dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



STAR SHINE

*  *  *

STAR  SHINE

 

ประเทศที่สาม  .  .  .

          ประเทศที่สาม  เป็นประเทศหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างสหภาพพม่า  พระราชอาณาจักรลาว  และพระราชอาณาจักรไทย  ชื่อเมือง  ชื่อตำบล  ชื่อสถานที่ต่างๆ ในประเทศที่สาม  หรือชื่อบุคคล ที่กล่าว  ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อสมมติทั้งสิ้น  อาจจะซ้ำกับชื่อเมือง หรือชื่อตำบล หรือชื่อสถานที่ในประเทศอื่น  หรึอชื่อบุคคลใดบ้างก็ตาม  ขอโปรดถือว่าเป็นการบังเอิญ  .  .  .  บังเอิญ  .  .  .  และบังเอิญ

 

ก่อนจะถึงสมัย "คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว"

          ท่านที่เคยได้อ่านตับ "คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว" คงพอจะจำได้ว่า  โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  นั้นได้แบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนคือ  ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย  กับฝ่ายคอมมิวนิสต์    และฝรั่งเศสก็กลับเข้ามาปกครองประเทศในอินโดจีนอีกครั้ง   

          สำหรับพระราชอาณาจักรลาว  มีความเป็นไปดังนี้ 

          ๑๒  ตุลาคม  ๒๔๘๘    เจ้าเพชรราช รวบรวมแขวงต่างๆ จัดตั้งรัฐบาล  เรียกตนเองว่า  "ลาวอิสระ"

 

 

 

          ๒๔  พฤษภาคม  ๒๔๘๙    ฝรั่งเศสใช้กำลังเข้ายึดนครหลวงพระบาง    ขับไล่รัฐบาลลาวอิสระของเจ้าเพชรราช  จนต้องลี้ภัยในประเทศไทย     

          ๒๗  สิงหาคม  ๒๔๘๙    ฝรั่งเศสรับรองเอกราชของลาว  แต่จัดเข้าเป็นรัฐสมทบ

          ๑๙  กรกฎาคม  ๒๔๙๒    ลาวได้เอกราช เป็น พระราชอาณาจักรลาว    แต่ฝรั่งเศสยังคงกำลังทหารไว้จำนวนหนึ่ง

          ประมาณ  เดือน  ตุลาคม  ๒๔๙๒    รัฐบาลลาวอิสระ  ก็ขัดแย้งกันเอง  เพราะความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน

          ๑๓  สิงหาคม  ๒๔๙๓    พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนประกาศจัดตั้ง  รัฐบาลแนวร่วมลาวรักชาติขึ้นซ้อนกับรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิต  และจัดตั้งกองกำลังขึ้นอีกด้วย  คือ

            - กองทัพรัฐบาลประเทศลาว มีฐานที่มั่นทางภาคเหนือของพระราชอาณาจักรลาว  เพื่อที่จะติดต่อและรับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์นอกประเทศได้สะดวก

            - ขบวนการประเทศลาว (ปทล.)  เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสซึ่งยังคงมีอยู่ในพระราชอาณาจักรลาว    ปทล.นี้ขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งแคว้นลาว  มีเจ้าสุภานุวงศ์ เป็นหัวหน้า

          ๙  กรกฎาคม  ๒๔๙๔    สหรัฐอเมริกาเริ่มช่วยเหลือรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว  เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์

          พฤศจิกายน  ๒๔๙๖    กองกำลัง ปทล. และเวียดมินห์โจมตีค่ายทหารฝรั่งเศสในพระราชอาณาจักรลาว  และยึดเมืองเอกของแคว้นทางเหนือได้หลายเมือง  เช่น  ซำเหนือ  พงสาลี  เชียงขวาง  และหลวงพระบาง

          ส่วนทหารเวียดมินห์ที่ปฏิบัติการแล้วได้ถอนกลับเข้าไปอยู่ที่เมืองเดียนเบียนฟู และตามแนวชายแดน ลาว - เวียดนาม  รวม    ๖  กองพัน

          พฤษภาคม  ๒๔๙๗    ฝรั่งเศสปราชัยต่อกำลังเวียดมินห์อย่างย่อยยับทีเดียนเบียนฟู  ทำให้ต้องถอนตัวและสูญเสียอิทธิพลในอินโดจีนอย่างสิ้นเชิง

 

 

          มกราคม  ๒๔๙๗    กองกำลัง ปทล. และเวียดมินห์ก็ยึดเมืองเอกของแคว้นทางใต้ได้อีกหลายเมือง  เช่น  อัตตะปือ  คำม่วน  ท่าแขก  และที่ราบสูงโบโลเวน

 

 

 

 

 
 

 

 

 ขบวนการประเทศลาว

          พ.ศ.๒๔๙๘    เจ้าสุภานุวงศ์  หัวหน้าขบวนการประเทศลาวได้รวบรวมกำลัง  ประมาณ  ๒๐,๐๐๐  ที่ เมืองซำเหนือ  และเมืองพงสาลี  จัดตั้งพรรคประชาชนลาวขึ้น    

          ระหว่าง  พ.ศ.๒๔๙๘ - ๒๔๙๙    รัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวได้ส่งกำลังทหารเข้ากวาดล้างปราบปรามกำลังขบวนการประเทศลาวที่ เมืองซำเหนือ  และเมืองพงสาลี  ได้มีการรบกันอย่างรุนแรง   

          ๑๒  พฤศจิกายน  ๒๕๐๐    เจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม  ๒ ฝ่าย   ขบวนการประเทศลาวมีส่วนเข้าร่วมด้วยในนามพรรคแนวร่วมลาวรักชาติ

          ๒๓  พฤษภาคม  ๒๕๐๓    เจ้าสุภานุวงศ์พาพรรคพวกที่ถูกจับกุมคุมขังหนีไปพงสาลี    รัฐบาลผสม  ๒ ฝ่าย  จึงเป็นอันถึงกาลต้องยุติ     

 

พ.ศ.๒๕๐๓  รัฐประหารในพระราชอาณาจักรลาว 

         ๙  สิงหาคม  ๒๕๐๓    ร้อยเอก  กองแล  ผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม  และร้อยโท  เดือน  รองผู้บังคับกองพัน  ได้นำกำลังทหารกองพันพลร่มที่ ๒  (ลาว)     ทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลแห่งพระราชอาณาจักรลาว  ซึ่งแผนการรัฐประหารของร้อยเอก  กองแล ก็ได้มาจากการฝึกการเข้ายึดเมืองซึ่งได้รับการฝึกจากเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา  โดยส่งกำลังทหารเข้ายึดสถานีวิทยุกระจายเสียง  ที่ทำการไปรษณีย์  สนามบิน  ชุมทางถนนสายสำคัญ  และจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ 

          เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว  ร้อยเอก  กองแลประกาศนโยบายเป็นกลาง    และเชิญเจ้าสุวรรณภูมา  อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ได้ส่งตัวแทนของตนแทรกเข้าอยู่ในคณะรัฐบาลใหม่นี้ด้วย

          ฝ่ายเป็นกลางก็ได้เข้าเป็นพันธมิตรกับขบวนการประเทศลาว  และเวียดนามเหนือ

          ๔  ธันวาคม  ๒๕๐๓    เครื่องบินลำเลียงของสหภาพโซเวียตได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์มาส่งให้ฝ่ายเป็นกลางในกรุงเวียงจันทน์

          ๑๔  ธันวาคม  ๒๕๐๓    กองกำลังฝ่ายขวาได้เข้าโจมตีฝ่ายเป็นกลางในกรุงเวียงจันทน์ด้วยอาวุธหนัก  ได้แก่  ปืนใหญ่  และปืนกล  ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา    ส่วนฝ่ายเป็นกลางก็มีอาวุธหนักที่ได้รับจากสหภาพโซเวียต

          ฝ่ายขวาบุกเข้ากรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ  ฝ่ายเป็นกลางสามารถถอนกำลังขึ้นเหนือไปตามแนวแม่น้ำโขง  ได้โดยไม่สูญเสีย   

          เป็นอันว่า  การรัฐประหารของร้อยเอก  กองแล  เป็นการเร่งทั้งสองฝ่ายเข้าเผชิญหน้ากันในพระราชอาณาจักรลาวให้เร็วขึ้น

          กองกำลังฝ่ายเป็นกลางที่ถอนตัวไปทางเหนือโดยไม่สูญเสียนั้น  ได้ร่วมกับกองกำลังขบวนการประเทศลาวผลักดันกองกำลังฝ่ายขวาทางภาคเหนือของพระราชอาณาจักรลาว   

          ในปลายเดือนธันวาคม  ๒๕๐๓    พันตรี  วังเปา นายทหารม้งฝ่ายขวาในทุ่งไหหิน   ผู้นำฝ่ายขวาในทุ่งไหหินที่ภักดีต่อรัฐบาลแห่งพระราชอาณาจักรลาว  แต่วังเปาก็พยายามจัดตั้งกองกำลังชาวม้งด้วย  กองบัญชาการของวังเปาตั้งอยู่ในเมืองเชียงขวาง

          เมื่อเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้  หมายความว่า  เกลอแก้วพร้อมจะเดินไปทางซ้าย    ฉะนี้แล้ว  รัฐบาลไทยฤๅจะนิ่งดูดาย  จำต้องขวนขวายหาวิธีระงับยับยั้งไม่ให้ความคิด "ซ้ายนิยม" ข้ามโขงมาสู่บ้านเรา  

  

 

 

 

 

 ประเทศไทย

          จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์  นายกรัฐมนตรีจึงจัดตั้งคณะบุคคลขึ้น ประมาณ  ๑๐  ท่าน  เรียกชื่อว่า "คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราชอาณาจักร" ใช้ชื่อย่อว่า "คณะกรรมการ คท."  เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย    

          ภารกิจของคณะกรรมการ  คท.  นี้มีหลายประการครับ  .  .  .  ว่ากันให้เข้าใจง่ายๆ  ได้แก่  ทำการทั้งปวงที่เป็นการก่อกวน รุกราน  ทำลายทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ตั้งฐานที่มั่นได้สะดวกแล้วส่งกำลังข้ามโขง ข้ามเขาเข้ามาทำลายความมั่นคงของชาติไทย    ด้วยการส่งกองกำลังที่สมัครใจ  และเต็มใจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายปฏิบัติการอันไม่เปิดเผยเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามไว้นอกพระราชอาณาจักร

          ทางคณะกรรมการ คท. ซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณาเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือฝ่ายเสรีประชาธิปไตย    ในที่สุด  ก็ได้ข้อตกลงใจให้ จัดตั้ง  "คณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร"  ใช้คำย่อว่า "คท."  ส่วนสำนักงานหรือส่วนบังคับบัญชาของคณะที่ปรึกษานี้ ใช้ชื่อย่อว่า "บก.คท."  

           และในปลาย พ.ศ.๒๕๐๓  "บก.คท."ได้ตั้งสำนักงานในเมืองหลวงของประเทศที่สาม

           ๓๑  ธันวาคม  ๒๕๐๓  นั้นเอง  ฝ่ายเป็นกลาง  และขบวนการประเทศลาวก็สามารถยึดครองทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวาง  และควบคุมเส้นทางคมนาคมระหว่างนครหลวงพระบางกับกรุงเวียงจันทน์ได้

 

มกราคม  ๒๕๐๔

          สหรัฐอเมริกาต้องดำเนินการป้องกันเหตุฉุกเฉินล่วงหน้า  ด้วยการส่งกองเรือจำนวนหนึ่ง  ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน  ๒ ลำ  และเรือพิฆาตคุ้มกันจำนวนหนึ่ง  พร้อมด้วยกำลังนาวิกโยธิน  จำนวน  ๑,๔๐๐ นาย  มาลอยลำอยู่ในทะเลจีนใต้    กองทหารอเมริกันในฐานทัพโอกินาวา  ประเทศญี่ปุ่น  ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการได้  เมื่อสั่ง   

           เมื่อฝ่ายเป็นกลางสามารถยึดครองทุ่งไหหินได้    กำลังฝ่ายขวาของวังเปาก็ต้องตั้งฐานที่มั่นแห่งใหม่    ผาขาว  ทางตะวันตกของภูใบ ทางใต้ของทุ่งไหหิน    เป็นที่ฝึกกองกำลังม้งของวังเปาด้วยครูฝึกพารู  (PARU - Police Aerial Resupply Unit)  และการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากอเมริกัน    

          หนทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ครอบครองลาวได้  น่าจะเป็นการให้มีรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวเป็นรัฐบาลที่เป็นกลาง    แต่รัฐบาลที่เป็นกลางก็กำลังสู้อยู่กับฝ่ายขวาของร้อยเอก  กองแลซึ่งสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่    แต่อเมริกันก็ต้องพยายามชักจูงฝ่ายต่างๆ ในพระราชอาณาจักรลาว  และนานาชาติให้ทำความเข้าใจและตกลงกันในเรื่องความเป็นกลางของลาว   

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว    อเมริกันใช้มาตรการทั้งไม้นวมและไม้แข็ง   

          มาตรการไม้แข็งคือ  การใช้กองกำลังของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค  ซึ่งได้ดำเนินการใน  เดือนมกราคม  ๒๕๐๔   

          ส่วนมาตรการไม้นวม  คือการใช้มาตรการทางการฑูต  ได้แก่การรื้อฟื้นการประชุมนานาชาติที่นครเจนีวา  สวิตเซอร์แลนด์

          ครับ  .  .  .  ผลพวงจากการรัฐประหารในพระราชอาณาจักรลาวของร้อยเอกกองแลคือสถานการณ์ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเลวร้ายลงตามลำดับ

 

 คอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

          การดำเนินการของรัฐบาลในกาลนั้น  ไม่ได้เป็นการ "ตีตนไปก่อนไข้" หรือ "กระต่ายตื่นตูม" แต่ประการใด  เพราะได้มีผู้ลักลอบนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ในประเทศไทยแล้ว

            ภายหลังที่ ร้อยเอก  กองแล ยึดอำนาจในราชอาณาจักรลาวได้สำเร็จ เมื่อเดือนสิงหาคม  ๒๕๐๓  เป็นต้นมา    นายครอง จันดาวงศ์ ได้ชักชวนให้ผู้คนนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์  ก่อตั้งสมาคมลับให้ชื่อว่า สามัคคีธรรม  จัดแยกคนที่เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกออกทำหน้าที่หาพรรคพวกต่อไป  เรียกเก็บเงินจากผู้ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก  อบรมชี้แจงให้สมัครพรรคพวกเข้าใจว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์จะสามารถนำความสุขสมบูรณ์มาให้แก่ประชาชน ประเทศคอมมิวนิสต์จะให้ความช่วยเหลือตั้งโรงงานให้คนมีงานทำ และบำรุงความเจริญด้วยประการต่างๆ

           นอกจากนี้ยังได้เรียกประชุมพรรคพวก มีการประชุมกันถึง  ๒๑ ครั้งในที่ต่างๆ กัน และใช้ดงผาลาด ในเขตติดต่อระหว่างจังหวัดสกลนครกับหนองคาย เป็นที่ประชุมและฝึกสอนการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ ในการประชุมอบรมพรรคพวกนี้  นายครอง จันดาวงศ์ ได้แสดงแผนการร้าย ทั้งแก่ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ฯลฯ

 STAR  SHINE  -  SS 

          ส่วนทางด้านประเทศที่สามก็เลวร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  และยังปรากฏว่ามีกองกำลังทหารจากประเทศคอมมิวนิสต์จากทางเหนือเข้ามาแทรกแซง  และเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่    แต่ที่เป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อพระราชอาณาจักรไทยคือ  กำลังส่วนที่อยู่ในประเทศที่สามตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม  และตรงข้ามกับอำเภอมุกดาหาร  (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร)    ทางรัฐบาลประเทศที่สามเห็นสถานการณ์ร้ายแรงคับขันถึงขั้นนี้  ท่านรองนายกรัฐมนตรีประเทศที่สามเห็นเหลือกำลังที่จะสู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์จากนอกประเทศตามลำพัง  จึงเดินทางเข้ามาขอร้องรัฐบาลไทย  เมื่อวันที่  ๕  เมษายน  ๒๕๐๔  ร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารปืนใหญ่ไปช่วยเหลือ

         ระหว่างที่ทางรัฐบาลไทยกำลังพิจารณาอยู่นั้น  หัวหน้าหน่วยจัสแม็คประจำประเทศไทยก็ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยชี้แจงสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวว่า  กำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ของประเทศที่สามและจากต่างประเทศยึดได้เมืองยมราช  กำลังพุ่งเข้าสู่เมืองท่าแขกในพระราชอาณาจักรลาว  ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม    ขอให้ส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่สนามเข้าไปช่วยแก้สถานการณ์ในประเทศที่สาม

          ในที่สุด    ก็ได้จัดกองร้อยปืนใหญ่  ปฏิบัติภารกิจนี้  ๒ กองร้อย  คือ  กองร้อยปืนใหญ่ SS.I  และ กองร้อยปืนใหญ่ SS.II   

         กองร้อยทหารปืนใหญ่ทั้งสองกองร้อยได้เคลื่อนย้ายกำลังพลโดยทางอากาศในวันที่  ๑๙  เมษายน  ๒๕๐๔  ไปยังเมืองสุวรรณเขต  ประเทศที่สาม    แล้วเข้าที่พักแรมในกรมทหารปืนใหญ่  บ้านดงลำดวน  ประเทศที่สาม    ส่วนปืนใหญ่นั้นเคลื่อนย้ายทางถนน 

          ๒๑  เมษายน  ๒๕๐๔    กองร้อยทหารปืนใหญ่ SS.I  ได้เคลื่อนย้ายทางถนนเข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่เมืองท่าแขก  ประเทศที่สาม  โดยประเทศที่สามจัดกำลังระวังป้องกันให้  มีรถถังเอ็ม ๘  จำนวน  ๒  คัน  คุ้มกันขบวนเดินของกองร้อยปืนใหญ่   และจัดชุดฟังการณ์  เฝ้าตรวจ และรักษาการณ์ตามภูมิประเทศสำคัญตลอดเส้นทาง  จนถึงที่รวมพลบริเวณทางใต้เมืองท่าแขก  ประมาณ  ๓  กิโลเมตร 

          ๒๒  เมษายน  ๒๕๐๔    กองร้อยทหารปืนใหญ่ SS.II    เข้าที่ตั้งยิงทางตะวันออกของเมืองท่าแขก  ประเทศที่สาม  ประมาณ  ๑๕   กิโลเมตร    และเริ่มภารกิจยิงสนับสนุนกองทัพประเทศที่สาม  ในพื้นที่สุวรรณเขต     

          ๒๗  เมษายน  ๒๕๐๔    นายพล  บุญปอน  แห่งกองทัพประเทศที่สามได้ประสานร้องขอกองร้อยทหารปืนใหญ่ไปสนับสนุนด้านเมืองเซโปน    แต่เคลื่อนย้ายไปไม่ถึงเมืองเซโปนครับ    ในวันที่  ๒๙  เมษายน  ก็ต้องเคลื่อนย้ายกลับเข้าที่พักแรมในกรมทหารปืนใหญ่  บ้านดงลำดวน    ด้วยความจำเป็นด้านการเมืองระหว่างประเทศ   

 

 

 

 

 

 

 

 

ปบค.๑๐๕ มม.  "แยกราง"  ในตำแหน่ง "ตั้งยิง"

 

 

 

"ยิง"

การเมืองระหว่างประเทศ

           จากความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการเจรจากับฝ่าย  และชาติต่างๆที่เกี่ยวข้อง    ได้มีการประกาศหยุดยิงอย่างเป็นทางการในพระราชอาณาจักรลาว  ตั้งแต่  วันที่  ๓  พฤษภาคม  ๒๕๐๔    และกำหนดการเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวา  สวิตเซอร์แลนด์  ใน  ๑๖  พฤษภาคม  ๒๕๐๔   

 

ดาวเดือนก็เลือนลับ  .  .  .  SS.I  SS.II    มีไป  ก็มีกลับ  

          ท่านที่ทราบเรื่องนี้ดีกล่าวว่า  การครั้งนี้ค่อนข้างจะเอิกเกริกไปหน่อย  และเพื่อเป็นการป้องกันป้ญหาการเมืองระหว่างประเทศอันอาจจะเกิดขึ้น

          หลังจากประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว    ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้กองร้อยปืนใหญ่ทั้งสองกองร้อยเคลื่อนย้ายกลับอำเภอมุกดาหาร  และจังหวัดนครพนม  ในวันที่  ๘  พฤษภาคม    แต่ก็ให้จัดเจ้าหน้าที่ไว้  ๑๔  นาย  เพื่อเป็นครูฝึกวิชาทหารปืนใหญ่ให้แก่กรมทหารปืนใหญ่ประเทศที่สาม   และ  .  .  .

 

การจับกุมคอมมิวนิสต์ในประเทศ

๖  พฤษภาคม  ๒๕๐๔

          เจ้าหน้าที่ได้จับกุม นายครอง จันดาวงศ์  ที่อำเภอสว่างแดนดิน  จังหวัดสกลนคร  พร้อมด้วย นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ และสมัครพรรคพวกอีกรวม  ๑๐๘ คน  ให้การรับสารภาพ  ๔๘ คน  ต่อมามีผู้มามอบตัวและสารภาพเพิ่มอีก  ๖ คน    เจ้าหน้าที่สอบสวนทั้งสิ้น  ๙๕ คน   กรมตำรวจ ได้ทำการสอบสวนจนเป็นที่แน่ชัด  ปราศจากข้อสงสัย  .  .  .  เห็นสมควรและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด เพื่อป้องกันภัยของประเทศชาติ และเพื่อเป็นตัวอย่างยับยั้งการกระทำผิดคิดร้ายในทำนองนี้ต่อไปภายหน้า  .  .  .

           นายครอง จันดาวงศ์  หัวหน้าผู้ก่อการ กับ นายทองพันธุ์ สุทธิมาศ รองหัวหน้า  จึงถูกประหารชีวิต ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่  ๓๑  พฤษภาคม  ๒๕๐๔

 

การเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวา

๑๖  พฤษภาคม  ๒๕๐๔  

          การเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวา  สวิตเซอร์แลนด์  ใน  ๑๖  พฤษภาคม  ๒๕๐๔    มีประเทศเข้าประชุม  ๑๔ ประเทศ  ได้แก่  สหรัฐอเมริกา  สหภาพโซเวียต  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  สาธารณรัฐประชาชนจีน  โปแลนด์  อินเดีย  แคนาดา  สหภาพพม่า  ไทย  กัมพูชา  สาธารณรัฐเวียดนาม  (เวียดนามใต้)  สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม  (เวียดนามเหนือ)  และพระราชอาณาจักรลาว     แต่ละประเทศมีท่าทีต่อการประชุมแตกต่างกันไป  เช่น    สหรัฐอเมริกา  และสหภาพโซเวียต ข่วงชิงอำนาจกันแต่ก็พยายามหาข้อตกลงร่วมกัน    อังกฤษไม่ต้องการทำสงครามในเอเซีย    ฝรั่งเศสสนใจเนื่องจากเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน    อินเดีย  ตัวแทนกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้สนใจเป็นพิเศษต่อฝ่ายเป็นกลาง    ส่วนสาธารณรัฐเวียดนาม  และประเทศไทยสนใจและให้ความสำคัญการประชุมนี้มาก เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน 

 

"รวมราง"

STAR  SHINE  -  ไม่ฉายแสง

         ในวันที่  ๑๔  มิถุนายน  ๒๕๐๔  นั้นเอง   กองร้อย  SS.I  และ  SS.II  ก็ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับที่ตั้งปรกติ

          เป็นอันว่าสองดวงดาวไปฉายแสงโชติช่วงในประเทศที่สามได้เท่านี้เอง    แต่ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่คอยสอนสั่งวิชาให้ต่อไป

          ครับ  .  .  .  การที่กองร้อยทหารปืนใหญ่ทั้งสองต้องถอนกำลังกลับที่ตั้งปรกตินี้    เจ้าหน้าที่ระดับสูงคงได้พิจารณาร่วมกันกับส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้ว  และนัยว่าให้สอดคล้องกับการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ปบค.๑๐๕ มม.  "รวมราง"  ในตำแหน่ง "เตรียมเดิน"

 

 

บทเรียนของ  STAR  SHINE

        เมื่อมาตรการทางการทหารลดระดับความเข้มข้นลงไปแล้ว    และกองร้อยปืนใหญ่ SS.I  และ  SS.II  ก็กลับแล้ว    เราลองมาพิจารณากันว่าการที่กองร้อยปืนใหญ่เข้าปฏิบัติการในครั้งนี้  มีผลอย่างไร

          ผลที่เกิดขึ้น  นับว่ารับบทเรียน  และเป็นผลดีหลายประการ  เช่น

            ๑. เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของมิตรประเทศว่าไทยมีความจริงใจในการช่วยเหลือทั้งรัฐบาลประเทศที่สาม  และ สหรัฐอเมริกา  รวมทั้งรัฐบาลแห่งพระราชอาณาจักรลาวด้วย

            ๒. ทหารประเทศเพื่อนบ้านยอมรับนับถือในความรู้ความสามารถ  ประสิทธิภาพในการรบของทหารไทย

            ๓. นับเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของหน่วยว่าอยู่ในสภาพพร้อมรบเพียงใด  เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจอย่างเร่งด่วน    เป็นการฝึกปฏิบัติการจริงของหน่วยทหารปืนใหญ่  ตั้งแต่การจัดหน่วยเข้าทำการรบ  การเคลื่อนย้ายทางยุทธศาสตร์  คือการเคลื่อนย้ายทางถนนจากที่ตั้งปรกติในจังหวัดลพบุรีไปยังอำเภอมุกดาหาร  ซึ่งสภาพเส้นทางยังไม่สมบูรณ์ดังในปัจจุบัน   การเคลื่อนย้ายปืนใหญ่ลงแพเพื่อข้ามลำน้ำโขง    และเมื่อเข้าทำการรบก็สามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

            ๔. หน่วยทหารปืนใหญ่ได้ประสบการณ์และบทเรียนในการปฏิบัติการมาก  เพราะนับตั้งแต่สงครามมหาเอเซียบูรพา  และอยู่ในโครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกาแล้ว  ทหารปืนใหญมีแต่การฝึก  ยังไม่เคยปฏิบัติการในสนามเลย    โครงการ  STAR SHINE  จึงเป็นการปฏิบัติการในสนามครั้งแรกของหน่วยทหารปืนใหญ่ตั้งแต่เลิกสงคราม  พ.ศ.๒๔๘๘   (ในสงครามเกาหลี  กองทัพไทยส่งทหารปืนใหญ่ไปร่วมรบเพียงผู้ตรวจการณ์หน้าเท่านั้น  ไม่ได้ส่งหน่วยปืนใหญ่ไปด้วย)

            ๕. เกิดการตื่นตัวในกองทัพ  และกำลังพล  ว่าต้องพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจได้ทุกเวลา

 

          ครับ  .  .  .  เรื่อง   STAR SHINE - SS.  ก็มีความเป็นมา  และเป็นไปสรุปได้ว่า    Stars Shine.  SS.I และ SS.II  ฉายแสงโชติช่วงที่เมืองสุวรรณเขต  และเมืองท่าแขก  ประเทศที่สาม  ได้ประมาณ  ๒ เดือน  ตั้งแต่  ๑๙  เมษายน  ถึง  ๑๔  มิถุนายน  ๒๕๐๔    เท่านั้นเอง  ก็ไม่ฉายแสง  คงแต่เจ้าหน้าที่ไว้เป็นครูฝึกสอนวิชาทหารปืนใหญ่ให้ทหารปืนใหญ่ประเทศที่สาม  ต่อไป    

          แต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยไม่ได้จบลงพร้อมกับ   STAR  SHINE  นะครับ  .  .  .

 

"บก.สามสามสาม"

          คงยังจำกันได้ว่า  ในปลาย พ.ศ.๒๕๐๓   "บก.คท." หรือ ส่วนสำนักงานหรือส่วนบังคับบัญชาของ"คณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร" ได้ตั้งสำนักงานในเมืองหลวงของประเทศที่สาม   แต่เมื่อสถานการณ์ได้พัฒนามาจนใช้มาตรการทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  "บก.คท." จึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์  

           ๙  พฤษภาคม  ๒๕๐๔   "บก.คท." ย้ายมาตั้งที่จังหวัดหนองคายเนื่องจากเหตุผลทางการรักษาความปลอดภัยและความเหมาะสมหลายประการ  และย้ายต่อไปที่จังหวัดอุดรธานี    นอกจากนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  "บก.สามสามสาม"  (บก.๓๓๓)  ในวันที่  ๗  ธันวาคม  ๒๕๐๕    ซึ่งได้พัฒนาเป็น  "บก.ผสม ๓๓๓" และ "หน่วยผสม ๓๓๓"  ตามลำดับ

         "หน่วยผสม ๓๓๓" นี้เป็นหน่วยปฏิบัติการในสนามที่ได้รับความช่วยเหลือร่วมมือและสนับสนุนจากมิตรประเทศอย่างใกล้ชิด 

          "หน่วยผสม ๓๓๓" มีภารกิจทั่วไป คือ  จำกัดการขยายตัว  สกัดกั้น และลดอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ให้แทรกซึมเข้าสู่ประเทศไทยหรือสามารถตั้งฐานที่มั่นในการส่งกำลังช่วยเหลือสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศไทยผ่านทางประเทศที่สามได้สะดวก    ซึ่งหากจะวิเคราะห์จำแนกภารกิจให้ชัดเจนจะเป็นดังนี้ครับ

          ภารกิจทางการเมือง    ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนรัฐบาลแห่งประเทศที่สามซึ่งอยู่ข้างฝ่ายโลกเสรี และเป็นฝ่ายเราให้มีเสถียรภาพ และเข้มแข็งพอที่จะรักษาสถานการณ์ไว้ได้

          ภารกิจทางทหาร    สนับสนุนกองทัพประเทศที่สามให้สามารถต่อต้านกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์   ดำเนินการรบนอกแบบ  ไม่มีแบบในพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์  เช่น  เมืองสิง  เมืองหลวงน้ำทา  เมืองลานช้าง  เมืองจำปาศักดิ์    ต้องปฏิบัติการทางยุทธการ  การปฏิบัติข่าวกรองทางการรบ   ด้วยการจดชุดรบพิเศษเข้าไปจัดตั้งกำลังรบท้องถิ่น  ทำการฝึกกำลังรบเหล่านั้น ให้สามารถบ่อนทำลายกำลังรบฝ่ายข้าศึก  และแทรกซึมหาข่าวในดินแดนฝ่ายตรงกันข้าม

           อ่านแล้วก็เพลิดเพลินดี  สรุปได้ว่า

          ๑. ดำเนินการทุกวิถีทางให้ประชาชนในประเทศที่สามรวมพลังต่อสู้ภัยคอมมิวนิสต์

          ๒. ทำให้ประเทศที่สามเป็นรัฐกันชน  สกัดกั้นและป้องกันไม่ให้กำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อประเทศไทย

          ๓. ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ และองค์กรต่างชาติที่มีภารกิจและเป้าหมายสอดคล้องกัน

           ครับ  .  .  .  ภารกิจที่ว่ามาแล้วนั้น    ไม่เป็นภารกิจหรืองานของหน่วยทหารที่เห็นกันปรกติทั่วไปเขาทำกัน  แต่เป็นภารกิจ  หรืองานพิเศษ    เมื่อเป็นภารกิจหรืองานพิเศษแล้ว  ก็จะขอเล่าถึง  หน้าที่ และงานของ"หน่วยผสม ๓๓๓"  ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุภารกิจทั้งสามข้อดังกล่าว  ดังนี้  ครับ
 

         ขั้นแรกก็ต้องวางแผน  ให้ส่วนราชการต่างๆ  และองค์กรต่างชาติว่า  ใครทำอะไร  แล้วก็อำนวยการ และประสานงานให้เขาทำ    เมื่ออำนวยการให้เขาทำแล้วก็คอยติดตามดูว่าเขาดำเนินการอย่างไรผิดเพี้ยนไปจากแผนหรือไม่  หากไม่ชอบมาพากลก็ต้องปรับให้เป็นไปตามแผน     แผนที่ว่านี้  หมายถึงแผนการรบ  หรือการยุทธ  การสนับสนุนการรบ  หรือการยุทธ  รวมทั้งการสนับสนุน  การบริการการรบ  หรือการยุทธ    แผนการหาความร่วมมือจากประเทศที่ ๓    รวมทั้งแผนการข่าวกรอง  เท่านั้นนะครับ    ไม่รวมถึงแผนทางเศรษฐกิจ  แผนทางธุรกิจ

          เนื่องจากภารกิจที่ว่านี้  เป็นภารกิจ  หรืองานพิเศษ  ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมาทำงานนี้มีความรู้  ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  "หน่วยผสม ๓๓๓" ก็ต้องอบรม  และฝึกเจ้าหน้าที่ซึ่งมาทำงาน  

          เมื่อมีคนมาทำงาน  ก็ต้องจัดการปกครองบังคับบัญชา  ควบคุม  กำกับดูแล  เจ้าหน้าที่ซึ่งมาทำงาน  และประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้การงานดำเนินไปด้วยดี

          ครั้นเมื่อการปฏิบัติได้ผลเป็นรูปธรรมแล้ว  ก็ต้องรวบรวมแล้วรายงานไปให้หน่วยเหนือ  และแจ้งให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อพิจารณานำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

          ครับ  .  .  .  "หน่วยผสม ๓๓๓" หรือ "บก.สามสามสาม" ท่านก็ว่าของท่านไปนะครับ    และผมว่าเราพักกันเสียก่อนดีกว่า  แล้วค่อยมาคุยกันต่อไป    ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปอย่างไรก็ตาม  แต่ก็ยังคงเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า  "บก.สามสามสาม" ต่อไป  .  .  . 

          และก็เมื่อดาวไม่ฉายแสงแล้ว  เราพักกันก่อน  .  .  .  พบกันใหม่ใน  .  .  .  ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง    .  .  .    สวัสดีครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง

 

 




คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว โดย สัมพันธ์

เอสอาร์-๑
ทุ่งไหหิน ๒๕๑๔
ปากเซ มกราคม ๒๕๑๔
เอวีพี - ๑ ภูล่องมาด - บ้านนา
เอวีพี - ๑ ซำทอง
SUNRISE - การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๓)
SUNRISE - พระสุริยนจะเยี่ยมยอดยุคนธร
ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง - ดาวเดือนก็เลื่อนลับ
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ดอกป๊อปปี้และแตรนอน
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ซำทอง-ล่องแจ้ง ๒๕๑๕
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ลาที ปีเก่า ๒๕๑๔
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ลาแล้ว. . .ทุ่งไหหิน
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ยิงปืนใหญ่ให้ได้ก่อน
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ราชาแห่งสนามรบ
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ถึงแล้ว . . . ทุ่งไหหิน
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - Have Gun - Will Travel
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - พระราชอาณาจักรลาว
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - สู่ ล่องแจ้ง เขาสูง
คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - ก่อนจะถึงทุ่งไหหิน
. . . ผ ม ยั ง จำ ค ว า ม รู้ สึ ก นั้ น ไ ด้ จ น ทุ ก วั น นี้ . . .



1

ความคิดเห็นที่ 1 (565)
avatar
Sleepcat
ผมก็ติดตามอ่านอยู่นะครับ  เป็นช่วงประวัติศาสตร์ทีน่าสนใจมาก คงจะไปต่อเนื่องกันกับเรื่องคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาวนะครับ  ขอบพระคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น Sleepcat วันที่ตอบ 2010-06-09 10:28:44 IP : 124.121.181.227


ความคิดเห็นที่ 2 (566)
avatar
สัมพันธ์

ครับ    ขอบคุณครับ     เป็นเรื่องก่อนประมาณ  ๑๐  ปีครับ    พ.ศ.๒๕๐๔ นี่ดูเหมือนผมเพิ่งจะขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน  

          เรื่องนี้ผมเพิ่งได้ข้อมูลจากท่านผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง   เลยนำมาเล่าสู่กันครับ   และหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประกอบเพื่อให้มองภาพได้กว้างขึ้น    ถ้าว่ากันเฉพาะเรื่องจริงๆ  อาจจะงงบ้าง  (เลยเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องมาว่าไว้ด้วย  จะได้งงมากขึ้นครับ)

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-09 14:48:39 IP : 124.121.35.49



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker