dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๐) - ยึดเดียนเบียนฟู (๒) "it is impregnable" "It is Verdun!"
วันที่ 16/02/2020   20:44:45

*  *  *

สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๐)  - ยึดเดียนเบียนฟู (๒)  "it is impregnable" "It is Verdun!"    

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก  ยึดเดียนเบียนฟู (๑) - ยุทธการคาสเตอร์

          ยุทธการคาสเตอร์    ๒๐ - ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๔๙๖    เมื่อปิดแผนยุทธการคัสเตอร์ในเย็นวันที่  ๒๒  พฤศจิกายน    ฝ่ายฝรั่งเศสมีรี้พลสกลไกรที่เดียนเบียนฟูรวม  ๔,๑๙๕

          นายพล  นาแวรร์  ส่ง  พันเอก  คริสเตียน  เดอ ลา ครัวกซ์ เดอ คาสตรีส์ มาเป็นผู้บัญชาการค่ายเดียนเบียนฟู แทนนายพล  กีลส์ 

          ฝ่ายเวียดมินห์  "จะต้องกวาดล้างกำลังฝรั่งเศสที่ค่ายเดียนเบียนฟูให้ได้  ไม่ว่าจะสูญเสียสักเท่าใด"  และ  "รอโจมตีและรุกอย่างมั่นใจ"

          ๑๒  ธันวาคม    ฝรั่งเศสเสียไลเจา  .  .  .  เดียนเบียนฟู โดดเดี่ยว

          ๑๕  ธันวาคม    ฝ่ายฝรั่งเศสสถาปนาศูนย์การต้านทานขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  ห่างลงไปทางใต้  ๖ กิโลเมตร  .  .  .  อิสซาเบล  (Isabelle)    มีกำลัง    ๓ กองพันทหารราบ    ๑ หมวดรถถัง  (๓ คัน)    ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕ มิลลิเมตร.  ๒ กระบอก 

          พันเอก  ชาร์ลส  ปิโรธ์  ผู้บังคับทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู  พบว่า  ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร  จำนวน  ๒๕ กระบอก    ปืนใหญ่ขนาด  ๑๕๕  มิลลิเมตร  จำนวน  ๔ กระบอก    และเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด  ๑๒๐ มิลลิเมตร  จำนวน  ๑๖ เครื่อง  ใช้การไม่ได้    แต่ก็ยังมั่นใจว่าฝ่ายเวียดมินห์ไม่สามารถเคลื่อนย้ายปืนใหญ่เข้ามาใช้ในสนามรบที่เดียนเบียนฟูได้  

          ในเดือนธันวาคม  ๒๔๙๖ นี้    ฝ่ายเวียดมินห์เริ่มเคลื่อนย้ายกำลัง  ๓ กองพลทหารราบ  และ  กองพลทหารปืนใหญ่ เข้าพื้นที่สูงข่มโดยรอบเดียนเบียนฟูแล้ว    ครับ  กำลังฝ่ายเวียดมินห์ค่อยๆ โอบเข้าหา  .  .  .  เดียนเบียนฟู

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

พ.ศ.๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)

กองพลทหารปืนใหญ่

 

 

 

 ผังการจัดกองพลอาวุธหนักที่ ๓๕๑  (กองพลทหารปืนใหญ่)   ของเวียดมินห์    ใน  ๑  มกราคม  ๒๔๙๗ 

 

 

           กองพลอาวุธหนักที่ ๓๕๑  (กองพลทหารปืนใหญ่) นี้    คาดว่าจัดตั้งใน พ.ศ.๒๔๙๖    เพราะได้เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งเพื่อเตรียมการรบที่เดียนเบียนฟู  ในช่วง  ๒๔ - ๒๘  ธันวาคม  ๒๔๙๖  ด้วย         

          กองพลอาวุธหนักที่ ๓๕๑    เป็นกองพลที่สืบต่อมาจากกรมทหารปืนใหญ่เมืองหลวง  (Capital Artillery Group)  ซึ่งจัดตั้งเมื่อ  ๒๖  มิถุนายน  ๒๔๘๙    ประกอบด้วยอาวุธหลักคือ 

          ปืนใหญ่ขนาด  ๒๕  และ  ๗๕  มิลลิเมตร  ของฝรั่งเศสและญี่ปุ่น  ๔๐ กระบอก   

          ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร  ของสหรัฐอเมริกาที่ยึดมาจากฝรั่งเศส หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุนให้   

          ปืนใหญ่ขนาด  ๗๕  มิลลิเมตร  ของญี่ปุ่น  จำนวน  ๑๒ กระบอก   

          ปืนใหญ่ขนาด  ๗๕  มิลลิเมตร  (ถอดบรรทุก)  ของสหรัฐอเมริกา  จำนวน  ๖ กระบอก   

          เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด  ๑๒๐  มิลลิเมตร  ทั้งของฝรั่งเศส  และของสหภาพโซเวียต

          ข้อมูลจากบางแห่งว่า  กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓๔    มี  ปืนใหญ่ขนาด  ๗๕  มิลลิเมตร  จำนวน  ๑๕ กระบอก  และ เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด  ๑๒๐  มิลลิเมตร  จำนวน  ๒๐ เครื่อง    ได้จัดรวมให้อยู่ในกองพลที่ ๓๕๑  นี้ เช่นเดียวกับกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔๕ ด้วย

 

    เชิญชมภาพอาวุธของกองพลทหารปืนใหญ่เวียดมินห์  ที่ยังไม่เคยเห็นกันสักหน่อย   นะครับ  .  .  .

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         ปืนใหญ่ขนาด  ๒๕  มิลลิเมตรของญี่ปุ่น  (ในพิพิธภัณฑ์กรุงปักกิ่ง)  (ซ้าย)    และ    ปืนใหญ่ขนาด  ๒๕  มิลลิเมตรของฝรั่งเศส  (ขวา)

 

 

 

 

 

 

 

ปืนใหญ่ขนาด  ๗๕ มิลลิเมตรของญี่ปุ่น  (ซ้าย)        ของสหรัฐอเมริกา  (ถอดบรรทุก)  (ขวา)

ของฝรั่งเศส  (ล่าง) 

 

  

 

 

เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด  ๑๒๐ มิลลิเมตร  ผลิตในสหภาพโซเวียต

 

 

 

๙  มกราคม  ๒๔๙๗  (๑๙๕๔) 

           เดียนเบียนฟูได้รับรถถังเบาแบบ  เอ็ม ๒๔  เพิ่มเติมอีก  ๔ คัน    รวมเป็น  ๑๐ คัน    ซึ่งได้จัดเป็น  ๓ หมวดรถถัง  (หมวดละ  ๓ คัน)  และรถบังคับการกองร้อยอีก  ๑ คัน

          นายพล  นาแวร์  เชื่อมั่นว่าค่ายที่เดียนเบียนฟูนั้นมีความแข็งแรงเกินกว่าที่ฝ่ายเวียดมินห์จะเข้าตีให้แตกได้    และนายพล  นาแวร์  ก็เชื่อมั่นต่อไปด้วยว่า  ฝ่ายเวียดมินห์ไม่สามารถเคลื่อนย้ายปืนใหญ่   ขึ้นไปตั้งยิงบนเนินเขาต่าง ๆ ได้   และไม่สามารถใช้ปืนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          บริเวณรอบ ๆ เดียนเบียนฟูเป็นป่าไม้รกทึบ และภูเขาสูง    ทำให้ นายพล  นาแวร์  และฝ่ายเสนาธิการ   ต่างเชื่อมั่นว่า ป่าไม้รกทึบเหล่านี้ จะสามารถเป็นเกราะหรือปราการป้องกันปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์ได้เป็นอย่างดี


 
          ข้อสังเกตุ   -  ข้อพิจารณานี้ไม่ทราบว่าท่านนายพล  นาแวร์ และฝ่ายเสนาธิการของท่านพิจารณาอย่างไร    เพราะฐานที่มั่นตั้งรับเหล่านี้ไม่ได้ตั้งหลบซ่อนอยู่ในป่าทึบ   แต่ได้ดัดแปลงภูมิประเทศ  (คือตัดต้นไม้)  และสร้างที่กำบัง  (บังเกอร์) ต่างๆ  ไม่ได้ประโยชน์จากป่าทึบในการป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้เลย    และฝ่ายฝรั่งเศสถือว่าครองความเป็นเจ้าอากาศจึงไม่คำนึงถึงการพราง และซ่อนเร้น   

           ตรงกันข้ามกับฝ่ายเวียดมินห์ซึ่งได้ประโยชน์จากภูเขาสูง  และป่าไม้รกทึบเป็นอย่างดียิ่ง  ทั้งในเรื่องการพราง  และการซ่อนเร้น  ทั้งสามารถป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้ในระดับหนึ่งด้วย

 

กองพลเวียดมินห์  อีก  ๑ กองพล

๒๔  มกราคม  ๒๔๙๗    กองพลที่ ๓๐๔   มาถึง และเข้าที่ตั้งตามแผน   

         

๒๘  มกราคม  ๒๔๙๗    กองพันพลร่มเวียดนามที่ ๕    (The 5th BPVN)    ได้กลับไปฟื้นฟูหน่วย

 

"ปืนใหญ่"  เปิดตัวทักทาย

          ทางด้านเวียดมินห์นั้นได้เคลื่อนกำลังรวมแล้วถึง  ๔ กองพลทหารราบ   และกองพลอาวุธหนักที่ ๓๕๑   รวม  ๕๐,๐๐๐  นาย   เข้าประจำบนภูเขารอบๆ  เดียนเบียนฟู  มีทั้งปืนใหญ่ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  เช่น  ปืนใหญ่เบาขนาด  ๗๕  มิลลิเมตร    ปืนใหญ่เบาขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร    ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด  ๓๗  มิลลิเมตร    เครื่องยิงลูกระบิดขนาด  ๑๒๐  มิลลิเมตร    ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังขนาด  ๗๕  มิลลิเมตร    ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถึง  ๔ ต่อ ๑    มีคณะลาดตระเวน  เลือก  และเข้าประจำที่ตั้งยิงปืนใหญ่ตามสันเขา  (สันเนินทางทหารไม่ใช่สันเนินทางภูมิศาสตร์)  และที่สูงข่มและเตรียมการให้เป็นที่ตั้งยิงด้วยการลงแรงขุดภูเขาและจัดการพรางไว้อย่างดี

          ดังนั้น  ปืนใหญ่สนามของฝ่ายเวียดมินห์จึงอยู่ในที่ตั้งยิงที่ได้เปรียบทั้งทางยุทธวิธี  และทางขีปนวิธี   

          ทางยุทธวิธี  คือ  การพรางและการซ่อนเร้นเป็นอย่างดีจากป่ารกทึบตามธรรมชาติบริเวณรอบ ๆ เดียนเบียนฟู   และจากการดัดแปลงภูมิประเทศ    ทั้งยังมีการสร้างที่ตั้งยิงลวง    นอกจากนี้  ต้นไม้ในป่าจะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่งอีกด้วย   

          ทางขีปนวิธี  คือ  ปืนใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์อยู่ในที่สูงกว่า  ตรวจการณ์เป้าหมาย  (คือค่ายเดียนเบียนฟู)  ได้ง่ายกว่า    การที่ปืนอยู่สูงกว่าเป้าหมาย  ย่อมได้ระยะยิงไกลกว่า  (เมื่อตั้งมุมยิงเท่ากัน)

 

 "ปืนใหญ่เบาของเรานับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการรบที่เดียนเบียนฟู"

นายพล  โว เหงียน เกี๊ยบ  

         

ฝ่ายฝรั่งเศสประมาณการหรือตีค่าการใช้ปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์ต่ำเกินจริงไปมาก 

                พันเอก  ชาร์ลส พิโรท์  (Charles Piroth)   ผู้บังคับทหารปืนใหญ่ของค่ายฯ มั่นใจในปืนใหญ่ของตนว่าสามารถจะทำลายปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์ได้อย่างรวดเร็ว

 

          ฝ่ายฝรั่งเศสวางปืนใหญ่  ดังนี้

            เกเบรียล    Gabrielle    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางด้านเหนือ    มีเครื่องยิงลูกระเบิด  ขนาด  ๑๒๐ มม.  ๑ กองร้อย

          แอน - มารี  Anne - Marie    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันตกเฉียงเหนือ    มีเครื่องยิงลูกระเบิด  ขนาด  ๑๒๐ มม.  ๑ กองร้อย          

          บีทรีซ    Beatrice    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันออกเฉียงเหนือ 

           ฮิวโกต์    Huguette    ระวังป้องกันสนามบินทางด้านเหนือ 

          ฟรังซัวส์    Francoise    ระวังป้องกันทางด้านตะวันตก 

          โดมินิค  และ อีเลียน    Dominique and Eliane    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับการเข้าตีจากแนวเขาทางด้านตะวันออก มีที่ตั้งบนเนินสูงข่ม  

          คลาวดีน   Claudine    ระวังป้องกันสนามบินทางด้านใต้ และเป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันตกเฉียงใต้    มีปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มม.   รวม  ๓ กองร้อย  (จาก  ๒ หน่วย)    และปืนใหญ่ขนาด  ๑๕๕  มม.   อีก  ๑ กองร้อย     เครื่องยิงลูกระเบิด  ขนาด  ๑๒๐ มม.  ๑ กองร้อย

          อิซาเบลล์    Isabelle    ระวังป้องกันสนามบินสำรองทางด้านใต้ อยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ  ๖ กิโลเมตร    มีกำลังทหารราบ  ๓ กองพัน    รถถัง  ๑ หมวด  (๓ คัน)  และปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร  ๒ กองร้อย 

 

                                                                                                                                                    ที่ตั้งปืนใหญ่ฝรั่งเศส 

 

              ครับ  .  .  .  ฝ่ายฝรั่งเศสประมาณการหรือตีค่าการใช้ปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์ต่ำเกินจริงไปมาก  .  .  .  กว่าฝรั่งเศสจะรู้ว่าถูกปืนใหญ่ข้าศึกจำนวนมากปิดล้อมก็เมื่อ  .  .  .

๓๑  มกราคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)    (ตรุษญวน -?)  

          เวียดมินห์ใช้ปืนใหญ่เปิดฉากยิงเป็นครั้งแรกด้วยปืนใหญ่เพียง  ๓ กระบอก    และจุดระเบิดตามที่ตั้งยิงลวง    

          ฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงโต้ตอบเป็นจำนวนพันกว่านัด    และใช้เครื่องบินเข้าโจมตีทางอากาศอีกด้วย    แต่การยิงด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศนั้นกระทำต่อ  .  .  .  ที่ตั้งยิงลวง    ส่วนปืนใหญ่ (จริง) นั้น  เมื่อยิงแล้ว  (เพียงไม่กี่นัด)  ก็กลับเข้าที่กำบังและซ่อนพรางดังเดิมจึง  .  .  .  ไม่เป็นอันตราย      

 

เวลานี้ฝรั่งเศสรู้ตัวแล้วว่า  .  .  .  เวียดมินห์มีปืนใหญ่ใช้  .  .  .  ใช้ปืนใหญ่เป็น  และ  .  .  .  ล้อมเดียนเบียนฟูไว้แล้ว

 

การตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศส  

          การออมกำลังในแนวรบในภาคเหนือ  ภาคกลาง  และภาคใต้  เพื่อตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศสไม่ให้เคลื่อนย้ายกำลังไปเพิ่มเติมที่เดียนเบียนฟูได้นั้น    ฝ่ายเวียดมินห์ได้เปิดฉากการรบในภาค  หรือพื้นที่ต่างๆ  เพื่อตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศส  ดังนี้

          ๑. ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง  (ในแนวเดอ แลทเทอร์)

          ๒. ในพื้นที่เดียนเบียนฟู          

          ๓. เมืองท่าแขก  และภาคกลางของลาว

               แนวรบด้านนี้    ฝ่ายเวียดมินห์ใช้หน่วยอาสาสมัครประชาชนเวียดนาม  และกองกำลังของขบวนการประเทศลาวเข้าทำการรบ    ในต้นเดือนธันวาคม  ๒๔๙๖    (ระยะเวลาใกล้เคียงกับการรบที่ไลเจา)    กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองท่าแขกต้องถอยไปที่เมืองเซโน    และฝ่ายฝรั่งเศสต้องเคลื่อนกำลังทหารจากเมืองเว้มาเพิ่มเติมกำลังด้วย

          ที่ราบสูงโบโลเวน  และเมืองอัตตะปือ

               ปลายเดือนธันวาคม  ๒๔๙๖     ฝ่ายเวียดมินห์รุกคืบหน้าลงไปทางใต้อีก  คือมุ่งสู่  อัตตะปือ  สาละวัน  และเซโปน    ฝ่ายฝรั่งเศสต้องเสริมกำลังที่ปากเซเป็น  ๒ กองพัน   

          ๔. คอนทูม  เปลกู  และทางเหนือของที่ราบสูงตะวันตกของเวียดนามภาคกลาง

               ฝ่ายฝรั่งเศสกำหนดแผนยุทธการแอตแลนต้า  ทำการรบในพื้นที่เวียดนามภาคกลางเพื่อรุกเข้าที่ราบชายฝั่งของเวียดนามภาคกลาง  โดยใช้กำลังจากเมืองนาตรังถึง  ๑๕,๐๐๐    แต่ถูกฝ่ายเวียดมินห์โจมตีใน  ๒๖  มกราคม  ๒๔๙๗    และยึดเมืองคอนทูม  เปลกู  ได้ในเดือน  กุมภาพันธ์  ๒๔๙๗

          ๕. ฝ่ายเวียดมินห์รุกเข้าสู่เมืองหลวงพระบางในเดือนมกราคม  ๒๔๙๗

          ๖. การรบก่อกวนแนวหลังของฝรั่งเศส

               ฝ่ายเวียดมินห์ปฏิบัติการรบเพื่อก่อกวนแนวหลังของฝรั่งเศสในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง  ที่เมืองกวางบินห์  กวางตรี  ทัวเทียน  และในแคว้นนัมโบ  (เวียดนามตอนใต้)

 

          ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามรวมกำลังไว้ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง เพื่อจะเป็นฝ่ายรุก    แต่  .  .  .  แต่การปฏิบัติดังกล่าว  กลับเป็นไปตามแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายเวียดมินห์ที่ต้องการตรึงกำลังของฝรั่งเศสให้กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่  ไม่ให้รวมกำลังไปที่หนึ่งที่ใดได้    ดังนั้น  เวียดมินห์จึงเป็นฝ่ายรุก  เป็นฝ่ายริเริ่ม  บีบบังคับ ให้ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายรับต้องคอยแก้ปัญหา  และต้องกระจายกำลังออกไปทุกแห่งที่มีปัญหาเพื่อป้องกันตนเอง


          ในเดือนธันวาคม  ๒๔๙๖  และ  มกราคม  ๒๔๙๗    ฝ่ายฝรั่งเศสได้มีการเคลื่อนย้ายทางอากาศหน่วยอื่นมาทดแทนกองพันพลร่มหลายกองพัน    เพื่อให้สามารถใช้กองพันพลร่มเหล่านี้ได้อีกในการปฏิบัติการอื่น

 

 

มุมหนึ่งของค่ายเดียนเบียนฟู  เมื่อ   ๓  กุมภาพันธ์  ๒๔๙๗

 

"ปืนใหญ่ข้าฯ ใครอย่าแตะ"

          หลังจากถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่  เมื่อ  ๓๑  มกราคม  ๒๔๙๗  แล้ว    ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามใช้หน่วยลาดตระเวนค้นหาเพื่อเข้าตีที่ตั้งปืนใหญ่ของเวียดมินห์   แต่ถูกฝ่ายเวียดมินห์ตีโต้กลับมาทุกครั้ง 

๖  กุมภาพันธ์   

          ฝ่ายฝรั่งเศสจักำลังลาดตระเวนที่เนิน  ๗๘๑  (ทางตะวันออก)  ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ตั้งยิงปินใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์ 

๑๒  กุมภาพันธ์   

          ได้จัดกำลัง  จากกองพัน  8th.BPC,  3rd.RTA,  3rd REI    และรถถัง  ๑ หมวด  ลาดตระเวนที่เดิมอีก    การปฏิบัติทั้งสองวันนี้ไม่พบทั้งฝ่ายเวียดมินห์ และที่ตั้งยิงปินใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์ 

๑๕  และ  ๑๖  กุมภาพันธ์   

          กองพัน  8th.BPC,  1st. BEP กับ  3/3rd. RTA    ลาดตระเวนและเข้ายึดเนิน  ๕๖๑  และเนิน  ๖๗๔    (ไม่ปรากฏในภาพ)     ได้ปะทะกับฝ่ายเวียดมินห์    ฝ่ายฝรั่งเศสสูญเสีย  (เสียชีวิตและบาดเจ็บ)  รวม  ๑๕ นาย    แต่ก็ยังไม่พบที่ตั้งยิงปินใหญ่

๒๐  กุมภาพันธ์   

          กองพัน  8th.BPC,  1st. BEP  ได้พบที่ตั้งยิงปืนใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์บริเวณทางเหนือของที่มั่นเกเบรียล  เป็นที่ตั้งยิงที่มีการดัดแปลงเป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  ภาพการวางกำลังของกองกำลังฝรั่งเศส ในห้วงต้นเดือนมีนาคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔) 

สามเหลี่ยมเล็ก ๆ  ที่มีเลขกำกับนั้น  คือความสูงของยอดเขา

ภาพจาก http://www.dienbienphu.org/english

 

มีนาคม  ๒๔๙๗

          ๒  มีนาคม    นายพล  กีลส์    ซึ่งสุขภาพไม่สมบูรณ์   เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส

          ๔  มีนาคม    ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามเปิดเส้นทางแต่ไม่สำเร็จ  จึงวางแผนการรุกโต้ตอบ  ด้วยการลาดตระเวนด้วยกำลังเพื่อให้ทราบสถานการณ์ของเดียนเบียนฟู

          ๗  มีนาคม
 
            นาวาอากาศเอก นิโคท์  ผู้บังคับกองบินลำเลียงฮานอย  (Hanoi air transport commander)  สั่งให้เครื่องบินลำเลียงส่งเสบียงทางอากาศในระดับ  ๖,๕๐๐ ฟุตขึ้นไป  เพื่อลดอันตรายจากปืนกล    

            ทางภาคพื้นดิน    พันเอก  เดอ  คาสตรีส์  สั่งให้กำลังเข้าโจมตีรังปืนกลของเวียดมินห์ซึ่งอยู่ห่างเดียนเบียนฟู ไปทางตะวันตก  ๒ ไมล์

               ผลการโจมตีได้ผลดีเกินคาด    สามารถทำลาย  และยึดอาวุธของฝ่ายเวียดมินห์ได้หลายรายการ    เช่น  ปืนกลต่อสู้อากาศยาน  ๑๗ กระบอก    เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง  (คจตถ. - bazookas)  ๒ เครื่อง    ปืนกล  ๔๐ กระบอก    ปืนเล็ก  ๑,๐๐๐ กระบอก  

          ทหารเวียดมินห์เสียชีวิต  ๓๕๐ นาย  และบาดเจ็บประมาณ  ๑,๐๐๐    ถูกจับเป็นเชลย  ๔๐ คน    

          ส่วนทางฝ่ายฝรั่งเศสเสียทหารไปเพียง  ๒๐ นาย  (รวมนายทหาร  ๒ นาย)    บาดเจ็บ  ๗๖  นาย  (รวมนายทหาร  ๕ นาย)  เท่านั้น

 

สถานการณ์ก่อนการรบ

             ตั้งแต่เดือนมกราคม  ถึงต้นเดือนมีนาคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)    ฝรั่งเศสจัดกำลังออกลาดตระเวณรอบ ๆ ค่ายเดียนเบียนฟูได้ปะทะกับฝ่ายเวียดมินห์ อยู่เสมอ    นายพล นาแวร์ และ นายพล  โคญี่ ได้ตกลงใจเพิ่มเติมกำลังพล  และหน่วยปืนใหญ่สนามตามพื้นที่ล่อแหลมต่าง ๆ   เป็นการเสริมอำนาจกำลังรบ  และความแข็งแกร่งในการตั้งรับให้เดียนเบียนฟู

             ในเดือนมีนาคม  ๒๔๙๗     เดียนเบียนฟูมีกำลังพลจำนวนสูงถึงประมาณ  ๑๓,๐๐๐ นาย    ประกอบด้วย    ทหารราบ  ๑๗ กองพัน    รถถัง  ๑ กองร้อย  (๓ หมวด  หมวดละ  ๓ คัน  และรถบังคับการกองร้อยอีก  ๑ คัน  รวม  ๑๐ คัน)    ทหารปืนใหญ่  ๓ กองพัน    และหน่วยสนับสนุนและบริการ    เช่น  คลังอาวุธกระสุน ฯลฯ    มีกระสุนสำรองจำนวนมหาศาล    กระจายอยู่ตามที่มั่นต้านทานหลัก  ๘ แห่ง    ดังนี้

 

 

 เขตเหนือ

          เกเบรียล    Gabrielle    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางด้านเหนือ

          แอน - มารี    Anne - Marie    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันตกเฉียงเหนือ 

  

 

เขตกลาง 

          บีทรีซ    Beatrice    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันออกเฉียงเหนือ 

          ฮิวโกต์    Huguette    ระวังป้องกันสนามบินทางด้านเหนือ 

          ฟรังซัวส์    Francoise    ระวังป้องกันทางด้านตะวันตก 

          โดมินิค  และ อีเลียน    Dominique and Eliane    เป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับการเข้าตีจากแนวเขาทางด้านตะวันออก มีที่ตั้งบนเนินสูงข่ม  

          คลาวดีน    Claudine    ระวังป้องกันสนามบินทางด้านใต้ และเป็นที่มั่นต้านทานตั้งรับทางตะวันตกเฉียงใต้

 

          ที่ตั้งทั้งหมดนี้มีกำลังยึดรักษารวม  ๑๔ กองพัน    โดยให้ รักษาที่มั่นเกเบรียล  (ทางเหนือ)  และที่มั่นบีทรีซ  (ทางตะวันออก)  แห่งละ  ๑ กองพัน    อีก  ๑๒ กองพันที่เหลือใช้รักษาที่มั่นอื่นๆ อีก  ๕ แห่ง  ได้แก่   แอน- มารี    ฮิวโกต์    คลาวดีน    โดมินิค  และ อีเลียน 

        

เขตใต้  

          อิซาเบลล์    Isabelle    ระวังป้องกันสนามบินสำรองทางด้านใต้ อยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ  ๖ กิโลเมตร    มีกำลังทหารราบ  ๓ กองพัน    รถถัง  ๑ หมวด  (๓ คัน)  และปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร  ๒ กระบอก  (เพื่อให้ยิงสนับสนุนซึ่งกันและกันได้กับที่มั่นต้านทานหลักทางตอนเหนือและตอนกลาง)    

 

 

 

 

 

 

 

อำนาจกำลังรบเปรียบเทียบ

ฝ่ายฝรั่งเศส

           อำนาจกำลังรบที่มีตัวตน

          ฝรั่งเศสวางกำลังป้องกันที่ลุ่มซึ่งรายล้อมไปด้วยหุบเขาที่ปกคลุมด้วยป่าทึบ   ใช้กำลังหลายหน่วยสนธิกำลัง   ประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจ  (จากหน่วยพลร่มและหน่วยปืนใหญ่), กองทหารต่างด้าว  (Foreign Legionaires), กองทหารอัลจีเรีย และกองทหารมอร็อคโค (Algerian and Moroccan tirailleurs), และกองทหารประจำถิ่นที่เกณฑ์มาจากประชาชนในท้องถิ่นในอินโดจีน    วางกำลังในป้อมปราการแข็งแรงมั่นคง

            กำลังเผชิญหน้า

          - ๑๗  กองพันทหารราบ    ประมาณ  ๑๐,๘๐๐ นาย, และกองหนุนรวมแล้วเกือบ ๑๖,๐๐๐ นาย    (ตัวเลขนี้อาจจะแตกต่างกันบ้าง)

          - ๑ กองร้อยรถถังเบา แบบเอ็ม ๒๔    จำนวน  ๑๐ คัน  (๓ หมวด ๆ  ละ  ๓ คัน    รถบังคับการกองร้อยอีก  ๑ คัน)

          - ๑ กองพันขุดสนามเพลาะ  (ใช้รบอย่างทหารราบได้เมื่อจำเป็น)

          หน่วยสนับสนุนการรบ

               การยิงสนับสนุน  

          - ๓ กองพันทหารปืนใหญ่    มีอาวุธดังนี้

               ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕  มิลลิเมตร  จำนวน  ๒๘ กระบอก   

               ปืนใหญ่ขนาด  ๑๕๕  มิลลิเมตร  จำนวน  ๔ กระบอก 

               เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด  ๑๒๐ มิลลิเมตร  จำนวน  ๒๔ เครื่อง   

          (หากนำจำนวนที่ใช้การไม่ได้ซึ่ง  พันเอก  ชาร์ลส  ปิโรธ์  พบเมื่อ  ๒๕  ธันวาคม  มาคิดรวมแล้ว  เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งในการรบ )

               การสนับสนุนทางอากาศ

          - เครื่องบินประจำการ  (ไม่ทราบชนิด)  ๑๒ เครื่อง    เตรียมพร้อมโจมตีทางอากาศ  และสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก

               ยุทโธปกรณ์อื่นๆ

          - รถยนตร์บรรทุก  ๒๐๐ คัน          

          การเพิ่มเติมกำลัง

          - กองหนุนเคลื่อนที่เร็ว  (Mobile Reserves)  พลร่ม  ๖ - ๗ กองพัน 

          อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน  - 

ฝรั่งเศสทุกคนมั่นใจในอำนาจกำลังรบที่มีตัวตน

 

ฝ่ายเวียดมินห์  

           อำนาจกำลังรบที่มีตัวตน

           กองกำลังฝ่ายเวียดมินห์ประกอบด้วย   ทหารหลายกองพล  (๔ กองพลทหารราบ  และ  ๑ กองพลทหารปืนใหญ่)    ทหารรักษาดินแดน  และทหารจรยุทธ  ๑๕๐,๐๐๐     สนับสนุนด้วย    แรงงานแบกหามนับเรือนหมื่น เรือนแสนวางกำลังบริเวณรอบ ๆ ของเดียนเบียนฟู  ดังนี้

          กำลังเผชิญหน้า

            หน่วยดำเนินกลยุทธ   

               กองพลที่  ๓๑๒    กรมที่ ๑๔๑    กรมที่ ๑๖๕    และ  กรมที่ ๒๐๙

               กองพลที่  ๓๐๘    กรมที่ ๙๒    กรมที่ ๑๐๒    และ  กรมที่ ๓๐๘

               กองพลที่  ๓๐๔    กรมที่ ๙    กรมที่ ๕๗    และ  กรมที่ ๖๖   

               กองพลที่  ๓๑๖    กรมที่ ๙๘    กรมที่ ๑๗๔    และ   กรมที่ ๑๗๖     
 
                         รวม   ๓๓  กองพันทหารราบ    (ใช้เข้าทำการรบ  ๒๗ กองพัน    อีก  ๖ กองพัน  มีภารกิจรักษาเส้นทาง)   

            หน่วยสนับสนุนการรบ          

               การยิงสนับสนุน    กองพลที่  ๓๕๑  (กองพลทหารปืนใหญ่)

                                             ปืนใหญ่ขนาด   ๑๐๕  มม.  ๒๐ กระบอก

                                             ปืนใหญ่ขนาด   ๗๕  มม.    ๒๐ กระบอก

                                            เครื่องยิงลูกระเบิด (ค.)    และ  ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง (ปรส.) จำนวนมาก

          กระสุนปืนใหญ่  และอาวุธข้างต้น    มีสำรองถึง  ๑๐๐,๐๐๐ นัด    และสามารถส่งกำลังเพิ่มเติมจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีก

            การป้องกันภัยทางอากาศ            

                    ปืนกลขนาด  ๑๒.๘  มม.   ๑๐๐  กระบอก

                    ปตอ. ขนาด  ๓๗  มม.ของรัสเซีย    ๔  กองพัน    จำนวน  ๑๖  กระบอก และอะไหล่อีก   ๖๔ ชุด  (จากจีน)

            การเพิ่มเติมกำลัง

               ฝ่ายเวียดมินห์มีขีดความสามารถในการเพิ่มเติมกำลังโดยใช้กองหนุนจากจีน   ๑๐๐,๐๐๐  นาย    ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วโดยทางรถยนต์
 
           อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน  -  

เวียดมินห์พร้อมแล้วที่จะ  "เชือดคอฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู"

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทุกคนมั่นใจในอำนาจกำลังรบที่มีตัวตน - พร้อมแล้วที่จะ "เชือดคอฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู"

 

"it is impregnable" - "It is Verdun!"

           นายพล  นาแวรร์ เชื่อมั่นว่าค่ายที่เดียนเบียนฟูนั้นมีความแข็งแกร่งมาก  แข็งแกร่งเกินกว่าที่ฝ่ายเวียดมินห์จะสามารถทำการเข้าตีให้แตกได้    

          ระหว่างเดือนพฤศจิกายน  ๒๔๙๖  ถึง  ต้นเดือนมีนาคม  ๒๔๙๗    ค่ายเดียนเบียนฟูได้ต้อนรับบุคคลสำคัญและผู้ดำรงตำแหน่งสูงเป็นจำนวนมาก  เช่น

            - Mr. PLEVEN, Minister for National Defence

            - Mr. de CHEVIGN?, Secretary of State for War

            - Mr. Marc JACQUET, Secretary of State for the Associated States

            - General ELY, Chief of Staff Armed Forces

            - General BLANC, Chief of Staff Land Forces

            - General FAY, Chief of Staff Air Force

            - General HINH, Chief of Staff Vietnamese Armed Forces

            - Sir O' DANIEL, Head of the American Military Assistance Mission,

                     รายชื่อเหล่านี้คัดสรรมาเฉพาะที่สำคัญจริงๆ  เท่านั้นนะครับ

          แต่ละท่านต่างประทับใจและกล่าวชื่นชม  ไม่มีใครแสดงความเป็นห่วงหรือกังวลแม้แต่น้อย  

          - Mr. de CHEVIGNE    " it is impregnable "  

          - General BLANC    " It is Verdun! "

 

 หมายเหตุ      Verdun    เมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเมอส  (Meuse)  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส    เมื่อครั้งสงครามโลก ครั้งที่ ๑    ฝรั่งเศสวางแนวต้านทานหลักปัองกันการบุกของเยอรมันทางตอนเหนือของเมืองแวร์ดังนี้    การรบที่แวร์ดัง  ๒๑  กุมภาพันธ์ - ๑๘  ธันวาคม  ๒๔๕๙  (ค.ศ.๑๙๑๖)    เป็นการรบใหญ่ในแนวรบด้านตะวันตก    ทั้งสองฝ่ายใช้กระสุนปืนใหญ่รวมกันถึง  ๔๐ ล้าน นัด    มีทหารเสียชีวิตมากถึง  ๒๕๐,๐๐๐    บาดเจ็บ ราว  ๕๐๐,๐๐๐  (ทั้งสองฝ่าย)

          ฝรั่งเศสสามารถรักษาที่มั่นไว้ได้

          Verdun    เป็นสัญญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของที่มั่นตั้งรับซึ่งมีชัยต่อฝ่ายเข้าตี

 

  

 

 

Aerial view of the Dien Bien Phu camp.

Source: ECPAD France

 สิ่งบอกเหตุ  -  อพยพประชาชน

          สิ่งบอกเหตุที่ระบุว่าทางฝ่ายเวียดมินห์จะทำการเข้าตี   เริ่มขึ้นจากการที่ทางฝ่ายเวียดมินห์ทยอยอพยพประชาชนที่อาศัยในบริเวณรอบ ๆ เดียนเบียนฟูออกจากพื้นที่  

          นอกจากนี้  ยังมีรายงานว่า โฮจิมินห์ และ นายพล  เกี๊ยบ ได้มาตรวจภูมิประเทศ ที่ เมืองพัน   (Muong Phan)  ซึ่งอยู่ห่างจาก เดียนเบียนฟูไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ  ๑๕ กิโลเมตร    (เมืองพันอยู่ระหว่างเดียนเบียนฟู -  ตวนเกียว   Tuan Giao   ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพันออกไปอีกประมาณ  ๓๕ กิโลเมตร)     ก่อนหน้าวันที่   ๑๓  มีนาคม   ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายเวียดมินห์ทำการเข้าตี เพียงไม่กี่วัน

 

            ในห้วง  ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๙๖  (ค.ศ.๑๙๕๓) จนถึง  ๑๒  มีนาคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)   ก่อนที่ฝ่ายเวียดมินห์จะเข้าตีใหญ่    มีการปะทะระหว่างกองกำลังฝรั่งเศสและเวียดมินห์   ทางฝรั่งเศสมีอัตราสูญเสียที่ค่อนข้างสูง  คือ ตาย  ๑๕๑  นาย  บาดเจ็บ  ๗๙๘  นาย  และ สูญหาย  ๘๘ นาย    รวมสูญเสียทั้งสิ้น   ๑,๐๗๓  นาย    จากยอดกำลังพลรวม   ประมาณ   ๑๖,๐๐๐   คิดเป็นร้อยละ  ๖.๔๘

 

          ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม    ฝ่ายเวียดมินห์ก็ตระเตรียมการเสร็จ    ปืนใหญ่เข้าที่ตั้งยิง    จัดตั้งฐานปฏิบัติการ    อาวุธยุทโธปกรณ์    เสบียงอาหาร  พร้อมสรรพ    และ  .  .  .  การอบรมชี้แจงกำลังพลให้ทราบความมุ่งหมายและความสำคัญของการยุทธ

 

การลาดตระเวนครั้งสุดท้ายในเดียนเบียนฟู     

          ๑๑  มีนาคม    ฝรั่งเศสลาดตระเวนที่เนิน ๕๕๓    ซึ่งห่างจากป้อมค่ายเพียง  ๓ กิโลเมตร    มีการปะทะ  และ  ฝ่ายฝรั่งเศสสูญเสียมาก  .  .  .  นับเป็นการลาดตระเวนครั้งสุดท้ายในเดียนเบียนฟู  

 

    

 

 

 

สถานการณ์ที่  เดียนเบียนฟู    ๑๒  มีนาคม  ๒๔๙๗

 

 

          ครับ  .  .  .  คืนนี้  คืนวันที่  ๑๒  มีนาคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)    ขอให้ทุกท่านนอนหลับให้สนิท  และฝันดี  .  .  .  ก่อนที่จะถึง  .  .  .  ๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗  .  .  .  และ  อีก  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน  เบียน  ฟู 

   

 

 

 

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน  เบียน  ฟู (๑)

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน  เบียน  ฟู (๑)

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน  เบียน  ฟู (๑) 

 

 

 




บทความจากสมาชิก




แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker