dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



"บางระจัน่" จากพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ article
วันที่ 05/05/2012   09:30:38

เคยเขียนไว้ในเรื่อง สารคดี The True Story of Marco Polo  ว่า วิชาประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องของอดีตที่หยุดนิ่ง  เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้  และเหมือนกับวิทยาการต่างๆ ตรงที่ว่า  เมื่อเวลาผ่านไปอาจมีหลักฐานข้อเท็จจริงที่มาหักล้างความเชื่อเดิมได้  ในวงการประวัติศาสตร์ไทยเราเองนั้นได้เคยมีการค้นพบที่ค้านกับความเชื่อเดิม  ทั้งที่อาจจะยังอยู่แค่ในวงวิชาการที่พูดมากไปไม่ได้ (อันนี้ไม่ขอยกตัวอย่าง) กับเรื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง  เช่น เรื่องของวันยุทธหัตถีที่ถือกันว่าเป็นกองทัพไทยนั้น  เดิมเชื่อกันว่าตรงกับวันที่ 25 มกราคม  ภายหลังก็กลายมาเป็นวันที่ 18 มกราคมจากการตรวจสอบหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งถ้ามัวเล่าอยู่เดี๋ยวจะไม่ได้เข้าเรื่องบางระจันซะที

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันนั้น  เคยสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างน่าจะหลายครั้ง  ที่เป็นภาพยนตร์เริ่มจากที่ใหม่หน่อย สร้างโดย ธนิตย์ จิตนุกูล เข้าฉายเมื่อปี 2543 ผมเขียนรีวิวไว้ในเรื่อง บางระจัน อีกหนึ่งกรณีที่ต่างจากประวัติศาสตร์   ส่วนครั้งแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2509 ในชื่อ "ศึกบางระจัน" ซึ่งผมยังไม่มีภาพยนตร์ฉบับเต็ม  แต่เมื่อตอนที่ "ทีวีไทย" นำมาฉาย ได้เขียนเล่าไว้ในบทความเรื่อง บางประเด็นจาก ศึกบางระจัน  ส่วนที่เป็นละครโทรทัศน์คือเมื่อปีพ.ศ.2523 สร้างโดยรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง  ถ้าใครรู้จักเวอร์ชันอื่นมากกว่านี้มาคุยกันได้ครับ ไหนยังจะอิทธิพลอื่นๆ ต่อสังคมไทย เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน  เพลงศึกบางระจัน ของขุนวิจิตรมาตรา ในนวนิยาย "อดีตา" ของ ทมยันตี เป็นต้น


ถึงขนาดนี้แล้ว  ก็ยังไม่วายมีแนวความคิดในทางที่ค้านความเชื่อเดิมเกี่ยวเกี่ยวกับชาวบ้านบางระจัน  ซึ่งผมเองเดิมทีก็ไม่ได้ทราบอะไรมาก  จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้มีผู้ใช้นามว่า "วังเหนือ" ตั้งกระทู้ว่า ราชพงศาวดารพม่า (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ได้เพิ่มเติมส่วนของบางระจันในภายหลังหรือไม่ ???   จึงได้ทราบว่าในวิกิพีเดียภาษาไทย  ได้มีการวิเคราะห์โดยปราศจากการอ้างอิงใดๆ ไปในทางว่า วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันอาจจะไม่มีอยู่จริง  หรือมีแต่อาจจะไม่ยิ่งใหญ่อลังการอย่างที่เราเคยเชื่อกัน  ซึ่งถ้าเป็นการแย้งหรือค้านอย่างมีหลักฐานข้อเท็จจริงสนับสนุนยังพอว่า  แต่ตาคนที่เขียนวิเคราะห์ในวิกิไม่ได้อ้างอิงอะไรเป็นเรื่องเป็นราว  แถมบอกว่าเรื่องบางระจันมีปรากฏอยู่แค่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เท่านั้น  ผมยังไม่ทันได้ค้นคว้าอะไรเป็นเรื่องเป็นราวก็ให้บังเอิญเจอว่ามีพระราชพงศาวดารและหนังสือเก่าอยู่หลายเล่มที่กล่าวาถึงเรื่องของชาวบ้านบางระจันไว้  ดังนี้ครับ

1. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน
3. พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
4. พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับบริติชมิวเซียม
5. คำให้การชาวกรุงเก่า
6. คำให้การขุนหลวงหาวัด
7. จดหมายเหตุโหร
8. จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนริทรเทวี
9. ราชพงศาวดารพม่า กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปล
10. "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล"
พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2549 โดยสำนักพิมพ์โฆษิต

ในจำนวนนี้  ผมมีไว้ในครอบครองก็แต่เพียงเล่มสุดท้าย  คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล  ส่วน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ที่อาจจะเรียกกันเล่นๆ ตามภาษาปากสมัยนี้ว่าเป็นพระราชพงศาวดารฉบับ "ตัวพ่อ" นั้น  มีปรากฏในส่วนที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นำมาเขียนเป็นคำนำให้กับหนังสือนวนิยายของ "ไม้ เมืองเดิม"  เมื่อ 18 สิงหาคม 2521 มาดูกันครับว่าพระราชพงศาวดาร 2 ใน 10 เล่มนี้ กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันไว้อย่างไร  โดยขอเริ่มจาก พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้ครับ

ครั้น ณ เดือนสาม ปีระกา สัปตศก พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ และเมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า พม่าเร่งเอาทรัพย์เงินทองและบุตรหญิง  จึงชวนกันลวงพม่าว่าจะให้บุตรหญิงและเงินทอง  แล้วคิดกันจะสู้รบพม่า  บอกกล่าวชักชวนกันทุกๆ บ้าน และ นายแท่น ๑  นายโช ๑  นายอิน ๑  นายเมือง ๑  ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงห์  นายดอกชาวบ้านตรับ  นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล  คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางเมืองอุทัยธานี  ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง  จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ  แล้วพากันหนีมาหาพระอาจารย์ธรรมโชติวัดเขานางบวช มีความรู้วิชาการดี  มาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น ในบ้านบางระจันเอาเป็นที่พึ่ง  และพาสมัครพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงมาอยู่ ณ บ้านระจัน  และนายแท่นกับผู้มีชื่อเหล่านั้นชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษ  มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย  พระอาจารย์นั้นลงตะกรุด  ประเจียดและมงคลแจกให้  และพม่าประมาณร้อยเศษตามมาจับพันเรือง  มาถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น  นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย  แล้วก็พาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า  พม่ายิงปืนได้นัดเดียว  นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงตะลุมบอนฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษเหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้  จึงไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ  แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ  แม่ทัพจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลพม่าเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจัน  ก็แตกพ่ายมาอีกเป็นสองครั้ง  จึงให้ติงจาโปคุมพลเก้าร้อยยกไปตีอีก  ก็แตกพ่ายมาเป็นสามครั้ง  พวกพม่าขยาดฝีมือไทยค่ายบ้านระจันยิ่งนัก   หยุดอยู่อีกสองวันสามวัน แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเป็นนายทัพใหญ่  คุมพลทหารเกณฑ์กันทุกค่ายเป็นคนพันเศษ  ม้าหกสิบม้า  ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นสี่ครั้ง  สุรินทจอข่องก็ยกพลทหารไปถึงทุ่งบ้านห้วยไผ่  พวกค่ายบ้านระจันจึงจัดกันให้นายแท่นเป็นนายทัพ  พลสองร้อยให้นายทองเหม็นเป็นปีกขวา  พันเรืองเป็นปีกซ้าย  คุมพลกองละสองร้อยทั้งสามกองเป็นคนหกร้อย  มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง  ปืนของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายเก็บได้บ้าง  ทั้งเก็บกระสุนดินของพม่าซึ่งทิ้งเสียเก็บไว้ได้บ้าง  และตัวนายทั้งสามคนนั้นก็นำพลทหารทั้งสามกองยกออกจากค่าย  ไปถึงคลองสะตือสี่ต้น  จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกอง  คอยรับทัพพม่า  ที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง  กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น  ได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย  พม่าเห็นพวกไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย  ทัพไทยจึงขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลอง  แล้วยกข้ามรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้น  เข้าไล่ตะลุมบอนแทงฟันฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก  และสุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล  เร่งให้ตีกลองรบ  รบกั้นตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยง  พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ  และนายแท่นซึ่งเป็นนายทัพไทยนั้นวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่า  ไล่แทงพม่าตายเป็นหลายคน  และตัวนายแท่นนั้นถูกปืนพม่าที่เข่าล้มลง  พวกพลช่วยกันหามออกมาจากที่รบ  และพลทหารทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยอ่อนอิดโรย  ก็รอรบถอยออกจากกันทั้งสองข้าง  หยุดพักอยู่ข้างละฟากคลอง  พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูพวกทหาร  ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวสุกบ้างยิงบ้าง  ที่ได้กินข้าวบ้างยังไม่ได้กินบ้าง  พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว  ก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน

ฝ่ายพลพม่าสาละวนขุดหลุมฝังศพนายอยู่  บ้างตีกลองประโคมศพ  บ้างร้องไห้รักนาย  ไม่เป็นอันจะต่อรบ  ก็แตกพ่ายหนีไปต่อหน้า  พลทหารไทยไล่ติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าตายเสียเป็นอันมาก  เก็บได้ปืนและเครื่องศัสตราวุธผ้านุ่งห่มต่างๆ  แต่ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจวนจะใกล้ค่ำจึงกลับมายังค่าย  และพลพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ  ที่เหลือรอดกลับมาสามร้อยเศษ  ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก  ข้างทัพไทยตายหกสิบเศษ  ป่วยเจ็บสิบสองคน  ขณะนั้นชาวบ้านอื่นๆ พาครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก

ฝ่ายพม่ากลัวฝีมือชาวบ้านระจันยิ่งนัก  แต่จัดแจงกะเกณฑ์ปรึกษากันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน  แม่ทัพจึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพ  เกณฑ์แบ่งพลทหารไปทุกๆ ค่ายเป็นคนพันเศษ  สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก  ก็แตกพ่ายหนีมาเป็นห้าครั้ง  แล้วแม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลร้อยเศษยกไปตีเป็นหกครั้งก็แตกพ่ายมา  จึงแต่งให้อากาปันญีเป็นนายทัพคุมพลพันเศษยกไปรบอีกเป็นเจ็ดครั้ง  และอากาปันญียกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบ้านขุนโลก  ฝ่ายทัพไทยข้างบ้านระจันจึงจัดให้ขุนสันฝีมือยิงปืนแม่นเป็นนายพวกทหารปืน  คอยป้องกันทหารม้าพม่า  แล้วแต่งให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่า  เข้าล้อมค่ายไว้  ฝ่ายทัพพม่าตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว  ทัพไทยวกเข้าโจมตีข้างหลังค่าย  ยิงแทงฟันพม่าตายแทบถึงพัน  และอากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย  ทัพไทยได้ม้าและผ้านุ่งห่มศัสตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก  พม่าแตกหนีเหลือรอดมานั้นน้อยประมาณร้อยเศษ  ตั้งแต่นั้นมาพม่ายิ่งกลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก  เกณฑ์กันจะให้ไปรบอีกมิใคร่ได้หยุดนานไปถึงกึ่งเดือน

ฝ่ายในกรุงเทพมหานครนั้น  ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาจะใกล้ถึงกรุงนั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะซึ่งอยู่วัดนอกเมืองนั้นให้เข้ามาอยู่ในวัดพระนครทั้งสิ้น  และสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่นั้น  ก็เสด็จเข้ามาอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน  ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนครเหมือนเมื่อศึกมังลอกครั้งก่อน  ก็หาลาผนวชออกไม่  และเพลาเสด็จไปทรงรับบิณฑบาตชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลวิงวอนให้ลาผนวช  และได้ห่อหนังสือในบาตรเป็นอันมากทุกๆ วัน

ขณะนั้น  ในพระนครได้ทราบข่าวชาวบ้านระจันตั้งค่ายต่อรบพม่า  พม่ายกทัพไปตีแตกพ่ายมาเป็นหลายครั้ง  ชาวบ้านระจันฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก  เห็นพม่าย่อท้อถอยกำลังลง  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพจะให้ยกออกไปรบพม่า  แล้วโปรดให้ถอดเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษ  ให้คงฐานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า  จึงโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ  กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นหลายนาย  และทัพหัวเมืองสมทบด้วยก็หลายเมืองเป็นคนหมื่นหนึ่ง  ให้ยกออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ  และให้สานกระชุกแบกไปเป็นอันมาก  สำหรับเมื่อจะตั้งรบที่ใดจะเอากระชุกตั้งเรียงให้ชิดกัน  แล้วจะขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกเป็นสนามเพลาะ  บังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก  พระยาพระคลังและนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วยกกองทัพออกจากพระนครวันนั้น  รี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง  แม่มัพหยุดแคร่ที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น  พร้อมๆ กันเป็นกองๆ รั้งรอไป  ครั้นไปถึงที่ใกล้ค่ายพม่าก็ตั้งทัพดากันอยู่  และทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกเป็นหลายม้า  จึงขับทหารเข้าตีค่าย  พม่าในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคน  กองทัพทั้งนั้นก็ถอยมาสิ้น  ครั้นเพลาเย็นก็เลิกกลับเข้าพระนครอยู่สองสามวัน  จึงมีพระราชดำรัสให้ทัพพระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก  ขณะนั้นบรรดาชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์และสมณะไม่เคยเห็นเขารบกัน  ชวนกันตามกองทัพออกไปรบดูพม่าเป็นอันมากและกองทัพยกออกไปตั้งอยู่ยังไม่ทันเข้าตีค่าย  พม่าแต่งกลให้รี้พลยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะแตก  พวกกองอาจสามารถชวนกันวิ่ง่เข้าไปใกล้ค่ายพม่า  และเนเมียวแม่ทัพขับพลทหารทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย  พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยตายเป็นหลายคน  กองทัพไทยมิได้ต่อรบ  พากันแตกพ่ายหนีถอยลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น  และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์  เจ้าหมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก  แต่กองพระยาตากรอรบอยู่ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง  ทัพม้าพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลทัพไทยและคนซึ่งตามออกไปดูรบศึกนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก  ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป  กองทัพไทยก็พ่ายหนีเข้าพระนคร  พวกทัพพม่าก็กลับไปค่าย

ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าทั้งปวง  จึงปรึกษากันจัดหาผู้ซึ่งจะเป็นนายทัพ  จะให้ยกไปตีเอาค่ายบ้านระจันให้จงได้  ขณะนั้นรามัญคนหนึ่งเป็นมอญเก่าอยู่ในพระนครนี้มาช้านาน  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าฝีมือรบเข้มแข็ง  แม่ทัพพม่าตั้งให้เป็นพระนายกอง  จึงเข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบ้านระจันให้แตกจงได้  แม่ทัพจึงเกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน  ตั้งให้พระนายกองเป็นนายทัพ  สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธ ให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นแปดครั้ง  และพระนายกองยกทัพไปตีค่ายบ้านระจันครั้งนั้นมิได้ตั้งทัพกลางแปลง  ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย  แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้าอีก  แต่เดินค่ายไปตามทางทีละสามค่าย  ดังนี้ถึงกึ่งเดือนจึงไปเกือบจะใกล้ค่ายบ้านระจัน  พวกตัวนายค่ายบ้านระจันคุมพลทหารยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งไม่แตกฉาน  และพระนายกองตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่ายมิได้ออกรบนอกค่าย  พวกบ้านระจันเสียคนล้มตายเป็นอันมาก  วันหนึ่งนายทองเหม็นกินสุราเมาขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า  พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย  นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว  แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน  พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้  เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า  นายทองเหม็นสูรบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลัง  พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น  พวกทัพบ้านระจันเสียนายแล้วก็แตกหนีไปค่าย  ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจันจึงให้เก็บเอาศพพม่าซึ่งตายแต่ทัพก่อนๆ นั้นเผาเสียสิ้น  แล้วก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่  ทัพบ้านระจันออกตีเป็นหลายครั้งไม่แตกก็เสียน้ำใจท้อถอย  พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วปลูกหอรบขึ้นสูง  เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายต้องไทยตายเป็นอันมาก  และตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้  ยังแต่ค่ายใหญ่  และนายแท่นซึ่งถูกปืนพม่าเข่าหักแต่ก่อนนั้นป่วยมานาน  ก็ถึงแก่กรรมลงในเดือนหก ปี จอ อัฐศก

ขณะนั้นขุนสันซึ่งมีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจและนายจันหนวดเขี้ยวยกพลทหารออกรบกับพม่าอีกเป็นหลายครั้ง  วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังเข้าได้  ก็ฆ่าขุนสันกับทั้งนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองนาย  ยังแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่อยู่ในค่ายบ้านระจัน  เห็นเหลือกำลังจะสู้รบพม่าจึงบอกเข้ามาในเมือง  ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำ  เสนาบดีจึงปรึกษาลงเห็นพร้อมกันมิได้ให้  ว่าถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร  เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก  แต่พระยารัตนาธิเบศนั้นหาลงเห็นด้วยไม่  จึงออกไป ณ ค่ายบ้านระจัน  คิดอ่านเรี่ยไรทองชาวบ้านซึ่งอยู่ในค่ายมาหล่อปืนใหญ่ขึ้นได้สองกระบอก  ก็บกพร่องร้าวรานไปหาบริบูรณ์ไม่  เห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จก็กลับเข้าพระนคร  ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้  ไม่มีใครช่วยอุดหนุน  ก็เสียใจย่อหย่อนอ่อนฝีมือลง  เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้  แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือนสี่ปลายปีระกาสัปตศก  จึงถึงเดือนแปดปีจออัฐศกได้ห้าเดือน  เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าสืบไปอีก  ต่างคนก็พาครอบครัวหนีไปจากค่าย ที่ยังอยู่นั้นน้อย  ผู้คนก็เบาบางลง

ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก  พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก  ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก  ที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก  บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น  แล้วก็เลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า  ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น  ไทยตายประมาณพันเศษ  พม่าตายประมาณสามพันเศษ  และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น กระทำสายสิญจน์มงคล ประเจียด ตะกรุดต่างๆ แจกให้คนทั้งปวง  แต่แรกนั้นมีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่  ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน  ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง  ก็เสื่อมตบะเดชะลง  ที่อยู่คงบ้างที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง  และตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี  ที่ว่าหายศูนย์ไปก็มี  ความหาลงเป็นแน่ไม่


(สุจิตต์ วงษ์เทศ "คำนำ" ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2521 ในหนังสือนวนิยาย "บางระจัน" ของ ไม้ เมืองเดิม หน้า 18-29 อ้างจาก กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 2505 หน้า 269-277)

จบเรื่องราวอันพิศดาร (ภาษาโบราณแปลว่าเรื่องราวโดยละเอียด) ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  มาดูเรื่่องราวย่อๆ เท่าที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล กันบ้างครับ

ฝ่ายพม่ายกขึ้นไปตั้ง ณ บางไทร  และสีกุก.  ขณะนั้นพระอาจารย์วัดเขานางบวชมาอยู่ ณ วัดบางระจัน  ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี อพยพเข้าไปพึ่งพระอาจารย์อยู่เป็นอันมาก

ฝ่ายพม่าขึ้นไปเกลี้ยกล่อม  ชาวค่ายบางระจัน แต่งกันลงมาฆ่าพม่าเสียกลางทางเป็นอันมาก. พม่าจึงแบ่งกันทุกค่ายยกขึ้นไปจะรบ.  ฝ่ายชาวค่ายบ้านบางระจันยกออกตั้งอยู่นอกค่ายไล่ตะลุมบอนแทงฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก.  ข้างเสนาบดีผู้ใหญ่ ผู้น้อย ออกไปจะตีค่ายพม่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้าย.  ฝ่ายปากน้ำประสพ ให้สานสีชุกแบกไป.  ถ้าจะตั้งที่ใดเอาสีชุกตั้งเรียงให้ชิดกัน.  แล้วจะขุดดินใส่บังเป็นค่าย.  แลคนยกไปวันนั้นมาเต็มทุ่งและเสนาบดีให้หยุดแคร่ที่ใดก็ให้หยุดพร้อมๆ กันรั้งรอไป.  ครั้นเห็นพม่าวัดป่าฝ้าย ขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกเป็นหลายม้า  จึงขับคนเข้าตี  พม่าในค่ายยิงปืนออกมาถูกล้มลงห้าหกคน  คนทั้งนั้นก็ถอยมาสิ้น.  ครั้นเพลาเย็นก็เลิกทัพกลับมา.  ประมาณสองวันสามวันพม่ายกไปตีค่ายบ้านบางระจันอีก ทำการกวดขันขึ้นกว่าเก่า.  ชาวค่ายบ้านบางระจันให้เข้ามาขอปืนใหญ่สองบอก  ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านบางระจันเสียแก่พม่า ๆ จะเอาปืนเข้ามารบกรุง จะให้นั้นมิบังควร.  ครั้นรุ่ง่ขึ้นพม่ายกไปตั้งค่าย ณ บ้านขุนโลก.  นายจันหนวดเขี้ยวคุมพรรคพวกออกมาตีค่ายพม่าเสีย ประมาณห้าร้อย ตัวก็ต้องปืนตาย.

ฝ่ายข้างในกรุงยกไปตีค่ายปากน้ำประสพอีก  พม่าให้ยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะหนี  พวกอาทมาตชวนกันวิ่งเข้าใกล้ค่ายพม่า  พม่าเอาม้าไล่โอบหลังก็ถอยลงมาโพธิ์สามต้น  จมื่นศรีสรรักษ์ จมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าลงข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก.  แต่พวกพระยาตากรบอยู่  ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง.  อนึ่งพระยารัตนาธิเบศร์ออกไปเรี่ยไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้น ณ บ้านบางระจันสองบอก.  ครั้นพม่ายกไปตีอีก  ค่ายบ้านบางระจันก็แตกล้มตายเป็นอันมาก.


(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2549 สำนักพิมพ์โฆษิต หน้า 429-430)

จากข้อความในพระราชพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับนี้  โดยส่วนตัวผมยังมีความเชื่อคล้ายกันกับที่กล่าวไว้ในกระทู้ ราชพงศาวดารพม่าฯ  ว่า  การจะกล่าวหาว่าเรื่องวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันไม่มีจริงเลยนั้น  น่าจะเหลวไหลเลอะเทอะ  และค้านกับพยานเอกสารอย่างทนโท่  ประเด็นที่น่าจะคุยกันน่าจะเป็นเรื่องที่ว่า วีรกรรมชาวบ้านบางระจันมีความจริงกี่เปอร์เซนต์ อะไรเชื่อได้ อะไรเชื่อไม่ได้ และควรให้ความสำคัญแค่ไหนต่างหาก 

จากการที่ผมได้อ่านข้อความจากพงศาวดารทั้งสองขณะลอกมาขึ้นเว็บนี้  ผมมีความเห็นว่าในเวลานั้น  ยังไม่มีแนวความคิดแบบชาตินิยมอย่างที่เราสมัยนี้รู้จักกัน  หากใครจะสงสัยว่าทำไมชาวบ้านธรรมดาๆ จึงอาจหาญต่อสู้กับกองทัพพม่านั้น  จะว่าไปแล้วผู้นำชาวบ้านบางระจันในช่วงแรก (สมัยนี้เขาคงเรียก "แกนนำรุ่นหนึ่ง" มั๊ง?) ดูท่าทางจะเห็นแล้วว่าอำนาจรัฐที่กรุงศรีอยุธยา (แต่ในพงศาวดารเรียก "กรุงเทพมหานคร" ก็อย่าไปสับสนกันนะครับ หมายถึงกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่กทม.ในปัจจุบัน) คงจะคุ้มครองพวกเขาไม่ได้  จึงมีท่าทีว่าจะไป "เข้าเกลี้ยกล่อม" กับพม่าด้วยซ้ำไป  ปัญหาคือพี่หม่องแกเอาแต่ "เร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง" จนพี่ไทยเรายอมไม่ได้  ต้องหันกลับมาเล่นงานพี่หม่องจนกลายเป็นศึกใหญ่โตของชาวบ้านที่ได้จารึกไว้ใน "พระราชพงศาวดาร" ที่ปกติมีแต่เรื่องราวของชนชั้นผู้นำ  นี่แหละครับคุณผู้หญิงที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีทั้งหลาย  เคยมีนักวิชาการแหม่มรายหนึ่งเธอบอกว่ารู้สึกทึ่งมากที่ในเมืองไทยนั้น  เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกในสมัย ร.5 นั้น  เราให้สิทธิการเลือกตั้งทั้งผู้หญิงและผู้ชายพร้อมๆ กัน  หลัง 2475 มีการเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญครั้งแรก  ประชาชนชาวไทยก็ได้สิทธิในการเลือกตั้งพร้อมๆ กันทั้งหญิงและชาย  ขณะที่เมืองฝรั่งนั้น  กว่าบรรดาคุณแหม่มทั้งหลายจะได้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมชายนั้น  ต้องต่อสู้กันยาวนาน  แล้วนี่พอย้อนไปถึงศึกบางระจันที่เคยยกย่องกันว่าเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่เพื่อชาตินั้น  ดูไปดูมามีจุดเริ่มที่การปกป้องศักดิ์ศรีหญิงไทยหรอกหรือนี่?

อีกเหตุหนึ่งที่วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้รับการยกย่องเข้ามาในพงศาวดารฉบับต่างๆ นั้น  น่าจะเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบให้เห็นความอ่อนแอของอำนาจรัฐหรือกลไกของรัฐในขณะนั้น  คือเมื่อชาวบ้านบางระจันได้รับชัยชนะมา 7 ครั้ง  จนพม่าชักจะท้อแล้ว  ในกรุงศรีอยุธยาจึงคิดที่จะอาศัยจังหวะนี้ยกทัพไปตอบโต้พม่าบ้างเหมือนกัน  แต่แทนที่จะเป็นมืออาชีพกว่าชาวบ้านกลับตรงกันข้าม  ตัวแม่ทัพนั้นเป็น "พระยาพระคลัง"  อดไม่ได้ที่จะเทียบกับสมัยนี้ว่าคงคล้ายกับเอารมว.คลังมาสั่งงานกระทรวงกลาโหม  อันที่จริงขุนนางบุ๋นสมัยโบราณเขาอาจจะต้องรู้เรื่องรบทัพจับศึกบ้าง  แต่ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมไม่ใช่คนอื่น  แล้วพอออกรบครั้งแรกเสียคนแค่ 5-6 คนก็เผ่นกลับมาแล้ว  ครั้งที่ 2 ก็เสียทีพม่าพ่ายแพ้ยับเยิน  แถมไปทำให้พี่หม่องได้ใจอยากจะกลับไปแก้มือหรือล้างตากับชาวบ้านบางระจันเข้าให้อีก  พอชาวบ้านบางระจันลำบากมากๆ จะขอปืนใหญ่ไปช่วยแค่ 2 กระบอกก็ไม่ให้เขา  กลัวจะโดนพม่ายึดกลับมาเล่นงานทั้งที่เวลานั้นคาดว่าทั้งทางพม่าและทางอยุธยาน่าจะมีปืนใหญ่ฝ่ายละเป็นสิบเป็นร้อยกระบอก  ผลสุดท้ายทั้งชาวบ้านและชาวกรุงก็ไม่พ้นภัยพม่า

ถึงตรงนี้  หากใครจะเห็นว่า "บางระจัน" ถูกนำมาใช้เพื่อลัทธิชาตินิยมจนเกินไปแล้ว  แทนที่จะหันไปหาเรื่องเอากับคนเขียนหรือคนชำระพงศาวดาร  น่าจะลองหาแง่มุมในการตีความใหม่ๆ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหาในตอนปลายกรุงศรีอยุธยาที่นำไปสู่กาลอวสาน  สำหรับผมถ้าเป็นไปได้จะลองหาข้อความในพงศาวดารฉบับอื่นที่เกี่ยวกับ "บางระจัน" มาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมครับ

หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ

 




บทความเสริมความรู้ทั่วไป

ร้อยตำรวจเอกธรณิศ ศรีสุข ยอดวีรบุรุษ ตชด. วันที่ 02/07/2010   21:44:35
Robinson Crusoe 1997 - ความเป็นมนุษย์ วันที่ 26/05/2012   10:55:36
พงศาวดารมอญพม่า จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ วันที่ 21/04/2012   10:42:18 article
พระนเรศวรฯ กับเมืองละแวก ใน พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ วันที่ 21/04/2012   10:43:01 article
Beau Brummell: The Charming Man 2006 หนุ่มเจ้าสำอาง วันที่ 24/09/2015   22:37:44
เรื่องของฮิตเลอร์ และ เอวา บราวน์ วันที่ 24/09/2015   22:37:10
Fanny Hill การผจญภัยในโลกีย์ วันที่ 24/09/2015   22:36:45
The Marriage of Figaro วิวาห์ฟิกาโร วันที่ 24/09/2015   22:36:10
แนะนำบทความประวัติศาสตร์ที่ simple.wikipedia.org วันที่ 21/04/2012   10:44:07 article
ยศและเครื่องหมายยศทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Wehrmact Heer & Waffen SS) วันที่ 21/04/2012   10:47:26 article
ประวัติศาสตร์กับภาษาต่างประเทศ วันที่ 21/04/2012   10:50:53 article
บางประเด็นจากการไปฟังบรรยายเรื่องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเทพศิรินทร์ วันที่ 21/04/2012   10:52:53 article
หลักฐานประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ วันที่ 21/04/2012   10:51:49 article
MP40 กับ PPSh-41 และปืนกลมืออื่นๆ อีก 3 แบบ วันที่ 21/04/2012   10:54:27 article
คลีโอพัตรา ตอนที่ 4 : ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ - ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (สรุป) วันที่ 09/01/2011   19:31:10
มิติของเวลาในประวัติศาสตร์ วันที่ 27/02/2009   22:33:10
แล้วผมต้องทำอะไรกับประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์? วันที่ 21/04/2012   10:53:38 article
นางเอกอมตะตลอดกาล 25 คนแรก ของฮอลลีวู้ด (1) วันที่ 14/05/2012   21:45:30
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง (2) วันที่ 14/05/2012   21:44:31
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง วันที่ 14/05/2012   21:43:48
ภาพยนตร์รัสเซีย "Battle of Kursk" ศึกรถถังที่ใหญ่กว่า "Battle of the Bulge" วันที่ 21/04/2012   11:00:38 article
อธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับคำศัพท์หน่วยทหาร วันที่ 21/04/2012   11:01:41 article
ราชทูตปรัสเซียเยือนสยามสมัยร.๔ ก้าวแรกสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน วันที่ 21/04/2012   11:08:02 article
พระราชดำรัสเนื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 20 พฤษภาคม 2535 วันที่ 05/05/2012   09:40:33 article
ทดสอบการแปลยศทหารบกจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยด้วยโปรแกรมพจนานุกรมดิจิตอล วันที่ 05/05/2012   10:17:45 article
ตำราพิชัยสงครามของไทย วันที่ 10/05/2012   11:22:47
ภาพตัวอย่างเครื่องแบบทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 05/05/2012   10:16:51 article
"ไทยรบเขมร" ใน "ไทยรบพม่า" วันที่ 05/05/2012   10:13:48 article
อวสาน บิสมาร์ค วันที่ 10/05/2012   11:26:55
ชีวประวัติกับประวัติศาสตร์ วันที่ 05/05/2012   10:04:25 article
สืบเนื่องจาก "ELSID" วันที่ 14/05/2012   21:41:48
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ (2) วันที่ 14/05/2012   21:40:37
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ วันที่ 14/05/2012   21:39:44
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ วันที่ 14/05/2012   21:38:54
การรบแห่งสตาลินกราด วันที่ 10/05/2012   11:28:24
Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย วันที่ 10/05/2012   11:30:18
เครื่องบินรบไทยในสงครามอินโดจีน วันที่ 10/05/2012   11:37:11
Little Boyและfatman คู่หูมหาปลัย วันที่ 10/05/2012   11:34:40
BATTEL OF MIDWAY ยุทธนาวีทางอากาศที่เกาะมิดเวย์ จุดเปลี่ยนสงครามแปซิฟิค วันที่ 21/08/2010   22:07:52
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ (www.horauranian.com) วันที่ 29/09/2008   21:37:10
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อ "เดือน" ของไทย วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ความเป็นมา วันสตรีสากล ๘ มีนาคม และ ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล วันที่ 08/03/2014   08:50:05
คลีโอพัตรา ตอนที่ 1: ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ วันที่ 09/01/2011   19:31:53
ร้อยเอกวัฒนชัย คุ้มครองเหรียญกล้าหาญสมรภูมิบ้านร่มเกล้า วันที่ 21/08/2010   22:08:31
พันโททวี ปูรณโชติ ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำซุยคา วันที่ 21/08/2010   22:09:01
พันโทเจริญ ทองนิ่ม วีรบุรุษพลร่ม วันที่ 21/08/2010   22:09:29
เรือเอกประทีป อนุมณี "ประดู่เหล็กแห่งดูซงญอ" วันที่ 21/08/2010   22:09:57
วีรกรรมดอนแตง วันที่ 21/08/2010   22:10:41



1

ความคิดเห็นที่ 1 (559)
avatar
samphan

 

ในพระราขพงศาวดารพม่า  พระนิพนธ์กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์    กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ดังนี้ครับ

ตั้งล้อมกรุงและรบกับไทย

          .  .  .  ตามพระราชพงศาวดารไทยคือ  พระยาพระคลัง  (โกษาธิบดี)  ยกกองทัพในกรุงและหัวเมืองเป็นคน  ๑๐,๐๐๐  ออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ปากน้ำประสรบ  .  .  .  พม่ายิงปืนมาถูกพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคนเท่านั้น  ทัพไทยก็ล่าถอย    ต่อนั้นมาอีก  ๓ วัน  พระยาพระคลังยกกองทัพออกไปตีค่ายนั้นอีก  พม่าลวงเหมือนทีจะแตกหนีล่า  ไทยรุกเข้าใกล้ค่าย    พม่าตีโอบหลังยิงปืนพุ่งหอก    ไทยตายมาก ก็แตกหนีกลับมาอีก    ที่ข้างพม่าว่ากองทัพพม่าฝ่ายใต้ต้องรบพุ่งกับไทยเป็นการใหญ่นั้น  ในพงศาวดารไทยไม่ใช่ทัพหลวง  เป็นทัพราษฎรอาสาช่วยชาติโดยสมัครเอง  คือ  ครั้งนั้นพม่ารีดเอาเงินทองและลูกสาว    ราษฎรไทยชาวเมืองวิเศษไชยชาญ  เมืองสิงคบุรี  เมืองสรรคบุรี  ได้ความเดือดร้อน  .  .  .

          ครับ  ก็ท่านอ้างถึงพระราชพงศาวดาร  ต่อไปก็ต้องเป็นไปตามพระราชพงศาวดาร  .  .  .

          ส่วน  "ประวัติศาสตร์พม่า"  ซึ่งเพ็ชรี  สุมิตร  แปลจาก  A History of Burma ของหม่องทินอ่อง   Maung Htin Aung  นั้น  ไม่ได้กล่าวถึงว่ากองทัพพม่าต้องรบกับกองกำลังที่บ้านระจัน หรือกองกำลัง  หรือประชาชนที่ต่อต้านกองทัพพม่าเลย  และกล่าวถึงแต่การรบกับกองทัพไทยเท่านั้น

          แต่ก็ อาจจะเป็นเพียงการไม่ได้บันทึกไว้ เท่านั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีบ้านระจัน

           ส่วน  "ไทยรบพม่า" นั้น  ไม่ต้องกล่าวถึง

          เรื่องเหตุการณ์ในการรบ การสงครามก็เป็นอย่างนี้แหละครับ  มีบันทึกไว้ที่หนึ่ง  ไม่มีบันทึกในหลายๆ ที่  เพราะการรวบรวมข้อมูลซึ่งต้องได้ไม่ครบถ้วนอยู่แล้ว  การเห็นความสำคัญของผู้บันทึก  ฯลฯ  สารพัดนะครับ  ผมว่า

          และเรื่องปัญหาในตอนปลายกรุงศรีอยุธยาที่นำไปสู่กาลอวสาน   นั้น  ผมว่าสาเหตุสำคัญ คือ  การเมืองภายในกรุงศรีอยุธยาเองซึ่งได้แย่งชิงอำนาจ  และห้ำหั่นบั่นชีวิตฝ่ายแพ้ กันมาหลายครั้งหลายครา  หลายสิบปีทำให้สูญเสียคนดีมีฝีมือไปมาก  คนดีมีฝีมือคือต้องฝ่ายเรา    หากไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องกำจัด    ส่วนสาเหตุอื่นๆ  ผมคิดว่าเป็นผลมาจากสาเหตุสำคัญนี้ทั้งนั้น

          เท่านี้ก่อน  นะครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น samphan (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-31 08:33:36


ความคิดเห็นที่ 2 (560)
avatar
โรจน์ จินตมาศ

รายงานความคืบหน้าอีกนิดครับ วันนี้ซื้อหนังสือเล่มใหม่มาสดๆ ร้อนๆ คือ "ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม ๓ เรื่อง" ของสำนักพิมพ์แสงดาว พึ่งพิมพ์เมื่อปี 2553 นี้เองครับ  เป็นการรวมหนังสือ 3 เรื่องเข้าด้วยกันคือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม" และ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ซึ่งเรื่องแรกกับเรื่องที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่เรากำลังคุยกันพอดี  ส่วนเรื่องที่ 2 นั้นไม่ใช่การเล่าเรื่องแบบพงศาวดาร จึงยังไม่ขอกล่าวถึง  ยิ่งประวัติความเป็นมาของ "คำให้การ" ทั้ง 3 นี่ค่อนข้างจะยืดยาว เลยขอเว้นไว้ก่อน

เรื่อง "คำให้การชาวกรุงเก่า" ตอนที่เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในหน้าที่ 134 - 137 นั้น ไม่ปรากฏเรื่องของชาวบ้านบางระจันเลย  แล้วมาในภาคที่ 2 ที่ชื่อว่า "ตำนานแลทำเนียบต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา" ในตอน "จดหมายเหตุรบพม่า" ในหน้าที่ 151 จึงกล่าวถึงค่าย 6 ค่ายที่กองทัพไทยตั้งรักษาพระนครในข้อที่ 6 หรือทัพที่ 6 เขียนว่า " ๖ ทิศ (อะไรไม่บอกไว้) ตั้งที่บ้านยายจัน (ค่ายนี้เห็นจะหมายความว่าค่ายบางระจัน ค่ายบางระจันอยู่แขวงเมืองสิงห์กับอ่างทองต่อกันห่างมาก)"  เข้าใจว่าผู้เขียนข้อความในวงเล็บคงจะเป็นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ(?) ถ้าใครมีฉบับนี้หรือฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ ช่วยกันดูอีกทีนะครับว่ามีเรื่อง "บางระจัน" ไปหลงอยู่ตรงไหนหรือเปล่า?

ส่วน "คำให้การขุนหลวงหาวัด" นั้น ในหน้า 502-503 (ขอย้ำว่าเป็นเลขหน้าของหนังสือ "ประชุมคำให้การฯ" ที่ผมพึ่งซื้อมา  ถ้าใครมีเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์เป็นเล่มเฉพาะในคราวก่อนๆ จะเป็นคนละเลขหน้ากันแน่ๆ) มีข้อความที่กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันที่เหมือนกับที่ปรากฏใน "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล" ราวกับมีการ Copy จากเรื่องหนึ่งไป Paste ลงในอีกเรื่องหนึ่ง  ทั้งที่โบราณท่านก็คงใช้แค่ปากไก่ใบลานในการบันทึก  ลองเปิดหนังสือทั้งสองเรื่องดังกล่าวเปรียบเทียบกันย้อนไปดูเรื่องก่อนนี้โดยผ่านๆ ไปจนถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็พบว่ามีข้อความที่เหมือนลอกกันมาแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากบางตอนที่ฉบับหมอบรัดเลจะมีละเอียดกว่าบ้าง  ผมรู้สึกว่าเหมือนจะเคยอ่านตำราหรือบทความที่มีการเปรียบเทียบพงศาวดารฉบับต่างๆ และพูดถึงเรื่องการคัดลอกสืบต่อกันมาด้วยครับ  แต่จำชื่อเรื่องและรายละเอียดไม่ได้แล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ จินตมาศ (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-06-01 21:37:36


ความคิดเห็นที่ 3 (5611)
avatar
คนเล่าเรื่อง

ใช่ครับ อาจารย์โรจน์ ประวัติศาสตร์ควรเป็นศาสตร์ที่มีการเลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  แล้วควรศึกษาด้วยเหตุและผลตามหลักกาลามสูตร  ไม่ใช่ เพราะเขาสั่งให้เชื่อให้ท่องจำมาด้านเดียวแบบที่เราถูกปลูกฝังมาแต่เล็กแต่น้อย

ประเด็นเรื่องบางระจันนี่  มันมีเหตุคาใจของใครหลาย ๆ คนที่สนใจศึกษาอย่างจริงจัง  ซึ่งก็หวังให้นักประวัติศาสตร์ไทยเราได้ออกมาทำการศึกษาอย่างจริงจัง โดยใช้วิชาการด้านโบราณคดีและมนุษยวิทยาเปรียบเทียบด้วย  จึงจะเห็นความเป็นจริงที่ชัดเจน  ไม่ใช่ผมเกิดความไม่เลือมใสศรัทธาในบรรพบุรุษของชาติเรา  แต่เราคงต้องการศึกษาให้เกิดโยมนิโสมนสิการ (การรู้โดยแยบคาย ถี่ถ้วน แจ่มชัด) ไม่ใช่การศึกษาให้เกิด โทโสมนสิการ (รู้เพื่อให้เกิดโทสะสำหรับยุแยงให้ทำการรุนแรง)

ส่วนตัวของผม  เรื่องบางระจันนี่ก็อาจเป็นไปได้ แต่อาจไม่ได้ชัดเจนหรือโดดเด่นอย่างที่พงศาวรดารบันทึกเอาไว้ แต่สำหรับราชพงศาวดารพม่านั้น  ขนาดศึกยุทธหัตถี เขายังไม่เคยกล่าวถึง แล้วนับประสาอะไรกับกองโจรเล็ก ๆ ไม่ต่างจากก้อนกรวดในรองเท้าที่เขาจะต้องเอมาบันทึกกันครับ (ไม่แน่ใจครับว่า ในประวัติศาสตร์เขมรช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาตี อาจมีวีรกรรมของชาวบ้านเขมรด้วยก็เป็นได้)

อย่างไรก็ตามครับ  เมืองไทยเรายังไม่สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ตามหลักการดังกล่าวได้  เพราะอะไรหรือครับ คงได้เห็นยตัวอย่างของผู้ศึกษาบางรายที่โดนของแข็งแบบเบาะ ๆ เข้าให้แล้ว  อย่างนี้ ใครจะกล้าทำต่อกันล่ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง (danai-at-buu-dot-ac-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-06-02 09:38:59



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker