dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ไทยกับ "มหาสงคราม" (๒) - กองทหารไทยในยุทธบริเวณ

*  *  *

กองทหารไทยในยุทธบริเวณ

 

 

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  เมื่อได้จัดตั้งกองทหารขึ้นเพื่อออกไปงานพระราชสงครามครั้งนี้  คือ

          ๑) กองบินทหารบก  มีนายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ  (ทิพย์  เกตุทัต)  เป็นผู้บังคับบัญชา  เรียกว่า  ผู้บังคับกองบิน

          ๒) กองทหารบกรถยนต์  มีนายร้อยเอก  หลวงรามฤทธิรงค์  (ต๋อย  หัสดิเสวี)   เป็นผู้บังคับบัญชา  เรียกว่า  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์  

 

          กองทหารได้ออกเดินทางจากเกาะสีชัง  โดยเรือเอ็มไพร์  เมื่อวันที่  ๒๐  มิถุนายน  ๒๔๖๑ 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

 

การเดินทางเรือจากเกาะสีชังถึงสิงคโปร์

          จากเกาะสีชังถึงสิงคโปร์นี้  นับว่าปราศจากคลื่นลมก็ว่าได้มีทหารเมาคลื่นประมาณ  ๒๐  คนเท่านั้น    เรือเอ็มไพร์แล่นไป  ๓  วัน  กับ  ๕  ชั่วโมงเศษ    วันที่  ๒๓  มิถุนายน  เวลา  ๑๕  นาฬิกา  เรือได้ถึงท่าเรือเอ็มไพร์ด๊อก

 

เรือจอดท่าเมืองสิงคโปร์

          เรือเอ็มไพร์ได้จอดพักที่ท่าเมืองสิงคโปร์เป็นเวลา  ๒  คืน  ทหารได้รับอนุญาตให้ขึ้นเที่ยวชมเมืองได้  ส่วนคณะผู้บังคับบัญชาได้เยี่ยมคำนับผู้บัญชาการทหารบกประจำเมืองสิงคโปร์ และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแหลมมลายู    และในวันที่  ๒๕  มิถุนายน  เวลา  ๑๐๐๐    ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแหลมมลายูและผู้บัญชาการทหารบกประจำเมืองสิงคโปร์ได้มาเยี่ยม และส่งกองทหารไทย ก่อนที่เรือเอ็มไพร์จะออกเดินทางต่อไปด้วย

 

สิงคโปร์ - โคลัมโบ - ปอร์ตเสด

          ระหว่างเรือแล่นอยู่ในช่องมะละกา  แลเห็นทิวภูเขาและทิวเกาะอยู่ทั้ง  ๒  ข้างคลื่นลมสงบราบคาบ    รุ่งขึ้นเวลาบ่าย  เรือได้เดินออกจากช่องมะละกา   นายทหารและพลทหารเมาคลื่นกันประมาณ  สิบในร้อย         

          ในเช้าวันที่  ๒๘  มิถุนายน  เรือปืน "น็อตซบรู๊ค" เรือรบแห่งราชนาวีอังกฤษในอินเดีบได้มาคุ้มกันเรือลำเลียงทหารไทย  ได้แล่นร่วมทางกันไปจนถึงเมืองโคลัมโบ  เรือได้ออกเดินทางกลางมหาสมุทรมีคลื่นลมจัดขึ้น   ทหารเมาคลื่นเพิ่มมากขึ้น  จนถึง  ๖๐ - ๗๐ ในร้อย    คลื่นลมได้มีจัดอยู่  ๓  วัน  ๓  คืน    ที่สุดในวันที่  ๒  กรกฎาคม  เวลา  ๑๑  นาฬิกา  เรือได้ทอดสมออยู่ภายในเขื่อนสำหรับกันคลื่น  

          ในการขึ้นบกเพื่อเที่ยวชมเมืองทหารได้พากันไปนมัสการพระพุทธรูปในวัดต่างๆ     เรือเอ็มไพร์จอดอยู่ในเขื่อนเมืองโคลัมโบเป็นเวลา  ๔๖  ชั่วโมง  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของอังกฤษได้ตรวจสอบแล้วว่าการเดินทางต่อไปจะปราศจากอันตราย จึงให้เดินเรือต่อไปได้ 

          เรือเอ็มไพร์ออกจากเมืองโคลัมโบ  ในวันที่   ๔  กรกฎาคม  เวลา  ๙  นาฬิกา  ทหารส่วนมากคุ้นกับการเดินทะเลแล้ว  จึงไม่เมาคลื่นกันมากเช่นช่วงที่แล้วมา   จนวันที่  ๑๙  กรกฎาคม   เวลาประมาณ  ๕  นาฬิกาเรือได้จอดน่าเมืองซูเอส  เพื่อรอเจ้าหน้าที่ฝ่ายภาษีและเจ้าพนักงานนำร่อง   ต่อเวลา  ๑๐  นาฬิกา  ๓๐  นาที  จึงได้ออกเรือแล่นเข้าในคลองอันใหญ่ซึ่งกล่าวนามมาแล้วนั้นที่พักใต้มูนดิน, มีศูนย์การต้านทานเป็นแห่งๆ ไปโดยตลอด   มูนดินนั้นมีลาดซึ่งกรุด้วยกระสอบทรายทั้งสิ้น   กับได้เห็นค่ายที่พักทหารเป็นหย่อมตลอดไปตามทาง

          เวลา  ๑๖  นาฬิกา  ได้ผ่านเมืองอิสไมเลีย    เวลา  ๑๙  นาฬิกา  ผ่านตำบลที่ตั้งค่ายซึ่งเรียกว่า ค่ายคันตารา  ที่นี้เป็นที่สะสมกำลังใหญ่ที่สุด  ณ  คลองซูเอศ   มีเสบียงอาหาร, สัตว์พาพนะ, เช่น ม้าและโค  และสรรพเครื่องใช้สรอยต่างๆ ในยุทธนาการ    กับยังมีกองทหารขนาดใหญ่พักอยู่ในขณะนั้นด้วย   มีข่าวว่ากองทัพอังกฤษกำลังเตรียมการสำหรับรบใหญ่ในด้านปาเล็สติน่า

          ในคืนวันที่  ๑๙  นี้  เวลา  ๒๒  นาฬิกา    เรือต้องจอดพักในคลอง   เพราะว่าการเดินเรือในคลองในเวลาค่ำมืดต้องใช้โคมฉาย  แต่แสงสว่างแห่งโคมไฟอาจแสดงให้ข้าศึกแลเห็นได้แต่ไกล  ซึ่งอาจจะบังเกิดผลอันนำมาซึ่งอันตราย    เรือได้จอดพักอยู่จนถึงเวลา  ๓  นาฬิกา  ๓๐  นาที  แห่งวันที่  ๒๐  จึงได้ใช้จักร์เดินทางต่อไป    ระยะทางจากเมืองโคลัมโบ  เกาะลังกา  ประเทศอินเดีย  จนถึงเมืองปอร์ตเสด ประเทศอิหยิปต์  เรือเอ็มไพร์ใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ  ๑๖  วัน

 

เรือจอดที่เมืองปอร์ตเสด - ครั้งแรกที่กองทหารไทยได้แสดงตน

          วันที่  ๒๐  กรกฎาคม  เวลาประมาณ  ๕  นาฬิกาก่อนเที่ยงเรือได้ถึงเมืองท่าเรือปอร์ตเสด  

          ทั้งวันนี้และวันรุ่งขึ้น  ตั้งแต่เวลารับประทานอาหารมื้อเช้าแล้ว จนถึงเวลารับประทานอาหารมื้อเย็น   ทหารได้รับอนุญาตให้ขึ้นบกเที่ยวชมเมืองได้   เพราะเรือคงจอดอยู่ที่นี่กว่า  ๔๘  ชั่วโมง

          เมืองปอร์ตเสดนี้ต้องนับว่าเป็นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่ง  เพราะเป็นจุดรวมของเส้นทางแห่งทวีปอาเซีย, ยุโหรป, อาฟริกา  

          เพราะฉะนั้น  ไม่ต้องสงไสยเลยว่ามีกำลังกองทัพบก กองทัพเรือของสัมพันธมิตร์อยู่ที่นี่มาก . . . ฯลฯ . . . ที่นี่และเป็นครั้งแรกที่กองทหารไทยได้แสดงตนให้ทหารสัมพันธมิตร์ซึ่งรวมกันอยู่ได้แลเห็นเป็นครั้งแรก    ส่วนทหารไทยเราก็ได้เห็นพวกเพื่อนสัมพันธมิตร์รวมกันหลายชาติเป็นครั้งแรกเหมือนกัน   นอกจากนี้  ยังได้เห็นพวกข้าศึกอีกด้วย  คือพวกเชลยศึกตูรกี

 

          การที่เรือต้องจอดอยู่  ณ  ที่นี้เป็นเวลานานนั้นมีสาเหตุอยู่   ๓  ประการ  คือ

               - ต้องคอยรวบรวมกันให้มีจำนวนตามสมควร  เพื่อจัดเป็นขบวน  เพราะว่าในการเดินทางต่อไปในเขตอันตราย   ต้องมีเรือรบกำกับไปด้วย

               - เรือทุกๆ ลำต้องมีอาวุธประจำเรือไปสำหรับป้องกันตน กับทั้งต้องมีเครื่องช่วยชีวิตคนในเวลาเรืออับปาง ไปกับเรือให้พอกับจำนวนคนโดยสาร

               - ต้องบรรทุก ถ่าน, น้ำ, และเสบียงอาหารไปมาก เพราะต่อจากนี้ไปเป็นการเดินทัพ  มิได้กำหนดเส้นทางแน่นอน  จะถึงที่หมายเมื่อไรไม่ทราบกำหนดล่วงหน้า

          เรือเอ็มไพร์จอดอยู่ที่เมืองปอร์ตเสด  ๕๒  ชั่วโมง   จึงได้เคลื่อนออกเดินทางต่อไป

 

การเดินขบวนทัพเรือจากปอร์ตเสดถึงเมืองมาร์เซย์

          วันที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๑  เวลา  ๘  นาฬิกา  ๑๕  นาที    เรือเอ็มไพร์ได้ถอนสมอแล่นออกจากปากคลองซูเอส    ต่อไปยังจะต้องฝ่าอันตรายอย่างร้ายกาจซึ่งอาจมีมาจากข้าศึกได้นั้นไปด้วย    เพราะในขณะนั้น  เรือดำน้ำของราชศัตรูกำลังพยายามจะกระทำการล้างผลาญบรรดาเรือของสัมพันธมิตร์ซึ่งแล่นไปมาในทะเลกลางธรณีนั้นโดยเต็มกำลัง    

          ฉะนั้น  การเดินเรือในตอนต่อไปนี้  จึงนับได้ว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุด

 

 

 

ปอร์ตเสด - มาร์เซย์       Port Said - Marseille

 

 

          . . . ในขบวนที่ออกเดินทางครั้งนี้มีเรือลำเลียง  ๑๘  ลำ รวมทั้งเรือเอ็มไพร์    มีกองเรือรบอังกฤษกำกับไป  ๑  กอง  มีกำลังเรือรบ  ๗  ลำ    เรือนำเป็นชนิดเรือปืน  ๑  ลำ  เรือชนิดเรือพิฆาฏ  ๒  ลำ    อีก  ๔  ลำ  ควรจะเรียกนามว่า "เรือขับไล่สังหารเรือดำน้ำ"  เพราะเรือชนิดนี้กระทรวงทหารเรืออังกฤษคิดสร้างขึ้นใช้ในสมัยที่รัฐบาลสยามประกาศสงครามแล้วนี้เอง    เรือชนิดนี้เป็นเรือรบขนาดย่อม   มีรูปทรงอย่างเรือสำปั้น  จะเดินหน้าถอยหลัง หรือเลี้ยวไปมาก็ได้คล่องแคล่ว  ทั้งมีความเร็วมากด้วย

    ฉะนั้น  จึงเหมาะสำหรับการกำกับขบวนลำเลียงเพื่อป้องกันให้พ้นจากอำนาจแห่งเรือดำน้ำของฝ่ายข้าศึก

ฯลฯ

 

 ขบวนเดินทางขบวนหนึ่ง ที่มีเรือรบคุ้มกันขบวน   (ในมหาสมุทรแอตแลนติค)   >

 

มาร์เซย์  .  .  .

          วันที่  ๓๐  กรกฎาคม  ๒๔๖๑  เวลา  ๑๐ นาฬิกา  เรือเอ็มไพร์ได้เข้าจอดเทียบท่าเมืองมาร์เซย์  . . .  นายพลตรี  เลอะกรางด์  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๕  (General Legrand  commandant de 15 Region)   กับนายทหารฝรั่งเศสในกรมบัญชาการมณฑลทหารบกได้มาคอยรับอยู่ที่ท่า

          นายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ  ไปตรวจและแบ่งที่พัก  ที่โรงทหารชั่งคราวที่คาเธดราล  (คือเดิมเป็นโบสถ์    ในระหว่างเวลาสงครามได้ปลูกโรงทหารชั่วคราวขึ้นที่ข้างโบสถ์นี้)  สำหรับที่พักของกองบินทหารบก    ส่วนสำหรับกองทหารบกรถยนตร์นั้น  หลวงรามฤทธิรงค์  ไปตรวจและกะแบ่งที่พักในโรงทหาร ."ซังต์ ชาร์ลส์"

          ค่ายคาเธดราล   ที่พักทหารกองบินทหารบก  อยู่ห่างจากท่าเรือประมาณ  ๔ กิโลเมตร  เป็นโรงทหารชั่วคราว

          ."ซังต์ ชาร์ลส์"  ที่พักกองทหารบกรถยนตร์นั้น  เป็นโรงทหารถาวรห่างจากท่าเรือประมาณ  ๗ กิโลเมตร    การนำทหารไปยังโรงนอน  ได้จัดให้มีแตรวงนำไป    ทหารได้เดินแถวเรียงสี่  แต่งกายเครื่องสนาม  เดินแถวอย่างเรียบร้อย  เดินก้าวพร้อมกันอย่างงดงาม  เป็นที่ชื่นชมแก่ชาวเมืองเป็นอันมาก

                
           ครับ  . . .  ตั้งแต่   กองทหารซึ่งจะไปในงานพระราชสงครามเคลื่อนที่จากพระนคร   เมื่อ   ๑๙  มิถุนายน  ๒๔๖๑   ถึง  เรือเอ็มไพร์ได้เข้าจอดเทียบท่าเมืองมาร์เซย์  ใน   ๓๐  กรกฎาคม   ๒๔๖๑    นับว่าได้รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเล ถึง  ๔๒ วัน   จึงจะถึง "สมรภูมิ"

          วันที่  ๒  สิงหาคม  เวลา  ๑๐  นาฬิกา    นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์  หัวหน้าฑูตทหาร    นายพลตรี  เลอะกรางด์    และอัครราชฑูตสยามประจำกรุงปารีส    นายทหารผู้ใหญ่ไทย  และฝรั่งเศส  ได้มาถึงโรงทหารซังต์  ชารลส์    นายพลทั้งสองได้เดินผ่านหน้าแถวตรวจพลทั่วทุกแถว    เมื่อเสร็จการตรวจพลแล้ว  ได้มีการสวนสนาม    ครั้นแล้วผู่ใหญ่จึงได้กลับ    

 

 

 

 

 

          ระหว่างอยู่ที่เมืองมาร์เซย์    กองทหารไทยได้รับเครื่องแต่งกายใหม่  จัดการปรับความเข้าใจต่างๆ   และจ่ายบัตรประจำตัว  .  .  .  และเตรียมการฝึกอบรมก่อนเข้าสนามรบ 

          ต่อมา  ในวันที่  ๕  สิงหาคม  ๒๔๖๑    กองบินทหารบกได้เดินทางโดยรถไฟจากเมืองมาร์เซย์ไปทางทิศตะวันออก    และในวันรุ่งขึ้น  ๖  สิงหาคม    กองทหารบกรถยนตร์จะได้ละทางไปทางทิศเหนือแยกกันไป

          เมื่อกองทหารไทยมาถึง "สมรภูมิ" แล้ว  ก็ต้องแยกย้ายกันปฏิบัติภารกิจคนละทาง  ต่างกันคนละรูปละร่าง    ดังนั้น  จึงต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองบังคับบัญชาให้เหมาะแก่ราชการ    กล่าวคือ

         หน่วยกองบินทหารบก  เปลี่ยนเรียกนามว่า  "กองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม"    ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเรียกว่า  "ผู้บังคับการกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม"   นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  คงฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนี้

          ส่วนกองบินใหญ่ที่  ๑,๒,๓  (กองบิน)    เรียกว่า กองบินทหารบก  ตำแหน่งผู้บังคับกองใหญ่ทั้ง  ๓  ตำแห่ง  ยกเลิกหมด  มีตำแหน่ง  "ผู้บังคับกองบิน"  ซึ่งเทียบชั้นผู้บังคับกองพันตำแหน่งเดียว    นายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฏ   (ทิพย์  เกตุทัต)  เป็นผู้รับตำแหน่งนี้

          ส่วนกองใหญ่ที่ ๔  (กองรถยนตร์)  นั้น   เรียกว่า  "กองทหารบกรถยนต์"  คงมีผู้บังคับบัญชาตามเดิม  ซึ่งเรียกตำแหน่งว่า  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์   ซึ่งได้แก่  นายร้อยเอก  หลวงรามฤทธิรงค์  (ต๋อย  หัสดิเสวี) 

 

การฝึกอบรมก่อนเข้าสนามรบ 

          และก่อนที่จะเข้าสนามรบ   กองทหารไทยได้ไปฝึกอบรมในโรงเรียนต่างๆ  ดังนี้

          กองทหารบกรถยนต์    ไปฝึกอบรมที่  เมืองลีย็องส์  Lyons  และเมือง  ดูรด็อง  Dourdan

          กองบินทหารบก    ไปฝึกอบรม  ตำบลอิ๊สตรส์  istres  และ  เมืองอาวอร์ด Avord 

 

กองทหารบกรถยนต์

การฝึกหัดเล่าเรียนของกองทหารบกรถยนต์

          การฝึกหัดสั่งสอนกองทหารบกรถยนต์  ได้แก่

               - ฝึกหัดสั่งสอนในการรถยนต์

               - ฝึกหัดท่าปืนอย่างทหารราบ  ตลอดจนการยิงปืนด้วยกระสุนจริง

          ทั้งนี้  หัดเป็นบุคคลแยกเป็นคันๆ  แล้วภายหลังจึงหัดรวมเป็นหมู่, หมวด  และกองย่อย    ในขั้นต้น  ฝึกหัดกับพื้นที่ธรรมดา  ภายหลังหัดขับในภูมิประเทศที่กันดาร  หัดขึ้นลงภูเขา  หัดเดินขบวนทางไกล  ฯลฯ 

       ตามกำหนดนั้น  ให้เรื่มฝึกหัดสั่งสอน  ตั้งแต่วันที่  ๑๒  สิงหาคม  มีกำหนดเวลาเรียน  ๑ เดือน

          ในระหว่างการฝึกหัดที่โรงเรียนทั้งสองตำบลนี้    นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ  และนายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  ได้มาตรวจราชการอยู่เนืองๆ

 

 

 

 

          ครั้นเมื่อเสร็จการฝึกหัดสั่งสอนแล้ว  ได้เริ่มเตรียมตัวเข้าสู่ยุทธบริเวณ    ต้องฝึกหัดการใช้หน้ากากป้องกันไอพิษ    ได้รับเครื่องแต่งกายสักหลาด  มีเสื้อ  กางเกง  หมวก  เสื้อกันหนาว  และผ้าพันแข้ง    เพราะเครื่องแต่งกายที่ได้รับไปจากพระนครนั้น  เป็นผ้าธรรมดาป้องกันความหนาวไม่ได้ 

 

กองบินทหารบก 

การฝึกหัดเล่าเรียนของกองบินทหารบก 

          การฝึกหัดเล่าเรียนการบินตามโรงเรียนต่างๆ    เมื่อเรียนจบที่โรงเรียนหนึ่ง  ก็ส่งไปโรงเรียนอื่นอีกหลายแห่ง  หลายตำบล    ตามแผนกแห่งการเรียน  และตามชนิดของการบิน    เช่น  วิชาช่างเครื่อง  การบินโลดโผน  การยิงปืนในอากาศ  การทิ้งลูกระเบิดจากเครื่องบิน  การตรวจการณ์จากเครื่องบิน  (ปัจจุบันเรียก  การตรวจการณ์ทางอากาศ)   การถ่ายรูปจากเครื่องบิน  ฯลฯ

 

โรงเรียนการบินชั้นต้นที่ตำบลอิ๊สตรส์ และการฝึกหัดบิน

          กองบินทหารบกได้เดินทางโดยรถไฟไปถึงสถานีเมืองอิ๊สตรส์  ในวันที่  ๕  สิงหาคม  ๒๔๖๑  เวลา  ๘  นาฬิกาเศษ    จากนั้นต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ  ๘  กิโลเมตร    แถวทหารเดินไป  ส่วนสัมภาระได้บรรทุกรถยนต์ทหารซึ่งเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสส่งมารับ    

          โรงเรียนการบินตำบลอิ๊สตรส์ นี้    เป็นโรงเรียนการบินชั้นต้นพึ่งตั้งขึ้นในระหว่างสงครามนี้เอง    ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของมารเซยประมาณ  ๕๐  กิโลเมตร

          ทหารในกองบินทหารบกซึ่งนายแพทย์ได้ตรวจเห็นสมควรเป็นศิษย์การบินได้นั้นมี    นายร้อย  ๔๗    นายสิบ  ๔๔    พลทหาร  ๑๕    รวม  ๑๐๖  นาย

          วันที่  ๙  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๖๑    ได้เริ่มฝึกหัดขับกับพื้นดิน  และเรื่องลักษณะและกำลังของเครื่องบิน และเครื่องยนต์  อาวุธศึกษา  และการยิงปืนเล็กสั้นด้วยกระสุนซ้อมยิง    

          ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นศิษย์การบินซึ่งมีจำนวน  นายร้อย  ๒    นายสิบ  ๑๔    พลทหาร  ๒๐๙    รวม  ๒๔๕  นาย    บรรจุเข้าในจำพวกช่างเครื่องยนต์  ซึ่งได้จัดให้เรียนในเรื่องการตรวจตราเครื่องให้เรียบร้อย  การซ่อมแซมปรับเครื่องเล้กๆ น้อยๆ  ให้ดีใช้การได้เสมอ  การหัดถอดและประกอบเครื่องยนต์  การซ่อมแซมปรับเครื่องบินซึ่งชำรุดมาก

          ส่วนศิษย์การบิน    เมื่อฝึกหัดขับบนพื้นดินแล้วจึงเลื่อนไปหัดการใช้คันบังคับคู่  คือ  ศิษย์ขึ้นฝึกหัดบินกับครูด้วยคันบังคับคู่   ต่อไปจึงเป็นการฝึกหัดคันบังคับเดี่ยว

 

 

 

 

 

กองทหารบกรถยนต์

การเดินทางเข้าสู่ยุทธบริเวณ

          เป็นธรรมเนียมของกองรถยนต์ฝรั่งเศส  ก่อนที่จะไปเข้าทำการในยุทธบริเวณขึ้นอยู่ในกองทัพสนามจะต้องเดินทางผ่านแวรซัยส์  ซึ่งเป็นคลังฐานทัพใหญ่ของกองรถยนต์ฝรั่งเศส    ทั้งนี้เพื่อ  นำทหารขึ้นทะเบียนของกองทัพสนามประการหนึ่ง  และเพื่อจะได้จ่ายเครื่องสรรพาวุธ  และเครื่องแต่งกายในการขับรถยนต์ให้แก่ทหารซึ่งจะเข้าทำการในสนามด้วย

          วันที่  ๑๖  กันยายน  เวลา  ๑๘  นาฬิกา  รถไฟได้ถึงสถานีแวรซัยส์

          นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ  หัวหน้าฑูตทหาร    และนายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ  ผู้บังคับกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม  พร้อมด้วยนายทหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่  มาคอยรับอยู่เป็นอันมาก 

          กองทหารได้ไปพักอยู่ในโรงชั่วคราว  ส่วนนายทหารนั้นพักตามโฮเต็ล

 

 

 

 

 

 

         รุ่งขึ้นวันที่  ๑๗  กันยายน    เมื่อได้เลี้ยงอาหารเช้าแก่ทหารแล้ว  ได้นำทหารไปยังคลังของกองรถยนต์ได้เริ่มรับเครื่องแต่งกาย  และเครื่องอาวุธจากเจ้าหน้าที่ประจำคลังฝรั่งเศส

               ในวันที่  ๑๗  เวลากลางวัน    นายทหารเหล่ารถยนต์ในกรุงแวรซัยส์ได้เชิญหัวหน้าฑูตทหารพร้อมด้วยนายทหารไทยไปเลี้ยงอาหาร  เป็นการต้อนรับ และให้เกียรติยศในการที่กองทหารไทยกองแรกจะไปสู่ยุทธบริเวณ

 

รูปพยากรณ์

 

 

          ก่อนเวลาซึ่งกองทหารไทยจะมาถึงฐานทัพใหญ่นี้    เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้เตรียมการรับไว้อย่างเรียบร้อย    มีนายทหารกองรถยนต์ฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้เขียนรูปพยากรณ์    เป็นรูปนางเทวดาฝรั่งเศส  นำหน้าช้างเผือกเดินไปเหยียบนกอินทรี  เหนือหลังช้างนั้นมีรูปพระเจดีย์   

 

 

 

 

 

 

 

           รูปนี้หมายความว่า  ชาติฝรั่งเศสได้ชักนำชาติไทยซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเข้ากระทำการสงครามต่อประเทศเยรมะเนีย     ใต้รูปนี้ได้เขียนรายการฉายหนัง และร้องลำของลคร    รูปนี้เจ้าหน้าที่ได้แจกให้แก่นายทหารสัญญาบัตรทุกนาย

 

 

 

 

 

 

 

ทหารไทยฝึกหัดซ้อมการขับรถยนต์เป็นขบวน  (ขบวนกำลังทำกลับหลังหันพร้อมกัน)

 

 

กองทหารบกรถยนต์เข้าทำการในสนามด้านกองทัพฝรั่งเศส

การส่งกำลังครั้งแรกจากตรัวยส์ ไปชาล็องส์

          ในระหว่างที่กองทหารบกรถยนต์รับรถ และฝึกหัดปฏิบัติการอยู่ที่วิลลมัวแย็นน์นี้    วันที่  ๑๔  ตุลาคม    เวลา  ๑๑  นาฬิกา  ๓๐  นาที  ได้รับคำสั่งให้ทหารทั้งกองเคลื่อนที่ไปทำการส่งกำลังในกองทัพสนาม  ย้ายที่ตั้งไปทำการ  ณ  บริเวณเมืองชาล็องส์    ในเวลาที่เดินทางไปนั้น  ให้ลำเลียงสิ่งของจากคลังฐานทัพเมืองตรัวยส์  ไปส่งที่เมืองชาล็องส์ด้วย

          ระยะทางจากตำบลวิลลมัวแย็นน์  ถึงเมืองตรัวยส์ประมาณ  ๓๐  กิโลเมตร    จากเมืองตรัวยส์ถึงเมืองชาล็องส์  ประมาณ  ๘๐  กิโลเมตร    ผ่านวิลลมัวแย็นน์ - แคลเรย์ - ตรัวยส์ - อารซิส์ซูร โอบ - ซอมม์ - สุเอส์ - ชาล็องส์  Villemoyenne - Clerey - Troyes - Areis sur Aube - Somme - Sues - Chalons)   บรรทุกเครื่องสัมภาระต่างๆ  ๑๙๒  ตัน

          กองรถยนต์ทุกกองได้ไปถึงเมืองชาล็องในตอนเย็นวันที่  ๑๕  แต่การขนของลงจากรถยังไม่แล้วเสร็จทุกกอง  ในคืนนี้  ทหารต้องนอนบนรถยนต์อยู่ในเมืองชาล็องส์

          ตลอดคืนนี้  ฝนได้ตกหนัก  ถนนหนทางแฉะมาก   ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ได้ไปรายงานตนที่กรมบัญชาการกองทัพในเมืองชาล็องส์    ได้รับคำสั่งให้นำกองไปพักในบริเวณเมืองคูรติโซลส์  (Courtisols) 

          การส่งกำลังในครั้งแรกนี้  เป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย      เมื่อเดินทางพ้นเมืองตรัวยส์ไปแล้วประมาณ  ๒๕ - ๓๐  กิโลเมตร  ได้ผ่าน  ๒  ข้างทางซึ่งเคยเป็นสนามรบมาแล้ว    ยังม่สนามเพลาะ  คู  เครื่องกีดขวางข้าศึก  แลมีที่ฝังศพทั้งสองฝ่ายอยู่  ๒  ข้างทาง    และยังได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงโต้ตอบกันด้วย    สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นของใหม่สำหรับทหาร

          ตำบลคูรติโซลส์  (Courtisols)  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเมืองชาล็องส์  ห่างประมาณ  ๑๑  กิโลเมตร ใกล้ไปทางข้าศึก

 

 

 

           ตำบลคูรติโซลส์นี้  เป็นตำบลที่สุดที่ฝรั่งเศสยึดมั่นไว้ได้  ข้าศึกไม่เคยตีไปได้เลย    แต่เหนือนี้ขึ้นไปประมาณ  ๑๐ กิโลเมตร  ข้าศึกเคยได้รุกเข้ายึดไว้ได้    ก่อนเวลาที่กองรถยนต์ไทยมาถึงประมาณ  ๑ เดือน  ได้ถูกกองทัพฝรั่งเศสตีถอยกลับไป    ในตำบลนี้  บ้านเรือนได้ถูกนักบินข้าศึกทำลายลงเสียด้วยลูกระเบิดเป็นอันมาก

 

          ตั้งแต่วันที่  ๑๗  ตุลาคม เป็นต้นไป  กองทหารบกรถยนต์ได้เริ่มทำการส่งกำลังในสนาม    เวลานี้นับเป็นเวลาที่สำคัญ  ซึ่งข้าศึกได้เริ่มต้นถอย    กองทัพสัมพันธมิตรจะต้องรวบรวมกำลังที่มีอยู่ทั้งสิ้นเข้าทำการโจมตีข้าศึดอย่างแตกหัก    เพราะฉะนั้น  การลำเลียงกองทหารส่งไปยังสนามรบ  การลำเลียงทหารจากสนามเพลาะให้กลับมาพักผ่อนเพื่อออมกำลัง    การส่งเสบียงไปยังสนามเพลาะเพื่อให้ทหารกินอิ่มจะได้ทำการได้เต็มที่    กับการส่งกระสุนปืนให้ทหารราบทหารปืนใหญ่ยิงข้าศึกได้อย่างหนาแน่นตลอดเวลานั้น  เป็นกิจอันสำคัญอันตกอยู่ในหน้าที่ของกองทหารบกรถยนต์

          ตั้งแต่วันที่  ๑๗  ตุลาคม  ถึง  วันที่  ๕  พฤศจิกายน  เป็นเวลา  ๒๐ วัน  กองทหารบกรถยนต์ได้ส่งรถยนต์ไปทำการ  ๑๓๕๐  คัน  ได้ลำเลียงทหาร  ๓๖๐๐  คน    บรรทุกเสบียง  และกระสุนปืนหนัก  ๓๐๒๙  ตัน    ระยะทางที่บรรทุกหรือลำเลีบงกำลัง  ๓๐๔๙  กิโลเมตร  ระยะทางเดินไปและกลับที่ไม่ได้บรรทุก  ๑๓๗๒  กิโลเมตร    บางวันต้องทำการทั้งกลางวันกลางคืน  การเดินขบวนรถในยุทธบริเวณในเวลากลางคืนนั้น  เป็นการลำบากที่สุด  เพราะห้ามมิให้รถใช้โคมไฟเป็นอันขาด    บางครั้งถึงที่หมายในเวลากลางคืนมืดค่ำ  ไม่มีเจ้าหน้าที่จะขนลง  ขบวนต้องคอยหยุดอยู่ตามทาง  ทหารต้องนั่งหลับอยู่ในที่ขับรถนั่นเอง

          ความลำบากตรากตรำต่างๆ  ซึ่งทหารได้รับนี้    ต่อมาก็รู้สึกน้อยลง  เนื่องด้วยความชำนาญและความชิน    นอกจากนี้  ผลแห่งการรบซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรรุกไปได้ทุกๆ วัน กระทำให้ขวัญทหารดีขึ้น  และบังเกิดความพยายามมากขึ้น

           ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนยศนายทหารบกในกองทหารบกรถยนต์  ๔  นาย  คือ

          ๑. นายร้อยเอก  หลวงรามฤทธิรงค์  (ต๋อย  หัสดิเสวี)  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์  เป็นนายพันตรี

          ๒. นายร้อยโท  ศรี  ศุขะวาที  ผู้บังคับกองย่อยที่ ๑  ในกองทหารบกรถยนต์   เป็นนายร้อยเอก   

          ๓. นายร้อยโท  แม้น  เหมะจุฑา  ผู้บังคับกองย่อยที่ ๓  ในกองทหารบกรถยนต์  เป็นนายร้อยเอก

          ๔. นายร้อยโท  เพิ่ม  อุณหสุต  ผู้บังคับกองย่อยที่ ๒  ในกองทหารบกรถยนต์  เป็นนายร้อยเอก 

 

          ในเดือนตุลาคม  ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการรุกต่อไปอีกมาก    เพราะฉะนั้น  กองทหารบกรถยนต์จำเป็นต้องเคลื่อนที่ตามขึ้นไปอีก    ในคืนวันที่  ๔  พฤศจิกายน  ได้มีคำสั่งจากกรมบัญชาการกองทัพใหญ่ให้กองทหารบกรถยนต์ย้ายที่ตั้งไปทำการส่งกำลังในบริเวณเมืองแวรเดิงต่อไป  (Verdun  อยู่ในแคว้นอัลซาส ลอร์เรน)

 

          ตั้งแต่ย้ายที่ตั้งมาอยู่ในตำบลใหม่นี้  การส่งกำลังนับว่ายากลำบากขึ้นมากมายหลายประการ    กล่าวคือ  ถนนในบริเวณนี้ชำรุดมาก  อากาศหนาวจัดถึงกับหิมะตก และน้ำแข็งซึ่งทำให้เครื่องยนต์เดินไม่สะดวก  กับต้องแยกกันไปส่งกำลังวันละหลายๆ  ขบวน    แต่ทหารไทยก็มีความชำนาญในการขับรถ  ในการหาทาง    อีกข้อหนึ่งที่นับว่าสำคัญนั้นก็คือ  ความรู้สึกว่าชัยชำนะนั้นใกล้เข้ามาแล้ว  มีข่าวว่าราชศัตรูได้ขอทำสัญญาสงบศึกแล้ว    ฉะนั้น  ทหารไทยทุกคนได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเต็มสติกำลังทุกคน  และราชการได้ดำเนินไปตามความประสงค์ทุกประการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 วันที่  ๒  พฤศจิกายน  -  ศิษย์การบินสำเร็จการบินชั้นต้น

 

 

          ทางด้านศิษย์การบินที่โรงเรียนการบินชั้นต้นตำบลอิ๊สตรส์ นั้น    ศิษย์คนสุดท้ายเสร็จการฝึกหัดใช้คันบังคับเดี่ยวเมื่อ  วันที่  ๒  พฤศจิกายน

          เมื่อสอบได้การบินในขั้นนี้แล้วจะได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสทุกคน    แล้วจัดส่งไปยังโรงเรียนการบินที่เมืองโป  (Pau)  และที่อาวอรด์  (Avord)    คือพวกที่โรงเรียนการบินชั้นต้นตำบลอิ๊สตรส์ เห็นว่ามีตวามสามารถ  จะส่งไปที่โรงเรียนการบินเมืองโป    ส่วนพวกที่ทางโรงเรียนฯ ยังสงสัยไม่แน่ใจก็จะส่งไปยัง โรงเรียนการบินเมืองอาวอรด์

 

 

 

๖  พฤศจิกายน   ๒๔๖๑    ฝ่ายเยอรมันติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ขอเจรจาสงบศึก

 

พระราชทานธงชัยเฉลิมพล  -  ๙  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑ 

            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่กองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยทหารไทยที่ไปร่วมรบในทวีปยุโรป  พ.ศ. ๒๔๖๐   

          ธงชัยเฉลิมพลนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่กองทหารไทย ซึ่งไปร่วมรบช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป  เป็นธงที่สร้างขึ้นไว้ใช้เฉพาะกาล

 

 

 

 

 

 

 

 

 ลักษณะธงเป็นธงสี่เหลี่ยม พื้นธงมีลักษณะสีเหมือนธงไตรรงค์

  กลางผืนธงด้านหนึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รร.และเลข ๖ ภายใต้พระมหามงกุฎและรัศมี รูปทั้งหมดอยู่ภายในวงสีแดง

  กลางผืนธงอีกด้านหนึ่ง   เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสาธง อยู่ภายในวงกลมสีแดง

 

 ที่แถบสีแดงตอนบนจารึกคาถาว่า 

พาหุ  สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ   ครีเมขลํ   อุทิตโฆรสเสนมารํ

แถบสีแดงตอนล่างจารึกคาถาว่า

ทานาทิธมฺมวิธินา   ชิตวา   มุนินฺโท   ตนฺเตชสา    ภวนฺตุเต   ชยสิทฺธินิจฺจํ

 

           คาถาที่จารึกนี้เรียกว่า  “คาถาพุทธชัยมงคล  ๘"  หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า  “พาหุง”  ที่ใช้คาถานี้เพราะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบเทียบว่า ฝ่ายตรงข้ามเหมือนมารหรืออธรรมที่มุ่งมาโจมตีฝ่ายธรรม แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ไป ดุจที่พระพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะแก่พระยามารกระนั้น อีกประการหนึ่ง คาถาบทนี้มักใช้สวดในพิธีต่างๆ เป็นการอวยชัยให้พร การจารึกคาถาบนผืนธงจึงเท่ากับการอวยพรและเป็นนิมิตแห่งชัยชนะและสวัสดิภาพของเหล่าทหารไทย

 

๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑ - วันสงบศึก

           การสงครามซึ่งกระทำกันอยู่ในสนามนั้นได้เป็นไปอย่างเข้มงวด    ฝ่ายราชศัตรูได้เริ่มพ่ายแพ้เป็นลำดับมา    จนเมื่อ  วันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑  เวลา ๑๑๐๐   ผู้แทนกองทัพเยรมันได้ยอมลงนามในสัญญาหย่าศึก ยอมแพ้แก่ฝ่ายราชสัมพันธมิตรอย่างราบคาบ   บนรถไฟที่ป่ากองเปียญน์ (Compiogen)   แต่ถึงกระนั้นก็ดี   ยังหาทราบไม่ว่า การเจรจาเรื่องสัญญาสงบศึกจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่

           ราชศัตรูได้ยอมทำสัญญาพักรบ  และปฏิบัติตามข้อบังคับของฝ่ายสัมพันธมิตร    ในเรื่องการถอยออกจากดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร  ซ้ำยอมถอยข้ามแม่น้ำไรน์    ให้กองทัพสัมพันธมิตรเข้ายึดดินแดนเยรมะเนียฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ไว้เป็นประกัน    ยอมยกเรือรบ  และปืนใหญ่น้อย  เครื่องบิน  ยานพาหนะรถไฟและรถยนต์ให้อีกเป็นจำนวนมาก ฯลฯ  แปลว่า  ยอมแพ้อย่างราบคาบ

          เมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วถึงทั้งกองทัพแล้ว  ทหารสัมพันธมิตรในยุทธบริเวณย่อมเป็นที่ยินดีเบิกบานใจทั่วกันทุกคน    ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไปการต่อสู้กันได้ยุติลง  บรรดาทหารสัมพันธมิตรได้ร่าเริงกันอย่างเต็มที่    ทั้งปืนใหญ่และน้อยได้เริ่มยิงอย่างสนั่น  แต่เป็นการยิงสลุตสำหรับแสดงความยินดี  และแสดงเกียรติยศของสัมพันธมิตร    ในเวลากลางคืน  ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้จุดพลุที่ยังเหลืออยู่ตลอดแนวหน้า    เพราะฉะนั้น  ในคืนวันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑  นี้    แสงสว่างในท้องฟ้ามีสีต่างกันกับเวลากลางคืนที่แล้วๆ  มา    เพราะเมื่อยังทำสงครามกันอยู่นั้น  ทหารได้เห็นแต่แสงปืนใหญ่ที่ผลัดเปลี่ยนกันยิง  ส่วนแสงพลุนั้นแลเห็นเป็นตอนๆ    ตามบ้านเรือนต่างๆ นั้น  ในระหว่างสงครามพอค่ำก็ห้ามมิให้จุดไฟ  คามถนนหนทางแลดูมืดไปหมด    คืนวันที่  ๑๑  นี้  เป็นคืนแรกที่บ้ารเรือนซึ่งเคยเป็นยุทธบริเวณมาหลายปีแล้วได้เริ่มต้นมีแสงสว่าง    ฉะนั้น  ความยินดีของทหารนั้นอาจจะสามารถกล่าวได้ว่าเหลือที่จะพรรณา

           เมื่อได้มีการพักรบแล้วเช่นนี้  ทหารเหล่าอื่นชนิดอื่นก็ย่อมจะได้รับความผ่อนผันในหน้าที่ราชการ  แต่หน้าที่ของกองทหารบกรถยนต์กลับมีงานมากขึ้นอีก  เพราะจะต้องทำการส่งกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า  ย่านระยะที่จะต้องส่งกำลังนั้นก็ยืดยาวขึ้นอีก    เพราะฉะนั้น  ก็เป็นอันมากกองทหารบกรถยนต์คงต้องทำการต่อไป  มิได้ลดหย่อนงานลงเลย

 

วันที่  ๑๕  พฤศจิกายน    นายพันตรี  สตองบ๊อคค  แฟรมอร  ผู้บังคับการกรมรถยนต์ได้นำตรา  ครัวก์ซ์ เดอ แกรร์  (Croix de Guerre)   มามอบให้นายทหารไทยในกองทหารบกรถยนต์  ซึ่งได้มีความชอบในการที่ไปตรวจทางในย่านลูกกระสุนปืนใหญ่เล็กของข้าศึกโดยความองอาจ  ได้ราชการเป็นผลสำเร็จดีมาก  คือ

          ๑) นายร้อยเอก  แม้น  เหมจุฑา    ผู้บังคับกองย่อยที่  ๓

          ๒) นายร้อยตรี  เภา  เพียรเลิศ    ผู้ช่วยผู้บังคับกองย่อยที่  ๓ 

 

  Croix  de  Guerre  1914 - 1917   >  

 

 

 

           ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงกลางเดือนธันวาคม    กองทหารบกรถยนต์ได้รับคำสั่งให้ไปทำการส่งกำลังตลอดเวลา    โดยมากมีการลำเลียงทหารและสัมภาระซึ่งย้ายที่ตั้ง    นอกจากนี้  ยังต้องนำเสบียงอาหารไปแจกจ่ายให้แก่พลเมือง  ณ  ตำบลซึ่งขัดสนเสบียงด้วย

 

 

 กรุงเทพมหานครฯ

๑๙  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑  -  ประกาศพระราชกระแสร  เรื่องสัมพันธมิตร์มีชัย         

          เมื่อได้มีประกาศกระแสรพระบรมราชโองการแล้ว    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่พนักงานเตรียมการพระราชพิธีที่ชาลาด้านเหนือพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส  และที่ท้องสนามหลวง

 

 ๒  ธันวาคม  ๒๔๖๑

ปฐมกรรม 

          ครั้นวันที่   ๒  ธันวาคม   เวลา  ๑๕  นาฬิกา  ๕๖  นาที กับ  ๑๕  วินาที  เป็นปฐมฤกษ์   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรแห่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการแล้ว  เสด็จพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส   ทรงกระทำปฐมกรรม

 

 

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับบนเกย  ณ  ชาลาพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส  ในการพิธีปฐมกรรม

พิธีปฐมกรรม  เป็นพิธีที่พระมหากษัตริย์ในครั้งโบราณกระทำแก่ผู้ที่เป็นปรปักษ์ พิธีปฐมกรรมครั้งนี้ ทรงใช้น้ำสังข์สัมฤทธิ์ และน้ำพระเต้าประทุมนิมิตร์ ชำระพระบาทล้างมณฑิล ลงยังไม้ข่มนามให้ตกถึงพสุธา

 

 

          ระหว่างนี้ที่ท้องสนามหลวงกลางพระนคร    ทหารบก ทหารเรือ เสือป่า นักรบ เฉพาะซึ่งประจำราชการอยู่ในพระนครได้มาเข้าแถวรับเสด็จอยู่หน้าพลับพลาตามกำหนด  ในบังคับบัญชา จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  เสนาธิการทหารบก 

          อนึ่ง  พระบรมวงศานุวงศ์  ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง  ตลอดจนประชาชนทุกชาติ ทุกภาษาก็ได้มาประชุมพร้อมกันอยู่  ณ  ท้องสนามหลวง  ในการฉลองชัยชนะ

 

 

 

 

 

(รูปนี้ถ่ายในตอนทหารกำลังถอดหมวกเพื่อสวดมนต์)

 

 

 

วันชัย - VICTORY    บนตราไปรษณียากร    ๒  ธันวาคม  ๒๔๖๑

 

 

 

 

 

ในยุทธบริเวณ

          วันที่  ๑๐  ธันวาคม    กองทหารบกรถยนต์ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมสำหรับออกเดินทางไปทำการในกองทัพยึดดินแดนราชศัตรู

 

การเดินทางเข้าเหยียบดินแดนราชศัตรู            

          เมื่อมีคำสั่งให้กองทหารบกรถยนต์เข้าไปทำการรวมในกองทัพที่ยึดดินแดนข้าศึกนั้น  พอกิตติศัพท์ทราบถึงทหารไทย  ต่างก็รู้สึกปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งทั่วกัน

 

 

 

 

 

 

          ในคราวซึ่งทหารไทยจะได้นำธงชาติไทยเข้าเหยียบดินแดนข้าศึกครั้งนี้    นายพันตรี  หลวงรามฤทธิรงค์  ในนามของทหารในกองทหารบกรถยนต์  ได้รายงานขอให้หัวหน้าฑูตทหารมีโทรเลขเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัว

 

          การเดินทางเข้าไปในดินแดนราชศัตรู  คือประเทศเยอรมนีนั้น  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ท่านได้วางแผนอย่างสมบูรณ์ยิ่ง  ลองดูคำสั่งของท่านสักหน่อยนะครับ

 

"ที่  ๔๒/๒๔๖๑

คำสั่งสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไทย

ว่าด้วย  การเดินทางเข้าในดินแดนราชศัตรู

                                                                      โอเซวิลล์          ๑๐  ธ.ค. ๖๑      ๑๐.๐๐  น.

          ๑) กองทหารบกรถยนต์ได้รับคำสั่งให้ทำการเคลื่อนที่ไปยังบริเวณเมืองลันเตา  (Landau)    ในมณฑลปาลาติหนาด  (Palatinat)    ให้เริ่มออกเดินทางในวันที่  ๑๒  ธ.ค. ๖๑

          ๒) การเดินทางครั้งนี้จะแบ่งทางเดินเป็น  ๓  รัยัๆ ละวัน   ในคำสั่งฉบับนี้จะได้กล่าวถึงระยะที่ ๑  เท่านั้น    ระยะต่อไปนั้นจะได้มีคำสั่งต่อไป

          ๓) การเดินทางสำหรับวันที่  ๑๒  ธ.ค.  ๖๑  (ระยะที่ ๑)    จากตำบลโอเซวิลล์  (Auzeville)    ถึงเรซ็องวิลล์  (Rezonville)    การพักแรมในคืนนี้  กองบังคับการ  กับ  ย.๓  พักที่วิย็องวิลล์  (Vionville)  ย.๑  กับ  ย.๒  พักที่เรซ็องวิลล์     ด.เรี่ยม  ทรรทรานนท์จะได้ล่วงหน้าไปจัดที่พัก

ฯลฯ

          ๑๑) การเดินทางของข้าพเจ้าจะได้เริ่มต้นเมื่อรถของ  ย.๑  ได้ผ่านโอเซวิลล์ไปแล้ว    และจะรีบเดินตรงไปที่พ้ก  วิย็องวิลล์

(ลงนาม)    พ.ต.  หลวงรามฤทธิรงค์

ผ.บ.ก.ญ.ร.ย."

          เวลา  ๑๓.๐๐  นาฬิกา  ขบวนหมวดรถยนต์ของกองบังคับการได้มาถึงวิย็องวิลล์    เวลา  ๑๔.๐๐  นาฬิกา  ขบวนรถยนต์  ย.๓  ได้ไปถึง    สองขบวนนี้พักแรมในตำบลนี้  รถยนต์คงจอดข้างทาง    นายสิบพลทหารแบ่งกันพักตามเรือนโรงของชาวบ้าน  กับในโรงทหารปลูกด้วยไม้ชั่วคราว  (ของเยอรมันซึ่งทิ้งไปแล้ว)    ส่วนนายทหารสัญญาบัตรแบ่งกันพักตามบ้านของราษฎร

          เวลระหว่าง  ๑๔.๐๐ น.  กับ  ๑๔.๓๐ น.  ขบวนรถยนต์ของ  ย.๑  กับ  ย.๒  ได้ผ่านตำบลวิย็องวิลล์  และเลยไปพักแรม  ณ  เรซ็องวิลล์    ได้จัดการพักในหมู่บ้าน  รถยนต์คงจอดข้างถนน 

 

การเดินทางระยะที่  ๒

"ที่  ๔๓/๒๔๖๑

คำสั่งสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไทย

ว่าด้วย  การเดินทาง

วิย็องวิลล์    ๑๒  ธ.ค.  ๖๑    ๑๗.๓๐  น.   

          ๑)  ๑๓  ธ.ค. ๖๑  กองทหารบกรถยนต์จะทำการเคลื่อนที่ต่อไป  (ระยะที่ ๒)  จากวิย็องวิลล์  และเรซ็องวิลล์  ถึงเมืองฟอรบาฆ  (Forbach)

ฯลฯ

          ๔) การเดินทางให้เดินตามป้ายชี้ทางซึ่ง ด.เรี่ยม  ทรรทรานนท์จะได้ล่วงหน้าไปปักไว้  ฯลฯ

          ๕) ข้าพเจ้าจะออกเดินทางจากที่พัก  ๕.๓๐  น.  และจะรีบล่วงหน้าไปยังฟอรบาฆ  เพื่อกำหนดที่พัก

(ลงนาม)    พ.ต.  หลวงรามฤทธิรงค์

ผ.บ.ก.ญ.ร.ย." 

การเดินทางระยะที่  ๓

"ที่  ๔๔/๒๔๖๑

คำสั่งสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไทย

ว่าด้วย  การเดินทาง   

 ฟอรบาฆ    ๑๓  ธ.ค.  ๖๑    ๑๙.๐๐  น.

          ๑)  รุ่งขึ้น  วันที่  ๑๔  ธ.ค. ๖๑  กองทหารบกรถยนต์จะทำการเคลื่อนที่ต่อไป  (ระยะที่  ๓)

ฯลฯ

          ๔)  เมื่อไปถึงเมืองลันเตาแล้ว  ข้าพเจ้าจะได้สั่งการต่อไป

          ๕)  ข้าพเจ้าจะออกเดินทางเวลา  ๘.๐๐  น.    จะล่วงหน้าไปคอยอยู่ที่ต้นทางเข้าเมืองลันเตานั้นก่อน 

(ลงนาม)    พ.ต.  หลวงรามฤทธิรงค์

ผ.บ.ก.ญ.ร.ย."

      

          เมื่อผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ได้ไปถึงเมืองลันเตาแล้วได้ไปรายงานตนเอง  ณ  ที่ว่าการกรมบัญชาการมณฑลทหารบก  (ฝรั่งเศส)  ในเมืองนั้น  ได้รับคำสั่งให้นำทหารไปพักในโรงทหารถาวร  ซึ่งเดิมเป็นดรงทหารปืนใหญ่สนามที่  ๕  ของบาวาเรีย

          ในคืนวันนี้เองกองทหารบกรถยนต์ไทย  ได้รับคำสั่งให้ไปอยู่  ณ  ตำบลต่างๆ  บริเวณเมืองนอยสตัดตในวันรุ่งขึ้น  เพื่อทำการส่งกำลังต่อไป    จึงต้องเดินทางอีกระยะหนึ่งเป็นระยะที่ ๔

 

การเดินทางระยะที่  ๔

"ที่  ๔๕/๒๔๖๑

คำสั่งสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไทย

ว่าด้วย  การเดินทาง 

          ๑)  วันที่  ๑๕  ธ.ค. ๖๑  กองทหารบกรถยนต์จะทำการเคลื่อนที่ต่อไป  (ระยะที่ ๔)  เพื่อไปยังที่ตั้งพักดังจะกล่าวต่อไป

ฯลฯ

          ๔)  ทางเดินและที่หมาย

            ก)  หมวดรถยนต์ของกองบังคับการ  และ  ย ๑.  เดินทางจากลันเตา  ผ่าน เอเด๊สไฮม  (Edesheim)    เอเด้นโคเบ้น  (Edenkoben)    ไปพักที่เมืองนอยสตัดต  (Neustadt)    ไปจอดตั้งขบวนอยู่ที่สถานีรถไฟเพื่อรับคำสั่งกำหนดที่พัก

            ข)  ย.๒  ออกเดินทางจากเมืองลันเตา  ผ่าน เอเด๊สไฮม - เอเด้น โคเบ้น  เมืองนอยสตัดต    ไปพักที่ตำบลมุสสบาฆ  (Mussbach)

            ค)  ย.๓  ออกเดินทางจากเมืองลันเตา  ผ่าน เอเด๊สไฮม - เอเด้นโคเบ้น  เมื่อผ่านพ้นสถานีรถไฟตำบลนี้ไปแล้ว  ประมาณ  ๒๐๐  เมตร   ให้เลี้ยวไปตามทางแยกทิศตะวันออก  ใช้ทางตรงไปตำบลไกนสไฮม  (Geinsheim)  เพื่อพักแรมที่ตำบลนี้

          ในการเดินทางระหว่างเมืองลันเตาและในเมืองนอยสตัดตให้ใช้ตามทางซึ่งได้มีป้ายลูกศรชี้บอกไว้

ฯลฯ

          ๖)  ที่ทำการกองบังคับการจะไปตั้งอยู่ในโฮเต็ล  ซุม เลอเว่น  (Hotel-zum Lowen)  ในเมืองนอยสตัดต  ใกล้กับสถานีรถไฟ

ฯลฯ

          ๘)  ข้าพเจ้าจะออกเดินทางเวลา  ๙.๐๐ น.  ตรงไปเมืองนอยสตัดต      

(ลงนาม)    พ.ต.  หลวงรามฤทธิรงค์

ผ.บ.ก.ญ.ร.ย."

 

นอยสตัดต อัน แดร ฮารดต - ถึงแล้ว

           เวลา  ๑๑.๐๐ น.  ถึง ๑๑.๓๐ น.    หมวดรถยนต์ของกองบังคับการ  และ ย.๑  ได้ถึงเมืองนอยสตัดต อัน แดร ฮารดต  (Neustadt on der Haardt)

          กองย่อยที่ ๒  ได้ไปถึงตำบลมุสสบาฆ  (Mussbach)  ๓  กิโลเมตรทางทิศเหนือของเมืองนอยสตัดต  ในเวลาระหว่าง  ๑๒ น.  ถึง  ๑๒ น. กึ่ง

          เวลาประมาณ  ๑๓.๐๐ น.    กองย่อยที่ ๓  ได้ไปถึงตำบลไกนสไฮม  (Geinsheim)  ๘  กิโลเมตร  ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนอยสตัดต

          ในการเดินทางเข้าเหยียบดินแดนราชศัตรูในครั้งนี้  ได้ใช้เวลาเดินทาง  ๒  วันครึ่ง    ถึงแม้ว่าฝนจะตกทั้ง  ๓ วัน  ทหารก็ได้ไปถึงที่ตั้งใหม่โดยสวัสดิภาพ     ระยะทางซึ่งกองทหารบกรถยนต์ได้เคลื่อนที่ไปในครั้งนี้ประมาณ  ๒๖๕  กิโลเมตร 

 

ที่พักทหารไทยในเมืองนอยสตัดต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          กองบังคับการกองทหารบกรถยนต์ได้ห้องในโฮเต็ล  ซุม เลอเว่น  (Hotel-zum Lowen)  ในเมืองนอยสตัดต  ใกล้กับสถานีรถไฟ  เป็นที่ทำการ  กับเป็นสโมสรรับประทานอาหารสำหรับนายทหารไทย และฝรั่งเศส    โอเต็ลซุม เลอเว่นเป็นโฮเต็ลชั้น  ๑  ในเมืองนี้    นับได้ว่า  ที่ตั้งของกองบังคบการสดวกสบานดีมาก

          ส่วนที่ตั้งหมวดพยาบาล  ได้ใช้สถานที่ในโรงเรียนเพาะปลูกองุ่น  (Leher Versuchschule der Weinbau)    มีห้องใหญ่สำหรับทหารเจ็บไข้อยู่  ๑  ห้อง    ห้องสำหรับผู้ที่เจ็บไข้เป็นโรคติดต่อ  ๑  ห้อง    นอกจากนี้ยังมีห้องสำหรับนายสิบพลพยาบาลอยู่    ห้องเก็บยาและห้องประกอบอาหารด้วย   ในบริเวณโรงเรียนนี้มีสวนขนาดย่อมซึ่งคนไข้เดินเที่ยวเล่นได้

           ครั้นเมื่อกองทหารไทยไปถึงเมืองนอยสตัดตแล้ว  ได้มีคำสั่งของผู้บัญชาการรถยนต์ในกองทัพให้ยุบกองใหญ่รถยนต์ฝรั่งเศสที่ ๑๔    เพราะทหารในกองนี้ต้องปลดเป็นกองหนุน    ส่วนรถยนต์นั้นให้โอนมารวมรถยนต์กองทหารบกรถยนต์ไทย    เมื่อได้รับรถยนต์จำนวนใหม่นี้แล้ว  กองทหารบกรถยนต์ไทยคงมีจำนวนรถ   รวมทั้งสิ้น  ๓๔๐  คัน

 

 

๒๑  ธันวาคม - โรงเรียนฝึกหัดการยิงปืนในอากาศบิ๊สคาร์รอสส

 

 

 

          โรงเรียนฝึกหัดการยิงปืนในอากาศ  ณ  ตำบลบิ๊สคาร์รอสส  (Ecole de Tit Aerienne Biscarrosse)  ตั้งอยู่ในมณฑลจิร็องด์    (Gironde)    เป็นโรงเรียนฝึกหัดการยิงปืนในอากาศ    รับฝึกหัดนักบินที่สำเร็จการบินโลดโผนที่เมืองโปมาแล้ว    นักบินไทยได้ไปอยู่ในโรงเรียนนี้  ๒  ชุด    รวมนักบิน  ๒๒    เจ้าหน้าที่อื่นๆ  ๘

          ชุดที่  ๑  ถึงโรงเรียน  วันที่  ๒๑  ธันวาคม    เริ่มฝึกหัดวันที่  ๒๖  ธันวาคม

          ชุดที่  ๒  ถึงโรงเรียน  วันที่  ๔  กุมภาพันธ์    เริ่มฝึกหัดวันที่  ๕  กุมภาพันธ์

           หลักสูตรการฝึกหัดเล่าเรียน  ได้แก่

          - ยิงเป้าที่หมายนิ่งบนพื้นดินด้วยกระสุนจริง

          - ฝึกหัดบินยิงที่หมายในอากาศด้วยกระสุนจริง

          - การยิงที่หมายนิ่ง  ที่หมายเคลื่อนที่ในอากาศด้วยปืนกล  (ที่หมายซึ่งปล่อยให้ลอยไป)

          - การแก้ความคลาดเคลื่อนของการยิงที่หมายเคลื่อนที่ และลม

          - การถอด  และประกอบปืนกล  (อาวุธศึกษา)

 

๒๖  ธันวาคม - โรงเรียนฝึกหัดการทิ้งลูกระเบิดจากเครื่องบิน  ณ  ตำบลเลอะโครตัวย์

          โรงเรียนฝึกหัดการทิ้งลูกระเบิดจากเครื่องบิน  ณ  ตำบลเลอะโครตัวย์  (Ecole d' Application de Bombardment de le Crotoy)  ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำซอมม์  (Somme)    ในมณฑลซอมม์    ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส    รับเฉพาะนักบินที่ได้รับประกาศนียบัตรแล้ว  เพื่อฝึกหัดการทิ้งระเบิดทั้งกลางวัน  และกลางคืน    นักบินไทยแบ่งเป็น  ๒  พวกคือ    ผู้ขับเครื่องบินทิ้ระเบิดพวกหนึ่ง  พวกนี้เลือกจากที่สำเร็จโรงเรียนการบินอาวอรด์    อีกพวกหนึ่งคือ  ผู้ทิ้งลูกระเบิด    ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักบิน

          กองบินไทยมีนายทหารเข้ารับการฝึกหัดรวมทั้งสิ้น  ๕๘  คน    ไปถึงโรงเรียนฯ เมื่อ  ๒๖  ธันวาคม    และได้เริ่มลงมือฝึกหัด  เมื่อ  ๒๘  ธันวาคม   

 

 

 

 

 

งานเฉลิมพระชนม์พรรษา    ๑  มกราคม  พ.ศ.๒๔๖๑

          ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษานี้  แม้ว่าทหารในกองรถยนต์ส่วนมากกำลังทำการส่งกำลังอยู่ตามทาง    มีเหลืออยู่ในที่พักเป็นส่วนน้อย    ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ได้สั่งการให้จัดการ  ตกแต่งสถานที่

          เวลา  ๑๔  นาฬิกา    รวมประชุมทหารที่ไม่ติดภารกิจส่งกำลัง  หรือติดเวรยาม   เมื่อตั้งแถวพร้อมกันแล้วสั่งกระทำวันทยาวุธ  แล้วผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์อ่าคำถวายไชยมงคล    เมื่อกล่าวจบแล้ว  บอกแถวกระทำวันทยาวุธ   แล้วร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นพร้อมกัน

          ตอนค่ำมีการเลี้ยง    ได้รวบรวมทหารไทยซึ่งเล่นคนตรีไทยได้มาทำดนตรีในเวลาเลี้ยงอาหารด้วย    

 

วันที่  ๒๐  กุมภาพันธ์ 

          เวลา  ๑๔  นาฬิกา   นายพันเอก  ติ๊กซิเยร  (Tixier)  ได้รับคำสั่งให้นำตราครัวก์ซ เดอ แกรร  ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสมอบให้แก่นายทหารไทย    เนื่องด้วยความชอบในการส่งกำลังระหว่างวันที่  ๒๐ - ๓๑  ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๖๑    จำนวน  ๕  นาย  คือ

               ๑. นายพันตรี  หลวงรามฤทธิรงค์    ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์

               ๒. นายร้อยเอก  ศรี  ศุขะวาที    ผู้บังคับกองย่อยที่  ๑ 

               ๓. นายร้อยเอก  เพิ่ม  อุณหสุต    ผู้บังคับกองย่อยที่  ๒ 

               ๔. นายร้อยตรี  ภักดิ์  เกษสำลี    ผู้ช่วยผู้บังคับกองย่อยที่  ๒ 

               ๕. นายร้อยตรี  กระมล  โชติกเสถียร    ผู้ช่วยผู้บังคับกองย่อยที่  ๑ 

               

 

 

 ด้านกองบินทหารบก 

          ๑๒  มีนาคม    เสร็จการฝึกหัดเล่าเรียนจากโรงเรียนฝึกหัดการทิ้งลูกระเบิดจากเครื่องบิน  ณ  ตำบลเลอะโครตัวย์ 

 

          นอกจากโรงเรียนการบินต่างๆ  ที่ได้กล่าวมาแล้ว    กองบินทหารบกยังได้จัดส่งนักบินเข้าฝึกหัดเล่าเรียนวิชาต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องการบินอีกหลายแห่ง  หลายหลักสูตร  เช่น

          ค่ายการบิน  ณ  ตำบลล่าแบ๊รธ  (Camp d' Aviation de la Perthe)    ตั้งอยู่ในมณฑลโอบ  (Aube)    เป็นค่ายการบินที่รวบรวมนักบิน  และผู้ทิ้งลูกระเบิดที่เตรียมจะไปสนามรบ

          โรงเรียนตรวจการณ์จากเครื่องบิน  ณ  ตำบลชาเปล ล่า แรน  (C.I.A.O.  Center Instruction Aviation Obaervation)     ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านล่า ชาเปล ล่า แรน  (La Chapella La Reine)    มณฑลเซนเอต์มารน  (Seine et Marne)    ในจังหวัดฟ็องเตนโบล  (Fontainebleau)    สำหรับฝึกหัดผู้ที่จะเป็นผู้ตรวจการณ์  ตรวจกระสุนตก  ถ่ายรูปจากเครื่องบิน  (รวมถึงการอ่านภาพถ่ายจากเครื่องบินด้วย)

          บุคคลซึ่งจะได้เข้าฝึกหัดเล่าเรียนในโรงเรียนนี้  ต้องเป็นนายทหารสัญญาบัตรทั้งสิ้น    คือ  เลือกจากนายทหารฝ่ายเสนาธิการ    นายทหารปืนใหญ่  นายทหารช่าง    เป็นต้น

          โรงเรียนฝึกหัดการยิงปืนในอากาศ  ณ  ตำบลคาโซ    (Ecol de Tir aerien Cazan)    ตั้งอยู่ที่ทะเลสาบคาโซ    ทางทิศตะวันตฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสในมณฑลจิร็องด  (Gironde)    รับฝึกหัดบุคคลที่จะยิงปืนบนอากาศ  คือผู้ที่สำเร็จจากการตรวรการณ์  หรือเป็นผู้ได้ศึกษาในการทิ้งลูกระเบิดมาแล้ว  เพื่อมาศึกษาและฝึกหัดยิงปืนในหน้าที่ผู้โดยสาร    หรืออีกชนิดหนึ่งคือ  ผู้ที่จะยิงอากาศยานจากพื้น     การเรียนใช้เวลาเรียนในห้องเรียน  ๒  สัปดาห์  ฝึกหัดในสนามและในโรงงาน  ๔  สัปดาห์    รวม  ๖  สัปดาห์ 

 

 

การรวมทหารในกองบินทหารบกที่เมืองมารเซย์เพื่อให้กลับมายังพระนคร  และการรับธงไชยเฉลิมพล

          เมื่อทางราชการรู้แน่ชัดแล้วว่าการสงครามเป็นอันสงบแน่นอน  และกองบินทหารบกเป็นอันไม่มีโอกาสได้เข้ากระทำการสงครามในยุทธบริเวณ    จึงมีคำสั่งเรียกกองบินทหารบกกลับพระนคร   ให้ผู้บังคับบัญชาคัดเลือกนักบินและช่างเครื่องยนตร์เฉพาะผู้ที่เห็นว่าสมควร  แบ่งไว้ให้ได้รับการฝึกหัดเล่าเรียนเพิ่มเติม  สำหรับกลับมาเป็นครูในราชการของกองบินทหารบกในประเทศสยามอีกต่อไป   ในระหว่างนี้ทางราชการทหารได้จัดการหาเรือสำหรับบรรทุกทหาร  ตกลงได้เรือมิเตา - Mitau -   เรือจะมาถึงเมืองมาร์เซย์ในวันที่  ๑๐  มีนาคม   (แต่ได้มาถึงแน่นอนใน  วันที่  ๒๙  มีนาคม)   

          ในเที่ยวนี้เรือมิเตาขนได้เพียง  ๓๘๐  นาย    และนายทหารอีก  ๔๐  นาย  เท่านั้น

         ทหารที่เหลือต้องเป็นผู้ร่วมยึดครองประเทศเยอรมัน  และต้องร่วมในพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ  ที่กรุงปารีส    กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  และกรุงบรัสเซลล์  ประเทศเบลยี่ยม      กำหนดให้เรือมิเตากลับไปรับกลับประเทศไทยต่อไป  ซึ่งเรือมิเตาจะกลับไปรับใน  วันที่  ๑๙  สิงหาคม  ๒๔๖๑   มีจำนวน  นายทหาร  ๖๒    นายสิบ  ๑๖๐    พลทหาร  ๖๗๐    รวม  ๘๙๒  นาย

 

 

 

 

 

พิธีรับธงไชยเฉลิมพล     

          เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานธงชัยเฉลิมพล แก่กองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ เมื่อ  วันที่  ๙  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑   แต่โดยเหตุที่หน่วยทหารทั้งสองอยู่นอกพระราชอาณาจักร    จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เสนาบดีกระทรวงกลาโหมจัดการส่งไปให้แก่กองทูตทหาร  เพื่อจัดส่งให้หน่วยทหารไทยที่ไปร่วมรบในทวีปยุโรปต่อไป

          พิธีมอบธงไชยเฉลิมพลแก่กองบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์ นั้น  ได้แยกพิธีกันดังนี้

 

"คำสั่งพิเศษ

สำหรับการมอบธงไชยเฉลิมพลให้กับกองทหารบกรถยนต์

วันที่  ๑๖  มินาคม  พ.ศ.๒๔๖๑

----------------------------

 

เตรียมการรับธง 

          ๑)  วันที่  ๑๗  มินาคม  พ.ศ.๒๔๖๑  เวลา  ๑๕  นาฬิกา  ให้นายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์  ผู้บังคับ
กองทหารบกรถยนต์  รวบรวมนายทหาร  นายสิบ, พลทหาร  ที่มิได้ไปราชการในวันนั้นทั้งสิ้น  จัดเป็น  ๓ กองย่อยตามปกครอง  มาตั้งแถวพร้อมเสร็จ ณะ ตำบลน่าสถานีเมืองนอยสตัดต์

ฯลฯ

การตรวจพล

การมอบธง 

          ๔) เมื่อแถวทหารพร้อมเสร็จแล้ว  ข้าพเจ้าจะได้ให้เชิญธงไชยเฉลิมพลไปประดิษฐานย่านกลางที่ประชุมทหาร    ในขณะนี้ให้แถวกระทำการเคารพผู้บังคับบัญชาตามระเบียบ    แล้วข้าพเจ้าจะได้กล่าวถ้อยคำเพื่อให้ทหารฟังพระราชดำรัส  ซึ่งนายพันโทพระทรงสุรเดชจะได้อ่านลายพระราชหัตถ์เลขาเนื่องในการพระราชทานธงแก่กองทหารซึ่งไปในการพระราชสงคราม  เสร็จแล้วข้าพเจ้าจะได้กล่าวคำปลุกใจทหารเพิ่มเติม

       ต่อนั้นไปเริ่มให้ทหารกระทำสัตย์สานาลต่อธงไชยเฉลิมพล  ซึ่งนายพันตรี  หลวงรามฤทธิรงค์ จะได้อ่านนำให้ทหารว่าตาม  เมื่อเสร็จให้ทหารกระทำสัตย์สานาลธงแล้ว  ข้าพเจ้าจะเชิญธงไชยเฉลิมพลมอบกับนายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์

ฯลฯ

 

การสวนสนาม

          ๕) เมื่อเสร็จการมอบธงไชยเฉลิมพลให้แก่กองทหารแล้ว  มีการสวนสนามเป็นขะบวนกองย่อย   จัดแถวตอนหมู่เป็นเสร็จการ

          ๖) ถ้าแม้จะมีการรับตราครัวก์ซ์ เดอะ แกร์ร์  ( Croix de Guerre) สำหรับธงไชยเฉลิมพล  จะได้กระทำในเวลาที่ธงเข้าที่แล้ว  ก่อนน่าการสวนสนาม

 

(ลงนาม)   นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์                  

หัวน่าทูตทหาร"                 

 

 

 

 

        กองทหารบกรถยนต์ได้ตั้งแถวพร้อมตามกำหนด    บรรดานายทหาร  นายสิบ  พลทหาร แต่งกายเครื่องสนามมีอาวุธพร้อม    นอกจากกองทหารไทยนี้แล้ว    แม่ทัพกองทัพน้อยที่  ๑  ได้ส่งกองแตรวงทหารฝรั่งเศสมาช่วย  ๑  กอง  และ จัดทหารฝรั่งเศสมาเป็นกองเกียรติยศ   กึ่งกอง

          เวลา  ๑๕  นาฬิกา    นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์    พร้อมด้วย  นายพลตรี  มอรเดอเร็ล  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเมืองนอยสตัตต  และนายทหารในกรมบัญชาการกองทหารได้มายังแถวทหาร . . . ครั้นแล้วหัวหน้าฑูตทหารได้ไปยืนท่ามกลางหน้าแถวทหาร    นายร้อยโท  หม่อมราชวงศ์  ตัน  สนิทวงศ์  ณ  กรุงเทพ   ได้เชิญธงไชยเฉลิมพล    นายพันโท  พระทรงสุรเดช เป็นผู้นำ ได้นำและเชิญไปประดิษฐาน  ณ  ย่านกลางหน้าแถวทหาร      ครั้นแล้วหัวหน้าทูตทหารได้ชี้แจงความซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงไชยเฉลิมพลให้แก่กองทหารบกรถยนต์  และสั่งให้ทหารคอยสดับตรับฟังพระราชดำรัสซึ่งนายพันโท  พระทรงสุรเดช เป็นผู้อ่าน

ฯลฯ

           เมื่อ นายพันโท  พระทรงสุรเดช ได้อ่านจบลงแล้วนายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  ได้มอบธงไชยเฉลิมพลให้แก่ นายพันตรี  หลวงรามฤทธิรงค์  ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ๆ ได้ปฏิบัติการต่อไปตามคำสั่ง  จนผู้เชิญธงไชยเฉลิมพล ได้เชิญธงเข้าประจำหัวแถว

 

 

 

 กองทหารบกรถยนต์รับธงชัยเฉลิมพลที่สถานีรถไฟเมืองนอยสตัดต์เมื่อ  ๑๖  มีนาคม  ๒๔๖๑

 

 

 

Croix  de  Guerre

          ในโอกาสนี้  เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้จัดส่งตราครัวก์ซ์ เดอะ แกร์ร์   ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้แก่ธงไชยเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์ไทยมายังนายพลผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเมืองนอยสตัตต เพื่อให้ถือโอกาสนี้เป็นเวลาที่จะประดับตราให้แก่ธง      ก่อนที่จะมีการประดับตรา  ได้มีการอ่านความชอบ  ดังความตอนหนึ่ง ดังนี้ . . . 

 

กองทหารบกรถยนต์สยาม

ในบังคับนายพันตรี  หลวงรามฤทธิรงค์ 

          เป็นกองใหญ่ซึ่งสมควรได้รับความยกย่อง   เพราะทหารในกองนี้ได้แสดงความอุตสาหะ และความซื่อตรงต่อหน้าที่ราชการใหเห็นประจักษ์ทุกคน  นับจำเดิมแต่เมื่อได้เข้ากระทำการรวมอยู่ในกองทัพสนาม    ก็ได้มีแต่ความมุ่งมั่นอยู่อย่างเดียวที่จะช่วยกองทัพฝรั่งเศสอย่างจริงใจ . . .

 

 

 

 

ส่วนการมอบธงชัยเฉลิมพลแก่กองบินทหารบก นั้น  ได้กระทำที่ค่ายพักทหาร   ในวันที่  ๒๔  มีนาคม  โดยมีลำดับพิธีเช่นเดียวกับกองทหารบกรถยนต์

 

 

"คำสั่งพิเศษ 

สำหรับการมอบธงไชยเฉลิมพลให้กับกองบินทหารบก

วันที่  ๒๔  มินาคม  พ.ศ.๒๔๖๑

----------------------------

ฯลฯ

(ลงนาม)   นายพลตรี  พระยาพิไชยชาญฤทธิ์  

หัวน่าทูตทหาร" 

 

 

          อนึ่ง   เมื่อเสร็จการมอบธงไชยเฉลิมพลแล้ว    นายทหารฝรั่งเศสติดต่อกับกองฑูตทหารไทยแจ้งว่า  กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสมีคำสั่งให้นำตรามามอบให้  ตามความมุ่งหมายของฝรั่งเศสนั้นคือ    กองบินทหารบกไทยไม่มีโอกาสเข้าทำการรบ เพราะข้าศึกได้พ่ายแพ้เสียก่อนแล้ว  แต่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการแสดงความขอบคุณแก่ทหารไทย    จึงขอมอบให้แก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของทหารกองบินทหารบก  คือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         - นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ    ได้รับตราเลจิย็องด็อนเนอร์  ชั้นที่  ๔  -  Officier de la Legion  d' honneur

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

        - นายพันตรี  หลวงทยานพิฆาฎ    ได้รับตราเลจิย็องด็อนเนอร์  ชั้นที่  ๕  -  Chevalier  de la Legion  d' honneur

 

 

 

 

 

 

 

           ในระหว่างที่เรือมิเตายังมาไม่ถึงท่าเรือนี้  ทหารคงพักอยู่ที่เมืองมารเซย์  ต่อเช้าวันที่  ๓๐  มีนาคม   เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเรือได้เรียบร้อยแล้ว   ได้เริ่มต้นขนพัสดุสิ่งของต่างๆ ของกองทหาร และของกองทหาร,นายสิบ,พลทหาร เป็นหีบและถุง  ซึ่งได้เตรียมไว้พร้อมเสร็จตลอดทั้งรถบรรทุก  ไปลงเรือ

 

อำลา - มารเซย์ 

          วันที่  ๓๑   มีนาคม  พ.ศ.๒๔๖๑   เวลา  ๑๙  นาฬิกา  ๓๐  นาที     เรือมิเตาได้เริ่มเคลื่อนที่ออกจากท่าเรือเมืองมารเซย์  เพื่อนำทหารในกองบินทหารบกไทย กลับมาส่งพระนคร

 

 

 

 

 

         วันที่  ๒๙  เมษายน  พ.ศ.๒๔๖๒  เวลา  ๒๐  นาฬิกา  ๓๐ นาที    เรือมาถึงเกาะไผ่  ลงสมอพักนอนในคืนวันนี้

          วันที่  ๓๐  เมษายน  เวลา ๖  นาฬิกา  ๔๕ นาที     พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ได้เสด็จโดยเรือตอรเปโดที่ ๔  มาจอดอยู่ใกล้กับเรือมิเตา    หัวหน้าฑูตจึงเชิญเสด็จขึ้นมาประทับในเรือ  แลบรรดานายทหารได้มาเฝ้าพร้อมกัน    รับสั่งว่า  เรือเจนทะเลคงจะมาถึงค่ำ    เย็นวันนั้น  ผู้บังคับการเรือมิเตาจึงเชิญเสวยในเรือรวมกับนายทหาร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรือเจนทะเล   (ซ้าย)                                                                                                                เรือตอร์ปิโด  ๔   (ขวา)

 

 

          ครั้นเวลา  ๑๘  นาฬิกา  ๓๐  นาที    เรือเจนทะเล  และเรือปราบปรปักษ์ มาถึง    เข้าจอดเทียบเรือมิเตาข้างละลำ

          รุ่งขึ้น  วันที่  ๑  พฤษภาคม  เวลา  ๒  นาฬิกา  จึงลงเรือเจนทะเลพร้อมเสร็จ   

          เวลา  ๓  นาฬิกา    เรือเจนทะเลออกจากเกาะสีชังพร้อมทั้งเรือปราบปรปักษ์

          พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ได้เสด็จโดยเรือตอรเปโดที่ ๔  ถึงโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๔  จังหวัดสมุทรปราการ  เมื่อเวลา  ๖  นาฬิกา  ๑๕  นาที    ส่วนเรือเจนทะเลมาถึง เมื่อเวลา  ๘  นาฬิกา  ๓๐  นาที    ทหารทั้งหลายได้รับประทานอาหารเช้าตามที่เจ้าพนักงานโรงเรียนพลทหารเรือได้จัดการรับรอง

             

 

 

 

 

 

 

          พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ได้เสด็จโดยเรือตอรเปโดที่ ๔  ถึงท่าราชวรดิษฐ์  เวลา  ๑๔  นาฬิกา  ๓๐  นาที    ซึ่งหัวหน้าฑูตทหาร  กับนายพันโท  พระทรงสุรเดชได้ตามเสด็จด้วย    ส่วนเรือเจนทะเลมาถึง เมื่อเวลา  ๑๕  นาฬิกา  ๔๕  นาที

         

 

          ครับ  .  .  .   กองบินทหารบก  ก็ได้กลับถึงพระนครเป็นที่เรียบร้อย    เราพักไทยกับ "มหาสงคราม" (๒)   ไว้เพียงนี้ก่อน  และติดตาม  .  .  .   ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓)    กันต่อไป  .  .  .  นะครับ - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว 

 

 

 

 

 

 

 

ตอนต่อไป  .  .  .   ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓) - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว

ตอนต่อไป  .  .  .   ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓) - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว

ตอนต่อไป  .  .  .   ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓) - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

       - หนังสือที่ระฤกงานพระราชทานเพลิงพระศพ  จอมพล  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ     พ.ศ.๒๔๖๓

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๑    (จากหลักฐานของทางราชการที่เก็บไว้  ณ  ใต้ถุนสถานทูตไทย  ณ  ฝรั่งเศส  และเยอรมัน)  ของ  ม.ล. มานิจ  ชุมสาย,  ราชบัณฑิต  และกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์    สำนักพิมพ์พิทยาคาร    ๒๒๖  เวิ้งนาครเขษม  กรุงเทพฯ    ๒๕๒๒  

          - ข้อมูล  พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ จึง ขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (102046)
avatar
Demetorius

 ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Demetorius (maceus-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-03 03:14:30 IP : 115.87.73.29



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker