dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๑) - ๕๗ วันใน . . . เดียน เบียน ฟู (๑) - บีทริซ ๑๓ มีนาคม ๒๔๙๗
วันที่ 16/02/2020   20:44:24

*  *  *

สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๑)  -  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๑) - บีทริซ  ๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗       

 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก  "it is impregnable" - "It is Verdun!"

                   ๓๑  มกราคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)   เวียดมินห์ใช้ปืนใหญ่เปิดฉากยิงเป็นครั้งแรกด้วยปืนใหญ่เพียง  ๓ กระบอก    และจุดระเบิดตามที่ตั้งยิงลวง    ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ยิงโต้ตอบเป็นจำนวนพันกว่านัด  และใช้เครื่องบินเข้าโจมตีทางอากาศด้วย

การตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศส

                    เวียดมินห์ตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศสไม่ให้เคลื่อนย้ายกำลังไปเพิ่มเติมที่เดียนเบียนฟูได้   โดยเปิดฉากการรบในภาค  หรือพื้นที่ต่างๆ  เพื่อตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศส  ดังนี้

          ๑. ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง  (ในแนวเดอ แลทเทอร์)

          ๒. ในพื้นที่เดียนเบียนฟู          

          ๓. เมืองท่าแขก  และภาคกลางของลาว    ในเดือนธันวาคม  ๒๔๙๖    กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองท่าแขกต้องถอยไปที่เมืองเซโน    และฝ่ายฝรั่งเศสต้องเคลื่อนกำลังทหารจากเมืองเว้มาเพิ่มเติมกำลังด้วย

             ที่ราบสูงโบโลเวน  และเมืองอัตตะปือ    ฝ่ายฝรั่งเศสต้องเสริมกำลังด้านนี้เป็น  ๒ กองพัน

          ๔. คอนทูม  เปลกู  และทางเหนือของที่ราบสูงตะวันตกของเวียดนามภาคกลาง

          ๕. ฝ่ายเวียดมินห์รุกเข้าสู่เมืองหลวงพระบางในเดือนมกราคม  ๒๔๙๗

          ๖. การรบก่อกวนแนวหลังของฝรั่งเศส

               ฝ่ายเวียดมินห์ปฏิบัติการรบเพื่อก่อกวนแนวหลังของฝรั่งเศสในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง  ที่เมืองกวางบินห์  กวางตรี  ทัวเทียน  และในแคว้นนัมโบ  (เวียดนามตอนใต้)

          ทำให้ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายรับ  ต้องกระจายกำลังออกไปทุกแห่งที่มีปัญหาเพื่อป้องกันตนเอง

                     นายพล  นาแวรร์ เชื่อมั่นว่าค่ายที่เดียนเบียนฟูนั้นมีความแข็งแกร่งมาก  แข็งแกร่งเกินกว่าที่ฝ่ายเวียดมินห์จะสามารถทำการเข้าตีให้แตกได้    หลายท่านออกปากว่า  "it is impregnable"  "It is Verdun!"

สิ่งบอกเหตุ          

           - ฝ่ายเวียดมินห์ทยอยอพยพประชาชนที่อาศัยในบริเวณรอบ ๆ เดียนเบียนฟูออกจากพื้นที่  

          - โฮจิมินห์ และ นายพล  เกี๊ยบ ได้มาตรวจภูมิประเทศ ที่ เมืองพัน   (Muong Phan)  ซึ่งอยู่ห่างจาก เดียนเบียนฟูไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ  ๑๕ กิโลเมตร    ก่อนหน้าวันที่   ๑๓  มีนาคม   ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายเวียดมินห์ทำการเข้าตี เพียงไม่กี่วัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์ที่  เดียนเบียนฟู    ๑๒  มีนาคม  ๒๔๙๗

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗    เริ่ม  .  .  .  การรบที่  .  .  .  เดียนเบียนฟู 

 

 


 

 

ที่ตั้งกองกำลังฝรั่งเศสในวันที่  ๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗  (ค.ศ.๑๙๕๔)  

ภาพจากหนังสือ   Hell in a very Small Place: The siege of Dien Bien Phu
 

วันเสาร์ที่  ๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗    

          ชีวิตในค่ายเดียนเบียนฟูยังคงดำเนินไปตามปรกติ  .  .  .  จนกระทั่ง  .  .  .                   
 
          เวลา  ๑๗๐๐     ฝ่ายเวียดมินห์เริ่มด้วยการใช้ปืนใหญ่ยิงเตรียมอย่างหนักต่อที่มั่น  เกเบรียล และ  บีทริซ    ประมาณ  ๙,๐๐๐ นัด 
  
 

 บีทริซ    ๑๓  มีนาคม  ๒๔๙๗, ๑๗๐๐ 

          กระสุนปืนใหญ่ชุดแรกของเวียดมินห์  ได้ยิงถูกที่บังคับการพอดี   ทำให้  พันโท  จูลส์  กูเชอร์  (Lt.Col. Jules Gaucher)   ผู้บังคับบัญชาที่มั่นบีทรีซ  และนายทหารฝ่ายอำนวยการอีก   ๓  นาย  เสียชีวิต ทันที
 
          ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามใช้ปืนใหญ่ตอบโต้   แต่ไม่ได้ผล   เนื่องจากปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์อยู่ในที่ตั้งยิงซึ่งได้มีการกำบังและซ่อนพรางเป็นอย่างดี  ทำให้จำกัดการตรวจการณ์ของฝ่ายฝรั่งเศส

          ปืนใหญ่ฝรั่งเศสไม่สามารถยิงต่อต้าน หรือตัดรอนกำลังปืนใหญ่เวียดมินห์ได้

          บัดนี้    ฝรั่งเศสประจักษ์แล้วว่าเวียดมินห์มีปืนใหญ่ใช้  และ ใช้ปืนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"Attack"

          เวลา  ๑๘๔๕    กรมที่  ๑๔๑  และ ๒๑๙  ของกองพลที่  ๓๑๒  เวียดมินห์   เข้าตี บีทริซ ด้วยยุทธวิธีคลื่นมนุษย์  .  .  .  การรบเป็นไปอย่างดุเดือด

          ในการเข้าตีครั้งนี้มีวีรกรรมของฝ่ายเวียดมินห์ คือ  สิบเอก  ฟาน ดินห์ เกียต  (Phan Dinh Giot)  ที่พลีชีพโดยเอาตัวเข้าบังกระสุนปืนกล เพื่อให้กำลังที่ตามมาเข้าทำลายรังปืนกลฝรั่งเศสได้    อีกรายหนึ่งคือ  สิบเอก  โท วินห์ เดียน  (Toe Vinh Dien)  ซึ่งทอดตัวลงขวางล้อปืนใหญ่ขณะที่กำลังถอยกลับ      

          ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้พยายามต้านทานการเข้าตีของฝ่ายเวียดมินห์อย่างเหนียวแน่น  

           ทั้งสองฝ่ายต่างสู้รบกันเป็นสามารถ  และ สูญเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก

          เวลา  ๒๓๐๐    เวียดมินห์ได้รวมกำลังอีกครั้งเพื่อเข้าตีระลอกต่อไป   

 

บีทริซ    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗

                    ประมาณ  ๐๐๑๕     ที่มั่นตั้งรับบีทริซพยายามต้านทานจนสุดกำลัง    ต้องขอให้ปืนใหญ่ยิงกระสุนแตกอากาศเหนือศีรษะตนเอง   เป็นข้อความสุดท้ายจากบีทริซ

 

         หมายเหตุ  - คำว่า  "ยิงแตกอากาศเหนือศีรษะตนเอง" หรือ "ยิงแตกอากาศกลางฐาน"  เป็นเทคนิคการยิงแบบหนึ่งของทหารปืนใหญ่   จะใช้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเมื่อข้าศึกเข้ามาในที่มั่นของฝ่ายเราได้และ ที่มั่นของเรามีบังเกอร์หรือที่กำบังมิดชิดปลอดภัย    ฝ่ายเราจะหลบเข้าในที่กำบัง ปล่อยให้ศึกอยู่ข้างนอกซึ่งไม่มีที่กำบัง    เมื่อขอให้ปืนใหญ่ฝ่ายเรายิงแตกอากาศกลางฐาน  ปืนใหญ่จะยิง "แตกอากาศ" ให้กระสุนระเบิดสูงจากพื้นดินประมาณ  ๒๐ เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่จะสาดสะเก็ดระเบิดเป็นอันตรายต่อคนนอกที่กำบังอย่างที่สุด   แต่ไม่ทำลายที่กำบังแข็งแรง    ฝ่ายเราซึ่งอยู่ในที่กำบังจึงปลอดภัย   และคอย "เก็บ" ข้าศึกที่เล็ดลอดเข้ามาในที่กำบัง    แต่วิธีนี้ จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อข้าศึกมีจำนวนจำกัด  ไม่มีกำลังมาเพิ่มเติมมากนัก   

          เทคนิค "ยิงแตกอากาศเหนือศีรษะตนเอง" หรือ "ยิงแตกอากาศกลางฐาน" นี้  ผมเองได้ปฏิบัติสองครั้ง     ครั้งแรกก็เมื่อครั้งเป็น "คนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว"  อยู่ที่ภูเทิง ทุ่งไหหินโน่น  ยิงให้ บีซี ๖๐๙  บนยอดภูเทิง  เมื่อ  ๑๙  ธันวาคม  ๒๕๑๔    .  .  .  ครับ  เรียบโร้ย  .  .  .  รายละเอียดในตับ "คนไทยในพระราชอาณาจักรลาว"  ตอน  ลาแล้ว  .  .  .  ทุ่งไหหิน  นะครับ     อีกครั้งหนึ่ง ก็เมื่อ  ๙  เมษายน  ๒๕๑๙    ที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น  อำเภอทุ่งช้าง  จังหวัดน่าน  บ้านเรานี่เอง    คราวนี้ได้ผลครับ    ช่วยทหารราบให้รักษาฐานฯ ไว้ได้     หากท่านใดสนใจก็บอกนะครับ   จะได้เล่าสู่กัน  

 

          เชิญติดตามท่านรบกันที่เดียนเบียนฟู  ต่อ    นะครับ  .  .  .

          ที่เดียนเบียนฟูนี้  การยิงแตกอากาศเหนือศีรษะตนเอง  ใช้ไม่ได้ผล  เพราะไพร่พลฝ่ายเวียดมินห์มีมากมายเหลือคณานับ

                    ประมาณ  ๐๐๑๕     ที่มั่นตั้งรับบีทริซไม่สามารถต้านทานได้    ฝ่ายเวียดมินห์เข้ายึดได้ทั้งหมด

                    เมื่อฝ่ายเวียดมินห์ยึดที่มั่นบีทริซได้นั้น  ปรากฏว่า  ไม่มีนายทหารฝรั่งเศสเหลือรอดอยู่เลย

                    รุ่งเช้า  ๑๔  มีนาคม    สภาพอากาศบริเวณเดียนเบียนฟูปกคลุมไปด้วยฝน และเมฆหนา    ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้พยายามรวบรวมกำลังทำการตีโต้ตอบเพื่อยึดบริเวณบีทริซ คืน 

 

                    เวลา  ๐๗๓๐   ฝ่ายฝรั่งเศสตีโต้ตอบ  พร้อมด้วยรถถังได้เคลื่อนที่เข้าสู่บีทริซโดยอาศัยถนนเส้นที่  ๔๑  (ตามรูป)   โดยมีปืนใหญ่ยิงสนับสนุนอย่างหนาแน่น 

 

  รถถัง M - 24 (Schaffee) เตรียมตีโต้ตอบที่เดียนเบียนฟู  (บีทรีซ)  >

 

                    ทางฝ่ายเวียดมินห์ได้ประมาณสถานการณ์อยู่แล้วว่าทางฝรั่งเศสต้องเข้าตีโต้ตอบ    จึงได้วางกำลังคอยไว้  เมื่อกำลังตีโต้ตอบเคลื่อนที่เข้ามาใกล้  ก็ถูกระดมยิงอย่างหนัก จนกำลังตีโต้ตอบของฝรั่งเศสต้องล่าถอยไป 

 

ก่อนการตีโต้ตอบครั้งที่  ๒

          ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามรวมกำลังอีกครั้ง   แต่ ร้อยโท  ตูร์แปง   (Turpin)   ผู้ซึ่งบาดเจ็บสาหัสที่บีทริซ   ได้นำสารของผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๑๒    ที่บีทริซว่าจะอนุญาตให้ทางฝ่ายฝรั่งเศสมาเคลื่อนย้ายทหารบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ออกจากบริเวณที่มั่นบีทริซ   ได้ในห้วงเวลา  ๐๘๐๐ - ๑๒๐๐  ของวันที่  ๑๔  มีนาคม  (คือในวันนี้)

นักรบ  .  .  .  เคารพกัน 

           เวลาประมาณ  ๐๙๐๐  ขบวนเสนารักษ์และการศพของฝรั่งเศส  ประกอบด้วยยานยนต์   ๒ ๑/๒  ตัน พร้อมกำลังพลไม่ติดอาวุธจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้าสู่บีทริซเพื่อเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต    เมื่อไปถึง   ร้อยเอก  เลอ ดามานี  (Le Damany)   นายแพทย์สนาม  และอนุศาสนาจารย์  แตรงกวนด์  (Trinquand) ได้พบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวียดมินห์ที่มารอรับ  .  .  .  ต่างฝ่ายต่างทำความเคารพกัน    

          ครับ  .  .  .  ทหาร    ในสนามรบ เรารบกัน  แต่เมื่อพบกัน  ผู้ที่ยศน้อยกว่า ก็ทำความเคารพผู้มียศสูงกว่าก่อน อย่างนี้แหละครับ  .  .  .  ทหาร

          ทางฝ่ายเวียดมินห์ก็ได้อนุญาตให้ชุดเสนารักษ์ฝรั่งเศสเคลื่อนย้าย ผู้บาดเจ็บ  ๘  นาย   (๑ นายเสียชีวิตพอดี)    เมื่อการรับตัวผู้บาดเจ็บ  และ ศพของทหาร  จำนวน  ๓๐๐ ศพ  แล้ว    ชุดเสนารักษ์ และการศพดังกล่าวก็ได้เคลื่อนย้ายออกจากที่มั่นบีทริซ เมื่อเวลาประมาณ  ๑๐๐๐ 

            หลังจากการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิต ออกมาจากที่มั่นบีทริซแล้ว   พันเอก  เดอ คาสตรีส์ และฝ่ายอำนวยการ  ต้องประมาณสถานการณ์ว่า  จะตีโต้ตอบยึดที่มั่นบีทริซคืนมา    หรือจะสงวนกำลังไว้รับการเข้าตีระลอกต่อไปของเวียดมินห์     และ  .  .  .  ทุกคนต่างก็รู้ว่าที่หมายต่อไปของเวียดมินห์คือ  .  .  .  เกเบรียล

          ในที่สุด    ฝ่ายฝรั่งเศสเลือก  เตรียมป้องกันเกเบรียล   

  

เดียนเบียนฟู    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗  .  .  .  หลังจากต้องเสียที่มั่นบีทริซ  

          สถานการณ์ภายหลังจากต้องเสียที่มั่นบีทริซ      ฝ่ายฝรั่งเศสในเดียนเบียนฟูตื่นตระหนก สับสนวุ่นวายเป็นอย่างมาก  เพราะเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่ว่า  ป้อมค่ายและที่มั่นดัดแปลงแข็งแรง  มีทหารประจำการจำนวนมาก    จะถูกฝ่ายเวียดมินห์เข้าตี  และยึดได้  ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง 

          ปืนใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์ยังคงยิง  .  .  .  ยิง  .  .  .  และ   ยิง  .  .  .  สร้างความเสียหายต่อที่มั่นตั้งรับของฝรั่งเศส  และ   สนามบินทั้ง  ๒  แห่ง  เสาอากาศนำร่องอากาศยานถูกทำลาย  

          ด้านการส่งกำลังบำรุง    ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องบินในการส่งกำลังทางอากาศได้    ดังนั้น  งานที่มีความเร่งด่วนอันดับแรก   คือต้องเร่งซ่อมแซมปรับปรุงสนามบินให้ใช้การได้  .  .  .   เร็วที่สุด

          ด้านการรักษาพยาบาล    ผู้บาดเจ็บซึ่งมีจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถของชุดเสนารักษ์ที่มีอยู่     พันตรี  พอล  เกราแวง   (Paul Grauwin)  นายแพทย์สนาม ประจำเดียนเบียนฟู  ต้องร้องขอชุดผ่าตัดสนาม  พร้อมทั้ง  เลือด และสิ่งอุปกรณ์สายแพทย์  จากหน่วยเหนือมาเพิ่มเติม    

          ในขั้นต้น  เลือดและสิ่งอุปกรณ์สายแพทย์จำนวนหนึ่งได้ส่งมาจากกรุงฮานอยทางเครื่องบิน   และ ลงยังสนามบินสำรองบริเวณใกล้ ๆ กับ  อิสซาเบลล์    ตอนใต้ของเดียนเบียนฟู

 

ฝรั่งเศสส่งกองหนุนเข้าแก้ปัญหา

          เวลาประมาณ  ๑๔๔๕    ฝรั่งเศสส่งกองหนุนเข้าแก้ปัญหา    พันตรี  อังเดร  โบเตลา  (Andre Botella)   นำกองพันพลร่มเวียดนามที่ ๕  (พัน.พร.๕ วน. - 5th Vietnamess Parachute Battalion:The 5th BPVN)  ซึ่งเป็นกองหนุน    (กองพันพลร่มเวียดนามที่ ๕  ได้กลับไปฟื้นฟูหน่วย  ตั้งแต่  ๒๘  มกราคม  ๒๔๙๗)

          โดยมีแผนกระจายส่งลงยังตำบลส่งลงทั้ง  ๓ แห่ง  คือ  นาตาชา    ออคเทเวีย    และ ไซมอน    เพื่อจะสร้างความสับสนให้กับฝ่ายเวียดมินห์   เครื่องบินได้ปล่อยที่ความสูง  ๖๐๐ ฟุต    แต่การปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นผลดีดังหวัง    กลับเป็นผลเสียแก่ฝ่ายฝรั่งเศสเอง    เนื่องจาก  ฝ่ายเวียดมินห์มีอำนาจการยิงที่ได้เปรียบ   (ทั้งปืนใหญ่สนาม  และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน) และยิงได้ครอบคลุมทั่วเดียนเบียนฟู   ทำให้กำลังพลจาก  พัน.พร.๕ วน.  ต้องสูญเสียมาก    กำลังพลบางนายไม่มีโอกาสลงถึงพื้นดิน  เพราะถูกยิงเสียชีวิตขณะลอยอยู่ในอากาศ 

 

หน่วยแพทย์  ชุดผ่าตัดสนาม

           เวลาประมาณ  ๑๕๐๐    ร้อยโท  เรซิโรท์  (Lt. Rezillot)  นำชุดผ่าตัดสนามโดดร่มลงยังเดียนเบียนฟู  แต่การปล่อยผิดพลาด   ทำให้ไปตกยังบริเวณย่านกลางของเดียนเบียนฟู    ชุดผ่าตัดสนามดังกล่าว  (๖  นาย)  ได้ลงพื้นบริเวณลวดหีบเพลงที่วางไว้   (เพื่อกีดขวางฝ่ายเวียดมินห์)    ปืนใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์ก็ยิงรบกวนและขัดขวางตลอดเวลา    กว่าจะออกจากลวดหนามได้ก็ทุลักทุเล      เมื่อออกมาได้ครบทุกคนแล้วได้ขึ้นรถไปยังที่มั่นอิสซาเบลล์   ตอนใต้ของเดียนเบียนฟูทันที

 

การปฏิบัติของกองหนุน 
 
           กองพันพลร่มเวียดนามที่ ๕    ผู้ที่ลงพื้นได้ กว่าจะรวมพลได้สำเร็จ  ก็ล่วงเลยไปจนถึงเวลา  ๑๘๐๐   บริเวณ  Eliane 1, 2 และ 4   ด้วยความเหนื่อยล้า และสูญเสียอย่างหนัก    กำลังพลหลายนายต้องวิ่งฝ่ากระสุนปืนใหญ่เวียดมินห์ ซึ่งระดมยิงตลอดเวลา   เป็นระยะทางกว่า  ๑๖  กิโลเมตร   (๑๐ ไมล์)   จึงจะรวมพลได้     

          เมื่อกำลังของ พัน.พร.๕ วน. เข้าที่รวมพลต่างก็เร่งขุดหลุมบุคคลเพื่อป้องกันตนเอง

 

 

 

 

 

ที่รวมพลของ พัน.พร. ๕  วน. บริเวณ Eliane 1, 2 และ 4

 

          เวลา  ๒๐๐๐  ของวันเดียวกัน กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิด ได้ขุดหลุมสำหรับเป็นที่ตั้งยิงเครื่องยิงลูกระเบิดเสร็จ  จำนวน  ๕  หลุม   และพร้อมทำการยิง เพื่อเตรียมรับการเข้าตีที่จะเกิดขึ้นที่  .  .  .  ที่มั่นเกเบรียล

          เวลา  ๒๑๐๐  ของวันเดียวกัน หลุมเครื่องยิงลูกระเบิดดังกล่าวทั้ง  ๕ หลุม  ได้ถูกปืนใหญ่ของฝ่ายเวียดมินห์   .  .  .  เรียบโร้ย

 

          ครับ  .  .  .  ที่มั่นต้านทานบีทริซ  ที่มั่นต้านทานแห่งแรกบนเส้นทางสาย อาร์พี ๔๑  ก็  .  .  .  เรียบโร้ย 

  

          ฝรั่งเศสรีบใช้กองหนุนเสียแต่ต้นมือและไม่ได้ผลตามความมุ่งหมาย    เราติดตามการเข้าตีที่มั่นดัดแปลงแข็งแรงที่สุดในเดียนเบียนฟู  ในสถานการณ์ต่อไปนะครับ    -  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๒)  .  .  .  เกเบรียล    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗

 

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๒) - เกเบรียล    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๒) - เกเบรียล    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๒) - เกเบรียล    ๑๔  มีนาคม  ๒๔๙๗

 



บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (637)
avatar
sleepcat

ผมขอจองเรื่องการรบที่ทุ่งช้างด้วยนะครับ...เมื่อก่อนนี้เคยมีเรื่องราวให้อ่านเยอะ แต่เดี๋ยวนี้หาอ่านที่ใหนไม่ค่อยได้เลยครับ

ส่วนเรื่องของ ศึกเดียนเปียนฟูนี้ชอบมากครับ อ่านง่ายเข้าใจง่ายดีกว่าอ่านหนังสือแปลเล่มหนาๆแล้วมีแต่ชื่อคนที่

อ่านออกเสียงยากจำก็ยาก   ได้อ่านเรื่องแบบนี้มีความสุขกว่าเยอะเลยครับ..ขอบคุณมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น sleepcat วันที่ตอบ 2010-09-22 15:34:38


ความคิดเห็นที่ 2 (638)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณครับ

          ผมได้มีส่วนร่วมในการปราบปราม ผกค.  ในพื้นที่ ท๓.๓  อยู่ระยะหนึ่ง    มีสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นคือการรบที่บ้านห้วยโก๋น  ในต้นเดือนเมษายน  ๒๕๑๙   จำได้ว่าเคยเขียนลงในนิตยสารทหารปืนใหญ่ครั้งหนึ่ง   เมื่อรับราชการที่จังหวัดทหารบกชุมพร  (ประมาณ พ.ศ.๒๕๓๘ - ๒๕๔๑)  ส่งไปลงในหนังสือยุทธโกษ  อีกครั้งหนึ่ง     เคยวานคนคุ้นเคยค้นในห้องสมุดของกองวิทยาการศูนย์การทหารปืนใหญ่  ลพบุรี  ปรากฏว่า  ไม่พบ    คงต้องไปค้นที่ห้องสมุดกรมยุทธศึกษาทหารบกอีกสักครั้ง    หากพบ จะนำมาหาภาพเหมาะๆ  ประกอบ  แล้วเผยแพร่สู้กัน  นะครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-09-22 16:55:19


ความคิดเห็นที่ 3 (639)
avatar
สัมพันธ์
ขออภัยครับ   ตรวจสอบแล้ว  การรบที่ห้วยโก๋น    ๙  เมษายน  ๒๕๑๘    ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ วันที่ตอบ 2010-09-22 17:39:10



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker