วันนี้ได้ลองเอาเอกสารเก่าสมัยที่ผมเรียนปริญญาโทประวัติศาสตร์ในช่วงพ.ศ.2527-2531 มาเลือกๆ ดู ก็พบของดีเข้าให้ เป็นเอกสารที่ถ่ายสำเนามาจากหนังสือห้องสมุดธรรมศาสตร์ คือ พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2356 - พ.ศ. 2413) เฉพาะตอนที่เกี่ยวกับการเดินทางของราชทูตปรัสเซียในยุคนั้นเข้ามาทำสนธิสัญญาการค้ากับประเทศไทยเช่นเดียวกับชาติตะวันตกอื่นๆ ตามแบบอย่างที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเป็นชาติแรกนั่นแหละครับ ขณะนั้นเยอรมันยังไม่ได้รวมเป็นประเทศเดียวกันโดยแบ่งออกเป็นแคว้นต่างๆ โดยมีปรัสเซียหรือที่ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า "ปรุศเซีย" เป็นแคว้นสำคัญและจะเป็นแกนนำในการรวมชาติเยอรมันในเวลาต่อมาคือ พ.ศ.2414/ค.ศ.1871 ส่วนราชทูตที่ในพระราชพงศาวดารนี้เรียกว่า "กอนต์เอวเลนเบิก" นั้น คือ Count Friedrich Albrecht zu Eulenburg หรือ Friedrich Albrecht Graf zu Eulenburg (29 June 1815 – 2 June 1881 บางครั้งก็เรียกว่า "Graf Fritz zu Eulenberg" ชื่อ "Eulenburg" นี้ ออกเสียงประมาณว่า "ออย-เล็น-บูก" หรือ "ออย-เล็น-บวก" ส่วนคำว่า Graf ก็คือตำแหน่งที่เทียบเท่า Count นั่นเอง) ในครั้งนั้นท่านไม่ได้มุ่งเดินทางมายังสยามเพียงที่เดียว โดยได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่จีนและญี่ปุ่นมาก่อน การเดินทางไปยัง 3 ประเทศนี้เรียกว่า "Eulenburg Expedition" ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ.2402/ค.ศ.1859 ถึงปีพ.ศ.2405/ค.ศ.1862 ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นหาอ่านได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Eulenburg_Expedition ส่วนประวัติของท่านทูตผู้นี้ดูที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Friedrich_Albrecht_zu_Eulenburg ข้อความข้างล่างดังต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (จำไม่ได้ว่าเป็นฉบับตีพิมพ์เมื่อไหร่) ยกเว้นตัวหนังสือสีน้ำเงินที่ผมหมายเหตุไว้นิดหน่อยแทนการใส่เชิงอรรถครับ

Friedrich Albrecht Graf zu Eulenburg
(ภาพจาก Wikipedia)
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ หน้า ๒๔๙ - ๒๕๑
ทูตปรุศเซียเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
ครั้นมาถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ (21 พฤศจิกายน พ.ศ.2404/ค.ศ.1861) พระยามหาอรรคนิกร พระยาสมุทรบุรานุรักษ์บอกขึ้นมาว่า พระเจ้าแผ่นดินปรุศเซียแต่งให้กอนต์เอวเลนเบิกเป็นราชทูตนาย ๑ มิสเตอร์ซานลีใบเซลเป็นอุปทูตนาย ๑ กอนต์เอวเลนเบิกหลานอุปทูตเป็นตรีทูตนาย ๑ กับขุนนางปรุศเซียมาด้วยเรือกลไฟชื่อเปติด กำมะโดดชื่อซุนเดระอาละ มาถึงนอกสันดอน ได้ทรางทราบแล้วจึงโปรดฯ ให้จัดเรือกลไฟเสพย์สหายไมตรีลำ ๑ เรือเขจรชลคดีลำ ๑ ให้พระยาราชานุประพันธ์ ขุนพิทักษคงคา หลวงวิสูตรสาครดิฐลงไปรับทูต ครั้นเรือออกไปถึงเรือรบทูตให้ยิงปืนใหญ่คำนับธงแผ่นดินไทย ๒๑ นัด เรือรับทูตเข้ามาถึงเมืองสมุทรปราการ ทหารปืนที่ป้อมเสือซ่อนเล็บได้ยิงสลุตธงแผ่นดินปรุศเซีย ๒๑ นัด แล้วขึ้นมาถึง ณ กรุงเทพมหานคร พักที่ตึกแขกเมืองหน้าวัดประยูรวงศ์ วันอาทิตย์ เดือน ๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (15 ธันวาคม)
ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๑ แรม ๑๐ ค่ำ (27 ธันวาคม) เข้าเฝ้าออกใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ถวายรูปสมเด็จพระเจ้าปรุศเซีย ๑ เครื่องตะแลแกรบ (Telegraph) สำรับ ๑ พระแสงกระบี่องค์ ๑ เครื่องพิมพ์หนังสือสำรับ ๑ แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้รับสั่งปรึกษาทำหนังสือสัญญากับกอนต์เอวเลนเบิกราชทูต คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหกลาโหม ๑ เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยามนตรีสุริยวงศ์แทนพระยาวรพงศพิพัฒน์ ๑ รวม ๕ ประชุมปรึกษาทำหนังสือสัญญาด้วยยกอนต์เอวเลนเบิกราชทูตที่พระราชวังเดิม กอนต์เอวเลนเบิกแจ้งว่า พระเจ้าแผ่นดินปรอยซิน (Preussen) คืออังกฤษเรียกปรุศเซีย ยอมให้กษัตริย์เมืองเหนือๆ ขึ้นไปในพวกพ้องของเมืองปรุศเซียนั้นหลายจำพวกหลายกษัตริย์ เข้าชื่อกันเข้ามาขอทำหนังสือสัญญญาด้วยเมืองละฉบับ คือซอละฟะไรนะ (Zollverein) และประเทศดอยชะ (Deutschland) คือเมืองเมกเลนบูร์คสะเอริน ๑ เมืองเมกเลนบูร์คสะเตรีลิศ ๑ เมืองลุกเซนบูร์ค ๑ เมืองอันฮันตะเดะเซาโกเตน ๑ เมืองอันฮันตะแปรินบูร์ค ๑ เมืองวันเดกแลปีระมอนต์ ๑ เมืองลิปเป ๑ เมืองไมเซนไฮม์ ๑ ที่เรียกในภาษาดอยชะซอลฟะไรนะ คือเมืองเบเวเรีย ๑ เมืองซักโซนี ๑ เมืองฮันโนเวอร์ ๑ เมืองเวอเตมบูร์ค ๑ เมืองบาเดน ๑ เมืองเฮะซินกาสะลี ๑ เมืองเฮะซินการมัสตาศ ๑ และฮัมบูร์คและประเทศทรินคี เมืองซักซิไวมาระไอเซนนาค ๑ เมืองซักเซนไมนินเคน ๑ เมืองซักเซนอาละเตมบูร์ค ๑ เมืองซักเซนโคบูร์คโคตา ๑ เมืองฉวาศบูร์คครูดลสตาศ ๑ เมืองฉวาศบูร์คซนเดอซะรอเซน ๑ เมืองรอยชะใหญ่ ๑ เมืองรอยชะน้อย ๑ ทั้งเมืองปรอนสะไวค์ ๑ เมืองออลเดนบูร์ค ๑ เมืองนาเซาและรีปับลิก คือฟรันกะโฟด ๑ คือเมกเลนบูร์คสะเวะริน ๑ และเมืองเลนบูร์คสะเตรีลิศ ๑ รวม ๒๘ เมือง เป็นสัญญา ๓๖ ข้อรวม ๒๘ ฉบับ เนื้อความต้องกัน ความแจ้งอยู่ในสัญญานั้นแล้ว เมื่อวันลงชื่อในหนังสือสัญญานั้น ได้ยิงปืนสลุตที่ป้อมวิไฃเยนทรประสิทธิ์ ๒๑ นัด ฝ่ายทูตเอาพวกแตรขึ้นมาเป่าประโคมด้วย ฝ่ายที่กำปั่นรบนอกสันดอนก็มีหนังสือลงไปนัดให้ยิงปืนสลุตให้ถูกต้องเวลากัน
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๒ หน้า๒ - ๔
งานพระศพ กรมหลวงมหิศวรินทร์ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และพระองค์เจ้านิลวรรณ
ฝ่ายเจ้าพนักงานทำเมรุผ้าขาว กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร ที่วัดอรุณราชวรารามเสร็จแล้ว ณ วันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ (8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2404/ค.ศ.1862) ได้ชักพระศพลงเรือที่ท่าพระแห่ไปเข้าเมรุ ณ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระราชทานเพลิง แล้วได้ชักพระศพเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระองค์เจ้านิลวรรษในพระบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๑ มาเข้าเมรุพระราชทานเพลิงอีกคราว ๑
พวกทูตปรุศเซีย พากันไปดูเห็นเขาทอดผ้าชัก มหาบังสุกุล จึงให้ล่ามถามว่า คนนุ่งขาววางผ้าลง คนนุ่งเหลืองหยิบเอาไป ทำอะไรกัน ล่ามก็แปลว่าเป็นการทำบุญของไทย
...
ทูตปรุศเซียกราบถวายบังคมลา
ฝ่ายกอนต์เอวเลนเบิกราชทูตปรุศเซียขึ้นไปเที่ยวพระพุทธบาทกลับลงมาแล้ว ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ (ที่ถูกเป็นวันพุธ วันที่สุริยคติ 12 กุมภาพันธ์ 1862) ได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปเที่ยวเมืองเพ็ชร์บุรีแล้วก็ลงเรือไปทีเดียว
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ