dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๔) - เริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์
วันที่ 16/02/2020   20:47:14

*  *  *

สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๔)  -  เริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก  .  .  .  สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม  .  .  .

พ.ศ.๒๔๘๘  (ค.ศ.๑๙๔๕)

            ๘  พฤษภาคม     เยอรมันนียอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ

          ๑๔  สิงหาคม     ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

          เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้จึงเกิดช่องว่างแห่งอำนาจขึ้นในเวียดนาม    เวียดมินห์ได้  "ปฏิวัติสิงหาคม   August Revolution"  ทั่วประเทศเข้ายึดที่ทำการของรัฐ

          ๑๙  สิงหาคม     เกิดการจลาจลในกรุงฮานอย

          ๒๕  สิงหาคม     สมเด็จพระจักรพรรดิเบาได๋แห่งเวียดนามทรงสละราชบัลลังก์    ก่อนสละราชบัลลังก์ได้ทรงแต่งตั้งให้โฮจิมินห์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นในฮานอยและเป็นประธานาธิบดีคนแรก

          ๒๕  สิงหาคม     เกิดการจลาจลในเมืองเว้

          ๒๙  สิงหาคม     กองทหารหน่วยแรกของกองทัพปลดแอกแห่งเวียดนามเข้าสู่กรุงฮานอย

          ๒  กันยายน     ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ประกาศเอกราชของ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม"  (the Democratic Republic of Vietnam)

          ๙  กันยายน   กองทัพจีนได้เข้ายึดกรุงฮานอยเพื่อปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นและยึดเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในแคว้นตังเกี๋ย เหนือเส้นขนานที่  ๑๖

          ลอร์ด  หลุยส์  เมาท์แบทเทน  (Lord Louis Mountbatten)  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในยุทธบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  (Supreme Allied Commander of the Southeast Asia Theatre)  ส่งกองทัพอังกฤษเข้าไปในเวียดนาม  ดังนี้

          ๑๒  กันยายน    กองพันทหารกุรข่าอินเดีย  จากกรุงย่างกุ้งได้มาถึงกรุงไซง่อน

          ๑๓   กันยายน    นายพล เซอร์ ดักกลาส  เกรซีย์  (General Sir Douglas Gracey)  ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินสัมพันธมิตร  (Commander Allied Land Forces)  และกองพลที่  ๒๐  อินเดีย    (GOC  20th Indian Division,  GOC = General Officer Commanding)    มาถึงกรุงไซง่อน เพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น และฟื้นฟูความสงบในพื้นที่ใต้เส้นขนานที่  ๑๖    ซึ่งได้พบว่าเกิดสภาพอนาธิปไตยขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วไป 

          ๒๒  กันยายน    กองทัพอังกฤษในกรุงไซง่อนสนับสนุนอาวุธให้กองทหารฝรั่งเศส 

          ๒๓  กันยายน    ฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ากรุงไซง่อน  ล้มรัฐบาลเวียดนาม   และประกาศฟื้นอำนาจฝรั่งเศสในอินโดจีน

          เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาขับไล่รัฐบาลของโฮจิมินห์      จึงเกิดการต่อต้านฝรั่งเศสขึ้น     พวกเวียดมินห์ก็หลบหนีออกจากเมือง  และเตรียมทำสงครามกองโจรต่อไป    

 

.  .  .  สงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลงแล้ว  แต่สงครามของชาวเวียดนามเพิ่งจะเริ่ม  .  .  .  เริ่มทำสงครามกับมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสผู้รุกรานพยายามกลับเข้าควบคุมอาณานิคมเวียดนาม  โดยมีกองกำลังภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศส  (The French Far East Expeditionary Corps - Corps Expeditionnaire Francais en Extreme-Orient, CEFEO)  เป็นเครื่องมือ

  .  .  .  เวียดนาม  .  .  .  ชาติเล็กๆ ที่ถูกรุกราน กดขี่ และข่มเหง  .  .  .  ทำสงครามเพื่อเอกราชของชาวเวียดนามโดยขบวนการเพื่อเอกราชของเวียดนาม  (เวียดนามด็อคแล็บดองมินห์ฮอย - Viet Nam Doc Lap Dong Minh Hoi)  หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า  เวียดมินห์  (Viet Minh)  โดยกองทัพประชาชน  ด้วยสงครามจรยุทธ 

.  .  .  เพื่ออิสรภาพ  .  .  . 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  เริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์

 

พ.ศ.๒๔๘๙  (ค.ศ.๑๙๔๖) - พ.ศ.๒๔๙๑  (ค.ศ.๑๙๔๘)

๑๙  ธันวาคม  ๒๔๘๙  (ค.ศ.๑๙๔๖)  -  เริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ 

           ฝ่ายเวียดมินห์ทำลายโรงไฟฟ้าฮานอย  และโจมตีพลเรือนชาวฝรั่งเศส    กองกำลังฝ่ายฝรั่งเศสตอบโต้ด้วยการผลักดันฝ่ายเวียดมินห์ออกไปจากกรุงฮานอย    นับเป็นการเริ่มสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์  

 

          นายพล โว เหงียน เกี๊ยบ ย้ายกองบัญชาการไปที่ ทัน เทรา (Tan Trao)  เมืองเทียนกวง  (Tuyen Quang)  จังหวัดเวียดบัค (Viet Bac)    ฝรั่งเศสส่งทหารไปโจมตีฐานทัพใหม่ของเวียดมินห์ แต่เมื่อไปถึง  ไม่พบ  นายพล โว เหงียน เกี๊ยบ

 

 พ.ศ.๒๔๙๐  (ค.ศ.๑๙๔๗)    ตามล่านายพล โว เหงียน เกี๊ยบ

           หลังจาก  ฝ่ายเวียดมินห์ได้โจมตีโรงไฟฟ้าฮานอย  และโจมตีพลเรือนชาวฝรั่งเศสอย่างรุนแรงและทันทีทันใดเมื่อ  ๑๙  ธันวาคม  ๒๔๘๙     กองกำลังของฝ่ายฝรั่งเศสได้รุกก้าวหน้าต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

 

 

          เดือนมีนาคม  ๒๔๙๐    ฝ่ายฝรั่งเศสามารถครอบครองเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์  เช่น ไฮฟอง  ฮานอย  เว้  ลางซอน  เกาบัง  ดาลัท  และไซง่อน  ไว้ได้  (Haiphong, Hanoi, Hue, Lang Son, Cao Bang, Da Lat, Saigon)     รวมทั้งเส้นทางยุทธศาสตร์จากเหนือจรดใต้  ด้วย    และเพิ่มเติมกำลังทหารจากอาณานิคมในอาฟริกา อีก  ๕๐,๐๐๐    กองทหารต่างด้าวอีก  ๒๐,๐๐๐

           นับว่าฝ่ายฝรั่งเศสได้ภาคใต้และภาคตะวันออกของแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งเป็นที่มั่นแข็งแรงของฝ่ายเวียดมินห์ เกือบสมบูรณ์  กองกำลังเวียดมินห์ต้องถอยเข้าสู่พื้นที่ป่าเขาตามพรมแดน  จีน - เวียดนาม    

          เหตุที่ฝรั่งเศสรุกได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีอำนาจการยิง  กำลังทางเรือ  และการสนับสนุนทางอากาศที่เหนือกว่า    กำลังของฝรั่งเศสเกือบล้อมกำลังส่วนใหญ่ของเวียดมินห์ ในภาคตะวันออกของแคว้นตังเกี๋ย  ซึ่งเป็นช่องว่างใหญ่ระหว่าง   เกาบัง ทางเหนือกับ เยนไบ  ( เหยินไบ๋ - Yen Bai)  ทางใต้ 

 

  เวียดมินห์ขอเจรจา  .  .  .      

           เดือนเมษายน  ๒๔๙๐   โฮจิมินห์ใช้ความพยายามที่จะหยุดยิงและเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศส ในเรื่องอิสรภาพของเวียดนาม    แต่ฝรั่งเศสต้องการปิดล้อมฝ่ายเวียดมินห์ไว้  เพราะกำลังของฝ่ายเวียดนามดูเหมือนจะสิ้นหวัง  

           ๒๖  เมษายน    รัฐบาลฝรั่งเศสตอบเป็นความว่า    "In the French Union is no place for cowards. I would be one, if I would accept."  

  

           ในช่วงฤดุใบไม้ผลิ และฤดูร้อน    ฝรั่งเศสโจมตีฐานของฝ่ายเวียดมินห์ในแคว้นตังเกี๋ย  แต่เมื่อทหารฝรั่งเศสถอนออกไปฝ่ายเวียดมินห์ก็กลับเข้ามาอีก 

 

 

 

 

 

 

 

 เกาบัง - เยนไบ  (เหยินไบ๋ )   Cao Bang - Yen Bai

 ยุทธการลี  -  Operation Lea    

          นายพล  ฌอง - เอเตียน  แวลลัวร์  (General Jean - Etienne Valluy)  ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน  ตระหนักดีว่า  การโจมตีเพื่อกำหนดหาที่ตั้งกองบัญชาการของเวียดมินห์ที่ผ่านไปนั้น  ไม่สามารถยุติสงครามได้  และประกอบกับได้รับข่าวสารจากฝ่ายข่าวกรองว่า  กองบัญชาการของเวียดมินห์นั้นย้ายมาที่บัคคาน  (Bac Can)    จึงวางแผนเข้าจับตัวโฮจิมินห์  และคณะ เพื่อชัยชนะที่สมบูรณ์ต่อสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนาม  (เวียดมินห์)  .  .  .  โดยเปิด ยุทธการลี  (Operation Lea)

 

๗  ตุลาคม  ๒๔๙๐ - ยุทธการลี  (Operation Lea)

 

          ฝรั่งเศสปฏิบัติตามแผนยุทธการลี    ด้วยการส่งพลร่มจำนวน  ๑,๑๐๐    ลงที่บัคคาน    และสามารถควบคุมเมืองไว้ได้ในทันที    แต่ไม่สามารถจับผู้นำเวียดมินห์และตณะได้เลย

          ในเวลาเดียวกันนั้น    กองกำลังฝรั่งเศสอีก  ๑๕,๐๐๐  ก็เคลื่อนย้ายจาก เกาบัง  (ทางตอนเหนือของแคว้นตังเกี๋ย)  ไปยังเยนไบ  (Yen Bai)  ทางใต้    ด้วยความมุ่งหมาย  ๒ ประการ  คือ  เพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากจีน  และล้อมกองกำลังของเวียดมินห์ให้สมบูรณ์เพื่อทำลายในระหว่างการรบต่อไป    

          อย่างไรก็ตาม    ฝรั่งเศสไม่สามารถจับตัวโฮจิมินห์  และนายพล  โว เหงียน เกี๊ยบได้    และก็ไม่สามารถทำลายกำลังเวียดมินห์ได้อีกด้วย    กำลังเวียดมินห์ส่วนใหญ่  ประมาณ  ๔๐,๐๐๐   ได้กระจายกันเล็ดลอดออกไปผ่านช่องว่างในแนวของฝรั่งเศส  รวมทั้งโฮจิมินห์  และ  นายพล  โว เหงียน เกี๊ยบ  ด้วย    

           แต่เมื่อปิดยุทธการนี้  ฝ่ายเวียดมินห์ก็ต้องสูญเสียกำลังพลถึง  ๙,๐๐๐  (ข้อมูลจากฝ่ายฝรั่งเศส)

 

ยุทธวิธีใหม่

          เมื่อยุทธการลีไม่ประสบผลสำเร็จ    และรัฐบาลฝรั่งเศสมีเหตุผลทางด้านงบประมาณจึงไม่สามารถเพิ่มกำลังทหารในอินโดจีนได้อีก     ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีนจึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธี    เป็นการตั้งที่มั่นขนาดเล็ก  (outposts)  ตามเส้นทางสายสำคัญ    เช่น เส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔  และหมายเลข ๓  (Route Coloniale 4, Route Coloniale 3)    เพื่อปิดกั้นฝ่ายเวียดมินห์ไว้ทางตะวันออกของแคว้นตังเกี๋ย    แต่ฝ่ายเวียดมินห์ก็สามารถเล็ดลอดผ่านได้อย่างง่ายดาย  และยังสามารถเพิ่มเติมกำลังซึ่งมาจากพรมแดนจีนได้อีกด้วย

 

 

 

 

เส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔   (Route Coloniale - RC 4)    คือ  เส้นทางเลียบพรมแดนจีน - เวียดนาม

ผ่านเมืองสำคัญเช่น  เกาบัง  (Cao Bang)    ดองเค  (Dong Khe)    ทัทเค  (That Khe)    ลางซัน  (Lang Son) 

เส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๓   (Route Coloniale  -  RC 3)   คือ  เส้นทางจากกรุงฮานอยไปทางเหนือสู่พรมแดนจีน - เวียดนาม

ผ่านเมืองสำคัญเช่น  ไทเหงียน  (Thai Nguyen)    บัคคาน  (Bac Kan)    เหงียนบินห์  (Nguyen Binh)  บรรจบ  RC 4 ที่ เกาบัง  (Cao Bang)

 

ลางซัน  -  Lang Son

           ที่หมายต่อไปของเวียดมินห์คือ ลางซัน  (Lang Son)    บนเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔    

           ที่ลางซัน    ฝรั่งเศสมีกองทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส (French Foreign Legion) อันแข็งแกร่งประจำอยู่  ๔,๐๐๐ คน    ทหารฝรั่งเศสที่ถอนตัวตามเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔  (RC 4)  ถูกเวียดมินห์ซุ่มโจมตีตลอดเส้นทาง    ฝรั่งเศสต้องส่งกองหนุนจากทัทเค  (That Khe)  มาช่วย  และยังส่งพลร่ม ๑ กองพัน ลงที่ทางใต้ของดองเค เพื่อโจมตีตอบโต้และทำลายเวียดมินห์ 

           ลางซันต้านทานอยู่ได้หนึ่งสัปดาห์ก็แตกในวันที่  ๑๗  ตุลาคม    กองทหารฝรั่งเศสพากันถอนตัวมาที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง

 

การสูญเสีย

          ฝ่ายฝรั่งเศส

               เสียชีวิต  ๔,๘๐๐ นาย     บาดเจ็บ  ๒,๐๐๐ นาย     

               ยุทโธปกรณ์ชำรุดระหว่างการรบ  และถูกยึด  

                 - ปืนใหญ่  ๑๓ กระบอก 

                 - เครื่องยิงลูกระเบิด  ๑๒๕ กระบอก 

                 - ปืนกล  ๙๔๐ กระบอก 

                 - ปืนกลมือ  ๑,๒๐๐ กระบอก

                 - ปืนเล็กยาว  ๘,๐๐๐ กระบอก 

                 - รถบรรทุก  ๔๕๐ คัน


 
          การที่ถูกฝ่ายเวียดมินห์ซุ่มโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ทำให้ฝรั่งเศสต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการให้มากยิ่งขึ้น  เพื่อที่จะเปิดเส้นทางดังกล่าวให้ได้  รวมทั้งการใช้หน่วยทหารต่างด้าว   (Foreign Legion)  เข้าปฏิบัติการอีกในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๔๙๑

 

          ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๑  เป็นระยะที่ฝ่ายเวียดมินห์ต้องรักษาตัวรอด  พยายามไม่ปะทะกับกำลังหลักของฝ่ายฝรั่งเศส  ถ้าไม่จำเป็น และไม่มั่นใจในชัยชนะ    จนกว่ากองกำลังจะกล้าแข็งขึ้น    เป็นการคุมเชิงกันอยู่  และจากสถานการณ์ซึ่งต่างคุมเชิงกันอยู่นี้เป็นจุดหักเหของสงครามให้ฝ่ายเวียดมินห์ได้ชัยชนะในปี  ๒๔๙๒ - ๒๔๙๓  (ค.ศ.๑๙๔๙ - ๑๙๕๐)  ต่อไป

 

 

ธงชาติเวียดนามใต้  ตั้งแต่  พ.ศ.๒๔๙๑      ใช้ธงเดิมของราชวงศ์เหวียน

 

การรบที่เกาบัง  (The Battle of Cao Bang)    ตุลาคม  ๒๔๙๐ - ๓  กันยายน  ๒๔๙๒

           นับตั้งแต่เริ่มทำสงคราม  กองทหารเวียดมินห์ซุ่มโจมตีขบวนเดินทางของฝรั่งเศสที่มีการคุ้มกันตามแนวพรมแดนจีน - เวียดนามจากอ่าวตังเกี๋ย  (Gulf  of Tonkin)  ถึงค่ายทหารฝรั่งเศสที่เกาบัง  (Cao Bang)  เป็นระยะทาง  ๑๔๗ ไมล์  (ประมาณ  ๒๓๕ กิโลเมตร)    คือบนเส้นทางอาณานิคมหมายเลข  ๔       

  

๒๕  กรกฎาคม  ๒๔๙๑    ทหารเวียดมินห์จำนวน  ๒ กองพัน  เข้าโจมตีค่ายทหารฝรั่งเศสที่เกาบังซึ่งมีกำลัง  ๒ กองร้อย    ซึ่งสามารถยืนหยัดอยู่ได้ถึง  ๓ วัน

          หลังจากนั้น  ใน พ.ศ.๒๔๙๑    ก็มีการซุ่มโจมตีอีกถึง  ๒๘ ครั้ง 

 

 

รูปแบบการซุ่มโจมตีของเวียดมินห์   >

มีการวางทุ่นระเบิดไว้บนเส้นทางที่กำหนดเป็นพื้นที่สังหารและควบคุมการจุดระเบิดเมื่อต้องการ  (Triggered mine)   ๒ จุด   

วางกับระเบิด  (Mines / traps)  ไว้นอกเส้นทางทั้งสองฝั่ง  ตลอดพื้นที่สังหาร

  และสนับสนุนด้วยอาวุธหนัก  เช่น  ปืนกลขนาดต่างๆ  (MG - Machine gun)    ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง   (Recoilless)    เครื่องยิงลูกระเบิด  (Mortars)

 

 

  เลากาย    ๒๔๙๒

          กุมภาพันธ์  ๒๔๙๒    ฝ่ายเวียดมินห์ส่งกำลังจำนวน  ๕ กองพัน  และหน่วยเครื่องยิงลูกระเบิดเข้ายึดที่มั่นทหารฝรั่งเศส  (French post)  ที่เลากาย  (Lao Cai)

           การซุ่มโจมตีก็ได้ดำเนินต่อไปใหม่จนตลอดฤดูมรสุม    

          ๓  กันยายน  ๒๔๙๒    ยานพาหนะของฝรั่งเศสจำนวน  ๑๐๐ คัน  ออกจากทัทเค  (That Khe)  เพื่อเพิ่มเติมกำลัง   ตลอดระยะทาง  ๑๖ ไมล์  (๒๖ กิโลเมตร)  มีการคุ้มกันของทหารราบตลอดเส้นทาง    แต่ขบวนถูกซุ่มโจมตี   ทำให้  ๒๐ คันแรก  และ  ๑๐ คันสุดท้ายต้องหยุด  ส่วนกลางขบวนถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่

           เหตุการณ์นี้    มีทหารฝรั่งเศสบาดเจ็บ  ๔ นาย

          แต่ในวันต่อมา  กองทหารฝรั่งเศสก็สามารถยึดคืนยอดเนินบริเวณโดยรอบไว้ได้       

   

 บทเรียนจากการรบ

          การเดินทางด้วยขบวนที่ยาวเกินไป  และจัดการระวังป้องกันที่ไม่เหมาะสม  ย่อมเป็นจุดอ่อน  เสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ง่าย    ฝ่ายฝรั่งเศสอาจจะมั่นใจว่าฝ่ายเวียดมินห์ไม่มีอากาศยานใช้โจมตีได้    จึงไม่จัดอากาศยานสนับสนุนขบวนเดินนี้  แม้แต่เครื่องบินตรวจการณ์    หากแบ่งขบวนเดินเป็นตอนการเดินหลายๆ ตอน  มีกำลังคุ้มกันระหว่างตอนการเดิน    มีการตรวจการณ์  และคุ้มกันทางอากาศ    สถานการณ์อาจจะไม่เป็นเช่นนี้

          ฝ่ายฝรั่งเศสได้รับบทเรียนและปรับขบวนให้เหลือเพียง  ๑๐ - ๑๒ คัน    มีการวางกำลังคุ้มกันทางพื้นดิน  และจัดเครื่องบินตรวจการณ์    

 

          ตลอด พ.ศ.๒๔๙๓    ไม่มีขบวนลำเลียงของฝรั่งเศสไปยังเกาบังอีกต่อไป  .  .  .  เปลี่ยนเป็นการส่งกำลังทางอากาศ

 

 

พ.ศ.๒๔๙๒    เบาได๋กลับคืนเวียดนาม  

 

          พ.ศ.๒๔๙๒  (ค.ศ.๑๙๔๙)   ฝรั่งเศสตั้งสมาคมรัฐแห่งเวียดนาม  (Associated States of Vietnam)  ได้เชิญเบาได๋มาเป็นประมุขแห่งรัฐ  ( the Head of State - ไม่ได้เป็นจักรพรรดินะครับ)  และอ้างสิทธิเหนือเวียดนามทั้งหมด

          เมื่อได้เป็นประมุข    ประมุขเบาได๋เห็นว่ากองทัพแห่งชาติเวียดนาม  (Vietnamese National Army)  อ่อนแอเกินกว่าที่จะทำสงครามกับพวกเวียดมินห์ได้    จึงออกกฎหมายให้บรรดากลุ่มกองกำลังที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหลายมาร่วมกัน    ในมวลกลุ่มกองกำลังเหล่านี้  มีกองกำลังหนึ่ง หรือองค์กรหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลและกำลังกล้าแข็งมานาน  หลายสิบปีเข้ามาร่วมด้วย  .  .  .  กองกำลังบินห์เซียน  (Binh Xuyen)  องค์กรลับ อิทธิพลนอกกฏหมาย   มีฐานที่มั่นในย่านโชลอง  ใกล้กรุงไซง่อน ซึ่งเป็นย่านชาวจีน

 

           ขอย้อนเล่ากล่าวถึงองค์กรลับผิดกฎหมายที่ตั้งมานานช้าแล้วนี้เสียหน่อยครับ  .  .  .       

          องค์กรบินห์เซียนนี้ก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓  โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานในย่านโชลอง  ใต้กรุงไซง่อน  ประมาณ  ๒๐๐ - ๓๐๐ คน  รวมตัวกันหลวมๆ  ก่ออาชญากรรมต่างๆ  และเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว  (เป็นธรรมดาครับ  ที่ "ความชั่ว  คนชั่วทำได้ง่าย")  ทำกิจผิดกฎหมายและศีลธรรมทุกชนิด  โดยมีธุรกิจบังหน้า    มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส  และพวกชาตินิยมเวียดนาม    ธุรกิจขององค์กรบินห์เซียน  ได้แก่   ลักลอบค้ายาเสพติด  ค้าประเวณี  สถานการพนัน  ซ่องโจร  ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงสงครามเวียดนาม   

          ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๘  บินห์เซียนจัดก่อการร้ายให้เวียดมินห์สังหารพลเรือนชาวผรั่งเศส  มากกว่า  ๑๕๐ คน  (รวมผู้หญิงและเด็กด้วย)

 

          เราอย่าสนใจเขามากเลยครับ  .  .  .  สรุปว่า  เมื่อจำเนียรกาลผ่านมาถึง พ.ศ.๒๔๙๒  .  .  .       

           ประมุขเบาได๋แต่งตั้ง "เบย์" เวียง  (เบย์ เวียง    เชื้อสายจีน  เกิดในย่านโชลอง กรุงไซง่อน  ซึ่งเป็นย่านชาวจีน เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางมิชอบมาก่อน)  ให้เป็น นายพล เลอ แวง "เบย์" เวียง  (General Le van "Bay" Vien) ในกองทัพแห่งชาติเวียดนาม  หน่วยของเบย์ เวียง จึงกลายเป็นหน่วยอิสระในกองทัพเวียดนาม  (Vietnamese National Army Binh Xuyen - VNA Binh Xuyen - Quan doi Quoc gia Viet Nam ในภาษาเวียดนาม)

          เมื่อมียศ ตำแหน่งในกองทัพแห่งชาติฯ ทำให้นายพล เบย์ เวียง  และ  กองทัพบินห์เซียน เคลื่อนไหวได้อย่างเปิดเผย และสะดวกยิ่งขึ้น  มีอำนาจหน้าที่อย่างสมบูรณ์   เป็นกองทัพที่เลี้ยงตัวเองด้วยการเรียกเก็บรายได้จาก แหล่งการพนัน  การค้าประเวณี  การค้าฝิ่น  การลักลอบนำเข้าทองคำ  การค้าเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด  และธุรกิจผิดกฎหมาย ศีลธรรมอื่นๆ  ทุกชนิด    

          เพื่อที่จะให้มีทุนเพียงพอที่จะจรรโลงราชบัลลังก์ได้ยาวนานต่อไป  ประมุขเบาได๋ยอมรับเงินทุนจากองค์กรลับนี้ และคุ้มครองธุรกิจขององค์กรฯ เป็นการตอบแทน    

          ฝรั่งเศสเองก็ยอมรับอำนาจของนายพล เบย์ เวียง  และเคยใช้กองทัพของนายพล เบย์ เวียงสู้รบกับเวียดมินห์

                  บินห์เซียนเป็นกลุ่มน้อยทางการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุด   .  .  .

 

          พ.ศ.๒๔๙๓    องค์กรหรือกองทัพบินห์เซียนมีกำลังถึง  ๔๐,๐๐๐ คน  เป็นทหารการเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดของเวียดนามใต้  เป็นยุครุ่งเรืองที่สุดขององค์กร

 

 

 

 

 Saigon And Vicinity   

 

 

-----------------------binh-xuyen-3

พื้นที่อิทธิพลขององค์กรบินห์เซียน

 

          ครับ  .  .  .  พักเรื่องนายพล เบเวียน  และ  กองทัพบินห์เซียน  ไว้เท่านี้ก่อน    และ  พ.ศ.๒๔๙๒ นี้  .  .  .  ลุงแซมเข้าแซมในเวียดนาม

          สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าไปในเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒  (ค.ศ.๑๙๔๙)  เนื่องจากช่วยเหลือฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาช่วยเหลือป้องกันร่วมกันแห่งแอตแลนติคเหนือ  (NATO)    ในปีแรกนี้  สหรัฐฯ จ่ายเงินราว  ๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่กลุ่มประเทศภาคีนาโต้   

          แต่  .  .  .  ฝรั่งเศสใช้เงินจำนวนนี้สร้างอำนาจของตนในอินโดจีน  ไม่ตรงตามความมุ่งหมายของสหรัฐฯ

 

ชุดแนะนำช่วยเหลือทางทหาร  (the Military Assistance Advisory Group - MAAG)

          เดือนกันยายน  ๒๔๙๓    ประธานาธิบดี แฮร์รี่ ทรูแมน  (US President Harry Truman)  แห่งสหรัฐอเมริกาส่งชุดแนะนำช่วยเหลือทางทหาร  (the Military Assistance Advisory Group - MAAG)  เข้าไปช่วยเหลือฝรั่งเศส ในการสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์

           พ.ศ.๒๔๙๓    นาย  ดีน  รัสค์  รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐฯ  ยังคาดหวังว่า  ฝรั่งเศสจะสามารถมีชัยต่อเวียดมินห์ได้  จึงประกาศว่า  .  .  . 

          สหรัฐฯ  จะช่วยเหลือโดยตรงแก่ฝรั่งเศสในการสู้รบกับเวียดมินห์   

          อาวุธส่วนแรกไปถึงกรุงไซง่อนในเดือนกรกฎาคม  ๒๔๙๓ 

          สหรัฐฯ  ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สนับสนุนฝรั่งเศสเป็นมูลค่า  ๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐ  อาวุธส่วนแรกไปถึงมือฝรั่งเศสในกรุงไซง่อน  เมื่อเดือนกรกฎาคม  ๒๔๙๓  .  .  .  โดย MAAG กำกับดูแลการใช้งานอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้   

          การช่วยเหลือนี้  ได้เพิ่มเป็น  ๓๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ใน พ.ศ.๒๔๙๖  เพื่อทดแทนอาวุธเก่าของฝรั่งเศส

          อย่างไรก็ตาม    กองทัพฝรั่งเศสพยายามต่อต้านคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อเมริกัน  และไม่อนุญาตให้กองทัพเวียดนามใต้ฝึกการใช้อาวุธใหม่ที่สหรัฐฯ ส่งมาช่วยเพราะขัดนโยบายฝรั่งเศส  ที่ไม่เพียงแต่ต้องการเอาชนะเวียดมินห์เท่านั้น  แต่เพื่อความมั่นคงในการทรงอำนาจความเป็นเจ้าอาณานิคมของตนด้วย    เพราะจะทำให้บทบาทเจ้าอาณานิคมของตนลดลง  และยังพยายามไม่ให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเข้าสังเกตการด้วยว่าฝรั่งเศสได้ใช้อาวุธที่ได้รับที่ไหน และใช้อย่างไร

          ถึงแม้ว่าในที่สุด  ฝรั่งเศสจะร่วมมือ และยอมตาม  แต่  .  .  .  สายเกินแก้

          (ทหารฝรั่งเศสคงมีความรู้สึกว่า  บรรพบุรุษของเขาเคยช่วยเหลืออมริกันในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอเมริกันสมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนสำเร็จเป็นสหรัฐอเมริกา มาก่อน  จึงมีจิตใจต่อต้าน  และในฐานะเจ้าอาณานิคม จะให้อาณานิคมฝึกอาวุธจากชาติอื่น  ตนก็จะเสียเกียรติภูมิ  และกลัวว่าอาวุธเหล่านั้นจะหันปากกระบอกมาหาตน จึงไม่อนุญาตให้เวียดนามใต้ฝึกอาวุธใหม่) 

 

พันธมิตรผู้เห็นอกเห็นใจ

          ฝ่ายเวียดมินห์  ไม่ประสบความสำเร็จในการเผชิญกับหน่วยทหารฝรั่งเศสเท่าใดนัก   เพราะทหารฝรั่งเศสผ่านการฝึกที่ดีกว่า  และมีอาวุธที่ดีกว่า    แต่ใน พ.ศ.๒๔๙๒  เมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์จีนของเมาเซตุงมีชัยต่อกองทัพจีนคณะชาติของจอมพลเชียงไคเชคแล้ว    กองทัพคอมมิวนิสต์จีนของเมาเซตุง พันธมิตรผู้เห็นอกเห็นใจ   ก็ได้สนับสนุนกองทัพเวียดมินห์เป็นอย่างดีในทุกด้าน    รวมทั้งทางการส่งกำลังบำรุงด้วย

          ประกอบกับในช่วงเวลานั้น    โลกคอมมิวนิสต์ยังสมานฉันท์ สามัคคี กลมเกลียวกันดีอยู่    สาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนามจึงได้รับการสนับสนุนทั้งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน  และสหภาพโซเวียต  ในด้านการจัด  ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์  ด้านการฝึกศึกษาอบรม  ทั้งในเรื่องความคิดทางการเมือง  และในเรื่องทางยุทธวิธี  .  .  .  และสนับสนุนแม้กระทั่งด้านกำลังพล

 

กองทัพเวียดมินห์

           ด้านการจัด    กองทัพเวียดมินห์มีการจัดเป็นรูปแบบมาตรฐานขึ้น    แต่ในระยะแรก  การจัดจะยังไม่สมบูรณ์ทั้งกำลังพล  และอาวุธยุทโธปกรณ์

         ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์   ได้รับการสนับสนุนอาวุธประจำหน่วย  และ อาวุธประจำหน่วย มากขึ้น  เช่น  ปืนกลขนาดต่างๆ  ทั้งเบา และหนัก    อาวุธต่อสู้รถถัง    ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง    เครื่องยิงลูกระเบิด    ปืนใหญ่สนาม    ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน    และ ยานเกราะ    อาวุธเหล่านี้ส่วนใหญ่ผลิตในสหภาพโซเวียต  และผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน บ้าง    และยังมีบางส่วนเป็นอาวุธของสหรัฐอเมริกาที่ยึดได้จากสงครามเกาหลี ด้วย

          ด้านการฝึกศึกษา    ทหารเวียดมินห์จำนวนหลายพันได้รับการฝึกในมณฑลกวางสี  สาธารณรัฐประชาชนจีน     พร้อมกับการจัดตั้ง  กองพลน้อยที่ ๒๐๙*  และกองพลที่ ๓๐๘  ในเวลาต่อมา

          *กองพลน้อยที่ ๒๐๙  ได้พัฒนามาจาก "กองพลน้อยโฆษณาติดอาวุธเพื่อปลดแอกเวียดนาม"  (Armed Propaganda Brigade for the Liberation of Vietnam)  ซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๗

          นับว่า  สถานการณ์กองทัพเวียดมินห์ดีขึ้น

 

สหรัฐฯ  กับเวียดนาม

              สหรัฐอเมริกาเริ่มช่วยเหลือฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาช่วยเหลือป้องกันร่วมกันแห่งแอตแลนติคเหนือ  (NATO)    มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒  (ค.ศ.๑๙๔๙)   ในปีแรก  สหรัฐฯ  จ่ายเงินราว  ๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ประเทศภาคีนาโต้   

          แต่  .  .  .  ฝรั่งเศสใช้เงินจำนวนนี้สร้างอำนาจของตน  ในอินโดจีน

 

 เส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔    RC 4

          เส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔    RC 4    คือเส้นทางเลียบพรมแดนจีน - เวียดนาม    ผ่านเมืองสำคัญเช่น  เกาบัง  (Cao Bang)    ดองเค  (Dong Khe)    ทัทเค  (That Khe)    ลางซัน  (Lang Son)     

          เป็นเส้นหลักการส่งกำลังบำรุงที่สำคัญของฝ่ายเวียดมินห์    ที่รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน    นายพล  เกี๊ยบ  ต้องการรักษาและครองเส้นทางนี้ต่อไป   จึงต้องสู้ ไม่ว่าจะสูญเสียสักเท่าใด    เพราะหากฝรั่งเศสควบคุมเส้นทางสายนี้ได้แล้ว  การรับการสนันสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นไปอย่างยากลำบาก   

          ฝ่ายฝรั่งเศส    สร้างหรือพัฒนาเส้นทางนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้สามารถควบคุมพรมแดนจึน- เวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ  .  .  .  ฝรั่งเศสก็ต้องการควบคุมเส้นทางนี้ให้ได้เช่นกัน

   

 

 

 

 

           เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความต้องการตรงกันเช่นนี้  ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วงชิงกัน  .  .  .  สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   การช่วงชิงเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔    ครับ  

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .   การช่วงชิงเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  การช่วงชิงเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  การช่วงชิงเส้นทางอาณานิคมหมายเลข ๔

 

 

 

 




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker