dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ไทยกับ "มหาสงคราม" (๑) - ความเป็นกลางนั้นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

*  *  *

การศึกครั้งนี้เรียกนามได้ว่า "มหาสงคราม" เพราะได้กระเทือนไปแทบทั่วโลก

 

 

เหตุแห่งสงคราม

          เหตุแห่งสงครามทุกครั้งที่แท้จริงแล้วก็คือ  ผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ  ส่วนจะทำสงครามกันหรือไม่ เมื่อใด นั้น  ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ระหว่างประเทศในห้วงเวลา  มหายุทธสงครามนี้ ก็มีสาเหตุมาจากผลประโยชน์ของชาติต่างๆ นั่นเอง

          ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ขัดแย้งกันของชาติ หรือ กลุ่มชาติ ต่างก็พยายามหาทางออกที่เป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุด  เมื่อยังไม่มีโอกาส ก็ต้องอดกลั้น และ รอโอกาส และจังหวะอันเหมาะ  หรืออาจจะได้ประโยชน์ทางอื่นด้านอื่นชดเชย ก็เป็นที่ยอมรับได้       

 

การสะสมความขัดแย้ง - สะสมเชื้อไฟสงคราม

ขัดแย้งกันเรื่องอาณานิคม

           นับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม  ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป    การอุตสาหกรรม   และการเดินเรือเจริญ ก้าวหน้าอย่างมาก  ประเทศในยุโรปต่างก็ส่งกองเรือออกแสวงหาอาณานิคมไปทั่วโลก เพื่อแสวงหาแหล่งทรัพยากร  วัตถุดิบมาป้อนโรงงานเพื่อผลิตสินค้า และเป็นตลาดเพื่อขายสินค้า   จนขัดแย้งกัน  เช่น

     - อังกฤษกับเยอรมัน เรื่องแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ 

     - อังกฤษกับฝรั่งเศส เรื่องลุ่มแม่น้ำไนล์ 

     - เยอรมันกับฝรั่งเศส เรื่องมอร็อกโกและแอฟริกาตะวันตก 

     - อังกฤษกับรัสเซีย เรื่องเปอร์เซียและอาฟกานิสถาน

 

การแย่งชิงเชื้อเพลิงและวัตถุดิบ 

          เมื่อโรงงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  โรงงานเหล่านั้นก็ต้องการใช้เชื้อเพลิงในการผลิต    เชื้อเพลิงที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางคือ ถ่านหิน   นอกจากเชื้อเพลิงแล้ว ก็ยังต้องการวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงาน  วัตถุดิบที่สำคัญเป็นที่ต้องการยิ่ง คือ เหล็ก   

          ก็ถ่านหิน และเหล็กในยุโรปนั้นอุดมสมบูรณ์ในแคว้น อัลซาส - ลอร์เรน   ดินแดนระหว่าง ฝรั่งเศส และ ปรัสเซีย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สงครามฟรังโก - ปรัสเซียน  (Franco - Prussian War)

         พ.ศ.๒๔๑๓ - ๒๔๑๔ (ค.ศ.๑๘๗๐ - ๑๘๗๑)  ได้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสและปรัสเซีย  ซึ่งปรัสเซียมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดซึ่งเกิดผลอย่างกว้างขวางหลายประการ  เช่น

          ๑.  ชนชาติเยอรมันเกิดความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เกิดเอกภาพในการต่อสู้  เป็นผู้นำทางการทหาร  และเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของยุโรป   พระเจ้าวิลเฮล์ม ที่ ๑  แห่งปรัสเซียได้ทรงประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมนีขึ้นและสถาปนาพระองค์ เป็นพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี    และสถาปนาออตโต ฟอน  บิสมาร์ค ให้เป็น เจ้าชาย และ อัครมหาเสนาบดี  ณ พระราชวังแวร์ซาย ในปี พ.ศ.๒๔๑๔  (ค.ศ.๑๘๗๑)    หลังจากนั้น แคว้นมัคเลนบวร์ก  บาวาเรีย  บาเดน  เวอร์ทเท็มแบร์ก  และ แซ็กโซนี ก็ขvเข้าร่วมกับ จักรวรรดิเยอรมนี

          ๒.  ทางด้านฝรั่งเศส    พระเจ้านโปเลียนที่ ๓  ต้องสละราชสมบัติ  และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐที่ ๓

          ๓.  เยอรมันเรียกเอาแคว้นอัลซาส - ลอร์เรน ซึ่งเป็นแคว้นที่อุดมไปด้วยแร่เหล็กและถ่านหิน จากฝรั่งเศส     ส่งผลให้เยอรมนีเจริญรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรมและการทหาร  ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสเคียดแค้นเป็นอันมาก  และต้องการช่วงชิงเอากลับคืนให้ได้   

          ๔.  เกิดผลทางการเมืองระหว่างประเทศโดยต่างแสวงหาพันธมิตรขึ้นในยุโรปอย่างกว้างขวาง  ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

 

 

 

 Napoléon III                                                            Wilhelm I

Emperor of the French:       German Emperor, King of Prussia 

2 December 1852–4 September 1870    Regent: 1858 - 1861

1st President of the French Republic:           King: 1861 - 1888

Term  20 December 1848–2 December 1852    Emperor: 1871 - 1888

 

 

 

ความขัดแย้งเรื่องอิทธิพลในแหลมบอลข่าน

 

           ออสเตรีย – ฮังการีขัดแย้งกับเซอร์เบีย  เรื่องการสร้างเขตอิทธิพลในแหลมบอลข่าน    เยอรมนีสนับสนุนออสเตรีย – ฮังการี

 

          ขณะที่รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย    ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นจนเป็นสงครามระหว่างรัฐในแหลมบอลข่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕  

 

มหาอำนาจจึงมีโอกาสแทรกแซงและตั้งกลุ่มพันธมิตร 

 

 

 

 

          ระหว่างที่ผลประโยชน์ของชาติในยุโรปยังขัดกันอยู่นี้แต่ละประเทศต่างก็ดำเนินการทางการทูตแสวงหาสมัครพรรคพวกหรือพันธมิตรไว้คอยช่วยเหลือยามคับขัน  

 

 

 

 

 

 

 

การแสวงหาพันธมิตร         

          ในที่สุด   จึงเกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ  คือ 

          เยอรมนี รวมกับออสเตรีย - ฮังการี และ อิตาลี  ซึ่งโดยทั่วไปเรียกกันว่า "ฝ่ายมหาอำนาจกลาง " "Central Power" หรือ  "ไตรภาคี"   Triple  Alliance  

          ส่วนฝรั่งเศส รวมกับรัสเซีย และอังกฤษ เรียกว่า "ไตรพันธมิตร"  Triple  Entente

 

 

 

 

 

 

 

"ไตรภาคี"  Triple Alliance - "ไตรพันธมิตร"  Triple Entente - "เป็นกลาง"  Neutral countries

 

 

ความขัดแย้งดังกล่าวที่สะสมเข้าไว้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการสะสมเชื้อไฟแห่งสงคราม  รอเวลาที่จะเกิดการจุดเชื้อปะทุ

ให้เชื้อไฟเหล่านั้น  เท่านั้นเอง

 

 

สาเหตุปัจจุบัน - การจุดเชื้อปะทุ

             การจุดเชื้อปะทุให้เชื้อเพลิงแห่งสงคราม คราวนี้  เกิดขึ้นเมื่อ

 

          ในวันที่  ๒๘  มิถุนายน  ๒๔๕๗   

          อาร์ชดุ๊ก ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย และพระชายา ดัสเชส โซฟี่   เสด็จเยือนเมืองซาราเจโว  เมืองหลวงของแคว้นบอสเนีย และเฮอเซโกวินา  (Bosnia and Herzegovina)  ในราชอาณาจักรออสเตรีย    

 

         ได้ถูกนักศึกษาชาตินิยมชาวเซอร์เบีย ชื่อ กาฟริลโล ปรินซิป (Gavrilo Princip)   ปลงพระชนม์ขณะประทับในรถพระที่นั่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         รัฐบาลออสเตรีย - ฮังการียื่นคำขาดให้เซอร์เบียส่งคนร้ายให้ออสเตรียพิจารณาโทษ 

          รัฐบาลเซอร์เบียไม่อาจยอมรับได้     จึงปฏิเสธ  ไม่ส่งคนร้ายให้ออสเตรียพิจารณาโทษตามที่ออสเตรียต้องการ 

 

สงครามเริ่มแล้ว

ออสเตรีย-ฮังการี  ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย

           เมื่อเซอร์เบียไม่ยอมตามปฏิบัติตามคำขาด       ออสเตรีย-ฮังการี จึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย ในวันที่   ๒๘   กรกฎาคม   ๒๔๕๗ 

           รัสเซียได้เข้าสนับสนุนเซอร์เบียและเรียกระดมพลเตรียมทำสงคราม      เยอรมนีจึงเรียกร้องให้รัสเซียยุติการดำเนินการภายใน  ๑๒  ชั่วโมง  รัสเซียไม่สนใจ ข้อเรียกร้องนั้น

 

เยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซีย และฝรั่งเศส

           เยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียในวันที่  ๑  สิงหาคม  ค.ศ.๑๙๑๔  (พ.ศ.๒๔๕๗)  และ กับฝรั่งเศสในวันที่   ๓  สิงหาคม  ค.ศ.๑๙๑๔   หลังจากเยอรมนีประกาศสงครามกับรัสเซียและฝรั่งเศสแล้ว ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าละเมิดความเป็นกลางของประเทศเบลเยี่ยม ใน  ๓  สิงหาคม  เพื่อขอเป็นทางผ่านในการบุกฝรั่งเศส    

 

อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี         

          อังกฤษ จึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในวันที่   ๓  สิงหาคม  ค.ศ.๑๙๑๔

 

          ฝ่ายเยอรมนี   ออสเตรีย - อังการี   หรือ "ฝ่ายมหาอำนาจกลาง" (Central Powers) ได้มีประเทศที่มาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย คือ  จักรวรรดิออตโตมาน (ตุรกี)ได้เข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อเดือนตุลาคม   ๒๔๕๗  เข้าโจมตีจักรวรรดิเปอร์เซีย    บัลแกเรียเข้า ร่วมสงครามในอีกปีต่อมา คือ พ.ศ.๒๔๕๘  ได้ผนวกเอาโรมาเนีย แอลเบเนีย และโจมตีกรีซ 

          ส่วนอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามฝ่ายสัมพันธมิตร (the Allies) ได้ประเทศต่าง ๆ อีกหลายประเทศเข้าร่วม   เช่น อิตาลี เข้าร่วมเมื่อเดือนเมษายน  ๒๔๕๘   รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น

 

ความเป็นไปแห่งมหาสงคราม

           ในช่วงต้นของสงคราม พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๕๙    ฝ่ายเยอรมันมีกำลังมากกว่าและประสิทธิภาพการรบสูงกว่า   จึงได้ประสบชัยชนะในการรบตามลำดับ  

 

 

 

แผน  Schlieffen 1905 ของเยอรมัน (สีแดง)  และแผน  XVII  ของฝรั่งเศส  (สีน้ำเงิน)

 

 

         สถานการณ์โดยทั่วไปเยอรมันได้เปรียบในการรบ   

          โดยเฉพาะแนวรบด้านตะวันตก  สามารถรุกเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศสจนถึงแม่น้ำมาร์น  ใกล้กรุงปารีส   

          แต่ทางแนวรบด้านตะวันออก  ถูก กองทัพรัสเซียโจมตีปรัสเซียตะวันออกอย่างรุนแรงและน่ากลัว ทำให้เยอรมนีจำเป็นต้องแบ่งกองทัพจากแนวรบด้านตะวันตกมาเสริมแนวตั้งรับด้านรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก    ทำให้เสียน้ำหนักการรุกเข้าสู่กรุงปารีส  (แนวรบด้านตะวันตก)

          อย่างไรก็ตาม  กองทัพเยอรมันก็สามารถ "ยัน" และ "รุกโต้ตอบ" กองทัพรัสเซียได้ที่ทุ่งแทนเนนเบอร์ก    ตั้งแต่วันที่  ๑๗  สิงหาคม  จนถึง  ๒  กันยายน   ๒๔๕๗    ทำให้เยอรมนีปลอดภัยจากกองทัพรัสเซีย     แต่ก็ถูกกองทัพฝรั่งเศสรุกโต้ตอบที่แม่น้ำมาร์นเหมือนกัน

 

๕ - ๙  กันยายน  ๒๔๕๗    การรบที่แม่น้ำมาร์น  

           เยอรมนีกำลังเตรียมบุกปารีส  แต่ฝ่ายพันธมิตร เริ่มนำกำลังออกจากปารีสรุกโต้ตอบกองทัพเยอรมัน ได้สำเร็จ

          ในเดือนเมษายน  ๒๔๕๘   ฝ่ายเยอรมนีเริ่มใช้ก๊าซคลอรีนเป็นครั้งแรก (เป็นการละเมิด การประชุมกรุงเฮก)

           เดือนพฤษภาคม  ๒๔๕๘  อิตาลี เปลี่ยนนโบาย กลับประกาศสงครามกับออสเตรีย - ฮังการี  และประกาศสงครามกับเยอรมนี ใน  พ.ศ.๒๔๕๙

 

การรบที่แม่น้ำซอมม์ 

           วันที่  ๑  กรกฎาคม   พ.ศ.๒๔๕๙   เป็นวันแรกของยุทธภูมิแม่น้ำซอมม์  กองทัพอังกฤษสูญเสียที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์  ความสูญเสียกว่า   ๕๗,๔๗๐  นาย  และเสียชีวิตกว่า   ๑๙,๒๔๐  นาย   ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างชั่วโมงแรกของการรบ

 

          กุมภาพันธ์   ๒๔๖๐   พระเจ้านิโคลัสที่ ๒  แห่งจักรวรรดิรัสเซียต้องทรงสละราชสมบัติ  เนื่องจากเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบจักรวรรดิในรัสเซีย  เปลี่ยนมาเป็นการปกครองโดยกลุ่มบอลเชวิค ซึ่งเปลี่ยนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์  ในปีต่อไป 

          เยอรมนีประกาศจะใช้เรือดำน้ำทำลายเรือข้าศึกและเรือสินค้าของทุกชาติโดยไม่มีข้อจำกัด    เรือสินค้าลำหนึ่งสหรัฐอเมริกาถูกเรือดำน้ำโจมตี

 

สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนี

         ๖  เมษายน  ๒๔๖๐  สหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี

 

ไทยกับ "มหาสงคราม"

 

 ในระหว่างเวลาตั้งแต่เริ่มต้นการสงคราม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

ประเทศสยามเป็นกลาง     ทั้งได้ถือและทำ ความเป็นกลางอยู่อย่างเคร่งครัด

 

ไทย  :  ความเป็นกลางนั้นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

           ถึงแม้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า  ประเทศสยามเป็นกลางและได้ถือและทำความเป็นกลางอยู่เคร่งครัดก็ตาม   แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทรงติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดมา  เพราะทรงตระหนักดีว่า หากทรงตัดสินพระทัยผิดพลาดก็เท่ากับนำเอาประเทศไปสู่ความหายนะ  

          ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพิจารณาเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ อย่างรอบคอบและสุขุมคัมภึรภาพแล้ว พระองค์จึงทรงประกาศกระแสพระบรมราชโองการว่าด้วยการสงคราม ซึ่งมีต่อประเทศเยรมะเนียและเอ๊าสเตรีย - ฮุงการี

 

 

ประกาศกระแสรพระบรมราชโองการว่าด้วยการสงคราม

ซึ่งมีต่อประเทศเยรมะเนียและเอ๊าสเตรีย - ฮุงการี 
 
 

          มีพระบรมราชโองการมานพระสุรสีหะนาท  ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า    ความจริงนั้น เมื่อเกิดสงครามขึ้นในยุโหรปแล้วก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ประกาศว่าประเทศสยามเป็นกลาง   และได้ถือและทำ ความเป็นกลางอยู่อย่างเคร่งครัดต่อมาในเวลาที่มีสงครามอันกล่าวแล้วนั้นจนทุกวันนี้

ฯลฯ

          เพราะเหตุฉะนั้น    บัดนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศแก่บันดาคนทั้งปวงผู้ซึ่งจะเกี่ยวข้องแก่การอันนี้ให้ทราบทั่วกันว่า    ทางพระราชไมครีอันเรียบร้อย  ซึ่งได้เคยมีอยู่ในระหว่างประเทศสยามฝ่ายหนึ่งกับประเทศเยรมะเนียและเอ๊าสเตรีย-ฮุงการี อีกฝ่ายหนึ่งนั้น    ได้บรรลุถึงที่สุดหมดสิ้นเสียแล้ว  และลักษณะแห่งการสงครามได้เข้ามาตั้งอยู่แทนที่ว่านั้นด้วย

ฯลฯ

ประกาศมาแต่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   ณ กรุงเทพมหานคร 

วันที่   ๒๒   กรกฎาคม   พระพุทธศักราช   ๒๔๖๐   เป็นปีที่  ๘  ในรัชกาลปัตยุบันนี้

 

 

 

 

          ตอนเช้า  หลังจากการประกาศสงครามผ่านไปแล้วด้วยความราบรื่น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องมหาพิชัยยุทธ  อันเป็นเครื่องทรงตามแบบโบราณประเพณีสำหรับพระมหากษัตริย์ ทรงเมื่อยามออกสงคราม คือ ทรงด้วยสีแดงทั้งพระองค์  ถูกต้องตามตำรามหาพิชัยยุทธว่า

“วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี   ภูษาสีแดงทรงเป็นมงคล” 

 

          เสด็จพระราชดำเนินไปยังปราสาทพระเทพบิดร    ทรงตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริยาธิราช ความว่า

 

 

 

".....ข้าพระองค์ ขออาศัยพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล  และ
 พระราชกุศลจริยานุวัติ  ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญแล้วต่อกันมาเป็นลำดับ   จนถึงรัชกาลของข้า
 พระองค์  จงบันดาลให้ชัยชนะมีแก่ประเทศทั้งปวง  ซึ่งร่วมกันเป็นสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่
 นั้นโดยฉับพลัน  ให้สันติภาพ คือ  ความสงบได้กลับคืนมีในโลกนี้พร้อมด้วยความมั่งคั่ง
 สมบูรณ์ในประเทศเหล่านั้นและกรุงสยาม"

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องมหาพิชัยยุทธ

 

 

เครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ 

          ประกอบด้วย พระภูษาไหม โจงกระเบนแบบไทยสีแดงเลือดนก ทรงสวมพระองค์นักรบไทยโบราณ ไม่มีแขนสีแดง รังดุม ๕ เม็ด  มีอักขระเลขยันต์เต็มทั่วทั้งพระองค์ไว้ชั้นใน   (นัยว่าฉลองพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยทรงสวมออกศึกสงครามมาแล้ว)   และทรงสวมฉลองพระองค์แพรแดงไว้ชั้นนอก เป็นแบบฝ่าอกครึ่ง กลัดกระดุมโลหะ ๕ เม็ด คอตั้งมีจีบรอบไหล่เล็กน้อย แขนยาวพับปลายข้อมือ ชายฉลองพระองค์ยาวคลุมลงมาเหนือพระชงฆ์เล็กน้อย ทรงคาดพระภูมิษาสมรดพื้นแดงคลุมด้วยสมรดตาดไหมทองแล่งผูกห้อยชายไว้ข้างซ้าย  ถุงพระบาทและฉลองพระบาทสีแดง พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ประดับด้วยนพรัตน์มีเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์


 
ส่วนประกอบพิธี

          ทรงทัดดอกลำเจียกสีแดงที่พระกรรณเบื้องขวา หมายถึงชัยชนะ  ทรงทัดใบมะตูม ๓ ใบ ที่พระกรรณเบื้องซ้าย หมายถึง ตรีมูรติ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลก ๓ องค์ คือ พระศิวะ พระวิษณุ และุพระพรหม (อะ อุ มะ โอม) หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง ตรีศูลเป็นอาวุธอันทรงพลานุภาพของพระอิศวรเป็นที่หวั่นเกรง แก่ ทวยเทพ และอสูรทั้งปวง พระหัตถ์ขวาทรงถือช่อชัยพฤกษ์ อันหมายถึงชัยชนะ  พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบ อันเป็นพระแสงดาบที่ทรงกฤดานุภาพอันยิ่งใหญ่ หมายถึง อำนาจ ทรงประทับเหยียบใบฝรั่ง เป็นการตัดไม้ข่มนาม   (ทหารอาสาไปราชการสงครามในทวีปยุโรปไปรบกับฝรั่ง)

 

ความมุ่งหมายแห่งการประกาศสงครามครั้งนี้  ก็เพื่อจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัญญานานาประเทศซึ่งได้กระทำไว้ต่อกัน   มิได้คิดจะกระทำศึกต่อการต้าขาย  ต่อชาติมนุษย์  หรือต่อความเรียบร้อยของโลกทั่วไปไม่

 

การดำเนินการต่อชนชาติของศัตรู

          อนึ่ง   ในวันประกาศสงครามนี้กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ทหารรักษาวินัยให้ถูกต้องตามข้อสัญญา ระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด คือ ไม่ทำร้าย หรือหมิ่นประมาท หรือการขัดต่อชาวต่างชาติถึงแม้จะเป็นชาติของศัตรูก็ตาม   ซึ่งทหารไทยก็สามารถปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี

 

         แต่   . . . เมื่อรัฐบาลสยามได้ประกาศสงครามกับประเทศท่ามกลางยุโหรปแล้ว    บันดาชนชาติสัตรูได้ถูกเจ้าน่าที่จับกุมไว้อย่างชเลยศึกทั้งสิ้น    สถานที่ควบคุมนั้น  ได้จัดไว้อย่างเรียบร้อย   การเลี้ยงดูได้จัดให้สมแก่ฐานะ   ชเลยไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องอาหารการกินเลย    ทั้งนี้  ตลอดจนครอบครัวที่เป็นหญิงและเป็นเด็ก   ส่วนทรัพย์สมบัติของชเลยก็ได้มีเจ้าน่าที่รักษา . . .

 

ทหารเรือกับมหาสงคราม

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนีและเอ๊าสเตรีย - ฮุงการีแล้ว ก็ได้ทรงจัดแบ่ง มอบหมายงานต่างๆ  ให้กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ  รับผิดชอบ ที่จะต้องกระทำโดยฉับพลันทันที   สำหรับ ทหารเรือนั้น มีหน้าที่ ในการจับกุม และ ยึดทรัพย์ เชลยทางน้ำ รวมทั้ง การตรวจตรา รักษาชายฝั่งทะเลของไทย    เมื่อจับยึดได้แล้วให้มอบตัวเชลย และ ทรัพย์สิน ที่ยึดได้ มาจากเรือสินค้าเหล่านั้น ให้อยู่ในความควบคุม ดูแล รักษาของทหารบก

          ในระหว่างสงครามนั้นเรือของฝ่ายเยอรมนีและพันธมิตรของเยอรมนี หลบหลีกเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตร เข้ามาจอดอยู่ในลำน้ำ เจ้าพระยา  หลายลำ    และในบริเวณใกล้ๆ อ่าวไทย  ก็มีอยู่หลายสิบลำ 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมอบภารกิจ ในการจับยึดเรือ ใน น่านน้ำไทย ให้  นายพลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  การปฏิบัติภารกิจ  ได้ทรงจัดกำลัง จากนายทหารเรือไทยที่สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายช่างกล โดยมี นายนาวาตรี หลวงหาญกลางสมุทร  (บุญมี พันธุมนาวิน) เป็นผู้บังคับบัญชา เข้าปฏิบัติการ จับยึดเรือชาติศัตรูในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้จำนวน  ๒๕ ลำ จับเชลยได้  ๑๔๐ คน

           นอกจากยึดเรือเชลยแล้วทหารเรือยังได้จัดให้มีการลาดตระเวนอ่าวไทย ด้วยเรือรบซึ่งมีนายทหาร และพลประจำเรือ  ล้วนแต่เป็นคนไทย ทั้งสิ้น 

นับได้ว่า  เป็นครั้งแรก ที่นายทหารเรือไทยที่สำเร็จ การศึกษา จากโรงเรียนนายเรือ และ โรงเรียนนายช่างกล ได้ออกงานพระราชสงคราม 

 

ประกาศเรียกพลอาสา

          การที่รัฐบาลประกาศสงครามครั้งนี้  มิได้กระทำแต่เพียงประกาศสงครามเฉยๆ แล้วนิ่งอยู่ในเมือง    รัฐบาลได้พยายามที่จะช่วยเหลือราชสัมพันธมิตร์ทุกสิ่งทุกอย่างโดยเต็มกำลัง    ฉะนั้น  เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสสแดงความประสงค์ขอให้รัฐบาลจัดส่งกองทหารออกไปช่วยรบในสมรภูมิ์ร่วมมือกับสัมพันธมิตร์    ทางราชการจึงได้จัดการเรียกพลอาสาทันที . . . โดยกระทรวงกลาโหมได้ออกแจ้งความ  เมื่อ  วันที่   ๒๑  กันยายน   พ.ศ.๒๔๖๐
 

 

พระราชประสงค์ที่จะส่งกองทหารออกไปทำการสงคราม

          พระราชประสงค์ที่จะส่งกองทหารออกไปทำการสงคราม นี้ก็เพื่อ

               - แสดงแก่ราชสัมพันธมิตรร่วมศึกว่ากรุงสยามเต็มใจแท้จริงที่จะช่วยสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ทำการสงครามสำหรับทรงไว้ซึ่งอืสรภาพแก่ประเทศทั้งปวงไม่ว่าน้อยใหญ่

               - ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมระหว่างประเทศ

               - ปราบปรามผู้ที่ประพฤติผิดไม่ถือธรรมเป็นใหญ่นั้นให้รู้สำนึกตัว

               - นำธงของชาติไทยไปสู่ทวีปยุโรป    แผ่เกียรติยศเกียรติคุณของชาติไทย ว่าทำการร่วมศึดเสมอหน้ากับมหาประเทศต่างๆ

               - ทหารที่ทำงานพระราชสงครามครั้งนี้จะได้รับความชำนาญที่จะปฏิบัติการในเวลาสงครามจริง

               - สังเกต จดจำกิจการความชำนาญของกองทัพสัมพันธมิตรที่ได้ทำสงครามมาแล้วกว่า  ๓  ปีนำมาเป็นหลักบำรุงกองทัพบกไทยให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีก

          และ    ทหารที่จะออกไปราชการครั้งนี้จะได้จัดเป็นกองบินทหารบก  มีนักบิน  ช่างเครื่องยนต์   และเจ้าหน้าที่พยาบาลพร้อมมูล 

 

ส่งกองฑูตทหารไปประจำกับกองทัพสัมพันธมิตร

 

          ในระหว่างที่เตรียมการรับสมัครพลอาสาเข้าประจำการนี้  ก็ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดกองฑูตทหารออกไปติดต่อกับราชสัมพันธมิตร ดังนี้

          ๑. นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  (ผาด  เทพหัศดิน  ณ  กรุงเทพ)   เป็นหัวหน้าฑูตทหาร

          ๒. นายพันโท  พระทรงสุรเดช   (ใหญ่  เกตุทัต)    เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฑูตทหาร

          ๓. นายพันโท  หม่อมเจ้าฉัตรมงคล    เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฑูตทหาร

          ๔. นายพันตรี  หม่อมเจ้าอมรทัต    ผู้ช่วยฑูตในราชการทหารบก  (ประจำกรุงปารีส)  เป็นหัวหน้าฑูตทหาร อีกตำแหน่งหนึ่ง

          ๕. นายร้อยเอก  สาย  ปุณณะภุม    ประจำกองฑูต

          ๖. นายร้อยโท  เมี้ยน  โรหิตเศรนี

          ๗. นายร้อยตรี  หม่อมราชวงศ์  ตัน  สนิทวงศ์  ณ กรุงเทพ

          ๘. นายร้อยตรี  กระมล  โชติกเสถียร

          ๙. นายร้อยตรี  เภา  เพียรเลิศ

         ๑๐. นายร้อยตรี  ภักดิ์  เกษสาลี

         ๑๑. นายร้อยตรี  ชั้น  ช่วงสุคันธ์

         ๑๒. นายร้อยตรี  วัน  ชูถิ่น

             กองฑูตทหารนี้ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารบก  (ในเวลานั้น   คือ  นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ   เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ)

 

 

 

 

 

 นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ

เสนาธิการทหารบก

     

 

 ๒๘  กันยายน   ๒๔๖๐   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติสยามแทนธงช้าง

 

 

 

 

 

๙  มกราคม ๒๔๖๐     (ขณะนั้น ขึ้นปีใหม่ในวันที่  ๑ เมษายน) 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงกองฑูตร่วมศึกสัมพันธมิตรของไทย   ณ  พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

๑๑  มกราคม  ๒๔๖๐  

          กองฑูตทหารได้เดินทางโดยรถไฟหลวงสายใต้ไปถึงเมืองสิงคโปร์  แล้วโดยสารเรือ  อามาโซน   AmaZone  ของบริษัท  เม็สซาจรีส์  มาริตีมส์   Messageries  Maritimes   ออกเดินทางจากสิงคโปร์เมื่อ  ๒๑  มกราคม    ถึงท่าเรือเมือง  มาเซย์  ประเทศฝรั่งเศส    ๒๑  กุมภาพันธ์    เดินทางด้วยรถไฟต่อไป   ถึงกรุงปารีส  เมื่อ   ๒๔   กุมภาพันธ์  ๒๔๖๐

          เมื่อคณะฑูตทหารได้ไปถึงกรุงปารีส  ได้ประสานงาน  เตรียมการตกลงรายละเอียดกับกองทัพฝรั่งเศสหลายเรื่อง  เช่น  เรื่องที่อยู่ที่พัก  เรื่องอาหารการกิน  การขนส่ง  การฝึกอบรม  การปกครองบังคับบัญชา  การศาลทหาร  เป็นต้น

          การรักษาพยาบาล    ทหารป่วยที่ต้องส่งกลับมารักษาพยาบาล    คณะฑูตฯ ได้ประสานกับโรงพยาบาลของอังกฤษและอเมริกันให้รับรักษาทหารไทยด้วยเพราะพูดจากันเข้าใจดีกว่าภาษาฝรั่งเศส

          กองฑูตทหารตั้งอยู่ที่   3 Bd. Belessert  ในกรุงปารีส    และได้จัดให้มีที่พักสำหรับทหารในสนามที่ถึงกำหนดพักผ่อนและฟื้นฟูได้เข้ามาพักด้วย   มีที่พักให้พักได้  ๕๐  คน

 

การรับทหารอาสาเข้าประจำการในกรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๔๖๐

          สำหรับการคัดเลือกและรับคนอาสาเพื่อไปในงานพระราชสงคราม   กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งตั้งให้นายทหารเป็นคณะกรรมการ  ซึ่งได้ตรวจคัดเลือกคนสมัครในโรงเรียนทหารบก หลังพระราชวังสราญรมย์  คัดคนในพระนครก่อน    ครั้นแล้ว  กรรมการบางนายจึงได้เดินทางไปตรวจคัดเลือกคนอาสาตามหัวเมือง

          เมื่อเสร็จการคัดเลือกแล้วจึงได้วางแผนการรับคน,  สำหรับการที่จะส่งกองทหารออกไปงานพระราชสงครามครั้งนี้ ได้จัดตั้งกองทหารขึ้น  คือ

          ๑) กองบินทหารบก  มีนายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ  (ทิพย์  เกตุทัต)  เป็นผู้บังคับบัญชา  เรียกว่า  ผู้บังคับกองบิน

          ๒) กองทหารบกรถยนต์  มีนายร้อยเอก  ต๋อย  หัสดิเสวี  เป็นผู้บังคับบัญชา  เรียกว่า  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์

          ทั้ง  ๒ กองนี้มีหมวดพยาบาลประจำพร้อม    กองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงครามทั้ง  ๒ กองนี้  ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของนายพันเอกพระเฉลิมอากาศ ในตำแหน่งผู้บังคับกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม

 

 

          ในระหว่างเวลาที่กองทหารยังอยู่ในกรุงเทพฯ   กองบินทหารบก  ได้ใช้สถานที่โรงทหารกองบินที่ดอนเมือง เป็นที่อยู่และฝึกหัดสั่งสอน    

 

          ส่วนกองทหารบกรถยนต์ได้ใช้สถานที่ในศาลาว่าการกลาโหม  (ชั้นบน) เป็นที่พักของทหาร

 

 

วันที่  ๑๖  มกราคม  พ.ศ.๒๔๖๐   

          นายทหารสัญญาบัตรส่วนหนึ่งซึ่งคัดเลือกสำหรับเป็นศิษย์การบินได้ไปรายงานตนเองต่อผู้บังคับบัญชาที่ดอนเมือง เพื่อรับการฝึกหัดสั่งสอน  

          ในวันเดียวกันนี้  นายร้อยเอก  ต๋อย  หัสดิเสวี ได้รับคำสั่งให้รับนายทหารซึ่งจะบรรจุเข้าในตำแหน่งผู้บังคับกองย่อยใน กองทหารบกรถยนต์  ๘ นาย   คือ  นายร้อยโท  ศรี  ศุขะวาที   นายร้อยโท   แม้น  เหมะจุฑา   นายร้อยโท  เพิ่ม  อุณหสูต   นายร้อยโท  หม่อมเจ้านิตยากร   นายร้อยโท  หม่อมหลวง  ดวง  สุทัศน์  ณ  กรุงเทพ   นายร้อยโท  เอิบ  รักประเทศ   นายร้อยโท  มุ่ย  มังคลานนท์   นายร้อยโท  พล  เสนีวงศ์  ณ  กรุงเทพ

          นายทหารทั้ง   ๙  นายนี้    ได้จัดการเตรียมที่พักสำหรัทหารอาสาซึ่งจะเรียกเข้าประจำการ   และ นายร้อยเอก  ต๋อย  หัสดิเสวี  ได้เริ่มตั้งต้นอำนวยการสอนวิธีขับรถยนต์แก่บรรดานายทหารเหล่านี้ด้วย

          ครั้นวันที่  ๓๐  มกราคม    นายทหารชั้นประทวนซึ่งได้คัดเลือกได้มารายงานตนเองต่อผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ ในศาลาว่าการกลาโหม      รุ่งขึ้น จึงได้มีการคัดเลือกนายทหารชั้นประทวนสำหรับบรรจุเข้าใน กองบินทหารบก

 

วันที่   ๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๖๐   

          บรรดาชายฉกรรจ์ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีอาสาสำหรับไปพระราชสงคราม  ต่างได้ยินดีรีบมารายงานตนเองตามกำหนดที่นัดไว้   ผู้ซึ่งรับราชการในครั้งนี้    มีบุคคลหลายชนิด  กล่าวคือ    ทหารบกกองหนุน, ทหารเรือกองหนุน, ตำรวจภูธรและตำรวจพระนครบาล,พลเมืองซึ่งเคยเป็นเสือป่ามาแล้ว  พวกนี้ นับว่ารู้จักท่าทหารบ้าง  กับยังมีพวกพลเมืองซึ่งยังมิได้เคยรับการฝึกหัดท่าทหารมาเลยนั้นอีกด้วย

          ผู้บังคับกองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงคราม ได้มอบให้ ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์   เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกหัดสั่งสอนทหารอาสาทั่วไป  ตลอดจนการเบิกจ่ายเครื่องแต่งกายทหาร

          เพื่อให้การฝึกหัดสั่งสอนดำเนินไปโดนเร็วตามความมุ่งหมายของทางราชการ    จึงได้จัดการแบ่งทหารเข้าประจำกองย่อยสำหรับการฝึกขั้นต้นนี้ตามภูมิรู้ของทหารซึ่งมีมาแล้ว  . . .  ฯลฯ  . . .  โดยเหตุที่บรรดาทหารเป็นผู้ซึ่งเต็มใจสมัครเข้ารับราชการทั้งสิ้น    และอาศัยที่ผู้ฝึกหัดได้ใช้ความพยายามโดยเต็มกำลัง   ภายใน  ๗  วัน  การฝึกหัดท่ามือเปล่าได้ดำเนินไปจนนับว่าพอใช้ราชการได้    ตั้งแต่วันที่  ๘  เป็นต้นไปเริ่มฝึกหัดท่าปืน

        ครั้นวันที่   ๑๕  กุมภาพันธ์    ทหารประจำการซึ่งกรรมการคัดเลือกสำหรับไปงานพระราชสงครามได้มารายงานตนเองต่อผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์      วันที่  ๑๘  กุมภาพันธ์    ได้คัดเลือกนายสิบพลทหารซึ่งจะให้เข้ารับราชการในกองบินทหารบกส่งไปดอนเมืองโดยทางรถไฟหลวง

         เมื่อได้แยกทหารเป็นกองรถยนต์และกองบินแล้ว    จำเป็นต้องบรรจุแบ่งทหารใหม่

          กองบินทหารบก    จัดเป็น  ๓  กองใหญ่

          กองบินใหญ่ที่  ๑   (กองขับไล่)    มีนายร้อยเอก  ปลื้ม  สุคนธสาร   เป็นผู้บังคับบัญชา

          กองบินใหญ่ที่  ๒   (กองลาดตระเวณ)    มีนายร้อยโท  เหม  ยศธร   เป็นผู้บังคับบัญชา

          กองบินใหญ่ที่  ๓   (กองทิ้งระเบิด)    มีนายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ   เป็นผู้บังคับบัญชา

          ในกองใหญ่  ๑  กอง    มีผู้บังคับบัญชานายและพลทหาร,นักบิน,ช่างเครื่องยนต์  และแพทย์พลพยาบาลประจำ  ประมาณ  ๑๓๕  คน      ทั้ง  ๓  กองใหญ่  มีทหาร  ๔๐๐  คน  เศษ

          กองทหารบกรถยนต์    นั้นจัดเป็น  ๑  กองใหญ่  ในบังคับบัญชานายร้อยเอก  ต๋อย  หัสดิเสวี   มีทหารในกองใหญ่  ทั้งพลรบ  และผู้ช่วยพลรบ  ประมาณ  ๘๕๐  คน    กองทหารบกรถยนต์  ในชั้นนี้  จัดแบ่งเป็น  ๘  กองย่อย  แต่ละกองย่อย   มี  นายทหาร,นายสิบพลทหารประมาณ  ๑๐๐  คน    มีนายทหารเป็นผู้บังคับกองย่อย  ดังนี้

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๑    นายร้อยโท  หม่อมเจ้านิตยากร

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๒    นายร้อยโท  เอิบ  รักประเทศ

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๓    นายร้อยโท  หม่อมหลวง  ดวง  สุทัศน์  ณ  กรุงเทพ 

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๔    นายร้อยโท  ศรี  ศุขะวาที

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๕    นายร้อยโท   แม้น  เหมะจุฑา

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๖    นายร้อยโท  พล  เสนีวงศ์  ณ  กรุงเทพ

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๗    นายร้อยโท  มุ่ย  มังคลานนท์

               ผู้บังคับกองย่อยที่  ๘    นายร้อยโท  เพิ่ม  อุณหสูต

              ผู้บังคับหมวดพยาบาล    นายร้อยตรี  ชุ่ม  จิตร์เมตตา

 

          การฝึกหัดสั่งสอนอย่างทหารราบ และการเตรียมพร้อมสำหรับเคลื่อนที่นี้น    ได้แล้วเสร็จในปลายเดือนกุมภาพันธ์  นั้นเอง    แต่โดยเหตุที่ในขณะสงครามราชสัมพันธมิตรมีความจำเป็นต้องใช้เรือกลไฟสำหรับการลำเลียงกำลังทหารและเสบียงมากมาย    เรือเดินทะเลขนาดใหญ่จึงไม่ว่างสำหรับมารับกองทหารไทย    ส่วนเรือเดินทะเลของไทย  (เรือเชลย) ที่มีอยู่ในขณะนั้น    รัฐบาลสยามก็ได้แบ่งปันให้ราชสัมพันธมิตรยืม เช่าไปทั้งสิ้น     เพราะฉะนั้น  ใน พ.ศ.๒๔๖๐ นี้   กองทหารไทยจึงยังมิได้เคลื่อนที่ไปจากพระมหานคร

 

กิจการเป็นไปของกองทหารฯ ในกรุงเทพฯ  ต้น พ.ศ.๒๔๖๑

          วันที่  ๓  เมษายน  ๒๔๖๑    ได้รวมทหารทั้งกองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ในศาลาว่าการกลาโหม  

               เวลา  ๑๓๐๐    ได้นำแถวทหารไปยังโรงเรียนทหารบกหลังพระราชวังสราญรมย์  ให้ทหารได้กระทำการสาบาลตนต่อธงชัยเฉลิมพล    ครั้นแล้วทหารได้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยารวมเป็นพิธีเดียวกัน   

               เวลากลางคืนได้จัดให้มีมหรสพ เป็นการฉลองตามธรรมเนียมทหาร    นอกจากการมหรสพแล้ว  ได้จัดการเลี้ยงทหารอย่างอิ่มหนำสำราญ   การฉลองได้เป็นไปโดยร่าเริง    ทหารทุกคนรู้สึกว่าได้อยู่ใต้ร่วมธงเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแท้ๆ

 

การพระราชทานเลี้ยงส่งกองทหาร

          วันที่  ๒๕  พฤษภาคม  ๒๔๖๑    ทหารในกองทหารบกรถยนต์เริ่มแต่งกายเครื่องสีกากี  (อย่างที่จะไปในงานพระราชสงคราม)  เป็นครั้งแรกที่เริ่มใช้เสื้อกางเกงสีกากีในกองทัพบกสยาม

               เวลา  ๑๗๐๐    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ทหารในกองทหารบกรถยนต์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท   ณ  สนามทางทิศตะวันออกแห่งพระที่นั่งอนันตสมาคม    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสมาเงินมีสายพร้อมแก่ทหารทุกคน

         ครั้นรุ่งขึ้น  วันที่  ๒๖  พฤษภาคม  ๒๔๖๑  นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  ผู้บังคับกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม  ได้นำทหารกองบินทหารบกเข้าเฝ้าฯ  ตั้งแถวคอยเฝ้า  ณ  ที่เดียวกับกองทหารบกรถยนต์เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันก่อน

             เวลา  ๑๗๐๐   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกยังพลับพลาที่ประทับ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสมาเงินแก่ทหารในกองบินทั่วกันทุกคน

เสมานั้นด้านหนึ่งมีอักษรพระบรมนามาภิธัยย่ออักษร "ร" อยู่ในพระมหามงกุฎ  มีเสวตรฉัตร์ข้างเคียง

อีกด้านหนึ่งนั้นจารึกว่า "พระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม  ๒๔๖๐"

 

          ครั้นเสร็จการพระราชทานเสมาแล้ว    บรรดานายสิบพลทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงคราม  (ทั้งกองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์)  ได้รับพระราชทานเลี้ยงส่งในปรำท้องสนามด้านตะวันออก  แห่งพระที่นั่งอนันตสมาคม    ส่วนนายทหารสัญญาบัตร พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ บางท่าน  ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่เชิญเสด็จและเชิญมานั้น  ได้รับพระราชทานเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยบนพระที่นั่งอนันตสมาคม

          เมื่อจวนจะเสร็จการเลี้ยง    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสแก่ทหารดังต่อไปนี้

 

               "ดูกร  ท่านทหารทั้งหลาย

                    ข้าพเจ้าเชิญท่านทั้งหลายมาสโมสรประชุมและเลี้ยงส่งทหารซึ่งจะออกไปนอกประเทศในวันนี้    ก็เพื่อจะแสดงความยินดีของข้าพเจ้าผู้เป็นจอมทัพบก . . .

ฯ ล ฯ

                    ในที่สุด  ข้าพเจ้าขออวยพรแก่ทหารที่จะออกไปนอกประเทศครั้งนี้    ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านทั้งหลาย    ขอจงผ่านพ้นสรรพอุปัทวันตราย ให้ได้กลับเข้ามาเต็มไปด้วยชัยชำนะ    เพื่อจะได้มาเห็นหน้าข้าพเจ้าผู้เป็นเพื่อน  และให้ได้มานั่งร่วมโต๊ะกันอีกครั้ง  ๑    เมื่อเสร็จสิ้นงานสงครามแล้ว

ขอให้มีความเจริญ !   ขอให้มีชัยชำนะ !   ชโย !"

 

          ครั้นเมื่อได้ทรงดื่มพระราชทานแก่บรรดาทหารเสร็จแล้ว    จอมพลเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมจึงชักชวนบรรดาท่านผู้ที่นั่งร่วมโต๊ะเสวย    ถวายชโย  และดื่มถวายแด่จอมพลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจอมทัพบก  เป็นการแสดงความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ทหารเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม

ฯ ล ฯ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับทอดพระเนตรการฉายหนังอยู่ในท่ามกลางทหารอาสาจนถึงเวลาประมาณ   ๓  นาฬิกา  (ในวันรุ่งขึ้น)  จึงได้เสด็จขึ้น    บรรดาทหารทั้งหลายได้ถวายคำนับ และร้องถวายไชโยอย่างสนั่นก้อง  แตรวงก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี    เป็นการเสร็จการเลี้ยงพระราชทานส่งแก่กองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงคราม   ผู้บังคับบัญชาได้นำกองทหารกลับคืนที่พัก

 

          ๑๓  มิถุนายน  ๒๔๖๑    เสนาธิการทหารบกรับสั่งให้ผู้บังคับกองทหารฯ ไปคอยเรือกลไฟซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสจะส่งมารับกองทหารฯ ที่เกาะสีชัง

          กระทรวงทหารเรือได้จัดเรือสถิตย์ราชการสำหรับนำผู้บังคับกองทหารฯ ไปส่งยังเกาะสีชัง   นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  พร้อมด้วย  พันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ  นายร้อยเอก  หลวงรามฤทธิรงค์  และนายร้อยตรี  ชุ่ม  จิตรเมตตา  จึงโดยสารเรือที่กล่าวนามมาแล้ว ออกจากที่จอดเรือตรงท่าพระจันทร์  เมื่อเวลา ๑๔๐๐  แต่ในวันนั้นเกิดคลื่นลมจัด  จึงถึงเกาะสีชังเมื่อเวลา  ๒๒๔๕     นอกจากเรือสถิตย์ราชการนี้แล้ว กระทรวงทหารเรือได้ส่งเรือพิฆาฏเสือคำรณสินธุ์ออกมาคอยรับเรืออยู่ที่เกาะสีชังแล้วเหมือนกัน

 

 

 

 

 รือสถิตย์ราชการ                             เรือพิฆาฏเสือคำรณสินธุ์

 

 

 

          เรือทั้ง  ๒ ลำนี้  ได้จอดคอยอยู่  ๓  วันแล้ว  ยังไม่เห็นเรือซึ่งจะมารับกองทหาร    ต่อวันที่  ๑๖  เวลาเช้า  จึงได้เห็นเรือซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสส่งมาจากเมืองไซง่อน  

          เรือลำนี้ ชื่อเรือเอ็มไพร์ เป็นเรือของอังกฤษ แต่ได้ให้รัฐบาลฝรั่งเศสเช่ามาสำหรับลำเลียงทหารระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับแหลมอินโดจีน                          

         ครั้นวันรุ่งขึ้น  นายพันเอก พระเฉลิมอากาศได้ไปเฝ้าเสนาธิการทหารบกกราบทูลรายงานกิจการต่างๆ ซึ่งได้ไปตกลงกับผู้บังคับการเรือเอ็มไพร์    เสนาธิการทหารบกจึงได้ทรงกำหนด วันที่  ๑๙  มิถุนายน    เป็นวันที่จะให้กองทหารเคลื่อนที่จากพระนคร

                               

ทหารเรือ  -  ส่งกองทหารซึ่งไปงานพระราชสงคราม

๑๙  มิถุนายน  ๒๔๖๑     กองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามเคลื่อนที่จากพระนคร

          เวลา  ๐๑๓๐   ที่กองบินทหารบกดอนเมืองได้ประชุมทหาร  แล้วนำแถวไปยังสถานีรถไฟ   ลำเลียงทหารขึ้นรถไฟพิเศษ    เวลา  ๐๒๓๕  รถไฟได้เคลื่อนจากสถานีดอนเมือง    ๐๓๑๕  รถไฟได้ถึงสถานีกรุงเทพ    นายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏได้นำแถวเดินไปยังศาลาว่าการกลาโหม   ทหารได้ไปถึงที่หมายเวลา  ๐๒๕๐

          ฝ่ายทางกองทหารบกรถยนต์ในกรุงเทพฯ นั้น   เวลา  ๐๒๐๐ ได้สั่งให้ปลุกทหาร    เวลา  ๐๓๓๐  ได้ประชุมแถวภายในสนามภายในตึกศาลาว่าการกลาโหม   พอกองบินทหารบกมาถึงแล้ว  ก็ได้รวมกองประชุมพร้อมกันอยู่ที่สนามหญ้า

          เวลา  ๐๔๐๐   จอมพล  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  เสนาธิการทหารบก  ได้เสด็จสู่ที่ประชุมแถวผู้บังคับกองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามได้บอกแถวให้ทหารกระทำถวายคำนับและทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน

          ครั้นแล้ว  จอมพล ฯ  เสนาธิการทหารบกได้ทรงอ่านพระราชโทรเลขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งพระราชทานมาแต่ที่ประทับหาดเจ้าสำราญ  จังหวัดเพ็ชรบุรี  เป็นใจความว่า    ทรงอำนวยพรให้ทหารเดินทางไปโดยสุขสวัสดีมีชัย    ครั้นทรงพระราชโทรเลขเสร็จแล้ว เสนาธิการทหารบกได้พระราชทานโอวาทแก่ทหาร   จบแล้ว

          ทหารทั้งหลายได้พร้อมกันร้องไชโยอย่างดังกึกก้องได้ยินไปไกล  และเพราะเหตุที่มีเสียงเซ็งแซ่ขึ้นในเวลาดึกสงัด  ทำให้ผู้ที่ไม่รู้เรื่องรู้สึกปลาดใจเป็นอันมาก    เมื่อหยุดเสียงไชโยถวายพระพรแล้ว    ผู้บังคับการกองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามได้มีคำสั่งให้ทหารหันหน้าไปสู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เตือนให้ทหารน้อมจิตระลึกถึงคุณพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์ของชาติไทย    แล้วนายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏได้นำทหารสวดมนต์ นมัสการพระศรีรัตนตรัยตามแบบของทหาร  เมื่อเสร็จพิธีสวดมนต์แล้ว  ได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เป็นการขอรับพระราชทานพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม   และกราบถวายบังคมลาอีกครั้งหนึ่ง    แล้วร้องไชโยถวายขึ้นพร้อมกันอย่างกึกก้อง

 

การเดินทางไปยังท่าราชวรดิษฐ์  และลำเลียงทหารลงเรือ

          ครั้นเสร็จพิธีนี้แล้วกองทหารได้เดินทางไปยังท่าราชวรดิษฐ์    เวลาที่กองทหารออกเดินจากศาลาว่าการกลาโหม  ได้มีญาติพี่น้อง และพลเมืองมายืนเรียงราย และคอยส่งอยู่ตลอดทาง    ที่ท่าราชวรดิษฐ์   มีจอมพลเรือ  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต  ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ในเวลานั้น  กับเสนาบดีกระทรวงกลาโหม  พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่ในกองทัพบกและราชนาวี   ซึ่งได้มาประชุมคอยส่งทหารอยู่มากมาย

 

              เสนาบดีกระทรวงทหารเรือมีรับสั่งให้ทหารเรือ จัดเรือแจว เรือพาย  อีกทั้งเรือกลไฟลำเลียงทหารมาจอดคอยอยู่พร้อมมูลแล้ว  และได้ทรงสอดส่องสั่งการในเรื่องลำเลียงทหารให้เป็นที่เรียบร้อยด้วย   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรือศรีสมุทร                                         เรือกล้าทเล

 

 

เรือส่งกองทหารอาสาไปงานพระราชสงครามในทวีปยุโรปเมื่อวันที่  ๑๙  มิถุนายน  ๒๔๖๑

 

        ทางกองใหญ่ที่  ๑   ที่  ๓    กองบินทหารบกได้ลงเรือกล้าทเล   นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  เป็นผู้บังคับทหารในเรือลำนี้    (ขวา)

ส่วนทหารในกองทหารบกรถยนต์ กับกองใหญ่ที่  ๒  กองบินทหารบกนั้น ได้ลงเรือศรีสมุท   มีนายร้อยเอก  หลวงรามฤทธิรงค์  เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชา    (ซ้าย)

ในเรือศรีสมุทนี้  นายพลเรือโท  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์  เสนาธิการทหารเรือได้เสด็จไปด้วย  

 

การลำเลียงทหารลงเรือเสร็จเรียบร้อย ภายในเวลา  ๐๖๐๐  ของวันนั้น

 

ขบวนเรือราชนาวีสยามนำกองทหารอาสาไปส่งขึ้นเรือเอ็มไพร์ที่เกาะสีชัง

          เวลา ๐๖๐๐   อันเป็นเวลาฤกษ์งามยามดีกองทัพไทยก็ได้เริ่มเคลื่อนขบวน โดย จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก ได้เสด็จลงประทับ ในเรือสุครีพครองเมือง ซึ่งเป็นเรือนำ ได้แล่นนำขึ้นไปกลับลำเรือที่คุ้งตำบลสามเสน ตามด้วยเรือศรีสมุทร     ส่วนเรือกล้าทเล คอยอยู่ที่หน้าท่าราชวรดิษฐ์  เพราะเป็นเรือขนาดย่อมกลับลำ ณ ที่จอดได้โดยสะดวก 

 

 

 

 

 

เรือสุครีพครองเมือง

 

          ขณะที่ เรือกลไฟทั้ง ๓ ลำ แล่นไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำ เต็มไปด้วยประชาชน เบียดเสียดกันมาส่งทหารอาสาไปทำการรบในมหายุทธสงคราม ณ ทวีปยุโรป แน่นขนัดเป็นประวัติการณ์ ต่างร้องไชโยให้พรทหาร   เวลาที่เรือกลไฟแล่นผ่านหน้าหน่วยทหารบก ทหารเรือ พลแตร ต่างนำแตรมาเป่าเพลงเดิน  เพลงมหาชัย  โดยมิต้องมีคำสั่ง   ส่วนทหารในเรือ ต่างโห่ร้อง ไชโย อำลา ประชาชนผู้ร่วมชาติทั่วหน้ากัน 

          เรือสุครีพครองเมือง ได้แล่นนำ เรือศรีสมุทร และ เรือกล้าทเล จนถึง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา (ระหว่าง จังหวัดสมุทรปราการ กับ ป้อมพระจุลจอมเกล้า)  เวลาประมาณ ๑๑๐๐    แต่ขณะนั้น น้ำยังไม่ขึ้น ผู้บังคับกระบวนเรือ ซึ่งอยู่ในเรือสุครีพครองเมืองได้ส่งสัญญาณ สั่งให้เรือทุกลำหยุดทอดสมอ เพื่อรอน้ำขึ้น   เนื่องจาก เรือศรีสมุทรซึ่งเป็นเรือลำใหญ่จะติดสันดอน  

          ในระหว่างที่จอดเรือรอน้ำขึ้น   เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเรือได้จัดเลี้ยงอาหารแก่ทหาร   เพราะก่อนหน้านี้  ทหารทุกคนกำลังเพลิดเพลินในการอำลาเพื่อนร่วมชาติ ทั้ง ๒ ฝั่ง ลำแม่น้ำเจ้าพระยา   การเลี้ยงดูในเรือนั้น ทหารเรือได้เลี้ยงอย่างดีที่สุด และ มีการเลี้ยงตลอดเวลาจนถึงเรือใหญ่  

                    เวลา ๑๓๓๐   น้ำขึ้น จึงออกเรือแล่นต่อไป จนถึงเวลา ๑๕๓๐   เรือศรีสมุทร ซึ่งเป็นเรือลำใหญ่  กินน้ำลึก ได้ติดสันดอน  จึงต้องทอดสมออีกครั้ง  คอยน้ำขึ้นอีก  

 

          รุ่งขึ้นวันที่  ๒๐  มิถุนายน  ๒๔๖๑   เวลา  ๒  นาฬิกา  ๓๐  นาที   เรือทั้ง ๓ ลำ จึงได้ออกเรือแล่นต่อไป

 

 

          เวลา   ๐๘๐๐   ขบวนเรือ ถึง เกาะสีชัง

          เวลา  ๐๙๐๐ 

               เรือกล้าทะเล ได้เข้าเทียบทางกราบขวาของเรือเอ็มไพร์ และ

               เรือศรีสมุทร  ทางกราบซ้าย เพื่อถ่ายทหาร และ สัมภาระ ลงเรือลำนี้  

 

 เรือกล้าทเล ได้เข้าเทียบกราบขวาของ เรือเอ็มไพร์  >

 

 

 

          เมื่อทหารได้ลงเรือเรียบร้อยแล้ว  จอมพล ฯลฯ  เสนาธิการทหารบก  จึงเสด็จขึ้นบนเรือเอ็มไพร์    ผู้บังคับการเรือ และนายทหารเรือชาวอังกฤษได้เข้าเฝ้าถวายตัว    ครั้นแล้ว  จอมพล ฯลฯ  เสนาธิการทหารบกได้โปรดให้นายทหารเข้าเฝ้า    เสร็จแล้วเสด็จสู่เรือสุครีพครองเมือง

 

 

 

 

              เวลา  ๑๐  นาฬิกา  ๒๐  นาที    เรือเอ็มไพร์ได้ชักธงไตรรงค์ขึ้นเหนือเสากระโดง เป็นการให้เกียรติแก่ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไปราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป และได้ถอนสมอ แล่นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

         

ขณะที่ เรือเอ็มไพร์ แล่นผ่านขบวนเรือที่มาส่งทหารนั้น  ทหารบก และ ทหารเรือ ต่างเปล่งเสียงไชโย อำลากัน จนกระทั่งเรือเอ็มไพร์ลับสายตา 

 

 

         การลำเลียงทหารอาสาเดินทางจากพระนครมาถึง เกาะสีชัง เป็นหน้าที่ของกระทรวงทหารเรือ เป็นผู้จัด และ กระทำทั้งสิ้น   การดำเนินการเป็นไปอย่างเรียบร้อยดีที่สุด โดยอาศัย   นายพลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ซึ่งได้เสด็จไปกับกองทหารจนถึงเกาะสีชังทรงกำกับการตรวจตราด้วยพระองค์เอง   ทั้งบรรดา นายทหาร และ พลทหารเรือ ซึ่งประจำไปกับเรือนั้นสังเกตเห็นว่า ได้พยายามทำหน้าที่ช่วยเหลือโดยน้ำใสใจจริงกันทุกคน   กระทำให้บรรดาทหารผู้อาสาไปในงานพระราชสงครามรู้สึกชื่นใจ

 

 

 

นายพลเรือโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

เสนาธิการทหารเรือ

 

การอยู่ การกิน ในเรือเอ็มไพร์

          สถานที่อยู่ในเรือนั้น  สำหรับนายทหารสัญญาบัตร  แบ่งห้องชั้น  ๑  และชั้น  ๒  ให้อยู่  ห้องละ ๒ - ๓  นาย    นับว่าสบายอย่างการเดินทางธรรมดา    ส่วนนายสิบนั้นให้อยู่ชั้นที่  ๒  แต่มิใช่ชั้น  ๒  เรือโดยสารธรรมดา   เขารื้อที่นอนออกเสีย  แล้วทำแคร่ให้นอนเคียงกัน และซ้อนกันได้ด้วย     ส่วนสำหรับพลทหารนั้น  ใช้ที่ระวางสำหรับเก็บของสินค้าบ้าง    ใช้ที่สองข้างกราบเรือบ้างเป็นที่นอน  แต่ได้ยกแคร่ขึ้นเป็นสองชั้น   นอนได้ทั้งข้างบนข้างล่าง  ที่พื้นกระดานมีเสื่อลาดปูให้    ที่อยู่สำหรับทหารนี้ค่อนข้างคับแคบอากาศค่อนข้างอับร้อนอยู่บ้าง

          อาหาร  นายทหารสัญญาบัตร  กินอาหารในห้องสำหรับคนโดยสารชั้น  ๑    ผู้บังคับการเรือ และนายทหารประจำเรือบางนายกินรวมด้วย  อาหารนั้นประกอบอย่างฝรั่ง  (โดยคนครัวจีน)  มีกำหนดเวลาดังนี้

               ๘  นาฬิกา    อาหารหนัก

               เที่ยงวัน        อาหารหนัก

               ๑๖  นาฬิกา    น้ำชาและขนม

               ๑๙  นาฬิกา    อาหารหนัก                                                

 

สำหรับนายสิบ พลทหารนั้น  มีเลี้ยง  ๓  เวลา  คือ

               ๘  นาฬิกา    มีข้าว

               เที่ยงวัน    มีข้าวต้มหรือน้ำชา

               ๑๖  นาฬิกา  ๓๐  นาที  ข้าว

 

 

         ครับ  .  .  .  เรือเอ็มไพร์ได้ลำเลียงทหารอาสาสมัครชุดแรกของกองทัพไทยเดินทางจากประเทศไทยสู่สมรภูมิมหาสงคราม  แล้ว    คงจะใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึงสมรภูมิในทวีปยุโรป    เราพักกันก่อนนะครับ    แล้วค่อยพบกันใหม่ในตอนต่อไป  .  .  .  ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ   ครับ 

 

          ระหว่างพัก  เชิญเดินเที่ยวอนุสรณ์สถานแห่งการประกาศสงครามคร้งนี้ก่อนก็ได้ครับ  .  .  . 

วงเวียน  ๒๒  กรกฎา 

 

 

 

 

วงเวียน  ๒๒  กรกฎา

 

เป็นวงเวียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 

ให้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกการที่ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมมหาสงครามในทวีปยุโรป 

โดยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี  เมื่อวันที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐
 

 แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นมาก ราว พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่เผาผลาญบ้านเรือนในบริเวณนี้ไปเกือบหมด

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)  เสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  ตัดถนนเพื่อความเป็นระเบียบของบ้านเมือง

ต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตัดถนนสามสาย บริเวณที่ถนนสามสายนั้นมาตัดกันได้โปรดให้สร้างเป็นวงเวียน

นับได้ว่าเป็นวงเวียนแห่งแรกของประเทศไทย

พระราชทานชื่อว่า  วงเวียน  ๒๒ กรกฎา

 ถนนสามสายนั้น พระราชทานชื่อว่า ไมตรีจิต - มิตรพันธ์ - สันติภาพ

 

รอบวงเวียนนั้นมีทางแยกไปได้  ๖ ทาง หมายถึง รัชกาลที่  ๖    ทรงประกาศสงคราม ด้วยไมตรีจิตที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เกิดสันติภาพ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อวงเวียนและถนนทั้งสามสายนี้  ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกันคือ

 

"ประกาศสงครามเมื่อวันที่  ๒๒  กรกฎา คม

ด้วยไมตรีจิต ที่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อผดุงสันติภาพ ของโลก"

(คำว่า พันธมิตร ทรงใช้เป็น มิตรพันธ์ เพื่อให้คล้องจองกัน)

 

วงเวียน  ๒๒ กรกฎา  เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่  ๒๗  มกราคม  ๒๔๖๑

ภาพนี้ถ่ายเมื่อประมาณ  พ.ศ.๒๔๙๐

 

 

 

 

ตอนต่อไป  .  .  .  ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ

ตอนต่อไป  .  .  .  ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ

ตอนต่อไป  .  .  .  ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ

 

 

 

บรรณานุกรม

          - หนังสือที่ระฤกงานพระราชทานเพลิงพระศพ  จอมพล  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ     พ.ศ.๒๔๖๓

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๑    (จากหลักฐานของทางราชการที่เก็บไว้  ณ  ใต้ถุนสถานทูตไทย  ณ  ฝรั่งเศส  และเยอรมัน)  ของ  ม.ล. มานิจ  ชุมสาย,  ราชบัณฑิต  และกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์    สำนักพิมพ์พิทยาคาร    ๒๒๖  เวิ้งนาครเขษม  กรุงเทพฯ    ๒๕๒๒  

          - ข้อมูล  พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ จึง ขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 




ไทยกับมหาสงคราม โดย สัมพันธ์

ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓) - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว
ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ



1

ความคิดเห็นที่ 1 (102045)
avatar
Demetorius

 ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Demetorius (maceus-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-03 02:57:02 IP : 115.87.73.29



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker