* * *
SUNRISE - พระสุริยนจะเยี่ยมยอดยุคนธร

สถานการณ์เดิม . . .
ระหว่างช่วงดวงดาวไม่ฉายแสง . . . ดาวเดือนก็เลื่อนลับ
พระราชอาณาจักรลาว
๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๔ เจ้าสุวรรณภูมา (ฝ่ายเป็นกลาง) เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (ฝ่ายขวา) และ เจ้าสุภานุวงศ์ (ฝ่ายซ้าย) ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลลาวผสม ๓ ฝ่าย
กรกฎาคม ๒๕๐๕ การเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวาก็สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ สรุปความว่า
- เจ้าสุวรรณภูมาผู้นำลาวฝ่ายเป็นกลางจะเป็นนายกรัฐมนตรี และแบ่งสรรตำแหน่งรัฐมนตรีแก่ทั้งสามฝ่าย
- กองกำลังต่างชาติทั้งหมดต้องถอนออกไปจากพระราชอาณาจักรลาว ภายในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๕
- พระราชอาณาจักรลาวจะเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ฯลฯ
เมื่อสิ้นสุดการถอนกองกำลังต่างชาติ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๕ แต่ละชาติดำเนินการถอนกำลังของตนจากพระราชอาณาจักรลาว ดังนี้
- สหรัฐอเมริกา ถอนทหาร และครูฝึกจากหน่ายรบพิเศษ รวมทั้งสิ้น ๖๖๐ นาย
- สหภาพโซเวียต ถอนที่ปรึกษาทางทหาร (ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน)
- ส่วนเวียดนามเหนือนั้นถอนทหารผ่านด่านตรวจ จำนวน ๔๐ นาย คงทหารไว้อีก ๕,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ นาย (ข้อมูลจากฝ่ายอเมริกัน)
พฤศจิกายน ๒๕๐๕ สหรัฐอเมริกาส่งคณะที่ปรึกษา และกองทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปยังสาธารณรัฐเวียดนาม
๒๓ เมษายน ๒๕๐๖ รัฐบาลผสม ๓ ฝ่าย ถึงกาลยุติลงอีก
ประมาณ เดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๐๖ พันเอก เดือน ก็โค่นนายพลกองแลได้สำเร็จ ฝ่ายเป็นกลางของพันเอก เดือนเข้าเป็นพันธมิตรกับขบวนการประเทศลาว ดังนั้น นายพลกองแลจึงต้องเข้าเป็นพันธมิตรกับฝ่ายขวาและวังเปา
นายพลกองแล ต้องพากองกำลังฝ่ายขวาของตน ไปทางตะวันตกของทุ่งไหหิน ไปถึง . . . เมืองสุย ฝ่ายสหรัฐอเมริการีบเข้าช่วยเหลือนายพลกองแลทันที ด้วยการส่งนายแพทย์มือดี มีใจกล้าหาญเข้าไปดูแลสุขภาพ
เมื่อสามารถดึงฝ่ายเป็นกลางให้เอนเอียงมาทางฝ่ายขวาได้แล้ว สหรัฐอเมริกาก็พยายามช่วยเหลือฝ่ายเป็นกลางที่เมืองสุย ให้รักษาเมืองสุยไว้ให้ได้
เมืองสุย . . . ต้องรักษาไว้ให้ได้
เพราะเมืองสุยตั้งอยู่ระหว่างทุ่งไหหิน เมืองเชียงขวาง (Xiang Khoang) (ฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมา) กับเมืองภูคูณ ซึ่งอยู่บนถนนหมายเลข ๑๓ ระหว่างเมืองหลวงพระบางกับเมืองวังเวียง - นครเวียงจันทน์ หากฝ่ายซ้ายสามารถยึดเมืองภูคูณได้ เส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองหลวงพระบางกับนครเวียงจันทน์ ก็จะถูกตัดขาด ไม่สามารถติดต่อกันได้
ครับ . . . นายพลกองแลเดินหนหนีพันเอก เดือน จากทุ่งไหหินไปตั้งหลักที่เมืองสุย ประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๐๖
นายพลวังเปา
ปลาย พ.ศ.๒๕๐๖ วังเปาได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวา แห่งกองทัพพระราชอาณาจักรลาว - กองทัพชาติลาว (ทชล.)
๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๖ พระเจ้าศรีสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรลาวก็เสด็จเยือนเมืองล่องแจ้ง ทำให้สถานะทางการเมืองของนายพลวังเปามั่นคงยิ่งขึ้น
ต้นปี พ.ศ.๒๕๐๗ สถานการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาในพระราชอาณาจักรลาวดูเลวร้ายลงไปอีก ทหารฝ่ายเป็นกลางก็เข้าร่วมกับขบวนการประเทศลาว (ฝ่ายซ้าย) มากขึ้น เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลผสมพยายามเปิดการเจรจา ๓ ฝ่าย แต่ไม่สำเร็จ
เมษายน ๒๕๐๗ เจ้าสุวรรณภูมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และก็เกิดการยึดอำนาจ ทำให้ . . . รัฐบาลผสม ๓ ฝ่ายสลายตัว กองทหารฝ่ายเป็นกลางของนายพลกองแลก็เข้าเป็นพันธมิตรกับนายพลวังเปาซึ่งเป็ยฝ่ายขวาอย่างชัดเจน แต่กองกำลังขบวนการประเทศลาวและกองทหารเวียดมินห์ก็รุกไล่กองกำลังฝ่ายขวาไปจนสุดชายทุ่งไหหิน นายพลวังเปาต้องขอให้กองทัพบกพระราชอาณาจักรลาวส่งเครื่องบินรบแบบ T-28 จากกรุงเวียงจันทน์ จำนวน ๓ เครื่อง มาสนับสนุนการรบทางพื้นดิน และต่อมาก็ได้จัดให้ประจำที่สนามบินล่องแจ้ง . . . และต่อมาไม่นานสหรัฐอเมริกาก็ส่งเดรื่องบินไอพ่นทั้งเครื่องบินลาดตระเวน และเครื่องบินรบเข้าปฏิบัติการในพระราชอาณาจักรลาว ทำให้ฝ่ายเวียดนามเหนือต้องนำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเข้ามาใช้ พร้อมกับการปรับปรุงข่ายถนนในภาคใต้ของพระราชอาณาจักรลาวเพื่อส่งกำลังเข้าไปในสาธารณรัฐเวียดนาม
ทั้งการที่เวียดนามเหนือส่งกำลังเข้าไปในเวียดนามใต้ก็ดี การที่สหรัฐอเมริกาก็ส่งเดรื่องบินลาดตระเวน และเครื่องบินรบเข้าปฏิบัติการในพระราชอาณาจักรลาวก็ดี ล้วนแล้วแต่ได้รับการยินยอมจากเจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรลาวด้วยกันทั้งนั้น
ครับ . . . ชักจะยุ่ง และเล่นกันแรงขึ้น แรงขึ้น แล้วนะครับ . . .เชิญติดตามสถานการณ์ต่อไป . . .
สถานการณ์ต่อไป . . .
SUNRISE - เอสอาร์ สุริยาส่องแสง - พระสุริยนจะเยี่ยมยอดยุคนธร
๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๗ หน่วยเหนือสั่งจัดกำลังทหารปืนใหญ่ ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลังสนับสนุนกำลังฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมา
๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๗ เจ้าหน้าที่จากส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนรัฐบาลฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าหน้าที่จากส่วนสนับสนุนได้หารือตกลงซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติ และนำส่งเจ้าหน้าที่ บก.สามสามสาม จำนวน ๓ ท่าน ไปส่งไว้ ณ สนามบินเมืองสุย
๑ - ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๗ เป็นการลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ และเลือกที่ตั้งต่างๆ ท่านได้เลือกเอาเนินทางขวาของถนนหมายเลข ๗ (หันไปทางตะวันออก หรือทางทุ่งไหหิน) เป็นที่ตั้งยิง ส่วนที่บังคับการกองร้อย และส่วนสนับสนุนต่างๆ ท่านได้เลือกเอาที่ "บ้านค่าย"* ซึ่งอยู่ห่างเมืองสุยออกมาทางตะวันออกประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ตั้งยิงประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร เหมือนกัน มีที่ว่างเป็นสนามเฮลิคอปเตอร์ และห่างจากสนามบินเมืองสุยประมาณ ๕ - ๖ กิโลเมตร
"บ้านค่าย"* นี้ มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมจะหาโอกาสนำรายละเอียดมาคุยต่อไปครับ
แผนที่เมืองสุย มาตราส่วน ๑/๒๕๐,๐๐๐ (๑ ช่องตาราง เท่ากับ ๑๐ กิโลเมตร)
๔ กรกฎาคม ๒๕๐๗ ราชาแห่งสนามรบถึงเมืองสุย . . . ดูบรรยากาศที่เมืองสุย ซึ่งท่านได้บันทึกไว้นะครับ . . .
เครื่องบินมาลงตอนประมาณบ่ายกี่โมงจำไม่ได้แล้ว มีทั้ง ซี-๔๖ ซี-๑๒๓ ทะยอยมาลง มีทั้งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ปะปนกันลงมาขวักไขว่สับสนไปหมด ฝนก็ตก
กำลังส่วนแรกที่มาลงนี้เปนส่วนล่วงหน้า หมวดระวังป้องกัน สูทกรรม ผู้บังคับหมู่ปืน รวมแล้วก็ประมาณไม่เกิน ๕๐ คน
ที่ตลกที่สุดก็คือแทบจะไม่รู้ว่าเป็นทหารชาติไหนเพราะแต่งตัวมาแปลกมาก สวมหมอกแก๊ปทรงอ่อนสีเขียว นุ่งกางเกงสีเขียว แต่ดันสวมเสื้อสีกากี รองเท้าไอ้โอ๊ป ทหารลาวก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง เครื่องหมายก็ไม่มี กว่าจะหาตัวผู้บังคับกองร้อยพบก็เล่นเอาเหนื่อย ทุกคนก็สนุกครึกครื้นกันดี เพราะยังใหม่อยู่ แล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาเอาตัวมาลงไว้ที่เมืองไหนก็ไม่รู้ ความไม่รู้นี่ก็ดีไปอย่าง คือไม่กลัว ผมไปแนะนำตัวว่าเปนใคร มีหน้าที่อะไรที่นี่ผู้บังคับกองร้อย ร้อยเอก . . . ก็ทำท่างง อ้าว งงก็งงกัน ต่อมาเลยตั้งชื่อให้เสียใหม่เลยว่า หัวหน้าศักดิ์
ฯลฯ
เมื่อรวบรวมข้าวของและผู้คนได้เรียบร้อยแล้ว ผมก็นำขบวนไปบ้านค่ายซึ่งจะเป็นที่พักของเราต่อไป พอไปถึง ผมก็จัดสรรแบ่งเขตพื้นที่ให้แต่ละพวก แต่ละหมู่ แต่ละเหล่า (เขียนเอาสนุกนะครับ) ฝนตกก็ไม่หาย เปียกปอนไปตลอดทั้งบ่าย พวกกางเต๊นท์เล็กสำหรับนอน ๒ คน ก็ทำไป เย็นนี้ฝ่ายกลางเอาข้าวเหนียวหุงแล้วมาช่วยกันตายไปหนึ่งมื้อ ผมก็อพยพจากฝ่ายกลางที่หนองตั้ง หลังจากขอบคุณที่เขาเอื้อเฟื้อให้อยู่มาหลายคืน ด้วยความทรมาณทางใจมาทรมาณทางกายกับพวกเราที่บ้านค่ายดีกว่า มันไม่พร้อม ไม่สมบูรณ์ก็ช่าง กลางคืนก็ใช้เทียนไขงึมงัมกันไป ทหารก็นอนเต๊นท์เล็กนอน ๒ คน ผมก็ได้เต๊นท์ใหญ่ มีเตียงผ้าใบนอนก็สบายไป คืนวันที่ ๔ ก.ค.๐๗ นี่ผ่านไปด้วยความฉุกละหุกดีพิลึก
ฯลฯ
มีอยู่บ่อยๆ ที่สนามบินเมืองสุยดูคึกคักไม่แพ้สนามบินอื่นๆ
ครับ . . . ธรรมชาติของทหารประการหนึ่งคือ การดัดแปลงภูมิประเทศอยู่ตลอดเวลา เมื่อผ่านคืนแห่งความฉุกละหุกไปได้แล้ว วันรุ่งขึ้นก็เริ่มดัดแปลงภูมิประเทศกัน . . .
ในระหว่างที่ตัวปืนใหญ่ยังไม่มา ก็ส่งหมู่ปืนไปเตรียมทำหลุมปืน บังเกอร์กระสุน ศูนย์อำนวยการยิง ถากถางสิ่งจำเปนที่กีดขวาง หมวดป้องกันก็ไปวางแนวป้องกัน ทิศทางยิง ที่ตั้งอาวุธกล อาวุธหนัก วางแผนทุกอย่างที่จะป้องกันที่ตั้งยิง
กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์
หน่วยทหารปืนใหญ่ที่คุยกันนี้ ได้ชื่อว่า กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ หรือกองร้อยเอสอาร์ เป็นกองร้อยทหารปืนใหญ่เพิ่มเติมกำลัง ครับ คือ การจัดก็เป็นไปตามหลักการจัด แต่เพิ่มเติมส่วนที่จำเป็นตามสถานการณ์
ในชั้นต้น หน่วยนี้ได้รับปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร จำนวน ๖ กระบอก ต่อมา ได้รับปืนใหญ่ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร อีก ๒ กระบอก และล่าสุด มีปืนใหญ่ขนาด ๑๐๕ และ ๑๕๕ มิลลิเมตร อย่างละ ๔ กระบอก และมีหน่วยต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามามากกว่าหน่วยปรกติ เช่น
- เครื่องบินตรวจการณ์ บต.๑๙ จำนวน ๒ เครื่อง
- ชุดทำน้ำประปา ๑ ชุด
- หมู่วางระเบิดดักรถถัง ๑ หมู่ (พื้นที่เป็นเนินลูกเล็กลูกน้อย Rolling terrain เหมาะแก่การใช้รถถัง)
- หมู่เสนารักษ์
- หมวดระวังป้องกัน ๒ หมวด

ที่พักเมื่อไปอยู่ใหม่ๆ เต๊นท์ละ ๒ คน ตัวทากดูดเลือดเพลินดี
ครับ . . . ระหว่างที่กองร้อยเอสอาร์รอรับปืนใหญ่ก็ดัดแปลงภูมิประเทศไปด้วย เรามาดูกำลังของแต่ละฝ่ายกันก่อนนะครับ
ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์
หน่วยดำเนินกลยุทธ
- กำลังเผชิญหน้า ประมาณ ๗ - ๙ กองพัน กระจายกันอยู่ตั้งแต่เมืองเคิง ทางตอนเหนือ ลงมาถึงบ้านลอง ทางตอนใต้
- รถถังพีที ๗๖ ประมาณ ๑ กองพัน (๒๓ คัน) ฝ่ายเป็นกลางสังเกตเห็นที่บริเวณภูกูดเป็นประจำประมาณ ๘ คัน
การยิงสนับสนุน
- ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง (ปบค.) ขนาด ๑๐๕ มม. ประมาณ ๑ กองร้อย (๔ - ๘ กระบอก) และมีทดแทนเมื่อสูญเสีย
- ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบ (ปบร.) ขนาด ๘๕ มม. ประมาณ ๑ กองร้อย (๔ - ๘ กระบอก) และมีทดแทนเมื่อสูญเสีย เหมือนกัน
- เครื่องยิงลูกระเบิด (ค.) ขนาด ๑๒๐ มม. ประมาณ ๑ กองร้อย
- ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) ขนาด ๓๗ มม. ประมาณ ๔ กองร้อยๆ ละ ๔ กระบอก
การบังคับบัญชา
- กองบัญชาการใหญ่ตั้งอยู่ที่ทุ่งไหหิน มีทหารจีนทำหน้าที่เปนที่ปรึกษาด้วย
การส่งกำลังบำรุง
- วางตำบลส่งกำลังเป็นระยะๆ ไปทางตะวันออกตามถนนหมายเลข ๗
การประกอบกำลัง
- บางหน่วยเป็นหน่วยทหารเวียดมินห์
- หน่วยทหารขบวนการประเทศลาวจะมีทหารเวียดมินห์ควบคุมกองพันละ ไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน
การวางกำลัง
- ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์วางกำลังเป็นแห่งๆ แต่ละแห่งมีกำลัง ตั้งแต่ ๑ หมวด ถึง ๑ กองร้อย ตั้งแต่ภูสุด ถึง บ้านคอง ดังนี้
- ร.พัน ๑๕ กระจายกำลังอยู่ตั้งแต่เมืองเคิง ไปจนถึงภูสุด
- ร.พัน ๑๓ อยู่บริเวณภูกูด
- ร.พัน ๒ อยู่บริเวณด้านทิศเหนือภูกูด ประมาณ ๔ หมวด ที่เหลือพิสูจน์ทราบไม่ได้
- ร.พัน ๑ อยู่บริเวณบ้านลาดบวบ
- ร.พัน ๔ กระจายกำลังจากทิศตะวันออกบ้านโป่งน้อย ลงไปทางใต้จนถึงภูเก็ง
- ๑ กองพัน ไม่ทราบนามหน่วย วางกำลังอยู่ระหว่างภูเก็งลงไปทางใต้จนถึงบ้านคอง
- ๒ กองพันทหารเวียดมินห์ วางกำลังระหว่างภูบ้ากับภูเก็ง
- ปืนใหญ่ ตั้งยิงแห่งละ ๒ - ๔ กระบอก และใช้วิธีเปลี่ยนที่ตั้งยิงบ่อยๆ ตามตำรายุทธวิธีทหารปืนใหญ่ ทำให้ฝ่ายเป็นกลางสับสนทั้งในเรื่องที่ตั้งยิง และจำนวนของปืนใหญ่ของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์อยู่เสมอ

รถถัง PT-76


ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบ ขนาด ๘๕ มิลลิเมตร (ปบร.๘๕ มม.)


เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร (ค.๑๐๕ มม.)
(ซ้าย) ผลิตในสหภาพโซเวียต (ขวา) ผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขนาด ๓๗ มิลลิเมตร (ปตอ.๓๗ มม.)
อาวุธและเครื่องมือรบของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์
ฝ่ายเป็นกลาง
หน่วยดำเนินกลยุทธ
- ร.พัน ๑ ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านอ่าง
- ร.พัน ๘ ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านบัว
- ร.พัน ๑๔ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภูกูด
- พัน พร.๒ ตั้งอยู่ที่บ้านโอม
- พัน พร.๓ ตั้งอยู่ที่บ้านเซีย
- พัน พร.๕ ตั้งอยู่ที่บ้านดุก
- พัน บี ซี เอส ๒ ตั้งอยู่ที่บ้านทราย
- กองร้อยลาดตระเวนจู่โจม (Company Reconnaissance Commando - CRC-2) อยู่ที่หนองตั้ง
- ศูนย์กลางการฝึกพลร่ม (Base Aero Ports Parachutiste -BAP) ตั้งอยู่ที่บ้านค่าย
การยิงสนับสนุน
- ป.พัน ๑ ปบค.๑๐๕ มม. จำนวน ๔ กระบอก ตั้งอยู่ที่บ้านเซีย
- ป.พัน ๒ ปบค.๑๐๕ มม. จำนวน ๔ กระบอก ตั้งอยู่ข้างหน้าทางขวาของกองร้อยเอสอาร์ ประมาณ ๑ กิโลเมตร
- กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ ปบค.๑๐๕ มม. และ ปกค.๑๕๕ มม. จำนวนอย่างละ ๔ กระบอก
- การโจมตีทางอากาศจำนวนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เครื่องบินตรวจการณ์ แบบ ๑๙ (บต.๑๙)


ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง ขนาด ๑๐๕ มิลลิเมตร (ปบค.๑๐๕ มม.)


ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด ๑๕๕ มิลลิเมตร (ปกค.๑๕๕ มม.)

T - 28 ที่สนามบินเมืองล่องแจ้ง LS-20A v

อาวุธและเครื่องมือรบของฝ่ายเป็นกลาง
กำลังรบเปรียบเทียบ
หากจะดูกำลังรบเปรียบเทียบในเรื่องอำนาจกำลังรบที่มีมีตัวตนแล้ว เห็นว่าหน่วยดำเนินกลยุทธก็พอทัดเทียมกัน การยิงสนับสนุน ฝ่ายเป็นกลางดูจะมีปืนใหญ่มากกว่า และยังมีการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีคอยสนับสนุนอีก ซึ่งฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ไม่มี แต่ก็เตรียม ปตอ.ไว้ตอบโต้ฝ่ายเป็นกลาง
ส่วนเรื่องอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตนนั้น ดูการปฏิบัติกันดีกว่าครับ
การปฏิบัติการ
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๐๗ ปรากฏผลการยิงของ ปบค.๑๐๕ มม. ของกองร้อยเอสอาร์ สามารถยิงทำลาย ปบค.๑๐๕ มม. ของขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ได้ ๒ กระบอก
การเข้าตีภูกูด
ฝ่ายเป็นกลางกำหนดแผนการรบว่าจะเข้าตีฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ที่ภูกูดทางด้านตะวันตก ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๗ นี้ (คือภายในเดือนที่ กองร้อยเอสอาร์ มาถึงนี่แหละครับ)
การเข้าตี กระทำในระหว่าง ๑๙ - ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๐๗ ซึ่งกองร้อยเอสอาร์ก็ได้ยิงสนับสนุนการเข้าตีครั้งนี้อย่างเต็มที่ แต่ผลการเข้าตีไม่เป็นไปตามแผน คือ เข้าตีไม่สำเร็จ ไปไม่ถึงที่หมาย
อย่างไรก็ตาม ใน ๑๙ กรกฎาคม ก็ปรากฏผลการยิงของ ปกค.๑๕๕ มม. กองร้อยเอสอาร์ ว่าสามารถยิงทำลาย ปบร.๘๕ มม. ของขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ได้ ๒ กระบอก
การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๒)
ฝ่ายเป็นกลางกำหนดเข้าตีภูกูดอีกใน ๕ - ๙ สิงหาคม
ครั้งนี้กำลังรบ (ฝ่ายเป็นกลาง) แสดงเจตนาชัดเจน ว่า "เข้าไปก็ตายเปล่าๆ สู้อยู่เฉยๆ ไม่ได้" สั่งเข้าตีก็หลบเข้าป่าเสีย กองร้อยเอสอาร์ก็ได้แต่ยิง . . . ยิง . . . และยิง เสียจนลำเลียงกระสุนกันแทบไม่ทัน - คงเป็นการยิงที่ไม่มีผู้ตรวจการณ์ และคิดว่ายิงไปคงได้ผลดี หรือ ? ? ?
ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม แม้ว่ากำลังรบ (ฝ่ายเป็นกลาง) จะปฏิบัติการหลบเข้าป่าอย่างกล้าหาญ กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ก็ยังสามารถทำลายอาวุธของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ ในการเข้าตีภูกูดครั้งนี้ ได้ดังนี้ครับ
๕ สิงหาคม การยิงของ ปกค.๑๕๕ มม. สามารถทำลาย รถถัง พีที-๗๖ ได้ ๑ คัน
๗ สิงหาคม การยิงของ ปบค.๑๐๕ มม. สามารถทำลาย ปรส.๕๗ ได้ ๒ กระบอก
และ ปกค.๑๕๕ มม. ก็สามารถทำลาย ปบค.๑๐๕ มม. ได้อีก ๒ กระบอก
เมื่อการเป็นดังนี้ (คือ "เข้าไปก็ตายเปล่าๆ สู้อยู่เฉยๆ ไม่ได้") คณะผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องหารือกัน และฝ่ายปฏิบัติก็เลยขอให้จัดทีมครูฝึกมาฝึกให้ไปรบ โดยจัดทีมครูฝึกเป็นส่วนเพิ่มเติมของกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์
การจัดกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ล่าสุด
กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ ก็ได้ปรับเพิ่มกำลังตามความจำเป็นของสถานการณ์จนปรากฏการจัด ดังนี้
๑. ส่วนบังคับการ
๒. ส่วนปฏิบัติการ
๒.๑ ส่วนยิง
๒.๑.๑ ศูนย์อำนวยการยิง
๒.๑.๒ ส่วนยิง ปบค.๑๐๕ จำนวน ๔ กระบอก อยู่ฝั่งขวาของถนนหมายเลข ๗
๒.๑.๓ ส่วนยิง ปกค.๑๕๕ จำนวน ๔ กระบอก อยู่ฝั่งซ้ายของถนนหมายเลข ๗
๒.๒ หมู่ตรวจการณ์หน้า ๓ หมู่ ตั้งที่ตรวจการณ์ที่ภูเซีย แล้วผลัดกันไปปฏิบัติงานร่วมกับทหารฝ่ายเป็นกลาง ครั้งละ ๒ หมู่
๒.๓ หมู่บินตรวจการณ์ มีเครื่องบินตรวจการณ์ บต.๑๙ จำนวน ๒ เครื่อง ระยะแรกจอดเครื่องไว้ที่สนามบินเมืองสุย กำลังพลมานอนที่บ้านค่าย ต่อมาเมื่อกำลังพลที่บ้านค่ายมากขึ้น จึงกางเต๊นท์ใหญ่นอนกันที่สนามบินด้วย
๒.๔ หมวดระวังป้องกัน ๒ หมวด วางกำลังด้านหน้า และด้านข้างของที่ตั้งยิง
๒.๕ หมู่วางระเบิดดักรถถัง ๑ หมู่
๓. ส่วนบริการ
๓.๑ หมู่ซ่อมบำรุง
๓.๒ หมู่สูทกรรม
๓.๓ หมู่กระสุน
๓.๔ หมู่เสนารักษ์
๓.๕ ชุดทำน้ำประปา ๑ ชุด
๔. ส่วนเพิ่มเติม ที่จัดตามความจำเป็น ได้แก่
๔.๑ ทีมครูฝึก จัดเข้ามาเมื่อเดือนสิงหาคม - กันยายน ๒๕๐๗ ตามที่ฝ่ายเป็นกลางร้องขอให้ช่วยฝึกทหารให้ เป็นการเตรียมแผนเข้าตีภูกูดในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ (อีกครั้ง)
๔.๒ พารู (PARU - Police Aerial Reinforcement Unit) ทีม เอ เพื่อติดต่อกับทางวิทยุกับ บก.สามสามสาม เพราะเครื่องมือสื่อสารของกองร้อยเอสอาร์นั้น ใช้ติดต่อภายในหน่วยเท่านั้น
๔.๓ ชุดซักถามเชลยศึก
๔.๔ ขุดติดต่อทหารท้องถิ่น (ของนายพลวังเปา) เพื่อให้ทราบว่าหน่วยของเขากระจัดกระจายอยู่ที่ใดบ้าง
แม้เมื่อ จบภารกิจเข้าตีภูกูด (ที่ไม่สำเร็จ) มา ๒ ครั้ง แล้วก็ตาม กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ก็ยังปฏิบัติภารกิจยิงตามปรกติ และสามารถทำลายอาวุธของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ได้อีก คือ
๑๓ สิงหาคม การยิงของ ปบค.๑๐๕ มม. สามารถทำลาย ปตอ.๓๗ มม. ได้ ๒ กระบอก
ทางด้านส่วนยิง ปกค.๑๕๕ มม. ก็สามารถทำลายเป้าหมายได้ ดังนี้ครับ
๗ กันยายน ทำลาย รถบรรทุก ๔ คัน
๑๔ กันยายน ทำลาย ปบร.๘๕ มม. ๒ กระบอก
๑ ตุลาคม ทำลาย ปบค.๑๐๕ มม. ๒ กระบอก
๑๖ ตุลาคม ทำลาย ปบร.๘๕ มม. ๒ กระบอก
ครับ . . . ระหว่างที่กำลังรบ (ฝ่ายเป็นกลาง) กำลังฝีกการเข้าตีอย่างขมักเขม้นอยู่นี้เราให้เวลาเขาฝึกกันก่อน . . . แล้วค่อยมาดูสถานการณ์ต่อไป . . . SUNRISE - การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๓)
.jpg)

ปกค. ๑๕๕ มม. และ ปบค.๑๐๕ มม. ในที่ตั้งยิง กำลังปฏิบัติภารกิจยิง
ภาพจาก สงครามเกาหลี
สถานการณ์ต่อไป . . . SUNRISE - การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๓)
สถานการณ์ต่อไป . . . SUNRISE - การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๓)
สถานการณ์ต่อไป . . . SUNRISE - การเข้าตีภูกูด (ครั้งที่ ๓)