* * *
ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์ (๒)
ความเป็นมา . . .
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ร.ศ.๑๒๖ ขากลับเมื่อเสด็จออกจากเมืองสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ได้เสด็จแวะเมืองตราดและเมืองจันทบุรีด้วย เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๖ ส่วนการรับเสด็จฯ นั้น ทรงพระราชปรารภว่า จะจัดอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าให้แล้วเสร็จไปได้ในวันเดียวจะเป็นที่พอพระราชหฤทัยกว่าอย่างอื่น . . .
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ยังคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นเอนกอนันต์ เนื่องจากเป็นผลดีแก่พระพลานามัย และยุติปัญหากับฝรั่งเศส กล่าวคือฝรั่งเศสยอมคืนเมืองตราดให้แก่ไทย กับยอมถอนทหารซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีกลับไปด้วย ไม่ล่วงล้ำเกี่ยวข้องแดนไทยดังแต่ก่อน . . .
ความเป็นไป . . .
๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๗ พ.ศ.๒๔๕๑
ทรงเปิดพระบรมรูปทรงม้า ณ พระลานพระราชวังดุสิต
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กราบบังคมทูลถวายพระบรมรูปทรงม้าและถวายไชยมงคล
“การซึ่งท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันสร้างรูปเราขึ้นไว้ในครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นถาวรนิมิตอันดีในความพร้อมเพรียงของชาติ อันเกิดขึ้นในใจท่านทั้งหลาย แลแสดงเป็นพยานความเชื่อถือไว้วางใจใน เจ้าแผ่นดินและรัฐบาลของตน อันเป็นเหตุจะให้เกิดมหรรฆผลเพื่อความผาสุกสำเร็จแก่ชาติของเราใน ภายหน้า
อนึ่ง ท่านทั้งหลายที่เป็นชาวนานาประเทศ ได้มีน้ำใจอารีแสดงความปรารถนาอันดี มีส่วนด้วยในการสร้างรูปอันงามนี้ เราขอแสดงความขอบใจท่านทั้งหลายแท้จริง พร้อมกันกับด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ ทั้งอาณาประชาราษฎรของเรา ในการที่ยกย่องให้เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราแต่เวลายังมีชีวิต จะเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจของเราอยู่เป็นนิตย์นิรันดร แลข้อโสมนัสอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะยกขึ้นกล่าวได้ว่าเสมอกันก็คือ ที่ได้เห็นท่านทั้งหลายสมัครสโมสรแสดงความรื่นเริงพอใจภักดีต่อตัวเราในมงคลสมัย การซึ่งเป็นไปในครั้งนี้ ปรากฏแก่เราว่าจะเป็นที่ตั้งของความสนิทติดพันกันในระหว่างชาติเราแลนานาประเทศ อันเป็นเหตุให้เกิดผลไพบูลย์แก่ประเทศเรา แลจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ประชาราษฎรของเราทวีความพยายามยิ่งขึ้นที่จะยกเกียรติยศแห่งชาติอันเป็นที่รักของเรา ให้ดำเนินไปถึงที่ตั้งมั่นอันสูงสุด ซึ่งจะพึงถึงพร้อมด้วยดีทุกประการ
บัดนี้เรามีความยินดีรับคำเชื้อเชิญของท่านทั้งหลายแล้ว แลจะได้เปิดถาวรอนุสาวรีย์อันเป็นเครื่องหมายแห่งความสโมสรสามัคคีของชาติชาวสยาม
ขอให้ตั้งอยู่เป็นเครื่องหมายน้ำใจของชาติอันใหญ่ อันจะมีสืบไปทุกชั่วทุกชั้นในกาลภายหน้า”
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลล่วงแล้ว ๒๔๕๑ พรรษา
จำเดิมแต่พระมหาจักรกรีบรมราชวงษ์ได้เสด็จจะประดิษฐานแลดำรงกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา
เป็นปีที่ ๑๒๗ โดยนิยม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม
จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมา ถ้วนถึง ๔๐ ปีเต็มบริบูรณ์
เปนรัชสมัย ที่ยืนนานยิ่งกว่าสมเด็จพระมหาราชาธิราช
แห่งสยามประเทศในอดีตกาล
พระองค์กอปรด้วยพระราชกฤษดาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร
เสด็จสถิตย์ในสัจธรรม์อันมั่นคงมิได้หวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤไทย ในทางที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร
ให้สถิตย์สถาพร แลให้เกิดความสามัคคีสดมสรเจริญศุขสำราญทั่วไปในอเนกนิกรประชาชาติเป็นเบื้องน่าแห่ง
พระราชจรรยา ทรงพระสุขุมปรีชาสามารถสอดส่องวินิจฉัยในคุณโทษแห่งประเพณีเมืองทรงปลดเปลื้องโทษ
นำประโยชน์มาบัญญัติ โดยปฏิบัติพระองค์ทรงนำหน้าชักจูงประชาชนให้ดำเนินตาม ในทางที่ดีงามดีมีประโยชน์
เปนแก่นสาร พระองค์ทรงทำให้ความศุขสำราญแห่งประชาราษฎร์สำเร็จได้ ด้วยอาไศรยดำเนินอยู่เนืองนิตย์ ใน
พระวิริยแลพระขันตีอันคุณแรงกล้า ทรงอาจหาญในพระราชจรรยามิได้ย่อท้อต่อความยากลำบากยากเข็ญ มิได้เห็น
ที่ขัดข้องอันใดเปนข้อควรขยาด แม้ประโยชน์แลความสุขในส่วนพระองค์ ก็อาจทรงสละแลกความสุขสำราญ
พระราชทานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ โดยทรงกรุณาปรานี พระองค์คือบุพการีของราษฎรเพราะเหตุเหล่านี้ แผ่นดิน
ของพระองค์ จึ่งยงยิ่งด้วยความสถาพรรุ่งเรืองงามมหาชนชาวสยามถึงความศุขเกษมล่วงล้ำ อดีตสมัยที่ได้ปรากฏมา
พระองค์จึ่งเปนปิยมหาราชที่รักของมหาชนทั่วไป
ครั้นบรรลุอภิลักขิตสมัยรัชมังคลาภิเศกสัมพัจฉรกาล
พระราชวงษานุวงษเสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณอาณาประชาชน
ชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัฐสีมาอาณาเขตร
มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณามาแล้วนั้น จึ่งพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้
ประดิษฐานไว้สนองพระเดชพระคุณ เพื่อประกาศพระเกียรติยศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปิยมหาราช
ให้ปรากฏสืบชั่วกัลปาวสาน
เมื่อสุริยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถี พุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศกาฬปักษ์ ตติยดิถีในปีวอกสัมฤทธิศก
จุลศักราช ๑๒๗๐
ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา
ขบวนแห่กลองยาว ร่วมงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก สู่พระลานพระราชวังดุสิต
พ.ศ.๒๔๕๒ ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ
ในพ.ศ.๒๔๕๒ ดยุค และดัชเชส โยฮัน อัลแยรก แห่งออสเตรีย ได้เสด็จเยือนประเทศไทย
ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมยุทธนาธิการจัดการประลองยุทธ ณ ทุ่งพญาไท เมื่อทอดพระเนตรการประลองยุทธแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงนำเสด็จดยุค และดัชเชส ฯ เสด็จไปทอดพระเนตรการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ ณ พระลานพระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำเสด็จดยุค โยฮัน อัลแบรก แห่งออสเตรียสู่พลับพลาที่ประทับหน้าพระลานพระราชวังดุสิต
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ลงจากรถม้าพระที่นั่งสู่พลับพลา
การสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ ณ พระลานพระราชวังดุสิต
นักเรียนนายร้อย สวนสนามแสดงแสนยานุภาพถวาย ณ พระลานพระราชวังดุสิต
ทหารม้า สวนสนามแสดงแสนยานุภาพถวาย ณ พระลานพระราชวังดุสิต
ทหารปืนใหญ่ ขณะตั้งแถวรับเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลในพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพถวาย ณ พระลานพระราชวังดุสิต
ครับ . . . เมื่อผ่านมารร้ายมาได้แล้ว ลองมาดูนะครับ ว่าไทยต้องเสียอะไรบ้าง เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยในสมัยรัตนโกสินทร์นี้
การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส
ไทยให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ รวมห้าครั้งด้วยกัน คือ
ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๑๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เสียเขมรส่วนนอกและเกาะอีก ๖ เกาะ
ไทยเสียเขมรส่วนนอกและเกาะอีก ๖ เกาะ ให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการเสียดินแดนครั้งแรก
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เสียดินแดนทั้งหมด ๔ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๑ เสียลาว สิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก
หลังจากที่ไทยได้ปราบพวกฮ่อเรียบร้อยแล้วใน พ.ศ.๒๔๒๘ ในปีต่อมาฝรั่งเศสเข้ามาขอทำสัญญากับไทย ตั้งศาลกงสุลที่นครหลวงพระบาง และตั้งให้ มองซิเออร์ ปาวี เป็นกงสุล
ใน พ.ศ.๒๔๓๐ พวกฮ่อได้เข้ามาปล้นเมืองหลวงพระบางอีก ซึ่งครั้งนี้ มองซิเออร์ ปาวี ตกอยู่ในอันตราย แต่ไทยช่วยให้รอดชีวิตมาได้ และไทยก็ปราบฮ่อได้อีก การปราบฮ่อทุกครั้งฝรั่งเศสไม่เคยช่วยเหลือตามที่ตกลงกัน แต่เมื่อไทยปราบฮ่อเสร็จแล้วฝรั่งเศสกลับมายึดเอาแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้ โดยอ้างว่าเอาไว้เป็นกำลังปราบฮ่อ ไทยจะเจรจาอย่างไรฝรั่งเศสไม่ยอมถอยทัพกลับ
ฉะนั้น ใน พ.ศ.๒๔๓๑ จึงเสียแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้ฝรั่งเศส
ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เสียดินแดนลาว ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง
ฝรั่งเศสแต่งตั้ง มองซิเออร์ ปาวี เป็นทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ในระหว่างนี้ฝรั่งเศสอ้างสิทธิว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดิมเป็นของญวนและเขมรมาก่อน ดังนั้น ฝรั่งเศสควรมีสิทธิครอบครองดินแดนนี้ด้วย และในการปักปันเขตแดนนี้ฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเอาแม่น้ำโขงเป็นหลัก ไทยเราไม่ยอม ฝรั่งเศสส่งทหารรุกล้ำเข้ามา จึงเกิดการปะทะกับทหารไทยที่รักษาดินแดนอยู่ และยังได้ส่งเรือนำร่องมาจากพนมเปญมาตามลำน้ำโขง เกิดปะทะกับฝ่ายไทย ต่อมาไม่นานก็ได้ส่งเรือรบ ๒ ลำ คือเรือแองคองสตังต์และเรือโคเมตเข้ามา ใน เดือนกรกฎาคม ๒๔๓๖ จนเกิดการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา และเรือรบ ๒ ลำ แล่นผ่านเข้าไปจนถึง กรุงเทพ ฯ จอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส มองซิเออร์ ปาวี ได้ยื่นคำขาดให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ดังนี้คือ
ก. ให้ไทยยอมรับว่าดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น และไทยถูกบังคับให้ถอนทหารชายแดนทั้งหมด
ข. เสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส เป็นเงินไทยประมาณ ๓ ล้านบาท และเงินฝรั่งเศส ๒ ล้านฟรังก์ ไทยขอให้เสนอมหาประเทศพิจารณา ถ้าฝรั่งเศสมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่าดินแดนแถบนี้เป็นของญวนและเขมรก็จะยอมยกให้
ฝรั่งเศสไม่ยอมและพร้อมกันนี้ก็ประกาศปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
ไทยต้องยอมทำตามคำขาดของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๓๖ (รายละเอียด ดังได้กล่าวแล้วในตอนวิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๒))
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๔๖ เสียเมืองจำปาศักดิ์ มโนไพร และ ดินแดนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง
ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันเป็นเวลา ๑๐ ปี แต่เมื่อไทยได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี เนื่องจากเมืองจันทบุรีเป็นดินแดนที่ประชาชนเป็นชนชาวไทย และมีความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ฉะนั้น ไทยต้องทำสัญญากับฝรั่งเศสอีก ๒ ฉบับ
ฉบับที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๔๔๕ ไทยยอมทำสัญญาแลกเปลี่ยนยอมยกเมืองจำปาศักดิ์ มโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะยอมยกออกจากเมืองจันทบุรี แต่แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี
ฉบับที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๔๖ ไทยต้องทำสัญญาอีก กำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับเขมรโดยใช้ภูเขาบรรทัดเป็นหลัก และยกดินแดนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบางให้แก่ฝรั่งเศส และให้ฝรั่งเศสเช่าที่ทำท่าเรือที่หนองคาย มุกดาหาร และปากน้ำมูลได้
ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๙ เสียเขมรส่วนใน คือเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ
ฝรั่งเศสถอนทหารจากเมืองจันทบุรีกลางปี พ.ศ.๒๔๔๘ แล้วไปยึดเมืองตราด และเกาะกง เพื่อที่จะให้ฝรั่งเศสออกจากตราดไทยยอมยกเขมรส่วนใน คือเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส และนอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังได้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฝรั่งเศส กล่าวคือ คนในบังคับฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเป็นโจทก์ หรือจำเลยจะต้องมาขึ้นกับศาลไทยทั้งสิ้น แต่กงสุลฝรั่งเศสยังมีอำนาจเรียกคดีจากศาลไทยไปพิจารณาได้
ครับ นี่เป็นเฉพาะที่เสียให้ฝรั่งเศสนะครับ สรุปคือเสียลาวและเขมรให้ฝรั่งเศส ส่วนที่เสียให้อังกฤษอีกต่างหาก ผมจะหาโอกาสมาเล่าสู่กัน ต่อไป
ด้วยเดชะพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสามารถนำสยามนาวาผ่านพ้นสถานการณ์ที่นับว่าร้ายแรงที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งนับได้ว่าถึงขั้น "เสียบ้าน เสียเมือง" ไปได้อย่างหวุดหวิด
ทั้งนี้ มิใช่ด้วยการเอาดาบไปสู้กับปืน แต่ด้วยพระปรีชาญาณด้านวิเทโศบายอันสุขุมคัมภีรภาพล้ำลึกยิ่ง การเจรจาฉันมิตร และ ยอมเสียประเทศราช เพื่อรักษาเอกราชอธิปไตยและแดนดินถิ่นไทย ให้พสกนิกรชาวไทยได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมีมาจวบจนปัจจุบัน
พสกนิกรชาวไทยในยุคนั้นได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี เพียงปีเศษ ก็มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในท้องฟ้า
เมษายน ๒๔๕๓ - ดาวหางฮัลเลย์
จากจดหมายเหตุปูมสุริยยาตร หรือปูมโหร . . .
"วันจันทร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๑๐ ทุ่ม ดาวอุตรพัทรเกิดหางยาว ๓ วา โต ๓ กำ เบื้องทิศบูรพาหางไปข้างทิศอาคเนย์ วันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ จึงหาย"
วันจันทร์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๕๓
วันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๕๓
ภาพถ่ายดาวหางฮัลเลย์ซึ่งได้ถ่ายไว้เมื่อครั้งที่ปรากฏเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ค.ศ.๑๙๑๐
เมื่อดาวหางฮัลเลย์โคจรจากไปจากสายตาชาวไทยโดยไม่มีเหตุร้ายใดเกิดขึ้นดังที่วิตกกังวลกัน ในที่สุดชาวไทยก็ชักจะลืมๆ กันไป และต่างเตรียมตัวเตรียมใจจะฉลองพระบรมรูปทรงม้าเป็นครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๕๓ ก็มีเหตุให้ไม่ได้ฉลองพระบรมรูปทรงม้าดังหวัง
และหากมีผู้สงสัยว่าจะเป็นผลมาจากดาวหางฮัลเลย์หรือไม่ ก็คงตอบได้ว่า ไม่
เสด็จสวรรคต - ร่ำไห้โศกาดูรกันทั้งแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระธาตุพิการ มาแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ พระโรคกลายเป็นทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวายพระอาการหาคลายไม่ ถึงวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ เวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังสวนดุสิต พระชนมพรรษา ๕๘ เสด็จดำรงศิริราชสมบัติ ๔๓ พรรษา วันในรัชกาลนับแต่มูลพระบรมราชาภิเศก ๑๕๓๒๐ วัน . . .
(ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๗ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๑๒๙ หน้า ๑๗๘๒ ข่าวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓
เวลาเช้า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีประทับเป็นประธานในการถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นส่วนฝ่ายใน
ตอนบ่าย เชิญพระบรมศพขึ้นพระแท่นทอง ทรงพระภูษาแดงลอยชาย ทรงสพักแพรสีนวล สะไบเฉียง
เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงเครื่องเต็มยศถวายสรงน้ำพระบรมศพ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า และข้าราชการชั้นเสนาบดี หม่อมเจ้าชั้นพานทอง เสร็จแล้ว พนักงานภูษามาลาถวายเครื่องสุกำ ทรงเครื่องตามขัติยราชประเพณี ทรงภูษาเขียนทองพื้นขาว โจงหน้าหลัง แลมีทับพระทรวง พระสังวาล พาหุรัด ทองพระกร พระธำรงค์ ๘ นิ้วพระหัตถ์ ทองข้อพระบาท ทองปิดพระพักตร์ลงยา ห่อใบเมี่ยง ๑๖ ผืน เสร็จแล้ว เชิญเสด็จลงพระลองเงินประทับบนกาจับหลักทองคำลงยาราชาวดี แล้วคลุมตาด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชถวายพระชฎามหากฐิน เสร็จแล้วเชิญพระลองจากชั้นบนลงอัฒจันทร์ ผ่านมาทางหลังห้องประชุมลงอัฒจันทร์ใหญ่ถึงหน้าที่นั่ง ตั้งพระเสลี่ยงไปขึ้นสามคาน ประกอบพระโกศทองใหญ่ มีพระมหาเศวตฉัตรกั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ และ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธ์ ประคองพระโกศ มีกระบวนแห่ ทหารบก ๒,๐๐๐ คน แล้วถึงตำรวจมหาดเล็กแต่งยูนิฟอร์มเสื้อครุยอย่างขบวนพยุหยาตรา กลองชนะแดง ๘๐ ทอง ๒๐ เงิน ๒๐ จ่าปี่ จ่ากลอง ๒ สำรับ มีตำรวจถือหวาย ถือหอก ขั้นนาย สพายกระบี่ เครื่องสูงหักทองขวาง บังแซก ๒ สำรับ พระแสงหว่างเครื่อง แต่งเครื่องเสื้อครุยลำพอก แล้วถึงพระที่นั่งสามคาน มีพระกลดบังสุริยาคู่เคียง ๘ คู่ พระยา ทหาร และราชสำนัก มหาดเล็กเชิญเครื่องสูง หลังนาฬิวันเปลือยผมอยู่ท้ายเครื่อง มีธงสแตนดาร์ดเดินตาม มีนายทหารกำกับธง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงพระดำเนินตาม แล้วถึงเจ้านายทรงดำเนินเรียง ๔ ตั้งแต่เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า แล้วม้าพระที่นั่ง ๔ ตัว แล้วขุนนางตั้งแต่เจ้าพระยาเป็นต้นไป ทหารเรืออยู่ท้ายกระบวน จำนวน ๖๐๐ แห่ออกผ่านพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ มาออกกำแพงที่รื้อเป็นช่องเลียบทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกพระลาน ผ่านพระบรมรูปทางด้านตะวันตก ไปตามถนนราชดำเนิน เลี้ยวหน้าพระลาน
ตามทางกระบวนแห่จะได้เห็นราษฎรสองข้างทางมีดอกไม้ ธูปเทียนบูชา และร้องไห้แทบทุกคน แม้แต่ทหารถือปืนข้างถนน
กระบวนแห่เข้าประตูวิเศษไชยศรี พิมานไชยศรี เข้าพระมหาปราสาท เมื่อพระบรมศพถึงแล้ว เปลื้องประกับ เชิญขึ้นทางมุขเหนือประตูตะวันตกมีฐานพระบุพโพฐานเขียง ห้อยเศวตรฉัตร์ ๙ ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ครองแผ่นดินทอดผ้าสดัปกรณ์ ๑๒๐ ผ้าขาว ๒๔๐ แล้วเสด็จขึ้นราว ๕ ทุ่ม
ระยะทางเดินกระบวนจากสวนดุสิตถึงพระบรมมหาราชวังราว ๓ ชั่วโมง ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตถวายตั้งแต่สรงน้ำพระบรมศพทุกนาที จนตั้งพระโกศเสร็จ มีประโคมและนางร้องไห้พวกเจ้าจอมและพนักงาน
ผู้ใหญ่ที่มีชีวิตทันเหคุการณ์นี้ ได้เล่าว่า วันนั้นอากาศมืดครึ้มอยู่ทั้งวัน ครั้นกระบวนเชิญพระบรมศพเข้าสู่พระบรมมหาราชวังแล้ว พักใหญ่ ฝนก็ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา
พระบรมโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง
วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ทำพิธีอัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาทองคำ ณ ท่ามกลางพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
งานออกพระเมรุทั้ง ๓ วัน โปรดให้ประชาชนเฝ้าถวายสักการบูชาพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเวลาบ่าย และเช้าเลี้ยงพระ
วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓
เวลา ๑๔ นาฬิกา เชิญพระบรมศพเสด็จขึ้นสามคาน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จขึ้นประคองพระบรมโกศเบื้องหลัง และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นประคองพระโกศเบื้องหน้า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ขึ้นพระยานมาศทรงโยงพระบรมศพ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศขึ้นพระยานมาศทรงโปรยข้าวตอก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงอภิธรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินตามพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน อัญเชิญพระบรมศพออกทางประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ เดินกระบวนไปตามถนนมหาราช เลี้ยวถนนเชตุพน วัดพระเชตุพน มีพลับพลาเล็กข้างวัด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวงษาภรณภูสิตภูษามาลาเชิญพระบรมโกศขึ้นเกรินประทับบนพระมหาพิไชยราชรถ กรมหลวงนครไชยศรีทรงม้านำขบวน กองทหารม้า ทหารราบหลายเหล่า กองพระอิสริยยศ ราชรถเล็กสมเด็จพระมหาสมณเจ้าประทับราชรถทรงอภิธรรม พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วถึงพระมหาพิไชยราชรถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตาม ไปสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเฝ้าที่ปะรำข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
กระบวนแห่พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระยานมาศสามลำคาน
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จขึ้นประคองพระบรมโกศเบื้องหลัง
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นประคองพระโกศเบื้องหน้า
กระบวนแห่พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระมหาพิไชยราชรถ ประกอบด้วยเครื่องสูงเต็มยศ กระบวนแห่ ๔ สาย
กระบวนแห่พระบรมศพผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม
ขณะที่พระบรมโกศเคลื่อนเข้าเกรินนั้น ชาวประโคม แตรสังข์ กลองชนะ มโหรทึก ทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ และยิงต่อเนื่องไปทุกนาที ถึงพระเมรุ เปลี่ยนจากพระมหาพิไชยราชรถเสด็จสามคาน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยประคองพระโกศ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกทรงโยง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาทรงโปรย ทรงพระยานมาศทั้งสองพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้าทุกพระองค์ทรงพระภูษาขาว ผ้าทรงเยียระบับขาว ฉลองพระองค์ครุยขาว พระมาลามีขนนก เมื่อเวียน ๓ รอบแล้ว เชิญเสด็จขึ้นบนพระจิตกาธานแล้ว ปืนใหญ่หยุดยิง เปลี่ยนทรงพระโกศไม้จันทน์
พระเมรุมาศ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแล้ว เสด็จขึ้นถวายบังคมพระบรมศพ ถวายพระเพลิง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าราชการ ราชฑูต ผู้แทนรัฐบาล กงศุล ทุกประเทศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓
ตอนเช้า ๗ นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินที่พระเมรุ เสด็จขึ้นถวายบังคมพระบรมอัฐิ กระบวนสามหาบ เดินกระบวน ๙ หาบ
เมื่อเดินครบ ๓ รอบแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบนพระเมรุ ทรงจุดเครื่องทองน้อย ทรงทอดผ้าไตร ๙ ไตร สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ขึ้นสดัปกรณ์ เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายพระสุคนธ์ ทรงโปรยเหรียญทองและเงิน นอกจากนั้นยังมีเข็มกลัดพนะบรมนามาภิไธยพระจุลจอมเกล้ามีเพชร ๖ เม็ด เข็ม จ.ป.ร.อีกมาก พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเสด็จขึ้นบนพระเมรุรับพระบรมอัฐิและพระนามาภิไธยเป็นที่ระลึก
เสร็จแล้วเลี้ยงพระสามหาบ แห่เชิญพระบรมอัฐืเสด็จขึ้นพระที่นั่งราเชนทรยาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายพลเรือน ข้าราชการเดินตามพระบรมอัฐิเข้าในพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นพระเบญจา มีงานสมโภชอีก ๓ วัน
กระบวนแห่พระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรังคาร
วันที่ ๑๗ - ๑๘ - ๑๙ - ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนไปกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ ซึ่งจะได้ประดิษฐานไว้บนพระเบญจาทองคำ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
วันหลังเลี้ยงพระสดัปกรณ์แล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระราชยานขึ้นบนพระที่นั่งจักรีฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งจักรีฯ ชั้น ๓ ประดิษฐานบนพระวิมาน
พระมหากรุณาธิคุณ พระบรมราชกฤษฎาภินิหาร พระบารมี พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญแล้ว
ได้ยังคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรและยังคงปกเกล้าปกกระหม่อมมหาชนชาวสยามเป็นพ้นประมาณ
ตราบจนปัจจุบัน และตลอดนิจนิรันดร์
๐ บารมีพระมากพ้น รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์ ถ่องแท้
บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์
จาก บทพระราชนิพนธ์ ลิลิตนิทราชาคริต
วีรบุรุษไม่มีวันตาย - พระยอดเมืองขวาง
ท่านข้าหลวงเมืองคำม่วนที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ.๑๑๒ (รายละเอียดในตอนวิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (๑) ) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น
กองทัพบกได้ขอพระราชทานชื่อค่ายทหารบก ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๓ และจังหวัดทหารบกนครพนม ซึ่งมีที่ตั้ง ณ บ้านกุรุคุ หมู่ ๑๑ ถนนนครพนม - สกลนคร ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม แจ้งความกองทัพบก ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๑ ว่า
"ค่ายพระยอดเมืองขวาง"
อนุสาวรีย์ และ ศาลพระยอดเมืองขวาง
๑๐๐ ปี ความสัมพันธ์ ไทย - รัสเซีย
๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๐ - ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก ๑๐๐ ปี ความสัมพันธ์ ไทย - รัสเซีย
เมืองบิสพ์กอร์เดน ราชอาณาจักรสวีเดน พ.ศ.๒๕๔๐
๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสสวีเดน
ในวโรกาสครบร้อยปีเสด็จประพาสสวีเดน เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๔๐ และได้เสด็จฯ เมืองบิสพ์กอร์เดน เขตรากุนดา ชาวไทยในราชอาณาจักรสวีเดน ชาวเมืองบิสพ์กอร์เดน และทางการไทยร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองบิสพ์กอร์เดน เขตรากุนดา มลรัฐแยมแลนด์ ราชอาณาจักรสวีเดน
พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองบิสพ์กอร์เดน เขตรากุนดา มลรัฐแยมแลนด์ ราชอาณาจักรสวีเดน
Chulalongkorns paviljong south of Bispgarden, Sweden
๐ บรมราชานุสรณ์นี้ ตรึงตรา
ทวยราษฎร์สองรัฏฐา ร่วมสร้าง
สำนึกพระกรุณา - ธิคุณยิ่ง
แผ่พระเกียรติคุณกว้าง อยู่เพี้ยงนิรันดร์กาล
จากหนังสือ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ ประเทศสวีเดน
ปัจจุบันพระบรมราชานุสรณ์ฯ นี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวสวีเดน ชาวไทยและนักท่องเที่ยวทั่วไป สำหรับคนไทยจะรู้สึกว่าพระบรมราชานุสรณ์ฯ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ทำให้รู้สึกเสมือนว่าได้กลับบ้าน และ พระบารมีปกเกล้าฯ อยู่เสมอ
๑๐๐ ปี ร.๕ เสด็จเยือนสวิสเซอร์แลนด์
๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ - ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก ๑๐๐ ปี ร.๕ เสด็จเยือนสวิสเซอร์แลนด์
๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ๒๔๔๐
๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ - ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ๒๔๔๐
๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๑๕๐ ปี มหามงคลวันพระบรมราชสมภพ
บุคคลดีเด่นของโลก
ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาส ณ เพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลางพระที่นั่งอนันตสมาคม
เนื่องในวโรกาส มหามงคลวันพระบรมราชสมภพครบ ๑๕๐ ปี ในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๖ องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นบุคคลดีเด่นของโลก ในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคม และการสื่อสาร เป็นที่ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน
๐ จุฬาลงกรณ์มหาราชเจ้า สยามินทร์
พระเกียรติพระลือระบิล เกริกก้อง
ไทยเทศทั่วสกลยิน ยลทั่ว
พระราชกรณียกิจพ้อง แผ่ล้วนคุณอนันต์
จากหนังสือ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ ประเทศสวีเดน
๑๕๐ ปี พระพุทธเจ้าหลวง
๒๐ กันยายน ๒๕๔๖ - ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก ๑๕๐ ปี พระพุทธเจ้าหลวง
บาด ฮอมบวร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.๒๕๕๐
๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเปิดบ่อน้ำพุ "โกนิคจุฬาลงกรณ์"
วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน ร.ศ.๑๒๖ พ.ศ.๒๔๕๐ เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ ให้ชื่อย่อว่าพุ "โกนิคจุฬาลงกรณ์"
โรงอาบน้ำแร่ที่เมืองฮอมเบิค เมื่อครั้งเสด็จประพาส พ.ศ.๒๔๕๐ (ซ้าย) และ ในปัจจุบัน (ขวา)
เมื่อเสด็จฯ กลับจากยุโรปแล้ว ทรงพระกรุณาฯ ให้สร้างศาลาไทยครอบน้ำพุ"โกนิคจุฬาลงกรณ์" ที่ทรงเปิด และพระราชทานให้เมืองบาด ฮอมบวร์ก แต่ต่อมา ทางเมืองบาด ฮอมบวร์ก เห็นว่าศาลาไทยมีความงดงาม จึงได้นำไป ตั้งไว้ที่สวนสาธารณะประจำเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของทั้ง ชาวไทยและชาวเยอรมัน
พ.ศ.๒๕๕๐ ในวโรกาสครบร้อยปีเสด็จประพาสเยอรมนี รัฐบาลไทยกับเทศบาลเมืองบาด ฮอมบวร์ค ได้จัดโครงการสร้างถาวรวัตถุ ได้พิจารณา สร้างศาลาไทยขึ้นที่บ่อน้ำพุ"โกนิคจุฬาลงกรณ์" ในสวนสาธารณะ Kurpark ทดแทนศาลาเดิม ตามพระราชประสงค์เดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสด็จฯ ประพาสเยอรมนีในครั้งนั้น
ทางการไทยได้กระทำพิธีมอบให้แก่เทศบาลเมืองบาด ฮอมบวร์ก เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐
ศาลาไทย ณ บ่อน้ำพุ "โกนิคจุฬาลงกรณ์" เมืองบาด ฮอมบวร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
พระพุทธศักราช ๒๕๕๓ ถ้วนศตวรรษเสด็จสวรรคต
ปวงพสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้ลืม
ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญ
ดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน
ทรงสถิตเสวยสุข ณ ทิพยสถานชั่วนิรันดร์ เทอญ.
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
บรรณานุกรม
- จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรวบรวม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
- หนังสือ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ ๕ ประเทศสวีเดน
- การทหารของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / กรมยุทธการทหารบก -- กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, ๒๕๔๑ ISBN 974-7508-19-2
- ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ หากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป