dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๓)

*  *  *

ครั้งที่  ๓   พ.ศ.๒๔๓๐ 

 

 

 

 

 สถานการณ์เดิม  .  .  .   ตราพระราชสีห์ ที่  ๒๑๘  ลง  วันเสาร์  เดือน  ๑๒  แรม  ๓  ค่ำ  ปีจอ  (วันที่  ๑๓  พฤศจิกายน  ๒๔๒๙)   ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการว่า    ถ้าแม่ทัพได้ปราบปรามพวกฮ่อ  กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตต์แขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถงเมืองสิบสองจุไทย  เสร็จราชการแล้ว  ก็ให้แม่ทัพเลิกกองทัพมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  ก่อนหน้าฤดูฝนในปีกุนนพศก  จุลศักราช  ๑๒๔๙  พ.ศ.๒๔๓๐

          วันจันทร์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีกุน   (๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    กองทัพก็ได้ยกถึงกรุงเทพพระมหานคร

          ครับ  .  .  .  เมื่อนายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  ได้เป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือปราบปรามพวกฮ่อ  กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถง  (ปัจจุบันคือ  เดียน เบียน ฟู)  เมืองสิบสองจุไทย    เสร็จเรียบร้อย  และได้นำกองทัพกลับถึงกรุงเทพพระมหานครฯ  ตามกระแสพระบรมราชโองการเมื่อ  วันที่  ๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐  แล้วนั้น   และได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น นายพลตรี  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  

          เมื่อพวกฮ่อก็ก่อการกำเริบที่เมืองนครหลวงพระบาง    จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ "ขึ้นไปปราบอีกครั้ง  ๑"

          ครับ  .  .  .  ปราบฮ่อ  ครั้งที่  ๓  .  .  .  เชิญครับ

 

สถานการณ์ต่อไป

          วันอาทิตย์หนึ่ง  ในเดือน  ๘  พ.ศ.๒๔๓๐  (วันที่  ๒๖  มิถุนายน    ๓  ๑๐  และ  ๑๗  กรกฎาคม)    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช   สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ  และ  นายพลตรี  พระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานเรื่องราวที่ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  .  .  .

 

เมืองนครหลวงพระบาง  พ.ศ.๒๔๓๐

          ศุภอักษรของเจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้านครหลวงพระบาง  และใบบอกของหลวงพิศณุเทพข้าหลวง  .  .  .

               เจ้านครหลวงพระบางแต่งให้พระยาเชียงเหนือ  พระยาหมื่นน่า  และพระยานาใต้  คุมไพร่ท่านละ  ๑๐๐  ไปรักษาเมืองงอย  เมืองขวา  และบ้านเพี้ยพันธุระโกไสย ในลำน้ำนัว  ตามลำดับ    พระยาเชียงเหนือ  และพระยานาใต้ รายงานว่า  ไปถึงเมืองงอยเมื่อ  วันพฤหัสบดี  แรม  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๖  (ตรงกับ  วันที่  ๑๙  พฤษภาคม  ๒๔๓๐)  ให้คนถือหนังสือไปถึง พระยาเมืองขวา  ริมน้ำอู  เหนือปากน้ำนัว  แต่เมื่อไปถึงบ้านหาดสาพบพวกฮ่อ  และพวกไทยไลล่องเรือมา  ๔  ลำ    มีคนราว  ๖๐ - ๗๐  เข้ามาทำร้ายไล่ฟันราษฎร  ชาวบ้านแตกตื่นไปบ้าง  ล่องเรือหนีมาตามลำน้ำอูบ้าง    ชาวบ้านตามลำน้ำอู   พอทราบข่าวก็ตกใจตื่นแตกลงมาถึงเมืองงอย    ราษฎรในเมืองงอยก็แตกตื่นทั้งไพร่พลที่ไปรักษาเมืองก็ระส่ำระสายทิ้งพระยาเชียงเหนือ  และพระยานาใต้  ไม่ฟังคำห้ามปราม

          เจ้านครหลวงพระบาง  และ หลวงพิศณุเทพ  จัดให้พระยาเชียงใต้  และพระยาเมืองแพนคุมพล  ๘๐  จากเมืองหลวงพระบาง  เมื่อวันศุกร์  ขึ้น  ๖  ค่ำ  เดือน  ๗  (๒๗  พฤษภาคม  ๒๔๓๐)    และให้เจ้าอุปราชคุมพลอีก  ๑๐๐  ยกตามไป     ให้พระพิทักษ์บุรทิศร่วมไปด้วยเมื่อขึ้น  ๑๐  ค่ำ  เดือน  ๗  (๓๑  พฤษภาคม)     และให้เจ้าราชสัมพันธวงศ์  เจ้ากรมตำรวจ  พระยาเหนือขึ้นไปกวาดผู้คนตามลำน้ำเซือง  น้ำแซงอีกกองหนึ่ง  ไปบรรจบกับเจ้าอุปราช

           วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๗  (ตรงกับ  วันที่  ๒  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    พระพิทักษ์บุรทิศส่งต้นหนังสือฮ่อถึงเจ้านครหลวงพระบาง  ๒  ฉบับ  ซึ่งเจ้าอุปราชให้คนแปลแล้วว่า    ลูกท้าวไลซึ่งเจ้านายเอามาเลี้ยง    ถ้ามีโทษสิ่งใดท้าวไลขอโทษเสีย   อีกฉบับว่า  ว่างม้านมาฟ้องเจ้านายภายหลังเจ้านายจับลูกท้าวไลมา  ท้าวไลไม่รู้     (ท้าวไลเข้าใจว่าบุตรทั้งสามคนอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง)   

          วันรุ่งขึ้นได้รับหนังสือพระพิทักษ์บุรทิศความว่า   ยกไปถึงบ้านปากอู  พบพระยานาใต้ถือหนังสือพระยาเชียงเหนือ  พระยาเชียงใต้  พระยาหมื่นน่า  พระยาเมืองแพน  ว่าพวกเมืองไล  กับฮ่อประมาณ  ๑,๐๐๐  เศษ  ยกมาถึงบ้านสบวันใต้เมืองงอย     พระยานาใต้  พระยาหมื่นน่า จะสู้รบ  แต่ไพร่พลระส่ำระสาย  จึงส่งคนไปเจรจากับคำฮุมบุตรท้าวไลที่คุมคนมานั้นว่า  ถ้ามาดีให้พักอยู่ที่บ้านสบวันนั้น    แต่คำฮุมไม่ยอม  (หมายความว่ามาไม่ดี)    พระยานาใต้เห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน    ไพร่พลเมืองหลวงพระบางของหลวงพิศณุเทพก็แตกตื่น  จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนันตวรฤทธิเดช  เจ้าเมืองน่าน    และ เจ้านครหลวงพระบางก็มีไปอีกฉบับหนึ่ง   ขอกำลังมาช่วย  ๑,๐๐๐  คน 

           วันเสาร์  ขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๗  (ตรงกับ  วันที่  ๔  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    พวกเมืองไลพวกฮ่อมีหนังสือถึงเมืองหลวงพระบางความว่า  จัดเงินหมื่น  ๑    คำพัน  ๑    ม้า  ๔๐  ม้าลงมาถวายเจ้านครหลวงพระบางอย่าสงสัยว่าจะมาสู้รบ    และในค่ำวันนั้นราษฎรในเมืองนครหลวงพระบางที่ตกใจต่างขนของข้ามลำน้ำคานมาเมืองหลวงพระบาง    และในวันรุ่งขึ้น  ก็โจษกันว่าเจ้าอุปราชแตกฮ่อมา    (ความจริงเจ้าอุปราชถอนกลับมาโดยไม่ได้แตก)

          มองซิเออร์ปาวีพูดกับหลวงพิศณุเทพว่าอยู่ในเมืองไม่ได้เพราะราษฎรไม่คิดสู้  จึงชวนกันข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก  (ฝั่งขวา)  จะล่องเรือไปหาคนมารักษาเมือง แต่เจ้านครหลวงพระบางให้คนมาตามกลับไปนครเมืองหลวงพระบาง    และในค่ำวันนี้คำฮุมและพวกฮ่อยกมาตั้ที่บ้านปากอู

          หลวงพิศณุเทพกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์รวบรวมคนได้  ๑๕๐    คำฮุมให้คนมาหาพระสงฆ์ ๆ พาไปหาเสนาบดี  แจ้งว่า  มาดีไม่คิดทำอันตรายแก่เจ้านายแต่อย่างใด  จะมาขอบุตรท้าวไล  และจะขอเข้ามาในเมืองวันพรุ่งนี้

          วันจันทร์แรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๗  (๖  มิถุนายน  ๒๔๓๐) พวกฮ่อล่องเรือมาขึ้นที่ท่าวัดแสน  วัดเชียงทอง  ริมเมืองนครหลวงพระบาง  ขอเข้าเฝ้าเจ้านครหลวงพระบาง ๆ ไม่ให้เฝ้า

 

 

 

เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  (เจ้าอุ่นคำ)  เจ้านครหลวงพระบาง  (อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง)  พ.ศ.๒๔๑๕ - ๒๔๓๑   

ประทับบนราชบัลลังก์ ในพระราชวังหลวงเมืองนครหลวงพระบาง

 

          วันพุธ  แรม  ๓  ค่ำ  เดือน  ๗  (๘  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    ประมาณ  ๕  โมงเศษ    พวกฮ่อพากันถืออาวุธเข้าไปที่คุ้มเจ้านครหลวงพระบาง    ขณะนั้นฮ่อที่อยู่ในคุ้มและนอกคุ้มก็เป่าเขาควายและยิงปืนขึ้นพร้อมกัน    พวกลาวหลวงพระบางและพวกตองสู่กับเงี้ยวที่เป็นพ่อค้าก็ได้ยิงต่อสู้พวกฮ่อ    ปรากฏว่าตายไปฝ่ายละประมาณ  ๒๐  คนเศษ    เจ้านครหลวงพระบางต้องล่องเรือลงมาพักที่เมืองนาน  คืนหนึ่ง  แล้วล่องต่อไปอีก  ๒  คืน

          วันเสาร์  แรม  ๖  ค่ำ  เดือน  ๗    ถึงบ้านปากลาย  (ปาก - ลาย)  ซึ่งบุตรภรรยาเจ้านครหลวงพระบางและครอบครัวเจ้านายท้าวพระยาราษฎรมาพักอยู่ก่อนแล้ว   หลวงพิศณุเทพและ มองซิเออร์ปาวีก็อยู่ด้วย  แต่ไม่ปรากฏเจ้าอุปราช    เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งคนไปสืบความที่เมืองหลวงพระบาง

          เมื่อพระราชทานเรื่องราวที่ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วได้มีกระแสพระราชดำรัสแก่นายพลตรี  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  ว่า  "เจ้าต้องเป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบฮ่ออีกครั้ง  ๑    ส่วนการเสบียงอาหารนั้น  ข้าจะให้กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์ยกขึ้นไปเป็นกองเสบียงจัดการกำลังพาหนะอยู่   ณ  เมืองพิชัย  เตรียมไว้ส่งกองทัพเจ้า    ส่วนตัวเจ้าต้องเตรียมตัวจัดกองทัพบกไปโดยเร็ว"

 
 

          อย่างไรก็ตาม    มองซิเออร์  ปาวีกล่าวว่า  เมื่อวันที่  ๓๐  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๓๐    พวกฮ่อได้บุกเข้าทำลายเมืองหลวงพระบางหลังจากที่กองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถออก จากเมืองหลวงพระบางกลับกรุงเทพฯ  แล้วไม่กี่วัน   ซึ่งมองซิเออร์  ปาวี  อ้างว่าได้ช่วยเจ้าเมืองนครหลวงพระบางไว้  จนถึงกับกล่าวว่า 

          ".  .  .  ข้าพเจ้า ได้มอบความไว้วางใจทั้งหมดให้แก่ผู้ตรวจการสยาม    แต่เขาก็มาทิ้งข้าพเจ้าไปอย่างรวดเร็ว    และยังห้ามไม่ให้ข้าพเจ้ารับความคิดเห็น  และความช่วยเหลือจากท่าน    มาวันนี้  ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจมาก  เพราะข้าพเจ้าอยู่ที่นี่คนเดียว    ข้าพเจ้าขอร้อง  กรุณาอย่าทิ้งข้าพเจ้าไป  .  .  ."

 

 

การจัดการสงคราม

          ๑.  ให้กรมมหาดไทยมีตราถึง

                ๑.๑  พระภิรมย์ราชาข้าหลวง  ไปราชการเมืองพิชัย  รวมเสบียงอาหารเหลือจ่ายกองทัพ    ตกค้างที่เมืองพิชัย  เมืองพิษณุโลก

                 ๑.๒  พระยาศรีธรรมศุภราช  ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย    เป็นข้าหลวงสำเร็จราชการมืองพิชัย  จัดการลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะจ่ายกองทัพ    ตั้งแต่เมืองพิชัยไปถึงบ้านปากลายและรวบรวมช้าง  ม้า  โคต่าง  ในเมืองพิชัย  เมืองขึ้น  และเมืองใกล้เคียง
 
          ๒.  โปรดให้มีศุภอักษรถึงเจ้านครเมืองน่าน  ให้แต่งกำลังพลมาเมืองนครหลวงพระบางตามที่เจ้าเมืองนครหลวงพระบางขอไป    ถ้ากองทัพฮ่อยังอยู่ในเมือนครหลวงพระบางพอที่จะตีได้ก็ให้ตีแตกไป   ถ้ายังตีไม่ได้  ให้รอกองทัพจากกรุงเทพฯ    ถ้าฮ่อถอนไปจากเมืองนครหลวงพระบางแล้ว  ให้กองทัพเมืองน่านตั้งมั่นรักษาเมืองนครหลวงพระบางจนกองทัพกรุงเทพฯ  จะขึ้นไปถึง    และให้เกณฑ์ช้างลงมารับกองทัพพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่เมืองพิชัย  ให้ทันเดือน  ๑๐  ปีกุน  และคิดส่งลำเลียงเสบียงอาหารลงมารับกองทัพทางเมืองฮุง  บ้านนาดินดำทางหนึ่ง  ทางปากแบ่งทางหนึ่ง  ให้มากอที่จะเลี้ยงกองทัพ  

          ๓.  โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์เสด็จไปตรวจการลำเลียงเสบียงอาหาร  และส่งกองทัพ  ณ  เมืองพิชัย
         
          ๔.  โปรดให้  พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม  เป็นข้าหลวงใหญ่สำหรับเมืองนครหลวงพระบางราชธานี    ให้ขึ้นไปพร้อมกองทัพหน้า  ตั้งรักษาราชการเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร์ให้เข้ามาอยู่  ณ  เมืองนครหลวงพระบาง

          ๕.  โปรดเกล้าฯ ให้หลวงดัษกรปลาศ  คุมทหารกองทัพกรุงเทพฯ  พร้อมเจ้าราชบุตรว่าที่เจ้าราชวงศ์  เจ้าราชภาคิไนย  เมืองหลวงพระบาง  รวมทหารและไพร่พล  ๒๕๐    ยกไปเมืองนครหลวงพระบาง     ถ้านายฮ่อยังอยู่ในเมืองนครหลวงพระบาง  เห็นพอกำลังจะตีได้ก็ให้ตีแตกได้  ก็ให้ตีแตกฉาน   แล้วตั้งมั่นรอกองทัพใหญ่ไปถึง

          ๖.  โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี  คุมทหารไพร่พล  ๓,๐๐๐  คน   ยกขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบาง    เมื่อจัดการเสบียงอาหารเรียบร้อยแล้วให้ยกไปปราบปรามพวกฮ่อข้าศึกจนคลอดพระราชอาณาเขตต์  ให้ทันฤดูแล้ง  ปีกุน  นพศกนี้   (พ.ศ.๒๔๓๐)

 

๒๘  มิถุนายน  ๒๔๓๐    เจ้าเมืองไลเข้ายึดเมืองนครหลวงพระบาง

 

กองหน้า

          วันพฤหัสบดี  เดือน  ๘  แรม  ๙  ค่ำ  (๑๔ กรกฎาคม  ๒๔๓๐)    นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ และทหารนายไพร่กองหน้าได้กราบถวายบังคมลายกขึ้นไปเมือนครหลวงพระบาง  ทางเมืองพิชัย

          วันศุกร์  เดือน  ๘  แรม  ๑๐  ค่ำ  (๑๕ กรกฎาคม  ๒๔๓๐)    กรมมหาดไทยได้นำใบบอกหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า    ได้เตรียมกำลังไพร่พลที่จะยกไปช่วยเมืองนครหลวงพระบางเป็นการพร้อมเสร็จแล้ว


          วันจันทร์  เดือน  ๘  แรม  ๑๓  ค่ำ  (๑๘  กรกฎาคม  ๒๔๓๐)    พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์กราบถวายบังคมลาขึ้นไปตรวจการเสบียงอาหาร พาหนะในการที่จะส่งกองทัพ  ณ  เมืองพิชัย  

          วันศุกร์  เดือน  ๙  ขึ้น  ๒  ค่ำ  (๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๓๐)    พระยาศรีสิงหเทพนำพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม   (ทัด  สิงหเสนี)  ข้าหลวงที่  ๑    กราบถวายบังคมลาขึ้นไปเป็นข้าหลวงเมืองนครหลวงพระบางราชธานี

 

พวกฮ่อเผา เมืองนครหลวงพระบางราชธานี

          พวกฮ่อเก็บเอาทรัพย์สิ่งของของเจ้านายท้าวพระยาได้แล้ว  เผาคุ้มเจ้านครหลวงพระบาง    บ้านเจ้าอุปราช  เจ้าราชวงศ์  เจ้าสัมพันธวงศ์   และบ้านท้าวพระยาลาวยกหนีไปจากเมืองหลวงพระบาง แต่วันเสาร์  เดือน  ๗  แรม  ๖  ค่ำ    พระศรีเทพบาลเมืองพิชัยกับพระศรีอรรดฮาดเมืองเชียงคานขึ้นไป เมืองนครหลวงพระบางตรวจดูเห็นว่าบ้านเรือนถูกเผาเป็นจำนวนมาก  แต่เป็นฝีมือฮ่อเพียงคุ้มเจ้านาย  ๒ - ๓  แห่งเท่านั้น  นอกนั้นเป็นฝีมือผู้ร้ายชาวเมืองหลวงพระบางเอง และเมืองแก่นท้าวบ้าง    เมื่อพระศรีเทพบาล กับพระศรีอรรดฮาด ไปถึงและจัดพลตระเวนเหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อย    และยังสืบได้ความว่า  พวกฮ่อถอนไปตั้งที่  ปากบาก  กองหนึ่ง  ในลำน้ำบาก  กองหนึ่ง  เมืองงอยอีก  กองหนึ่ง    และมีแผนจะยกไปตีเมืองไสซึ่งเป็นเมืองขึ้น  และเมืองแข็งแรงของเมืองหลวงพระบาง     พระยาสุโขทัยก็มีหนังสือไปเมืองน่านให้รีบส่งกองทัพไปช่วยเมืองไส

          เจ้าอนันตวรฤทธิเดช  เจ้านครเมืองน่านมีหนังสือถึงเจ้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานี  ว่า  ได้ส่งเจ้านายไพร่พลและเสบียงอาหารมาช่วย เมืองนครหลวงพระบางและที่เมืองปากลายด้วยแล้ว

          เดือน  ๘  ขึ้น  ๘  ค่ำ  (๒๘  มิถุนายน  ๒๔๓๐)    เจ้านครเมืองน่านได้จัด  เจ้าน้อยมหาพรหม  หนานมหาเทพ  หนานมหาไชย  คุมไพร่พล  ๑๐๐    ยกไปช่วยราชการ เมืองนครหลวงพระบาง

 

 

คะเด็ตสกูล

 

          กิจการทหารโดยรวมนั้น    นับว่าได้เจริญก้าวหน้าขึ้น    คือการจัดกำลังเป็นกองทัพไว้ตั้งแต่ในยามปรกติ    และเมื่อกิจการทหารได้เป็นแบบเป็นแผนมากขึ้นแล้ว    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่า  ".  .  .  ตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรนั้นนับว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญ    เป็นการระวังการทุกข์  สุข  ของไพร่พลจำนวนมาก    ประการหนึ่ง  เป็นผู้ควบคุมนำกำลังเข้าต่อต้านขัาศึกนั้น    จะต้องเป็นผู้มีความรู้  ความสามารถ  มีอัธยาศัยมั่นคง  อยู่ในความเที่ยงธรรมจึงจะสามารถควบคุมไพร่พลได้โดยไม่เดือดร้อนระส่ำ ระสาย    การตั้งนายทหารสัญญาบัตรจึงเป็นการสำคัญย่างยิ่งในราชการทหาร    และเนื่องจากการแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์  หรือผู้มีความชอบ  มีไหวพริบดีขึ้นเป็นนายทหารยังไม่เป็นการเพียงพอ   อีกทั้งไม่ได้รับการศึกษาให้มีความรู้  ความสามารถในยุทธสงครามอีกด้วย  .  .  ."

 

          จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้จัดตั้ง  "คะเด็ตสกูล"  ขึ้น    โดยนายพลตรี  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารทั่วไป  ทรงคัดเลือกนักเรียนแผนที่  กับนักเรียนทหารสก๊อต  ในกรมทหารมหาดเล็ก    ส่งมารวมกับนักเรียนคะเด็ตสวนกุหลาบ  (คะเด็ตทหารมหาดเล็ก)  และคะเด็ตทหารหน้า    ให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนคะเด็ต  ซึ่งรวมตั้งขึ้นนั้น

 

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เปิดโรงเรียนขึ้น  เมื่อวันที่  ๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๓๐

 

 

ราชการปราบฮ่อ

 

           พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์เสด็จถึงเมืองพิชัยใน  วันอังคาร  เดือน  ๙  แรม  ๕  ค่ำ   (๙  สิงหาคม  ๒๔๓๐)   ทรงจัดวางการสะสมและลำเลียง(การส่งกำลังบำรุง)  เสบียงอาหาร  และ การระดมช้างเพื่อใช้ขนส่งกองทัพ

           วันอังคาร  เดือน  ๑๐  ขึ้น  ๕  ค่ำ  (๒๓  สิงหาคม  ๒๔๓๐)    พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม  หลวงดัษกรปลาศได้นำกองทัพหน้าถึงเมืองพิชัย    และได้ยกเดินทางต่อไปเมืองฝาง  เมื่อวันที่  ๒๗  สิงหาคม  ๒๔๓๐

          วันพฤหัสบดี  เดือน  ๑๐  แรม  ๑๓  ค่ำ   (๑๕  กันยายน  ๒๔๓๐)  เวลาบ่ายโมงเศษ   กำหนดกอมมิชันออฟฟิเซอร์ ทหารไปรเวทกรมทหารหน้ากราบถวายบังคมลาไปราชการเมืองนครหลวงพระบางเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    รวมนายไพร่  ๓  กองร้อย

 

 

 

กระแสพระบรมราชโองการพระราชทานทหาร  ณ  วันพฤหัสบดี  เดือน  ๑๐  แรม  ๑๓  ค่ำ  ปีกุน  นพศก

          "ทหารทั้งปวง    ธรรมดาผู้ซึ่งรับราชการเป็นทหาร  เป็นพนักงานที่จะต้องต่อสู้ข้าศึกศัตรูป้องกันไม่ให้มาทำอันตรายแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเรา    เพราะฉะนั้น  โอกาสที่ทหารจะได้ทำการตามตำแหน่งของตัวหาความดีความชอบ  โดยแสดงให้ปร่กฏเห็นความกล้าหาญและความอุตสาห  ความจงรักภักดีต่อเจ้าของตัว  ก็ในเวลาที่มีการศึก    เพราะฉะนั้น    ในเวลานี้เป็นช่องอันดีแล้วที่ทหารทั้งปวงจะได้แสดงความดีของตัวเช่นนั้น    เราหวังใจว่า  ราชการที่ขึ้นไปปราบปรามข้าศึกซึ่งสำเร็จล่วงมาแล้ว  ที่ผู้ไปทำการโดยความกล้าหาญ  ความซื่อตรงได้รับเครื่องราชอิสสริยศในเวลานี้    แสดงให้คนทั้งปวงปรากฏเห็นทั่วไปในความดีของตัวผู้ที่ได้รับเครื่องราชอิสสริยศนั้น    คงจะเป็นตัวอย่างและที่มั่นใจของทหารทั้งปวงซึ่งจะขึ้นไปทำการศึกในครั้งนี้อีก  ว่าการที่จะทำใหม่นี้คงจะได้ชันชะนะมาแล้ว  และจะได้มีชื่อเสียงปรากฏเช่นการที่ได้ทำมาครั้งก่อน    เราขอให้ทหารทั้งปวงมีน้ำใจกล้าหาญที่จะสู้รบต่อข้าศึกศัตรู  ซึ่งเป็นต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้พ่ายแพ้กลับคืนความสุขความสงบเรียบร้อยของไพร่บ้านพลเมืองในพระราชอาณาเขตต์ฝ่ายทิศเหนือนั้นให้คงที่ดังแต่ก่อน  ด้วยความจงรักภักดีต่อเจ้าของตัว  และรักใคร่บ้านเมืองกับพวกราษฎรทั้งปวงซึ่งเป็นพวกเดียวกัน

          เราขออวยพรให้ทหารทั้งปวงบรรดาซึ่งจะไปราชการทัพครั้งนี้  จงปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง  คือ  ศัตรูภายในกล่าวแล้วคือความเจ็บไข้ต่างๆ  ศัตรูภายนอก  คือข้าศึกซึ่งจะไปต่อสู้นั้น  อย่าให้ทำอันตรายอันใดแก่ทหารทั้งปวงได้    ขอให้มีอำนาจและกำลังอาจปราบปรามข้าศึกศัตรูทั้งหลายให้แพ้พ่ายราบคาบได้ดังประสงค์    จะได้เป็นเกียรติยศและชื่อเสียงของกรมทหารและตัวผู้ซึ่งไปทำการปรากฏไปชั่วบุตรและหลาน"

           แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าประทับในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาโดยโบราณขัตติยราชประเพณี    เสร็จแล้วเสด็จขึ้น

 

เจ้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

          เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้านครหลวงพระบาง กับเจ้าลาวบุตรหลานชายหญิง  ๒๗  คน  ลงมาจากเมืองพิชัยถึงกรุงเทพฯ  เมื่อ วันจันทร์  เดือน  ๑๑  แรม  ๑  ค่ำ  (๓  ตุลาคม  ๒๔๓๐)

 

 

 

.เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  (เจ้าอุ่นคำ)  เจ้านครหลวงพระบาง  (อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง)  พ.ศ.๒๔๑๕ - ๒๔๓๑      

 

          ครั้นวันศุกร์  เดือน  ๑๒  ขึ้น  ๕  ค่ำ  (๒๑  ตุลาคม  ๒๔๓๐)   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งพุดตาลทองคำภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้าศรีสุพรรณ์ว่าที่ราชบุตร  เจ้านายบุตรหลานชาย  ๑๓  หญิง  ๑๒  รวม  ๒๗    ไพร่ชายหญิง  ๕๐    รวม  ๗๗    เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท    แล้วมีพระราชดำรัสปฏิสัณฐาน  มีเนื้อความดังต่อไปนี้

          ๑.  "เจ้านครหลวงพระบางลงมาอยู่กรุงเทพฯ  ไม่เจ็บไข้อันใดฤๅ" 

               "ขอเดชะ  พระบารมีปกเกล้าฯ  เจ้านครหลวงพระบางและบุตรหลานมีความสุขสบาย"

          ๒.  "เรามีความสงสารที่เสียเมืองนี้  ต้องเสียทรัพย์สมบัติ  และพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเรือน   การที่เสียเมืองหลวงพระบางตรั้งนี้  ก็เป็นการเสียเกียรติยศกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน  แต่เจ้านครหลวงพระบางได้อุตสาหรักษาเมืองนครหลวงพระบางอยู่จนถึงเวลาอับจนนั้น  ก็เป็นความชอบอยู่แล้ว   อย่ามีความกลัวว่าจะมีความผิดเลย"

               "ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่เจ้านครหลวงพระบางทั้งนี้พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ    การที่ต้องเสียเมืองครั้งนี้  ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งสืบไป"

          ๓.  "การเมืองหลวงพระบางคงจะขึ้นไปจัดให้เรียบร้อย  ตัวเจ้านครหลวงพระบางก็จะให้ขึ้นไปด้วยกับกองทัพใหญ่    แต่การรักษาบ้านเมืองแต่ก่อนมาเป็นการหละหลวมไม่เป็นหลักฐาน  ต้องให้เจ้านครหลวงพระบางคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพ  และข้าหลวงจัดการรักษาบ้านเมืองจะได้ไม่เป็นการลำบากเสียบ้านเมืองต่อไป"

               "การที่ทรงพระกรุณาดังนี้  เจ้านครหลวงพระบางจะคิดคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพและข้าหลวงรักษาราชการ  ฉลองพระเดชพระคุณเต็มสติกำลัง"

 

ปฏิบัติการร่วม  -  จัดพนักงานไปกับกองทัพข้างละ  ๒  นาย  

          ในการยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อ  และจัดราชการครั้งนี้    ฝ่ายฝรั่งเศสก็จัดทหารขึ้นไปสำรวจพระราชอาณาเขต  ณ  เมืองหลวงพระบางด้วย    รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลสยามได้ตกลงกันว่า    กองทัพสยามจะยกขึ้นไปปราบฮ่อในพระราชอาณาเขตสยามครั้งนี้    รัฐบาลฝรั่งเศสก็จะยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามทางเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย    ทั้งสองฝ่ายจัดพนักงานไปกับกองทัพข้างละ  ๒  นาย   เพื่อให้เป็นการสะดวกทั้งสองฝ่าย    ข้าหลวงฝรั่งเศสที่ไปกับกองทัพไทยคือ  กัปตัน  กือเป  (Cupet)  และเลฟเตแนนท์  นิโคล็อง   (Nicolon)    ฝ่ายไทยที่ไปกับกองทัพฝรั่งเศส  คือ  พระไพรัชพากย์ภักดี  และหลวงคำนวณคัคคนาน

          วันพฤหัสบดี  เดือนอ้าย  ขึ้น  ๒  ค่ำ  ปีกุน  นพศก  ตรงกับวันที่ ๑๗  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๓๐    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จออกท้องพระโรงกลางบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  ประทับบนพระที่นั่งพุดตาลภายใต้พระมหาเศวตฉัตร    พระยาศรีสิงหเทพนำแม่ทัพนายกองฝ่ายเหนือ  และกองทำแผนที่กับข้าหลวงกำกับ    กัปตันปิเต็มคูเป  เลฟเตแนนท์นิคอลอง ฝรั่งเศส  และเจ้านครหลวงพระบาง  กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบางราชธานี

 

ท่าเตียน - เมืองพิชัย

           วันอาทิตย์  เดือนอ้าย  ขึ้น  ๕  ค่ำ  (๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๓๐)    กองทัพเคลื่อนออกจากท่าเตียนโดยทางเรือ    สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพพระองค์เจ้าสาย  ตามไปส่งจนถึงปากคลองบางลำพู    กระบวนเรือถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ  นนทบุรี  พักนอน  ๑  คืน    วันรุ่งขึ้น  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับหม่อมตลับตามส่งต่อไปถึงวัดเกษไชโย    ครับ  .  .  .  กองทัพก็รอนแรมตามลำน้ำอยู่เกือบเดือน  จนวันเสาร์  เดือนยี่  ขึ้น  ๓  ค่ำ  (๑๗  ธันวาคม  ๒๔๓๐)   กองทัพก็ถึงเมืองพิชัย

 

ตรวจภูมิประเทศแขวงเมืองพิชัยและเมืองใกล้เคียง

           วันพุธ  เดือนยี่  แรม  ๖  ค่ำ  (๔  มกราคม  ๒๔๓๐)    แม่ทัพพร้อมด้วยออฟฟิเซอร์  (นายทหาร)  หลายนาย  ช้าง  ๑๕  เชือก  ม้า  ๓  ม้า  ได้ออกเดินตามป่าชายทุ่งหลังเมืองพิชัย - ข้ามลำน้ำไปฝั่งตะวันตกถึงบ้านไร่อ้อย - บ้านดง (บ้านป่ายาง) - ทุ่งสามขา - หนองกระเบื้องข้าวแช่ - ทุ่งนาตะโกแท่น - ทุ่งไผ่กิ่ว - บ้านไทยเตย - บ้ายไผ่เขียว - นาคลองเตย - บ้านไผ่ล้อม - ทุ่งนาใหม่ - เมืองทุ่งยั้ง  (พักแรม  ๑  คืน) - นมัสการพระแท่นศิลาอาสน์  วัดพระยืน    จากเมืองทุ่งยั้ง - ทุ่งนาแค - บ้านป่าเผือก - คลองแม่พร่อง - ทุ่งนาดอน  แขวงเมืองอุตรดิตถ์ - ทุ่งน้ำใส  แขวงลับแล - บ้านห้วยยาง - บ้านต้นขาม - วัดชายชุมพล - บ้านยางกะได  แขวงเมืองลับแล (พักแรมบ้านจีนทองอิน  ๒  คืน)

 

 
 

 

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง

 

          ในตำบลเมืองลับแลนี้มีต้นผลไม้บริบูรณ์  และมีไร่นามาก  สินค้าในเมืองลับแล  ข้าว  หมาก  มะพร้าว  พลู  ทุเรียน  ลางสาด

          บ้านยางกะได - วัดท่าถนน  แขวงเมืองอุตรดิตถ์ริมลำน้ำเจ้าพระยา  (น่าน)  ฝั่งตะวันตก   (พักแรม  ๑  คืน)

 

 

 

หลวงพ่อเพ็ชร  วัดท่าถนน    พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์

 

 

          เหนือวัดขึ้นไปตามลำน้ำ  เรียกบ้านท่าอิฐ  มีเรือแพลูกค้ามากเป็นทางที่สินค้าเมืองลับแล  เมืองแพร่  เมืองน่าน  เมืองหลวงพระบาง  และหัวเมืองอื่นๆ  และบ้านป่าดอนหลายตำบลมารวมอยู่  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แม่น้ำน่าน  บริเวณบ้านท่าอิฐ 

 

 

เมืองนครหลวงพระบาง - ราชการสงบเป็นปรกติ

             วันอาทิตย์  แรม  ๑๐  ค่ำ  เดือนยี่    (๘  มกราคม  ๒๔๓๐)    ออกจากวัดท่าถนนเดินทางกลับเมืองพิชัยทางเรือ    ถึงที่พักเมืองพิชัยในวันรุ่งขึ้น   ได้รับรายงานจาก            นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  แม่ทัพหน้าว่า  ได้นำกองทัพถึงเมืองนครหลวงพระบาง แล้ว  พร้อมพระยานนทบุรีข้าหลวงที่  ๑  และหลวงพิศณุเทพข้าหลวงที่  ๒    ราชการสงบเป็นปรกติเรียบร้อยดีอยู่    และได้ส่งนายทหารและพลทหารพร้อมด้วยคำสาม  บุตรท้าวไลขึ้นไปตรวจราชการทางด่านเมืองแถงและเมืองไลแล้ว  และกองทัพกังวลเรื่องเสบียงอาหาร


         วันเสาร์  ขึ้น  ๑  ค่ำ  เดือน  ๓  (๑๔  มกราคม  ๒๔๓๐)    แม่ทัพสั่งการให้  นายร้อยเอก  หลวงชำนาญยุทธกิจ  พร้อมด้วยเจ้านายเมืองน่านซึ่งคุมช้างเมืองน่านมาส่งกองทัพยกล่วงหน้าไปเมืองนครหลวงพระบาง  ก่อน

         วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๖  ค่ำ  เดือน  ๓  (๑๙  มกราคม  ๒๔๓๐)    แม่ทัพพร้อมด้วยนายทัพนายกองไพร่พลทหารสรรพด้วยเครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์ยกออกจากเมืองพิชัย
          
          วันจันทร์  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  เดือน  ๓   (๒๓  มกราคม  ๒๔๓๐)    มองซิเออร์  ปาวี  คอมมิสชันเนอร์ได้ไปถึงเมืองนครหลวงพระบางแล้ว  แจ้งแก่พระยานนทบุรีข้าหลวง  ว่าได้รับแจ้งจากราชฑูตและกงซุลฝรั่งเศส  ณ  กรุงเทพฯ ว่า    กองทัพฝรั่งเศสจะยกจากเมืองลาวกายมายังเมืองไล  ในวันอาทิตย์  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๑  (๒  ตุลาคม  ๒๔๓๐)  หากไม่พบกองทัพไทยและมองซิเออร์  ปาวี  อาจจะยกล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต  และว่าถ้ากองทัพไทยยังมาไม่ถึงเมืองนครหลวงพระบางในเดือนยี่นี้    มองซิเออร์  ปาวีจะขอขึ้นไปก่อน  เพื่อพบกับกองทัพฝรั่งเศสโดยเร็ว

          พระยานนทบุรีข้าหลวงมีหนังสือเจ้าราชภาคิไนย  ที่เมืองงอย  ท้าวไล  คำฮุม  คำสา  คำกุ้ย  ที่เมืองไล  กับถึงพระไพรัชพากย์ภักดีที่ไปกับกองทัพฝรั่งเศส  รวมใจความว่า   

          ที่กรุงเทพฯ  ได้ปรึกษาตกลงพร้อมกันว่า    กองทัพฝ่ายไทย  และฝ่ายฝรั่งเศสจะยกไปตรวจเขตแดนทั้งสองฝ่าย    ฝ่ายฝรั่งเศสจะยกขึ้นไปทางเขตแดนญวน     ฝ่ายไทยจะยกขึ้นไปทางเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย    เพื่อระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อย

          กองทัพกรุงเทพฯ  จะรีบยกไปในเร็วๆ  นี้    แต่กองทัพฝรั่งเศสนั้นจะยกออกจากเมืองลาวกายมาเมืองไล

 

 

 

 

เมืองลาวกาย  Lao Cai  -   เมืองไล  Moung Lai  (Lai Chau)  -  เมืองแถง  Moung  Thaeng  (Dien  Bien  Phu)


 

 

 

 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองสำคัญ  โดยสังเขป

 

 

          มองซิเออร์  ปาวี  ออกเรือจากเมืองนครหลวงพระบางราชธานีเมื่อวันเสาร์  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๓   (๒๖  มกราคม  ๒๔๓๐)

          พระยานนทบุรีข้าหลวงได้จัดการเตรียมเสบียงอาหารสำหรับกองทัพที่เมืองนครหลวงพระบาง   เห็นว่าราษฎรกลับคืนเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินค้าขาย    ส่วนราษฎรที่อยู่ในเมืองได้ตั้งร้านขายของตามถนนท้องตลาดเวลาเช้า  บ่าย  ตามเคยมาแต่ก่อน    แต่ยังคงมีข่าวลือเรื่องอันตรายต่างๆ  ไม่เป็นที่ไว้วางใจเหมือนแต่ก่อน    จึงได้หาราษฎรอาสาสมัครชาวเมืองนครหลวงพระบางได้  ๘๖  คน  มอบให้   นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  แม่ทัพหน้าฝึกหัดให้รู้วิชาทหาร    จัดให้เป็นโปลิศสำหรับรักษาการตามถนนท้องตลาดในเมืองนครหลวงพระบาง    จัดการผลประโยชน์ในเมืองนั้นจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงทหารอาสาและและรักษาการโดยกวดขัน  เพื่อให้เป็นอำนาจและเกียรติยศแก่ประเทศราชขอบขัณฑสีมาและเป็นที่บำรุงน้ำใจ  กันอันตรายของราษฎรไม่ให้มีความหวาดหวั่น  ให้ตั้งทำมาหากินค้าขายเป็นปรกติต่อไป

          วันเสาร์  แรม  ๗  ค่ำ  เดือน  ๓  ปีกุน    (๔  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)    นายร้อยเอก  หลวงชำนาญยุทธกิจนำกำลังส่วนล่วงหน้าของกองทัพใหญ่มาถึงเมืองนครหลวงพระบางราชธานี    ได้แจ้งข้อราชการแก่พระยานนทบุรีข้าหลวง  ดังนี้

            ๑. คาดว่าแม่ทัพ  และกองทัพใหญ่จะมาถึงเมืองนครหลวงพระบางราชธานีในเดือน  ๔  นี้

            ๒. ให้กองหลวงชำนาญยุทธกิจ  สมทบเข้ากับกองทัพหน้าของ  นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศ    ในระหว่างที่กองทัพใหญ่ยังมาไม่ถึง  และมีราชการเกี่ยวแก่ทหารเกิดขึ้นให้หลวงชำนาญยุทธกิจ และ หลวงดัสกรปลาศปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน  เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว  ให้นำเรียนข้าหลวงประจำเมืองนครหลวงพระบาง  และเจ้าท้าวพระยาลาวให้ดำริเห็นชอบพร้อมกันด้วยอีกชั้นหนึ่ง    แล้วให้รีบจัดราชการให้เสร็จโดยเร็ว    เว้นเสียแต่การใหญ่ที่จะเป็นเหตุให้เสียผลในกาลภายหน้า

          ๓. ให้สั่งด่านทางให้เป็นธรรมเนียมไว้    ผู้ใดจะเดินทางไปมาต้องได้รับหนังสือเดินทางอนุญาตของกองทัพหรือสนามเมืองนครหลวงพระบาง ถือไป

          วันจันทร์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๓    (๓๐  มกราคม  ๒๔๓๐)    ผู้ไปสืบข่าวที่เมืองแถงรายงานว่า   ท้าวเมืองจันท้าวเมืองขวาพากองทัพฝรั่งเศส  ไพร่พลประมาณ  ๓,๐๐๐  มาตีเมืองไล    พวกเมืองไลไปตั้งสู้ที่ปากน้ำตัน    แต่สู้ไม่ได้จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองเหมือน    ส่วนที่เมืองไลมีคนรักษาอยู่  ๗๐๐    พวกเมืองไลที่ตั้งอยู่เมืองแถงจึงจะกลับไปเมืองไล  มาเกณฑ์ข่าเพี้ยจันให้ไปส่งที่เมืองเหมือน  และที่เมืองแถงยังมีคนเมืองไลอยู่  ๕  คน  กับครัวเมืองแถงอีก  ๑๐  ครัว

          พระยานนทบุรี  นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศ  เจ้าราชวงศ์  และเจ้าราชสัมพันธวงศ์    ได้ปรึกษากันแล้ว  เป็นตกลงให้รอปรึกษาท่านแม่ทัพใหญ่ซึ่งจะมาถึงเมืองนครหลวงพระบางราชธานีในเดือน  ๔  นี้

          เจ้าราชภาคิไนย  พระศรีอรรคฮาด  พระยาเมืองแพน  ซึ่งรักษาการที่เมืองงอยส่งข่าวไปเมืองนครหลวงพระบาง เมื่อ  วันแรม  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๓    (๙  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)  ว่ากองทัพฝรั่งเศส   ท้าวเมืองจันท้าวเมืองขวากับพวกญวนยกเข้ามาตั้งที่เมืองแถง  ประมาณ  ๒,๐๐๐  เกณฑ์เสบียงอาหารจากพวกเย้า  แม้ว  ข่า  ผู้ไทยไปเลี้ยงกองทัพ

          พระยานนทบุรีเห็นว่า  จะรอกองทัพใหญ่ยกมาถึงเมืองนครหลวงพระบางอาจเสียราชการและทางพระราชไมตรี  จึงปรึกษา นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศนายทัพหน้าคุมรี้พล  ๓๔๑  รีบยกไปเมืองแถง    กำหนดยกขึ้นไปในวันขึ้น  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๔    (๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)   และมีหนังสือแจ้งมองซิเออร์  ปาวีด้วยว่า  ขอให้ชี้แจงแก่แม่ทัพฝรั่งเศสพักกองทัพอยู่นอกเมืองไลก่อน  จึงจะสมควรทางพระราชไมตรี  หรือยกมาถึงปลายเขตต่อแดนสยามคอยกองทัพกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะขึ้นมาตรวจพระราชอาณาเขตพร้อมกันเมืองนครหลวงพระบางกำหนดถึงในเดือน  ๔  นี้    และนายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศกำหนดยกขึ้นไปเมืองแถงในวันขึ้น  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๔    (๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)  นี้ก่อน

          กำลังฝรั่งเศส  ท้าวจันท้าวขวา ที่เมืองแถงมีประมาณ  ๕๐๐ - ๖๐๐ เศษ    พักอยู่ที่ค่ายเชียง  ปักธงฝรั่งเศสขึ้นไว้    และตั้งที่เมืองไลกองหนึ่ง    ส่วนกองทัพใหญ่ยังพักอยู่ที่เมืองจัน

          วันพฤหัสบดีขึ้น  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๔    (๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)    นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศยกกองขึ้นไปเมืองแถงตามกำหนด

 

การดำเนินการของพระยานนทบุรี

          พระยานนทบุรีได้รับรายงานจากพระศรีอรรคฮาด  ซึ่งรักษาราชการกับเจ้าราชภาคิไนย ที่เมืองงอย   จากองบาท่าขวา  จากเมืองเชียงค้อ  ใจความต้องกันเรื่องกองทัพฝรั่งเศสขอกองทัพขึ้นไปรักษา  และให้กองทัพฝรั่งเศสถอยออกไปนอกพระราชอาณาเขต

          พระยานนทบุรีเห็นว่า  .  .  .  ครั้นจะไม่จัดทหารไพร่พลรีบยกไป   ก็จะเป็นที่เสียทางราชการ   ทางเมืองสิบสองจุไทยนั้นได้ให้นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศกำหนดยกขึ้นไปเมืองแถง  และสืบสวนข้อราชการทางเมืองไลแล้ว    จะต้องจัดทหารไปปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกด้วย    แต่นายร้อยเอก  หลวงชำนาญยุทธกิจตกม้าบอบช้ำอยู่  จึงให้กัปตัน  เจริญ    นำกำลัง  ๑๐๙  คน  (๑  กองร้อย)    และเจ้าราชวงศ์จัดให้พระยาเชียงเหนือพระยานาใต้คุมพลอีก  ๑๐๐    ร่วมไปด้วย    และได้แจ้งไปยังนายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศที่เมืองแถง  ให้แบ่งกำลังสักประมาณ  ๕๐  รีบไปปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกก่อน  เป็นการป้องกันรักษาดินแดนและน้ำใจราษฎรไม่ให้แตกตื่น  และถ้าที่เมืองแถงไม่มีเหตุขัดข้องขอให้นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศเยี่ยมเยียนข้าหลวงกรุงเทพฯ  ซึ่งมากับกองทัพฝรั่งเศส    และเมื่อกัปตัน  เจริญ  พระยาเชียงเหนือ  พระยานาใต้  มาถึงเมืองงอยแล้ว  เจ้าราชภาคิไนยจัดคนที่เมืองงอย  จำนวน  ๔๕  คน  มอบให้กองทัพรีบเดินไปเมืองซ่อนแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  ต่อไป

          กัปตัน  เจริญ  พระยาเชียงเหนือ  พระยานาใต้  ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์  แรม  ๗  ค่ำ  เดือน  ๔  (๔  มีนาคม  ๒๔๓๐)

 

กองทัพใหญ่

        กองทัพใหญ่ยกออกจากเมืองพิชัย  เมื่อ วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๖  ค่ำ  เดือน  ๓  (๑๙  มกราคม  ๒๔๓๐)    ถึงเมืองปากลายใน  วันพุธ  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๓  (๑  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๐)จัดให้พระพลัษฎานุรักษ์  ปลัดทัพ  แบ่งกำลังล่วงหน้ายกไปเมืองนครหลวงพระบางก่อน  พร้อมพนักงานเซอร์เวย์     ออกจากปากลายใน  วันขึ้น  ๘  ค่ำ  เดือน  ๔  (๑๙  กุมภาพันธ์)  ส่วนกัปตัน  กือเป  และเลฟเตแนนท์  นิโคล็อง  ออกจากปากลายใน  วันขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๔  (๒๕  กุมภาพันธ์)

          วันเสาร์ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๔  (๒๖  กุมภาพันธ์)    พระพลัษฎานุรักษ์  ปลัดทัพ   ก็นำกำลังล่วงหน้าของกองทัพใหญ่ยกไปเมืองนครหลวงพระบาง

          วันพฤหัสบดี  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๔  (๑  มีนาคม  ๒๔๓๐)     กองทัพใหญ่ยกจากบ้านปากลายทางเรือ    ครั้นมาถึงบ้านท่าเลื่อน  (ห่างเมืองนครหลวงพระบาง  ประมาณ  ๑  ชั่วโมง)  ทราบว่า    เมื่อพวกฮ่อเข้าเมืองนครหลวงพระบางนั้น  ท้าวพระยาและราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้นำพระบางหนีข้าศึกมาซ่อนไว้ที่ถ้ำบ้านน้ำพูน   ท่านแม่ทัพพิจารณาเห็นว่า    พระบางเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามาก    จึงได้รับอัญเชิญพระบางไปกับกองทัพด้วย    เมื่อถึงเวลาสมควรจะได้จัดการฉลองให้ต่อไป    ทวยราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้ทราบข่าวเรื่องพระบางพากันมาต้อนรับ  และแห่แหนอย่างล้นหลาม

          ระหว่างที่กองทัพใหญ่เข้าเมืองนครหลวงพระบาง นี้

          วันศุกร์  แรม  ๕  ค่ำ  เดือน  ๔  (๒  มีนาคม  ๒๔๓๐)    พระพลัษฎานุรักษ์ก็นำกำลังล่วงหน้าของกองทัพใหญ่ถึงเมืองนครหลวงพระบาง  

          และ  กัปตัน  เจริญ  พระยาเชียงเหนือ  พระยานาใต้  ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์  แรม  ๗  ค่ำ   เดือน  ๔  (๔  มีนาคม  ๒๔๓๐)    เพื่อไปเมืองซ่อนแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

          วันพุธ  แรม  ๑๐  ค่ำ   เดือน  ๔  (๗  มีนาคม  ๒๔๓๐)    พระพลัษฎานุรักษ์ได้รับหนังสือจากแม่ทัพว่า  วิตกด้วยกองทหารที่ยกไปล่วงหน้านั้นเป็นอันมาก   (คือกองหลวงดัสกรปลาศที่ไปเมืองแถง)    จึงได้ส่งข่าวไปถึงกองหลวงดัสกรปลาศว่า  เมื่อถึงเมืองแถงและสืบราชการได้ความประการใดแล้ว ให้รีบกลับโดยเร็ว    อย่าให้ถึงฝนตกหนัก

          แม่ทัพนำกองทัพถึงค่ายใหญ่ในวันจันทร์  แรม  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๔   (๑๒  มีนาคม  ๒๔๓๐)

 

ฉลองพระบาง

          วันจันทร์  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือน  ๕  (๑๙  มีนาคม  ๒๔๓๐)    ได้จัดการพิธีสรงน้ำ  และปิดทองพระบาง  แล้วนำขึ้นประดิษฐานไว้บนค่ายใหญ่    เจ้านายท้าวพระยาราษฎรหญิงชายฝ่ายลาว  ทหารนายทัพนายกองพร้อมกันจัดมหรสพสมโภช    วันรุ่งขึ้นมีพิธีเวียนเทียน  และทำสลากเสี่ยงทายว่า  พระบางสมัครจะอยู่วัดเดิม  หรือวัดใด   ได้สลากว่าอยู่วัดเดิม   จึงได้แห่ไปประดิษฐาน  ณ  วัดวิชุน  ดังเดิม    

 

 

 

 พระบาง

พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด (ทองคำ ๙๐ เปอร์เซนต์)  ปางห้ามสมุทร  สูง ๒ ศอก ๗ นิ้ว (๑.๔๔ เมตร)  ศิลปะแบบบายนตอนปลาย (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ -ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)          พระเศียรเกลี้ยงสำหรับประดับเครื่องทรง   

 ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ และเจ้าพระนาสุรสีห์ฯ กรีฑาทัพไปอาณาจักรล้านช้าง ได้อัญเชิญพระบาง และพระแก้วมรกต มาประดิษฐาน ณ กรุงธนบุรี 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้พระราชทานพระบางแก่อาณาจักรล้านช้าง

พ.ศ.๒๓๗๐ เจ้าพระยาราชสุภาวดี ( สิงห์ สิงหเสนี)  แม่ทัพของสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  มาราชการทัพ  เสร็จแล้วอัญเชิญพระบางไปไว้  ณ  วัดบพิตรภิมุข   กรุงเทพฯ 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเจ้าราชวงศ์สุกเสริมเป็นพระเจ้าล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง   และพระราชทานพระบางให้อัญเชิญกลับมาหลวงพระบาง    เมื่อ  พ.ศ.๒๓๘๒ 

 

 

แผนปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

           กัปตัน  เจริญ  พระยาเชียงเหนือ  พระยานาใต้  ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์  แรม  ๗  ค่ำ  เดือน  ๔  (๔  มีนาคม  ๒๔๓๐)    เพื่อไปเมืองซ่อนแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก    ถึงเมืองงอยในวันศุกร์  แรม  ๑๒  ค่ำ  เดือน  ๔    (๙  มีนาคม  ๒๔๓๐)    ได้ปรึกษากับเจ้าราชภาคิไนยเห็นควร    จัดกำลังล่วงหน้าขึ้นไปก่อนเพื่อสืบสวนราชการ  (หาข่าว)  และเสบียงอาหารให้ชัดแจ้งก่อน  จึงจัดให้    นายแช่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์  (ร้อยตรี)  นำทหาร  ๓๑  คน  (๑  หมวด)  และพระยานาใต้    คุมคนอีก  ๓๐   ยกไปเมืองซ่อนโดยเร็ว    นายแช่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์กำหนดออกจากเมืองงอย  วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๓  ค่ำ  เดือน  ๕  (๑๕  มีนาคม  ๒๔๓๐)     และ มีแผนปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  ว่า  จะแยกกองทัพไปรักษาเมืองแวน  เมืองสบแอด  เมืองเชียงค้อ

 

รายงานนายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์

          เมื่อมองซิเออร์  ปาวีกลับมาถึงเมืองแถงนั้น  มีทหารฝรั่งเศสและทหารญวนมาส่งด้วย  ประมาณ  ๑๗๐  คน   นายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์ขึ้นไปเยี่ยม    มองซิเออร์  ปาวีถามว่ามาอยู่ที่นี่ทำไม  มีหนังสือของท่านแม่ทัพมาด้วยหรือไม่    นายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์  พาซื่อตอบว่าไม่มี    มองซิเออร์  ปาวีจึงว่า  ถ้าเช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้พรุ่งนี้ให้กลับไปด้วยกัน  นายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์  พยายามทัดทาน  และว่าต้องรายงานนายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศเสียก่อน    แต่มองซิเออร์  ปาวีว่าไม่ต้องมีหนังสือไปบอก  และบังคับให้นายชุ่มนำกองทหารกลับลงมาพร้อมกับตน    นายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์จะพูดจาขัดขืนก็เกรงว่าจะมีความผิด  และเกิดเป็นการใหญ่โตเสียทางพระราชไมตรี    จึงยกออกจากค่ายเชียงแลพากันเดินทางต่อมา    ส่วนทหารฝรั่งเศสและทหารญวนมาส่งมองซิเออร์  ปาวียังคงตั้งพักอยู่ที่ค่ายเชียงแล  เมืองแถง 

          เมื่อมองซิเออร์  ปาวีออกจากเมืองนครหลวงพระบางไปเกือบจะถึงเมืองแถงนั้น  ได้พบพวกฮ่อประมาณ  ๕๐  คน  จะเข้ามาทำอันตรายมองซิเออร์  ปาวี  แต่ได้ทหารไทยที่ไปด้วยต่อสู้พวกฮ่อเป็นสามารถได้ช่วยชีวิต มองซิเออร์  ปาวีไว้ได้

 

เหตุเชื่อคำขู่คนอื่น  ไม่รอคำสั่งผู้บังคับบัญชา - ถอดยศเป็นพลทหาร

          นายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์ซึ่งเชื่อคำขู่กรรโชกของมองซิเออร์  ปาวี  ไม่รอรับคำสั่งนายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเสียก่อนนั้น    ท่านแม่ทัพสั่งการให้นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศออกคำสั่งถอดนายชุ่ม  สัปลุตเตอร์แนนท์ออกจากยศนายทหารเป็นพลทหารต่อไป

 

 

           ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งตราและเหรียญเมืองญวนรูปมังกรห้าเล็บในดวงตราและเหรียญมาให้แม่ทัพและนายทหารชั้นรองๆ  และพลทหารที่ได้ไปส่งและช่วยชีวิตมองซิเออร์  ปาวี      ท่านแม่ทัพได้ส่งตราและเหรียญทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระราชหฤทัย  ทรงเห็นว่าฝรั่งเศสเหยียดไทยเสมอกับญวนซึ่งเป็นเมืองขึ้น

 

           นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศเมื่อได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังก่อนฝนตกหนักนั้น    จึงออกคำสั่งเรียกนายทหารซึ่งไปประจำการอยู่นั้นให้ถอยกลับ  และสั่งให้กัปตัน  เจริญ   ซึ่งไปรักษาราชการแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้รักษาอยู่ที่เมืองสบแอด  เมืองเชียงค้อ  ต่อไป    และให้นายนิ่ม  นอนกอมมิชชันกับทหาร  ๔  คน  ไปสืบข้อราชการ  ณ  เมืองแถง

 

 

 

          วันเสาร์  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๕  (๓๑  มีนาคม  ๒๔๓๐)    นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศได้นำกองทหารมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง 

          มองซิเออร์  ปาวีและกัปตัน  กือเปซึ่งกลับลงมาพักเมื่อ  ณ  เมืองนครหลวงพระบางแจ้งให้แม่ทัพทราบว่า  จะขอกลับไปเมืองฮานอยก่อนฤดูฝน  และ    แม่ทัพได้จัดให้นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศเป็นหัวหน้าคุมไพร่พลเสบียงอาหารยานพาหนะตามสมควร  กับสั่งให้ตรวจราชการและเซอรเวย์เขตแดนโดยละเอียดด้วย    คณะได้ออกเดินทางเมื่อ  วันศุกร์  แรม  ๑๐  ค่ำ  เดือน  ๕  (๖  เมษายน  ๒๔๓๑)

 

องบา  เมืองสิบสองจุไทย  -  ชักธงช้างไว้ยอดเสา

มองซิเออร์  ปาวี  พยายามจูงใจ

 

          จากเมืองสบแอด  นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศ  และ มองซิเออร์  ปาวี เดินทางต่อไปจนถึงเมืองเชียงทราย  แขวงเมืองสิบสองจุไทย    องบา  นายฮ่อท่าขวา  (ธงดำ)  มาคอยรับ    องบาได้ทำเสาธงสูงและชักธงช้างไว้ยอดเสาด้วย    นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศได้แนะนำองบากับ มองซิเออร์  ปาวีให้รู้จักกัน    และในโอกาสต่อมา    มองซิเออร์  ปาวี  ได้พูดจาเอาใจองบาว่า  ถ้าองบามีธุระเดือดร้อนประการใดแล้ว  มองซิเออร์  ปาวีจะช่วยเป็นธุระให้ทั้งสิ้น    และชวนให้ไปฮานอยด้วยกัน    แต่องบาไม่ไป  อ้างว่าเป็นห่วงพี่น้อง    มองซิเออร์  ปาวีว่าถ้าไปด้วยกันจะชุบเลี้ยงตั้งให้เป็นขุนนางมียศยิ่งใหญ่กว่าท้าวจัน  ท้าวขวา    องบาก็นิ่งอยู่มิได้ตอบประการใด

          ท่านแม่ทัพเห็นว่าราชการระยะนี้ไม่ฉุกเฉินแล้ว    จึงดำริให้เจ้านครหลวงพระบางขึ้นมาอยู่เสียยังเมืองนครหลวงพระบาง  และได้เชิญให้ขึ้นมาจากเมืองพิชัย

          ครั้น  วันพุธ  แรม  ๗  ค่ำ  เดือน  ๖  ปีชวด  (๒  พฤษภาคม  ๒๔๓๑)    ได้จัดกระบวนแห่ลงไปรับเจ้านครหลวงพระบางจากบ้านปากลาย  จนถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง    แล้วจัดให้อยู่ตามสมควรแก่เกียรติยศเป็นที่เรียบร้อย

 

เมืองอู  สิบสองปันนาถูกพวกฮ่อตีปล้นราษฎร

          เมืองอูฝ่ายสิบสองปันนาลื้อ  นอกพระราชอาณาเขตมีพวกฮ่อธงเหลืองประมาณ  ๕๐๐ - ๑,๐๐๐  มาตีปล้นราษฎร  ยกมาเป็น  ๒  กอง    ตั้งที่คุ้มหม่อม  และวัดหลวง  แห่งละกอง    ข่าวว่าเป็นพวกคำฮุม  บุตรท้าวไล

          วันเสาร์  แรม  ๑  ค่ำ  เดือน  ๗  (๒๖  พฤษภาคม  ๒๔๓๑)    นาย  ฉุน  ลุตเตอร์แนนท์  พระยาหมื่นน่า  พระยาเมืองแพนซึ่งรักษาการ  ณ  เมืองงอย  รายงานว่า    พวกฮ่อธงเหลืองประมาณ  ๑,๐๐๐    ตีเมืองอูเหนือ  อูใต้แตกแล้ว    และได้ข่าวว่าจะยกมาตีเมืองภูน้อยซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบาง  ต่อไป

          ท่านแม่ทัพได้ทราบแล้วได้ปรึกษาหารือกับพระยานนทบุรีข้าหลวงท้าวพระยานายทัพนายกองว่า  เมืองอูเหนือ  อูใต้ซึ่งเป็นเมืองนอกพระราชอาณาเขตมีโจรผู้ร้ายมารบกวนเมืองอูก็เป็นเมืองใกล้กับเมืองในพระราชอาณาเขต  มีบ้านเล็กเมืองน้อยซึ่งต่อเนื่องกันมาตามลำน้ำอู  ได้แก่  เมืองงาย  เมืองวา  เมืองฮุน  เมืองขวา  และเมืองภูน้อย    เมื่อมีโจรผู้ร้ายในเขตสิบสองปันนาราษฎรก็จะพลอยเดือดร้อนเพราะเกรงกลัวโจรผู้ร้าย    ถ้าไม่จัดกำลังไปป้องกันรักษาราษฎรก็จะไม่สิ้นความหวาดกลัว    จึงสั่งการให้    นายดวง  กัปตัน  นายเพ็ชร์  ลุตเตอร์แนนท์    นายแปลก  สัปลุตเตอร์แนนท์  คุมทหาร  ๑๐๐  ยกไปรักษาราชการตามลำน้ำอู  และเมืองวา  ให้มีภารกิจ  ปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ยกล่วงล้ำเข้ามา  หากมั่วสุมชุมนุมกันมีจำนวนมากกว่าให้รีบบอกเพื่อจะได้ส่งทหารไปเพิ่มเติมจนพอแก่ราชการ   และจัดการระวังช่องทางสำคัญให้แข็งแรงอย่าให้ราษฎรแตกตื่น    แต่หากมิได้ล่วงล้ำพระราชอาณาเขตให้กองทหารตั้งรักษาราชการอยู่ก่อน

          นายดวง  กัปตัน  พร้อมด้วยท้าวพระยาลาวและไพร่พล  ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์  แรม  ๙  ค่ำ  เดือน  ๗    (๓  มิถุนายน  ๒๔๓๑)

 

ฤดูฝนว่างศึก  -  ทะนุบำรุงบ้านเมือง

           ระหว่างราชการสงบในฤดูฝน    แม่ทัพได้ประชุมคิดทะนุบำรุงบ้านเมืองตามกำลังและความสามารถในเวลากันดารนั้นพอสรุปได้ ดังนี้

            ๑. ตรวจตราทำสำมะโนครัว   

          ให้กองทหารที่ไม่ติดภารกิจปราบปรามโจรผู้ร้ายเป็นพนักงานตรวจตราทำสำมะโนครัวในตำบลนั้นๆ  ด้วย

            ๒. กำลังสำหรับป้องกันบ้านเมือง   

          ให้คัดหาชายฉกรรจ์อายุ  ๒๐ ปีเข้ามารับราชการ    แล้วให้นายทหารฝึกหัดให้คนเหล่านั้นเป็นทหาร    เมื่อชำนิชำนาญแล้วให้เมืองนครหลวงพระบางเอาผ้าทอในพื้นบ้านมาตัดเป็นยูนิฟอร์ม  หาเครื่องแต่งประกอบ  (เครื่องหมาย)    แบ่งให้เป็นโปลิศรักษาท้องที่  ถือตะบองสั้นอย่างโปลิศในกรุงเทพฯ  แบ่งเป็นเวรรักษาราชการต่อไป

            ๓. ตัดถนน   
  
          เนื่องจากถนนเก่าเล็กและแคบ  ลุ่มๆ  ดอนๆ  คดๆ  เคี้ยวๆ  ดูไม่เป็นสง่าและงามตา    เวลานี้โจรผู้ร้ายได้เผาบ้านเรือนหมดสิ้นแล้ว  จะปักหมายกรุยที่ทางก็สะดวก  เห็นได้ตรงด้วย    จึงได้สั่งให้วัดกรุยถนนใหญ่ขึ้นใหม่  ๒  สาย    สายหนึ่ง  ตั้งแต่มุมเมืองด้านเหนือถึงสุดเมืองด้านใต้  ยาว  ๖๓  เส้นเศษ  (ประมาณ  ๒๕๐  เมตร)  ตรงไปทางวัดสวนแถน (ธาตุเมรี  เป็นพระเจดีย์ใหญ่    ตั้งอยู่ที่สวนแถน)  เคียงไปกับธาตุเมรีถึงประตูเมือง,  อีกสายหนึ่ง  ตัดแยกอ้อมเขาจอมศรีตัดตรงไปยังแม่น้ำคาน  บรรจบกันกับถนนใหญ่กลางเมือง    ถนนนอกนั้นก็ตัดเป็นทางเล็กๆ  ไปตามเดิม

          ๔. ตั้งโรงพยาบาล

          ให้ตั้งโรงหมอและโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในร่วมกำแพงเมือง  ๓  ตำบล    มีนายทหารแจกยาให้ราษฎร  และพระสงฆ์  สามเณร  วันละ  ๒  เวลา    แล้วสั่งให้ขุดสระใหญ่ไว้ที่วัดวิชุน  และทำท่อฝังดินฝังไปรับน้ำใสจากลำห้วยน้ำปามาเข้าสระ

          ระหว่างเดือน  ๗  เดือน  ๘  ความไข้ชุกชุมมาก    ทหารในกองทัพก็ป่วยมาก  จึงได้ขอรับพระราชทานยาต่างๆ  ขึ้นไป  และได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พนักงานจัดยาควินินและยาต่างๆ  ขึ้นไปพระราชทานโดยเร็ว

          ๕. สร้างที่ทำการและบ้านเรือน     ให้ทำอิฐและกระเบื้องขึ้นใช้สำหรับที่พักและที่ว่าการ

          ๖. เรื่องทาส

          ท่านแม่ทัพได้ตรองเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุญาโปรดเกล้าฯ  ให้เลิกทาสแล้ว  ควรที่เมืองนครหลวงพระบางซึ่งเป็นประเทศราชจะกระทำตาม    จึงได้เชิญพวกเจ้าท้าวพระยาในเมืองนครหลวงพระบางมาประชุมชี้แจงแสดงเหคุผล  จึงพร้อมกันยอมเลิกทาส  และยอมทำตามพระราชกำหนดกฎหมายปีมะโรงเรื่องเลิกทาสนั้นด้วย

          ๗. ตั้งกองชำระความ

          เมื่อบ้านเมืองเกิดจลาจล  เจ้านายและราษฎรได้เก็บทรัพย์สิ่งของไว้ตามบ้านเรือนบ้าง  ฝังไว้บ้าง   แล้วมีคนลักขุดไป    และยังมีความที่ราษฎรเกี่ยวข้องกันในเวลานี้หลายเรื่อง    เจ้านครหลวงพระบางจึงขอให้แม่ทัพตั้งผู้สมควรขึ้นชำระ    ซึ่งท่านแม่ทัพได้ตั้ง  พระยานนทบุรีข้าหลวง    หม่อมราชวงศ์  เล็ก  ศิริวงศ์    หลวงพิศณุเทพ    เป็นประธานในการพิจารณาคดีรวมกับตุลาการลาวที่มีอยู่แล้ว  ๖  นาย

          และได้จัดให้เข้ารูปมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาขึ้นอีก

          นอกจากนี้  ยังได้ปรับทัศนคติความเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าเข้าผี  พิธีการศพ  และเรื่องการซื้อ - ขายที่ดิน ด้วย

 

ทรงเจ้า  เข้าผี

          กำจัดความเชื่อถือทรงเจ้าเข้าผี    ด้วยการนิมนต์เจ้าอธิการซึ่งเป็นใหญ่ในพระอารามทั้งปวง  เจ้าท้าวพระยาลาว  และที่นั่งผี  (คนทรง)  ที่ราษฎรล่ำลือนับถือยิ่งมา  ๑๑  คน " .  .  .  เมื่อได้พูดซักไซร้ไล่เลียงกันจริงจังเข้าแล้ว  ที่ประชุมก็จับได้ว่าเป็นอุบายของที่นั่งผี  (คนทรง)  ที่จะหาเลี้ยงชีพ   มีแม่เฒ่าอายุ  ๗๐  ปีเศษคนหนึ่งมีผู้นับถือมาก  เมื่อแกได้ฟังข้าพเจ้าพูดถึงการบาปบุญคุณโทษแล้วได้สารภาพว่า    ไม่มีผีหรือเจ้ามาเข้าทรงเลย  กระทำไปเพราะได้เงินและได้กินจากราษฎร  เช่นนี้แล้ว    พวกที่นั่งผีวิเศษต่างๆ  ก็ต้องยอมสารภาพหมด  ทำให้พวกหัวหน้าเหล่านั้นหมดความเชื่อถือ  .  .  .  ฯลฯ  .  .  .  จึงได้สั่งให้พวกเจ้าท้าวพระยาลาวออกประกาศเลิกวิธีทรงผีแจกไปทุกๆ  ตาแสง    ห้ามมิให้ทรงผีอีกต่อไป    กับศาลที่ทรงผีต่างๆ  นั้น  จะเอาไว้ก็หาเป็นประโยชน์ไม่  ขอให้รื้อลงเสีย    ศาลใหญ่ๆ  นั้นขอรื้อเอาไปปลูกเป็นที่พักทหาร  ส่วนศาลเล็กๆ  นั้น  ให้เผาเสียให้สิ้น  เว้นแต่ศาลเทพารักษ์ที่อยู่เมืองนานแต่ศาลเดียว    เพราะศาลนี้เป็นด่านทางที่คนเข้าออก   .  .  .  ฯลฯ  .  .  ."

 

เผาศพ 

             ธรรมเนียมการเผาศพในเมืองนครหลวงพระบางจะกระทำเฉพาะพวกเจ้าท้าวพระยา  และคนบริบูรณ์  (ผู้มีอันจะกิน)  เท่านั้น    ส่วนราษฎรทั่วไป จะใช้ไม้ไผ่สีสุกมาทำเป็นเฝือก  ๗  ซี่ห่อศพทิ้งลงในแม่น้ำโขง    แม่ทัพจึงได้ให้เจ้านครหลวงพระบางประกาศบังคับห้าม  ไม่ให้ราษฎรทิ้งศพลงในแม่น้ำโขงอีก  ให้จัดการเผาเสียทุกคน

 

          นอกจากนี้    ยังได้กำหนดหลักการซื้อ - ขายที่ดิน  และห้ามขายที่ดินแก่ชาวต่างประเทศอีกด้วย

 

    ครับ  .  .  .  ทีนี้มาดูการปฏิบัติของกองทัพกันนะครับ

          วันพุธ  แรม  ๕  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีชวด  (๓๐  พฤษภาคม  ๒๔๓๑)    เวลาค่ำประชุมออฟฟิเซอร์   ได้สั่งให้นายกอมปนี  (ผู้บังคับกองร้อย)  จัดหม้อกรองน้ำให้ทหารกิน  เพราะกลัวความไข้  และสั่งให้ออฟฟิเซอร์สตาฟ  (ฝ่ายอำนวยการ)   และกอมปนีเป็นเวรกันมาคอยรับคำสั่งเสมอไปทุกๆ  วัน

          วันเสาร์  แรม  ๘  ค่ำ  เดือน  ๗  ปีชวด  (๒  มิถุนายน  ๒๔๓๑)

            -  ให้พระยาเมืองซ้าย  พระยานาเหนือ  และนายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์    นำทหาร  ๓๘  คน  (๑  หมวด)  ไปราชการทางเมืองทาสี

            -  ให้  นายดวงกัปตัน  นายเพ็ชรลุตเตอร์แนนท์  นายแปลกสัปลุตเตอร์แนนท์  คุมทหาร  ๕๓  คน  (คือกองร้อย  แต่เหลือ  ๒  หมวด  เพราะไปกับนายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์เสีย  ๑  หมวด)  ไปราชการทางเมืองขวา  เมืองฮิน  เมืองงาย    ด้วยมีพวกฮ่อธงเหลืองกับพวกเมืองไลมากดขี่ข่มเหงราษฎร    และเมื่อโจรผู้ร้ายสงบเรียบร้อยแล้ว  ให้ทำสำมะโนครัวมาด้วย   (กลับถึงเมืองหลวงพระบางใน  วันเสาร์  ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  เดือน ๑๐  ตรงกับวันที่  ๑๕  กันยายน  ๒๔๓๑)

          วันเสาร์  ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๘     (๒๓  มิถุนายน  ๒๔๓๑)    ได้รับรายงานนายดวงกัปตันจากเมืองขวา  ว่ามีฮ่อพวกคำฮุม  คำล่าตีเมืองอู  (นอกพระราชอาณาเขต)  แตกแล้ว    เกรงว่าเมืองงอยจะส่งเสบียงมาให้ไม่ทัน

          วันจันทร์  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๘    (๒๕  มิถุนายน  ๒๔๓๑)    สั่งให้เอาปืนใหญ่  ปืนแคตริงกัน  ปืนนอตติงแฟนออกไปยิงที่สนามหน้าเมืองหลวงพระบาง    ราษฏรมาดูเป็นอันมากแสดงกิริยายินดีอุ่นใจ

          วันเสาร์  แรม  ๗  ค่ำ  เดือน  ๘     (๓๐  มิถุนายน  ๒๔๓๑)    ตั้งโรงหมอขึ้นที่วัดจอมศรี  สำหรับรักษาราษฎรชาวเมือง    มีพร้อมทั้งยาไทย  ยาฝรั่ง

          วันพุธ  แรม  ๖  ค่ำ  เดือน  ๑๐     (๒๖  กันยายน  ๒๔๓๑)    ให้นายปุ้ยกัปตัน  นายเจ๊กลุตเตอร์แนนท์  คุมทหาร  ๓๑  คน  ไปรักษาเมืองแถง  และต่อมาอีก  ๓  วัน  ได้ให้นายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์คุมทหารอีก  ๓๐  ส่งขึ้นไปเมืองแถง

          วันอังคาร  แรม  ๒  ค่ำ  เดือน  ๑๒     (๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๓๑)    นายแขกกัปตัน  คุมทหาร  รวม  ๖๐  คน  ออกจากเมืองนครหลวงพระบาง  ไปเมืองสบแอด

          วันพฤหัสบดี  แรม  ๔  ค่ำ  เดือน  ๑๒     (๒๒  พฤศจิกายน  ๒๔๓๑)    แม่ทัพพร้อมด้วยนายทัพนายกองเดินทางไปเมืองแถง    (ทางเรือ)

 

 มองซิเออร์  ปาวี  โกงหน้าด้านๆ

          วันศุกร์  แรม  ๕  ค่ำ  เดือน  ๑๒    (๒๓  พฤศจิกายน  ๒๔๓๑)    ได้รับรายงานจาก  นายเจริญกัปตันที่เมืองแอด  ส่งคำให้การฮ่อมาให้มีใจความว่า

               มองซิเออร์  ปาวีเอาเรือมาถึงแก่งซอง  พ่วงเรือไฟมาจมลงที่แก่ง  ให้ราษฎรลงไปลากเรือไฟที่จมน้ำ  เรือก็หาขึ้นไม่   แล้วว่าองบาตาย     และมองซิเออร์  ปาวี สั่งว่า  เมืองหลวงพระบาง  และเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นของฝรั่งเศสแล้ว    อย่าให้พวกฮ่อไปหาไทยเลย    ถ้าพวกฮ่อมีทุกข์ร้อนอย่างใดให้ไปบอก  จะช่วยเหลือให้เป็นกำลัง  และนายเจริญกัปตันได้ร้องทุกข์มาว่า  อ้ายพวกฮ่อกำเริบมากถึงกับจะต้องรบกัน

          กรณีองบาตาย นี้  สันนิษฐานได้ว่า   อาจจะเป็นเพราะมองซิเออร์  ปาวีเกลี้ยกล่อมให้เข้าด้วย  แต่องบาไม่ยอมจึงแกล้งให้เกิดอุบัติเหตุก็เป็นได้  -  ผู้เขียน

          แม่ทัพพิจารณาแล้ว  เห็นเป็นจริงโดยมากพวกฮ่อจึงได้มีความกำเริบ    บางทีอาจจะได้รบกันกับกองทัพเป็นแน่    และสั่งการให้เรียกทหารขึ้นไปช่วยอีกให้พอแก่การ  และกำชับนายเจริญกัปตัน  ให้อดใจ  อย่าให้มีเหตุถึงกับรบพุ่งกัน    เพราะกองทัพหน้ายกมาจวนจะถึงแล้ว

          วันศุกร์  ขึ้น  ๑๑  ค่ำ  เดือนอ้าย    (๑๔  ธันวาคม  ๒๔๓๑)    เรือกองทัพถึงเมืองแถง    นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศจัดทหารลงมารับแม่ทัพที่ที่เรือจอด    มองซิเออร์  ปาวีกับออฟฟิเซอร์ฝรั่งเศส  ๓  นาย  และทหารญวน  ๖๐    มาคอยรับกองทัพอยู่ที่ค่ายเชียงแล

          ท่านแม่ทัพและมองซิเออร์  ปาวีได้หารือข้อราชการ  ซึ่งท่านแม่ทัพแจ้งว่ามีความประสงค์อยากจะให้ทำแผนที่ในเขตสิบสองจุไทยตลอดหัวพันทั้งห้าทั้งหกเสียชั้นหนึ่งก่อนและให้ทำโดยเร็ว    มองซิเออร์  ปาวีตอบว่า  ส่วนหัวพันทั้งห้าทั้งหกที่ทหารไทยเข้าไปตั้งอยู่แล้วนั้น  ฝ่ายฝรั่งเศสมิได้ล่วงล้ำเข้าไป    แต่เมืองสิบสองจุไทยนั้น  ฝรั่งเศสได้เข้าไปตั้งอยู่แล้ว  ครั้นจะขึ้นไปทำการ  เกรงจะเป็นที่บาดหมางกันขึ้น  ด้วยการแผนที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้ทำไว้โดยเรียบร้อยพอที่จะตัดสินเขตแดนได้แล้ว    เห็นว่าไม่ต้องทำอีก   และว่า  ข้าหลวงทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในกองทัพของแต่ละฝ่ายก็ได้กลับไปแล้ว    เห็นว่าเป็นการสิ้นคราวทำแผนที่แล้ว

          ท่านแม่ทัพยืนยันว่า  ".  .  .  ส่วนสิบสองจุไทยนี้นับว่าเป็นพระราชอาณาเขต  ตามที่มองซิเออร์  ปาวีได้กล่าวนั้นหาสมควรไม่  เพราะได้ตัดสินด้วยเขตแดนตกลงกันแล้วหรือ   ซึ่งมองซิเออร์  ปาวีจะถือเป็นเขตส่วนฝรั่งเศสนั้นยังไม่ควรก่อน    คำสั่งของเกาเวอนแมนต์สำหรับกองทัพยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง  ข้าพเจ้าจะต้องทำตามเดิม  .  .  ."    ในที่สุด  "  .  .  .  เมื่อจำเป็นแล้ว  ก็จะรักษาการมิให้มัวหมองทั้ง  ๒  ฝ่าย"


          วันจันทร์  ขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือนอ้าย    (๑๗  ธันวาคม  ๒๔๓๑)    มองซิเออร์  ปาวีได้มาหาท่านแม่ทัพ  ได้สนทนากันด้วยเรื่องเมืองแถงเป็นพื้น    แม่ทัพได้เล่าให้ฟังว่าจะจัดการเมืองแถงอย่างไร    มองซิเออร์  ปาวีก็พูดจาขัดขวางต่างๆ    ดูประหนึ่งว่าเมืองแถงเป็นของฝรั่งเศส    ท่านแม่ทัพจึงต้องชี้แจงว่า  เมืองแถงนี้เป็นพระราชอาณาเขตของไทยมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว .  . .  ผู้ไทยดำนั้นใช้แซ่อย่างจีน  แต่อักษรที่ใช้เป็นอักษรสยาม    แต่พวกลาวหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองพวน  เป็นเมือง  ๒  ฝ่ายฟ้าคือขึ้นกับลาวและญวน    เมืองสิบสองจุไทย และสิบสองปันนา    เรียกว่า  ๓  ฝ่ายฟ้า    ขึ้นอยู่กับลาว  ญวน  และจีน    เมืองเหล่านี้เป็นเมืองในพระราชอาณาเขตทั้งสิ้น  และได้กล่าวถึงการปราบฮ่อครั้งที่ผ่านมาซึ่ง มองซิเออร์  ปาวีได้ทราบดีอยู่แล้ว    ในตอนท้านท่านแม่ทัพได้กล่าวว่า  ".  .  .  ถ้าสิ่งใดควรจะยอมให้กับท่านได้โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องได้รับความผิดแล้ว  ข้าพเจ้าก็จะยอมให้เพื่อช่วยท่านทุกอย่าง"

          มองซิเออร์  ปาวีซึ่งตระหนักดีไม่อาจโต้ตอบได้จึงไถลไปพูดเรื่องฮ่อว่าองบา องทั่งได้เข้าสวามิภักดิ์ฝรั่งเศสหมดแล้ว  (องบาตายแล้วแต่มองซิเออร์  ปาวียังไม่เล่าให้แม่ทัพฟัง)     ท่านแม่ทัพก็ชี้แจงว่าพวกฮ่อเหล่านี้ก็ให้หัวหน้ามาหาทหารไทย    เพื่อขออ่อนน้อมด้วยเหมือนกัน  และอธิบายวิธีที่จะดำเนินการต่อพวกฮ่อ    มองซิเออร์  ปาวีว่าขอให้รอกอมอดอง  (Commannder)  มาจากเมืองลาก่อนแล้วจะได้พูดตกลงกัน  และว่าไทยกับฝรั่งเศสต้องไปจัดราชการที่เมืองคำเกิดคำม่วน    ท่านแม่ทัพตอบว่า  ยังไม่ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ

         วันรุ่งขึ้น    มองซิเออร์  ปาวีมาพบท่านแม่ทัพอีกกล่าวว่า    เมืองแถง เมืองสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวนโดยแท้    บัดนี้  รัฐบาลได้มีคำสั่งให้มองซิเออร์  ปาวีมาจัดการรักษาเมืองเหล่านี้    ขอให้เยเนอราล  (นายพล  หมายถึงท่านแม่ทัพ)  เห็นแก่ทางพระราชไมตรีทั้งสองฝ่ายให้ถอนทหารไทยออกจากเมืองเหล่านี้

          ท่านแม่ทัพได้ชี้แจง  และว่า  ".  .  .  การที่ท่านจะให้ข้าพเจ้าถอนทหารจากเมืองเหล่านี้นั้น  ข้าพเจ้าทำไม่ได้  ถ้าขืนทำไปก็จะได้รับความผิด  เพราะผิดจากคำสั่งของรัฐบาลของข้าพเจ้า    มองซิเออร์  ปาวีว่าเรื่องการลงโทษรับรองไม่ให้รัฐบาลไทยลงโทษได้    ท่านแม่ทัพตอบว่า    ถ้ายอมทำตามว่า  ก็ต้องเป็นคนไม่รักชาติ  ไม่สมกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ให้เป็นแม่ทัพ  .  .  .  เมื่อท่านจะหักหาญเอาโดยอำนาจ  ข้าพเจ้ายอมตายในเมืองแถงนี้  .  .  .

          มองซิเออร์  ปาวีเจอไม้นี้เข้าก็เลยตอบว่า  ไม่เป็นเช่นนั้น  ท่านเยเนอราลต้องการอย่างไรขอให้บอกให้ทราบ    ท่านแม่ทัพจึงว่า  กองทัพสยามตั้งรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกอยู่แล้ว    ส่วนเมืองสิบสองจุไทยนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็ได้ตั้งอยู่   และเมืองแถงทหารไทยได้ตั้งรักษาการอยู่ก่อนแล้ว    บัดนี้  ฝรั่งเศสได้ยกเข้ามาตั้งในค่ายเชียงแลด้วยกัน    โดยเหตุนี้  ทหารไทยและทหารฝรั่งเศสรักษาความสงบอยู่ด้วยกันกว่ารัฐบาลจะตัดสินเขตแดนตกลงกัน  ซึ่งมองซิเออร์  ปาวีก็รับรอง  และได้ทำหนังสือไว้ต่อกัน

          หนังสือสัญญา  ๙  ข้อ   ซึ่ง   พระยาสุรศักดิ์มนตรี  แม่ทัพฝ่ายสยาม    กอมอดองเปนนากา    มองซิเออร์  ปาวีแปรซิดองเดอลากอมิศยองฝรั่งเศส  ได้ตกลงกันที่เมืองแถง   ตกลงที่จะจัดการเมืองสิบสองจุไทย  เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองพวนให้เป็นที่เรียบร้อยในระหว่างที่เกาเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายยังมิได้ตกลงแบ่งเขตแดนกัน  จะรักษาการไว้  กว่า  จะตกลงกัน    สรุปได้  ดังนี้  

          ๑. ฝ่ายฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในตำบลแขวงสิบสองจุไทย    ฝ่ายทหารไทยจะตั้งอยู่ในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองพวน

          ๒. เมืองแถงนั้น  ทหารไทยและทหารฝรั่งเศสจะพร้อมกันตั้งรักษาการอยู่ในเมืองแถงทั้ง  ๒  ฝ่าย  จะรักษาการโดยสุภาพเรียบร้อย    เมื่อฝ่ายใดจะมีการหรือจะใช้คนไปมาในตำบลที่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่  ก็ให้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อน    จะได้ช่วยการนั้นให้สำเร็จตามสมควร

          ๓. ฝ่ายเมืองไลนั้น  ฝรั่งเศสได้ตั้งรักษาอยู่แล้ว    บุตรท้าวไลก็เข้ายอมฝรั่งเศสแล้ว    แต่คำสาม  คำฮุย  ท้าวม่วยยังอยู่ในกองทัพไทย   ขอให้ฝรั่งเศสส่งไปหาบิดา    แต่คนเมืองหลวงพระบางที่ฮ่อตีเอาไปนั้น  ฝ่ายฝรั่งเศสจะช่วยส่งคืนยังเมืองแถงยังกองทัพไทยที่ตั้งอยู่นั้น

          ๔. ฝ่ายเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองพวนนั้น  กองทหารไทยได้ตั้งรักษาการอยู่หลายตำบล    ฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงจะไม่ล่วงเข้าไปในตำบลนั้น

          ๕. พวกฮ่อยังตั้งอยู่หลายตำบลตามเขตญวน  เขตสิบสองจุไทย  เขตหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเขตพวนนั้น  จะช่วยกันจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยทั้งสองฝ่าย

          ๖. เจ้าพนักงานกองเซอรเวฝ่ายไทย  จะได้ตรวจเซอรเวไปในที่ๆ ฝรั่งเศสตั้งอยู่    ฝ่ายฝรั่งเศสจะให้หนังสือนำให้ทำการไปโดยสะดวกและจะจัดทหารรักษาไปไม่ให้มีอันตรายเหมือนกับฝ่ายไทยได้จัดการรักษาการเซอรเวของฝรั่งเศสนั้น    จะส่งจนถึงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกซึ่งกองทหารไทยตั้งอยู่

          ๗. ราษฎรในเมืองแถงซึ่งเที่ยวแตกอยู่ตามป่าดงหลายตำบลนั้น    ฝ่ายไทยจะประกาศให้กลับภูมิลำเนาเดิม  ตามความสมัครใจของราษฎร

          ๘. จะเรียกกรมการท้าขุนที่เป็นหัวหน้าที่มีอยู่ในเมืองแถงให้มาพร้อมกันทั้งสองฝ่าย  พูดชี้แจงไม่ให้หวาดหวั่น

          ๙. หนังสือราชการฝ่ายฝรั่งเศสที่จะส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง  หรือฝ่ายเมืองหลวงพระบางจะส่งขึ้นมายังเมืองแถง    ฝ่ายไทยจะช่วยเป็นธุระ รับหนังสือนั้นส่งไปมา
ให้โดยสะดวก

          การกล่าวมาข้างต้นทั้ง  ๙  ข้อ    ได้พร้อมกันทั้ง  ๒  ฝ่ายเห็นตกลงกันได้เซ็นชื่อไว้ในท้ายหนังสือนี้ทั้ง  ๒  ฝ่าย

 

เมืองแถง  ณ  วันเสาร์  แรม  ๔  ค่ำ  เดือนอ้าย  ปีชวด  สัมฤทธิศก  ๑๒๕๐    (ตรงกับ    วันที่  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๓๑)


 

          เมื่อได้ทำสัญญาชั่วคราวกับฝรั่งเศส  ปรับกำลังนายทัพนายกองที่ชำนาญเชิงอาวุธไปตั้งประจำด่านทางในที่สำคัญหลายตำบล  และมั่นใจว่าได้จัดการเรื่องรักษาพระราชอาณาเขต  และระงับเหตุที่พวกฮ่อก่อการกำเริบเรียบร้อยแล้ว   ท่านแม่ทัพก็ได้เลื่อนกองทัพใหญ่กลับเมืองนครหลวงพระบางเพื่อจัดราชการอื่นต่อไป    ได้เดินทางถึงเมื่อ  วันศุกร์  ขึ้น  ๓  ค่ำ  เดือนยี่    ตรงกับ  วันที่  ๔  มกราคม  ๒๔๓๑

          วันอังคาร  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือนยี่    ตรงกับ  วันที่  ๘  มกราคม  ๒๔๓๑    นายเจริญ  กัปตันซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองสบแอดรายงายว่า  ได้ปราบปรามพวกฮ่อน้านนายม  แขวงเมืองเชียงค้อซึ่งมีอยู่  ๔  พวก  ประมาณ  ๕๐๐  คน    มีมาอ่อนน้อมต่อกองทัพบ้าง  บ้างก็รบกวนราษฎรอยู่  ที่ต้องสู้รบกันก็มี    พวกฮ่อตาย  ๗๐    ฝ่ายเรา  ตาย  ๑    พวกฮ่อได้ยกครอบครัวหนีออกนอกแขวงหัวพันทั้งห้าทั้งหก    แต่ไม่ทราบว่าไปที่ใดบ้าง    จึงได้เผาค่ายฮ่อ    และจัดทหารรักษาด่านทางไว้ทุกตำบล    และราษฎรได้กลับเข้ามาหลายสิบครัว   

          หลวงดัษกรปลาศ  ก็รายงานว่า    ได้ยกจากเมืองซ่อนไปเมืองสบแอดแล้ว    และได้เพิ่มกำลังออกรักษาด่านทางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น  กับได้ประสานกับกอมอดองเปนเนกาที่เมืองลา  แขวงสิบสองจุไทย  ได้รับคำตอบว่า   ถ้าหลวงดัษกรปลาศจะปราบปรามฮ่อเมื่อใดขอให้บอกล่วงหน้า  จะได้ช่วยกันปราบต่อไป  เวลานี้ฝรั่งเศสกำลังระวังพวกฮ่อทางเมืองกาดอยู่ 

          ส่วนราชการทางแขวงหัวพันทั้งห้าทั้งหกนั้น    พวกฮ่อระหกระเหินมาก  จะต้องปราบปรามต่อไป   ยังถอนทหารไม่ได้

          วันจันทร์  ขึ้น  ๑๓  ค่ำ  เดือนยี่    ตรงกับ  วันที่  ๑๔  มกราคม  ๒๔๓๑    ท่านแม่ทัพได้ปรึกษาหารือกับพระยาสุโขทัย  หลวงฤทธิพลชัย  ขุนชำนาญภักดีเจ้าพนักงานโทรเลขเรื่องจะทำสายโทรเลข  แต่ท่าอุตรดิตถ์ถึงท่าปากลายซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็น อุทัยธานี    และเรื่องการทำไปรษณีย์โทรเลขนี้  คิดจะให้ไปรษณีย์เดินเดือนละ  ๒  หน    ซึ่งต่อมาท่านแม่ทัพได้ขอให้เจ้าร่ชวงศ์ซื้อเรือสำหรับเดินไปรษณีย์เพิ่มขึ้นอีกเป็นเดือนละ  ๒  เที่ยวได้ตามที่คิดไว้    ให้เริ่มเดินใน  เดือน  ๕  ปีใหม่เป็นต้นไป

           วันพฤหัสบดี  ขึ้น  ๖  ค่ำ  เดือน  ๔    ตรงกับ  วันที่  ๗  มีนาคม  ๒๔๓๑    แม่ทัพได้รับตราพระราชสีห์ที่  ๒๕๑   มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้  พระยานนทบุรี  (พระยาไกรโกษา  ทัด  สิงหเสนี)  ไปเป็นข้าหลวง  ๕  หัวเมือง  อยู่  ณ  เชียงใหม่    ให้มอบการงานในหน้าที่ข้าหลวงประจำนครหลวงพระบางให้ท่านแม่ทัพโดยสิ้นเชิง

           วันศุกร์  แรม  ๖  ค่ำ  เดือน  ๔    ตรงกับ  วันที่  ๒๒  มีนาคม  ๒๔๓๑    ได้รับตราพระราชสีห์  ทรงพระกรุณาให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพและเป็นข้าหลวงจัดราชการบ้านเมืองปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตเมืองหลวงเต็มอำนาจสิทธิเด็ดขาด    ทั้งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว   เมื่อเห็นสมควรจะจัดการอย่างไรซึ่งชอบด้วยราชการแล้วก็โปรดเกล้าฯ  ให้จัดได้ทีเดียว

 

      วันที่  ๑  เมษายน   จุลศักราช  ๑๒๕๐   พ.ศ. ๒๔๓๒  เริ่มมีการใช้รัตนโกสินทรศกครั้งแรก  เป็นรัตนโกสินทรศก  (ร.ศ.) ๑๐๘    แต่ท่านแม่ทัพได้รับทราบในเดือนพฤษภาคมเมื่อทราบแล้วท่านจึงใช้  วันที่  เดือน  และ รัตนโกสินทรศก  (ร.ศ.)    ในการบันทึก

 

".  .  .  ข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส "

           วันเสาร์  ขึ้น  ๑๓  ค่ำ  เดือน  ๕    ตรงกับ  วันที่  ๑๓  เมษายน  ๒๔๓๒    ดอกเตอร์มาเซมาพบท่านแม่ทัพแจ้งว่า    กองทัพฝรั่งเศสที่เมืองแถงได้รับคำสั่งจากเยเนอราลแต่เมืองฮานอย  ให้ไล่ทหารไทยที่ตั้งรักษาการที่บ้านสามหมื่น  เมืองแถงออกไป    ทหารไทยตอบว่า  ไม่ไป  เพราะไม่ใช่คำสั่งท่านแม่ทัพ    และท่านแม่ทัพตอบดอกเตอร์มาเซว่าได้ปฏิบัติข้อตกลงตามที่ได้สัญญากันไว้ต่อกัน    (สัญญา  ๙  ข้อ)   เมื่อมีคำสั่งเกาเวอนแมนต์  ๒  ฝ่ายตกลงกันประการใดแล้ว  จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นทุกประการ    และตัดความว่า  "ที่จะให้ข้าพเจ้าสั่งถอนทหารไทยเสียในเวลานี้นั้น  ข้าพเจ้ายังทำตามไม่ได้"    ดอกเตอร์มาเซ  จึงว่า  ถ้าเช่นนั้นจะมีหนังสือบอกไปเมืองฮานอย  แล้วก็ลากลับไป 
  
          ดอกเตอร์มาเซผู้นี้  มีกิริยาวาจาหยาบคาย   เป็นผู้อยู่ประจำนครหลวงพระบางแทนมองซิเออร์  ปาวี
 
          วันที่  ๒๓  พฤษภาคม  ๒๔๓๒    กัปตันนิโคล็อง  (ได้เลื่อนยศจากเลฟเตแนนท์)  และดอกเตอร์มาเซได้เข้าพบท่านแม่ทัพและพูดจาหว่านล้อมให้สั่งถอนทหารไทยจากเมืองแถง    ท่านจึงตอบห้วนๆ  ว่า    "ข้าพเจ้าไม่รับเข้าใจอะไรทั้งหมด    นอกจากเข้าใจว่าเมืองแถงนี้เป็นเมืองกลางตั้งรักษาอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย    ถ้าฝรั่งเศสเอาอาวุธเข้ามาในเขตแขวงที่เมืองไทยรักษาอยู่โดยไม่บอกกล่าวแล้ว ต้องรบกัน    จะไม่ยอมให้เดินลอยนวนเล่นเป็นอันขาด    ข้าพเจ้าจนใจว่า  เวลานี้เกาเวอนแมนต์สั่งให้รักษาการสงบอยู่    มิฉะนั้น  ข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส"

          น่าชื่นใจคำตอบท่านนะครับ    และ ในวันที่  ๑  กรกฎาคม  ๒๔๓๒    กัปตันนิโคล็องและดอกเตอร์มาเซก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ  ท่านแม่ทัพบันทึกว่า  ".  .  .  การหยุมหยิมเล็กๆ  น้อยๆ  ซึ่งเป็นเรื่องกวนใจให้หัวยุ่งก็หมดไป    ราชการอื่นๆ  ถึงจะมีมากมายต้องรบราฆ่าฟันกันก็ไม่สู้หนักใจเกิดโมโหเท่าทำงานกันคนพาลเกเรเกตุง    เวลานี้จึงนับว่าว่างได้  .  .  ."   

          และเมื่อนับว่าว่างท่านก็ได้จัดระเบียบเพิ่มเติมจากที่ได้จัดไว้แล้ว  เช่น  จัดตั้งกองคลังเพื่อรวบรวมเงินรายได้ - รายจ่าย    ตั้งโรงต้มกลั่นสุรา  และห้ามราษฎรไม่ให้ลักลอบต้มกลั่นสุราเอง 

          และ  ในที่สุด

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

          ใบบอกพระยาสุรศักดิ์มนตรี  ที่  ๒๔/๒๕/๒๖/๒๗/๒๘/๒๙/๓๐    มีพระบรมราชโองการสั่งว่า    ให้กรมมหาดไทยมีตราตอบพระยาสุรศักดิ์มนตรีว่า    การที่  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  จัดการทั้งปวงนั้นใช้ได้หมดแล้ว    ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีกลับลงมากรุงเทพฯ  จะได้ปรึกษาจัดการปักปันเขตต์แดน    ด้วยพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าใจการทั้งปวงอยู่หมดแล้ว    ให้พระพลัษฎาเป็นข้าหลวงและบังคับทหารอยู่เมืองหลวงพระบางแทนพระยาสุรศักดิ์มนตรี    ให้หลวงดัษกรปลาศอยู่ช่ายราชการ    ลายพระหัตถ์ลงวันที่  ๖  กันยายน  ร.ศ.๑๐๘

                                                                                                   (เซ็น)  สมมตอมรพันธ์

 

          วันที่  ๑๘  มกราคม  ร.ศ.๑๐๘  (พ.ศ. ๒๔๓๒)  แม่ทัพก็ได้รับท้องคราพระราชสีห์ใจความเหมือนอย่างลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมขุนสมมตอมรพันธ์

           วันที่  ๒๓  มกราคม  ร.ศ.๑๐๘    ท่านแม่ทัพได้ออกเรือจากท่าดงหอยล่องมาตามลำแม่น้ำโขง    วันที่  ๒๘  มกราคม    ถึงบ้านปากลาย    วันรุ่งขึ้น  เปลี่ยนเรือ  แบ่งคนเดินทางบกไปถึงเมืองพิชัย

           วันที่  ๓๐  มกราคม     ออกจากปากลายล่องเรือมาตามลำน้ำโขง    ได้สังเกตุดูตั้งแต่ล่องเรือมาจากเมืองหลวงพระบางถึงปากลาย    มีเขาก็ต่ำลงมาทุกที   และสองฝั่งลำน้ำโขงมีต้นไม้ใบเขียวสดตลอดฤดูเป็นที่ยินดี    ถ้าจะปลูกสร้างต้นผลไม้สิ่งใดก็คงงอกงามดีมาก    แต่ปากลายลงมาถึงเมืองเชียงคาน  เขาก็ต่ำลงมา  สูงเสมอโคก  ตลอดลำน้ำตลิ่งก็ต่ำ  ไม่สูงเหมือนกับเหนือปากลายไปทางเมืองหลวงพระบาง    ในลำน้ำโขงตลอดไปต้องับว่าที่ดินอุดมเป็นที่สุด     ถ้าบำรุงการค้าขายให้สินค้าออกได้สะดวกแล้ว  ลำน้ำเจ้าพระยาสู้ไม่ได้เลย    เพราะเหตุดังนี้ฝรั่งเศสจึงได้สรรเสริญเป็นที่สุด    ตั้งแต่ปากลายลงมา  ลำน้ำโขงก็กว้างออกไปมาก  น้ำไม่ใคร่จะไหลแรง  น้ำเชี่ยวเป็นบางแห่ง    ถึงแก่งใหม่แก่งนี้หาเหมือนกับแก่งอื่นๆ ไม่  เพราะก้อนหินไม่สูงบนน้ำ  เป็นแต่หินดานอยู่ใต้น้ำเหมือนหาดน้ำนัว    มีคลื่นใหญ่เต็มไปทั้งแม่น้ำยาวประมาณ  ๒๐  เส้น    (๘๐๐  เมตร)    (พัก  ๑  คืน)  -  หาดเกียน  -  ปากน้ำเลย  -  เมืองเชียงคาน  (พัก  ๒  คืน)  -  แก่งดุกดุ  -  แก่งลอม  -  แก่งชาว  -  แก่งฟ้า    น้ำไหลเชี่ยวมาก  น้ำเดือดพลุ่งขึ้นทั่วไป  ดูเป็นที่น่ากลัว  -   บ้านสงาว  มีหิน  ๒  ฝั่ง  น้ำไหลแรงเป็นวนหมุนลงไปลึก  แล้วพลุ่งขึ้นแตกกระจายไปเป็นฟองใหญ่เรือเกือบล่ม  (พัก  ๑  คืน)  -  ฝาชอ  มีหินกลางน้ำ    น้ำพุเป็นคลื่นใหญ่  น้าไหลแรง  -  คอยเต่า  -  หมอเซา  มีหินขวางกลางน้ำเป็นอันมาก   (พัก  ๑  คืน)  -  ดอนเพียหลง  -  บ้านอ่างน้อย  -  บ้านสะได๋  -  ภูผาดึก  -  ภูพะพาน  ลำแม่น้ำโขงกว้างออกไปมาก    ตลิ่งแลดูเขาก็ต่ำลง    มีเรือนราษฎรเป็นระยะตลอดมา    ชาวบ้านปลูกยาสูบ  และจับปลาบึก  -  หาดพูน  (พัก  ๑  คืน)  -  บ้านสิใด  -  วัดจัน  ได้ขึ้นไปดูเมืองเวียงจันทน์  ได้เห็นบ้านเมืองก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า    แต่ก่อนเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง    ภูมิบ้านเมืองดีกว่าเมืองหลวงพระบางเป็นอันมาก  วังและวัด  แจ้งอยู่ในสมุดกาเนียโดยละเอียดแล้ว (พัก  ๑  คืน)

          จากเมืองเวียงจันทน์ล่องเรือมาถึงเมืองหนองคาย  พักอยู่  ๖  ราตรี  เพื่อเตรียมการและรอพาหนะที่จะขึ้นเดินทางบกตัดทางมาลงที่เมืองสระบุรี

          จากเมืองหนองคาย  -  บ้านบกหวาน  (พัก  ๑  คืน)  -  ห้วยทราย  -  นาขาว  (พัก  ๑  คืน)  -  ห้วยหลวง  -  บ้านเดื่อมะแว้ง  (พัก  ๑  คืน)  -  หนองกุมชะวาปี  (พัก  ๑  คืน)  -  เมืองขอนแก่น  -  เมืองชนบท  -  เมืองนครราชสีมา  พักอยู่หลายเพลาเพื่อให้ไพร่พลได้หยุดพักผ่อนร่างกาย  แล้วจึงเดินทางสู่เมืองสระบุรี  เป็นอันสิ้นสุดระยะทางที่เดินบก

           ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์คุมเรือหลวงชนิดต่างๆ  หลายสิบลำขึ้รไปรับกองทัพถึงเมืองสระบุรี    มาถึงกรุงเทพพระมหานครในเดือนมีนาคม  ร.ศ.๑๐๘  นั้นแล้ว

          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  ได้นำพระยาสุรศักดิ์มนตรีพร้อมด้วยนายทัพนายกองเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งเสด็จประทับเหนือสุวรรณราชบัลลังก์บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น  โดยทรงพระปราโมทย์  ได้มีพระราชดำรัสปฏิสันถารตามสมควรจึงเสด็จขึ้น   

          เมื่อได้ทรงทราบรายงานความชอบของนาทัพนายกองแล้ว  จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานยศ บรรดาศักดิ์  และเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ตามสมควรแก่ความชอบ

 

 

 

 

 


 

 

 

          ครับ  .  .  .  การปราบฮ่อครั้งที่  ๓  ด้านหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และสิบสองจุไทยก็นับว่าได้เสร็จสงบได้ดังพระราชประสงค์ แล้ว    แต่สถานการณ์ของบ้านเมืองไม่มีการเสร็จสงบได้    ทางด้านเมืองพวน  หรือเมืองเชียงขวางก็มีเหตุการณ์น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันนะครับ

 

 

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ 

          ใน การปราบฮ่อครั้งนี้ได้เกิดวีรบุรุษท่านหนึ่ง ซึ่งมีความรักชาติ กล้าหาญ และเสียสละ เป็นอย่างยิ่ง  สมควรที่อนุชนจะจดจำ รำลึก และถือเป็นแบบฉบับอันควรปฏิบัติตามต่อไป  ท่านคือ . . .  พระยอดเมืองขวาง

 

               “พระยอดเมืองขวาง"  มีนามเดิมว่า "ขำ" เป็นบุตรพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร นามสกุลเดิมว่า กฤษณมิตร ภายหลังได้รับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “ยอดเพชร”) เกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่  ๑๒  เมษายน  ๒๓๘๙   เดิมรับราชการอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เพราะท่านบิดารับราชการอยู่ที่นั่น    พระยอดเมืองขวาง (ขำ) จึงรับราชการสังกัดมหาดไทย ได้เลื่อนตำแหน่งโดยลำดับ

          จนกระทั่งได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยอดเมืองขวาง
 
 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต กล้าหาญ รักชาติบ้านเมือง จึงได้รับคัดเลือกให้ไปเป็นข้าหลวงแขวงคำมวน   ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน ในราชอาณาจักรลาว (ซึ่งในสมัยนั้นรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย)  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๘     เวลานั้นอายุ  ๓๙ ปี

 

           พระยอดเมืองขวางได้ไปตั้งค่ายทหารไว้ที่ตำบลขนองม้า (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นาแป” หรือ “นาป่า”   Ban  Nape  เพราะเป็นนาอยู่กลางป่าในหุบเขา) ใกล้พรมแดนญวน 

 

               ค่ายขนองม้านี้ตั้งขวางช่องทางซึ่งเป็นด่านพรมแดนระหว่างเขตไทยกับญวน

 

 

 

 ตำบลขนองม้า  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นาแป” หรือ “นาป่า”    Ban  Nape

ด่านพรมแดนระหว่างเขตไทยกับญวน

 

 

วันที่  ๑๓  ตุลาคม  ๒๔๓๑     ข้าหลวงแขวงคำมวน (ขำ) ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยอดเมืองขวา

 

           เมืองคำเกิดคำมวนเป็น เมืองแฝด ส่วนมากมักเรียกแต่ว่า คำมวน เป็นพระราชอาณาเขตสยาม  เพราะลาวเป็นประเทศราชของสยามมานานช้า  รวมทั้งเขมรด้วย  และไทยเราส่งข้าราชการไปปกครองมาช้านานแล้ว ไม่ได้ให้เจ้าประเทศราชปกครอง     ด้วยเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญชิดพรมแดนญวนที่จะพุ่งเข้าสู่นครพนมอาจตัด อีสานตอนบนได้  หากถูกรุกล้ำ  และราษฎรเมืองคำเกิดคำมวนนั้นเป็นชาว ผู้ไทย แทบทั้งหมด   

          ตามปรกติแล้ว   บรรดาประเทศราชเหล่านี้ สยามให้มีเจ้านายปกครองกันเอง   แต่ต้องส่งดอกไม้เงินทองปีละครั้งและเมื่อมีศึกเกิดขึ้นกับพระราชอาณาจักร สยาม  ประเทศราชต้องจัดส่งกองทัพไปช่วยรบ   หากเกิดศึกกับประเทศราช  สยามก็เข้าช่วยคุ้มครอง
 
 

           

พ.ศ.๒๔๓๔    ทรงจัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือ

         ครับ  .  .  .  เนื่องจากทางการไทยทราบดีถึงเจตนาที่แท้จริงของฝรั่งเศส  ที่ต้องการครอบครองลาวและเขมร  ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยต้องพยายามโอนอ่อนผ่อนให้เสมอ  เพราะหากแข็งขืน  ก็เป็นที่แน่นอนว่าฝรั่งเศสจะต้องใช้พลังอำนาจทางทหารซึ่งมีศักยภาพสูงกว่ากองทัพไทย  และมีตัวอย่างที่ฝรั่งเศสปฏิบัติกับญวน  และอังกฤษปฏิบัติกับพม่ามาแล้ว 

          ดังนั้น    เมื่อไทยสามารถทำหนังสือสัญญา  ๙  ข้อ  ที่เมืองแถงได้ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งที่หยุดฝรั่งเศสไว้ที่สิบสองจุไทย    แต่ฝรั่งเศสมิได้พอใจเพียงเท่านั้น    แต่ยังต้องการได้หัวพันทั้งห้าทั้งหกด้วย    แต่ที่ฝรั่งเศสยอมปฏิบัติตามข้อตกลงอาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเพิ่งจะได้เวียดนามเป็นรัฐอารักขาทั้งหมดในเดือนมิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๖    และมีการรวมตัวกันก่อกบฏต่อต้านฝรั่งเศส    ฝรั่งเศสจึงไม่ต้องการ "ทำศึกสองด้าน"  และได้เห็นท่าทีอันแข็งขันเอาจริงของท่านแม่ทัพด้วยก็เป็นได้

          ใน  พ.ศ.๒๔๓๔    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการปกครอง  โดยมีข้าหลวงใหญ่ประจำเป็นภาค ๆ    ดังนี้

 

            ภาคลาวกาว 

 

               มีเมืองอุบล  เมืองจัมปาศักดิ์  เมืองเชียงแตง  เมืองแสนปาง  เมืองสีทันดร  เมืองอัตบือ  เมืองสาลวัน  เมืองคำทองใหญ่  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม  เมืองศรีษะเกษ  เมืองยโสธร  เมืองเขมราฐ  เมืองกมลาศัย  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองภูแล่นช้าง  เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมหาสารคาม 

               รวมเมืองใหญ่ ๒๑  เมือง เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง

     

                  กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่       
 

 

 

 

            ภาคลาวพวน 

 

               มีเมืองหนองคาย  เมืองเชียงขวาง  เมืองบริคัณหนิคม  เมืองโพนพิสัย  เมืองนครพนม  เมืองท่าอุเทน  เมืองไชยบุรี  เมืองสกลนคร  เมืองมุกดาหาร  เมืองขอนแก่น  เมืองหล่มศักดิ์

               รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๓๖ เมือง

 

                    กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่     

 

                พ.ศ.๒๔๓๖  ได้ทรงตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่ บ้านหมากแข้ง  ทรงสร้างความเจริญ จากหมู่บ้านชนบทจนเป็นเมืองอุดร   และต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี

 

 

            ภาคลาวเฉียง 

               มีเมืองเชียงใหม่  เมืองลำปาง  เมืองลำพูน  เมืองน่าน  เมืองแพร่  เมืองเถิน  เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น

                    พระยาไกรโกษา เป็นข้าหลวงใหญ่ 

 

         ภาคลาวพุงขาว 

               มีเมืองหลวงพระบาง  สิบสองปันนา  สิบสองจุไท  หัวพันทั้งห้าทั้งหก  ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต

 

 

 

 

 

  กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่      (ซ้าย)

พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) รักษาราชการแทน      (ขวา)

 

 

 

 

 

         ครับ  .  .  . ารปราบฮ่อครั้งที่  ๓  นี้กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพฝรั่งเศสมากขึ้น   และฝรั่งเศสก็มีนโยบายแสวงหาอาณานิคมเพื่อฟื้นฟูเกียรติภูมิ  และเศรษฐกิจเนื่องจากการปราชัยในสงครามฟรังโก - ปรัสเซียน  เมื่อ  ค.ศ.๑๘๗๐  (พ.ศ.๒๔๑๓)     เป้าหมายของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้คือ  แม่น้ำโขงเพื่อเข้าสู่ประเทศจีน    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักอย่างถ่องแท้   และทรงเตรียมรับสถานการณ์ในทุกด้าน  เช่น  ด้านการเมืองการปกครอง  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือใน  พ.ศ.๒๔๓๔     ส่วนทางการทหารนั้น  .  .  .  ขอเชิญติดตามสถานการณ์ต่อไปครับ  .  .  .  วิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒   

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒ 

 

 

 

บรรณานุกรม 

           - ประวัติการ ของ  จอมพล และ มหาอำมาตย์เอก  เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม  แสง-ชูโต)  ฉบับรวบรวมครั้งสุดท้าย  ๒๘  มีนาคม  ๒๕๐๔  โรงพิมพ์ศรีหงส์  พระนคร  พ.ศ.๒๕๐๔

           - ไทยปราบฮ่อ    เอกสารประวัติศาสตร์ไทย  ของ  ม.ล.มานิจ  ชุมสาย    เฉลิมนิจ  ๒๕๒๒    โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงธรรมประทีป     กรุงเทพมหานคร

          - วิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.๑๑๒  ของจิราภรณ์   สถาปนะวรรธนะ  โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์   กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๒๓, 

          - กรณีพิพาท  ไทย - ฝรั่งเศส  ร.ศ.๑๑๒  ตามหลักฐานฝรั่งเศส    โดย  พันตรี  พีรพล  สงนุ้ย    ส่วนการศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับพิเศษ    สำนักพิมพ์มติชน   กรุงเทพฯ    มกราคม  ๒๕๔๕ 

          -  พระบรมราชานุสรณ์  รัชกาลที่  ๕    ประเทศสวีเดน    กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๔๒    และจากเว็ปไซต์ต่างๆ บ้าง   ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

          - พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ   ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ โดย สัมพันธ์

๑๐๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๓)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๒)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๑)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๒)
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker