dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)

*  *  *

วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒)

 

 

 

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .
 
          ครับ  .  .  .  ทางภาคลาวกาว  ฝรั่งเศสใช้กำลังเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  แต่ยังไม่สามารถยึดได้ทั้งหมด    ภาคลาวพวน  เมืองคำมวน  เกิดเหตุการณ์พระยอดเมืองขวางการสู้รบกรณีพิพาทระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส  และการเรียกร้องของฝรั่งเศส นี้เอง  จึงได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็น  วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ 
 
          ในวันที่  ๘  กรกฎาคม  ๒๔๓๖    รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งมองซิเออร์  เลอมียร์  เดอวิเลร์  เป็นผู้แทนมาเจรจากับรัฐบาลไทย    โดยเรียกร้องต่อประเทศไทย  ๒  ข้อ  คือ

          ๑. ให้รัฐบาลไทยรับรองข้อเรียกร้องดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

          ๒. เรียกค่าปรับที่ไทยสบประมาทธงชาติฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ  การขับไล่ชาวฝรั่งเศส  ๒  คนที่เมืองท่าอุเทน    การจับ  นายร้อยโท  โทเรอส์    และการที่มองซิเออร์  โกรสกุรังเสียชีวิต

          ครับ  .  .  .  นับว่าเป็นการวิกฤตของบ้านเมืองแล้วนะครับ  เชิญติดตามสถานการณ์ต่อไปกันเลยนะครับ

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

 

๙   กรกฎาคม   ร.ศ.๑๑๒   พ.ศ.๒๔๓๖ 

          พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ควรจัดเตรียมป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมไว้รับข้าศึกอีกป้อมหนึ่ง 

          ทรงมีพระราชดำริว่าจะหมดเปลืองการใช้จ่ายมากไป   ให้จัดการแต่เพียงถากถางบริเวณป้อม และกะที่จะตั้งปืนเท่านั้น ส่วนเรื่องแพไฟนั้น  มีรับสั่งว่า ยังมิได้กะการอย่างหนึ่งอย่างใดว่าใครจะเป็นผู้รับหน้าที่

๑๐   กรกฎาคม 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์ถึงนายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์ มีความว่า   "กำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าใน วันที่  ๑๓  กรกฎาคม   เวลาเย็น และฝ่ายเราไม่ยอมนั้น ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์คิดวางตอร์ปิโดเสียให้เต็มช่อง  ถ้าเข้ามาเมื่อไร ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องระเบิด   อย่าให้ต้องรอคำสั่งอีกเลย  และถ้าเขายิงก่อนแล้วเราต้องยิง

            ในวันเดียวกัน  กรมยุทธนาธิการกราบบังคมทูลว่า ให้จัดทหารสำหรับรักษาพระนคร แบ่งออกเป็น ๔ กอง คือ  ภายในกำแพงพระนคร  ๑ กอง  อยู่ที่ตำบลปทุมวัน  ๑ กอง  ที่ตำบลบางรัก  ๑ กอง  และที่ฝั่งธนบุรี  ๑ กอง 

            ทหารสำหรับรักษาพระนครนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรีขอรับอาสาเรียกระดมทหารเก่าที่เคยไปราชการทัพคราวปราบฮ่อด้วยกันสมทบช่วยราชการร่วมกับทหารประจำการในกรุงเทพ ฯ   โดยที่ตัวพระยาสุรศักดิ์มนตรีเอง เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่อาสาสมัครในคราวนี้ด้วย   มีจำนวนทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันคน 

๑๑  กรกฎาคม 

          มีพระบรมราชโองการ ถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเกี่ยวกับการป้องกัน มิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเด็ดขาด 

            ในเดือน กรกฎาคม   รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทย  ขอนำเรือปืน  ๒ ลำ คือ เรือแองคองสตังค์  (Inconstant) และ เรือโคแมต  (Comete) เข้ามายังประเทศไทย   รวมกับเรือลูแตง ที่มา ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเป็น ๓ ลำ   

          รัฐบาลไทย ได้พิจารณาเห็นว่า การที่ต่างประเทศนำเรือของตนเข้า มาประจำอยู่ในกรุงเทพฯ  เกิน ๑ ลำ เป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัยสำหรับประเทศไทย   รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธฝรั่งเศสไป พร้อมด้วยเหตุผล ดังกล่าว

 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้กองทัพเรือเตรียมกำลังป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตยครั้งนี้ 

                    นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาได้วางแผนปฏิบัติการป้องกันการบุกรุกของกองเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา   ดังนี้ 

          ๑. สั่งให้ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งได้ติดตั้งปืนวิคเกอร์อาร์มสตรอง  ขนาด  ๖ นิ้ว  อันทันสมัย เตรียมพร้อมเพื่อจะหยุดยั้งการบุกรุกของเรือรบฝรั่งเศสอันอาจเกิดขึ้นได้ 

          ๒. สั่งให้เรือรบ  ๕  ลำ เตรียมพร้อมอยู่ที่ด้านเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้าเล็กน้อย   เรือที่วาง กำลังป้องกัน เหล่านี้ส่วนมากเป็น  เรือล้าสมัย หรือเป็นเรือกลไฟประจำในแม่น้ำ มีเรือที่ทันสมัยเพียง ๒ ลำเท่านั้น คือ เรือมกุฎราชกุมาร และ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ 

          ๓. ได้วางเครื่องกีดขวางที่ปากน้ำเจ้าพระยา เช่น ตาข่าย สนามทุ่นระเบิด และสนามยิง ตอร์ปิโด เป็นต้น 

 

การเปรียบเทียบกำลังรบของทั้งสองฝ่าย

      ก. ฝ่ายฝรั่งเศส

          ๑. เรือสลุปแองคองสตังค์    ระวางขับน้ำ  ๘๒๕  ตัน  ความเร็ว ๑๓ นอต    ปืนใหญ่  ๑๔ ซม.  ๓ กระบอก    ปืนใหญ่  ๑๐ ซม.  ๑ กระบอก    ปืนกล ๓๗ มม. ๕ กระบอก      นาวาโท โบรี  (Borry)  เป็นผู้บังคับการเรือ และ ผู้บังคับหมู่เรือ

          ๒. เรือปืนโคแมต    ระวางขับน้ำ ๔๙๕ ตัน    ปืนใหญ่  ๑๔ ซม.  ๒  กระบอก    ปืนใหญ่  ๑๐  ซม.  ๒  กระบอก    ปืนกล  ๓๗  มม.  ๒  กระบอก    เรือเอกหลุยส์ ดาร์ติช ดู ฟูร์เนต์  (Louis Dartige du Fournet)   เป็นผู้บังคับการเรือ 
 
 
 


 
 
 
 
 

 

 

 

 

เรือสลุปแองคองสตังค์                                                                                                      เรือปืนโคแมต  
 
 
 

      ข. ฝ่ายไทย   มี พลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์  เป็นผู้อำนวยการ ป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา 

 
         ๑. เรือปืนมกุฎราชกุมาร   

               ระวางขับน้ำ ๖๐๙ ตัน  ความเร็วสูงสุด  ๑๑ นอต  อาวุธประจำเรือ  มีปืนใหญ่  ขนาด  ๑๒๐ มม.  ๒  กระบอก    ปืนกล  ขนาด  ๕๗ มม. ๔ กระบอก     นาวาโท กูลด์แบร์ก  (Commander V. Guldberg)  เป็นผู้บังคับการเรือ    มิสเตอร์ สมาร์ท  (Mr. W. Smart) เป็นต้นเรือ  

         ๒. เรือปืนมูรธาวสิตสวัสดิ์  

               ระวางขับน้ำ ๔๔๗ ตัน  อาวุธประจำเรือ  มีปืนใหญ่  ขนาด  ๑๒๐  มม.  ๑  กระบอก    ปืนกล ขนาด  ๕๗  มม. ๔ กระบอก     ปืนกล ขนาด  ๓๗  มม.  ๑ กระบอก    ความเร็วสูงสุด  ๙.๕  น๊อต    เรือเอก  คริสต์มาส  (Lieutenant W. Christ  mas) เป็นผู้บังคับการเรือ    มิสเตอร์ แคนดุตตี  (Mr. G. Candutti) เป็นต้นเรือ

          ๓. เรือหาญหักศัตรู  

               เรือป้อมระวางน้ำ  ๑๒๐  ตัน    ความเร็ว  ๗  นอต    ปืนใหญ่ บรรจุปากกระบอก   ขนาด  ๑๕ ซม. ๑ กระบอก    ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก   ขนาด  ๑๒ ซม. ๑ กระบอก   เรือเอก สมีเกโล (Lieutenant S. Smiegelow)   เป็นผู้บังคับการเรือ 

          ๔. เรือนฤเบนทร์บุตรี  

               เรือราชการระวางขับน้ำ  ๒๖๐  ตัน    ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก  ขนาด  ๑๐ ซม. ๖ กระบอก    นายทหารไทยเป็นผู้บังคับการเรือ 

          ๕. เรือทูลกระหม่อม  

               เรือฝึก (เรือใบ)   ระวางขับน้ำ  ๔๗๕ ตัน    ปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก   ขนาด  ๑๐ ซม. ๖ กระบอก    นายทหารไทยเป็นผู้บังคับการเรือ 

          ๖. ป้อมพระจุลจอมเกล้า   

               ปืนใหญ่อาร์มสตรองบรรจุท้าย  ขนาด  ๑๕๒/๓๒  มม.  ๗ กระบอก    ร้อยเอก ฟอนโฮลค์ (Captain C. von Holck)   เป็นผู้บังคับการ 

          ๗. ป้อมผีเสือสมุทร 

               ปืนใหญ่อาร์มสตรองบรรจุท้าย   ๑๕๒/๓๒  มม.  ๓ กระบอก    ร้อยเอก เกิตส์เช  (Captain T. A. Gottsche)    เป็นผู้บังคับการ 

          ๘. เรือวางทุ่นระเบิด   

               ร้อยเอก เวสเตนโฮลซ์  (Coptain Westenholz)    เป็นผู้อำนวยการ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          เรือปืนมกุฎราชกุมาร                                                                                              เรือทูลกระหม่อม 

 

เรือปืนมูรธาวสิตสวัสดิ์

 

<  เรือหาญหักศัตรู

เรือนฤเบนทร์บุตรี  > 

 

 

 

การดำเนินการขั้นต่อไปของฝรั่งเศส

            เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมในน่านน้ำไทยอีก และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจฝ่ายไทย   จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น 

          ดังนั้น  ในวันที่ ๘   กรกฎาคม  ๒๔๓๖    รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้โทรเลขมายัง มองซิเออร์ ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยมีความว่า 

                    "รัฐบาลอังกฤษมีดำริส่งเรือรบหลายลำเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพื่อป้องกันรักษาชนชาติอังกฤษ    ฝ่ายเราเห็นสมควรจะต้องเพิ่มกำลังทางเรือของเราที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยเป็นการล่วงหน้าว่า จะมีเรือรบฝรั่งเศสไปรวมกำลังกับเรือลูแตง โดยใช้ให้เห็นชัดว่าการดำเนินการครั้งนี้อย่างเดียวกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ได้กระทำก่อนแล้ว  ให้เป็นที่เข้าใจว่า จะไม่ทำการรุกรบอย่างใด ๆ โดยไม่แจ้งให้ทราบเสียก่อน เว้นไว้แต่ในกรณีที่เรือของฝรั่งเศสถูกโจมตี และถูกบังคับ จึงจะยิงโต้ตอบกับฝ่ายข้าศึกได้" 

            มองซิเออร์  ปาวีได้มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม มีความว่า 

                    "รัฐบาลฝรั่งเศสขอให้แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษได้ดำริจะให้เรือรบหลายลำเข้ามาในกรุงเทพ ฯ อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะให้มาป้องกันรักษาคนในบังคับอังกฤษ ในสมัยที่เกิดการวุ่นวายกันนี้   เหตุฉะนี้  รัฐบาลฝรั่งเศสจึงตั้งใจจะกระทำตามบ้าง    เรือรบสองลำในกองทัพเรือฝรั่งเศสได้รับคำสั่งให้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรือลูแตงที่กรุงเทพ ฯ   การที่เรือรบเข้ามาคราวนี้   ก็มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ที่ได้กระทำมาก่อน    เรือรบสองลำที่ออกเดินทางมาแล้วนั้น ชื่อโคแมต  (Comete) และ แองดองสตังค์  (Inconstang ) จะเดินทางมาถึงสันดอนในวันที่  ๑๓ กรกฎาคม จึงขอได้โปรดมีคำสั่งให้มีนำร่องคอยไว้สำหรับเรือรบสองลำนี้"

          กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงตอบมองซิเออร์  ปาวี สรุปความว่า  รัฐบาลอังกฤษไม่เคยแจ้งว่าจะนำส่งเรือรบมากรุงเทพฯ  หรือที่แห่งใด    ข้ออ้างของฝรั่งเศสที่จะทำตามอังกฤษจึงตกไป    รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่ฝ่าฝืนให้เรือรบเข้ามากรุงเทพฯ   นอกจากเรือลูแตงซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ  อยู่แล้ว  .  .  .  และทำความเข้าใจว่า  ประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะนำเรือรบเข้ามาในลำน้ำของกรุงสยาม  .  .  .  หลักการแห่งหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีนั้น  หาได้ตัดอำนาจอันชอบธรรมที่กรุงสยามควรมีเหมือนประเทศอื่นๆ  สำหรับการป้องกันตัว    และรัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเข้าใจได้โดยง่ายว่า    ตามสรรพเหตุการณ์อันมีอยู่บัดนี้    กรุงสยามจะยอมทำตามคำอธิบายเช่นกล่าวมานี้มิได้เลย  (น่าจะเป็นคำอธิบายของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะส่งเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ เพิ่มอีก)   แม้ยอม  ก็เหมือนดังจะสละอำนาจที่เป็นประเทศเอกราชเสียเหมือนกัน  .  .  .  

 

๑๒  กรกฎาคม   พ.ศ.๒๔๓๖  (ร.ศ.๑๑๒)

          มองซิเออร์  ปาวีเข้าเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการกราบทูลยืนยันว่า    จะส่งเรือรบเข้ามาถึงปากน้ำ    แต่กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ  ทรงยืนกรานว่า  "รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถยอมให้ประเทศใดๆ  ส่งเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในแม่น้ำนี้มากกว่าประเทศละลำ    เพราะฉะนั้น   จึงได้มีคำสั่งให้กรมทหารบก  กรมทหารเรือจัดการตามนี้โดยกวดขัน"    และทรงแจ้งว่า  กรมทหารเรือจะจัดเรือกลไฟมาที่สถานฑูตฝรั่งเศสลำหนึ่ง  เพื่อให้มองซิเออร์  ปาวีใช้ไปมากับเรือแองคองสตังต์อีกด้วย

           พร้อมกันนี้    รัฐบาลไทยก็ได้ส่งโทรเลขถึงอัครราชฑูตไทยประจำปารีส  ยืนยันอำนาจของไทยที่จะไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำอันอยู่ในพระราชอาณาจักรเพื่อประสงค์จะขู่เข็ญ    ให้แจ้งความนี้ต่อเสนาบดีฝรั่งเศส  ผู้ว่าการต่างประเทศ  และพูดจาว่ากล่าวให้ได้การดีที่สุด

 

วันที่   ๑๓   กรกฎาคม   ร.ศ. ๑๑๒   เวลาเช้า

            รัฐบาลไทยได้รับโทรเลขแจ้งว่า    รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมถอนคำสั่งในเช้าวันที่   ๑๓   กรกฎาคม    และหลักฐานฝ่ายฝรั่งเศสก็ปรากฏว่า     มองซิเออร์  ปาวีได้รับคำสั่งจากมองซิเออร์  เดอแวลล์  (Develle)    รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสในเช้าวันที่   ๑๓   กรกฎาคม   ว่า  ".  .  .  จงบอกให้เรือรบฝรั่งเศสทราบว่า   รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อน  ในเวลานี้  .  .  ."
 


ครับ  .  .  .  ดูเหตุการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดี    แต่เรือรบฝรั่งเศสมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลของตน

 

 การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา    วันที่   ๑๓   กรกฎาคม   ร.ศ. ๑๑๒

 

หลักฐานจากบันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคแมต 

ฯลฯ

   วันที่  ๑๒  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๓๖ 

            เรือแองคองสตังค์ ได้มาถึง..... เรือลำนี้จะนำเราเดินทางไปกรุงเทพ ฯ..... มีเวลาเพียงพรุ่งนี้ตอนเย็นเวลาเดียวเท่านั้นที่จะมีระดับน้ำสูงพอที่จะให้เรือแองคองสตังค์ ซึ่งกินน้ำลึก ๔.๒๐ เมตร ผ่านสันดอนเข้าไปได้..... เรือโคแมตจึงเข้าเทียบรับถ่านมาเสีย  ๒๐ ตัน 

            เสร็จการขนถ่านแล้วผู้บังคับการเรือทั้งสองลำได้ร่วมกันอ่านโอวาทของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล.....รัฐบาลประสงค์จะบีบบังคับประเทศไทย.....ในเหตุการณ์ทางชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราจะต้องเดินทางไปจอดที่สมุทรปราการในวันพรุ่งนี้ตอนเย็น โดยอาศัยสิทธิของเราตามสนธิสัญญา เมื่อได้ทำความตกลงกับ มองซิเออร์ ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสประจำราชสำนักกรุงเทพ ฯ แล้ว  เราก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ ในเย็นวันเดียวกัน รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม .....จะได้ชักธงราวแต่งเรือในวันชาติ การปรากฏตัวของเรือเราทั้งสามลำ..... คงจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินไทยต้องทรงตรึกตรองด้วยดี ในเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยตัวร้อยเอก โทเรอซ์   การจ่ายเงินค่าทำขวัญ..... การทำอนุสัญญาเพื่อกำหนดเขตแดนของลาว ญวน  และเขมร..... 

           หน้าที่เฉพาะหน้าก็คือ..... การกำหนดแนวปฏิบัติต่าง ๆ หากว่าทางฝ่ายไทยบังคับให้เราหยุดอยู่ก่อน เราก็ปรึกษา ม.ปาวี.....หากเรือแองคองสตังค์ เกยตื้นเข้าไปไม่ได้ เรือโดแมตก็จะเดินทางต่อไปเพียงลำเดียว..... ถ้าฝ่ายไทยใช้ปืนป้อมยิงมายังเรา เราก็ทำ

           เวลา  ๑๔.๐๐ น.  นาวาโทโบรี  (Borry)  เริ่มเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่เรือและได้ส่งสัญญาณให้ออกเรือ เรือโคแมตออกเดินทางจากอ่าวซาราเซน ติดตามเรือแองคองสตังค์ ไปที่กลางทะเล เราได้พบเรือยัง บัปติสต์ เซย์  (Jean Baptist Say)  เรือสินค้าของบริษัทเมสซาเยอรี พลูวิอัลส์ ซึ่งเป็นเรือเดินประจำระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ ฯ มองซิเออร์ จิเกล (Jiguel)  กัปตันเรือเซย์มีความชำนาญในการนำเรือเข้าแม่น้ำเจ้าเจ้าพระยา จะเป็นผู้นำร่องให้แก่เรา..... 

วันที่  ๑๓  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๓๖ 

            เมื่อคืนอากาศมืดมิด .....เราต้องผ่านสันดอนเข้าแม่น้ำให้ได้ก่อนน้ำลด..... 

            ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ฝั่งประเทศไทยก็ปรากฏขึ้นทางเหนือ และหนึ่งชั่วโมงต่อมาเรือของเราก็มาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับเรือลาดตระเวนอังกฤษชื่อ  พาลลาส..... 

            เรือปืนจักรข้างของไทยลำหนึ่ง ชื่ออรรคราชวรเดช ทอดสมออยู่ไม่ห่างนัก  มีเรือโบตลำหนึ่งมาจากเรือนั้น นำพนักงานเจ้าท่ามาขึ้นเรือแองคองสตังค์ เป็นคนชาติเยอรมันในขณะเดียวกัน มีเรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งมาจากกรุงเทพ ฯ เข้าเทียบเรือแองคองสตังค์ มีนายเรือโทประจำเรือลูแตงคนหนึ่ง เอาถุงไปรษณีย์ถุงใหญ่มาด้วย  เจ้าพนักงานผู้นั้นมาห้ามมิให้นำเรือเข้าไป และไม่ยอมบอกอัตราน้ำที่สันดอน..... นายทหารอังกฤษผู้หนึ่งจากเรือพาลลาส ขึ้นมาเยี่ยมและบอกว่าได้ทราบว่า มองซิเออร์ ปาวี จะมาบอกให้เราทอดสมออยู่ข้างนอกสันดอนก่อน..... แต่นายทหารประจำเรือลูแตงไม่เห็นบอกเช่นนั้น และเขาเองก็ไม่ได้รับมอบคำสั่งด่วนแต่อย่างใด..... นาวาโท โบรี จึงให้เดินทางต่อไป 

            เวลา ๑๘.๐๕ น. เราผ่านสันดอน..... เรือเซย์เดินนำหน้า เรือแองคองสตังค์ กับเรือโคแมตเดินเรียงตามกันปิดท้ายระยะห่าง ประมาณ ๔๐๐ เมตร..... ไม่กี่นาทีจากนั้น เรืออรรคราชวรเดชได้ส่งสัญญาณประมวลสากล มีความหมายว่า "เตรียมตัวรับพายุใหญ่" 

            เวลา ๑๘.๓๐ น. เราเข้ามาใกล้ทุ่นดำ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นนัดหนึ่ง แล้วก็ดังซ้อน ๆ กันหลายนัด ปรากฏว่าที่แหลมตะวันตกทำการยิง..... มีกระสุนหลายนัดส่งเสียงหวือ ๆ มายังเรา....."ประจำสถานีรบ"  เป็นคำสั่งให้ทุกคนรีบเข้าประจำที่ของตน....และชักธงชาติขึ้นยอดเสา  เตรียมพร้อมแล้วที่จะยิงตอบ.....  ป้อมพระจุลจอมเกล้ากลบไปด้วยแสงไฟและควันปืน..... เราอยู่ห่างถึง ๔,๐๐๐ เมตร ปืนเหล่านี้เมื่อยิงจะโผล่ขึ้นมา ครั้นยิงแล้วก็ผลุบลงไปในหลุม ที่มีเกราะป้องกันโดยทันที การยิงอย่างเต็มขนาดไปยังป้อมในขณะนี้ดูจะไร้ผล   ดังนั้นเราจึงบรรจุปืนใหญ่ด้วยกระสุนลูกปราย ซึ่งจะระเบิดแตกทำลายคนประจำปืน และเครื่องประกอบปืนอันอยู่ในที่กำบัง..... บนสะพานเดินเรือมีเรือโทบาแซง ซึ่งเป็นต้นหนคอยนับจำนวนกระสุนที่ยิงมาด้วยเสียงอันดัง 

           ทันใดนั้นเรือเซย์ได้หันหัวเรือไปทางซ้าย เราจึงแล่นผ่านเลยไป กัปตันของเรือตะโกนบอกมาว่า นำร่องไม่ยอมนำเรือต่อไปอีก และต้องการจะทอดสมอ   เรือเซย์ถูกกระสุนปืนหนึ่งนัด และเพื่อมิให้เรือจมจึงจำต้องแล่นเกยตื้นใกล้ ๆ ทุ่นดำ ในไม่ช้าก็มีกระสุนอีกนัดหนึ่งระเบิดลงบนเรือแองคองสตังค์ หลักเดวิทเรือโบตหักสะบั้นลง พันจ่าช่างไม้ประจำเรือตายคาที่   นาวาโทโบรี จึงสั่งหันหัวเรือไปทางซ้าย และให้ถือท้ายมุ่งตรงต่อไปทางกลางปากน้ำ แล้วสั่งเริ่มยิง เรือโคแมตก็เริ่มยิงตาม ขณะนี้เวลา ๑๘.๔๓ น.   การรบได้บังเกิดขึ้นแล้ว..... 

            การรบได้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน.....ถัดจากเรือทุ่นไฟมีเรือเหล็กจมอยู่หลายลำ ซึ่งยึดไว้ให้อยู่กับที่ โดยเอาหลักปักไว้ขนาบไว้เป็นสองแถว และมีสายโซ่ขึงไว้เป็นแนวอย่างแข็งแรงเหลือช่องว่างให้เรือเข้าออกได้ราว ๘๐ เมตร ช่องที่ผ่านนี้ยังได้วางตอร์ปิโดไว้อีกด้วย เลยแนวกีดขวางเข้าไปมีเรือไทย ๙ ลำ จอดเรียงรายกันอยู่ปืนหัวเรือเหล่านี้ได้ร่วมยิงกับป้อมพระจุลจอมเกล้าด้วย ๔ ลำ อยู่ทางซ้ายอีก ๕ ลำ อยู่ทางขวา ประกอบกันเป็นช่องทางที่เราต้องผ่านไป.....เดินหน้าเต็มตัว เราจะได้พุ่งเข้าชนเครื่องกีดขวาง 

           เวลา ๑๘.๕๐ น. ขณะที่เรือแองคองสตังค์ แล่นเข้าไปใกล้เรือทุ่นไฟนั้น ตอร์ปิโดลูกหนึ่งได้ระเบิดข้างหน้าเรือแต่ไม่ถูกเรือ เรือแองคองสตังค์ ได้แล่นผ่านแนวกีดขวาง  พร้อมทั้งทำการสู้รบกับเรือข้าศึกที่ตั้งเรียงรายเป็นสองแนว..... 

             .....เรือโคแมต ซึ่งแล่นตามแนวทางของเรือแองคองสตังค์ ก็ได้ผ่านกองเรือไทย และได้ยิงโต้ตอบไปทางขวาบ้างทางซ้ายบ้างด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ..... ฝ่ายข้าศึกให้ใช้ปืนกลยิงมายังเรา..... รวมทั้งปืนใหญ่ก็ยิงมาดังห่าฝน..... ขณะที่เราแล่นผ่านเรือใบลำใหญ่ทาสีขาว ซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายทางซีกซ้ายในระยะห่างกัน ๑๐๐ เมตร เรือลำนี้ได้ยิงมายังเราตับหนึ่ง ถูกพลประจำปืนตายไปสองคน..... ปืนท้ายของเราได้ยิงตอบไปบ้าง ถูกตัวเรือที่ทำด้วยไม้อย่างจัง การยิงได้ผลลงเมื่อเวลา ๑๘.๕๘ น. ..... เส้นทางเดินก็ปลอดโปร่งไปชั่วขณะ 

            .....ยังเหลือป้อมที่เกาะเล็กอีกป้อมหนึ่ง..... เวลา ๑๙.๐๐ น. ได้มาถึงป้อมนี้ซึ่งยังคงสงบเงียบอยู่..... เราได้ยิงกราดเข้าไป และปืน ๒๑ เซนติเมตร ของป้อมก็ได้ยิงตอบโดยไม่ถูกเรือเรา..... เราแล่นเลยสมุทรปราการไปโดยไม่มีข้าศึกกล้าติดตามมาเลย..... 

            .....ความมืดช่วยเขาไว้ได้ การยิงของฝ่ายไทยไม่ใคร่แม่น อำนวยการยิงไม่ดี และไม่มีการคำนึงถึงความเร็วเรือเพื่อแก้ศูนย์ กระสุนส่วนใหญ่จึงตกสูง หรือหลุดท้ายเรือเราไป ตอร์ปิโดก็ระเบิดก่อนเวลาอันสมควร จึงไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด 

            เรือโคแมตไม่ได้รับความเสียหายเท่าใด..... มีบ้างเล็กน้อย ตัวเรือ เพดานเรือ เครื่องเสา ปล่องเรือ และปล่องลม มีรอยกระสุนมัลลิเคอร์อยู่มากมาย มีรอยกระสุนถากไปหนึ่งหรือสองแห่ง กระจกบนสะพานเดินเรือแตก เรือกลเล็กที่อยู่ตอนหัวเรือ แตกมีรูรั่ว เรือไวหมายเลข ๒ ไฟไหม้จนไม่เป็นรูป..... 

           .....เวลา  ๒๑.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือส่งสัญญาณมาว่าให้ทอดสมอพร้อมกัน..... พอเลี้ยวตามแม่น้ำคุ้งแรกก็แลเห็นท่าจอดเรือ กรุงเทพ ฯ แม่น้ำตอนนี้แคบมากและเต็มไปด้วยเรือกลไฟ เรือใบ และมีเรือเล็ก ๆ มีแสงสว่างทั่วไปหมด กระแสน้ำก็ไหลแรง ทางเรือก็ไม่มีนำร่อง..... เรือแองคองสตังค์ ได้ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ สถานฑูตฝรั่งเศส เรือโคแมตก็ทอดสมออยู่ใกล้กัน 
 
 

 

 

เรือแองคองสตังค์ ได้ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ สถานฑูตฝรั่งเศส  เรือโคแมตก็ทอดสมออยู่ใกล้กัน

 

           .....ในเรือแองคองสตังค์ มีทหารตายเพียงคนเดียว และบาดเจ็บสองคน เครื่องเสา และตัวเรือมีรอยถูกยิงด้วยกระสุนปืนเล็ก และรอยกระสุนปืนใหญ่หลายแห่ง นอกจากหลักเดวิทเรือโบตหักแล้ว ก็ไม่มีอะไรเสียหายร้ายแรง 

            ในระหว่างนี้ข่าวการรบและการเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ของเรายังไม่แพร่กระจายออกไป  นครหลวงอันกว้างใหญ่ พร้อมพลเมืองสามแสนคนยังคงนอนหลับสงบเงียบอยู่  ผู้บังคับการเรือลูแตง กล่าวว่าไม่ได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันเลย..... 

             ก่อนจะขึ้นไปรายงานตัวต่อ มองซิเออร์  ปาวี   นาวาโทโบรี ได้ประชุมผู้บังคับการเรือลูแตง และเรือโคแมต เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในอันที่จะแก้แค้นฝ่ายไทย ที่ทำการคุกคามโดยไม่สมควร  ตกลงกันว่า    พรุ่งนี้เวลาเช้าตรู่เรือของเราทั้งสามลำ จะออกเรือเพื่อทำการจมเรือลาดตระเวนมหาจักรี ซึ่งทอดสมออยู่ที่หน้าอู่หลวง แล้วเราจะตรึงเรือเป็นแนวอยู่ตรงหน้าพระบรมมหาราชวัง   หากไม่ได้รับความตกลงที่พอใจ ก็จะได้ระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อไป ความจำเป็นในเบื้องแรกคือ   ให้กองเรือไทยยอมจำนน และให้ฝ่ายไทยจัดการถอนคน และรื้อป้อมที่ปากน้ำเสีย ในขั้นต่อไปทหารเรือเราก็จะมอบให้ฝ่ายการฑูต

 

 

 

 

 

 

รายงานของนาวาเอก แองกัส  แมคเคลาด์  (Angus Maciead)  ผู้บังคับการเรือพาลลาส ถึง พลเรือตรี ฟรีแมนเติล ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษภาคทะเลจีน  ลง ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖    มีความว่า 

     วันที่  ๑๓  กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เวลาเช้าตรู่ ได้รับจดหมายจากพลเรือจัตวา เดอ ริชลิเออ แห่งราชนาวีไทย มีใจความว่า  "เรือแองคองสตังค์ จะมาถึงวันนี้ แต่ มองซิเออร์  ปาวี  ตกลงยินยอมจะส่งเรือกลไฟลำหนึ่งให้นายทหารประจำเรือลูแตงไปด้วย เพื่อไปบอกให้อยู่เพียงนอกสันดอน หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น"      ได้รับข่าวว่าเรือลาดตระเวนฝรั่งเศสชื่อ ฟอร์แฟต์ จะเข้ามาในวันนี้..... ประหลาดใจว่าเขาเข้ามาทำไม 

            เวลา ๐๘.๓๐ น. เห็นเรือฟอร์แฟต์ แล่นมาทางเกาะสีชังด้วยความเร็วเต็มที่ ๐๙.๓๐ น.ก็ได้ทอดสมอ

ฯลฯ

            นาวาเอก เรอ กูลูซ์ ผู้บังคับการเรือฟอร์แฟต์ ได้มาเยี่ยม เมื่อเวลา  ๑๑.๓๐ น. ..... ได้อธิบายถึงข่าวสาร และเหตุการณ์ในวันที่แล้วมาและได้ให้ความเห็นว่า นาวาโทโบรี ทำผิดในการที่ได้ตีฝ่าแม่น้ำเข้าไป เป็นการขัดคำสั่งของราชฑูตที่ได้สั่งออกมาให้ทราบแล้ว และได้เตือนให้มีความอดทน และมีความระวังให้มาก..... และเชื่อว่าทางการฑูตจะสามารถตกลงปรองดองกัน ในปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ได้ ..... 

ฯลฯ

สรุปสถานการณ์

วันที่   ๑๓   กรกฎาคม 

         ฝ่ายไทยเตรียมการรับเสด็จ อาร์ชดยุค ออสเตรีย ซึ่งกำหนดว่าจะเสด็จมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในวันนี้ จึงได้จัดส่งเรือมกุฏราชกุมาร และเรือนฤเบนทร์บุตรีออกไปรับเสด็จที่ปากน้ำ   เรือมกุฏราชกุมารออกไปจอดคอยอยู่ที่นอกสันดอน  ภายหลังเมื่อทราบว่าเจ้าชายออสเตรียยังเสด็จมาไม่ถึง และ

          ในตอนเย็นราชฑูตฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสสองลำจะเข้ามาถึงสันดอน โดยตกลงว่าจะจอดอยู่ที่สันดอนก่อน แต่เพื่อความไม่ประมาท นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ออกไปที่สันดอนแต่เช้า  ได้สั่งให้เรือมกุฏราชกุมารถอยเข้ามาจอดภายในแนวป้องกันที่ปากน้ำ   ในวันนี้ฝ่ายไทยได้จมเรือโป๊ะที่แนวป้องกันอีกลำหนึ่งและได้วางทุ่นระเบิดเพิ่มเติมอีก รวมแล้วได้วางทุ่นระเบิดได้ทั้งหมดเพียง  ๑๖ ลูก 

      เวลา   ๑๗.๐๐ น. เรือมกุฏราชกุมารเข้าประจำที่ภายในแนวป้องกัน โดยมีเรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือทูลกระหม่อมจอดอยู่ถัดไปทางฝั่งเดียวกันตรงแหลมฟ้าผ่า  ทางฝั่งตะวันออกของช่องเดินเรือมีเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์จอดอยู่  กับมีเรือหาญหักศัตรูจอดอยู่ทางฝั่งเดียวกัน 

          รวมเรือรบฝ่ายไทยที่คอยต้านทานอยู่ในแนวป้องกัน รวม ๕ ลำด้วยกัน 

          นอกแนวป้องกันออกไปมีสนามทุ่นระเบิดบังคับการยิงจากเรือยิงทุ่นระเบิด  ซึ่งจอดอยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้เรือทุ่นไฟ ที่แหลมลำพูราย มีสถานีโทรเลขสำหรับรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ  เข้าไปยังกรุงเทพฯ 

           นายพลเรือจัตวา  พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้อำนวยการป้องกันอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และได้สั่งการแก่ผู้บังคับการเรือทุกลำว่า   ในกรณีที่เกิดการสู้รบกันขึ้น เมื่อป้อมพระจุลจอมเกล้าทำการยิงไปเป็นนัดที่สี่แล้วเรือฝรั่งเศสยังไม่หยุด    ก็ให้เรือเริ่มทำการยิงร่วมกับป้อมได้ทีเดียว 
 

           เวลา ๑๗.๐๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอน และได้หยุดเรือโดยไม่ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเรือนำร่อง และเรืออรรคราชวรเดช ซึ่งมีกัปตันวิล   เจ้าท่าไทยสัญชาติเยอรมันประจำอยู่ เรือลาดตระเวณอังกฤษชื่อพาลลาสก็จอดอยู่ในบริเวณนี้ด้วย   เมื่อเรือรบฝรั่งเศสมาถึง มิสเตอร์แจคสัน นำร่องใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่เรือนำร่องได้ขึ้นไปบนเรือเซย์   กัปตันวิลได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์  ห้ามปราบมิให้เรือรบฝรั่งเศสเดินทางเข้าไป  เรือสตรู ซึ่งเป็นเรือกลไฟไทยเข้าเทียบเรือแองคองสตังต์  โดยมีนายเรือโท นายทหารประจำเรือลูแตงเอาถุงไปรษณีย์มาให้ด้วย   ผู้บังคับการเรือพาลลาสได้ส่งนายเรือเอก เอดเวิดส์ นายทหารฝ่ายพลาธิการขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ราชฑูตฝรั่งเศสให้มีคำสั่งมาให้เรือรบฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่นอกสันดอนก่อน  แต่ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ไม่ยอมฟังการห้ามปรามใด ๆ

          ดังนั้น  ทุกคนที่ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์จึงล่ากลับ     ส่วนมิสเตอร์แจคสันนำร่องไทยคงอยู่ในเรือเซย์ มิได้กลับไปยังเรือนำร่อง มองซิเออร์วิเกล กัปตันเรือเซย์ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ทำหน้าที่นำร่องตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว    ต้นเรือเซย์ทำหน้าที่กัปตันเรือเซย์ 

            เวลา ๑๗.๓๐ น.  มีฝนตกบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำให้อากาศมืดครึ้ม มองอะไรไม่ใครเห็น 

            เวลา ๑๘.๑๕ น. ฝนหยุดตก ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าได้แลเห็นเรือรบฝรั่งเศสกำลังแล่นผ่านกระโจมไฟเข้ามา   เสียงแตรสัญญาณดังขึ้น เพื่อสั่งให้ทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า "เข้าประจำสถานีรบ" 

            เรือสตรูออกจากเทียบ    เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ 

            ขณะนั้นน้ำที่สันดอนกำลังจะขึ้น นายนาวาโทโบรี ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ได้จัดเรือกลไฟเล็กของเรือแองคองสตังต์ ออกไปหยั่งน้ำล่วงหน้าที่บริเวณโป๊ะจับปลา   ส่วนกัปตันวิลเมื่อกลับไปถึงเรืออรรคราชวรเดชแล้ว   ก็ได้ชักธงสัญญาณประมวลให้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าทราบเพื่อ  "เตรียมพร้อม" 

            เวลา ๑๘.๐๕ น.  หมู่เรือรบฝรั่งเศส ประกอบด้วยเรือปืนชั้น ๑ ชื่อ  แองกองสตังค์ (Inconstant) และ เรือปืนโคเมต  (Comete) ภายในการบัญชา ของ นาวาโท โบรี  ออกเดินทางสู่ปากน้ำเจ้าพระยา  ได้แล่นล่วงล้ำผ่านสันดอนปากน้ำ   โดยมีเรือเซย์แล่นนำหน้าเข้ามาโดยไม่ยอมฟังคำห้ามปราม  และโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย   ติดตามด้วยเรือแองคองสตังต์ และเรือโคเมต เป็นขบวนเรียงตามกันปิดท้ายระยะ ๔๐๐ เมตร   มีเรือสินค้าอังกฤษสามลำแล่นออกมาสวนทางกับเรือรบฝรั่งเศส  อากาศครึ้มฝน  ลมอ่อนพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีระลอกคลื่นตามชายฝั่งเล็กน้อย   ดวงอาทิตย์กำลังใกล้จะตก 

            เวลา ๑๘.๓๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงทุ่นดำ ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวของร่องน้ำ 

          ป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงด้วยนัดดินเปล่าไม่บรรจุหัวกระสุน จำนวน ๒ นัด  เพื่อเป็นสัญญาณเตือนมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามา  แต่ไม่ได้ผล         เรือรบฝรั่งเศสคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม  จึงได้ยิงโดยบรรจุกระสุนเป็นนัดที่สาม ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเป็นการเตือนอีก   แล้วจึงยิงเป็นนัดที่สี่ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเช่นเดียวกัน 

          ในตอนนี้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าสังเกตุเห็นว่า เรือลำหน้าทำท่าจะหยุดและหันกลับออกไป   แต่ในไม่ช้าก็เดินมาตามเข็มเดิมอีก   พร้อมกับชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ยอดเสาทุกเสา และที่เสาก๊าฟด้วย แล้วได้ระดมยิงยิงมายังป้อมพระจุลจอมเกล้า
 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ป้อมพระจุลจอมเกล้า จึงยิงโต้ตอบด้วยปืนใหญ่ทุกกระบอกที่มีอยู่โดยฉับพลัน

 

          ในการยิงต่อสู้ครั้งนี้ ผลปรากฎว่าเรือ เย.เบ.เชย์  (J.B.say) ซึ่งเป็นเรือนำร่องให้เรือฝรั่งเศสถูกยิงทะลุ ต้องแล่นเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง   ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้านั่นเอง  ส่วนเรือรบฝรั่งเศส ทั้ง ๒ ลำ คงแล่นผ่านเข้ามาจนถึงกรุงเทพฯ  และจอดทอดสมอที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส    

          การรบครั้งนี้ นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์   รองผู้บัญชาการทหารเรือ   เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาได้บัญชาการรบด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนที่  แสดงพระบรมมหาราชวัง  และสถานฑูตฝรั่งเศส 

 

 

 

 

 

มีพระบรมราชโองการ  ให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎรทั้งปวงทราบทั่วกันว่า 

            ในการที่ฝรั่งเศสกับกรุงสยามทุ่มเถียงกันด้วยเขตแดนทางฝั่งโขงคราวนี้  แต่แรกฝรั่งเศสก็ได้ส่งเรือรบลำหนึ่งเข้ามารักษาคนในบังคับช้านานมาแล้ว    บัดนี้  อ้างเหตุว่า  เรือรบฝ่ายประเทศอังกฤษ จะเข้ามารักษาผลประโยชน์ของชาตินั้นอีก ฝ่ายฝรั่งเศสจึงจะขอเอาเรือรบเข้ามาอีก ๒ ลำ เพื่อรักษาผลประโยชน์บ้าง      ราชฑูตฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ได้นำความมาบอกขออนุญาตให้เรือทั้งสองนี้ขึ้นมาแล้ว   ฝ่ายเราเห็นว่า   เวลานี้เป็นสมัยที่ยังไม่ควรจะมีเรือรบต่างประเทศเข้ามาจอดในลำแม่น้ำอีกกว่าประเทศละหนึ่งลำขึ้น  จึงได้ปรึกษาด้วยราชฑูตฝรั่งเศส   และมีโทรเลขไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีสแล้ว ก็ได้ตอบทางโทรเลขรับรองตกลงว่า จะสั่งเลิกการที่จะส่งเรือเข้ามาในแม่น้ำอีกนั้นแล้ว   และข้างฝ่ายราชฑูตฝรั่งเศสในนี้ ก็ได้ตกลงยอมไม่ให้เรือรบขึ้นมา และขอเรือไฟให้นายทหารเรือออกไปห้ามแล้ว   แต่เรือทั้งสองก็ยังขืนเข้ามาในปากน้ำ ถึงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า     เจ้าพนักงานทหารเรือจึงได้ยิงห้ามนัดหมายตามธรรมเนียม เรือรบไม่ฟังกับยิงโต้ตอบบ้าง   จึงเกิดยิงโต้กันขึ้น  แล้วเรือรบทั้งสองก็ได้ขึ้นมาทอดสมออยู่ในลำน้ำหน้าสถานฑูตฝรั่งเศส   การที่เป็นไปแล้วทั้งนี้  ยังเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่เข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง   เพราะในคำโทรเลขแต่ปารีสบอกความชัดว่า เสนาบดีต่างประเทศฝรั่งเศสแสดงถ้อยคำว่า  ไม่ได้หมายจะทำภัยอันตรายอันใด ต่อความเป็นใหญ่เป็นเจ้าของกรุงสยาม   เพราะเหตุฉะนี้ อย่าให้ชนทั้งหลายวิตกตื่นไปว่า จะมีการรบพุ่งอันตรายอันใดในกรุงเทพ ฯ  นี้เลย  และเรือรบที่เข้ามาใหม่ประสมกับลำเก่า รวมเป็น ๓ ลำด้วยกันนี้ แม้ว่าจะคิดอันตรายอันใด ก็ไม่อาจทำได้จริงให้เป็นผลแก่ฝรั่งเศสได้   กำลังในเรือรบทั้ง ๓ ลำนี้มีเพียง   ๓๐๐  คนเท่านั้น   ไหนเลยจะสามารถขึ้นมารุกรานเข้าตีในหมู่กลางประชุมทหารนี้ได้     แต่เหตุสำคัญที่ควรจะป้องกันแก้ไขบัดนี้   มีอยู่ที่ชนทั้งหลายจะพากันวิตกตื่นเต้นไปต่าง ๆ  โดยความที่ไม่ได้ทราบความหนักเบา    จึงได้ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้กรมนครบาลจัดการป้องกันระวังรักษาทรัพย์สมบัติ และพลเมืองให้พ้นจากคนพาลเบียดเบียน   อนึ่ง ได้เสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรตรวจตรา พลทหารประจำซองกรุงเทพ ฯ ทั่วไปแล้ว เป็นที่ทรงยินดีต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก ว่าจะระงับเหตุการณ์ในบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย  และป้องกันรักษาอาณาประชาชนให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ และในการครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้มีการโต้ตอบปรึกษาหารือกับด้วยรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งที่กรุงเทพ ฯ และที่กรุงปารีส  ดังปรากฏในหนังสือในเรื่องนี้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศมาให้ทราบแล้วด้วย   ขอให้ชนทั้งหลายพิเคราะห์เหตุผลตามกระแสพระราชดำริ ที่ได้ชี้แจงมาแล้วนี้ อย่าให้หวาดหวั่นวิตกตื่นไปกว่าเหตุนั้น จงรักษาความสงบเรียบร้อยตามปกติของตนทั่วกันเถิด 

 

ประกาศมา  ณ   วันที่   ๑๓   กรกฎาคม   ร.ศ.๑๑๒

 

 

 จากบันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคแมต  (ต่อ)

    วันที่  ๑๔  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๓๖ 

            เวลา ๐๒.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือได้มาบอก ผู้บังคับหมู่เรือมาบอกยกเลิกคำสั่งสุดท้ายของเขา    มองซิเออร์  ปาวี ได้อธิบายแก่เขาว่า ถ้าเราได้ยิงปืนในท่าเรือกรุงเทพ ฯ  แม้แต่เพียงนัดเดียวก็จะกลายเป็นสัญญาณให้เกิดการจลาจลอย่างน่ากลัว พวกชาวจีนที่กำลังมั่วสุมประชุมกันเป็นสมาคมลับที่เข้มแข็ง จะถือโอกาสลุกฮือขึ้นทำการปล้นสะดม และเผาผลาญบ้านเรือนของชาวยุโรป  ตลอดจนพระราชวัง และวังเจ้านาย เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นโดยไม่สามารถปราบปรามลงได้..... ควรจะได้หาทางทำสัญญาสงบศึกเสีย โดยเริ่มเจรจาทำความตกลงกัน

 .....เวลา ๐๘.๐๐ น. หมู่เรือฝรั่งเศสได้ชักธงราวแต่งเรือเป็นเกียรติในวันชาติ   ตามกฎธรรมเนียมแห่งมารยาทเรือต่างประเทศที่จอดอยู่ในลำน้ำทุกลำก็ชักธง  แต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา   เรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเราก็ได้ชักธงฝรั่งเศสให้  ด้วยทราบมาว่าข้าศึกของเราเมื่อวานนี้ จำนวนหลายลำที่ถูกยิงอย่างฉกรรจ์จนไม่สามารถแล่นขึ้นมาได้    ต้องเกยตื้นอยู่แถวล่าง ๆ ก็ยังได้ชักธงราวแต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา

 

 ความเสียหายภายหลังการรบ       

      ก. ฝ่ายฝรั่งเศส

          เรือเซย์  ถูกยิง  ๒ นัด    มีรูทะลุ  น้ำเข้าเรือจึงต้องแล่นไปเกยตื้น ไม่ปรากฎว่ามีคน บาดเจ็บล้มตาย    

          เรือแองคองสตังต์    ตัวเรือและส่วนบนของเรือ มีรอยกระสุน ปืนเล็ก มากมาย และมีรอย กระสุนปืนใหญ่ หลายแห่ง หลักเดวิดเรือบตหัก ทหารตาย  ๑ คน  บาดเจ็บ  ๒ คน 

          เรือโคแมต    ตัวเรือและส่วนบนของเรือ มีรอยกระสุนปืนเล็กมากมาย   และมีรอยกระสุนปืนใหญ่  ๒ นัด  กระจกบนสะพานเดินเรือแตก    เรือเล็ก เสียหาย  ๒ ลำ  ทหารตาย  ๒ คน   บาดเจ็บ  ๑ คน 

                    รวมทหารฝรั่งเศส  ตาย   ๓ คน    บาดเจ็บ   ๓ คน 

 

      ข. ฝ่ายไทย

          เรือมกุฎราชกุมาร    ถูกกระสุนปืนใหญ่ ที่หัวเรือ  ๑  นัด   เครื่องกว้านสมอชำรุดใช้การไม่ได้และถูกกระสุน ปืนเล็กเป็นจำนวนมาก    ที่ข้างเรือกราบซ้ายตรงห้องเครื่องจักร  ๑ นัด ที่ส่วนบนของเรือ  ๑ นัด    ถูกกระสุน ปืนเล็กเป็นจำนวนมาก 

          เรือหาญหักศัตรู    ถูกยิงที่ท้ายเรือมีช่องโหว่ 

          เรือนฤเบนทร์บุตรี    ไม่ปรากฎว่า ถูกยิงที่ใดบ้าง 

          เรือทูลกระหม่อม     ถูกกระสุนปืนใหญ่ ๑ นัดที่หัวเรือ 

          ป้อมพระจุลจอมเกล้า    ไม่ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด 

          ป้อมผีเสื้อสมุทร    บริเวณหลุมปืนถูกยิง แต่ไม่เสียหายมาก 

 

        ทหารที่ตายและบาดเจ็บตามบัญชีราชการที่พิจารณาให้บำเหน็จความชอบ ดังนี้

          เรือมกุฎราชกุมาร  ตาย ๓ คน คือ มะถิเยาะ  (อาสาจาม)  นายมะนิ (อาสาจาม)  นายหวน (ปากน้ำ)    บาดเจ็บ ๑๕ คน 

          เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์    บาดเจ็บ ๖ คน 

          เรือหาญหักศัตรู    ตาย ๑ คน   คือ โต๊ะหวัง (โต๊ะ) บาดเจ็บ ๒ คน 

          เรือนฤเบนทร์บุตรี    ตาย ๒ คน   คือ นายมาน (อาสาจาม)  นายผิว (แผนที่)    บาดเจ็บ ๖ คน 

          เรือทูลกระหม่อม    ตาย ๒ คน   คือ นายทอง (ปากน้ำ)   นายหรุ่น (โต๊ะ) บาดเจ็บ ๕ คน 

          ป้อมผีเสื้อสมุทร    บาดเจ็บ ๖ คน 

          ป้อมพระจุลจอมเกล้า   ไม่มีคนตาย  และบาดเจ็บ

                    รวมทหารไทยตาย   ๘ คน  และบาดเจ็บ  ๔๐ คน 

 

ภายหลังการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา

ฝรั่งเศสรุกทางการฑูต -  ยื่นคำขาด

          ภายหลังการประชุมหารือกันในรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่   ๑๘   กรกฎาคม  ๒๔๓๖  รัฐสภาฝรั่งเศสได้ลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดการให้รัฐบาลไทย รับรองและเคารพสิทธิของฝรั่งเศสตามคำแถลงของ  มองซิเออร์  เดอแวลล์   แต่ก็ได้ยืนยันกับราชฑูตไทยว่า  ฝรั่งเศสไม่ต้องการทำลายความเป็นเอกราชของไทย    หากไทยยอมรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสซึ่งราชฑูตฝรั่งเศสจะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ

          ครับ  .  .  .  เมื่อฝ่ายทหารปฏิบัติผิดคำสั่งฝ่ายการเมือง  ที่ไม่ให้เรือรบของตนข้ามสันดอนเข้ามา  แต่เป็นผลดี    ฝ่ายการเมืองฝรั่งเศสจึงฉกฉวยโอกาสนี้เรียกร้องประโยชน์จากรัฐบาลไทยเสียเลย

          แต่เป็นที่ผิดสังเกต  คือ  เหตุใด  มองซิเออร์  ปาวี  เมื่อได้รับคำสั่งล่าสุดจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ให่เรือรบฝรั่งเศสข้ามสันดอนเข้ามา  และตนเองส่งข่าวด่วนและสำคัญเช่นนี้รวมไปในถุงใส่จดหมายทั่วไป   น่าจะเป็นเล่ห์เหลี่ยมของมองซิเออร์  ปาวี   ที่ทราบว่าหมู่เรือฝรั่งเศสมีความกระหายที่จะล่าอยู่แล้ว  จึงปล่อยให้เข้ามา    หากฝ่ายเราต้านทานได้  และเรือรบฝรั่งเศสไม่เสียหาย  ก็คงเรียกร้องค่าตกอกตกใจ    แต่ถ้าถูกฝ่ายเราทำลายเสียหาย  ก็ถือเป็นเงื่อนไข  เรียกร้องจากฝ่ายไทยอีก    ตามประสานักล่า        

 

          ดังนั้น  ในวันที่  ๑๙  กรกฎาคม   มองซิเออร์  เดอแวลล์ จึงได้โทรเลขถึง มองซิเออร์  ปาวี ให้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทย  มีความดังนี้ 

                "ณ บัดนี้พอจะรู้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ร้ายแรงเพียงใด   รัฐบาลไทยจะต้องรับผิดยิ่งขึ้น ไปอีกอย่างไรนอกจากที่เคยทำกับเรามาแล้ว เราควรคำนึงตามที่ชอบด้วยว่า หน้าที่รัฐบาลไทยจะต้องรีบคิดจัดการแก้ไขฐานะความเป็นไปนี้เสียโดยเร็ว  แต่ตรงกันข้าม  .  .  .  รัฐบาลไทยยังขืนทำโอ้เอ้ขัดต่อการที่เราเรียกร้องไป เราจะปล่อยให้เป็นไปดังนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว 

            ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ให้ไปเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ชี้ให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายถึงข้อร้ายแม้ตามความสัตย์จริง เรามิได้คิดจะขู่เข็ญความเป็นเอกราชของไทย ก็อาจทำให้ไทยหมิ่นอันตรายหากไม่ยอมทำตามที่เราเรียกร้องไปโดยทันที ให้นำข้อความนี้ไปแจ้งให้ทราบ 

     รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับดังต่อไปนี้ 

                (๑)  ให้เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้ 

                (๒)  ให้ถอนทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน หนึ่งเดือน 

                (๓)  ให้เสียค่าปรับไหมแก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และทั้งในการที่ได้ทำอันตราย และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา 

                (๔)  ให้ลงโทษผู้กระทำผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต 

                (๕)  ให้เสียเงิน  ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ชนชาติฝรั่งเศส 

                (๖)   ให้จ่ายเงิน  ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญหรือถ้าไม่สามารถก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ 

               ให้รัฐบาลไทยตอบให้ทราบภายใน  ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะรับปฏิบัติตามนี้ได้หรือไม่ 

               ในกรณีนี้ เมื่อมีการตกลงอย่างไร จงทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ ถ้ารัฐบาลไทยไม่ตอบ หรือผัดเพี้ยนไม่ยินยอม เมื่อสิ้น ๔๘ ชั่วโมงแล้ว ให้ออกจากกรุงเทพ ฯ และไปขึ้นพักบนเรือฟอร์แฟต์ (ที่คอยอยู่นอกสันดอน) ไปพลางก่อน   แล้วจึงทำการปิดอ่าวไทยโดยทันที 

            หากว่าในระหว่างที่ท่านโดยสารเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มาสันดอน ฝ่ายไทยทำการรุกรบ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า เราจะต้องกระทำตอบทันที 

            เมื่อ  ๔๘  ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจ ให้มอบหมายการปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชาติฝรั่งเศส ไว้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์   และการอันใดที่จะพึงปฏิบัติแก่รัฐบาลไทยสถานใดนั้น  เห็นสมควรอย่างไรจงสั่งเสียให้ผู้ที่ร่วมงานในครั้งนี้ทราบโดยทั่วกัน      ให้ท่านกับเรือปืนสามลำไปรวมอยู่ที่เรือฟอร์แฟต์ และให้แจ้งไปให้พลเรือตรีฮูมานน์ ทราบไว้   ส่วนพลเรือตรีฮูมานน์นั้นจะได้รับคำสั่งอันจำเป็นต่างหาก    มั่นใจว่าอาศัยความชำนิชำนาญ และความเสียสละให้แก่ชาติ จะเป็นปัจจัยช่วยให้ การปฏิบัติการตามหน้าที่จะสงวนประโยชน์ที่มีอยู่ในโอกาสเช่นนี้ไว้ได้ ด้วยความพินิจพิจารณาของท่าน" 

 

ไทยตอบคำขาด   

          "เพื่อตอบสนองหนังสือที่ได้ยื่นมาตามคำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดี  (๒๐ กรกฎาคม) เวลา ๑๘.๔๕ น. นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้แจ้งให้ทราบดังนี้ 

                (๑)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งของประโยคที่ว่า  "สิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ" ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอยู่เหมือนกันว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิดินแดนส่วนใด ๆ ให้   ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่  อยู่เหนือดินแดนนั้นอย่างไร  ทั้งนี้เป็นเวลา  ๕ เดือนมาแล้วที่รัฐบาลไทยขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ 

           อาศัยความจำเป็นในโอกาสนี้ และด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางพาณิชยการที่ต่างประเทศได้กระทำอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับว่า ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับญวน และเขมรนั้น บรรดาดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อยู่ทางใต้เส้น แลต. ๑๘ น. รัฐบาลไทยยอมยกให้เป็นดินแดนส่วนแม่น้ำโขงตอนใต้แลต.๑๘ น. ลงมาจนถึงตอนที่ไหลเข้าไปในดินแดนเขมรนั้นให้ถือเป็นเส้นปันเขตแดน และที่อาศัยเกาะเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือควรให้ใช้ร่วมกันได้ทั้ง  ๓ ประเทศ  (ไทย  ญวน  เขมร ) 

                (๒)  กองทหารไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ (๑) จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน ๑ เดือน 

                (๓)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอแสดงความเสียพระทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย  จะได้ปล่อยตัวบางเบียนไป  และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย   ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น 
 

               (๔)  บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป

                 (๕)  รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศส ขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการไทยดำเนินการผิดนั้น  ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลไทยขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการนั้น ๆ 

            บัดนี้เมื่อได้ยินยอมปรองดองไปตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้าน จึงยอมชำระเงิน  ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์  ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่าที่ได้เสียหายไปในกรณีที่ได้ระบุมาแต่ข้างต้นนั้น   อนึ่ง รัฐบาลไทยมีความเห็นว่า ชอบที่จะจัดตั้งกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ  (๔) นั้น 

                (๖)  ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน  ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม   ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลไทยเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน       เท่าที่ได้ยินยอมไปตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องมาตามคำแถลงข้างบนนี้ รัฐบาลไทยมั่นใจว่าคงจะพอเป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลไทยยังมีความปรารถนาที่จะอยู่ในความสามัคคีกับประเทศฝรั่งเศส และข้อพิพาทในระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่คั่งค้างอยู่ สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยบริบูรณ์" 

 

ฝรั่งเศสตัดสัมพันธ์ทางการฑูต

ไทยยอมรับคำขาด

 

วันที่  ๒๙  กรกฎาคม  ๒๔๓๖ 

          พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือยอมรับคำขาดไปยื่นแก่ มองซิเออร์  เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส มีความว่า 

            "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ทรงเสียพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อได้ทรงวิจารณ์เห็นว่า คำตอบของรัฐบาลไทยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งได้ยื่นมา  ณ  วันที่  ๒๐  กรกฎาคม ที่แล้วมา และเงื่อนไขต่างๆ ที่ได้บังคับมานั้น ถือเสมือนว่ายังไม่ให้ความพอใจแก่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่าที่เรียกร้องมา  ข้าพเจ้าจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของข้าพเจ้าให้แจ้งแก่ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงการที่จะรักษาสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้ดียิ่งไว้ จึงทรงยอมรับคำเรียกร้องของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างไร 

            ข้าพเจ้าขอเสนอสาส์นนี้มาเป็นหลักฐาน ตามข้อความที่ท่านให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าได้มาเจรจากับท่านเมื่อเช้านี้ และขอแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่ยังให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้นอยู่ดังนี้ 

                (๑)  เพื่อระงับและขจัดเหตุวุ่นวายที่นับวันจะมียิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอันตรายได้ 

                (๒)  เพื่อความสอบและสันติสุขของพลเมือง 

                (๓)  เพื่อรักษาสันติภาพไว้ 

                (๔)  เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการพาณิชย์ 

                (๕)  เพื่อผูกความสัมพันธ์ในระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในทางการทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องขาดสะบั้นลงอย่างสลดใจนั้น 

                (๖)  เพื่อให้สัมพันธไมตรี และความสนิทชิดเชื่ออันมีมาแล้ว ฐานที่เป็นประเทศใกล้เคียง และให้ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองคงเป็นอยู่ดังเดิม 

            ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้นำข้อความดังกล่าวแล้วมาเรียนท่าน และเพื่อที่จะให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง   ข้าพเจ้าหวังไว้ว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเปลี่ยนคำสั่งที่สมควร อันเกี่ยวกับที่กองเรือฝรั่งเศสทำการปิดอ่าวไทยอยู่ในเวลานี้" 

 

บันทึกปารีส  (la note de Paris)   บันทึกคำขาดเพิ่มเติม

          รัฐบาลฝรั่งเศสหาว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจล่าช้า    จึงได้ยื่นบันทึกทำนองคำขาดเพิ่มเติมให้ไทยยอมรับ อีกฉบับหนึ่ง คือ  บันทึกปารีส  (Paris  Note)   เมื่อ  วันที่  ๓๐  กรกฎาคม  ความว่า 

            "การที่รัฐบาลไทยชักช้าไม่ยอมรับคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ยื่นไปเมื่อ  ๒๐  กรกฎาคม นั้น สมควรที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องทวีข้อมัดจำยิ่งขึ้น 

            โดยปรารถนาจะให้เป็นพยานแห่งความผ่อนปรน ซึ่งเป็นหลักดำเนินรัฐประศาสนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นนิตย์มา และเห็นว่าจำเป็นที่จะให้รัฐบาลไทยปฎิบัติตามนัย แห่งข้อเรียกร้องทุกๆ ข้อให้ครบ  รัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดปากน้ำ และเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ากองทหารไทยที่ตั้งมั่นอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะถอนไปสิ้น และเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นแล้ว 

            อนึ่ง เพื่อประกับมิตรภาพอันเคยมีมาแล้วระหว่างประเทศทั้งสอง และเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในบริเวณทะเลสาบ   รัฐบาลไทยจะต้องไม่รวมกำลังทหารใดๆ ไว้ที่เมืองพระตะบองและเสียมราฐ รวมทั้งเขตที่ตั้งอยู่ในระยะรัศมี  ๒๔ กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง นับแต่ดินแดนเขมรขึ้นไป รัฐบาลไทยจะจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไว้ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความสงบโดยแท้จริงเท่านั้น กับห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยใช้หรือให้เรือหรือพาหนะทางเรือใด ๆ ที่ติดอาวุธเดินไปมาในทะเลสาบเขมร และในลำน้ำโขง    รัฐบาลฝรั่งเศส จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุลไว้ที่เมืองนครราชสีมา และเมืองน่าน 

            เมื่อรัฐบาลไทยรับปฏิบัติตามนี้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้เลิกปิดอ่าวทันที

 

 

ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทย  อังกฤษไม่พอใจ

 

 

 

 

        การที่ฝรั่งเศสสั่งปิดอ่าวไทย    รัฐบาลอังกฤษประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสว่าผิดหลักกฏหมายระหว่างประเทศ  เพราะฝรั่งเศสไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย  และกระทบผลประโยชน์ของอังกฤษ    ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่ามีสิทธิ์กระทำเพื่อบีบบังคับไทยให้ปฏิบัติตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศสโดยไม่ต้องทำลายสันติภาพ    

         และระหว่างนั้น  สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเลียม ที่  ๒  แห่งเยอรมนีกำลังเสด็จเยือนอังกฤษ  เซอร์  เฮนรี  ปอนซอนบี  (Sir  Hennry Ponsonby)  ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษไปเฝ้าพระจักรพรรดิ์  เพื่อขอให้เยอรมนีสนับสนุนในกรณีที่อังกฤษจะต้องขัดแย้งกับฝรั่งเศส    ในช่วงนั้น  ทางยุโรปก็มีการรวมกลุ่มประเทศต่างๆ  เพื่อแสวงหาพันธมิตร   เยอรมนีตั้งกลุ่มพันธมิตรไตรภาคี  (Triple  Alliance)    และยังไม่มั่นใจว่าอังกฤษจะเข้าร่วมด้วย  ทางเยอรมนีจึงสงวนท่าทีไว้ก่อน   

          (หากเยอรมนีรับว่าจะสนับสนุนอังกฤษ  อาจจะทำให้อังกฤษเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรไตรภาคี    หรือหากเยอรมนีเอาเรื่องการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีเป็นเงื่อนไขที่จะสนับสนุนอังกฤษก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทยมากกว่านี้  -  คิดแบบคนไทยนะครับ)

 

 

 

 

 

 

 

 

<  สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรินา  วิกตอเรีย   แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ 

สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่  ๒  แห่งเยอรมนี   >  

 

  

 

 

             สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร   Queen Victoria of the United Kingdom    พระนามแบบเต็ม อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย  (๒๔  พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๖๒ - ๒๒  มกราคม  พ.ศ.๒๔๔๔)    ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ตั้งแต่วันที่  ๒๐  มิถุนายน  พ.ศ.๒๓๘๐    และสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดียพระองค์แรก  ตั้งแต่วันที่  ๑  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๑๙   จนเสด็จสวรรคต   

          รัชกาลของพระองค์ยาวนานถึง  ๖๓ ปี   ๗ เดือน  ๒ วัน ซึ่งยาวนานกว่ารัชกาลใดของพระประมุขอังกฤษพระองค์อื่น    โดยทั่วไปแล้วยุคสมัยที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์เป็นที่รู้จักว่า  "สมัยวิกตอเรีย" (Victorian Era)
 

 

             สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่  ๒  แห่งเยอรมนี     Friedrich Wilhelm  Albert  Viktor  von  Preu?en   พระชนมายุ  ๒๗  มกราคม พ.ศ.๒๔๐๒ -  ๔  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๘๔   ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิเยอรมัน และพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งปรัสเซีย  ทรงดำรงวาระตั้งแต่วันที่  ๒๗  มกราคม  ค.ศ.๑๘๘๘  (พ.ศ.๒๔๓๑) ถึง  ๙ พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๖๑  
 

 

 ฝรั่งเศส - อังกฤษ  ?

         ๓๐  กรกฎาคม  ร.ศ.๑๑๒    นอกจากรัฐบาลฝรั่งเศสยื่น  บันทึกปารีส  แก่รัฐบาลไทยแล้ว   ทางกรุงลอนดอนก็ได้รับโทรเลขจากกรุงเทพฯ ว่า  ผู้บัญชาการทหารเรือฝรั่งเศสสั่งให้เรือปืนอังกฤษ  ออกไปจากกรุงเทพฯ  (ขณะนั้น  เรือพาลลาส  เรือสวอฟต์  และเรือปิกมี  อยู่ที่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา  และเรือลินเนต  อยู่ในกรุงเทพฯ)    ซึ่งทางกรุงลอนดอนตอบทางกรุงปารีสว่า  เรือปืนอังกฤษจะไม่ออกจากกรุงเทพฯ 

          ต่อมา  ทางกรุงลอนดอนก็ได้รับโทรเลขจากกรุงปารีสอีกว่า     ผู้บัญชาการทหารเรือฝรั่งเศสมิได้มีคำสั่งไล่เรือปืนอังกฤษ  และขออภัยในการที่เรือลาดตระเวนฝรั่งเศสหันปืนเรือทำท่าจะยิงเรือลาดตระเวนอังกฤษที่ปากน้ำเจ้าพระยา    

 

         ครับ  .  .  .  ในที่สุด  ฝรั่งเศส  และ อังกฤษ ก็ทำความเข้าใจกันได้

 

วันที่  ๑  สิงหาคม 

          พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสได้ไปแจ้งแก่ มองซิเออร์  เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาด และบันทึกปารีส ทุกประการ

          ในทางปฏิบัติ   กรมหมื่นพิชิตปรีชากร  และ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  ต้องสั่งถอนกำลังกลังมายังเมืองอุบล  เมืองขุขันธ์  และเมืองหนองคาย    ปล่อยทหารที่เรียกเกณฑ์มาให้กลับภูมิลำเนา    และฝ่ายฝรั่งเศสก็เลิกปิดอ่าวในวันที่  ๓  สิงหาคม

 

การเจรจา

          การเจรจาเพื่อทำสัญญาสงบศึก เริ่มในวันที่  ๒๒  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๓๖  และดำเนินไปจนถึงวันที่  ๓  ตุลาคม  จึงได้ลงนามในสัญญา   

 

สัญญาสงบศึก           ๓   ตุลาคม   ร.ศ.๑๑๒

             หนังสือสัญญา ทำเมื่อ วันที่  ๓  ตุลาคม  ร.ศ.๑๑๒   ระหว่างรัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส 

            สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีความปรารถนาจะระงับข้อพิพาทต่าง ๆ..... ระหว่างประเทศทั้งสอง และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี..... จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย 

            ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ..... เสนาบดีว่าการต่างประเทศ 

            ฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มองซิเออร์ ชาร์ลส์ มารี เลอมีร์เดอ วิเลร์ส..... อัครราชฑูตผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง และสมาชิกรัฐสภา   .....ได้ตกลงกันทำสัญญาเป็นข้อ ๆ  ดังต่อไปนี้ 

                ข้อ ๑  รัฐบาลสยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น 
 

               ข้อ ๒  รัฐบาลสยามจะไม่มีเรือใหญ่น้อยติดอาวุธไว้ใช้ หรือให้เดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ระบุไว้ในสัญญาข้อต่อไป 
 

               ข้อ ๓  รัฐบาลสยาม จะไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัสมี ๒๕ กิโลเมตร 

                ข้อ ๔  ภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓  นั้น กำลังตำรวจจะมีไว้ตามธรรมเนียมการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ และมีจำนวนได้เพียงเท่าที่จำเป็น กับจะไม่จัดตั้งกองทหารประจำการหรือไม่ประจำการใด ๆ ไว้ ณ ที่นั้นเลย 

                ข้อ ๕  รัฐบาลสยามรับรองว่า จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยเรื่องระเบียบการศุลกากร และการค้าภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ภายในกำหนด ๖ เดือนเป็นอย่างช้า  และให้มีการแก้ไขสัญญา ปี ค.ศ.๑๘๕๖  ด้วย  รัฐบาลสยามจะไม่เก็บภาษีใด ๆ ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ  ๓    จนกว่าจะได้มีการตกลงกันในข้อนี้ และรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้กระทำการตอบแทนเช่นเดียวกันแก่นานาสินค้าที่ผลิตได้ในเขตดังกล่าวนี้ 

               ข้อ ๖  ความเจริญแห่งการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือตั้งท่าเรือ และจอดทำที่ไว้ฟืนและด่านบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลสยามรับรองว่าเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสร้องขอมาแล้ว ก็จะให้ความสดวกทั้งปวงเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการนี้

               ข้อ ๗  บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรีในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ในเมื่อหนังสือเดินทางที่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสให้ไว้  ส่วนราษฎรที่อยู่ในเขตดังกล่าวนี้ ก็จะได้รับสิทธิด้วยเช่นกัน 

              ข้อ ๘  รัฐบาลฝรั่งเศสสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ เท่าที่เห็นสมควร เพื่อรักษาประโยชน์ของคนในปกครอง เช่นที่โคราช และที่เมืองน่าน เป็นต้น 

                ข้อ ๙  ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จะใช้เป็นหลัก 
 

               ข้อ ๑๐  สัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับสัตยาบันภายในสี่เดือน เป็นอย่างช้า นับแต่วันที่ได้ลงนาม 

 

อนุสัญญาต่อท้ายสัญญาสงบศึก 

                อนุสัญญาทำเมื่อ วันที่  ๓ ตุลาคม  ร.ศ.๑๑๒  ผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม กับกรุงฝรั่งเศส 

                ผู้ที่มีอำนาจเต็มในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ไว้ เพื่อเป็นมาตรการ และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาสงบศึกที่ได้ลงนามในวันนี้ และตามคำขาดที่ได้ยอมรับเมื่อ วันที่  ๕ สิงหาคม ที่แล้วมา 

                ข้อ ๑  กองทหารกองสุดท้ายของไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จะต้องถอนออกไปอย่างช้าที่สุดในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ ๕ กันยายน 

                ข้อ ๒  บรรดาป้อมปราการที่อยู่ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้นั้นจะต้องรื้อถอนให้หมดสิ้น 

                ข้อ ๓  ผู้เป็นตัวการก่อเหตุร้ายที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วนนั้น  เจ้าพนักงานฝ่ายสยาม จะต้องนำตัวมาพิจารณาลงโทษ ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสคนหนึ่งจะมาทำการพิจารณาพิพากษาด้วย และจะดูแลการปฏิบัติในการลงโทษที่พิพากษาไว้   รัฐบาลฝรั่งเศสคงสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะเห็นชอบด้วย เมื่อการลงโทษนั้นสมควรแก่รูปคดี และถ้าไม่เห็นชอบด้วยแล้ว จะได้ร้องขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นโดยศาลผสม ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการตั้งตุลาการ 
 

               ข้อ ๔  รัฐบาลสยามจะต้องส่งมอบบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศส คนญวน คนลาว ที่อยู่ทางฝั่งซ้าย รวมทั้งคนเขมรที่จับกุมเอาไว้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตามที่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ จะได้กำหนด หรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสประจำพรมแดน   รัฐบาลสยามจะไม่ทำการขัดขวางการเดินทางกลับถิ่นเดิมของผู้คนที่เคยอยู่ทางฝั่งซ้าย 

                ข้อ ๕  ผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง จะต้องนำบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ และพรรคพวกของเขา พร้อมทั้งเครื่องอาวุธและธงฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายสยามยึดคร่าไว้นั้น มาส่งมอบให้สถานฑูตฝรั่งเศส 

               ข้อ ๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจะคงยึดครองเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ารัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติตามนัยแห่งอนุสัญญานี้แล้ว เช่นการถอนทหารกลับมาเสร็จสิ้นแล้ว และมีความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ทางฝั่งซ้ายและในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓  แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้  

          ถึงแม้ว่า    ฝ่ายไทยเราจะต้องเสียเปรียบเป็นธรรมดา   แต่ในพระราชโทรเลขถึงกรมหมื่นพิชิตปรีชากร  และ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  เมื่อวันที่  ๕  ตุลาคม  ร.ศ.๑๑๒    ก็ทรงถือว่า   ".  .  .  การที่เราต้องเสียไปอย่างหนึ่งอย่างใด  เป็นแต่เสียทรัพย์แลเสียแผ่นดิน    แต่ไม่เป็นการเสียเกียรติยศซึ่งปรากฏแก่ตาโลกย์" 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เจ็บนานหนักอกผู้       บริรักษ์  ปวงเฮย

            "นับแต่เหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสกับกรุงสยามทุ่มเถียงกันด้วยเขตแดนทางฝั่งโขง"  จนถึง "เรือรบทั้งสองของฝรั่งเศสก็ยังขืนเข้ามาในปากน้ำ ถึงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า    เจ้าพนักงานทหารเรือจึงได้ยิงห้ามนัดหมายตามธรรมเนียม   เรือรบไม่ฟังกับยิงโต้ตอบบ้าง จึงเกิดยิงโต้กันขึ้น แล้วเรือรบทั้งสองก็ได้ขึ้นมาทอดสมออยู่ในลำน้ำหน้าสถานฑูตฝรั่งเศส"จนกระทั่งสยามจำต้องลงนามในหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อวันที่  ๓  ตุลาคม  ร.ศ. ๑๑๒    จำยินยอมเสียสละกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน ณ ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น    นับเป็นวิกฤติการณ์ที่ร้ายแรงต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งในยุครัตนโกสินทร์ ถึงขั้น "เสียบ้าน เสียเมือง"  ทีเดียว  

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง  ถึงกับทรงพระประชวร และทรงพระราชนิพนธ์โคลง ฉันท์ ลาสวรรคตแก่เจ้านายพี่น้อง   ๒ - ๓ พระองค์   ดังที่อัญเชิญเป็นหัวข้อนี้  .  .  .  และ  .  .  .

                            โคลงสี่สุภาพ

                                      เจ็บนานหนักอกผู้           บริรักษ์  ปวงเฮย
                           คิดใคร่ลาลาญหัก                      ปลดเปลื้อง
                           ความเหนื่อยแห่งสูจัก                พลันสร่าง
                           ตูจักสู่ภพเบื้อง                           หน้านั้นพลันเกษม

                                     เป็นฝีสามยอดแล้ว          ยังราย  ส่านอ
                           ปวดเจ็บใครจักหมาย                เชื่อได้
                           ใช่เป็นแต่ส่วนกาย                     เศียรกลัด  กลุ้มแฮ
                           ใครต่อเป็นจึ่งผู้                          นั่นนั้นเห็นจริง

                                      ตะปูดอกใหญ่ตรึ้ง           บาทา  อยู่เฮย
                           จึงบ่อาจลีลา                              คล่องได้
                           เชิญผู้ที่เมตตา                           แก่สัตว์  ปวงเฮย
                           ชักตะปูนี้ให้                                ส่งข้าอันขยม

                                    ชีวิตมนุษย์นี้                    เปลี่ยนแปลง  จริงนอ
                           ทุกข์และสุขพลิกแพลง              มากครั้ง
                           โบราณท่านจึ่งแสดง                เป็นเยี่ยง  อย่างนา
                           ชั่วนับเจ็ดทีทั้ง                         เจ็ดข้างฝ่ายดี

                                     เป็นเด็กมีสุขคล้าย           ดีรฉาน
                           รู้สุขรู้ทุกข์หาญ                          ขลาดด้วย
                           ละอย่างละอย่างพาล                  หย่อนเพราะ  เผลอแฮ
                           คล้ายกับผู้จวนม้วย                    ชีพสิ้นสติสูญ
 

                                    ฉันไปปะเด็กห้า               หกคน
                           โกนเกศนุ่งขาวยล                     เคลิบเคลิ้ม
                           ถามเขาว่าเป็นคน                      เชิญเครื่อง
                           ไปที่หอศพเริ้ม                           ริกเร้าเหงาใจ
 

                                    กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ       เกินพระ  ลักษณ์นา
                           แรกก็ออกอร่อยจะ                      ใคร่กล้ำ
                           นานวันยิ่งเครอะคระ                    กลืนยาก
                           ทนจ่อซ่อมจิ้มจ้ำ                        แดกสิ้นสุดใบ

                         ยานี  ๑๑

                                     เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์             มะนะเรื่องบำรุงกาย
                        ส่วนจิตต์บมีสบาย                                 ศิระกลุ้มอุราตรึง
                        แม้หายก็พลันยาก                                  จะลำบากฤทัยพึง
                        ตริแต่จะถูกรึง                                        อุระรัดและอัตรา

                                      กลัวเป็นทวิราช                        บตริป้องอยุธยา
                        เสียเมืองจึงนินทา                                   บละเว้นฤวางวาย
                        คิดใดจะเกี่ยงแก้                                     ก็บพบวึ่งเงื่อนสาย
                        สบหน้ามนุษย์อาย                                  จึงจะอุดแลเลยสูญ

 

 

          สมเด็จพระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี   เมื่อได้ทรงทราบข้อความ ก็ได้ทรงพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ ทูลเกล้าฯ ถวายสนองตอบ ดังนี้:-
 

 

 

สมเด็จพระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
(๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ - ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐)

โคลงสี่สุภาพ 

                            สรวมชีพข้าบาทผู้             ภักดี
                   พระราชเทวีทรง                         สฤษฎ์ให้
                   สุขุมาลมารศรี                             เสนอยศ  นี้นา
                   ขอกราบทูลท่านไท้                    ธิราชเจ้าจอมสยาม 

                                ประชวรหนักอกข้า          ทั้งหลาย ยิ่งแล
                  ทุกทิวาวันบวาย                            คิดแก้
                  สิ่งใดซึ่งจักมลาย                           พระโรค  เร็วแฮ
                  สุดยากเท่าใดแม้                            มากม้วยควรแสวง 

                              หนักแรงกายเจ็บเพี้ยง      เท่าใด ก็ดี 
                  ยังบหย่อนหฤทัย                          สักน้อย
                  แม้พระจะด่วนไกล                         ข้าบาท  ปวงแฮ
                  อกจะพองหนองย้อย                     ทั่วหน้าสนมนาง

 

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

                                         ขอเดชะเบื้องบาท                วรราชะปกศรี
                                 โรตม์ข้าผู้มั่นมี                              มานะตั้งกตัญญู
                                           ได้รับพระราชทาน             อ่านราชนิพันธ์ดู
                                 ทั้งโคลงและฉันท์ตู                    ข้าจึงตริดำริตาม
                                            อันพระประชวรครั้ง          นี้แท้ทั้งไผทสยาม
                                 เหล่าข้าพระบาทความ               วิตกพ้นจะอุปมา
                                             ประสาแต่อยู่ใกล้            ทั้งรู้ใช่ว่าหนักหนา
                                 เลือดเนื้อผิเจือยา                        ให้หายได้จะชิงถวาย
                                              ทุกหน้าทุกตาดู             บพบผู้จะพึงสบาย
                                 ปรับทุกข์ทุรนทุราย                   กันมิเว้นทิวาวัน 

                                               ดุจเหล่าข้าพละนา       วะเหว่ว้ากะปิตัน
                                  นายท้ายฉงนงัน                        ทิศทางก็คลางแคลง
                                                นายกลประจำจักร      จะใช้หนักก็นึกแหนง
                                 จะรอก็ระแวง                            จะไม่ทันธุระการ
                                                อึดอัดทุกหน้าที่           ทุกทวีทุกวันวาร
                                  เหตุห่างบดียาน                          อันเคยไว้น้ำใจชน
                                                ถ้าจะว่าบรรดากิจ        ก็ไม่ผิด ณ นิยม
                                 เรือแล่นทะเลลม                         ลมะเปรียบต่อก็พอกัน
                                                ธรรมดามหาสมุทร      มีคราวหยุดพายุผัน
                                 มีคราวสลาตัน                            ตั้งระลอกกระฉอกฉาน 

                                                 ผิวพอกำลังเรือ          ก็แล่นรอดไม่ร้าวราน
                                 หากกรรมจะบันดาล                ก็คงล่มทุกลำไป
                                                  ชาวเรือก็ยาอมรู้        ฉนี้อยู่ทุกจิตต์ใจ
                                 แต่ลอยอยู่ตราบใด                     ต้องจำแก้ด้วยแรงระดม
                                                 แก้รอดตลอดฝั่ง         จะรอดทั้งจะชื่นชม
                                 เหลือแก้ก็จำจม                          ให้ปรากฏว่าถึงกรรม
                                                ผิวทอดธุระนิ่ง             บวุ่นวิ่งเยียวยาทำ
                                  ที่สุดก็สูญลำ                              เหมือนที่แก้ไม่หวาดไหว
                                               ผิดกันแต่ถ้าแก้             ให้เต็มแย่จึงจมไป
                                  ใครห่อนประมาทใจ                 ว่าขลาดเขลาและเมาเมิน

                                               เสียทีก็มีชื่อ                          ได้เลื่องลือสรรเสริญ
                                    สงสารว่ากรรมเกิน                         กำลังดอกจึงจมสูญ
                                             นี้ในน้ำใจข้า                            อุปมาบังคมทูล
                                   ทุกวันนี้อาดูร                                    แต่ที่พระประชวรนาน
                                             เปรียบตัวเหมือนอย่างม้า       นี้เป็นพาหนะยาน
                                   ผูกเครื่องบังเหียนอาน                      ประจำหน้าพลับพลาชัย
                                             คอยพระประทับอาสน์             กระหยับบาทจะพาไคล
                                   ตามแต่พระทัยไท                             ธ จะชักไปซ้ายขวา
                                              ไกลใกล้บได้เลือก                 จะกระเดือกเต็มประดา
                                   ตราบเท่าจะถึงวา                              ระชีวิตมลายปราณ

                                                ขอตายให้ตาหลับ                 ด้วยชื่อนับว่าชายชาญ
                                    เกิดมาประสบภาร                              ธุระได้บำเพ็ญทำ
                                                 ด้วยเดชะบุญญา                    ภินิหารแห่งคำ
                                     สัตย์ข้าจงได้สำ                                 ฤทธิดังมโนหมาย
                                                  ขอจงวราพาธ                      บรมนาถเร่งเคลื่อนคลาย
                                      พระจิตต์พระวรกาย                        จะผ่องพ้นที่หม่นหมอง
                                                   ขอจงสำเร็จรา                    ชะประสงค์ที่ทรงปอง
                                      ปกข้าฝ่าละออง                              พระบาทให้สามัคคี
                                                    ขอเหตุที่ขุ่นขัด                 จะวิบัติพระขันตี
                                     จงคลายเหมือนหลายปี                  จะลืมเลิกละลายสูญ
                                                    ขอจงพระชนมายุ              สถาวรพูน
                                     เพิ่มเกียรติอนุกูล                              สยามรัฐพิพัฒน์ผลฯ

 

พระบรมราชวิเทโศบาย

 

          หลังวิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง  ถึงกับทรงพระประชวร    แต่พระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ   และประจวบกับเป็นโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  และ  พระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์จะเสด็จไปทรงศึกษา  ณ  ประเทศอังกฤษ    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ  เป็นผู้นำเสด็จพระราชโอรส  และพระราชทานพระบรมราโชวาท  เมื่อ  วันที่  ๑๙  สิงหาคม  ร.ศ.๑๑๒  คือ  ".  .  .  ให้สืบสวนการที่จะมีการรับรองเสด็จพระราชดำเนินยุโรปภายน่าว่าเป็นอย่างไร  .  .  .  รับรองได้อย่างไรให้ได้ความมา  จะได้เป็นที่กำหนดแน่แห่งการเสด็จพระราชดำเนินประเทศยุโรป    เพื่อจะศึกษาธรรมเนียมอันรุ่งเรือง  มาถึงการทำนุบำรุงแผ่นดินให้มีความเจริญเสมอเหมือนกับประเทศที่รุ่งเรืองตามสมัยของโลกย์ที่ควรเป็นไปนั้น  .  .  .  ฯลฯ  .  .  .  ให้คิดกระทำการที่จะสำเร็จในการสัญญาประกันความเป็นอิสรภาพระหว่างประเทศทั้งหลาย  .  .  .  ให้อุษาหพูดชี้แจงแก่คอเวอนเมนต์อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น    ในความประสงค์ที่จะรักษาแผ่นดินเป็นกลางในระหว่างชาติทั้งสองนั้น    แลให้ได้มีอาณาเขตติดต่อถึงกรุงอื่นด้วย    แล้วให้ได้มีสัญญาในระหว่างประเทศทั้งหลาย    เป็นการประกันความเป็นอิสรภาพของกรุงสยาม    ถ้าการอันนี้จะสำเร็จด้วยอุบายอันใด  ไม่เป็นที่เสียเกียรติยศผลประโยชน์แล้ว  ก็ให้อุษาหคิดกระทำมาสำเร็จทุกประการ"

            และพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ  ลงวันที่  ๓  กันยายน  ร.ศ.๑๑๒ ตอนหนึ่งว่า  ".  .  .  ถ้าเราไม่สามารถจะป้องกันความอิสรภาพไว้ได้ในคราวนี้   ก็มีทางเลือกอยู่สองทางที่จะดำเนินไป  คือ  ละโลกย์นี้ไปสู่โลกอื่น  ฤๅหลีกออกเสียให้พ้นจากเป็นเครื่องมือให้คนต่างประเทศใช้  เช่นนโรดม    ฉันทนอยู่ไม่ได้   ถ้าหากความอิสรภาพยังคงอยู่  ก็มีสองอย่างที่จะพึงทำ  คือ  เขม้นคะมักจัดการป้องกันอีกครั้งหนึ่งให้เต็มกำลัง    แต่เห็นการจำเป็นที่จะต้องไปยุโรปเสียเป็นแน่แท้  .  .  ."     

           ถึงพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  ลงวันที่  ๑๒  กันยายน  ร.ศ.๑๑๒  ว่า  ".  .  .  เราจะต้องคิดตั้งตัวใหม่จนเต็มกำลังที่จะตั้งได้ทั้งการบำรุงบ้านเมืองแลการทหาร    ฉันมุ่งหมายใจว่า    บางทีจะเป็นโอกาสจำเป็น  ฤๅจะเป็นการดีแก่บ้านเมืองที่จะออกไปเองเพื่อจะเที่ยวในประเทศยุโรป    ถ้ายิ่งได้ในปี  ๑๘๙๔  นี้จะยิ่งดี    เว้นไว้แต่จะมีข้อขัดขวางโดยการไม่สำเร็จไปได้    ฤๅไม่สันทัดอย่างธรรมเนียม    การเรื่องนี้จึงต้องจำเป็นรักษาไว้เป็นความลับก่อน  กว่าจะเห็นทางตลอด"   

 

ไทยทำตามสัญญาครบ    ฝรั่งเศสไม่ยอมคืนจันทบุรี

 

          หลังจากที่ไทยได้ทำสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียเงินเป็นจำนวนมากให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๓๖  และฝรั่งเศสได้ยึดจันทบุรีไว้ตั้งแต่  ๓  ตุลาคม  ๒๔๓๖ โดยอ้างว่าเมื่อไทยได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้วจะคืนให้   ไทยได้รีบปฏิบัติตามสัญญาอย่างครบถ้วนแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมคืนจันทบุรีให้  

            ในระยะแรกที่ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี จะพักอาศัยอยู่ตามโรงเรือนฝ่ายไทย เช่น โรงทหารเก่าของไทย และบ้านเรือนของข้าราชการ   ต่อมาฝรั่งเศสจึงได้ก่อสร้างอาคารและที่พักทหาร ที่สร้างเป็นตึกถาวรในบริเวณค่ายทหาร มีอยู่หลายหลังคือ 

                ตึกรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลังคาตัด ใช้เป็นตึกกองบังคับการ และเป็นที่อยู่ของผู้บังคับกองทหาร (ตึกดองมันดอง) 

                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่เก็บอาวุธยุทธภัณฑ์ 

                ตึกชั้นเดียวขนาดเล็ก ใช้เป็นที่อยู่ของพนักงานคลัง 

                ตึกชั้นเดียวขนาดยาว ใช้เป็นโรงพยาบาลทหาร 

                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่อยู่ของนายทหารมี ๒ หลัง 

                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใกล้ประตูหน้าค่ายทหารใช้เป็นที่อยู่ของกองรักษาการณ์ ด้านหลังใช้เป็นที่คุมขัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาคารและที่พักทหารฝรั่งเศสที่จันทบุรี

 

คดีพระยอดเมืองขวาง

          ตามข้อ  ๓  แห่งอนุสัญญาต่อท้ายสัญญาสงบศึก  จึงต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้ง  “ศาลรับสั่งพิเศษ” ชำระความพระยอดเมืองขวาง

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย  พระยาสีหราชเดโชชัย  พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์  พระยาธรรมสารนิติ์  พระยาฤทธิรงค์  พระยาธรรมสารเนตติ์  มีหลวงสุนทรโกษา  และนายหัสบำเรอ   อัยการเป็นทนายฝ่ายโจทย์ มีนายวิลเลียม  อัลเฟรด  ตีเลกี   (William Alfred Tilleke    ต่อมารับราชการเป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์ ต้นสกุล คุณะดิลก)  และนายเวอร์นอน เพจ  (Vernon Page  ชาวอังกฤษ)   เป็นทนายจำเลย 

         การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ดำเนินเป็นเวลา  ๒๒ วัน ตั้งแต่  ๒๔ กุมภาพันธ์  ถึง  ๑๖  มีนาคม   พ.ศ.๒๔๓๗   ร.ศ.๑๑๓

          วันที่  ๑๗  มีนาคม  ร.ศ.๑๑๓   เวลาบ่ายโมง  ศาลรับสั่งพิเศษนั่งประชุม  ณ  สนามสถิตยุติธรรม  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  อธิบดีผู้พิพากษาใหญ่ในศาลรับสั่งพิเศษประทับยืนอ่านคำพิพากษาบนบังลังก์มีใจความว่า  

         “. . . เรื่องความอาญาระหว่างโจทก์  ทนายแผ่นดินและจำเลยคือ  พระยอดเมืองขวาง  ในข้อปัญหาระหว่างพระยอดเมืองขวาง  จำเลยได้ฆ่าซิแอร์ กรอสกุแรงและพวกญวนอันเป็นโทษผิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายจริงทั้งหมดฤๅ  แต่ข้อหนึ่งข้อใด ฤๅหามิได้นั้น     เราได้พิจารณาตรวจตราคำหาคำให้การและพยานโจทก์จำเลยแลคำตักเตือนจนทั่วทุกอย่าง  แล้วหาได้พบปะข้อหนึ่งข้อใดซึ่งจะเป็นคำยืนยันว่า จำเลยได้ทำการร้ายนั้น  แม้แต่ในคำที่กล่าวหาที่ต้องยกเอามาเป็นกระทู้ปัญหานี้เองก็ไม่กล้ากล่าวยืนยันมั่นคงได้ เป็นแต่กล่าวหา แล้วก็กลับลงท้ายเป็นคำสงสัยเสียว่า สั่งให้ผู้อื่นกระทำ ดังนี้  เพราะฉะนั้น  เราทั้งหลายต้องกล่าวโดยคำอันชัดว่า  จำเลยมิได้ทำการร้ายด้วยตนเองเป็นแน่แท้    พิพากษายกฟ้อง
 

         ซึ่งผู้แทนฝรั่งเศสที่มาร่วมควบคุมคดีอยู่ด้วยก็จำนนต่อเหตุผล     แต่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่พอใจให้ตั้งศาลผสมขึ้นมาใหม่   โดยมีผู้พิพากษาฝ่ายฝรั่งเศส  ๓ คน ไทย  ๒ คน  ได้พิจารณาเสร็จเมื่อวันที่  ๗  มิถุนายน   พ.ศ.๒๔๓๗   ร.ศ.๑๑๓  

         วันที่  ๑๓  มิถุนายน  ร.ศ.๑๑๓   เวลาบ่าย  ๔ โมง  พระยอดเมืองขวางถูกตัดสินครั้งที่สองลงโทษให้จำคุก   ๒๐ ปี    ทั้งที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า  “การกระทำอันเดียวกันจะลงโทษสองครั้งไม่ได้”  เหตุการณ์ครั้งนั้น  นับว่าพระยอดเมืองขวางต้องยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติสยามไว้

           ทางฝรั่งเศสก็ได้เรียกร้องให้ไทยส่งตัวพระยอดเมืองขวางไปกักขังบนเรือรบฝรั่งเศสเพื่อจะส่งตัวพระยอดเมืองขวางไปขังในหัวเมืองอาณานิคมของฝรั่งเศสทันที   ทางไทยเราปฏิเสธเด็ดขาด       

          พระยอดเมืองขวางก็มิได้แสดงความวิตกอย่างใดกับการติดคุกในไทย   แต่ถ้าหากถูกส่งตัวไปติดคุกต่างประเทศนั้นพระยอดเมืองขวางบอกว่า  "ขอยอมถูกประหารชีวิตเสียในกรุงเทพฯ ดีกว่า"   
 
          ทางฝรั่งเศสก็ไม่ยอมลดละเรื่องนี้   แต่ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการทรงยืนกรานมั่น   ตามหนังสือที่ทรงมีไปกราบทูลกรมหมื่นสมมติอมรพันธ์  ความตอนหนึ่งว่า  " ถ้าเขาจะขืนเอาตัวไปให้ได้  .  .  .   มีทางเดียวที่ข้าพเจ้าจำเปนต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหน้าที่รับผิดแลชอบนี้  .  .  ."

          ภายหลังการเจรจาตกลงกัน  ฝรั่งเศสจึงวางเงื่อนไขให้ไทยกำกับควบคุมพระยอดเมืองขวางในเหมือนกันนักโทษธรรมดาทั่วไป   และเงื่อนไขว่าไทยต้องส่งมอบสิ่งหนึ่งให้แก่ฝรั่งเศส    แต่ตอนนั้น ฝรั่งเศสไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร  และมีการเจรจาเรื่องนี้กันอีกหลายครั้ง

 

การดำเนินตามพระบรมราชวิเทโศบาย

.  .  .  ประกันความเป็นอิสรภาพของกรุงสยาม

 

          ส่วนพระบรมราชวิเทโศบาย  ที่พระราชทานแก่พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ  .  .  . ให้สืบสวนการที่จะมีการรับรองเสด็จพระราชดำเนินยุโรปภายน่าว่าเป็นอย่างไร  .  .  .  และ  .  .  .  ให้ได้มีสัญญาในระหว่างประเทศทั้งหลาย    เป็นการประกันความเป็นอิสรภาพของกรุงสยาม  .  .  .  นั้น 

          เรื่องการประกันความเป็นอิสรภาพของกรุงสยาม    ปรากฏว่า  .  .  .          

               หนังสือปฏิญญาฤๅหนังสือสัญญาในระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำไว้ที่กรุงลอนดอน  ณ  วันที่  ๑๕  มกราคม   รัตนโกสินทรศก  ๑๑๖  

   (1896  Anglo - French Agreement)    กำหนดว่า  .  .  .  ประเทศทั้งสองคิดเห็นว่าจำเป็นต้องรักษาความเป็นอิศรภาพของกรุงสยามไว้ด้วย  .  .  .   ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชวิเทโศบาย

 

 

          ส่วนเรื่องให้สืบสวนการที่จะมีการรับรองเสด็จพระราชดำเนินยุโรปภายน่า  นั้น  ก็ได้กำหนดที่เหมาะสมใน  พ.ศ.๒๔๔๐  (ร.ศ.๑๑๖)  

 

 

 

 

           ครับ  .  .  .  เชิญติดตาม    การเสด็จประพาสยุโรป   ในตอนต่อไปครับ

 

 

ตอนต่อไป   .  .  .  การเสด็จประพาสยุโรป

ตอนต่อไป   .  .  .  การเสด็จประพาสยุโรป

ตอนต่อไป   .  .  .  การเสด็จประพาสยุโรป


 

บรรณานุกรม 

 

          - วิกฤตการณ์ สยาม ร.ศ.๑๑๒  ของจิราภรณ์   สถาปนะวรรธนะ  โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์   กรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๕๒๓, 

          - กรณีพิพาท  ไทย - ฝรั่งเศส  ร.ศ.๑๑๒  ตามหลักฐานฝรั่งเศส    โดย  พันตรี  พีรพล  สงนุ้ย    ส่วนการศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับพิเศษ    สำนักพิมพ์มติชน   กรุงเทพฯ    มกราคม  ๒๕๔๕ 

          -    และจากเว็ปไซต์ต่างๆ บ้าง   ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้

          - พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ   ทำให้เรื่องสมบูรณ์ และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (620)
avatar
bancha

ภาพสมเด็จพระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ไม่น่าจะถูก(คล้ายภาพพระธิดามากกว่า)

ผู้แสดงความคิดเห็น bancha (b_bancha-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-29 10:23:46 IP : 58.9.43.198


ความคิดเห็นที่ 2 (621)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณมากครับ    พลาดไปจริงๆ  ด้วย  เป็นพระฉายาลักษณ์  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร   พระธิดาครับ

ขอประทานโทษ  และขอบคุณอีกครั้งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-29 14:05:10 IP : 115.87.34.157



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker