* * *
๓๑. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์
เมื่อบรมศาสดาได้เสด็จดาวดึงส์ตลอดไตรมาสในวัสสาคำรบ ๗ เพื่อโปรดพุทธมารดา (พระนางสิริมหามายา) และท้าวสักกเทวราชพร้อมทั้งเทพดา ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว ในวันเพ็ญเดือนอัสสยุช (ราว เดือน ๑๑) จึงตรัสบอกแก่ท้าวสักกเทวราชว่า "ดูก่อน ท่านผู้เป็นจอมเทพ ตถาคตจะลงไปมนุษยโลกในวันนี้" ท้าวโกสีย์ก็เนรมิตซึ่งบันไดทิพย์ทั้ง ๓ จากเทวโลก คือ
บันไดทองอยู่ ณ เบื้องขวา
บันไดเงินอยู่ ณ เบื้องซ้าย
บันไดแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ท่ามกลาง และเชิงบันไดทั้ง ๓ นั้น ลงจดพื้นภูมิภาคปฐพี ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัส แลข้างเบื้องบนบันไดนั้นจดยอดเขาสิเนรุราชอันเป็นที่ตั้งแห่งดาวดึงส์พิมาน
บันไดทองฝ่ายขวาเป็นที่ลงของหมู่เทพดาที่จะตามส่งเสด็จ
บันไดเงินเป็นที่ลงของพรหมทั้งหลาย
บันไดแก้วท่ามกลางนั้นเป็นทางเสด็จลงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อพระบรมครูเสด็จสถิตเหนือยอดเขาสิเนรุราชทอดพระเนตรเครื่องสักการบูชาของหมู่เทพดาทั้งหมื่นโลกธาตุ และหมู่มนุษย์จะนับมิได้ พระพุทธองค์เสด็จยืนประดิษฐานเหนือรัตนบันได ในท่ามกลางหว่างเทพพรหมบรรษัทแวดล้อมเป็นบริวารก็กระทำยมกปาฏิหาริย์ซ้ำอีก ณ กาลบัดนี้

พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ของอินเดียทำเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร ส่วนในประเทศไทยทำเป็นพระยืนหรือลีลา จีบพระหัตถ์ทั้งสองข้างท่าแสดงธรรม

๓๒. ปางเปิดโลก
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์มาถึงยังมนุษย์โลกในวันแรม ๑ ค่ำ ณ เมืองสังกัสครั้งนั้น ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้สรรพสัตว์มองเห็นซึ่งกันและกัน คือชาวมนุษย์มองเห็นชาวสวรรค์และสัตว์นรก ชาวสวรรค์มองเห็นชาวมนุษย์และสัตว์นรก แม้แต่สัจว์ดิรัจฉานหรือคนตาบอดก็ยังมองเห็นพระพุทธองค์ และสรรพสัตว์เหล่านั้นก็ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น
พระพุทธรูปปางเปิดโลก ทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายขวาห้อยกางออกไปข้างพระองค์ และกางนิ้วพระหัตถ์หน่อยหนึ่งเป็นกิริยาทรงเปิด เรียกกันเป็นสามัญว่าพระเจ้าเปิดโลก

คัดจาก พระพุทธรูปปางต่างๆ สมพร อยู่โพธิ์ เรียบเรียง กรมศิลปากรพิมพ์ถวายพระภิกษุและสามเณรซึ่งเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในเทศกาลเข้าพรรษา พ.ศ.๒๕๑๔