dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)

*  *  *

ทวยราษฎร์รักบาทแม้   ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๑)

 

 

 

 

ความเป็นมา  .  .  .

          ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จยุโรปนั้น  รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสหาทางที่จะระงับเรื่องคนในบังคับฝรั่งเศสและเรื่องเขตแดน  ซึ่งได้ทำหนังสือสัญญาเมื่อ  วันที่  ๒๓  มีนาคม  ร.ศ.๑๒๕  พ.ศ.๒๔๔๙  โดยฝ่ายไทยยอมยกหัวเมืองเขมร  ได้แก่  เมืองพระตะบอง  เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ  ให้แก่ฝรั่งเศส    ฝ่ายฝรั่งเศสยอมให้คนตะวันออกในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย  และยอมคืนเมืองตราดให้แก่ไทย  กับยอมถอนทหารซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีกลับไปด้วย  ไม่ล่วงล้ำเกี่ยวข้องแดนไทยดังแต่ก่อน    ซึ่งสัญญานี้รัฐสภาฝรั่งเศสได้ลงมติรับรองเมื่อวันที่  ๒๑  มิถุนายน  ร.ศ.๑๒๖  ระหว่างเสด็จอยู่ในยุโรป  จึงมีพระราชประสงค์จะใคร่เสด็จไปเยี่ยมเยือนทรงแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวเมืองตราดและเมืองจันทบุรี

          อีกประการหนึ่งทรงพระราชปรารภว่า  การเสด็จไปยุโรปคราวนี้มิได้เสด็จไปในทางราชการเหมือนครั้งก่อนที่จะจัดการรับเสด็จฯ ไม่ควรจะให้เปลืองทุนและเสียเวลาของคนทั้งหลายพากันเหน็ดเหนื่อยเหมือนอย่างครั้งก่อน    จึงมีรับสั่งว่า  เมื่อเสด็จออกจากเมืองสิงคโปร์มากรุงเทพฯ  จะเสด็จแวะเมืองตราดและเมืองจันทบุรีด้วย  และการรับเสด็จฯ นั้นจะจัดอย่างไรก็ตาม  แต่ถ้าให้แล้วเสร็จไปได้ในวันเดียวจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยกว่าอย่างอื่น

 

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงทรงจัดการรับเสด็จฯ ตามพระราชประสงค์  คือ

          ให้เรือพระที่นั่งมหาจักรี  มีเรือรบ  ๓  ลำ คือ  เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์  เรือพาลีรั้งทวีป  เรือสุครีปครองเมือง  เป็นเรือกระบวนไปรับเสด็จที่เกาะหมาก

          ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นนายก    นายพลเรือตรี  พระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  ราชองครักษ์  เป็นผู้บังคับการกระบวนเรือ  นายนาวาเอก  พระเจ้าลูกยาเธอ  พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ  ราชองครักษ์    และข้าราชการตามตำแหน่งประจำกระบวนเสด็จทุกหน้าที่

 

 


 

 

 

 

 

 

เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์                                                                      เรือพาลีรั้งทวีป  และ เรือสุครีปครองเมือง

 

เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ (ลำที่สอง)    ข้อมูลและสมรรถนะต่างๆ  ดังนี้

          ประเภท  เรือรบ  (ตัวเรือเหล็ก)    ระวางขับน้ำ   ๔๔๗  ตัน   

          ยาว  ๑๕๗  ฟุต  กว้าง  ๒๓  ฟุต 

          กินน้ำลึก  ๘  ฟุต  ๕  นิ้ว   

          อาวุธ    ปืนใหญ่ขนาด  ๑๒๐  มิลลิเมตร  ๑  กระบอก 

                     ปืนกล  ๕๗  มิลลิเมตร  ๕  กระบอก 

                     ปืนกล  ๓๗  มิลลิเมตร  ๒  กระบอก   

          เครื่องจักร  ๕๐๐  แรงม้า   

          ความเร็ว  ๙.๕  นอต   

          ปลดระวางประจำการเมื่อ    ๒๖  ธันวาคม  ๒๔๗๒

 

เรือพาลีรั้งทวีป  และ เรือสุครีปครองเมือง   

          เป็นเรือชุดเดียวกันต่อจากอู่เดียวกัน  ข้อมูลและสมรรถนะต่างๆ  เหมือนกัน  คือ

          ประเภท  เรือปืน  (ตัวเรือเหล็ก)    ระวางขับน้ำ  ๔๖๒  ตัน   

          ยาว  ๑๗๒  ฟุต  กว้าง  ๒๓  ฟุต 

          กินน้ำลึก  ๘  ฟุต  ๙  นิ้ว   

          อาวุธ    ปืนใหญ่ขนาด  ๑๒๐  มิลลิเมตร  ๑  กระบอก 

                      ปืนกล  ๕๗  มิลลิเมตร  ๕  กระบอก 

                      ปืนกล  ๓๗  มิลลิเมตร  ๒  กระบอก   

          เครื่องจักร  ๕๐๐  แรงม้า   

          ความเร็ว  ๑๐.๕  นอต     ทหารประจำเรือ  ๗๓  นาย   

          ปลดระวางประจำการเมื่อ    ๒๐  กรกฎาคม  ๒๔๗๘

 

 

         กระบวนเรือรับเสด็จออกจากกรุงเทพฯ    เมื่อวันที่  ๒๖  ตุลาคม  ร.ศ.๑๒๖    

 

ครั้นวันที่  ๖  พฤศจิกายน 

          เวลาบ่าย    เรือรบทั้ง  ๓  ลำ    ออกไปทอดสมอเรียงลำดับคอยรับเสด็จอยู่นอกท่า    

          เวลาก่อนย่ำค่ำ    เรือเมล์ซักซันลำทรงมาถึง  เรือรบก็ยิงสลุตแล้วแล่นเป็นกระบวนตาม    พอเรือถึงท่าหน้ายอชเทาน์    เรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งทอดสมออยู่ยิงสลุต    พอเรือซักซันทอดสมอ    พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ไปรับเสด็จต่างเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  เรือซักซัน  .  .  .  ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกลับคืนสู่พระนคร

          เวลา  ๑  ทุ่ม  กับ  ๔๕  นาที    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากเรือซักซันมายังเรือพระที่นั่งมหาจักรี    แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี   พอเสด็จลงสู่เรือเก๋งกรรเชียงลอยลำห่างออกไปจากเรือซักซัน    เรือพระที่นั่งมหาจักรีและเรือรบทั้ง  ๓  ลำ  พร้อมกันยิงสลุตเสียงครืนครั่นไปทั้งท่า

วันที่  ๗  พฤศจิกายน  ร.ศ.๑๒๖    เวลาเช้า  ๒  โมง    เรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้จักรออกจากเมืองเกาะหมาก  .  .  .

วันที่  ๑๐  พฤศจิกายน  ร.ศ.๑๒๖    เวลาบ่าย    เรือพระที่นั่งล้ำแหลมเขมรเข้ามาในอ่าวสยาม


 

 

         ครับ  .  .  .   เมื่อเรือพระที่นั่งล้ำแหลมเขมรเข้ามาในอ่าวสยามแล้ว    ขอเชิญติดตามพระราชกรณียกิจ ต่อไปดังนี้  .  .  .

 

วันที่  ๑๑  พฤศจิกายน     

          เวลาบ่าย  ๓  โมง    แลเห็นเกาะกง  เกาะกูด  เกาะหมาก  เกาะกระดาด  เกาะช้าง  และเกาะเล็กเกาะน้อยอื่นๆ  เป็นหมู่กันอยู่ข้างหน้า    เห็นฝั่งเขตเมืองตราดอยู่ไรๆ   

          บ่าย  ๕  โมง    ถึงเกาะกูด    เรือพระที่นั่งทอดสมอ  ประทับแรมราตรีหนึ่ง

 

 วันที่  ๑๒  พฤศจิกายน   

          เวลาเที่ยง    เรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากเกาะกูด    

          บ่ายโมงครึ่ง    ถึงเกาะกระดาด    ระยะทาง  ๑๖  ไมล์    พระยาวิชยาธิบดี  ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรีขึ้นมาเฝ้าฯ    กรมทหารเรือจัดเรือกลไฟเล็กมาเตรียมสำหรับเสด็จประพาส  ๒  ลำ

          บ่าย  ๔  โมง    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเรือกรรเชียงพ่วงเรือไฟเล็กประพาสเกาะกระดาด   

 

 

 

          เวลาย่ำค่ำ  ๔๐  นาที    เสด็จกลับสู่เรือพระที่นั่ง

          เวลา  ๑๐  ทุ่ม    เรือพระที่นั่งถอนสมอใช้จักรออกจากเกาะกระดาดไปเมืองตราด    ระยะทาง  ๒๐ ไมล์


     
 

 

เมืองตราด   ๒๔๕๐

.  .  .  เราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป  .  .  .

 

วันที่  ๑๓  พฤศจิกายน   

          เวลาเช้าโมง  ๑    ถึงปากอ่าวเมืองตราด

          เวลาเช้า  ๓  โมงครึ่ง    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องจอมพลทหารเรือเสด็จฯ จากเรือพระที่นั่งมหาจักรีประพาสเมืองตราด    โดยเรือกลไฟขนาดย่อม

          เวลา  ๕  โมง    ถึงปากน้ำเมืองตราด    เรือแล่นขึ้นไปตามลำน้ำ    ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรลงเรือลอยลำเป็นแถวกันคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก    พอเรือพระที่นั่งก็พากันโห่ร้องถวายพระพรชัยมงคล  และประโคมพิณพาทย์  แจวเรือตามขบวนหลวงขึ้นมา

          เวลา  ๕  โมง  ๔๐  นาที    เรือพระที่นั่งเทียบท่าต้นทางขึ้นไปเมืองตราด    ข้าราชการมณฑลจันทบุรี  และข้าราชการประจำเมืองตราด    แต่งเต็มยศขาวประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ  สู่พลับพลาท่าเรือ    พระสงฆ์ที่ประชุมในปะรำติดกับพลับพลานั้น  สวดคาถาถวายพระพรชัยมงคล  .  .  . 

          เวลาเที่ยง  ๑๕  นาที    ถึงจวนผู้ว่าราชการเมืองเสด็จประทับร้อน

          เวลาเที่ยง  ๔๕  นาที    เสด็จฯ จากจวนผู้ว่าราชการเมืองไปยังพลับพลา  พระสงฆ์อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพรและมีพระราชดำรัสตอบ    แล้วเสด็จออกหน้าพลับพลา  ผู้ว่าราชการเมืองอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล

          ครั้นอ่านแล้ว  ได้นำกล่องงาบรรจุคำถวายพระพรชัยมงคล  ยอดเป็นพระจุลมงกุฎทองคำ  ฝีมือทำอย่างประณีตขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย       

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสตอบประชาชนเมืองตราด  อันเป็นที่ปลาบปลื้ม  เต็มตื้นอยู่ในจิตใจชาวเมืองตราด และพสกนิกรชาวไทยทั่วไป  ตราบเท่าทุกวันนี้  .  .  .

 

     .  .  .  ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่า เราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตรจึงรีบมาหานั้น  เป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้า  ดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ว่า  เราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป  ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข แลจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์

           .  .  .  จึงมีความปรารถนาที่จะให้เมืองตราดนี้อยู่เย็นเป็นสุขสมบูรณ์  และขออำนวยพรแก่อาณาประชาราษฎร  ให้มีความเจริญสุขสิริสวัสดิ์ทำมาค้าขึ้นมั่งคั่งสืบไปในภายหน้า ฯ

 

          ครั้นมีพระราชดำรัสตอบแล้ว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระแสงสำหรับเมืองไว้เพื่อเป็นสวัสดิมงคล    ผู้ว่าราชการเมืองได้รับจากพระหัตถ์  แล้วเชิญพระแสงขึ้นพาดไว้เหนือบันไดแก้วบนโต๊ะที่บูชา  .  .  . 

 

 

 

 

 

 

          เวลาบ่ายโมง  ๒๐ นาที    เสด็จขึ้นเสวยพระกระยาหารกลางวันที่จวนผู้ว่าราชการเมือง

          เวลาบ่าย  ๓  โมง    เสด็จพระราชดำเนินประพาสหมู่บ้านราษฎร    ตามถนนราษฎรพากันตั้งซุ้มประตูแขวนโคมและประดับธง  เป็นระยะห่างกันประมาณ  ๑๐  วา    แลไปทางหัวถนนท้ายถนนเห็นซุ้มเป็นชั้นๆ นับไม่ถ้วนดูธงทิวปลิวไสวเป็นที่งดงามยิ่งนัก    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อสิ่งของต่างๆ และมีรับสั่งปฏิสันถารแก่ราษฎรตลอดทาง    แล้วทรงรถเสด็จทางถนนแยกจากตลาดกลับถึงท่าเรือ

          เวลาบ่าย  ๔  โมง    เรือพระที่นั่งออกจากท่าเมืองตราด เสด็จถึงเรือพระที่นั่งมหาจักรี

 

วันที่  ๑๓  พฤศจิกายน  ร.ศ.๑๒๖ 

          เวลา ๔  โมงเช้า    เรือพระที่นั่งออกจากอ่าวเมืองตราดไปเกาะช้าง  ทาง  ๒๖  ไมล์  เวลาเที่ยงครึ่ง  เรือถึงห่างจากฝั่ง  ๒  ไมล์    ทรงเรือกรรเชียงพ่วงเรือกลไฟประพาสเกาะช้าง  มีพระราชดำรัสปราศัยบรรดาราษฎร  แล้วพระราชทานเสมาเด็ก 

          เสด็จกลับถึงเรือพระที่นั่งเวลาบ่าย  ๔  โมงเศษ

 

เสด็จขึ้นเมืองจันทบุรี

          เวลาบ่าย  ๕  โมง    เรือพระที่นั่งออกจากเกาะช้าง   

          เวลา  ๒  ทุ่มเศษ  ถึงแหลมสิงห์    เรือรบในกระบวนยิงปืนสลุต    เรือพระที่นั่งทอดสมอหน้าแหลมสิงห์  ระหว่างเกาะนมสาวและเกาะจุฬาห่างจากปากน้ำไมล์เศษ

 

วันที่  ๑๕  พฤศจิกายน  ร.ศ.๑๒๖ 

          เวลาเช้า  ๓  โมง    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องทหารเรือทรงเรือกลไฟเล็กขึ้นไปเมืองจันทบุรี    เรือรบยิงปืนสลุต   

          เวลา  ๓  โมง  ๔๐  นาที    ถึงบ้านแหลมประดู่  แล้วเข้าคลองลัด    ตรงนี้น้ำตื้น  เรือกลไฟเข้าไปไม่ได้  ต้องเปลี่ยนเรือกรรเชียงที่ปากคลอง    กรรเชียงมาประมาณ  ๔๐  นาที  ออกจากคลองลัด  เรือโมเตอร์จูงเรือกรรเชียงแล่นขึ้นไปตามลำน้ำ    

 

 

 

เรือกลไฟเล็ก ซึ่งกรมทหารเรือจัดถวายขณะเทียบที่ศาลาสะพานท่าน้ำหลวง เมืองจันทบุรี

 

 

         เวลา  ๕  โมง  ๓๐  นาที    ถึงท่าเมืองใกล้ที่ว่าการมณฑล    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง    ทหารเรือยิงสลุตจากค่าย  ข้าหลวงเทศาภิบาลอัญเชิญเสด็จฯ  ไปประทับร้อน  ณ  ที่ว่าการมณฑล

 

 

 

 
 

 

 

           เวลาเที่ยงแล้วกับ ๑๕  นาที    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับพลับพลาออกราษฎรที่หน้าค่ายทหารเรือ  บรรดาราษฎรไทย  ญวน  จีน  ฯลฯ  และนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ  มาชุมนุมพร้อมกันคอยเฝ้าทูละอองธุลีพระบาท    พระสงฆ์ประมาณ  ๑๕๐  รูปสวดชัยปริตรคาถา  แล้วอ่านคำถวายพระพรมงคล    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระพรแล้วมีพระราชดำรัสตอบ  พระสงฆ์ถวายอดิเรกแล้วเสด็จออกที่ชุมนุมข้าราชการและประชาราษฎร  ข้าหลวงเทศาภิบาลอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล    เมื่อจบแล้ว    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ

          ".  .  .  ได้รู้สึกว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอาจจะบำบัดโรคและให้ความสำราญใจสำราญกาย  เพราะได้มาอยู่ที่นี้เป็นหลายคราว  จึงเป็นที่รักมุ่งหมายจะบำรุงให้ความเจริญยิ่งขึ้น  .  .  .  ถึงว่าต้องห่างเหินไป  ไม่ได้มาเยี่ยมเยือนเมืองนี้ถึง  ๑๔ - ๑๕  ปี  ด้วยความจำเป็น  แต่มิได้ละเลยความผูกพันในใจที่จะบำรุงเมืองนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข  และมีใจระลึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักที่คุ้นเคยกัน  และได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นนิจ

          บัดนี้เมืองจันทบุรีได้เป็นเมืองใหญ่ในมณฑลฝั่งทะเลตะวันออก  เราขอเตือนเจ้าทั้งหลายให้ตั้งหน้าทำมาหากิน  และประพฤติตนให้สมควรแก่ความชอบธรรมซึ่งควรประพฤติ  .  .  .  ขออำนวยพรให้เจ้าทั้งหลายได้รับความเจริญสุขสิริสวัสดิ์  ทำมาค้าขายได้ผลเป็นสุขสมบูรณ์ทั่วกันทุกคน เทอญ ฯ"

 

          เมื่อมีพระราชดำรัสจบแล้ว  พระราชทานพระแสงสำหรับเมือง

 


 

 

 

 

           เวลาบ่าย  ๓  โมงเศษ    เสด็จฯ  ประพาสถนนตลาด  ถนนนี้ตัดไปตามลำน้ำฝั่งขวามีร้านเป็นแถวคับคั่งตลอดทั้งสองข้าง    กว้างขนาดถนนที่เมืองตราด  แต่ยาวกว่ามาก    ราษฎรพากันมาเฝ้าแน่นทั้งสองข้างทาง  ตั้งเครื่องสักการบูชาทุกบ้าน  ถวายดอกไม้ธูปเทียน  คั้งซุ้มงามๆ  ถี่กระชั้นกันประมาณ  ๖  วาต่อซุ้ม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งปราศรัยกับราษฎรตลอดทางไป  และทรงซื้อสิ่งของบ้าง

          บ่าย  ๓  โมง  ๔๐  นาที    เสด็จสู่เรือพระที่นั่งกรรเชียงข้างท้ายตลาด  เสด็จจากเมืองจันทบุรี    กรมทหารเรือยิงปืนสลุตส่งเสด็จ   

          บ่าย  ๕  โมงเศษ    เสด็จถึงบ้านแหลมประดู่ 

          เสด็จจากเรือกรรเชียงสู่เรือกลไฟเล็กล่องมาถึงเรือพระที่นั่งมหาจักรีเวลาย่ำค่ำ

          เวลายามหนึ่ง    เรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากอ่าวเมืองจันทบุรีเสด็จถึงปากน้ำเจ้าพระยา

วันที่  ๑๖  พฤศจิกายน 

          เวลาเช้า    เรือพระที่นั่งผ่านเกาะจวง  เกาะคราม  เกาะไผ่  เกาะริ้น  เกาะล้าน  ตามลำดับมาแลเห็นภูเขาเจ้าลายทางฝั่งตะวันตกได้แต่ไกล   

          เวลาเช้า  ๓  โมงครึ่ง    ถึงเกาะสีชัง    เรือรบในกระบวนซึ่งล่วงหน้ามาทอดสมอเรียงลำคอยรับเสด็จยิงปืนสลุตเสียงกึกก้อง   

          ครั้นเวลาเช้า  ๕  โมง  ๒๐  นาที    เรือพระที่นั่งใช้จักรตรงมายังปากน้ำเจ้าพระยา   

          บ่าย  ๒  โมงเศษ    ข้ามสันดอน    ป้อมพระจุลจอมเกล้า  และเรือรบทั้งปวงยิงปืนถวายคำนับ

          เวลาบ่าย  ๒  โมง  ๔๕  นาที    เรือพระที่นั่งทอดสมอประทับแรมที่แหลมเลน    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ลงไปรับเสด็จฯ  

          อนึ่ง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับแรมที่ปากน้ำนั้นราษฎรเมืองสมุทรปราการ  และเมืองเขื่อนขันธ์จัดของต่างๆ  มีผลไม้เป็นต้น  ลงไปทูลเกล้าฯ  ถวายเป็นอันมาก

 

เสด็จถึงเมืองสมุทรปราการ

วันที่  ๑๗  พฤศจิกายน 

          เวลาย่ำรุ่งเศษ    เรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากแหลมเลน    เรือรบแล่นเป็นขบวนนำเรือพระที่นั่ง  ส่วนกระบวนหลังนั้น  มีเรือกลไฟและเรือมอเตอร์ของข้าราชการและพวกพ่อค้าทั้งปวงหลายร้อยลำซึ่งลงมารับเสด็จแต่วันก่อน

          เวลาโมงเช้า  เรือพระที่นั่งถึงเมืองสมุทรปราการ    พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์  เสนาบดีกระทรวงนครบาล  นำผู้ว่าราชการกรมการ  และพ่อค้าประชาชนชาวเมืองสมุทรปราการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  อ่านคำพระพรชัยมงคล  จบแล้ว   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ  แล้วพระราชทานดอกไม้ธูปเทียนให้นำไปนมัสการพระสมุทรเจดีย์    

          เวลาเช้า  ๒  โมง  เรือพระที่นั่งออกจากเมืองสมุทรปราการ

          ระยะทางแต่เมืองสมุทรปราการ  ผ่านเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้นมาตลอดจนในเขตพระนครทั้งสองฟากแม่น้ำ  วัดก็ดีบ้านเรือนก็ดีต่างตกแต่งด้วยเครื่องประดับ  และตั้งเครื่องบูชาตามกำลังตั้งใจรับเสด็จคืนพระนครด้วยความชื่นชมโสมนัสทุกแห่ง  หามีที่จะเว้นไม่  .  .  .  แลดูลำแม่น้ำในเช้าวันนั้นเห็นแต่สีธงทิวและเครื่องประดับสลับสลอน  เสียงสลุตและเครื่องมหรสพไม่ขาดสาย

 

 


 

  บริเวณท่าน้ำด้านหน้าวัดกาลหว่าร์

 

 

 

 

ซุ้มรับเสด็จที่ตึกศุลกสถาน  (โรงภาษี)   ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 


 

 

 

 

          เมื่อเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ์เรียบร้อยแล้ว    เวลาเช้า  ๔  โมง  ๔๘  นาที    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศขาวทหารบกประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์  เสด็จฯ ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง    กรมทหารมหาดเล็ก  พร้อมด้วยแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี  กรมทหารเรือยิงปืนใหญ่ถวายคำนับ

-

 

 

 

 

 

ด้านหน้าโดมซึ่งต่อเชื่อมกับพลับพลารับเสด็จบริเวณท่าน้ำราชวรดิษฐ์

 

 

 

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ  ณ  พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยแล้ว  พระสงฆ์สวดชยันโตถวายชัยมงคล  แล้วเสด็จประทับหน้าพระราชบัลลังก์    พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าทูลละอองธุลีพระบาท  และราชฑูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศเฝ้าฯ  พร้อมกัน    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารกราบบังคมทูลถวายชัยมงคล    จบแล้วมีพระราชดำรัสตอบ  และมีพระราชปฏิสันถารแก่พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าทูลละอองธุลีพระบาท  และราชฑูตผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศพอสมควรแก่เวลาแล้ว  เสด็จขึ้นทรงพระที่นั่งพุดตาล  เสด็จฯ เป็นกระบวนพยุหยาตราน้อยโดยสถลมารควิถี  เสด็จเข้าในพระบรมมหาราชวังทางประตูศรีสุนทรขึ้นสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

 

 

 

 

 

          เวลาเที่ยงเศษ    เสด็จยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณทรงบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชแล้ว  เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระอัฐิ    พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้ว  ถวายอนุโมทนา  ถวายอดิเรก  ถวายพระพรลา    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งกับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จเป็นกระบวนรถม้าแต่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย    กรมทหารบกยิงปืนใหญ่ถวายคำนับ  เสด็จฯ ออกประตูพิมานชัยศรี    รถพระที่นั่งเลี้ยวไปหยุดที่หน้าประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม    เสด็จฯ เข้าประทับในพระอุโบสถ  ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการพระมหารัตนปฏิมากร  กระทำพุทธบูชาทรงถวายเชิงเทียนกิ่งใหญ่คู่หนึ่งซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำมาแต่ยุโรปเป็นราชสักการะ  แล้วประทับที่หน้าสังฆสมาคม  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงวชิรญาณวโรรสทรงอ่านคำถวายพระพร    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพรแล้วมีพระราชดำรัสตอบ   พระสงฆ์ถวายอดิเรกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกทางหลังพระอุโบสถขึ้นทรงรถพระที่นั่ง  เคลื่อนกระบวนออกจากพระบรมมหาราชวัง

 

 

 

 

 

รถพระที่นั่งเลี้ยวไปหยุดที่หน้าประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม    เสด็จฯ เข้าประทับในพระอุโบสถ 

 

 

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกทางหลังพระอุโบสถขึ้นทรงรถพระที่นั่ง  เคลื่อนกระบวนออกจากพระบรมมหาราชวัง 

 

 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรถพระที่นั่งออกทางประตูวิเศษชัยศรี  เลี้ยวถนนหน้าพระลานไปประทับพลับพลาท้องสนามหลวง  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์  เสนาบดีกระทรวงนครบาล  กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลแทนราษฎร     จบแล้ว  มีพระราชดำรัสตอบ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯจากพลับพลาท้องสนามหลวงไปตามถนนหน้าพระลานเลี้ยวถนนราชดำเนินใน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


  

 

 

 

 

 

 

 

 

           ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา หยุดประทับรถพระที่นั่งที่ซุ้มเชิงสะพาน  ทรงรับตำถวายชัยมงคลของพวกพ่อค้าชาวยุโรปและอเมริกา  จบแล้วมีพระราชดำรัสตอบ

 


 

 


 

 

 

 


 

 

 

 


          พระราชทานพระราชดำรัสตอบพวกพ่อค้าชาวยุโรปและอเมริกาแล้ว  เคลื่อนรถพระที่นั่งต่อไปถึงสะพานผ่านฝ้าลีลาศหยุดประทับรถพระที่นั่งบนสะพานมีพระบรมราชโองการสั่งให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการเปิดสะพานนั้น  แล้วเคลื่อนรถพระที่นั่งไปประทับยังซุ้มเชิงสะพาน  ทรงรับคำถวายชัยมงคลของพ่อค้าจีนและพ่อค้าแขก    มีพระราชดำรัสตอบแล้ว  

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 


 

 

 


 

 

 

 

 

 


          มีพระราชดำรัสตอบแล้ว  เสด็จต่อไปถึงซุ้มกระทรวงธรรมการ   เสด็จฯ  ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์  หยุดประทับรถพระที่นั่งที่เชิงสะพาน   ทรงรับคำถวายชัยมงคลของพ่อค้าไทย     มีพระราชดำรัสตอบแล้ว  เสด็จฯ  ต่อไปตามถนนราชดำเนินนอก  ถนนเบญมาศ  ถนนพุดตาล  เลี้ยวถนนบ๋วยเข้าในสวนแง่เต๋ง    หยุดประทับรถพระที่นั่งที่เชิงอัฒจันทร์พระที่นั่งอัมพรสถาน  เสด็จประเวศพระราชมณเฑียร    ขึ้นประทับห้องบรรณาคมทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว    เวลาบ่ายโมงหนึ่งกับ  ๔๙  นาที  ๕๓  วินาที  ได้ปฐมฤกษ์  พระโหราธิบดีลั่นฆ้องชัยให้สัญญา  เจ้าพนักงานประโคมดุริยดนตรีแตรสังข์    กรมทหารบกยิงปืนใหญ่ถวายคำนับ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พระแท่นสรงมุรธาภิเษกสนาน

 

 

 

 
 

 

 

 

 

          เวลา  ๒  ทุ่มเศษ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสนามสวนดุสิตทอดพระเนตรการจุดดอกไม้ไฟ  ซึ่งพ่อค้าฝรั่งพร้อมกันให้ช่างดอกไม้เพลิงในยุโรปนำเข้ามาจุดในการรับเสด็จ   

          เวลายามเศษ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทอดพระเนตรโคมไฟต่อไป  แล้วจึงเสด็จกลับพระราชวังสวนดุสิต

 

วันที่  ๑๘  พฤศจิกายน 

          เวลาบ่าย  ๓  โมงเศษ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องสนามทหารบกทรงพระคทาจอมพล  เสด็จทรงรถพระที่นั่งเสด็จโดยกระบวนรถม้า  พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  ออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน  กับกรมทหารม้าที่  ๑  หนึ่งกองร้อย  แห่นำตามเสด็จไปทางถนนพุดตาล  และถนนเบญมาศ  ถนนราชดำเนิน  เลี้ยวถนนราชินีเข้าในท้องสนามหลวง  ผ่านแถวทรงตรวจพล  มีทหารประมาณ  ๑๒,๐๐๐  เศษ  ตั้งเป็นตอนกองร้อย  พอเต็มท้องสนามพอดี    แล้วเสด็จฯ กลับทางถนนราชินี    ทหารทั้งปวงได้นำโห่  กองทหารปืนใหญ่ที่  ๖  ยิงปืนใหญ่ถวายชัยมงคล    เสด็จทางถนนราชดำเนินใน  เลี้ยวถนนหน้าพระลานเข้าในพระบรมมหาราชวัง  เสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    ประทับท้องพระโรงกลางพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ  พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเฝ้าพร้อมกัน    พระเจ้าพี่นางเธอ  กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ  ถวายชัยมงคล    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบแล้ว  พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฯ ฝ่ายใน  และเข็มอักษรเสด็จประพาสยุโรปแล้วเสด็จขึ้น

 

 

 

 

 

เลี้ยวถนนราชินีเข้าในท้องสนามหลวง  ผ่านแถวทรงตรวจพล

มีทหารประมาณ  ๑๒,๐๐๐  เศษ  ตั้งเป็นตอนกองร้อย  พอเต็มท้องสนามพอดี 

 

 

          เวลาบ่าย  ๔  โมงเศษ    เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารอ่ายพระราชบัญญัติเข็มอักษรเป็นที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรป  อันได้ทรงพระราชดำริสร้างขึ้นใหม่  สำหรับพระราชทานตอบแทนผู้มีความชอบที่ได้ตามเสด็จและรักษาพระนครในเวลาเสด็จไปยุโรปทั้ง  ๒  คราว

 

 

          ครับ  .  .  .  การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง  ร.ศ.๑๒๖  ก็ได้ดำเนินไปดังพระราชประสงค์ทุกประการ  ทั้งการรักษาพระองค์ซึ่งเป็นการสำคัญ  และ  การที่เปนราชการอยู่บ้าง  คือการที่สภาฝรั่งเศสลงมติรับรองให้สัตยาบันสนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ฉบับ วันที่  ๒๓  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๔๙ / ค.ศ.๑๙๐๖   คือ  สนธิสัญญาที่ไทยยอมยกเมืองพระตะบอง  เสียมราฐ  และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสคืนเมืองตราด  และเกาะกง  (เมืองประจันตคีรีเขตร)  ให้กับไทย  กับยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสำหรับคนในบังคับฝรั่งเศส  และในทางปฏิบัติได้มีพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส  ในวันที่  ๖  กรกฎาคม  ๒๔๕๐   และได้มีพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส   เมื่อวันที่  ๖  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๕๐  (ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปนั้นเอง)  

 

 

 

 

 

 

 

          หลังจากการเสด็จกลับครั้งนี้แล้วไม่ช้า    พสกนิกรชาวไทยก็ได้มีจิตใจเบิกบานซึ่งขอเชิญติดตามต่อไป  ใน  .  .  .  ทวยราษฎร์รักบาทแม้    ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)  .  .  .  ครับ

 

 

ตอนต่อไป  .  .  .  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้    ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)

ตอนต่อไป  .  .  .  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้    ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)

ตอนต่อไป  .  .  .  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ทวยราษฎร์รักบาทแม้    ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)

    


 

บรรณานุกรม

          - จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงรวบรวม    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช  ณ  พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส  ๑๘  พฤศจิกายน  ๒๕๐๕    โรงพิมพ์พระจันทร์  ท่าพระจันทร์  พระนคร




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker