dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๑)

 * * *

วิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒ (๑)

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  เมื่อพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ปราบฮ่อเมื่อ  พ.ศ.๒๔๓๐  นั้น    ได้ดำเนินการในแคว้นพัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นที่เรียบร้อย  แต่ในแคว้นสิบสองจุไทยนั้น  ฝ่ายฝรั่งเศสได้เข้ามายึดอยู่  และที่เมืองแถง  กำลังของไทย และฝรั่งเศสได้ตั้งอยู่    

          ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในหนังสือสัญญา  ๙  ข้อ  ตกลงที่จะจัดการเมืองสิบสองจุไทย  เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองพวนให้เป็นที่เรียบร้อยในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังมิได้ตกลงแบ่งเขตแดนกัน ว่าจะรักษาการไว้จนกว่าจะตกลงกัน    ซึ่งนับว่า   พระยาสุรศักดิ์มนตรีจัดการทั้งปวงนั้นใช้ได้หมดแล้ว    จึงมีพระบรมราชโองการให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีกลับลงมากรุงเทพฯ  เพื่อปรึกษาจัดการปักปันเขตแดนเนื่องจากเป็นผู้ที่เข้าใจการทั้งปวงอยู่หมดแล้ว    ให้พระพลัษฎานุรักษ์เป็นข้าหลวงและบังคับทหารอยู่เมืองหลวงพระบาง

          ในด้านการปกครอง    พ.ศ.๒๔๓๔  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือเสียใหม่เพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการปกครอง    โดยแบ่งเป็นภาคๆ  และทรงแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่     ดังนี้

          ภาคลาวกาว 

                มีเมืองอุบล  เมืองจัมปาศักดิ์  เมืองเชียงแตง  เมืองแสนปาง  เมืองสีทันดร  เมืองอัตบือ  เมืองสาลวัน  เมืองคำทองใหญ่  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม  เมืองศรีษะเกษ  เมืองยโสธร  เมืองเขมราฐ  เมืองกมลาศัย  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองภูแล่นช้าง  เมืองสุวรรณภูมิ  เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมหาสารคาม 

                 รวมเมืองใหญ่ ๒๑  เมือง   เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง

          กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่    เสด็จจากกรุงเทพฯ  วันที่  ๑๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๓๔ 

 

          ภาคลาวพวน 

                มีเมืองหนองคาย  เมืองเชียงขวาง  เมืองบริคัณหนิคม  เมืองโพนพิสัย  เมืองนครพนม  เมืองท่าอุเทน  เมืองไชยบุรี  เมืองสกลนคร  เมืองมุกดาหาร  เมืองขอนแก่น  เมืองหล่มศักดิ์

               รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง   เมืองขึ้นอีก ๓๖ เมือง

          กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่    เสด็จจากกรุงเทพฯ  วันที่  ๘  ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๓๔ 

 

           ภาคลาวเฉียง 

               มีเมืองเชียงใหม่  เมืองลำปาง  เมืองลำพูน  เมืองน่าน  เมืองแพร่  เมืองเถิน  เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น

          พระยาไกรโกษา เป็นข้าหลวงใหญ่ 

 

          ภาคลาวพุงขาว 

               มีเมืองหลวงพระบาง  สิบสองปันนา  สิบสองจุไท  หัวพันทั้งห้าทั้งหก  ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต
 
               กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่    (พระพลัษฎานุรักษ์ข้าหลวงเมืองหลวงพระบางราชธานีแต่เดิมรักษาราชการ)

 

          ครับ  .  .  .  เชิญติดตามสถานการณ์ต่อไปนะครับ  .  .  .

 

การดำเนินการทางการฑูต  และการดำเนินการป้องกันพระราชอาณาเขต

ด้านการฑูต

          กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศทรงมีพระประสงค์จะทราบว่า  อังกฤษมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร    ซึ่งพระดิษฐการภักดี  (แฉ่ บุนนาค)  อุปฑูตได้ขอเข้าพบ ลอร์ด  ซอลส์เบอรี่   (Lord Salisbury)  นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีอังกฤษ  ในวันที่  ๒๑  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๓๔    และได้รับคำแนะนำว่า    ไทยมีทางเลือก  ๒  ประการคือ

          ๑.  รัฐบาลไทยต้องระวังรักษาเขตแดนให้เข้มแข็ง   เตรียมเผชิญกับการบีบบังคับของฝรั่งเศส   และเชื่อว่า  ฝรั่งเศสคงไม่ดำเนินการรุนแรงนอกจากจะขู่ให้กลัว   หากไทยระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายที่จะเป็นการยั่วยุให้ฝรั่งเศสประกาศสงคราม

          ๒.  รัฐบาลไทยอาจจะทำความตกลงกับอังกฤษหรือเยอรมนี    โดยทำสัญญาว่าจะไม่ยกดินแดนใดๆ  ให้แก่ใคร  โดยไม่แจ้งให้ประเทศทั้งสองทราบก่อน

          กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงมีความเห็นต่อคำแนะนำประการที่สองว่า    ลอร์ด  ซอลส์เบอรี่พูดจาเอาเปรียบไทยนัก      ส่วนคำแนะนำประการแรกนั้น  รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอยู่แล้ว  อย่างเงียบๆ    

          อย่างไรก็ดี    ลอร์ด  ซอลส์เบอรี่  ก็สงวนท่าที ไม่ออกปากว่าจะทำประการใด    เพียงแต่พูดว่าถ้าฝรั่งเศสคิดจะเอาแม่น้ำโขงเป็นเขตแดน    อังกฤษจะเข้าแทรกแซง  และพูดจาว่ากล่าวฝรั่งเศส    และ นาย  เฟรเดอริค  เวอนี  (Frederick  Verney)  เลขานุการประจำสถานฑูตไทย  (เป็นชาวอังกฤษ)   กราบทูลย้ำในรายงานต่อเสนาบดีเสมอว่า   ลอร์ด  ซอลส์เบอรี่ไม่เคยกล่าวว่าอังกฤษจะส่งกำลังทหารมาช่วยไทย   ในกรณีที่ไทยต้องรบกับฝรั่งเศส

 

การป้องกันพระราชอาณาเขต

 

 

ภาคลาวกาว  โดยสังเขป

 

ด้านภาคลาวกาว

                  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่เสด็จจากกรุงเทพฯ  ในวันที่  ๑๙  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๔    เมื่อเสด็จถึงเมืองอุบลไม่นานนักก็ทรงได้รับรายงาน  .  .  .

          .  .  .  ญวนมีหนังสือถึงเมืองตะโปน  (เซโปน - ?)  ว่าฝรั่งเศสสั่งให้เกณฑ์ไพร่ทำทางใหญ่  กว้าง  ๖  วา  (๑๒  เมตร)  ไปให้ถึงแม่น้ำโขง  เมืองสาลวัน  เมืองนอง  และเมืองวังคำ    และว่าฝรั่งเศสกับญวนจะมาจากเมืองลาดคำโล  จะไปให้ถึงแม่น้ำโขง  .  .  .

          วันที่  ๑๓  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๓๔    ฝรั่งเศสพาชาวเขมร  ๓๐ - ๔๐  คน  มาลอบระเบิดแก่งหลี่ผี   นายด่านผู้รักษาแก่งได้ห้ามปราม    แต่พวกพวกฝรั่งเศสไม่เชื่อฟัง

          วันที่  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๓๔    ฝรั่งเศสพร้อมทหารญวนพากันมาที่บ้านห้วยสาร  แขวงเมืองตะโปนเพื่อจะตรวจราชการเมืองตะโปน  เมืองผาบัง  และเมืองวังคำ  ตลอดถึงฝั่งแม่น้ำโขง    อ้างว่าเป็นเมืองขึ้นของญวน    แต่หลวงเทพนรินทร์ข้าหลวงเมืองตะโปนขัดขวางไม่ให้เข้ามาในเขตไทย    ฝ่ายฝรั่งเศสจึงได้กลับไป

                  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่ทรงเห็นว่า    ฝรั่งเศสมุ่งคุกคามหัวเมืองชายแดนด้วยการใช้กำลังข่มขู่    จึงทรงป้องกันพระราชอาณาเขต  ดังนี้

               - ให้หลวงเทเพนทรเทพ    เป็นผู้จัดการด่าน  และตั้งป้อมค่ายที่แก่งหลี่ผี

               - ให้ขุนมหาวิไชย  ข้าหลวงเมืองสีทันดร    นำไพร่พลและทหาร  ๑๐๐  คนไปประจำแก่งหลี่ผี

               - ให้พระศรีพิทักษ์  ข้าหลวงเมืองขุขันธ์  ต่อสายโทรเลขและตรวจราชการเมืองเสียมราฐ  และตัดทางเพื่อต่อสายโทรศัพท์จนถึงเมืองอุบล

               - เตรียมเสบียงไว้ที่เมืองสีทันดร  เมืองสุรินทร์  และเมืองกาฬสินธ์

              - ให้พระพิศณุเทพสั่งการไปยังหลวงบุรินทรามาตย์  ข้าหลวงเมืองเชียงแตง  ".  .  .  ให้จัดทหารรักษาด่านตามลำน้ำโขงโดยกวดขัน  ถ้ามีเรือญวน  เขมรขึ้นมาตามลำน้ำให้ไปตรวจดู    ถ้าพบดินระเบิด  ดินปืน  แลเครื่องอาวุธ  ให้ชี้แจงอย่าให้นำเข้ามาในพระราชอาณาเขตร    ถ้าห้ามไม่ฟัง  ให้ใช้กำลังเข้าจับกุมเอาคนแลของต้องห้ามไว้ให้จงได้  ถ้ามามากให้เกณฑ์กำลังออกก้าวสกัดห้ามปรามจับกุมให้ทันท่วงที"

          แต่ท่านข้าหลวงใหญ่ภาคลาวกาว  ก็ทรงมีข้อขัดข้อง  เนื่องจากขาดแคลนกำลังพลที่ได้รับการฝึกอย่างดี    จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลฯ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า  .  .  .   ฝ่ายฝรั่งเศสจะทำการรุกร้นจนถึงต้องเป็นการต่อสู้เรี่ยวแรงไปนี้  ไม่คิดเห็นว่าจะเป็น  .  .  .  การที่จะส่งกำลังผู้คนทหารกรุงเทพฯ  ขึ้นไปประจำรักษาราชการ  .  .  .  ผู้คนไปอยู่ผิดถิ่นฐานก็จะเจ็บป่วยล้มตายมาก  .  .  .  เห็นการควรจะให้มีกำลังป้องกัน  .  .  .  จัดคนในประเทศนั้นเป็นทหารประจำราชการขึ้น  สาตราวุธจะต้องการอีกเท่าใด  ควรบอกมา  จะได้ส่งไป  .  .  ."

          ในการสนองพระราชดำริดังกล่าว    ส่วนที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการดังนี้

          กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่ภาคลาวกาว    ออกประกาศเรียกเกณฑ์ทหารหัวเมืองลาวกาว

          กรมยุทธนาธิการ    ส่งนายทหารขึ้นไปทำกาฝึกหัดทหารที่เรียกเกณฑ์มา    และจัดส่งอาวุธไปให้จำนวนหนึ่ง

          ครับ  .  .  .  ภาคลาวกาวนี้ถึงแม้จะได้เตรียมการจัดตั้งกองกำลัง    กรมยุทธนาธิการจัดส่งนายทหารมาฝึกหัด  และส่งอาวุธมาให้แล้วก็ตาม    แต่ประสิทธิภาพใรการรบนั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป    แต่ก็ต้องนับว่าฝ่ายเราได้ดำเนินการอย่างเหมาะสม  ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องเวลา  และอื่นๆ  อีกมาก
         
 

 

 

 

ภาคลาวพวน  และลาวพุงขาว  โดยสังเขป 

 

ด้านภาคลาวพวน

                กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  ข้าหลวงใหญ่เสด็จถึงเมืองหนองคาย  ในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๓๕    ทรงได้รับรายงานว่า  ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งด่านในพระราชอาณาเขตหลายแห่ง  บางแห่งได้ขับไล่นายด่านไทยด้วย    จึงโปรดให้ตั้งด่านติดกับเขตแดนญวนขึ้นหลายแห่งเช่นกัน

          ในภาคลาวพวนนี้มีเหตุการณ์สำคัญ  คือ  ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าข้าหลวงไทยข่มเหงคนฝรั่งเศสที่เมืองท่าอุเทน    กล่าวคือคนฝรั่งเศสได้เข้าเมืองโดยไม่มีหนังสือเดินทางที่เจ้าพนักงานไทยเป็นผู้ออกให้  (น่าจะเป็นหนังสืออนุญาตให้เดินทางมากกว่า  ไม่ใช่หนังสือเดินทาง - Passport  ในปัจจุบัน)   และอีกรายหนึ่งเดินทางเข้ามาเมืองหนองคายโดยไม่มีหนังสือเดินทางเช่นเดียวกัน  และขอตั้งโรงต้มกลั่นสุรา  

          ระหว่างที่ฝ่ายไทยดำเนินทั้งทางการฑูตและการป้องกันพระราชอาณาเขตนั้น   ในรัฐสภาฝรั่งเศสก็เร่งรัดให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทย

 

 

รัฐสภาฝรั่งเศส   เร่งให้ใช้กำลัง
 
                  เมื่อวันที่  ๔  กุมภาพันธ์   ๒๔๓๕   เมอซิเออร์ เดอลองกล์*   (Deloncle)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส  ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเร่งรัดให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาเขตแดนซึ่งเคยเป็นของญวน และเขมร

          * เมอซิเออร์ เดอลองกล์    อดีตกงสุลฝรั่งเศสประจำพม่า     เมื่อ  พ.ศ.๒๔๒๘  ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อขอขุดคอคอดกระ  แต่ไม่สำเร็จ   นับได้ว่าเป็นนักจักรวรรดินิยมคนสำคัญทีเดียว

 

ฝรั่งเศสเริ่มรุกรานก่อน     เรือลูแตง  มากรุงเทพฯ

 

 

           เมื่อฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารบีบบังคับไทยในปลายเดือน   มีนาคม  ๒๔๓๕  โดยยกกองทหารบุกรุกเข้ามา และขับไล่กองทหารของไทยให้ถอยออกไปจากดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และในขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรือลูแตง  (Lutin)  เข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ อีกด้วย

          การที่ฝรั่งเศสส่งเรือลูแตงเข้ามากรุงเทพฯ นี้   ทางการไทยเข้าใจดีว่าเป็นการบีบบังคับให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส  แต่ก็ไม่ได้ขัดขวาง    เพราะฝรั่งเศสมิสิทธิตามสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี  พ.ศ.๒๓๙๙

 

 

 

 

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต รวม  ๘ ท่าน ด้วยกัน คือ 

                ๑)  กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช    ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ 

                ๒)  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ    เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ 

                ๓)  เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์    เสนาบดีกระทรวงคลัง 

                ๔)  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา    เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร 

                ๕)  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ    เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 

                ๖)  เจ้าพระยาพลเทพ  (พุ่ม  ศรีไชยยันต์)    เสนาบดีกระทรวงกลาโหม 

                ๗)  นายพลเรือโท  พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์    ผู้บัญชาการทหารเรือ 

                ๘)  พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสง-ชูโต)    เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ 

 

การป้องกันทางบก   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้

               กรมหลวงพิชิตปรีชากร  เป็นแม่ทัพด้านลาวกาว   บัญชาการทัพอยู่ที่เมืองอุบล 

               กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  เป็นแม่ทัพด้านลาวพวน   บัญชาการทัพอยู่ที่หนองคาย 

               กรมยุทธนาธิการได้จัดส่งกำลังทหารบก พร้อมด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ไปเพิ่มเติมให้แก่กองทัพแต่ละด้าน และได้ระดมเกณฑ์คนทางหัวเมืองชายแดนเข้าประจำกองทัพ ส่งหนุนเนื่องไปยังตำบลต่าง ๆ ที่คาดหมายว่าฝรั่งเศสจะรุกล้ำเข้ามา

 

การป้องกันทางทะเล

               ได้มีการปรับปรุงป้อมแผลงไฟฟ้า  ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์    เพื่อเตรียมรับการบุกรุกของฝรั่งเศส ได้มีการติดต่อสั่งซื้อยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ มาใช้ในราชการ

 

การปักปันเขตแดน  -  ฝรั่งเศสมีเจตนาไม่สุจริต

          ไทยได้จัคคณะสำรวจทำแผนที่ตั้งแต่ในการปราบฮ่อทุกครั้งตั้งแต่  พ.ศ.๒๔๑๘    และครั้งเมื่อ  พ.ศ.๒๔๒๘  ฝรั่งเศสก็ได้จัดคณะทำแผนที่บ้าง   และได้ตกลงกันว่า  เมื่อสำรวจทำแผนที่เสร็จแล้วจะปักปันเขตแดนกันให้เรียบร้อย

          แต่ทางด้านฝรั่งเศส    มองซิเออร์  ปาวีได้หาเหตุผลต่างๆ  ขอผลัดผ่อนเรื่อยมา  จนที่สุด  ขอเลื่อนไปถึง  เดือนมีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๔    ครั้นเมื่อล่วงเลยมาจนถึงเดือนมิถุนายน  พ.ศ.๒๔๓๔    กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  ทรงมีหนังสือเตือนไปทางฝรั่งเศส  ขอให้ดำเนินการปักปันเขตแดนโดยเร็ว    แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยังไม่ดำเนินการ    จนกระทั่ง  มองซิเออร์  ปาวีกลับไปกรุงปารีสในปลายเดือนมิถุนายน  พ.ศ.๒๔๓๔    ฝรั่งเศสก็เอาเป็นข้ออ้างที่จะยังไม่ดำเนินการปักปันเขตแดนอีก    ไทยจึงเห็นว่า    ฝรั่งเศสมีเจตนาไม่สุจริต

 

ราชฑูตปาวี

 

          ต่อมาในเดือนมิถุนายน  พ.ศ.๒๔๓๕    มองซิเออร์  ปาวีได้เดินทางมารับตำแหน่งราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ      มองซิเออร์  ปาวีนี้จัดว่าเป็นผู้ที่รอบรู้ความเป็นไปของลาวอย่างมาก    จึงเป็นสิ่งบอกเหตุว่าฝรั่งเศสมีเจตนาต้องการแย่งชิงดินแดนลาวไปจากไทยอย่างแน่นอน

           มองซิเออร์  ปาวี  ขอเจรจากับกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศในปัญหาเดิมๆ เช่น  การขอตัวบางเบียนคืนจากไทย    การตั้งด่านรุกล้ำดินแดน    กรณีฝรั่งเศสกล่าวหาเจ้าพนักงานไทยว่าข่มเหงคนฝรั่งเศสที่เมืองท่าอุเทน  และเมืองหนองคาย    ซึ่งเป็นการหาเหตุอ้างเพื่อจะระงับการเจรจาเรื่องเขตแดนทั้งนั้น    ฝ่ายไทยก็พยายามหาหนทางปฏิบัติที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นใหม่อีก   ด้วยการเสนอ วิธีรักษาชีพ  Modus  Vivendi

 

Modus  Vivendi

          ในเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๓๖    กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการได้เสนอหลักการปฏิบัติที่จะป้องกันไม่ให้กรณีพิพาทเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย    วิธีรักษาชีพ  Modus  Vivendi    คือ  การกำหนดให้มีแดนกลางกว้าง    ๕๐  กิโลเมตร    ยาง  ๖๕๐  กิโลเมตร    ตั้งแต่ใต้เมืองคำม่วนลงมาถึงแห่งใดแห่งหนึ่งในบริเวณเส้นละติจูดที่  ๑๓  องศาเหนือ    บริเวณนี้จะอยู่ในสันปันน้ำข้างฝ่ายไทยซึ่งติดต่อกับแดนญวน   ให้ทั้งสองฝ่ายถอนด่านทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว  และจะเป็นดินแดนที่ปราศจากกองทหารตลอดไป  จนกว่าจะได้มีการปักปันเขตแดนกันโดยเรียบร้อย

          ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้กันเมื่อ  วันที่  ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๖    ณ  สถานฑูตฝรั่งเศส   แต่มองซิเออร์  ปาวีไม่แสดงความเห็นอย่างไร    เมื่อฝ่ายไทยทวงถามก็ตอบว่า  รัฐบาลยังไม่มีคำสั่งมาแต่ประการใด    เมื่อเป็นดังนี้    ฝ่ายไทยจึงเสนอว่า

          ๑. ดินแดนที่กำลังมีข้อถกเถียงกันคือ  บริเวณตั้งแต่ใต้เมืองคำม่วนลงมาถึงเมืองเชียงแตงขอให้ดำรงความเป็นกลางชั่วคราวก่อน    โดยใช้หลักการของ "วิธีรักษาชีพ"  Modus  Vivendi  จนกว่าจะได้ปักปันเขตแดนกัน

          ๒. รัฐบาลไทยยินดีสละดินแดนที่มีหลักฐานประจักษ์ชัดแจ้งว่าเป็นของญวนมาแต่ก่อน

          ๓. ในการปักปันเขตแดน  หากเกิดปัญหาใดๆ  ที่เห็นว่าจะตกลงกันเองไม่ได้    รัฐบาลไทยขอเสนอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย

 

          ครับ .  .  .  มองซิเออร์  ปาวีก็ไม่ตอบอีก

 

มองซิเออร์  มาสซี

          ในเดือน  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖    ทางการฝรั่งเศสทราบข่าวการถึงแก่กรรมของมองซิเออร์  มาสซี  (Massie)  กงศุลที่สองประจำเมืองนครหลวงพระบางต่อจากมองซิเออร์  ปาวี  ซึ่งได้เดินทางจากเมืองนครหลวงพระบางไปนครไซง่อน  ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ  วันที่  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๓๔    (หลักฐานของไทยว่า  วิกลจริตกระทำอัตตวินิบาตกรรมที่เมืองจำปาศักดิ์   แต่ฝรั่งเศสว่า  คับแค้นใจเนื่องจากถูกทางการไทยกดขี่  เป็นเหตุให้ล้มป่วยและถึงแก่กรรม)

           เมอซิเออร์ เดอลองกล์   (Deloncle)   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสจึงเรียกร้องให้รัฐสภา  และรัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินการต่อปัญหาเขตแดนไทยโดยทันที

            ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาด้วยมติที่เกือบเป็นเอกฉันท์    รัฐสภาอนุมัติให้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทยโดยทันที    แต่มีเงื่อนไขว่า ให้รัฐบาลใช้วิธีการที่ดีที่สุด  ที่จะทำการให้สำเร็จโดยเร็ว    โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด

 

รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอข้อเรียกร้อง

 

          มองซิเออร์  ปาวีได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เรียกร้องสิทธิของฝรั่งเศสจากรัฐบาลไทย   จึงเข้าพบมองซิเออร์ โรลัง  ยัคมินส์  (Monsieur Gustave Rorin Jacquemyns)    ที่ปรึกษาราชการทั่วไปของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่  ๑๒  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖    แจ้งว่า  ตนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย     ดังนี้

          ๑. รัฐบาลฝรั่งเศสขออ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  ซึ่งเป็นดินแดนในอารักขาของญวน

          ๒. ให้รัฐบาลไทยถอนกองทหารที่ประจำอยู่ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงออกไปให้หมด

          ๓. ให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าทำขวัญให้แก่ชาวฝรั่งเศสซึ่งถูกข่มเหงจากเจ้าพนักงานไทย  ที่เมืองท่าอุเทน  และเมืองหนองคาย    กับให้ปล่อยตัวคนในบังคับญวนซึ่งถูกจับที่ทุ่งเชียงคำ  (บางเบียน)

         จึงมาหาเพื่อขอคำแนะนำ

          ท่านโรลัง ยัคมินส์  ตอบอย่างชัดเจนว่า    ตนไม่มีหน้าที่ให้คำแนะนำใดๆ  แก่มองซิเออร์  ปาวี

 

 

 Monsieur Gustave Rorin Jacquemyns   >

 

 

          อีก  ๒  วันต่อมา   (๑๔  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖)  มองซิเออร์  ปาวีจึงเข้ายื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  ซึ่งได้ทรงรับไว้พิจารณาต่อไป    (รัฐบาลไทยได้ตอบข้อเสนอนี้ใน วันที่  ๔  เมษายน)

 

ฝรั่งเศสจัดตั้งกองกำลังทางบก  เริ่มรุกล้ำดินแดนไทย

          เมื่อรัฐสภาฝรั่งเศสอนุมัติให้รัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทยในทันที  เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖       โดยมีเงื่อนไขว่า ให้รัฐบาลใช้วิธีการที่ดีที่สุด ที่จะทำการให้สำเร็จโดยเร็ว    โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุดนั้น    รัฐบาลฝรั่งเศสก็สั่งการไปยังนายลาเนซอง  ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนให้ขับไล่กองกำลังของไทยให้พ้นดินแดนที่กำลังพิพาทกัน    และนายลาเนซองได้สั่งการต่อไปยัง เมอซิเออร์ บรีแอร์  (Briere)  เรสิดังต์สุเปริเออร์ประจำญวนเหนือ  ในวันที่  ๒๑  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖  สรุปความว่า

          ".  .  .  รัฐบาลได้แจ้งมายังข้าพเจ้าว่า   ได้ตกลงใจที่จะขจัดการรุกล้ำเขตแดนที่ฝ่ายไทยกระทำอยู่    ข้าพเจ้าคิดว่าการนี้คงกระทำได้โดยง่าย    แต่เกรงว่าในขณะที่เรากำลังดำเนินการทางแม่น้ำโขงตอนล่างอยู่นี้    ฝ่ายไทยคงจะหาทางก่อเหตุเป็นศัตรูแก่เราทางประเทศญวน  จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังชายแดนให้มากขึ้น    ในกรณีที่ข้าพเจ้าตกลงใจดำเนินการทุกแห่งพร้อมกันครั้งนี้    จำเป็นที่กองทหารของเราต้องสามารถทำให้กำลังฝ่ายไทยถอยไปโดยไม่ต้องมีการรบพุ่ง   และต้องให้มีการปะทะอย่างรุนแรงน้อยที่สุด    การที่จะให้เป็นไปดังนี้ได้  ต้องจัดให้มีกำลังทหารมากพอที่จะบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่งได้    ให้ผู้บังคับกองทหารแจ้งแก่ราษฎรว่า  รัฐบาลจะให้ความคุ้มครองเต็มที่    ให้พยายามชักจูงราษฎรตามป่าเขามาเป็นพวกเรา  .  .  .  มีศรัทธาต่อเรา  .  .  .  จะต้องทำถนนเชื่อมต่อระหว่างญวนกับแม่น้ำโขง  ขอให้ช่วยกันทำแผนที่เส้นทางที่เป็นประโยชน์  .  .  .  ให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ  (Inspecteurs des gaurdes)    สำรวจถนนหนทาง   และพิจารณาการก่อสร้างถนน  .  .  .  และในการดำเนินการตามคำสั่งนี้  ให้เลือกเรสิดังต์ที่มีสติปัญญาสุขุมเป็นผู้อำนวยการ  และปฏิบัติการในลักษณะที่เข้มแข็งแน่นอน" 

 

ฝรั่งเศสมาแล้ว    เริ่มที่ภาคลาวกาว 

           ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ไทยยึดครองโดยแบ่งกำลังออกเป็นสามกอง ใช้ทหารอาสาสมัครญวนแลเขมรเป็นส่วนใหญ่ โดยมีนายทหารฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นผู้บังคับบัญชา 

            กองที่ ๑

               กองที่  ๑  นี้ใช้กำลังทหารญวน  ๒๐๐ คน  และใช้กำลังทหารเขมรเป็นจำนวนมากสมทบอยู่ด้วยมุ่งเข้ายึดเมืองเชียงแตงหรือเมืองสตึงเตรงและเมืองโขง หรือเมืองสีทันดร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตอนล่าง    สภาพของแม่น้ำโขงระหว่างสองเมืองนี้ มีเกาะแก่งอยู่มากเรือเดินไม่สะดวก เหนือจากเมืองโขงขึ้นไปจนถึงเมืองเขมราฐ จึงเดินเรือได้สะดวก

          ดังนั้น  จึงจำเป็นต้องยึดเมืองโขงไว้ให้ได้ เพื่อสะดวกในการคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่นที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปโดยอาศัยลำน้ำโขง

               กองที่  ๑  นี้เดินทางด้วยเรือ  ๓๓ ลำ   เข้าขับไล่กำลังของไทยที่ตั้งรักษาด่านอยู่ที่ตำบลบุ่งคล้า  หรือ  ตะบงขลา   (Tbong Kla)  และเสียมบก ( Siemboc)    

          ในวันที่  ๒  เมษายน  ๒๔๓๖ ได้รุกมาถึงเมืองเชียงแตง  (สตึงเตรง)   ขับไล่ข้าหลวงเมืองเชียงแตง   คือหลวงพิพิธสุนทร (อิน) ให้ออกไปอยู่เมืองท่าราชปริวัตร ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง  พร้อมทหารเพียง  ๒๐  นาย       และกองกำลังฝรั่งเศสรุกต่อไป 

 

ด้านการฑูต 

            วันที่  ๔  เมษายน  ๒๔๓๖    ฝ่ายไทยรัฐบาลไทยได้ตอบข้อเสนอ เมื่อวันที่  ๑๔  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๖  ของมองซิเออร์  ปาวี    สรุปได้ความว่า  

          ๑. การอ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงขอให้ฝรั่งเศสปักปันเขตแดนกับไทยโดยเร็ว    และถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น   ไทยยอมให้มีประเทศเป็นกลางทำหน้าที่ตัดสิน

          ๒. รัฐบาลไทยยินดีถอนทหารออกจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตามหลักการของ "วิธีรักษาชีพ"

          ๓. รัฐบาลไทยยินดีพิจารณากรณีค่าทำขวัญ  และการขอตัวบางเบียน  เมื่อได้ปักปันเขตแดนกันเรียบร้อย

          เมื่อได้รับคำตำตอบจากฝ่ายไทยแล้ว  มองซิเออร์  ปาวีก็แจ้งว่าจะขอนำเรือโคเมต  (Comete)  เข้ามากรุงเทพฯ อีก  เพื่อรับผู้บัญชาการทหารเรือไซง่อนกลับเมืองไซง่อน    แต่กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงแจ้งให้ฝ่ายฝรั่งเศสทราบว่า    รัฐบาลไทยยอมให้เรือคอเมตเข้ามาจอดได้เพียงปากน้ำสมุทรปราการเท่านั้น

 

           อย่างไรก็ตาม    ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยอม  และเรือโคเมตก็จอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำสมุทรปราการ

 

 

ด้านการทหาร  -  แก่งหลี่ผี

          วันที่  ๒๔  มีนาคม    นายพลแปร์โนต์  (General  Pernot)    ผู้บัญชาการกองพลน้อยแห่งเวียดนามตอนใต้    มีคำสั่งถึงร้อยเอก โทเรอซ์  (Capitaine Thoreux)  ผู้บังคับกองร้อยทหารเวียดนามตอนกลาง   ให้เข้ายึดฐานปฏิบัติการของสยามที่เมืองเชียงแตง  (Strung - Treng)  และแก่งหลี่ผี  (Khone)  ซึ่งตั้งบนฝั่งซ้ายแม่ท้ำโขง    และให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารสนับสนุนการเรจาภายใต้การนำของผู้ว่าราชการซึ่งเดินทางไปด้วย

          ร้อยเอก โทเรอซ์นำทหาร  ๑๐๖  นายออกจากเมืองซาเดก  (Sadec)  ในคืนวันที่  ๒๕  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๓๕

          วันที่  ๑  เมษายน  พ.ศ.๒๔๓๖    ผู้ว่าราชการคูลชอง  (Coulgeans)  สามารถเจรจาได้เมืองเชียงแตงโดยไม่ต้องใช้กำลัง     ร้อยเอก โทเรอซ์วางกำลัง  ๓๐  นายไว้ที่เมืองเชียงแตงแล้วเดินทางต่อไปแก่งหลี่ผี

          วันที่  ๔  เมษายน  ๒๔๓๖   กองกำลังฝรั่งเศส  ๔๐๐ คน  รุกไปยึดแก่งหลี่ผี    หลวงเทเพนทรเทพข้าหลวงเมืองโขง  (สีทันดอน)  ทราบข่าวก็ส่งกำลังไปที่ดอนสาคร

          ในระหว่างนี้   พระประชาคดีกิจกำลังเดินทางกลับจากตรวจราชการเมืองจำปาศักดิ์ได้ทราบข่าว  จึงรีบกราบทูลกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ 
 
 

"ไทยต้องถอนทหารจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  กลับมาฝั่งขวาให้หมด"  มองซิเออร์  ปาวี   ฑูตฝรั่งเศสกร้าว 

 

          วันที่  ๗  เมษายน  ๒๔๓๖    มองซิเออร์  ปาวีแจ้งฝ่ายไทยว่า   ฝรั่งเศสไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ วิธีรักษาชีพ   Modus  Vivendi  ของฝ่ายไทยในการแก้ปัญหาเขตแดน  และยืนยันว่า  ทางเดียวที่จะตกลงกันได้  คือไทยต้องถอนทหารจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  กลับมาฝั่งขวาให้หมด    ถ้าปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้แล้ว  ฝรั่งเศสจะเปิดการเจรจาปักปันเขตแดนทันที

          กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  ทรงชี้แจงว่า  ข้อเสนอของไทยเกิดจากความปรารถนาที่จะขจัดข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดน    ไทยจะไม่ยอมเสียสละดินแดนที่ไทยมีสิทธิครอบครอง    สำหรับเรื่องการถอนทหาร    หากฝรั่งเศสถอนด่านที่ได้ตั้งขึ้นเร็วๆ  นี้    ไทยก็ยินดีถอนด่านของไทยเช่นเดียวกัน

         ฝ่ายฝรั่งเศสตระหนักดีว่า   ฝ่ายไทยใช้เหตุผลตามข้อเท็จจริง  ซึ่งฝรั่งเศสไม่สามารถปฏิเสธหรือหาเหตุผลมาหักล้างได้    จึงไม่ใช้วิถีทางการฑูตกับไทยอีกต่อไป   และเปลี่ยนเป็นใช้กำลังทหาร    ซึ่งฝ่ายไทยเราก็ได้เตรียมการมาโดยต่อเนื่อง

 

ฝ่ายไทยส่งกำลังป้องกันผู้รุกรานด้านลาวกาว

           เมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงได้รับรายงานจากพระประชาคดีกิจ    ทรงเกรงว่า  หากพระประชาคดีกิจต้านไม่อยู่    ฝรั่งเศสอาจจะล่วงเข้ามาถึงเมืองจำปาศักดิ์    จึงโปรดให้จัดกำลังไปป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศสดังนี้ 

          ท้าววรกิติกา  กรมการเมืองอุบล  คุมคนเมืองอุบล  ๕๐๐ คน  พร้อมศาสตราวุธ    และนายร้อยตรี  คล้าย  นำทหาร  ๑๐๐  คน    ไปเสริมกำลังพระประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดอน    เมื่อ  วันที่  ๑๐  เมษายน

          นายรองชต  คุมคนจากเมืองศรีษะเกษ  และเมืองขุขันธ์    รวม  ๑,๐๐๐  คน    ไปรักษาเมืองจำปาศักดิ์    เมื่อวันที่  ๑๔  เมษายน 

          นอกจากนี้    โปรดให้  หลวงบริรักษ์รัษฎากร    หลวงสำแดงฤทธิ์    นายบรรหารภูมิสถิตย์  นำกำลัง  ประมาณ  ๑,๐๐๐  คน  ไปรักษาเมืองตะโปน  เมืองวัง  เมืองพิน  เมืองนอง

          นายร้อยโท  เล็ก    และท้าวบุตรวงษา  กรมการเมืองอุบล  คุมทหาร  ๑๒  คน  พลเมืองอุบล  ๕๐๐  คน    เมืองเขมราฐ  ๘๐๐  คน  ไปตั้งรักษาด่านบ้านตังหวาย  ภูกะไดแก้ว    แขวงเมืองพ้อง  เมืองพาน

          อย่างไรก็ตาม  ข้าหลวงใหญ่ภาคลาวกาวทรงประมาณสถานการณ์ว่า  ".  .  .  ถ้าหลวงเทเพนทร์  และพระประชามรกำลังรับรองได้  ๗ - ๘  เวลา  รอกองทัพเมืองอุบลไปถึงก่อนเสียจำปาศักดิ์ได้    การคงสงบลงได้  .  .  ."    และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชมเชยการดำเนินการของท่านข้าหลวงใหญ่ภาคลาวกาวดังพระราชโทรเลขใจความว่า  "ฉันแลเสนาบดีสภาได้ทราบการซึ่งเธอจัดไปเห็นเป็นที่สรรเสริญยิ่งนัก    ขอให้มั่นใจเถิดว่าจะอุดหนุนสุดกำลัง"

 

ปากน้ำเจ้าพระยา    ๑๐ เมษายน  "ป้อมพระจุลจอมเกล้า"

          วันที่  ๑๐  เมษายน   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเพื่อทอดพระเนตรป้อม  ทรงทดลองยิงปืนป้อมด้วยพระองค์เองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อป้อมแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า”
 
 
 

 

ยิง  !

 

          ครับ  .  .  .  เมื่อมาถึง  “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” กันแล้ว  เชิญรู้จักป้อมนี้กันหน่อยนะครับ 

         ป้อมพระจุลจอมเกล้า   แหลมฟ้าผ่า  ปากน้ำสมุทรปราการ   เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗    ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด   ๖ /๓๒  นิ้ว  สร้างโดย บริษัท เซอร์ ดับบลิว. จี. อาร์มสตรอง  (Sir  W.G. Armstrong & Co.)  ประเทศอังกฤษ   ระหว่างปี  พ.ศ.๒๔๒๘ - ๒๔๒๙  ประเทศไทยได้จัดหามารวมทั้งสิ้น  ๑๐ กระบอก    ติดตั้งไว้ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า  ๗  กระบอก  อีก  ๓  กระบอกติดตั้งไว้ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร   
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทางลงไปสู่ที่ตั้งยิงปืนใหญ่แต่ละกระบอก  (ซ้าย)        และทางเดินระหว่างปืนใหญ่แต่ละกระบอก ซึ่งสามารถเดินติดต่อถึงกันได้หมด  (ขวา)
 
 

 

ปืนเสือหมอบ
 
          ปรกติปืนจะอยู่ต่ำกว่าขอบที่ตั้งยิง  ในการยิงใช้กำลังพลประจำปืนกระบอกละ  ๑๐ นาย     เป็นเจ้าหน้าที่ประจำปืน  ๗  นาย  และเจ้าหน้าที่คลัง  ๓  นาย  พลประจำปืนจะทำการบรรจุหัวลูกปืน  ดินขับ  ดินเริ่ม  ไพรเมอร์   ทำการปิดลูกเลื่อน และปรับแต่งยกปืนขึ้นสูงเหนือปากหลุมเพื่อทำการยิงด้วยการใช้อากาศและน้ำมันอัด    เมื่อยิงแล้วแรงดันของดินขับที่จุดตัวภายในลำกล้องจะทำให้ปืนลดลำกล้องถอยกลับต่ำลงมาในหลุม   การถอยของปืนจะขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเฉพาะของหัวลูกปืน  น้ำหนักดินขับ  ดินเริ่ม และไพรเมอร์    โดยทั่วไปจึงเรียกปืนชนิดนี้ ว่า “ปืนเสือหมอบ”  ในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “Disappearing Carriage"    เป็นปืนใหญ่ชนิดบรรจุทางท้ายลำกล้องชนิดแรกที่มีใช้ในกองทัพ  ถือว่าเป็นปืนที่ทันสมัยอย่างยิ่ง 
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปืนเสือหมอบ          Disappearing  Carriage

 

คุณลักษณะของปืน พอสังเขป มีดังนี้  

            ๑. กว้าง ปากลำกล้อง   ๖  นิ้ว  (๑๕๒.๔ ม.ม.)    ๓๒  แคลลิเบอร์   (ลำกล้องมีความยาว  ๓๒  เท่าของความกว้างปากลำกล้อง)

            ๒. น้ำหนักปืน  ๑๑,๓๔๐ ปอนด์ 

            ๓. หัวกระสุนเหล็ก หนัก ๑๐๐ ปอนด์ 

            ๔. ดินขับหนัก  ๓๔  ปอนด์  Pebble 

            ๕. ระยะยิงไกลที่สุดประมาณ  ๘,๐๔๖  เมตร

            ๖.บรรจุกระสุนจากท้ายลำกล้อง เกลียวลำกล้องเป็นเกลียวบิดทวี    (เกลียวปากลำกล้องจะบิดมากกว่าด้านรังเพลิงหรือด้านท้ายลำกล้อง  จะเร่งลูกกระสุนให้หมุนเร็วกว่าเกลียวเสมอ    ช่วยให้ลูกกระสุนแหวกอากาศได้ดีกว่า)

 

บุคคลสำคัญที่เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างและติดตั้งปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า
 

         ๑. นายพลเรือโท   พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์     ผู้บัญชาการทหารเรือ

          ๒. นายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์  ( Andre du Plesis de Richelieu )  ชาวเดนมาร์ค  รองผู้บัญชาการทหารเรือ  เป็นผู้ดำเนินการสั่งปืนใหญ่อาร์มสตรอง

          ๓.  นายพันตรี  สมบุญ  (บุญยะกะลิน)  เจ้ากรมโรงงานเครื่องจักร

          ๔.  นายวิลเลี่ยม  (บุญยะกะลิน)  เพิ่งสำเร็จการศึกษาวิชาช่างกลจากประเทศอังกฤษ  เป็นผู้ควบคุมการติดตั้งปืนใหญ่ประจำป้อม

          ๕. ร้อยเอก  ฟอน โฮลต์  (Capt. Von Holck)   ครูสอนวิชาปืนใหญ่  เป็นผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้าคนแรก
 
 
 

 

 

 

 

 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ  "อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า"  ปัจจุบัน
 
 

 

 

 

 

นายพลเรือโท  พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์  ผู้บัญชาการทหารเรือ   (ซ้าย)

นายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์  (Andre du Plesis de Richelieu)  รองผู้บัญชาการทหารเรือ  (ขวา)
    
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนที่แสดงที่ตั้ง "ป้อมพระจุลจอมเกล้า"    และ  "อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า"  ตำบลแหลมฟ้าผ่า   สมุทรปราการ  ในปัจจุบัน   
 
 

 

 วันที่  ๑๑  เมษายน  ๒๔๓๖      เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำ 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีกลับจากการแปรพระราชฐาน ณ เกาะสีชัง     ทอดเรือเพื่อทรงสักการบูชาองค์พระสมุทรเจดีย์      (เสด็จแปรพระราชฐาน ณ เกาะสีชัง  เมื่อ  วันที่  ๑๐  เมษายน  ๒๔๓๖   หลังจากเสด็จ "ป้อมพระจุลจอมเกล้า")
 
 

 


 

 

พระสมุทรเจดีย์  
 
 

           แล้วเสด็จทางเรือกรรเชียง  เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดบริการรถไฟสายปากน้ำ ทรงเจิมที่หัวจักรรถไฟ  แล้วเสด็จขึ้นประทับบนขบวนรถไฟพระที่นั่ง 
 
 
 

 

 

 

รถจักรไอน้ำ "ปากน้ำ"   รถไฟสายปากน้ำที่ทรงเจิม

 

 “.  .  .  พอเวลา ๕ โมงเช้า นายกล เปิดหวูดใช้รถจักรแล่นรถไฟจูงรถพระที่นั่ง ขึ้นมาตามทางรางเหล็ก   จากสะเตชั่นปากน้ำ    ถึงสะเตชั่นที่พักหัวลำโพง เวลาเช้า ๕ โมง  ๔๕ นิมิต  .  .  .”
 
 

 

                  ในที่สุด     เรือโคเมตซึ่งจอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำสมุทรปราการเพื่อรับผู้บัญชาการทหารเรือไซง่อน    ก็เดินทางกลับ เมื่อ  วันที่  ๑๓  เมษายน  พ.ศ.๒๔๓๖

 

ด้านภาคลาวกาว 

             วันที่  ๒๐  เมษายน     กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้ราชวงศ์ และราชบุตรเมืองยโสธร คุมกำลัง  ๕๐๐ คน   และให้อุปฮาด (บัว) คุมคนเมืองศรีษะเกษ  ๕๐๐   คน พร้อมศาสตราวุธ  ยกไปสมทบกองพระประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร

 

แนวความคิดรุกโต้ตอบ

          กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่ภาคลาวกาว  ทรงดำริที่จะ  ".  .  .  ส่งกำลังทหารบุกเข้าไปในเขตแดนของฝรั่งเศสทางด้านที่ติดต่อกับญวนและเขมร  เพื่อเป็นการรุกตอบโต้ฝรั่งเศส    โดยจะเสด็จไปทรงบัญชาการทัพที่เมืองจำปาศักดิ์  .  .  ."    แต่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลฯ  และ ".  .  .  จะต้องหารือกับกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ"

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า  ".  .  .  ความคิดกรมหลวงพิชิตเป็นความคิดที่เกิดจากความรักบ้านเมืองแต่ไม่น่าที่จะทำการเล็กน้อยให้เป็นข้อยั่วสงครามใหญ่    แลเสียชั้นเชิงที่จะพูดจา  ซึ่งเธอจะหาฤๅกรมหลวงเทวะวงศ์ดูก่อน  ดีแล้ว    แต่ความเห็นฉันดังนี้"

         และพระราชหัตถเลขาพระราชทาน กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ความตอนหนึ่งว่า  ".  .  .  การที่ทำครั้งนี้  ทำแต่ชั่วทุนที่มีอยู่    ไม่ได้กำลังอุดหนุนจากบ้านเลย    ไม่สามารถที่จะเป็นสงครามใหญ่ได้แน่  .  .  ."

         ครับ  .  .  .  ทรงหมายความว่า  การนี้ดำเนินการโดยข้าหลวงฝรั่งเศสในอินโดจีน  รัฐบาลที่กรุงปารีสไม่ได้สนับสนุน      แต่รัฐบาลที่กรุงปารีสก็ได้ให้นโยบายแล้วว่า  ".  .  .  ทำการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด"

 

สหรัฐอเมริกา

          ไทยพยายามขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส    โดยทำคำชี้แจงกรณีฝรั่งเศสบุกรุกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ทราบ    แต่    รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยว  และอ้างว่า  ".  .  .  ฝรั่งเศสยังมิได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อไทย"                    

 

อังกฤษ

          มีท่าทีชัดเจนว่าไม่เล่นด้วยกับฝรั่งเศส    แต่ก็รักษาผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ    และพยายามไม่ผูกพันตัวเองกับไทย  

 

          ก็ไม่ต้องวิเคราะห์แต่ละชาติกันยืดยาวนะครับ  เป็นอันว่า  เราต้องพึ่งตนเอง

 

การป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก

           วันที่  ๒๕  เมษายน     ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ซึ่งในเวลานั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ  (เดิมเป็นกรมท่า) 

            วันที่  ๒๖  เมษายน    พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศให้ทราบถึงแผนการจัดกำลังทหารเรือ ตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก มีความว่า 

                ๑)  ที่เกาะกง  จัดทหารมะรีน จากกรุงเทพ ฯ  ๑๔ คน    ทหารจากเมืองตราด  ๒๔ คน    ทหารจากเมืองแกลง ๑๒ คน    รวม ๕๐ คน    แจกปืนมาตินี ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน 

                ๒)  ที่แหลมงอบ  จัดทหารไว้  ๒๐๐  คน พร้อมที่จะส่งไปช่วยที่เกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราดมีสภาพไม่ดี   ให้บ้านเมืองเร่งซ่อมให้เสร็จภายใน  ๑  เดือน พอให้เกวียนเดินได้ จ่ายปืนเฮนรี มาตินี  ๒๘๘  กระบอก พร้อมกระสุน 

                ๓)  ที่แหลมสิงห์  ปากน้ำจันทบุรี จัดคนจากเมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง (อายุ ๒๓ - ๔๑ ปี)   มีกำลังทหารที่แหลมสิงห์  ๖๐๐ คน    ให้ฝึกหัดทั้งเช้า และเย็น    กับให้ทำงานโยธาตกแต่งป้อมในเวลากลางวัน      เหลือคนไว้ที่เมืองจันทบุรี  เมืองแกลง และเมืองขลุง พอรักษาการณ์   

          ย้ายปืนอาร์มสตรอง  ๔๐ ปอนด์ จำนวน  ๓ กระบอก จากป้อมหมู่บ้านแหลมสิงห์ไปตั้งไว้ทางเขาแหลมสิงห์  (ด้านกระโจมไฟ)   รีบตกแต่งป้อมให้เสร็จโดยจ้างคนจีนก่ออิฐโบกปูน ในความควบคุมของมิสเตอร์ตรุศ และนายร้อยโท คอลส์ ซึ่งบังคับบัญชาทหารที่แหลมสิงห์

          ที่เมืองจันทบุรี และแหลมสิงห์    จ่ายปืนมัลลิเคอร์  ๑,๐๐๐ กระบอก  พร้อมกระสุน   

          ที่เมืองแกลง และเมืองระยอง จ่ายปืนเฮนรี มาตินี    ให้แห่งละ ๑๐๐ กระบอก  พร้อมกระสุน 
 

           พวกกองรักษาด่านภายในจากเมืองระยองถึงเกาะกง จัดคนท้องถิ่นดูแลรักษาใช้คนประมาณ   ๑,๑๐๐ คน  จ่ายปืนเอนฟิลด์ ชนิดบรรจุปากกระบอก  ๖๐๐  กระบอก มีดินปืน และกระสุนไว้ตามสมควร และจ่ายดาบให้ด้วย 

 

กองกำลังทางบกของฝรั่งเศส   (ต่อ)

           กองที่ ๒  

               มีกำลังทหารประมาณ  ๗๕๐  คน อยู่ในบังคับบัญชาของไวซ์เรสิดังต์ เมืองกวางบิญ หรือดองหอย ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า 

               ให้เป็นผู้อำนวยการในแคว้นคำโล  (Camlo)  และให้เดินทางไปยังเมืองอายหลาว  (Ailao)  และให้แจ้งแก่ข้าหลวงไทยว่า  มาในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อยึดดินแดนที่ควรให้ฝรั่งเศสมีอำนาจโดยชอบธรรมแต่เพียงประเทศเดียว การใช้กำลังให้ใช้ในเวลาที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ กวดขันให้มีการเคารพต่อสิทธิของบุคคล และทรัพย์สมบัติของเขา ให้จัดการแก่ฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่จะก่อกวนเราได้ยิ่งกว่าการทำลายกวาดล้างให้สิ้นไป ระวังอย่าให้ทหารไทย รวมกำลังกับกองอื่นได้ หรือส่งข่าวขอกำลังหนุนมาก่อนฝ่ายเรา

          ให้เข้ายึดเมืองพ้องซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางที่จะไปสู่เขมราฐริมฝั่งลำน้ำโขง ให้จัดตั้งกองทหารไว้ที่เมืองพ้อง เพื่อความมั่นคงและ มีอิทธิพลในบริเวณนี้ และให้รีบจัดการพิจารณาเรื่องเส้นทางที่จะสร้างถนนระหว่างดินแดนญวนกับฝั่งลำน้ำโขง   สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ จะต้องทำให้ราษฎรในท้องถิ่นมีความพอใจที่เราได้เข้ามาปกครองแทนไทย  จะต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความดูแลเอาใจใส่ เคารพต่อธรรมเนียมของเขา หลีกเลี่ยงต่อการที่จะให้เขามีความเดือดร้อนใจ และพ้นจากการปล้นสะดม อย่าใช้แรงงานโดยเขาไม่เต็มใจ  และไม่ได้ค่าจ้างตามที่สมควรจะได้ 
 

           ทหารกองนี้ออกเดินทางจากเมืองคำโล เมื่อวันที่  ๒๕ เมษายน  ๒๔๓๖ ได้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเข้าขับไล่ทหารไทยที่อาซาว  นาบอน  เมืองวัง  เมืองพิน เข้ายึดเมืองพ้อง  และเคลื่อนที่ถึงเมืองสองดอนดง กับตำบลนาพระสูร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเขมราฐ 

          ฝรั่งเศสได้จัดแบ่งกำลังทหาร และจัดการปกครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองบังคับการอยู่ที่เมืองสองดอนดง มีกำลังทหารอยู่  ๒๐๐ คน  ที่นาพระสูร  ๑๕๐ คน ที่เมืองพ้อง  ๕๐ คน นาบอน  ๑๐๐ คน  และที่อาบหลวง  ๕๐ คน 

          กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนที่มาถึงฝั่งโขงอย่างรวดเร็ว    กองทหารของไทยต้องล่าถอยข้ามโขงมาทางฝั่งขวา

 

๒๖  เมษายน  ร.ศ.๑๑๒     "สภาอุณาโลมแดง"  

          ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองเผชิญสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้  ทุกคนในชาติต่างเร่งระดมร่วมแรงร่วมใจ สนับสนุนช่วยเหลือตามกำลังความสามารถของแต่ละท่าน เช่น

          ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ ได้ดำเนินการชักชวนและรวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น และได้ทำบันทึกกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี  (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้นำความขึ้น กราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตั้ง "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ขึ้นเพื่อปฏิบัติการ บรรเทาทุกข์ทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบกรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส เรื่องเขตแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง   
 
 
 
 
 

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

(สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

(๑๐  กันยายน  พ.ศ.๒๔๐๕ - ๑๗  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘)
 
 

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เป็นความคิดที่ต้องด้วยแบบอย่าง อารยประเทศที่ เจริญแล้วทั้งหลาย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดง" ขึ้นใน  วันที่  ๒๖  เมษายน  ร.ศ.๑๑๒  (พ.ศ.๒๔๓๖)  ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา สภากาชาดไทยในสมัยต่อมา

 

ทางภาคลาวกาว  -  แก่งหลี่ผี        จับได้ทหารฝรั่งเศส  

 

          กองกำลังฝรั่งเศส  ๔๐๐ คน  รุกไปยึดแก่งหลี่ผี  ตั้งแต่ วันที่  ๔  เมษายน  ๒๔๓๖    หลวงเทเพนทรเทพข้าหลวงเมืองโขง  (สีทันดอน)  ทราบข่าวก็ส่งกำลังไปที่ดอนสาครแต่ต้องถอยมาตั้งที่ดอนสม และพยายามช่วงชิงแก่งหลี่ผีคืน

            ฝ่ายไทยจัดกำลังให้นายสุจินดาคุมกำลัง  ๔๐๐ คน ไปตั้งรับอยู่ที่ดอนสาคร ให้หลวงเทเพนทรเทพคุมกำลัง   ๔๐๐ คน ไปรักษาดอนสะดำและท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจำปาศักดิ์คุมกำลัง   ไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม และหัวดอนเดช

          ปลายเดือนเมษายน    กำลังฝรั่งเศสที่ดอนสาครขาดเสบียงอาหาร   จึงส่ง ร้อยเอก  โทเรอซ์  เดินทางไปรับเสบียง  และกำลังหนุนจากเมืองเชียงแตง

           วันที่  ๔  พฤษภาคม    ร้อยเอก โทเรอซ์และทหารจำนวนหนึ่งนำขบวนเสบียงอาหารขากลับมาจากเมืองเชียงแตง  มุ่งหน้าไปแก่งหลี่ผี  จะขึ้นไปดอนสาคร  เรือของร้อยเอก  โทเรอซ์ถูกกระแสน้ำพัดมาทางฝั่งขวา    กองลาดตระเวนตัดการลำเลียงของไทยพบเข้า  จึงเข้าจับร้อยเอก  โทเรอซ์  พร้อมทั้งทหารอีก  ๑๖ คนไว้ได้   แล้วนำตัวส่งกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอุบล  เมื่อวันที่  ๓๐  พฤษภาคม     ส่วนเสบียงได้ยึดเอาไว้

          วันที่  ๕  พฤษภาคม    ฝ่ายไทยส่งกำลังเข้าล้อมกำลังฝ่ายฝรั่งเศส ที่แก่งหลี่ผี  ซึ่งนายร้อยโท  ปูร์โชต์  (Pourchot)  และทหารรักษาการอีก  ๑๐๐  คน

 

 

          พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  ราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสเข้าพบ  มองซิเออร์  เดอแวลล์  รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส  เพื่อยื่นคำประท้วงกรณีที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเข้ายึดแม่น้ำโขง    แต่มองซิเออร์  เดอแวลล์ไม่ยอมรับคำประท้วง

 

 

 

การช่วงชิงแก่งหลี่ผียังคงดำเนินต่อไป

           วันที่  ๗  พฤษภาคม    กำลังทหารไทย  ประมาณ  ๕๐๐  นายเข้าโจมตีกำลังฝรั่งเศสที่แก่งหลี่ผี

          ฝ่ายฝรั่งเศสเตรียมการป้องกันเมืองเชียงแตง  และแก่งหลี่ผี     มีกองกำลังประกอบด้วย  นาวิกโยธิน  ๒  กองร้อย    ทหารเวียดนาม  ๓  กองร้อย  และกองร้อยปืนใหญ่  ๑  กองร้อย  (๔  กระบอก)   นายร้อยเอก  อดัม  เดอ  วิลลิเยส์   (Capitaine Adam de Villiers)

          วันที่  ๑๐  พฤษภาคม    นายร้อยเอก  อดัม  เดอ  วิลลิเยส์นำส่วนหน้าของกองกำลังนี้ออกจากไซง่อน  ประกอบด้วย     ทหารเวียดนาม  ๑  กองร้อย    นาวิกโยธิน  ๕๐  นาย  และปืนใหญ่  ๑  กระบอก   เดินทางถึงเมืองกระแจะ  (Kratie)  ใน  วันที่  ๑๔  พฤษภาคม    และถึงแก่งหลี่ผี  ในตอนค่ำ วันที่  ๒๒  พฤษภาคม

          เมื่อถึงแก่งหลี่ผี  ในตอนค่ำ    กำลังส่วนหน้านี้ก็ถูกทหารไทยโจมตีทันที    ฝรั่งเศสจึงขึ้นบกทางฝั่งขวา  และใช้ปืนใหญ่โจมตีทหารไทย    และยึดแก่งหลี่ผีทางตะวันตกได้      
 

         กำลังส่วนใหญ่    ประกอบด้วย     ทหารเวียดนาม  ๒  กองร้อย    กองร้อยนาวิกโยธินที่  ๑๑   (หย่อนกำลัง  ๕๐  นาย)      และปืนใหญ่   ๓  กระบอก

 

 

 

 

 

 

 การป้องกันทางทะเล

           เดือนพฤษภาคม มีการปรึกษาถึงเรื่องการใช้แพไฟทำลายข้าศึก เตรียมถ่านหินไว้ให้เพียงพอแก่ราชการในยามฉุกเฉิน จัดเรือคอยเหตุไปจอดไว้นอกสันดอนโดยมีกัปตัน  วิล ผู้เป็นเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุม

 

กองกำลังทางบกฝ่ายฝรั่งเศสยังมีอีก

           กองที่ ๓

 

ภาคลาวพวน

 ฝรั่งเศสปล้นค่าย  ยึดคำม่วน  จับพระยอดเมืองขวาง

          กองที่ ๓  อยู่ในบังคับบัญชาของ เรสิดังต์ เมืองวินห์  ยศร้อยเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า 

            ให้จัดการให้ฝ่ายไทยถอยร่นออกไปจากบริเวณเมืองคำม่วนโดยทันที และสั่งการให้ผู้บังคับกองทหารอาสาสมัคร จัดการกับฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่ก่อกวนฝ่ายฝรั่งเศสได้ ยิ่งกว่าที่จะทำลายกวาดล้าง จะใช้กำลังเมื่อเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ ให้จัดการปกครองโดยแบ่งเป็นเขต ๆ ตามที่ได้เคยจัดแบ่งไว้แต่เดิม โดยมอบอำนาจให้หัวหน้าราษฎรในเขตนั้นปกครองกันชั่วคราว และสัญญาว่าจะให้หัวหน้าราษฎรเหล่านั้นเก็บภาษีอากรได้ดังเดิม กับให้ศึกษาพิจารณาถึงเส้นทางถนนที่จะสร้างจากเมืองวินห์  (Vinh)   ไปยังท่าอุเทน   อย่าได้เกณฑ์สิ่งของจากราษฎร   อย่าใช้ให้ทำงานโดยที่เขาไม่เต็มใจ

          กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่ภาคลาวพวนทรงทราบข่าวฝรั่งเศสเตรียมรุกเข้ามาทางเมืองพวน  และทุ่งเชียงคำจึงทรงโทรเลขถึงกรุงเทพฯ  ขอให้ส่งกำลังและอาวุธไปเสริมกำลังที่หนองคาย    และให้หลวงวิชิตสรศาสตร์  ข้าหลวงที่  ๓  สั่งการพระยอดเมืองขวางข้าหลวงเมืองคำมวนให้เตรียมป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส

          หลวงวิชิตสรศาสตร์นั้นยังตั้งอยู่ที่เมืองท่าอุเทน  และเตรียมสนับสนุนด้านคำมวนอยู่แล้ว    จึงสั่งให้   นายทุ้ย    นายแปลก    นายเวก  คุมทหารจากหนองคาย  กรุงเทพฯ  และเมืองไชยบุรี  รวม  ๑๔๔  คน  ยกไปช่วยพระยอดเมืองขวาง

 

การรบที่เมืองคำม่วน  
 
         มองซิเออร์ ลุซ  (Luce)   นำทหารกองที่ ๓ นี้ได้ออกเดินทางจากนาเป (Nape )  และมาถึงเมืองคำม่วน  ซึ่งมีค่ายทหารไทยในบังคับบัญชาของพระยอดเมืองขวางตั้งอยู่   และล้อมค่ายทหารไทยไว้ตั้งแต่วันที่  ๒๘  เมษายน ๒๔๓๖   ทหารฝรั่งเศสได้จับพระยอดเมืองขวาง  และผู้ใต้บังคับบัญชา  ๖๐  คน  พร้อมทั้งยึดอาวุธ ทรัพย์สิน    บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกจากเมืองคำม่วน    แล้วจะจัดการปกครองเมือง    แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยอม  

          ต่อมาอีก  ๒  วัน  คือ  วันที่  ๓๐  เมษายน ๒๔๓๖     มองซิเออร์ ลุซจึงสั่งให้   มองซิเออร์  โกรสกือรัง  (Grosgurin)   และกับทหารญวน  ๒๐  นายเข้าจับตัวพระยอดเมืองขวางจะพาไปเมืองท่าอุเทน

 

ทางภาคลาวกาว

๒๐   พฤษภาคม 

          กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้จัดส่งคนเมืองสุวรรณภูมิ  ๕๐๐ คน    เมืองร้อยเอ็ด  ๓๐๐ คน   ยกออกจากเมืองอุบล ไปช่วยพระประชาคดีกิจที่ค่ายดอนสาคร

๒๒   พฤษภาคม 

          ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึงบ้านพละอีกประมาณพันคนเศษ  พระประชาคดีกิจเห็นข้าศึกมีกำลังกล้า จึงรวมกำลังตั้งรับที่ดอนสะดำ  ดอนเดช  และดอนสมไทยกับฝรั่งเศสได้ปะทะกันหลายครั้ง ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังหนุนขึ้นไปบริเวณเมืองโขงหรือสีทันดร

๒๖   พฤษภาคม 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปากน้ำเจ้าพระยา เสด็จตรวจป้อมที่ปากน้ำจนถึง วันที่ ๑ มิถุนายน จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ

 

ภาคลาวพวน

            มองซิเออร์ ลุซจึงสั่งให้   มองซิเออร์  โกรสกือรัง  คุมตัวพระยอดเมืองขวางกับพวกจะไปส่งที่ปากพิบูลย์  ใกล้เมืองท่าอุเทน   ออกเดินทางจากเมืองคำม่วนในวันที่  ๒๖  พฤษภาคม  ๒๔๓๖    เมื่อเดินทางมาได้  ๒ - ๓  วัน    ถึงแก่งเจ็ก  มีทำเนียบเก่าแห่งหนึ่ง  พระยอดเมืองขวางจึงขึ้นไปบนทำเนียบนั้น      พอดีกับกองทหารของ  นายทุ้ย   นายแปลก    นายเวก  คุมทหารจากหนองคาย  กรุงเทพฯ  และเมืองไชยบุรี  รวม  ๑๔๔  คน   มาพบกัน    มีผู้บอกมองซิเออร์  โกรสกือรังว่าพระยอดเมืองขวางคิดจะต่อสู้

          ต่อมาอีก  ๒  วัน  วันที่  ๒๘  พฤษภาคม    มองซิเออร์  โกรสกือรัง  พร้อมล่าม  และนำกำลังอีก  ๑๐  คนมาที่ที่พักพระยอดเมืองขวางขอตัวหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยรักษาเมืองคำมวน  แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยอมให้      มองซิเออร์  กรอสกุแรงจึงให้คนเข้าจับกุมนำตัวไปที่พักของตน     ครั้นเวลาเย็น  พระยอดเมืองขวาง  คุมคน  ๑๘ - ๑๙  คน  ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ  และมีอาวุธ  ๖  คน  ไปยังที่หาหลวงอนุรักษ์ถูกขัง    และส่งขุนวังเมืองท่าอุเทนไปหา  มองซิเออร์  โกรสกือรัง  เพื่อขอตัวหลวงอนุรักษ์   ส่วน พระยอดเมืองขวางและคนอื่นๆ  คอยอยู่ห่างออกไปประมาณ  ๑๕  เมตร

          ขุนวังขึ้นไปบนบรรไดเรือนพักฝรั่งเศสซึ่งบุนจัน  ล่ามก็อยู่ด้วย    มองซิเออร์  โกรสกือรังกับหลวงอนุรักษ์ยืนอยู่ข้างบน    มีทหารญวนยืนเป็นแถวอยู่ริมบันได  และเดินไปมาอีกหลายคน     ขุนวังเจรจาโต้ตอบกับบุนจันอยู่นาน    พระยอดเมืองขวางเห็นว่าจะไม่เป็นผลจึงบอกหลวงอนุรักษ์ให้ลงมา      บุนจันล่ามก็แปลให้ฝรั่งเศสและญวนทราบมองซิเออร์  โกรสกือรังจึงจับข้อมือหลวงอนุรักษ์เอาไว้    ทหารญวนคนหนึ่งวิ่งสวนขึ้นไป    หลวงอนุรักษ์จึงสะบัดมือหลุดแล้ววิ่งลงมา

          มองซิเออร์  โกรสกือรังกับบุนจันเข้าไปในห้อง  และ  ต่อจากนั้นมีเสียงปืนลั่นออกมาจากประตูเรือน      ทหารของนายทุ้ย  นายแปลกตายคนหนึ่ง  ล้มลงอีก  สองคน  พระยอดเมืองขวางจึงสั่งให้ยิงโต้ตอบบ้าง    แล้ว  .  .  .  ต่างฝ่ายก็ยิงกัน    และระหว่างที่ยิงกันอยู่นี้    เกิดไฟลุกขึ้นที่หลังบ้าน    เมื่อไฟลามไปครึ่งบ้าน    บุนจันล่าม  ก็วิ่งออกมาหาหลวงอนุรักษ์ขอให้ช่วยชีวิต    หลวงอนุรักษ์ก็ช่วยป้องกันไว้
 

          เมื่อเหตุการณ์สงบ      ปรากฏว่า     ฝ่ายไทย    ตาย  ๖  คน  (รวมทั้งขุนวังผู้ไปเจรจา)    บาดเจ็บ  ๕  คน    ฝ่ายฝรั่งเศส    ตาย  ๑๓    คือ  มองซิเออร์ โกรสกือรังถูกกระสุนปืนเข้าที่  “ขมับ”  นอนตายอยู่ที่เรือนที่กำลังลุกไหม้ และทหารญวน  ๑๒  คน  

 

            พระยอดเมืองขวางจึงพากำลังฝ่ายไทย  และล่ามบุนจันลงเรือเพื่อเดินทางไปเวียงกระแสน
 
           ฝ่ายไทยจำต้องล่าถอย และอพยพผู้คนมาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง     ในที่สุด    ฝรั่งเศสก็ยึดพื้นที่บริเวณเมืองคำม่วนไว้   แล้วจัดการปกครอง ต่อไป
 
            รัฐบาลฝรั่งเศสโกรธแค้นได้ถือเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง ฉวยโอกาสอ้างเป็นเหตุย่ำยีเอกราชสยามประเทศ   สั่งให้  “มองซิเออร์ ปาวี”  ยื่นประท้วงโดย “ขอให้ลงโทษ”  พระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส  ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย 

 

 ๒   มิถุนายน 

          นายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์ กราบบังคมทูลเรื่องการติดต่อกับนาย นาวาเอก  แมค เคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาสว่าจะให้เรือสวิฟท์รออกไปฝึกยิงปืนใน วันที่ ๓ มิถุนายน ในระยะนี้เจ้าพระยาอภัยราชา คอยติดต่อกับราชฑูตอังกฤษ และนายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ ติดต่อกับผู้บังคับการเรือรบอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่เสมอ

๘   มิถุนายน 

          มีพระราชหัตถเลขาถึง พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีความว่า ตกลงปิดปากน้ำโดยเอาเรือไปจม และให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ กำหนดตำบลที่จะเอาเรือไปจมลงในแผนที่ แล้วเอามาถวายให้ทอดพระเนตร ให้จัดเตรียมเรือไว้สำหรับ จะจมได้ทันท่วงทีเมื่อถึงคราวจำเป็น

๒๒   มิถุนายน 

          พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า การจมเรือลำหนึ่งใช้เวลา ๑ วัน โดยทำในเวลาน้ำหยุด เอาเรือที่จะจมไปทอดสมอ  ตรึงด้วยโซ่สมอ ๔ สาย  แล้วเจาะเรือให้จม     ในการนี้ต้องใช้เรือ ๑๐ ลำ   เวลานี้มีอยู่เพียง ๓ ลำ ต้องจัดซื้อมาอีก เรือจำพวกเรือโป๊ะจ้ายคงจะจมได้วันละ ๒ ลำ ทำเร็วไม่ได้ 

            ต่อมามีพระราชกระแสว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสมาถึงไซง่อนแล้ว เรือลิออง มาที่เกาะอยู่เสม็ดลำหนึ่ง การปิดช่องทางเรือนั้นให้เหลือช่องไว้ชั่วเรือเดินได้ลำหนึ่ง และควรจะให้ปิดได้ทันทีเมื่อต้องการ เห็นว่าเป็นการดีกว่าที่จะยิงปืนห้ามไม่ให้เข้ามาโดยเรือรบของเขาไม่ได้ทำการยิงก่อน จะได้ไม่เป็นการก่อสงครามใหญ่ขึ้น ช่องทางเดินเดินเรือที่เปิดไว้นั้น ถ้ามีเรือรบเข้ามาห้ามไม่ฟังแล้ว ก็จะปิดช่องนั้นเสียโดยไม่ต้องรอคำสั่งอีก 

            การจมเรือที่ปากน้ำเริ่มทำประมาณวันที่ ๒๖ มิถุนายน ในการนี้ฟังว่าราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ และผู้บังคับการเรือสวิฟท์เห็นพ้องด้วย

๒๘   มิถุนายน 

          กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า นายพันตรี หลวงศัลวิธานนิเทศ (Major  Schau)  สัญชาติเดนมาร์ค ผู้บังคับการโรงเรียนนายสิบ ได้วางแผนจัดกำลังทหารบก เพื่อป้องกันพระนครโดยกำหนดไว้ว่า 

                ๑)  กำลังทหาร ๖๐๐ คน อยู่ที่สมุทรปราการ ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ มีปืนใหญ่ ๖ กระบอก 

                ๒)  กำลังทหาร ๒๐๐ คน อยู่ที่คลองสำโรง มีปืนใหญ่ ๑๒ กระบอก 

                ๓)  เตรียมปืนใหญ่ ๑๖ กระบอก ตั้งที่บางนา บางจาก และคลองพระโขนง 

               ๔)  รายปืนใหญ่ไว้ตามริมแม่น้ำ ๙ กระบอก สำหรับยิงเรือ และเป็นกำลังหนุนกำลังทหารทางบางนา และบางจาก

 

๓๐   มิถุนายน 

          พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูล มีความว่า ในการจมเรือที่ปากน้ำนั้นได้จมเรือบางกอก และเรือแผงม้า กระแสน้ำแรงจึงทำให้เรือเหไปบ้าง พระยาชลยุทธโยธินทร์ จึงเอาโซ่คั่นต่อกันทุกลำแล้วลงหลักในระหว่างที่เป็นช่อง ร้อยโซ่ผนึกเป็นตับเข้ากับหลักไม่ให้มีช่อง และอาศัยยึดเหนี่ยวกันทุกลำ

 

ทางภาคลาวกาว  ในเดือนมิถุนายน  ๒๔๓๖

          การช่วงชิงแก่งหลี่ผียังคงดำเนินต่อไป    ทหารไทยยังไม่สามารถตีค่ายฝรั่งเศสที่ดอนสาครได้   แต่ที่เมืองสองคอน  ดอนคง  ฝรั่งเศสถอนกลับไปเอง

          ทางกรุงเทพฯ  ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งทางการฑูต  และการทหาร

          ทางการฑูต    ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณเป็นฑูตพิเศษเจรจาเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส

          ทางการทหาร    ทรงส่งกองทัพไปป้องกันพระราชอาณาเขตด้านลาวกาว  และ ลาวพวน  โดยให้ตั้งที่เมืองอุบล    เมืองศรีโสภณ    เมืองพระตะบอง    เมืองเสียมราฐ  เมืองนครพนม    และเมืองนครราชสีมา  เป็นที่ตั้งเกณฑ์ผู้คนและเสบียงอาหารสำหรับสนับสนุนด้านลาวกาว  และ ลาวพวน    

          ส่วนทางภาคลาวพุงขาว   (เมืองหลวงพระบาง  สิบสองปันนา  สิบสองจุไท  หัวพันทั้งห้าทั้งหก)   ฝ่ายไทยประมาณสถานการณ์ว่าฝรั่งเศสยังไม่ใช้กำลังบุก  จึงใช้หลักการออมกำลังโดยจัดทหารประจำด่านทางต่างๆ

 

การเรียกร้องของฝรั่งเศส

          ในปลายเดือนมิถุนายน  ๒๔๓๖    ฝรั่งเศสแจ้งให้ไทยทราบว่าจะส่งผู้บัญชาการทหารเรือประจำภาคตะวันออกไกลมาเจรจาเพื่อยุติการสู้รบระหว่างไทย กับฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ    แต่ได้แจ้งงดอย่างกระทันหัน    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยว่า  เป็นเพราะฝรั่งเศสเข้าใจว่ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไว้ได้หมดแล้ว  จึงจะเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ  แต่เมื่อปรากฏว่ายึดได้เพียงบางส่วนจึงยังไม่มาเจรจา

 

งานสำคัญของสภาอนุโลมแดง

         จากการสู้รบกรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส นี้  สภาอนุโลมแดงได้มีบทบาทช่วยเหลือสนับสนุนผู้ปฏิบัติราชการสนามด้วยการจัดส่งเครื่องยา อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่าง ๆ ไปช่วยบำรุงทหารในสนามรบ  ด้วย  ซึ่งนับว่าเป็นงานสำคัญของสภาอนุโลมแดง

 

การเคลื่อนไหวของกองเรือฝรั่งเศส    อังกฤษ

          เมื่อสถานการณ์ทางบกดำเนินถึงขั้นนี้  ผู้บัญชาการทหารเรือประจำภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศสก็ออกคำสั่งให้กองเรือรบของฝรั่งเศสซึ่งประจำที่ฮ่องกงเดินทางมารวมที่ไซง่อน

          ทางด้านอังกฤษ  ซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างพินิจพิเคราะห์   อังกฤษมีเรือสวิฟต์  (Swift)  ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ  แล้วตั้งแต่  ๒๐  เมษายน  ๒๔๓๖ ก็สั่งให้กระทรวงทหารเรือ ส่งเรือพาลลาส  (Pallas)  และเรือปิกมี  (Pigmy)  จากสิงคโปร์มาสมทบกับเรือสวิฟต์ที่กรุงเทพฯ  กำหนดให้ถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ใน  ๑  กรกฎาคม   แต่เรือปิกมีติดราชการจึงจัดเรือโพลเวอร์  (Plover)  มาแทน  แต่ก็ชำรุดอีก  จึงส่งเรือลินเนต  (Linnet)  มาแทน  กำหนดถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ใน  ๑๓  กรกฎาคม     

          อย่างไรก็ตาม    อังกฤษก็ทำความเข้าใจและรับรองกับฝรั่งเศสว่า   เรื่องส่งเรือรบไปกรุงเทพฯ นั้น  ".  .  .   ด้วยความมุ่งหมายจะคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษแต่อย่างเดียว  .  .  ."    ก็และการรับรองของอังกฤษนี้    ทำให้ฝรั่งเศสแน่ใจว่าอังกฤษไม่สนับสนุนไทย  จึงกล้ารุกรานไทยอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น    แต่เรือพาลลาสก็มาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ใน  ๑  กรกฎาคม  ๒๔๓๖

 

๔   กรกฎาคม 

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับที่ปากน้ำเจ้าพระยาโดยรถไฟพิเศษ ได้ทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ แล้วประทับในเรือองครักษ์ เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีทหารประจำอยู่ ๖๐๐ คน   ปืนกรุป ได้วางที่แล้ว ได้เรียกทหารขึ้นประจำป้อมทดลองดู ทหารทำได้พรักพร้อม แล้วเสด็จไปตรวจเรือที่จมตั้งแต่ฟากตะวันออกจนถึงเรือแดง การจมเรือทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่พอขาดเรือลำเลียงอีก ๔ ลำ   เรือบางกอกและเรือแผงม้าที่จมนั้น กระแสน้ำพัดเชี่ยวพาเรือเคลื่อนที่ไปห่างจากจุดที่หมายไว้ แล้วมาตรวจทางฟากตะวันตกตรงมุมป้อม   แนวนี้ปักไม้หลักแพต้นหนึ่งเป็นขาทรายค้ำด้วยอีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงดิน ๘ ศอก ขัดด้วยโซ่ดูเป็นการแน่นหนาดี 

            การตรวจแนวป้องกันคราวนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า อย่าว่าแต่จะจมเรือหรือจะทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย อย่างไร ๆ เรือของเขาก็คงเข้ามาจนได้    ที่ทำลงนี้พอเป็นสังเขปสำหรับที่จะห้าม   ถ้าขืนดันเข้ามาก็ต้องยิงกันเท่านั้น 
 

           เมื่อได้ทรงตรวจแนวไม้หลักแล้ว ก็เสด็จมาจอดที่ริมช่องทางเดินเรือ ลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็ก ซึ่งทำที่กรุงเทพ ฯ หนึ่งลูก ปรากฏว่าเป็นผลดีมีอำนาจมาก จากนั้นไปตรวจเรือบรรจุตอร์ปิโด ที่บรรจุเสร็จแล้ว  ๗  ลูก และยังจะบรรจุต่อไป ตอร์ปิโดทำในนี้มีสองขนาด เล็กอย่างหนึ่ง  โตอย่างหนึ่ง   ตอร์ปิโดจากนอกรูปอย่างกระทะ ก็มีอยู่ในเรือนี้ด้วย

           จากนั้นได้เสด็จขึ้นเรือฟิลลา ซึ่งจอดอยู่ที่สะพานหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า   เสวยกลางวันแล้วออกเรือฟิลลามาขึ้นที่สะพานรถไฟ เสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ

๕   กรกฎาคม 

          นายนาวาเอก แมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาส ได้ติดต่อกับนายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์ ขอเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง เพื่อเดินทางกลับไปเรือพาลลาส ซึ่งจอดอยู่นอกสันดอน เรือพาลลาสจะย้ายไปจอดที่เกาะสีชัง และขอพักบนเกาะสีชังเพื่อให้ทหารที่เจ็บป่วยได้ขึ้นพักบนเขา ขอส่งทหารจำพวกสัญญาณไปประจำที่เสาธงเกาะสีชัง  กับขอน้ำจืดสำหรับหม้อน้ำ หากมีข่าวการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสก็ขอทราบด้วย  และจะได้มาจอดอยู่ที่นอกสันดอนอีก 

          เมื่อนายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล    ก็ทรงอนุญาตตามที่ผู้บังคับการเรือพาลลาสร้องขอมา และกำหนดว่าจะให้เรือจำเริญ ซึ่งจะกลับจากเกาะกงในอีก ๒ - ๓ วัน ลากเรือโป๊ะบรรทุกน้ำจากกรุงเทพ ฯ ไปส่งให้

๗   กรกฎาคม 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับตรวจป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์  (พระประแดง)   ปรากฏว่าปืนกรุป สำหรับจะยิงสลุตรับเจ้าชายออสเตรียจัดไว้พร้อมแล้ว ทรงเห็นว่าป้อมนี้มีทางปืนดี และเป็นที่แคบ สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ถนัด มีรับสั่งให้จัดการวางตอร์ปิโดไว้ด้วย

 

การเรียกร้องของฝรั่งเศส  (ต่อ)

          ในปลายเดือนมิถุนายน  ๒๔๓๖    ฝรั่งเศสแจ้งให้ไทยทราบว่าจะส่งผู้บัญชาการทหารเรือประจำภาคตะวันออกไกลมาเจรจาเพื่อยุติการสู้รบระหว่างไทย กับฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ    แต่ได้แจ้งงดอย่างกระทันหัน    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยว่า  เป็นเพราะฝรั่งเศสเข้าใจว่ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไว้ได้หมดแล้ว  จึงจะเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ  แต่เมื่อปรากฏว่ายึดได้เพียงบางส่วนจึงยังไม่มาเจรจา

          ในวันที่  ๘  กรกฎาคม  ๒๔๓๖    รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งมองซิเออร์  เลอ  มียร์  เดอ  วิเลร์  (Le Myre de Vilers)    เป็นผู้แทนมาเจรจากับรัฐบาลไทย    โดยเรียกร้องต่อประเทศไทย  ๒  ข้อ  คือ

          ๑. ให้รัฐบาลไทยรับรองข้อเรียกร้องดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

          ๒. เรียกค่าปรับที่ไทยสบประมาทธงชาติฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ  การขับไล่ชาวฝรั่งเศส  ๒  คนที่เมืองท่าอุเทน    การจับ  นายร้อยโท  โทเรอส์    และการที่มองซิเออร์  โกรสกือรังเสียชีวิต

          ครับ  .  .  .  เมื่อฝรั่งเศสได้เวียดนามทั้งหมดเป็นรัฐอารักขาโดยเด็ดขาด  เมื่อ  ๒๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๖    ทำให้ฝรั่งเศสมีเขตแดนติดต่อกับพระราชอาณาจักรสยามและสร้างปัญหาแก่ไทยตลอดมา   แต่ฝรั่งเศสเขามีเป้าหมายของเขาที่จะ  "เอาให้ได้"  ดังที่ได้คุยมานะครับ

           การสู้รบกรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส  และการเรียกร้องของฝรั่งเศส นี้เอง  จึงได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็น  “วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒"         

 

           เชิญติดตามวิกฤติการณ์นี้ต่อไปเลยนะครับใน  .  .  .  วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  (๒)

 

 

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  (๒)

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  (๒)

 สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  (๒)    
 

 

 

 

บรรณานุกรม 

 

          - วิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.๑๑๒  ของจิราภรณ์   สถาปนะวรรธนะ  โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์   กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๒๓, 

          - กรณีพิพาท  ไทย - ฝรั่งเศส  ร.ศ.๑๑๒  ตามหลักฐานฝรั่งเศส    โดย  พันตรี  พีรพล  สงนุ้ย    ส่วนการศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับพิเศษ    สำนักพิมพ์มติชน   กรุงเทพฯ    มกราคม  ๒๕๔๕ 

          -    และจากเว็ปไซต์ต่างๆ บ้าง   ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

          - พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ   ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป




พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ โดย สัมพันธ์

๑๐๐ ปี สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๓)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๒)
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๓)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๑)
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๒)
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker