
ความเดิมตอนที่แล้ว (พูดยังกะละครวิทยุหรือหนังทีวีซีรีส์) เมื่อผมได้ไปพบปะกับพี่ๆ (หรือที่จริงอายุคราวน้าคราวอาผม และคงคราวปู่ของใครหลายๆ คนที่มาพบบทความนี้เข้า) ที่ทหารผ่านศึกในสงครามลาวที่เรียกตนเองว่า "นักรบนิรนาม 333" หรือที่ในบทความของ samphan (หัวหน้าภูสิน) เรียกว่า "คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว" ในงานวันทหารผ่านศึกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ได้ทราบว่าในวันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2553 นี้ พวกท่านจะได้มีการพบปะสังสรรค์กันที่หอประชุมกานตรัตน์ และก็ได้รับปากที่จะไปร่วมงานด้วย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รู้จักใครมากมายนัก ในเวลานั้นแม้การเมืองจะเริ่มคุกรุ่นบ้าง ยังคิดว่าอีกตั้ง 2 เดือน ระหว่างนี้ถึงมีอะไรบ้างก็คงไม่ยืดเยื้อนัก
แล้วก็อย่างที่เราทราบกันดี ว่าได้มีการชุมนุมทางการเมืองกันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เมื่อตอนเริ่มต้นนั้นต้องงดการไปร่วมงานรำลึกอาจารย์ของวงการโหราศาสตร์ยูเรเนียนทั้งที่เจ้าภาพอุตส่าใจถึงไม่ยอมงดจัด ด้วยเหตุว่าทางที่ทำงานซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต้องการให้ Standby คอยดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่บ้านหรือที่ๆ ใช้อินเตอร์เน็ตได้ ต่อมาเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อแม้จะยังไม่เกิดความรุนแรง แต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตตามปกติสุขของคนทั่วไปไม่ใช่น้อยๆ การตัดสินใจว่าจะไปร่วมงานสังสรรค์นักรบนิรนามตามที่รับปากไว้หรือไม่ก็ต้อง "ประเมินสถานการณ์" กันสักนิดเช่นเดียวกับคนกรุงโดยทั่วไป ในที่สุดจากการติดต่อกับ samphan หรือ "หัวหน้าภูสิน" ซึ่งที่จริงไม่เคยได้ไปร่วมงานในปีก่อนๆ ก็ได้ตัดสินใจนัดกันว่าจะไปพบกันในงานราวๆ 10-11 โมง (งานเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงประมาณบ่ายสองโมง)

ดูบรรยากาศในงานกันแบบเต็มๆ
จากการที่ต้องไปหาข้อมูลการจัดงานถึงหน้าเว็บของสมาคมนักรบนิรนาม ทำให้ได้พบคลิปวีดีโอที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของนักรบนิรนามโดยย่อ นอกจากดูเองจนเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้ว ยังได้นำโค้ดสำหรับแสดงคลิปวีดีโอดังกล่าวมา "ฝัง" ไว้ในเว็บไซต์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เพื่อช่วยกันเผยแพร่ต่อๆ กันไป เนื้อหาโดยย่อคือ ในระหว่างสงครามเย็น (Cold War หรือบางทีเรียกว่า "สงครามตัวแทน" Proxy War) อันเป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างมหาอำนาจสองค่าย คือ สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายโลกเสรี หรือจะเรียกเล่นๆ แบบกำลังฝายในว่า ผู้อ้างตัวเป็น "ฝ่ายธรรมะ" ก็ได้มั๊ง?) กับค่ายคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตและจีน (เรียกแบบกำลังภายในก็ประมาณว่า "พรรคมาร" มั๊ง?) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่ภายหลังนักวิชาการท่านขนานนามว่า "อุษาคเนย์" นั้น ก็กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างหมายปอง โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้หนุนหลังให้เวียดนามเตรียมการรุกรบเข้าสู่ประเทศไทยโดยผ่านประเทศลาวถึง 3 ทัพ 3 เส้นทางด้วยกัน ทางฝ่ายอเมริกาแม้จะทราบความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรออกหน้าออกตา ก็หันมาสนับสนุนไทยซึ่งไม่ประสงค์จะถูกรุกรานแต่ทำอะไรออกหน้าออกตาไม่ได้เช่นกัน จัดส่งกำลังทหารเข้าไปยันกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศลาว ด้วยแนวคิดว่า "รบในบ้านดีกว่ารบนอกบ้าน" ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลาเป็นปีๆ นับตั้งแต่เริ่มแรกเป็นเพียงการตั้งกองบัญชาการด้านการข่าวในปี 2504 จนเริ่มส่งทหารไปรบในปี 2513 และเสร็จภารกิจในปี 2517 รายละเอียดขอเชิญชมได้ที่หน้าเว็บที่ผมจัดทำไว้แล้ว โดยคลิกที่นี่ครับ
ถึงวันงาน ระหว่างเดินทางขาไป ผมจำต้องไปต่อรถเมล์แถววัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นกรมทหารราบที่ 11 ที่นายกฯ ต้องหลบเข้ามาทำงานบ่อยๆ บังเอิญเป็นช่วงที่ขบวนรถขนกลุ่มคนเสื้อแดงสวนมาพอดี เดชะบุญว่าวันนี้ที่นี่เป็นแค่ทางผ่านของคนพวกนั้น จึงมีแต่เสียงคนบนรถ "ทักทาย" บรรดากองกำลังที่รักษาการณ์อยู่ข้างหน้ารั้วบ้างพอเป็นพิธี ขบวนผ่านไปสักพักผมก็สามารถต่อรถไปยังสถานที่จัดงานได้

ส่วนหนึ่งของบอร์ดนิทรรศการภาพความหลัง

ภาพความหลังส่วนหนึ่งที่นำมาจัดแสดง

ดูกันเต็มๆ สักภาพ

ภาพรถถัง T-34 ของข้าศึก 2 คัน ที่โดนกับระเบิดสายพานขาด แต่ยังมีฤทธิ์ยิงถล่มฝ่ายเราได้
ด้วความเคารพ ไม่ทราบว่าพลรถถังทั้ง 2 คัน ป่านฉะนี้จะมีโอกาสได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เช่นฝ่ายเราหรือเปล่า?
ไม่ว่าอย่างไรขออย่ามีเวรมีกรรมต่อกันอีกเลย
สิ่งที่ไม่คาดคิดคือมีผู้ไปร่วมงานจนเต็มหอประชุม ซึ่งหลายท่านบอกว่าเยอะกว่าปีก่อนๆ ราวกับบรรยากาศทางการเมืองจะเป็นตัวเสริมมากกว่าอุปสรรค ภาพที่เห็นในงาน ลำพังการดูด้วยสายตาอาจไม่ต่างจากงานเลี้ยงรุ่นที่ผมและหลายๆ ท่านคงได้เคยเห็นได้ไปร่วมกันบ่อยๆ ความแตกต่างคงเป็นเรื่องที่สื่อสารพูดคุยกันในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าบนเวทีหรือที่พูดคุยกันตามโต๊ะต่างๆ การสังสรรค์ของคนที่เคยไปรบร่วมกันมานั้น ช่างมีพลังบางอย่างที่แตกต่างจากการสังสรรค์ของคนที่เคยเรียนร่วมกันมาไม่ว่าระดับไหนๆ หรือการ "ร่วมรุ่น" ในลักษณะอื่นๆ อย่างยากที่จะบรรยายเป็นตัวอักษรได้
ลำพังตัวผมเองก็ทำได้แค่ลงทะเบียนร่วมงาน แล้วสมัครสมาชิกวิสามัญของสมาคมโดยแทบไม่ได้รู้จักใครเพิ่มเติม ด้วยความกรุณาของท่าน "ภูสิน" ได้พาผมไปให้ "ภูเสน" อุปนายกคนหนึ่งของสมาคมได้เห็นหน้า และมอบนามบัตรให้ท่าน ซึ่งพอจะเป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันได้บ้างในอนาคต หลังจากได้ดูบรรยากาศของงาน ได้ถ่ายภาพไว้จำนวนหนึ่ง ได้ฟังการสนทนาของบางท่าน และที่สำคัญคือได้กินอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาไปทำธุระหาซื้อของจำเป็นที่ห้างเซียร์รังสิตครับ ระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จธุระ ก็ได้พบเห็นขบวนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าใจว่าเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาสมทบหรือผลัดเปลี่ยนกับคนที่ชุมนุมอยู่ก่อน รายละเอียดไม่อยากบรรยายให้มากความ
ย้อนกลับมาเรื่องของนักรบนิรนาม 333 เหตุผลของการไปรบในประเทศเพื่อนบ้านครั้งนั้น อาจมีนักวิชาการเอียงซ้าย พวกแอนตี้อเมริกัน เข้าใจว่ามันเป็นแค่สงครามกลางเมืองในลาวที่เราไปแทรกแซงหรือไปรุกรานเขา ที่แย่กว่านั้นคือไอ้คนที่พูดอาจจะเป็นแค่คนที่เคยมาโพสต์โฆษณาในเว็บบอร์ดแล้วไม่ได้อย่างใจ ลองจินตนาการดูบ้างนะครับว่าหากไม่มีการส่งกำลังเข้าไปในลาวแล้ว "สงครามกลางเมือง" ครั้งนั้นจะจำกัดวงอยู่แต่ในลาวเท่านั้นหรือ ฝ่ายไหนจะชนะแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปอีก โดยเฉพาะผลกระทบต่อไทย

ขณะเริ่มการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่และอดีตผู้บังคับบัญชา
คนนั่งซ้ายสุดคือ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี
เทียบกันระหว่างกลุ่มคนที่เชื่อว่ากำลังเกิดภัยคุกคามต่อประเทศแล้วยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างไปรบนอกบ้านเพื่อสกัดกั้นภัยนั้นไม่ให้เข้ามาในบ้าน กับกลุ่มคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าสังคมกำลังมีปัญหาเพราะระบอบนั้นระบอบนี้ แล้วไอ้บางกลุ่มไปยึดสนามบินประเทศตัวเองราวกับผู้ก่อการร้าย ไอ้บางกลุ่มไปก่อการราวกับจะเผาบ้านเผาเมืองแบบไม่สนใจเทศกาลประเพณีใดๆ พอมีกระแสสังคมต่อต้านความรุนแรง ก็พร่ำพูดกล่าวอ้างว่าไม่ใช้ความรุนแรงใช้แต่อหิงสา แต่น้ำเสียงที่พูดมีแต่การอาฆาตมาดร้าย สิ่งที่กระทำก็มีแต่โยนความเดือดร้อนกดดันให้กับเพื่อนร่วมชาติที่ไม่ใช่คู่กรณีของตัวสักนิด แต่ละอย่างที่ทำแทบไม่ต่างกับการเผาบ้านตัวเอง เราควรให้คุณค่าแก่คนกลุ่มไหนกันแน่
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ