dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



ไทยกับ "มหาสงคราม" (๓) - การสงครามเป็นอันยุติแล้ว
วันที่ 16/02/2020   20:54:02

*  *  *

การสงครามเป็นอันยุติแล้ว

 

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .

          ก่อนที่จะเข้าสนามรบ   กองทหารไทยได้ไปฝึกอบรมในโรงเรียนต่างๆ  ดังนี้

          กองทหารบกรถยนต์    ไปฝึกอบรมที่  เมืองลีย็องส์  Lyons  และเมือง  ดูรด็อง  Dourdan

          กองบินทหารบก    ไปฝึกอบรม  ตำบลอิ๊สตรส์  istres  และ  เมืองอาวอร์ด Avord   

          กองทหารบกรถยนต์เข้าทำการในสนามด้านกองทัพฝรั่งเศส

          ผู้แทนกองทัพเยรมันได้ยอมลงนามในสัญญาหย่าศึก ยอมแพ้แก่ฝ่ายราชสัมพันธมิตรอย่างราบคาบ

          การเดินทางเข้าเหยียบดินแดนราชศัตรู

          ด้านกองบินทหารบก

          เมื่อทางราชการรู้แน่ชัดแล้วว่าการสงครามเป็นอันสงบแน่นอน  และกองบินทหารบกเป็นอันไม่มีโอกาสได้เข้ากระทำการสงครามในยุทธบริเวณ    จึงมีคำสั่งเรียกกองบินทหารบกกลับพระนคร 

          พระเจ้าพี่ยาเธอ  กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ได้เสด็จโดยเรือตอรเปโดที่ ๔  ถึงท่าราชวรดิษฐ์  เวลา  ๑๔  นาฬิกา  ๓๐  นาที    ซึ่งหัวหน้าฑูตทหาร  กับนายพันโท  พระทรงสุรเดชได้ตามเสด็จด้วย    ส่วนเรือเจนทะเลมาถึง เมื่อเวลา  ๑๕  นาฬิกา  ๔๕  นาที

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  . 

การต้อนรับกองบินทหารบกเมื่อถึงพระนคร

          วันที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๔๖๒  เวลา  ๑๖  นาฬิกา  เรือได้มาถึงท่าขุนนาง  ได้เข้าจอดเทียบท่า    พระบรมวงศานุวงศ์  นายทหารผู้ใหญ่ ผู้น้อย  ข้าราชการพลเรือน และราษฎรได้ไปคอยรับอยู่ที่ท่าเป็นอันมาก    ครั้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระมหาสมณะ ได้เสด็จขึ้นสู่เกย  ได้มีพระดำรัสอำนวยพร และทรงประน้ำพระพุทธมนต์ทั่วทุกตัวคน

          ครั้นแล้วทหารเดินแถวมีแตรวงนำหน้าเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง  ตามถนนมหาราช - ถนนหน้าพระลาน - เข้าสู่ประตูวิเศษไชยศรีไปตั้งแถวที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมาต้อนรับกองทหาร  ทรงตรวจพล   เมื่อจบการตรวจพลแล้วได้มีพระราชดำรัส

 

 

 

 

 

          เมื่อได้พระราชทานพระราชดำรัสต้อนรับทหารแล้ว    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ  ณ พระราชอาสน์  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญที่ระฤกราชการสงครามยุโหรปแก่นายทหาร,นายสิบ,พลทหาร  เข้าไปรับพระราชทานเหรียญเรียงตัวกัน

 

 

 

 

 

เหรียญงานพระราชสงครามทวีปยุโรป

The War Medal of B.E. 2461

 เหรียญงานพระราชสงครามทวีปยุโรป ใช้อักษรย่อว่า ร.ส. จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ประเภท เหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความกล้าหาญ

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ไปพระราชสงครามในทวีปยุโรป    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑

 ลักษณะเป็นเหรียญเงินกลม

ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพักตร์เสี้ยว และมีอักษรพระบรมนามาภิไธยปรากฏที่ริมขอบว่า

"รามาธิปติสยามินฺโท วชิราวุธฺวิสฺสโต" 

ด้านหลัง มีรูปวชิราวุธ มีรัศมีพานรองสองชั้น มีฉัตรสองข้าง และมีอักษรที่ริมขอบว่า

"งานพระราชสงครามในทวีปยุโรป พระพุทธศักราช ๒๔๖๑"

ห้อยกับแพรแถบสีเลือดหมู มีริ้วสีดำสองข้าง กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร ห้อยกับแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

 

ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

 

 

 

 

 

กองบินทหารบกเสร็จราชกิจ 

          วันที่   ๔  พฤศจิกายน  ๒๔๖๒    นับว่าทหารกองบินทหารบกซึ่งอาสาไปในราชการสงครามเป็นอันเสร็จราชกิจ    นายสิบพลทหารได้ปลดเป็นกองหนุนเดินทางกลับไปสู่ตามภูมิลำเนาของตน    ส่วนนายทหารสัญญาบัตรซึ่งเป็นนายทหารประจำการทั้งสิ้นนั้น  ได้มีคำสั่งให้กลับไปรับราชการตามเหล่าและชนิดของตนดังก่อนที่เข้าอาสา    ทั้งนี้  ตลอดจนนายทหารในกองฑูตทหาร 

 

กองทหารบกรถยนต์ยังไม่เสร็จราชกิจ - ยุทธบริเวณ

          นายทหารสัญญาบัตรในกองทหารบกรถยนต์ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลฝรั่งเศส  คือ

               นายร้อยเอก  หม่อมเจ้า  นิตยากร  ได้รับตราครัวก์ซ์ เดอะ แกร์ร์  เนื่องในความชอบตั้งแต่ครั้งยังกระทำสงครามกันอยู่

               นายพันตรี  หลวงรามรณรงค์  ได้รับตราเลจิย็องด็อนเนอร์  ชั้นที่  ๕  -  Chevalier  de la Legion  d' honneur 

 

 

 

 

 

 

 

Croix  de  Guerre  1914 - 1917                     Chevalier  de la Legion  d' honneur  >

 

 

 

 

 

 

 

การรุกข้ามแม่น้ำไรน์

          จำเดิมตั้งแต่วันที่  ๑๑  พฤศจิกายน  ๒๔๖๑   ซึ่งผู้แทนกองทัพเยรมันได้ยอมลงนามในสัญญาหย่าศึก ยอมแพ้แก่ฝ่ายราชสัมพันธมิตร์อย่างราบคาบตามสัญญาที่ฝ่ายสัมพันธมิตร์ได้ร่างขึ้น    นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงกลางเดือน  พฤษภาคม  ๒๔๖๒   เป็นเวลาประมาณ  ปีครึ่งยังหาได้ทำสัญญาสันติภาพกันไม่ 

          ต่อมาที่ประชุมทำสัญญาสันติภาพ  ได้กำหนดวันที่  ๒๓  มิถุนายน  ๒๔๖๒   เวลา  ๑๘  นาฬิกา  เป็นเวลาที่สุดซึ่งฝ่ายประเทศเยร์มะเนียจะยอมรับทำสัญญาสันติภาพ    ถ้าแม้ฝ่ายประเทศเยร์มะเนียนิ่งเฉยเสียหรือไม่ยอมรับและได้พ้นกำหนดนี้ไปแล้ว    กองทัพสัมพันธมิตร์จะรุกเข้าไปในดินแดนแห่งประเทศเยร์มะเนียต่อไป

          ครั้นวันที่  ๑๘  มิถุนายน    ก่อนจะถึงกำหนด  ๗  วัน    จอมทัพสัมพันธมิตร์ได้มีคำสั่งให้กองทัพทั้งหลายรุกข้ามลำน้ำไรน์  ไปตั้งประชิดกับเขตร์ที่เป็นกลางและเตรียมพร้อมสำหรับการรบ  

          สำหรับการที่กองทัพสัมพันธมิตร์จะทำการรุกข้ามแม่น้ำไรน์ ครั้งนี้  กองทหารบกรถยนต์ไทยได้รับคำสั่งให้ลำเลียงกรมทหารพรานที่ ๑  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฟรังเค่นธาล  และสัมภาระของกรมบัญชาการกองพลในเมืองลู้ดวิกส์ฮาเฟ่น . . . ฯลฯ

          เมื่อได้ลำเลียงทหารขึ้นรถพร้อมแล้ว  ได้เริ่มเดินทางแยกกันเป็น  ๒  ขะบวน คือ  

               ขะบวนรถยนต์กองย่อยที่  ๑  ในบังคับนายร้อยเอก ศรี  ศุขะวาที  ได้เริ่มออกเดินเวลา  ๘  นาฬิกา  ๒๕  นาที  เดินทางผ่านเมืองและตำบลดังนี้ วอรมส์ - โฮ้ฆไฮมเว็สตโฮ้เฟ่น-เฮ็สสล็อฆ- ไวโนลสไฮม-ม็อมเม่นไฮม-ไมนซ์  (Worms - Hochheim - Westhofen - Hessloch - Weinolsheim - Momenheim - Mains)   ข้ามแม่น้ำไรน์โดยสะพานที่ตำบลคัสเคล (Kastel)  แล้วเดินทางต่อไปยังเด็ลเค่นไฮม  (Delkenheim) เพื่อลำเลียงทหารลง    กองย่อยที่ ๑ ได้ไปถึงตำบลลำเลียงทหารลงนี้  ในวันที่  ๑๙  มิถุนายน   เวลา  ๗  นาฬิกา  ๒๕  นาที   

               กองย่อยที่  ๓  ได้ออกเดินเวลา  ๘  นาฬิกา  ๔๕  นาที  แห่งวันที่  ๑๘  มิถุนายน   เดินทางเดียวกับกองย่อยที่  ๑   ไปจนข้ามแม่น้ำไรน์ที่ตำบลคัสเคล  (Kastel)  แล้วเดินทางไปส่งทหารลงจากรถยนต์ที่ตำบลโฮ้ฆไฮม (Hochheim) ทิศตวันออกเมืองไมนซ  (ไม่ใช่โฮ้ฆไฮมทิศเหนือเมืองวอรมส) กองย่อยที่ ๓  ได้ไปถึงตำบลนี้ในวันที่  ๑๙  มิถุนายน   เวลา  ๑๐  นาฬิกา   ฯลฯ

          ในวันที่ ๑๘ - ๑๙ นี้ มีขะบวนรถยนต์เดินทางหลายกองใหญ่  ผู้บัญชาการรถยนต์ได้ชมเชยว่า ขะบวนรถยนต์ไทยได้เดินทางอย่างเรียบร้อย  มีระยะต่อระหว่างรถงดงาม  ไม่มีรถยนต์ตกทางหรือหลงทางเลย

 

         เมื่อได้ลำเลียงทหารลงจากรถยนต์แล้ว    ผู้บังคับการกรมทหาร   และผู้บังคับกองพันได้สแดงความขอบใจ และพอใจในการที่กองทหารได้ลำเลียงทหารฝรั่งเศสมาส่งโดยทหารฝรั่งเศสมิได้รับความลำบาก     ครั้นแล้ว นายพลชมิดต  ผู้บัญชาการกองพลใหญ่  ซึ่งเป็นผู้บังคับทหารฝรั่งเศสได้มาสแดงความยินดี และขอบใจ ทั้งชมเชยความสามารถในการขับรถยนต์ของทหารไทยเป็นอันมาก

          วันที่  ๑๙  มิถุนายนนั้น  ควรนับว่าเป็นวันที่รลึกอันสำคัญสำหรับกองทหารบกรถยนต์ไว้วันหนึ่ง   เพราะเป็นวันที่กองทหารได้เตลื่อนที่ออกจากพระนครไปสู่ยุทธภูมิ    ครั้นถึงวันที่  ๑๙  มิถุนายน รุ่งขึ้นอีกปี ๑  คือพระพุทธศักราช  ๒๔๖๒   กองทหารบกรถยนต์ได้ทำการลำเลียงกองทหารฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำไรน์

 

  

 

กองทหารบกรถยนต์ไทยลำเลียงกองระวังน่าทหารฝรั่งเศสข้ามแม่น้ำไรน์ ที่เมืองไมน์ส   

 

การสงครามเป็นอันยุติแล้ว

          วันที่  ๒๓  มิถุนายน  เวลา  ๑๙  นาฬิกา  เป็นหมดเขตเวลาซึ่งสัมพันธมิตรจะยอมพูดตกลงกับฝ่ายเยรมะเนีย

ฯลฯ

          ในเวลานี้  นายพลตรี  ชมิตต์  ได้ไปถึงที่ว่าการเมืองโฮ้ชสต  และได้เรียกผู้บังคับบัญชาการ กรมกองทหารซึ่งขึ้นตรงต่อท่านไปประชุม  และประกาศให้ทราบว่า ฝ่ายประเทศเยรมะเนียได้ยอมทำสัญญาสันติภาพ  ฉะนั้น  การสงครามเป็นอันยุติแล้ว . . .

ฯลฯ

          ในคืนวันที่ลงนามทำสัญญาสันติภาพนี้    บรรดาทหารสัมพันธมิตร์ได้รับแจกชามปาญจากรัฐบาลฝรั่งเศส  สำหรับนายสิบพลทหาร  ๔  คนต่อ  ๑  ขวด   สำหรับนายทหารสัญญาบัตร  ๒  คนต่อ  ๑  ขวด    เพราะฉะนั้น  ทหารได้แสดงความรื่นเริงกันทุกคน

 

          วันที่  ๓๐  มิถุนายน  เวลา  ๕  นาฬิกา  ๓๐  นาที  ขบวนรถยนต์ได้เคลื่อนที่เดินทางผ่านตำบลต่างๆ   เมื่อได้ลำเลียงทหารลง และพักรับประทานอาหารกลางวันแล้ว  ก็ได้เดินทางกลับไปนอนที่ตำบลโอ้ฆไฮมอีก  เพื่อลำเลียงทหารอีกครั้งเป็นครั้งที่สุดในวันรุ่งขึ้น 

 

ลำเลียงทหารอีกครั้งเป็นครั้งที่สุด  

          วันที่  ๑  กรกฎาคม  เวลา  ๕  นาฬิกา  ๓๐  นาที  ได้เริ่มลำเลียงทหารพรานเซเนกาเลส์ขึ้นรถยนต์

               เวลา  ๕  นาฬิกา  ๕๐  นาที  ขบวนรถได้เริ่มออกเดิน  ถึงที่ลำเลียงทหารลงที่เมืองฟรังเค่นธาลเวลา  ๑๑  นาฬิกา    เมื่อได้พักผ่อนและรับประทานอาหารกลางวันแล้ว  กองย่อยต่างๆ ได้แยกกันเดินทางไปยังที่พักประจำ    เมื่อกองทหารบกรถยนต์กลับเมืองนอยสตัตตแล้ว    นับว่าเป็นการเสร็จหน้าที่ในการที่จะช่วยสัมพันธมิตร    ได้มีคำสั่งให้เตรียมตัวสำหรับเดินทางรถไฟกลับยังกรุงปารีส    แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการกลับ  เห็นสมควรกล่าวถึง  .  .  .

ทหารในกองทหารบกรถยนต์ซึ่งได้มาเสียชีวิตในดินแดนราชศัตรู ดังนี้

                         ๑. นายสิบเอก  ปุ้ย  ขวัญยืน                           ถึงแก่กรรม    ๒๒  มกราคม  ๒๔๖๑

                         ๒.  จ่าสิบเอก  เจริญ  พิรอด                                    "          ๒๖    มกราคม  ๒๔๖๑

                         ๓. พลทหาร  ศุข  พ่วงเพิ่มพันธ์                               "           ๒๙   มกราคม  ๒๔๖๑

                         ๔. พลทหาร   นาค  พุฒมีผล                                  "             ๖  กุมภาพันธ์  ๒๔๖๑

                         ๕.  พลทหาร ศิลา  นอบภูเขียว                               "              ๒  มีนาคม   ๒๔๖๑

                         ๖.  จ่านายสิบ  หม่อมหลวง  อุ่น  อิศรเสนา ฯ             "              ๔  มีนาคม  ๒๔๖๑

                          ๗.  พลทหาร  ผ่อง  อมาตยกุล                              "              ๒๙  เมษายน  ๒๔๖๑

                        ๘.  พลทหาร  เปลี่ยน  นุ่มปรีชา                               "              ๑๓  มิถุนายน  ๒๔๖๑

 

          นายสิบพลทหารเหล่านี้ได้ถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุในเวลาที่ไปทำการตามหน้าที่บ้าง  บางนายถึงแก่กรรมโดยเจ็บไข้บ้าง    ในชั้นต้นนั้น  เวลาที่ทหารผู้ใดถึงแก่กรรม  ผู้บังคับบัญชาได้จัดการนำศพไปฝังไว้ที่สุสานในเมืองลันเตา หรือที่ตำบลมุสสบาฆ   แล้วแต่ตำบลที่ถึงแก่กรรมนั้นจะใกล้กับที่ใด    การนำศพไปฝังนั้น  ได้มีพิธีอ่านคำขมาศพ และจัดทหารไปเป็นหมู่เกียรติยศ   ฝ่ายทหารฝรั่งเศสก็ได้จัดหมู่เกียรติยศมาคำนับศพเมือนกัน

 

 

 

อนุสาวรีฝังศพทหารไทยที่เมืองลันเตา 

(อ่านข้อความในหนังสือได้ว่า  จ. ม.ล. อ.  อิศรเสนา  ๑๐๔๓๒    เกิด  ๓๑  ต.ค.  ๒๔๓๖    ถึงแก่กรรม  ๔  มี.ค.  ๒๔๖๑)

 

 

 

อนุสาวรีฝังศพทหารไทยที่เมืองมูสบัก

 

           ครั้นกองทหารบกรถยนต์ได้เสร็จหน้าที่ในการทำการส่งกำลังแล้วผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ได้ขออนุญาตขุดศพนายสิบพลทหารไทยทั้งสิ้น  นำขึ้นรถยนต์ไปยังที่เผาศพในเมืองไมนส   ในวันที่  ๕  กรกฎาคม  ๒๔๖๒   เมื่อได้เผาศพแล้วได้เก็บอัฐิกลับมาพร้อมกับกองทหาร

         

 

 

 

 

 

 <  ที่เผาศพทหารไทยผู้เสียชีวิต

ขบวนเชิญศพไปยังที่เผา  >

 

 

 

 สวนสนาม . . . สวนสนามมหาไชย

          ครับ   เมื่อเสร็จศึกแล้วก็เป็นการเฉลิมฉลอง  ก็และการเฉลิมฉลองของทหารนั้นก็คือ  การสวนสนาม   กองทหารบกรถยนต์ได้ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะใน กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส    กรุงลอนดอน   สหราชอาณาจักร  และ  กรุงบรัสเซลย์  ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม    ดังนี้นะครับ

 

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          วันที่  ๑๔  กรกฎาคม  ๒๔๖๒  ร่วมสวนสนามมหาไชยผ่านประตูชัยที่  กรุงปารีส  ฝรั่งเศส

นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์  (ต๋อย หัสดิเสวี  -  ต่อมาเป็นนายพันโท พระอาสาสงคราม)   ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ เดินนำแถวทหารที่อัญเชิญธงไชยเฉลิมพล

 

 

 

 

ร่วมสวนสนามมหาไชยที่  กรุงลอนดอน   สหราชอาณาจักร    วันที่  ๑๙  กรกฎาคม  ๒๔๖๒       

 

 

 

ร่วมสวนสนามมหาไชยที่  กรุงบรัสเซลย์   ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม     วันที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๒  

 

 การเดินทางกลับประเทศสยาม    นายทหาร ได้มาถึง เป็นอันว่าได้มาถึงพร้อมทุกคน

          เมื่อได้ทราบข่าวว่าเรือจะมาถึงเมืองมารเซย์   และจะออกเดินทางได้ในวันที่  ๑๙  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๖๒    ทหารในกองทหารบกรถยนต์ได้เดินทางมายังเมืองนี้เป็นชุดๆ

 

         วันที่  ๑๖  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๖๒ 

 

 

 

          เวลา  ๑๒  นาฬิกา  ๑๕  นาที    ชุดที่  ๑  ได้ออกเดินทางจากค่ายพักมายังสถานีรถไฟ    จำนวนซึ่งเดินทางในครั้งนี้  มีนายทหารสัญญาบัตร  ๙    นายสิบ  ๑๕๑    พลทหาร  ๖๕๒    นายพีนตรี  หลวงรามฤทธิรงค์เป็นผู้อำนวยการเดินทาง

          เวลา  ๑๔  นาฬิกา  รถไฟได้เคลื่อนที่เดินทางมาเมืองมาเซย์   

 

          วันที่  ๑๙  สิงหาคม    เวลา  ๑๐  นาฬิกา  ๑๕  นาที   นายทหาร  ๕๑  นาย  ได้มาถึงเมืองมารเซย์    เป็นอันว่าทหารที่จะเดินทางกลับพระนครได้มาถึงพร้อมทุกคน

               เวลา  ๑๘  นาฬิกา  ๑๕  นาที   เรือมิเตาได้ใช้ฝีจักร์ออกจากท่า

 

          ครับ  . . .  บรรดาท่านทหารอาสาทั้งหลายท่านได้ตรากตรำในสนามรบมาเป็นเวลาช้านานท่านอยากให้เรือมิเตาถึงเมืองไทยเสียในพริบตา  แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้  ท่านก็มิวิธีให้ได้ประโยชน์จากการเดินทาง   เมื่อเรือออกจากท่าได้ประมาณสัปดาห์หนึ่ง  เห็นว่านายทหารได้พักผ่อนพอแก่ความเหน็ดเหนื่อยตามสมควรแล้ว  นายพันเอก  พระเฉลิมอากาศ ได้ประชุมนายทหารชี้แจงความประสงค์ที่จะให้มีการบรรยายถึงวิชาความรู้เบ็ดเตล็ด  ซึ่งนายทหารได้พบเห็นมาต่างๆ กัน  เพื่อแลกเปลี่ยนกัน  วันละประมาณ  ๒  ชั่วโมง  ช่วงเวลา  ๑๕  นาฬิกา  ๓๐  นาที เป็นต้นไป       เห็นไหมครับ  ท่านใช้เวลาให้เป็นประโยชน์จริงๆ    และ แล้ว  .  .  .

 

๒๑  กันยายน  ๒๔๖๒    ทหารอาสาชุดสุดท้ายได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ

             เวลา ๑๕  นาฬิกา  ๔๕  นาที  เรือลำเลียงได้มาถึงบริเวณท่าราชวรดิษฐ์

 

 

 

 

 

 

 

          ที่ท่าราชวรดิษฐ์มีพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย  ตลอดจนราษฎรได้ไปคอยรับทหารอยู่เป็นอันมาก        ครั้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พระมหาสมณะ ได้เสด็จขึ้นสู่เกยซึ่งตั้งไว้แล้วที่พน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย  ได้มีพระดำรัสประสาทพร และทรงประน้ำพระพุทธมนต์ทั่วกัน   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           แถวทหารเดินไปตามถนนมหาราช   ถนนหน้าพระลาน  ไปยังพลับพลายกซึ่งทำไว้ตรงถนนพระจันทร์ต่อกับถนนราชดำเนินใน    ระหว่างที่เดินไปนี้  ทหารที่ตั้งแถวรายทางสองฟากถนนได้กระทำวันทยาวุธแสดงความเคารพ และเปล่งเสียงไชโย  แตรวงบรรเลงเพลงมหาชัย    มหาชนซึ่งเนืองนองกันมาต้อนรับทหารก็ได้ร้องไชโยอย่างเซ็งแซ่    ทั้งเดินวิ่งตามกองทหารเป็นการเอิกเกริกอย่างใหญ่หลวง

          เมื่อกองทหารไปถึงหน้าพลับพลาแล้ว  จึงได้จัดแถวตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินใน  หันหน้าสู่พลับพลา    ครั้นถึง  เวลา  ๑๗  นาฬิกา   พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่ง  มาถึงที่ตั้งแถวทหาร  เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง . . . ฯลฯ . . . เสด็จพระราชดำเนินผ่านแถวทหารโดยตลอด   เมื่อเสร็จการตรวจพลแล้ว   จึงเสด็จประทับ  ณ  พลับพลา และมีพระราชดำรัสต้อนรับทหาร

. . . ฯลฯ . . .

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           เมื่อสิ้นกระแสรพระราชดำรัสแล้ว  จึงนายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปราชการสงคราม  นำผู้เชิญธงไชยเฉลิมพลเข้าไปสู่หน้าพระที่นั่ง    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผูกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีที่ธงไชยนั้น    แล้วผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์ ก็นำผู้เชิญธงเดินผ่านตลอดแถวทหารจากปลายแถวไปสู่หัวแถว    ทหารกระทำวันทยาวุธ    แตรบรรเลงเพลงมหาชัย   

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่ธงไชยเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์

 

 

           ต่อไปนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์แก่นายทหารต่างๆ  เพื่อบำเหน็จความชอบ

          ต่อนั้นกองทหารได้เดินสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    แล้วเลยไปสู่ที่พัก  ณ  ศาลาว่าการกลาโหม

  

 

 

          แต่เช้าวันนี้  ได้มีการตกแต่งสถานที่ของรัฐบาล และบ้านเรือนของพลเมืองทั่วไป ด้วยธงทิวและแพรพรรณต่างๆ   พอพลบค่ำก็มีการแต่งประทีปทั่วพระนคร  

ฯลฯ

 

          ยังครับ  ยังไม่หมด  นอกจากนี้  กองทหารยังเดินไปถึงสถานฑูตอังกฤษ และสถานฑูตฝรั่งเศส ในพิธีต้อนรับอีกด้วย   

 

 

            สำหรับงานพระราชพิธีในวันที่  ๒๒  กันยายน   เจ้าพนักงานได้จัดเตรียมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  คือ เชิญพระปฏิมากรชัยวัฒนประจำรัชกาลพร้อมทั้ง  ๖  รัชกาล    พระแสงดาบประจำรัชกาลทั้ง  ๖   พระเต้าพระพุทธมนต์  พระครอบพระกริ่ง  พระเต้าน้ำเครื่องสงพระมุรธาภิเศก  ธงกระบี่ธุช  ธงครุธพาห  ธงจุฑาธุชธิปไตย  ธงมหาไพชยนต์ธวัช  ธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์ ซึ่งไปราชการสงคราม    ประดิษฐาน  ณ  พระที่นั่งพุดตาลคชาธาร     ครั้นถึงเวลา  ๑๗  นาฬิกา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินสู่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  . . . ฯลฯ . . .  พระสงฆ์ราชาคณะ  ๑๙  รูปเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรไชยมงคล และอำนวยพรแก่สยามพระราชอาณาจักร  จบแล้ว    เสด็จพระราชดำเนินกลับ

 

 

 

 

 

 

 

ธงราชกระบี่ธุช          ธงพระครุธพ่าห  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ธงราชกระบี่ธุช  และธงพระครุธพ่าหน้อย 

 

 

 

 

 

 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  ธงจุฑาธุชธิปตัย                                                                                                                                                   ธงมหาไพชยนต์ธวัช  

 

 

 

 

  ทหารอาสางานพระราชสงครามทวีปยุโรป  ณ ปราสาทพระเทพบิดร 

 

 

 รอยบาทเหยียบแน่นไว้              แทบพื้นทรายสมัย  

          วันที่  ๒๔  กันยายน  เป็นวันฝังอัฐิทหารซึ่งได้ถึงแก่ความตายระหว่างราชการสงครามในยุโหรป      ผู้บังคับบัญชาได้จัดการเผาศพแล้วแต่ในยุโหรปทุกราย   แล้วนำอัฐิเข้ามาพร้อมกับทหาร  อัฐิเหล่านั้นได้จัดบรรจุในกล่องซึ่งทำขึ้นเป็นพิเศษเป็นรูปกระสุนปืนใหญ่ตั้งแท่น  แล้วประดิษฐานไว้ที่ศาลาว่าการกลาโหม แต่วันที่  ๒๑  กันยายน

 

 

 

 

 

          เวลาบ่ายวันที่  ๒๔  ได้จัดตั้งขบานแห่ที่ศาลาว่าการกลาโหม  ครั้นถึงเวลา  ๑๖  นาฬิกา   ได้เริ่มเดินขบวน  มีแตรนำหน้า  แล้วถึงกรมทหารบกราบที่  ๑๑  รักษาพระองค์  ๑  กองร้อย  แต่งเครื่องสนามครบเป็นกองเกียรติยศ    ต่อมา  กองทหารซึ่งกลับจากราชการสงครามทั้งกอง  พร้อมด้วยธงไชยเฉลิมพลเดินนำอัฐิของเพื่อน  ถัดนั้นถึงรถปืนใหญ่เทียมม้า ๔   สองคัน  เป็นยานที่เชิญอัฐิไป    นายทหารบกประจำการในกรุงเทพฯ ทั้งหมดเดินตาม  และนายพลผู้ช่วยฑูตในราชการทหารบกอังกฤษประจำกรุงเทพฯ  ก็ได้มาเข้าขบวนด้วย เพื่อแสดงมิตรจิตแก่กองทัพไทย

          เดินขบวนไปตามถนนมหาไชย  ถนนหน้าพระลาน  ถนนหน้าพระธาตุ    หยุดรถทีประตูทางเข้าสู่วัดมหาธาตุ  .  .  .   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กองทหารซึ่งกลับจากราชการสงครามเดินขบวนนำรถอัฐิ

 

 

          .  .  .  แล้วเชิญอัฐิเข้าสู่พระอุโบสถ   ประดิษฐานในที่ซึ่งจัดเตรียมไว้แล้ว    ทหารบกทั้งปวงซึ่งมากับขบวนแห่ก็เข้าไปในพระอุโบสถ  ทั้งยังมีพระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชการกระทรวงอื่นมาประชุมอีกเป็นอันมาก    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  พร้อมด้วยพระสงฆ์สมณศักดิ์อีก  ๒๙  รูป    ได้ประชุมพร้อมอยู่แล้วในพระอุโบสถเหมือนกัน

          เวลา  ๑๗  นาฬิกา    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่พระอุโบสถวัดมหาธาตุ    ทรงจุดเครื่องนมัสการ    แล้วพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  จบแล้ว  สมเด็จพระมหาสมณถวายเทศน์   มีเนื้อความดังต่อไปนี้ 

 

 

 

" นโมพุทธสฺส

รูปํ  ชีรติ  มจฺจานํ          นามโคตํ น ชีรติ

ภาสิตํ  พุทฺธเสฏเฐน          สจฺจํ  สจฺจ  คเวสินาติ ฯ"

          " ขอถวายพระพร

          ฯลฯ 

          พวกทหารเหล่านี้ได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว   ก็ตายไปแต่รูปกายตามสภาวะของสังขาร    แต่ชื่อและโคตรของเขา  ยังจักไม่เสื่อมสูญไป    ยังจักปรากฏต่อไปอีก    เข้าในพระคาถาอันยกขึ้นไว้ในเบื้องต้น    แปลความว่า    ความจริงนี้  อันสมเดจพระพุทธเจ้าผู้เสาะหาความจริง    ได้ทรงภาษิตไว้ว่า    "รูปํ  ชีรติ  มจฺจานํ    นามโคตํ น ชีรติ"    รูปของสัตว์ทั้งหลาย  ย่อมย่อยยับไป    ส่วนชื่อและโคตร  ย่อมหาย่อยยับไม่     ดังนี้ ฯ

ฯลฯ

          ฝ่ายสมาคมก็มีทางจะพึงทำแก่เขาทั้งหลายด้วยการส่งไปที่ชอบ    กล่าวคืออุทิศส่วนบุญไปถึง    เบื้องหน้าแต่นี้    จะทำนมัสการพระรัตนตรัยยังจิตต์ให้เจริญด้วยศรัทธาแลประสาทะสำเจ็จเปนบุญขึ้นแล้ว  อุทิศส่วนกุศลนั้นส่งไปถึงพวกทหารผู้ละโลกนี้ไปสู่ปรโลกนั้นแล้ว  เทอญ

ขอถวายพระพร ฯ"

          จบพระธรรมเทศนาแล้ว    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้เสนาธิการทหารบกนำคฤหัสถ์สวดมนต์

ฯลฯ 

          ครั้นเสร็จการสวดมนต์ของคฤหัสถ์แล้ว    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าบังสกุล  และถวายจัตุปัจจัยแก่พระสงฆ์  พระสงฆ์ถวาย  ยถาสัพพี  ถวายอดิเรก    แล้วเป็นเสร็จการในพระอุโบสถ    เจ้าพนักงานจึงเชิญอัฐิออกไปนอกพระอาราม  จัดขบานแห่อย่างเดิม    เดินไปสู่อนุสาวรีย์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือแห่งท้องสนามหลวง    ถึงแล้วได้เชิญอัฐิไปบรรจุลงในฐานแห่งอนุสาวรีย์    เวลาบรรจุ  แถวทหารแสดงความเคารพ  แตรวงบรรเลงตามประเพณีทหาร    แล้ว  .  .  . 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่อนุสาวรีย์  ทรงวางพวงมาลา  และทรงพระกรุณาแสดงความเคารพครั้งที่สุดแก่ผู้ซึ่งได้ถวายชีวิตเป็นราชพลีเพื่อเกียรติศักดิ์แห่งชาติไทย 

แล้วเสด็จกลับพระราชวังดุสิต

 

ลำดับนั้น  กองทหารซึ่งเข้าขบวนแห่ได้เดินสวนสนามผ่านอนุสาวรีย์แสดงความเคารพแก่เพื่อนที่ตาย

แล้วเป็นเสร็จการ

 

      

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                 ประวัติวีรบุรุษไซร้           เตือนใจ   เรานา 

                                                      ว่าอาจจะยังชนม์                       เลิศได้ 

                                                     และยามจะบรรลัย                     ทิ้งซึ่ง 

                                                     รอยบาทเหยียบแน่นไว้              แทบพื้นทรายสมัย

                "ดุสิตสมิต"        

อนุสาวรีย์ทหารอาสา    อนุสาวรีย์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือแห่งท้องสนามหลวง    (ซ้าย)

อนุสรณ์ผู้เสียสละสงครามโลกครั้งที่ ๑    ที่หน้ากองบัญชาการ กองพลทหารราบที่ ๔   ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  อำเภอเมืองพิษณุโลก  จังหวัดพิษณุโลก     เป็นที่บรรจุอัฐของทหารอาสา  ซึ่งสังกัดเดิม กองพลที่ ๗ (พิษณุโลก) จำนวน ๓ นาย  คือ พลฯ โป๊ะ ซุ่มซ่อนภัย   พลฯ พรม แตงแต่งวรรณ  และ พลฯ เชื่อม เปรมปรุงใจ    (ขวา)

 

 

 

 

รายนามทหาร

ที่ถึงแก่กรรม

เนื่องในราชการสงคราม

 

๑. นายร้อยตรี  สงวน ทันด่วน

๒. นายดาบ  เยื้อน  สังข์อยุทธ์ 

๓. จ่านายสิบชั่วคราว  หม่อมหลวง อุ่น อิศรเสนา ณ กรุงเทพ

๔. จ่านายสิบ  เจริญ พิรอด

๕. นายสิบเอก  ปุ้ย ขวัญยืน

๖. นายสิบตรี  นิ่ม ชาครีรัตน์

๗. นายสิบตรี  ชื่น นภากาศ

๘. พลทหาร  ตุ๊

๙. พลทหาร  ชั้ว อ่อนเอื้อวงษ์

๑๐. พลทหาร  พรม แตงเต่งวรรณ

๑๑. พลทหาร  ศุข พ่วงเพิ่มพันธุ์

๑๒. พลทหาร  เนื่อง พิณวานิช

๑๓. พลทหาร  นาค พุฒมีผล

๑๔. พลทหาร  บุญ ไพรวรรณ

๑๕. พลทหาร  โป๊ะ ชุกซ่อนภัย

๑๖. พลทหาร  เชื่อม เปรมปรุงใจ

๑๗. พลทหาร  ศิลา นอบภูเขียว

๑๘. พลทหาร  ผ่อง อมาตยกุล

๑๙. พลทหาร  เปลี่ยน นุ่มปรีชา

 

 

 

 

 

          เมื่อผมเป็นเด็กๆ  พอรู้เรื่องที่อังกฤษ และฝรั่งเศสทำกับไทยก็ให้รู้สึกอยากตอบแทนให้สาสมบ้าง  และรู้สึกผิดหวัง ที่ไทยเราร่วมเป็นสัมพันธมิตร   ต่อมาจึงได้ทราบถึงผลดี หรือ ประโยชน์ที่เราได้รับจากการเป็น "ผู้ชนะสงคราม"  ว่ากันแต่เพียงย่อๆ พอทราบ  นะครับ

 

          พระปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนความกล้าหาญ และความเสียสละของทหารอาสาทุกท่าน  ทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ในการเข้าร่วมเป็นผู้ชนะสงคราม  ดังนี้

ด้านการเมืองระหว่างประเทศ

           ๑.  เผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศ

          ๒.  มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  โดยเฉพาะเรื่องอำนาจศาล  และการขึ้นภาษีอากรกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และอเมริกา 

          ๓.  ได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ ในฐานะ  "ผู้ชนะสงคราม" 

          ๔.  ได้รับเชิญเป็นสมาชิกเริ่มแรกขององค์การสันนิบาตชาติ เป็นการยกฐานะของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

ด้านกิจการภายในประเทศ

          ๕.  กองทหารบกรถยนต์และกองบินทหารบก  ได้นำความรู้จากการฝึกและปฏิบัติทางยุทธวิธีมาใช้ปรับปรุงกองทัพในระยะต่อมา  เช่น   มีการเปลี่ยนหลักนิยม  ตลอดจนตำรายุทธวิธีทางการทหารแบบเยอรมันนี เป็นแบบฝรั่งเศส  เป็นต้น

          ๖.  กองทัพบกได้พัฒนาในด้านการบินเป็นอย่างมาก  เนื่องจากมีผู้ได้รับการศึกษา  อบรม  และการฝึก  ทั้งทางเทคนิค  และทางยุทธวิธีอย่างกว้างขวาง  อันเป็นรากฐานที่มั่นคงของกิจการบินทหารบก  ซึ่งพัฒนาเป็นกองทัพอากาศในกาลต่อมา

          ๗.  ได้ใช้เรือสินค้าของราชศัตรูที่ยึดได้ในประเทศไทย มาจัดตั้งกองเรือพานิชย์นาวี และพัฒนาเป็นบริษัท  ไทยเดินเรือทะเล  จำกัด

  

 

๑๖   ธันวาคม   ๒๔๖๓   สหรัฐอเมริกายอมแก้ไขสัญญาก่อน

            ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ผูกมัดไทยที่กรุงวอชิงตัน ให้ไทยมีสิทธิที่จะตั้งพิกัดอัตราภาษีของสหรัฐได้ตามที่ต้องการ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความยินยอมจากประเทศอื่น ๆ ที่มีสนธิสัญญากับไทย นอกจากนี้  ยังยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวอเมริกันในประเทศไทยด้วย      ต่อจากนั้น  ไทยได้พยายามใช้วิธีทางการฑูตเจรจากับประเทศต่างๆ ให้ยอมแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ได้ทุกประเทศ

 

สสส.   สมาคมสหายสงคราม

          ทหารอาสางานพระราชสงครามได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับติดต่อและระลึกถึงกัน  คือ    สมาคมสหายสงคราม    ผมได้พบข้อความของท่าน "เจียวต้าย" ซึ่งมีคุณค่ามาก  จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ  ดังนี้ครับ

 

สหายสงคราม

           ร้อยโท เมี้ยน โรหิตเศรณี ท่านนี้ ต่อมาก็คือ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ท่านได้เป็นนายกสมาคมสหายสงคราม (ทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๑) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔     ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ไว้ หลายครั้งหลายคราว ตลอดเวลาที่ท่านเป็นนายกสมาคมอยู่นานถึง ๓๒ ปี เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากสำหรับคนรุ่นหลัง เพราะเป็นสิ่งที่ท่านได้รู้เห็นมาด้วยตนเอง

          ท่านเล่าว่า   การรบพุ่งในคราวมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น เป็นการรบหรือพิฆาตฆ่าซึ่งกันและกัน ด้วยความเหี้ยมโหดเป็นอย่างยิ่ง   ซึ่งถ้าไม่ระลึกถึงระเบิดปรมาณูของปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้ามาผสมด้วยเสียอย่างเดียวแล้ว สงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็ต้องจัดว่าเหี้ยมโหดยิ่งไปกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้แก๊สพิษเข้าต่อสู้ประหัตประหารซึ่งกันและกัน สนามรบอันกว้างใหญ่ไพศาลเต็มไปด้วยกลิ่นศพ นอนตายทับถมสังเวยแม่พระธรณีจนกลิ่นตระหลบไปหมด ทหารตายด้วยแก๊สพิษมีจำนวนมากยิ่งกว่าตายด้วยอาวุธใด ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแนวรบไปข้างหน้า กองฝังศพก็ตามไปทำการฝัง ศพที่ถูกฝังไว้ใหม่ ๆ ประเดี๋ยวพ่อเจ้าประคุณกระสุนปืนใหญ่ขนาดมหึมาก็ตกมาระเบิด ขุดพลิกแผ่นดินเอาซากอสุภกลับขึ้นมาใหม่อีก จนสนามรบเต็มไปด้วยแมลงวันหัวเขียวขนาดโต ๆ มันกินศพเสียอิ่มหมีพีมันไปตาม ๆ กัน และเจ้าหนูในสนามรบก็ชุกชุมและตัวใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะได้อาหารจากศพจนสุขภาพสมบูรณ์ ส่วนมนุษย์เราสิปลิดชีวิตกันจนตายซับตายซ้อน ประดุจว่าในขณะนั้นชีวิตมนุษย์ไม่มีค่าอะไร 

          สมัยนั้นนักคำนวณทางทหารบวกลบคูณหารว่า ส่วนเฉลี่ยนักบินมีอายุยืนเพียง ๓ เดือน ทหารม้า ๖ เดือน ทหารราบ ๑ ปี ดูท่าก็จะใกล้ความจริงอยู่ไม่น้อย ท่านได้กล่าวสรุปไว้ว่า

           มีนักรบทั้งสองฝ่ายเข้าสงคราม หกสิบหกล้านคน เสียชีวิตเก้าล้านคน บาดเจ็บสามสิบหกล้านคน ส่วนทหารไทยที่ว่าส่งไปพันกว่าคนนั้น ตายไปสิบหกคน และบาดเจ็บ สามสิบเจ็ดคน      

          พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ซึ่งในสมัยที่ยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านใช้ชื่อว่า พันเอก ยุทธ ยุทธสารประสิทธิ์  เกิดเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๔๕๓ สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก      เป็นร้อยตรี เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔   เป็น ร้อยโท พ.ศ.๒๔๕๙   เป็น ร้อยเอก พ.ศ.๒๔๖๗   เป็น พันตรี พ.ศ.๒๔๗๘

          จากนั้นได้โอนไปรับราชการทางกระทรวงมหาดไทย เป็นนายอำเภออรัญประเทศ   จังหวัดปราจีนบุรี ในปีเดียวกัน ต่อมาได้เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ลพบุรี พ.ศ.๒๔๘๑     เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ.๒๔๘๒       เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคาย พ.ศ.๒๔๘๓

 

          พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ได้กล่าวทางสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ เนื่องในวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑  เมื่อ  ๑๐  พฤศจิกายน ๒๕๒๕  เป็นครั้งสุดท้าย มีความบางตอนว่า

          เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด เขาได้ถามเราว่า เราได้ลงทุนมาช่วยเขารบจนได้ชัยชนะเช่นนี้แล้ว เราจะเอาเบี้ยปรับสงครามแก่ฝ่ายพ่ายแพ้สักเท่าไร   เรื่องนี้ทาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ มีกระแสรับสั่งว่า ให้ตอบเขาไปว่าสยามไม่ต้องการเบี้ยปรับสงคราม หรืออะไรเลย ไทยอยากได้อยู่เพียง ๒ อย่างคือ

          ๑.ขอให้เลิกศาลกงสุลเสีย เพราะเราอับอายมานานแล้ว

          ๒.ขอให้เรามีสิทธิ์เก็บภาษีขาเข้าได้ตามชอบใจ

                เขาก็ตอบว่าเรื่องภาษีนั้นยอมให้เก็บได้ตามชอบใจ แต่เรื่องศาลกงสุลนั้นประเทศไทยยังไม่มีประมวลกฎหมายแพ่ง อาจทำให้คนของเขาเสียเปรียบในทางศาล จึงจำเป็นต้องรอให้เรามีประมวลกฎหมายแพ่งเสียก่อน เขาจึงจะตกลงด้วยได้

          ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟราน ซิส บี แซยร์  (Dr. Francis B. Sayre)  บุตรเขยประธานาธิบดีวิลสัน ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นที่ปรึกษาอยู่กับรัฐบาลไทย เอาโค้ทแพ่งของเราไปอวดนานาประเทศ ซึ่งมีสัญญาผูกมัดรัดคอเราอยู่ทั้งสองเรื่อง   เพื่อขอให้เป็นไปตามข้อตกลงทั้งสองอย่าง ทางฝ่ายราชสัมพันธมิตร มีประเทศอเมริการับรองก่อน ประเทศใด ๆ   แล้วต่อไปก็มีฝรั่งเศส อังกฤษ ยอมทำตาม ส่วนประเทศเล็ก ๆ นั้น เมื่อเห็นประเทศใหญ่ยินยอม ก็เลยยอมตามทุกประเทศ

         จริง ๆ เมื่อเสร็จสงคราม สัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ประเทศไทยได้ส่งผู้แทนเข้าประชุม ณ พระราชวังแวร์ซายด้วย ผลพลอยได้จากการเข้าสงครามนี้ ก็คือ สัญญาต่าง ๆ ที่ไทยทำ กับเยอรมนี และ ออสเตรีย - ฮังการี ย่อมสิ้นสุดลง ตั้งแต่ไทยประกาศสงครามกับประเทศ นั้น และไทยก็ได้พยายามขอเจรจา ข้อแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่า ซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และ ชาติอื่น ๆ แต่ ก็ประสบความยากลำบากอย่างมาก อาศัยที่ไทยได้ความช่วยเหลือ จาก ดร.ฟราน ซิส บี แซยร์  ชาวอเมริกันซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศ  จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระยากัลยาณไมตรี

          ในที่สุด ประเทศต่าง ๆ  ๑๓ ประเทศ รวมทั้ง   ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๖๗  และ  อังกฤษ ตามสนธิ สัญญา พ.ศ.๒๔๖๘  และ ตกลงยอมแก้ไขสัญญา โดยมี เงื่อนไขบางประการ เช่น จะ ยอมยกเลิกอำนาจศาลกงสุล เมื่อ ไทยมีประมวลกฎหมายครบถ้วน และ ยอมให้อิสรภาพ ในการเก็บภาษีอาการ ยกเว้น บางอย่าง ที่ อังกฤษขอลดหย่อนต่อไป อีก ๑๐ ปี เช่น ภาษี สินค้า ฝ้าย  เหล็ก   เป็นต้น  ไทยพยายามเร่งชำระประมวลกฎหมายต่าง ๆ  ต่อมาจนแล้วเสร็จ และ เปิดการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง

          ในที่สุดประเทศต่างๆ ก็ยอมทำสัญญาใหม่กับไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐  ไทยได้อิสรภาพทางอำนาจศาล และ ภาษีอากร คืนมาโดยสมบูรณ์ 

.  .  .พวกทหารอาสานอกจากไปทำคุณประโยชน์สองประการนี้ จนเราลืมตาอ้าปากมีสิทธิเอกราชเต็มที่แล้ว ยังทำให้โลกรู้จักประเทศสยาม   เดิมพวกนานาประเทศรู้จักประเทศสยามน้อยเต็มที  .  .  .

 

          เพราะฉะนั้นการไปสงครามของทหารอาสาในครั้งกระนั้น นอกจากเรื่องศาลกงศุลและภาษีขาเข้าแล้ว ยังเป็นการประกาศแก่โลก ซึ่งขณะนั้นมีทหารนานาชาติเกือบทั่วโลกอยู่ในกรุงปารีส ได้รู้จักคนไทย ทหารไทย กองทัพไทยดีขึ้นเป็นอันมาก ในเมื่อเราเดินสวนสนามผ่านประตูชัยที่กรุงปารีส และไปสวนสนามอวดเขาที่อังกฤษและ เบลเยี่ยม

          ข้าพเจ้ามีเวลาเพียงเท่านี้ ซึ่งผิดกว่าปีที่แล้ว ๆ มา เพราะเห็นว่าอายุ ๙๑ ปีแล้ว ถ้าไม่เผยแพร่ความจริงเสียบ้าง เยาวชนที่เกิดใหม่ภายหลังก็คงไม่รู้เรื่องอะไรทหารอาสาทั้งหลายมีอยู่ ๑,๒๘๔ คน     บัดนี้ได้ล้มหายตายจากไป จนขณะนี้มีเหลืออยุ่เพียง ๑๓๒ คนเท่านั้น ซึ่งที่อยู่ก็ล้วนแต่จะไปไหนทีก็ต้องมีคนพยุงซ้ายพยุงขวา     มิฉะนั้นก็จะหกล้ม พวกข้าพเจ้าจะอยู่ให้ท่านดูหน้าทหารอาสาอีกได้ไม่เกิน ๑๐ ปี ก็ตายหมดแล้ว จึงขอแสดงความจริงใจให้ท่านทราบ.........

 

          พันเอก แสง จุละจาริตต์ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เขียนไว้ว่า

          สิ่งที่ผมซาบซึ้งน้ำใจของกระทรวงกลาโหม ต่อผลงานของ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ก็คือ โดยปกตินายทหารได้รับพระราชทานตำแหน่ง เลื่อนยศ เลื่อนชั้น ก็เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ ในระหว่างที่ตนอยู่ในประจำการ แต่นายทหารนอกกอง นายทหารกองหนุน นายทหารพ้นราชการ จะไม่ได้ถูกพิจารณาเลื่อนยศ เลื่อนชั้นแต่ประการใด  

          คุณหลวงยุทธสารประสิทธิ์ ได้รับพระราชทานยศจากพันตรีเป็น พันโท เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๔   ภายหลังที่เป็นข้าราชการบำนาญมาแล้ว ๑๐ ปี     หลังจากนั้นอีก   ๑๐ ปี  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็น ราชองครักษ์พิเศษ รับราชการสนองพระเดชพระคุณเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔   ต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศจาก พันโทเป็นพันเอก เมื่อ   ๙  กันยายน  ๒๕๑๕

          พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ไม่ได้มีตำแหน่งขนาดแม่ทัพนายกองใด ๆ เลย ในระหว่าง รับราชการประจำการนั้น แต่ได้ทำงานในหน้าที่ ที่ท่านรับผิดชอบอย่างเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ผลงานที่ได้ประกอบในชีวิตบำนาญและในชีวิตนายกสมาคมสหายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นงานที่ยากกว่าหลายเท่า เพราะเป็นตำแหน่งงานซึ่งไม่มีอำนาจที่หน่วยราชการใด หรือประชาชน จะต้องเกรงใจ เป็นงานที่ต้องไปกราบไหว้ขอความช่วยเหลือตลอดเวลา เป็นงานที่เสียสละกำลังร่างกายกำลังปัญญา กำลังทรัพย์ส่วนตัวอย่างจริงจัง  และได้อดทนปฏิบัติมาตลอดเวลา ๓๒ ปี.....

 

พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์   ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ  ๘  พฤษภาคม  ๒๕๒๖

สิริอายุได้  ๙๑ ปีเศษ

 

 

 

 

        ผมพยายามหาภาพของท่าน  แต่ไม่สำเร็จ  พบภาพหนึ่งท่านได้ต้อนรับ  รองประธานาธิบดี นิกสัน  แห่งสหรัฐอเมริกา  แลภรรยา  ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา เมื่อ  พ.ศ.๒๔๙๖  ครับ

 

 

 

 

 

สหายสงครามท่านสุดท้าย - ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง         

          ทหารอาสา คนสุดท้าย คือ ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง

           ในมหาสงคราม    ท่านได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปร่วมรบในกองบินทหารบก  จากนั้นได้ถูกส่งไปประจำในกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ตำแหน่งช่างเครื่องบินประจำการ  ที่เมืองยีงกีร์รัง และได้ย้ายไปประจำที่เมืองอาร์วอย ปฏิบัติงานอยู่ ๑ ปี   สงครามจึงยุติลง 

          ในวันที่  ๑๑  กันยายน  ๒๔๖๒ ได้เดินทางโดยทางเรือกลับถึงประเทศไทยและพลทหาร  ยอดฯ ได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานเหรียญสมรภูมิจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   จากนั้นปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน  ได้กลับมาอยู่ที่บ้านพักในตำบลท่าโพธิ์      พลทหาร  ยอด  สังข์รุ่งเรือง  ประกอบอาชีพทำนาด้วยความขยัน มานะ อุตสาหะ จนได้รับเลือกเป็นชาวนาดีเด่นและได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒  ตำบลท่าโพธิ์    ต่อมาอีก ๓ ปีได้รับตำแหน่งเป็นกำนันตำบลท่าโพธิ์  และได้รับเลือกเป็นกำนันดีเด่น ปฏิบัติงานจนอายุครบ ๗๐ ปี จึงได้ลาออกจากกำนันมาใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลาน ด้วยความสุข

 

ความดีและเกียรติยศปรากฏในบั้นปลายชีวิต 

          องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ได้นำประวัติและผลงานของพลทหาร  ยอด  สังข์รุ่งเรือง ไปจัดทำสารคดีทั้งภาคภาษาไทย และ ภาคภาษาอังกฤษ เผยแพร่ให้ปรากฏทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ    ความได้ทราบฝ่าละอองธุลี    พระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ   ให้ผู้แทนพระองค์เชิญแจกันดอกไม้  พร้อมด้วยหนังสือและเหรียญพระมหาชนก เหรียญทอง นาก เงิน รวม ๓ เหรียญ  มาพระราชทานให้พลทหาร  ยอด  สังข์รุ่งเรือง  ณ  บ้านพัก  ในวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๔๑    นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเกียรติยศอันล้นพ้นแก่พลทหาร  ยอด  สังข์รุ่งเรือง และวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดไม่ได้ 

          ฯพณฯ เจอร์ราด โคสต  (GERARD COSTE) เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย  เป็นผู้แทน ของ ฯพณฯ ฌากส์ ซีรัก  ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส  ได้เดินทางมามอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลจิย็องด็อนเนอร์  (de la Legion  d' honneur )  ระดับชั้นอัศวิน  (Chevalier ) ของรัฐบาลฝรั่งเศส    ซึ่งมอบให้แก่นักรบสมัยสงครามโลก ครั้งที่ ๑  ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกประเทศ เพื่อเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ และตอบแทนคุณงามความดี ให้กับนักรบผู้กล้าหาญ   แต่ร้อยตรี  ยอด  สังข์รุ่งเรือง เป็นทหารไทยเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุครบ ๑๐๐ ปี พอดีในพุทธศักราช ๒๕๔๒

          กองทัพภาคที่ ๓  ได้จัดพิธีเชิดชูเกียรติแด่  พลทหาร  ยอด สังข์รุ่งเรือง  ในวันที่  ๑๘ มกราคม   ๒๕๔๒    ณ สโมสรบันเทิงทัพ  ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และ กองทัพภาคที่ ๓ จังหวัดพิษณุโลก ได้มอบโล่เกียรติยศ  

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานยศร้อยตรี แก่ พลทหารยอด สังข์รุ่งเรือง เป็นกรณีพิเศษ   เมื่อวันที่  ๒๑ ตุลาคม  ๒๕๔๒   โดยพลโท  วัฒนชัย ฉายเหมือนวงศ์  แม่ทัพภาคที่  ๓ ได้สั่งให้จัดพิธีขึ้นอย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีของผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  โดยพิธีได้จัดขึ้นที่สโมสรบันเทิงทัพ   ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่  ๖  มกราคม   ๒๕๔๓    ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ ข้าราชการ พลเรือน   ทหาร ตำรวจ และบรรดาทูตานุทูตจากประเทศที่เข้าร่วมในสงครามครั้งนั้นอย่างคับคั่ง    นำความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ ร้อยตรี  ยอด สังข์รุ่งเรือง  ภรรยาและลูกหลานเป็นอย่างยิ่ง  นับว่า   ร้อยตรี  ยอด สังข์รุ่งเรือง เป็นผู้ที่ประสบความสุข ความสำเร็จ และได้รับเกียรติยศที่สุดในบั้นปลายของชีวิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง  ทหารอาสา  สหายสงครามท่านสุดท้าย

ถึงแก่กรรมเมื่อ  ๙  ตุลาคม  ๒๕๔๖   สิริรวมอายุได้ ๑๐๔ ปี


 

 

 

 

 

 

เรื่องเบ็ดเตล็ด

ของ

พล.อ.พระยาเทพหัสดิน ฯ

 

*    *    *    *

 

ความอาลัยรัก

ฯลฯ

          งานชิ้นสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติที่ข้าพเจ้าได้ฉลองพระเดชพระคุณร่วมกับท่านโดยตรงก็คือ    งานพระราชสงคราม  ณ  ทวีปยุโรป    ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเกียรติโดยได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้นำทหารไทยออกไปช่วยราชสัมพันธมิตร  ผู้ทำสงครามเพื่อธรรมานุภาพและมนุษยธรรม    ครั้งนั้น  ไม่มีเสนาบดีคนใดที่เห็นด้วยกับพระบรมราโชบาย    เพราะขณะนั้น  ฝ่ายเยอรมันกำลังได้เปรียบ  และกำลังจะเข้าโจมตีทางด้านฝรั่งเศสอย่างขนานใหญ่    ต้องทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาด  และทรงชี้ขาดลงไปว่า  จะต้องเข้าทำสงครามข้างฝ่ายที่เป็นธรรม  เพื่อรักษาธรรม    ผู้ที่ไม่กล้าลงทุนทำอะไรนั้นย่อมไม่ได้อะไรร    ผู้ไม่รักษาเกียรติย่อมไร้เกียรติ    เกียรติและเสรีภาพของมนุษย์กำลังถูกคุกคาม    ไทยต้องเข้าช่วยรักษาไว้ให้จงได้    มิฉะนั้น  ก็ตายเสียดีกว่า    เพราะคน  หรือชาติที่ไร้เกียรตินั้น  ไม่ควรดำรงชีวิตอยู่ให้หนักโลก

          ผลแห่งงานพระราชสงครามครั้งนั้นย่อมทราบแล้ว    แต่ผลที่ประเทศสยามได้รับ  และที่เราพูมใจกันอยู่ทุกวันนี้นั้น  ยังไม่ทราบกันโดยมาก    จึงขอเสนอว่าสิ่งนั้นคือ  อำนาจศาลและการขึ้นภาษีอากร  ซึ่งเราปรารถนามานานแล้ว    แต่ทางมหาประเทศได้เรื่มยอมรับการเจรจาทางการพูตกับเราด้วยเรื่องนี้  และรับหลักการต่อเมื่อเสร็จสงครามแล้ว    เจ้าหน้าที่การทูตของกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ได้รับเกียรติแห่งการทำสัญญาในต่อมา    แต่ถ้าไม่ได้อาศัยพระบรมราโชบายอันเด็ดขาดกล้าหาญ    และถ้าไม่มีกองทหารอาสาออกไปช่วยเขาในสมรภูมิบนภาคพื้นทวีปยุโรปแล้ว    เราจะได้รับเอกราชทางศาลดังที่เราได้อยู่เวลานี้แหละหรือ ?    ผลแห่งพระบรมราโชบายนี้ชาวเรายังรู้กันน้อยไป  ยังพูดถึงกันน้อยไป    เพราะหตุใด ?    ข้าพเจ้าคิดว่าพอจะเดาได้ว่ามันต้องเกี่ยวกับการเมือง.

ฯลฯ

 

----------------------------------------------------------------

 

ตปํ    ความมีพระเดช

 

ฯลฯ

 

          .  .  .  พระองค์ทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า    ความรักเป็นสิ่งประเสริฐที่จะเป็นทางที่จะนำพระบรมเดชานุภาพมาถวายด้วยความวัฒนาถาวร    จึงทรงแผ่พระเดชไปในทางสร้างความจงรักภักดี    ไม่ทรงยินดีต่อการแสดงอำนาจด้วยการสร้างความกลัวซึ่งจะไม่เป็นการยืนยงคงอยู่ได้    แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องแสดงความตกลงพระราชหฤทัยอย่างเด็ดขาดเมื่อใด    ล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็ได้แสดงออกมาให้เห็นปรากฏได้เยี่ยงวีระกษ้ตริย์ที่แท้จริง    ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างที่จะเห็นได้อย่างเด่นชัด    คือ  เมื่อคราวประกาศสงครามกับประเทศท่ามกลางยุโรป  ซึ่งในที่พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่  และเสนาบดีทุกท่านไม่มีใครเห็นด้วยในพระราชดำริห์  เพราะสัมพันธมิตรกำลังเข้าที่คับขัน  และรัสเซียกำลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง    ถ้ารัสเซียต้องออกไปจากสงครามโดยอธิราชวงศ์โรมานอฟต้องออกจากราชบัลลังก์    เยอรมัน  และเอาสเตรีย ฮุงการีก็จะถอนกำลังจากด้านตะวันออกไปทำการรบทางยุโรปด้านตะวันตกได้ตั้งร้อยกองพล    ล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ตกลงพระราชหฤทัยอย่างเด็ดขาดประกาศสงครามเข้ากับข้างสัมพันธมิตร    ได้ทรงถือพระราชสิทธิ์แห่งการเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  ได้ทรงฝืนมติคณะเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่    แล้สเราก็ได้เห็นทหารไทยไปทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับราชสัมพันธมิตรอย่างมีสง่า    และในที่สุด    ฝ่ายเราก็ได้ชัยชนะซึ่งยังผลให้พวกเราได้รับอยู่ทุกวันนี้คือ  เอกราชทางศาลและอธิปไตยอันสมบูรณ์    นี้คือผลแห่งพระเดชของล้นเกล้าล้นกระหม่อมซึ่งพวกเราโดยมากไม่ได้ทราบ  หรือไม่ได้คำนึงถึง

ฯลฯ

          ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจะทรงสถิตย์อยู่  ณ  สถานพิมานใดก็ตาม    ข้าพระพุทธเจ้าเป็นข้าเก่าผู้ภักดี    ขอพระราชทานยืนยันความจงรักภักดี  และความอาลัยรักอย่างสุดซึ้ง  ถวายมาพร้อมกับน้ำตาของทหารผู้ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเลย.

                                                                    พลโท  พระยาเทพหัสดิน     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พล.อ.  พระยาเทพหัสดิน  สยามพิชิตินทร์  สวามิภักดิ์

อุดมศักดิ์เสนีย์  พิริยะพาหะ

(ผาด  เทพหัสดิน  ณ  อยุธยา)

ราชองครักษ์พิเศษ  จ.ป.ร.

ชาตะ :     ๖  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๐

อนิจจกรรม :     ๗ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๙๔

 

 

 

 

 

 กองทหารบกรถยนต์

 

ทหารในยุคปัจจุบันหน่วยแรกที่ไปทำการรบนอกประเทศ

ทหารหน่วยแรกที่ไปทำการรบในทวีปยุโรป

ทหารหน่วยแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงชัยเฉลิมพล

ทหารหน่วยแรกที่ได้รับเหรียญกล้าหาญต่างประเทศประดับธงชัยเฉลิมพล

ทหารหน่วยแรกที่ได้รับการจารึกไว้ในอนุสาวรีย์ทหารอาสา  จวบจนปัจจุบัน

 

 

 

 

 

  

 

 

 

ธงชัยเฉลิมพลกองทหารบกรถยนต์

ซึ่งประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และตราครัวเดอแกร์

กองทัพบกได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์กองทัพบก ในกองบัญชาการกองทัพบก

เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเกียรติประวัติของ

 

กองทหารบกรถยนต์  ในมหาสงคราม

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์กองทัพบก ในกองบัญชาการกองทัพบก 

 

 

          ครับ   ในที่สุด   กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำพระราชอาณาจักรในหนทางที่ถูกต้องยังคุณประโยชน์เป็นเอนกประการ    ถาวรวัตถุ สัญญลักษณ์สงครามโลกครั้งที่  ๑  ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจชาวไทยเห็นจะได้แก่    วงเวียน  ๒๒  กรกฎา   กรุงเทพฯ   อนุสาวรีย์ทหารอาสา    กรุงเทพฯ     และ   อนุสรณ์ผู้เสียสละสงครามโลกครั้งที่ ๑   ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พิษณุโลก  

 

ถึงแม้ว่า  ทหารอาสา  สมาคมสหายสงคราม   และทหารอาสาท่านสุดท้าย  จะได้ถึงกาลกิริยาไปตามวัฏจักร  แต่  ชื่อเสียง  วงศ์ตระกูล  และคุณความดีของท่านยังเป็นที่เคารพนับถือของอนุชนสืบไป  สมดังพระคาถา

 

รูปํ  ชีรติ  มจฺจานํ    นามโคตฺตํ  น  ชีรติ

 รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมย่อยยับไป        ส่วนชื่อและโคตรย่อมหาย่อยยับไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

          - หนังสือที่ระฤกงานพระราชทานเพลิงพระศพ  จอมพล  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ     พ.ศ.๒๔๖๓

          - เรื่องเบ็ดเตล็ด  ของ  พล.อ.  พระยาเทพหัสดินฯ    ในการพระราชทานเพลิงศพ    พล.อ.  พระยาเทพหัสดิน  สยามพิชิตินทร์  สวามิภักดิ์  อุดมศักดิ์เสนีย์  พิริยะพาหะ    ณ  เมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม    วันที่  ๖  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๙๕    โรงพิมพ์การรถไฟ ฯ    ถนนรองเมืองซอย  ๒    พระนคร    ๓๐  มกราคม  ๒๔๙๕

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๑    (จากหลักฐานของทางราชการที่เก็บไว้  ณ  ใต้ถุนสถานทูตไทย  ณ  ฝรั่งเศส  และเยอรมัน)  ของ  ม.ล. มานิจ  ชุมสาย,  ราชบัณฑิต  และกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์    สำนักพิมพ์พิทยาคาร    ๒๒๖  เวิ้งนาครเขษม  กรุงเทพฯ    ๒๕๒๒  

          - ข้อมูล  พระบรมฉายาลักษณ์  พระฉายาลักษณ์  และรูปภาพ จำนวนหนึ่งก็ได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ จึง ขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ เช่นกัน   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 




บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (102047)
avatar
Demetorius

 ขอบคุณที่ให้ความรู้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Demetorius (maceus-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-03 03:22:53


ความคิดเห็นที่ 2 (102166)
avatar
ดิน บัวแดง

หนังสือที่ระฤกงานพระราชทานเพลิงพระศพของเจ้าฟ้าจักรพงษ์นี่หาได้จากที่ไหนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ดิน บัวแดง วันที่ตอบ 2014-12-05 08:34:26



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker