให้ลงมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง  ณ  วันพุธ  เดือน  ๓  ขึ้น  ๓  ค่ำ  ปีจอ   (ตรงกับ  วันที่  ๒๖  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๙)

 

ชนะศึก

          ครับ  .  .  .  เมื่อได้ชนะศึก  ได้รับพระบรมราชโองการให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร   และได้นัดหมายประชุมชี้แจงข้อราชการดังกล่าวแล้ว    ท่านแม่ทัพก็ตระเตรียมกองทัพยกกลับมายังเมืองนครหลวงพระบาง    ได้ออกเรือจากเมืองแถงค่ายเชียงแล  ในวันอังคาร  เดือน  ๔  ขึ้น  ๑  ค่ำ     ตรงกับ  วันที่  ๒๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๙    เรือล่องลงมาถึงสบน้ำนัว    ล่องตามน้ำนัว  จนถึงวันศุกร์ที่  ๒๕  กุมภาพันธ์  ออกจากปากน้ำนัว    กระบวนเจ้าเมืองนครหลวงพระบางมาคอยรับ  ล่องลำน้ำอู  ต่อไป

 

          วันจันทร์ที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๔๒๙    ถึงเมืองงอย    พักอยู่  ๒  วัน  เพื่อฉลองพระเจดีย์  ซึ่งสร้างไว้บนยอดเขาเมืองงอย     พระเจดีย์นี้แม่ทัพและนายทัพนายกองกับทหารทั้งปวงได้สร้างขึ้นไว้เป็นเครื่องบูชาในพระพุทธศาสนาและเป็นเครื่งองระลึกถึงกองทัพ

 

          วันอาทิตย์ที่  ๖  มีนาคม  ๒๔๒๙    ถึงบ้านปากอู    พระยาสุโขทัยกับเจ้าราชภาคิไนยซึ่งได้ยกมาก่อนได้มาคอยรับ  และทำเป็นประตูเมืองไว้คอยรับที่ปากน้ำอูด้วย  กับปลูกปะรำและที่พักไว้ รับเป็นอันมาก  ตกแต่งด้วยดอกไม้สดกับมีพระสงฆ์คอยประพรมน้ำพระพุทธมนตร์ที่กองทัพจะผ่าน ไป    เวลากลางคืนมีการเล่นฉลองหลายอย่าง  ด้วยความชื่นชมยินดี

 

 

 

 

          รุ่งขึ้น  ได้รับพระราชหัตถเลขา

 

ร,ที่  ๙๓๙/๔๘  ว,ว,  ๖          วันอาทิตย์  แรม  ๖  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีจอ    (วันที่  ๑๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๒๙)

          .  .  .  ว่าด้วยเรื่องท้าวไลกับบุตร์  และเรื่องที่จะจัดการเมืองไลเมืองแถงเมืองสิบสองจุไทย นั้น   ได้รับทราบความแล้ว    เราเห็นชอบในการที่พระนายไวยคิดการจะจัดไปภายหน้าและที่ได้จัดไปแล้วทุกประการ    เห็นว่าเวลาที่จะสั่งการอันใดก็หมดแล้ว    กองทัพคงจะกลับในเร็วๆ นี้    เพราะฉนั้น   จะกล่าวยืดยาวต่อไปอีกก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใด    จึงขอยุติไว้ทีหนึ่ง

                                                                                                                                                  

 

           เมื่อเจ้านครหลวงพระบางได้ทราบว่ากองทัพมีชัยชนะแก่พวกฮ่อปรปักษ์แล้วจึงได้ ป่าวร้องราษฎรทุกๆ  ตาแสง  (คำว่าตาแสงนั้น  ครงกับหน้าที่นายอำเภอ)    ทั้ง  ๒  ฝั่งแม่น้ำอู  และแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครหลวงพระบางให้มาคอยรับ    กับจัดเรือขนาน  ๒  ลำ  เทียบคู่ทำเป็นเรือนเล็กๆ  อยู่บนเรือขนานนั้นหลายลำ  สำหรับแม่ทัพนายทัพมายกองกับพลทหารซึ่งกลับมาจากราชการสงครามนั้น   ประชาชนพลเมืองนำดอกไม้ธูปเทียนมาคอยบูชาอยู่ที่ปากน้ำอู    พอกระบวนเรือออกจากปากน้ำอูราษฏรก็พากันโห่ร้องและบรรเลงเพลงขับลำด้วยความชื่นชมยินดี    และมีราษฎรมาคอยรับตลอดทาง

          วันพุธ  แรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๔  ปีจอ    (๙ มีนาคม  ๒๔๒๙)  เวลาบ่าย  ๑  โมง  กองทัพก็ยกลงมาถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง    เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายลาวพร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการและตาแสงมาคอยต้อนรับ อยู่ที่ท่านั้น    เจ้านครหลวงพระบางให้ทำซุ้มประตูและตบแต่งประตับประดาด้วยธงทิวและเครื่อง ศัสตราวุธซึ่งกองทัพได้ไปรบมีชัยชนะและริบเอามานั้น    ขนานนามว่า  ประตูสิทธิไชยทวาร  มีปะรำตบแต่งประตับประดาด้วยมาลามาลี  และมีพระสงฆ์คอยสวดไชยยันโตในขณะที่กองทัพเดินผ่านลอดซุ้มประตู    พวกประชาชนพลเมืองถือดอกไม้ธูปเทียนมาคอยบูชารับกองทัพอยู่ทั้งสองข้างทาง  ตลอดไปจนถึงทำเนียบที่พักชองแม่ทัพและกองทัพนั้น

 

 

 

ประตูสิทธิไชยทวาร   เจ้านายท้าวพระยาในเมืองนครหลวงพระบางทำรับท่านแม่ทัพเมื่อปราบฮ่อเรียบร้อยแล้ว

กลับลงมาเมืองนครหลวงพระบาง  

 

 

          ในระหว่างที่เคลื่อนขบวนเข้าไปในเมืองนครหลวงพระบาง    มองซิเออร์ ปาวีย์   ได้มาคอยรับและถ่ายรูปตั้งแต่กองทัพได้ยกเดินขึ้นบกตลอดจนเข้าในเมืองนคร หลวงพระบาง   ซึ่งต่อมาได้ส่งออกไปประเทศฝรั่งเศส  และรูปนั้นได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฟิกาโร

          รัฐบาลฝรั่งเศสจะตั้ง  มองซิเออร์  ปาวี  (Auguste  Pavie)  ให้เป็นไวส์กงซุลของฝรั่งเศสอยู่ที่เมืองนครหลวงพระบาง    มองซิเออร์  ปาวีย์  จึงหาที่ตั้งสำนักงานไวส์กงซุล  ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถ แม่ทัพได้ช่วยสงเคราะห์ให้จนมองซิเออร์  ปาวีย์นับถือและเกรงใจแม่ทัพยิ่งขึ้น    และเมื่อมองซิเออร์  ปาวี จะขึ้นไปราชการเมืองฮานอย  ก็ได้มาลาท่านแม่ทัพ  ซึ่งก็ได้แนะนำและอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกในการเดินทางเป็นอย่างดี    มองซิเออร์  ปาวีย์ออกจากเมืองนครหลวงพระบาง  วันพุธ  เดือน  ๕  ขึ้น  ๘  ค่ำ  ปีจอ   (๑๑  เมษายน  ๒๔๒๙)

          เจ้าหมื่นไวยวรนารถ แม่ทัพ  และเจ้านครพลวงพระบางได้จัดการตั้งแต่งท้าวขุน  และพวกหัวพันให้เป็นผู้รักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองแถง แขวงเมืองสิบสองจุไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็เตรียมถอยกองทัพกลับมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร    ให้พระพหลพลพยุหเสนา  (กิ่ม)  ยกล่วงหน้าลงมาก่อน    และการจัดราชการ ถอนทัพนั้นก็ได้จัดระเบียบวางการไว้เสร็จแล้ว    และเห็นว่าเมืองนครหลวงพระบางติดราชการทัพศึกมาหลายปีหาได้นำต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการลงมายังกรุงเทพฯ ไม่    จึงจัดให้เจ้าราชวงศ์ และเจ้าราชภาคิไนยพร้อมด้วยท้าวพระยาเพี้ยขุนในเมืองนครหลวงพระบางนำต้นไม้ เงินและทองเครื่องราชบรรณาการมาพร้อมกับกองทัพด้วย  กับเลือกท้าวขุนกรมการและพวกหัวพันใหญ่น้อยในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้ง หก   และสิบสองจุไทย  ให้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  ในคราวนี้  ๑๕๐  คนเศษ  กับพวกจีนฮ่อซึ่งเป็นหัวหน้าในตำบลต่างๆ  ๙๐  คนเศษ

          วันอังคาร  ขึ้น  ๕  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีกุน     เวลา  ๕  โมง  ๒๐  นาที   ( ๒๖  เมษายน  ๒๔๓๐, ๑๑:๒๐)    เจ้าหมื่นไวยวรนารถ แม่ทัพ  พร้อมด้วยนายทัพนายกองก็ยกกองทัพออกจากท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานีล่องตามลำแม่น้ำโขง - ท่าเลื่อน  (พักแรม  ๑  คืน) - แก่งมอง - เมืองนาน   (ไม่ใช่เมืองน่านของเรา  -  หยุดพักบวงสรวงเทพารักษ์ตามธรรมเนียม แต่โบราณกาล  พักแรม  ๒  วัน) - ท่าเดื่อ - ไค้หอม   (พักแรม  ๑  คืน) - แก่งหลวง - แก่งยอม   (พักแรม  ๑  คืน) - หนองเขียว   (พักแรม  ๑  คืน) - ปากราย   พวกเจ้านายบุตรหลานในเมืองนครหลวงพระบางก็ลากลับไปยังบ้านเมือง

 

         ได้รับพระราชหัตถเลขา

ร,ที่  ๙๗๑/๔๘  ว,ว, ๗          วันจันทร์  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือน  ๔  ปีจอ    (๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๔๒๙)      ความว่า

          .  .  .  ซึ่งปฤกษาตกลงกันกับพระวิภาคภูวดล  คิดการทำแผนที่ตามซึ่งได้บอกระยะและส่งแผนที่ลงมานั้น  ก็เห็นชอบด้วยแล้ว

          มีความวิตกอยู่ด้วยเรื่องมองสิเออปาวี  กับหลวงพิษณุเทพหน่อยหนึ่ง  .  .  .  จึงจดหมายฉะบับนี้เพื่อจะตอบรับหนังสือแลเห็นชอบในความคิดการเซอรเวเท่านั้น

                                                                                                                                     

 

 

          วันอังคาร  ขึ้น  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีกุน    (๓  พฤษภาคม  ๒๔๓๐)    กองทัพหยุดตรวจตราจำนวนช้างที่มาคอยรับกองทัพ  รวม  ๑๙๖  ช้าง    จัดให้ท้าวขุนและหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองสิบสองจุไทย  กับหัวหน้าพวกฮ่อยกขึ้นไปก่อน

          วันพุธ  ขึ้น  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีกุน  เวลาเช้า  ๒ โมงครึ่ง    กองทัพได้ยกขึ้นบกจากท่าปากราย เดินถึง - เมืองวา  (พักแรม  ๑  คืน) - บ้านเบี้ย

 

          ได้รับพระราชหัตถเลขา

ร,ที่  ๑๐๖๓/๔๘  ว,ว, ๙          วัน  อังคาร  แรม  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๔  ปีจอ    (๒๒  มีนาคม  ๒๔๒๙)          ความว่า

ฯลฯ

          การซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถทำโดยความอุตสาหตรึกตรองที่จะให้ราชการเป็นหลัก ถานมั่นคงสืบไปภายน่านั้นเป็นความดีนักหนาอยู่แล้ว    แต่การเรื่องที่เป็นอันจำเป็นจะต้องวิวาทกับเจ้าเมืองไลนั้น  ก็เป็นการล่วงไปแล้ว  ยังมีช่องที่น่ากลัวจะเกิดเหตุเพราะเจ้าเมืองไลอยู่มาก  ให้คิดหวาดหวั่นใจไปว่า  กลัวการจะไม่สำเร็จลงได้ในครั้งนี้    แต่ซึ่งเอากายตงและท้าวขุนลงมากรุงเทพฯ  เสียด้วยในครั้งนี้เป็นการดีแล้ว   ด้วยกายตงคนนี้เป็นคู่วิวาทกับเจ้าเมืองไล    ถ้าให้อยู่ที่เมืองแถง  พอกองทัพเราถอยกลับลงมาแล้ว  น่าที่เจ้าเมืองไลจะมาคิดทำร้ายกายตง  แก้แค้นในเหตุซึ่งจะต้องเข้าใจว่าบุตร์ซึ่งต้องจับไว้ทั้ง  ๓  คนนั้นเป็นเพราะกายตงคิดอ่านยุยง  .  .  .  ในเวลายังวิตกอยู่ข้อเดียวแต่ที่ท้าวพระยาเมืองหลวงพระบางซึ่งจะไปตั้ง รักษาเมืองแถงอยู่นั้นจะไม่กล้าแข็งป้องกันเมืองไว้ได้    ถ้าทิ้งบ้านเมืองมาเสีย  ก็จะต้องรื้อทำการใหม่ต่อไปอีก    แต่จะจัดอย่างอื่นก็ไม่ได้อยู่เอง

          เมืองสิบสองจุไทยซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถถามมาว่าจะให้เอาไว้เป็นพระราชอาณา เขตร์ฤๅประการใดนั้น    ได้หาฤๅกรมหลวงเทวะวงษ์เห็นว่าควรจะรวมเอาไว้ก่อน    เมื่อจะแบ่งปัน เขตร์แดนกับฝรั่งเศส  จะว่ากล่าวขอร้องกันประการใด    เมื่อควรจะปลดให้จึงจะปลดให้ไปต่อภายหลัง    การอืนๆ ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถทำไปนั้น  ได้เห็นชอบด้วยแล้วทุกประการ

                                                                                                                                                                    

                                      

  

        หนทางจากบ้ายปากรายถึงบ้านเบี้ยนี้    แม่ทัพได้ตรวจดูเห็นว่าหนทางดีมากถ้าจะทำทางรถไฟก็ได้  ไม่ลำบากเลย

 

          จากบ้านเบี้ย - ห้วยช้าง  (พักแรม  ๑  คืน)  - ปอน - ปางแดง - มะม่วง  ๗  ต้น  (พักแรม  ๑  คืน) - ปางเปรือย  (พักแรม  ๑  คืน) - ปางกุม  (พักแรม  ๑  คืน) - ปางสองห้อง  (พักแรม  ๑  คืน) 

          พระสงครามภักดีและอุปฮาดราชวงส์เมืองน้ำปาดได้ออกมาคอยรับ  มีคนเชิญดาบ  ๑  คู่  มีฆ้องกระแตและกลองแห่นำหน้ามา    เวลาเช้า  ๕  โมงครึ่ง    กองทัพมาถึงเมืองน้ำปาด  (พักแรม  ๑  คืน)    (ปัจจุบันคือ  อำเภอน้ำปาด  จังหวัดอุตรดิตถ์)

          จากเมืองน้ำปาด - ซำเตย  (พักแรม  ๑  คืน) - บ้านน้ำพี้  (พักแรม  ๑  คืน) - นาคนึง  (พักแรม  ๑  คืน)

          วันเสาร์  แรม  ๘  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีกุน   (๑๔  พฤษภาคม  ๒๔๓๐)   เวลา  ๔  โมงเช้า  ก็ได้บรรลุถึงเมืองพิชัย 

 

 

 

 

รูปแม่น้ำเมืองพิชัย    ถ่ายเมื่อกองทัพยกกลับลงมาจากเมืองหลวงพระบาง

 

 

          กรมการเมืองพิชัยได้จัดการไว้ก่อน คือ  ทำซุ้มทวารและทำเนียบที่พัก  มีเสาธงอยู่น่าทำเนียบชักธงบริวารรับรองด้วย    ครั้นกองทัพยกมาถึงซุ้มทวาร  พระสงฆ์สวดไชยยันโต พวกราษฎรก็ได้ตั้งโต๊ะจุดธูปเทียนบูชากองทัพตลอดสองข้างทางจนถึงทำเนียบที่พักซึ่งอยู่ริมน้ำ

          วันนี้    แม่ทัพได้ทำบุญนิมนต์พระมาสวดมนตร์ทำขวัญธงชัยด้วย    ในวันรุ่งขึ้น  พระมาฉัน    และมีการมหรสพฉลอง  ๓  วัน  ๓  คืน    กลางวันมีละครและหุ่นจีน    กลางคืนมีหนังจีนด้วย

 

 

 

 

 

ประตูที่เมืองพิชัย    ทำรับกองทัพเมื่อเสร็จการปราบฮ่อยกกลับมายังเมืองพิชัย

 

 

            วันเสาร์  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีกุน   (๒๘  พฤษภาคม  ๒๔๓๐)    กองทัพก็ยกออกจากเมืองพิชัย    พวกจีนพ่อค้ากับราษฎรจัดกระบวนแห่ส่ง  มีม้าล่อ  เล่าโก๊  และธงทิวอย่างจีนมีสีต่างๆ  เป็นอันมาก    กับมีธงใหญ่นำหน้ากองทัพจารึกว่า  ไฮ้สุยของประเทศสยาม    ราษฎรก็ได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาจุดบูชาอยู่  ๒  ฟากฝั่งทาง    พระสงฆ์ตามอารามต่างๆ  ก็สวดไชยยัยโตให้แก่กองทัพทุกวันตลอดทาง

          ครั้นถึงเมืองพิษณุโลก    แม่ทัพและพวกนายทัพนายกองได้นมัสการพระพุทธชินราช    แม่ทัพได้ปลดเครื่องแต่งตัวซึ่งแต่งไปในคราวรบทัพ  กับ  สัปทน  สักหลาดแดงถวายพระพุทธชินราช เป็นปูชนียการตามจารีตโบราณกาล

          วันเสาร์  ขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีกุน   (๔  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    ถึงเมืองพรม    พบพระชลยุทธโยธินกับพระวรเดช  คุมเรือกลไฟ  ๗  ลำ  และเรือโบตปิกนิคมารับกองทัพ แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มารับกองทัพด้วย

          วันจันทร์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีกุน   (๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    กองทัพก็ได้ยกถึงกรุงเทพพระมหานคร

 

 

เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

 

 

 

 

          วันศุกร์   แรม  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีกุน   (๑๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    เวลาย่ำค่ำ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก  ณ  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ  ได้นำแม่ทัพและนายทัพนายกองเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท    รวม  ๓๕  ท่าน  คือ

          ๑. นายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ    แม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ    ๒. นายพันโท  พระพหลพลพยุหเสนา    ๓. นายพันตรี  จ่ายวด    ๔. นายร้อยเอก  เทียนฮี้    นายแพทย์ทหาร    ๕. นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ    ๖.  นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ    ๗.  นายร้อยเอก  หลวงหัตถสารศุภกิจ     ๘.  นายร้อยเอก  เฟื่อง    ๙.  นายร้อยโท  ปุ้ย    ๑๐.  นายร้อยโท  เจริญ    ๑๑.  นายร้อยโท  แจ    ๑๒. นายร้อยโท  ดวง    ๑๓. นายร้อยโท  แขก    ๑๔. นายร้อยโท  จิ๋ว    ๑๕. นายร้อยโท  ทัด    ๑๖.  นายร้อยโท  หม่อมราชวงศ์  ท้วม    ๑๗.นายร้อยโท  สวน    ๑๘. นายร้อยโท  เพิ่ม    ๑๙. นายร้อยตรี  เจริญ    ๒๐. นายร้อยตรี  เจ๊ก    ๒๑ นายร้อยตรี  พลอย    ๒๒. นายร้อยตรี  วัน    ๒๓. นายร้อยตรี  เอี่ยม    ๒๔. นายร้อยตรี  เพ็ชร์    ๒๕. นายร้อยตรี  ฉุน    ๒๖. นายร้อยตรี  ดัด    ๒๗. นายร้อยตรี  หม่อมราชวงศ์  ตาบ    ๒๘. นาย  แจ่ม  แช๊ปแลน    ๒๙. หลวงเขตต์ตานุรักษ์  พนักงานกรมนา    ๓๐.พระอินทรแสนแสง  ปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร   ๓๑. พระเพ็ชรสงคราม    ๓๒. พระพล  เมืองสวรรคโลก    ๓๓ หลวงภักดีภูเบศร์  เมืองสวรรคโลก    ๓๔.หลวงมหาดไทย  เมืองอุตตรดิตถ์    ๓๕.หลวงชนะสงคราม  ปลัดเมืองกง

          แล้วนายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ    แม่ทัพกับพระยาศรีสหเทพได้นำนายทัพนายกอง  เจ้าท้าวพระยาในเมืองนครหลวงพระบาง  กับเจ้าเมืองกรมการท้าวขุนแลพวกหัวพัน ทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทยกับพวกหัวหน้าจีนฮ่อต่างๆ    พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินทอง  เป็นต้น   เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท   คือ

          ๑. เจ้าราชวงศ์    ๒. เจ้าราชภาคิไนย    ๓. พระยาพิศาลอุไทย    ๔. พระยาบุรินทรเขตต์    ๕. พระยาศรีสุมัง    ๖. พระยาศุภวงศ์    ๗. พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์    ๘. แสนพรหมเทพจินดา    ๙. แสนดุษดีพิทักษื    ๑๐. ท้าวปุง    ๑๑. แสนหลวงวิเศษชุมพล    ๑๒.ท้าวภู    ๑๓. ท้าวแจว    ๑๔. ท้าวรำ    ๑๕. ท้าวพ้อง    ๑๖. กวายซือ    ๑๗. ท้าวพันโลติ    ๑๘. ท้าวด่าง    ๑๙. ท้าวม่วย    ๒๐. ท้าวหัว    ๒๑. ท้าวดี    ๒๒. ท้าวทราย    ๒๓. ท้าวควาย    ๒๔. ท้าวสม    ๒๕. ท้าวพรหม    ๒๖. เพี้ยพรมวงษา    ๒๗. ท้าวดี    ๒๘. ท้าวสาร    ๒๙. พรหมมหาไชย    ๓๐. ท้าวแก้ว    ๓๑. แสนราชา    ๓๒. แสนคำมงคล    ๓๓. แสนราชา    ๓๔. ท้าวหลวง    ๓๕. ท้าวดุษดี    ๓๖. ท้าวลัด  กับพวกหัวหน้าฮ่อทั้งปวง

 

พระราชทานสัญญาบัตร  และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

          วัน เสาร์   ขึ้น  ๕  ค่ำ  เดือน  ๘  ปีกุน   (๒๕  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    เวลาย่ำค่ำ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก  ณ  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   ทรงพระกรุณา         พระราชทานสัญญาบัตร  และเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ทหารและข้าราชการหัวมืองที่ได้รับราชการไปในกองทัพ  คือ

          ๑. ให้นายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  น.ช.ม.ม.    เป็นนายพลตรีและเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี   ผู้บัญชาการกรมยุทธภัณฑ์  ในกรมยุทธนาธิการ    และพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ช้างเผือกสยาม ชั้นที่  ๒  จุลวราภรณ์  จ.ช.    กับตราสำหรับตระกูล  ชื่อทุติยจุลจอมเกล้า  ท.จ.ว.    ดังมีข้อความแจ้งอยู่ในสัญญาบัตรและประกาศนียบัตรนั้นแล้ว

          ๒. ให้นายพันตรี  จ่ายวด    เป็นพระพลัษฏานุรักษ์    ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธภัณฑ์  ในกรมยุทธนาธิการ  กับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยยศช้างเผือกสยามชั้นที่  ๓  ชื่อนิภาภรณ์

          ๓. นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจ    มงกุฎสยามชั้นที่  ๓  มัณฑณาภรณ์

          ๔. นายร้อยโท  ปุ้ย                                ช้างเผือกสยามชั้นที่  ๔  ภูษนาภรณ์

          ๕. นายร้อยโท  แขก                                                      "

          ๖. นายร้อยโท  หรุ่น                                                       " 
         
          ๗. นายร้อยโท  พลอย                                                  "

          ๘. นายร้อยโท  หม่อมราชวงศ์  ตาบ     มงกุฎสยามชั้นที่  ๕  วิจิตราภรณ์   

          ๙. นายร้อยตรี  ดัด                                                              "

         ๑๐. นายดิษฐ์  คะเด็ด                               ได้รับพระราชทาน เหรียญจักร์มาลา

         ๑๑. นายเทศ  คะเด็ด                                                               "

         ๑๒.จ่านายสิบ  นิล                                                                   "

         ๑๓. นายสิบเอกกลิ่น                                                                "

         ๑๔. นายสิบเอก  ชาม                                                               "

         ๑๕. นายสิบเอก  สุด                                                                 "

         ๑๖. พลทหาร  นิ่ม                                                                     "

         ๑๗. พระอินทรแสนแสง  ปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร    ช้างเผือกสยามชั้นที่  ๔  ภูษนาภรณ์  

         ๑๘. พระเพ็ชรสงคราม  เมืองสวรรคโลก        มงกุฎสยามชั้นที่  ๔  ภัทราภรณ์

         ๑๙. พระพล  เมืองสวรรคโลก    มงกุฎสยามชั้นที่  ๔  ภัทราภรณ์

         ๒๐. หลวงภักดีภูเบศร์  เมืองสวรรคโลก    มงกุฎสยามชั้นที่  ๕  วิจิตราภรณ์

         ๒๑. หลวงมหาดไทย  เมืองอุตตรดิตถ์     มงกุฎสยามชั้นที่  ๕  วิจิตราภรณ์

          กับพวกเจ้าท้าวพระยาลาวและพวกท้าวขุนหัวพัน  ที่มาด้วยกับกองทัพนั้น    ก็ได้รับพระราชทานตราและเหรียญถ้วนหน้ากัน   ตามขั้นของผู้ที่มีความชอบ

 

          ครั้นแล้ว  เจ้าท้าวพระยาลาวและพวกท้าวขุนหัวพันต่างๆ  ก็เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาไปรักษาราชการ  ณ  บ้านเมืองของตนต่อไป    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสปฏิสันถานด้วยพอสมควรแก่เวลา    แล้วก็เสด็จขึ้น


 

 

 ครับ  .  .  .  การปราบฮ่อตาม  พระราชดำริ และพระบรมราโชบาย 

          .  .  .  จะขอจัดกองทัพเป็นอย่างใหม่  ให้ยกขึ้นไปทันในแล้งนี้  เพื่อปราบปรามพวกฮ่อให้สำเร็จจนได้   .   .   .  

ก็บรรลุผลดังพระราชประสงค์   

           อย่างไรก็ดี    ในการปราบฮ่อครั้งที่  ๒  นี้    ท่านแม่ทัพได้ปรับข้อควรแก้ไขจากครั้งก่อน  ในเรื่องการสุขาภิบาลในสนาม  จีงไม่เกิดโรคระบาดในกองทัพ  และแพร่ออกไป   นับว่าแก้ปัญหาได้สำเร็จ

          แต่ก็เกิดปัญหาในเรื่องไข้ป่า   ซึ่งท่านได้เตรียมป้องกันด้วยการจัดนายแพทย์ไปในกองทัพและเตรียมยาควินินไปด้วย   แต่เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนยาเนื่องจากนายแพทย์ได้จัดยาไว้ในขบวนสัมภาระที่จะให้ทางเมืองพิชัยจัดส่งให้ภายหลัง  แต่เกิดปัญหาในระดับผู้บริหารเรื่องการจัดส่งจนเป็นผลกระทบถึงกำลังรบดังได้กล่าวแล้ว    ซึ่งท่านแม่ทัพได้ส่งตัวผู้เป็นสาเหตุของความเสียหาย  คือพระยาพิไชย ให้หน่วยเหนือดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

          นอกจากนี้    ท่านแม่ทัพยังได้ประดิษฐ์เครื่องบรรทุกหลังช้าง  (แหย่ง)  และเครื่องมือต่างๆ  ซึ่งทำให้ช้างไม่บาดเจ็บ  ทำให้ช้างบรรทุกสัมภาระได้มากขึ้น    นับเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการบรรทุกของช้างให้สูงขึ้น

          เป็นการใช้หน่วยทหารที่ได้รับการฝีกแบบยุโรป   และอาวุธใหม่ (ปืนใหญ่อาร์มสตรอง) ทำการรบเป็นครั้งแรก

 

          ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองนั้น  .  .  .  ชั่วเวลาไม่นาน  พวกฮ่อก็ก่อการกำเริบขึ้นอีก   ครับ  .  .  .  เมื่อกำเริบอีก ก็ปราบกันอีก  .  .  .   ปราบฮ่อ  ครั้งที่  ๓  ต่อไปครับ    และ   ต่อไป  .  .  .  ปราบฮ่อ  ครั้งที่  ๓ 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๓)  

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๓) 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ  (๓) 

 

 

 

บรรณานุกรม

          - ประวัติการ ของ  จอมพล และ มหาอำมาตย์เอก  เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม  แสง-ชูโต)  ฉบับรวบรวมครั้งสุดท้าย  ๒๘  มีนาคม  ๒๕๐๔  โรงพิมพ์ศรีหงส์  พระนคร  พ.ศ.๒๕๐๔

          - ไทยปราบฮ่อ    เอกสารประวัติศาสตร์ไทย  ของ  ม.ล.มานิจ  ชุมสาย    เฉลิมนิจ  ๒๕๒๒    โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงธรรมประทีป     กรุงเทพมหานคร

          - วิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.๑๑๒  ของจิราภรณ์   สถาปนะวรรธนะ  โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์   กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๒๓,      

          - กรณีพิพาท  ไทย - ฝรั่งเศส  ร.ศ.๑๑๒  ตามหลักฐานฝรั่งเศส    โดย  พันตรี  พีรพล  สงนุ้ย    ส่วนการศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับพิเศษ    สำนักพิมพ์มติชน   กรุงเทพฯ    มกราคม  ๒๕๔๕

          -  และจากเว็ปไซต์ต่างๆ บ้าง   ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

          - พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ   ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (492)
avatar
ปติตันขุนทด
ดีครับ    ได้ความรู้ดี
ผู้แสดงความคิดเห็น ปติตันขุนทด (suchati2495-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-02-20 21:07:34 IP : 125.26.83.66


ความคิดเห็นที่ 2 (493)
avatar
สัมพันธ์
ครับ    ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-02-21 08:12:20 IP : 125.25.123.233


ความคิดเห็นที่ 3 (523)
avatar
แมวเซา

ได้อ่านเรื่องราว และเห็นรูปภาพแล้ว ปลาบปลื้มและอิ่มใจมาก เป็นคนเมืองพิชัยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น แมวเซา วันที่ตอบ 2010-04-12 00:37:39 IP : 202.139.223.18


ความคิดเห็นที่ 4 (530)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณครับ

เชิญเขียน และนำภาพเมืองพิชัยเผยแพร่ก็เป็นประโยชน์ทั่วไปนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-18 13:01:58 IP : 124.121.42.155



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker