dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๓) - ๕๗ วันใน . . . เดียน เบียน ฟู (๓) - ล่มสลาย . . . ไม่ยอมแพ้

*  *  *

สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์ (๑๓)  -  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๓) - ล่มสลาย  .  .  .  ไม่ยอมแพ้ 

สถานการณ์เดิม  .  .  .  จาก  เวียดมินห์ (๑๒)  -  ๕๗ วันใน  .  .  .  เดียน เบียน ฟู (๒)

          ๑๕  มีนาคม  ๒๔๙๗, ๐๗๐๐    เวียดมินห์ได้ปักธง "จงเด็ดเดี่ยวมั่นคงที่จะรบ  และช่วงชิงชัยชนะ" เหนือที่มั่นเกเบรียล  

          ๑๖  มีนาคม  ๒๔๙๗, ๐๘๐๐    

               - ฝ่ายเวียดมินห์ยึดที่มั่นเกเบรียลได้สมบูรณ์

               - ที่มั่นแอน - มารี (๓)  ทหารภูเขา  ถอนตัว

          ๑๘  มีนาคม  ๒๔๙๗    

               - กำลังในที่มั่นด้านเหนือที่แอนน์ - มารี ๑  และ  ๒  ต้องถอนตัวเนื่องจากถูกปืนใหญ่ระดมยิงอย่างหนัก    ทำให้ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถใช้สนามบินได้

 

สถานการณ์ต่อไป  .  .  .

 

          ฝ่ายเวียดมินห์ยังคงใช้ปืนใหญ่โจมตีสนามบินอย่างต่อเนื่อง

 

๒๒  มีนาคม  ๒๔๙๗  

          กรมทหารปืนใหญ่เบาส่งทางอากาศที่ ๓๕  พยายามส่งกำลังเข้าไปเพิ่มเติม  ด้วยการส่งทางอากาศ    เนื่องจาก  การนำเครื่องลงจอดในเวลากลางวันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้    การนำเครื่องลงในเวลากลางคืนก็เป็นการเสี่ยงแต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้    เครื่องบินถูกทำลายไปหลายลำ    เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งถูกยิงตกขณะกำลังบินขึ้น  เมื่อ  ๒๓  มีนาคม   

๒๔  มีนาคม  ๒๔๙๗ 

          พันเอก  ปิแอร์ ชาร์ลส แลงกลายส์  (Colonel  Pierre Charles Langlais)  และนายทหารพลร่มคนอื่นๆ  เข้าพบ พันเอก  เดอ  คาสตรีส์  ขอให้แบ่งมอบอำนาจในการบัญชาการรบ   ซึ่งพันเอก  เดอ  คาสตรีส์  ยอมแบ่งมอบอำนาจให้  แต่มีเงื่อนไขว่า ขอดูแลในบางส่วนด้วย   

          ฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังบำรุงทางอากาศอีกแต่ถูกปืนกลต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ที่ตั้งรายล้อมอยู่ใกล้พื้นที่ส่งลงยิงเครื่องบินจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก

 

๒๖  มีนาคม    การส่งกำลังสายแพทย์ครั้งสุดท้าย  -  l'ange de Dien Bien Phu

          เครื่องบินพยาบาลลงจอด  แต่เครื่องเสียหาย  และไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้อีก

 

 

          เจนีเฟอว์  เดอ  กาลาร์ด  (Genevieve de Galard)    พยาบาลทหารอากาศหญิงซึ่งไปกับเครื่อง  จึง  .  .  .  ต้องติดอยู่ที่  .  .  .  เดียนเบียนฟู   

          การอุทิศตนเพื่อปฏิบัติหน้าที่  และความกล้าหาญของเธอทำให้ทุกคนต้องชื่นชม    และยกย่องให้เธอเป็น  .  .  .

   l'ang Dien Bien Phu e de

"the Angel of Dien Bien Phu"  

           และเที่ยวบินนั้นเป็น  .  .  .  การส่งกำลังสายแพทย์ครั้งสุดท้าย

Genevieve de Galard  >

 

 การปฏิบัติการจิตวิทยาต่อทหารฝรั่งเศส

          ท่ามกลางการรบและเสียงระเบิดกึกก้องของกระสุนปืนใหญ่    ฝ่ายเวียดมินห์ใช้ลำโพงประกาศเรียกร้องให้ทหารลีเจียนแนร์ของฝรั่งเศสละทิ้งหน้าที่  และให้ทหารที่มาจากแอฟริกา  และแอฟริกาเหนือเห็นด้วยกับการต่อต้านจักรวรรดินิยม  สัญญาว่าจะต้อนรับอย่างอบอุ่น  และให้อิสรภาพโดยเร็ว    นอกจากการป่าวประกาศนี้  ก็ยังมีใบปลิวส่งเข้าไปในที่มั่นของฝรั่งเศสด้วย

          อย่างไรก็ตาม    ปฏิบัติการนี้  นับว่าได้ผลน้อยมาก

 

 

 

 

สถานการณ์    ๒๘  มีนาคม  ๒๔๙๗

 

          การสู้รบยุติลงชั่วคราวไปจนถึง  ๓๐  มีนาคม    ตอนนี้ฝ่ายเวียดมินห์ปิดล้อมที่มั่นทหารฝรั่งเศสในพื้นที่ตอนกลางไว้ทั้งหมด  (ที่มั่นทั้ง  ๔ แห่งคือ  Hugette, Dominique, Claudine, และ Elaine)   และไม่สามารถติดต่อกับที่มั่นอิซาเบลล์ที่อยู่ทางใต้ได้

 

ที่มั่นอิซาเบลล์  Isabelle

           อิซาเบลล์ที่มั่นที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวทางใต้สุด   มีการสู้รบเพียงประปรายเท่านั้น  เพราะฝ่ายเวียดมินห์ต้องการตรึงกำลังของฝรั่งเศสในที่มั่นแห่งนี้ไม่ให้ไปช่วยเหลือที่มั่นอื่นได้  หรือหากส่งกำลังออกไปก็ถูกซุ่มโจมตี  ไปไม่ถึงที่หมายต้องเดินทางกลับก็มี    และฝ่ายเวียดมินห์ก็กำลังรบติดพันที่ที่มั่นแห่งอื่นอยู่ 

          เนื่องจาก  สถานการณ์ของที่มั่นอิซาเบลล์ไม่รุนแรงเลวร้าย    ความเร่งด่วนในการส่งกำลังบำรุงจึง  .  .  .  ไม่เร่งด่วน    จนกระทั่ง  .  .  .  

 

๓๐  มีนาคม    ฝ่ายเวียดมินห์เริ่มใช้ปืนใหญ่โจมตี  และเริ่มขุดสนามเพลาะเข้าปิดที่มั่นอิซาเบลล์

 

          ที่มั่นอิซาเบลล์  .  .  .  เริ่มขาดแคลนน้ำและ  .  .  .  กระสุนก็ร่อยหรอเต็มที

 

 

 โดมินิค - เอลีน    ๓๐  มีนาคม – ๕  เมษายน  ๒๔๙๗   

          ที่มั่นโดมินิค - เอลีน  เป็นกลุ่มที่มั่นส่วนกลางของเดียนเบียนฟู  อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยวม   กำลังในที่มั่นทั้งสอง มีจำนวน  รวม  ๕ กองพัน  จากหน่วยทหารต่างด้าว, ทหารเวียดนาม, ทหารอัฟริกัน และ ทหารจากชาวเขา  ที่ไม่สู้จะเข้มแข็งนัก

 

             นายพล เกี๊ยบ วางแผนเข้าโจมตีแบบเดียวกับที่โจมตีบีทรีซ และเกเบรียล

 

 

 

 

 

 

๓๐  มีนาคม 

          เวลา  ๑๗๐๐    ฝ่ายเวียดมินห์เริ่มโจมตีด้วยปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิด 

          เวลา  ๑๙๐๐    กองพลที่ ๓๑๒    เข้าตีและยึดที่มั่นโดมินิค ๑ และ ๒  (ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก) ได้   และรุกเข้าตีที่มั่นโดมินิค ๓  อันเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ตั้งอยู่ระหว่างกำลังของเวียดมินห์กับกองบัญชาการค่ายเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศส  (ที่ฮิวแกต์)   

          ขณะที่ทหารเวียดมินห์ที่กำลังเข้าโจมตีทหารฝรั่งเศสที่ประจำปืนกลต่อสู้อากาศยานใกล้กับสนามบิน    ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕ มิลลิเมตร ของกรมทหารปืนใหญ่อาณานิคมที่ ๔  (French 4th colonial artillery regiment)  ยิงเล็งตรงไปยังเป้าหมาย  คือกลุ่มทหารเวียดมินห์    และฝรั่งเศสก็ต้องใช้ปืนกลต่อสู้อากาศยานนั้นมาใช้ยิงป้องกันตัวเพื่อสกัดการบุกของทหารเวียดมินห์ด้วย

           เวียดมินห์ประสบความสำเร็จในการเข้าตีทุกจุด กองพล ๓๑๖  ยึดที่มั่นเอลีน ๑   ที่มีทหารโมร๊อคโคป้องกันอยู่ได้    พอถึงเที่ยงคืนก็ยึดที่มั่นเอลีน ๒    ได้ครึ่งหนึ่ง   

 

          ด้านที่มั่นฮิวแกต์ 

               กองพล ๓๐๘  เข้าตีที่มั่นฮิวแกต์ ๗  เกือบจะสำเร็จ   แต่ทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งเข้าเสริมกำลังอุดตรงช่องว่างได้ทัน

 

 

๓๑  มีนาคม  

          หลังเที่ยงคืน  (๓๐ มีนาคม)   ฝรั่งเศสรวบรวมกำลังเข้าตีโต้เพื่อยึดที่มั่นเอลีน ๒ คืน และสามารถยึดพื้นที่คืนได้ครึ่งหนึ่ง 

          พันเอก  แลงกลายส์  สั่งการให้เข้าตีที่มั่นโดมินิค ๒  และ ที่มั่นเอลีน ๑   คืนให้ได้ในตอนบ่าย    ฝรั่งเศสระดมทหารทุกคนที่ยังพอจะรบได้ 

          การตีตอบโต้ประสบความสำเร็จ  ทหารฝรั่งเศสยึดฐานทั้งสองคืนมาได้    แต่ก็ถูกเวียดมินห์ยึดคืนกลับไป  เพราะทหารฝรั่งเศสหมดกำลังรบที่จะมาเสริมความมั่นคงได้

          ที่มั่นอิซาเบลล์  (ที่ยังไม่ถูกฝ่ายเวียดมินห์เข้าตี)  ได้พยายามส่งกำลังมาช่วย แต่ถูกซุ่มโจมตีกลางทางจนต้องถอนตัวกลับไป

           พันเอก  แลงกลายส์  สั่งการพันโท  มาร์เซล  บิเกียร์ด  (Marcel Bigeard)   ผู้บังคับที่มั่นเอลีน  ให้นำกำลังถอยข้ามแม่น้ำกลับมา (ที่มั่นเอลีน  กับ กองบังคับการค่าย  ตั้งอยู่คนละฟากแม่น้ำยวม)  พันโท  มาร์เซล  บิเกียร์ดตอบกลับไปว่า  .  .  . “ตราบใดที่ในที่มั่นเอลีนยังมีคนมีชีวิตอยู่  ผมจะไม่ทิ้งที่มั่น, หรือว่า เดียนเบียนฟูจะละลาย” 

          และในคืนวันที่  ๓๑  มีนาคม  นั้น 

          กองพล ๓๑๖  เข้าตีที่มั่นเอลีน ๒  และที่มั่นเอลีน ๔ 

          ฝ่ายฝรั่งเศสสกัดกั้นคลื่นมนุษย์ของฝ่ายเวียดมินห์ได้สำเร็จ    และส่งรถถังหลายคันเข้ามาช่วย   ทำให้เวียดมินห์ต้องถอยกลับ   การโจมตีที่มั่นเอลีน ๔  ก็ต้องล้มเหลวไปด้วย
    
 

          ด้านที่มั่นฮิวแกต์

          คืนนี้  (๓๑  มีนาคม)  เวียดมินห์ยึดที่มั่นฮิวแกต์ ๗  ได้สำเร็จ   (เกือบจะสำเร็จ มาตั้งแต่คืน  ๓๐  มีนาคม)   แต่ก็ถูกฝรั่งเศสชิงคืนไปได้อีก

 

 ๑  เมษายน

          ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าตีชิงที่มั่นฮิวแกต์ ๗  กลับคืนได้  ตอนรุ่งสาง

          การรบแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลายคืน   เวียดมินห์เข้าตีที่มั่นเอลีน ๒  อีก    แต่ก็ยึดได้ชั่วครู่  ฝรั่งเศสก็ยึดคืนกลับได้ 

          แต่อีกหลายชั่วโมงต่อมาเวียดมินห์เข้าตีอีก   คราวนี้สู้รบกันอย่างดุเดือดหลายชั่วโมง    ฝ่ายฝรั่งเศสในที่มั่นเอเลน ๒  ก็ต้านทานต่อไปไม่ไหว  .  .  .

          ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันถอยซ้ำแล้วซ้ำอีก  

          ฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังหนุนทางอากาศแต่ถูกปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ยิงสกัดกั้นไว้    มีเครื่องบินลำเลียงเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นที่ฝ่าด่านกระสุนปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์เข้าไปได้    

          แต่พลร่มกองหนุนที่ไปถึงนี้ก็สูญเสียอย่างหนัก     เสียชีวิตประมาณครึ่งหน่วย    ส่วนที่ยังรอดตายมาได้เพราะสนามเพลาะ 


 ๕  เมษายน 

          หลังจากการสู้รบอันยาวนานหลายคืน    เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถล่มทหารเวียดมินห์ที่อยู่บนพื้นที่เปิด  พินาศไปหนึ่งกรม 

          นายพล เกี๊ยบ  ตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่   โดยยังดำรงเป้าหมายเดิมที่ต้องการผลักดันทหารฝรั่งเศสที่วางแนวป้องกันทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยวมออกไป  (คือที่มั่นโดมินิค  และ เอลีน)  สั่งการให้ทหารขุดสนามเพลาะเข้าประชิดและก่อกวนให้ทหารฝรั่งเศสอ่อนแอลง

 

๑๐  เมษายน 

          ฝรั่งเศสพยายามยึดที่มั่นเอลีน ๑ คืน  หลังจากถูกเวียดมินห์ยึดไปได้ ๑๑ วันก่อนหน้านั้น   

          เริ่มต้นด้วยการให้หน่วยเข้าตีเข้าที่รวมพลในที่มั่นเอลีน ๔    ใช้ปืนใหญ่โจมตีก่อน   แล้วจึงเข้าโจมตีในรุ่งสาง    โดยพันโท  มาร์เซล  บิเกียร์ด  นำกองหน้า   รุกเข้าเจาะทะลวงแนวรับของเวียดมินห์เข้าไปก่อนอย่างรวดเร็ว    แล้วกำลังขนาดใหญ่ที่เป็นหน่วยหลักในการเข้าตีนี้ตามมากวาดล้างภายหลัง   

ครับ  .  .  .  พันโท  มาร์เซล  บิเกียร์ด นำกำลังเข้ายึดที่มั่นเอลีน ๑ คืนได้สำเร็จ

 

๑๒  เมษายน    

          ฝ่ายเวียดมินห์พยายามเข้าตีแย่งชิงฐานนี้อีก แต่ฝ่ายฝรั่งเศสสามารถต้านทานไว้ได้

          ฝ่ายเวียดมินห์สูญเสียอย่างหนัก  (เสียชีวิต ๖,๐๐๐ คน, บาดเจ็บ ๘,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ คน และถูกจับเป็นเชลย  ๒,๕๐๐ คน)    เวียดมินห์ยังขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์  เป็นอย่างยิ่ง 

         นอกจากนี้    ฝ่ายฝรั่งเศสสามารถดักฟังวิทยุของฝ่ายเวียดมินห์ได้ว่า  สั่งให้บางหน่วยถอนตัว    และจากการซักถามเชลยศึก  บางคนให้การว่า  ได้รับคำสั่งให้รุกคืบหน้าไป  หากถอยหนีก็อาจจะถูกนายทหารที่อยู่ข้างหลังยิงเอา

 

          ครับ  .  .  .  สถานการณ์ในตอนนี้  ดูเหมือนว่า  ฝ่ายฝรั่งเศสจะยันการรุกของฝ่ายเวียดมินห์ไว้ได้    หากสามารถรวมกำลังเข้าทำลายกองกำลังฝ่ายเวียดมินห์ทีละส่วนๆ ได้    แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ไม่สามารถรวมกำลังได้    เนื่องจาก    

          ในทางยุทธศาสตร์    ต้องกระจายกำลังออกไปตามพื้นที่อื่นๆ  (รายละเอียดในหัวข้อ การตรึงกำลังฝ่ายฝรั่งเศส  ตอนที่  (๑๐)  - ยึดเดียนเบียนฟู (๒)  "it is impregnable" "It is Verdun!")        

          ในทางยุทธวิธี    ก็ไม่สามารถใช้กำลังในพื้นที่เดียนเบียนฟูดำเนินกลยุทธได้เท่าที่ควร  เพราะกำลังแยกกันอยู่ในแต่ละที่มั่น    อาจจะพอรวบรวมได้บ้างและไปช่วยเหลือที่มั่นซึ่งกำลังถูกโจมตีก็ถูกซุ่มโจมตีเสียระหว่างทาง  ไปไม่ถึงที่หมายได้   ครับ  สรุปว่า 

ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถ  .  .  .  "รวมกำลังอันมากเข้า  ณ ที่ที่เหมาะ  ในเวลาที่เหมาะ" ได้

แต่  .  .  .
 
นายพล เกี๊ยบ  สามารถเรียกระดมกองหนุนที่ยังสดใหม่มาจากลาว ได้

 

        ขณะที่มีการสู้รบ  ณ ที่มั่นเอลีน ๑    ฝ่ายเวียดมินห์ได้ขุดสนามเพลาะเข้าหาและล้อมที่มั่นฮิวแกต์ ๑  และ  ๖

 

การช่วงชิงที่มั่นฮิวแกต์

๑๑ - ๑๗  เมษายน     

 

 

 

เดียนเบียนฟู    ๑๖  เมษายน  ๒๔๙๗

 

          ทหารที่ที่มั่นฮิวแกต์ ๑  ได้เข้าตีเพื่อช่วยเปิดทางส่งเสบียงอาหารและกระสุนให้กับที่มั่นฮิวแกต์ ๖  ด้วยการสนับสนุนการยิงอาวุธหนักจากที่มั่นเคลาดีน    ฝรั่งเศสพยายามเข้าโจมตีอีกในคืนวันที่ ๑๔ - ๑๕  เมษายน  และคืนวันที่ ๑๖ - ๑๗  เมษายน    ทำให้สามารถส่งเสบียงอาหารบางส่วนให้กับที่มั่นฮิวแกต์ ๖ ได้    แต่ฝรั่งเศสก็สูญเสียอย่างหนัก  จนพันเอก  แลงกลายส์ ต้องตัดสินใจสละที่มั่นฮิวแกต์ ๖

 

 

๑๘  เมษายน 

          ทหารบนที่มั่นฮิวแกต์ ๖    พยายามตีฝ่าวงล้อมออกมา   แต่รอดออกมาถึงแนวของฝรั่งเศสได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น 

 

ที่มั่นฮิวแกต์    ๑๖  มีนาคม - ๒๓ เมษายน  >

 

๒๒  เมษายน

                    ฝ่ายเวียดมินห์พยายามเข้าตีที่มั่นฮิวแกต์ ๑  อีกครั้ง   และสามารถยึดได้ในเช้าวันที่  ๒๒  เมษายน    ทำให้ฝรั่งเศสแทบไม่เหลือพื้นที่ส่งลงในขณะที่มีความต้องการเสบียงอาหารเพิ่มเติมอย่างมาก    ฝรั่งเศสต้องโจมตีเพื่อยึดที่มั่นฮิวเกต์ ๑  ให้ได้ในวันต่อมา

 

ความหวังของฝรั่งเศสในการเจรจา 

          ท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายนี้  ฝรั่งเศสหวังใช้การเจรจาสันติภาพที่เจนีวาเป็นทางรอด    การประชุมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันที่  ๒๖  เมษายน  ๒๔๙๗ 

 

๒๙  เมษายน          Geneviève de Galard  เทพธิดาแห่งเดียนเบียนฟู  ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์   the Knight's Cross of the Legion d'honneur   และ  ครัวกซ์ เดอ แกร์    Croix de Guerre  

 

การรบครั้งสุดท้าย  -  Elaine 2

๑  พฤษภาคม 

          ฝ่ายเวียดมินห์ระดมกำลังเข้าตีครั้งใหญ่  สามารถยึดที่มั่นเอลีน ๑ ,ที่มั่นโดมินิค ๓ , และที่มั่นฮิวแกต์ ๕

          ฝ่ายฝรั่งเศสยังคงรักษาที่มั่นเอลีน ๒  ไว้ได้  

 

๒ - ๕  พฤษภาคม

          พันเอก  เดอ คัสตรีส์  สั่งใช้กองหนุน  หน่วยสุดท้าย  จำนวน  ๓๘๘ นาย  จากกองพันพลร่มอาณานิคมที่ ๑  (1st Colonial Parachute Battalion)  ให้โดดร่มลงที่เดียนเบียนฟู    แต่ฝนตกหนักจนน้ำท่วมค่ายซึ่งฝ่ายเวียดมินห์เข้าล้อมอยู่   และทำให้การปฏิบัติการทางอากาศต้องหยุดชงักไป    นักบินปฏิบัติภารกิจยากยิ่งขึ้นไปอีก  ตำบลส่งลงก็ดูเล็กลงไป  และต้องใช้ไฟสัญญาณนำทาง

 

          ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามรักษาที่มั่นไว้ให้ได้นานที่สุด  อย่างน้อยก็จนกว่าจะตกลงกันได้ในเรื่องหยุดยิง  ในการประชุมที่เจนีวา

          ฝ่ายเวียดมินห์ก็รู้เจตนาของฝ่ายฝรั่งเศส    จึงเร่งระดมโจมตีอย่างหนัก 

 

๔  พฤษภาคม

          ฝ่ายเวียดมินห์โจมตีด้วยปืนใหญ่รุนแรงขึ้นราว  ๔,๐๐๐ นัด    การรุกครั้งใหญ่หำลังจะเกิดขึ้นอีก   

          สถานการณ์ที่อิซาเบลล์เลวร้ายมาก    ฝนในฤดูมรสุมทำให้เกิดน้ำท่วมในคูติดต่อ    บังเกอร์ก็พังเพราะปืนใหญ่ฝ่ายเวียดมินห์

 

๖  พฤษภาคม    ท้องฟ้าแจ่มใส  .  .  .  ส่งกำลังครั้งสุดท้าย  .  .  .  โจมตีทางอากาศครั้งใหญ่

           การส่งกำลังครั้งสุดท้าย ที่ใหญ่ที่สุดใน  ๘ วัน    เครื่องบิน  ซี - ๑๑๙  และ  ซี - ๔๗  รวม  ๕๐ ลำ  นำสิ่งอุปกรณ์  ๑๙๖ ตัน  ไปทิ้งให้  แต่สายเกินไป     สิ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ทิ้งลงดังกล่าวออกนอกพื้นที่ควบคุมของฝ่ายฝรั่งเศส  .  .  .  ฝ่ายเวียดมินห์เก็บรวบรวมได้เป็นส่วนมาก

          การโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่    เครื่องบินทิ้งระเบิด  บี - ๒๖    ๔๗ เครื่อง    คอร์แซร์  (Corsair)  ๑๘  เครื่อง    แบร์แคท  (Bearcat)  ๒๖ เครื่อง    เฮลไดเวอร์  (Helldiver)  ๑๖ เครื่อง    ไพรเวเทีย  (Privateer)  ๕ เครื่อง   รวมเป็นกองบินขนาดใหญ่มาก    ปืนต่อสู้อากาศยานฝ่ายเวียดมินห์ย้งเงียบอยู่

          ในตอนบ่าย    เมื่อปรากฏเสียงเครื่องบิน  และป้อมค่ายก็สั่นสะเทือนด้วยเสียงระเบิดเป็นชุดๆ  อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   

 

 

เครื่องบินทิ้งระเบิด  บี - ๒๖

  

 

 

 

 

 

 

 

 

คอร์แซร์  (Corsair)                                                        แบร์แคท  (Bearcat) 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Helldiver                                            Privateer  PB-02LL

 

 

 

การใช้  ปตอ. ขนาด  ๑๒.๗  มิลลิเมตร  ของเวียดมินห์

  

ที่มั่นเอลีน ๒ - คัทยูชาเปิดตัวในเดียนเบียนฟู

          เวียดมินห์ระดมกำลังโจมตีที่มั่นเอลีน ๒   อีกครั้ง    เสียงระเบิดกึกก้องของจรวดหลายลำกล้องจากสหภาพโซเวียตดังขึ้นเป็นครั้งแรกในเดียนเบียนฟู    ซึ่งจรวดนี้สหภาพโซเวียตได้เคยทดลองใช้ในปลายสงครามโลกครั้งที่สอง  .  .  .  เวียดมินห์ใช้จรวดคัทยูช่า*  (Katyusha)  เป็นครั้งแรก

 

 

 Chinese operated soviet-built Katyushas were used against the French at Dien Bien Phu on
May 6, 1954. wikipedia.

 

          ฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่สกัดกั้นคลื่นการรุกของฝ่ายเวียดมินห์สำเร็จด้วยเทคนิคการยิง  "พร้อมกัน  ณ เป้าหมาย"**  "TOT" (Time On Target)  และต้านทานการบุกที่ที่มั่นเอลีน ๒  ไว้ได้ 
 

          เวลา  ๒๓๐๐    ตามบันทึก    ฝ่ายเวียดมินห์พยายามใช้ดินระเบิด ทีเอ็นที  จำนวน  ๑ ตัน  ทำลาย  ที่มั่นเอลีน ๒    แต่ดินระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์    กำลังพลในที่มั่นเอลีน ๒  สู้รบอย่างดุเดือดกล้าหาญเยี่ยงวีรบุรุษในคูติดต่อซึ่งเต็มไปด้วยโคลน    และ

          ในที่สุด  .  .  .  ที่มั่นเอลีน ๒    ก็  .  .  . ถอนตัวไปยังที่มั่นเอลีน ๔  และต่อสู้กันต่อไป  .  .  .  ตลอดคืน

 

 

 

 

           *จรวดคัทยูช่า (Katyusha)  จรวดหลายลำกล้องของสหภาพโซเวียตเริ่มใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ  ๗  เดือนกรกฎาคม  ๒๔๘๔  (ค.ศ.๑๙๔๑)    ในการรบที่ออร์ชา  (Orsha)    เบลารุส  (Belarus)    ไม่พบข้อมูลว่าเวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนตั้งแต่เมื่อใด    แต่ใช้เป็นครั้งแรก  ในการโจมตีครั้งสุดท้ายในการรบที่เดียนเบียนฟูนี้เอง    (เข้าใจว่าฝ่ายข่าวกรองของฝรั่งเศสคงไม่ระแคะระคายเรื่องเวียดมินห์ได้รับจรวดคัทยูชานี้มาก่อน)  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  Katyusha  BM -13  132 mm. in the Battle of Berlin  

(ซ้าย)    กำลังติดตั้ง    (ขวา)    ยิง!

 

          ** "พร้อมกัน  ณ เป้าหมาย"    (Time On Target - "TOT")    เป็นเทคนิคการยิงแบบหนึ่งของทหารปืนใหญ่    คือ  ประสานการยิงจากที่ตั้งยิงหลายๆ แห่ง (ต้องมากกว่า  ๑ แห่ง)  ให้กระสุนทุกนัดจากที่ตั้งยิงที่กำหนด ไปถึงและระเบิดพร้อมกัน  ณ เป้าหมาย  (นัดแรกกับนัดสุดท้ายระเบิดห่างกันได้ไม่เกิน  ๒ วินาที)    อาจจะมีปืนเรือ  และการโจมตีทางอากาศร่วมด้วย  

          การประสานการยิงพร้อมกัน  ณ เป้าหมายนี้  เป็นวิธียิงที่น่าสนใจอยู่    เพราะระยะจากที่ตั้งยิงแต่ละแห่งถึงเป้าหมายจะไม่เท่ากัน  ทำให้ เวลาแล่น  (time of flight)  คือเวลาที่กระสุนปืนใหญ่เดินทางจากปากลำกล้องไปถึงเป้าหมาย  ไม่เท่ากันด้วย  (เวลาแล่นมีบอกไว้ในสมุดตารางยิง  Firing Table  หน่วยเป็น วินาที)  ที่ตั้งยิงแต่ละแห่งก็ต้องจำเวลาแล่นของตนไว้    ทางศูนย์อำนวยการยิงที่จะสั่งยิง "พร้อมกัน  ณ เป้าหมาย"  จะให้เวลาที่ตั้งยิงต่างๆ    เตรียมการประมาณ  ๑๐ นาที   และจะนับถอยหลังแจ้งเตือนให้ทราบทุกนาที     เมื่อใกล้จะถึงเวลาแล่นของที่ตั้งยิงที่อยู่ไกลสุด  เวลาแล่นมากสุด   ก็จะนับถอยหลังทีละ วินาที    ครับ  เมื่อนับมาถึงเวลาแล่นของที่ตั้งยิงใด    ที่ตั้งยิงนั้นก็สั่ง "ยิง" ออกไป   กระสุนปืนใหญ่จากหลายๆ ที่ตั้งยิงก็จะไปถึง และระเบิด  "พร้อมกัน  ณ เป้าหมาย" ท่านว่า  การยิง "พร้อมกัน  ณ เป้าหมาย" นี้ ได้ผลทางจู่โจม  และผลการทำลายสูงสุด  ครับ
   
 

 

๗  พฤษภาคม  ๒๔๙๗  -  ๕๖ วัน  นับจากการโจมตีครั้งแรก  .  .  .

 

นายพลใหม่ในสนาม

เดียนเบียนฟู  ล่มสลาย  .  .  .  ไม่ยอมแพ้ 

 

          นายพล เกี๊ยบ สั่งให้ทุกหน่วยเข้าโจมตีหน่วยทหารของฝรั่งเศสที่ยังเหลืออยู่    การสู้รบอย่างดุเดือดดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

           ทั้งฝรั่งเศสและเวียดมินห์ต่างผสมกลมกลืนไปด้วยกัน  ในคูคิดต่อสนามเพลาะเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิต  และผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย      แต่การรบยังดำเนินต่อไป

 

          เวลา  ๐๗๐๐    - ฝ่ายเวียดมินห์รวบรวมรี้พลขึ้นใหม่ที่ที่มั่นเอลีน ๑  เพื่อการโจมตีครั้งสุดท้าย

                                - พันเอก  เดอ คัสตรีส์  ได้รับคำสั่งแต่งตั้งยศ ให้เป็น  พลจัตวา   

          เวลา  ๑๐๐๐    ฝ่ายเวียดมินห์สามารถยึดที่มั่นเอลีนได้ทั้งหมด    ฝ่ายฝรั่งเศสไม่มีทั้งกำลังพลและกระสุนที่จะตีโต้ตอบ    ผู้บาดเจ็บมีอยู่ทุกบังเกอร์  ซึ่งถูกจับเป็นเชลย    ฝ่ายเวียดมินห์ได้พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำยวมไว้ได้อย่างสิ้นเชิง          

          เวลา  ๑๗๐๐    นายพล  เดอ คาสตรีส์  วิทยุถึงกองบัญชาการทหารฝรั่งเศสในกรุงฮานอยและพูดกับนายพล  โคญี่  .  .  .

 

 De Castries: "The Viets are everywhere. The situation is very grave.

                       The combat is confused and goes on all about.

                       I feel the end is approaching, but we will fight to the finish."

 

 

 

 

 Cogny: "Well understood. You will fight to the end.

              It is out of the question to run up the white flag after your heroic resistance."  
    

 

          ข่าวจากสมรภูมิเดียนเบียนฟู  ถึง  กองบัญชาการทหารฝรั่งเศสในกรุงฮานอย  .  .  . 

"เรากำลังทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง  .  .  .  Adieu"   

 

          อีกสองสามนาทีต่อมา    ฝ่ายเวียดมินห์ได้ระเบิดเข้ามาใกล้ที่บังคับการ  และยึดเข้ามาถึงคูติดต่อที่อยู่ใกล้ๆ    ธงแดงดาวเหลืองปรากฏขึ้นเหนือบังเกอร์  .  .  . 

 

เดียนเบียนฟู ล่มสลาย  .  .  .  ไม่ยอมแพ้

 

 

 

          จนถึงค่ำวันที่  ๗ พฤษภาคม    ฝ่ายเวียดมินห์ก็ยึดที่มั่นของฝรั่งเศสในส่วนกลางของค่ายเดียนฟูทุกแห่งได้สำเร็จ  .  .  .  เว้นแต่  อิสซาเบลล์   ซึ่งอยู่ใต้ลงไป  ๖ กิโลเมตร ยังคงต่อสู้ต่อไปอีกหลายชั่วโมง 

          พันเอก  ลาลองด์  (Colonel Lalande)    ผู้บังคับกองพันที่ ๓  ต่อสู้ต่อไป    ทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างไม่ลดละ   ฝ่ายฝรั่งเศสกระสุนหมด    ต้องใช้ดาบปลายปืน  และมีดพก

  ’ Official Dien Bien Phu website. 

อิซาเบลล์ 

          ฝ่ายเวียดมินห์ระดมยิงอาวุธทุกชนิด   อิซาเบลล์  ไฟไหม้  บังเกอร์พังพินาศ  คูติดต่อ  สนามเพลาะราบเป็นหน้ากลอง 

          เวลา  ๒๑๐๐    เวียดมินห์เริ่มเข้าตี    ฝรั่งเศสตอบโต้ด้วยปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดที่ยังมีอยู่    ฝ่ายเวียดมินห์หยุดไประยะหนึ่ง  และเริ่มใหม่ในเวลา  ๒๒๐๐     

          อิซาเบลล์ สูญเสียอาวุธทุกชนิด  เว้นเครื่องยิงลูกระเบิด  อีก  ๑ เครื่อง  และ ปืนใหญ่ขนาด  ๑๐๕ มิลลิเมตร  ๑ กระบอก  พร้อมกระสุน  จำนวน  ๒,๐๐๐ นัด

 

 

อัลบาทรอสส์  -  หักด่านที่อิซาเบลล์ 

            พันเอก  แลงกลายส์  นำกำลังที่มีอยู่ปฏิบัติตามแผนอัลบาทรอสส์  หักด่านตีฝ่าออกไป    ในคืนวันที่  ๗ - ๘  พฤษภาคม    กำลังประมาณ  ๑,๗๐๐  นาย  ได้พยายามตีฝ่าวงล้อมออกมาในกลางดึกคืนนั้นเช่นกัน  (เป็นวันที่  ๘  พฤษภาคม)  .  .  .  ซึ่งสำเร็จในระดับหนึ่ง   

          แต่ที่เหลือรอดชีวิตไปถึงพระราชอาณาจักรลาวได้สำเร็จ  ราว  ๗๐  (เจ็ดสิบ) นาย  เท่านั้น    .  .  .  ครับ

 

เดียนเบียนฟู  .  .  .  ๘  พฤษภาคม  ๒๔๙๗ 

หลังการรบ  - เชลยศึก

        ใน  ๘  พฤษภาคม  ๒๔๙๗    ฝ่ายเวียดมินห์นับเชลยศึกได้  ๑๑,๗๒๑    นับเป็นจำนวนเชลยศึกที่เวียดมินห์จับได้มากที่สุดในคราวเดียว    หรือเท่ากับหนึ่งในสามของเชลยที่ถูกจับได้ตั้งแต่เริ่มสงคราม    ในจำนวนนี้บาดเจ็บ  ๔,๔๓๖  ซึ่งทางกาชาดรับตัวผู้บาดเจ็บสาหัสไปจำนวน  ๘๕๘  (ระหว่าง  ๑๔ - ๒๖  มีนาคม  ๒๔๙๗)  

 

 

 

 

 

 

                   บรรดาเชลยศึกถูกแยกเป็นกลุ่มๆ  เดินเท้าไปยังค่ายเชลยทางตอนเหนือ และทางตะวันออก   เป็นระยะทางกว่า  ๒๕๐ ไมล์  (ประมาณ  ๔๐๐ กิโลเมตร)    เชลยศึกนับร้อยคนเสียชีวิตระหว่างเดินทาง   

          การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บถือเป็นงานอันดับแรกที่ต้องดำเนินการจนกว่าเจ้าหน้าที่กาชาดจะมาถึง    ผู้บาดเจ็บ  ๘๓๘ คน ถูกเคลื่อนย้ายไปทันที    ที่เหลือได้รับการปฐมพยาบาลเท่าที่จะทำได้  และเชลยศึกที่เหลือถูกกักตัวไว้

 

การสูญเสีย

          แต่ละฝ่ายต้องสูญเสียรี้พลสกลไกรเป็นอันมาก  ดังนี้ครับ

          ระหว่าง  ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๙๖  ถึง  ๗  พฤษภาคม  ๒๔๙๗    ฝ่ายฝรั่งเศสมีกำลังพลที่เดียนเบียนฟู  ๑๗ กองพัน    กำลังพล  ๑๕,๗๐๙ นาย    

          ๗  พฤษภาคม  ๒๔๙๗  วันสุดท้ายของการรบ    ฝ่ายฝรั่งเศสมีกำลังพลที่เดียนเบียนฟู  จำนวน  ๑๐,๑๓๓  และที่อิซาเบลล์  ๑,๕๘๘    รวม  ๑๑,๗๒๑    ในจำนวนนี้บาดเจ็บ  ๔,๔๓๖    ฝ่ายเวียดมินห์ยอมให้กาชาดรับตัวผู้บาดเจ็บสาหัสไปจำนวน  ๘๕๘    ซึ่งกาชาดได้นำออกไปในระหว่าง   ๑๓ - ๒๗  มีนาคม  เป็นจำนวน  ๓๒๖ ราย

 

ฝ่ายฝรั่งเศส

หน่วยทหารบก

          จากการรบ    เสียชีวิต  ๑,๗๒๖    บาดเจ็บ  ๕,๒๓๔    สูญหาย  ๑,๖๙๔  (ส่วนใหญ่ถูกจับเป็นเชลยในระหว่าง  ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๙๖  ถึง  ๗  พฤษภาคม  ๒๔๙๗)   

          หนีทัพ    ๑,๑๖๑

 

หน่วยบิน

          อากาศยานที่เข้าปฏิบัติการสนับสนุนการรบที่เดียนเบียนฟู  ประกอบด้วย

               เครื่องบินขับไล่  และทิ้งระเบิด  รวม  ๒๒๗ ลำ  

               เครื่องบินลำเลียง  ๑๒๐ ลำ    (เป็นเครื่อง  C-47  ดาโคต้า  ๑๐๐ ลำ)

              และเครื่องบินของแอร์เวียดนาม  และนักบินพลเรือนอเมริก้นบินเครื่อง  C-119’s   (Fairchild-Packet)

ทหารอากาศ

          อากาศยานถูกทำลายขณะบิน  ๒๘  ลำ    ถูกทำลายบนพื้น  ๒๐ ลำ    รวม  ๔๘ ลำ

          เฮลิคอปเคอร์ถูกทำลาย  ๒ ลำ  (ในเดือน  มีนาคม  ๒๔๙๗)

          เสียหายเพราะปืนต่อสู้อากาศยาน  ๑๖๗ ลำ

          กำลังพลเสียชีวิต  ๑๕    บาดเจ็บ  ๖    สูญหาย  ๓๓    ถูกจับเป็นเชลย  ๔๓  (ส่วนของทหารอากาศนี้  รวมถึงหน่วยบินที่เดียนเบียนฟูด้วย)

หน่วยบินกองทัพเรือ

          เครื่องบินขับไล่  ๖ ลำ    นักบินเสียชีวิตในการรบ

          อากาศยาน    สูญหาย  ๘ ลำ    เสียหาย  ๑๙ ลำ

          ลูกเรือทิ้งระเบิดไพรเวเทียร์    สูญหาย  ๒ นาย

นักบินอเมริกัน  (เครื่องบินลำเลียง  C-119)

          นักบิน    เสียชีวิต  ๒ นาย    บาดเจ็บสาหัส  ๑ นาย 

 

ฝ่ายเวียดมินห์

          ฝ่ายเวียดมินห์ใช้กองพลที่ ๓๐๔, ๓๐๘, ๓๑๒, ๓๑๖  และกองพลที่ ๓๕๑    รวม  ๔ กองพลทหารราบ  และอีก  ๑ กองพลอาวธหนัก  หรือกองพลทหารปืนใหญ่    กองพันดำเนินกลยุทธ  ๓๓ กองพัน  ตั้งแต่  ๑๓ มีนาคม    หากนับรวมกำลังแรงงานที่ใช้ในการแบกหาม  จักรยานขนส่ง  และการขุดคูสนามเพลาะ   เป็นจำนวนมากกว่า  ๑๐๐,๐๐๐ คน

          ไม่มีการศึกษาว่าฝ่ายเวียดมินห์สูญเสียจริงเป็นจำนวนเท่าใด    มีเพียงการประมาณว่า   

          เสียชีวิต  ๘,๐๐๐    บาดเจ็บ  ๑๕,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐    (บางแห่งว่า  เสียชีวิต ประมาณ  ๑๒,๐๐๐    บาดเจ็บ  ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐)    และผู้บาดเจ็บอาจเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกได้  (ข้อมูลจากการประมาณการของฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส  ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการ)

 

ค่ายเชลยศึก

          สภาพในค่ายเชลยเลวร้าย   เชลยศึกต้องอยู่กันอย่างแออัด  อดหยาก  และถูกทารุณ  ทำให้เชลยศึกต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก      

          เชลยศึกที่เหลือจำนวน  ๑๐,๘๖๓  รวมทั้งผู้บาดเจ็บ  ๓,๕๗๘    ฝ่ายเวียดมินห์ส่งคืนให้  ๓,๒๙๐   ในอีก  ๔ เดือนต่อมา    มีผู้เสียชีวิตในค่ายเชลยจำนวน  ๗,๕๗๓  คิดเป็นประมาณ  ร้อยละ ๗๐    ต่อมาเหลือเชลยศึกเพียง  ๓,๒๙๐ คน 

          แต่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า    จำนวนนี้รวมถึงเชลยชาวเวียดนามซึ่งเวียดมินห์ไม่ส่งคืนให้  โดยไม่กล่าวว่าได้เสียชีวิตในที่กักกัน    เชลยศึกส่วนใหญ่ถูกส่งไปทำงานในค่าย  หรือรับการอบรม  ซึ่งคาดว่าได้เสียชีวิตในค่ายเชลยประมาณ  ร้อยละ ๖๐

 

การเจรจาสงบศึกที่เจนีวา  ๑๙๕๔ 

          หลังชัยชนะของเวียดมินห์มีการเจรจาสงบศึกที่เจนีวา ปี  ๑๙๕๔    ที่ประชุมตกลงแบ่งเวียดนามเป็นสองส่วนชั่วคราว    เวียดนามเหนือเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์    ฝรั่งเศสจำต้องถอนกำลังออกจากเวียดนามเหนือ  แต่ยังคงครอบครองเวียดนามใต้อยู่ต่อไป    และกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ.๒๔๙๙  (ค.ศ.๑๙๕๖) 

 

พ.ศ.๒๔๙๘  -  สาธารณรัฐเวียดนาม  

          จักรพรรดิเบาได๋  (ซึ่งฝรั่งเศสสถาปนาให้เป็นประมุขแห่งเวียดนาม ตั้งแต่  พ.ศ.๒๔๙๒)  สละราชบัลลังก์  (อีก)     และ  .  .  .

          เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น  สาธารณรัฐเวียดนาม  (Republic of Vietnam.)    โงดินห์เดียม  (Ngo Dinh Diem)   เป็นประธานาธิบดีคนแรก

 

 

 

 

 

 

 

 (ซ้าย)    ธงชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม  (เวียดนามเหนือ)  พ.ศ.๒๔๙๘  ปรับรูปดาวใหม่

(ขวา)    ธงชาติสาธารณรัฐเวียดนาม  (เวียดนามใต้)  พ.ศ.๒๔๙๑  ใช้ธงเดิมของราชวงศ์เหวียนสืบต่อมา

 

บทเรียนจากเดียนเบียนฟู 

บทเรียนจากการสงคราม

          ๑. ฝ่ายฝรั่งเศสประมาณการศักย์สงคราม  หรือขีดความสามารถในการทำสงครามกู้ชาติของชาวเวียดนามต่ำเกินไป  หรือประมาทในศักย์สงคราม  หรือขีดความสามารถในการทำสงครามกู้ชาติของชาวเวียดนาม

          ทั้งนี้    เนื่องจากการที่เคยชนะ  และได้เป็นเจ้าอาณานิคมปกครองเวียดนามมาประมาณ  ๑๐๐ ปี   ทำให้คิดว่า  เหนือกว่า  ฉลาดกว่า  เก่งกว่า  อยู่เสมอ 

          ๒. การกำหนดความมุ่งหมายหรือจุดประสงค์

            แผนนาแวร์  ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการสงครามนี้ถึงแม้เป็นแผนทางการทหาร  แต่จุดประสงค์นั้นไม่ใช่เพื่อจะทำลายกองกำลังฝ่ายเวียดมินห์   แต่เป็นการหาทางออกในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันในคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม  และ  .  .  .  ฝรั่งเศสจะพยายามทำการรบให้ได้ชัยชนะ หรือได้เปรียบในสถานการณ์สงครามเพื่อประโยชน์ในการเจรจา  และ  .  .  .  หาทางออกจากเวียดนามอย่างสง่างาม

          เมื่อไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำลายกองกำลังฝ่ายเวียดมินห์  ก็ไม่มีโอกาสในการชนะสงคราม   อย่างดีที่สุดก็ทำได้เพียง  ไม่แพ้

          ๓. ความมุ่งหมายในการตั้งที่มั่นต้านทานที่เดียนเบียนฟูไม่มีเอกภาพ

               รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งการให้ นายพล  นาแวรร์ มีภารกิจในการป้องกันพระราชอาณาจักรลาวด้วย  โดยใช้กำลังเท่าที่มีอยู่

               นายพล  นาแวรร์ จึงต้องพิจารณาเลือกที่ตั้งฐานปฏิบัติการซึ่งสามารถจะคุ้มครองและเข้าปฏิบัติการในพระราชอาณาจักรลาวตอนเหนือได้สะดวก  และ กวาดล้างพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนามได้ด้วย

               เดียนเบียนฟู  เป็นตำบลที่เอื้อประโยชน์ทั้งสองประการ  แต่ก็มีข้อเสีย  คืออยู่ห่างจากศูนย์กลางกำลังหลักๆ  ของฝ่ายฝรั่งเศส    แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็มั่นใจว่าสามารถชดเชยข้อเสียเหล่านั้นได้ด้วยการปฏิบัติการทางอากาศ

          ๔. ระบบข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ 

               ฝรั่งเศสไม่คาดว่าฝ่ายเวียดมินห์จะมีปืนใหญ่ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานใช้เป็นจำนวนมาก  และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ    ในความจริง  สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ปืนใหญ่ และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแก่เวียดมินห์  หรือแม้แต่การที่สหภาพโซเวียตสนับสนุนรถยนตร์บรรทุกให้เวียดมินห์ ก็ดี  การสนับสนุนจรวดคัทยูชา ก็ดี  ฝ่ายการข่าวของฝรั่งเศสก็ไม่ทราบข่าว

 

บทเรียนจากการรบ

          เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำลายกองกำลังฝ่ายเวียดมินห์  ก็ไม่มีโอกาสในการชนะสงคราม    

          การกำหนดวิธีการรบจึงเป็นการตั้งรับแบบยึดพื้นที่ในฐานที่มั้นตั้งรับ    ล่อ หรือ รอ ให้ฝ่ายเวียดมินห์เข้าตีแล้วใช้อาวุธหนัก  และการโจมตีทางอากาศยับยั้ง และทำลายการเข้าตี  (ดังการรบที่นาซาน  ในเดือนตุลาคม -  ธันวาคม  ๒๔๙๕)    ไม่ใช้การรบด้วยวิธีรุกออกไปทำลายกองกำลังฝ่ายเวียดมินห์  

          ๑.  การเลือกพิ้นที่ตั้งรับ    เป็นพื้นที่ซึ่งมีภูมิประเทศสูงข่มอยู่รอบทิศ

          ๒.  การวางกำลังในพื้นที่ตั้งรับ    การแยกพื้นที่ตั้งรับเป็นสองแห่ง  คือที่ เดียนเบียนฟู และที่อิซาเบลล์ก็เป็นไปตามหลักการให้ที่มั่นทั้งสองแห่งสนับสนุนกันได้  แต่เมื่อทางอิซาเบลล์จะส่งกำลังไปช่วยที่เดียนเบียนฟู  กลับถูกฝ่ายเวียดมินห์ซุ่มโจมตี  จึงไม่บรรลุภารกิจ    แสดงว่าฝ่ายเวียดมินห์วาดภาพการรบ  และเตรียมแผนไว้รองรับสถานการณ์ตามที่ได้วาดภาพการรบไว้แล้วนั้น  .  .  .  สำเร็จผลตามแผน   

          ฝ่ายฝรั่งเศสอาจจะไม่คาดคิดว่า  ฝ่ายเวียดมินห์วางแผนรอบคอบเตรียมรับสถานการณ์  หรือมีแผนเผชิญเหตุไว้ว่าหากทางอิซาเบลล์จะส่งกำลังไปช่วยที่เดียนเบียนฟู  จะทำอย่างไร    แต่ฝ่ายฝรั่งเศสเองเมื่อกำลังที่ทางอิซาเบลล์จะส่งไปช่วยถูกโจมตี  ไม่มีแผนเผชิญเหตุว่าจะทำอย่างไร  .  .  .  จึงไม่สำเร็จผลตามแผน

          ๓.  ฝ่ายเวียดมินห์มีปืนใหญ่สนามมากกว่า  และสามารถใช้ปืนใหญ่ทำการรบได้มีประสิทธิภาพกว่าฝ่ายฝรั่งเศส    ทั้งทางยุทธวิธี  และหลักยิง

          ๔.  ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของฝ่ายเวียดมินห์ทำการอย่างได้ผลเป็นอันดียิ่ง    ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถตัดรอนกำลังอาวุธต่อสู้อากาศยานของฝ่ายเวียดมินห์ได้    ความได้เปรียบในการครองความเป็นเจ้าอากาศจึงมีผลน้อยมาก

          ๕.  การส่งกำลังบำรุง    ความสิ้นเปลืองกระสุนสูงเกินกว่าประมาณการมาก    แต่เมื่อเครื่องบินร่อนลงไม่ได้  ต้องปรับแผนการส่งกำลังกระสุนเพิ่มเติมเป็นการทิ้งร่ม  ก็ตกในดินแดนฝ่ายเวียดมินห์เป็นส่วนมาก  ฝ่ายฝรั่งเศสได้ใช้ประโยชน์น้อยมาก

          ๖.  อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน    มหาอำนาจจักรวรรดินิยมเจ้าอาณานิคมผู้รุกราน  .  .  . ฝรั่งเศส  กับ  เวียดนาม  .  .  .  ชาติเล็กๆ ที่ถูกรุกราน กดขี่ และข่มเหง

 

ศึกษาจากการเข้าตีของฝ่ายเวียดมินห์ภายหลังการรบ

ขั้นการโจมตี

          ขั้นที่หนึ่ง   

            - จากแนวโจมตีและสนามเพลาะ  สามารถเอาชนะที่ ฮิมแลม  (บีทรีซ)  และดอคแลป  (เกเบรียล)

         

          ขั้นที่สอง    

            - เคลื่อนลงสู่ที่ราบระหว่างเขา  ตัดส่วนกลางออกจากส่วนใต้  โจมตีด้านตะวันออกอย่างดุเดือด    สามารถใช้ปืนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ    และสามารถทำลายทางขึ้น - ลงของเครื่องบินได้

            - เป็นการยึดพื้นที่  บางเนิน  ยึดกันฝ่ายละครึ่ง

 

          ขั้นที่สาม   

            - เป็นการรุกใหญ่    เมื่อยึดเนิน  เอ - ๑  (Elaine) ได้    ฝ่ายฝรั่งเศสก็หมดโอกาสที่จะชนะ

 

 

 

  

          ครับ  .  .  .  พวกเราได้ศึกษาผลงานที่ท่านได้ปฏิบัติ  ได้เอาความรู้ความสามารถ  เอาเลือด  เอาเนื้อ  เอาชีวิต  เข้าแลก   พวกเราได้แต่เพียงเอาหลักการต่างๆ เข้าไปพิจารณาเท่านั้น    ไม่สามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด    ท่านที่ต้องวางแผน  หรือแก้ปัญหาในขณะนั้น  ทั้งสองฝ่าย  ท่านต้องการชัยชนะด้วยกันทั้งนั้น    ท่านต้องคิดว่าทำอย่างดีที่สุด    แต่ท่านก็ต้องมีข้อขัดข้องซึ่งต้องแก้ปัญหา  และ ท่านคงได้ทำอย่างเหมาะสมที่สุดแล้ว      หากเป็นไปตามคาด     ก็เป็นผลดี    หากไม่เป็นไปตามคาด  ก็  .  .  .   

          ขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องบทเรียนฯ เพียงเท่านี้  เชิญท่านผู้สนใจร่วมแสดง  หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยนะครับ  .  .  .

 

ผลกระทบทางการเมือง

การเริ่มแห่งการสิ้นสุดของอาณานิคมฝรั่งเศส

          การที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างพินาศย่อยยับอัปราชัยที่เดียนเบียนฟู  สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ศักดิ์ศรีของฝรั่งเศส และเป็นความพินาศอย่างยิ่งใหญ่ทางการเมืองของฝรั่งเศสต่อประดาเมืองขึ้นทั้งหลายในภูมิภาคอื่นด้วย  .  .  . 

 

ชัยชนะของฝ่ายเวียดมินห์  เป็นการเริ่มแห่งการสิ้นสุดของอาณานิคมฝรั่งเศส    

           เนื่องจากได้เกิดตัวอย่างให้เห็นแล้วในเวียดนาม  และทหารฝ่ายฝรั่งเศสที่สู้รบในเดียนเบียนฟูส่วนมากฝรั่งเศสได้เกณฑ์ไปจากอาณานิคมในอาฟริกา    ดังนั้น  อาณานิคมของฝรั่งเศสในอาฟริกาจึงพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพ  ด้งนี้           

          ใน พ.ศ.๒๔๙๗  หรือ ค.ศ.๑๙๕๔  นั้นเองก็ได้เกิด สงครามกู้อิสรภาพของอัลจีเรีย  (ประสบผลสำเร็จแอลจีเรียได้รับเอกราชใน พ.ศ.๒๕๐๕ - ค.ศ.๑๙๖๒)   

          มอรอคโค  และ ตูนีเซีย   ได้เอกราชใน พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.๑๙๕๖)                

 

 ในเวียดนาม  .  .  .  เมื่อฝรั่งเศสจากไป  สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาแทนที่ 

 

ดำรงความมุ่งหมาย  "รวมชาติ" 

          เวียดนามเหนือยังคงดำรงความมุ่งหมาย ที่จะ "รวมชาติ"  และผลักดัน  ขับไล่  กวาดล้าง  ผู้รุกรานต่างๆ    โดยใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการดำเนินการ     ความขัดแย้งระหว่าง เวียดนามเหนือ  กับ  เวียดนามใต้  ระหว่างชาวเวียดนามด้วยกันซึ่งขัดแย้งกันในความคิดทางการเมือง  กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ  โดยมีมหาอำนาจสนับสนุนแต่ละฝ่าย  .  .  .  ขยายตัวยกระดับขึ้นจนกลายเป็นสงครามอินโดจีน  หรือสงครามเวียดนาม  ครั้งที่ ๒    ซึ่งเวียดนามเหนือก็ได้สร้างความประทับใจให้กองทัพสหรัฐอเมริกา และประชาชนอเมริกันอย่างไม่มีวันลืมได้ลง   

 

          ครับ  .  .  .  และสงครามอินโดจีน  หรือสงครามเวียดนามครั้งที่  ๒  นี้  ที่ประเทศไทยและกองทัพไทยได้มีส่วนร่วมด้วยระดับหนึ่ง 

  

.  .  สงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์  .  .  .

สงครามของชาวเวียดนาม  .  .  .  ทำสงครามกับมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสผู้รุกรานพยายามกลับเข้าควบคุมอาณานิคมเวียดนาม  โดยมีกองกำลังภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศส  (The French Far East Expeditionary Corps - Corps Expeditionnaire Francais en Extreme-Orient, CEFEO)  เป็นเครื่องมือ

  .  .  .  ชาวเวียดนาม  .  .  .  ชาติเล็กๆ ที่ถูกรุกราน กดขี่ และข่มเหง  .  .  .  ขบวนการเพื่อเอกราชของเวียดนาม  (เวียดนามด็อคแล็บดองมินห์ฮอย - Viet Nam Doc Lap Dong Minh Hoi)  หรือ ที่เรียกสั้นๆว่า  เวียดมินห์  (Viet Minh)   .  .  .

โดยมีกองทัพประชาชน  เป็นเครื่องมือ   

ทำสงครามเพื่อเอกราช  .  .  .  เพื่ออิสรภาพ  .  .  .  ของเวียดนาม

 

 

 

 

 

ขอคารวะแด่ท่านที่ได้มีส่วนร่วมในสงครามฝรั่งเศส - เวียดมินห์  ทั้งสองฝ่าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม  

 

          - สงครามจรยุทธ    นายพล  โว เหงียน เกี๊ยบ  เขียน    ศาศวัต    วิสุทธิ์วิภาษ  แปล    สำนักพิมพ์ปุถุชน    กรุงเทพมหานคร  พ.ศ.๒๕๑๗

          - "ประวัติการรบที่เดียนเบียนฟู"  เอกสารประกอบวิชาแก้ปัญหาเสนาธิการกิจ    โรงเรียนเสนาธิการทหารบก    พ.ศ.๒๕๒๑

          - "สงครามเดียนเบียนฟู"  เอกสารประกอบคำบรรยาย  การศึกษาเฉพาะกรณีด้านการยุทธ    วิชายุทธศิลป์    วิทยาลัยการทัพบก    พ.ศ.๒๕๔๐

          -  ข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป

 

 

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (772)
avatar
อรรถกร
นั่งอ่านสมรภูมิเดียน เบียน ฟู ทุกตอน ละเอียดมากครับ ขอบพระคุณมาก เมษานี้ผมจะไปดูสถานที่จริงให้ได้ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น อรรถกร (nico_owen-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-06 23:23:25 IP : 223.205.129.203


ความคิดเห็นที่ 2 (773)
avatar
สัมพันธ์

ขอบคุณครับ

ผมก็อยากหาโอกาสไปดูสมรภูมินี้ให่ได้เหมือนกัน    ทราบว่าเขาจัดเป็นที่ท่องเที่ยวด้วย

มีเรื่องและภาพมาเผยแพร่กันก็ดีนะครับ    คงมีผู้สนใจมาก    

                                                                                        สวัสดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-03-07 05:33:33 IP : 124.122.3.229



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker