dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๒) - เวียดนามยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส

*  *  *

สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๒)  -  เวียดนามยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส  

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก  .  .  .  ญวน - ก่อนเป็นอาณานิคม

          ๒๕  สิงหาคม  ๒๔๒๖  (ค.ศ.๑๘๘๓)    เวียดนามทั้งหมดกลายเป็นรัฐอารักขาของ ฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาด      ฝรั่งเศสยอมให้เวียดนามยังมีพระจักรพรรดิเช่นเดิม  แต่ต้องผ่านการร่วมคัดเลือกโดยข้าหลวงฝรั่งเศส   และมีบทบาทเพียงเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น   อำนาจในการบริหารการคลัง การทหารและการทูตสูงสุดเป็นของฝรั่งเศส    นับได้ว่าเวียดนามสิ้นสุดฐานะเอกราชนับแต่นั้น

          และจากการที่ฝรั่งเศสได้เวียดนามทั้งหมดเป็นรัฐอารักขานี้  ทำให้อาณาเขตของฝรั่งเศสประชิดกับพระราชอาณาเขตสยาม  ฝรั่งเศสพยายามที่จะยึดครองลาวและเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทยซึ่งทำให้เกิดกรณีพิพาทกัน  ตั้งแต่เรื่องการปราบฮ่อ  ลุกลามเป็นวิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒  และพยายามที่จะยึดเอาประเทศไทยเป็นอาณานิคมด้วย    (รายละเอียดในเรื่อง  "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ - วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ - ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยบิตุรงค์")

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

 

.  .  .  เป็นเจ้าเข้าครอง        คงจะต้องบังคับขับไส

เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป        ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย  .  .  .

พระราชนิพนธ์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          พ.ศ.๒๔๓๐    ฝรั่งเศสกำหนดธงชาติให้อินโดจีนของฝรั่งเศส  เป็นธงพื้นสีเหลือง  มีธงชาติฝรั่งเศสประกอบที่มุมบนด้านคันธง

 

   

 

ธงชาติอินโดจีนของฝรั่งเศส    ๒๔๓๐ -๒๔๙๖

แบ่งแยกแล้วปกครอง

                ฝรั่งเศสแบ่งแยกการเมืองการปกครองตลอดจนสิทธิเสรีภาพของคนเวียดนามทั้ง  ๓ แคว้นให้แตกต่างกันนั้น  ก็เพราะสร้างความรู้สึกแตกแยกและความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำสูงในหมู่ชาวเวียดนาม    และเป็นการจูงใจว่าการเป็นคนเวียดนามในบังคับฝรั่งเศสได้สิทธิสูงกว่าคนเวียดนามอื่นๆ

 

 

          ฝรั่งเศสได้จัดระเบียบการปกครองประเทศอารักขาทั้งสามประเทศขึ้นมาเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามนั้น    ฝรั่งเศสได้แบ่งแยกการปกครองดินแดนส่วนนี้ตามทฤษฎี   "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ออกเป็น  ๓ ภาค โดยตั้งชื่อและให้มีสถานภาพแตกต่างกันออก   ภาคทั้งสามนี้ได้แก่  อาณานิคมโคชินจีน  ในภาคใต้    เขตอารักขาอันนัม  ในตอนกลาง    และเขตอารักขาตังเกี๋ยในภาคเหนือ  
 

                 ๑. อาณานิคมโคชินจีน  (COCHINCHINE)   ได้แก่  เวียดนามภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงไซง่อน ดินแดนส่วนนี้เป็นอาณานิคม  อยู่ภายใต้การอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง ปราศจากเงื่อนไข   ตัดขาดอำนาจและความผูกพันใดๆกับองค์พระจักรพรรดิ

                ๒.  เขตอารักขาอันนัม  (ANAM / ANNAM)   ได้แก่  เวียดนามภาคกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้    แคว้นอันนัมเป็นดินแดนอารักขาฝรั่งเศส  ให้องค์จักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง  ข้าราชสำนักตลอดจนขุนนางศักดินาตามลัทธิประเพณีดั้งเดิมฝรั่งเศสยังคงยินยอมให้คงไว้อยู่   แต่เป็นเพียงสัญญลักษณ์ที่ไร้ความหมายเท่านั้น    ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดแท้จริง

                 ๓.  เขตอารักขาตังเกี๋ย  (TONKIN)   ได้แก่  เวียดนามภาคเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮานอย  แคว้นตังเกี๋ยเป็นดินแดนอารักขาฝรั่งเศส    แต่ฝรั่งเศสแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส ไปทำหน้าที่บริหารการปกครองโดยตรงในฐานะเป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณขององค์พระจักรพรรดิที่กรุงเว้    ข้าราชการทั้งหลายซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแคว้นตังเกี๋ยต้องรับนโยบายและ คำสั่งจากผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส  โดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์จักรพรรดิ  และผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสนี้รับนโยบายและรับผิดชอบต่อกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศส

                ชาวเวียดนามทั้ง   ๓ แคว้นนี้ ต่างมีสิทธิในการถือสัญชาติตลอดจนสิทธิอื่นๆในฐานะพลเมืองแตกต่างกัน สุดแท้ใครจะเกิดหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นใดของอาณานิคมทั้งสาม

 

                คนเวียดนามในโคชินไชน่า    เป็นคนในบังคับฝรั่งเศสโดยตรง มีสิทธิเสรีภาพเท่ากับเป็นพลเมืองฝรั่งเศส คือมากกว่าคนเวียดนามในแคว้นอันนัมและตังเกี๋ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับขอบเขตของกฎหมาย เช่นคนเวียดนามในโคชินไชน่า  หากกระทำผิดก็จะต้องขึ้นศาลฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยประมวลกฎหมายฉบับเดียวกับที่ใช้บังคับแก่ชาวฝรั่งเศสหรือคนในบังคับโดยทั่วไป    ในขณะที่ชาวเวียดนามที่อยู่ในอีก  ๒ แคว้นนั้นยังคงอยู่ภายใต้ระบบ "อันนัม"  ซึ่งยังคงใช้กฎหมายเดิม
    
            ฝรั่งเศสแสวงหาผลประโยชน์จากการปกครองเวียดนามในทุกๆ ด้าน    ชาวฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเวียดนาม   ที่ดินในเวียดนามจำนวนมากตกเป็นของชาวฝรั่งเศส    ทางด้านเศรษฐกิจ  ฝรั่งเศสใช้เวียดนามเป็นแหล่งปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ  เช่นกาแฟ และยางพารา  ส่งกลับไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานในฝรั่งเศส     ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศสให้แพร่หลายในเวียดนาม    ชาวเวียดนามต้องศึกษาตามระบบของฝรั่งเศส

          เมื่อชาวเวียดนามส่วนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ตามระบบการศึกษาของฝรั่งเศส   จึงเริ่มมีความคิดต้องการอิสรภาพ  และปกครองประเทศของตนเอง   เกิดความคิดชาตินิยม   ทำให้เกิดกลุ่มชาตินิยม  และจัดตั้งขบวนการใต้ดินขึ้น    เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส

 

 

ขบวนการใต้ดินต่อต้านฝรั่งเศส

          ตลอดเวลาที่ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม   มีชาวเวียดนามที่คบคิดกันขับไล่ฝรั่งเศสมากมายหลายกลุ่มหลายคณะ  หากเป็นสมัยกรุงธนบุรีเราก็เรียกเป็นก๊ก  แต่ในสมัยที่กล่าวนี้ และต่อมาในปัจจุบันมักจะใช้คำว่าขบวนการ   ก็ขอใช้เพื่อให้เข้าใจตรงกัน    เป็นอันว่าทุกขบวนการล้วนแต่มีความรักชาติ   และกำหนดเป้าหมายตรงกัน  คือความเป็นเอกราชซึ่งจะต้องกำจัดฝรั่งเศสออกไปจากแผ่นดินเวียดนาม    และขบวนการเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการอย่างเปิดเผยได้  ต้องทำกันอย่างปิดลับไม่ให้ฝ่ายฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมรู้ระแคะระคายได้เลย     จึงเรียกขบวนการเหล่านี้ว่าขบวนการใต้ดิน   ซึ่งได้แก่

              ๑. ขบวนการเกิ่นเวือง    (Can Vuong Movement)

          ขบวนการนี้เกิดในราชสำนัก  ก่อตัวขึ้นภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิตือดึ๊กในปี  พ.ศ.๒๔๒๖   (ค.ศ.๑๘๘๓)   

          พ.ศ.๒๔๒๗  (ค.ศ.๑๘๘๔)    พระจักรพรรดิห่ามหงี  (Ham Nghi)  ทรงนำการต่อต้านฝรั่งเศส  โดยผู้สำเร็จราชการโตน ทัท เทวี๊ยด  (Ton That Thuyet)  เป็นผู้นำ  ประกอบด้วยขุนนางราชสำนัก  ขุนทหารใหญ่  นักศึกษาปัญญาชนรุ่นเก่าผู้มีบทบาทสำคัญได้มารวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส    และโจมตีชาวเวียดนามที่นับถือคริสตศาสนา  .  .  .  การต่อต้านดำเนินไปได้ไม่นานนักจึงพาองค์พระจักรพรรดิหนีเข้าป่าในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๘    ตน ทัต เทวี้ยตต้องหนีไปจีน

          พ.ศ.๒๔๓๑  (ค.ศ.๑๘๘๘)   พระจักรพรรดิห่ามหงี  ถูกจับ   และถูกส่งไปแอลจีเรีย

          ขบวนการ “เกิ่น เวือง” จึง  .  .  .  เรียบโร้ย    

 

          ๒. ขบวนการด๋องคินห์เงี่ย หรือขบวนการโรงเรียนราษฎร์

          ฝรั่งเศสตั้งโรงเรียนฟรังโกอานัมไมท์เปิดสอนวิชาการแผนใหม่ตามแบบของฝรั่งเศส  ในชั้นต้นชาวเวียดนามส่วนใหญ่ไม่นิยมให้บุตรหลานของตนเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้    แต่ต่อมาก็นิยมมากขึ้นจนโรงเรียนไม่พอรองรับได้  ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมขยายโรงเรียน  และไม่ยอมให้เอกชนเวียดนามตั้งโรงเรียนเองด้วย    ชาวเวียดนามจึงต้องตั้งโรงเรียนกันอย่างลับๆ   เมื่อฝรั่งเศสรู้ก็ปราบกันไป  ยิ่งปราบ ยิ่งปิด ก็ยิ่งเปิด  ก็ว่ากันไป

 

          ๓. ขบวนการด๋องดู  

          ชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามญี่ปุ่น - รัสเซีย  พ.ศ.๒๔๔๘  ค.ศ.๑๙๐๕     เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนหนุ่มปัญญาชนของประเทศในเอเชียที่ตกเป็นอาณานิคมให้ขับไล่เจ้าอาณานิคมจากตะวันตกออกไป    

          ในเวียดนาม   ก็ตั้ง  "สมาคมเวียดนาม กวาง - ฟุคฮอย"  หรือ  "สมาคมฟื้นฟูเวียดนาม" มีสำนักงานอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งของจีนและมีสาขาอยู่หลายแห่งในเวียดนาม    แต่ในที่สุด   ขบวนการชาตินิยมค่อยๆอ่อนแอลงไป  จนหมดขีดความสามารถ    ท้ายที่สุดถูกฝรั่งเศสปราบปรามจนแตกสลายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓  (ค.ศ.๑๙๓๐)

 

          ๔. ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์

          ขบวนการชาตินิยมเวียดนามเป็นผู้จุดประกายและปูทางด้วยเลือดเนื้อและชีวิตให้แก่ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์      เมื่อขบวนการชาตินิยมหมดขีดความสามารถแล้ว จึงเหลือแต่เพียงขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์เท่านั้น  และดำเนินการต่อไป

 

หนึ่งไม่พอ  เอาสอง  .  .  .  สองไม่พอเอาสามสี่ห้า  .  .  .

 

               เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนามไว้โดยสิ้นเชิงแล้วนั้น   ฝรั่งเศสมิใช่จะพอใจครอบครองหรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเหนือเวียดนามเท่านั้น   แต่อ้างสิทธิในลาวและเขมรด้วย   โดยอ้างว่าลาวและเขมรต่างก็เคยเป็นของญวนมาก่อน  เมื่อฝรั่งได้ได้ญวนแล้ว  ก็ต้องได้ลาวและเขมรด้วย     ดังนั้น   ฝรั่งเศสจึงได้กระทบกระทั่งกับไทย   ในการปราบฮ่อ  และวิกฤติการณ์  ร.ศ.๑๑๒  ซึ่งขอกล่าวย่อๆ  เพื่อให้เห็นภาพรวมต่อเนื่องดีขึ้นดังนี้

               พ.ศ. ๒๔๒๘  (ค.ศ.๑๘๘๕)    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กองทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือ กองทัพฝ่ายใต้ และกองทัพฝ่ายเหนือ    (การปราบฮ่อ  ครั้งที่  ๒)

             พ.ศ.๒๔๓๐   (ค.ศ.๑๘๘๗)    พวกฮ่อได้รุกจากสิบสองจุไท ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ เมื่อวันที่  ๑๐  มิถุนายน  ๒๔๓๐   ซึ่งครั้งนี้ มองสิเออร์ ปาวี  กงศุลฝรั่งเศสประจำลาวตกอยู่ในอันตราย ซึ่งไทยช่วยให้รอดชีวิตมาได้

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลตรี  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม  แสง - ชูโต)   เป็นแม่ทัพยกกำลังไปปราบฮ่ออีกครั้งหนึ่ง  (การปราบฮ่อ  ครั้งที่  ๓)

          การปราบฮ่อทุกครั้งฝรั่งเศสไม่เคยช่วยเหลือตามที่ตกลงกัน    แต่เมื่อไทยปราบฮ่อเสร็จแล้วฝรั่งเศสกลับยึดเอาแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้   โดยอ้างว่าเอาไว้เป็นกำลังปราบฮ่อ  ไทยจะเจรจาอย่างไรฝรั่งเศสไม่ยอมถอยทัพกลับ   

          ฉะนั้น  ใน พ.ศ.๒๔๓๑   ไทยจึงเสียแคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้ฝรั่งเศส    (คือพื้นที่หมายเลข 2  ในแผนที่) 

          พ.ศ.๒๓๓๖  (ค.ศ.๑๘๙๓)   หลังวิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒   ฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ไปจากไทยเพื่อจัดตั้งอินโดจีนของฝรั่งเศส   (French Indochina)   และฝรั่งเศสไปยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน    (คือพื้นที่หมายเลข 3  ในแผนที่)  

          พ.ศ. ๒๔๔๕   (ค.ศ.๑๙๐๒)  ไทยยอมทำสัญญาแลกเปลี่ยนยอมยกเมืองจำปาศักดิ์  มโนไพร ให้แก่ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะยอมยกออกจากเมืองจันทบุรี  แต่แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารจากจันทบุรี ไปยึดเมืองตราด และเกาะกง ไว้อีก    (คือพื้นที่หมายเลข 4  ในแผนที่)  
 

         พ.ศ. ๒๔๔๘   (ค.ศ.๑๙๐๕)  ไทยยอมยกเขมรส่วนใน คือเมืองเสียมราฐ   พระตะบอง  และศรีโสภณ  ให้แก่ฝรั่งเศส  เพื่อแลกกับเมืองตราด  เกาะกง  และ สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฝรั่งเศส    (คือพื้นที่หมายเลข 5  ในแผนที่)  

          ครับ  .  .  .  ในที่สุดฝรั่งเศสก็แย่งดินแดนลาวและเขมรจากไทย  ไปเป็นอาณานิคมรวมเข้าไว้ในอินโดจีนของฝรั่งเศส     ด้วยเหตุผลของนักล่าอาณานิคม  ด้วยประการ  ฉะนี้

   

เหงียน ไอ่ กว๊อก - โฮจิมินห์ กับ เวียดมินห์  

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑

 

          พ.ศ.๒๔๖๒   (ค.ศ.๑๙๑๙)    เหงียน ไอ่ กว๊อก - Nguyen Ai Quoc   (โฮจิมินห์ - Ho Chi Minh)    เดิมชื่อ เหงียน ชิง กุง (Nguyen Sinh Cung)    ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสมีส่วนในการยื่นคำร้องต่อต้านการปกครองแบบอาณานิคมเสนอต่อการประชุมที่แวร์ซายส์ เพื่อเรียกร้องเอกราชให้กับเวียดนาม  แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ    จึงเดินทางไปรัสเซีย  และได้รับการถ่ายถอดแนวความคิดของลัทธิมาร์กซิสม์  (Marxism)  และการปฏิวัติ

  

 เหงียน ชิง กุง  Nguyen Sinh Cung

เหงียน ไอ่ กว๊อก  Nguyen Ai Quoc

โฮ จิ มินห์  Ho Chi Minh 

 

 

 

 

 

 

 (ซ้าย)  ธงราชวงศ์เหงียน  พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๖๓   

 (ขวา)  ธงราชวงศ์เหงียน  และแคว้นอันนัม  (เวียดนามภาคกลาง  รัฐในอารักขาฝรั่งเศส)  พ.ศ.๒๔๖๓ - ๒๔๘๘)

 

 

 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน  

          พ.ศ.๒๔๖๘    (ค.ศ.๑๙๒๕)    ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์ถือกำเนิดขึ้น     เมื่อ เหงียน ไอ่ กว๊อก  (โฮจิมินห์)  สำเร็จหลักสูตรการปฏิวัติของลัทธิมาร์กซิสม์ - เลนินม์จากกรุงมอสโคว์  และ เป็นผู้ลงนามรับมอบภารกิจการปฏิวัติเวียดนามให้เป็นคอมมิวนิสต์จากองค์การโคมินเทอร์น    

          โฮจิมินห์ได้จัดตั้งสมาคมแห่งการปฏิวัติของเยาวชนชาวเวียดนามขึ้นบังหน้า ที่เมืองกวางตุ้ง    สมาชิกองค์การนี้ได้แก่  เยาวชนเวียดนามที่ขบวนการชาตินิยมส่งไปเข้ารับการศึกษาที่จีนและญี่ปุ่น    เมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะกลับเข้าเวียดนามอย่างลับๆ

 

สามประสาน  สมานฉันท์  .  .  .  พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน  

           ขบวนการสำคัญที่ต่อต้านฝรั่งเศสซึ่งต่อมาได้ยึดแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประสานกับความรู้สึกชาตินิยมและแนวทางมาร์กซิส - เลนินนิสต์    มีอยู่  ๓  ขบวนการ  ได้แก่ 

               ๑)  พรรคคอมมิวนิสต์ชาวอินโดจีน  เคลื่อนไหวในภาคกลางและภาคเหนือ 

               ๒)  พรรคคอมมิวนิสต์ชาวอันนัม  เคลื่อนไหวในภาคใต้ 

               ๓)  สหพันธ์ชาวคอมมิวนิสต์อินโดจีนของสมาชิกก้าวหน้า

           แต่ต่อมา องค์การคอมมิวนิสต์สากลได้แนะนำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ทั้งสาม   รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   เพื่อให้การต่อสู้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

            ๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๗๓  (ค.ศ.๑๙๓๐)      ขบวนการคอมมิวนิสต์ทั้งสามได้ประชุมร่วมกัน   โดยมีโฮจิมินห์เป็นประธาน    มีมติตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้น  และต่อมาในเดือนตุลาคม  ปีเดียวกันนั้น    พรรคฯ ได้มีการประชุมที่ฮ่องกง และได้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น  .  .  .  พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน

 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

                ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒   เมื่อเยอรมันบุกฝรั่งเศส  และเป็นต่ออยู่นั้น   ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมันก็ฉวยโอกาสเข้ายึดหมู่เกาะสแปรตลี่ย์ของฝรั่งเศสในคาบสมุทรอินโดจีน   โดยอ้างว่าเพราะอินโดจีนฝรั่งเศสส่งอาวุธให้จีนมารบกับญี่ปุ่นทางด้านอ่าวตังเกี๋ย

 

 

 

 หมู่เกาะสแปรตลี่ย์   >

 

 

สันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม  - เวียดมินห์ 

          พฤษภาคม  ๒๔๘๔  (ค.ศ.๑๙๔๑)    ในการประชุมครั้งที่ ๘  ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้ประกาศจัดตั้ง  สันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม  (League for the Independence of Vietnam    เวียดนามด็อคแล็บดองมินห์ฮอย   Viet Nam Doc Lap Dong Minh Hoi)   เรียกสั้นๆว่า    เวียดมินห์  (Viet Minh)   เพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
   
            ในปลายปี พ.ศ.๒๔๘๔    ญี่ปุ่นก็เข้าไปตั้งฐานทัพในอินโดจีน    

 

สงครามมหาเอเซียบูรพา       

          ๗  ธันวาคม  ๒๔๘๔    เช้าตรู่   ญี่ปุ่นส่งเตรื่องบินจากกองเรือเข้าโจมตีเพิร์ล  ฮาเบอร์  ในหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา  เป็นการเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพา  

          ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔    เช้าตรู่    ญี่ปุ่นก็บุกเข้าประเทศไทยหลายแห่ง  เป็นเวลาเดียวกับการเข้าโจมตีเพิร์ล  ฮาเบอร์  (แต่เป็นคนละวันเพราะอยู่คนละฟากเส้นแบ่งวัน)  ซึ่งประชาชน  ยุวชนทหาร และทหารไทยในพื้นที่ได้ต่อสู้หลั่งเลือดป้องกันอธิปไตย   และต่อมา  ทางการไทยกำหนดให้  วันที่  ๘  ธันวาคม  ของทุกปี  เป็นวัน  "วีรไทย"

 

กองทัพประชาชนเวียดนาม  (the People's Army of Vietnam  -  PAVN)

          เวียดนามพิจารณาจัดตั้งกองทัพอย่างจริงจังในต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒    เนื่องจากต้องเตรียมการต่อสู้ขับไล่ผู้รุกรานด้วยอาวุธ  โดยจัดตั้งหน่วยทหาร  และหน่วยกึ่งทหาร  (para military)  ในพื้นที่บัคคัน  (Bac Kan)  และเกาบัง  (Cao Bang)    เมื่อประธานโฮจิมินห์มั่นใจว่าพร้อมที่จะปฏิบัติการทางทหารได้แล้ว  .  .  .

            ๒๒  ธันวาคม  ๒๔๘๗    จึงจัดตั้ง  "หน่วยกู้ชาติ"  ขึ้น  เป็นทหารหน่วยแรก  กำลังพล  ๓๔  นาย   ที่หุบเขา ดินห์คา  ใกล้พรมแดนจีน    จะนับว่าเป็น ทหารหมวดแรก  ก็ว่าได้ 

 

 

 

 

   ทหารหมวดแรก 

 

          และพร้อมกันนี้  ได้จัดตั้ง  "กองพลน้อยโฆษณาติดอาวุธเพื่อปลดแอกเวียดนาม"  (Armed Propaganda Brigade for the Liberation of Vietnam)  เป็นกองทัพประชาชนเวียดนาม  (the People's Army of Vietnam  -  PAVN)    โดยมีฐานที่ตั้งในบางอำเภอของจังหวัดเกาบัง  (Cao Bang)  แบคคัน  (Bac Kan)  และลางซัน  (Lang Son)

          ซึ่งหน่วยนี้ได้พัฒนาเป็น กองพลน้อยที่  ๒๐๙  ในโอกาสต่อมา  

 

             นายพล  โว เหวียน เกี๊ยบ  (Vo NGuyen Giap)    อายุ  ๓๖    อดีตนักศึกษาวิชานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮานอย   เป็นผู้บัญชาการกองทัพคนแรก   

 

 ประเดิมชัยฉลองคริสตมาส  ๑๙๔๔

          ๒๕  ธันวาคม  ค.ศ.๑๙๔๔      ผู้บัญชาการ   เกี๊ยบ    ได้นำทหารหมวดแรกนี้  โจมตีที่มั่นของฝรั่งเศส  สองแห่ง ที่อยู่ติดกับพรมแดนจีน   คือที่  พีคัต  และนางัน   

          ผลการโจมตีเป็นที่น่าพอใจ  คือ  สังหารทหารรักษาที่มั่นของฝรั่งเศส  .  .  .  เรียบโร้ยยยยย

 

 พ.ศ.๒๔๘๘ - ค.ศ.๑๙๔๕

๙  มีนาคม    ญี่ปุ่นเข้ายึดอำนาจในเวียดนาม  เป็นข้าศึกที่เผชิญหน้ารายใหม่ของเวียดนาม    ชาวเวียดนามมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น  โดยการใช้มวลชนและสงครามจรยุทธ

 
๑๑  มีนาคม    ญี่ปุ่นบังคับจักรพรรดิเบาได๋ของ Annam  ประกาศยกเลิกความอารักขาของฝรั่งเศสและการประกาศเอกราชของเวียดนาม

          เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองอาณานิคมชาวฝรั่งเศสได้พากันอพยพหลบหนีออกไปจากอินโดจีน   ญี่ปุ่นจึงได้จัดตั้งรัฐบาลเวียดนามขึ้นปกครองตนเอง    ญี่ปุ่นขอเพียงความร่วมมืออำนวยความสะดวกแก่กองทัพญี่ปุ่นและความร่วมมือในเรื่องที่ญี่ปุ่นต้องการเท่านั้น

 

เสริมสร้างกำลังกองทัพ

          ในช่วงนี้    เวียดนามเสริมสร้างกำลังกองทัพ  โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ  มีการจัดตั้งหน่วยใหม่    และฐานที่มั่นที่เมืองไทเหงียน  (Thai Nguyen)  เหนือกรุงฮานอยไปทางเหนือตามเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๓  และ เมืองฮัวบินห์  (Hoa Binh)    ริมฝั่งแม่น้ำดำ  (Riviere Noire)  ห่างกรุงฮานอยไปทางตะวันตกเฉียงใต้   

          ฝ่ายฝรั่งเศสก็เพิ่มกำลังเข้ามาในเวียดนามจนมีจำนวนถึง  ๖๓,๐๐๐    พร้อมทั้งยานเกราะ  และอาวุธหนักต่างๆ 

 

 

 

 เกาบัง  (Cao Bang)    แบคคัน  (Bac Kan)    ลางซัน  (Lang Son)    ไทเหงียน  (Thai Nguyen)    ฮัวบินห์  (Hoa Binh)

 

ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒

๘  พฤษภาคม  ๒๔๘๘  ค.ศ.๑๙๔๕     เยอรมันนียอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ
 
๑๗  กรกฎาคม  ถึง  ๒  สิงหาคม  ๒๔๘๘   การประชุมปอตสดัม   (the Potsdam Conference)

          ผู้นำประเทศสัมพันธมิตรมหาอำนาจ ทั้ง ๔  ได้ตกลงกันว่า  ให้กองทัพของจีนคณะชาติหรือก๊กมินตั๋งและกองทัพอังกฤษปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในเวียดนาม โดยกำหนดให้ กองทัพจีนคณะชาติเข้ามาทางเหนือ  กองทัพอังกฤษเข้ามาทางใต้     และแบ่งเขตความรับผิดชอบที่เส้นขนานที่ ๑๖  (เมืองดานัง  Da Nang)    ส่วนฝรั่งเศสจะได้กลับเข้าฟื้นฟูสถานะในอาณานิคมเวียดนามต่อไปอีก 

          รัฐบาลจีนแสดงความต้องการดินแดนบางส่วนในอินโดจีนที่เคยตกอยู่ใต้การยึดครองของกองทัพญี่ปุ่นยาวลงไปถึงเส้นขนานที่ ๑๖     ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อรัฐบาลของโฮจิมินห์ในฮานอยเป็นอย่างมาก

 

          สนธิสัญญานี้ทำให้  ชาวเวียดนามไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งที่ฝรั่งเศสจะกลับเข้าไปมีอำนาจกดขี่ชาวเวียดนามต่อไปอีก    จึงรวบรวมกำลังเข้าต่อต้านต่อสู้การปกครองของฝรั่งเศส และเปิดฉากทำสงครามกับฝรั่งเศส   ต่อไป

 

"ปฏิวัติสิงหาคม   August Revolution"

          ๑๑  สิงหาคม  ๒๔๘๘    เริ่มเกิดการจลาจลในจังหวัดฮาทินห์

          ๑๒  สิงหาคม  ๒๔๘๘    มีการออกประกาศให้ก่อการจลาจล  มีการโจมตีที่มั่นทหารต่างชาติหลายแห่ง

          ๑๓  สิงหาคม  ๒๔๘๘

          - คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน  (The Central Committee of the Indochinese Communist Party - ICP)   ประชุมกันที่ตันเตรา  (Tan Trao)    ได้ข้อตกลงใจที่จะให้แสวงประโยชน์ในช่องว่างแห่งอำนาจนี้ด้วยนำประชาชนปฏิวัติทั่วไป และเข้ายึดอำนาจรัฐ

          - ประชาชนในจังหวัดกวางไงลุกฮือแสดงพลัง

          ๑๔  สิงหาคม  ๒๔๘๘    ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

          ๑๕  สิงหาคม  ๒๔๘๘    กองทัพญี่ปุ่นทุกสมรภูมิวางอาวุธ

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

          เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้จึงเกิดช่องว่างแห่งอำนาจขึ้นในเวียดนาม    เวียดมินห์ได้ทำการ  "ปฏิวัติสิงหาคม   August Revolution"  ทั่วประเทศเข้ายึดที่ทำการของรัฐ

          ๑๙  สิงหาคม  ๒๔๘๘    เกิดการจลาจลในฮานอย

          ๒๓  สิงหาคม  ๒๔๘๘    เกิดการจลาจลในเมืองเว้

          ๒๕  สิงหาคม  ๒๔๘๘    

          - เกิดการจลาจลในไซง่อน

          - สมเด็จพระจักรพรรดิเบาได๋แห่งเวียดนาม  (๘  มกราคม  พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๕  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๘๘  -  ค.ศ.๑๙๒๖ - ๔๕)  ทรงสละราชบัลลังก์    เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์เหงียน   ก่อนสละราชบัลลังก์ได้ทรงแต่งตั้งให้โฮจิมินห์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นในฮานอยและเป็นประธานาธิบดีคนแรก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 สมเด็จพระจักรพรรดิเบาได๋  พระเจ้ากรุงเวียดนาม

๘  มกราคม  ๒๔๖๙  –  ๒๕  สิงหาคม  ๒๔๘๘


 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม

 

 

 




สงครามเวียนดนาม โดย สัมพันธ์

๔๐ ปี กองทัพประชาชนเวียดนาม
๓๐ ปี การรบที่เดียนเบียนฟู
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๓) - ๕๗ วันใน . . . เดียน เบียน ฟู (๓) - ล่มสลาย . . . ไม่ยอมแพ้
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๒) - ๕๗ วันใน . . . เดียน เบียน ฟู (๒) - เกเบรียล ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๗
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๑) - ๕๗ วันใน . . . เดียน เบียน ฟู (๑) - บีทริซ ๑๓ มีนาคม ๒๔๙๗
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๐) - ยึดเดียนเบียนฟู (๒) "it is impregnable" "It is Verdun!"
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๙) - ยึดเดียนเบียนฟู (๑) - ยุทธการคาสเตอร์
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๘) - นายพล อองรี นาแวร์
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๗) - นายพล ราอูล ซาลัง
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๖) - นายพล เดอ แลทเทอร์
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๕) - การช่วงชิงเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๔) - เริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๓) - สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม
สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑) - ญวน - ก่อนเป็นอาณานิคม



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker